ชีวประวัติและปฏิปทา พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 20 กรกฎาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    จากหนังสือ ฐานสโมปูชา
    ที่ระลึก ในมหามงคลพิเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
    เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพ
    พระเดชพระคุณหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
    ณ เมรุวัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
    วันจันทร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
    คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียง
    http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-hist-index-page.htm
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑. ชาติภูมิ

    [​IMG]


    พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มีชาติกำเนิดในสกุล “แก้วสุวรรณ” เดิมชื่อ “บ่อ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

    โยมบิดาชื่อ “มอ” โยมมารดาชื่อ “พิลา” ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน มีชื่อเรียงกันตามลำดับคือ

    ๑. ตัวท่าน

    ๒. น้องสาว ชื่อ พา แก้วสุวรรณ

    ๓. น้องสาว ชื่อ แดง แก้วสุวรรณ

    ๔. น้องชายคนสุดท้อง ชื่อ สิน แก้วสุวรรณ

    ทั้งน้องสาวและน้องชาย รวม ๓ คนนี้ ปัจจุบันถึงแก่กรรมไปตามกาลเวลาหมดแล้ว

    โยมบิดามารดาเล่าให้ท่านฟังว่า บรรพบุรุษต้นตระกูลของท่านนั้น เดิมมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่โดยที่พื้นที่เป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ การทำนาต้องอาศัยไหล่เขา ยกดินเป็นขั้นบันไดเป็นชั้น ๆ ไป จึงจะปลูกข้าวได้ แม้จะลงแรงทำงานหาเลี้ยงกันอย่างไม่ยอมเหนื่อย ต้องทำไร่ตามดอยเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ค่อยพอปากพอท้อง โดยเฉพาะบางปีถ้าฝนแห้งแล้ง ข้าวไม่เป็นผล พืชล้มตาย ก็อดอยากแร้นแค้น จึงได้คิดโยกย้ายไปแสวงหาถิ่นทำกินใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ราบลุ่มอันไม่เป็นที่ดอยที่เขาเช่นแต่ก่อน

    ตระกูลของท่านพากันอพยพหนีความอัตคัดฝืดเคือง มาหาภูมิลำเนาใหม่ ผ่านหุบเหวภูเขาสูงของอำเภอด่านซ้าย ผ่านป่าดงพงทึบของ ภูเรือ ภูฟ้า ภูหลวง ได้มาพบชัยภูมิใหม่เหมาะ คือที่ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าใกล้หุบห้วย เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงช่วยกันหักร้างถางป่าออกเป็นไร่นาสาโท คงยึดอาชีพหลักคือการทำนาเช่นเดิม

    ณ ที่บ้านโคกมนแห่งนี้เอง ที่ เด็กชายบ่อ บุตรชายคนหัวปีของสกุลแก้วสุวรรณได้ถือกำเนิดมา เป็นประดุจพญาช้างเผือกที่มีกำเนิดจากกลางไพรพฤกษ์ ทำให้ชื่อป่าที่เกิดของพญาช้างเผือกนั้นเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วสารทิศ...ฉันใด หลวงปู่ก็ทำให้ชื่อหมู่ “บ้านโคกมน” บ้านที่เกิดของท่านเป็นที่รู้จัก เป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดาชาวพุทธทั่วประเทศ...ฉันนั้น
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๒. ปฐมวัย

    [​IMG]


    ชีวิตตอนเป็นเด็กของท่าน นับว่ามีภาระเกินวัย ด้วยเกิดมาเป็นบุตรหัวปี ต้องมีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำงานในเรือกสวนไร่นา พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่พี่ใหญ่ ดูแลน้อง ๆ หญิงชายทั้งสามด้วย

    บ้านโคกมนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะคุยให้เราฟังว่า มีความเจริญขึ้นกว่าเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อนอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ในสายตาของเราชาวกรุง ก็ยังเห็นคงสภาพเป็นบ้านป่าชนบทอยู่มาก ดังนั้นหากจะนึกย้อนกลับไปสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ณ ที่นั้น บ้านเกิดของท่านก็ยังคงมีลักษณะเป็นบ้านป่าเขาที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง สมาชิกทุกคนในครอบครัว ต้องช่วยกันตัวเป็นเกลียวโดยไม่เลือกว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่ต้องไถ หว่าน ปักกล้า ดำนา เด็ก ๆ ก็ต้องเลี้ยงควาย คอยส่งข้าวปลาอาหาร เด็กโตหรือลูกหัวปีอย่างท่าน ก็ต้องช่วยในการไถ ปักกล้า ดำนาด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้อง ๆ กลับจากทำนา ก็ต้องช่วยกันหาผักหญ้า หน่อหวาย หน่อโจด หน่อบง หน่อไม้ รู้จักว่ายอดอ่อนของต้นไม้ชนิดใดในป่าในท้องนาควรจะนำมาเป็นอาหารได้ เช่น ยอดติ้ว ใบหมากเม่า ผักกระโดน...

    โดยมากเด็กชายบ่อจะพอใจช่วยบิดามารดาทางด้านเรือกสวนไร่นามากกว่า กล่าวคือ จะช่วยเป็นภาระทางด้านเลี้ยงควาย ไถนา เกี่ยวข้าว หาผักหญ้า แต่ด้านการหาอาหารที่ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตผู้อื่น เช่น การจับปู ปลา หากบ เขียด มาเป็นอาหารประจำวันอย่างเด็กอื่น ๆ นั้น ท่านไม่เต็มใจจะกระทำเลย ยิ่งการเล่นยิงนก กระรอก กระแต ที่เด็กต่าง ๆ เห็นเป็นของสนุกสนานนั้น ท่านจะไม่ร่วมวงเล่นด้วยอย่างเด็ดขาด พูดง่าย ๆ ท่านไม่มีนิสัยทาง “ปาณาติบาต” มาแต่เด็กนั่นเอง

    ความลำบากยากแค้นในการดำรงชีวิตขณะนั้นเป็นเช่นไร เราคงจะพออนุมานกันได้ โดยในสมัยหลัง เมื่อท่านและหลวงปู่หลุยมาคุยกันถึงการครองชีพที่จังหวัดเลย ระยะที่ท่านทั้งสองเป็นเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อบรรดาศิษย์ได้ยินเข้าก็อดที่จะนึกสงสารน้ำตาร่วงไปด้วยไม่ได้ พวกเด็ก ๆ ต้องจับปู จับปลาในนาในหนองน้ำ ปลาเล็กปลาน้อย ลูกกบเขียดใช้ได้ทั้งนั้น วันหนึ่งได้เขียดมาเพียงตัวเล็ก ๆ ก็ต้องปิ้งให้น้อง ๆ กิน โดยจัดแบ่งเก็บไว้สำหรับบิดามารดาด้วย น้อง ๆ ยังเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องใช้แรงงานอะไร ฉะนั้นจึงแบ่งให้เพียงขาเดียว

    ไม่ใช่ไก่ ไม่ใช่กบ ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่อะไร แต่เป็นเขียดตัวเล็กผอมกระจ้อยร่อย....!! ดังนั้นเมื่อน้อง ๆ ได้รับส่วนแบ่งเพียงเขียดปิ้งขาเดียวจึงร้องไห้ วอนขอพี่ชายให้เพิ่มอีก โดยจะขอกินทั้งตัว

    แม้จะสงสารน้อง ๆ ใจจะขาด แต่พี่ชายใหญ่ก็ต้องฝืนใจทำเป็นดุเสียงแข็ง

    “จะกินล้างกินผลาญอะไรกัน ตั้งเขียดทั้งตัว ! ไม่ได้...ขาเดียวพอแล้ว !”

    ปกติท่านเป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่เป็นที่หนักใจของบิดามารดา และเป็นคนไม่ชอบเล่นคลุกคลีกับหมู่คณะเพื่อนฝูง มีนิสัยเงียบขรึมมาแต่เล็กแต่น้อย ไม่ค่อยพูดเล่นหัว เพื่อนถามคำหนึ่งก็ตอบคำหนึ่ง เล่นคนเดียวเงียบ ๆ มากกว่าจะสนุกสนานเฮฮา ถ้าหากจะมีการเล่นและคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง ก็มักชอบเล่นแต่กับเพื่อนที่มีอายุน้อยกว่า เล็กกว่าเสมอ

    ท่านแสดงนิสัยองอาจ เด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่เด็ก โดยไปไหนชอบไปคนเดียว ไม่อาศัยหมู่พวก ซึ่งนิสัยองอาจเด็ดเดี่ยวที่ฝังตัวมาแต่เล็กแต่น้อยนั้น ก็ได้ปรากฏชัดเจนในภายหลัง เมื่อท่านเข้าสู่เพศครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ก็ออกเดินธุดงค์จาริกแสวงธรรมไปในป่าดงพงทึบแต่ลำพังองค์เดียวอย่างไม่หวั่นเกรงภัยอันตรายใด ๆ เหมือนพญาช้างสารที่ละโขลงบริวาร พอใจท่องเที่ยวไปในราวป่าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายฉะนั้น

    ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นเด็ก อย่างปกติของเด็กชนบทสมัยนั้น โดยเติบโตมากับทุ่งนาและท้องทุ่งไร่สวน การศึกษาในโรงเรียนนั้นไม่มีโอกาสเลย เพราะยังไม่มีโรงเรียนให้ ความจริงอย่าว่าแต่แถวบ้านโคกมนเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อนจะไม่มีโรงเรียนเลย แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร...พระนครหลวงของเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็ยังมีโรงเรียนเพียงไม่กี่แห่ง แต่อย่างไรก็ดี เด็กชายบ่อก็ยังสนใจในการศึกษาเล่าเรียน จนสามารถพออ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้บ้าง ซึ่งก็นับว่าเก่งพอใช้แล้ว สำหรับเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลจังหวัดเช่นนั้น

    ท่านเล่าว่า ความรู้ในการอ่านเขียนนี้ ท่านเรียนได้มาจากพระภิกษุในวัด ซึ่งทำให้ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับวัดมาตั้งแต่เล็ก
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓.จิตโน้มน้าวไปสู่ธรรม

    [​IMG]


    เมื่อท่านอายุครบ ๙ ขวบ ย่างขึ้นปีที่สิบ โยมบิดาก็ถึงแก่กรรม มารดาแต่ผู้เดียวต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเล็กถึง ๔ ปาก ๔ ท้อง เด็กชายบ่อในฐานะพี่ชายคนโตก็กลายเป็น “ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุด” แห่งบ้านไปโดยอัตโนมัติ แม้จะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ แต่เด็กชายบ่อก็รู้คิด ช่วยมารดาในกิจการงานทั้งปวง การใดซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน เช่น งานออกแรงกลางแจ้ง ในด้านเรือกสวนไร่นา ท่านก็มิได้ปล่อยให้ตกเป้นภาระของมารดาแต่ฝ่ายเดียว เด็กชายบ่อก็พยายามช่วยแบ่งเบาทำหน้าที่ “ผู้ชายแห่งบ้าน” ไปด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องเล็ก ๆ แทนมารดาด้วย ความลำบากตรากตรำในฐานะมี่เป็นเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมีอยู่มากแล้ว แต่ก็ยังถูกโชคเคราะห์กระหน่ำซ้ำเติมอีก โดยให้ครอบครัวนี้ต้องขาด “พ่อบ้าน” ไปอีก จึงทำให้เด็กชายบ่อมีภาระเกินวัย ที่เป็นเด็กพูดน้อยอยู่แล้ว ก็ดูจะเพิ่มความเงียบขรึมมากขึ้นไปอีก

    ต่อมามารดาของท่านพิจารณาเห็นว่า ที่ทางทำมาหากินที่บ้านโคกมนนี้ยังขัดข้องอยู่ ญาติพี่น้องของท่านที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวมาส่งข่าวว่า ได้พบถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าแล้ว อยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกมนเท่าไรนัก แต่เป็นคนละจังหวัดกัน คือที่ ตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ได้มีการเดินทางไปสำรวจแหล่งทำกินแห่งใหม่ และปรึกษาหารือกันในกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายแล้ว ตกลงที่จะอพยพเคลื่อนย้ายไปหาถิ่นทำเลทำมาหากินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

    ท่านเล่าว่า การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านช่องนั้น มิได้ไปกันตามลำพังครอบครัวหนึ่งครอบครัวใดอย่างโดดเดี่ยว หากจะไปกันเป็นหมู่เป็นคณะ อย่างที่สมัยโบราณเรียกกันว่า ย้ายถิ่นรื้อถอนไป แปลงเมืองสร้างบ้าน กันทีเดียว การอพยพมาบ้านตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้งนี้ ครอบครัวของท่านอพยพมาพร้อมพวกครอบครัวพี่ป้าน้าอามากหลาย แต่ก็มีญาติพี่น้องอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่ยังรักถิ่นฐานบ้านเรือนแห่งเก่า คงพอใจที่จะปักหลักอยู่ ณ บ้านโคกมนต่อไปดังเดิม ดังนั้นแม้ต่อมาครอบครัวของหลวงปู่จะมาอยู่บ้านเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี แต่เด็กชายบ่อก็พอใจจะไป ๆ มา ๆ ระหว่างเชียงพินกับบ้านโคกมนอยู่มิได้ขาด

    ท่านเล่าว่า ท่านถือว่า ทั้งที่บ้านเชียงพิน และบ้านโคกมน ต่างถือได้ว่าเป็น “บ้าน” ของท่าน “บ้าน” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่ “ญาติพี่น้อง” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่มาก และที่ บ้านโคกมน “ญาติพี่น้อง” ก็ยังมีอยู่มากเช่นเดียวกัน

    ระหว่างที่ไป ๆ มา ๆ มารดาพากลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านโคกมนนี้เอง ที่ชีวิตของหลวงปู่เริ่มโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น และมีผ้ากาสาวพัสตร์เป็นบั้นปลายแห่งชีวิตในภายหลัง

    กล่าวคือปีนั้น ท่านมีอายุได้ ๑๔ ปีแล้ว ได้มีพระธุดงค์กรรมฐานองค์หนึ่ง จาริกไปปักกลดรุกขมูลอยู่ที่วัดตระครูแซ ใกล้บ้านท่าน พระธุดงคกรรมฐานองค์นั้นชื่อ พระอาจารย์พา เป็นศิษย์องค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านเป็นพระที่มีจริยาวัตรที่นุ่มนวล และเคร่งครัดในธรรมวินัย คนในหมู่บ้านรวมทั้งมารดาและญาติผู้ใหญ่ของหลวงปู่จึงมีความเลื่อมใสศรัทธา พากันไปปรนนิบัติอุปัฏฐาก ถวายกัปปิยะจังหัน อยู่มิได้ขาด ตัวท่านเองก็พลอยติดตามโยมมารดาไปด้วย ในฐานะที่เป็นเด็กชายแรกรุ่น วัยกำลังใช้สอย จึงได้รับหน้าที่มอบหมายให้คอยปฏิบัติรับใช้พระ ประเคนของ ล้างบาตรให้พระอาจารย์ทุกวัน

    ราวกับว่าพระอาจารย์พาจะตั้งใจไปโปรดเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณโดยเฉพาะ ท่านจึงได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้านนานพอดู จนกระทั่งเด็กชายน้อย เกิดความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี ท่านสอนให้เด็กชายรู้จักของควรประเคน และไม่ควรประเคน เวลาว่างก็เมตตาสอนหนังสือให้บ้าง และอบรมการสวดมนต์ภาวนาให้บ้าง จิตของเด็กชายน้อยจึงโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น ทุกที จนในที่สุดเมื่อพระอาจารย์เห็นนิสัยอันสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ฝักใฝ่ในทางธรรมของเด็กชายน้อยผู้นี้ “บ่มได้ที่” แลดง “นิสัยวาสนา” แต่ก่อนอย่างเพียงพอแล้ว ท่านก็ออกปากชวนไปบวชด้วย

    “บวชกับเราไหม”

    เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณก็ตอบคำเดียว...สั้น ๆ อย่างไม่ลังเลเลยว่า

    “ชอบครับ”

    ท่านถามย้ำ “บวชกับเราแน่หรือ?”

    “ชอบครับ” เป็นคำตอบยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านจึงให้ไปขออนุญาตมารดาผู้ปกครองก่อน

    เมื่อหลวงปู่ไปขอลามารดา เพื่อจะตามพระอาจารย์ไปออกบวช มารดาทั้งประหาดใจและตกใจระคนกัน

    ประหลาดใจ....ที่บุตรชายน้อยมีความคิดอาจหาญ เด็ดเดี่ยว.... ใจคอจะทิ้งบ้าน ทิ้งอ้อมอกแม่อันอบอุ่น ทิ้งญาติพี่น้องไปได้หรือ

    ตกใจ....ที่ในวัยเพียงเท่านี้ บุตรชายน้อยจะต้องจากบ้าน เดินทางไปถิ่นทางไกลอันลำบากยากแค้นลำเค็ญ เหมือนคนไร้ญาติขาดมิตร

    อย่างไรก็ดีท่านก็ยังพออุ่นใจได้บ้างว่า บุตรชายน้อยของท่านคงจะได้รับความคุ้มครองดูแลจากท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี

    แต่ที่จะไม่ให้ห่วงหาอาลัยเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งมารดาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ลูกของท่านจะมีความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงแค่ไหน จึงถามย้ำแล้วย้ำอีก

    “จะบวชไหม?”

    “จะบวชแน่หรือ?”

    ทุกครั้ง....ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากมารดาก็ดี จากญาติผู้ใหญ่ผู้ทราบเรื่องก็ตกใจ มาช่วยกันซักไซ้ไล่เรียง...ก็ดี ทุกครั้งจะได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงจากเด็กชายน้อยว่า

    “ชอบครับ” ทุกคราวไป

    ดังนั้นในเวลาต่อมา ชื่อ “เด็กชายบ่อ” จึงกลายเป็น “เด็กชายชอบ” ด้วยประการฉะนี้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. เริ่มชีวิตเป็นผ้าขาวน้อย

    [​IMG]


    เมื่อเด็กชายผู้ “ชอบ” บวช ลาโยมมารดาและญาติผู้ใหญ่ได้แล้ว ก็ออกจากบ้านโคกมนติดตามพระอาจารย์พาไปทุกหนทุกแห่งสุดแต่ท่านจะพาไป

    หลวงปู่เล่าว่า ท่านเป็น ตาปะขาว หรือ ผ้าขาวน้อย ถือศีลแปด อยู่กับอาจารย์ ๔ ปีเต็ม รับการฝึกอบรม ทั้งด้านข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ หัดล้างเท้าเช็ดเท้าในเวลาท่านกลับจากบิณฑบาต หัดพับผ้าจีวรและสังฆาฏิ และปูผ้านิสีทนะ หัดตักน้ำ กรองน้ำ ถวายท่าน ทั้งการท่องบ่นสวดมนต์บริกรรมภาวนา และเดินจงกรม ท่านได้ออกเดินรุกขมูลติดตามพระอาจารย์ไปอย่างทรหดอดทน ไม่ว่าจะเป็นการบุกน้ำลุยโคลน บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ผ้าขาวน้อยก็มิได้ย่อท้อ โดยสภาพป่าดงพงไพรอันลำบากลำเค็ญในเวลากลางวัน โดยสภาพป่าเขารกชัฏอันสงัดเงียบ น่าสยองกลัวในเวลากลางคืน....ท่านก็ได้ผ่านการทดสอบมาโดยตลอด

    ท่านสารภาพว่าสำหรับความลำบาก ความหวาดกลัว แรกเริ่มก็มีบ้าง แต่ก็ต้องพยายามอดทน ด้วยความเคารพเชื่อฟัง เห็นตัวอย่างจากท่านอาจารย์

    ความลำบาก....ท่านทนได้ ทำไมเราจะทนไม่ได้ !

    ความน่าหวาดกลัว...ท่านอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่มิได้อย่างท่าน !

    ผ้าขาวน้อยจะนึกข่มใจอยู่เช่นนี้เสมอ

    ส่วนความคิดถึงบ้าน คิดถึงมารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ตามประสาเด็กนั้นไม่ใช่ไม่เคยมี บางกาลบางวาระเวลาเย็นค่ำ โพล้เพล้เห็นนกกาบินกลับรวงรัง ก็เคยเกิดความรู้สึกวังเวง ชะเง้อหาบ้านหาแม่บ้าง แต่ท่านก็นึกถึงความเมตตาของครูอาจารย์ นึกถึงความสุขสงบในการภาวนามาข่มความรู้สึกเหล่านั้นเสีย

    “ใจมันชอบภาวนา” ท่านเล่า “มีความเยือกเย็นดี”

    อีกประการหนึ่ง ท่านก็คิดปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราติดตามท่านอาจารย์ไปพบความลำบากเพียงแค่นี้ ว่าเป็น ทุกข์ แต่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนเราว่า นี่เป็นหนทางที่จะให้ พ้นทุกข์ ต่างหาก ทุกข์ใหญ่ ของมนุษย์และสัตว์โลกนั้น ท่านว่าอยู่ที่ การเวียนว่ายตายเกิด ปราชญ์จะต้องทำตนให้พ้นจาก “ทุกข์ใหญ่” นี่ เราเป็นเด็ก เรายังไม่รู้จักชัดว่า “ทุกข์ใหญ่” นี้เป็นจริงฉันใด แต่ทุกข์ที่เรา “เห็น” นั้น ก็มีชัดอยู่แล้ว ถ้าเราจะยังอยู่กับบ้าน ติดบ้าน ติดเพื่อน ติดญาติ ติดพี่น้อง ไม่ติดตามท่านออกไปแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ทุกข์ ที่ เราเห็นชัดของเราเองนั้น เราจะมีวันหลุดพ้นไปได้อย่างไร

    “ทุกข์”..ที่เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ หรือผ้าขาวน้อยศิษย์พระอาจารย์พาได้เห็นชัดด้วยความรู้สึกเห็นจริงของท่านเองนั้น ก็คือทุกข์ที่ท่านเห็นจากครอบครัว จากพ่อแม่ญาติพี่น้อง และจากตัวเอง

    ทุกข์..ที่ต้องอยู่อย่างจนยากตรากตรำ ต้องทำนา ทำไร่ หากินตัวเป็นเกลียว อย่างไรก็ไม่เห็นเงยหน้าอ้าปากได้

    เมื่ออายุ ๗ ขวบ ถ้าเป็นเด็กชาวกรุง ก็คงจะทำอะไรไม่เป็น ต้องมีพี่เลี้ยงนางนมช่วยเหลือ ทั้งการกิน การอยู่ การแต่งตัว อย่างมดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม แต่สำหรับเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ วัย ๗ ปี ได้ทำให้เป็นผู้ใหญ่เกินตัว

    ท่านเล่าว่า ใจของท่านคิดจะขอมีส่วนช่วยบิดามารดาหารายได้ ถึงอาสาหาบขี้ครั่งไปขาย โดยเดินทางร่วมขบวนไปกับหมู่พวกที่เตรียมสินค้าไปขายที่จังหวัดอุดร ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครใช้สอยไหว้วาน แต่อยากไปเอง ด้วยปรารถนาจะให้บิดามารดาชื่นใจในความมีน้ำใจของบุตรชายคนโต ท่านจำได้ว่า ขี้ครั่งนั้นหนักมาก หนักถึงกว่า ๑๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากมิใช่น้อย สำหรับเด็กชายวัย ๗ ขวบ เมื่อต้องรอนแรมเดินทางจากบ้านโคกมนไปถึง ๙ วัน ๙ คืน กว่าจะถึงอุดรฯ บ่าสองข้างจึงระบมแตกเป็นแผลหมด

    ท่านเล่าว่า เดินทางไปขายขี้ครั่งนี้ ร่วมปี เก็บเงินได้ถึง ๖ บาท เด็กชายน้อยภูมิอกภูมิใจมาก ที่สามารถช่วยหารายได้ให้ครอบครัวได้ด้วยเงิน ๖ บาทนี้ ท่านสามารถซื้อควายให้ทางบ้านได้ถึง ๕ ตัว ด้วยในสมัยที่ท่านเป็นเด็กนั้น ควายทางอีสานราคาถูกมาก ตัวละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๑ บาท เท่านั้น

    บางทีสินค้าขี้ครั่งมีคนแย่งขายล้นตลาด เด็กชายน้อยก็เลือกหาสินค้าชนิดอื่นมาแทน เช่น ยาสูบ ไม้ขีด หรือขี้ไต้ บางโอกาสไปไม่ถึงตัวจังหวัด ด้วยเหนื่อยหนัก พักขายได้แค่หนองบัวลำภูก็พอแล้ว ท่านรู้ซึ้งถึงใจว่า เงินทองนั้นหายากแท้ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ อดทนกัดฟันสู้ตลอดมา

    ยิ่งโยมบิดาสิ้นชีวิตลง การช่วยมารดาทำมาหากิน ยิ่งทำให้ท่านรู้ซึ้ง ..ชัดขึ้น ชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อจะทำงาน เวียนวนอยู่เช่นนี้หรือ ?...

    ...เช้าขึ้นต้องออกไปไร่ออกไปนา ก่อนจะเป็นนาก็ต้องหักร้างถางพง ขุดเผาต้นไม้ ตอไม้ ตกแต่งให้เป็นคู เป็นคันนา เมื่อเป็นนาแล้ว...ถึงหน้านา ต้องไถคราด กลับดิน ให้หญ้าตายก่อน ต่อไปต้องไถอีกครั้ง คราดให้ดินแตก พอที่จะหว่านเมล็ดข้าว ตกกล้า พอต้นกล้าได้ที่ ก็ต้องเก็บกล้าไปปักกล้า ดำนา....

    ไขน้ำเข้านา ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบใหญ่ ระหว่างต้นข้าวเติบโตออกรวงตั้งท้องอ่อน ๆ ก็ต้องคอยระแวดระวังศัตรูข้าว เช่น เพลี้ย ปู ที่จะมากัดกินต้นข้าว ข้าวแก่ รวงค้อมค่อมลง ต้องคอยไขน้ำออกจากนา ให้นาแห้ง เพื่อเวลาข้าวแก่จะได้ไม่ตกท้องน้ำ

    .....ระหว่างรอข้าวแก่ มิใช่ว่าจะสะดวกสบาย มีเวลาเพลิดเพลินเจริญใจได้เที่ยวเตร่ กลับต้องมีงานไร่ที่จะต้องดูแลต่อไป ปลูกผัก ผลไม้ เผาถ่าน

    บางปี ฝนดี น้ำดี ก็ได้ข้าวมากหน่อย พอกินพอเหลือขาย บางปีฝนแล้ง น้ำน้อย ข้าวเสียหาย แทบจะไม่พอกิน พวกผู้คนในหมู่บ้าน ต้องออกไปหาทางทำมาหากินอย่างอื่น เป็นการเพิ่มพูนรายได้ บ้างไปเป็นคนรับใช้ คนสวนในเมืองหลวง บางกลุ่มก็ต้อนวัวต้อนควายไปขาย แต่เป็นการทำมาหากินที่เบียดเบียนชีวิตเขา ซึ่งท่านอาจารย์สอนหนักหนาว่าไม่ถูกต้อง ผิดศีล ทำให้ทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดหนักหนาเข้าไปอีก

    ปีหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนหายใจ ถึงเวลาข้าวแก่ ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกัน ผู้ที่จากไปทำมาหากินเพิ่มพูนรายได้ในต่างเมือง ก็ต้องกลับมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว....นวดข้าว.....ฝัดข้าว....สีข้าว

    กว่าจะเป็นข้าวเปลือก....

    กว่าจะเป็นข้าวสาร....

    สิ้นหยาดเหงื่อ สิ้นแรงคน เวียนวนกันทั้งเดือน...ทั้งปี...ทั้งชีวิตไม่รู้จักจบสิ้น

    เกิด...แล้วก็แก่...แล้วก็เจ็บ...แล้วก็ตาย...!

    โยมพ่อของเราก็ตายไปแล้ว....

    เรายังเด็กอยู่ เคยเลี้ยงควาย ช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา แต่ต่อไปถ้ายัง “ติดข้อง” อยู่อย่างนี้ก็คงไม่พ้น...เติบโตไป ต้องเข้าเทียมแอก เทียมไถ แห่งชีวิต หมุนวนอยู่รอบกองทุกข์เช่นนี้อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง

    เหมือนควายที่เมื่อเราเลี้ยง ก็ปักหลักไว้ในนา ปล่อยสายเชือกที่ฟั่นเหนียวไว้ยาวเพียงระยะหนึ่ง มันจะกินหญ้า กินน้ำ จะถ่าย จะเล่นปลักโคลน ก็วนเวียนอยู่ในระยะความยาวของเชือกหนังนั้น ดูเผิน ๆ เหมือนว่า มันมีอิสระเสรี แต่ความจริงมันมีวงชีวิตจำกัดอยู่รอบเสาหลักนั้น เท่านั้น จะฟันฝ่าออกไปให้หลุดพ้น ก็ได้ยินเสียงกระดึงดัง มนุษย์ผู้เป็นนายก็จะมาขันเชือกชะเนาะให้เปลาะแน่นไปอีก

    เราเป็นมนุษย์ ประเสริฐกว่าสัตว์ ทำไมจะยอมอยู่ในวงวัฏฏะ

    แค่ปลายเชือกควายที่เราเห็นเป็นตัวอย่างอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

    เราจะต้องหลุดพ้นจาก กองทุกข์ ให้ได้

    คำนึงได้เช่นนี้ “ทุกข์” ที่มารดา ญาติพี่น้องหวั่นเกรงว่าผ้าขาวน้อยจะไม่มีความอดทนเพียงพอ จึงดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปสิ้น

    ใจมันกระหยิ่ม คิดจะข้ามล่วง “วงทุกข์” นี้ไปให้จงได้ ท่านมีความเคารพท่านพระอาจารย์พาอย่างสุดซึ้ง พยายามปรนนิบัติวัฏฐากด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ท่านสอนเช่นไร ก็พยายามจดจำนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านการบำเพ็ญเพียรภาวนา

    เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี อาจารย์ของท่านพิจารณาเห็นว่า ผ้าขาวน้อยผู้นี้ มีใจแน่วแน่มั่นคงในทางศาสนา และได้ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยเพียงพอแก่การแล้ว จึงออกปากอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรได้
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๕. ทดสอบก่อนออกบวช

    [​IMG]


    สมควรจะกล่าวแทรกไว้ในที่นี้ด้วยว่า แม้ว่าขณะนั้นจิตใจของท่านจะมุ่งมั่นไปสู่แดนผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็ตาม แต่ท่านก็เป็นผู้มีความรอบคอบอยู่มาก ระหว่างใจหนึ่งฮึกเหิมว่า

    “เราชอบบวช เราชอบอยู่ในธรรมวินัย เราจะเจริญรอยตามท่านอาจารย์ของเรา เราจะบวชเพื่อข้ามกองทุกข์ เราจะบวชไม่สึก เราเชื่อว่าเรามีใจแน่วแน่ต่อพระศาสนาอย่างมั่นคง”

    แต่อีกใจหนึ่ง อันเป็นวิสัยของปราชญ์ผู้ชาญฉลาด มีความรอบคอบระมัดระวัง ก็กล่าวเตือนใจตัวเองว่า

    “ท่านอาจารย์ของเรา สอนว่าจิตของมนุษย์เรานั้น กลับกลอกเชื่อยาก วันนี้เราว่าเราจะบวชแน่นอน จะบวชไม่สึก แต่เราก็ออกมาสู่ร่มเงาของศาสนาแต่เล็ก แทบจะไม่ได้เคยพบเห็นชีวิตตามปกติของฆราวาสวิสัยของคนหนุ่มคนสาวเลย ถ้าเราบวชไปแล้ว กลับไปพบสิ่งที่ยั่วยวนชวนกิเลสให้มันยอกย้อนซ้อนกลเอาเล่า เราจะทำฉันใด เรามิถูกมันขย้ำกระหน่ำเอาจนโงหัวไม่ขึ้นหรือ...?”

    ท่านเล่าว่า ดังนั้น ก่อนที่จะปลงชีวิตสู่เพศพรหมจรรย์ ระหว่างเป็นผ้าขาว ท่านจึงเรียนขออนุญาตพระอาจารย์ของท่าน กลับมาบ้านชั่วคราว ขอใช้ชีวิตฆราวาส เป็นการทดสอบความมั่นคงของจิตใจให้แน่นอนก่อน

    ท่านได้กลับมาทดลองใช้ชีวิตสนุกสนานกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันระยะหนึ่ง คนหนุ่มคนสาวเขาสนุกสนานรื่นเริงกันอย่างไร ก็ขอลองทำตามเขาดูบ้าง ว่าเราจะหลงหัวปักหัวปำไปกับเขาไหม หรือว่า ต่อไป หากบวชแล้ว เกิดมีกิเลสกล้ำกรายมา เรารำลึกได้ว่าเคยผ่านมาแล้ว เราเคยปล่อย สละ สลัดตัว ขาดมันไปแล้ว เราจะไปหวนหาอาลัยมันได้อย่างไร

    สมัยนั้น เป็นที่นิยมกันว่า เด็กหนุ่ม ๆ จะต้องมีรอยสักตามแขนตามขาเป็นลายดำอวดกัน จึงจะถือว่าเป็นชายชาตรี ใครตัวขาวเปล่าเปลือยไม่มีรอยสักดำอวดกัน ก็ถือว่าไม่ใช่ ชาย...!

    ผู้สาวจะไม่สนใจ....

    ผู้สาวจะไม่ฮัก....

    เพื่อฝูงก็หนุนว่า ท่านต้องสักว่านด้วย ไม่งั้นผู้สาวไม่ฮักเด๊อ....!!

    ท่านเล่าว่า ท่านก็เลยตามใจเพื่อน ยอมไปสักว่านกับเขาบ้าง ที่แขนและขา ตกลงค่าจ้างกันว่า ให้สักเป็นรูป “ตัวมอม” คล้ายราชสีห์ ที่ขาทั้งสองข้าง ๆ ละ ๑ ตัว เขาคิดค่าจ้าง ๑ บาท เงิน ๑ บาท สมัยเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีที่แล้ว เป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย แต่เด็กหนุ่ม “ชอบ” ก็ยินยอมทดลองดู ท่านให้สักเสร็จขาข้างเดียว คือขาซ้าย พอเริ่มสักขาขวาต่อไปได้นิดเดียวก็รู้สึกเจ็บมากขึ้น เห็นว่าจะทนเจ็บไปทำไม..เพื่ออะไร...เพื่อที่เขาเห็น เขานิยมกันว่าเพื่อโก้เพื่อหรูนี้หรือ....? ที่จริงมันเป็นของที่ไม่มีแก่นสาร ไม่เป็นสาระต่างหาก....!


    [​IMG]


    ท่านก็เลยให้หยุดสักว่านต่อ คงสักขาลายเสร็จไปเพียงขาเดียว และเสียค่าจ้างเพียง ๕๐ สตางค์เท่านั้น

    (เรื่อง “สักขาลาย” นี้ ในภายหลังเมื่อปี ๒๕๒๗ นี้ ท่านได้ไปเยี่ยมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านต่างคุยกันเรื่องนี้ และยังเปิดขาให้ดู “ขาลาย” ของกันและกัน เป็นสักขีพยานของการใช้ชีวิตฆราวาสก่อนออกบวช แล้วหลวงปู่ทั้งสองก็หัววกัน)

    เพื่อทดสอบจิตใจต่อ ท่านก็ลองตามกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวบ้าง เห็นเขาไปเที่ยวสรวลเสเฮฮา คุยหยอกล้อกันตามบ้านผู้สาว ท่านก็ตามไปกับกลุ่มเพื่อน ประเพณีแถบอีสานมีการ แอ่วสาว จกสาว ซึ่งหมายความว่าไปล่วงเกินสาว ก็จะมีบทปรับผี เสียผี ซึ่งบางรายก็อาจจะจบลงด้วยการแต่งงานอยู่กินกันได้ อย่างไรก็ดี หลวงปู่เมื่อเป็นเด็กชายวัย ๑๗ ปีกว่า ก็ได้ลองลิ้มชิมชีวิตเด็กหนุ่มกับเขาบ้างเหมือนกัน

    ท่านเล่าอย่างขัน ๆ ว่า ท่านก็ได้ตามเพื่อนไปแอ่วสาว ไปจกสาว ไปล่วงเกินเขาตามอย่างเพื่อน..!!

    แต่เขาว่า ท่านไปล่วงเกินเขา เขาจะเอามีดฟันหัวเอา..!!

    โอ...ชีวิตฆราวาสมันเป็นทุกข์อย่างนี้เอง มันขัดข้องวุ่นวายอย่างนี้เอง ไม่เห็นเป็นสาระแก่นสารแต่อย่างใดเลย...! ไม่มีทางที่เราจะยินดีกับชีวิตที่หมกมุ่นวุ่นวายจมกองมูตร กองคูถ อย่างนี้แน่นอน...!!

    แน่ใจตนเองเช่นนั้น ท่านก็กลับไปกราบท่านอาจารย์ของท่านด้วยความลำยองผ่องแผ้ว ใช้ชีวิตผ้าขาวต่อไปอย่างมองเห็นธงชัยในชีวิตบรรพชิตรออยู่เบื้องหน้า
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๖. สู่เพศพรหมจรรย์

    [​IMG]


    เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๙ ปี พระอาจารย์พาได้จัดการดูแลให้ผ้าขาวศิษย์รักได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านนาแก บ้านนากลาง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ด้วยเป็นวัดใกล้บ้านกับที่ลุงของท่าน ผู้เป็นพี่ชายโยมมารดา มีหลักฐานบ้านช่องอยู่ อัฐบริขารนั้นโยมมารดาและยายช่วยกันจัดหาให้ด้วยความศรัทธา

    ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นสามเณรอยู่ถึง ๔ ปีกว่า โดยท่านอาจารย์พามิได้หวงแหน ให้ศิษย์ศึกษาอบรมอยู่กับท่านแต่ผู้เดียว ท่านได้ให้ศิษย์รักออกไปศึกษาธรรมกับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้แตกฉานกว้างขวางขึ้น หลวงปู่จึงได้มีโอกาสไปกราบเรียนข้อปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์อื่น ๆ บ้าง เช่น พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ วัดโยธานิมิต เป็นอาทิ

    ครั้นท่านมีอายุครบ ๒๓ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสร่างโศก ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมิได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร เช่นทุกวันนี้

    หลวงปู่บวชเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มี พระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานสโม”

    ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านมิได้มีนิสัยสนใจทางการศึกษาด้านปริยัติธรรมมากนัก แม้การท่องพระปาฏิโมกข์นั้น ท่านใช้เวลาเรียนท่องถึง ๗ ปี จึงจำได้หมด

    “รู้ความ แต่ไม่ได้ท่องจำ” ท่านเล่า

    เมื่อกราบเรียนถามว่า เหตุใดหลวงปู่จึงใช้เวลานานนัก ท่านก็ตอบอย่างขัน ๆ ว่า

    “นาน ๆ ท่องเถื่อ (ครั้ง) หนึ่ง บางทีก็ ๒ เดือน ท่องเถื่อหนึ่ง บางทีก็ ๓ เดือนท่องเถื่อหนึ่ง”

    “สนใจภาวนามากกว่า”

    ท่านสารภาพว่า ท่านดื่มด่ำในการภาวนามาก ท่านใช้คำบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว มิได้ใช้ “อานาปานสติ” หรือกำหนดลมหายใจเข้า-ออกควบคู่กับพุทโธเลย

    อันที่จริงเพียงบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับอภิบุคคล เช่นหลวงปู่ ท่านบริกรรมไม่นาน จิตก็จะรวมลงสู่ความสงบ ให้ความรู้สึกดูดดื่ม ลึกซึ้งในความสงบอย่างบอกไม่ถูก

    สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น

    สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้

    สิ่งที่เป็นของอสาธารณะแก่ปุถุชนธรรมดาก็กลับปรากฏขึ้น

    เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง....!

    ท่านเล่าว่า จิตของท่านรวมลงสู่ความสงบได้โดยง่ายมาก และเกิดความรู้พิสดาร การนี้เริ่มปรากฏแก่ท่าน ตั้งแต่ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกลึกลับได้ดี เกินกว่าสายตามนุษย์สามัญจะรู้เห็นได้ ได้ล่วงรู้ความคิดความนึกในจิตใจของผู้อื่น

    ไม่ได้นึกอยากเห็น ก็เห็นขึ้นมาเอง

    ไม่ได้นึกอยากรู้ ก็รู้ขึ้นมาเอง

    รวมทั้งการรู้เห็นสิ่งแปลก ๆ เช่น พวกกายทิพย์ คือ เทวบุตร อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ... หรือการรู้วาระจิตคนอื่น ที่เขาคิด เขานึกอยู่ในใจ ก็สามารถได้ยินชัด

    สิ่งเหล่านี้...แรก ๆ ท่านก็ทั้งตกใจ ทั้งประหลาดใจ แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่ง ได้รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือภาพนิมิต ก็ระงับสติได้ มีสติว่า นี่เป็นเรื่องพิสดาร แต่ไม่ควรจะให้ความสนใจมากนัก

    นี่เป็นเหตุหนึ่ง ที่เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็บากบั่นมุ่งมั่นต่อไปในแดนพุทธาณาจักรอย่างไม่ย่อท้อ

    ครูบาอาจารย์ก็ช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้มีนิสัย วาสนาทางนี้แล้ว ก็ควรจะเร่งทำความพากเพียรต่อไป ไม่ควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเหมือน "แขกภายนอก" เหล่านี้ อย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ ผู้เก่งกล้าอะไร ผู้ใดมีวาสนาบารมีสร้างสมอบรมมาอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้ หากเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาเพาะ ปลูก ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นไม้นั้นไป วันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อให้ผลเป็นเมล็ดมะม่วง ไม่เคยปลูกมะม่วง แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอให้เกิดต้นมะม่วง มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

    ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรมสร้างสมมาแต่บรรพชาติ จิตจึงเกรียงไกรมีอานุภาพ แต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่ เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของผู้กระทำความเพียรภาวนา นักปราชญ์จะไม่มัวหลงงมงายอยู่กับความรู้ภายนอก อันเป็นโลกียอภิญญา จุดหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลสที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเรานั้นให้หมดไป สิ้นไป โดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก

    หลวงปู่ได้น้อมรับคำสอนเตือนสติของครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ แม้หมู่เพื่อน ๆ จะมีความเกรงใจท่านอยู่มาก แต่ท่านก็มีความเสงี่ยม เจียมตัวอยู่ มิได้นึกเห่อเหิมอวดตัวแต่ประการใด

    ระยะแรก ๆ ท่านเต็มไปด้วยความระวังตัว ด้วยไม่แน่ใจว่า บางครั้งภาพที่ปรากฏให้ท่านเห็นนั้น จะมีผู้อื่นเห็นเหมือนกับท่านหรือไม่ หากเขาปรากฏให้ท่านเห็นเพียงผู้เดียว การทักทายปราศรัย หรือสนทนาก็อาจทำให้ถูกมองเหมือนเป็นคนบ้า คนประหลาด พูดคุยคนเดียวก็ได้ ท่านจึงเป็นผู้เงียบสงบ ไม่ค่อยพูดคุยสุงสิงกับใครมากนัก ด้วยได้ใช้ภาษาใจได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ชำนาญในการนี้มากขึ้น จนรู้ได้ทันทีว่านี้เป็นนิมิตหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ท่านก็คิดหมายมาดว่า ท่านจะต้องเร่งโอกาสความเพียรพยายามต่อไปโดยไม่ประมาท
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๗. ได้พบกัลยาณมิตร

    [​IMG]


    แม้จะเป็น นวกภิกษุ คือภิกษุบวชใหม่ แต่หลวงปู่ก็ได้ผ่านชีวิตการธุดงค์มาหลายปีแล้ว เริ่มแต่ระยะที่ท่านอาจารย์ของท่านพาดำเนินมาในฐานะผ้าขาวน้อย ๔ ปี และต่อมาในฐานะสามเณรอีก ๔ ปี ฉะนั้นเมื่อบวชแล้ว อยู่รับการอบรมจากพระอุปัชฌายะและพระกรรมวาจาจารย์ ให้รู้จักพระธรรมวินัยให้พอรักษาตัวได้ ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษา พรรษาแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านจึงขอต่ออุปัชฌายะไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่านาคำใหญ่ ซึ่งเป็นวัดป่า เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้อยู่ห่างไกลจากวัดสร่างโศกที่พระอุปัชฌายะของท่านอยู่จำพรรษานัก เพราะต่างอยู่ในเขตอำเภอยโสธรด้วยกัน

    ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาใกล้เคียง ถึง พรรษาที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านไปจำพรรษาที่ วัดศรีมงคลเหนือ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แยกออกเป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว

    ระยะนี้ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะโยมมารดาได้ขอร้องให้ท่านมาโปรดบรรดาญาติบ้าง ดังนั้น ใน พรรษาที่ สาม พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาจังหวัดอุดรธานี มาจำพรรษา ณ วัดป่าหนองบัวบาน อำเภอเมือง ซึ่งไม่ไกลจากอำเภอเชียงพิน บ้านที่อยู่ของบรรดาญาติพี่น้องของท่านเท่าใดนัก

    วัดป่าหนองบัวบานนี้ เป็นวัดเก่าแก่ อยู่ริมหนองน้ำใหญ่ แต่ไม่ใช่วัดเดียวกับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ที่ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เพื่อนสหธรรมิก ของท่านสร้างในภายหลัง

    ณ วัดป่าหนองบัวบานแห่งนี้เอง นอกจากจะเป็นที่ภาวนาดีแล้ว หลวงปู่ยังได้มีโอกาสพบเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งในชีวิตสมณเพศอันยาวนานในภายหลังต่อมาเกือบ ๖๐ พรรษกาลนั้น ได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา...ภิกษุรูปนั้นแม้จะมีอายุมากกว่าท่านกว่าสิบปี แต่มีพรรษาอ่อนกว่าท่านเล็กน้อย ก็มิได้ถือตัวประการใด คงใกล้ชิดสนิทสนม ร่วมปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นอย่างดี

    ภิกษุท่านนั้น คือท่านที่เรารู้จัก เราเคารพบูชากันในภายหลัง ในนามว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่ง วัดถ้ำกลองเพล นั่นเอง

    ปกติหลวงปู่เป็นผู้เงียบขรึม พูดน้อย ไม่ค่อยสนิทกับใครง่าย ๆ หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านเป็นผู้เลือกคบมิตร ท่านทราบดีว่า

    “ยาทิสํ กุรุเต มิตตํ ยาทิสญฺจ เสวติ

    โสปิ ตาสิสโก โหติ สหวาโส หิ ตาทิโส

    บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตร และส้องเสพคนเช่นใด

    เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น”

    ฉะนั้น เมื่อท่านได้พบหลวงปู่ขาว ได้เห็นความตั้งใจ เพียรพยายาม ความเป็นปราชญ์...ของหลวงปู่ขาว...และในเวลาเดียวกัน หลวงปู่ขาวก็ได้เห็นความตั้งใจมั่นในการปฏิบัติธรรม ความเป็นปราชญ์อภิญญาของหลวงปู่ ทั้งสองท่านจึงต่างเคารพในธรรมของกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกัน

    ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน ณ วัดหนองป่าบัวบาน ถึง ๓ พรรษา จากปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒

    ได้มีผู้เปรียบหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบว่า เหมือน พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลาน์

    สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการกล่าวกันเช่นนั้น คงจะเป็นด้วย ในระยะแรกที่ท่านทั้งสองรู้จักกัน จำพรรษาด้วยกันนั้น ท่านต่างแสดงความประสงค์ที่จะก้าวล่วงกองทุกข์ให้ได้ แต่ก็กำลังแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะช่วยสอนสั่ง ขัดเกลากมลสันดานและชี้แนะทางพ้นทุกข์อย่างถูกต้องได้

    เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่กำลังเป็นผู้แสวงหาครูอาจารย์ แต่ยังไม่ได้พบพระพุทธเจ้า

    หลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ ระหว่างพรรษาแรกที่หนองบัวบานก็กำลังแสวงหาครูอาจารย์ และยังไม่ได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

    เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่ต่างเป็นสหายกัน และให้ให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครมีโอกาสพบอาจารย์สอนทางพ้นทุกข์ก่อนกัน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

    หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบต่างเป็นสหายปฏิบัติธรรม จำพรรษาอยู่วัดเดียวกัน ชอบพออุปนิสัยซึ่งกันและกัน ต่างให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครได้พบพระอาจารย์มั่นก่อน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

    เหมือนอย่างพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ เมื่อองค์หนึ่งคือพระสารีบุตรได้มีโอกาสพบท่านผู้บอกทางพ้นทุกข์ (พระอัสสชิ) ท่านก็ชวนพระโมคคัลลาน์เพื่อนของท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    สำหรับหลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ เมื่อองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ชอบได้มีโอกาสกราบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ชวนให้หลวงปู่ขาวเพื่อนของท่านได้ไปกราบครูบาอาจารย์บ้าง

    ท่านได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา ได้เดินธุดงค์ด้วยกัน เมื่อต่างได้มากราบท่านพระอาจารย์มั่นถวายตัวเป็นศิษย์ รับคำสอนจากท่านแล้ว ก็แยกกันออกไปปฏิบัติธรรมตามจริตนิสัยของแต่ละองค์...บางเวลาก็ร่วมเดินธุดงค์ เผชิญความเป็นความตายด้วยกัน... บางเวลาก็ออกไปหาสัจธรรม บางเวลาก็ติดตามครูบาอาจารย์ไปทางภาคเหนือด้วยกัน เป็นสิบปี... ชวนกันกลับมาภาคอีสานบ้านเกิดด้วยกัน บำเพ็ญธรรมเพื่อประโยชน์ตนเองและหมู่คณะแล้ว ก็สั่งสอนสานุศิษย์ของแต่ละท่านในหลักธรรมอันเป็นแนวเดียวกัน

    แต่หนุ่ม จนย่างเข้าวัยชรา

    แต่เมื่อเป็น ผู้แสวงหา..จนเป็น ผู้ปล่อยวาง

    ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา จากประชาชนทั่วประเทศเช่นเดียวกัน

    ท่านได้พบปะเยี่ยมเยียนกัน แสดงธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นนิจ ให้บรรดาศิษย์ได้มีโอกาสกราบบูชาพระคุณเจ้าทั้งสองคู่กัน...จนกระทั่งองค์หนึ่ง...พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ล่วงลับดับขันธ์นิพพานไปก่อน เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่ผ่านมานี้....

    โย เว กตญฺญู กตเวทิ ธีโร

    กลฺยาณมิตฺโต ทฬฺหภตฺติ จ โหติ

    ทุกฺขิตสฺส สกฺกจฺจ กโรติ กิจฺจํ

    ตถาวิธํ สปฺปุริสํ วทนฺติ

    บุคคลผู้มีปรีชาใด เป็นคนมีกตัญญูกตเวที ๑ มีกัลยาณมิตรสินทสนมกัน ๑ ช่วยทำกิจของมิตรผู้มีทุกข์โดยเต็มใจ ๑ ท่านเรียกบุคคลผู้นั้นว่า “สัตตบุรุษ”
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๘. พบท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]


    หลวงปู่บวชแล้วถึง ๔ ปี จึงได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ..!!

    ความจริง พระอาจารย์พา อาจารย์องค์แรก ผู้พาท่านออกดำเนินทางธรรม โดยให้เป็นผ้าขาวน้อย เดินรุกขมูลไปกับท่าน จนกระทั่งเป็นธุระให้ท่านบวชเณร...ก็เป็นศิษย์องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเคยเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์พา อาจารย์ของท่านมาก และอดคิดแปลกใจไม่ได้ที่ท่านพระอาจารย์พาเล่าให้ฟังถึงท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด

    ท่านว่าพระอาจารย์พาเคร่งครัด ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากอยู่แล้ว

    แต่ท่านพระอาจารย์พา บอกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคร่งครัดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากที่สุด

    ท่านว่า พระอาจารย์พา ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมมากอยู่แล้ว

    แต่ท่านพระอาจารย์พากล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรม ได้กว้างขวางพิสดารมากที่สุด

    ท่านว่า พระอาจารย์พา อ่านใจคนได้มากอยู่แล้ว

    แต่ท่านพระอาจารย์พายืนยันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านอ่านใจคน ดักใจคน รู้จิตใจคนได้ทุกเวลา ทุกโอกาสมากที่สุด

    ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ซึ่งในสมัยนี้ยากที่จะพบ “พระ” ผู้เป็น “พระ” อันประเสริฐ ผู้เป็นนาบุญอันเลิศ ยากจะหานาบุญใดมาเทียบได้

    ควรที่ผู้ในใจใฝ่ทางธรรมอย่างเธอนี้ จะไปกราบกรานขอถวายตัวเป็นศิษย์

    ครั้นหลวงปู่ได้ฟัง ก็อดคิดแปลกใจไม่ได้ว่า ในโลกปัจจุบันนี้ ยังจะมีบุคคลผู้ประเสริฐเลิศลอยเช่นนี้อยู่อีกหรือ แต่เมื่ออาจารย์ของท่านบอกไว้ ท่านก็จดจำไว้ คอยสำเหนียกฟังข่าวท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา

    และต่อมาเมื่อปรารภกับใคร กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น ก็ดูจะเป็นที่เลื่องลือระบือมากขึ้น ท่านจึงคอยหาโอกาสจะเข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ตลอดเวลา

    ระหว่างที่ท่านบวช จำพรรษาอยู่ทางยโสธรหรือนครพนม ก็ได้ข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นพักบำเพ็ญอบรมพระ – เณร อยู่ที่อุดรฯ และหนองคาย พอท่านมาอยู่อุดรฯ ก็ได้ยินข่าวท่านพระอาจารย์มั่นออกจากอุดรฯ เที่ยววิเวกไปตามหมู่บ้านแถบอำเภอวาริชภูมิ พังโคน สว่างแดนดิน วานรนิวาส อากาศอำนวย ในจังหวัดสกลนคร

    ท่านไม่มีโอกาสได้จังหวะสักครั้ง

    และก็เป็นการยากอย่างยิ่ง ที่จะติดตามไปพบท่านพระอาจารย์มั่นโดยง่าย เพราะสมัยนั้น เส้นทางคมนาคมแสนลำบาก ไม่ต้องพูดถึงถนนลาดยางเช่นทุกวันนี้ แม้แต่ทางรถยนต์ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด อำเภอต่ออำเภอก็ยังไม่ค่อยมี มีแต่ทางเกวียน ทางเดินเท้า โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มั่นพาอบรมพระเณรในหมู่บ้านที่อยู่ในป่าในเขา การคมนาคมก็ยิ่งลำบากยากแสนเข็ญมากไปอีก การเดินทางต้องเป็นไปด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่

    แต่ในที่สุด หน้าแล้งนั้น หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ณ เสนาสนะ ป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม...!!

    ท่านพระอาจารย์มั่น พักอบรมพระเณรที่หมู่บ้านตามเขตอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร พอสมควรแล้วท่านก็เที่ยวต่อไป เข้าไปในเขตจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะที่อำเภอศรีสงคราม ซึ่งยังมีหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยป่าดงพงทึบอยู่มาก เช่น ที่บ้านโนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น และท่านก็มาหยุดอยู่ที่บ้านสามผง ซึ่งเป็นที่หลวงปู่ได้โอกาสเหมาะพอดี

    ท่านเล่าว่า การเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก พอวางบริขารลง ก็โดนท่านดุลั่น ตะเพิดให้ออกจากสำนักทันที

    ท่านตกใจและงง ด้วยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุแต่อย่างใด ระหว่างกำลังชื่นชมความเงียบสงัดสงบร่มเย็นของสถานที่ เห็นภาพพระ – เณรกำลังอยู่กันอย่างสำรวมระวังตัว จู่ ๆ ก็เหมือนถูกสายฟ้าฟาดลงมาอย่างไม่มีวี่แววพายุฝนล่วงหน้า

    ท่านเองยังไม่เคยทราบนิสัยท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อท่านอาจารย์ไม่ให้อยู่ ก็กราบลาท่าน มิได้นึกโต้เถียงขัดแย้งอะไร ท่านเล่าว่า ท่านกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก จนพูดอะไรไม่ออก บอกอธิบายไม่ถูก ได้แต่เก็บบาตรและบริขารเสร็จแล้วก็เดินทางไป

    ในสมัยนั้น ล้อมรอบที่พักท่านพระอาจารย์มั่น จะมีสำนักที่พักของพระอื่น ๆ อยู่ในบริเวณไม่ห่างไกลนัก ด้วยท่านไม่ชอบให้มีพระอยู่ในเขตสำนักของท่านมากนัก โดยมากจึงมักจะหาสำนักที่พักให้ห่างออกไปพอควร ในเขตระยะที่อาจจะมาฟังเทศน์ รับฟังอุบายธรรมจากท่านโดยสะดวกเท่านั้น ดังนั้นหลวงปู่จึงไปพักอยู่ที่อีกสำนักหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ด้วยความเหมาะสมดังกล่าวแล้ว และอีกประการหนึ่ง ถ้าจะไปต่ออีกก็มืดค่ำแล้ว ท่านกะว่าจะค้างคืนสักคืนหนึ่งก่อน ตอนเช้าฉันเสร็จแล้วค่อยออกเดินทางต่อไป

    รุ่งขึ้นวันใหม่ หลังจากที่ฉันเช้าเสร็จแล้ว ขณะกำลังเก็บบริขารเตรียมตัวจะออกเดินทาง ก็พอดีมีพระเณร ๒ รูป เข้ามาเรียนท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาตามท่านกลับไป

    “ท่านให้มาตามท่านกลับไปครับ” พระเณรยืนยันเมื่อหลวงปู่สงสัย ดังนั้นหลวงปู่จึงตกลงใจกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

    เมื่อกลับไปถึงกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งที่สองนี้ ดูท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคนกลับครั้งแรก ท่านทักทายพูดคุยด้วยดี มีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีกิริยาดุดันเหมือนวันวาน ถ้าจะเปรียบดั่งท้องฟ้าซึ่งเมื่อวานมีพายุใหญ่เมฆฝนมืดคลุ้ม วันนี้ท้องฟ้ากลับปลอดโปร่งแจ่มใสเป็นสีน้ำเงินงาม พอสนทนาปราศรัยซักถามความประสงค์การบำเพ็ญภาวนาที่ปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้พระเณรจัดกุฎีที่พักให้เป็นอย่างดี

    ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เหตุใดครั้งแรกท่านพระอาจารย์มั่นจึงแสดงกิริยาเหมือนรังเกียจไล่หลวงปู่ แต่เพียงเช้าวันรุ่งขึ้นก็ให้ตามหา และแสดงความเมตตาสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอย่างดี

    เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านก็ยิ้ม ๆ ไม่ตอบประการใด ศิษย์รุ่นหลังบางคนเชื่อว่า อาจเป็นด้วยครั้งแรก ท่านมองเห็นถลกบาตรของหลวงปู่เป็นสีจัดจ้า และเป็นดอกดวง ด้วยในสมัยระยะแรก ๆ นั้น พระกรรมฐานยังเพิ่งปรากฏ อัฐบริขาร เช่น สบงจีวรก็ยังมิได้เคร่งครัดในเรื่องสีแก่นขนุน ปรากฏในประวัติภายหลังว่า แม้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วันหนึ่งเมื่อท่านทั้งสองกลับจากธุดงค์ มากราบท่านพระอาจารย์มั่น ก็ถูกท่านทักทันทีว่า “พระเจ้าชู้ ! ” ได้ความว่า ท่านทั้งสองใช้จีวรสีฉูดฉาด ดังที่มีขายทั่วไปในตลาดต่างจังหวัด ดังนั้นต่อมาภายหลัง ศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่นทุกองค์ จึงสังวรระวังเรื่องเครื่องอัฐบริขาร มิให้ถูกตำหนิจากครูบาอาจารย์เลย

    หลวงปู่เพิ่งจะเข้าไปกราบท่าน ไม่ทราบเรื่องราวพวกนี้ ถลกบาตรนั้นก็ซื้อหาเอาจากตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมักจะเป็นร้านซึ่งไม่พิถีพิถันระวังเรื่องสีสัน สักแต่ว่ามีผ้าอะไรก็เย็บ ๆ ขาย เหตุนั้นถลกบาตรพระที่วางขายโดยมาก จึงมีสีฉูดฉาดบาดตา และบางทีก็เป็นดอกดวง ไม่งามตาควรแก่สมณเพศ เมื่อหลวงปู่ใช้ของเช่นนั้น จึงถูกท่านดุและไล่ให้หนี ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาเห็นว่า พระใหม่ผู้นี้คงไม่ตั้งใจจะกระทำไม่ถูกต้อง และอนาคตต่อไปจะเป็นศิษย์สำคัญของท่านผู้หนึ่ง ท่านจึงให้ไปตามกลับมา

    นั่นเป็นความคิดประการหนึ่ง

    แต่มีหลายท่านที่เชื่อกันว่า เป็นอุบายลองใจของท่านพระอาจารย์มั่น..!!

    ที่ท่านมักจะใช้ทดสอบจิตใจศิษย์ของท่านบางคน ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงปู่...อีกองค์หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านมักจะถูกทดสอบเช่นนี้หลายครั้ง โดยท่านพระอาจารย์มั่นไล่ให้หนี “ไป... ไป๊....เจ้าผีบ้าออกไป...!”

    เมื่อท่านเก็บบาตรเก็บจีวรมากราบลา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำหน้าเฉยถาม “จะไปไหน... ไปทำไม... ใครบอกให้ไป !”

    เป็นเช่นนี้หลายครั้งหลายครา

    ได้ความว่า เป็นอุบายของท่านที่จะทำกิริยาดุ ขู่เข็ญคำราม ”ดู” จิตของศิษย์ว่าจะอ่อนราบ เคารพครูบาอาจารย์ไหม หรือเมื่อถูกดุ ถูกว่าก็จะ “โกรธ” แสดงความอาฆาต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะถูก “เคี่ยว” หรือ “กำราบ” หรือ “ทรมาน” ให้จิตดวงนั้นอ่อนสิโรราบลง
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๙. โปรดโยมมารดา

    [​IMG]


    ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่จากบ้าน ออกไปถือศีลแปดเป็นผ้าขาวน้อยธุดงค์ไปกับท่านอาจารย์ตั้งแต่เมื่ออายุ ๑๔ ขวบ กลับมาบ้านชั่วคราวสั้น ๆ ก็ไปเป็นผ้าขาวอีก และได้ออกบวชเป็นสามเณร จนกระทั่งเป็นพระภิกษุ ตลอดช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้แทบจะไม่ให้มารดาญาติพี่น้องได้ชื่นชมโดยใกล้ชิดเท่าไร เมื่อท่านยอมมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานี เมืองเดียวกับ ตำบลเชียงพิน บ้านที่ญาติพี่น้องพำนักอยู่ โยมมารดาจึงดีใจด้วยได้มีโอกาสไปปรนนิบัติวัฏฐาก “พระ” ได้บ้าง

    ระหว่างที่มารดามาถวายจังหัน หรือฟังเทศน์ที่วัดก็ดี หรือเมื่อ “พระ” ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้านก็ดี หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณโยมมารดาผู้เป็นบุพพการีของท่านเป็นปกติ

    พรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร

    อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา

    มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์

    เป็นผู้ควรบูชาของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์

    หลวงปู่ได้ให้ความอนุเคราะห์ท่านผู้เป็นพรหม เป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของท่านตามควรแก่สมณเพศวิสัย โดยช่วยเทศน์กล่อมเกลาจิตของโยมมารดา เพิ่มพูนศรัทธาบารมีในพระพุทธศาสนา แต่แรกโยมมารดาได้มารักษาศีลแปดอยู่ด้วยที่วัดก่อน สุดท้ายครั้นเมื่อศรัทธาปสาทะของท่านเพิ่มพูนมากขึ้น เห็นทางสว่างทางด้านศาสนา โยมมารดาก็ปลงใจสละเพศฆราวาส โกนผมบวชเป็นชี

    หลวงปู่เล่าว่า ท่านมิได้พูดจาเป็นเชิงบังคับ ชักจูงให้โยมมารดาของท่านบวชชีแต่อย่างใดเลย โยมมารดามีศรัทธาขอบวชเอง ด้วยเห็นผลในการภาวนาประจักษ์แก่ใจของท่านแล้ว

    โยมมารดามาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานถึง ๒ พรรษา เป็นโอกาสอันดีที่หลวงปู่จะทำหน้าที่บุตรที่ดี ตอบแทนพระคุณบุพการี โดยบิณฑบาตมาได้ ก็แบ่งให้โยมมารดาก่อน มีเวลาเทศนา สอนในการภาวนา มารดาก็น้อมใจเชื่อ และกระทำตาม เกิดความอัศจรรย์ในจิต ทำให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในธรรมยิ่งขึ้น

    การภาวนาของโยมมารดาเป็นผล กระทั่งในเวลาต่อมาได้ประสบภาพนิมิต เป็นผลช่วยให้ชีวิตของหลวงปู่ผ่านพ้นอันตรายมาได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

    โยมมารดาของท่านพบความสุขสงบในเพศพรหมจรรย์ รู้จักทางภาวนา กระทั่งบอกหลวงปู่ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ท่าน “รู้” และให้พระลูกชายธุดงค์เที่ยววิเวกไปได้ตามใจ

    ท่านจากไปอย่างสงบระหว่างหลวงปู่ไปเที่ยววิเวกที่พม่า

    โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ

    อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ

    ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม บัณฑิตย่อมสรรเสริญ

    ผู้นั้นในโลกนี้ เขาละไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๐. พบคู่กัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง

    [​IMG]


    ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อันเป็นพรรษาที่ ๖ ของท่านนั้น เดิมหลวงปู่คิดว่า ท่านจะจากวัดป่าหนองบัวบานที่จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันนี้ ไปจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้หนีจากหมู่คณะไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่ในปลายปี ๒๔๗๒ ส่วนที่หลวงปู่จะกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานดังเดิม ท่านก็คิดว่า หลังจากที่ได้จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันแล้ว ก็ควรจะหาที่สงัดวิเวกแห่งใหม่ต่อไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่ออยู่ที่ใดนาน ๆ ก็มักจะมีความสนิทสนมคุ้นเคยต่อบุคคลในละแวกนั้น ต่อสถานที่บริเวณนั้น อย่างที่เรียกกันว่า “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่”

    พระธุดงค์จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดอาการ “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่” ขึ้นได้ เพราะจิตซึ่งปกติมักพอใจจะสยบต่อความคุ้นเคย สะดวก สบาย อยู่แล้ว อยู่ที่ใดนาน ๆ ก็คุ้นกับญาติโยม คุ้นกับสถานที่ จิตก็จะยอมลงต่อกิเลส ออมชอมกับกิเลส ไม่เป็นอันพยายามทำความพากความเพียร ชอบอาหาร เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อย่างไร ญาติโยมก็จะแสวงหามาถวาย ชอบเสนาสนะเช่นไร สะดวกสบายอย่างไร ญาติโยมก็จะจัดสร้างถวาย จิตที่เคยว่องไวปราดเปรียว ก็จะซุกตัวเงียบลง...เงียบลง จนขนาดที่เรียกกันว่า “ภาวนาไม่ขึ้น” “ภาวนาไม่ก้าวหน้า” หรือความจริงคำว่า “ไม่ก้าวหน้า” ก็คือ “ถอยหลัง” นั่นเอง

    ถอยหลังไป ถอยหลังมา สุดท้ายก็ถึงกับต้องสึกหาลาเพศไปก็มาก....

    ดังนั้น ท่านเล่ากันว่า นักภาวนาจะต้องเป็นผู้ไม่ ติดตระกูล ไม่ ติดญาติโยม ไม่ ติดถิ่น ไม่ ติดที่อยู่ หรือแม้แต่ ติดอากาศ ติดร้อน ติดหนาว ก็ไม่สมควรด้วยเช่นกัน ร้อนเกินไปหรือ... หนาวเกินไปหรือ... ต้องทดลองให้มันรู้แจ้งกันลงไป ให้จิตมันชนะกิเลสลงไป ให้แจ้งชัด ถ้าญาติโยมคุ้นเคย คลุกคลีมากไป ก็ต้องหนี...! ถ้าที่อยู่สะดวกสบายเกินไป มีความมักคุ้นเกินไป ก็ต้องหนีเช่นกัน

    ไปสถานที่ใหม่ พบญาติโยมกลุ่มใหม่ จิตจะ “ตื่น” ระวังตัวอยู่เสมอ การบำเพ็ญเพียรภาวนาจึงจะก้าวหน้าไปด้วยดี

    ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่หนองบัวบาน ๓ ปี หลวงปู่ก็คิดว่า ท่านได้ให้โอกาส ญาติ ตระกูลของท่านมาทำบุญ ฟังเทศน์ธรรมพอสมควรแล้ว และที่สำคัญการช่วยอนุเคราะห์โยมมารดานั้น ท่านก็ได้ประคับประคองโยมมารดา พาดำเนินมาในทางธรรมจนแทบจะกล่าวได้ว่า โยมมารดาสามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ตามควรแล้ว ความจำเป็นที่จะอยู่วัดป่าหนองบัวบานให้เนิ่นนานต่อไปสำหรับอนุเคราะห์โยมมารดาจึงไม่มีอีก

    เมื่อเหตุผลทุกข้อลงตัวกัน ท่านก็จากมา จำพรรษาที่ ๖ ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ

    วัดนี้อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี เช่นเดียวกับวัดป่าหนองบัวบาน และ ณ ที่วัดนี้เอง ท่านก็ได้จำพรรษากับกัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับเมื่อท่านอยู่วัดป่าหนองบัวบานเช่นกัน

    กัลยาณมิตรองค์ใหม่ของท่านนี้ ได้อุปสมบทโดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย กัลยาณมิตรองค์ก่อนของท่าน และความจริงคู่กัลยาณมิตรทั้งสองของหลวงปู่ได้บวชพร้อมกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาของกันและกัน โดยหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้บวชเป็นนาคซ้าย ภายหลังท่านผู้เป็นนาคขวา ๑๕ นาที

    กัลยาณมิตรที่ท่านได้จำพรรษาด้วยกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ คือท่านผู้ซึ่งประชาชนรู้จักกราบไหว้กันในนาม หลวงปู่หลุย จันทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง นั่นเอง

    หลวงปู่หลุยและหลวงปู่ชอบ ต่างก็มีกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกัน จึงคบกันด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย และภายหลังเมื่อท่านต่างไล่เลียงวันเดือนปีเกิดกัน ก็ปรากฏว่า ต่างเกิดในเดือนเดียว ปีเดียวกัน คือในเดือนสาม ปีฉลู หรือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ และแม้วันเกิดก็เกือบจะเป็นวันเดียวกัน ห่างกันเพียงวันเดียว คือ ท่านเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนหลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๔ โดยหลวงปู่หลุยเกิดก่อนท่าน ๑ วันเท่านั้น

    อย่างไรก็ดีโดยที่พระธุดงค์กรรมฐานนี้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยทุกข้อ โดยเฉพาะเคารพกันในเรื่องพรรษา ทุกท่านจะสอนศิษย์ของท่านเสมอว่า ผู้บวชทีหลังจะต้องเคารพผู้บวชก่อน ผู้บวชคือ ผู้เกิดใหม่ในศาสนา มีคำที่เรียกพระภิกษุว่า ทวิชาติ หรือ ผู้เกิด ๒ ครั้ง เกิดครั้งแรก...ชาติแรก คือ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดครั้งที่สอง...ชาติที่สอง คือ เกิดในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธบุตร พุทธชิโนรส ผู้บวชก่อนก็คือ ผู้เกิดก่อน เป็น พี่ ผู้บวชทีหลัง คือ ผู้เกิดทีหลัง เป็น น้อง ผู้เป็นน้องก็ย่อมต้องเคารพ ผู้เป็นพี่ชาย เป็นธรรมเนียมนิยม เป็นอริยประเพณีของผู้เจริญ

    ท่านเคร่งครัดแม้บวชก่อนกันเพียง ๕ - ๑๐ นาที ก็จะต้องเคารพกัน การเคารพกันมิใช่เพียงยิ้ม ๆ ให้กัน หรือยกมือไหว้ให้พอพ้น ๆ ไป...!

    ถ้ามาพบกัน ท่านก็ลงกราบกันอย่างนอบน้อม ด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์ นั่งกระหย่ง คุกเข่า ศอก ๒ ข้าง มือ ๒ มือ และศีรษะ ทั้ง ๕ จุด จรดพื้น เสร็จการเคารพตามธรรมวินัยแล้ว ท่านจึงจะโอภาปราศรัยกัน

    เรื่องนี้พวกเราได้สังเกตเห็นกิริยา “กราบกัน” ของท่านด้วยความศรัทธา หลายต่อหลายครั้งที่เราเคยรบเร้ากราบไหว้ขอให้ท่านพาเราไปกราบองค์อื่น ๆ และเมื่อท่านถาม ก็รับกับท่านตรง ๆ ว่า “ชอบดูท่านกราบกัน” ท่านหลายองค์ที่ได้ยินคำพูดประหลาด ๆ เปิ่น ๆ เชย ๆ ของชาวกรุงเทพฯ ก็อดขันไม่ได้

    แต่ท่านคงไม่ทราบว่า พวกเราหมายความเช่นนั้นจริง ๆ เป็นความซาบซึ้งศรัทธาอย่างยิ่งที่ได้เห็นท่านอาจารย์แต่ละองค์... :ซึ่งเมื่อท่านอยู่ในสำนักของท่านต่างก็มีชื่อเสียง ได้รับความเคารพอย่างสูงจากพระเณรในสำนักและประชาชนทั่วไป แต่เมื่อไปพบกัน ท่านก็จะกราบกันตามประเพณีของผู้เกิดในทวิชาติ ....อย่างนอบน้อมถ่อมองค์

    ไม่คำนึงเลยว่า องค์นี้มีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่รู้จักมากมายทั่วประเทศอีกองค์หนึ่ง ออกจากป่ามา ไม่ค่อยมีคนรู้จัก หากมีพรรษาน้อยกว่า องค์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ก็รีบกราบเคารพ “พี่ชาย” ของท่านทันที

    เป็นจริยาวัตรที่งดงาม งามตาที่สุด งามตา...เป็นเบื้องต้นแก่ผู้ปฏิบัติ งามตา...เป็นท่ามกลางแก่ผู้พบเห็น และงามตาเป็นที่สุดแก่ผู้ยึดถือระเบียบปฏิบัติสืบทอดพระศาสนาต่อ ๆ กันมา

    พวกเราชินตากับภาพอันงามตา เย็นใจเช่นนี้ตลอดมา ฉะนั้นจึงอดรู้สึกขัดเขินนัยน์ตาไม่ได้ เมื่อบางครั้งไปเห็นพระบางคณะ บางองค์ที่ไม่แสดงกิริยามารยาทสำรวมเคารพในอาวุโสพรรษากันตามควร วันที่รู้สึกขัดเขินนัยน์ตาที่สุด เห็นจะเป็นครั้งหนึ่ง ขณะผู้เขียนกำลังเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเพิ่งหายประชวร ทรงอยู่ในระยะพักฟื้น ได้มีพระสงฆ์คณะหนึ่งเข้ามาเยี่ยมพระอาการด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่บนพระเก้าอี้ มีพระสงฆ์และฆราวาสเฝ้าอยู่บนพรม แต่คณะแขกผู้มาเยี่ยมพระอาการยังยืนรีรออยู่ คงจะรอให้มีใครจัดหาเก้าอี้มาให้ท่านนั่งบ้าง... (ให้เท่ากับสมเด็จพระสังฆราช !) แต่รออยู่ ไม่มีเก้าอี้มา ท่านทุกองค์ก็เลยยืนไหว้สมเด็จพระสังฆราช

    ได้ความว่า ท่านต่างเป็นพระที่มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ...! ท่านคงไม่ทราบว่า ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจของพวกฆราวาสในที่นั้นอย่างไร และอย่างน้อยก็ได้มีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นเสียงจากปากของเด็กผู้เยาว์คนหนึ่ง เธอถามขึ้นด้วยเสียงไม่เบานักว่า

    “เอ... เขามีวินัยห้ามพระเจ้าคุณกราบสมเด็จพระสังฆราชหรือคะ”

    หลายคนเกือบจะหลุดปากถามออกไปเหมือนกัน “นั่นซี... วินัยพระห้ามพระราชาคณะนั่งบนพรม กราบสมเด็จพระสังฆราชด้วยหรือ สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงเป็นราชาแห่งสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก และทรงมีพรรษาแก่กว่า...แก่กว่ามากด้วย !”


    [​IMG]


    ผู้เขียนนึกถึงภาพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เมื่อไปเยี่ยม หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ หลวงปู่ฝั้นก็ก้มลงกราบที่พื้นอย่างนอบน้อม ...ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ผู้มีอายุแก่กว่า ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ถึง ๒ ปี แต่เมื่อพรรษาของท่านอ่อนกว่าท่านพระอาจารย์วัน ท่านก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์วันที่พื้นด้วยความเคารพนอบน้อมเช่นกัน...!

    ยังไม่เคยเห็นท่านยืนไหว้กันสักครั้งเดียว...!

    ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่เขียนนอกเรื่องไปได้เป็นคุ้งเป็นแคว ตั้งใจจะกล่าวเพียงว่า แม้หลวงปู่หลุย จันทะสาโร ท่านจะมีอายุแก่กว่าหลวงปู่ชอบ แต่เมื่อพรรษาท่านอ่อนกว่า (ดูเหมือนจะเพียง ๓ เดือน) เวลาท่านพบหลวงปู่ชอบ ท่านก็กราบหลวงปู่ชอบด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างนอบน้อมถ่อมองค์เสมอ

    กราบตามพระธรรมวินัย แล้วจึงสนทนาปราศรัยกัน

    เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ร่วมปฏิบัติธรรม ร่วมครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน สนทนาธรรม และเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกัน

    ตั้งแต่เมื่อเป็นพระพรรษาน้อย จนเป็นพระเถระผู้ใหญ่

    ตั้งแต่เมื่อเป็นผู้แสงวงหาโมกษธรรม จนเป็นผู้หมดสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์...!

    ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาจากประชาชนทั่วประเทศคู่เคียงกัน

    ชื่อ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ เป็นคู่มิ่งขวัญ คู่ที่ควรอัญชลี คู่อัญมณีบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลย เป็นเสมือนคู่พระปฏิมาทองคำอันเปล่งประกายบนแท่นสักการะฉะนั้น ที่ควรได้รับการบูชาคารวะอย่างสูงสุด เหมือนกับเรารู้สึกต่อกัลยาณมิตรของท่าน อาทิ พระคุณเจ้า หลวงปู่ขาว อนาลโย หรือพระคุณเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ (มีชาติกำเนิดในจังหวัดเลยเช่นเดียวกัน)

    ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้น มีสภาพเป็นป่าดงพงทึบมากกว่าที่วัดป่าหนองบัวบานมาก ด้วยที่วัดปาหนองบัวบานนั้นได้พ้นจากสภาวะป่าชัฏมาเป็นป่าช้านานแล้ว แม้ว่าจะเป็นวัดร้าง แต่ร่องรอยของความเป็น “เมือง” ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่มีสภาพเป็น “ป่า” จริง ๆ อย่างที่หนองวัวซอ...

    ท่านอธิบายว่า “ป่า” ที่เป็น “ป่า” จริง ๆ หมายถึงป่าที่บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ สูงเสียดฟ้า มืดครึ้ม ช่วงใดที่ต้นไม้ยังไม่ “ใหญ่ขนาด” (สำนวนของท่าน หมายถึง ใหญ่จริง ๆ) แต่ก็มีเถาวัลย์รกเลี้ยวปกคลุมหนาแน่น หนามไผ่ หนามหวายเต็มไปหมด ที่สำคัญคือ หนองวัวซออุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่าง กระต่าย...ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ... กระทิง หมูป่า เม่น หมี โดยเฉพาะเจ้าป่าใหญ่ อย่าช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดมิได้ขาด สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงในร้องครางแทบทุกคืน

    ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่ที่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี้คือ เขตของสัตว์ ถ้าถิ่นใดแดนใดมีสัตว์พำนักพักพิงอยู่มากกว่า ก็เรียกกันว่า “ป่า” แต่ถ้าต่อมา มนุษย์เข้าไปในถิ่นนั้นมากขึ้น พวกของมนุษย์มากกว่า ถิ่นนั้นแดนนั้นก็กลายเป็น “เมือง” ไป

    ละแวกถิ่นที่พระธุดงคกรรมฐานไปตั้งเสนาสนะป่า สำหรับเจริญสมณธรรมระหว่างพรรษากาลฝนตกหนักนั้น ยังไม่อาจขีดเส้นปักเขตแดนลงไปว่า เป็น “ป่า” หรือเป็น “เมือง” คงดูก้ำกึ่งกันอยู่ แต่นั่นแหละ...แม้จะมีมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย จึงดูคล้ายกับมนุษย์เป็นผู้ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปอาศัยอยู่ในเขต “ป่า” ของเขา อย่างไรก็ดี พวกสิงสาราสัตว์เหล่านั้นคงจะรู้สึกถึงรังสีแห่งความสงบเย็นที่บรรดามนุษย์ผู้มีศีรษะโล้นครองผ้าสีแก่นขนุนที่มาพำนักอยู่ตามกระต๊อบแคร่ไม้ไผ่ ท่านแผ่มาให้ด้วยความเมตตา มันจึงไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านใด ๆ ให้ปรากฏ สัตว์ก็อยู่ส่วนสัตว์ พระก็อยู่ส่วนพระ วันดีคืนดี ช้างป่าบ้าง เสือบ้าง หมีบ้าง ก็จะเดินลอยชายผ่านเข้ามาในเขตวัด

    หลวงปู่เล่าว่า

    หนองวัวซอสมัยนั้นมีช้างป่ามากมายเหลือเกิน เสือก็มากเช่นกัน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้อาศัยฉันเป็นยาปรมัตถ์ บางทีฉันมากไป กลางคืนปวดท้องจะเข้าส้วม พบเสือกระโดดข้ามศีรษะไปก็มี

    แต่มันคงจะให้ความไมตรีเฉพาะแต่ที่บริเวณวัดเท่านั้น สำหรับชาวบ้านละแวกใกล้วัด ซึ่งถือว่าอยู่ในเขตชายแดนประชิดติด “ป่า” ของเขา มันก็ยังแสดงความเป็นเจ้าป่าหรือเจ้าดงพงไพรให้ปรากฏบ่อย ๆ เช่นเข้ามาคาบเอาวัว เอาสุนัขไปเป็นอาหาร แถมยังมีเจ้าเสืออันธพาลตัวหนึ่งด้วย....

    ทำไมเรียก อันธพาลเจ้าคะ พวกเรารีบซัก....

    ไม่เรียกอันธพาลได้อย่างไร คราวนี้หลวงปู่หลุยช่วยอธิบาย ท่านเล่ายิ้ม ๆ ธรรมดานิสัยของสัตว์โลกที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ สัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ธรรมชาติเสือย่อมพอใจจะจับสัตว์ที่อ่อนแอกว่ากินเป็นอาหาร เช่น วัว เก้ง กวาง หรือสุนัข แต่มันก็มักจะจับเหยื่อก็ต่อเมื่อท้องร้องเตือนด้วยความหิว เจ้าเสือตัวนี้เข้าในเขตหมู่บ้าน กัดวัวตายไปถึง ๖ ตัว แต่คาบเอาไปเป็นอาหารแต่เพียงตัวเดียว ทิ้งซากวัวอีก ๕ ตัวที่เหลือไว้ให้ชาวบ้านเจ็บใจเล่น... ถ้าจับเอาไปใส่ปากใส่ท้องเป็นอาหารให้คลายหิวก็ยังพอทำเนา แต่นี่ไม่ใช่เช่นนั้น... น่าสงสารชีวิตวัวอีก ๕ ตัว ที่สิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ คงจะเพียงแสดงอำนาจให้ประจักษ์เท่านั้น ! ถ้าไม่เรียกเจ้าอันธพาลแล้วจะเรียกอะไร... ท่านถาม

    วัดป่าหนองวัวซอนี้ต่อมามีชื่อว่า วัดบุญญานุสรณ์

    ท่านเล่าว่า ความจริงก่อนหน้าที่จะมาจำพรรษากับหลวงปู่หลุย ที่วัดหนองวัวซอนี้ ท่านได้เคยพบหลวงปู่หลุยมาก่อนแล้ว ระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถวจังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสองนั่นเอง แต่ยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช เคยลงเล่นน้ำสนุกสนานแบบพระเด็ก ๆ ด้วยกัน
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๑. พระนางมัทรีเสด็จมาในกลางป่า

    [​IMG]


    ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ ได้มีเหตุการณ์ที่น่าจะบันทึกไว้อย่างหนึ่ง คือ

    เวลากลางวันวันหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ท่านก็พักจำวัดอยู่ในกุฏิ เผอิญวันนั้นโยมมารดาของท่านที่บวชเป็นชี และยังอยู่ที่วัดป่าหนองบัวบาน ได้มาเยี่ยมท่านที่วัด

    ท่านเล่าว่า

    กำลังจำวัดอยู่เพลิน ๆ เพราะเพิ่งจะพักจากการทำความเพียรอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง อากาศก็เป็นใจด้วยฝนกำลังตกอยู่ ตกใจตื่นด้วยเสียงโยมมาเรียกท่าน

    เร็ว ๆ เข้า รีบไปศาลาโดยด่วนเถอะ คุณลูก นิมนต์ไปศาลา พระนางมัทรีมาอยู่ที่ศาลาแน่ะ...!

    เร็วเถอะท่าน พระนางมัทรีมา โยมเร่ง

    ท่านบอกว่า ตื่นขึ้นด้วยเสียงเรียกของโยมมารดา ทั้งเร่งเร้า ทั้งทุบประตูกุฎี เสียงโยมว่า มีคนมา นิมนต์ให้ไปศาลา ท่านรีบครองผ้าแล้วก็ลงมาจากกุฎีมาทันที เพื่อตามใจโยม ไม่ทันคิดว่าเป็นใคร มาทำไม ธุระอะไร โยมให้รีบไป ท่านก็ตามใจโยม

    “พระนางมัทรีมาที่ศาลา” โยมแม่กล่าวย้ำ เมื่อเห็นท่านลงมาจากกุฎีแล้ว

    ท่านว่า

    ท่านยังไม่ทันจะคิดอย่างไร สงสัยหรือค้านว่า พระนางมัทรี ที่ไหน อย่างไร พระนางมัทรีจะมาที่ศาลาได้อย่างไร อย่าว่าแต่จะซักหรือคาดคั้นถามโยมเลย แม้แต่จะคิดพิจารณาอะไร ก็ไม่ทันได้กระทำ

    พอท่านก้าวลงจากกุฎีมาพ้นได้อึดใจเดียว เสียงไม้ลั่นเอี๊ยดสนั่นพร้อมกับเสียงดังโครมใหญ่ก็บังเกิดขึ้น

    กล่าวคือ ต้นไม้ใหญ่หน้ากุฏิท่าน หักโค่นล้มลงทับกุฎีของท่านแหลกละเอียดเป็นจุณไปต่อหน้าต่อตาท่าน และโยมมารดาท่าน ที่ยืนตะลึงอยู่ตรงนั้น ถ้าหากท่านยังนอนหลับอยู่ในกุฏิ...ท่านเล่าว่า ไม่อยากจะคิดเลย ว่าร่างกายจะแหลกเหลวไปฉันใด

    ได้ความว่า ฝนตกหนักมากตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตลอดทั้งวันทั้งคืน น้ำฝนคงจะเซาะรากไม้ใหญ่ทีละน้อย จนถึงกาลเวลาที่มันไม่อาจจะยืนต้นต่อไปได้ ก็หักโค่นล้มลง

    แต่อัศจรรย์ว่า เมื่อจะต้องหักโค่นลงมาทับกุฎีของท่าน ก็ให้เกิดเรื่อง มาทำให้ท่านแคล้วคลาดพ้นมาจากที่นั้นเสียได้

    โยมมารดา เล่าว่า

    วันนั้นคิดอย่างไรไม่ทราบ ตั้งใจมาเยี่ยมพระลูกชาย แวะไปพักที่ศาลาก่อน ก็ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ศาลา แต่งตัวอย่างนางกษัตริย์ สวยงามมาก นางบอกว่า นางชื่อ พระนางมัทรี โยมแม่เล่าว่า ทั้งประหลาดใจและดีใจมาก

    ...ประหลาดใจว่า พระนางมัทรีนั้นมีชื่ออยู่ในเวสสันดรชาดก ไม่คิดว่า จะมีตัวมีตนจริง ๆ

    ... ดีใจว่า ได้เห็นพระนางมัทรีเสด็จมาหาถึงบนศาลาในกลางป่า ทั้งสวยงาม ทั้งแย้มยิ้มพริ้มพราย งามจับตาเสียเหลือเกิน จึงอยากให้พระลูกชายรีบไปศาลา ได้ดูนางมัทรีให้เป็นบุญตา

    โยมยืนยันว่า เห็นพระนางมัทรีมาที่ศาลาจริง ๆ ถามชื่อนางกษัตริย์คนงาม นางก็บอกประกาศว่า ตนคือพระนางมัทรี โยมบอกว่า เกิดมาไม่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนที่สวยงามอย่างนั้นเลย

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้วโยมมารดานำท่านไปที่ศาลา ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระนางมัทรี หรือผู้หญิงคนใดอยู่ที่นั่นเลย ความจริง...ไม่มีใครบนศาลาเลยด้วยซ้ำ ! เห็นแต่ภาพพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ที่ติดประดับอยู่บนศาลามาแต่ก่อนเท่านั้น...!!

    ถ้าไม่กล่าวว่า เป็นเพราะเหตุอัศจรรย์ก็ไม่รู้ว่าจะกล่าวอย่างไร ...เทวดาจึงได้บันดาลนิมิตเพศเป็นพระนางมัทรีมาให้โยมมารดาเห็น และไปเรียกท่านให้พ้นภัยที่จะต้องถูกต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงทับกุฎีที่ท่านจำวัดอยู่...!

    เป็นธรรมดาของศาลาวัดป่าทั่วไป ที่จะมีผู้ถวายรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปตามเรื่องในชาดกต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อ สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติในชาติสำคัญ ๑๐ ชาติ ที่เรียกกันว่า ทศชาติ อันเริ่มแต่พระสุวรรณสาม พระเตมีย์ พระมโหสถ.... กระทั่งพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้าย ทางวัดก็มักจะนำภาพเหล่านั้นใส่กรอบประดิษฐานไว้บนศาลา ให้ญาติโยมได้เคารพบูชา รูปพระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็เป็นภาพหนึ่งที่ติดอยู่บนศาลาเช่นภาพในชาดกทั้งหลาย


    หลังจากที่ได้พิมพ์หนังสือ “ชีวประวัติ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” แจกไปสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทะสาโร ได้อ่านความในหนังสือดังกล่าว มาถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ท่านก็กล่าวยืนยันเรื่องราวซ้ำให้ผู้เขียนฟังอีกครั้งหนึ่ง

    หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า

    ปีนั้นเป็นปีที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วย ณ วัดป่าหนองวัวซอ โดยมีทั้งหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่ขาว อนาลโย จำพรรษาอยู่พร้อมกันทั้งสามองค์ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่ซึ่งท่านประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่านเป็นอย่างดี โดยมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นทั้งในกรณีของหลวงปู่ชอบ และกรณีของหลวงปู่ขาว โดยหลวงปู่หลุยท่านว่า “อัศจรรย์...อัศจรรย์จริง”

    ต่อมาเมื่อพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย มรณภาพในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้เขียนได้รับฉันทานุมัติจากคณะศิษยานุศิษย์ของท่าน ...ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ให้เป็นผู้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือประวัติของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ผู้เขียนจึงได้บันทึกความตอนนี้ที่หลวงปู่หลุยท่านเมตตาเล่าให้ฟัง ลงไว้ในหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ด้วย ดังมีความละเอียด ซึ่งขอนำมารวมไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย ดังนี้

    จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ “พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร” ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๒๖ – ๒๗

    “...ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่หลวงปู่หลุยเล่าเสมอว่า ท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวัน ขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่นด้วยได้ยินสียงโยมมารดามาร้องเรียก ให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิ ตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์”

    “ความจริงที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่าพระนางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกยังไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นหญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้น จึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นหญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรี ติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่า นางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำวัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่”

    “สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มระเนระนาดลงมานั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียวที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น”

    “เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยมักจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอ ว่าบุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสม อบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอารักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ”
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๒. คำพยากรณ์ของท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]


    ในบรรดาศิษย์รุ่นใหญ่ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ หลวงปู่ดูเหมือนจะมีประสบการณ์คล้ายกับบูรพาจารย์ของท่านมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการรู้เห็น ติดต่อกับสิ่งลึกลับ ที่อยู่ต่างภพต่างภูมิ มาขอความอนุเคราะห์จากท่าน... ขอสร้างบุญ สร้างกุศล ทำบุญกับท่าน ขอฟังธรรมให้ท่านเทศน์โปรด

    ความอันนี้ ดูจะเป็นที่สังเกตและทราบตั้งแต่เมื่อท่านเป็นพระผู้น้อย เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นใหม่ ๆ

    เวลาที่ท่านภาวนา...ทุกคืน ได้เห็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ปรากฏซ้ำคล้ายกันแทบทุกคืน วันหนึ่งอดใจไม่ได้ ก็คลานเข้าไปกราบเรียนถามข้อสงสัย

    กล่าวคือ ท่านภาวนาเห็นพระอาจารย์มั่นถือไม้เท้าไปเคาะดูตามกุฏิลูกศิษย์หลังโน้นหลังนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่น ดู ๆ แล้วก็กลับ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปด้วยเหตุผลกลใด

    ท่านพระอาจารย์มั่น ฟังแล้วแล้วก็นิ่ง มองพระน้อยองค์นี้ แทนที่จะตอบคำถาม ท่านกลับปรารภออกมาดัง ๆ ต่อหน้าพระเณรทุกองค์ว่า

    “เออ..ให้ทุกองค์ภาวนาให้ได้เหมือนท่านชอบซิ !”

    ได้ความว่า ระยะนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะตรวจดูว่า พระเณรได้มีการทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ สมกับที่เป็นพระธุดงค์ กรรมฐาน ศิษย์ของท่านหรือไม่... หรือจะมีใครง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจภาวนา แอบเป็นจระเข้ ยึดถือหมอนเป็นหลัก หรือว่ามีจิตส่งออก คิดไปในทางไม่ถูก ไม่ควรบ้าง...

    ท่านจึงคอยไปตรวจดู...เคาะกุฏิดู...!

    และความจริงท่านก็มิได้ออกเดินไปดูจริง ๆ... ท่านเพียงแต่ส่งจิตออกไปดูเท่านั้น...!

    แต่พระน้อยองค์นี้ ก็สามารถมองเห็นกายทิพย์ของท่านได้...!

    นับแต่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้ความเมตตาท่านมากขึ้น ไม่ว่าจะแนะอุบาย ข้อปฏิบัติเช่นไร ท่านก็พยายามทำตามอย่างไม่ลดละ เช่น ควรจะไปอยู่ป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น ข่าวว่าลำบากยากแค้นกันดารอย่างไร ท่านจะไม่ลังเลสงสัยเลย ท่านจะตรงไปอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจทำความเพียรในป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น อย่างไม่หวั่นกลัวหรือหวาดเกรงภัยใด ๆ และเมื่อไปแล้วแระสบผลอย่างไร มีอุบายพาดำเนินข้อขัดข้องไปได้เช่นไร ก็จะกลับมาเรียนชี้แจง ขอสอบทานความคิดเห็น หรือยังมีปัญหาใดค้างคาอยู่ ก็จะมาเรียนขอให้ท่านอนุเคราะห์ให้ความสว่างแก่ศิษย์

    ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น ท่านดูแลขัดเกลานิสัยศิษย์อย่างเอาใจใส่ ทั้งจริตนิสัยภายนอก ทั้งจิตภายในที่จะต้องกล่อมเกลาให้สำรวมระวัง ดูแลทุกข์สุข....

    เป็นทั้ง พ่อ

    เป็นทั้ง แม่

    เป็นทั้ง ครูบา

    เป็นทั้ง อาจารย์

    ของศิษย์จริง ๆ ท่านจึงใช้คำแทนชื่อ เรียกว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” หรือเรียก “พ่อแม่ครูจารย์” สั้น ๆ

    ท่านเคารพเชื่อฟังท่านพระอาจารย์มั่นมาก และท่านพระอาจารย์มั่น ก็คงจะเฝ้าสังเกตความก้าวหน้าในการบำเพ็ญภาวนา ของศิษย์ผู้นี้อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งท่านจึงออกปากพยากรณ์...

    “ไปไกลลิบเลย พระน้อยองค์นี้”

    ในประวัติบางแห่ง กล่าวว่า เมื่อหลวงปู่พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ในพรรษานั้น ก็ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น หากเรื่องนี้ หลวงปู่ปฏิเสธว่า ท่านไม่เคยจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นเลย แต่ออกพรรษาแล้ว เมื่อมีโอกาสครั้งใด ท่านก็จะกลับมากราบครูบาอาจารย์ของท่านเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องการอุบายธรรม ที่จะส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

    อันที่จริง บางครั้ง บางเวลา ที่ท่านไปอยู่โดดเดี่ยวในกลางป่าดงพงลึก หรือในถ้ำอันลี้ลับ บนยอดเขาสูง หากการภาวนาเกิดติดขัดอย่างไร ท่านพระอาจารย์มั่นก็จะไปปรากฏร่างในนิมิตภาวนา แสดงบอกอุบายวิธีแก้ไข อาจจะเป็นโดยย่อ เพียงให้ท่านได้อุบายใช้สติปัญญาของตน คิดแยกแยะให้กว้างขวาง แตกฉานออกไป ...หรืออาจจะเป็นธรรมโดยละเอียด ที่ควรแจกแจงให้พิสดารออกไป จนแจ่มแจ้งก็ได้ โดยที่หลวงปู่มีนิสัยในทาง “ออกรู้” สิ่งต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว จึงสามารถมีทางรับรู้ธรรมจากครูบาอาจารย์ทางได้เป็นอย่างดี

    แต่ถึงท่านจะมีโอกาส “รับฟัง” ธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นได้ในทางนิมิตภาวนา ง่ายกว่าศิษย์คนอื่น ท่านก็ยังปรารถนาจะหาโอกาสกลับมากราบองค์จริงอยู่บ่อย ๆ

    คืนหนึ่ง ท่านไปทำความเพียรอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่นัก

    ท่านเล่าว่า

    คืนวันนั้น จิตสงบภาวนาได้ดีมาก แต่ใจหนึ่งก็สงสารสังขาร คิดจะให้ได้พักผ่อนสักหน่อย เพราะท่านใช้เวลาภาวนาติดต่อกันมาหลายคืนแล้ว พอตกลงใจคิดเอนหลังลงจะนอน ก็ได้ยินเสียงดังลั่นเหมือนเสียงฟ้าผ่า เสียงนั้นดังสนั่นมากจนท่านประหลาดใจ คิดว่าพรุ่งนี้จะหาโอกาสไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์

    พอไปถึงวัดท่านพระอาจารย์มั่น เห็นเสื่อปูรอไว้แล้ว พร้อมทั้งมีขวดน้ำแก้วน้ำตั้งรอรับเสร็จสรรพ ท่านก็ก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ยังไม่ทันจะเปิดปากเลย ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวออกมาดัง ๆ ว่า

    “อ้ายคนเราน่ะนะ ถ้าจะภาวนาให้ดีแล้ว พอนึกง่วงนอน จะนอนแล้ว จะเกิดเสียงดังยังกับฟ้าผ่า !”

    ท่านได้ฟังก็เลยไม่ถามอะไรสักคำ กราบลาแล้วก็กลับไป...!
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๓. เทวดามาขอฟังธรรม

    [​IMG]


    ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกจากวัดป่าบ้านหนองวัวซอ จาริกไปหาป่าหาเขาอันสงัดวิเวกที่ถูกกับจริตนิสัย ท่านชอบเที่ยวอยู่ในป่าในเขาเป็นปกติ ถึงเวลาเข้าพรรษาก็กลับเข้าบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง ท่านออกพรรษาแล้ว ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไป

    พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า วัดป่าวิเวกธรรม อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น พรรษาที่ ๘ และ ๙ พ.ศ. ๒๔๗๕- ๒๔๗๖ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

    ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น กำลังตั้งกองทัพธรรมสั่งสอนประชาชนทางภาคอีสานให้รู้จักหลักพุทธศาสนาที่แท้จริง ให้เลิกนับถือผีไท้ ผีฟ้า ผีปู่ตา กลับมารับพระไตรสรณาคมน์ มีพระกรรมฐานมาชุมนุมอยู่ที่วัดป่าสาละวันและวัดป่าวิเวกธรรมมาก นอกจากองค์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้วก็มี ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น

    วัดป่าสาละวันนี้ มีกำเนิดมาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ปธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ไปรวมกันที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ

    พระคณะกรรมฐาน ซึ่งมีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้า จึงพาหมู่พวกเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเผยแพร่หลักธรรมทางพุทธศาสนา และใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้เอง ที่ พ.ต.ต. หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟ จำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้สร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อว่า วัดป่าสาละวัน ให้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการอบรมกรรมฐาน

    ระหว่างที่หมู่พวกกระจายกันไปตั้งวัดโดยรอบวัดป่าสาละวัน เช่นสร้างวัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล สร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง วัดป่าอำเภอกระโทก วัดป่าอำเภอจักราช วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว วัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง ฯลฯ ... เป็นกองทัพธรรม กระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน หลวงปู่ก็แยกจากหมู่พวกเข้าไปในป่าลึกอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

    โดยที่ ท่านนิสัยขรึม พูดน้อย ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยพระเณรและประชาชนจำนวนมาก ท่านจึงเห็นประโยชน์ของการเข้าไปอยู่ในป่าเขาอันสงัดเงียบ ประโยชน์นี้ทั้งสำหรับองค์ท่านเองและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในภพภูมิอื่น อันสายตามนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะมองเห็นได้

    พูดง่าย ๆ ขณะที่หมู่พวกเมตตาเทศนาอบรมมนุษย์ในหมู่บ้าน หลวงปู่ก็ได้ช่วยเมตตาอนุเคราะห์เทศนาอบรมเทวดาในป่าลึก...

    ท่านเล่าว่า ระหว่างที่ท่านธุดงค์เข้าไปในป่าลึก จะมีพวกกายทิพย์เข้ามาอาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขา แม้แต่เสียงที่ท่านสวดมนต์ภาวนา ก็ทำความชุ่มชื่นรื่นรมย์ให้แก่สัตว์โลกไปทั่วทั้งปฐพี

    แทบไม่เว้นแต่ละคืน จะมีพวกมาจากภพภูมิอื่นเป็นเทวดา นาค มากราบไหว้ขอฟังธรรม

    ท่านเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า เทวดามาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านเกือบทุกคืน มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งมีจำนวนเป็นหลักสิบ เช่น ๕๐ – ๖๐ องค์ บางทีก็เป็นจำนวนร้อย ๑๐๐ –๒๐๐ หรือ ๖๐๐ –๗๐๐ บางครั้งก็ถึงจำนวนพัน ๆ เครื่องนุ่งห่มของเทวดาก็เป็นไปอย่างมีระเบียบงามตา เป็นสีเดียวกันหมด ประหนึ่งเครื่องแบบ เช่น ถ้าคณะนี้แต่งกายสีแดง...ก็แดงเหมือนกัน ถ้าเป็นเป็นสีขาว ก็ขาวเหมือนกันหมด หรือจะเป็นสีเหลือง สีเขียว ก็เหมือนกันเช่นกัน มีที่น่าสังเกต คือ เวลาเข้ามาฟังธรรม เทวดาจะไม่ตกแต่งเครื่องประดับอลังการ มีกิริยามรรยาทเรียบร้อย นอบน้อมพระผู้เป็นเจ้า อย่างน่าชม

    ธรรมะที่ท่านแสดงโปรดเทวดานั้น มักเป็นหัวข้อธรรมที่เขาขอร้อง เช่น ขอฟัง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร บ้าง กรณียเมตตสูตร บ้าง เมตตาพรหมวิหาร บ้าง ท่านก็อนุโลมเทศน์ไปตามที่เขาอาราธนา แต่บางครั้งเขาก็ไม่จำเพาะเจาะจงแต่อย่างใด ขอแต่ให้ท่านจะพิจารณาเห็นสมควรเอง

    การแสดงธรรมท่านก็แสดงจากใจ ไม่ต้องใช้เสียงแต่อย่างใด ผู้ฟังก็ฟังด้วยใจ บางครั้งก็มีการถามปัญหาธรรม เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มีข้อสงสัยในทางธรรม ท่านก็อนุเคราะห์เขาไปตามควร

    การที่หลวงปู่เมตตาสัตว์ไม่มีประมาณ ทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค มนุษย์ ท่านเทศน์โปรดเขาเป็นปกติ แต่ความจริงตามที่กราบเรียนถาม หลวงปู่ได้เทศน์โปรดเทวดามาแต่เมื่อสมัยท่านยังเป็นสามเณรแล้ว ฉะนั้น พวกที่ได้รับความเมตตาความกรุณาจากท่าน จึงมีจิตใจตอบ ทั้งด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา เคารพ รัก เทิดทูน บูชา เมื่อยามที่ท่านติดขัด มีอุปสรรคอันใด เทวดาผู้ห้อมล้อมอารักขาท่าน จึงคอยดูแลพยายามปัดเป่า คลี่คลายปัญหาถวายให้ท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ดังจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๔. จำพรรษาที่ถ้ำนายม เทวดามาอารักขาและถวายอาหารทิพย์

    [​IMG]


    ในพรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ปรากฏให้ท่านเห็นในนิมิต ตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านเหล่างา จังหวัดนครราชสีมา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เมื่อท่านล่วงรู้อนาคตถึงถ้ำที่ท่านจะต้องไปอยู่ ท่านก็เดินทางจากนครราชสีมา บุกป่ามุ่งไปทางเพชรบูรณ์ เพื่อสืบหาถ้ำนายมที่เห็นในนิมิต

    ท่านเดินทางมากับผ้าขาวคนหนึ่ง เป็นคนบ้านนอก รักษาศีล ๘ ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ถามหาถ้ำนายม แต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนสุดท้ายจึงมาพบเข้า เป็นถ้ำที่ซอกซอนอยู่ในป่าลึก จากบ้านชาวป่าที่ใกล้ที่สุด ต้องบุกป่าไม้ไผ่อันหนาทึบเข้าไปถึง ๕ กิโลเมตร จึงจะถึงถ้ำนายม

    ท่านเล่าว่า

    ตั้งแต่เห็นถ้ำมา ท่านไม่เคยเห็นถ้ำที่ไหนจะใหญ่โตและงดงามเท่าถ้ำนายมนี้ ภายในถ้ำมีบริเวณอันกว้างใหญ่ เป็นหลืบเขา เป็นชั้นช่องปล่องเปลว เพดานเป็นหินระย้าย้อยงดงาม บางตอนก็เลื่อมพรายระยิบระยับประดุจแก้วมุกดา แต่ละห้องคูหาล้วนใหญ่โตมโหฬาร ต่อเนื่องกันไปดุจท้องพระโรง และห้องหอในปราสาทราชวัง บางตอนที่แยกออกไปเป็นซอกเล็ก คูหาน้อย แม้จะขาดแสงดูทึบมืดมาก แต่ก็ไม่มีอับชื้น อากาศโปร่งเย็นสบาย มีลมพัดโกรกตลอดเวลา ชวนให้นั่งภาวนาเป็นอย่างมาก

    ท่านว่า เป็นถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมด ไม่มีแมลงปรากฏ พระเณรหรือใครก็ตามจะไปทำความสกปรกในนั้นไม่ได้เลย และถ้าขี้เกียจภาวนา เห็นแก่หลับแก่นอน ก็จะถูกปลุก ถูกเตือน ดึงแขน ดึงขา เพื่อไม่ให้ประมาทในการภาวนา

    ท่านบอกว่า พิจารณาแล้ว เคยเป็นถ้ำอยู่ใต้ทะเลมาก่อน จนเดี๋ยวนี้พื้นถ้ำก็ยังคงเป็นทรายทะเลอยู่ แต่ก็น่าประหลาด ดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าแม้พื้นถ้ำจะเป็นทราย แต่มิได้มีมดมีแมลงเล็กน้อยอาศัยอยู่ในพื้นทราย ดังที่เคยพบในพื้นทรายแถบอื่นเลยสักตัวเดียว ดูราวกับมีผู้มาปัดกวาดทำความสะอาดให้ดูราบเรี่ยมเอี่ยมสำอางอยู่ตลอดเวลา

    บริเวณหน้าถ้ำ มีกระทะเหล็กใหญ่ ๆ หม้อ ไห มากมาย ถามดูก็ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ชาวบ้านบอกว่า ได้ยินปู่ย่าตายายเล่าสืบ ๆ กันมาว่า เคยเห็นข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้อยู่หน้าถ้ำนี้มานานนักหนาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานฉลองปีหนึ่ง ก็ได้ใช้ ถ้วยชาม หม้อ ไห กระทะเหล่านี้ครั้งหนึ่ง ใช้แล้วก็เก็บล้างนำมาคืนที่หน้าถ้ำ วางไว้เฉย ๆ ไม่ต้องเก็บงำซุกซ่อนอะไร ไม่มีใครกล้าไปฉกลัก ยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัวสักราย

    ท่านกล่าวชมเชยผ้าขาวที่ไปอยู่ด้วยกับท่านมาก ว่าปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรได้อย่างน่าสรรเสริญ วันหนึ่งระหว่างนั่งภาวนา ท่านเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะลอยมา แต่ผ่านท่านไปอย่างไม่สนใจ และไปกระซิบอะไรไม่ทราบใส่หูผ้าขาวนั้น พอเสร็จภาวนาแล้ว โยมผ้าขาวก็มาถามท่านว่า

    “ถึงขั้นอะไรแล้ว”

    ท่านก็เลยปรามว่า

    “อย่าไปยุ่งกับมันเลย ขั้นเคิ่นอะไรกัน เราภาวนาต่อไปเถอะ”

    ท่านอธิบายว่า ความจริง โยมผ้าขาวผู้นั้นได้เป็นอนาคามีแล้ว ออกพรรษาแล้ว เมื่อท่านจะไปจากถ้ำนายม โยมผ้าขาวก็ยังดื่มด่ำในการภาวนามาก ไม่ยอมตามท่านไป ขออยู่ที่ถ้ำนายมต่อ พวกลูกหลานของแกเป็นห่วง อ้อนวอนให้ไป เพราะในนั้นอดอยากมาก ไม่มีอาหารกิน แต่โยมผ้าขาวก็ไม่ยอมกลับบ้านกับลูก ลูกชายลูกสาวจึงออกอุบายชวนให้ออกจากถ้ำไปดูห้วยซึ่งอยู่ใกล้ถ้ำ แล้วก็จับเอาตัวพ่อเฒ่ากลับไปบ้าน ผ้าขาวกลับบ้าน ก็ไม่สนใจงานการอะไร คงแต่ภาวนาและเดินจงกรมลูกเดียว

    หลวงปู่เล่าว่า แกเป็นอนาคาแล้ว กำหนดรู้วันตายล่วงหน้า และเมื่อถึงวันที่แกบอกล่วงหน้าไว้ว่าจะเป็นวันตาย ลูกหลานก็ว่า ไม่เห็นพ่อเฒ่าเจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างไร คงเดินจงกรมเป็นปกติ แต่ในวันนั้นเอง ระหว่างเดินจงกรม แกตกนอกชาน ซี่โครงไปโดนล้อเกวียนหัก ตายตรงตามเวลาที่บอกลูกชายลูกสาวไว้พอดี

    ที่ถ้ำนายมนี้มีเทพมาก และมักจะอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโปรดพวกเขาเสมอ ชาวบ้านป่าที่อยู่ใกล้ถ้ำนายมที่สุดนั้น มีเพียงสองสามครอบครัว มีฐานะแบบหาเช้ากินค่ำ ที่พยายามถวายอาหารพระก็ด้วยใจเคารพเลื่อมใส แต่ความที่เขาเองก็ลำบากแทบไม่มีจะกิน ท่านจึงไม่ค่อยจะออกมาบิณฑบาตนัก เว้นสี่ซ้าห้าวันจึงจะออกมาบิณฑบาตสักหนหนึ่ง หรือบางทีการภาวนาดื่มด่ำมาก ท่านก็จะเว้นการบิณฑบาตนานมากขึ้น ทำสมาธิทั้งกลางวัน กลางคืน เวลา เช้า – สาย – บ่าย – เย็น มืดหรือสว่างแทบไม่มีความหมาย จิตสว่างโพลง ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน

    จิตลงได้สนิทเต็มที่ถึงฐานสมาธิ ได้ครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว ก็พิจารณาด้านปัญญา จนกว่าปัญญาจะฟาดฟันกิเลสดับสิ้นลง เวลาเข้าสมาธินั้นประมาณแน่นอนไม่ได้ ถ้าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งอากาศมักจะร้อนสักหน่อย ก็จะอยู่ในราวสอง หรือ สาม หรือ สี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน อากาศเย็นโปร่งสบาย ก็สี่ถึงห้าชั่วโมงเป็นประจำ แต่ก็บ่อยครั้งที่จิตอาจจะถอน ต่อเมื่อถึงเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว หลังจากทำสมาธิแล้ว เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ท่านก็จะเดินจงกรมต่อไป


    [​IMG]


    จิตดื่มด่ำในธรรมที่ผุดขึ้น ธรรมก็แนบกับจิตไม่เสื่อมคลาย ท่านไม่ได้สนใจกับเวลาทีผ่านไป หรืออาหารที่ไม่ได้ตกถึงท้องเป็นวัน ๆ เป็นอาทิตย์ ๆ ผ้าขาวที่อยู่ด้วย ท่านก็ไม่ได้ห่วงใยอาลัยอาหารเช่นเดียวกัน จึงต่างคนต่างทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้หนึ่ง คือ พระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ฟังในภายหลังว่า

    ตอนที่ท่านนั่งภาวนา และเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านท่านไปโดยไม่สนใจ แต่ไปกระซิบหูผ้าขาวนั้น ท่านรู้สึกอายใจอย่างบอกไม่ถูก

    “แหม...เราบวชมา ๑๐ ปี แล้ว ยังสู้เขาไม่ได้ ! ผ้าขาวนั้นได้อนาคามีแล้ว !”

    เรื่องในสมัยพุทธกาลก็เคยมี ที่ภิกษุบำเพ็ญภาวนาแล้วสู้อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้ อุบาสิกานางหนึ่ง พิจารณาแล้วได้อนาคามี นางมีใจเมตตา เห็นแก่หมู่ภิกษุยังไม่บรรลุธรรม พิจารณารู้ว่า ยังติดขัดอาหารไม่สัปปายะ เป็นที่สบายแก่จิต ก็พยายามจัดหาปรุงอาหารที่ถูกแก่จริตถวาย ภิกษุเหล่านั้นนึกอาย ที่อุบาสิกาได้บรรลุธรรมถึงอนาคามีแล้ว แต่ท่านทุกองค์ยังเป็นปุถุชน ท่านพยายามเร่งความเพียรอย่างหนัก และสุดท้ายก็ได้สำเร็จอรหัตผลกันทุกองค์ ขณะมี่โยมอุปัฏฐากของท่านก็ยังเป็นพระอนาคามีเช่นเดิม

    อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องของหลวงปู่นี้ เราไม่กล้าอาจเอื้อม จะคิด จะวิจารณ์เช่นไร เทวดาองค์นั้นไปกระซิบให้ผ้าขาวมาเรียนถามหลวงปู่เป็นเชิงสัพยอก หรือ ให้อุบายหรือเปล่า ที่ว่า

    “ถึงขั้นอะไรแล้ว ถึงขั้นอะไรแล้ว”

    แต่ก็ทำให้ท่านเร่งความเพียรหนักขึ้น จนไม่ได้เป็นอันนึกถึงการบิณฑบาตหรือฉันอาหาร ด้วยใจนั้นประชิดติดพันรุกไล่อยู่กับการห้ำหั่นกิเลสอย่างไม่ลดละ ท่านไม่ได้นึกถึงเดือน นึกถึงตะวัน เพลินด้วยการภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔ จนไม่ได้นึกถึงสังขารร่างกายเลยว่า ซูบผอมอ่อนเพลียไปเช่นไร

    ออกประหลาดใจที่วันหนึ่งได้เห็น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามากราบคารวะขออนุญาตถวายอาหารทิพย์

    เทวดากราบเรียนท่านว่า

    ที่ท่านมาบำเพ็ญความเพียรอยู่ ณ ที่นี้ เทวดาได้เป็นผู้มาคอยอารักขาท่านตลอดเวลา ด้วยความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาอย่างสูงยิ่ง เหล่าเทพบริเวณนี้มีความสุขสงบร่มเย็นโดยทั่วกัน ด้วยกระแสธรรมและเมตตาที่ท่านแผ่ไปให้โดยไม่มีประมาณ เทวดาทั้งหลายขออนุโมทนาด้วยพระคุณเจ้า แต่ระยะนี้พระคุณเจ้าเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ไม่บิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร ธาตุขันธ์ขาดอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาหลายเพลาแล้ว แม้ใจของท่านจะผ่องใส อาจหาญ ร่าเริงในธรรม แต่ร่างกายที่อ่อนเพลีย อาจจะเป็นอุปสรรคให้ท่านล้มเจ็บลงได้ เทวดาสงสาร ทนดูอยู่หลายวันแล้ว อดไม่ได้ วันนี้ต้องขออนุญาตถวายท่านด้วยอาหารทิพย์

    ท่านว่า อาหารทิพย์เป็นอย่างไร และนี่ก็ตกบ่ายแล้ว ฉันไม่ได้ เป็นอาบัติ

    เทวดา ก็แสดงอาหารทิพย์ในมือถวายให้ท่านดู ลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินสอพอง

    เทวดาอธิบายว่า

    ไม่ใช่อาหารธรรมดาที่จะฉัน จะเคี้ยว จะกลืนดังอาหารธรรมดา อาหารทิพย์นี้ เป็นเพียงโอชารสที่จะซึมซาบเข้าไปในร่างกายเท่านั้น เปรียบเหมือนยา หรือน้ำเกลือ น้ำหวานที่พระอาจฉันได้หลังเพลาเพลแล้ว เพียงใช้ถูเบา ๆ ความเป็นทิพย์ก็จะซึมซาบเข้าไปตามส่วนของร่างกาย เหมือนฉีดยาบำรุงกำลังนั่นเทียว

    ระยะแรก ท่านค้านมาก เหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ เทวดานั้นเป็นผู้หญิง ท่านเกรงว่าจะเกิดอาบัติ และถึงว่ากายทิพย์ของเทวดาจะไม่เป็นที่รู้เห็นของคนทั่วไป แต่สำหรับตัวท่านเองนั้น หลับตาก็มองเห็นเทวดา ลืมตาก็มองเห็นเทวดา แม้ทางพระวินัยจะไม่มีความเสียหาย แต่ถ้าเผื่อผู้มีสายตาดี มีญาณผ่านมาเห็นเข้า ก็จะเป็นที่ครหาว่า พระอยู่ลำพังกับสตรี

    เทวดากราบเรียนว่า

    อาหารที่ท่านเห็นนั้น ท่านเห็นได้จากใจทิพย์ เทวดาเพียงจะนำอาหารทิพย์มาถวายทางกายทิพย์ ไม่ใช่กายเนื้อ ที่ท่านว่า ลืมตาก็เห็นหรือตาเนื้อมองเห็นด้วยนั้น แท้จริงเป็นเพราะญาณภายในของพระคุณเจ้าสนับสนุนให้เห็นดอก เทวดาเป็นผู้รักและเทิดทูนท่านผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างพระคุณเจ้า เทวดาก็อยากได้บุญได้กุศลเช่นกัน จึงขอถวายอาหารทิพย์บ้าง พระคุณเจ้ายังออกบิณฑบาตโปรดให้มนุษย์ได้ใส่บาตร ได้บุญ ได้กุศล เทวดาทำไมจึงอาภัพอับวาสนา ไม่มีสิทธิ์ถวายอาหาร หรือยาบำรุงกำลัง เพื่อส่วนบุญกุศลส่วนกุศลของตนบ้างบ้าง

    ท่านเล่าว่า การคิด การโต้ตอบนี้ เป็นไปในสมาธิภาวนาตลอด ดังนั้น เวลาเพียงไม่กี่วินาที ถ้อยคำ กระแส ความคิดของมนุษย์หรือเทวดาจะปรากฏไปได้ยืดยาวมาก

    ปรากฏว่า หลังจากที่เทวดามาถวายอาหารทิพย์ ถูให้ท่านทางกายทิพย์แล้ว พอท่านออกจากสมาธิ ก็รู้สึกว่า ร่างกายมีกำลังสดชื่นราวกับได้ฉันอาหารตลอดเวลาหลาย ๆ วันที่ผ่านมา

    เทวดาองค์นี้ได้เล่าถวายถึงบุพเพนิวาสที่ได้เคยมีต่อหลวงปู่อย่างละเอียด และแม้จะอยู่คนละภพและภูมิ แต่ก็ปวารณาขอถวายอารักขา แม้ท่านจะปฏิเสธว่า องค์ท่านมิได้ลำบาก ติดขัด หรือขาดแคลนสิ่งใด ความเป็น ความอยู่ ก็พอเป็นไปตามอัตภาพของพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ฉันน้อย อยู่น้อย ใจมุ่งต่ออรรถต่อธรรมเป็นส่วนใหญ่ ที่เทวดาว่า ท่านจะหิว จะไม่มีกำลัง ท่านก็มิได้รู้สึกเลย

    อย่างไรก็ดี แม้ท่านจะปฏิเสธอย่างไร เทวดาองค์นั้นก็คอยมาดูแล อารักขาท่านอยู่เสมอ บางครั้งท่านมองไปจะเห็นเทวดานั่งเรียบร้อยอยู่บนโขดหิน ห่างท่านสัก ๔ – ๕ วา ราวกับจะเป็นยามมิให้พระต้องอนาทรร้อนใจ

    ท่านว่า เป็นเหตุการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง อันปรากฏกับท่านระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๕. สถานที่ซึ่งมีบุญคุณที่สุด

    [​IMG]


    ปกติหลวงปู่มีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ชอบไปและอยู่ตามลำพังองค์เดียว นาน ๆ จะชวนเพื่อนชวนหมู่ไปด้วยสักครั้งหนึ่ง แต่ก็จะเลือกเฉพาะผู้ที่ใจเด็ด ใจถึง ตายเป็นตาย เท่านั้น ท่านอธิบายว่า การไปคนเดียว อยู่คนเดียว ทำให้มีสติรู้ตัว สังวรระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทมัวแต่จะนึกอาศัยเพื่อนหรือผู้อื่น ทั้งไม่ต้องมีเรื่องมาก ต้องคอยพูดคุยสนทนากันในบางโอกาสบางเวลา ไปคนเดียว ไม่ต้องรั้งรอกัน คิดจะไป เพียงเก็บบริขารใส่บาตร คว้ากลดร่มก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลารอโน่นรอนี่ หรือคำท้วงติง....

    “อย่าเพิ่งไปเลย กำลังอยู่สบาย”

    “ไปทำไม ญาติโยมเพิ่งทำแคร่ ที่มุงบังถวายเสร็จ ไม่อยู่ต่อไปหรือท่าน...” จะได้ไม่ต้องได้ยินคำทัดทาน เหนี่ยวรั้งเหล่านี้

    มีผู้เคยเรียนถามท่านว่า ไปองค์เดียว เจ็บจะทำอย่างไร ตายจะทำอย่างไร ท่านก็จะยิ้มและตอบเรียบ ๆ ว่า “เจ็บก็รักษาธาตุขันธ์ไปตามมีตามเกิด หายก็หาย ตายก็ตาย”

    นั่นซี...ตายจะทำอย่างไร ผู้สงสัยเร่งถาม

    ท่านตอบง่าย ๆ ว่า “ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดา”

    ถามซ้ำกันอีกว่า คติธรรมดาเป็นอย่างไร ท่านจึงต้องอธิบายเพิ่มขึ้น ธาตุทั้ง ๔ เขาก็กลับคืนไปสู่สภาพเดิมของเขา ที่เป็นลม เป็นไฟ ก็หยุด แล้วเมื่อพอหมดลมหายใจ ที่เป็นน้ำและดิน ก็กลับสู่น้ำและดินน่ะซี

    ออกพรรษาแล้ว ท่านก็จะจากวัดที่พัก ไปแสวงหาที่วิเวกอยู่เสมอ พรรษา ๑๐ นี้ แม้ท่านจะจำพรรษาในถ้ำนายม ซึ่งอยู่กลางป่าลึก เป็นที่สงัดวิเวกอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่วิสัยของท่าน ไม่ชอบการอยู่ในที่ซ้ำซาก จำเจ ไม่ติดถิ่น ไม่ลังเลอาลัย เทวดาผู้อารักขาท่าน และเทวดาที่อยู่โดยรอบบริเวณ จะพยายามอาราธนา ขอให้ท่านอยู่ต่อไปเพื่อให้ความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งพักพิงทางใจของบรรดากายทิพย์เหล่านั้น แต่ท่านก็ต้องปฏิเสธว่า ท่านมีความจำเป็นต้องจากไป ท่านเห็นประจักษ์ในพระพุทธภาษิต

    อุยฺยุญฺชนฺติ สติมนฺโต น นิเก เต รมนฺติ เต

    หํสาว ปลฺลํ หิตฺวา โอกโมกํ ชหนฺติ เต ฯ

    ผู้มีสติ ย่อมหลีกออก ท่านไม่ยินดีในที่อยู่

    ท่านย่อมละอาลัย (ที่อยู่) เสียได้ ดุจพญาหงส์ละเปือกตมไปฉะนั้น

    ท่านออกวิเวกต่อไป ในเขตต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ซึ่งท่านเคยท่องเที่ยวหาความสงบตลอดมา...ทางภูเขียว ภูเรือ ภูหลวง... ท่านว่า เวลาอยู่ในวัดหรือที่เป็นป่าธรรมดา ไม่ใช่ป่าดงพงลึกนั้น ใจท่านมักจะอึดอัด อ่อนล้าไปในทางขี้เกียจ ประมาท นอนใจ ไม่กระฉับกระฉงว่องไว ดังที่ไปทรมานตนในป่าลึกเขาสูง สติปัญญาก็ล่าช้า ดุจจะเสื่อม ถอยหลัง ไม่องอาจแกล้วกล้า ดั่งเวลาเผชิญภัยในป่าเขา

    ป่าเขา...สำหรับท่าน... เป็นประดุจหินกล้าที่ลับมีดให้คมกริบ พร้อมที่จะตัดฟันกิเลสที่จะเผยอตัวขึ้นมา ให้ขาดกระเด็นไป

    ป่าเขา...สำหรับท่าน...เป็นประดุจครูที่ให้อุบายทรมานกิเลสให้สยบราบคาบ

    การทำความเพียรของท่าน สามารถกระทำต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดยั้ง หรือต้องถูกเหนี่ยวรั้งกังวลเพราะหมู่พวก สติปัญญาก็เกิดขึ้น งอกงามคู่เคียงกับความเพียร และในขณะเดียวกัน ระหว่างที่ทำความเพียร ก็ยังพอมีเวลาให้ความอนุเคราะห์แก่พวกสิ่งลึกลับกายทิพย์เขาได้ด้วย

    พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านจำพรรษาที่วัดสระคงคา บ้านคลองสีพัน เมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์

    พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ จำพรรษาที่ วัดดงขวาง อันอยู่ในเขตเมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์เช่นกัน เพียงแต่อยู่ห่างกันมากเท่านั้น

    ท่านเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาจจะเป็นเพราะที่ได้ถูกเทวดาไปกระซิบทักกับผ้าขาวตอนอยู่ถ้ำนายมก็ได้ ท่านว่า เราเป็นพระ มีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ แต่ผ้าขาวนั้นเพียงศีลแปด แต่ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว อายเขาเหลือใจ

    ความจริง นับจากที่จากถ้ำนายมมาแล้ว ท่านก็เร่งในการทำความพากเพียรอย่างยิ่งเช่นกัน ตลอดเวลา ๒ พรรษาที่ผ่านมา ณ วัดสระคงคา และวัดดงขวาง มีการอดอาหารมากขึ้น ผ่อนอาหารสลับกัน บางโอกาสได้ทำความเพียรเฉพาะอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยอธิษฐานไม่นอน เพื่อเอาชนะกิเลส

    ออกพรรษาแล้ว ท่านก็หลีกเร้นไปอยู่ตามป่าตามเขาสูง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีภูเขาใด ดอยยอดใดในสองจังหวัดนี้ ที่รอยเท้าของท่านจะไม่เคยเหยียบย่างธุดงค์ผ่าน

    ท่านได้ธุดงค์จากจังหวัดเลย มุ่งไปทางเชียงใหม่ด้วยได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่น ผ่านภูเรือ ด่านซ้าย นครไทย ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๙ วัน ๙ คืน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ

    พรรษาที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

    วัดบ้านโป่งนี้ เป็นสำนักที่ครูบาอาจารย์เคยไปพักบำเพ็ญเพียรกันมาก เช่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ก็เคยจำพรรษา ณ ที่วัดนี้

    ท่านเล่าว่า

    เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การภาวนามาก ภาวนาไม่นาน จิตจะสงบลงถึงฐานของสมาธิอย่างง่ายดาย การนั่งภาวนาจนตลอดสว่าง วันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ทำได้โดยไม่ยาก เวลาเดินจงกรมก็รู้สึกเหมือนกับเหาะลอยไปในอากาศ

    สถานที่นี้เหมาะแก่การทำประโยคความเพียร ไม่แต่ท่านเอง แม้แต่พระอื่น ก็ทำได้ถึงอัปปนาสมาธิโดยง่ายเช่นกัน จึงเป็นที่ซึ่งพระธุดงค์กรรมฐานนิยมไปพำนักไม่ขาดสาย จนเท่าทุกวันนี้

    ในพรรษานี้ หลวงปู่มีกัลยาณมิตรที่ดีอยู่จำพรรษาด้วย คือ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (ปัจจุบัน... พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ซึ่งท่านพระอาจารย์เทสก์ได้เป็นหัวหน้าเทศนาอบรม และให้อุบายอันมีค่าแก่หมู่เพื่อน เตือนมิให้ติดสุข พอใจแต่เพียงการทำจิตให้สงบแต่อย่างเดียว การเดินปัญญา เพื่อพิจารณาถอดถอนกิเลสจะต้องดำเนินควบคู่กันไป

    ปกติจิตของหลวงปู่จะรวมลงถึงฐีติจิต หรือ อัปปนาสมาธิ สงบนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นวันเป็นคืน หรือถอยออกมาสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นภาวะตอนที่ ออกรู้ หรือ รับแขก อยู่เสมอ จิตรวมมีกำลังจริง... แต่ปัญญาไม่แก่กล้า ฉะนั้น ณ ทีวัดบ้านโป่งนี้ ท่านจึงพักการรับแขกนอก แต่หันมาคิดค้นดูแขกภายใน... หรือกายของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย อุบายปัญญาก็บังเกิดขึ้นทันกับสติ ที่จะห้ำหั่นกิเลสให้ขาดลงเป็นลำดับ ๆ

    ครั้นออกพรรษา ปวารณาแล้ว ท่านก็ได้ลาจากวัดบ้านโป่งไปด้วยความสำนึกในคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๖. ธุดงค์เข้าเขตพม่าและจำพรรษาในพม่า

    [​IMG]


    ไม่เป็นการผิดเลยที่จะกล่าวว่า สำหรับหลวงปู่แล้ว “ป่าลึกและเขาสูง” นั่นเอง คือ “บ้านอันแสนผาสุก” ของท่าน เมื่อมีโอกาสท่านจะต้องเข้าฝ่าเข้าเขาไปตามนิสัย ได้ไปถึงใจกลางป่าลึก ถึงบนยอดดอยเขาสูงแล้ว ใจจึงจะมีความปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างบอกไม่ถูก

    การเที่ยวธุดงคกรรมฐานครั้งนี้ ท่านกำหนดจะเลยไปให้ถึงพม่า หมู่เพื่อนทราบข่าวต่างก็ทักท้วงว่า ได้ยินว่าทางที่ไปนั้นมีแต่ความทุรกันดาร เต็มไปด้วยป่าดิบดงร้าย ไม่มีบ้านคน มีแต่สัตว์ป่าซึ่งมักจะเป็นประเภทดุร้าย อย่างเสือ อย่างช้าง ท่านเล่าว่า เหมือนกับพม่านั้นมีมนต์เพรียกให้ไปเยี่ยม อันที่จริงคงเป็นความปรารถนาลึก ๆ ในหัวใจที่ท่านต้องการจะไปดูบ้านเกิดแต่อดีตชาติมากกว่า (ท่านเคยเกิดเป็นพม่า ชาติหนึ่ง)

    สุดท้ายท่านก็ได้กัลยาณมิตรคู่คิดที่ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานไปพม่าด้วยกัน คือหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น รุ่นใกล้เคียงกับท่าน หลวงปู่พรหมต่างมีนิสัยอาจหาญ เด็ดเดี่ยว ใจเด็ดไม่กลัวตายเช่นเดียวกับท่าน จึงเดินทางฟันฝ่าความลำบากไปถึงเขตประเทศพม่าด้วยกันได้โดยผ่านทางแม่ฮ่องสอน

    ไปถึงพม่า แล้วก็แยกทางกัน หลวงปู่พรหมต้องการจะเที่ยวไปดูเมืองต่าง ๆ ด้วย แต่หลวงปู่ปรารถนาจะอยู่แต่ในป่า ไม่ต้องการเข้าเมืองเลย จึงตกลงแยกกัน โดยหลวงปู่คงอยู่ตามป่า...เขา เพื่อโปรดชาวบ้านอย่างพวกยาง พวกกระเหรี่ยง

    ท่านเอ็นดูชาวพม่ามาก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกงกัน ทั้งมีน้ำใจศรัทธาในพระศาสนาอย่างดียิ่ง พวกยาง พวกไทยใหญ่ที่อยู่ในป่าในเขา แม้จะจนยากลำบากตรากตรำอย่างไร ก็จะต้องหาอาหารมาใส่บาตรอย่างเหลือเฟือ ท่านชมว่าพวกเขามีจิตใจงาม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถือศีลห้าบริสุทธิ์ แม้เป็ดไก่ก็หายาก ไม่มีคนเลี้ยง เพราะเขาต่างไม่ฆ่าสัตว์

    ท่านเล่าว่า ท่านไปพม่าสองครั้ง ครั้งแรกที่ไปพร้อมหลวงปู่พรหม อยู่ติดต่อกัน ๒ ปี โดยจำพรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่ บ้านยาง พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาบน ดอยอีต่อ ซึ่งเป็นเขาอยู่บนดอยยางแดง

    จากนั้นท่านก็กลับเมืองไทย วิเวกอยู่แถวเชียงใหม่ ๓ ปี จึงหวนกลับไปพม่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นแล้ว ในปลายปี ๒๔๘๕ พอปวารณาออกพรรษา ท่านก็เตรียมอัฐบริขารพร้อมเพื่อกลับไปโปรดชาวยาง ชาวพม่าอีกวาระหนึ่ง

    พรรษาที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านคนดอย ที่อยู่บนเขาในเขตพม่า

    พรรษาที่ ๒๐ พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ ดอยเชียงตอง เขตไทยใหญ่

    พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่ ดอยเชียงคำ แดนพวกไทยใหญ่ เช่นกัน

    รวมเวลาที่ท่านเที่ยวธุดงค์ในพม่าสองครั้งสองหนนี้ เป็นเวลาเกือบ ๖ ปี ทำให้เทศน์เป็นภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว

    ท่านชมผู้หญิงไทยใหญ่ว่า มีผิวขาวเหลือง งามทั้งรูปและงามจิตใจ ท่านว่าเป็นผลบุญของการที่เขายึดมั่นรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ การอยู่โปรดพวกเขา เกือบจะไม่จำเป็นต้องพรรณนาคุณของศีล เพราะดูเขาจะซาบซึ้งรู้อานุภาพของศีลกันเป็นอย่างดีว่า

    ศีลเป็นกำลังอย่างไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธอันสูงสุด

    ศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์

    ศีลเป็นคุณรวมกำลังอย่างเลิศ ศีลเป็นเสบียงทางอย่างสูงสุด

    ศีลเป็นผู้นำทางอย่างประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องขจรไปทั่วทุกทิศ

    ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้สูงสุด

    ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดา ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา

    หลวงปู่อธิบายว่า ใครอยากเกิดเป็นคนรูปงาม ผิวขาวสวย ต้องพยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนสวยสมใจ

    ที่พม่านี้ หลวงปู่ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๓๐ ปี นำผ้าขาวมาทำบุญถวายท่านให้ทำเป็นผ้าอาบ หญิงคนนี้นุ่งขาวห่มขาว ถือเพียงศีลแปด แต่การทำสมาธิภาวนาเก่งมาก พระบางองค์ยังต้องอายเพราะเหาะได้ สามารถไปเที่ยวสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย นางสร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนอย่างเต็มที่ และมาถึงชาตินี้ก็ได้ปฏิบัติเพิ่มเติมต่อเนื่อง...ทั้งทาน ศีล ภาวนา ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาเป็นที่สุด

    นับว่าเป็นคนที่เกิดมาอย่าง สุคโต และคงจะไปอย่าง สุคโต เช่นกัน

    ตลอดเวลาทั้งหมด ๕ ปีกว่าที่อยู่ที่พม่านั้น พ้นเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ก็จะเที่ยวรุกขมูลไปเรื่อย ๆ จากเขาลูกนี้ไปดอยโน้น...และดอยโน้น จากถ้ำหนึ่ง ต่อไปอีกถ้ำหนึ่ง... และอีกถ้ำหนึ่ง ที่ไหนสงบสงัดภาวนาดีก็อยู่แห่งละ ๖ คืนบ้าง ๗ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง หรือบางแห่ง ถ้าสัปปายะมากในการภาวนา ก็อาจจะอยู่ถึงเป็นเดือน เช่นที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ระหว่างบ้านหนองคัน ในหมู่บ้านนี้มีเพียงสิบปาย (หลังคาเรือน) เท่านั้น แต่ชาวบ้านก็เคารพเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างดี

    ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่นี้ ท่านเล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทพมีภุมเทวดารักษามาก ระหว่างท่านพำนักบำเพ็ญสมณธรรม เคยมีช้างเข้ามาในถ้ำ (เป็นถ้ำเปิด) มาร้อง แคว้...แคว้ อยู่ห่างจากหลวงปู่เพียงสี่ห้าวาเท่านั้น แต่เมื่อท่านแผ่เมตตาให้ มันก็ก็ยอมถอยห่างออกจากถ้ำแต่โดยดี

    ความจริงไม่แต่ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ นี่เท่านั้นที่มีเทพ มีภุมมเทวดารักษามาก ท่านว่า เกือบจะกล่าวได้ว่า ในป่า ในถ้ำ เกือบทุกถิ่น ทุกสถาน ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพ มีภุมเทวดามากเช่นกัน เขามักมาอาราธนาท่าน ขอให้แสดงธรรมโปรดพวกเขาเกือบทุกคืน

    ณ ที่พม่านี้เอง ที่มีพระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟัง เช่น พระพากุละ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ ซึ่งจะได้แยกกล่าวโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

    และที่ในถ้ำ ตามท้องเถื่อนในถิ่นไพรพฤกษ์ ในเขตพม่านี้เอง ที่หลวงปู่ได้มีประสบการณ์รู้เห็นสิ่งลึกลับมากมาย....ได้เผชิญภัยจากสัตว์ป่าซึ่งถือกันเป็นเพศที่ดุร้ายเป็นภัยต่อมนุษย์...เผชิญภูตผีปีศาจ ซึ่งหมกไหม้อยู่ตามบาปกรรมที่เขาหลง... เผชิญงูพิษในถ้ำ ซึ่งลือชื่อกันว่าแสนดุ เป็นจ้าวถ้ำ ใครก็ตามไม่ว่าฆราวาสหรือพระที่ไปพักพำนักในนั้น มันจะต้องกัดทำอันตรายถึงชีวิตกันไปนักแล้ว แต่ท่านก็ขึ้นพักบำเพ็ญสมณธรรมโดยไม่หวั่นเกรงคำเตือน แต่ด้วยบารมีธรรมของท่าน ท่านได้แผ่เมตตาจนเจ้างูนั้นยอมสิโรราบ ซบหัวหมอบลงจนเหมือนจะคารวะท่าน แต่ท่านกับงูผู้ถูกทรมานดัดสันดาน ก็อยู่ร่วมกันในถ้ำนั้นได้ต่อไปอย่างสงบสันติ

    .....เผชิญเสือใหญ่ ตัวขนาดเท่าม้า มาดักหน้าดักหลังพร้อมกันถึง ๒ ตัวบ้าง ลำพังตัวเดียวบ้าง แต่ละครั้งมาใกล้เพียงสาม – สี่วาก็จะถึงองค์ท่าน และเช่นกันกับเรื่องงูพิษ อำนาจเมตตาธรรมที่แผ่ไป ก็ทำให้เสือร้ายเหล่านั้นเชื่องลงอย่างน่าอัศจรรย์

    ท่านเล่าว่า ตอนอยู่พม่า ท่านผจญกับเสือมากที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้เสมอ

    ...รวมทั้งเรื่องการที่มีผู้หญิงตายทั้งกลม ขอถวายไหเงิน ไหทอง เพื่อขอให้พระยอมเป็นสามีสมสู่อยู่กับนาง...

    ...ฯลฯ

    คงเป็นการยากที่ผู้เขียน ผู้มีปัญญาน้อย ด้อยความคิด จะสามารถเขียนความพิสดารเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะในการดำเนินเรื่องหลายแง่หลายตอน มีการบรรยายเนื้อธรรมขั้นสูงแทรกคละเคล้ากลมกลืนกันอยู่ จึงใคร่ขออภัยท่านผู้อ่าน โปรดกรุณาไปอ่านความโดยพิสดารในภาค “ธรรมอุโฆษ” ตอนที่ผู้เขียนได้อัญเชิญข้อความที่ พระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เคยเขียนพรรณนาเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ไว้ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” และหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริมัตตเถระ”

    มาลงพิมพ์ซ้ำรวมไว้ด้วย ด้วยความเคารพรักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด ทั้งองค์ท่านเจ้าของประวัติ และองค์ท่านผู้เรียบเรียง

    หลวงปู่อยู่ในพม่า โปรดทั้งมนุษย์ และพวกกายทิพย์อย่างเทวดา ภูตผีปีศาจ จนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นที่มายึดครองพม่าแพ้สงคราม ทหารอังกฤษเข้ามารักษาการณ์และตรวจตรา พบท่านหลายครั้ง แม้ชาวบ้านญาติโยมจะระแวดระวังพาท่านไปแอบซ่อนตามที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นอันตรายอยู่ดี เพราะท่านเป็นชนต่างชาติ สงครามไม่เลือกว่าเป็นพระหรือเป็นคนธรรมดา เห็นว่าเป็นต่างชาติเขาก็จะต้องถือเป็นศัตรูต้องทำลาย และผู้ปกปิดรักษาท่านไว้ก็จะเป็นผิดด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่ญาติโยมเหล่านั้น ท่านจึงตกลงกลับเมืองไทย

    พวกญาติโยมชาวพม่า นำทางมาในป่าเปลี่ยว มาส่งหลวงปู่ครึ่งทาง พามาจนถึงริมแม่น้ำแล้วก็บอกลา มีเด็กคนหนึ่ง อายุ ๑๐ กว่าขวบติดตามมาด้วย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างร้องไห้อาลัยท่านอย่างไม่อับอายใคร น้ำตาไหลพราก ท่านแผ่เมตตาอวยชัยให้พร ให้เขามีแต่ความสุขสวัสดีแล้วก็จากมา เหลียวไปดู ก็ยังเห็นทั้งสองคนร้องไห้อยู่จนสุดสายตา

    สำหรับช่วงการเดินทางจากพม่ามาตามทางลัดในป่า เพื่อหลบหลีกทหารอังกฤษ รวมตลอดถึงเรื่องอัศจรรย์ที่ท่านต้องอดข้าว อดน้ำอยู่กลางป่าถึง ๓ วัน จนต้องปรารภถึงเทวดา และได้มีเทวดามาใส่บาตร...ซึ่งเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เลื่องลือกันมากนี้ ผู้เขียนก็ขอประทานอภัย ขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาต่อไปอ่านความโดยละเอียดในภาค “ธรรมอุโฆษ” ท้ายเล่ม ตอนที่อัญเชิญข้อความมาจากหนังสือ “ประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” ของ พระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๗. พระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาเยี่ยมท่าน

    [​IMG]


    ระหว่างท่านวิเวกอยู่ในเขตประเทศพม่า พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งที่บ้านเมืองยางแดง ท่านได้ทำมีดหายไป หาอยู่สามสี่วันก็ไม่พบ ท่านว่าก็มิใช่มีดพิเศษพิสดารอะไรนัก เป็นมีดประเภทธรรมดาที่ชาวบ้านใช้ถางป่านั่นเอง เพราะพระกรรมฐานจะมีของวิเศษเลิศเลออะไร ท่านก็ได้อาศัยมีดถางป่าพื้น ๆ นี้เอง เป็นบริขารประจำตัวสารพัดประโยชน์...หั่น...ตัด...ถาก...ถาง...งัด...แงะสิ่งใดก็ด้วยมีดประจำตัวนี้ ท่านใช้แล้วไปอาบน้ำ คิดว่าลืมทิ้งไว้บริเวณที่อาบน้ำ แต่เมื่อออกไปหาดูโดยทั่วหมดบริเวณแถวนั้น ทั้งที่บริเวณอาบน้ำ ที่ในถ้ำ หรือแม้แต่ที่อื่นใดที่คิดว่า อาจจะลืมไว้ ก็ไม่เห็นเลย เวลาผ่านไปสามวันสี่วันก็ยังไม่พบ ทำให้ท่านออกรู้สึกรำคาญใจ

    ตอนกลางคืน ขณะมี่ท่านกำลังนั่งเข้าที่สมาธิภาวนาในเวลาดึกสงัด ปรากฏมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง เหาะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนา ท่านเหาะลอยมาทางอากาศ มีรัศมีสว่างแพรวพราย น่าเคารพน่าเลื่อมใสอย่างที่สุด หลวงปู่รีบกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทั้งปีติทั้งยินดีอย่างสุดจะพรรณนา พระอรหันต์องค์นั้นพอเหาะลงถึงพื้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามทันทีว่า มีดของท่านหายไปใช่ไหม เมื่อท่านเรียนตอบรับคำ พระอรหันต์องค์นั้นก็บอกว่า ไม่ได้หายไปไหน ท่านลืมที่ต่างหาก นั่นไง... ท่านบอกพลางชี้มือ ....มีดของท่านอยู่นั่นไง ไปเอาเสียซี

    หลวงปู่เล่าว่า ตอนเช้าท่านก็ไปดูที่พระอรหันต์ท่านชี้บอกไว้ในนิมิต ซึ่งเป็นหลังก้อนหิน ก็เห็นมีดอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

    ประหลาดที่ว่าท่านหาอยู่หลายวันไม่เห็น และความจริงท่านก็ไม่ได้บนบานอธิษฐานให้เทวดาหรือใครช่วยหาให้เลย แต่น่าอัศจรรย์ ที่พระอรหันต์ท่านกลับทราบ ทั้งยังเมตตาช่วยบอกให้ ทำให้ท่านได้มีดคืนโดยไม่คาดฝัน

    พระอรหันต์องค์นี้ชื่อ พระพากุละ ท่านเล่าว่า พระพากุละนี้เมตตามาเยี่ยมท่านมิได้ขาด จากครั้งแรกที่มาชี้บอกเรื่องบริขารหายที่ถ้ำในพม่าแล้ว ต่อมายังให้ความเมตตามาแสดงธรรมโปรดท่าน มาเยี่ยมท่านตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (กราบเรียนถามท่านครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๒๙ นี้ ท่านรับว่าพระพากุละก็ยังคงมาเยี่ยมท่านอยู่)

    เมื่อเราเรียนว่า เชื่อว่าท่านและท่านพระพากุละคงจะเคยมีความผูกพันกัน ท่านคงจะเคยเป็นศิษย์ของพระพากุละกระมัง

    หลวงปู่ก็อธิบายว่า ...ต่างคนต่างเคยเกิดเป็นศิษย์ซึ่งกันและกัน !

    ผู้เขียนได้ยินแล้ว ก็อดมิได้ที่จะนึกซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านผู้รู้อย่างสุดซึ้ง ผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างแท้จริงนั้น ท่านย่อมครองคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทิตาคุณตลอดกาล ภพชาติจะผ่านไปเช่นไร ศิษย์และอาจารย์ย่อมเป็นศิษย์และอาจารย์ต่อกันอย่างมิรู้ลืม เราเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านผู้หนึ่งผ่านภพแห่งโลกนี้ไปเสวยสุขได้สวรรคสมบัติหรือพรหมสมบัติแล้ว เมื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน หรือผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่านยังครองชีวิตอยู่ในมนุษยโลก หากหลงผิด ท่านก็จะลงมาตักเตือนหรือแนะข้อคิดที่ถูกต้องให้ หากปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ท่านก็จะลงมาเยี่ยมอนุโมทนาสรรเสริญในศีลานุจารวัตร แสดงธรรมให้เป็นที่รื่นเริงบันเทิงในจิต และระยะนี้เอง ที่ท่านผู้ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ในโลกมนุษย์ก็อาจจะเรียนถามข้อสงสัยในธรรมวินัยบางประการได้

    หลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน ท่านพระพากุละมาเยี่ยมชมเชยและสรรเสริญข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มาก โดยเฉพาะด้านธุดงควัตรที่ท่านถือเคร่งควรเป็นเนติแบบอย่างของผู้สืบพระศาสนาเป็นอย่างดี ท่านได้แสดงธรรมยืนยันประโยชน์ของธุดงควัตรที่มีต่อผู้หวังผลที่สุดแห่งการปฏิบัติ อย่างไพเราะลึกซึ้ง และอนุโมทนาด้วยที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใส จนท่านต้องมาเยี่ยมถึงที่อยู่

    ท่านเล่าว่า วาระแรกที่ท่านพาพระกุละมาเยี่ยมอนุโมทนาและแสดงธรรมนั้น ท่านมีความปีติเปี่ยมในจิต ออกจากสมาธิมาเดินจงกรม รู้สึกตัวเบาราวกับจะเหาะเหินเดินอากาศลอยตามพระอรหันต์พากุละไปฉะนั้น ท่านเดินจงกรมจนสว่างโดยมิได้นึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด จิตเบา กายเบา จิตอ่อน กายอ่อน จิตสงบ กายสงบ ไม่มีอารมณ์ใดมาเกาะเกี่ยว

    ท่านว่า ปรากฏการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมมากขึ้น และมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ใครจะนึกฝันว่า จะมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาเยี่ยม บริขารหาย ท่านก็เมตตาบอกที่ให้ ปฏิบัติทำความเพียรอยู่ ท่านก็มาอนุโมทนาและเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านเล่าว่า ท่านมิได้นึกเห่อเหิมประการใด ว่าตนมีความดี ความวิเศษเลิศเลอกระทั่งมีพระอรหันต์มาเยี่ยม แต่ท่านกลับยิ่งต้องพิจารณาไตร่ตรองเทียบเคียงข้อวัตรปฏิบัติของท่านกับธรรมคำสั่งสอนที่ได้รับ ระมัดระวังมิให้ผิดพลาดหรือเสื่อมถอยลง

    เพียร...ก็ต้องเพียรพยายามให้มากขึ้น

    พิจารณา...ปัญญาก็ต้องพิจารณาฟาดฟันกิเลสให้รอบรู้...รู้เท่ายิ่งขึ้น

    สติ...ต้องกำกับรักษาจิต พยายามไม่ให้พลั้งเผลอสักขณะจิต รวมความว่า กลับยิ่งต้องระวังรักษาตัวทุกประการให้สมควรกับที่ได้มีวาสนาประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้ยินได้ฟัง

    ระหว่างที่พำนักอยู่ในพม่าเช่นกัน ท่านได้เดินธุดงค์ไปหาที่วิเวก พบถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิสงัดลี้ลับ ห่างจากหมู่บ้านมาก การออกบิณฑบาตจากถ้ำที่ปรารภความเพียร ไปหมู่บ้านนั้น ต้องใช้เวลาถึงเกือบสองชั่วโมง ไปกลับก็ร่วมสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักได้ฉันอาหาร แต่ท่านก็พอใจที่จะอยู่บำเพ็ญความเพียร ณ ที่นั้น ด้วยเป็นที่สงัด สัปปายะแก่การภาวนา บางวันเวลาหากการบำเพ็ญเพียรเป็นไปอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ท่านก็พักการออกบิณฑบาตเป็นวัน ๆ ไป

    ท่านเล่าว่า คืนวันหนึ่ง พอจิตรวมสงบลงก็ปรากฏ พระมหากัสสปเถรเจ้า เหาะลอยลงมาข้างหน้าท่าน ท่านว่า เป็นภาพที่งามมาก ด้วยเห็นท่านเหาะมาแต่ไกล จนกระทั่งใกล้เข้ามาเห็นรัศมีแพรวพรายสว่างเรือง ร่างของท่านค่อยเลื่อนลอยลงสู่พื้นแล้วค่อย ๆ นั่งลงตรงหน้าท่านด้วยความสงบเยือกเย็น ใบหน้าของท่านเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา แล้วก็มีปฏิสันถารกับหลวงปู่อย่างอ่อนโยน ท่านถามถึงธาตุขันธ์ของหลวงปู่ว่าพอเป็นไปไหวไหมกับการบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ที่น่าอนุโมทนาเช่นนี้

    หลวงปู่เล่าว่า ท่านก้มลงกราบในนิมิตภาวนาด้วยความปีติตื้นตันใจ ดูเหมือนว่าการปฏิบัติ การภาวนาของท่านจะอยู่ในสายตาของท่านผู้รู้โดยตลอด

    เมื่อท่านกราบเรียนอย่างนอบน้อมถ่อมองค์แล้ว พระมหากัสสปะก็อนุโมทนาในกำลังศรัทธาของท่าน และแสดงธรรมเน้นหนักเรื่องธุดงควัตร เช่นที่พระพากุละได้เทศนาสั่งสอนหลวงปู่มาแล้ว ท่านยืนยันว่า ธุดงควัตรนั้นเองเป็นหลักของพระผู้มุ่งมั่นต่อความหลุดพ้นจากทุกข์ จริงอยู่ที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่นี้ ก็น่าสรรเสริญชมเชยอยู่แล้ว แต่ท่านก็ใคร่จะอธิบายประโยชน์เพิ่มเติมให้ส่งเสริมอุบายธุดงค์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ขอให้หลวงปู่ปฏิบัติอย่าย่อท้อ เพื่อเป็นแบบอย่างดำรงอริยมรรค อริยวัตร อริยประเพณีสืบต่อ ๆ ไป

    นอกจากด้านธุดงควัตร ท่านยังเมตตาแสดงด้านธรรมวินัยให้ฟังอย่างวิจิตรพิสดารอีกด้วย รวมทั้งปัญหาธรรมต่าง ๆ ที่หลวงปู่ติดข้องสงสัยด้วย

    ท่านเล่าว่า จิตท่านดำรงอยู่ในสมาธิภาวนาระหว่างท่านพระมหากัสสปะมาแสดงธรรมและสนทนาสั่งสอน เป็นเวลาเกือบสี่ชั่วโมง จิตจึงถอนออกมา หลังจากที่ท่านพระมหากัสสปะได้ลาจากท่านไป โดยเหาะกลับไปทางอากาศเช่นเดียวกับเมื่อเริ่มมา

    ออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ก็นำธรรมะที่เพิ่งได้รับฟังสด ๆ ร้อน ๆ มาครุ่นคำนึง ทั้งปีติ ทั้งอาลัยระคนกัน

    ________ ปีติ.... ด้วยได้มีโอกาสกราบไหว้พระขีณาสวเจ้าองค์สำคัญ ผู้เป็นบรมครูทางธุดงค์แห่งพุทธกาล สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญยิ่งนักว่า ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เป็นเลิศในทางธุดงค์

    ________ อาลัย.... ด้วยนึกเสียดายไม่อยากจะให้ภาพพระอรหันตเจ้าผู้ยิ่งด้วยมหาการุณจะเลือนหายไปเลย

    อย่างไรก็ดี ท่านได้ภาวนาต่อไปจนสว่าง มีความรู้สึกเอิบอิ่มปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก ธรรมทุกข้อที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงตักเตือน ดูราวกับจะปรากฏซ้ำขึ้นอย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะข้อที่ท่านได้พยากรณ์เป็นเชิงให้กำลังใจแก่หลวงปู่ นั้นท่านว่า ท่านรู้สึกดื่มด่ำฉ่ำชื่น มีกำลังใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติทำความเพียรโดยไม่ลดละ เพราะมรรคผลนิพพานที่เคยรู้สึกว่าอยู่สูงลิบเหลือกำลังสอยนั้น ดูราวกับจะลอยล่ออยู่แค่เอื้อมนี่เอง....!!

    นอกจากพระมหากัสสปะและพระพากุละ จะเมตตามาเยี่ยม กล่าวสัมโมทนียกถา เทศนาให้กำลังใจเสมอแล้ว ท่านเล่าว่ายังมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลอีกองค์หนึ่ง คือ พระอนุรุทธมหาเถรเจ้า ก็ได้มาปรากฏองค์เยี่ยมท่านอยู่เป็นปกติ
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑๘. กลับมาเยี่ยมแดนอีสาน

    [​IMG]


    หลังจากที่ท่องเที่ยววิเวกอยู่ในถิ่นแถบภาคเหนือ คือแถวเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ ถึง ๑๔ ปี พอดีกัลยาณมิตรของท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้มาชวนให้ท่านกลับอีสาน ท่านจึงตกลงใจกลับมากับหลวงปู่ขาว

    หลวงปู่ทั้งสอง ต่างองค์ต่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดและวงศาคณาญาติ มาแสวงหาที่สัปปายะบำเพ็ญเพียรภาวนาทางภาคเหนือ เป็นเวลาใกล้เคียงกัน และ ต่างองค์ต่างได้รู้เห็นธรรม...ตามสำนวนอันถ่อมองค์ของท่านก็ว่า ...ธรรมอันสมควรเป็นที่พึ่งแห่งตนได้.... แต่สำหรับปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ก็คงจะแอบนึก แอบเดากันเองว่า เป็นธรรมอันสูงขั้นใด... สมควรจะกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานบ้านเดิม และโปรดพวกวงศาคณาญาติเสียที อีกประการหนึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระอาจารย์ของท่านซึ่งได้ล่วงหน้ากลับจากเชียงใหม่ไปก่อนหน้านั้น ท่านกำลังโปรดญาติโยมอยู่แถบอีสานเหมือนกัน จะได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่นด้วย

    ความจริง ในการกลับอีสานครั้งนี้ หลวงปู่และหลวงปู่ขาวได้ไปชวน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย นอกจากความสนิทสนมคุ้นเคยที่ธุดงค์ผ่านป่าผ่านเขา ผ่านเป็นผ่านตายมาด้วยกันแล้ว เฉพาะหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่แหวนต่างมีชาติกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกันด้วย ท่านจึงชักชวนให้หลวงปู่แหวนกลับไปโปรดชาวจังหวัดเลยบ้าง แต่หลวงปู่แหวนก็ได้ตอบปฏิเสธหลวงปู่ทั้งสองไป ท่านว่า ท่านจะยังไม่กลับ จะอยู่เชียงใหม่ บำเพ็ญภาวนาให้ถึงอรหัตตผลก่อน จึงจะคิดกลับ เวลานี้ยังไม่คิด อย่างไรก็ดี หากได้ผลสมปรารถนาแล้วท่านจะคิดอีกครั้งหนึ่ง ว่าควรจะไปจากเชียงใหม่หรือไม่ “เชิญท่านกลับเลยไปก่อนเถอะ” ท่านบอกกับหลวงปู่

    (ปรากฏว่า หลวงปู่แหวนไม่ได้กลับมาจังหวัดเลยอีกเลย จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้) ท่านทั้งสองก็ไม่ได้พบกันอีก จนกระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ ท่านกลับจากฉลองกุฏิที่ผาแด่น เชียงใหม่ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากที่ได้จากกันเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน

    ในขณะที่องค์หนึ่ง อายุได้ ๙๖ ปี เปรียบประดุจใบไม้ที่ใกล้จะถึงเวลาร่วงจากขั้ว และอีกองค์หนึ่งอายุ ๘๓ ปี เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องมีพระลูกศิษย์อุ้มพาไปตลอดเวลาแต่ท่านทั้งสององค์ก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ทรงธรรมวิสุทธิ์ เป็นที่เคารพ รัก เลื่อมใส ของคนทั้งแผ่นดิน การพบกันครั้งนี้ หลวงปู่ทั้งสองก็ได้พูดคุยธรรมสากัจฉากันอย่างรื่นเริง ถึงความหลังสมัยที่ธุดงค์โชกโชนมาด้วยกัน พบเสือ พบช้าง พบเทพยดา พญานาค มาคารวะ มาทำบุญ มาขอฟังธรรมด้วยกัน

    หลวงปู่ชอบได้กลับไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๒๘ เพียงสองสามวันก่อนท่านจะมรณภาพ เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายจริง ๆ สำหรับท่าน

    สำหรับเรื่องที่หลวงปู่แหวน บอกกัลยาณมิตรของท่านทั้งสองว่า จะยังไม่กลับอีสาน จนกว่าจะได้รับอรหัตผลก่อน จึงจะคิดเรื่องการกลับนั้น สมควรจะเล่าแทรกไว้ด้วยว่า วันหนึ่งหลวงปู่ขาว ซึ่งอยู่ที่วัดกลองเพล อุดรธานี ก็ปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านได้นิมิตเห็นหลวงปู่แหวน ใสเหมือนแก้ว ใสที่สุด สว่างไสวทั้งองค์ ดวงใจของท่านก็ใสประดุจแก้ว
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    หลวงปู่ขาวรำพึงว่า “ท่านแหวนได้อรหัตแล้วละหนอ”

    จากเชียงใหม่ หลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก็ลงมากรุงเทพฯ ก่อน พบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสสเถระ) ท่านก็ถามหลวงปู่ทั้งสองว่า

    ไปอยู่เชียงใหม่มา ได้อะไรดี

    หลวงปู่ชอบเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ท่านจึงเพียงยิ้ม ๆ ปล่อยให้หลวงปู่ขาว สหายของท่านเป็นผู้ตอบแทน ท่านบอกว่า

    ได้ศรัทธาดี ได้อจลศรัทธา

    พักอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน ท่านก็จับรถไฟขึ้นไปอีสาน ผ่านนครราชสีมา และขอนแก่น พักที่วัดซึ่งท่านทั้งสองเคยจำพรรษา คือ วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา และวัดป่าบ้านเหล่างา ขอนแก่น แล้วก็เดินทางมุ่งไปที่สกลนคร ด้วยได้ทราบว่า ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีพระเณรพระธุดงคกรรมฐานจำพรรษาและห้อมล้อมรับการอบรมจากท่าน อยู่ ณ บริเวณใกล้เคียงกับที่ท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก

    ความตอนนี้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล แต่ขณะนั้นยังเป็นสามเณรน้อย ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอยู่ เล่าความให้ฟังว่า

    พอเหลือบเห็นหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก้าวเข้าไปในบริเวณลานวัด หลวงปู่มั่นก็อุทานด้วยความยินดี ที่เห็นหน้าศิษย์เอกทั้งคู่

    “นั่น..ท่านขาว ท่านชอบมาแล้ว ไป..ไปต้อนรับท่าน”

    ภิกษุสามเณรที่เคยรู้จักท่านต่างก็ดีใจ แสดงความกุลีกุจอที่ได้พบหน้า “พี่ชายใหญ่.... ท่านอาจารย์ขาว..ท่านอาจารย์ชอบ” อีกครั้งหนึ่ง ช่วยกันรับเครื่องบริขารจากท่าน พร้อมกับรีบหาน้ำท่ามาถวาย ส่วนภิกษุสามเณรที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในสำนักในระยะหลัง ไม่เคยเห็นท่านทั้งสองมาก่อน ก็แอบนึกกันว่า

    “....นี่เอง ท่านอาจารย์ขาว นี่เอง ท่านอาจารย์ชอบ เราเคยได้ยินชื่อท่านทั้งสองกันมานานแล้ว พ่อแม่ครูจารย์ (คำที่พระเณรทั้งหลายเรียกท่านพระอาจารย์มั่น) เคยพูดถึงด้วยความยกย่องบ่อย ๆ เรื่องราวของท่านเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ครูบาอาจารย์มากมาย วันนี้เรามีบุญได้เห็นองค์ท่านแล้ว”

    บางองค์ก็แอบนึกว่า

    “เคราะห์ดี เราไม่ได้นึกหมิ่นท่าน...ใครจะนึกว่า พระรูปร่างผอมสูง โปร่งบาง องค์นี้จะเป็นท่านอาจารย์ขาว และองค์เล็ก ๆ ดำคล้ำนั้น จะเป็นท่านอาจารย์ชอบ สีจีวรดูเก่าคร่ำคร่า กลดก็ดูขาดวิ่น...”

    แต่ท่านเหล่านั้นก็คงนึกได้ถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ และได้มีภิกษุชราองค์หนึ่ง เข้าไปถวายบังคมแทบเบื้องบาทมูลของสมเด็จพระพิชิตมาร ภิกษุชราผู้นั้นแม้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่า แต่ผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยาท่าทางสงบเย็น เมื่อถวายบังคมสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ครบสามครั้ง แล้วก็นิ่งรอคอยฟังพระพุทธฎีกาโดยดุษณี เมื่อทรงมีพุทธบรรหารก็กราบทูลตอบอย่างสงบเสงี่ยม เฝ้าอยู่ได้ระยะหนึ่งก็กราบถวายบังคมลากลับไป

    บรรดาภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเข้ามาในสำนักสมเด็จพระทศพล ในระยะหลังไม่เคยเห็นภิกษุชราแปลกหน้าผู้นี้ จึงถามกันเซ็งแซ่ว่า ภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่านี้เป็นผู้ใด สมเด็จพระบรมครู จึงดูทรงเมตตาและแสดงความคุ้นเคยนัก ปกติ สมเด็จพระบรมศาสดา ทรง “วาง” ทุกอย่าง ไม่ทรงแสดง “กิริยาดีใจ” ไม่ทรงแสดง “กิริยาเสียใจ” ให้ปรากฏ แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ก็ได้เห็นสีพระพักตร์แช่มชื่นขึ้นด้วยความยินดี ประหนึ่งบิดาได้ประสบหน้าบุตรสุดที่รักที่จากไปในแดนไกล กลับมาเยี่ยมบ้านฉะนั้น

    ใครทราบบ้างไหม ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน เสียงถามกัน

    แต่ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดตอบได้ เพราะต่างองค์ก็เพิ่งเข้ามาสู่สำนักสมเด็จพระบรมศาสดาในเวลาไม่นานนัก

    สมเด็จพระบรมครู ทรงทราบวาระจิตของเหล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จมาในที่ประชุมนั้น และรับสั่งว่า

    “นี่แหละ เชษฐภาดาของพวกเธอ มหากัสสปะ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของเธอทั้งหลาย เธอออกจากป่าจากเขามาหาเรา” แล้วทรงสรรเสริญวัตรของพระมหากัสสปะต่อไปว่า “เธอเป็นผู้พอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด เธอมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืนเป็นวัตร ไม่ชอบระคนด้วยหมู่เธอผู้บุตรของเรา เธอเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์”
     

แชร์หน้านี้

Loading...