ทุกข์เพราะคิดผิด (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 20 พฤษภาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    [​IMG]

    ทุกข์เพราะคิดผิด
    โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

    วัดป่าสุนันทวนาราม
    บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี





    ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง มักได้ยินหลวงพ่อฯ พูดเสมอว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด คิดถูกดับทุกข์ได้” ผู้จัดทำเห็นว่าเหมาะเจาะรัดกุมดี อีกทั้งมีความหมายสมบูรณ์ในตัว จึงได้กราบมนัสการขอนำมาเป็นชื่อหนังสือว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด”

    ท่านพระอาจารย์มิตซูโอะ ผู้เป็นศิษย์ในหลวงพ่อชาฯ อบรมญาติโยมและศิษยานุศิษย์ตามแนวเดียวกัน ได้อธิบายว่า “คนเราส่วนมากหรือเกือบทุกคนที่เป็นทุกข์กันอยู่ก็เพราะ คิดผิด คิดไม่เป็นนี่แหละ แล้วที่สำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าเราคิดผิด ไม่รู้ว่า คิดถูก นั้นเป็นอย่างไร เราคิดว่าเราคิดถูกแล้วอยู่ร่ำไป” คำว่า คิดผิด กับ คิดถูก นี้น่าศึกษาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ฯ บอกว่า “มันเป็นเรื่องต้องเปลี่ยน ความเห็นผิด ให้เป็น ความเห็นถูก ทีเดียว และมันจะเกิดผลก็ต่อเมื่อเราพยายามลดละมานะทิฏฐิ ยอมรับฟัง แล้วก็โยนิโสมนสิการ พิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผลและปฏิบัติภาวนา น้อมเข้ามาดูกาย..... ดูใจ..... จนเห็นตามความเป็นจริง”..... ถ้าทำอย่างนี้ทิฏฐิจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง เมื่อเกิดหิริโอตตัปปะภายในจิตใจ เห็นโทษของความคิดผิด ที่เคยคิดผิด ก็จะคิดถูกได้ และเมื่อนั้นเราก็จะสบายขึ้น..... สบายขึ้นตามลำดับ





    อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น
    ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ
    หลวงพ่อ (พระโพธิญาณเถร) บอกว่า
    "ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90 % ดูตัวเองแค่ 10 %"

    คือคอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น
    คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น

    กลับเสียใหม่นะ
    ดูคนอื่นเหลือไว้ 10 %
    ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น
    คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร
    เพื่อเอามาสอนตัวเองนั่นแหละ
    ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90 %
    จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่


    ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง
    โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น
    ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา
    ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม

    มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย
    เราจึงต้องระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ

    เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10
    เห็นความผิดตัวเอง ให้คูณด้วย 10
    จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม
    เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ
    และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
    แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั่นแหละ

    พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น
    ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั่นแหละมากๆ
    เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ
    แล้วก็เกิดอารมณ์ร้อนใจ

    ยังไม่ต้องบอกให้เขาแก้ไขอะไรหรอก
    รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน
    เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่า ใจเย็นๆ ไว้ก่อน
    ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่..... ไม่แน่
    อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้
    เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้
    สักแต่ว่า..... สักแต่ว่า..... ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด

    ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน
    เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว
    จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความเห็น
    พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา
    ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด
    ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น
    ทำให้เสียความรู้สึกของตัวเอง
    ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
    มักจะเสียประโยชน์ซ้ำไป

    เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน
    ก็สงบๆ ๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆ ๆ
    ดูแต่ตัวเรา ระวังความรู้สึก ระวังอารมณ์ของเราเองให้มากๆ
    พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา..... นั่นแหละ

    เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน
    เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา
    ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งกับเรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ
    หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราหมด
    มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน
    อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง

    ระวังนะ
    พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้เป็นปกติให้มาก
    ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา
    แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา..... ก็เรื่องของเขา
    อย่าเอามาเป็นอารมณ์
    อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา


    ดูใจเรานั่นแหละ
    พัฒนาตัวเองนั่นแหละ
    ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ
    หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั่นเอง
    ไม่มีอะไรหรอก
    ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา
    คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข


    เขาทำดี พูดดี แต่เราโกรธ

    ความโกรธเหมือนไฟไหม้ป่า
    มีอะไรขวางหน้าก็เผาหมดเลย ไม่เลือกหน้า
    เมื่อจิตใจของเราถูกความโกรธครอบงำแล้ว
    สติปัญญาหายหมด..... มืดหมด..... เป็นบ้าแล้ว

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "คนโกรธย่อมฆ่าได้แม้มารดาของตนเอง"

    คนที่เรารักที่สุด เราก็ฆ่าได้ เมื่อเกิดความโกรธ ไม่ถูกใจ
    ถึงแม้เขาจะพูดดี ทำดีก็ตาม..... แต่ไม่ถูกใจ
    ที่จังหวัดยโสธร มีเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า
    เจดีย์ก่อง* (คือ ภาชนะใส่ข้าวเหนียวของอีสาน) ข้าวน้อย
    มีประวัติเรื่องราวเล่าสู่กันมา เพื่อสอนลูกสอนหลานให้
    เห็นโทษของความโกรธ.....

    เรื่องมีอยู่ว่า
    สมัยก่อนนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้น
    ทำมาหากินด้วยความผาสุก
    วันหนึ่ง ลูกชายทำนา เหนื่อยมาก หิวมาก
    แม่ก็จัดอาหารมาให้ตามปกติ มีข้าวเหนียวใส่ก่องมา
    อารามหิวจัดเห็นก่องข้าวก็เกิดความโกรธมาก ด่าว่าแม่

    "ข้าวแค่นี้จะกินอิ่มอย่างไร ทำไมแม่แกล้งเอาข้าวมาให้นิดเดียว
    แม่ไม่รักลูกใช่ไหม.................ฯลฯ................."
    แล้วก็ทำร้ายร่างกายแม่ จนแม่ตายอย่างอเนจอนาถ
    เมื่อฆ่าแม่ทิ้งแล้วก็กินข้าว..... ปรากฏว่า กินข้าวไม่หมดหรอก
    ที่คิดว่าก่องข้าวน้อยมีข้าวเหนียวนิดเดียว..... จะกินไม่อิ่ม
    แต่ความจริง..... มีมากจนกินไม่หมดเลย
    ทีนี้ก็ได้คิด เสียใจที่โกรธโมโห แล้วก็ฆ่าแม่
    แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว
    ลูกชายจึงสร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แม่
    ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า เจดีย์ก่องข้าวน้อย

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติสอนใจเราว่า
    เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ใจเราก็มืดไปหมด
    ตัดสินอะไรก็ไม่ถูกต้อง คิดอะไรก็ผิดหมด

    ลักษณะอย่างนี้ พวกเราประสบในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย

    ลูกชายทำผิด เป็นโทษมหันต์ เพราะคิดผิด
    คิดว่าแม่แกล้ง คิดว่าข้าวจะไม่พอกิน
    ถ้าคิดเป็น ก็จะเห็นเมตตาของแม่
    และไม่รู้สึกว่าข้าวจะไม่พอกิน เพราะจริงๆ ก็พออยู่แล้ว

    เรื่องนี้สอนว่า ทุกข์โทษเกิดเพราะคิดผิด
    อย่าเชื่อความคิด อย่าเชื่อความรู้สึกของตัวเอง



    ที่มา ::
     
  2. natspdo

    natspdo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,041
    ค่าพลัง:
    +1,505
    ทุกข์เพราะคิดผิด เป็นที่มองเห็นยากเพราะมีมานะและอัตตา

    น้อยคนที่จะยอมรับว่าคิดผิดความทุกข์ที่อยู่ตรงหน้ายังมองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์เลยบางครั้งก็เป็นกรรมของแต่ละคน หากมาย้อนดูจิตตนเองตามความเป็นจริง มีมานะและอัตตาเบียดบังปัญญาเราหรือมีกิเลสกำลังหลอกเราอยู่ เราอาจมองไม่เห็น
     

แชร์หน้านี้

Loading...