ช่วยกันปฏิบัติจนเกิดผล จะช่วยสร้างศรัทธาและความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนาได้

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 4 ตุลาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,707
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,264
    ค่าพลัง:
    +25,984
    628E6191-319C-4F98-95B5-6848E2B68676.jpeg

    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙

    ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของเราเอง จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งห้อยขาบนเก้าอี้ก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบก็แล้วแต่เราถนัด ให้กำหนดความรู้สึกของเราทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

    วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ระยะนี้มีความตื่นตัวทางด้านศาสนา เนื่องจากว่าท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้คำสั่งตามมาตรา ๔๔ ในการบังคับให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันโดยปรองดองและสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

    เนื่องจากว่าศาสนาพุทธของเรา แม้จะปรองดองกับศาสนาอื่นตลอดเวลา แต่ก็อยู่ในลักษณะของม้าอารี ซึ่งมีโอกาสโดนวัวเบียดหลุดจากคอกไปตามนิทานโบราณสูงมาก อาตมาจึงมีความเห็นว่า ถ้าพวกเราพร้อมใจกันปฏิบัติธรรมให้เกิดผล สามารถแสดงเหตุให้คนอื่นเขาเห็นได้ชัดเจนว่า นี่คือผลของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ก็จะทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธา เกิดความเลื่อมใสศรัทธา คนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว ก็จะได้เลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้ศาสนาพุทธของเราตั้งมั่นอยู่ได้โดยไม่ต้องกลัวใครมาเบียดเบียน

    ซึ่งหลักการปฏิบัตินี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านได้เมตตามอบไว้ให้นานแล้ว ตั้งแต่อาตมาเพิ่งจะบวช ท่านได้สั่งกำชับให้พระทุกรูปในวัดท่าซุง พร้อมใจกันสละเวลาเช้า ๑ ชั่วโมง เย็น ๑ ชั่วโมงในการปฏิบัติ แต่ก็มีผู้ปฏิบัติอยู่แค่ ๓ – ๔ รูปเท่านั้น นอกนั้นก็ฟังแล้วผ่านหูไป นั่นก็คือเรื่องการภาวนาพระคาถาอภิญญา

    พระคาถาอภิญญานั้นแบ่งออกเป็น ๒ บทด้วยกัน บทแรกคือ สัมปะจิตฉามิ ถ้าจะภาวนาคาถาบทนี้ ให้ขึ้นต้นด้วยนะโมฯ ๓ จบ พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิฯ ตะติยัมปิฯ แล้วภาวนา อิติปิ โสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ จนครบก่อน หลังจากนั้นจึงภาวนา สัมปะจิตฉามิ ถ้าหากว่าเราทำคาถาบทนี้ขึ้น จะมีความสามารถคล้ายกับผู้ที่ฝึกอภิญญาจากพื้นฐานของกสิณ ๑๐

    ส่วนพระคาถาอภิญญาอีกบทหนึ่ง เรียกง่าย ๆ ว่าพระคาถาอภิญญาใหญ่ ก็คือบท โสตัตตะภิญญา บทนี้ถ้าเราภาวนาแล้วทำขึ้น ก็จะมีฤทธิ์ มีอำนาจเหมือนกับใช้กสิณ ๑๐ ได้โดยตรง พระคาถาบทนี้วิธีการง่ายกว่า คือน้อมนึกถึงคุณพระรัตนตรัย ตั้งนะโมฯ ๓ จบ แล้วก็ภาวนาได้เลย

    คาถาทั้งสองบทนี้เมื่อภาวนาไปแล้วจะเกิดผลสองประการ ประการแรก ก็คือ พอภาวนาไปแล้ว เราจะเห็นแสงสีทอง จะเป็นจุด เป็นขีด เป็นเส้น เป็นสาย เป็นแผ่นผืน หรือสว่างโดยไม่มีประมาณ หรือเหมือนกับฟ้าแลบก็ตาม

    เคล็ดลับอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเราเห็นแสงสีทองแล้ว ให้น้อมใจค่อย ๆ ตะล่อมเอาแสงนั้นเข้ามาในอกของเรา ถ้าสามารถรวมเป็นดวงโตสว่างไสวสีทองอยู่ในอกของเราเมื่อไร ร่างกายของเราจะลอยพ้นพื้น ต้องตั้งสติให้ดี ๆ ซักซ้อมการลอยอยู่ในห้องของเรา จนกระทั่งมีความชำนาญเสียก่อน ให้มั่นใจว่าเราบังคับร่างกายนี้ให้ลอยไปไหน ๆ ได้จริง อย่างนั้นแล้วเราค่อยออกไปสถานที่อื่น

    อีกประการหนึ่งผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ รู้สึกเหมือนโดนบีบรัด แน่นเข้าไป ๆ ทั้งตัว หัวใจก็เต้นเร็วขึ้น ๆ มีอาการเหมือนกับเหนื่อยหอบ อยากจะดิ้นตึงตังโครมคราม ถ้าหากว่าลักษณะอย่างนั้น ก็คือการที่กายในจะหลุดออกไปแบบมโนมยิทธิเต็มกำลัง ถ้าเราตัดใจได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายนี้ก็ตาม เราไม่ใส่ใจ ต่อให้ตายลงไปในขณะที่ปฏิบัติความดีนี้เราก็ยอม ถ้าตัดใจอย่างนี้ได้ท่านจะหลุดออกไปเลย แต่ให้ตั้งเป้าไว้ด้วยว่าเราต้องการไปกราบพระที่พระนิพพาน ไม่อย่างนั้นถ้าหากว่าหลุดออกไปแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอบารมีพระท่านสงเคราะห์ ออกไปก็จะรู้สึกมืดแปดด้าน ไปไหนไม่ถูก เปะปะไปหมด แล้วท้ายสุดทนรำคาญไม่ไหวก็กลับร่างกายตามเดิม

    สิ่งทั้งหลายที่ว่ามานี้ จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเป็นการกระทำของบุคคลที่มีความจริงจังและสม่ำเสมอ ถ้าเอาตามที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านขอไว้ก็คือ เช้าภาวนา ๑ ชั่วโมง เย็นภาวนา ๑ ชั่วโมง ท่านบอกว่ายิ่งนานไป พวกเดียรถีย์นอกศาสนาจะจาบจ้วงพุทธศาสนามากขึ้นทุกที ท้ายสุดถึงขนาดลบล้างคำสอนของพุทธศาสนา กล่าวหาว่าอภิญญาสมาบัติเป็นเรื่องหลอกลวงกัน เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว พวกเราจะต้องออกไปแสดงให้เขาดูว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความจริง

    ดังนั้น...เราจึงต้องซักซ้อมเอาไว้ให้เคยชิน โดยการภาวนาควบกับลมหายใจเข้าออก ซึ่งบทภาวนาทั้งสองบทนั้น ไม่สามารถแบ่งลมหายใจเป็นคู่ได้สะดวก เราก็ภาวนายาว หายใจออกก็รู้ลมจนสุด หายใจเข้าก็รู้ลมจนสุด จะใช้คำว่าโสตัตตะภิญญาทีเดียวก็ได้ หรือจะวรรคเว้นอย่างไร เข้าออกอย่างไรก็แล้วแต่เรากำหนด แล้วแต่เราจะถนัด
    .....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...