ตำนานเรื่องราวของดาว 12 นักษัตร

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 27 มกราคม 2018.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,569
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    12Birthsign.jpg
    ตำนานเรื่องราวของดาว 12 นักษัตร

    “ระบบสุริยจักรวาล” และ “โลกของเรา” เป็นองค์ประกอบที่เล็กจิ๋วขนาดเชื้อไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นรวมอยู่ภายในโครงสร้างของ“ระบบดาราจักรทางช้างเผือก” และยังมี “ดาราจักรเพื่อนบ้าน” ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างอยู่อีกราว 30 ดาราจักร รวมเรียกว่า “กระจุกดาราจักรท้องถิ่น” (Local Group) ไกลออกไปจาก กระจุกดาราจักรท้องถิ่น ยังมีดาราจักรอื่นอีกมากมาย นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดใหญ่ส่องออกไปนอกขอบเขตดาราจักรทางช้างเผือก คาดหมายว่ามีดาราจักรอยู่ในจักรวาลประมาณ 8 หมื่นล้านดาราจักร จึงเรียกความกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตของจักรวาลที่ประกอบด้วยดาราจักรทั้งหมดเสียใหม่ว่า “เอกภพ”(The Universal)

    008.gif




    แต่ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะว่านักดาราศาสตร์ในอดีตเกือบทุกชาติทุกภาษา แม้แต่นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีกที่โลกยกย่อง มีชื่อเสียงอยู่ในพุทธกาล เช่น ไพธากอรัส อริสตาคัสแห่งซามอส เอราโทสธีนีส ฮิบปาร์คัส อริสโตเติล จนกระทั่งถึงนักดาราศาสตร์ยุคสุดท้ายของกรีกได้แก่ “คลอดิอุส ปโตเลมี” ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ใน พ.ศ.687 เป็นผู้เขียนแผนที่การเดินเรือระหว่าง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มายังเมืองท่าอเล็กซานเดรีย ทางตอนใต้ของประเทศอียิปต์ ข้ามทะเลทรายซีไนลงสู่ทะเลแดง ผ่านประเทศอาหรับ อินเดีย แหลมทอง ไปสิ้นสุดการเดินทางที่ประเทศจีน ที่เรียกกันว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” หรือว่าเป็นแผนที่โลกฉบับเก่าแก่ที่สุด นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีกคนนี้ ได้รวบรวมวิชาความรู้ทางดาราศาสตร์ในอดีตไว้ ตำราดาราศาสตร์ชุดใหญ่มีจำนวน 13 เล่ม รวมเรียกชื่อว่าคัมภีร์ “แอลมาเกสท์” (Almagest) รวมทั้งนักดาราศาสตร์ชาติอื่นอีกมากมาย ก็ไม่เคยมีใครมีความรู้ในเรื่อง “ดาราจักรทางช้างเผือก” และ “ดาว 12 นักษัตร” มาก่อนเลย คงมีแต่โหราจารย์ชาวอินเดียใน “ยุคพระเวท” เท่านั้นที่กล่าวถึง “ระบบดาราจักรทางช้างเผือก”ที่ทอแสงระยิบระยับวับวาวยาวเหยียดไปในท้องฟ้า จนนักกวีโบราณกล่าวเปรียบเปรยอุปมาว่าดุจดัง “เชือกดาว” ที่ขึงพาดผ่านท้องฟ้าในยามค่ำคืน เฝ้าศึกษาสังเกตติดตามเรียนรู้จนกระทั่งค้นพบความลับแห่งห้วงเวหาว่า“ดาว 12 นักษัตร” เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่รวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งนักดาราศาสตร์ยุคใหม่เรียกว่า “กระจุกดาราจักร” (Cluster) ตั้งอยู่ในห่างไกลกัน แต่อยู่รวมกันเป็น “กระจุกดาราจักรยวดยิ่ง” (Super Cluster) ซึ่งรวมอยู่ในโครงข่ายแห่งหนึ่งของ “ดาราจักรทางช้างเผือก”

    “ระบบสุริยจักรวาล” อันประกอบด้วยโลกของเราและดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย ต้องโคจรจากกลุ่มดาวนักษัตรหนึ่งไปยังอีกกลุ่มดาวนักษัตรหนึ่ง ใช้เวลาเท่ากับโลกของเราโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบพอดี เรียกว่า 1 ปีนักษัตร เท่ากับ 365.25636042 วัน หรือในราว 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที 9.5 วินาที นักโหราศาสตร์เห็นว่า เวลาของปีนักษัตรจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตรา 0.01 วินาที และเชื่อว่า “ดาว 12 นักษัตร” มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อ โลก ธรรมชาติ และมวลชีวิตทั้งหลายในโลก จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ สำหรับใช้ในการคิดคำนวณไว้ใน “คัมภีร์โชติยศาสตร์” และ “คัมภีร์สุริยาตร” ดังจะเห็นได้จากการกำหนดให้ “ดาวนักษัตร” เป็นดาวประจำปี “ปีนักษัตร”

    ประวัติพุทธศาสนาของจีนจดบันทึกว่า ภิกษุต่างชาติรูปหนึ่งมีชื่อว่า “พระกุมารชีพ” ได้นำพุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 ชาวจีนส่วนใหญ่ได้หันไปนับถือพุทธศาสนามากขึ้น ภิกษุนักจาริกชาวจีนในยุคต่อมา เช่น หลวงจีนฟาเหียน หลวงจีนถังซำจั๋ง หลวงจีนอี้จิง ได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ “มหาวิทยาลัยนาลันทา” ในประเทศอินเดีย จากบันทึกของ หลวงจีนอี้จิง ทำให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยนาลันทามีการสั่งสอนวิชาดาราศาสตร์ โดยสร้างท้องฟ้าจำลองเหมือนดังโครงการที่แท้จริงของจักรวาล เพื่อให้นักศึกษาค้นคว้าจนสามารถคิดคำนวณการโคจรของดวงดาวได้ถูกต้องแม่นยำ สามารถสร้างปฏิทินทั้งในทาง “สุริยคติ” และ “จันทรคติ” ได้อย่างสมบูรณ์ หลวงจีนอี้จิง ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระจักรพรรดิถังไทจง พระองค์ทรงโปรดให้ยึดถือเป็นปฏิทินของทางราชสำนัก มีหลักฐานว่า หลวงจีนอี้จิง ได้นำความรู้วิชาดาราศาสตร์เกี่ยวกับ “ดาว 12 นักษัตร” จากมหาวิทยาลัยนานลันทาไปเผยแพร่ในประเทศจีนมาตั้งแต่พุทธศักราชที่ 12 ทำให้ชาวจีนมีความรู้เกี่ยวกับ “ดาว 12 นักษัตร” นำไปใช้ในการพยากรณ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้

    “ดาว 12 นักษัตร” เป็นกลุ่มดาวฤกษ์จำนวน 12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มตั้งอยู่ในระยะทางห่างกันประมาณ 1 ปีนักษัตร หรือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที 9.5 วินาที ด้วยความเร็วของดวงอาทิตย์ที่โคจรไปรอบศูนย์กลางของ ดาราจักรทางช้างเผือก ในอัตราเฉลี่ย ประมาณ 220 กิโลเมตร ต่อ 1 วินาที หรือในราว 13,200 กิโลเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง เท่ากับความเร็วของโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ กลุ่มดาว 12 นักษัตรแต่ละกลุ่มโหราจารย์ในอดีตจินตนาการมองเห็นเป็นรูปสัตว์ 12 ชนิด คล้ายกับสัตว์ที่มีอยู่ในโลก ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับกลุ่มดาวฤกษ์จำนวน 27 กลุ่ม ที่เรียงรายติดต่อกันไปในจักรราศี ซึ่งนักโหราศาสตร์ เรียกว่า “ฤกษ์บน” หรือ“นภดลฤกษ์” จินตนาการมองเห็นเป็น คน รูปสัตว์ รูปเครื่องมือ เครื่องใช้ของมนุษย์ ถือว่าเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำอยู่ในราศีต่างๆ 12 ราศี มองเห็นเหมือนดังว่าไม่เคลื่อนที่ไปไหนเลย นักดาราศาสตร์เรียกว่า “ดาวฤกษ์ประจำที่” (Fix Star) แต่ตามความเป็นจริงกลุ่มดาวฤกษ์ดังกล่าวนี้ เคลื่อนที่ไปตลอดเวลาอย่างเชื่องช้ามาก เพราะอยู่ห่างไกลจากโลกของเราเหลือเกิน จึงกำหนดให้เป็น “ดาวประจำเดือน” โดยขนานนามไปตามรูปสัญลักษณ์ของดาวฤกษ์นั้น เช่น กลุ่มดาวฤกษ์ที่มีรูปลักษณ์เหมือนปู เรียกว่า เดือนกรกฏาคม กลุ่มดาวฤกษ์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายแมงป่อง เรียกว่า เดือนพฤศจิกายน กลุ่มดาวฤกษ์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายมังกร เรียกว่า เดือนมกราคม ดังนี้เป็นต้น

    e0b899e0b8b1e0b881e0b8a9e0b8b1e0b895e0b8a3-e0b888e0b8b5e0b899.jpg

    การโคจรของ “ดาว 12 นักษัตร” และ “ดาวพระเคราะห์”เคลื่อนที่ไปในจักรราศีผ่านกลุ่ม “ดาวฤกษ์ประจำที่” ในราศีต่างๆ 12 ราศี แตกต่างกัน คือ “ดาว 12 นักษัตร” โคจรไปแบบตามเข็มนาฬิกา หรือโคจรเวียนจากทางขวามือไปทางซ้ายมือ แต่ดาวพระเคราะห์โคจรไปในแบบทวนเข็มนาฬิกา คือโคจรจากทางซ้ายมือไปทางขวามือในแบบสวนทางกัน โหราจารย์จึงกำหนดให้ “ดาว 12 นักษัตร” สถิตในรูปวงกลมของจักรราศีซ้อนทับกัน “กลุ่มดาวฤกษ์ประจำเดือน” และ “ดาวพระเคราะห์ ดังนี้

    1. “นักษัตรชวด” เป็นรูปหนู สถิตใน“ราศีกรกฏ” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวจันทร์ เป็นรูปปู
    2. “นักษัตรฉลู” เป็นรูปวัว สถิตใน“ราศีมิถุนา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวพุธ เป็นรูปคนคู่ชายหญิง
    3. “นักษัตรขาล” เป็นรูปเสือ สถิตใน“ราศีพฤษภา” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวศุกร์ เป็นรูปวัว
    4. “นักษัตรเถาะ” เป็นรูปกระต่าย สถิตใน“ราศีเมษา” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวอังคาร เป็นรูปแพะแกะ
    5. “นักษัตรมะโรง” เป็นรูปพระยานาค สถิตใน“ราศีมีนา” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวพฤหัสบดี เป็นรูปปลา
    6. “นักษัตรมะเส็ง” เป็นรูปงูเล็ก สถิตใน“ราศีกุมภา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวราหู เป็นรูปคนโทน้ำทิพย์
    7. “นักษัตรมะเมีย” เป็นรูปม้า สถิตใน“ราศีมังกร” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวเสาร์ เป็นรูปมังกร
    8. “นักษัตรมะแม” เป็นรูปแพะ สถิตใน“ราศีธนู” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวพฤหัสบดี เป็นรูปคนยิงธนู
    9. “นักษัตรวอก” เป็นรูปลิง สถิตใน“ราศีพิจิก” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวอังคาร เป็นรูปลิง
    10. “นักษัตรระกา” เป็นรูปไก่ สถิตใน“ราศีตุลา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวศุกร์ เป็นรูปคันชั่ง
    11. “นักษัตรจอ” เป็นรูปสุนัข สถิตใน“ราศีกันยา” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวพุธ เป็นรูปหญิงงาม
    12.“นักษัตรกุน” เป็นรูปสุกร สถิตใน “ราศีสิงหา” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวอาทิตย์ เป็นรูปสิงโต

    สาเหตุที่โหราจารย์ชาวอารยันค้นพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มดาวฤกษ์ “ดาว 12 นักษัตร” ซึ่งเป็น “ดาวประจำปี” และ“ดาวฤกษ์ประจำราศี” ซึ่งเป็น “ดาวประจำเดือน” สันนิษฐานว่ามาจาก ความพยายามเฝ้าติดตามศึกษาความเคลื่อนไหวของดวงดาวที่โคจรไปในท้องฟ้า ซึ่งเป็นรูปทรงกลม เรียกว่า “รูปทรงกลมฟ้า”หรือ “จักรราศี” โดยสังเกตจากการโคจรของ ดวงอาทิตย์ เคลื่อนที่ไปประมาณวันละ 1 องศา คิดคำนวณเวลากลางวันได้ในราว 12 ชั่วโมง เวลากลางคืน 12 ชั่วโมง รวมเวลา 1 วันเป็น 24 ชั่วโมง จึงแบ่งวงกลมแห่งจักรราศีออกเป็น 12 ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า “ราศี” โดยตั้งชื่อราศีไปตามลักษณะของรูปกลุ่มดาวฤกษ์ที่ปรากฏให้เห็นตามจินตนาการเป็น “กลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศี”หรือ “ดาวฤกษ์ประจำเดือน” จำนวน 12 เดือน แต่เมื่อ ดวงอาทิตย์ โคจรไปได้ 360 องศา หรือ 1 รอบวงกลมแห่งจักรราศีแล้ว ปรากฏว่าเวลากลางวันและเวลากลางคืนยังไม่เท่ากัน คือเวลากลางวันอาจยาวเกินไป หรือเวลากลางคืนยังยาวเกินไป ต้องรอคอยให้วันเวลาล่วงไปกว่า 365 วันคือ ดวงอาทิตย์โคจรไปใน ราศีเมษายน ได้ประมาณ 13 องศา เวลากลางวันและเวลากลางคืนจะเท่ากันพอดี นับจากจุดที่วันเวลาในโลกเท่ากันพอดี “ฤดูกาล” ในโลกจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง เช่น จากจุด 0 องศาในราศีเมษ เป็นช่วงเริ่มต้น “ฤดูฝน” เวลากลางวันจะเริ่มสั้นลงไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เวลากลางคืนจะยาวมากขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 15 องศา ในราศีตุลาคม เวลากลางวันและเวลากลางคืนจะเท่ากันพอดีอีกครั้งหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “ฤดูหนาว” เมื่อลากเส้นจากกึ่งกลางราศีเมษายนตรงไปยังกึ่งกลางราศีตุลาคม เป็นเส้นแบ่งครึ่งวงกลมในรูปแนวตั้ง เส้นผ่าศูนย์กลางนั้นจึงเป็นแกนกลางของวงกลมแห่งจักรราศี

    จึงทำให้รู้แน่นอนว่าดวงอาทิตย์โคจรไปในรูปวงรีเกินรัศมี 360 องศา จำต้องเป็น ขยาย “รูปวงกลมแห่งจักรราศี” ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงสอดคล้องกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้น ณ. 0 องศา ในราศีเมษายน ไปสิ้นสุด 360 องศา ณ. 0 องศา ในราศีเมษายนดังเดิม โดยเพิ่มวันเวลาในบางราศีให้มากขึ้นเป็น 31 วันบ้าง ลดวันเวลาในบางราศีลงให้เหลือ 27 วันบ้าง 29 วันบ้าง เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 365.25636042 วัน ถือว่าเป็นวันที่ ดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 1 รอบจักรราศี เรียกว่า “1 ปีสุริยาตร” จึงกำหนดให้จุดบรรจบที่ 0 องศาในราศีเมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบปีสุริยาตร เป็นจุดสำคัญในวันสิ้นสุดปีเก่าและเป็นจุดเริ่มต้นปีใหม่ โหราจารย์เรียกจุดสำคัญนั้นว่า “สงกรานต์” แปลว่า เวลาที่พระอาทิตย์ทอแสงขึ้นที่จุด 0 องศาในราศีเมษายน และกำลังจะโคจรผ่านจุดนั้นไป

    001.png

    ตรงจุดบรรจบที่ 0 องศาในราศีเมษายนของทุกวันครบรอบปี คิดคำนวณการโคจรของดวงอาทิตย์นับได้ 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที 9.5 วินาที นอกจาเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของธรรมชาติหลายประการดังกล่าวแล้ว ยังบังเกิดปรากฏการณ์อันน่าพิศวงขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่เป็นวันเวลาสิ้นสุดปีเก่ากำลังจะเริ่มต้นปีใหม่นั้น ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของ “ดาว 12 นักษัตร” จากดาวนักษัตรหนึ่งไปยังอีกดาวนักษัตรหนึ่งอย่างบังเอิญที่สุดทุกครั้ง โหราจารย์จึงกำหนดให้นับการโคจรของดวงอาทิตย์ที่โคจรครบรอบจักรราศี หรือ “1 ปีสุริยาตร” ว่าเป็น “1 ปีนักษัตร” ด้วยเหตุนี้“ดาว 12 นักษัตร” จึงกลายเป็น “นามปี” ซึ่งมีอยู่แต่เฉพาะในวิชาโหราศาสตร์ไทยเรียกกันว่า “ปีนักษัตร”



    ตำนาน-จีน 12 นักษัตร แบบที่ 1

    เป็นตำนานที่เล่าขานกันมาช้านานตั้งแต่โบราณกาลของจีน เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพเจ้าพูดกับสัตว์ทั้งหลายว่า “ใกล้ปีใหม่แล้ว รุ่งเช้าวันชิวอิก ( คือ วันที่ 1 เดือนอ้ายตามจันทรคติของจีน) เชิญพวกเจ้ามาอวยพรปีใหม่ ข้าจะกำหนด 12 นักษัตรตามลำดับ ใครมาถึงก่อนก็เป็นอันดับที่ 1 ถึง 12 ตั้งแต่นี้ไป ในแต่ละปีก็จะมีสัตว์ 1 ตัวเป็นนักษัตร” สัตว์ทั้งหลายต่างจดจำวันดังกล่าวไว้ได้อย่างแม่นยำ มีแต่แมวขี้เกียจเท่านั้นที่จำไม่ได้จึงไปถามหนู เจ้าหนูหลอกแมวว่า “เป็นวันชิวยี่จ๊ะ ( วันที่ 2 เดือนอ้าย ) ”

    ซึ่งวันส่งท้ายปีเก่ามาถึงอย่างรวดเร็ว เจ้าวัวรู้ตัวว่าเดินช้า จึงออกเดินท่างตั้งแต่เที่ยงคืน พอเจ้าหนูเห็น ก็เลยกระโดดขึ้นหลังวัว เมื่อมาถึงเช้าวันชิวอิก วัวก็เดินทางไปถึงก่อนใครๆ และเมื่อวัวส่งเสียงเรียก เทพเจ้าก็ออกมาเปิดประตูให้ เจ้าหนูรีบกระโดดลงมาจากหลังวัวและวิ่งไปหาเทพเจ้า “เจ้าหนู ยินดีต้อนรับ เจ้ามาถึงเช้าที่สุด นักษัตรที่ 1 คือเจ้า”

    ด้วยเหตุนี้ หนู (ชวด) ถึงถูกจัดให้อยู่เป็นอันดับแรกของนักษัตร วัว (ฉลู) อยู่ในอันดับ 2 แล้วตามด้วยเสือ (ขาล) กระต่าย (เถาะ) มังกร (มะโรง) งู (มะเส็ง) ม้า (มะเมีย) แพะ (มะแม) ลิง (วอก) ไก่ (ระกา) สุนัข (จอ) และหมู (กุน)

    ในวันที่ 2 เจ้าแมวจึงตามมา แต่ก็สายไปแล้ว เพราะถูกหนูหลอก จึงแค้นใจมาก นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อแมวเห็นหนูก็จะไล่จับทันที เทพเจ้าก็เลยสั่งให้เจ้าหนูหลบซ่อนในถ้ำหรือซอกรูเล็กๆ ตั้งแต่นั้นมา นี่เป็นตำนานเกี่ยวกับ 12 นักษัตรในจีน

    ตำนาน-จีน 12 นักษัตร แบบที่ 2

    เรื่องของปีนักษัตร ตามตำนานจีนบอกว่าเกิดจากดำริของเง็กเซียนฮ่องเต้ ที่จะตั้งสัตว์ต่าง ๆ เป็นเจ้าของปี จึงให้สัตว์ต่าง ๆ ว่ายข้ามน้ำมารายงานตัว ใครถึงก่อนได้ปีก่อนตามลำดับตอนนั้น

    หนูกับแมวเป็นเพื่อนรักกัน แต่เป็นสัตว์สองชนิดที่ว่ายน้ำได้แย่ที่สุด แต่ทั้งหนูและแมวก็มีความฉลาดทั้งคู่ เลยร่วมกันทำความตกลงกับวัว ว่าขอเกาะหลังวัวไป วัวซึ่งแข็งแรงและมีใจอารีอยู่แล้วก็ตกลง แต่พอใกล้จะถึงฝั่ง หนูกลับคิดอยากจะได้ตำแหน่งที่หนึ่งให้ได้ จึงวางแผนเตะแมวตกน้ำไป เพื่อกำจัดคู่แข่ง และเมื่อใกล้ถึงฝั่ง หนูก็รีบกระโดดจากหลังวัวขึ้นสู่ฝั่งเป็นตัวแรก จึงได้เป็นนักษัตรลำดับแรก ตามด้วยวัวซึ่งขึ้นฝั่งตามมา กลายเป็นนักษัตรที่สอง ถัดจากวัว ก็เป็นเสือที่หอบแฮ่ก ๆ ขึ้นฝั่ง โดยอธิบายว่า ขณะข้ามน้ำมา โดนน้ำซัดปลิวไป ต้องลุยน้ำกลับมาใหม่ จึงมาถึงช้ากว่ากำหนด เสือจึงได้ตำแหน่งนักษัตรที่สาม จากนั้น กระต่ายก็ตามมาถึง โดยเล่าให้ฟังว่า ทีแรกก็กระโจนตามโขดหินมาเรื่อย ๆ แต่พอถึงกลางน้ำก็ไปต่อไม่ได้ โชคดีที่มีขอนไม้ลอยมา เลยเกาะขอนไม้เข้าสู่ฝั่งได้ กลายเป็นนักษัตรที่สี่ อันดับห้าที่มาถึงเป็นมังกร ซึ่งน่าสงสัยว่าสัตว์ที่เหินฟ้าได้อย่างมังกร ทำไมมาถึงตั้งอันดับห้า เง็กเซียนฮ่องเต้ถามแล้ว มังกรก็ตอบว่า ตนต้องหยุดให้น้ำฝนกับชาวบ้านก่อน จึงล่าช้าไปบ้าง และเมื่อมาถึงกลางทาง ได้เห็นกระต่ายเกาะขอนไม้โดนน้ำซัดไปอีกทางหนึ่ง จึงได้ช่วยเป่าลมอยู่ข้างหลังเพื่อพากระต่ายเข้าสู่ฝั่งด้วย เง็กเซียนฮ่องเต้ได้ฟังก็ชื่นชมในน้ำใจของมังกรมาก และให้ตำแหน่งนักษัตรที่ห้าตามกติกาหลังจากนั้นก็มีเสียงม้าร้องมาแต่ไกล แต่ก่อนที่ม้าจะถึงฝั่ง ปรากฏว่ามีงูซึ่งซ่อนตัวอยู่ในกีบม้าโผล่ออกมา ทำให้ม้าตกใจเสียหลักล้มลง งูจึงขึ้นฝั่งก่อนและได้เป็นนักษัตรที่หก ตามด้วยม้าเป็นนักษัตรที่เจ็ดไกลออกไป มีกลุ่มสัตว์สามตัวขึ้นฝั่งมาด้วยกัน คือแพะ ลิง และไก่ ทั้งสามช่วยกันข้ามน้ำมา โดยไก่เป็นคนเจอแพ แล้วพาแพะกับลิงขึ้นแพมาด้วยกัน ทั้งแพะทั้งลิงช่วยกันกวาดสาหร่ายและถ่อแพมาจนถึงฝั่ง เง็กเซียนฮ่องเต้จึงให้ตำแหน่งนักษัตรแก่สัตว์ทั้งสาม โดยให้แพะเป็นอันดับแปด ลิงเป็นอันดับเก้า และไก่เป็นอันดับสิบจากนั้นหมาก็ขึ้นฝั่งตามมา เป็นอีกครั้งที่เง็กเซียนฮ่องเต้สงสัย ว่าทำไมสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่งอย่างหมาถึงมาถึงช้าได้ขนาดนี้ หมาตอบว่า เป็นพราะตนมัวแต่อาบน้ำเพลินอยู่ อีกทั้งน้ำก็ใสเย็นชื่นใจเหลือเกิน ก็เลยเล่นน้ำต่อสบายใจ จนเกือบจะมาไม่ถึงฝั่งเสียแล้ว หมาก็ได้ตำแหน่งนักษัตรอันดับสิบเอ็ดไปเย็นแล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้กำลังจะปิดรับลงทะเบียน ก็พลันได้ยินเสียงอู๊ด ๆ ของหมูที่กำลังขึ้นฝั่งมา หมูมาช้าเพราะหิวกลางทาง เลยแวะกินอาหารก่อน พอกินอิ่มก็พักงีบหลับต่ออีกต่างหาก ก่อนจะตื่นมากุลีกุจอว่ายน้ำเข้าฝั่ง หมูจึงได้ตำแหน่งนักษัตรอันดับสิบสอง แล้วเง็กเซียนฮ่องเต้ก็สั่งปิดพิธี เป็นอันว่าหมูคือนักษัตรอันดับสุดท้าย แมวซึ่งถูกหนูเตะตกน้ำและว่ายน้ำไม่คล่อง พยายามตะเกียกตะกายยังไงก็มาไม่ทัน จึงอดตำแหน่งปีนักษัตร จากนั้น แมวจึงผูกพยาบาทกับหนู และเกลียดน้ำตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    003.jpg

    เรื่องราวตำนาน ประวัติความเป็นมาของปีนักษัตร

    จุดเริ่มต้นเริ่มที่การปฏิวัติระบบปฏิทินบนแผ่นดินฮ่องเต้ จากการใช้ปฏิทินระบบสุริยคติที่คิดคำนวณวันเวลาจากวิถีทางโคจรของสุริยเทพ (ดวงอาทิตย์) มาเป็นระบบจันทรคติ ทำให้เกิดหน่วยของเวลาที่คล้ายๆกันกับที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน การจัดแบ่งหน่วยวันเวลาของจีนเป็นการผสมผสานระหว่างราศีบนหรือที่เรียกว่า กิ่งฟ้า (Heavenly Stems) ๑๐ ราศี ซึ่งประกอบด้วยตัวเลข ๑๐ ตัว กับราศีล่าง หรือก้านดิน (Earthly Stems) ๑๒ราศีประกอบด้วยตัวเลขอักษรโรมัน ๑๒ตัว (I-XII) คือ ในหนึ่งวันมี ๒๔ ชั่วโมง แต่แบ่งออกเป็นช่วง ช่วงละ ๒ ชั่วโมง ไม่ใช่ ๑ชั่วโมง และ๑๐วัน เท่ากับ ๑ สัปดาห์ ๒๙–๓๐วัน เท่ากับ ๑ เดือน (๑เดือนแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงละ ๑๕ วัน) และท้ายสุดก็คือ ๑ รอบ เท่ากับ ๑๒ ปี จะไม่มีการนับเป็นรอบทศวรรษ (๑๐ปี) หรือศตวรรษ (๑๐๐ปี) เหมือนพวกฝรั่ง โดยในแต่ละปีจะมีชื่อเรียกเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ๑๒ ชนิด เรียกว่า ๑๒ นักษัตร

    คำว่า “นักษัตร” หมายถึงชื่อรอบเวลากำหนด ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ โดยกำหนดสัตว์ ๑๒ ชนิด เป็นเครื่องหมายในแต่ละปี เริ่มจากปีชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-สุนัข กุน-หมู ประวัติตำนานของการใช้สัตว์เป็นชื่อปีเป็นเรื่องที่หาหลักฐานได้ยาก

    เรื่องสิบสองนักษัตรเป็นเรื่องที่ดึกดำบรรพ์นานมาก ตามตำนานการตั้งจุลศักราชกล่าวว่า ได้เริ่มต้นใช้จุลศักราช๑ เมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุนเอกศก ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๑๑๘๒ การที่กล่าวว่าเริ่มจุลศักราชในปีกุนนั้นแสดงว่าปีนักษัตรมีมาตั้งแต่ก่อนจุลศักราช แต่จะมีเมื่อไรไม่ทราบ

    ในหนังสือพงศาวดารไทยใหญ่ พระราชนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ในนาม ๑๒ นักษัตรข้างไทยสยามนั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์สาขามาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่เล่าเมื่อคำนวณกาลจักรมณฑลก็ไพล่ไปเลียนนามปีและนามองคสังหรณ์อย่างไทยลาว หาใช้นามปีของตนไม่ และไทยลาวน่าจะถ่ายมาจากแบบจีนอันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่ เป็นแต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน”

    ตามตำนานข้างฝ่ายจีนก็กล่าวกันไว้ต่างๆกัน มูลเหตุของสิบสองนักษัตร ถ้าจะเล่ากันตามนิทานก็ต้องว่าเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีมนุษย์ ในเรื่อง ไคเภ็ก มีกล่าวไว้ว่า

    “เทียนอ่องสีเมื่อจะมาเกิดนั้นอายฟ้าอายดิน ทั้งสองกระทบกันสัมผัสกันแล้วเกิดเป็นศิลากลมก้อนหนึ่งใหญ่ แล้วแตกแปรไปเป็นก้อนเล็กๆ อีกสิบสองก้อน เกิดเป็นคนขึ้นสิบสามคน และก้อนใหญ่นั้นคือเทียนอ่องสี เทียนอ่องสีนั้น แปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน มีสีอันขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว ตัวสูงสามตึ่งห้าเชียคือสิบสองศอกคืบ หน้านั้นมีสีนวลขาว สีปากนั้นแดงเหมือนชาด แต่คนสิบสองคนก็นับถือว่าเป็นพี่น้องกัน จึงคำนับเทียนอ่องสีเป็นฮ่องเต้ มนุษย์ก็เกิดขึ้นด้วยธรรมดานิยม อุตุนิยมอุปปาติกกำเนิดเปรียบเหมือนเขาว่าคนเกิดขึ้นในดอกไม้ดอกบัว และเกิดขึ้นด้วยอายดินอายฟ้าอากาศ เป็นรูปหญิงรูปชายขึ้น จึงเป็นพืชพันธุ์ต่อๆกันมาทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน

    ครั้งนั้นยังไม่มีเดือนมีตะวัน มนุษย์ได้พึ่งแสงสว่างด้วยรัศมีพระและเทวดามาช่วยอุปถัมภ์อยู่ ขณะนั้นก็ยังไม่มีแซ่และชื่อ แล้วก็ต่างแยกย้ายกันไปอาศัยอยู่ทุกทิศ ครั้นกาลนานมาเทียนอ่องสีฮ่องเต้เรียกน้องชายทั้งสิบสองคนเข้ามาชุมนุมแล้วจึงว่า เราจะตั้งให้มีปีสิบสองปีบรรจบเป็นรอบหนึ่ง จะให้ท่านทั้งสิบสองคนเป็นชื่อปีกำกับกันทั้งสิบสองปี น้องสิบสองคนได้ฟังพี่ชายคิดกระทำขึ้นก็มีความยินดียอมรับว่าควรแล้วต่างคนต่างไปที่อยู่ของตัวดังเก่า”

    ตามเรื่องข้างต้นเพียงแต่ว่าให้น้องทั้งสิบสองคนเป็นชื่อปี แต่ก็มิได้มีการเอ่ยถึงชื่อไว้ ต่อมาจึงบังเกิดสัตว์ประหลาดรูปร่างเหมือนม้า มีเกล็ด มีปีกตะพายหีบแดงขึ้นมาจากแม่น้ำเม่งจิ๋น มีอักษรจารึกไว้ว่า ห้อโตลกจือ เป็นตำราโหราศาสตร์ แจ้งวัน เดือนและคืน ตลอดจนมีสิบสองนักษัตร มีศก มีปีสิบสองปีเป็นรอบหนึ่งแต่ยังไม่มีชื่อเรียกปี

    ที่กล่าวมาเป็นตำนานหรือเกร็ดพงศาวดารจีนเรื่องไคเภ็ก แต่บางฉบับก็ว่าฮี่หัว ขุนนางจีนสมัยพระเจ้าอึ้งเต้ เป็นผู้แรกติดชื่อปีกับอักษรประกอบชื่อปีทำปูมขึ้นก่อน และสังข์ พัฒโนทัย ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “จีนสมัยก่อนพุทธกาล”ว่า “น่าเชื่อว่านักปราชญ์ของหวงตี้เป็นผู้ประดิษฐ์ชื่อปีนักษัตรขึ้นตามชื่อสัตว์ต่างๆ อย่างที่เราเรียกว่า ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ และกุน การที่เอาปีชวดเป็นปีแรกก็เพราะปีนั้นเป็นปีที่หวงตี้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ” ถ้าว่ากันตามที่กล่าวมานี้ การเรียกปีนักษัตรก็ต้องมีอยู่ก่อนแล้ว จึงรับเอาปีชวดมาเป็นปีแรกได้

    มีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ครั้นถึงราชวงศ์ตั้งฮั่น ตรงกับ พ.ศ.๕๖๘ ถึง ๗๖๓ ระหว่างนั้นมีนักปราชญ์คนหนึ่งชื่อ เฮ่งชง แต่งหนังสือชื่อลุ่นหวง ขึ้นเรื่องหนึ่ง ในหนังสือนั้นตอนหนึ่งว่าด้วยสิบสองนักษัตรคือเหยียดเอาชื่อปีทั้งสิบสองปีว่าเป็นชาติสัตว์สิบสองชาติ ภาษาจีนว่าดังนี้

    จื๊อซกซื้อ ชวด เป็น หนู

    ทิ้วซกหงู ฉลู เป็น วัว

    อิ๊กซกโฮ้ว ขาล เป็น เสือ

    เบ๊าซกโต่ว เถาะ เป็น กระต่าย

    สินซกเหล็ง มะโรง เป็น งูใหญ่

    จี๋ซกจั๋ว มะเส็ง เป็น งูเล็ก

    โหง๊วซกเบ๊ มะเมีย เป็น ม้า

    บี๊ซกเอี๋ย มะแม เป็น แพะ

    ซินซกเก๋า วอก เป็น ลิง

    อิ๊วซกเกย ระกา เป็น ไก่

    ซุดซกเก้า จอ เป็น สุนัข

    หัยซกตือ กุน เป็น หมู

    นี่เป็นตำนานที่กล่าวว่าได้เริ่มมีการใช้สิบสองนักษัตรในเมืองจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ตั้งฮั่นเมื่อเกือบสองพันปีมาแล้ว แต่ไม่ได้กล่าวถึงต้นเรื่องว่าทำไมจึงได้เอาสัตว์เหล่านี้มาใช้เป็นชื่อปี เมื่อไม่มีตำนานต้นเรื่องก็ต้องหาต้นเรื่องมาประกอบ มีด้วยกัน ๒ เรื่อง

    เรื่องแรกเป็นตำนานของชาวไทยลื้อ เล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งพระพรหมถูกตัดเศียร(เรื่องเดียวกับประวัตินางสงกรานต์) ลูกสาวทั้ง ๑๒ นางของพระพรหมนี้มีหน้าที่เชิญพานที่รองรับเศียรพระพรหมออกแห่ทุกปี (ในวันสงกรานต์)โดยผลัดกันปีละนางนางเหล่านี้มีพาหนะต่างกัน นางหนึ่งขี่หนู นางหนึ่งขี่วัว นางหนึ่งขี่เสือ ขี่กระต่าย ขี่พญานาค ขี่งู ขี่ม้า ขี่แพะ ขี่ลิง ขี่ไก่ ขี่สุนัข ขี่หมู ไปตามลำดับ ตามตำนานกล่าวว่าพวกไทยลื้อได้เอาพาหนะที่นางทั้งสิบสองขี่นี่แหละมาใช้เรียกเป็นชื่อปี เมื่ออ่านตามตำนานนี้แล้ว ก็คงมีคำถามว่า ทำไมจึงเอาปีชวดหรือหนูขึ้นต้น หนูเป็นสัตว์เล็กกว่าเพื่อน ทำไมจึงได้เกียรติอยู่เป็นปีแรกของรอบ มีตำนานของญี่ปุ่นและจีนอีกเรื่องหนึ่งช่วยอธิบายต่อว่า ทำไมจึงได้เอาหนูเป็นชื่อแรกของปีนักษัตร เรื่องมีดังนี้

    ตำนานแห่งปีนักษัตรเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเชิญสัตว์ต่างๆ มาร่วมงานเลี้ยงก่อนที่พระองค์จะละสังขารไปจากโลกนี้ และหากสัตว์ใดมาถึงงานเลี้ยงได้ ๑๒ตัวแรก ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตรทั้ง ๑๒ปี ปรากฏว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลายต่างพากันยินดีเป็นอย่างยิ่งและต้องการที่จะได้เป็นสัญลักษณ์ประจำปีด้วยกันทั้งนั้น จึงต่างเร่งฝีเท้ากันอย่างเต็มเหยียดเพราะต้องการไปให้ถึงงานเลี้ยงเป็นตัวแรก เพื่อจะได้รับเกียรติเป็นสัญลักษณ์ของปีเริ่มต้นของปีนักษัตร ในบรรดาสัตว์มากมายนั้น มีเจ้าหนูตัวกระจ้อยร่อยรวมอยู่ด้วย ถึงแม้มันจะเป็นเพียงสัตว์เล็กๆ แต่มันก็มีความไฝ่ฝันทะเยอทะยานอันสูงส่งที่จะมีชื่อเริ่มต้นของปีนักษัตรด้วยเหมือนกัน แต่มันก็รู้ตัวดีว่า หากมันวิ่งแข่งกับสัตว์อื่นๆ ซึ่งตัวใหญ่และมีพละกำลังมากกว่ามันแล้ว มันก็คงจะต้องกินฝุ่นจนเต็มพุง และคงจะต้องนอนแอ้งแม้งเพราะถูกสัตว์ใหญ่เหยียบเอาเป็นแน่ มันจึงใช้สมองอัจฉริยะคิดแผนการสู่ชัยชนะ เจ้าหนูได้กระโดดเกาะหางวัวใหญ่ที่กำลังวิ่งอย่างเต็มฝีเท้าผ่านหน้ามันไป และแซงหน้าสัตว์อื่นๆไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งใกล้ถึงเส้นชัย วัวหนุ่มนึกกระหยิ่มยิ้มย่องว่าชัยชนะครั้งนี้จะต้องเป็นของมันอย่างแน่นอน แต่แล้วทันใดนั้นเอง เจ้าหนูน้อยกลับกระโดดแผล็ววิ่งไปบนหลังวัวหนุ่มและถีบตัวเองลอยละลิ่วเข้าสู่เส้นชัยเป็นตัวแรกได้สำเร็จท่ามกลางความงงงวยของสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

    ปีนักษัตรจึงมีชื่อตามสัตว์ที่มาถึงงานเลี้ยงเรียงลำดับก่อนหลัง ดังนี้ หนู วัว เสือ กระต่าย มังกร(งูใหญ่) งู ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และสัตว์ตัวสุดท้ายที่วิ่งเข้าเส้นชัยก็คือ หมู นั่นเอง

    ในหนังสือโหราศาสตร์ของ Joanna Martine Woolfolk กล่าวไว้ว่า ได้มีผู้ค้นพบหลักฐานจารึกไว้ในบั้งไม้ไผ่แจ้งว่าจักรพรรดิเหยา เป็นผู้กำหนดชื่อปีทั้ง ๑๒ ปี เป็นสัตว์ ๑๒ ชนิด ส่วนต้นเหตุที่นำสัตว์เหล่านี้มาเป็นชื่อปีดังได้กล่าวมาในตอนต้นนั้น เข้าใจว่าเกิดขึ้นภายหลังเมื่อจีนรับพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ปัญหาที่ชอบถามคือเมื่อมีหนูทำไมไม่มีแมว เรื่องนี้มีคำตอบว่า แมวกำลังนอนหลับอยู่ แต่แมวไปปรากฏในชื่อปีของญวนแทนกระต่าย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่บอกก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง นำมาเล่าเป็นเรื่องสนุกๆ ที่ต้องมีนิทานขึ้นก็เพราะว่าต้นเรื่องเดิมของสิบสองนักษัตรเป็นเรื่องเก่าแก่ จนไม่มีใครทราบความจริงแล้ว ได้แต่สันนิษฐานกันไปต่างๆ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยถึงเหตุที่เอาชื่อสัตว์มาใช้เรียกเป็นชื่อปีไว้ตอนหนึ่งว่า

    “ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เอารูปสัตว์มาเป็นเครื่องหมายแทนสิ่งอื่นมีประโยชน์ให้จำสิ่งนั้นได้ง่าย ถ้าหากชื่อปีเขียนตัวอักษรและอ่านเรียกตามภาษาที่เขียน เมื่อพ้นเขตประเทศที่ใช้ตัวอักษรและภาษานั้นออกไปถึงนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวอักษรและภาษาต่างกัน ชื่อปีที่บัญญัติก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าเอารูปสัตว์ขึ้นตั้งเป็นเครื่องหมายแทนปี เช่น เอารูปหนูเป็นเครื่องหมายปีที่๑ เอารูปวัวเป็นเครื่องหมายปีที่ ๒ ประเทศอื่นๆจะเรียกหนูเรียกวัวตามภาษาของตนอย่างไรก็ตาม คงได้วิธีประดิทินสิบสองนักษัตรไปใช้ได้ตรงกันกับประเทศเดิมไม่ขัดข้อง อันวิธีที่เอารูปสัตว์เป็นเครื่องหมายยังมีที่ใช้ในเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่างจะยกพอเป็นอุทาหรณ์ ดังเช่น เทวดานพเคราะห์ ถ้าเอารูปสัตว์พาหนะออกเสีย เหลือแต่เทวรูปก็ไม่รู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน แม้ที่สุดจนพระพุทธรูป เมื่อเขียนไว้องค์เดียวก็พึงรู้ว่าเป็นพระสากยมุนี ถ้าเขียนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ก็ต้องเขียนรูปสัตว์เพิ่มเข้าไปเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าต่างพระองค์กัน ที่เอารูปสัตว์ไปใช้ในตำราดาวก็คงเป็นด้วยเหตุอันเดียวกัน อาศัยความดังบรรยายมาข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ที่เอารุปสัตว์มาใช้เป็นชื่อปีนั้น เพื่อจะให้จำได้สะดวก”

    ประเทศที่ใช้สิบสองนักษัตรนั้นมีในกลุ่มเอเชียเท่านั้น โดยมากอยู่ใกล้หรือมีความสัมพันธ์กับไทย เช่น จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี เขมร ลาว ทิเบต ไทยใหญ่ และมีบางท่านให้ความเห็นว่า การที่ใช้สิบสองนักษัตรนั้นไม่ใช่อะไรอื่น เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นพี่น้องเผ่าไทยหรือสืบเชื้อสายมาจากที่เดียวกันนั่นเอง คือพวกหนึ่งแยกไปใช้สัตว์อย่างหนึ่ง แต่บางท่านก็ว่า “ชนชาติอะไรนับถือสัตว์เหล่านี้ เห็นควรตั้งทฤษฎีว่ามี ๑๒ ชนชาติ ซึ่งหลายชนชาติเป็นไทย โดยแต่ละชนชาตินับถือสัตว์ต่างๆกัน ที่นับถือคล้ายๆกันก็มี ซึ่งสงสัยว่าในอดีตอาจเป็นพี่น้องกัน เช่น พวกนาคากับไทยหลวง (นาค) เป็นต้น เวลานี้หากคนไทยไปยืนคู่กับพวกนาคาในอินเดียแล้วดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร”

    กล่าวโดยสรุป การเรียกชื่อปีเป็นสิบสองนักษัตรมีอยู่ในประเทศต่างๆ คือ ไทย เขมร มอญ ญวน จาม(ยกเว้นพม่าไม่มีชื่อปี) ทิเบต ญี่ปุ่น จีน และมีอยู่ในจารึกภาษาโบราณของตุรกีสันนิษฐานว่า บางทีมีกำเนิดมาจากตุรกีซึ่งเป็นตาดสาขาหนึ่ง จีนคงได้มาจากตาดและที่แน่นอนก็คือ ญี่ปุ่นได้ไปจากจีนรวมทั้งเกาหลีด้วย แต่เปลี่ยนคำที่เรียกใช้เป็นภาษาของตนเอง

    การเปลี่ยนปีนักษัตรของจีนกับไทยไม่ตรงกัน ของจีนเปลี่ยนปีนักษัตรเมื่อตรุษจีนหรือขึ้นปีใหม่แบบจีน ส่วนของไทยมีต่างกันอยู่ ๒ แบบ ถ้าเป็นแบบปฏิทินไทยที่ใช้กันมาในตอนต้นรัตนโกสินทร์ก็ถือว่าสิ้นปีเก่าเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ พอถึงเดือน๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ก็เปลี่ยนปีนักษัตร แต่ยังเปลี่ยนจุลศักราช จุลศักราชจะเปลี่ยนต่อเมื่อสงกรานต์แล้ว (วันที่ ๑๖ เมษายน) เพราะตามหลักโหราศาสตร์ถือว่าการนับปีใหม่ของปีนักษัตรให้นับแต่วันใหม่ของเดือนจิตรมาสคือเดือน ๕ เป็นต้นไป การเปลี่ยนปีนักษัตรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ในปฏิทินหลวง จะเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย ขึ้น ๑ ค่ำ
    .................................... RoseUnderline.gif
    ขอบคุณที่มา :- https://khunatham.wordpress.com/2015/02/04/206/
     

แชร์หน้านี้

Loading...