ตามรอยสมเด็จเจ้าฟ้าเผยแผ่พระไตรปิฎก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย :::เพชร:::, 30 มกราคม 2008.

  1. :::เพชร:::

    :::เพชร::: เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    8,584
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +36,137
    ตามรอยสมเด็จเจ้าฟ้าเผยแผ่พระไตรปิฎก



    <CENTER>
    บทความ เกี่ยวกับ สมเด็จพระพี่นางฯ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ในพระกรณียกิจสำคัญด้านพุทธศาสนา ซึ่ง สมเด็จพระพี่นางฯ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐาน พระไตรปิฏก ฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก แก่นานาประเทศ

    [​IMG]
    พระกรณียกิจสำคัญด้านพุทธศาสนาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คือ ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก แก่นานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎกบาฬี อักษรสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบรมอัยกาธิราชของพระองค์ เมื่อ 114 ปีก่อน

    สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระกรณียกิจสำคัญด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาด้วยการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลสู่โลก โดย "มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์" ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นประธานก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ และ "กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ" ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกในนานาประเทศ ร่วมกันจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อเผยแผ่พระไตรปิฎกฉบับสากล ภาษาโรมัน ชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม ชุดแรกของโลกขึ้น

    ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จจาริกสู่ศรีลังกาตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา เพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกสากลชุดปฐมฤกษ์ของโลก อันเป็นการเผยแผ่พระธัมมทานตามรอยพระไตรปิฎก ฉบับ "จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ.112" อักษรสยามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่สถาบันสำคัญต่างๆ กว่า 260 แห่งทั่วโลกใน 30 ประเทศ เมื่อศตวรรษที่แล้ว

    "...ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า เป็นเกียรติพิเศษยิ่งใหญ่ที่ในบรรดาประมุขผู้นำประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้รับมอบพระไตรปิฎกชุดแรกนี้ และข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มปีติที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จจาริกสู่ประเทศศรีลังกา เพื่อพระราชทานพระไตรปิฎก ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน..." สาส์นจาก จันทริกา บันดาราไนยเก กุมาราตุงคะ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา กราบทูลเชิญเสด็จเพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกสากล

    พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน 1 ชุด มี 40 เล่ม พระราชทานแก่สถาบันสำคัญทั่วโลกรวม 1,000 ชุด ถือเป็นพระไตรปิฎกบาฬี อักษรโรมัน ชุดที่สมบูรณ์ชุดแรกของโลก เป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติที่สืบทอดมากว่า 2,500 ปี อันเป็นผลมาจากการประชุมสังคายนาสากลของพระสงฆ์ 2,500 รูป ระดับนานาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2500 และมีการตรวจทานใหม่-จัดพิมพ์เป็นอักษรโรมันในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้เสด็จไปทรงร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับนี้ โดยใช้เวลาถึง 6 ปี ในการจัดพิมพ์ เพื่อเป็นธัมมทานอันเป็นการสืบสานบวรพุทธศาสนา ตามพระราชศรัทธาในสมเด็จพระปิยมหาราช

    "พระไตรปิฎก" เป็นคัมภีร์รวบรวมพระพุทธวจนะอันเป็นคำสอนแสดงธัมมะเพื่อดับทุกข์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จำแนกออกเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธัมมปิฎก มีพระธัมมขันธ์ 84,000 พระธัมมขันธ์ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกาลสมัยใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพานว่า "ดูกรอานนท์ ธัมมะ และวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธัมมะและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป"

    สาระสำคัญของพระไตรปิฎกบาฬีฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500 พิมพ์เป็นอักษรโรมันแล้วเสร็จครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งใน 1 ชุด มี 40 เล่ม โดยสันปกแบ่งสีของเนื้อหาพระไตรปิฎก ดังนี้ พระวินัยปิฎก สันปกสีส้ม, พระสุตตันตปิฎก สันสีเขียว พระสุตตันปิฎก เนตติเปฏโกปเทสปาฬิ และมิลินทปัญหาปาฬิ สันปกสีขาว และพระอภิธัมมปิฎก สันปกสีน้ำเงิน

    "พระวินัยปิฎก" เป็นการประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือ พุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ ส่วน "พระสุตตันตปิฎก" เป็นการประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธัมมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธัมม์ต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่าและเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 5 นิกาย

    "พระสุตตันปิฎก เนตติ-เปฏโกปเทสปาฬิ" เป็นคัมภีร์ที่รองรับและรักษาความเข้าใจในพยัญชนะ อรรถ ของพระไตรปิฎกบาฬีไว้ให้ถูกต้อง ส่วน "มิลินทปัญหาปาฬิ" เป็นคัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นการถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาสาระในพระไตรปิฎก ระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระอรหันต์นาคเสนเถระ และ "พระอภิธัมมปิฎก" เป็นประมวลพุทธพจน์หมวดอภิธัมม์ คือ หลักธัมม์และคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์

    อย่างไรก็ตามตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญบุญกิริยาตามรอยพระไตรปิฎกบาฬี อักษรสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และพระราชทานไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลกเช่นเดียวกัน

    "...ขอหวังว่า พระไตรปิฎกศึกษานานาชาติในสถาบันสำคัญทั่วโลกนี้ จักให้ความรู้และความเข้าใจใหม่แก่โลกปัจจุบัน ช่วยเสริมสร้างความรู้ในวิทยาการทั้งหลาย ให้ลึกซึ้งสู่หลักธัมมะในพระไตรปิฎก และบูรณาการเป็นฐานปัญญาเพื่อสันติสุขและมั่นคงในโลกต่อไป..." ส่วนหนึ่งของพระดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากหนังสือพระไตรปิฎกสากล : อารยธรรมทางปัญญา นำสันติสุขและความมั่นคงสู่โลก ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก ในพิธีสมโภชและพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ประธานศาลฎีกา สำหรับประดิษฐาน ณ ศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

    เสด็จจาริกพระราชทานพระไตรปิฎกสากล

    ในปี พ.ศ. 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จจาริกพระราชทานพระไตรปิฎกสากลฉบับปฐมฤกษ์ ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา โดยพระราชทานพระไตรปิฎกแก่ประธานาธิบดีแห่งประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 จากนั้นได้พระราชทานพระไตรปิฎกสากล แก่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 และพระราชทานพระไตรปิฎกสากลเพื่อประดิษฐานคู่กับพระไตรปิฎกฉบับอักษรสยาม ณ หอสมุดคาโรลีน่า เรดิวีว่า มหาวิทยาลัยอุปซาลา ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548

    ต่อมาปี พ.ศ. 2549 ได้พระราชทานพระไตรปิฎกสากล แก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ณ รัฐสภาแห่งศรีลังกา กรุงโคลัมโบ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 จากนั้นปี พ.ศ. 2550 พระราชทานพระไตรปิฎกสากล แก่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร วันที่ 6 มีนาคม 2550 พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ นครโอซากาและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 8 เมษายน และ 15 กันยายน 2550 พระราชทานพระไตรปิฎกสากล แก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เนเธอร์แลนด์ และสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย

    "ดังที่เราได้ทราบว่าพระไตรปิฎกสากลเป็นของพระราชทาน เพื่อปัญญาและสันติสุขจากประชาชนชาวไทย ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักด้านตุลาการขององค์การสหประชาชาติ ได้อุทิศการทำงานเพื่อเหตุแห่งสันติภาพ ความคิดในการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำเนิดขึ้นเมื่อ 100 ปีมาแล้ว จากการประชุมสันติภาพแห่งกรุงเฮก ความปรารถนาของนานาชาติคือความต้องการนำข้อขัดแย้งให้ยุติอย่างสันติแทนการก่อสงครามระหว่างกัน

    ภายใต้กฎบัตรแห่งสหประชาชาติศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงโดยการยุติข้อขัดแย้งทางกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เราได้ยึดมั่นที่จะป้องกันในความเคารพในกฎหมายระหว่างประเทศ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติในทางสันติสุข เราจึงมีความยินดีที่ได้รับพระราชทานสิ่งนี้แก่เราตามปณิธานดังกล่าว" คำกล่าวโดย ตุลาการรอสลิน ฮิกกิ้นส์ ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550

    ข้อมูลและภาพประกอบจาก
    [​IMG]
    </CENTER>
     
  2. manote

    manote เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มกราคม 2006
    โพสต์:
    924
    ค่าพลัง:
    +5,996
    ทราบซึ้งในพระกรุณาและพระเมตตาของพระองค์ท่านจริงๆครับ ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยยิ่งทั้งต่อการช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จย่า ในการแบ่งเบาภาระหน้าที่ ต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า รวมไปถึงเผยแผ่ธรรมะอันเป็นศานาประจำชาติเราไปสู่ทุกเขตแค้วน ดินแดนในโลกนี้ ในสถิตย์สถาพรคู่โลกตราบนานเท่านาน ขอถวายบังคมและร่วมแสดงความอาลัยต่อพระองค์ท่านด้วยเศียรเกล้าครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...