ฌาน .

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 6 สิงหาคม 2020.

  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    ฌาน

    ›››››

    ?temp_hash=00851f716a3c55756e3c3edbc0437f96.jpg








    สมเด็จพระญาณสังวร

    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    วัดบวรนิเวศวิหาร

    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต


    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ



    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    อันจิตตภาวนาคือการอบรมจิตนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า ฌานคือความเพ่ง ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง อันคำว่าฌานคือความเพ่งนั้นมี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน แปลว่าเพ่งอารมณ์ กับ ลักขณูปนิชฌาน คือเพ่งลักษณะ

    อารัมมณูปนิชฌาน

    ข้อแรกการเพ่งอารมณ์นั้น ก็หมายถึงอารมณ์ของกรรมฐาน ที่ทำจิตให้สงบ ( เริ่ม ๑๕๖/๒ ) อันเรียกว่าสมถกรรมฐาน ดังเช่นเพ่งลมหายใจเข้าออก โดยถือเอาลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตตั้งไว้ อันเรียกว่าอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

    หรือเพ่งกาย โดยเพ่งอาการของกาย มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ถือเอาผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่จิตคิดตั้ง หรือเป็นเรื่องที่ตั้งจิตคิดกำหนด หรือว่าพิจารณากายนี้แยกออกเป็นธาตุดินน้ำไฟลม กำหนดที่ธาตุ ถือเอาธาตุเป็นอารมณ์ รวมความว่าสมถกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ทุกข้อ เป็นอารมณ์ อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์

    องค์ฌาน

    คือในการปฏิบัติอบรมจิตในกรรมฐานส่วนนี้ อาศัยใช้จิตเพ่งกำหนด จับตั้งอยู่ที่อารมณ์ของกรรมฐานทั้งปวง อาการที่เพ่งดั่งนี้ก็คือสมาธิ ความตั้งใจหรือความตั้งจิตกำหนด ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติไปตามองค์ ๕ ของปฐมฌานคือความเพ่งที่ ๑ อันได้แก่ วิตกที่แปลว่าตรึก แต่ในที่นี้หมายถึงความที่นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน หรือจะกล่าวว่านำอารมณ์ของกรรมฐานมาตั้งไว้ในจิตก็ได้ วิจาร ความตรอง ในที่นี้หมายถึงว่า ความประคองจิตไว้ ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานนั้น ไม่ให้พลัดตกไป

    วิตกวิจารดังกล่าวนี้ต้องใช้ในการปฏิบัติในเบื้องต้น หรือในเวลาเริ่มปฏิบัติที่เรียกว่าทำสมาธิ หรือว่าทำจิตตภาวนาเพื่อสมาธิ และในขั้นวิตกวิจารนี้จิตยังไม่ได้สมาธิ จิตยังกระสับกระส่ายดิ้นรนกวัดแกว่ง คือเมื่อนำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ ให้จิตจับเพ่งอารมณ์ของสมาธิ กำหนดอารมณ์ของสมาธิ แม้จะคอยประคองจิตไว้ที่เป็นวิจาร จิตก็มักจะดิ้นรนออกไปจากอารมณ์ของสมาธิหรือกรรมฐาน ไม่ยอมตั้งอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า เหมือนอย่างจับปลาจากน้ำอันเป็นที่อยู่ของปลา มาวางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นเพื่อลงน้ำ อันเป็นที่อาศัยของปลา

    อาลัยของจิต

    จิตที่เริ่มปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เมื่อยกจิตมาตั้งไว้ในกรรมฐาน หรือในอารมณ์ของสมาธิ หรือเรียกว่าของกรรมฐานก็ได้ จิตก็มักจะดิ้นรนไปสู่ที่อยู่ของจิตอันเรียกว่าอาลัยเหมือนกัน คำว่าอาลัยนั้นแปลว่าที่อยู่ที่อาศัย ปลานั้นมีน้ำเป็นอาลัยคือเป็นที่อยู่ที่อาศัย จิตสามัญนี้ก็มีกามคุณารมณ์ คืออารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นที่อยู่อาศัย จิตชั้นนี้เรียกว่ากามาพจร ที่แปลว่าเที่ยวไปในกาม หยั่งลงในกาม คือเรื่องที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ประกอบด้วยความปรารถนารักใคร่พอใจทั้งหลาย หรือเรียกว่ากามคุณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกามคุณ ไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน ถ้าอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน ก็เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน แต่จิตโดยปรกตินั้นอยู่กับอารมณ์ที่เป็นกามคุณ

    กามคุณ กามกิเลส

    อันคำว่า กามคุณ นั้นหมายถึงกามที่เป็นกิเลส คือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ กับกามที่เป็นวัตถุ คือเป็นสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ กามที่เป็นกิเลสกับกามที่เป็นวัตถุนี้ ย่อมประกอบอยู่ด้วยกัน วัตถุนั้นถ้าไม่มีกามที่เป็นกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ ก็เป็นวัตถุเฉยๆ ต่อเมื่อมีกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ จึงเป็นวัตถุกาม

    เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าวัตถุกามนั้น ก็เพราะว่าเป็นวัตถุที่มีกิเลส คือตัวกามกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ กามทั้งสองนี้จึงต้องอาศัยกันไปดั่งนี้ และจิตที่เป็นชั้นกามาพจรนี้ก็อยู่กับกามคุณารมณ์โดยปรกติ หรือเป็นปรกติ

    และที่เรียกว่า คุณ นั้นแปลว่ากลุ่มก้อนก็ได้ กลุ่มก้อนของกิเลสกามและวัตถุกาม ที่ซับซ้อนกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนอย่างกลุ่มด้าย เพราะว่ากามที่ตั้งอยู่ในจิตนั้นซับซ้อนกันอยู่มากมาย ลึกลงไปเป็นตะกอน คือเหมือนอย่างตะกอนที่นอนจมอยู่ก้นตุ่มน้ำก็มี ที่ฟุ้งขึ้นมาเหมือนอย่างตะกอนก้นตุ้มนั้นฟุ้งขึ้นมา ทำให้น้ำในตุ่มขุ่น

    กิเลสที่เป็นตะกอนที่นอนอยู่ก้นจิตนั้น เมื่อถูกกระทบก็ฟุ้งขึ้นมาทำให้จิตขุ่น ปรากฏเป็นราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็คือราคะโทสะโมหะนั้นเอง จึงทำให้จิตดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ หรือว่าตัณหาคือความที่จิตดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ทำให้จิตนี้ชอบบ้าง ชังบ้าง หลงบ้าง เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ดังกล่าว ทั้งหมดนี้เรียกว่ากามคุณ

    อีกประการหนึ่งมีความหมายว่ากามที่เป็นส่วนให้คุณ อันทำให้จิตติด คุณมีความหมายตรงกันข้ามกับโทษ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า กามทั้งหลายนี้มีคุณน้อย หรือว่ามี อัสสาทะ มีส่วนที่น่าพอใจน้อย แต่ว่ามี อาทีนพ โทษมาก หรือว่ามีคุณน้อย มีโทษมากก็ได้

    ถ้ากามไม่มีคุณเสียเลยจิตก็จะไม่ติดในกาม เพราะ กาม มีคุณ หรือมี อัสสาทะ ส่วนที่น่าพอใจอยู่ด้วยจึงทำให้ติดจิต มี นันทิ คือความเพลิดเพลินอยู่ในกาม เพราะฉะนั้นเมื่อจิตได้สุขอยู่ในกาม ก็ติดสุขอยู่ในกาม อันนับว่าเป็นคุณของกาม หรือกามที่เป็นส่วนคุณ

    แต่เมื่อทุกข์โทษปรากฏขึ้นจึงจะทำให้เกิดความหน่ายในกามได้ ถ้าทุกข์โทษยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ยังไม่ทำให้เกิดความหน่ายในกาม แต่ว่าทุกข์โทษที่จะปรากฏขึ้นจนทำให้เกิดความหน่ายนั้น จะต้องเป็นปรากฏทางปัญญา

    ถ้าปรากฏเพียงทุกขเวทนา เช่นความโศกร่ำไรรำพัน ในเมื่อต้องพลัดพราก จากสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือบุคคลที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ เป็นทุกขเวทนา ก็ยังไม่ทำให้เกิดความหน่ายได้ง่าย

    เพราะว่ายังมีสุขส่วนอื่นของกามทำให้จิตติดอยู่ เป็นทุกข์อยู่ในส่วนนี้ แต่ก็ยังเป็นสุขอยู่ในส่วนโน้น จิตจึงยังไม่หน่าย และแม้ทุกขเวทนานั้นเองก็มิใช่ว่าจะตั้งอยู่อย่างนั้น เมื่อมีเกิดก็มีดับ เช่นเดียวกับสุขเวทนามีเกิดก็มีดับ จึงผลัดกันไปผลัดกันมา สุขบ้างทุกข์บ้าง คนจึงอยู่กันด้วยความหวังอันเป็นตัวตัณหา คือแม้ว่าจะพบทุกข์ในวันนี้ก็คิดว่าพรุ่งนี้จะมีสุข พบทุกข์ในสิ่งนี้ก็คิดว่าจะมีสุขในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่ายังมีเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณารมณ์

    กามสุข สมาธิสุข

    ฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์อันเป็นอาลัย คือที่อาศัยของจิตที่เป็นชั้นนี้ มาตั้งไว้ในอารมณ์กรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ จิตจึงไม่ได้สุขในอารมณ์ของกรรมฐาน เมื่อไม่ได้สุขจิตอึดอัดไม่ชอบไม่เพลิน จึงได้ดิ้นรนออกไปลงน้ำคือกามคุณารมณ์ เหมือนปลาที่ดิ้นลงน้ำดังกล่าวนั้น ฉะนั้นจึงต้องอาศัยวิตกวิจารทั้งสองนี้ คือคอยยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ แล้วคอยประคองเอาไว้ เมื่อตกไปก็ยกขึ้นมาใหม่ ประคองไว้ใหม่ ตกไปก็ยกขึ้นมาใหม่ประคองไว้ใหม่

    นิวรณ์ ๕

    ฉะนั้นการเริ่มทำสมาธินั้นจึงรู้สึกว่าเป็นการยาก และสิ่งที่เป็นอันตรายแก่สมาธิตั้งแต่เบื้องต้นนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

    ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกออกไปเป็นนิวรณ์ ๕ นั้นเอง คือนิวรณ์นี้เอง ก็คือว่าเป็นตัวกามคุณารมณ์เป็นข้อสำคัญ อันเป็นที่อาศัยของจิต ที่เป็นกามาพจร ซึ่งจะต้องดึงจิตให้ตกลงไปสู่ที่อยู่ที่อาศัยดังกล่าวนี้ ซึ่งจิตก็มีความเพลิดเพลิน มีความสุขที่จะอยู่อย่างนั้น ยังไม่ได้สุขได้ความเพลิดเพลินที่จะอยู่กับสมาธิ

    วิธีปฏิบัติรักษาอารมณ์ของสมาธิ

    เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แสดงวิธีที่สำหรับจะรักษาจิต ไว้ในอารมณ์ของสมาธิไว้มากมาย เป็นการปฏิบัติเสริมวิธีปฏิบัติสมาธิ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ตรงๆ ดังเช่นตรัสสอนในอานาปานสติ ว่าผู้ปฏิบัติให้เข้าไปสู่ป่า หรือสู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง นั่งขัดสมาธิหรือขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว ออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น ออกสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น เป็นต้น คือให้มีความรู้อยู่ที่ลมหายใจ เพ่งอยู่ที่ลมหายใจ

    พระอาจารย์จึงได้มาอธิบาย เช่นในวิสุทธิมรรคท่านก็สอน ให้กำหนดจุดที่ลมหายใจเข้าหายใจออก ผ่านเข้าผ่านออก เป็น ๓ จุด ริมฝีปาก อุระ และนาภีหรือท้อง หายใจเข้าลมหายใจเข้าจะมากระทบอยู่ปลายจมูก แล้วผ่านอุระหรือทรวงอกลงไปสู่นาภี ปรากฏเป็นพอง ออกก็จะออกจากนาภีปรากฏเป็นยุบ ผ่านอุระหรือทรวงอก และมาออกที่ปลายจมูก เพื่อให้เป็นที่ตั้งของจิต อันจะช่วยให้จิตตั้งได้สะดวกขึ้น

    และก็สอนให้ใช้วิธีนับ เช่นหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ ไปจนถึง ๕ แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ๑ จนถึง ๖ ดั่งนี้เป็นต้น

    จนถึงนับตั้งต้น ๑ ถึง ๑๐ แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่ ๑ ถึง ๕ แต่วิธีนับนี้ก็มีอาจารย์อื่นก็สอนวิธีนับที่ต่างๆ ออกไป และท่านก็สอนให้นับเร็ว หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ ไม่ใช่นับคู่ เอานับมาเป็นเครื่องช่วยที่จะให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

    แต่เปรียบเหมือนอย่างว่า เรือที่พายผ่านไปถึงน้ำเชี่ยวต้องใช้ถ่อช่วย ลำพังพายนั้นไม่สามารถจะนำเรือไปได้ ต้องใช้ถ่อ ก็คือว่าจิตในที่แรกนั้น จิตในทีแรกนั้นเป็นจิตที่พล่าน ดิ้นรนพล่านอย่างน้ำเชี่ยว เพราะฉะนั้นจะใช้พายอย่างเดียวก็ดึงไว้ไม่อยู่ จึงต้องใช้ถ่อช่วย คือการนับช่วย แต่ว่าเมื่อถึงตอนที่น้ำไหลเป็นปรกติก็เลิกใช้ถ่อ ใช้พายต่อไป ฉะนั้น เมื่อถึงตอนที่จิตสงบลง ประคองให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ เช่นตั้งอยู่ในการกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ ก็เลิกใช้การนับ เพียงแต่ทำสติ กำหนดอยู่เพียงจุดเดียว ที่ท่านสอนไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นคือให้กำหนดดูที่ปลายจมูก (เริ่ม ๑๕๗/๑) ลมกระทบ อันเป็นที่ๆ เกิดความสัมผัสจริง กำหนดที่ความสัมผัส

    วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

    ดั่งนี้จึงต้องอาศัยวิตกวิจาร เพราะว่าการนับก็ดี หรือวิธีอื่นก็ดี ก็รวมอยู่ในวิตกคือตรึกทั้งนั้น ตรองทั้งนั้น คือตั้งจิตประคองจิตทั้งนั้น และแบบที่ใช้พุทโธก็เช่นเดียวกัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็เป็นขั้นวิตกวิจาร อันเป็นเครื่องช่วยให้จิตตั้ง และเมื่อจิตเริ่มตั้งได้ ก็จะเริ่มได้ปีติคือความอิ่มใจ สุขใจ ความซาบซ่านในใจ เกิดสุขคือความสบายกายสบายใจ

    และเมื่อได้ปีติได้สุขดั่งนี้จิตก็จะอยู่ตัว เพราะว่าจิตได้สุข ได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้ว ก็ไม่ต้องดิ้นรนพล่านไปหากามคุณารมณ์ ในตอนที่ยังดิ้นรนพล่านออกไปนั้นก็เพราะยังไม่ได้ปีติได้สุขจากสมาธิ

    เมื่อได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้วจิตก็จะตั้งมั่นได้สงบได้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ จิตก็เป็นเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งเป็นตัวสมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

    ลักขณูปนิชฌาน

    อันนี้ต้องอาศัยฌานคือความเพ่ง เพ่งจิตลงไปที่อารมณ์ของสมาธิ หรือที่อารมณ์กรรมฐานดั่งที่กล่าวนั้น นี่คือฌานความเพ่ง เพ่งเพื่อให้จิตเป็นสมาธิคือตั้งมั่น อันเป็นตัวฌานคือตัวความเพ่ง และเมื่อได้ฌานคือความเพ่งดั่งนี้ ต้องการจะเลื่อนชั้นของการปฏิบัติเป็นวิปัสสนา ก็นำเอาความเพ่งที่เป็นสมาธินี้มาเพ่งลักษณะ

    อันหมายถึงไตรลักษณ์ คือลักษณะที่เป็นเครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง มีเกิดดับ เรียกว่าอนิจจลักขณะ หรืออนิจจลักษณะ เพ่งที่ทุกข์ลักษณะหรือทุกขลักขณะ กำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพ่งที่อนัตตลักขณะหรืออนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ก็คือเพ่งที่องค์ฌาน หรือองค์ของสมาธิดังกล่าวแล้วนั้นเอง เพ่งดู วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

    เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นนามรูป สิ่งที่รู้เป็นรูป รู้เป็นนาม เพราะว่าทั้งหมดนั้นก็รวมอยู่ในความรู้ของจิต ตัวความเพ่งเอง หรือตัวสมาธิเอง ก็อยู่ในความรู้ของจิต และความรู้ของจิตนั้นก็แยกได้เป็น ๒ คือเป็นสิ่งที่รู้อัน ๑ ตัวความรู้อัน ๑ สิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูป ตัวความรู้ก็เป็นนาม หรือว่าแยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือสิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูปขันธ์กองรูป

    อันหมายถึงรูปที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือว่ารูปที่เป็นสิ่ง คือสิ่งที่รู้ แม้จะไม่ใช่เป็นรูปจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่รู้ อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่รู้ ก็เป็นรูปทั้งนั้น และนามนั้นก็แยกออกไปเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นขันธ์ ๕ รวมเข้าก็เป็นสิ่งที่รู้คือรูป ความรู้คือนาม

    ก็เพ่งดูลักษณะของรูปนามดังกล่าวมานี้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ อันเรียกว่าไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่ตั้งอยู่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ จึงไม่ควรจะยึดถือเป็นตัวเราของเรา และก็พิจารณารวมเข้ามาว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เป็นอันว่าอนิจจะทุกขะอนัตตารวมอยู่เป็นจุดเดียวกัน รวมอยู่เป็นเกิดดับ รวมอยู่เป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่คงที่ รวมอยู่เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

    ดั่งนี้ก็เรียกว่าเพ่งลักษณะ ลักขณูปนิชฌานทำให้ได้ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงในลักษณะ อันเป็นเครื่องกำจัดความยึดถือ ทำให้เกิดความปล่อยวาง (ตทังค) วิมุติหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ เพราะว่าเมื่อรู้ในลักษณะที่เรียกว่าตามเป็นจริงคือธรรมตามที่เป็นแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดอยู่ในสิ่งที่รู้นั้น เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดีก็หลุดพ้นเป็นวิมุติ นี่เป็นการปฏิบัติในทางลักขณูปนิชฌานอันเป็นทางปัญญา

    เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า ฌานคือความเพ่งย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีฌานคือความเพ่ง ฌานความเพ่งและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติใกล้นิพพาน ดั่งนี้

    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

    bar-white-lotus-small.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 99989.jpg
      99989.jpg
      ขนาดไฟล์:
      532.9 KB
      เปิดดู:
      420
  2. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
     
  3. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)


    เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่นอยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ตาม แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้

    อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าสมาธินั้นมุ่งแต่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ

    แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ"ขันธ์ ๕" ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป - นาม" โดย รูปมี ๑ ส่วน นามนั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย

    ๑. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่นคนและสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวและเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ

    สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่งที่เรียกว่าอุปาทานขั้นธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆมาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็กๆของชีวิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองๆไม่เห็น เรียกกันว่า "เซลล์" แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆเหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน

    ๒. ทุกขัง ได้แก่ "สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้" ทุกขัง ในที่นี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะทนตั้งอยู่ในสภาพนั้น ๆได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัวและต้องเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

    เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัว

    เช่นเดียวกัน เช่นขันธ์ที่เรียกว่าเวทนา อันได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อยๆจางไปแล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน

    ๓. อนัตตา ได้แก่ "ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ" โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนแต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่าเซลล์ แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน

    โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า "ธาตุดิน" ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า "ธาตุน้ำ" ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า "ธาตุไฟ" ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า "ธาตุลม"

    (โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้มิได้หมายความอย่างเดียวกับคำว่า "ธาตุ" อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์)

    ธาตุ ๔ หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ และส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้


    สมาธิ ย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้

    ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ

    ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็น พระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่าจิตตกระแสธรรมตัด กิเลสได้

    ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น

    และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ"

    ฉะนั้นทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกันจะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใด

    ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผลต่อไป

    ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น

    ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า"ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม"

    ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา

    แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน

    อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าว"

    กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น "โมฆะบุรุษ" คือบุรุษที่สูญเปล่า


    ต่อไปนี้เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน
    ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆคือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน" คือ

    ๑. มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง

    พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า "มรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด" อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก"

    มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด

    ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย "ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า"

    ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า "หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด" และกล่าวไว้อีกว่า "หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา" และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่

    จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย

    มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า "อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ

    สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"

    และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า "อัปปมาทธรรม" สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

    ๒. มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐานอสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย

    และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน

    หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมูหนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย


    ๓. มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐานบางทีเรียกกันง่าย ๆ ว่า "กายคตาสติกรรมฐาน" เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก เพราะสามารถทำให้ละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นๆได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตน์ผลได้จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ

    มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความหลง และความโกรธ ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี่เอง

    การพิจารณา ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ที่เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น

    แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไปก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น "ขี้" มีสารพัดขี้ ซึ้งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่

    เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้นเอง แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่เสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากทวารหูก็เรียกกันว่าขี้หู ขับถ่ายออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ที่ติดอยู่กับฟันก็เรียกขี้ฟัน ที่ออกมาทางจมูกก็เรียกว่าขี้มูก

    รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับออกมาพอพ้นร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายมาเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หาเพราะว่าเป็นขี้ และก็ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย

    เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบได้ นานมาก็กลายมาเป็น "ขี้ไคล" ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมกันเรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน

    เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงามน่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้ทุกคน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาดขาดใจ ก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควาญเรียกขวัญกันอีก

    หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหนังหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกออกมาดูก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงใหลกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกมาให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆแล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี

    จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หาที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ไต ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือดน้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้าแต่งตา ทาสี พอกแป้งย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆแล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แต่ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น

    เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ ๕ ประการค่อยๆสงบระงับทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้

    กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม

    ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอาการ ๓๒ ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อเกิดมีอาการ ๓๒ ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา


    กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารักน่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ "นิพพิทาญาณ" จะเกิดขึ้น

    และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ "สังขารุเปกขาญาณ" ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่าจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน - ขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้

    และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาคือเป็น "พระโสดาบัน" สมจริงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างมรรค ผล และนิพพาน"

    ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาล ท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นจำนวนมาก ในสมัยที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ใหม่ๆได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภารยา ซึ่งมีบุตรที่สุดสวยชื่อว่า "นางมาคัณฑิยา" พราหมณ์ทั้งสองชอบใจในพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงได้ทรงแสดงพระธรรมให้ฟัง โดยยกเอากายคตานุสติกรรมฐานขึ้นมาเทศน์

    ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงามแห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตรคูถเน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆมิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี ก็ได้จองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือนางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้น

    และพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรมมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้น ให้พระนางได้มองเห็น แล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆเจริญวัย แก่ แล้วชราโทรมๆลงจนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปต่อหน้า

    พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนางจนเห็นว่าอันร่างกายอันงดงามของพระนางนั้นหาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจังและอนัตตา หาสาระแก่นสารที่พึ่งอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ในขขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง

    raponsan:


    ๔. มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือนอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ (๓) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย

    เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา

    เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูด ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี

    ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อยๆดังกล่าวออกไปจากหน่วยย่อยๆของชีวิต คือเซลล์เล็กๆที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย

    ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆปีคนแล้วคนเล่า

    ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติในอดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิมีสมบัติสร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้

    แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านว่าอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ

    ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้

    เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่ามีจริง

    ดั่งที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายไม่ขาดทุนหรอกหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่าก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น "โมฆะบุรุษ" โดยแท้

    อ้างอิง หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี

    พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19
    วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
     
  4. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    ?temp_hash=8741b7a9fe137f637bd0896e76aeaf7b.jpg


    ...สมาธิเป็นข้อหลัก...เป็นอันดับ ๑ และ...มรรคมีองค์ ๘ ข้ออื่นนั้นเป็นบริวาร หรือเป็นบริขารของสมาธิ และสมาธินั้นก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่น….เป็นสัมมาสมาธิ... สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย… จิตที่เป็นสมาธิ คือที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบนี้ ย่อมสามารถรับกุศลธรรมทั้งหลายได้ ถ้าจิตกวัดแกว่ง หรือซึมเซา ย่อมรับกุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้ เหมือนอย่างมือ ถ้าหากว่ามือที่กำอยู่...ก็รับของอะไรไม่ได้ หรือแม้มือที่แบ...แต่ว่าถ้ากวัดแกว่ง ... ก็วางของลงไปในมือ ให้ของตั้งอยู่ด้วยดีไม่ได้ แต่เมื่อมือแบและนิ่งอยู่ วางของลงบนมือนั้น ของนั้นก็ตั้งอยู่ได้ จิตก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นจิตที่แบคือไม่ซึมเซา และไม่ฟุ้งซ่านคือไม่แกว่ง จึงจะรับรองกุศลธรรมทั้งหลายได้...สมาธิจึงเป็นหลักแกนของการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสยกไว้เป็นประธาน ...

    สมเด็จพระญาณสังวร
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
     
  6. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดเพราะเหตุปัจจัย
    ********************
    สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้ โดยนัยมาแล้วในบาลี (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต (บาลีว่า สมาธินิมิต) อัพยัคคนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตทั้งสองนั้น นี้เป็นอาหาร (ย่อมเป็นไป) เพื่อความเกิดแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นทางเพื่อความไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์เต็มที่แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้ว ดังนี้.

    ในนิมิตเหล่านั้น สมถะนั่นแล ชื่อว่าสมถนิมิตและอัพยัคคนิมิต เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน.

    ธรรมเป็นเหตุเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นทางเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ คือ
    ๑. ทำวัตถุให้สละสลวย
    ๒. การปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ
    ๓. ฉลาดในนิมิต
    ๔. ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง
    ๕. ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
    ๖. ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
    ๗. เพ่งเฉยในสมัยที่ควรเพ่งเฉย
    ๘. เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
    ๙. คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ
    ๑๐. พิจารณาและวิโมกข์
    ๑๑. น้อมจิตไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น.

    อธิบายธรรม ๑๑ ประการ

    ในธรรม ๑๑ ประการนั้น เฉพาะการทำวัตถุให้สละสลวย และการปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.

    ความฉลาดในการกำหนดกสิณนิมิตเป็นอารมณ์ ชื่อว่าฉลาดในนิมิต. การประคองจิตไว้ ด้วยการตั้งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์ในสมัยที่จิตหดหู่ เพราะมีความเพียรย่อหย่อนเกินไปเป็นต้น ชื่อว่าประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง.

    การข่มจิตไว้ ด้วยการตั้งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในสมัยที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะปรารภความเพียรมากเกินไปเป็นต้น ชื่อว่าข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม.

    คำว่า ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง อธิบายว่า สมัยใด จิตไม่แช่มชื่นเพราะมีปัญญาและความเพียรอ่อนไป หรือเพราะไม่บรรลุสุขที่เกิดแต่ความสงบ สมัยนั้น ก็ทำจิตให้สลดด้วยพิจารณาสังเวควัตถุเรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ.

    เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ คือ
    ๑. ชาติ ๒. ชรา ๓. พยาธิ ๔. มรณะ
    ๕. ทุกข์ในอบาย
    ๖. ทุกข์ในอดีตมีวัฏฏะเป็นมูล
    ๗. ทุกข์ในอนาคตมีวัฏฏะเป็นมูล
    ๘. ทุกข์ในปัจจุบันมีการแสวงหาอาหารเป็นมูล.

    อนึ่ง การทำความเลื่อมใสให้เกิด ด้วยมาระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันนี้ก็เรียกว่าการทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง.

    ชื่อว่า เพ่งเฉยในสมัยที่ควรเพ่งเฉย อธิบายว่า สมัยใด จิตอาศัยการปฏิบัติชอบ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน แช่มชื่น เป็นไปสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินในสมถวิถี สมัยนั้นไม่ต้องขวยขวายในการประคอง ข่มและทำจิตให้ร่าเริง เหมือนสารถีไม่ต้องขวนขวาย ในเมื่อม้าวิ่งเรียบฉะนั้น อันนี้เรียกว่าเพ่งเฉยในสมัยที่ควรเพ่งเฉย.

    การเว้นบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่บรรลุอุปจาระหรืออัปปนา ให้ห่างไกล ชื่อว่าเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ.

    การเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิด้วยอุปจารภาวนา หรืออัปปนาภาวนา ชื่อว่าคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ.

    ความเป็นผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้เกิดสมาธิ ในอิริยาบถทั้งหลายมียืนนั่งเป็นต้น ชื่อว่าน้อมจิตไปในสมาธิสัมโพชฌงค์.

    ด้วยว่า เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์นั้นย่อมเกิดได้.

    เมื่อภิกษุรู้ชัดว่า ก็สมาธิสัมโพชฌงค์นั้น อันเกิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.
    ……………
    ข้อความบางตอนใน อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=273&p=5
    #สมาธิสัมโพชฌงค์

    11962684485_n.jpg?_nc_cat=103&_nc_sid=110474&_nc_ohc=tRWAp4YpqI8AX8pumrJ&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg


    ******************************************





    อชฺฌุเปกฺขนตา = ความเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ
    ************
    ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือ

    ความทำวัตถุให้สละสลวย ๑
    ความปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ๑
    ความฉลาดในนิมิต ๑
    ความยกจิตในสมัย ๑
    ความข่มจิตในสมัย ๑
    ความทำจิตให้ร่าเริงในสมัย ๑
    ความเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ ในสมัย ๑
    หลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ๑
    คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ๑
    พิจารณาวิโมกข์ ๑
    น้อมจิตไปในสมาธินั้น ๑.
    ....ฯลฯ...
    ชื่อว่า ความเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ ในสมัย ได้แก่ ในสมัยใด จิตอาศัยความปฏิบัติชอบ เป็นจิตไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีอัสสาทะ เป็นไปสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินไปสู่วิถีแห่งสมถะ. ในสมัยนั้น เธอไม่ต้องขวนขวายในการยก การข่มและการทำให้มันร่าเริง ดุจสารถีเมื่อม้าทั้งหลายวิ่งไปเรียบร้อย ก็ไม่ขวนขวายฉะนั้น นี้เรียกว่าความเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ ในสมัย.
    ………….
    ข้อความบางตอนใน อรรถกถาอาหารสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=522

    ดูเพิ่มใน อาหารสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=123

    #ดูจิต #เพ่งดูจิต #สมาธิ #สมาธิสัมโพชฌงค์

    60184505051_o.jpg?_nc_cat=105&_nc_sid=110474&_nc_ohc=l1wWRdhr1lkAX_t5MoM&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  7. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    เรื่อง "ฌานกับสมาธิ "

    ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

    ฌาน และ สมาธิ เป็นอันเดียวกันและต่างกัน ฌาน ได้แก่การเพ่งในอารมณ์นั้นๆ ให้เป็นไป ตามปรารถนาของตน เมื่อสังขารปรุงแต่งอยู่นั้น จิตก็จะรวมลงในอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้น แล้วก็เป็นไป ตามปรารถนาของตน ดังอธิบายมาแล้ว เรียกว่า ฌาน

    สมาธิ ได้แก่การพิจารณาให้เห็นเหตุผลของมันตามความเป็นจริงจนจิตหยุดนิ่งอยู่ไม่คิด ไม่นึกต่อไป ยังเหลือแต่ ผู้รู้ เรียกว่า สมาธิ

    ฌาน และ สมาธิ นี้จิตรวมเหมือนกัน ถ้าจิตไม่รวมก็ไม่เรียกว่า สมาธิ และ ฌาน มีแปลก ต่างกันที่ ฌาน นั้น เมื่อจิตรวมเข้าแล้วจะลืมสติ เพ่งพิจารณาแต่อารมณ์อันเดียว หรือมีสติอยู่ แต่ไป เพลินหลงอยู่กับภาพนิมิตและความสุขอันนั้นเสีย ไม่พิจารณาพระไตรลักษณญาณต่อไป หรือที่เรียก ว่าความเห็นไปหน้าเดียว นี่เรียกว่า ฌาน ส่วน สมาธิ นั้น เมื่อจิตรวมหรือไม่รวมก็มีสติรักษาจิตอยู่ ตลอดเวลา รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่ในสภาพเช่นไร พิจารณาอะไร หยาบหรือละเอียดแค่ไหน เรียกว่า สมาธิ

    บางทีเมื่อจิตถอนออกมาจากฌานแล้ว มาพิจารณาองค์ฌานนั้น หรือพิจารณาอารมณ์อันใด ก็ตาม จนจิตแน่วแน่อยู่เฉพาะอารมณ์อันนั้น หรือเพ่งอารมณ์ของฌานอยู่ แต่กลับไปพิจารณา พระไตรลักษณญาณ เสีย จิตไม่รวมลงเป็น ภวังค์ เรียกว่า ฌานกลับมาเป็นสมาธิ

    เมื่อพิจารณาอารมณ์ของสมาธิอยู่ หรือออกจากสมาธิแล้วก็ตาม จิตไปยินดีน้อมเข้าไปสู่ ความสงบสุข เลยไม่พิจารณาอารมณ์ของสมาธินั้น จิตรวมเข้าไปเป็น ภวังค์ เรียกว่า สมาธิกลับมาเป็นฌาน

    ฌานและสมาธินี้กลับเปลี่ยนกันไปกันมาอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติ ไม่เป็นการเสีย หายอะไร ขอแต่ให้รู้เรื่องของมันว่า อันนี้เป็น ฌาน อันนี้เป็น สมาธิ อย่าไปติดในอารมณ์นั้น ๆ ก็แล้วกัน ทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว แล้วจะอยู่ในอารมณ์อันใดก็ได้ พระบรมศาสดาเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ หรือพระสาวกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องเพ่งพิจารณา ฌาน นี้เป็น วิหารธรรม เครื่องอยู่ของท่าน ธรรมดาจิตจำเป็นจะต้องมีความคิดความนึกอยู่เสมอ ท่านเห็นโทษในอารมณ์นั้น ๆ ว่าเป็นไปเพื่อ วัฏฏะ เพราะฉะนั้นท่านจึงน้อมเอาจิตมาพิจารณาให้เป็น ฌาน เสีย เพื่อเป็นเครื่องอยู่ใน ทิฏฐธรรม ของท่าน

    ฌาน และ สมาธิ นี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ไม่มีฌานก็ไม่มีสมาธิ ผู้ไม่มี สมาธิก็ไม่มีฌาน ดังนี้ เอวํ ฯ.



    fb0s_3nrb-gqfsl06rcbbfwmsladp7mwkn3f8iwxllylxxqu9sjbd69kqo4emjjxfz1t-_nc_ht-scontent-fcnx3-1-jpg.jpg
     
  8. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
     
  9. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
     

แชร์หน้านี้

Loading...