จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 15 กรกฎาคม 2009.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    โดยหลวงตามหาบัว

    คำว่าจิต ในสติปัฏฐาน มิใช่จิตพิเศษและแปลกต่างไปจากสติปัฏฐานทั้งสามคือกาย เวทนา ธรรม ถ้าเปรียบกับไม้ก็เป็นไม้ทั้งต้นซึ่งเต็มไปด้วยกิ่งก้าน เปลือก กระพี้ รากแก้ว รากฝอย ซึ่งผิดกับไม้ที่นำมาทำเป็นบ้านเป็นเรือนแล้ว ผู้พิจารณาจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงเป็นเหมือนไม้นำมาทั้งต้นมาแปรรูปตามความต้องการ

    การพิจารณาจิตประเภทนี้ควรถือเอานิมิตคือความปรุงของจิตเป็นเครื่องพิสูจน์และพิจารณา เพราะการจะรู้ความเศร้าหมองหรือความผ่องใสของจิตได้ ต้องรู้เครื่องปรุงจิตเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นแม้จิตจะได้รับความเศร้าหมองและกองทุกข์ตลอดทั้งวันจะไม่มีทางทราบได้ ถ้าไม่ทราบสิ่งปรุงแต่งจิตให้เป็นไปต่างๆก่อน

    เราต้องการทราบจิตจำต้องพิจารณาสังขาร(เครื่องปรุงแต่งจิต) ซึ่งเหมือนเครื่องปรุงแกงให้มีรสชาติต่างๆ จิตที่แสดงความเป็นต่างๆไม่มีสิ้นสุด และทำให้ผิดจากสภาพเดิมคือสภาพจิตปกติ ทำให้เจ้าตัวเกิดความพิศวงงงงันไม่ทราบสาเหตุวิธีแก้ไข จำต้องจำนนไปตามเหตุการณ์ จนลืมสำนึกในทางผิด ชอบ ชั่ว ดี ก็เพราะเรื่องสังขารเครื่องปรุงจิตนั่นเอง

    จิตที่คลุกเคล้ากับอารมณ์โดยสังขารเป็นผู้ปรุงแต่ง การพิจารณาสังขารจึงเกี่ยวกับจิตเพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้ารู้เรื่องสังขารก็รู้เรื่องจิต และถ้ารู้เรื่องจิตก็ย่อมรู้เรื่องสังขาร นับแต่สังขารขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด จิตขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากความเกี่ยวข้องของจิตกับอารมณ์ทั้งหยาบและละเอียด

    ผู้พิจารณาควรทำความเข้าใจไว้แต่ต้นมือว่า จิตกับเครื่องปรุงจิตคือสังขาร เป็นคนละประเภทไม่ใช่อันเดียวกัน โดยกำหนดความเกิดขึ้นและความเกี่ยวข้องของสังขารสัมผัสกับอารมณ์อะไร พร้อมทั้งความดับไปของสังขารกับอารมณ์ พยายามสังเกตและสอดรู้ความเคลื่อนไหวของสังขาร(เครื่องปรุงแต่งจิต) ซึ่งจะเคลื่อนจากใจออกสู่อารมณ์ที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ทั้งหยาบและละเอียด และโปรดทราบเสมอว่าทุกๆประเภทของสังขารและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกัน ต้องเกิดและดับพร้อมกันจะให้เป็นอื่นไปไม่ได้

    คำว่า สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นต้น ไม่ควรนำเข้ามาแทรกในจิตเพราะจะแปรรูปเป็นสมุทัย(เหตุแห่งทุกข์)ขึ้นมาทันที จงพยายามสังเกตให้ทราบว่ามันเป็นเพียงจิตสังขารเท่านั้น ทุกๆขณะที่ปรุงแต่งขึ้นมา ปัญญาต้องมีทางทราบได้ตามลำดับแห่งการพิจารณา และต้องทราบตามนัยที่ท่านบอกไว้ สักว่าจิตเท่านั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา อะไรเลย

    ผู้พิจารณาเห็นตามจิตตานุปัสสนา ใจจะไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจและหลงเพลิดเพลินไปตามความคิดปรุงแต่ง สุข ทุกข์ของจิต ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตตานุปัสสนา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 กรกฎาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...