จุดสิ้นสุดของ 5 โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลก

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    image-from-rawpixel-id-2298586-jpeg-728x520.jpg


    การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะแพร่ระบาดไปถึงเมื่อไหร่ และจะสิ้นสุดลงอย่างไร

    อย่างไรก็ดี ในอดีตมีโรคระบาดเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หากนับเฉพาะครั้งที่รุนแรง ก็มีหลายครั้งที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านราย น่าสนใจว่าการแพร่ระบาดเหล่านั้นมีจุดสิ้นสุดหรือคลี่คลายไปอย่างไร ดังนั้น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอพาไปดูข้อมูล 5 โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร สร้างความเสียหายไปขนาดไหน และที่สุดแล้วมันคลี่คลายอย่างไร


    image-from-rawpixel-id-2298584-jpeg.jpg



    กาฬโรคแห่งจัสติเนียน : ไม่มีใครเหลือให้แพร่เชื้อ
    กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติส (Yersinia Pestis) เกิดการแพร่ระบาดขึ้นราวปี ค.ศ. 541-542 ในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ผู้ปกครองอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) หรือโรมันตะวันออก โรคร้ายนี้เข้ามาระบาดในกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) โดยมีพาหะนำโรคคือหนูและหมัดที่แฝงมากับเมล็ดธัญพืชซึ่งเป็นเครื่องบรรณาการจากอียิปต์ที่ขนส่งทางเรือผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามายังคอนสแตนติโนเปิล จากนั้นเกิดการติดต่ออย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

    มีการสันนิษฐานโรคระบาดในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปราว 30-50 ล้านคน โดยเฉพาะประชากรในกรุงคอนสแตนติโนเปิลเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 40% ซึ่งเป็นไปได้ว่ากาฬโรคจัสติเนียนนี้อาจคร่าชีวิตมนุษย์ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกในสมัยนั้น และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของอาณาจักรโรมันด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตยังต้องค้นคว้าหลักฐานอีกมาก

    ส่วนจุดจบของกาฬโรคจัสติเนียนนั้น ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่าประชากรส่วนใหญ่ในยุคนั้นติดเชื้อ แล้วมีคนบางส่วนรอดชีวิตมาได้เพราะมีภูมิคุ้มกัน คล้ายเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ จนเชื้อโรคไม่สามารถแพร่ระบาดได้อีกต่อไป


    Blackdeath_tourmai-1024x558.jpg


    กาฬมรณะ : จุดกำเนิดของการกักตัว

    กาฬมรณะ (Black Death) หรือกาฬโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติส (ตัวเดียวกับกาฬโรคจัสติเนียน) เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1340s มีการสันนิษฐานว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีน แพร่ระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

    กาฬโรคครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวยุโรปไปมากถึง 30-60% ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ด้วยการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 80% ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบ

    ถึงแม้ว่าในสมัยก่อน ผู้คนจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างมีหลักการเกี่ยวกับโรคติดต่อเท่าไรนัก แต่ก็พอจะรู้ว่าการแพร่ระบาดเกิดจากความใกล้ชิด เจ้าหน้าที่การท่าเรือในเมืองรากูซา (Ragusa) ประเทศอิตาลี จึงได้กักตัวและแยกเหล่ากะลาสีและลูกเรือที่จะเข้ามาในเมืองจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีอาการป่วยเป็นเวลา 40 วัน ซึ่งในภาษาอังกฤษคำว่า quarantine ที่แปลว่าการกักตัวก็มีที่มาจากคำว่า quarantino ที่แปลว่าการกักตัวเป็นเวลา 40 วันในภาษาอิตาเลียน


    นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการกักตัวในครั้งนั้นช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้มาก และยังเป็นต้นแบบของการนำไปปฏิบัติทั่วโลกตะวันตก จนสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ในราวปี ค.ศ. 1351

    The Great Plague of London : ปิดตายผู้ป่วย
    The Great Plague of London หรือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน ในช่วงปี ค.ศ. 1348-1665 ผู้คนที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนต้องเผชิญกับกาฬโรคจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติสทุกประมาณ 20 ปี ตลอดช่วงเวลา 300 ปีนั้น ซึ่งการแพร่ระบาดในแต่ละครั้ง คร่าชีวิตผู้คนในเมืองไปราว 20% จนช่วงต้นศตวรรษที่ 1500s ประเทศอังกฤษออกกฎหมายให้แยกตัวผู้ป่วย บ้านไหนที่มีผู้ป่วยจะต้องนำมัดฟางมาแขวนที่เสาสีขาวหน้าบ้าน

    ครั้งสุดท้ายที่เกิดโรคขึ้นคือในปี ค.ศ. 1665 ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน กาฬมรณะคร่าชีวิตชาวลอนดอนกว่า 100,000 คน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรในสมัยนั้นที่มีอยู่ราว 480,000 คน เหตุการณ์การระบาดครั้งนั้นรุนแรงและรวดเร็วจนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ต้องย้ายจากลอนดอนไปประทับยังออกซฟอร์ด ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์ต่างพากันโยกย้ายออกจากกรุงลอนดอน เหลือเพียงคนจนที่ยังต้องอยู่ในลอนดอนเพราะไม่มีทางเลือก

    จุดจบของโรคระบาดในครั้งนั้นค่อนข้างรุนแรง คือ เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะถูกขังอยู่ในบ้านพร้อมกับคนในครอบครัว บ้านที่ถูกปิดตายจะมีการแขวนกางเขนสีแดงที่หน้าประตูสลักคำว่า “Lord have mercy on us.” มีความหมายว่า พระเจ้าทรงเมตตาพวกเรา โดยในตอนกลางคืนจะมีการขนศพออกมาจากบ้าน และนำไปรวมกันใน “หลุมเชื้อโรค” (plague pits) จนสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

    ไข้ทรพิษ : การผลิตวัคซีนตัวแรกของโลก
    ไข้ทรพิษ (Smallpox) หรือโรคฝีดาษ เกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus หรือ VARV) เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 15 เมื่อคนจากยุโรปเดินทางไปยังอเมริกาได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดแก่คนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคของการเดินทางสำรวจโลกและล่าอาณานิคม

    ตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาด ไข้ทรพิษคร่าชีวิตชนพื้นเมืองอเมริกันมากถึง 90-95% ส่วนในยุโรป ช่วงศตวรรษที่ 1800s มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึงปีละกว่า 400,000 ราย หากรวมตลอดเวลาหลายร้อยปีของการแพร่ระบาด ไข้ทรพิษคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปไม่น้อยกว่า 56 ล้านคนจนช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษสังเกตว่า หญิงรีดนมวัวที่ติดเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงน้อยกว่าที่มีชื่อเรียกว่าฝีดาษวัว (Cowpox) ไม่เคยป่วยเป็นไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษเลยสักครั้ง

    เขาจึงได้ศึกษาและทดลองโดยการนำหนองจากแผลของผู้ป่วยฝีดาษวัวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังของเด็กชายอายุ 9 ขวบ แล้วจึงนำเชื้อไข้ทรพิษเข้าสู่ร่างกายของเด็กชายคนนี้ ปรากฏว่าเด็กชายไม่มีอาการล้มป่วยด้วยโรคร้าย เป็นข้อพิสูจน์ว่าเชื้อฝีดาษวัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กชาย ซึ่งต่อมา ผลการทดลองนี้ได้รับการเผยแพร่สู่วงวิชาการแพทย์ และมีการเรียกวิธีสร้างภูมิคุ้มกันนี้ว่า “วัคซีน” (vaccine) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า “vacca” ที่แปลว่าวัว


    ปัจจุบัน ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อในมนุษย์ชนิดเดียวที่ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคมปี 1980


    image-from-rawpixel-id-2298586-jpeg-1024x731.jpg


    ไข้หวัดใหญ่สเปน : ผลการเว้นระยะห่างทางสังคม

    ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอชวันเอ็นวัน (H1N1) โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีลักษณะเดียวกับไข้หวัดนก คือ แพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1918-1919

    ในความเป็นจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้พบครั้งแรกในยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางพื้นที่ในทวีปเอเชีย ก่อนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่เดือน แต่เหตุที่เรียกไข้หวัดสเปน เพราะสเปนเป็นประเทศแรกที่ประกาศการแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าร่วมในสงคราม

    หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง มาจากบรรดาทหารที่ติดเชื้อไวรัสและเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรโลกในสมัยนั้น โดยมีผู้เสียชีวิตราว 40-50 ล้านคน มากกว่ายอดเสียชีวิตของทหารและพลเรือนในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 3 เท่า

    ในสมัยนั้นยังไม่มียาหรือวัคซีนที่รักษาไข้หวัดใหญ่ได้ ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่กำหนดให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน สั่งประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดสถานที่ชุมชน ทั้งโรงเรียน โบสถ์ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญให้ตัวเลขการแพร่ระบาดลดลงมาอย่างมหาศาล ผู้ที่ติดเชื้อ หากไม่เสียชีวิต ก็สามารถพัฒนาภูมิต้านทานได้ จนทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลงในปี 1919

    การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนและการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คล้ายจะสะท้อนภาพสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา และเราทุกคนต้องช่วยกันเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะสามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เหมือนอย่างกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนในอดีตหรือไม่



    ขอบคุณที่มา https://www.prachachat.net/d-life/news-462606
     
  2. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    หมอจุฬา ชี้ โควิดแรงกว่าไข้หวัดสเปน 100 ปีก่อน คาด 3 ปี ถึงจะหยุดได้

    b4-e0-b8-94-e0-b8-aa-e0-b8-96-e0-b8-b2-e0-b8-99-e0-b8-81-e0-b8-b2-e0-b8-a3-e0-b8-93-e0-b9-8c-jpg.jpg


    ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ ชี้ โควิด ต้องใช้วัคซีนมาช่วยหยุด ลดการเจ็บตาย เผยอังกฤษ ลดอัตราตายลงอย่างเห็นได้ชัด


    เมื่อวันที่ 15 ก.ค.64 ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาวิชาการ “วัคซีนโควิด 19 สำหรับสื่อมวลชน” ว่า การระบาดของโควิด-19 นี้ รุนแรงกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปี ก่อน คาดว่า การจะหยุดการระบาดของโควิด ได้ต้องใช้เวลา ประมาณ 3 ปี และการหยุดโควิดได้ ต้องอาศัยเรื่องของวัคซีนเป็นหลัก เพราะวัคซีน สามารถลดตาย ลดนอน รพ. ลดการเจ็บป่วยหนัก และ ลดการติดเชื้อให้มีการอาการน้อย หรือเกิดการแพร่เชื้อน้อยลง

    “จะเห็นว่าในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อย่างอังกฤษ พบว่า อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีการลำดับความสำคัญการรับวัคซีนให้ดี ผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนเพื่อลดอัตราการตายและเสียชีวิต คือในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามในการรับวัคซีนในผู้ป่วยทุกกลุ่ม เพราะวัคซีนออกแบบมาเพื่อให้ปลอดภัย อาการที่เกิดขึ้นจากการรับวัคซีนเป็นส่วนน้อยและไม่นานก็หายได้ ทุกคนควรรับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยโรคใดก็ตาม หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ก็ควรรับ”ศพ.ธีระพงษ์ กล่าว

    ด้าน ศ.(วุฒิคุณ) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้ฉีดวัคซีนอะไร ประชาชนมีสิทธ์เลือก หากไม่อยากฉีดสลับก็เลือกเองได้ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนอะไรก็ตาม ขอให้ฟังจากกรมควบคุมโรค อย่าไปเชื่อที่ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ที่แฝงไปด้วยความไม่รู้จริง แฝงด้วยผลประโยชน์ด้านธุรกิจ และการเมือง แม้เป็นแพทย์ในโซเชียลมีเดีย ก็ให้ดูด้วยว่าแพทย์ท่านนั้นเชี่ยวชาญด้านไหน เพราะแพทย์มีหลายประเภท ให้เลือกที่เค้าเชี่ยวชาญเรื่องนี้จริงๆ ส่วนตัวแพทย์เอง ขอร้อง ให้ทำตามพระราชปณิธานสมเด็จพระราชบิดาฯ ที่ให้ไว้ ก็ขอให้ทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ ลาภยศสรรเสริญจะตกแก่ท่านเอง เราถูกสอนมาแบบนั้น

    ขอขอบคุณที่มา

    https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6511651
     

แชร์หน้านี้

Loading...