ทุกข์เพราะคิดผิด (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 2 ธันวาคม 2008.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    [​IMG]

    ทุกข์เพราะคิดผิด
    โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

    วัดป่าสุนันทวนาราม
    บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



    พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
    เทศนาอบรมญาติโยมที่มาร่วมกันปฏิบัติกรรมฐานที่
    วัดป่าไทรงาม อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
    เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2535
     
  2. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    ทุกข์เพราะลูกตาย

    ลูกที่แสนดี แสนจะน่ารัก
    ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็เมตตา
    วันหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ
    ลูกรัก..... ตายจากไป
    พ่อแม่ทุกข์แทบขาดใจ
    แทบจะตายตามลูกไปด้วย แทบจะเสียสติ
    หมดอาลัยในชีวิต..... คิดจะขับรถเร่ร่อนไปเรื่อยๆ.....

    พระอาจารย์สอนดังนี้

    ถ้าพูดถึงความจริงเราก็ไม่รู้ว่า
    ผู้ตายจะไปเกิดที่ไหน เป็นสุคติ หรือทุคติ
    แต่เท่าที่ฟังจากคุณโยมพูดว่า ลูกของคุณโยมเป็นเด็กดีจริงๆ
    ตั้งแต่เกิดมาชาตินี้ไม่เคยทำชั่วเลย ทำแต่ความดีตลอด
    พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดเขา เขาทำให้ชื่นอกชื่นใจทุกคน
    และใครๆ ก็รักเขา เขาเป็นคนที่รักสัตว์ เมตตาสัตว์
    ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์

    ถ้าคุณโยมเชื่อมั่นในความดีของลูกอย่างนั้น
    ก็ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
    ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องสงสารลูก
    ถึงเวลาแล้ว เขาก็ต้องจากเราไป
    ตามเหตุ ตามปัจจัย

    มันก็พอดีพอเหมาะของมัน
    อันนี้เราก็ต้องยอมรับความจริง
    ยอมรับความพอดีของมัน
    ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์เสมอ
    ถ้าเราเชื่อมั่นในความดีของลูกอย่างนั้นแล้ว
    เราก็ไม่ต้องเสียใจ และห่วงสงสารลูกหรอก
    เขาคงไปดีแล้วนะ

    อย่าคิดว่าเขาเป็นลูกของเราจริงๆ
    อย่าคิดว่าลูกเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพราะพ่อแม่ช่วยกันผลิตขึ้นมา
    ความจริงจิตวิญญาณของลูก ก่อนเกิดมาเป็นลูกของเรา
    เขาท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารมาเป็นหลายภพหลายชาติ
    ด้วยการสร้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
    โดยมากเราเรียกกรรมดีเป็นบารมี กรรมชั่วว่าเป็นกรรม
    ความผูกพันในอดีตชาติเป็นเหตุ
    จิตวิญญาณของเขาจึงมาอาศัยเราเกิด
    มาเป็นลูกเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
    อันนี่แหละคือความหมายที่พูดว่า "เขาไม่ใช่ลูกของเราจริงๆ"
    เขาเป็นตัวของเขา มันมีอยู่ตั้งแต่เอนกชาติ

    ความตายไม่ใช่อะไร
    คล้ายกับเราส่งลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศ
    เพื่อความก้าวหน้าของลูก
    เพื่อเป็นการสร้างบารมีของลูก

    รักลูก หวงลูก เอาไว้ใกล้ๆ ตัวตลอดเวลา
    รักลูก ผูกลูก เอไว้ที่บ้าน..... เป็นการกีดกันไม่ให้เขาก้าวหน้า
    ไม่ดีกับลูกนะ

    โบราณาจารย์สอนว่า
    ถ้ารักลูกต้องส่งลูกไปศึกษาในสำนักต่างๆ ที่อยู่ไกลๆ
    ต้องให้ลูกไปทัศนะศึกษาในที่ไกลๆ
    เหมือนกับลูกของเราเก่ง
    จึงจำเป็นต้องจากเราไปเพื่อศึกษาต่อ
    เพื่อความก้าวหน้า
    เพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติม

    เรื่องความตาย ความเกิด
    คล้ายกับการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ

    ผู้ส่งเสียอกเสียใจร้องไห้กันด้วยความอาลัยอาวรณ์
    อย่างพวกเรานี้แหละ
    แต่ผู้ไปอาจจะไม่เป็นอะไรเลย
    ตรงกันข้ามเขาอาจจะตื่นเต้นกับโลกใหม่
    อย่างน้อยผู้รับก็ยินดีต้อนรับ ดีอกดีใจกัน
    ดังที่ลูกสุดที่รักของเราไปเกิดนั้นแหละ

    ถ้าเราเชื่อมั่นในความดีของลูก ในบารมีของลูก ไม่ต้องเสียใจ
    ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องสงสารลูก แทนที่จะเสียใจ เราน่าจะภูมิใจด้วยซ้ำ
    ความจริง อะไรๆ เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง
    ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์เสมอ

    ส่วนเราก็ต้องรับผิดชอบด้วย
    ถ้าเรารักลูกจริง..... ต้องทำใจให้สงบสุข
    คิดดู..... ลูกจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
    เมื่อเขารู้ว่าพ่อแม่ของตนมีความทุกข์มาก
    เขาจะรู้สึกอย่างไร

    ความทุกข์ของพ่อแม่คือความทุกข์ของลูก
    ถ้าเรามีความสุขสบาย เขาก็สบายใจ ไม่ต้องห่วง
    เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ
    ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตน

    ...........................ถ้าเรารักลูกจริงนะ...........................

    อีก 3 ปีต่อมา โยมพบพระอาจารย์ กราบนมัสการว่า
    พอคิดได้ดังที่พระอาจารย์สอน ความทุกข์ก็ดับไป จิตใจสบาย
    อยู่อย่างมีความสุขได้ คิดถูกดับทุกข์ได้..... ดังนี้


    พระอาจารย์สอนคนชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น

    อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น
    ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ
    หลวงพ่อ (พระโพธิญาณเถร) บอกว่า
    "ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90 % ดูตัวเองแค่ 10 %"

    คือคอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น
    คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น

    กลับเสียใหม่นะ
    ดูคนอื่นเหลือไว้ 10 %
    ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น
    คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร
    เพื่อเอามาสอนตัวเองนั่นแหละ
    ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90 %
    จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่


    ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง
    โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น
    ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา
    ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม

    มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย
    เราจึงต้องระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ

    เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10
    เห็นความผิดตัวเอง ให้คูณด้วย 10
    จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม
    เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ
    และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
    แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั่นแหละ

    พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น
    ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั่นแหละมากๆ
    เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ
    แล้วก็เกิดอารมณ์ร้อนใจ

    ยังไม่ต้องบอกให้เขาแก้ไขอะไรหรอก
    รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน
    เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่า ใจเย็นๆ ไว้ก่อน
    ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่..... ไม่แน่
    อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้
    เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้
    สักแต่ว่า..... สักแต่ว่า..... ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด

    ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน
    เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว
    จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความเห็น
    พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา
    ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด
    ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น
    ทำให้เสียความรู้สึกของตัวเอง
    ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
    มักจะเสียประโยชน์ซ้ำไป

    เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน
    ก็สงบๆ ๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆ ๆ
    ดูแต่ตัวเรา ระวังความรู้สึก ระวังอารมณ์ของเราเองให้มากๆ
    พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา..... นั่นแหละ

    เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน
    เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา
    ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งกับเรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ
    หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราหมด
    มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน
    อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง

    ระวังนะ
    พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้เป็นปกติให้มาก
    ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา
    แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา..... ก็เรื่องของเขา
    อย่าเอามาเป็นอารมณ์
    อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา


    ดูใจเรานั่นแหละ
    พัฒนาตัวเองนั่นแหละ
    ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ
    หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั่นเอง
    ไม่มีอะไรหรอก
    ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา
    คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข


    เขาทำดี พูดดี แต่เราโกรธ

    ความโกรธเหมือนไฟไหม้ป่า
    มีอะไรขวางหน้าก็เผาหมดเลย ไม่เลือกหน้า
    เมื่อจิตใจของเราถูกความโกรธครอบงำแล้ว
    สติปัญญาหายหมด..... มืดหมด..... เป็นบ้าแล้ว

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "คนโกรธย่อมฆ่าได้แม้มารดาของตนเอง"

    คนที่เรารักที่สุด เราก็ฆ่าได้ เมื่อเกิดความโกรธ ไม่ถูกใจ
    ถึงแม้เขาจะพูดดี ทำดีก็ตาม..... แต่ไม่ถูกใจ
    ที่จังหวัดยโสธร มีเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า
    เจดีย์ก่อง* (คือ ภาชนะใส่ข้าวเหนียวของอีสาน) ข้าวน้อย
    มีประวัติเรื่องราวเล่าสู่กันมา เพื่อสอนลูกสอนหลานให้
    เห็นโทษของความโกรธ.....

    เรื่องมีอยู่ว่า
    สมัยก่อนนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้น
    ทำมาหากินด้วยความผาสุก
    วันหนึ่ง ลูกชายทำนา เหนื่อยมาก หิวมาก
    แม่ก็จัดอาหารมาให้ตามปกติ มีข้าวเหนียวใส่ก่องมา
    อารามหิวจัดเห็นก่องข้าวก็เกิดความโกรธมาก ด่าว่าแม่

    "ข้าวแค่นี้จะกินอิ่มอย่างไร ทำไมแม่แกล้งเอาข้าวมาให้นิดเดียว
    แม่ไม่รักลูกใช่ไหม.................ฯลฯ................."
    แล้วก็ทำร้ายร่างกายแม่ จนแม่ตายอย่างอเนจอนาถ
    เมื่อฆ่าแม่ทิ้งแล้วก็กินข้าว..... ปรากฏว่า กินข้าวไม่หมดหรอก
    ที่คิดว่าก่องข้าวน้อยมีข้าวเหนียวนิดเดียว..... จะกินไม่อิ่ม
    แต่ความจริง..... มีมากจนกินไม่หมดเลย
    ทีนี้ก็ได้คิด เสียใจที่โกรธโมโห แล้วก็ฆ่าแม่
    แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว
    ลูกชายจึงสร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แม่
    ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า เจดีย์ก่องข้าวน้อย

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติสอนใจเราว่า
    เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ใจเราก็มืดไปหมด
    ตัดสินอะไรก็ไม่ถูกต้อง คิดอะไรก็ผิดหมด

    ลักษณะอย่างนี้ พวกเราประสบในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย

    ลูกชายทำผิด เป็นโทษมหันต์ เพราะคิดผิด
    คิดว่าแม่แกล้ง คิดว่าข้าวจะไม่พอกิน
    ถ้าคิดเป็น ก็จะเห็นเมตตาของแม่
    และไม่รู้สึกว่าข้าวจะไม่พอกิน เพราะจริงๆ ก็พออยู่แล้ว

    เรื่องนี้สอนว่า ทุกข์โทษเกิดเพราะคิดผิด
    อย่าเชื่อความคิด อย่าเชื่อความรู้สึกของตัวเอง



    เขาไม่มีเจตนาร้าย แต่เราไม่ถูกใจในการกระทำ
    คำพูดของเขา..... เราโกรธเขา


    เมื่อเราอยู่ในสังคมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ย่อมมีบ่อยๆ ที่เราไม่ชอบใจ
    ไม่ถูกใจในการกระทำ หรือคำพูดของคนรอบตัวเรา
    ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจในสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่เขาทำ
    เช่นเขาพูดธรรมดาๆ ของเขา ไม่มีเจตนาร้ายต่อเราเลย
    แต่เรารู้สึกเจ็บใจ น้อยใจ ไม่สบายใจ ก็เป็นได้ คิดว่าเขาพูดใส่ร้ายเรา
    เขาพูดไม่ดี เขาพูดให้เราเสียหาย ฉิบหาย เป็นต้น เมื่อเราเจ็บใจก็คิด
    โกรธ คิดปองร้าย หรือน้อยใจ อาจจะตลอดคืน หรือหลายวัน
    บางครั้งหลายสัปดาห์ หลายเดือนก็มี

    ใจเราเดือนร้อนเป็นนรก แต่คนที่เราโกรธ บางทีเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย
    กินสบาย นอนสบาย อยู่สบาย ตามวิถีทางชีวิตของเขา
    ใครฉลาดหรือโง่กว่ากัน สมควรหรือทุกข์อย่างนี้..... คิดดูให้ดีๆ
    นี่ก็ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะคิดผิด

    เราหลงตัวเราอยู่ว่า เราไม่เคยทำให้ใครหนักใจ ไม่เคยทำ
    ความลำบากใจให้ใคร ไม่เคยเบียดเบียนใครเลย
    อาจจะจริงอยู่ตรงที่ว่าเราไม่มีเจตนาเบียดเบียนใคร แต่คนที่ไม่ชอบใจ
    โกรธ ทุกข์ กับสิ่งที่เราทำ เราพูด ก็มีเหมือนกัน อาจจะมีหลายอย่าง
    ด้วยซ้ำไป..... แต่เราไม่รู้
    ต่างคนต่างเป็นทุกข์ซึ่งกันและกัน อย่างนี้
    ถ้าเราเห็นความโง่ของตัวเองได้ ก็จะปล่อยวางทุกข์ได้
    ให้อภัยเขาได้ เห็นใจเขาได้


    บางทีเขาทำผิดจริงๆ แต่ถ้าเราคิดเป็น
    เราก็จะไม่โกรธหรอก


    เขาทำแก้วแตก เขาพูดไม่ไพเราะ เขาขี้เกียจ เขาทำงานไม่ดีเลย
    เราต้องระวังใจ อย่าโกรธเลย
    ความผิดของเขา เอาไว้เป็นความผิดของเขา
    อย่าให้เป็นความผิดใจของเราเลย
    อย่าให้ทำลายจิตใจของเรา อย่าให้ใจเสีย อย่าเสียใจเลย

    โกรธเขาเมื่อไหร่ เราผิดทันที
    เป็นบาป เป็นอกุศล
    บาปกว่าเขา โง่กว่าเขาซ้ำไป
    คิดดู พินิจพิจารณาดีๆ นะ
    สมมุติว่า เขาทำแก้วแตกโดยความประมาท
    เราโกรธ เดือดร้อน ใจเป็นนรก
    ถ้าขาดใจตายเดี๋ยวนี้..... เป็นทุคติ ตกนรกจริงๆ ด้วย
    ถ้าเขาตายเดี๋ยวนี้..... เขาไม่เป็นอะไร
    ทำแก้วแตก ไม่เป็นเหตุให้ตกนรกหรอก

    แต่โกรธ เป็นเหตุให้ตกนรกได้นะ
    คิดดู ใครผิด ใครโง่ ใครบาปมากกว่ากัน
    เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็จะเกิดความละอาย ไม่กล้าโกรธ
    คือ เกิดหิริโอตตัปปะ เกิดศีล บรรเทาทุกข์ได้และ
    ดับทุกข์ได้ในที่สุด คิดถูกดับทุกข์ได้..... ดังนี้


    เราทำเขาก่อน

    เราไม่ได้ทำอะไรเขา ไม่ได้เบียดเบียนเขาเลย
    หรือ เราพยายามทำดีกับเขาตลอด
    แต่เขาไม่ตอบสนองความดีของเราเลย
    เอารัดเอาเปรียบเราอยู่เรื่อยๆ
    ทำให้เรารู้สึกว่า

    ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีมีถมไป
    ไม่มีความยุติธรรมในโลก.....


    มีเรื่องหนึ่งที่น่าคิด..... น่าพิจารณาดู
    สมัยก่อนนานมาแล้ว สมเด็จโตยังมีชีวิตอยู่ เป็นเจ้าอาวาส
    ที่วัดระฆัง มีพระ 2 องค์ สมมุติเรียกว่าพระ น. (นั่งด้านหน้าของเรือ)
    กับพระ ล. (นั่งด้านหลัง) สมัยนั้นพระลงเรือบิณฑบาต พระ 2 องค์นี้
    นั่งเรือลำเดียวกันไปบิณฑบาต พระ น. นั่งข้างหน้า พระ ล. เอาพาย
    ตีพระ น. พอกลับถึงวัด พระ น. ฟ้องสมเด็จโตว่า
    ท่านไม่เคยทำผิดอะไรเลย แต่อยู่ดีๆ พระ ล. ก็มาตีท่าน

    สมเด็จโตว่า "พระ น. ทำผิดก่อน"
    พระ น. ก็ไม่สบายใจเลยคิดว่า สมเด็จฯ ลำเอียงรักพระ ล.มากกว่า
    ไม่ยุติธรรม พระ น. คิดแล้วก็ไม่สบายใจ ท่านเองเป็นพระน้อย
    เจ้าอาวาสสมเด็จโตเป็นพระผู้ใหญ่ ท่านทำอะไรก็ไม่ได้..... ทุกข์อยู่
    อย่างนั้น ในที่สุดก็เล่าเรื่องให้พระสมเด็จอีกองค์ฟังและขอให้ช่วยจัดการ

    วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสพบกัน ท่านสมเด็จก็ตักเตือน
    สมเด็จโตไม่ควรลำเอียง ท่านควรรักษาความยุติธรรม
    ใครผิดก็ว่าผิด ควรรักลูกวัดเสมอกัน
    สมเด็จโตก็กระซิบท่านว่า "ท่านเชื่อกรรมในชาติก่อนไหม"
    ท่านสมเด็จก็เงียบไป.....

    นั่นแหละคือเหตุที่สมเด็จโตตัดสินว่า
    พระ น. ผู้ถูกตี ผิดก่อน ทำเขาก่อน ..... เป็นวิบากกรรม

    ถ้าเราศึกษาพุทธประวัติ ก็มีเรื่องราวมากมาย
    พระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต ก็หลายภพหลายชาติ
    แม้แต่พระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    เป็นพระอรหันต์และพระปัญญาธิคุณท่านบริสุทธิ์แล้ว
    ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
    ก็ยังถูกแกล้งอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะจากท่านเทวทัต
    นอกจากนั้น ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวหาพระองค์ท่านต่อหน้า
    ชุมชนว่าท่านทำให้เขาท้อง บางครั้งพระองค์ก็ถูกด่า ถูกนินทา
    จากคนทั้งเมืองก็มี ล้วนแต่วิบากกรรมทั้งนั้น
    และในที่สุดแต่ละคนก็รับผลกรรมไปเอง

    ฉะนั้นเมื่อเราประสบปัญหาลักษณะนี้
    เมื่อเราถูกแกล้ง หรือรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เสียเปรียบ ฯลฯ
    ให้รีบตั้งสติ พยายามรักษาใจของตนก่อน
    ทำใจให้เข้มแข็งแล้วตรวจตราดูว่า ตั้งแต่รู้จักเขา
    เราทำอะไร พูดอะไรผิดพลาดตรงไหน

    ขอให้ติเตียนตัวเองให้มาก
    เพื่อจะได้แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตัวเอง
    เพราะ โดยมาก เราก็ผิดก่อน ทำก่อน บกพร่องก่อน......
    ......ในชาติก่อนๆ นี่แหละ
    เมื่อเราแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตัวเองได้

    เขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเอง และในที่สุด
    ก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้

    เป็นสามีภรรยาที่รักกัน
    เป็นพ่อแม่ลูกที่รักกัน
    เป็นพี่น้องที่รักกัน
    เป็นเพื่อนฝูงที่รักกัน ฯลฯ นี่แหละ

    แต่บางครั้งวิบากกรรมจริงๆ จากชาติก่อนๆ ก็มีบ้าง
    อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ด้วยใจเป็นธรรม เป็นศีล

    แต่ระวัง อย่าประมาทนะ
    อย่าถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นวิบากกรรม แล้วไม่ทำอะไร ไม่ปฏิบัติ
    ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ
    สิ่งที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่มาจากเหตุในอดีต
    อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
    ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
    เพราะฉะนั้นปัจจุบันเป็นที่รวมของเหตุและผล

    เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ศึกษาปัจจุบัน
    เมื่อเข้าใจปัจจุบัน ก็คือเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
    ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้รักชีวิตของตนและผู้อื่น
    เมื่อประสบเหตุการณ์เลวร้าย ร้ายแรง ขนาดไหนก็ตาม
    จงตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้อง ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้
    หมายความว่า ตั้งอยู่ในเหตุที่ดี เหตุที่ถูกต้อง
    คือศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

    คอยเตือนใจเสมอๆ ด้วยพุทธพจน์ว่า
    พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
    พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
    พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
    พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์

    ต้องเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่าง

    เมื่อเราหลายคนอยู่ด้วยกัน การเกิดอารมณ์ ความรู้สึก
    และทิฏฐิ ต่างๆ กัน ก็เป็นธรรมดา นานาจิตตัง

    ประสบการณ์เดียวกัน เรื่องเดียวกัน
    แต่ต่างคนต่างมีความรู้สึกต่างกัน
    มีความคิด มีทิฏฐิต่างกัน..... ก็เป็นเรื่องธรรมดา

    เราจึงควรระวังความรู้สึก ความคิด ทิฏฐิของตนเอง
    และเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกัน
    คนแต่ละคนก็เหมือนอาหารแต่ละชนิด สมมุติเป็นอาหารนานานชาติ
    ก็ได้ เช่น อาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อินเดีย อิหร่าน
    เป็นต้น มีคุณภาพ มีรสชาติ มีเอกลักษณ์ของเขา แล้วแต่ใครชอบ
    แบบไหน บางคนชอบอาหารไทย บางคนชอบอาหารญี่ปุ่น

    อาหารที่เราชอบ รับประทานแล้วอร่อย แต่ไม่มี
    คุณภาพทางอาหาร ก็มีมาก บางอย่างมีโทษต่อ
    ร่างกายก็มี เช่น ไขมันมาก น้ำตาลมาก เป็นต้น
    อาหารบางอย่างไม่อร่อย เราไม่ชอบ
    แต่มีคุณภาพทางอาหาร มีประโยชน์แก่เรา ก็มีมาก
    อาหารที่เราไม่ชอบเลย รับไม่ได้เลย
    แต่คนอื่นเขาก็ชอบกันเป็นหลายล้านคนก็มี
    ถ้าเราเป็นคนกินง่าย อยู่ที่ไหนก็มีความสุข
    ไปเที่ยวที่ไหนก็สนุกสนาน อยู่กับใครก็อยู่ได้ด้วยสันติสุข

    คนเราก็เหมือนกับอาหารนี่แหละ แต่ละคนก็มีรสชาติ
    และอุปนิสัยแตกต่างกัน เหมือนรสชาติของอาหารที่ต่างๆ กันไป
    คนที่เราไม่ชอบเลย เขาก็อาจจะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง
    ที่รักเขาชอบเขามากมาย แต่เราอาจจะไม่ชอบเขา
    เพราะอุปนิสัยที่สั่งสมมาไม่เหมือนกัน จึงต้องระวัง

    ชอบ ไม่ชอบ เป็นอารมณ์เฉพาะของเราเท่านั้น
    ไม่ใช่ว่าถ้าเราชอบ ก็ดี ก็ถูก
    ถ้าเราไม่ชอบ ก็ไม่ดีเสมอไป ก็ไม่ใช่
    อย่าเอาความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของเรามาตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี
    เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เหมือนกับอาหารนั่นแหละ

    บางคน เราอาจจะไม่ชอบเลย รับไม่ได้เลย
    แต่มีคนชอบเขาเป็นล้านๆ คนก็มี
    อย่า..... เอาความรู้สึกมาตัดสิน..... อันตรายมาก
    อย่ายึดมั่นถือมั่น
    อย่าเชื่อความรู้สึกของเรามากเกินไป
    ระวังความรู้สึกของเราเอง
    ทำอะไรก็ทำด้วยสติปัญญา..... ใจเย็น ใจเย็น ตัดสินด้วยสติปัญญา
    อย่าตัดสินด้วยอารมณ์ ความรู้สึกชอบ..... ไม่ชอบ


    ใครทำชั่ว
    ให้ธรรมชาติของกฎแห่งกรรมลงโทษเขาเอง


    โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว เข้าไปก่อเวรก่อกรรมกับเขา
    เมื่อเรายังไม่มีปัญหาแจ่มแจ้ง เราก็จะมีความรู้สึกว่า
    มันไม่น่าจะถูกต้อง ที่คนทำชั่ว ทำผิด ไม่ได้ถูกลงโทษ
    แต่อาจจะได้ ลาภ ยศ สรรเสริญเสียอีก

    จิตใจของเราก็คอยแต่จะคิดหาความชอบธรรม
    ต้องการให้เขาถูกลงโทษ คิดแต่อยากจะให้เขาถูกลงโทษ
    หรือแม้แต่คิดจะลงโทษเขาเอง เช่น ทำให้เจ็บใจ ทำลาย
    ลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือแม้แต่จะทำลายชีวิตเขา เป็นต้น

    อันนี้ผิดมาก..... อันตรายมาก
    เป็นการก่อเวร ก่อกรรม หลายภพหลายชาติต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด

    เมื่อเรารักชีวิตของตน ต้องการหาความสุข
    ควรหยุดลงที่นี่ เดี๋ยวนี้
    ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา
    ให้อภัย เมตตา และปล่อยวาง
    แม้แต่เขาดูเหมือนว่าจะทำชั่วได้ดีก็ตาม
    มันนี้ไม่พ้นกฎแห่งกรรม
    ทำชั่วต้องได้ชั่วแน่นอน

    เมื่อเวลาผ่านไปๆ ถึงเวลาแล้ว มันก็จะผลิตผลของมันเองตามเหตุ
    ปัจจัย เราไม่ต้องเบียดเบียนเขาด้วยกาย วาจา จิตของเราเองเลย

    จำไว้ดีๆ นะ..... ทุกอย่างที่เราทำ เราพูด เราคิด
    เกี่ยวกับเขา นินทาเขา.....
    ทุกอย่างจะต้องกลับมาหาเราหมด..... ไม่ช้าก็เร็ว




    ทำอย่างไรกับความโกรธ

    เมื่อเราโกรธ เราผิดทันที
    ขาดศีล..... เกิดยินร้าย
    ไม่มีหิริโอตตัปปะ คือความละอายแก่ใจ และความกลัวบาป
    ไม่มีเมตตา..... ทำลายทั้งตัวเอง และคนอื่น
    ใจมืด ไม่มีปัญญาที่จะแก้ปัญหาได้
    ไม่มีความยุติธรรม เข้าข้างตัวเองตลอด
    ยิ่งคิด ยิ่งยุ่ง

    ให้ตั้งสติ ตั้งขันติ
    หยุดคิดก่อน ทวนกระแส
    อย่าคิดตามอารมณ์
    ไม่ต้องคิดว่า ทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้น
    ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น เขาไม่น่าจะทำอย่างนั้น
    เขาน่าจะทำอย่างนี้ ฯลฯ

    โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูใจของตัวเองนี่แหละ
    อย่าเชื่อความรู้สึกของตัวเอง..... อันตรายมาก
    ชอบ ไม่ชอบ เป็นอารมณ์เฉพาะของเราเท่านั้น
    เอาความชอบหรือไม่ชอบมาตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดีไม่ได้
    ถ้าคิดไปปรุงไปก็จะเกิดภพ เกิดชาติ เกิดอัตตาตัวตน

    พยายามตั้งสติปัญญา พิจารณาด้วยความสุขุมว่า
    ไม่แน่ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
    ให้ระงับอารมณ์ให้เป็นปกติก่อน
    เมื่อจิตใจกลับมาสภาพปกติ..... สงบแล้ว
    จึงพิจารณาเหตุการณ์ภายในภายนอกด้วยความเป็นกลาง
    และด้วยความยุติธรรม เห็นชัดเจน
    จนเกิด หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความกลัวต่อบาป
    เห็นว่าศัตรูที่แท้อยู่ที่นี่เอง..... คือความยินร้าย ความโกรธ
    กิเลสของเราเองนี่แหละ แล้วเห็นโทษของความโกรธ

    เมื่อหิริโอตตัปปะแก่กล้า
    ก็จะเกิดเป็นกำลัง เป็นพละ เป็นกองทัพ คอยรักษาใจ
    คือ สติ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ และสมาธิ

    เมื่อเรารู้ว่า ความโกรธไม่ดี ใครโกรธเราก็อย่ารับเอา
    และอย่าโกรธเองเลยในทุกสถานการณ์............... เอวัง


    [​IMG]

    ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=574
     

แชร์หน้านี้

Loading...