ชีวประวัติและปฏิปทา พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 20 กรกฎาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๑๘๓ – ๑๘๖


    ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์ พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ชามา อจุตโต หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ และผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไป แล้วให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์

    หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีสุภาพสตรีคนไทยท่านหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน

    เธอเล่าว่า

    หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา

    เมื่อมาถึงบ้านเธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง หลวงปู่หลุยท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบัติ

    หลังจากการถวายจังหันแล้ว ก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า

    ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่

    เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า

    หลวงปู่มีลูกศิษย์มาก จะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ

    หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

    เธอเล่าว่า

    ในคืนนั้นเธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นาน ก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน

    รุ่งขึ้นพอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่า ว่า

    “ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย”

    หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า

    “ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว”

    ถามว่า

    “ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

    ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า

    “ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน”

    ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงรำพันกันระหว่างสามีภรรยาก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

    เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เธอบอกว่า

    ทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแลตน เพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้

    หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า

    ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

    วันหนึ่ง อยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้

    เธอเล่าว่า

    กลิ่นในครั้งก่อน ๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า

    “ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ”

    ง่าย ๆ เช่นนี้

    ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้น จวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร

    ท่านบอกว่า “กลับเครื่องบิน”

    สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่า จะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด

    อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์ แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่าน มาในเครื่องบินลำนั้นด้วย

    ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา

    หลวงปู่ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖ –๗ คน สามีเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่า เราจะขอ "อ้ายงั่ง" เถอะ

    “อ้ายงั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้น ออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขออ้ายงั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ท่านก็ควักออกมาจากย่าม และก็ได้พระ งั่ง จริง ๆ

    เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใด ๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูด ไม่แสดงเท่านั้น

    เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓๖. หลวงปู่กับการเดินทางไปนอกเขตประเทศไทย

    [​IMG]


    ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม หลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าป่าลึก ขึ้นเขาสูงเป็นประจำ หลายต่อหลายครั้งที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในเขตประเทศซึ่งมีชายแดนติดต่อกับไทย คือ ลาวและพม่า โดยมีประสบการณ์นานาชนิดซึ่งเป็นที่เล่าขานกันต่อ ๆ มาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

    ในบั้นปลายแห่งชีวิต พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านได้รับนิมนต์ให้กลับไปเยี่ยมพม่าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร และคณะสงฆ์อีกร่วม ๑๐ รูป เช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่บัวพา ปัญญาพาโส และ ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ เป็นอาทิ

    “อยากจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

    ท่านบ่นถึงเมืองเก่า ๆ ในพม่าที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไป และจำพรรษาอยู่ถึง ๒ รอบ รวมเกือบ ๖ พรรษา แต่การไปครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน จากกรุงเทพฯ ไปลงที่ร่างกุ้ง ได้มีโอกาสเพียงกราบพระเจดีย์ชะเวดากอง และชมสถานที่โดยรอบกรุงร่างกุ้ง และไปเมืองหงสาวดีเท่านั้น ทางการพม่ายังจำกัดเขตการเดินทางของชาวต่างชาติอยู่ หลวงปู่จึงไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเมืองพม่า ซึ่งท่านได้บุกป่าฝ่าดง ข้ามเขาสูงเข้าไปจากทางภาคเหนือของเมืองไทย เมืองพวกนั้นท่านว่า ชื่อเมืองปัน เมืองยอง อยู่ทางด้านเหนือ สูงกว่าเมืองร่างกุ้งมาก

    นอกจากพม่าและลาว ในภายหลังท่านก็ได้รับนิมนต์ไปปีนัง มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา สังเกตว่าการรับนิมนต์นั้น หลวงปู่มุ่งจะไปโปรดญาติโยมที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ซึ่งหลายครั้งที่ท่านยอมรับว่า เคยมีชีวิตผูกพันเกี่ยวข้องกับท่านมาแต่ในภพชาติก่อน ๆ

    เฉพาะที่สหรัฐอเมริกานั้น หลวงปู่ได้เดินทางไปโปรดญาติโยม ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปในงานวางศิลาฤกษ์ศาลาของวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ครั้งที่สอง เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น เพื่อเป็นประธานในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วัดภูริทัตตวนาราม เช่นกัน ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และครั้งที่สาม หลวงปู่รับนิมนต์เมตตาไปจำพรรษาให้ ณ วัดพุทธรัตนราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส ในปีพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๔

    โดยที่ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีคนไทย ลาว เขมร อพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่มาก แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพกระจายกันไปทั่วทั้งประเทศ แทบทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน จึงได้มีพระภิกษุสงฆ์จากไทยรับนิมนต์จากศรัทธาญาติโยมไปตั้งวัดให้นับเป็นสิบ ๆ วัด นับเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวไทยและเพื่อนชาวพุทธ ชาติอื่น ๆ ด้วย เมื่อทุกคนทราบข่าวการเดินทางไปจากเมืองไทยของหลวงปู่แต่ละครั้ง ก็จะมีผู้คนมาคอยรอรับที่สนามบินอย่างเนืองแน่น

    ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญาติโยมไทย - ลาวที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ ก็มักจะนิมนต์ท่านไปโปรดตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสอันควร ท่านมีเมตตาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดติดตามท่านไปว่า ที่วัดที่ท่านไปพัก เช่นวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ วัดเมตตาวนาราม เมืองแซนดิเอโก วัดญาณรังษี ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี ซี รัฐเวอร์จิเนีย ตอนกลางคืนมีพวกเทวดามานมัสการและขอฟังธรรมกับท่าน บางทีก็มามาก บางทีก็มาน้อย สำหรับที่วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นที่ท่านอยู่จำพรรษานั้น เทวดามาทุกวันเลย ถ้าไม่มาตอนกลางคืน ก็มาตอนกลางวัน โดยมากจะพากันมาตอนกลางคืน

    การที่เทวดาจะมากราบหลวงปู่ตามวัดต่าง ๆ นี้ แม้เวลาทำวัตรสวดมนต์ เขาก็มาร่วมอนุโมทนาด้วย อยู่ในบริเวณศาลาก็มี อยู่นอกศาลาก็มี มากันมากมาย ส่วนมากจะเป็นเทวดาผู้หญิงมากกว่าเทวดาผู้ชาย

    คราวหนึ่งญาติโยมชาวลาวอพยพที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ได้มีศรัทธานิมนต์หลวงปู่พร้อมคณะลูกศิษย์ผู้ติดตามไปโปรดพวกเขายังเมืองบัฟฟาโล เพราะที่นั้นยังไม่มีวัดพุทธศาสนาที่จะทำบุญด้วย

    ท่านโปรดเขาอยู่ที่เมืองบัฟฟาโลนั้นระยะหนึ่ง ท่านเล่าว่า ที่นั้นเคยเป็นสมรภูมิรบได้มีพวกอินเดียนแดงที่สู้รบกันสมัยก่อนแล้วตายไปพากันมาขอส่วนบุญมากมาย ต่อมาญาติโยมนิมนต์ท่านจาริกต่อไปยังน้ำตกไนแอการ่าที่อยู่ริมเขตแดนระหว่างอเมริกาและแคนาดา
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    ไปถึงที่น้ำตกไนแอการ่าสักพัก บนท้องฟ้าซึ่งปลอดโปร่งแจ่มใส มีแสงแดดเจิดจ้า ก็กลับมีเมฆดำเคลื่อนมาบังอย่างกะทันหัน แล้วมีฝนตกลงมาอย่างหนัก อย่างแทบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้คณะติดตามไปต้องรีบพากันหาที่หลบฝนกันอย่างจ้าละหวั่น เพราะเป็นที่แจ้ง ไม่มีที่กำบังเลย และก็ไม่มีวี่แววเรื่องฝนจะตกมาก่อน ฝนตกหนักสักพักจึงหยุด พอออกจากที่หลบฝนสักประเดี๋ยว ฝนก็ตกอีกเป็นรอบที่สอง ทำให้ต้องหลบเข้าหาที่มีหลังคามุงกันชุลมุน

    มีศิษย์บางคนสงสัยเรื่องฝนครั้งนี้ เพราะปกติเวลาช่วงนี้ของปีเป็นฤดูร้อนที่มีอากาศแจ่มใสตลอด ปราศจากฝนมาหลายเดือนแล้ว และพยากรณ์อากาศซึ่งเคยแม่นยำตลอดมา ก็มิได้กล่าวเลยว่าวันนั้นจะมีฝน ทำไมจึงมีฝนขึ้นมาได้ ฝนตกลงมามากเสียด้วย และตกถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา จึงได้กราบเรียนถามท่าน

    ท่านตอบว่า “พญานาคเขามากราบ”

    “พญานาคที่ไหนขอรับ”

    “ที่นี่....ไนแอการ่า”

    “พญานาคมา ? ฝนก็มา..????”

    “อือ พญานาคมา”

    ผู้เขียนนึกถึงที่ท่านเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า คราวหนึ่งท่านอยู่กับหลวงปู่แหวนที่วัดห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ปีนั้นเชียงใหม่แห้งแล้งอย่างมาก พวกญาติโยมก็พากันมาอ้อนวอนท่าน ขอให้เมตตา ต้นผลหมากรากไม้จะเหี่ยวแห้งแล้งกันตายหมดแล้ว สวนลำไย นาข้าวจะล่มหมดแล้ว ตุ๊เจ้าไม่ช่วยคงจะแย่ไปตามกัน ท่านทั้งสองเห็นใจญาติโยมที่หน้าแห้งอกไหม้ไส้ขม พากันมาร้องทุกข์ด้วยน้ำตาปริ่มตา ก็ช่วยกันสวดมนต์ขอให้ฝนตก

    ท่านเล่าว่า ฝนตกหนักติดต่อกันสามวันสามคืน น้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเมือง

    ขอพญานาคเขา เขามาช่วยกันเต็มที่ ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ลูกเล็กเด็กแดง ตัวเล็กตัวน้อย ชูคอพ่นน้ำกันเป็นฝอย เต็มไปหมด

    จริง...พญานาคมา ฝนก็มา
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    ท่านได้จาริกต่อไปที่วัดญาณรังษี เมืองฟอลส์เชิร์ช รัฐเวอร์จิเนีย ระหว่างพักที่วัดนี้ คืนสุดท้าย ศรัทธาญาติโยมชาวไทย ชาวลาว มามาก พากันร่ำร้องขอฟังเสียงหลวงปู่ชัด ๆ บางคนได้ข่าวเรื่องราวที่มีเทพมากราบคารวะท่านอยู่มากแล้ว จึงถือโอกาสเรียนถามย้ำถึงเรื่องราวที่ได้ยินมา บังเอิญครั้งนี้ได้มีการบันทึกเทปคำสนทนา "ถาม – ตอบ” ช่วงนั้นไว้ได้ ถึงเสียงตอบของหลวงปู่จะแผ่วเบาอยู่มาก แต่ก็ฟังได้ชัด

    ผู้เขียนได้นำข้อความที่ถอดบันทึกเทปช่วงนั้นมาลงพิมพ์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

    หลวงปู่เริ่มด้วยการปฏิสันถาร ถามโยมหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง

    หลวงปู่ : มาอยู่นี่นานหรือยัง

    โยม : มาอยู่นี่ ๕ – ๖ ปีแล้วค่ะ มาอยู่กับลูกสาวค่ะ (ตอบพร้อมกับน้ำตาคลอตาด้วยความปลื้มใจ ที่หลวงปู่เหนื่อย ไม่ใคร่พูด แต่ยังอุตส่าห์ทักทายอย่างเมตตา)

    คำถาม : มาอเมริกา มีเทวดามากราบหลวงปู่ไหม

    หลวงปู่ : มา

    คำถาม : มาหลาย บ่

    หลวงปู่ : หลายอยู่

    คำถาม : อยู่วัดนี้ (วัดญาณรังษี) มี บ่

    หลวงปู่ : มีอยู่ วัดนี้มีอยู่

    คำถาม : เทวดาสวยกว่าโยมอยู่นี่หรือเปล่า หรือว่าพอ ๆ กัน

    หลวงปู่ : งามอยู่

    คำถาม : อยู่วัดที่เคลเลอร์ มีเทวดาบ่ (วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ ที่หลวงปู่ไปจำพรรษาที่อเมริกา)

    หลวงปู่ : มี

    คำถาม : อยู่เท็กซัส ท่านเล่าว่า ตอนกลางคืนมีเทวดามากราบท่าน มาฟังธรรมกับท่าน

    โยมผู้หญิง : เทวดาผู้หญิง หรือเทวดาผู้ชายมากกว่ากันเจ้าคะ

    หลวงปู่ : ผู้หญิงมากกว่า

    คำถาม : เทวดามาวันนี้ เป็นผู้หญิงสาวหรือคนแก่มากกว่ากัน

    หลวงปู่ : ผู้หนุ่มหลายกว่า

    โยมผู้หญิงอีกคนหนึ่ง : พญานาคมีจริงไหมคะ หลวงปู่

    หลวงปู่ : มีจริง

    คำถาม : ที่ไนแอการ่ามีพญานาค บ่ ปู่

    หลวงปู่ : มี

    คำถาม : วันนั้นมีพญานาคมาหรือเปล่า เขามาหาปู่ บ่

    หลวงปู่ : มา

    พระองค์หนึ่ง : นั่นสิ พญานาคมา ฝนก็มา วันนั้นถึงฝนตกหนัก ตกแรง ทั้ง ๆ ที่ฝนไม่เคยตกแถวนั้นมาหลายเดือนแล้ว แต่กลับตกเฉพาะบริเวณนั้น...บริเวณปู่อยู่เท่านั้น รอบ ๆ ฝนไม่ตกเลย

    คำถาม : เมื่อสักครู่ สวดมนต์ สวดชัย (ชัยมงคล) สวดธัมมจักร มีเทวดามาฟัง บ่

    หลวงปู่ : มี

    ผู้ถามบ่น : เมื่อกี้มีเทวดามาฟังสวดมนต์ด้วย แต่เสียดายตาพวกเราไม่เห็นเลย (เรียนถาม) เทวดามาเท่ากับโยมที่มาสวดมนต์หรือมามากกว่านี้ ปู่

    หลวงปู่ : หลายกว่านี้

    พระ : แสดงว่า เทวดาเขาขยันมากกว่าพวกเฮามนุษย์อีก พวกเฮาต้องอย่าขี้เกียจขี้คร้าน ให้ขยันสวดมนต์ฟังธรรมให้เหมือนเทวดา ปฏิบัติให้เหมือนหลวงปู่จะได้ “เห็น” อย่างท่าน

    โยม : ตอนนี้ หูหลวงปู่ได้ยินดีไหมคะ

    หลวงปู่ : ได้ยิน

    โยม : ตาเห็นดีบ่ เห็นไกลบ่

    หลวงปู่ : เห็น

    คำถาม : มาเมืองนิวยอร์ก เมืองวอชิงตัน ดี ซี ม่วนบ่ ปู่

    หลวงปู่ : ม่วนอยู่

    โยม : หลวงปู่อายุเท่าไรแล้วคะ ?

    หลวงปู่ : เก้าสิบ

    โยม : หลวงปู่ไปอยู่พม่ากี่ปี

    หลวงปู่ : ๖ ปี

    คำถาม : หลวงปู่เห็นหลวงปู่ตื้อครั้งแรกที่ไหน

    หลวงปู่ : เชียงใหม่

    คำถาม : พบหลวงปู่แหวนอยู่ที่ไหน

    หลวงปู่ : เชียงใหม่

    คำถาม : หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวนกี่พรรษา

    หลวงปู่ : ๓ พรรษา

    คำถาม : หลวงปู่ตื้ออยู่ด้วยกันกี่พรรษา

    หลวงปู่ : ไม่เคยอยู่ด้วยกัน

    คำถาม : ตอนที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิอยู่ที่ไหนนะ หลวงปู่

    หลวงปู่ : อยู่อุดร

    คำถาม : เกือบออกบ่ทันน้อ ใครเป็นคนไปเรียกหลวงปู่ออกมา

    หลวงปู่ : โยมแม่

    คำถาม : เป็นโยมแม่เก่าหลวงปู่ เป็นเทวดาบ่ ปู่

    หลวงปู่ : อือ

    คำถาม : ปีนั้นจำพรรษากี่องค์ปู่...ปีที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิ ?

    หลวงปู่ : จำพรรษา ๑๐ องค์

    คำถาม : มีหลวงปู่หลุยบ่ ปู่

    หลวงปู่ : มีอาจารย์หลุย

    คำถาม : มีเณรบ่ หลวงปู่

    หลวงปู่ : มีเณร ๒ องค์

    คำถาม : ตอนนั้นมีเสือบ่ หลวงปู่...ตอนอยู่อุดร

    หลวงปู่ : มีอยู่

    คำถาม : อยู่ในที่นี้ มีลูกหลานหลวงปู่ แต่ชาติก่อนบ่

    หลวงปู่ : มี

    คำถาม : เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย

    หลวงปู่ : เป็นผู้หญิง
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ

    [​IMG]

    [​IMG]
    หลวงปู่รับนิมนต์ไปเยี่ยมญาติโยม ณ ประเทศลาว ในเรือ นปข. จากวัดท่าแขก (ไทย) ข้ามฝั่งโขงไปบ้านสารคาม (ลาว)
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ

    [​IMG]


    [​IMG]
    หลวงปู่ได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปโปรดญาติโยมนอกเขตประเทศไทยหลายครั้ง นอกจากข้ามโขงเข้าไปในลาว ข้ามเขาไปในพม่า ระหว่างการเดินธุดงค์แล้ว ท่านเดินทางไปมาเลเซีย ปีนัง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ตามกิจนิมนต์
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ

    [​IMG]
    กับหลวงปู่หลุย จันทะสาโร ท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ท่านพระอาจารย์บัวพา ปัญญาภาโส ท่านพระอาจารย์สุวัจจ์ สุวโจ หน้ามณฑปพระธาตุมุเตา หงสาวดี


    [​IMG]
    ขณะอยู่บนลานเจดีย์ชเวดากอง เมืองร่างกุ้ง พม่า กับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านสั่งให้ญาติโยมช่วยทำบุญแจกเงินให้คณะแม่ชีชาวพม่า


    [​IMG]
    ขณะโปรดอุบาสิกาชาวพม่า ณ กรุงร่างกุ้ง
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ

    [​IMG]


    [​IMG]
    หลวงปู่เป็นประธานสงฆ์ ในการรับผ้าพระกฐินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วัดภูริทัตตวนาราม รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๓
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ

    [​IMG]
    ผู้คนที่มาร่วมงานทั้งจากประเทศไทย และที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา


    [​IMG]
    รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยม ณ สวนอโวคาโด เมืองแซนดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ราชกัญญา และพระโอรสธิดาเสด็จด้วย ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์จากหลวงปู่ (ตุลาคม ๒๕๓๓)
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓๗. ปฏิปทาในปัจฉิมวัย

    [​IMG]


    ปกติ หลวงปู่เป็นผู้ “อยู่ป่าอยู่เขา” เป็นนิสัย สมกับที่ท่านถือตนเป็นศิษย์ท่านพระมหากัสสปะ ไม่ค่อยจะออกมาสู่ “เมือง” และไม่ค่อยจะอยู่เป็นประจำที่ แม้แต่อยู่ตามป่าตามเขาแล้ว ท่านก็ยังวิเวกต่อไป จากป่านี้ ไปป่าโน้น จากเขาดอยนี้ ไปเขาดอยโน้น จากถ้ำนี้ ไปสู่ถ้ำโน้น ...มิได้อยู่ประจำเป็นที่ ท่านเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังสมัยเมื่อท่านยังเดินได้เป็นปกติว่า

    “ถ้าเราเดินไม่ไหวก็จะให้เพื่อนหามไป ถ้าไม่มีใครหามก็จะกลิ้งไป ถ้ากลิ้งไม่ไหว ก็จะเอาคางเกาะไป”

    ในปี ๒๕๑๔ ท่านภาวนาเห็นกระดูกของตนเอง แตกละเอียดข้างหนึ่ง ทางด้านซ้าย ท่านยังไม่ทันพิจารณาแน่นอนว่า จะเป็นอย่างไร เย็นนั้นก็เริ่มมีอาการปวดอย่างมากตามตัว โดยเฉพาะทางแขนขาข้างซ้าย พระเณรไปช่วยนวด แต่ท่านก็เพียงรู้สึกสบายเวลานวด ...หยุดเข้าก็กลับปวด ไม่ทุเลา ท่านเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายทางซีกซ้ายชามากขึ้น แต่ท่านก็ยังฝืนเดิน วันหนึ่งกลับมาจากบิณฑบาต ท่านประคองตัวมาได้พอถึงวัด ก็ต้องล้มลง เพราะร่างกาย แขน ขา ทางซีกซ้ายนั้นชา หมดความรู้สึกไปหมด

    ท่านเล่าว่า ท่านได้มีนิมิต เห็นคนร่างสูงใหญ่ มาขวางประตูไว้ ถามท่านว่า จะไปวันนี้ แน่หรือ ท่านตอบว่า เดี๋ยวก่อน โปรดสัตว์สักหน่อยเสียก่อน

    คณะศิษย์พาท่านไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีผู้เสนอการรักษาทั้งแบบปัจจุบันและแผนโบราณ การทำกายภาพบำบัด และนวดเส้น ฯลฯ แต่ก็มิได้หาย เดินได้อย่างเคย ความเจ็บปวดได้ทุเลาหายไป หากท่านคงเป็นอัมพาตทางซีกซ้ายมาแต่นั้น ต้องมีศิษย์คอยพยุงลุก พยุงนั่ง ช่วยเหลือทุกอิริยาบถ

    และถึงท่านจะอาพาธเช่นนี้ แต่ธุดงคนิสัยของท่านก็มิได้ละลดลง หลวงปู่ยังคงเมตตาเที่ยวไปโปรดญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาตามเมืองต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ และยังคงกลับไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยเดินธุดงค์มาแล้ว เช่น ที่บ้านม่วงไข่ บ้านสานตม...จังหวัดเลย ผาแด่น ผาเด่ง ห้วยน้ำริน...จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาทิ เพียงแต่มิได้เป็นการธุดงค์ด้วยเท้าอย่างเก่า แต่เป็นการธุดงค์ด้วนรถ...รถเข็น

    ปฏิปทาในปัจฉิมสมัยของหลวงปู่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป

    ปกติตอนเช้า หลวงปู่จะให้พาออกบิณฑบาต มีพระเณรหรือผ้าขาว หรือฆราวาสเข็นรถให้ท่านนั่งออกโปรดญาติโยมให้ได้ใส่บาตรเป็นประจำ ระยะในปีสองปีหลังนี้ ท่านจะให้พาออกเป็นบางวัน หรือเฉพาะโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา งานกฐิน ผ้าป่า...เป็นต้น แต่ทุกวันตอนเช้า พอตื่นนอน ท่านมักถามพระเณร ผ้าขาวเสมอว่า “ไปบิณฑบาตแล้วบ่”

    ท่านฉันเช้าเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. ฉันเสร็จแล้วท่านจะจำวัตรประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที พระลูกวัดจะฉันทีหลังท่านเสมอ

    ตอนเพล ท่านก็ฉันได้นิดหน่อย แต่ไม่มากเหมือนตอนเช้า เมื่อก่อน ท่านฉันมื้อเดียวเหมือนกัน ครั้นเมื่อท่านป่วยเป็นอัมพาต แพทย์จึงนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ ร่างกายของท่านซึกข้างซ้าย ตั้งแต่ ไหล่ แขน ขา มือ ใช้การไม่ได้เลย ส่วนทางซีกขวายังใช้การได้ดี อย่างไรก็ดี ทุกส่วนของร่างกายท่านยังรู้สึกเจ็บ รู้สึกคันได้ เวลามดแมลงไต่ ท่านก็รู้สึก ตา หู ของท่าน ยังเห็นได้ ได้ยินได้ดี เวลาฉันอาหาร ลิ้น ฟัน ท่านเคี้ยวลำบาก ฉันไม่ได้มาก แพทย์จึงนิมนต์ให้ฉันเพลช่วย เพื่อจะได้มีอาหารเยียวยาธาตุขันธ์เพียงพอ ท่านก็อนุโลมตาม บางครั้งและหลาย ๆ ครั้ง ท่านไม่อยากฉันเพลด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ชอบขัดศรัทธา

    ฉันเพลเสร็จ ท่านจะงีบสักครู่หนึ่ง พอตื่น ท่านจะต้องเปลี่ยนที่ไปที่อื่น หรือไม่ก็ให้คนเข็นรถไปดูรอบ ๆ บริเวณวัด ชาวบ้านจะมาคอยกราบท่านได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง

    ตกเย็นประมาณบ่าย ๔ โมง จะนิมนต์ท่านสรงน้ำด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง เสร็จแล้วถวายน้ำร้อน น้ำชา และนวดถวายท่านพร้อมไปด้วย ถ้ามีแขก ท่านจะรับแขกช่วงที่สรงน้ำเสร็จ เพราะอารมณ์ท่านแจ่มใส เสร็จแล้ว ท่านจะให้เข็นรถพาเที่ยวรอบ ๆ วัดอีก ส่วนมากจะเป็นการเข็น “จงกรม” กลับไปกลับมา ภายในศาลาหลังเตี้ย ๆ ติดกับพื้นดิน

    การ “จงกรม” ด้วยรถเข็นนี้ จะนานประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง จนคนเข็นต้องเปลี่ยนชุดกัน กำหนดเวลาขนาดนี้เข้าใจว่า คงเป็นประมาณเท่ากับที่ท่านเคยเดินจงกรมเองเวลาสุขภาพท่านยังดีอยู่ ยัง “ย่าง” เดินได้เอง

    กลางคืน ท่านจะเข้าพัก ประมาณ ๒๐.๓๐ น. ประชุมทำวัตรเย็น ถ้ามีญาติโยมมามาก ท่านจะออกมานั่งเป็นประธาน ท่านจะยกมือซีกข้างดีขึ้นด้วยทุกครั้ง ก่อนทำวัตรสวดมนต์ และตอนสวดจบ

    หลวงปู่จำวัตรไม่เป็นเวลา บางคืน ๒๒.๐๐ น. บางคืน ๒๓.๐๐ น. บางคืนสองยามหรือดึกกว่านั้น ถ้ามีญาติโยมอยู่คุยด้วย ท่านจะเมตตาอยู่ด้วยจนดึกดื่นก็มี

    นั่นเป็นกิจวัตรนามเมื่ออยู่วัด แต่สำหรับกรณีที่มีการเดินทาง จะผิดแผกไปบ้างกล่าวคือ

    ตอนเช้า ท่านจะตื่นก่อนลูกศิษย์เสมอ และจะเร่งให้รีบเตรียมของขึ้นรถ ใครช้าหรือตื่นสายก็ไม่ได้ไปกับท่าน ...นี่พูดถึงการไปฉันเช้าข้างหน้า ฉันเช้า ณ จุดใดจุดหนึ่งข้างหน้า เสร็จแล้วไปต่อ ท่านใช้รถเป็นที่ฉันเช้า และจำวัตรไปด้วย พอถึงเพลที่ไหน ก็ฉันที่นั่น บางทีก็ใช้ที่ใต้ร่มไม้ข้างทาง บางทีก็ฉันบนรถ

    มีญาติโยมศรัทธาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้สร้างกุฏิอย่างวิจิตรพิสดาร มูลค่านับแสน ๆ ล้าน ๆ บาท กล่าวถวายเสร็จ ท่านก็จะเมตตาอยู่ให้บ้างในตอนระยะแรก ไม่นานท่านจะย้ายไปพักกุฏิหลังอื่น กุฏิที่ท่านโปรดพัก มักจะเป็นกุฏิหลังเล็ก ๆ มุงด้วยหญ้าหรือแฝก พื้นเป็นไม้ไผ่ทุบ ที่เรียกว่า “ฟาก” ยกพื้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย พอให้ข้างล่างได้มีที่สุมไฟไล่ยุง หรือให้ความอบอุ่นได้บนยอดดอย ทางจังหวัดเลยหรือเชียงใหม่ อากาศจะหนาวมาก แทบไม่เคยมีหน้าร้อน

    ท่านว่า “สมัยท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น อาจารย์ของท่าน) ก็อยู่อย่างนี้ สุมไฟอย่างนี้เหมือนกัน” และว่า “ที่ได้ธรรมะมาสั่งสอนอบรมหมู่คณะ ก็ได้มาจากกุฏิที่มุงด้วยหญ้า หลังเล็ก ๆ ปูด้วยฟากอย่างนี้แหละ !”

    ท่านไม่สนใจให้ความสำคัญแก่เสนาสนะที่อยู่อาศัยเลย บางทีเขานิมนต์ท่านไปพักที่วัดที่สร้างใหม่ ๆ กุฏิวิหารถาวรไม่มี ท่านก็พักอยู่ได้ หรือแม้แต่กางเต็นท์ท่านก็พักได้...อย่างสบาย !

    การขบฉัน ก็มิได้เอ่ยปากขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ สุดแท้แต่ศรัทธาญาติโยมจะนำมาถวาย เป็นภาระหน้าที่ของแม่ครัวกับผู้ติดตามที่จะคอยดูแลสังเกตเท่านั้นว่า ท่านชอบฉันอะไร หรือ อาหารอย่างใด ถูก หรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่าน

    หลวงปู่ท่านไม่ชอบ “ใส่ฟัน” ท่านว่า “มันเคือง” ปัจจุบันนี้ท่านเหลือฟันจริงอยู่เพียง ๔ ซี่เท่านั้น หารที่จะฉันได้ จึงต้องเป็นอาการอ่อน ๆ นิ่ม ๆ หรือเหลว ๆ ส่วนรสของอาหารนั้นจะฉันเผ็ด หรือใส่พริกไม่ได้เลยสักเม็ดเดียว ส่วนจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวต้ม ฉันได้ทั้งนั้น

    หากมีการเจ็บป่วย ท่านไม่ชอบฉันยาเลย โดยเฉพาะยาที่มีรสขม ท่านบอกว่า “บ่สู้” การรักษาพยาบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ถ้าแพทย์ทำให้เจ็บ เช่นฉีดยา ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด ท่านก็ไม่เอา เคยมีคนเรียนถามท่านว่า “ถ้าหมอจะผ่าตัด จะให้ผ่าบ่ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “บ่ให้ผ่า นอกจากบ่รู้สึกตัว”

    ปกติ ท่านฉันน้ำน้อยมาก เฉลี่ยโดยประมาณ วันหนึ่งไม่เกิน ๒ แก้ว (รวมทั้ง น้ำร้อน น้ำชาด้วย) จะฉันเฉพาะน้ำสะอาดธรรมดา จำพวกน้ำอัดลม น้ำส้มคั้น ท่านจะจิบให้เจ้าของ ผู้ถวายได้มีศรัทธาชื่นใจเท่านั้น

    บุหรี่ หลวงปู่สูบได้ทุกยี่ห้อ แต่ก็เพียงพ่นควันเล็กน้อย ที่โปรดมากคือ บุหรี่ใบตอง (ยาเส้นตามพื้นบ้าน) รองลงมาคือ บุหรี่ขี้โย เคยมีศิษย์บางคนมาขอร้องไม่ให้ท่านสูบ ท่านว่า “สูบมาแต่เป็นเด็กน้อยเลี้ยงควาย จะให้เลิกได้จั๋งได๋” และบางครั้งก็ว่า “สิสูบจนถึงวันเข้าหีบ (โลง) พู้นเหละ”



    ในช่วงปัจฉิมวัย ที่หลวงปู่มีอายุ ๙๐ พรรษากว่าแล้ว ยังมีความอดทนเป็นยอด ท่านจะไม่เคยบ่นให้ได้ยินเลยว่า ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด นอกจากพระผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตเอง กราบเรียนถามเอง บางครั้งท่านปวดหัวอยู่ตั้ง ๓ เดือน มีพระไปถามขึ้น ท่านจึงยอมบอก

    เวลานั่งรถ ท่านกลั้นปัสสาวะครั้งละนาน ๆ เช่น ตั้งแต่กรุงเทพฯ ตลอดถึง เมืองเลย พิษณุโลกตลอดเชียงใหม่ ก็มี...นานเท่านาน ไม่ว่ากี่ชั่วโมง จะไม่ปริปากบ่น จากเมืองเลย – กรุงเทพฯ, เมืองเลย – เชียงใหม่, เชียงใหม่ – พะเยา, พะเยา – เชียงราย, เชียงราย – เชียงใหม่, หาดใหญ่ – ปีนัง, หาดใหญ่ – ภูเก็ต, เมืองเลย – ศรีสะเกษ, เมืองเลย – บ้านแพง, บ้านแพง – นครพนม, นครพนม - มุกดาหาร, กรุงเทพฯ – จันทบุรี ฯลฯ

    ท่านนั่งอยู่ท่าเดิม ไม่ขยับเขยื้อน พระเณรผู้ติดตามไม่พาพัก ท่านก็ไม่พัก

    ท่านชอบ “ไป” จริง ๆ ยิ่งที่ลำบากทุรกันดาร ท่านยิ่งมักไป จะอุ้ม จะหามไป ท่านก็ไม่ว่า หลวงปู่นั่งรถได้ทุกระบบ แล้วแต่จะจัดถวาย ตั้งแต่ราคาเป็นล้าน ๆ จนถึงรถไถ รถอีแต๋น ท่านก็ยังเคยนั่งมาหลายครั้ง

    ทั้ง ๆ ที่ท่านอยู่ในสภาพเคลื่อนไหวธาตุขันธ์ลำบาก ดูเหมือนลำบากมากเท่าใด ท่านก็ยิ่งชอบ ยิ่งสนุก ยิ้มได้บนความลำบากนั้น ถ้าท่านต้องการจะ “ไป” แล้ว ต่อให้ฝนตก ฟ้าร้อง แดดเปรี้ยง พายุกระหน่ำ ท่านก็จะไป และต้องไปให้ได้

    ท่านจะอยู่วัดได้ไม่นาน สักวันสองวัน ท่านก็ “ไป” แล้ว พระเณรหนุ่มน้อยยังต้องยอมแพ้ท่าน ต้องเปลี่ยนวาระกันไปกับท่าน

    งานนิมนต์ หรืองานพิธีต่าง ๆ ท่านไม่โปรด ท่านชอบไปตามสบายของท่าน ถ้ามีคนมานิมนต์ ท่านมักพูดว่า “ถ้าขัดข้องกะบ่ไป ถ้าบ่ขัดข้องกะไป” หรือ “ถ้าอยู่ดี สบายกะไป” และ “ถ้าเอารถมารับกะไป บ่เอารถมารับ กะบ่ไป” ทำนองนี้

    เคยมีคนปรารถนาดี เสนอขอจัดรายการเดินทางถวายให้ท่านโดยละเอียด เช่นว่า นิมนต์อยู่ที่นั่น...เท่านั้นวัน อยู่ที่นี่...เท่านั้นวัน ไปที่นั่น...ที่นี่ วันนี้ วันนั้น...ฯลฯ ก็เคยลำบากมาแล้ว เพราะบทท่านจะไป ท่านไม่ได้นึกถึงงานพิธีหรือกำหนดการอะไร ถ้ากรณีมีคนมาชี้แจงอธิบายเหตุผล ขอนิมนต์ให้อยู่ เพราะญาติโยมศรัทธาจะมาจากที่โน่น ที่นี่ มาทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ขอให้หลวงปู่อยู่เป็นประธาน ท่านมักพูดว่า “ผู้อยู่กะรับไป ผู้ไปกะไป” ดังนี้

    การไป...การอยู่ของท่าน มิได้กำหนดแน่นอน ว่าจะอยู่ที่นี่ หรือที่นั่น เท่านั้น เท่านี้คืน สุดแท้แต่ท่านจะสะดวกสบาย ไม่ว่าในพรรษา หรือ นอกพรรษา ท่านไปทั้งนั้น แต่ถ้าในพรรษา จะกำหนดไว้ไม่เกิน ๗ วัน ต้องนิมนต์ท่านกลับมาเอาราตรีที่วัดอธิษฐานพรรษาเสียก่อน นอนสักสองคืนแล้วจึงไปต่อ

    ไปกันมาก ๆ จนครบทุกที่ที่เคยไป บางครั้งพระเณรเรียนถามว่า “จะไปไหนต่อครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “จะไปไหนกะไป” หรือ “แล้วแต่หมู่คณะจะพาไป”

    ถ้าบางโอกาสถามว่า “จะไปหรือจะอยู่ครับ หลวงปู่” ท่านมักจะตอบว่า “หมู่พาไปกะไป หมู่อยู่กะอยู่”

    บางครั้ง เวลาขึ้นนั่งรถแล้ว มีที่สามารถเลือกไปวิเวกได้หลาย ๆ ที่ เรียนถามว่า “จะไปไหนดีครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “แล้วแต่รถจะพาไป”

    ด้วยการไป – การมาแบบปัจจุบันทันด่วนของหลวงปู่ ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาผู้ติดตาม ตั้งตัวไม่ติดหลายต่อหลายครั้ง เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นส่วนมาก บทท่านจะปุบปับ ใครเร็วก็ทัน ใครช้าก็พลาด และเวลาหลวงปู่ไปเยี่ยมที่บ้าน ลูกศิษย์บางท่านยังไม่ได้กราบ หลวงปู่ไปก่อนก็มี

    แม้แต่พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามท่านก็เถอะ...! ตามธรรมเนียมการจะไปจะอยู่ต้องเตรียมของ จัดของ อัฐบริขารของครุบาอาจารย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ของตัวเองค่อยมาจัดทีหลัง แต่กรณีหลวงปู่ ไม่ใช่เช่นนั้น พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามต้องเตรียมของตัวเองให้เรียบร้อยไว้ก่อนเป็นปลอดภัย เพราะถ้าไปจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน แล้วจึงจะมาจัดของตัวเอง ท่านจะไปก่อนโดยไม่รั้งรอเลย

    หรือบางครั้ง มัวแต่จัดบริขารตัวเองอยู่ แต่มีคนไปช่วยจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน พอเสร็จ...ท่านก็ไปก่อนเลย พระเณรบางองค์มัวช้า สะพายบาตรออกมาจากกุฏิ...อ้าว ท่านได้ออกไปก่อนแล้ว

    ท่านมาเร็ว...ไปเร็ว มาแต่สมัยยังเดินได้อยู่แล้ว



    ผู้ที่ทราบกิตติศัพท์ของท่าน พากันมากราบนมัสการนั้น มาจากทั่วประเทศ...ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน ...มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น เป็นคนใหญ่คนโต นายพล นายพัน ข้าราชการชั้น ซี ๑๐ ซี ๑๑ ก็มี เป็นคนยากคนจน แม่ค้า พ่อค้าธรรมดา ก็มี ท่านให้ความปรานีเมตตาโดยเสมอหน้า

    ปกติ ท่านจะไม่ค่อยพูดจาปราศรัยด้วย เพราะลำบากในสังขารท่านดังกล่าวแล้ว และแต่เดิม ท่านก็มีอุปนิสัยพูดน้อยอยู่แล้วด้วย มีคนไปกราบ ท่านก็จะนิ่งมองเฉยอยู่ โดยเฉพาะผู้ซึ่งไปใหม่ และยังไม่คุ้นกับท่าน บางคนไม่ทราบก็ไปบ่น ว่าไม่เห็นหลวงปู่พูดด้วย ทำไมไม่พูด

    ความจริง ท่านกำลังแผ่เมตตาให้ ผู้ที่ “รับได้” “รู้ได้” นั้น บอกกันอย่างดีใจ “พลังเมตตาของหลวงปู่นั้นแรงนัก กระแสพุ่งมาเย็นฉ่ำแทบจะผงะล้มลงไป”

    เช่นกัน ผู้ที่ “รู้ได้” “รับได้” ชอบมาภาวนา ขอธรรมจากท่าน ไม่ได้พูดอะไรกับท่าน และท่านก็ไม่ได้พูดอะไรด้วย แต่แล้วก็กลับไปอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส “ได้ธรรมะจากท่านแล้ว” ท่านเหล่านั้นจะคุยกันอย่างปลาบปลื้มยินดี
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓๘. หลวงปู่กับยอดคนแห่งแผ่นดิน

    [​IMG]


    หลวงปู่เป็นพระป่า อยู่แต่ในป่าในเขาจนชิน และดูเหมือนจะไม่รู้จักโลกภายนอกที่ว่าเจริญของคนกรุง ท่านมักจะอยู่กับพวกยาง พวกกระเหรี่ยง พวกชาวเขาเป็นปกติ ไม่คุ้นเคยต่อการพบคนใหญ่คนโตมีชื่อเสียงของจังหวัดหรือบ้านเมืองเลย

    ดังนั้น วันหนึ่ง ท่านไปเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมากราบหลวงปู่ขาวเป็นวาระแรก ทางบ้านเมืองจึงมาส่งข่าวให้ทางวัดเตรียมตัวรับเสด็จ พอหลวงปู่ทราบว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จ ก็เตรียมหนีทันที หลวงปู่ขาวซึ่งบ่นเช่นกันว่า ไม่ทราบว่าจะ “พูด” ด้วยอย่างไร ขอให้หลวงปู่ชอบอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อน

    อ้อนวอนกัน จนสุดท้ายหลวงปู่ก็ใจอ่อน ยอมอยู่ด้วย โดยเป็นที่เข้าใจว่า ท่านจะไม่ต้องพูดอะไรเลย และหลวงปู่ขาวก็ไม่ต้องพูดอะไรเท่าไรนัก ด้วยทางบ้านเมืองจะมาดูแลกำกับด้วย

    ถึงวันที่กำหนด หลวงปู่ทั้งสององค์ ก็ครองจีวรอย่างเรียบร้อยรออยู่ จนเย็น ท่านก็บ่นกันว่า

    “ไม่เห็นมา ให้รออยู่” องค์หนึ่งบ่น

    “นั่นซิ ไม่เห็นมามีแต่ทหารสองพ่อลูก มาคุยอยู่เป็นนานสองนาน”

    “คนพ่อเพิ่นงามกว่าลูกนะ” ท่านวิจารณ์กัน

    หลวงปู่ทั้งสองหวัวกันจนองค์งอ เมื่อพระเณรช่วยกันชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ......เสด็จพระราชดำเนินแล้ว...! พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ .....ที่หลวงปู่ว่า ทหาร ๒ พ่อลูกนั่นแหละ !!

    เป็นเรื่องที่เล่ากันอย่างขบขันตลอดมา ผู้เขียนซึ่งปากอยู่ไม่สุข ภายหลังได้โอกาสก็กราบเรียนถามหลวงปู่ขาว

    ทำไมหลวงปู่ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัวและทูลกระหม่อมฟ้าชายล่ะเจ้าคะ (ขณะนั้นท่านยังมิได้ดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

    ท่านว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่”

    ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น เมื่อกราบเรียนถามด้วยคำถามเดียวกันนั้น ท่านก็ยิ้มอาย ๆ ตอบผู้เขียนว่า “นึกว่าจะใส่ชฎา !”
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาวที่วัดถ้ำกลองเพลอีกนับครั้งไม่ถ้วนและแทบทุกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะโดยเสด็จด้วย จนเป็นที่ทราบกันว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระทัย ผูกพันต่อหลวงปู่ และหลวงปู่ขาว ก็มี “จิต”ผูกพันต้อพ่อจ้าว แม่จ้าว แผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส ทั้งสองพระองค์และหลวงปู่ มี “จิต” ถึงกัน (ผู้เขียนเคยเขียนไว้ใน “อนาลโยคุโณ” ...ในหนังสือ “อนาลโยบูชา”)

    สำหรับหลวงปู่ชอบ ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานของไปถวายสักการะเสมอ เช่น ดอกไม้ น้ำผึ้ง รถเข็น

    วันนั้นจำได้ว่า เป็นเวลาต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านราชเลขาธิการ ในขณะนั้นคือ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ โทรศัพท์มาที่บ้านลาดพร้าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ถามว่า ทรงได้ข่าวว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม กำลังมาพักโปรดลูกศิษย์อยู่ที่เรือนไทย ลาดพร้าว ไม่ทราบว่าขณะนี้ท่านยังคงพักอยู่หรือไม่

    เข้าใจว่า ที่มีพระราชกระแสถามมาเช่นนี้ กิตติศัพท์ที่ว่า หลวงปู่เป็นผู้ มาเร็ว ไปเร็ว คงจะเป็นที่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้ท่านอยู่ พรุ่งนี้ท่านอาจจะไม่อยู่ หรือเช้านี้อยู่....บ่าย...ไม่อยู่ ชั่วโมงนี้อยู่....ชั่วโมงหน้าไม่อยู่...ไปแล้ว...ก็ได้เสมอ

    อย่างไรก็ดี วันนั้นได้กราบเรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ท่านยังคงพักอยู่ และความจริง เวลานี้ หลวงปู่หลุย จันทะสาโร ก็กำลังพักอยู่ด้วยเช่นกัน

    วันรุ่งขึ้น ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ ฯพณฯ นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี อัญเชิญแจกันดอกบัวสัตตบงกช และน้ำผึ้งบริสุทธิ์พระราชทานมาถวายหลวงปู่ทั้งสององค์

    และเพียง ๒ – ๓ วันต่อมา ท่านราชเลขาธิการก็ได้โทรศัพท์มาอีกว่า จะทรงให้ห้องเครื่องในวังส่งอาหารมาถวายหลวงปู่ทั้งสองทุกวัน จึงจะขอทราบเวลาฉันจังหันของท่าน เพื่อให้จัดส่งมาให้พอเหมาะกับเวลาฉัน ผู้เขียนได้เรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ทั้งสององค์ได้ออกจากบ้านเรือนไทย กลับไปแล้ว

    หลวงปู่ชอบไปไหน...?

    กลับวัดของท่านที่จังหวัดเลย

    เข้าใจว่า ขณะนั้นท่านราชเลขาธิการคงกำลังเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทอยู่ ท่านนิ่งไประยะหนึ่ง แล้วก็บอกผู้เขียนว่า สมเด็จฯ มีพระราชกระแสถามว่า เวลานี้หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นหรือไม่ ผู้เขียนก็เรียนท่านราชเลขาธิการว่า ความจริงเวลานี้ หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นแล้ว แต่หลวงปู่เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ประเสริฐที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย หากจะทรงพระมหากรุณาพระราชทานเก้าอี้รถเข็นอีกคันหนึ่ง เพื่อถวายหลวงปู่ พระราชกุศลก็คงจะเพิ่มพูนมหาศาล

    หลังจากนั้นเพียงสามวัน เผอิญผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ ตำบลโคกมน จังหวัดเลย จึงถือโอกาสกราบเรียนให้ท่านทราบว่า

    “แม่จ้าวหลวง (คำว่า “พ่อจ้าวหลวง” และ “แม่จ้าวหลวง” เป็นคำที่หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ ท่านมักจะใช้ยามเมื่อเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสมอ) คงจะพระราชทานเก้าอี้รถเข็นมาถวายหลวงปู่เร็ว ๆ นี้แหละเจ้าค่ะ”

    พระเณรที่ห้อมล้อมหลวงปู่ มองหน้าผู้เขียนอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก เมื่อพระองค์หนึ่งถามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะโปรดให้ส่งเก้าอี้รถเข็นมาอีกคันหนึ่งหรือ

    จึงได้ความว่า เก้ออี้รถเข็นพระราชทานได้มาถึงล่วงหน้าแล้ว...ก่อนหน้าผู้เขียนเดินทางไปถึงวัด...ถึงสองวัน !

    “...นี่ไง..!”

    แล้วพระผู้ปฏิบัติหลวงปู่ท่านก็เข็นเก้าอี้รถเข็นพระราชทานออกมาให้ดู

    ผู้เขียนนิ่งนึกนับวันดู เวลาห่างจากวันที่เรียนท่านราชเลขาธิการเพียง ๓ วันเท่านั้น...! เราว่าเรารีบมากราบหลวงปู่โดยเร็วแล้ว...! แต่ดูเหมือนว่า วันนั้นเอง...พอท่านราชเลขาธิการกราบบังคมทูลแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็คงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดเก้าอี้รถเข็นส่งมาถวายหลวงปู่ ณ จังหวัดเลยทันที

    ถ้าไม่ใช่เพราะทรงเจริญพระราชศรัทธาอย่างยิ่งยวดแล้ว จะรวดเร็วถึงเช่นนี้หรือ

    นึกถึงที่ท่านราชเลขาธิการเคยปรารภให้ฟัง “ทรงเคารพรักและมีพระราชศรัทธาหลวงปู่และท่านอาจารย์ทุกองค์มาก เวลารับสั่งถึง ทรงใช้คำว่า “พระอริยเจ้า” ทุกครั้ง”

    คราวหนึ่ง ท่านราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสมาว่า ได้ทรงให้สร้างกุฏิไว้ในเขตบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้ว บริเวณนั้นเป็นที่สงบ ต้นไม้เรียงรายโดยรอบ มีลักษณะเป็นป่าอย่างที่หลวงปู่คงจะชอบ ทรงนิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปพัก ณ กุฏินั้นบ้าง เมื่อเวลาที่ท่านเข้ามาในกรุงเทพฯ

    เมื่อนำความกราบเรียนหลวงปู่ ท่านตอบว่า ท่านเคยแต่อยู่ในป่า เข้าไปในเขตพระราชฐานจะลำบาก เพราะพวกศิษย์ติดตามก็เป็นแต่คนบ้านนอก ไม่รู้ธรรมเนียมอะไร...

    เมื่อเห็นว่าผู้เขียนทำหน้าสลด บ่นอ้อมแอ้มว่า แม่จ้าวจะเสียพระทัย น้อยพระทัย ทรงอุตส่าห์สร้างกุฏิถวาย ท่านก็ยิ้มแย้มอย่างปลอบใจ บอกว่า

    “อยู่ข้างนอก ก็แผ่เมตตา (ถวาย) ให้อยู่แล้ว แผ่ทุกวัน ให้ทุกองค์...ในนั้น”

    หลวงปู่คงหมายความถึง ไม่เฉพาะจะแผ่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังแผ่เมตตาถวาย “ทุกองค์” ... “ในนั้น...!” ด้วย

    แล้วหลวงปู่ท่านก็เสริมด้วยใบหน้าที่เกลื่อนด้วยรอยยิ้มอย่างเมตตา เสียงของท่านแผ่ว เบา ตามปกติ แต่ก็ฟังแสนชัดว่า

    “ในนั้น....มีเทวดามากน้อ มาก...แน่นไปหมด”
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    หลวงปู่แผ่เมตตาถวาย ในฐานะทรงเป็น พ่อจ้าวหลวง...แม่จ้าวหลวง ที่ทรงเป็นยอดคนแห่งแผ่นดิน และทรงเป็นปิ่นปักรักษาแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์จริง ๆ ของพ่อจ้าวหลวงและแม่จ้าวหลวง ท่านก็ดูเหมือนจะไม่รู้จัก

    ดั่งกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไปทรงกราบนมัสการท่านพร้อมกับหลวงปู่ขาว ณ วัดถ้ำกลองเพล ดังที่ได้เล่ามาแล้ว

    สำหรับเรื่องที่หลวงปู่ได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และไม่ทราบว่าท่านคือ “แม่จ้าวหลวง” ที่ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณถวายอุปการะเนือง ๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาของพระป่ากันจริง ๆ

    ต่อมา จำได้ว่าเป็นคืนวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในการสวดพระอภิธรรมที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดให้เป็นการบำเพ็ญกุศลถวายพระคณาจารย์ที่มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ณ วัดพระศรีมหาธาตุ

    เมื่อทรงทราบว่า หลวงปู่ได้มาในงานนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็เสด็จฯ จากพระเก้าอี้ที่กำลังประทับอยู่ ไปทรงกราบนมัสการด้วยความเคารพ ประทับบนลาดพระบาท ทรงหมอบกราบ และทรงประณมพระหัตถ์ตลอดเวลาที่มีพระราชกระแสรับสั่งกับหลวงปู่

    ผู้เขียนนั่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ใจไม่ดีด้วยเกรงว่า จะไม่ทรงทราบว่า หลวงปู่เป็นอัมพาต พูดไม่ค่อยได้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ จึงสั่งให้ผู้เขียนไปเฝ้า และกราบถวายบังคมทูลความให้ทรงทราบ เพราะดูท่านสนพระทัยมีพระราชกระแสตลอดเวลา

    สมเด็จฯ ทรงพระสรวล รับสั่งว่า มิน่า หลวงปู่ไม่พูดด้วยเลย ท่านได้แต่มองนิ่งอยู่

    กราบบังคมทูลว่า นั่นท่านกำลังแผ่เมตตาถวายเพคะ ปกติหลวงปู่จะแผ่เมตตาให้เวลาคนมากราบ ที่ท่านมองนิ่งอยู่อย่างนั้น ท่านกำลังถวายพระพร

    สมเด็จฯ ทรงพยักพระพักตร์อย่างเข้าพระทัย เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับไปที่พระเก้าอี้ เพื่อทรงทำหน้าที่องค์ประธานพิธีต่อไป ก็ไม่ทรงลืมที่จะมีพระราชกระแสให้ผู้เขียน อย่าลืมจัดน้ำถวายหลวงปู่ให้ดี

    ทรงกราบอีกครั้งหนึ่ง จึงเสด็จกับไปประทับที่พระเก้าอี้อีกด้านหนึ่ง อยู่ทางนี้ หลวงปู่หันมาถามผู้เขียนเบา ๆ ว่า “ใคร....?”

    ผู้เขียนยังตั้งตัวไม่ติด ด้วยไม่คิดว่า หลวงปู่จะไม่รู้จักสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงกราบเรียนถามว่า หลวงปู่ถามถึงใคร

    ท่านว่า “ที่มาเมื่อกี้นี้น่ะ เพิ่นงามนะ”

    จึงรีบเรียนท่านว่า “สมเด็จฯ เจ้าค่ะ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”

    กราบเรียนไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังทำหน้างง คิดว่าเสียงเราคงไม่ชัด จึงเรียนซ้ำไปอีก แต่สีหน้างงของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น

    ท่านเจ้าคุณเทพเมธาจารย์ แห่งวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี นั่งอยู่ใกล้ ๆ จึงต้องบอกหลวงปู่เสียงดัง....

    “เมียพระเจ้าแผ่นดิน !”

    นั่นแล้ว สีหน้าของหลวงปู่จึงบอกความกระจ่าง...เข้าใจอย่างถ่องแท้ ยิ้มแล้วชมซ้ำ “เพิ่นงามน้อ !”

    เสียแรงเราเคยภูมิใจว่า ใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้องตลอดมา แต่คราวนี้ต้องนึกขันตัวเอง ที่ทำให้ไม่เป็นที่เข้าใจแก่หลวงปู่เลย...!

    ภายหลังมีโอกาสได้เฝ้าเบื้องพระยุคลบาท จึงได้กราบบังคมทูลเรื่องทั้งหมด รวมทั้งที่หลวงปู่ชมพระโฉม “เพิ่นงามน้อ” ด้วย

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแย้มพระสรวลเมื่อทรงรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น รับสั่งว่า “คืนนั้นไม่ทราบว่า หลวงปู่ท่านพูดไม่ใคร่ได้ แต่นั่นแหละ....กราบพระอริยเจ้าอย่างหลวงปู่แล้วชื่นใจ”
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓๙. พระธาตุมาปรากฏกับรูปหลวงปู่

    [​IMG]


    วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี ๒๕๓๕ กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนประวัติให้สมบูรณ์อยู่นั้น มีศิษย์ของหลวงปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เธอเป็นศิษย์ผู้หนึ่งซึ่งเคารพ รัก ศรัทธา หลวงปู่อย่างสูงสุด ระหว่างเจ็บ นอนใส่เฝือกอยู่ในห้องพักผู้ป่วย ก็มีรูปหลวงปู่ไว้กราบบูชาโดยตลอด มีทั้งรูปหล่อเหมือนในท่ายืน...รูปหล่อเหมือนในท่านั่ง...และรูปภาพถ่าย

    วันนั้น เธอได้ยกรูปหล่อเหมือนที่ยืนขึ้นมาทำความสะอาด มีห่อกระดาษเก่า ๆ วางอยู่ใต้ฐานรูป เธอจึงแกะออกมาดู เห็นเป็นพระธาตุจำนวนหลายสิบองค์ เธอก็โทรศัพท์ละล่ำละลักมาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เธอยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า ไม่มีทางที่จะมีใครนำห่อพระธาตุนั้นไปซุกไว้ใต้ฐานรูปหล่อเหมือน เพราะฐานนั้นโปร่ง กลวง และเมื่อวันที่อัญเชิญมา เธอก็จัดทำความสะอาดแล้ว ด้วยความเคารพทะนุถนอมอย่างที่สุด พลิกดูให้สะอาดเอี่ยมทุกแง่ทุกมุม แทบไม่มีฝุ่นละอองชิ้นใดจะผ่านสายตาไปได้

    ห่อกระดาษบรรจุพระธาตุนั้นไม่มีแน่ที่ใต้ฐานรูปหล่อเหมือนนั้น

    แล้ววันนี้มีพระธาตุวางอยู่ใต้ฐานรูปหล่อเหมือนของหลวงปู่ได้อย่างไร

    ขอให้พี่ช่วยไปดูด้วย เธอว่า

    ผู้เขียนยังไม่ทันมีเวลาว่างผ่านไปดู ต่อมาอีก ๒ – ๓ วัน เธอก็โทรศัพท์มาใหม่...ก้อจากห้องผู้ป่วยนั่นแหละ เล่าอย่างตื่นเต้นว่า

    พระธาตุเหล่านั้นเธอได้เก็บใส่ผอบบูชาไว้ อย่างที่พี่แนะ แต่ระหว่างนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาให้เพื่อนที่มาเยี่ยม ๒ คน ซึ่งรู้ว่ารู้จักหลวงปู่และเคารพท่านได้ดูกันเป็นขวัญตา

    วันนั้นดูกันแล้วก็เก็บกลับใส่ผอบเรียบร้อย แล้วหยิบรูปภาพหลวงปู่มาดูอย่างชื่นชมอีกวาระหนึ่ง

    ประหลาดที่รูปภาพโปสการ์ดหลวงปู่แผ่นนั้น ซึ่งพอวางลงกลับมองเห็นแสงแปลบออกมาตรงดวงตาทั้งสองของท่าน มองไปชัด ๆ ก็เห็นเป็นพระธาตุ ๒ องค์ อยู่ ณ ที่ดวงตาของท่านข้างละองค์ เธอและเพื่อนเอะอะโวยวายขึ้นด้วยความปีติ

    ครั้นพิจารณาต่อไป ก็เห็นพระธาตุองค์ที่สามอยู่ตรงจีวร และมีองค์ที่สี่ตกอยู่ใกล้ ๆ อีก

    ทั้งสามคนช่วยกันยืนยันกับผู้เขียนว่า น่าอัศจรรย์จริง ๆ และถ้าจะคิดว่าจัดเก็บพระธาตุ (ซึ่งก็มาปรากฏในรูปหล่อเหมือนของท่าน) ไม่เรียบร้อย ทำให้ตกหล่นอยู่นอกผอบ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีพระธาตุหลงเหลือไปปรากฏบนรูปภาพโปสการ์ด ซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่ง และหยิบรูปภาพโปสการ์ดมาวางภายหลังจากปิดผอบแล้ว

    พระธาตุนั้น แน่ละ... !

    แต่ว่า พระธาตุ ของใคร ? ของท่านองค์ไหน ?

    ผลสุดท้าย ผู้เขียนทนคะยั้นคะยอไม่ได้ ก็ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง นัยว่าเพื่อจะได้กราบชมพระธาตุปาฏิหาริย์ทั้งสองครั้งนั้นด้วย

    เธอหน้าชื่นอย่างดีใจ รีบนำพระธาตุมา “ให้พี่ได้กราบ” โดยแยกเป็นทั้งพระธาตุรุ่นแรกหลายสิบองค์ และอีก ๔ องค์ที่ปรากฏภายหลังบนรูปภาพโปสการ์ดหลวงปู่ด้วย

    เธอเล่าว่า ได้เห็นเส้นเกศามาด้วยสามสี่เส้น

    อย่างไรก็ดี พอเปิดผอบพระธาตุชุด ๔ องค์ เธอก็อุทานเสียงดัง “ตาย...เส้นเกศาหายไปไหนหมดแล้ว !”

    ผู้เขียนฟังเรื่องเส้นเกศาอย่างไม่สนใจมากนัก เพราะกำลังพิจารณาดูพระธาตุทั้งหมดนั้นมากกว่า

    พระธาตุนั้น...แน่ละ !

    แต่ว่า พระธาตุของใคร ? ของท่านองค์ไหน ? ผู้เขียนก็มิได้มีความรู้พิเศษเสียด้วย

    “ตายพี่ เส้นเกศาหายไปหมดเลยค่ะ” เธอบ่นซ้ำด้วยน้ำเสียงเหมือนจะร้องไห้ “วันก่อนนั้นก็ยังอยู่ หนูโทรไปบอกพี่ครั้งสุดท้าย แล้วก็ไม่ได้ให้ใครดูอีกเลย ทำไมท่านหายไปคะ ?”

    ผู้เขียนก็ได้แต่ปลอบใจเธอว่า ไม่เป็นไร ถึงไม่มีเส้นเกศาปาฏิหาริย์ แต่หนูก็มีพระธาตุปาฏิหาริย์แล้ว ควรจะพอใจ ภูมิใจการภาวนาของตัวเองมากกว่า

    เธอยังไม่เลิกเสียใจ...เสียดาย เห็นเธอยกรูปหลวงปู่ขึ้นกราบ บ่นดัง ๆ ว่า หลวงปู่เจ้าขา ลูกขอให้พี่เขามาดูพระธาตุ กราบพระธาตุกับเส้นเกศา แต่เวลานี้เส้นเกศาหายไปเจ้าค่ะ หลวงปู่ช่วยให้พี่เขาได้กราบบูชาเส้นเกศาเป็นมงคลหน่อยซีเจ้าคะ

    เสียงเธอแสดงความเสียใจ ผิดหวัง แต่ก็คาดคอยอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง

    “นะเจ้าคะ หลวงปู่ ขอเส้นเกศาเจ้าค่ะ”

    ประหลาดจริง ๆ ผู้เขียนเองก็อดร้องออกมาเบา ๆ ไม่ได้ เมื่อมองเห็นเส้นเกศาทั้งสีขาวและดำ ราว ๗ – ๘ เส้น ผุดขึ้นในผอบแก้วที่ใส่พระธาตุอย่างน่าอัศจรรย์

    เธอน้ำตาคลอเต็มเบ้า พูดซ้ำซากแต่ว่า “พี่...หนูไม่ได้ร้องไห้นะ...แต่หนูปีติ...ปีติเหลือเกิน”

    เราทั้งสองคน ต่างมองเห็นเส้นเกศาที่ผุดขึ้นมาใหม่นิ่งอยู่อย่างอัศจรรย์ใจ แล้วเราก็หมอบกราบลงพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย

    พระธาตุนั้นแน่ละ...และเส้นเกศา ก็แน่อีกจริง ๆ

    ที่สงสัยว่าเป็นพระธาตุของท่านองค์ใด เส้นเกศาของหลวงปู่ท่านไหน...นั้นเห็นจะไม่น่าต้องพูดกันอีกแล้ว

    ผู้เขียนเลยคิดว่า จะกลับไปถ่ายรูป นำพระธาตุทั้งหมดและภาพเส้นเกศาที่มาปรากฏครั้งใหม่ต่อหน้าเราสองคน มารวมลงพิมพ์ในหนังสือประวัติฉบับพิมพ์ครั้งใหม่นี้ด้วย เพราะคิดว่า อย่างไร ๆ ก็คงจะต้องถ่ายภาพเส้นเกศาของท่านที่เริ่มรวมตัวจะเป็นพระธาตุใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะภาพที่ลงในการพิมพ์ครั้งแรกนั้น บัดนี้ของจริงได้แปรสภาพมากขึ้นกว่าเก่าอย่างเห็นได้ชัด

    อย่างไรก็ดี เมื่อเรากลับไปเพื่อถ่ายภาพพระธาตุที่ห้องคนเจ็บในโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเปิดผอบ พระธาตุ ๔ องค์ และเส้นเกศาออก และจัดวางให้เข้าที่ เพื่อให้ช่างภาพได้เก็บภาพอย่างชัด ๆ นั้น ก็พลันเห็นพระธาตุแก้วใสปรากฏขึ้นอีกองค์หนึ่ง...!

    ทุกคนยังไม่หายตื่นเต้นดี ...อ้าว ผุดขึ้นมาอีกองค์หนึ่งแล้ว สีน้ำตาลอ่อน...!

    เป็นองค์ที่ ๖

    ความจริงเราไม่ได้สงสัยกันแล้ว หากก็อดชอบคิด “ทำไม” กันไม่ได้...แต่ครั้งนี้...ครั้งนี้....

    นอกจากเลิกสงสัยแล้ว ควรจะเลิก “คิด” ด้วยเช่นกัน

    เพราะจำได้ว่า เคยกราบเรียนถามหลวงปู่หลุยในเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจทำนองนี้...ทำไม ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

    ท่านมองผู้เขียนอย่างเมตตา “เรื่องอย่างนี้ เป็น อจินไตย ไม่ควรคิด”

    เรียนถามท่านว่า อจินไตย แปลว่าอย่างไร

    ท่านตอบเรียบ ๆ ว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เป็นเรื่องไม่ควรคิด ควรสงสัย คิดไปจะเป็นบ้า” แล้วท่านก็เสริมด้วยหน้ายิ้ม ๆ มองผู้เขียนอย่างเวทนาในความแสนจะไม่เดียงสา “เรื่องของพระอรหันต์ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เป็นอจินไตย”
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔๐. พระเทวานัมปิยเถระ

    [​IMG]


    ชีวประวัติและปฏิปทาของ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ดำเนินมาแต่เมื่อเริ่มกำเนิด วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ...จนกระทั่งวันสุดท้าย คือวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๘ ได้ดำเนินมาเป็นมิ่งขวัญของประเทศ เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ปวงศิษย์ ทั้งบรรพชิต และฆราวาส และประชาชนทั่วไปอีกนานเท่านาน

    ยามเมื่อดำรงชนม์ชีพอยู่ องค์ท่านเจ้าของประวัติเอง...มิได้สนใจกับ “อดีต” ที่ผ่านมาแล้วของท่าน...ท่านมิได้สนใจกับ “อนาคต” ที่จะเป็นไป ซึ่งหากเป็นปุถุชนคนธรรมดาย่อมไขว่คว้าปรารถนาหาเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร แม้กระทั่งปรารถนาแดนพ้นทุกข์ ท่านก็มิได้สนใจแล้ว...ท่านมิได้สนใจแม้แต่ “ปัจจุบัน” ซึ่งก็อีกน่ะแหละ หากเป็นบุคคลธรรมดา ย่อมเร่งประกอบการงาน เร่งหาเลี้ยงชีพ หาชื่อเสียง ยศศักดิ์ เป็นนักบวช ก็เร่งทำความเพียร เร่งทำกิจอันควรกระทำ...ทำปัจจุบัน ให้สร้างอนาคต

    ท่านมิได้ต้องสนใจ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต และทั้งปัจจุบัน

    ท่าน “วาง” แล้ว ดังที่ท่านกำลังสอนอยู่ ให้เรา “วาง” บ้าง

    กิจอันควรกระทำของท่านคงจะได้เสร็จสิ้นแล้ว

    ท่านดำรงธาตุขันธ์อยู่ ท่านก็มีเมตตาธรรมเป็นเครื่องอยู่...โปรดศรัทธาญาติโยมตามกาละอันควร ตามเทศะอันควร จากเหนือจดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก ...ทั่วประเทศเขตแคว้น ทั้งต่างแดนใกล้และไกล ที่เมตตาของท่านประพรมโสรจสรงจิตใจคน

    “เรา” ต่างหากที่เมื่อกราบองค์ท่านแล้ว ด้วยความเคารพรัก เลื่อมใส ศรัทธา อย่างสุดซึ้งแล้ว ก็ยังมิได้พอใจเพียงนั้น ยังอาจเอื้อมขอความเมตตามากขึ้นไปอีก ขออนุญาตให้ได้นำ “อดีต” ของท่าน ที่ท่านทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำของศิษย์ทุกคน นำมารวบรวมเรียบเรียงเป็นชีวประวัติ อ้างด้วยว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนคนไทยรุ่นหลัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจได้ศึกษา เพื่อให้ผู้เคารพรักได้เทิดทูน เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นแนวทางให้ผู้ใคร่ในธรรมเร่งปฏิบัติทำความเพียร

    สารพัดจะอ้าง...

    ท่านก็เมตตา...

    แต่แรกผู้เขียนก็ตื่นเต้น ดีใจ ตามประสากบในกะลาครอบ...เราเคยกราบท่าน เคยเรียนถามท่าน ท่านเมตตาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม...คงเขียนได้...คิดดูไม่ยากเลย

    แต่เมื่อเริ่มรวบรวมข้อความ เริ่มลงมือเขียน จึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ง่ายเลย

    เป็นการยากที่จะนำ “อดีต” อันยาวนาน ผ่านมาตลอดเวลากว่า ๙๐ ปีนี้ มาบันทึกไว้ให้ได้ทุกบททุกตอน แม้จะให้เลือกเฉพาะที่ควรบันทึก ควรสนใจก็เถอะ...!

    “อดีต” ที่ดำเนินมาของท่าน....

    ...แต่วัยเด็ก ที่โลดเต้นไปตามประสาเด็ก แต่ก็มีความกตัญญูรู้คิด ทำหน้าที่ลูกที่ดี พี่ที่ดีของครอบครัว รู้คิด...เริ่มคำนึงหาทางออกจากทุกข์ จนออกบวช เป็นผ้าขาวน้อย เป็นสามเณร

    ...ผ่านวัยหนุ่ม ที่บวชเป็นภิกษุ แล้วก็ออกธุดงค์ บำเพ็ญความเพียรอย่างมอบกายถวายชีวิตให้ธรรม พยายามห้ำหั่นฟันกิเลสด้วยอุบายวิธีนานา...ทั้งที่ได้รับแนวทางคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ และที่เกิดปัญญาคิดค้นขึ้นมาได้เอง ผ่านสัตว์ร้ายในป่าลึก พบช้าง ผจญเสือ ทรมานงูพิษ พญานาค พบสิ่งลึกลับอันเกินสายตามนุษย์ธรรมดาจะพึงพบ พึงเห็น พึงรู้จัก....

    ...ผ่านวัยกลาง ที่เปรียบประดุจพญาราชสีห์กำลังทรงพลังอันแข็งแกร่ง เมื่อถึงเวลา...ก็บันลือสีหนาทก้อง...สยบป่าให้สิโรราบลง ท่านได้นำความองอาจ เด็ดเดี่ยว ความรู้ ความสงบ และดวงปัญญาที่สะสมดำเนินมาเป็นลำดับ ๆ ออกใช้เป็นดาบเพชร สยบตัดกิเลสอาสวะ ให้ขาดกระเด็นสิโรราบลงโดยราบคาบ

    ...สู่วัยปลาย ที่ท่านดำรงอยู่ด้วยทิฏฐธรรม วิหารธรรม เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของหมู่เทวดา และมวลมนุษย์ เป็นที่เคารพรัก สักการะของปวงชนชาวไทย

    จริงแท้ เป็นการยากอย่างยิ่ง ที่จะสามารถบันทึก “อดีต” อันยาวนาน ที่งดงามน่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งบำเพ็ญตาม...เหล่านี้มาบันทึกให้เป็นภาพประวัติที่งดงาม น่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งปฏิบัติบำเพ็ญตาม...เช่นดั่งความจริงที่ผ่านมา

    ยังมี “อดีต” ที่ไม่ได้ทราบ...ที่ ทราบแล้ว แต่ไม่ได้เขียน...ที่ เขียนแล้ว แต่คนเขียนไม่มีความสามารถจะถ่ายทอดความจริงได้

    ประดุจใบไม้อันเขียวขจีจับตาในป่า ยากอย่างยิ่งที่จะนำมาจัดลงประดับในแจกันเล็ก ๆ เพียงแจกันเดียว ใบไม้มาจนลานตาประการหนึ่ง เก็บที่สวยมาไม่ได้หมดประการหนึ่ง ผู้จัดไม่ได้มีสุนทรียจิตพออีกประการหนึ่ง ฉันใด แจกันเล็กใบนั้น...ก็ฉันนั้น หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ จะเก็บ คัด อย่างไรก็ไม่อาจเป็นตัวแทน “อดีต” อันงดงามของท่านได้

    จึงขอประทานอภัย ท่านผู้รู้ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้

    โดยเฉพาะองค์ท่านเจ้าของประวัติเอง



    บันทึกมาเพียงแค่นี้ (บันทึกครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๒๙) ก็มีน้อง ๆ มาซัก

    “พี่คะ ในโลกนี้ ยังมีพระอย่างนี้หรือคะ”

    “มีจริงหรือคะ”

    ต้องอธิบายไว้ด้วย ว่าการจัดทำหนังสือเล่มนี้นั้น ในช่วงหลังของหนังสือกว่าครึ่ง เป็นการเขียน “ผ่อนส่ง” คือเขียนไป ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ไป เพื่อให้พิมพ์เป็นเล่มเสร็จทันเวลา ฉะนั้น เขียนไปก็จะถูกเร่งต้นฉบับ เกรงช้า แต่ระยะหลัง การเร่งมิใช่เร่งเพราะกลัวช้า เพราะผู้พิมพ์ตัวคอมพิวฯ ซึ่งมีหลายคนอยากอ่าน อยากรู้เรื่อง มีคนซึ่งปกติไม่มีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟพิสูจน์อักษร ขอช่วยตรวจปรู๊ฟ แย่งกันพิมพ์ แย่งกันช่วยปรู๊ฟ

    เธอเหล่านั้น บอกว่า อ่านแล้ว ขนลุก น้ำตาคลอ....

    บางคนน้ำตาคลอ สงสารตอนท่านเป็นเด็ก ๗ ขวบ อยากหาเงินช่วยพ่อแม่หาบขี้ครั่งไปขายจนสองบ่าแตกเป็นแผล ...บางคนสงสารตอนท่านมีชีวิตอยู่ในป่า อกอยาก ยากแค้น ทนอด ทนหิว ทนหนาว ตากแดด ตากฝน มีชีวิตเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง บางคนจับใจตอนท่านเมตตาสั่งสอนเสือ สั่งสอนงูพิษ บางคนอัศจรรย์ ความรู้ความเห็นที่ลึกลับของท่าน บางคนตื่นเต้นตอนเทวดามาใส่บาตร เทวดามาคอยรักษา คอยอนุเคราะห์ บางคนสะดุ้งกลัวเรื่องภพชาติที่ต้องมาเกิดเวียนว่ายในวัฏวนของชีวิต

    “ขนาดท่านยังเคยต้องเกิดเป็นสัตว์ แล้วเราล่ะ...!”

    “ผมคงไม่กล้าทำบาปฆ่าสัตว์อีก ! ”



    “ท่านเป็นพระอย่างไร.....”

    “ท่านเป็นพระอรหันต์ใช่ไหมครับ”

    ท่านเป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ไหนเลยจะตอบได้ ธรรมของท่านอยู่ในจิตของท่าน ท่านผู้รู้เสมอด้วยท่านเท่านั้น จะตอบได้....

    เพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรของท่าน อย่างพระคุณเจ้าหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่มรณภาพแล้ว ถวายเพลิง และพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิธาตุต่างปรากฏเป็นพระธาตุแล้ว ท่านเหล่านั้นต่างเคยชมจิตของหลวงปู่เสมอ เฉพาะหลวงปู่ขาวนั้น ถ้าชาวจังหวัดเลยไปกราบ ท่านมักบอกเสมอ “....เสียค่ารถมาทำไมให้ลำบาก บ่อเพชรอยู่ที่จังหวัดเลย กลับไปกราบท่านอาจารย์ชอบเด้อ !”

    สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่สามเณรอจีรวตะ ผู้อัคคิเวสนโคตร ณ เวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ความว่า

    “ภิกษุนั้น รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

    ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจาก เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี อดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต ภิกษุนั้นเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาด อันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า”

    หลวงปู่ย่อมรู้ชัดว่า ชาติของท่านสิ้นแล้วหรือไม่ พรหมจรรย์จบแล้วหรือไม่ กิจควรทำของท่านได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกหรือไม่

    ท่านได้แสดงให้ประจักษ์ตลอดมาว่า ท่านเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี ท่านอดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต

    ท่านคงเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว

    ท่านคงเป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า

    ท่านเป็นพระอย่างไร...เป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ดูเหมือนพระพุทธองค์จะเคยตรัสไว้เป็นสัจวาจาว่า “ดูก่อน อานนท์ ...ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ พระอรหันต์ย่อมไม่สูญไปจากโลก...”

    หลวงปู่ท่านปฏิบัติธรรมแล้ว สมควรแก่ธรรมแล้วแค่ไหน เราจะทราบได้อย่างไร

    นึกถึงที่ครูบาอาจารย์เคยเทศนา สาธกพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้ฟัง ยังจำได้ เนื่องด้วยคิดว่า ไพเราะนัก ท่านว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์แท้...”

    ถึงเราจะคิดว่า ที่ซึ่งครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่อยู่ เป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์ สงบเย็น แต่ก็อย่าไปนึกสงสัย คาดคิดให้ยุ่งไปเลย...

    เราลองนึกถึงความจริงข้อนี้กันดีกว่า...ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ ...!

    ในขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ บรรดาศิษย์ผู้เคารพรัก เลื่อมใส เทิดทูนท่าน ได้กราบขอเส้นเกศาของท่านไปกราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว แต่บางคนโชคดี ได้เห็นเส้นเกศาของท่านกำลังรวมตัว ในสภาพจะกลายเป็นพระธาตุแล้ว...!

    หรือบางคนนำรูปปั้นเหมือนของท่านบ้าง รูปภาพบ้าง นำขึ้นที่บูชาด้วยเคารพมุ่งมั่น รักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด วันดีคืนดีจะมีพระธาตุบ้าง เส้นเกศาบ้าง ปรากฏให้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ

    ในโลกนี้ ยังมีพระอย่างนี้อีกไหมคะ...?
    คงมีซี หนูเอ๋ย แต่อาจจะหายากหน่อย และเมื่อเราโชคดีได้พบแล้ว ก็ควรถือเป็นบุญอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสกราบพระอย่างท่าน

    “พระ” ผู้ยิ่งด้วยวิสุทธิธรรม

    “พระ” ผู้ควรแก่สมมตินามของ “พระ” โดยแท้

    “พระ” ผู้แปลว่า ผู้ประเสริฐ ผู้เลิศ ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ผู้ควรแก่อัญชลีกรรม ผู้ควรแก่ทักษิณาทาน..ผู้เป็นนาบุญเอกแห่งโลก ยากที่จะมีนาบุญใดมาเปรียบได้

    “พระ” ผู้เป็นที่เคารพ สักการะ และเทิดทูนแห่งมวลมนุษย์

    “พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ

    พระเทวานัมปิยเถระ



    ผู้เขียนยังจำได้ไม่ลืม เมื่อได้นำหนังสือ “ชีวประวัติพระคุณเจ้า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไปกราบถวาย พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ แห่ง วัดหินหมากเป้ง ท่านก็อ่านอย่างสนใจ เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน และเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันเช่นกัน ที่เรียกผู้เขียนไป... ท่านให้คำวิจารณ์โดยละเอียดและมากด้วยเมตตา จนทำให้ผู้เขียนอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า

    นี่แหละ ท่านผู้เป็นปราชญ์ ! ...ท่านผู้เป็นปราชญ์แท้ ย่อมเป็นดังนี้...!

    ....หลังจากที่ พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้อ่านจนจบถึงตอน พระเทวานัมปิยเถระ แล้ว ท่านก็รำพึงกับผู้เขียนว่า

    “เทวดารักท่านชอบมาก อันที่จริงแล้ว มากกว่าท่านอาจารย์มั่นด้วยซ้ำไป ...ในเรื่องเกี่ยวกับเทวดานี้แล้ว บางครั้งท่านอาจารย์มั่นก็ยังขอให้ท่านชอบช่วยจัดการให้เสมอ”

    เมื่อผู้เขียนแสดงความสงสัยว่า “เอ๊ะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์หลวงปู่ชอบนะเจ้าคะ เทวดาน่าจะรักและเกรงใจหลวงปู่มั่นมากกว่า”

    หลวงปู่เทสก์ ท่านก็อธิบายความว่า “เป็นเรื่องบารมีของแต่ละองค์ ก็เหมือนพระพุทธเจ้ากับพระสิวลี ในเรื่องบารมีทางลาภแล้ว บางครั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ยังให้พระสิวลีช่วย”

    “พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ
     

แชร์หน้านี้

Loading...