ถอดบทเรียนไทย-ลาวถอดความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,123
    กระทู้เรื่องเด่น:
    348
    ค่าพลัง:
    +64,476
    ถอดบทเรียน'ไทย-ลาว'ถอดความอ่อนไหวทาง'วัฒนธรรม'

    ถอดบทเรียน "ไทย-ลาว" ถอดความอ่อนไหวทาง "วัฒนธรรม"

    [​IMG]

    สะ-บาย-ดี เป็นคำทักทายในภาษาลาว ในภาษาไทยว่า สวัสดี

    เราจะได้รับการทักทายเช่นนี้ตลอดด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและจริงใจจากคนลาว ไม่ว่าเราไปเยือนเขาหรือเขามาเยือนไทย

    แต่หลายครั้งที่ความสัมพันธ์ต้องสะดุดไปบ้างด้วยความไม่เข้าใจทางวัฒนธรรม และเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า "คนลาวรู้จักคนไทยและรู้เรื่องประเทศไทยทุกอย่าง แต่คนไทยไม่รู้จักคนลาว" ซึ่งคำกล่าวนั้นไม่ได้เกินข้อเท็จจริงแต่อย่างใด เพราะบ่อยครั้งที่เกิดเรื่องราวระหว่างไทย-ลาว สาเหตุมักมาจากคนไทยที่ทำให้คนลาวรู้สึกว่าคนไทยดูถูก/ดูหมิ่นคนลาว ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยละเมิดกฎพื้นฐานของมนุษยชาติ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องเคารพและยอมรับ/เข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น

    แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งไทยและลาวต่างมีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ บ่อยครั้งการแก้ปัญหาไม่ได้ผ่านพิธีทางการทูตเหมือนความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เป็นเพราะภาษาและวัฒนธรรมที่สื่อถึงกันได้อย่างใกล้ชิด คนไทยคนลาวจึงมักบอกกันเสมอว่า "ไทยกับลาวเป็นพี่เป็นน้องกัน" แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไทยเป็นพี่ ลาวเป็นน้อง เพราะในความหมายที่แท้จริงคือไทยกับลาวเป็นญาติกัน

    การพูดคุยแก้ปัญหาได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเสมอมา และคอยแก้ปัญหาทีละเรื่องๆ จนกลายเป็นเรื่องถอดใจสำหรับเจ้าหน้าที่/ข้าราชการที่ร้อยใจประสานมาอย่างดี แต่พอเกิดกรณีบาดหมางในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ความสัมพันธ์ค่อนข้างผันผวน และเป็นการบั่นทอนความรู้สึกของคนทำงาน ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามอย่างมากในการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรมอย่างเข้าถึง เข้าใจ

    นางสาวบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ น.ส.พ.คมชัดลึก ให้ความเห็นในการสัมมนาความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-ลาว จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวลาว เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า "จริงๆ เรื่องบาดหมาง บางครั้งเล็กน้อย แต่ต้น เหตุจริงๆ มาจากความไม่เข้าใจทางวัฒนธรรม และที่ผ่านมาแก้เฉพาะจุด

    และไม่ได้ประกาศให้รับรู้ในวงกว้าง ไม่ได้เอาเรื่องความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมที่เกิดในกรณีของคณะตลก กีฬา เพลง มาทำความเข้าใจ เพราะเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องอ่อนไหวไม่ใช่เรื่องล้อเล่นสนุกๆ

    ซึ่งการทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมต้องใช้เวลา ในฐานะที่เป็นสื่อ เกือบทุกเดือนจะได้รับเชิญไปร่วมงานไทย-ลาว แต่ไม่มีการติดตามผล รวบรวม ก็อยากเสนอว่าเรื่องความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ควรที่จะทำเป็นเอเจนด้าระหว่าง 2 ประเทศ คือขยายความเข้าใจสู่ระดับประชาชนกับประชาชน

    ที่ผ่านมาสร้างความเข้าใจระดับรัฐต่อรัฐ สื่อกับสื่อ เพราะการสร้างความเข้าใจดีที่สุดคือการพูดคุย และที่ชาวบ้านจะคุยกันได้ดีคือการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างชาวบ้าน 2 ฝั่งโขง หรือการใช้หนังสือ วรรณกรรม หรือการทำโครงการร่วมกัน เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตราบใดที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกัน ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นจะประสานงานกันได้ง่าย"

    นางสาวบุญรัตน์ให้ความเห็นต่อว่า "คนไทยไม่ค่อยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่น เป็นข้อเสียของคนไทยที่มักดูถูกกันทางด้านภาษา วัฒนธรรม ชอบเอามาล้อเลียน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเอาเป็นเอาตายสำหรับคนอื่น ดังนั้นเราจะปลูกจิตสำนึกคนไทยให้เคารพวัฒนธรรมคนอื่นอย่างไร

    แม้จะมีความเข้าใจแต่มีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจอยู่ อย่างเรื่องหมากเตะ เป็นเรื่องดีที่ได้พูดคุยกัน แต่ควรมีเอกสาร หยิบยกขึ้นมาใช้ได้ เพราะเวลาคุยกันก็กลายเป็นเรื่องซ้ำซาก ซึ่งกรณีหมากเตะมีการพูดคุยเฉพาะผู้กำกับฯ แต่ต่อมาก็มีเรื่องคณะตลก ตามด้วยเรื่องเพลง"

    ขณะที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางคนให้ความเห็นว่า "การมาพูดคุยกันบ่อยๆ แสดงว่ารักกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่จืดชืด แต่ต้นเหตุทั้งหมดมาจากความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม และมาจากคนไทยมากกว่า ทั้งนี้เพราะคนลาวรู้จักไทยมากกว่าไทยรู้จักลาว ประกอบกับสังคมไทยพิสูจน์กันที่เปลือกนอก หากเราแก้จุดนี้ไม่ได้ เราอย่าไปหาทางแก้เรื่องนี้กับใครเลย เพราะวัฒนธรรมไม่มีใครเหนือ

    กว่าใครด้อยกว่าใคร เท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาล้อได้ หากไม่รู้ประเด็นตรงนี้คุณแก้ไม่ได้"

    และถ้าให้วิเคราะห์อย่างถึงแก่น ดร.ฉวีวรรณ สายบัว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยกล่าวถึงความเป็นคน "ลาว" และคน "ไทย" โดยอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า บุคลิกภาพหรือบุคลิกลักษณะของคนลาว โดยเฉพาะของบุคคลในระดับผู้นำประเทศที่ได้เห็นผ่านทางจอทีวีไทยเมื่อมีข่าวอะไรเกี่ยวกับประเทศลาวและคนลาวที่ดูสงบ (เย็น) นิ่ง (ไม่ร้อนรน) เป็นธรรมชาติไม่ปรุงแต่งไม่เคลือบด้วยอะไรที่ปลอมๆ สุภาพเรียบร้อย ไม่โหวกเหวก /เสียงดัง ถ่อมตน ไม่ทำตนโด่งดัง/ไม่ทำตนให้มีชื่อเสียง มีศีลธรรม (ไม่ดูถูกหลอกลวง) และมีหลักการ/อุดมการณ์ที่เชื่อที่ยึดถือในชีวิตของตน แม้กระทั่งที่ได้สัมผัสพบปะพูดคุยกับคนลาวจริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น

    ซึ่งดูจะตรงกันข้ามแทบจะโดยสิ้นเชิงกับบุคลิก ลักษณะของคนไทยใน พ.ศ.นี้ ทั้งที่เป็นผู้นำและผู้ตาม เพราะอิทธิพลของการเลียนแบบอย่างกันที่ดูไร้บุคลิกภาพ มีแต่การวางท่า ร้อนรน สับสน โฉ่งฉ่าง ไร้อุดมการณ์ วัตถุนิยม ผิดเพี้ยน บ้าอำนาจ หลงตนเอง ฟุ้งเฟ้อ ชอบโอ้อวด ไม่ว่าจะเป็นการอวดดี อวดเก่ง อวดมั่งมี อวดร่ำรวย ทำชีวิตเหมือนการแสดงละคร บุคลิกแบบศรีธนญชัย เช่น ขาดศีลธรรม ไม่น่าเชื่อถือ เหนือชั้น เอาตัวรอดโดยวิธีง่ายๆ และตามมาด้วยการกลายเป็นคนเก๊ คนปลอม เต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด และมีบุคลิกลักษณะแบบคนขาด

    กล่าวคืออยากใหญ่ อยากมีอิทธิพล อยากประสบความสำเร็จ อยากเด่นดัง อยากมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่นมาก

    ความรู้สึกคุ้นเคยและเป็นกันเองกับคนลาว ประเทศลาว เป็นเพราะว่าทั้งไทยและลาวต่างมีรูปร่างหน้าตา ภาษา และวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยทั่วไปแทบจะไม่แตกต่างอะไรกันนัก เพราะฉะนั้นทำให้การติดต่อการเดินทางไปประเทศลาวของคนไทยจึงไม่ต้องห่วงกังวลหรือสบายใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องภาษาว่าจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

    เราจะพบว่าคนลาวแสดงออกถึงความรู้สึกจริงๆ จากส่วนลึกของจิตใจเหมือนคนที่รู้สึกผิดหวังเสียใจต่อเพื่อนรัก เพื่อนสนิทที่รู้จักและคบหากันมายาวนานและยังมีบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ชิดกัน แต่สิ่งที่เพื่อนคนไทยคิด พูดและทำต่อคนลาว เหมือนเพื่อนไม่ได้รู้จักและเข้าใจเขาเลย

    ดร.ฉวีวรรณให้เหตุผลว่า ปัญหาที่ทำให้เรารู้จักเพื่อนบ้านหรือรู้จักคนอื่นจริงๆ ไม่ได้ เพราะคนไทยมีปัญหาการไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักปัญหาของผู้คนและบ้านเมืองของตนเองจริงๆ ทุกด้าน เพราะการติดอยู่ในกับดักแห่ง "ความหลง" กันโดยทั่วไปของคนไทย เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่รู้จักตนเองให้ดีก่อน เราก็รู้จักคนอื่นจริงๆ ไม่ได้

    การที่เราขาดความรู้และความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดด้วยสาเหตุหลักดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราดูเหมือนจะยังค้นหาไม่พบว่าเราควรจะวางตนหรือวางฐานะ/ตำแหน่งของคนไทย/ ประเทศไทยกันให้ถูกต้องและเหมาะสมอย่างไรที่จะทำให้เราเป็นที่น่านับถือ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจในสายตาหรือทรรศนะของประเทศเพื่อนบ้าน อันจะช่วยขจัดปัญหาความขุ่นข้องหมองใจ ความหวาดระแวง และความเคลือบแคลงสงสัยที่ยังมีต่อกันอยู่มากเพื่อความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมั่นคงและยืนยงที่จะตามมา

    ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่คนไทยและประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลไทย ต้องหัดรู้จักทบทวนและประเมินตนเองกัน (self evaluate) ทั้งที่เป็นส่วนดีและส่วนขาดของเรา โดยเฉพาะควรเน้นให้ความสนใจหรือกล้าหาญที่จะมองส่วนที่เป็นปัญหา จุดอ่อน หรือส่วนขาด/ส่วนเสียของเราเพื่อจะเห็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อเราจะได้รู้จักตนเองจริงๆ และจึงจะตามมาด้วยการรู้จักคนอื่นหรือเพื่อนบ้านของเราจริงๆ

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมองไม่เห็นว่าลาวมีการพัฒนาในความหมายโดยทั่วไป หรืออย่างการพัฒนาประเทศของไทยที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันที่มีแต่การพัฒนาทางกายภาพ/ทางวัตถุ แต่คนลาวและประเทศลาวก็มีสิ่งดีอื่นๆ หรือมีสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นการพัฒนาทางด้านอื่นที่สามารถทำให้คนไทยและประเทศไทยในวันนี้อดที่จะอิจฉาไม่ได้เลยก็คือ ลาวยังมีทรัพยากรธรรม ชาติอุดมสมบูรณ์

    ขณะที่มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน ไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นพิษมาก ผู้คน มีความเท่าเทียมกัน เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ไม่ใช่เพราะความเหลื่อมล้ำในฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมากระหว่างคนไทยข้างบนจำนวนน้อยนิดและคนส่วนใหญ่ของประเทศ

    คนลาวทั้งที่เป็นผู้นำและชาวบ้านลาวที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป มีคุณลักษณะของมนุษย์ที่ดีที่ปรากฏให้เห็น คือดูเป็นมนุษย์ที่เป็นปกติดี ไม่ดูเป็นคนเก๊/คนปลอม หรือมีปัญหาทางจิตมากอย่างคนไทยวันนี้ มีความสุภาพ เรียบร้อย ถ่อมตน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่บ้าวัตถุ มีศีลมีธรรม เป็นชาวพุทธโดยจิตวิญญาณ โดยการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ชาวพุทธแต่ในนาม ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือเต็มไปด้วยพิธีกรรมอย่างคนไทย และมีสิ่งที่ยึดถือหรืออุดมการณ์ที่ยึดถือในการดำรงชีวิตชัดเจน ไม่ดูเหมือนเป็นคนไร้รากอย่างคนไทยในทุกวันนี้

    "วิถีชีวิต" ของคนลาว หากดูชีวิตภายนอก วิถีชีวิตที่ไม่บ้าคลั่งด้วยปัจจัยทางวัตถุ ไม่ว่าในเรื่องอาหารการกิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ และชีวิตภายในอันเป็นเรื่องด้านจิตใจ จิตวิญญาณ สำนึก ความเชื่อทางศาสนา หรือสิ่งที่ยึดหรืออุดมการณ์ที่ยึดถือในการดำรงชีวิต ตลอดจนแนวทางทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างและสถานที่ต่างๆ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

    ซึ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเหล่านี้ทั้งหมดมันดูผสมผสานและกลมกลืนกันดีหรือมันออกมาในทางเดียวกัน ไม่ได้ออกมาในลักษณะแบบแยกส่วน ผิดแผกหรือสุดขั้วไปในทางใดทางหนึ่ง ให้เห็นเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของคนลาวและ ประเทศลาวที่ดู "สงบ" "เรียบง่าย" "ธรรมดา" "ธรรมชาติ" หรือ "ไม่ปรุงแต่ง" ดี

    ต้องยอมรับความจริงว่า คนลาวในประเทศลาวถูกทำให้เข้าใจ (ผิด) หรือถูกทำให้มี "ภาพลักษณ์" เหมือนกับเป็นคน "เปิ่น" หรือแบบที่เรียกกันว่า "บักเสี่ยว" แบบคนไทยอีสาน ดังที่ถูกนำมาล้อเลียนกันเล่นเป็นโจ๊กโดยพวกนักแสดงตลกไทยผ่านทางจอทีวีไทยซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงและเป็นการดูถูกดูแคลนพี่น้องชาวลาว

    พี่น้องชาวลาวในประเทศลาวที่เห็นที่แม้จะมีหน้าตา ภาษาและวัฒนธรรมเหมือนคนไทยโดยเฉพาะเหมือนคนไทยอีสาน แต่พี่น้องชาวลาวก็ไม่ได้มีบุคลิกลักษณะแบบ "เปิ่น" หรือ "บักเสี่ยว" แต่คนลาวสงบ เรียบง่าย ไม่เวอร์ มีอะไรที่เป็นของตนเอง

    ดังนั้นแม้จะไม่ใช่ผู้คนในประเทศที่ร่ำรวยทางวัตถุอะไรเลย แต่คนลาวดูเหมือนจะไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จะไม่ได้รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย จึงไม่ได้เห็นคนลาวแสดงอาการตื่นเต้นอะไรกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศรวมทั้งนักท่องเที่ยวไทย ไม่เหมือนกับคนไทยที่แม้จนถึงวันนี้ก็ยังตื่นเต้น เห่อ ให้ความหมายความสำคัญหรือกลัวฝรั่งมาก

    นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัดในลาวหรือในหลวงพระบาง วัดถูกรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี วัดหรือพระพุทธศาสนาในลาวไม่ได้ถูกทำให้เป็น "พุทธพาณิชย์" อย่างที่เห็นแทบจะเป็นเช่นนี้กันไปจนจะหมดแล้วในไทย ในวัดของลาวจึงไม่เห็นตู้ขอรับบริจาคเงิน ไม่มีการจำหน่ายพวงมาลัยหรือดอกไม้ธูปเทียนสำหรับไหว้พระ และพระพุทธรูปในโบสถ์ก็ไม่เห็นมีสิ่งเหล่านี้ให้เห็น/ไม่มีเครื่องปรุงแต่งมาก ไม่มีแผงให้เช่าพระ/ขายพระ ไม่มีเครื่องรางของขลัง ไม่มีร้านค้าขายน้ำ/อาหาร หรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ให้เห็น

    ไม่เห็นพระในวัดหรือในลาวที่แสดงพฤติกรรมท่าทางหรือกิริยาอาการที่ไม่น่านับถือ/น่าเลื่อมใส วัดในหลวงจึงดูสงบ ดูเรียบร้อยสมกับเป็นศาสนสถานดี และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชาวพุทธด้วยจิตวิญญาณและด้วยการประพฤติปฏิบัติของคนลาว ไม่ใช่เป็นชาวพุทธแต่ในนามและเต็มไปด้วยการปลุกเสกพิธีกรรมขึ้นมากมายอย่างไทย จนหัวใจหรือแก่นของศาสนาหายไปหมด ทำให้มีปัญหาการขาดศีลธรรม ขาดความซื่อสัตย์สุจริตของคนไทยเกิดขึ้นทั่วไป

    ด้วยความเป็นชาวพุทธด้วยจิตวิญญาณและด้วยการประพฤติปฏิบัติของชาวลาว ด้วยเป็นระบอบสังคมนิยมของประเทศที่สะท้อนถึงการมีอุดมการณ์ที่ยึดถือในการดำเนินประเทศของลาว และด้วยเหตุที่คนลาวและประเทศลาวมีประวัติศาสตร์ที่เป็นมาที่ต้องถูกปกครองโดยคนอื่นหรือต่างประเทศมาโดยตลอดและโดยเฉพาะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมายาวนานเป็นศตวรรษๆ แน่นอนว่าผู้ปกครองก็ต้องพยายามกลืนหรือทำลาวความเป็นตัวตนหรือ "อัตลักษณ์" (indentity) ดั้งเดิมของผู้ใต้ปกครองเพื่อประโยชน์หรือเพื่อง่ายต่อการปกครอง ลาวจึงอาจจะอ่อนไหวหรือให้ความสำคัญกับการที่จะไม่ให้ใคร (ต่างประเทศ/วัฒนธรรมต่างประเทศ) เข้ามามีอิทธิพลหรือทำลายวัฒนธรรมและด้านอื่นๆ ของตนได้อีก

    นี่คงจะเป็นคำตอบหรือทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคนลาวจึงดูเป็นคนที่มีอะไรที่เป็นแนวทางของตัวเองหรือดูมีสิ่งอะไรที่ยึดถือในการดำเนินชีวิตชัดเจน ทำให้คนลาวจึงดูไม่ตื่นเต้นกับชาวต่างประเทศ/นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และเป็นคำตอบว่าทำไมคนลาวรวมทั้งวัยรุ่นลาวที่ต่างรับสื่อ ต่างดูรายการทีวีจากประเทศไทยกันทุกวัน

    แต่ทำไมวัฒนธรรมไทยหรือวัฒนธรรมของคนไทยจึงไม่มีอิทธิพลต่อคนลาว หรือทำไมไม่เห็น

    คนลาวอยากทำตามอย่างคนไทยหรืออยากเป็นอย่างประเทศไทย หรืออยากเป็นอย่างคนไทย/

    วัยรุ่นไทย

    ดังสะท้อนออกมาชัดเจนโดยคำพูดจากไกด์ลาวที่มีทรรศนะว่า "ไทยไปโลดเกิน 100%" "คนไทยไปไกลจนกู่ไม่กลับแล้ว" ซึ่งเขาหมายความว่า "เรา คนไทย/ประเทศไทย มุ่งเน้นพัฒนาไปในทางโลก ที่เน้นชีวิตภายนอกของมนุษย์ หรือทางกายภาพ/ทางวัตถุกันอย่างสุดโต่ง ขณะที่ด้านชีวิตข้างใน คือด้านจิตใจและจิตวิญญาณหรือด้านศีลธรรมมันหายไปหมด"

    ยิ่งตอกย้ำว่าคนลาวรู้จักคนไทยแต่คนไทยไม่รู้จักคนลาว...


    ----------------
    ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe01271149&day=2006/11/27
     

แชร์หน้านี้

Loading...