ฉบับที่ ๕๓ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

ในห้อง 'กระโถนข้างธรรมาสน์' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 7 กุมภาพันธ์ 2009.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,687
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,012
    ช่วงแรกของเล่ม "เส้นทางพระโพธิสัตว์" สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕(ต่อ)
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

    ถาม: ..................................................
    ตอบ: เรื่องของพระ เราอยู่กับโลก มันปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ แต่ว่าศีลพระเรามีอยู่ เอาแค่พอเหมาะพอสม อย่างเช่นว่า ซื้อคอมพิวเตอร์ ถ้าหากว่าใช้เพื่องานวัด เป็นต้นว่าเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทำบัญชี หรือพิมพ์งานใช้ได้อยู่ แต่ว่าประเภทไปนั่งเล่นเกมส์อยู่ทั้งวัน นั่นน่าเตะมาก แล้วอีกอย่าง พวกเครื่องเสียง ถ้าหากว่าใช้เพื่อการกระจายเสียงตามสายเผยแพร่ธรรมะ ใช้ไปเถอะ แต่ว่าประเภทเพื่อเอามัน เล่นเอง ลำโพง ๓ ตัว ๘ ตัว ยังไม่พอ จะต้องหาเพิ่มอีก ๑๐๐ วัตต์ไม่พอเอา ๑๕๐ ไอ้นั่นเกินไป อันนั้นผิดแน่ ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นดูด้วย อย่าเพิ่งรีบตำหนิเขา เขาอาจจะทำเพื่องานสงฆ์ งานวัดอะไรก็ได้
    ถาม : ที่ไปวัดไทยในพม่า ?
    ตอบ: เป็นวัดที่น่าสงสารมาก เพราะว่าตั้งแต่ในสมัยบุเรงนองโดนกวาดต้อนไปอยู่มาจนสมัยนี้ ยังพูดไทยได้ แต่เขียนไทยกันไม่ได้แล้ว ในหมู่บ้านประมาณ ๒๐๐ กว่าหลังคาเรือน คนเป็นพัน เหลือแต่ลุงทองแดง อายุเกือบ ๘๐ ที่อ่านไทยออก นอกนั้นแค่พูดได้เท่านั้น
    เหตุที่ยังสามารถรักษาภาษาการพูดไว้ได้ เพราะว่าพื้นที่เป็นเกาะ การคมนาคมไปมาลำบากมาก ต้องนั่งรถแล้วลงเรือเข้าไปในเกาะ อีกที จึงจะไปถึงได้ แต่เกาะมันใหญ่มากเพราะมีหมู่บ้านอยู่ ๔-๕ หมู่บ้าน อยู่ใกล้อ่าวเมาะตะมะ ห่างปากอ่าวเมาะตะมะ ๓๐ ไมล์ ก็ประมาณ ๔๘ กิโล ไกลเหมือนกัน
    มีหมู่บ้านหลายแห่งที่อยู่ในที่เจริญ อย่างบ้านชานหยั่วจี ที่แปลว่า บ้านใหญ่ชาวสยาม ที่ปะโก คือหงสาวดี นี่พูดไทยไม่ได้เลย กลายเป็นพม่าไป ๑๐๐% เต็ม ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่พูดไทยไม่ได้ เพราะว่าอยู่ในที่เจริญ ความเจริญมันเข้าง่าย ไปรับของเขาไว้ง่าย ตรงนั้นความเจริญมันเข้าถึงยาก ก็ยังรักษาภาษาไว้ได้ คราวนี้สภาพวัดเขาตั้งแต่สมัยบุเรงนอง ก็ตก ๔๐๐ ปีได้แล้ว มันหมดสภาพแล้ว
    ถาม : ก็เท่ากับไปตั้งแต่สมัยอยุธยา ?
    ตอบ: ก็อยุธยา ก่อนพระนเรศวรหน่อยหนึ่ง บุเรงนองนี่อยู่รุ่นปู่บุเรงนองเป็นพ่อนันทบุเรง นันทบุเรงเป็นพ่อมหาอุปราช มหาอุปราชก็จะรุ่นเดียวกับพระนเรศวร ตอนนี้ช่วยเขาไปประมาณ ๘๐% แล้วสร้างมา ๔ ปี เสียเวลามากเลย เสียประวัติอาตมาด้วย เพราะว่าที่ทำมาวัดหนึ่งทำไม่เคยเกินปี คราวนี้ของพม่านี่ โอ้โห ! นอกจากของหายากแล้ว การคมนาคมยังสุดยอดของความลำบากเลย ใช้เวลา ๔ ปี เพิ่งได้ประมาณ ๘๐% เท่านั้น อย่างวัดพุทธบริษัท ที่ผ่านมาอาตมาสร้างจากที่ไม่มีอะไรเลย ๕ เดือนเท่านั้นเอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขาดโบสถ์อย่างเดียว ที่โบสถ์ขาด เพราะตั้งใจให้ขาด อยากจะดูฝีมือของเจ้าอาวาสด้วยว่ามีความสามารถแค่ไหน ? ให้สร้างโบสถ์หลังหนึ่ง นอกนั้นเราทำให้เกลี้ยง
    ถาม : (เรื่องวัดไทยในพม่า)
    ตอบ: ของเก่าเขาทุบทิ้งหมดเลย เพราะมันหมดสภาพ ไปดูอย่างกับวัตถุโบราณ
    ถาม : แล้วคนเขาไม่สร้างเลยเหรอ ?
    ตอบ: ของพม่าเขาทุ่มเทให้กับศาสนาเขาก็จริง แต่มอญสร้างวัดมอญ พม่าสร้างวัดพม่า กะเหรี่ยงสร้างวัดกะเหรี่ยง มันก็ต้องเหลือแต่ไทย แล้วจะมีกำลังอะไรนักหนา เงินพม่ามันหายากหาเย็น ขนาดนายทหารเขาร้อยโท ร้อยเอก เงินเดือน ๙๐๐ ของเขา ประมาณ ๒๐๐ บาทละมั้ง ?
    ถาม : ....(ไม่ชัด)... เรื่องของสงฆ์ เราไม่รู้ว่ามันไปยังไงมายังไง (วัตถุมงคลเก่า ๆ) ?
    ตอบ: คนที่เป็นจริง ๆ คือคนที่เอามาให้เราเช่า
    ถาม : อย่างเราจะโดนไปด้วยมั้ยครับ ?
    ตอบ: ของเรา ถ้าเราหนักใจ กลัวจะเป็นหนี้สงฆ์ จริง ๆ แล้วมันเป็น แต่หนี้สงฆ์เขาไม่ได้ดูว่าของใหม่ของเก่า เขาดูว่าของนั้นควรค่าแก่กันมั้ย ? วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือหาพระ สมมติว่าเป็นพระเครื่ององค์เล็ก เราหาพระพุทธรูปหน้าตักซัก ๕ นิ้ว ไปถวายวัดเป็นการชำระหนี้สงฆ์ไป ต่อให้เป็นสมเด็จวัดระฆังราคา ๒๐ ล้าน ก็ถวายไป ๕ นิ้ว นั่นใหญ่กว่าด้วยคือ ของพระเขาว่ากันตรงไปตรงมา เขาไม่ได้ไปดูราคาที่เซียนมันตีกัน
    ถาม : ไม่ได้ดูราคาทางโลก ?
    ตอบ: เขาไม่ได้ดูราคาทางโลก เขาดูว่าสิ่งที่ตอบแทนกันไปมันคุ้มค่ากันมั้ย ? มันสมควรแก่กันมั้ย ? คราวนี้อย่างลืมว่าถ้าเป็นพระเครื่องก็องค์หน่อยเดียว เราสร้างพระหน้าตักซัก ๕ นิ้ว องค์หนึ่งราคาก็คงไม่กี่ตังค์ เอาไปถวายแทนเป็นการชำระหนี้ไป ก็หมดกันไป
    ถาม : อย่างพ่อผมก็เล่นพระมาตั้งแต่หนุ่ม มีพระผ่านมือเวียนเข้าเวียนออกบ้างแล้วก็แจกลูกหลานตั้งเยอะ ผมก็ได้มาแยะ ...คือผมไม่ค่อยห่วงตัวผม แต่ห่วงพ่อว่า เขามาให้ผมให้ใครต่อใคร หรือแม้กระทั่งเอาไปปล่อยต่อ พอผ่านมือพ่อไปแล้ว พ่อยังเป็นหนี้สงฆ์อยู่หรือไม่ ?
    ตอบ: เรื่องอย่างนี้ ถ้าหากว่ามันเป็นส่วนของเรา เราก็เป็นอยู่ คราวนี้อย่างไรลองแนะนำว่าสร้างพระสักองค์ หน้าตัก ๓๐ นิ้ว, ๘๐ นิ้ว อะไรก็ว่าไป ตั้งใจเป็นพระชำระหนี้สงฆ์ไปเลย คือชวนท่าน... พ่อเล่นพระมาเยอะแล้ว สร้างพระประธานถวายวัดสักองค์หนึ่งสิ อะไรอย่างนี้ หาโอกาสเปรย ๆ ดูว่าท่านเอามั้ย ? หรือไม่ก็ผมทำ แล้วพ่อร่วมทุนด้วย ให้มีส่วนของท่าน เพราะตั้งใจชำระหนี้สงฆ์
    ถาม : ทีนี้ถ้าพระเนี่ย ๒๐๐-๓๐๐ หรือ อาจจะถึงพันองค์ แล้วมาสร้างพระ ๓๐ นิ้ว องค์เดียวนี่มันคุ้มได้เปล่าครับ ?
    ตอบ: คุ้มได้
    ถาม : ผมนึกว่าจะต้องขนาด ๔ ศอก ?
    ตอบ: คือจริง ๆ น่าจะเอา ๔ ศอกไปเลย เพื่อความแน่นอนว่าติดหนี้สงฆ์มากน้อยเท่าไหร่ก็ได้
    ถาม : เท่าที่จำได้ ถ้าเป็น ๔ ศอกปิดทองนี่ร่วมกันได้ใช่ไหมครับ ?
    ตอบ: ได้ กี่คนก็ได้ ถ้าไม่ปิดทองได้คนเดียว ...คราวนี้การสร้างไม่ยาก มันสำคัญตรงที่ตั้งที่เหมาะสม โดยเฉพาะหลวงพ่อเรา ท่านเตือนเอาไว้เสมอว่า แกสร้างพ่อ แกก็อย่าเอาพ่อไปตากแดดตากฝน ท่านบอกว่า ข้าเห็นแล้วไม่สบายใจทุกครั้งที่เห็นคนเอาพระพุทธรูปไปตากแดดตากฝน ท่านบอกพระพุทธเจ้าก็เหมือนพ่อของเรา เราไปทำอย่างนั้นก็เหมือนไม่เคารพท่าน
    ถาม : คือผมไม่ได้เถียงนะ แต่สงสัยที่องค์ใหญ่ ๆ มาก ๆ อย่างเช่นวัดอินทร์เอย หรือวัดของหลวงพ่อแพพิกุลทอง หรือต่อมิอะไรอีกหลายองค์ อย่างนั้นนี่คงไม่นับหรือเปล่าครับ ?
    ตอบ: ต้องนับ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า มีปัญญาสร้างพระใหญ่ ก็ต้องมีปัญญาสร้างอาคารก่อน แต่ว่าขณะเดียวกันว่า บางองค์ท่านจะทำในลักษณะเป็นฉัตร ถึงแม้เราดูว่ามันจะไม่สมน้ำสมเนื้อกันก็จริง แต่มันก็ยังเป็นประเภทที่ว่าตั้งใจสร้างในลักษณะเป็นเครื่องกั้นเครื่องบังแดดบังฝนไปได้บางส่วน
    ถาม : (เรื่องอาคารพระชำระหนี้สงฆ์)
    ตอบ: ...อาจจะต้องถึงปีหน้า เพราะของเราปัจจัยมันไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ทีเดียว มันจะมาเรื่อย ๆ ทุกเดือน แล้วอีกอย่าง งานกฐินงานอะไรเราจะไม่แตะต้องเงินของวัด งานกฐินก็ถือเป็นส่วนของเจ้าอาวาสไป เป็นกองกลางไป เจ้าอาวาสจะทำอะไรแล้วแต่เขา แต่ว่าของเรา เรามารับสังฆทานทุกเดือน เราก็บูรณะวัดของเราไปเรื่อย
    ถาม : คือไม่ได้เอาเงินที่นั่นมาใช้ แต่จะใช้เข้าวัดก็ตาม แต่ว่าเราก็ช่วยหาเงินอีกทางแล้วทางวัดก็ช่วยด้วย ?
    ตอบ: ส่วนที่ใช้ก็คือที่อาตมา มานี่จริง ๆ ส่วนของเขาแล้วแต่เขา จะว่าไปแล้วเรื่องกฐินของวัดจะอยู่ระดับแสนกว่า ไม่ถึงสองแสน มันจะอยู่ในระดับนี้มาตลอด อาตมาไปอยู่วัดนี้ไม่ถึงปี แคะเจ้าอาวาสเขามาสองแสนกว่า เกือบสามแสน คือเราเองเราก็ทำของเราไปเรื่อย ท่านทนดูไม่ได้ ท่านก็ควักช่วยมาเรื่อยเหมือนกัน ...สามแสนสองหมื่นกว่าบาทแล้ว คว้าของเจ้าอาวาสเขามา มันก็เท่ากับว่า อย่างน้อยก็กฐินสองปีไปแล้วนั่นนะ แล้วมาปีนี้นี่ ถึงแม้ว่าทางลูกศิษย์ของเรา เราก็ถือเป็นส่วนของเจ้าอาวาสเขารับผิดชอบไป เราจะไม่ไปแตะเงินส่วนนี้ ถ้าหากว่าท่านตั้งใจจะช่วยด้ว ยท่านก็เอามาเอง ถ้าหากว่าท่านไม่ช่วย เราก็หาของเราไปเรื่อย อย่างน้อย ๆ เดือนหนึ่ง ๆ ต้องมีอะไรโผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างสองอย่าง
    ถาม : ...................................................
    ตอบ: งานของเรา ดีตรงจุดที่ว่ามันกลายเป็นการรวมบุญของโยมเขาไปคนละนิดคนละหน่อย เจ้าภาพรายใหญ่เขามีอยู่ แต่ไม่กล้ากวนเขา เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ส่วนใหญ่ใจใหญ่ไปด้วย ในเมื่อใจใหญ่ไปด้วยถึงเวลาเขาจะทำคนเดียว (หัวเราะ) ของเราเราบอกแล้วนโยบายต้องการให้คนส่วนมากได้บุญร่วมกัน มีหลายรายที่ประเภทว่า ถึงเวลาเขาจะทำคนเดียว ประเภทจะทำคนเดียวนี่ ไม่ค่อยจะคบกับเขาหรอก
    ถาม : แต่ว่าทำคนเดียวเป็นบางส่วนมันก็ดีนะครับ ?
    ตอบ: เคยบอก แต่ว่ามันอยู่ในลักษณะว่าเกรงใจเขา
    ถาม : อันนี้เป็นความรู้สึกของผมเป็นส่วนตัวนะ คนอื่นจะเห็นเหมือนกันหรือเปล่าไม่รู้นะ อย่างเช่นว่า วัดสองวัดจะสร้างเจดีย์เหมือนกัน หรือจะสร้างโบสถ์เหมือนกัน สรุปวัดหนึ่งเราดูท่าทางเสร็จแน่ ไม่ปีนี้ก็สองปี สามปีแต่เสร็จแน่ มันอยากทำ แต่อีกวัดหนึ่ง โอ้โห ! สงสารหลวงพ่อเจ้าอาวาสจังเลย แต่ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า มันก็เลยไม่ค่อยอยากทำ... ?
    ตอบ: เรื่องอย่างนั้นจริง ๆ มันขึ้นอยู่กับการกระทำส่วนตัวของท่านด้วย
    ถาม : คือท่านดีนะครับ แต่ว่า...ถ้าพูดในทางโลกคือว่า อาจจะดังไม่พอ อะไรอย่างนั้น ?
    ตอบ: อันนี้ไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องดัง ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเขาไว้ใจคุณก็พอ มันสำคัญตรงจุดนี้ บางรูปสร้างโบสถ์อยู่เป็นสิบ ๆ ปี ก็มีแต่เสาอยู่นั่นน่ะ แล้วขณะเดียวกันเราก็รู้ว่ากฐินท่านได้ ๒ ล้าน ๓ ล้าน บางทีก็ ๔-๕ ล้าน แล้วมันหายไปไหนหมด
    มีวัดหนึ่งท่านให้ลูกศิษย์ของท่านมาติดต่อให้เรา ไปช่วยสร้างโบสถ์ให้ ก็บอกเขาไปบอกเจ้าอาวาสของคุณ ถ้าจะทำจริง ๆ น่ะโบสถ์เสร็จไปนานแล้ว อาตมารู้ว่าแต่ละปี กฐินของเขาได้หลายล้าน ของเรามีกฐินมันอยู่ในระดับไม่กี่แสน แต่ว่าเราสามารถทำวัดได้ปีหนึ่งเป็นวัด ๆ แต่ของเขาเองประเภทโบสถ์หลังเดียว กฐินได้ปีละหลายล้าน เขาทำไม่สำเร็จเสียที
    ถาม : อย่างวัดที่ผมนึกถึงเมื่อกี้เนี่ย ก็นับถือท่านเหมือนกัน แต่พอจะร่วมบุญด้วยก็...จะเสร็จเหรอ ? มันก็เลยรู้สึกว่าทำที่อื่นดีกว่า ผมคิดว่าอาจจะมีบางคนคิดเหมือนผม ทีนี้ถ้าหากว่ามีเจ้าภาพรายใหญ่ หรือมีอะไรช่วย ๆ กันบูรณะให้มันดูมีอนาคต ผมก็อยากจะทำ ?
    ตอบ: ของอาตมานี่มีอนาคตแน่ อันไหนที่จับมันต้องเสร็จ แล้วช้าไม่ได้ด้วยคือของเรามันไม่ชอบงานช้า ทำไปก่อนแล้วเงินมันจะมาเอง อันนี้สูตรของหลวงพ่อท่าน แล้วมันก็เป็นจริงด้วย เราทำไปเรื่อยแหละ โยมเขาเห็นเขาก็มาช่วยเอง จะมากจะน้อยยังไงมันได้ แล้วมันก็ไปได้เรื่อย ๆ ไม่เคยสะดุดกับใคร
    ถาม : คือถ้าอย่างหลวงพ่อฤๅษี ผมคงไม่ค่อยห่วง ขนาดท่านมรณภาพไปหลายปี มณฑปสวยหรูยังเสร็จขึ้นมาอีกตั้งหลังหนึ่ง ที่พูดไปเมื่อกี้อยากจะให้อาจารย์เข้าใจในความรู้สึกของชาวบ้าน ?
    ตอบ: มันเข้าใจอยู่
    ถาม : ทีนี้คนมีกิเลสนะครับ มันเห็นก็ ...เราก็อยากให้มันเสร็จ ถ้าไม่เสร็จมันก็ เอ๊ะ ! เราจะได้บุญเต็มมั้ย ? หรืออะไร มันก็คิดไปได้ ...หรืออย่างน้อยที่สุดมันปลื้มใจกว่า ?
    ตอบ: (หัวเราะ) แต่อันนี้ที่ไม่ไปใช้บริการของเขา เพราะว่าเราเองมีปัญญาทำอยู่แล้ว เสร็จแล้วถ้าไปใช้บริการของเขาเมื่อไหร่ แปลว่าเขาทำคนเดียว ในเมื่อเขาคนเดียก็ปล่อยไปก่อน เอาไว้มีงานอะไรประเภทที่เรียกว่า รอไม่ได้จริง ๆ แล้วค่อยให้เขาทำ
    ถาม : อย่างผม ถ้านั่งขัดสมาธิตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้เลย ไม่เกิน ๑๕ นาที นี่แค่นั่งก็เจ็บแล้ว ไม่เกิน ๑๕ นาทีก็จะชา หรือแม้กระทั่งนั่งพับเพียบก็ตาม ถ้านั่งพิงหลังเสียหน่อย อย่างเก่ง ๓๐ นาทีนี่ก็ โอ้โห ! หนักแล้ว แต่พอนั่งที่มันสบาย ๆ บางทีมันก็หลับ เรามีวิธีหรืออุบายอะไรที่จะให้มันนั่งได้ดีที่สุด ?
    ตอบ: เอาแบบหลวงปู่ฝั้น มั้ยล่ะ ? ของท่านนั่งทีไรหลับทุกที ท่านเองรำคาญขึ้นมา ก็เลยเอาปี๊บไปตั้งไว้ขอบเหว นั่งอยู่บนตูดปี๊บ กะว่าถ้ามันสัปหงกก็ให้หัวทิ่มลงเหวตายไปเลย อย่างนั้น ท่านบอก แหม ! กำลังใจมันรวมตัวดีเหลือเกินวันนั้น ภาวนาได้ดีเป็นพิเศษ (หัวเราะ)
    แต่ว่าไอ้เรื่องของร่างกาย จริง ๆ แล้วการปฏิบัติเขาไม่ให้สนใจในร่างกาย ถ้าเราไม่สนใจมัน พอเกินครึ่งชั่วโมงไปมันจะลืมความรู้สึกอันนั้น พอลืมความรู้สึกอันนั้น มันก็แปลก คราวนี้มันจะทรงตัวยาวเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าหากมันเลยไอ้ตัวเจ็บตัวปวดนั่นไป แล้วถ้าหากถอนกำลังใจมาเมื่อไหร่ มันลุกเดินได้เดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้าหากเรานั่งอยู่ในระดับครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงนี่ลุกขึ้นมากว่าจะขยับได้ เหน็บมันกินนานมาก
    ถาม : มันทั้งเจ็บ ทั้งปวด ถึงขนาดนั้นเลย ?
    ตอบ: ใช่ ถ้าหากว่าเป็นสายของ หลวงปู่มั่น ท่านจะดูตัวเวทนา คือความรู้สึกเจ็บปวดที่มันเกิดขึ้น ท่านจะดูเวทนานี้เป็นของเราจริงหรือ ?
    ถาม : แล้ววิธีอย่างนี้ ทางหลวงพ่อ... ?
    ตอบ: ของหลวงพ่อท่านไม่แนะนำ ท่านบอกว่าถ้าเมื่อยก็ให้ขยับเปลี่ยนท่าได้ แต่ให้ประคองกำลังใจไว้ให้ดี ท่านบอกว่าร่างกายของมันเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ถ้าจิตบางคนไปกังวลอยู่กับมัน มันจะไม่ได้อะไรเลย มันจะไปกลุ้มอยู่กับอาการปวด การเมื่อย การชาของร่างกายแทน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อท่าน ท่านบอกให้ขยับได้เลย แต่ว่าก่อนขยับนี่ ให้ตั้งกำลังใจให้ดี อย่าเผลอให้มันเคลื่อน ตั้งกำลังใจทรงตัว มั่นใจว่าไม่เคลื่อนแล้วเราค่อย ๆ ขยับเปลี่ยนท่าของเราไป อาตมาทุกวันนี้ที่นั่งอยู่นี่ ก็อยู่ประมาณ ๑๕ นาทีจะขยับทีหนึ่ง จนกระทั่งบางทีลูกศิษย์เขาสงสงสัยว่า อาจารย์ทำไมขยับบ่อยจัง บอก เออ ! เดี๋ยวเอ็งแก่เท่าข้าก็รู้เอง
    ถาม : ของผมเอง ตอนปฏิบัติไม่ถูกก็ไม่รู้ว่าสมาธิดี ๆ มันคืออะไร แต่พอขยับมันก็มีความรู้สึกบอกตัวเองว่า เรายังไม่มีสมาธิสักที ?
    ตอบ: เคยทำอยู่ ประเภทว่านั่ง ๓ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง อะไรอย่างนั้น ก็กล้ายืนยันได้เต็มปากเต็มคำว่า ถ้ามันเลยอาการเจ็บปวดนั้นไปแล้ว จะนั่งไปสัก ๓ วัน ๓ คืน มันก็อยู่ของมันได้ แล้วมันแปลกดีนะ ว่าถอนจิตออกมาปุ๊บนี่ มันลุกเดินได้เลย มันเหมือนกับร่างกายไม่ได้รับการกดทับอะไรมาก่อนเลย เป็นเรื่องประหลาดดีเหมือนกัน มันจะลุกเดินได้เดี๋ยวนั้นเลย แล้วจะรู้สึกตัวเบาเป็นพิเศษด้วย คล้าย ๆ กับว่าถึงตอนนั้นแล้ว สภาพจิตมันสามารถคุมร่างกายได้หรือไง ก็บอกไม่ถูก แต่ว่าถ้าหากยังอยู่ในระดับครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งนี่ ถ้าลุกขึ้นนี่เหน็บกินนานเลย แต่ว่า แหม ! เจ้าประคุณเถอะ อีตอนที่มันทรมานมาก ๆ นี่มันเหมือนกระดูกจะแตกเป็นชิ้น ๆ ก้นมันเหมือนกับบางลง ๆ กระดูกจะทะลุออกมาข้างนอกก้นอย่างนั้นน่ะ โอ้โห ! มันทั้งเจ็บทั้งแสบ ทั้งร้อน บอกไม่ถูก คำพูดที่จะอธิบายเป็นภาษามนุษย์มันคงอธิบายไม่ได้หรอก แต่เคยลองดูแล้ว รสชาติมันเด็ดขาดดีมากเลย สารพัดความรู้สึกทรมาน มันจะมารวมอยู่ที่เดียว
    ถาม : บางทีก็รู้สึกแปลกใจว่า ร่างกายเราก็ไม่ได้เป็นโรคอะไรร้ายแรง แต่ทำไมนั่งแล้วมันเป็นทุกข์ได้ขนาดนี้ ?
    ตอบ: ถ้าเป็นสายของหลวงปู่มั่น ท่านจะดูทุกข์ ดูเวทนา ก็จำเป็นต้องบังคับให้นั่งนาน ๆ แต่ถ้าของหลวงพ่อนี่ท่านจะให้เปลี่ยนท่าไปเลย
    ถาม : ของผมบางทีไม่มาที่นี่ก็มักจะไปที่อื่น คือก่อนจะรู้จักที่นี่ ก็ไปที่อื่นก็ถามไปเรื่อย บางทีไปก็ไม่ได้คุยกับหลวงปู่ หลวงพ่อ อะไรมากมาย เดิน ๆ อยู่ในวัด มันก็รู้สึกสบายใจ ?
    ตอบ: อย่างน้อย ๆ กระแสของสถานที่ มันไม่มากไปด้วยรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนอย่างกับทั่ว ๆ ไป ถึงมันจะมีอยู่บ้าง มันก็ไม่หนักเท่า ในเมื่อสถานที่ที่มีกระแสที่ดี มันก็เลยพาให้เราสงบไปได้เร็ว ยิ่งเป็นสถานที่สำคัญมีพระพุทธรูปสำคัญ มีหลวงปู่ หลวงพ่อที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กำลังใจมันรวมตัวปั๊บเลย ให้นั่งอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ได้ สบายใจ สถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง ตามพระธาตุ ตามเจดีย์ หรือตามสถานที่มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ไปเมื่อไหร่ก็สบายเมื่อนั้น
    ถาม : มีอีกอย่าง ที่สงสัยตัวเอง พอตื่นนอนปั๊บ เมื่อก่อนตื่นนอนปั๊บก็นั่งสมาธิเลย ตื่นมาก็ลุกขึ้นนั่ง พอมาหลัง ๆ เอ๊ะ ! เราทำอย่างนี้ถูกเหรอ ? ตื่นมาก่อนนั่งสมาธิ น่าจะไหว้พระก่อนหน่อย แต่บางทีมันก็...มันจะขี้เกียจหรืออะไรก็ไม่ทราบ มันก็อยากจะนั่งเลย ก็เลยไม่รู้อย่างไหนมันจะดี ?
    ตอบ: ก็เป็นอันว่า ลุกขึ้นมา กราบ ๓ ครั้ง ก็ภาวนาต่อไปเลย เวลากราบ ๓ ที น่าจะมีนะ เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพในพระรัตนตรัย แต่บางที ถ้าหากตามที่หลวงพ่อสอนมา พอรู้สึกตัวปุ๊บ ถ้าจิตยังอยู่บนนิพพาน กราบพระบนนิพพาน ถ้าจิตไม่ได้อยู่บนนิพพาน ส่งจิตขึ้นไปกราบพระบนนิพพานเดี๋ยวนั้นเลย เป็นการใช้กายในไปแทน ตัวนอกก็ยังนอนอยู่อย่างนั้น ปล่อยให้มันพักเสียให้พอ แต่จิทำงานของตัวเองต่อไปนานแล้ว ถ้าหากว่าอย่างนั้น โอกาสจะมากราบงาม ๓ ที ยังไม่เลย ต้องรอจนกระทั่งลุกขึ้นไปทำการทำงานอะไรจริง ๆ ถึงจะได้กราบ
    ถาม : ผมปฏิบัติไม่ได้ถึงขนาดนั้น เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง ?
    ตอบ: อยู่ในลักษณะที่ว่า ถ้ามีโอกาสก็ทำให้มันครบถ้วนขบวนความ ถ้าโอกาสมันน้อย ประเภทขนาดแค่ใช้ใจอย่างเดียวก็ยังได้
    ถาม : บางทีมันก็ลังเลสงสัยอยู่ อยากจะนั่งก็อยากจะนั่ง แต่พอจะนั่งโดยที่ไม่กราบพระมันรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่นะโมฯ ไม่อิติปิโสฯ มันเหมือนกับเราไม่ ...ภาษาชาวบ้านคือ ไม่เห็นหัวท่านเลยหรือไง ?
    ตอบ: หลวงพ่อท่านเคยเล่าให้ฟัง ท่านไปช่วยเขาสร้างวัดทางสมุทรสาคร ไม่ทราบว่าวัดอะไร ? คราวนี้กว่าจะเลิกงานก็ล่อเข้าไป ๕ ทุ่ม เที่ยงคืน หลวงพ่อท่านชอบเดินทางกลางคืน ท่านเองสมัยก่อนใช้เรือแจว ท่านก็เลยชอบเดินทางกลางคืน เพราะมันเย็น ท่านแจวเรือผ่านบ้านทายกวัด ทายกนี่ต้องเตรียมงานก่อนงาน วันงาน แล้วก็เลิกงาน กว่าเขาจะได้นอนก็ล่อไปตั้งตีหนึ่ง ตีสองเหมือนกัน คราวนี้ความเคยชินของท่านต้องสวดมนต์ก่อนถึงจะนอน สวดมนต์ที่สวดประจำเป็นบทที่ยาวที่สุดเสียด้วย คือ มหาสมัยสูตร แกจะขึ้น เอวัมเม สุตัง... มันหลับเสียก่อน คนเหนื่อยมากเพลียมาก พอแกได้สติมา แกก็ เอวัม เม สุตัง... มันไม่เคยจะจบเลย แม้กระทั่งวรรคแรก หลวงพ่อท่านพายเรือผ่านไป ได้ยินก็ตั้งใจฟัง พอเอที่ ๓ เอาพายกระทุ้งข้างฝาเลย เฮ้ย ! นอนภาวนาไป สวดมนต์น่ะยาทา ภาวนาน่ะยากิน ภาวนาได้ผลมากกว่า ทายกเขาก็เพิ่งจะคลายกำลังใจ บอกหงายลงก็หลับไปยันรุ่งขึ้นเลย คือตัวเองจิตมันมัวแต่ห่วงจะสวดมนต์อย่างเดียว หลวงพ่อท่านเลยตะโกน สวดมนต์มันยาทา ภาวนายากิน ได้ผลเร็วกว่า นอนภาวนาไปซะ พุท...ไม่ทันจะ โธ ก็น็อคไปแล้ว (หัวเราะ)
    ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ช่วยได้ ...(ไม่ชัด)..... แต่พอผมกราบก็พยายามจะนึกถึง พระพุทธรูปอะไรอย่างนี้ ก็ยังไม่ได้ขนาดกสิณ หรอกนะ แต่ว่าพยายามนึก .... ?
    ตอบ: ไม่ต้องเห็นก็ได้ ให้มั่นใจเท่านั้น กราบลงไปเถอะ ขอเพียงกำลังใจของเรายึดมั่นเท่านั้นเอง เห็นภาพไม่เห็นภาพไม่เป็นไร น้อมใจกราบลงไปได้เลย
    ถาม : อย่างกรณีที่เช่าพระมา พูดถึงในเรื่องหนี้สงฆ์ คือเราก็เป็นหนี้สงฆ์อยู่กรณีหนึ่ง แล้วก็เอาพระ ๕ นิ้ว อย่างที่อาจารย์แนะนำก็คือหายกัน แต่ถ้าเราไปขโมยมาจากวัด ถึงแม้ว่าเราจะชำระหนี้สงฆ์ แต่ความที่มันเป็นอทินนาทาน มันก็ยังอยู่ใช่มั้ยครับ ?
    ตอบ: ใช่
    ถาม : มันแตกต่างกัน ?
    ตอบ: มันต่างกัน ขโมยของสงฆ์โทษอเวจีเลยนะ
    ถาม : แต่ถ้าเกิดเราซื้อต่อมาด้วยความอยากได้ แต่ไม่ได้ขโมยนะครับ แต่เราอาจจะรู้ว่า ... อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าของ.... ?
    ตอบ: เอาเป็นว่า ถ้าไม่ได้สั่ง ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง เป็นอันว่าพ้นไป ถ้าสั่งให้เขาขโมย หรือเราขโมยเอง โทษอทินนาทานเต็ม ๆ
    ถาม : แต่ถ้าเราไม่ได้สั่ง ... ชำระหนี้สงฆ์ได้... ?
    ตอบ: ไม่ได้สั่ง เห็นมาเราชอบใจ ตั้งใจชำระหนี้สงฆ์ของเราไป มีภรรยาของนายตำรวจคนหนึ่งที่ทองผาภูมิ ตำรวจกลุ่มนี้เขาตามล่าของเก่า ปรากฏว่าเขาไปได้พระท่ากระดานมาจากกรุในถ้ำ เสร็จแล้วเขารู้ว่าราคามันสูงมาก แต่ปรากฏว่าตำรวจชุดนี้ทั้งสามคนมีอันเป็นไปหมดเลย รายหนึ่งตอนนี้ติดคุกอยู่ อีกสองรายนี่ รถคว่ำตายรายหนึ่ง แล้วก็ป่วยตายรายหนึ่ง
    คราวนี้รายที่ป่วยตายนี่เขาก็เกิดความแปลกใจว่ามันจะเป็นอาถรรพ์ในการที่เอาของสงฆ์มาหรือเปล่า ? ก็เลยแนะนำเขาให้ชำระหนี้สงฆ์ บอกว่าพระนี่ ให้เอาไปถวายพระท่านไว้ เสร็จแล้วให้เอาพระหน้าตัก ๕ นิ้วไปแลกคืน คือไปขอเปลี่ยนท่านมา มันจะได้เป็นการชำระหนี้สงฆ์ไป เขาเองเขาบอกว่าไม่รู้จะไว้ใจใครได้ เพราะของมันแพง บอกอย่างนั้น เอามาฝากอาตมาไว้แล้วกัน (หัวเราะ) รุ่งขึ้นเอาพระมาเปลี่ยน เขาบอกว่า จริง ๆ เขาไม่อยากได้ เพราะสามีก็ตาย ลูก ๆ ก็ยังเรียนหนังสือ มีคนเขามาขอเช่าราคาสูงมาก ก็เลยอยากจะปล่อยออกไปเพื่อที่จะเอาเงินมาให้ลูกเรียนหนังสือ
    ถาม : อย่างนี้ ภรรยาตำรวจคนนี้เขาชำระหนี้สงฆ์ไปแล้วด้วยวิธีการเอาพระ ๕ นิ้วไปเปลี่ยน แล้วคนที่ซื้อต่อมาจากภรรยาคนนี้ ต้องไปชำระหนี้ใหม่ ?
    ตอบ: ไม่ต้อง มันหมดแค่นั้นแล้ว เรื่องของสงฆ์อันตรายมากเลย โดยเฉพาะเรื่องพระกรุ ส่วนใหญ่สมัยก่อนเจตนาเขาดี อันดับแรก คือ สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อสืบทอดอายุพระศาสนา อันดับต่อไป เขาอาจจะตั้งเจตนาไว้ว่า ถ้าหากว่าวัดวาอารามพัง เวลาขุดพระขึ้นมาเจอพระจะได้เอาพระจำหน่ายเพื่อหาเงินมาซ่อมวัด เพราะฉะนั้นในเมื่อเจตนาของเขาสูงมากนี้ ไปแตะเมื่อไหร่ก็ยุ่งเมื่อนั้น
    ถาม : เป็นห่วง พออ่านเจอในเรื่องชำระหนี้สงฆ์ ก็ห่วงจัดเลย คือว่า บางทีมันโดนโดยที่เราไม่รู้ตัว ?
    ตอบ: อาตมานี่โดนเต็ม ๆ เลย หลวงพ่อท่านพูดถึงเรื่องข้าวพระ การถวายข้าวพระที่วัดนะ ไม่ใช่ที่บ้าน ถ้าที่บ้านเรามีสิทธิ์กิน สิทธิ์ใช้อยู่แล้วถวายข้าวพระที่วัด ส่วนใหญ่ทายกเลือกแต่กับดี ๆ ของดี ๆ เอาไปถวายพระพุทธ แล้วก็ลาพระพุทธมาโซ้ยเสียเอง อันนั้นแหละซวยเลย เพราะว่าอันนั้นเป็นของสงฆ์ เขาตั้งใจถวายไว้ที่วัด ของเราเองสมัยก่อนประเภทเด็กวิ่งอยู่กับวัดอยู่แล้ว ก็ฟาดไปประจำ หลวงพ่อท่านพูดถึงเรื่องนี้ ท่านก็ถามใครกินนรกลงท้องไปบ้าง ? เราก็ยกมือสุดแขนเลย ท่านก็บอกไม่ต้องหนักใจหรอก ตั้งใจชำระหนี้สงฆ์ซะ
    ถาม : แต่ถ้าเป็นที่บ้านไม่เป็นไร ใช่มั้ยครับ ?
    ตอบ: ที่บ้านไม่เป็นไร
    ถาม : สมมติถ้าเราจัดงานทำบุญบ้าน ก็จะมีข้าวสำหรับพระพุทธด้วย... ?
    ตอบ: คืออย่างเช่นถ้าเรา ถวายข้าวพระพุทธเป็นประจำ หรือว่าถวายข้าวพระพุทธไว้ที่บ้าน หรือว่าในงาน อันนั้นเป็นของเราอยู่ เพราะเรามีส่วนของสงฆ์ไว้เป็นต่างหากอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ถวายสงฆ์ไว้ที่วัด เขาตั้งใจเอาไปถึงวัด มันกลายเป็นของสงฆ์ไปแล้ว มันไม่ใช่ของเรา
    แต่หลายต่อหลายวัดแม้กระทั่งท่าขนุนก็จะมีการอุปโลกน์ สังฆทานก่อน อุปโลกน์นี้ สังฆทานจะใช้ประเภทว่า เป็นการแบ่ง ส่วนหนึ่งพึงถึงแก่พระมหาเถระผู้อยู่เหนือข้าพเจ้า ส่วนที่สองพึงถึงแก่ข้าพเจ้า ตลอดจนกระทั่งภิกษุสามเณรทั้งหลายที่มีส่วนร่วมกันในที่นี้ ที่เหลือจากนั้นก็มอบให้ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องการ พอเขาสาธุ ก็เป็นอันว่า พ้นจากมือพระมาก็กินไปเหอะ ไม่ว่าอะไรหรอก
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...