ท่านว่าเรื่องทั้ง ๔ นี้เป็นอจินไตย ใครคิดมากต้องการรู้ด้วยเหตุผลอาจเป็นบ้าได้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Saber, 10 มิถุนายน 2020.

  1. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,942
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    ผู้สละโลก

    สรทดาบสเห็นอานุภาพของอาคันตุกะ และเพ่งพินิจสง่าราศีแห่งพระพุทธสรีระแล้ว ระลึกถึงวิชาดูลักษณะคนที่ตนช่ำชองอย่างดี ก็ได้ทราบด้วยปัญญาญาณว่า อาคันตุกะผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถอดถอนกิเลสทั้งปวงออกจากจิตได้แล้ว จึงถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์*๕ จัดอาสนะถวาย ตนเองนั่งบนอาสนะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ด้อยกว่า

    ขณะนั้นชฎิลบริวารของสรทดาบสจำนวนมาก กลับจากหาผลาผล ได้เห็นอาจารย์ของตนนั่งแสดงความเคารพอาคันตุกะผู้หนึ่งอยู่ เกิดความประหลาดใจจึงกล่าวว่า พวกเราเข้าใจว่า ในโลกนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มี บุรุษผู้นี้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์หรือ ? สรทดาบสตอบว่า “ท่านทั้งหลายอย่านำเม็ดทรายไปเทียบกับภูเขาสิเนรุราชเลย เราเป็นเสมือนเม็ดทราย ส่วนท่านผู้นี้เป็นเสมือนสิเนรุราชบรรพต พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า”

    บริวารของสรทดาบสแน่ใจว่า อาคันตุกะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วไฉนเล่าอาจารย์ของพวกตนจึงแสดงอาการกายและวาจาเช่นนั้น จึงพร้อมกันหมอบลงแสดงความเคารพ

    สรทดาบสล้างมืออย่างดี แล้วนำเอาผลไม้ที่มีรสดีวางลงในบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังทรงทำภัตกิจท่ามกลางการแวดล้อมของชฎิลบริหารของสรทดาบส และทรงปราศรัยอยู่กับสรทดาบสนั่นเอง ทรงดำริว่า “ขอให้อัครสาวกของเราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงมา”

    พระอัครสาวกทั้งสองทราบพระดำริของพระศาสดาด้วยโทรจิต*๖ แล้วรีบมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร ยืนถวายบังคมอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง

    สรทดาบสสั่งให้ชฎิลบริวารผู้ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ไปนำดอกไม้จากป่าใหญ่ มาทำอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้า พระอัครสาวกและภิกษุสงฆ์ทั้งมวล อาสนะดอกไม้สำเร็จโดยรวดเร็ว ด้วยอำนาจฤทธิ์ของผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย

    ภราดา ! วิสัยสามารถแห่งเด็กเล็กกับวิสัยสามารถแห่งผู้ใหญ่ ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ และกำลังปัญญา ย่อมแตกต่างกันมากฉันใด วิสัยสามารถแห่งสามัญชนกับท่านผู้สำเร็จแล้วทางอภิญญาสมาบัติ ก็แตกต่างกันมากฉันนั้น ท่านจึงเตือนไว้ว่า สามัญชนไม่ควรคิดมากในเรื่องต่อไปนี้คือ

    ๑. วิสัยสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พุทธวิสัย)

    ๒. วิสัยสามารถแห่งผู้ได้ฌานสมาบัติ (ฌานวิสัย)

    ๓. วิสัยแห่งกรรมและผลของกรรม (กัมมวิปากวิสัย)

    ๔. ความคิดถึงความเป็นมาของโลก (โลกจินตา)

    ท่านว่าเรื่องทั้ง ๔ นี้เป็นอจินไตย ใครคิดมากต้องการรู้ด้วยเหตุผลอาจเป็นบ้าได้

    ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ? คำตอบก็คือว่า บางอย่างเรารู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส*๗ ธรรมดา เช่น รูปที่หยาบรู้ด้วยตาเนื้อ เสียงที่หยาบรู้ด้วยหูเนื้อ สัมผัสที่หยาบรู้ด้วยกายเนื้อ เป็นต้น บางอย่างเรารู้ได้ด้วยเหตุผล *๘ เช่นความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว เป็นต้น แต่บางอย่างเราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและด้วยเหตุผล แต่รู้ได้จริง ๆ ด้วยญาณวิเศษ*๙ ของท่าน.. ผู้ที่มีจิตใจประณีตจนมีญาณเกิดขึ้น เช่น ทิพยจักษุญาณ เป็นต้น สามารถเห็นกายทิพย์ที่จักษุธรรมดาเห็นไม่ได้

    ภราดา ! สรุปว่า สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งผัสสะ เรารู้ได้ด้วยผัสสะ สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งเหตุผล เรารู้ได้ด้วยเหตุผล ส่วนสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งญาณ ก็ต้องรู้ด้วยญาณ แม้ในเรื่องผัสสะนั่นเอง ก็ต้องจับให้ถูกคู่ของมันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ผิดคู่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เอาตาไปชิมแกง เอาลิ้นไปดูรูป เป็นต้น

    ตลอดเวลา ๗ วันที่พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สำนักของสรทดาบสนั้น สรทดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้ถวายด้วยปีติปราโมทย์ มีความสุขตลอด ๗ วัน และ ๗ วันนั้น พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกรวมทั้งพระสาวกอรหันต์ได้เข้านิโรธสมาบัติ เพื่อให้สักการะของสรทดาบสและชฎิลบริวารมีอานิสงส์มาก

    ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ รับสั่งให้อัครสาวกนามว่าพระนิสภะอนุโมทนา และรับสั่งให้พระอัครสาวกอีกรูปหนึ่งคือพระอโนมเถระแสดงธรรม แต่ไม่มีใครได้สำเร็จมรรคผลเลย พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมเอง ชฎิลบริวารของสรทดาบสได้สำเร็จอรหัตผลหมด ส่วนท่านสรทะไม่ได้สำเร็จ เพราะมีจิตฟุ้งซ่านอยู่ตั้งแต่เริ่มฟังอนุโมทนาของพระอัครสาวก จนถึงฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า จิตของท่านวนเวียนอยู่ว่า “ไฉนหนอ เราจะพึงได้รับภาระเช่นนี้บ้างจากพระพุทธเจ้า ซึ่งจะบังเกิดขึ้นในอนาคต

    สรทดาบสจึงตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า “พระเจ้าข้าด้วยกุศลกรรมครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะหรือความเป็นพรหม แต่ข้าพระองค์ปรารถนาเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระ”

    พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปในอนาคต ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า “ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคต ท่านจักเป็นอัครสาวกที่หนึ่งนามว่าสารีบุตร จักเป็นผู้สามารถหมุนธรรมจักรได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า จักเป็นผู้มีปัญญามาก บรรลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีญาณ

    เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว สรทดาบสรีบไปหาสิริวัฑฒนะผู้สหาย เล่าเรื่องทั้งปวงให้ฟัง และขอร้องให้สิริวัฑฒนะปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

    สิริวัฑฒนะเชื่อท่านสรทดาบส จึงเตรียมมหาทานถวายภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วันแล้ว ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

    พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องปุพพจริยาของอัครสาวกทั้งสองจบลงแล้ว ตรัสเพิ่มเติมว่า
    “ภิกษุทั้งหลาย ! นี่คือความปรารถนาที่บุตรของเราตั้งไว้แล้วในครั้งนั้น บัดนี้ เธอทั้งสองได้ตำแหน่งนั้นตามปรารถนาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่


    ภราดา ! ความพยายามและความปรารถนาของบุคคลผู้ทำความดี สั่งสมกรรมดีนั้นไม่เคยไร้ผล มันจะคอยจังหวะให้ผลในโอกาสอันควรอยู่เสมอ แต่เนื่องจากคนบางคนขณะพยายามเพื่อทำกรรมดี สั่งสมกรรมดีอยู่นั้น ก็ให้โอกาสแห่งความชั่วแทรกแซงเข้ามาเป็นระยะ ๆ เมื่อเป็นดังนี้ ผลแห่งกรรมดีก็ถูกขัดขวางเป็นระยะ ๆ เหมือนกัน ไม่มีโอกาสให้ผลได้เต็มที่

    อนึ่ง ความพยายามเพื่อเอาชนะความชั่วในตนนั้น จัดเป็นความพยายามที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ เราจะต้องพยายามไปตลอดชีวิต ชีวิตเดียวไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ต้องพยายามกันชาติแล้วชาติเล่า โดยหาวิธีให้จิตค่อยเจริญขึ้นทีละเล็กละน้อย ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า “มหาสมุทร *๑๐ ลึกลงโดยลำดับ ลาดลงโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาดฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาตามลำดับ (อนุปุพพสิกขา) มีการกระทำตามลำดับ (อนุปุพพกิริยา) มีการปฏิบัติตามลำดับ (อนุปุพพาปฎิปทา)”

    ความเจริญที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ นั้นจะช่วยให้เราเอาชนะความคิดและนิสัยที่ชั่วช้าได้ทีละน้อย ถ้าเร่งเกินไป อาจทำให้ฟุ้งซ่าน เกิดภาวะความขัดแย้งมากมายในใจ

    ความรู้หรือการให้อาหารแก่ใจ ก็ทำนองเดียวกับการให้อาหารแก่ร่างกาย ต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยทีละขั้น อาหารที่ย่อยดีจึงจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ความรู้ความเข้าใจที่ย่อยดีแล้วจึงจะเป็นประโยชน์แก่ดวงจิต ในการนี้ ความอดทนเป็นคุณธรรมที่จำเป็นจริง ๆ ปราศจากความอดทนเสียแล้วก็ทำไปไม่ได้ตลอด อาจทอดทิ้งเสียกลางคัน

    ช่างฝีมือบางพวก เมื่อจะทำงานสำคัญบางชิ้น เค้าจะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตทีเดียวเพื่องานนั้น นักปราชญ์ผู้แสวงหาปัญญา จะใช้ชีวิตทั้งชีวิตเหมือนกันเพื่อให้รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเพื่อให้ชีวิตก้าวไปสักขั้นหนึ่งในทางปัญญา แม้จะเป็นขั้นเล็ก ๆ ก็ตาม แล้วไปต่อเอาชาติหน้าอีก ความพยายามของเราจะต้องเป็นไปติดต่อ (วิริยารัมภะ) ซื่อสัตย์และเอาจริง ผลจะต้องมีอย่างแน่นอน แม้จะช้าสักหน่อยก็ตาม

    ด้วยเหตุนี้ โชคชาตาของแต่ละคนจึงเป็นผลรวมแห่งการกระทำในอดีตของเขา ความสามารถทางจิต สภาพทางกาย อุปนิสัยทางศีลธรรม และเหตุการณ์สำคัญในชาติหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นผลรวมแห่งความปรารถนา ความคิด ความตั้งใจของเราเองในอดีต ความต้องการในอดีตของเรา.. เป็นสิ่งกำหนดโอกาสในปัจจุบันให้เรา ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอย ๆ สภาพปัจจุบันของเราจึงเป็นผลแห่งการกระทำ ความคิด และความต้องการของเราในอดีต ไม่เฉพาะแต่ในชาติก่อนเท่านั้น แต่หมายถึงในตอนต้น ๆ แห่งชีวิตในชาตินี้ของเราด้วย

    จึงสรุปได้ว่า ทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลแห่งสิ่งที่เราเคยคิดไว้

    “สิ่ง*๑๑ ทั้งปวงมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจเศร้าหมอง การทำและการพูดก็เศร้าหมอง ความทุกข์จะตามมา ถ้าใจผ่องแผ้ว การทำและการพูดก็สะอาดบริสุทธิ์ ความสุขจะตามมา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค หรือเหมือนเงาตามตัว”

    ภราดา ! พระตถาคตเจ้าตรัสไว้อีกว่า
    “จิต*๑๒ ที่ตั้งไว้ถูก ย่อมอำนวยผลดีให้สุดจะคณนา อย่างที่มารดาบิดาหรือญาติไม่อาจมอบให้ได้ ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมทำให้บุคคลนั้นย่อยยับป่นปี้ยิ่งเสียกว่าศัตรูคู่เวรทำให้”



    ดังนั้น การบำรุงรักษาใจให้ดี จึงมีคุณแก่บุคคลผู้บำรุงรักษายิ่งกว่าการบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ เพราะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์

    ===============================

    *๑๐ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๕๒ ข้อ ๑๑๗

    *๑๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๔ ข้อ ๑๑

    *๑๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๐ ข้อ ๑๓

    ที่มา https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6894&page=3
     

แชร์หน้านี้

Loading...