ชวนไปไหว้สาพระธาตุเมืองเหนือ(2)

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 3 พฤษภาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    เป้าหมายต่อไปของการเดินทางไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองเหนือ ก็คือ ลำพูน ในอดีต ลำพูนหรือนครหริภุญชัยมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาของภูมิภาคนี้ มีการสั่งสมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา ในเขตจังหวัดลำพูนเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุสำคัญ อย่าง วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร คนลำพูนเรียกว่า "วัดพระธาตุหลวง" ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เป็นพุทธศาสนิกชนไม่ควรพลาดที่จะเยี่ยมเยือนนมัสการ อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง
    พวกเรามาถึง อ.เมืองลำพูน ตอนเที่ยง ก่อนเข้าไปวัดพระธาตุหริภุญไชย เราประเดิมมื้อกลางวันกันด้วยก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไยเจ้จันทร์ อิ่มหนำสำราญกับก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นที่มีเอกลักษณ์ คือ ใส่ลำไยอบแห้งลงในน้ำซุป เพิ่มรสชาติให้หวานชื่นใจดีจริงๆ อีกเมนูชวนชิมก็คือ ก๋วยเตี๋ยวแห้งทรงเครื่องโบราณ ใส่ซี่โครงหมูตุ๋น เลือดไก่ เกี๋ยวทอด โรยถั่วพลูและมะม่วงซอยให้รสเปรี้ยวพอดี ทั้ง 2 เมนูมีเนื้อลำไยที่ต้มในน้ำซุปใส่มาให้ด้วย ชิมแล้วอร่อยมาก เครื่องดื่มแนะนำสั่งน้ำผึ้งผสมมะนาว ที่ร้านทำเอง ดื่มแล้วชุ่มคอชื่นใจ
    ร้านตั้งอยู่เชิงขัวมุงท่าสิงห์ อิ่มแล้วพากันเดินมาที่วัด ผ่านสะพานท่าสิงห์ที่ทอดจากหมู่บ้านข้ามแม่น้ำกวงไปยังหน้าวัดฝั่งโน้น เราเข้าไปสักการะองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง พระธาตุหริภุญไชยมีอายุกว่าพันปี เป็นเจดีย์ทรงล้านนา สูง 92 ศอก กว้าง 52 ศอก บุทองจังดก ปิดทับด้วยทองคำเปลวอีกชั้นหนึ่ง องค์พระธาตุเหลืองอร่ามงามตา ภายในวัดเรายังเห็นหอไตรแบบล้านนา หลังคาซ้อนเป็นชั้น ประด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หอไตรนี้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง
    วัดที่สำคัญมากอีกแห่งที่เราจะต้องไปกราบไหว้ในวันนี้ อยู่ที่ อ.ป่าซาง ถือเป็นปูชนียสถานสำคัญในลำพูน นั่นคือ วัดพระพุทธบาทตากผ้า "เป็นวัดตามตำนานพระพุทธเจ้า ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่นี่ 2 รอย และใกล้ๆ กับบริเวณผาลาดยังมีรอยตากผ้า ตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่นี่ รับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปตากไว้บนผาลาด เมื่อนำจีวรขึ้น ปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายตาจีวร ถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์" อ.คฑา ชินบัญชร ไกด์กิตติมศักดิ์บอกเราไว้อย่างนั้น ก่อนจะพาไปสัมผัสรอยตากผ้าของพระพุทธองค์ด้วยสายตาของตัวเอง จากนั้นก็เดินตรงไปที่วิหาร เป็นที่ที่ชาวบ้านมากราบนมัสการรอยพระพุทธบาท เพื่อขอพรอันถือเป็นสวัสดิมงคลชีวิต วันนั้นได้ร่วมสรงน้ำรอยพระพุทธบาทด้วย
    และถ้าจะให้ครบ ควรจะแวะเวียนไปสักการะพระธาตุเจดีย์สี่ครูบา ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสวยงาม เด่นเป็นสง่า ครูบาทั้ง 4 องค์นี้ เป็นผู้ทำนุบำรุงวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้มีความเจริญรุ่งเรือง และเผยแพร่พระธรรมคำสอน ด้านในพระธาตุทั้ง 4 ทิศ มีรูปปั้น 4 ครูบา ได้แก่ ครูบาเป็ง ครูบาคม ครูบาอินทร์ และพระครูสุนทร ล้วนแล้วแต่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวลำพูนเคารพนับถือ และทำให้คนเข้าวัดฟังธรรมกันมากขึ้น เราเดินรอบเจดีย์เพื่อที่รำลึกถึงคุณงามความดีของพระเถระทั้งสี่ และกราบไหว้บูชาให้เป็นสิริมงคล
    แอ่วลำพูนกันพอหอมปากหอมคอแล้ว เราจะพาไปอิ่มบุญกันต่อที่ จ.เชียงใหม่ บ้านใกล้เรือนเคียงของลำพูน ห่างกันเพียง 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น ก่อนที่จะไปถึงปลายทางในอีก 20 นาทีถัดมา ณ วัดเก่าแก่ที่สุดอีกวัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ถนนสุเทพ เชิงดอยสุเทพ แน่นอนว่าคงต้องเป็นวัดอุโมงค์ ตามประวัติเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า พญามังรายสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสี ( พระป่า) จำพรรษา ต่อมาพญากือนาทรงสร้างอุโมงค์ขึ้น เพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพง ภายในโค้งแบบครึ่งวงกลม ทำเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้
    ในอุโมงค์มีภาพจิตรกรรมแบบเลือนๆ ปรากฏให้เห็น เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และนกต่างๆ ทั้งนกยูง นกกระสา นกแก้ว นกเป็ดน้ำ ครั้งมีสภาพสมบูรณ์คงที่จะงดงามไปด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งปัจจุบันมีการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมนี้ผ่านโครงการย้อนรอยจิตรกรรมวัดอุโมงค์ ทำการคัดลอกจิตรกรรมด้วยกระบวนการทางเคมี และใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงาน ภาพบริเวณที่ผ่านการอนุรักษ์แล้วจะเห็นชั้นสีดั้งเดิมว่าเป็นแดงสดอายุราว 500 ปี ถือว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังศิลปะล้านนาเก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว ด้านบนอุโมงค์มีสิ่งสำคัญ คือ เจดีย์ทรงระฆังรุ่นแรกๆ ในศิลปะล้านนา ก่อสร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 ด้วยนิมิตรหมายอันเป็นมงคลนี้ เราจึงพร้อมใจกันเวียนเทียนรอบพระเจดีย์
    สวนพุทธธรรมที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ และแอ่งน้ำขนาดใหญ่แหล่งพักพิงของปลาน้อยใหญ่ ภายในวัดเก่าแห่งนี้ก็สามารถสะกดนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลธรรมชาติได้ เป็นอีกปลายทางที่สงบงามกลางเมือง ที่ผู้มาเยือนต้องจดจำด้วยความสุขต่อทัศนียภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า
    สำหรับทริปนี้ไม่ได้ตามไหว้วัดทั้งหมด แต่วัดเก่าที่อยากจะชวนไปดูกันปิดท้าย คือ ที่วัดศรีสุพรรณ มีอายุกว่า 500 ปี ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2043 ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์รางวงศ์มังราย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนวัวลาย เป็นวัดที่มีความคึกคัก พระ เณร ชาวบ้านหลายคนกำลังตอกเครื่องเงินเพื่อนำไปประดับตกแต่งอุโบสถเงิน ให้วิจิตรงดงามตามแบบภูมิปัญญาล้านนา โดยทางวัดและชุมชนหวังว่า อุโบสถเงินหลังนี้จะเป็นสมบัติของชาติและพุทธศาสนา รวมทั้งสืบสานหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายที่ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษมากกว่า 200 ปี ที่ปัจจุบันกำลังจะสูญหาย
    วัดศรีสุพรรณยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากวัดรื้อฟื้นและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องเงินและช่างหล่อมาไว้ที่วัด และสืบทอดให้เยาวชนและคนทั่วไปได้เรียนรู้ ทุกวันนี้ทั้งวัดและชุมชนวัวลายกลายเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง
    สัญจรสู่ภาคเหนือหนนี้ได้ครบทุกรส ทั้งรสพระธรรมกับการท่องเที่ยวเชิงศาสนา และวัฒนธรรม และรสชาติชีวิตจากสิ่งละอันพันละน้อย ระหว่างการเดินทางแต่ละจังหวัด ช่วยเติมเต็มและตอบสนองความต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบของความสุขอย่างแท้จริง.
    ชวนไปไหว้สาพระธาตุเมืองเหนือ(2) | ไทยโพสต์
     
  2. บุษบากาญจ์

    บุษบากาญจ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2007
    โพสต์:
    9,476
    ค่าพลัง:
    +20,271
    ขอบคุณค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...