ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ... โดยหลวงปู่ชา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย STha, 18 ธันวาคม 2012.

  1. STha

    STha เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    98
    ค่าพลัง:
    +927
    ธรรมะจากหลวงปู่ชา


    ทุกข์มี เพราะยึด ทุกข์ยืด เพราะอยาก ทุกข์มาก เพราะพลอย ทุกข์น้อย เพราะหยุด ทุกข์หลุด เพราะปล่อย


    คนเห็นทุกข์แต่ไม่ทะลุ เพียงแต่สงบเฉยๆ มันไม่มีทางจะรู้จักหรอก ถ้าคนไม่กลัวตาย ยอมตายเสีย มันกลับไม่ตายนะ ทีนี้ทุกข์ก็ให้มันเกินทุกข์ มันหมดทุกข์โน่น...


    ไม่เห็นทุกข์ ใยรู้จักสุข


    จะปฏิบัติธรรมอย่างไร คนเราไม่รู้จัก นึกว่าการเดินจงกรม นึกว่าการฟังธรรม นึกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติ นั่นเป็น ส่วนน้อย ก็จริงอยู่ แต่มัน เป็นเปลือกของมัน การปฏิบัติจริงๆ ก็ปฏิบัติเมื่อประสบอารมณ์ นั่นแหละการปฏิบัติ แล้วที่มันประสบอารมณ์กับอยู่นั้น เช่นมีอะไร


    มีคนมาพูดไม่ถูกใจนะ เราเป็นทุกข์ขึ้นมา
    ถ้าคนพูดให้ถูกใจเรา เราก็เป็นสุข


    ตรงนี้แหละตรงที่จะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ
    ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์
    มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั่น
    จะวิ่งตลอดจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะนี่
    ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองนี้ขึ้นมาเมื่อไร
    เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยธรรมะ นี่คือการปฏิบัติ


    โดยมากคนที่ได้ของที่ไม่ชอบใจ ไม่อยากจะพิจารณานะ
    อย่างคนนินทาว่าเรา อย่ามาว่าฉัน มาว่าฉันทำไม
    นี่คือคนปิดตัวไว้ ตรงนั้นแหละต้องปฏิบัติ


    ถ้าเขาว่าเราไม่ดี เขานินทาเรานี่ควรฟัง
    เขาว่าถูกหรือผิดอะไรหนอ ไม่ดีตรงไหน
    เราควรรับฟัง ไม่ต้องปิด ปล่อยเข้ามาให้ดูไว้


    บางทีก็มีนะที่เราไม่ดีนั่นน่ะ เขาว่าถูกยังไปโทษเขาอีกนี่
    ทีนี้เรามาดูตัวเรา เราเห็นที่ไหนมันไม่ค่อยดี
    เราก็เขี่ยมันออกเสีย เขี่ยโดยไม่ให้ใครรู้จักนั่นแหละ
    เขี่ยสิ่งที่ไม่ดีออกเสีย มันก็ดีขึ้นมาอีก นี่คือคนมีปัญญา


    สิ่งที่มันวุ่นวาย สิ่งที่มันไม่สงบอยู่ ตรงนั้นแหละ มันเป็นเหตุ
    สิ่งที่สงบอยู่ก็ตรงนั้นเอง เราเอามันแทนที่เข้าไปที่มันไม่สงบนั่นไง


    นี่บางคนไม่รับฟัง ทิฏฐิมันแรง เราทำอย่างนั้นจริงๆ ก็ไปเถียงเขาอีกนะ ยิ่งกับลูกเราแล้ว ความเป็นจริงบางอย่างมันถูกของเขา แต่เรา เข้าใจ ว่าเรา เป็นแม่เขาไม่ยอมมัน อย่างนี้ก็มีทุกข์มี เพราะยึด ทุกข์ยืด เพราะอยาก


    อย่างเราเป็นครูคนนี่ บางทีลูกศิษย์นะ เขาพูดถูกแต่ว่าเราไม่ยอมมันทำไม เพราะว่าเราเป็นครูเขา เขาจะเถียงเราได้อย่างไร นี่คิดอย่างนี้มันคิดไม่ถูก


    จะเล่าเรื่องถึงสมเด็จพระสังฆราช แต่อาตมาได้ยินเขาเล่าต่อๆ กันมานะ ท่านไปเมืองจีนพอไปถึงพวกชาวจีนเขาถวายถ้วยชา แหม มันสวย เหลือเกิน ที่เมืองไทยมันไม่มีนะนี่ พอท่านได้ถ้วยชาปุ๊บเป็นทุกข์เลย จะวางตรงไหนที่จะเก็บตรงไหน เอาใส่ย่ามใส่กระเป๋า ใครมาจับย่ามท่าน ท่าน ก็ว่า ระวัง ถ้วยชานะมันจะแตก ระวังนะของแตกมันอยู่ในนั้น ท่านเลยวุ่นตลอดมา ท่านทุกข์มาตลอด ทุกข์เพราะว่ามีขึ้นมาแล้วไปยึดมัน มันเลยเป็นทุกข์


    อยู่มาเช้าวันหนึ่งสามเณรทำถ้วยชาหลุดมือแตก ท่านก็ว่า เอ้อ หมดทุกข์ไปซะที นี่เรียกว่า บังเอิญให้มันหมดทุกข์ ถ้าหากถ้วยชาใบนั้นยังไม่แตก ท่าน คงจะเป็นเปรตอยู่นั่นแหละ อย่างของในบ้านโยม ถ้ามันไม่มีมันก็ทุกข์อยากจะมี ถ้าคิดถึงเรื่องทุกข์แล้วละก้อ ไอ้ทุกข์ ที่มันเกิด ขึ้นมานะ โยม ไม่รู้เรื่องของมัน


    โลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป จะอยู่ที่โน่นก็เปลี่ยนแปลง อยู่ที่นี่หรือที่ไหนก็เปลี่ยนแปลงเพราะพวกเราทั้งหลายอยู่ได้ด้วย การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็อยู่ไม่ได้ หายใจ ออกมาแล้วก็เปลี่ยนเป็นหายใจเข้า แล้วก็หายใจออก ไม่เช่นนั้น ก็อยู่ไม่ได้ ออกไปหมดก็อยู่ไม่ได้ ลมเข้ามาแล้วไม่ออกก็อยู่ไม่ได้ เราทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ก็เป็นของโลก มันเป็นของๆ โลก ไม่ควรทำความน้อยใจ ไม่ควรทำความเสียใจใดๆ เราต้องเป็นผู้มีจิตใจ เข้มแข็ง จะตกไปอยู่ที่ไหนก็สร้างแต่คุณงามความดี แม้หมดชีวิต ก็อย่าทิ้งคุณงามความดี


    พระพุทธองค์ของเรา อยากจะทำพื้นฐานให้มันหมดจดใสสะอาดเสียก่อน เป็นต้นว่าเราจะปลูกบ้านปลูกอาคารเหล่านี้เป็นต้น เราจะต้องตรวจตราดูดิน ดูสถานที่ๆ ปลูกอันนั้นนะให้มันได้สัดส่วนเสียก่อน ผ้าที่บ้านเราก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดจะเอาไปย้อม เราก็ต้องดูมันก่อนมันสกปรกหรือเปล่า ถ้ามันสกปรกแล้วก็ต้องไปชักไปฟอกลงแฟ๊บเสียก่อนให้มันสะอาด แล้วก็เอาสีมาย้อม มันก็จะกินสีดี ดังนั้นนี่ก็เรียกว่าเราฟอกมาแล้ว ผ้าสะอาด แล้ว มันก็กินสี


    การกระทำบุญทำกุศลของเราก็เหมือนกันทำจิตใจให้มันสะอาด ถ้าทำจิตสะอาดแล้ว เรียกว่าละบาปแล้ว ละความผิดแล้ว ละความชั่วทั้งหลายแล้ว เราจึงมาทำความดี มาทำสิ่งที่มันถูกต้อง อะไรต่างๆเหล่านี้ล่ะพื้นฐานมันสะอาดแล้ว ทำอะไรก็เกิดเป็นบุญขึ้นมา สัพพะปาปัสสะอกรณัง ละบาปเสียก่อน ละความผิดเสียก่อน ทำความสกปรกให้มันหมดไปเสียก่อนจึงย้อมผ้า ก็เหมือนกันฉันนั้นนี่ก็เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอันหนึ่ง


    ภาษาทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันรวมอยู่ที่ภาษาธรรมะ ยกตัวอย่างง่ายๆ น้ำชาที่เราต้มมันร้อน ไอ้คำที่ว่าร้อนนี่ ภาษาไทยเรียกว่าร้อน ภาษาอีสานเรียกว่า ฮ้อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า ฮอท นี่มันเป็นอย่างนี้


    ภาษานี้มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าต่างคนต่างภาษาพูดไป แต่ว่าก็ความร้อนอันเดียวกันนั่นเอง อยากจะปฏิบัติดูว่าภาษานี้มันรวมกันอยู่ที่ตรงไหน ภาษาร้อนมันรวมกันตรงที่เอานิ้วมือไปจุ่มดูเท่านั้นนะ ให้คนจีนเอานิ้วมือไปจุ่มน้ำร้อน ความร้อนนั้นมันไม่แปลกกัน ให้ฝรั่งอังกฤษเอามือไปจุ่มลงไปในน้ำร้อนนั้น ความร้อนมันไม่แปลกกันแต่มันแปลกแต่ภาษาคำพูด ไอ้ความร้อนมันเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าใครรู้จักความร้อนแล้วก็แปลว่ารู้จักกันหมดทุกคนเลย


    เหมือนเด็กในบ้านเรานั่น เด็กในบ้านมันซน จะทำยังไงมันไม่หยุดมันไม่นิ่งจะทำยังไง เอาลูกโป่งมาให้มันเล่นเสีย มันก็เพลินกับลูกโป่งของมันสบาย มันก็ไม่ร้อง มันก็ไม่วุ่นวายเพราะอะไร เอาเครื่องเล่นมาให้มันๆก็เพลินกับลูกโป่งนั่นแหละ


    จิตนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันวุ่นวายวอกแวกอยู่ หาอารมณ์ให้มันเล่นเอาอะไรบ้าง พุทธานุสติบ้าง ธรรมานะสติบ้าง สังฆานุสติบ้าง สีลานุสติบ้าง จาคานุสติบ้าง เอามาณานุสติบ้าง ให้มันพิจารณาความตาย


    คนเราปราถนาเอาความสุข แต่เมื่อสุขหายไปแล้วทุกข์ก็เกิดขึ้นมา หลักของพระพุทธศาสนาท่านให้เอาความสงบ สงบจากความสุข สงบจากความทุกข์ ที่เราต้องการสุขนั้น นั้นแหละคือทุกข์อันละเอียดที่เรายังไม่รู้จัก เรานึกว่าสุขนั้นไม่มีโทษ เหมือนงูตัวเดียวกัน ทุกข์คล้ายหัวงู สุขคล้ายหางงู พอเรา เห็น งูตัวยาว หางมันอยู่ทางนี้ ปากอยู่ทางโน้น เราก็คิดว่าปากมันจะเป็นภัย หางมันไม่เป็นอะไรหรอก ปากอยู่ทางนี้อย่าไปใกล้มัน มันจะฉกกัดเอาได้ เรา จับ หางมันดีกว่า แต่พอเราจับหางงู หัวงูมันก็วกกลับมากัด นี่ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะหัวงูกับหางงู ก็อยู่ในตัวเดียวกัน คือเราไม่รู้ว่าสุขทุกข์นั้น ความเป็นจริงก็อยู่ในตัวเดียวกันนั้นเอง...


    การปฏิบัติเรื่องจิตนี้...ความจริงจิตนี้ไม่เป็นอะไร มันเป็นประภัสสรของมันอยู่อย่างนั้น มันสงบอยู่แล้ว ที่จิตไม่สงบทุกวันนี้ เพราะ จิตมันหลงอารมณ์ ตัวจิตแท้ๆ นั้นไม่มีอะไรเป็นธรรมชาติอยู่เฉยๆเท่านั้น ที่สงบ ไม่สงบ ก็เป็นเพราะอารมณ์มาหลอกลวง จิตที่ไม่ได้ฝึกก็ไม่มีความฉลาด มันก็โง่ อารมณ์ก็มาหลอกลวงไปให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ จิตของคนตามธรรมชาตินั้นไม่มีความดีใจ เสียใจ ที่มีความดีใจเสียใจนั้นไม่ใช่จิต แต่ เป็น อารมณ์ที่มาหลอกลวง จิตก็หลงไปตามอารมณ์โดยไม่รู้ตัว แล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามอารมณ์ เพราะยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ฉลาด แล้ว เรา ก็นึก ว่า จิต เราเป็นทุกข์ นึกว่าจิตเราสบาย ความจริงมันหลงอารมณ์


    พูดถึงจิตของเราแล้วมันมีความสงบอยู่เฉยๆ มีความสงบยิ่งเหมือนกับใบไม้ที่ไม่มีลมมาพัดก็อยู่เฉยๆ ถ้ามีลมมาพัด ก็กวัดแกว่ง เป็นเพราะลมมาพัด และก็เป็นเพราะอารมณ์ มันหลงอารมณ์ ถ้าจิตไม่หลงอารมณ์แล้วจิตก็ไม่กวัดแกว่ง ถ้ารู้เท่าอารมณ์แล้วมันก็เฉย เรียกว่าปกติของจิตเป็นอย่างนั้น ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อใหเห็นจิตเดิม เราคิดว่าจิตเป็นสุข จิตเป็นทุกข์ แต่ความจริงจิตไม่ได้สร้างสุข สร้างทุกข์ อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลงอารมณ์ ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ฉลาดขึ้น ให้รู้จักอารมณ์ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ จิตก็สงบ เรื่อง แค่นี้เอง ที่เราต้อง มาทำ กรรมฐาน กันยุ่งยากทุกวันนี้


    ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ เป็นอยู่นั้น มันเป็นสักแต่ว่า "อาศัย" เท่านั้น ถ้ารู้ได้เช่นนี้ ท่านว่า รู้เท่าตามสังขาร ทีนี้แม้จะมีอะไรอยู่ก็เหมือนไม่มี ได้ก็เหมือนเสีย เสียก็เหมือนได้


    อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90% ดูตัวเองแค่ 10 % คือคอยดู แต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น


    การกระทำบุญ บุญนั่นคืออะไร บุญนั้นคือความที่ถูกต้อง คือความสงบจากความชั่วทั้งหลายอย่างนี้ อย่างญาติ โยมที่รวมกันมานี้ ก็รวมกันทำบุญ แต่ตัวบุญจริงๆ นั้น มันก็ต้องดูเอาเอง อันนี้มันก็เป็นวัตถุ มันก็เป็นวัตถุหลายอย่างเหมือนกันกับเราบริโภคอาหารนั่นแหละโยม มันเอร็ดอร่อยเพราะวัตถุนะ ถ้ามันอิ่มแล้ว มันอิ่มที่ตรงไหนก็ไม่รู้


    ตัวอิ่มไม่มีตัวมีตน แต่รู้สึกทุกคนว่ามันอิ่ม บางคนก็ไม่เห็นตัวบุญ คนไม่เห็นตัวบุญก็ไม่เห็นตัวอิ่ม อย่างเราทานข้าวทุกคน แกงก็หมด ข้าวก็หมด ขนมก็หมด หมดแล้ว บุญตรงไหน ได้อะไร ได้อิ่ม อิ่มไม่มีตัวมีตน มันโผล่ขึ้นมาในใจของเรานั่นแหละ นี้ได้เรียกว่ามันเกิดจากอะไรนี่นะ มันเกิดจากวัตถุ เกิดจากการกระทำนั้น บุญนี้ก็เหมือนกัน อาตมาเคยได้ยินว่า ทำบุญก็ไม่เห็นบุญไม่เห็นตัว อย่างนั้นก็ทานข้าวไม่รู้จักอิ่มละมัง ไม่รู้จักความอิ่มเหรอนั่น ความอิ่มน่ะนะมันเกิดผลมาจากการกิน การบริโภค การกระทำเช่นนี้เรียกว่า การกระทำบุญเป็นเรื่องสมมุติ จิตใจเราเบิกบาน จิตใจเราสบาย


    ตามธรรมดา การที่บุคคลจะไปถึงบ้านเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวแต่นอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินให้ถูกทางด้วย จึงจะ มี ความสะดวก และถึงที่หมายได้


    หากเดินผิดทางก็จะได้รับอุปสรรค และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรืออาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้ว จะต้องขึ้นอยู่อาศัย พักผ่อนหลับนอน เป็นที่สบายทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์


    ทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา


    ถ้าหากเดินเฉียดบ้าน หรือผ่านบ้านไปเฉยๆ คนเดินทางนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา


    ข้อนี้ฉันใด การเดินทางเข้าสู่พุทธธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ คนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินให้กัน ต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาด สงบ สว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง


    แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา มัวแต่กางแผนที่ออกดู อยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ เขาผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่าๆ ปล่อย ให้ ประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านเลยไป


    ครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลาย เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะเดินหรือไม่เดิน จะได้รับผลมากน้อยเพียงใด นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน


    เช่นเดียวกันกับการที่หมอให้ยาคนไข้ ถ้าคนไข้มัวแต่อ่านฉลากยา แต่ไม่เคยได้นำยานั้นไปใช้ คนไข้ก็คงอาจจะตายเปล่า และก็จะมาร้องตีโพยตีพายว่า ยาไม่ดี หมอไม่ดี เพราะมัวแต่ไปอ่านฉลากยาจนเพลิน


    แต่ถ้าเขาเชื่อหมอ จะอ่านฉลากเพียงครั้งเดียว หรือไม่อ่านก็ได้ แต่ถ้าลงมือกินยาตามคำสั่งหมอ ถ้าคนไข้เป็นไม่มาก เขาก็จะหายจากโรค แต่ถ้าเป็นมาก...อาการก็จะทุเลาลงไปเรื่อยๆ
    ถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไป


    ที่ต้องกินยามาก และบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคของมันมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ แต่ถ้าโรคน้อยกินครั้งเดียวก็อาจจะหายได้เลย ผู้อ่านลองใช้สติปัญญาพิจารณาถ้อยคำนี้ให้ละเอียดจริงๆ จะเข้าใจได้ดี


    การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์


    ศีล นั้นก็คือ ระเบียบควบคุมรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งชาวบ้าน และของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วมีอย่างเดียวคือ เจตนา


    เมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอ เพื่อควบคุมให้รู้จักละอายต่อความชั่ว ความเสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจให้อยู่ใน แนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควร


    เป็นศีลอย่างดีอยู่แล้ว ตามธรรมดาเมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรก และตัวเองก็สกปรก ย่อมทำให้จิตใจยึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาด ทั้งร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน


    ดังนั้น เมื่อศีลไม่บริสุทธิ์ เพราะกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมอง ขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นมิให้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป


    การฝึกสมาธิก็คือ การฝึกจิตใจของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติ ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำที่ชอบไหลลงสู่ที่ลุ่มเสมอ


    พวกเกษตรกรทั้งหลาย เขารู้จักกั้นน้ำไว้ให้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น ทำฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ล้วนแต่กั้นน้ำ เพื่อประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่าง และใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี้เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด ดังนั้น จิตใจที่มีการฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน


    พระพุทธองค์ตรัสว่า... จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนําความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดี ย่อมสําเร็จประโยชน์


    เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอามันมาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้ว เราจึงได้ อาศัยแรงงาน มันทำ ประโยชน์ นานาประการ


    ท่านทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า จิตที่ฝึกดีแล้ว...ย่อมมีคุณค่ามากกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์ และพระอริยสาวก ได้เปลี่ยนจากภาวะปุถุชน มา เป็นพระอริยบุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป และท่านก็ยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือประมาณที่เราๆ จะกำหนด ก็เพราะว่า
    พระองค์และสาวก ได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...