ตัวอย่างการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อินทรบุตร, 19 เมษายน 2013.

  1. อินทรบุตร

    อินทรบุตร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +7,320
    ตัวอย่างการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

    รู้กายใจในขณะตื่นนอน

    เสียงนาฬิกาปลุกดัง กริ๊ง...กริ๊ง ข้างหัวเตียง รีบเอื้อมมือไปกดปุ่มให้เสียงดับ เพราะเสียงน่ารำคาญกวนประสาทหู ไม่อยากตื่น ให้รู้ทันว่าใจรำคาญ พอนึกขึ้นได้ว่าต้องรีบไปประชุมเช้าวันนี้ เห็นอาการเร่งรีบของจิต พลันเด้งกายขึ้นจากเตียง รู้สึกกายที่เคลื่อนไหวขึ้น หยิบผ้าขนหนูพาดคอ จ้ำเดินลงบันได เพื่อรีบไปห้องน้ำ เห็นกายเดินไป ใจรู้ว่ากายกำลังเดิน อาการเดินเป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยมีสิ่งหนึ่งกำลังรู้สึกถึงอาการเคลื่อนไหวของกาย ไม่ต้องรู้ให้ได้หมดทุกขั้นตอนนะครับ รู้ตอนไหน รู้ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ถ้ารู้ทุกขั้นตอน เดี๋ยวจะกลายเป็นจงใจให้รู้แบบบังคับรู้และกลายเป็นรู้ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมดา เดี๋ยวจะเกิดอาการรู้แบบ แข็งๆ ทื่อๆ หนักๆ เครียดๆ ไม่โปร่งโล่งเบา


    รู้กายใจในห้องน้ำ

    เปิดประตูเข้าห้องน้ำ บีบยาสีฟันใส่แปรงสีฟัน รู้สึกได้ถึงอาการเคลื่อนไหวของกาย ในขณะแปรงฟัน รู้ได้ไม่เท่าไร ใจก็หนีออกไปคิดว่าจะใส่ชุดไหนดี อยู่ห้องน้ำแท้ ๆ ใจยังแอบหนีไปอยู่ในตู้เสื้อผ้า ให้รู้ทันว่าจิตคิด ไม่ใช่ไปรู้เรื่องราวที่คิดนะครับ พอรู้ว่าคิดเรื่องราวที่คิดก็จะดับลง เพราะจิตรู้อารมณ์ได้ทีละขณะทีละอย่าง แปรงฟันเสร็จ เช็ดปาก เช็ดหน้า ช่วงนี้หน้าหนาว เห็นน้ำในตุ่ม เห็นแล้วมันขยาด รู้ว่าใจขยาด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้อาบ แต่ใจมันขยาดกลัวไปก่อนแล้ว ฝืนใจจ้วงอาบ ขันแรกแทบกระโดด นี่แหละของจริง หนาวเย็นยังกะน้ำแช่ช่องแข็ง ให้รู้สึกกายเย็น รู้สึกกายสั่น รู้สึกอาการฟันกระทบ รู้สึกว่าใจไม่ชอบ แล้วแต่จิตเขาจะไปสนใจอะไร แต่ต้องไม่ออกนอกกาย นอกใจ และให้รู้สึกตามความเป็นจริง

    รีบเร่งถูสบู่ รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ถูสบู่ไม่ใช่รู้ว่าถูสบู่นะครับ เพราะคำว่าถูสบู่เป็นชื่อบัญญัติ ต้องรู้รูปกายที่เคลื่อนไหว รีบเร่งเช็ดตัว โอ้ยัง...ยังไม่ได้ล้างน้ำสบู่ออก เดี๋ยวคันแย่เลย อาบเสร็จแล้ว สบาย ให้รู้ว่าสบาย ความสบายเกิดที่ใจก็ได้ เกิดที่กายก็ได้ โปรดฟังอีกครั้งไม่จำเป็นต้องรู้ให้ได้ทุกขั้นตอน…นะครับ


    รู้กายใจในขณะแต่งตัว

    เปิดตู้เสื้อผ้า เลือกชุดตัวเก่ง ตัวโปรด ขณะสวมใส่ รู้สึกถึงกายที่เคลื่อนไหว แต่งหน้า หวีผม ทาหน้า ทาปาก ทาเล็บสวย หล่อ เช้งวับ รู้ทันว่าใจชอบ

    เอื้อมมือไปหยิบมือถือ เร่งรีบ เร่งหยิบ มือถือร่วงหล่นแตกกระจาย น่าเสียดาย ให้รู้ว่าใจมีอาการเสียดาย แต่ใจอย่าเสีย ถ้ามันเสียใจ ให้รู้ว่าเสียใจ แล้วค่อยไปซื้อใหม่นะครับ

    รู้กายใจในขณะรอรถเมล์

    ยืนรอรถเมล์ เห็นคนเป็นร้อย ใจเริ่มท้อถอย กลัวไม่มีที่ให้ห้อยโหน ให้รู้ว่าใจท้อ รถเมล์สาย ๗๐ วิ่งมาแต่ไกล เห็นแล้วดีใจ รู้ว่าดีใจ พอรถเมล์วิ่งเข้ามาใกล้ แต่กลับไม่จอด ที่เพิ่งดีใจกลับกลายเป็นโกรธ รู้ว่าโกรธ

    ยืนรอตั้งนานขามันชักเมื่อย รู้สึกอาการเมื่อยปรากฏที่กาย เมื่อยก็อย่างหนึ่ง กายก็อย่างหนึ่ง ใจที่เข้าไปรู้อาการเมื่อย ก็อย่างหนึ่ง ให้รู้สึกกับอาการเมื่อย ขยับตัวเปลี่ยนท่า รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ความเมื่อยเริ่มคลาย ก็รู้ว่าความเมื่อยเริ่มคลาย

    รถสาย ๗๐ วิ่งมาอีกคัน รีบวิ่งขึ้นรถ เห็นกายเคลื่อนไหวพอเหลือบไปด้านขวาเห็นมีที่ว่างพอดี รู้สึกดีใจ ให้รู้ว่าดีใจ พอรถวิ่งไปไม่ทันไร จอดป้ายที่สอง เห็นคนท้องเดินขึ้นมาขยับมายืนข้างๆ เรารีบลุกขึ้นให้นั่ง คนท้องขอบใจ รู้สึกดีใจที่ได้เป็นผู้เสียสละ เพียงแค่สละหนึ่งที่แต่ได้นั่งถึงสองคน (ลูกในท้องด้วยครับ) มีความสุข รู้ว่าใจมีความสุข


    รู้กายใจในห้องประชุม

    ถึงบริษัทแล้ว เกือบมาไม่ทัน ท่านประธานรออยู่ ทั้งเดินทั้งวิ่ง เกือบกลิ้งตกบันได ใจหายวาบ ให้รู้ว่าใจหาย ห้องประชุมคนมากันครบ เราต้องคอยหลบเข้าหลังห้องประชุม ทุกคนหันมามอง รู้สึกเขินอาย เพราะเราเป็นพวกมาสาย คือให้เวลามันมาก่อน แล้วเรามาตามหลังเวลา ให้รู้สึกว่ามีอาการเขินเกิดขึ้นที่ใจ การประชุม ถกเถียงกันหนักสารพัดปัญหา ทำให้อึดอัด ให้รู้ว่าใจมันอึดอัด ประธานชมเราว่า เราผลงานดี มีโบนัสพิเศษ ดีใจให้รู้ว่าดีใจ

    รู้กายใจในขณะดื่มกิน

    การประชุมเลิกเที่ยงครึ่งรู้สึกหิวข้าว ให้รู้ว่าหิว ให้รู้ว่ามีอาการหิวปรากฏขึ้นที่กาย เห็นน่องไก่ไข่เจียว กระเพราหมูไข่ดาวข้าวร้อน ๆ น่ากิน กินไปลืมตัวไป กว่าจะรู้อีกทีมันเริ่มจุกเสียแล้ว แท้ที่จริงเรากินเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ใช่กินเพื่อแก้อยาก แต่ทุกครั้งที่กินมักกินเพื่อแก้อยาก มันจึงลำบาก เพราะจุก กินไปให้มีสติ รู้สึกอาการเคี้ยว อาการกลืน รู้รส ถ้าใจไหลไปชอบ รู้ว่าอาการชอบปรากฏที่จิตแล้ว ถ้ากินด้วยสติ พอหายหิว มันก็จะหยุดกิน เพราะมันกินเพื่อแก้ทุกข์ หมดทุกข์มันก็เลิกกิน ถ้ากินเพื่อแก้อยาก แม้ท้องรับไม่ไหว แต่ปากก็ยังขยับเคี้ยวกิน

    รู้กายใจในขณะทำงาน

    อิ่มแล้วกลับมาทำงานที่ค้างคาไว้ เห็นงานเต็มโต๊ะ กลุ้มใจรู้ว่ากลุ้มใจ ทำไปๆ เห็นงานใกล้หมดเห็นแล้วเบาใจ รู้ว่าเบาใจทำงานใกล้หมดเหลือแค่ชิ้นสุดท้าย เอะใจ..ตายละ... ที่ไหนได้เราหยิบแฟ้มผิด ที่ทำนั้นผิดหมดเลย เซ็งเลยตู ให้รู้ว่าเซ็ง ต้องเร่งต้องรีบเกรงจะเสร็จไม่ทัน ท่านประธานรออยู่ เริ่มกังวล รู้ว่าใจกังวล

    ท่านประธานรีบกลับ ต้องไปรับลูก บอกว่าพรุ่งนี้ค่อยเอา เบาใจขึ้นเป็นกอง ให้รู้ว่าเบาใจ เร่งทำจนงานเสร็จ โล่งอก ให้รู้ว่าโล่งอก ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งดื่มน้ำ ปัสสาวะ นี่แหละนะ ภาระมันเยอะ ให้รู้ไปตามสภาวะต่างๆ ที่เกิดจริง


    รู้กายใจในขณะดื่มน้ำ ปัสสาวะ

    อั้นฉี่มาตั้งนาน รู้สึกปวดท้องน้อย หรือหน้าท้องตึง ๆ ก็ให้รู้สึกถึงอาการปวด อาการตึง รีบเดินแบบกึ่งเดินกึ่งวิ่งเข้าห้องน้ำ ให้รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ก่อนปัสสาวะ ต้องถอดกางเกง ขณะถอดกางเกง ให้รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ยืนฉี่ นั่งฉี่ ให้รู้สึกตัวว่ามีสิ่งหนึ่งกำลังไหลออกมา สังเกตกายรู้สึกกายผ่อนคลาย อาการตึง ปวดเริ่มลดน้อยลง เห็นอาการเปลี่ยนแปลงที่กายแล้วใช่มั้ยครับ กายเป็นอย่างไร ให้รู้ว่ากายเป็นอย่างนั้น ฉี่เสร็จแล้วสบายใจ ให้รู้ว่าสบายใจ

    ฉี่เสร็จแล้ว เปิดประตูเดินออกมาจากห้องน้ำเลยครับ อ๋อ ยัง...อุ้ยตาย...ลืมใส่กางเกง ลืมใส่กระโปรง เดี๋ยวโป๊แย่เลย เอ้า...ใส่กระโปรง ใส่กางเกง ให้เสร็จ ก่อน รู้สึกกายเป็นยังไงครับ เคลื่อนไหวเห็นกายเคลื่อนไหว อีกแล้ว เมื่อเอาน้ำออก ต่อไปก็ต้องเอาน้ำเข้า เดินไปดื่มน้ำหน่อยดีมั้ยครับ

    เดินไปดื่มน้ำ ก็รู้สึก กายเดินไป อาการเคลื่อนไหวของกายที่เดินไปเป็นสิ่งถูกรู้ มีสิ่งหนึ่งกำลังรู้สึกว่ากายเดินเคลื่อนไปนั่นคือจิตผู้รู้ ถึงตู้เย็นแล้ว เปิดดูเห็นน้ำส้มแช่เย็น ยังไม่ได้ชิมก็รู้สึกชุ่มคอ อยากกินกระดกรวดเดียวหมดแก้วเลย ให้รู้ว่า ใจอยาก

    เห็นมั้ยครับ ธรรมะสภาวธรรมเกิดอยู่รอบข้าง รอบกายรอบใจ เราเต็มไปหมด เราไม่เคยฝึกรู้เขาเลย ถ้าเราหมั่นฝึกเรียนรู้เขาบ่อย ๆ เราจะเห็นความจริงว่า สภาวธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดับไปก็เพราะหมดเหตุปัจจัย หาใครจะไปบังคับเขาไม่ได้ เขาเกิดเอง เขาก็ดับเอง จึงอย่าเที่ยวไปหาวิธีดับเขา และไม่ต้องไปหาวิธีรักษาเขาให้อยู่กับเรานานๆ หรือถาวร เพราะนานๆ หรือถาวรนั้นเป็นอัตตา พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ พอจำได้มั้ยครับ

    รู้กายใจในขณะเล่นกีฬา

    เลิกงานแล้วไปเตะฟุตบอล เพื่อคลายเครียดดีกว่า อยู่ที่ทำงานเพื่อนร่วมงานบางคนก็กวนโอ๊ย...จนน่าเตะ...แต่ก็เตะมันไม่ได้ เพราะตัวมันใหญ่กว่าเราเยอะ ไปเตะฟุตบอลแทนก็ได้ นึกเสียว่าลูกฟุตบอลเป็นหน้าคนที่เราอยากเตะ ท่านรู้ตัวมั้ยครับ ท่านหลงคิดไปตั้งเยอะ หลงคิดแบบจิตอกุศลด้วย เพียงแค่ท่านรู้ว่ากำลังคิด ความคิดหรือเรื่องราวที่กำลังคิดก็จะดับลง แต่มันก็สามารถหวนคิดขึ้นมาได้ใหม่นะครับ คิดให้รู้ว่าจิตคิด แต่อย่าหลงติดตามความคิดไป

    เตะฟุตบอลกันดีกว่า ขณะที่วิ่งไล่เตะฟุตบอล รู้สึกกายเคลื่อนไหวไป ฝ่ายตรงข้ามมาแย่งฟุตบอลจากเท้า ขุ่นเคืองใจ รู้ว่าใจขุ่นเคือง แย่งฟุตบอลกลับมาได้ ดีใจ ให้รู้ว่าดีใจ เตะโยนลูกไปหน้าประตู เพื่อนกระโดดตีลังกาเตะบอลเข้าประตูรู้สึกสะใจ ให้รู้ว่าสะใจ พอฝ่ายตรงข้ามได้ที เลี้ยงลูกแล้วเตะลอดหว่างขาเราเสียววาบ... ให้รู้ว่าเสียววาบ มัวแต่ดูเสียว ลูกเลยเลี้ยวเข้าประตูเราเกิดอาการเซ็ง ให้รู้ว่าใจเซ็ง

    เห็นมั้ย เล่นกีฬาก็มีสติรู้กายใจได้ หากฝึกเป็นแล้วมันจะรู้ได้เอง

    เหนื่อยมาทั้งวัน กลับบ้านอาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลาแล้วเข้าห้องนอน พักผ่อนดูทีวีดีกว่า บ้านใครก็บ้านเขา...ต่างคนต่างกลับบ้านไปเรียนรู้ดูกายใจตนเอง...นะครับ


    รู้กายใจในขณะดูทีวี

    เปิดดูทีวีมีรายการฟุตบอลโลก พอดีมีนัดเด็ด ๆ เสียด้วยดูไปคิดไป เมื่อไหร่เราจะได้มีโอกาสเป็นนักฟุตบอลทีมชาติกับเขาบ้างนะ ท่านกำลังหลงคิดไปอีกแล้ว คิดให้รู้ว่าจิตคิด ดูไปดูมาใจไหลเข้าไปอยู่ในจอทีวี กายใจเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ดูแบบลืมเนื้อลืมตัว นี่แหละเขาเรียกว่า หลงดู เพียงแค่ท่านรู้ว่าหลงดู ท่านจะกลับมารู้ตัวได้เอง

    ดูไปลุ้นไป ลูกกำลังถูกเลี้ยงหลบเตะตบเข้าโก โอ้เรา... อยู่นอกจอแท้ๆ ยังลืมตัวลุ้นหลบคู่ต่อสู้จนหัวโขกข้างฝา รีบชิงเตะเข้าประตูต้องร้อง อู้ฮู้...เพราะตูเตะขาโต๊ะเข้าแล้ว

    เห็นมั้ยครับ หลงเผลอสติก็แบบนี้แหละครับ วันๆ เราหลงกับสิ่งที่ได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัสและหลงไปในโลกแห่งความคิดนึกปรุงแต่งทั้งวัน หลงเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้นแหละ เขาเรียกว่านอนก็ฝัน ตื่นก็คิด (ฝันกลางวัน) ล้วนแล้วแต่หลงอยู่ในโลกแห่งความฝัน

    รู้กายใจในขณะนอน

    อ่อนกายอ่อนใจ เพลียกายเพลียใจ ดึกแล้วขอนอนดีกว่าพรุ่งนี้ก็ต้องตื่นเช้าไปทำงานต้องไปเผชิญกับฝนตก รถติด พายุมาไฟฟ้าดับ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จำเจซ้ำซาก หมุนเวียน หมุนวน เมื่อไรจะหลุดพ้นจากวงเวียนชีวิตนี้เสียที

    ท่านรู้มั้ยครับ ท่านกำลังหลงเซ็งกับชีวิต เซ็งให้รู้ว่าจิตเซ็งสงสัยว่าจะทำอย่างไรดี สงสัยให้รู้ว่าสงสัย แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะขณะที่ท่านรู้อาการ หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ท่านเริ่มรู้สึกตัวเป็นแล้ว

    ล้มตัวลงนอน เห็นกายทอดยาวไปกับพื้นเตียง กายนอนหรือรูปนอนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ มีจิตกำลังรู้อาการที่นอนของกาย กายก็ส่วนหนึ่ง จิตผู้รู้กายก็ส่วนหนึ่ง ดูกายนอนไม่ทันใด จิตไหลไปคิดเรื่องงาน ให้รู้ทันว่าจิตคิด พอจิตรู้ทันความคิดก็หายไป กลับกลายเป็นจิต มารู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็เพียงแค่รู้ไปตามที่มันเป็น แต่อย่าเข้าไปเพ่งลมหรือบังคับลมให้มันสั้นให้มันยาวให้มันหนักให้มันเบาเฝ้ารู้เฝ้าดูเหมือนดูกายมันหายใจ แต่ไม่มีเราไปหายใจ หลับไปกับสติ ตื่นลืมตาเมื่อใด ก็เริ่มฝึกรู้กาย รู้ใจกันต่อไปจนกว่าจะพ้นทุกข์ หมดทุกข์แล้วจึงไม่ต้องฝึก นั่นหมายถึง เราต้องฝึกหัดรู้ หัดดู หัดมีสติ รู้ตัวไปในชีวิต และตลอดชีวิต แต่ถ้าฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน ชีวิตท่านจะพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน

    ชีวิตเราต้องทำงาน ต้องใช้ความคิด ขณะใดที่ทำงานต้องใช้ความคิด ขณะนั้นไม่ใช่เวลามาเจริญสติ จงทำหน้าที่ของตนคิดวางแผนงานให้รอบคอบ คิดให้เต็มที่ แต่เมื่อใดที่ว่างเว้นจากงาน หรือเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก ก็หาจุดเว้นวรรคให้เวลากับชีวิตในการเจริญสติบ้าง

    ถ้าจะถามว่าต้องฝึกรู้ไปถึงเมื่อไร จึงจะหยุดรู้ หยุดดู ก็คงต้องตอบว่า รู้ไปจนกว่าจะไม่เกิด เมื่อใดไม่เกิด เมื่อนั้นก็ไม่มี ทั้งผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ ท่านว่าจริงมั้ยครับ

    ขอให้ท่านจงเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือ เป็นผู้มีสติปัญญาที่พร้อมจะรู้ทั่ว รู้แบบไม่เข้าไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่รู้ รู้แบบใจที่เป็นกลาง

    รู้ว่า สิ่งที่รู้เป็นเพียง รูปธรรม นามธรรม
    รู้ว่า รูปธรรม นามธรรม เกิดดับตามเหตุ ตามปัจจัย
    รู้ว่า รูป-นาม นั้นเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
    รู้แล้ว ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
    รู้แล้ว ละความยึดมั่นในธรรมทั้งปวง

    http://www.ruendham.com/book_detail...%E3%B9%AA%D5%C7%D4%B5%BB%C3%D0%A8%D3%C7%D1%B9
     
  2. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    อ้างอิงข้อความเดิมของคุณอินทรบุตร รู้ว่า สิ่งที่รู้เป็นเพียง รูปธรรม นามธรรม
    รู้ว่า รูปธรรม นามธรรม เกิดดับตามเหตุ ตามปัจจัย
    รู้ว่า รูป-นาม นั้นเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
    รู้แล้ว ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
    รู้แล้ว ละความยึดมั่นในธรรมทั้งปวง

    สาธุ สาธุ จะมีฉันทะรู้ตามเป็นจริงเช่นนั้น เพียรเดินตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคไปจนกว่ากายจะแตกสลาย
     
  3. newamazing

    newamazing เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,704
    ค่าพลัง:
    +1,381
    ถ้าทำได้ทำไปแล้ว
     
  4. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +4,065

    ..อ้าว..อริยะพูดแบบนี้ได้ยังไง ครับ อิอิ:boo:
     
  5. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,342
    ค่าพลัง:
    +6,849




    "รู้แบบไม่เข้าไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่รู้ รู้แบบใจที่เป็นกลาง"

    คือให้รู้แบบตามความเป็นจริง
    ยินดีก็ให้รู้ว่ายินดี ยินร้ายก็ให้รู้ว่ายินร้าย

    เพื่อฝึกให้รู้เท่าทัน
    ที่ว่าฝึกรู้แบบใจที่เป็นกลาง
    คือ เมื่อยินดีแล้ว ไม่เติมความยินดีหรือเรียกว่าไหลไปกับความยินดีอีก
    หรือ เมื่อยินร้ายแล้ว ไม่เติมความยินร้ายหรือเรียกว่าไหลไปกับความยินร้ายอีก


    สภาวะที่รู้เท่าทันเมื่อไร มันจึงจะรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง
    ผลงานด้วยใจที่เป็นกลางตรงนี้ คือจุดเริ่มต้นของการเดินวิปัสนา



    " 1 รู้ว่า สิ่งที่รู้เป็นเพียง รูปธรรม นามธรรม
    2 รู้ว่า รูปธรรม นามธรรม เกิดดับตามเหตุ ตามปัจจัย
    3 รู้ว่า รูป-นาม นั้นเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
    4 รู้แล้ว ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
    5 รู้แล้ว ละความยึดมั่นในธรรมทั้งปวง "
    ลักษณะข้างต้นนี้ 1 2 3 4 5 เป็นการอธิบายผลงานไม่ใช่การสร้างเหตุ
    ในการสร้างเหตุหากเป็นการเติมบัญญัติเข้าไป
    จะทำให้เคลื่อนจากการหยุดอยู่ที่รู้
    หรือเรียกว่า รู้เฉยๆ
    หากบัญญัติตามเมื่อไร วิปัสนาจะไม่เดิน

    หากรู้แล้วยังต้องมาตั้งใจละ ยังเรียกว่ายังรู้ไม่จริงต้องฝึกไปอีก
    หากรู้จริงเมื่อไร มันละพร้อมรู้จริงเสมอ
    หรือจะเรียกว่า "รู้เท่าทัน"
     
  6. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +4,065

    อันนี้หนักกว่า..จขกท.นะท่านnew..
    หากผมทำได้ดังพี่ปราบว่ามา.. ผมจะไม่มานั่งจิ้มแป้นอยู่นี่หลอก ไปเที่ยวป่า หิมพานต์ดิก่า..คิคิ อิอิ(k)
     
  7. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,342
    ค่าพลัง:
    +6,849
    ฮั๊ดเช๊ยยย

    จะไปภาวนา มักกะรีผล มักกะรีผล หรือจ๊ะ ^^
     
  8. newamazing

    newamazing เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,704
    ค่าพลัง:
    +1,381
    เยอะงะ ครึ่งเดียวได้ป่าว
     
  9. MindSoul1

    MindSoul1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2012
    โพสต์:
    295
    ค่าพลัง:
    +496
    อย่างนี้ต้องเปลี่ยนมีดเป็นดาบได้แล้วนะคะเนี่ยยยย อิอิอิ

    [​IMG]

    [​IMG]
     
  10. MindSoul1

    MindSoul1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2012
    โพสต์:
    295
    ค่าพลัง:
    +496
    ไปวิจัยชีวิตสัตว์ป่า (รูป-นาม)
    ไปแอบดูความเป็นไปของสัตว์ป่า (รูป-นาม) อิอิอิ
     
  11. อินทรบุตร

    อินทรบุตร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +7,320
    เข้าใจในประเด็นนี้ดีครับ

    แต่การจะให้เข้าไปเจอ "รู้" เลย กับผู้ที่ไม่ได้มีพื้นฐานปฏิบัติมาเลย ออกจะเป็นเรื่องยากสักนิดหนึ่ง

    อีกทั้ง ผู้ที่ยังเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ ยังไม่เกิดการเบื่อหน่ายในอารมณ์ ย่อมยากที่จะสลัดออกจากอิทธิพลของอารมณ์ต่างๆ เพื่อกลับมาอยู่กับ "รู้"

    ดังนั้น จริงๆ แล้ว ตัวอย่างการเจริญสตินี้ ก็เป็นในชั้นเบื้องต้น

    แต่เป็นสิ่งที่ปุถุชนส่วนใหญ่ หยิบจับนำไปใช้ได้ทันที เมื่อตามดูเนืองๆ ถึงแม้จะเจือปนด้วยความคิดปรุงค่อนข้างเยอะ แต่จะทำให้เห็นถึงความน่าเบื่อของอารมณ์ต่างๆ มากขึ้น เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ก็จะพร้อมเข้าสู่การ "รู้" เฉยๆ แบบไม่ปรุงต่อไปครับ
     
  12. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,342
    ค่าพลัง:
    +6,849
    กระบี่อิงฟ้า กับ ดาบก้นครัว
     
  13. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,342
    ค่าพลัง:
    +6,849

    การรู้เฉยๆ เป็นเบื้องต้นที่ไปได้ถึงปลายเลยครับ
    ขอเพียงรู้เฉยๆ
    เรียกหยาบๆ ก็คือกายไหวให้รู้

    อย่างบทข้างต้นที่พรรณามา

    บทย่อขึ้นมาก็คือ กายไหวกายเคลื่อน ใช้ อิริยาบทของกายเป็นเครื่องฝึกสติ
    ไม่ต่างจากการรู้ลมหายใจเข้าออก

    พอมาบท ที่มียินดี ยินร้าย เมื่อมีผัสสะ
    จะเข้ามาที่เวทนา ก็ใช้ได้ตลอดสายเลย

    การจะดูไปถึงจิต(ผู้รู้)ได้ ย่อมต้องผ่านสิ่งรอบๆจิต อารมณ์จิตพวกนี้อยู่แล้ว
    จะมีสมาธิไปในตัว ในการเริ่มฝึกตลอดสาย


    ส่วนข้างล่างนี้ยกมาอีกทีเพื่อบอกว่า
    ไม่เป็นวิธีในการฝึกเดินมรรคเป็นแต่เพียงผลงาน
    ที่อ่านเล่นๆได้ แต่เวลาลาฝึก ต้องโยนทิ้ง

    " 1 รู้ว่า สิ่งที่รู้เป็นเพียง รูปธรรม นามธรรม
    2 รู้ว่า รูปธรรม นามธรรม เกิดดับตามเหตุ ตามปัจจัย
    3 รู้ว่า รูป-นาม นั้นเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
    4 รู้แล้ว ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
    5 รู้แล้ว ละความยึดมั่นในธรรมทั้งปวง "
    ลักษณะข้างต้นนี้ 1 2 3 4 5 เป็นการอธิบายผลงานไม่ใช่การสร้างเหตุ
    ในการสร้างเหตุหากเป็นการเติมบัญญัติเข้าไป
    จะทำให้เคลื่อนจากการหยุดอยู่ที่รู้
    หรือเรียกว่า รู้เฉยๆ
    หากบัญญัติตามเมื่อไร วิปัสนาจะไม่เดิน
     

แชร์หน้านี้

Loading...