ท่าน ว.วชิรเมธี ปั้นโครงการ “กะทิกะธรรม” ปลูกสำนึกเยาวชน “ความรู้คู่ความดี”

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 9 พฤษภาคม 2011.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 align=center border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top align=middle><TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width=400 border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top align=middle width=400>[​IMG] </TD></TR><TR><TD class=Image vAlign=baseline align=left>ท่าน ว.วชิรเมธีกับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ</TD></TR></TBODY></TABLE></TD></TR><TR><TD vAlign=top align=middle height=5>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>ท่าน ว.วชิรเมธี ปั้นโครงการ “กะทิกะธรรม” ห่วงมีความรู้แล้วโกง คัดเด็กเก่งทั่วประเทศ เข้าโครงการเรียนธรรมะ หวังสร้างเยาวชนมีความรู้-ความดี-มีภาวะผู้นำ-จิตสาธารณะสูง ด้านเยาวชนที่เข้าร่วมเผย ต้องระงับกิเลสด้วยสติปัญญา

    พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน “ว.วชิรเมธี” ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของ “โครงการกะทิกะธรรม” ว่า เกิดขึ้นจากการที่อาตมภาพอยากสร้างคนรุ่นใหม่ที่หัวสมองเชื่อมโยงกับหัวใจ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่พอเป็นความหวังของประเทศได้ อย่างน้อยที่สุด คือ เยาวชนเหล่านี้ต้องมีความรู้ ความดี มีภาวะผู้นำ และจิตสำนึกสาธารณะสูง พระอาจารย์มองว่าเดี๋ยวนี้สังคมไทยขาดสิ่งเหล่านี้มาก ดังนั้น พระอาจารย์จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ 1.มีความรู้ดีจริงๆ รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล 2.มีความดี เพราะถ้ามีความรู้อย่างเดียว แล้วขาดความดี ก็จะใช้ความรู้นั้นไปในทางฉ้อโกง คอร์รัปชัน เอารัดเอาเปรียบ ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะเสียหาย 3.มีภาวะผู้นำ เรามีคนที่มีความรู้แล้ว เรามีคนที่มีความดีขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีภาวะผู้นำ ปล่อยให้คนรอบข้างโกงแต่คุณไม่ว่าอะไร เท่ากับว่าคุณเห็นดีเห็นงามด้วย ถ้าเป็นในทางพระวินัย ต้องอาบัติด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าเราไม่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ต่อไปเขาจะเอาเป็นแบบอย่าง ในฐานะนักสังเกตการณ์สังคม พระอาจารย์ไม่สบายใจกับสภาพแบบนี้กับบ้านเมืองของเรา และ 4.มีจิตสำนึกสาธารณะ บ้านเมืองเราคนที่มีความรู้ ความดี และมีภาวะผู้นำนั้นมีอยู่มาก แต่บางครั้งเราเอาความรู้ ความดี และภาวะผู้นำไปใช้ในทางฉ้อฉล ทุจริต และหาประโยชน์โสตถิผลเข้ากับตัวเองและพวกพ้อง

    “ในฐานะที่เป็นพระ พระอาจารย์คิดว่า ธรรมะนั้นช่วยได้ ก็คิดค่ายกะทิกะธรรมขึ้นมา กะทิก็หมายความว่า คัดเอาเด็กหัวกะทิมาจากทั่วประเทศ กะ ก็คือ แอนด์ ธรรม ก็คือ ธรรมะ เราต้องการให้คนหัวกะทิ ได้มาเรียนรู้ธรรมะชั้นกะทิ เพื่อที่จะได้เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพของสังคมไทย ออกไปทำอะไรให้สังคมไทยให้ดีกว่านี้ น้องๆ ที่มาอยู่ที่นี่ได้เรียนวิชาชีวิต พระอาจารย์เรียกว่าเป็นหลักสูตรวิชาชีวิต ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาวิชา คือ 1.วิชาการ เยาวชนจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร 2. วิชาชีพ การเรียนรู้ว่าถ้าจะทำมาหากินให้ประสบความสำเร็จ เขาเริ่มกันอย่างไร เช่น มาเรียนกับกูรู คุณศุ บุญเลี้ยง คุณบินหลา อาจารย์เฉลิมชัย อาจารย์ถวัลย์ คนเหล่านี้เขาไม่เคยไปรับ ไปชอบ ไปปล้น ไปคอร์รัปชันอะไร เขาค้นพบว่าเขารักอะไรและเขาก็ทำอย่างนั้น เป็นการสุจริตอย่างเปิดเผย ร่ำรวยเงินทอง และยืนอยู่ในสังคมอย่างสง่า เขาไม่เคยต้องคอยหลบตาใคร เพราะว่าเขาหาอยู่หากินอย่างสุจริต ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้เคล็ดลับและได้แรงบันดาลใจจากกูรูเหล่านี้ พระอาจารย์เชื่อว่า ถ้าเยาวชนได้เรียนกับดิไอดอลของเขา ประโยคเดียวก็เปลี่ยน ซึ่งเป็นการเรียนจากแรงบันดาลใจ 3.วิชาชีวิต คือ ศิลปะในการครองตน ครองคน ครองงาน และครองชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งจะอยู่ในกิจกรรมที่พระอาจารย์ถ่ายทอดกลเม็ดเคล็ดลับในทุกกิจกรรม รวมทั้งจะให้ถอดปริศนาธรรมที่อยู่ในศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำคมก็ดี ต้นไม้พูดได้ก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี อิทัปปัจจยตา 12 ก็ดี 4.วิชาจิตภาวนา ซึ่งพระอาจารย์ขอเรียกว่าเป็นวิชากิเลสแมเนจเม้นท์ การรู้จักบริหารจิตใจด้วยการเจริญสติ และเรื่องจริต 6 ศาสตร์ในการรู้จักตนเอง เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสสำรวจตนเองว่ามีจริตอะไร จะได้ไม่เสียเวลา” ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าว

    ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวปิดท้ายว่า “ศาสตร์ของพุทธศาสนา คือ ศาสตร์ที่สอนให้เรารู้จักตนเอง พระอาจารย์จึงนิยาม การศึกษา คือ การตื่นขึ้นมามองเห็นตัวเอง ใครมองเห็นตัวเองก่อน คนนั้นประสบความสำเร็จก่อน แล้วพระอาจารย์ก็เชื่อมั่นว่า น้อง ๆ ที่มาเรียนคอร์สนี้เขาจะได้รู้ว่าพุทธศาสนา คืออะไร จะทำมาหากินให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วจะอยู่ในโลกนี้ต้องใช้ธรรมะข้อใด แล้วพอกิเลสเกิดขึ้นมา ความโลภ ความหลงเกิดขึ้นมา แล้วจะเอาชนะมันได้อย่างไร จึงจะไม่ถูกกิเลสชักนำไปในทางเสียหาย เพราะฉะนั้นทักษะชีวิตเป็นวิชาที่ต้องเรียน แล้วก็ต้องถ่ายทอด แต่จะได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเยาวชนเอง พระอาจารย์เชื่อว่า ถ้าเราเป็นพระจันทร์ เราก็ส่องแสงให้เต็มศักยภาพของเรา มันจะสาดลงตรงไหน พื้นที่นั้นจะได้แสงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเขา ในส่วนของฉัน ฉันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นน้ำก็ไหล เป็นพระจันทร์ก็ส่อง เป็นนกก็ร้องเพลง ทำให้ดีที่สุดในส่วนของเรา”

    ด้านของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ก็ได้สะท้อนแนวคิดและหลักธรรมจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป

    น้องพลอย - น.ส.กมลวรรณ อรุณมณี อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จ.นนทบุรี กล่าวว่า หลักธรรมและข้อคิดที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในความคิดของหนู คือ ความไม่เที่ยง ความประมาท เพราะปกติแล้วคนเราจะมีความประมาทอยู่ในตัว แต่พอมาเรียนที่นี่ พระอาจารย์ก็จะสอนว่าไม่ให้ประมาท ให้อยู่ในทางสายกลาง และวิธีที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต คือเราจะต้องมีธรรมะในใจ เพราะธรรมะเป็นตัวชี้วัด และชี้ทางให้กับเราในการเดินทางไปในสิ่งที่ถูกต้อง

    ด้านน้องมิ้นท์ - น.ส.หญิง ชูศรี อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมัญจาศึกษา จ.ขอนแก่น กล่าวว่า พระอาจารย์ท่านบอกว่า ผู้ยิ่งใหญ่จะไม่วิจารณ์คนอื่น ซึ่งทำให้ได้ข้อคิดที่ดีกับการใช้ชีวิต เพราะการที่เราเป็นวัยรุ่น เรามักชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเป็นประจำ นั่นคือการนินทา พระอาจารย์ท่านสอนว่า เมื่อเราหัดพูดแล้ว ก็หัดไม่พูดบ้าง สำหรับธรรมะที่นำไปใช้ในชีวิต คือ การมีสติกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบกับเรา เราต้องมีสติเสมอ ไม่ปล่อยให้ตนเองเป็นทุกข์หรือเป็นสุข คือตั้งอยู่บนทางสายกลาง คือ ไม่ทุกข์หรือไม่สุข คือมีสติตลอดเวลา

    สำหรับน้องตา - น.ส.นิธินาถ สรรพอาสา อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม จ.บึงกาฬ เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากค่ายนี้ว่า จากที่หนูเคยเป็นเด็กที่ใจร้อน หนูก็ปรับให้เย็นลง พยายามควบคุมลมหายใจเหมือนที่อาจารย์ท่านสอน จะได้เอาสติตรงนี้ไปใช้กับการเรียนของตนเอง สำหรับธรรมะที่อยากบอกเพื่อนๆ ต่อ คือ เรื่องของการเตรียมตัวตาย คนเราไม่มีใครรู้ว่าจะตายเมื่อไร เราควรจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเกิดว่าเราตายมันก็ไม่มีอะไรน่าเสียดาย เราทำดีที่สุดแล้ว

    น้องธีร์ - นายธีรภัทร ทองวิเศษสุข อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม จ.สุพรรณบุรี เล่าว่า ธรรมะที่ผมประทับใจที่สุด ก็คือ พระอาจารย์ท่านบอกว่า จงเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ คือปกติผมจะไม่ค่อยได้พูดกับใคร แต่พอได้มาอยู่ค่ายนี้ก็รู้จักเพื่อน ๆ มากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แล้วก็ตั้งใจว่า จะนำประสบการณ์และธรรมะง่ายๆ ของท่าน ว.วชิรเมธี ไปบอกต่อเพื่อน ๆ บอกต่อพ่อแม่ที่บ้าน คือเป็นการเผยแพร่ความสุข ไปสู่ทุกๆ คน ทั้งนี้ ธรรมะที่ต้องการบอกต่อเพื่อน ๆ สิ่งแรกก็คือ เราจะต้องดูที่ตนเองก่อน ต้องแน่ใจก่อนว่าตนเองเป็นคนดีแล้ว แล้วก็อย่าเพิ่งไปมองคนอื่น ต้องเริ่มพัฒนาจากตนเองก่อน เมื่อพัฒนาตนเองได้แล้ว ก็ค่อยไปมองคนอื่นว่าคนนั้นดี ไม่ดี ซึ่งการพัฒนาตนเองก็มีหลายวิธีหลายแบบ แล้วแต่ว่าเพื่อน ๆ นั้น จะชอบด้านไหน

    น้องยศ - นายยศเฉลิม สุกุ อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย เล่าว่า ผมเขียนเรื่องของหลวงตามหาบัวมา ซึ่งผมบังเอิญไปเปิดเจอในวิทยุ เราก็รู้สึกว่าชอบท่านมาก เป็นการเทศน์ที่เรียกได้ว่าวิเศษ มันทำให้เวลาผมท้อ หรือเวลาผมเหนื่อย เวลาฟังท่านเทศน์แล้วรู้สึกว่า เรามีกำลังใจ อย่างน้อยท่านก็เหนื่อยกว่าเรา กว่าท่านจะมามีความสุข ท่านก็เหนื่อยมาก่อน ทำให้เรามีแรงที่จะสู้กับความทุกข์สู้กับทุกอย่างต่อไป และมีแรงที่จะทำความดีเพื่อท่านด้วย พอได้รู้จักท่านหลวงตามหาบัว หลาย ๆ ท่านคงทราบว่าท่านเป็นพระอริยบุคคล เวลาท่านจะเทศน์ ท่านจะเทศน์ในระดับสูง คือ มรรคผลนิพพานเลย ทีนี้เราก็มองแต่มรรคผลนิพพาน มองแต่การดับกิเลส แต่เราไม่เคยมองว่าก่อนที่เราจะไปถึงการดับกิเลส เรามีความดีเบื้องต้นแล้วหรือยัง หากเรายังไม่มีความดีเบื้องต้น ความเมตตา และความเอื้ออารี แล้วจู่ ๆ เราจะไปดับกิเลสได้อย่างไร ในเมื่อกิเลสพื้นฐานเรายังจัดการไม่ได้ แต่สิ่งที่ท่านเทศน์นั้นเป็นกิเลสระดับสูง ทำให้เรามีเป้าหมายที่รู้ว่า ความทุกข์เกิดจากอะไร โลกนี้เป็นอย่างไร เหมือนเราอยู่ในที่สูงแล้วเรามองเห็นทุกอย่าง แต่การมาร่วมกิจกรรมในค่ายนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้สอนความดีเบื้องต้น ความเมตตากรุณา เมื่อเรามีสติ ความระลึกได้ มีสติ ความรู้ตัว รู้ในปัจจุบันขณะ ความเมตตาเบื้องต้น การให้ทาน การรักษาศีล เราก็สามารถต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยเอาของหลวงตามหาบัวมาต่อยอด ธรรมะที่ผมได้เรียนรู้จากค่ายนี้ คือ มันมีความชั่วที่แฝงอยู่ในร่างกายที่เราไม่รู้ตัว ความชั่วนั้นคือ ความชั่วที่แฝงมากับความดี สมมติเราทำดีแล้ว แต่เรากลับคิดว่าคนเราที่เราทำความดีให้ ต้องขอบคุณเรา พอเราเห็นคนทำไม่ดี เราก็คิดว่าทำไมเขาทำสู้เราก็ไม่ได้ สำหรับตรงนี้ บางคนก็คิดว่าคุณเป็นคนดีแล้วนะ อาจไปนั่งสมาธิสวดมนต์ช่วยเหลือผู้อื่น แต่จริง ๆ แล้ว มันยังมีความชั่วที่เหมือนเป็นเงาแฝงตามคุณไปโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลย สิ่งเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่าเมื่อเราทำความดี ความชั่วก็ตามเรามาติด ๆ เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออกว่า ในความดี มันมีความชั่วแฝง ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า เราอาจจะดีไม่ถึงร้อย อาจจะดีเพียงแค่ ๘๐ หรือ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ กลับเป็นความชั่วที่กิเลสครอบงำเรา ท่าน ว.วชิรเมธี สอนว่า ให้เราระงับสิ่งเหล่านั้นด้วยสติปัญญา และสุดท้าย เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็จะควบคุมได้เอง

    http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000056766
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 พฤษภาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...