เรื่องเด่น ท่าพระนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 11 กรกฎาคม 2019.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    Untitled-1-13.jpg

    ท่าพระนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี





    สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก เราจึงนำมาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย

    เรามักจะเห็นคำในพระบาลีว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวา แปลว่า นั่งกระโหย่ง แล้วประคองอัญชลีอย่างไร ชื่อว่า นั่งกระโหย่ง อย่างไร ชื่อว่า ประคองอัญชลี มีหลักฐานตามพระไตรปิฎก และอรรถกถาหลายที่กล่าวไว้ ซึ่งเราสามารถมองออกได้ว่า ท่านนั่งอย่างไร เช่น

    ในอรรถกถาพระธรรมบทกล่าวว่า โส ปน ราชา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อุลฺลงฺฆนฺโต อฏฺฐารสหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฐตฺวา อุลฺลุงฺฆนฺโต อสีติหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฯ แปลว่า ก็พระราชาพระองค์นั้น นั่งกระโหย่งแล้ว เมื่อกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ ๑๘ ศอก แต่เมื่อยืนกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ ๘๐ ศอก บาลีนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูมีความสามารถในการกระโดดสูงได้เพียงนี้ ไม่ขอกล่าวว่าท่านทำได้จริงหรือไม่ แต่กำลังบอกว่า ท่านนั่งอย่างไร แล้วจึงกระโดด ถ้าหมายถึงนั่งท่าขัดสมาธิ นั่งท่าพับเพียบแล้วกระโดด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งหากเป็นท่าเทพบุตรด้วยแล้ว กระโดดก็คงหัวทิ่ม

    50998037_2970601389632643_5381470709081964544_n.jpg

    และในอรรถกถามโหสถชาดกตอนหนึ่งว่า โส สาธูติ ตํ ขนฺเธ กตฺวา สพฺพํ ปาเถยฺยญฺจ ปณฺณาการญฺจ คเหตฺวา นทึ โอตริตฺวา โถกํ คนฺตวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ปกฺกามิ ฯ แปลว่า เขารับคำว่า ดีล่ะ แล้วให้หญิงคนนั้นขี่คอ ถือเอาเสบียงและเครื่องบรรณาการ ข้ามลงน้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็นั่งกระโหย่ง ก้าวไปข้อความนี้เล่าถึงว่า ชายสูงใหญ่รูปงาม ได้อาสาพาเมียของนายเตี้ยดำข้ามน้ำ ที่จริงน้ำไม่ลึกมาก พอเดินข้ามได้ แต่นายคนสูงอยากหลอกนายเตี้ยดำว่า น้ำนี้ลึกไม่ควรจะตามมา จึงแกล้งย่อเข่าลง ค่อยๆ เดินข้ามน้ำไป ที่หลอกเช่นนั้น เพราะต้องการแฟนคนสวยของเขา นายเตี้ยดำเห็นดังนั้น ก็ไม่กล้าลงน้ำข้ามไป แต่ภายหลังกลัวเสียแฟน จึงรีบวิ่งข้ามไปโดยไม่ห่วงชีวิต ติดตามอ่านได้ในมโหสถชาดก จะสังเกตว่า เขานั่งอย่างไร จึงเดินไปในน้ำตื้นได้ ถ้าไม่ใช่นั่งยองๆ แล้วเดิน มองไม่เห็นเลยว่า นั่งท่าอื่นๆ แล้วจะเดินไปได้ ถ้ายังไม่หายสงสัย มาดูอีกที่หนึ่งจะเห็นชัด กล่าวไว้ในอรรถกถามหาปทานสูตรว่า

    ยถา หิ อญฺเญ อนฺโตกุจฺฉิคตา ปกฺกาสยํ
    อวตฺถริตฺวา อามาสยํ อุทฺธริตฺวา อุทรปฏลํ
    ปิฏฺฐิโต กตฺวา ปิฏฺฐิกณฺฏกํ นิสฺสาย อุกฺกุฏิกํ
    ทฺวีสุ มุฏฺฐีสุ หนุกํ ฐเปตฺวา เทเว วสฺสนฺเต
    รุกฺขสิสิเร มกฺกฏา วิย นิสีทนฺติ
    น เอวํ โพธิสตฺโต

    51150903_2970601476299301_5250742358542123008_n.jpg

    แปลว่า เหมือนอย่างว่าสัตว์เหล่าอื่นอยู่ภายในท้องบีบพุงแขวนกะเพาะทำแผ่นท้องไว้ข้างหลังอาศัยกระดูกสันหลังวางคางก้มไว้บนกำมือทั้งสอง นั่งเจ่าเหมืองลิงที่โพรงไม้เมื่อฝนตกฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้เป็นอย่างนั้น (แปลตามพระไตรปิฏกที่แปลไว้) บาลีตรงนี้ท่านกำลังอธิบายว่า ธรรมดาว่า พระโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในท้องของมารดาจะไม่อยู่ในท่าหรืออาการเหมือนทารกอื่นๆ ที่อยู่ในท่านั่งยองๆ จับสายสะดือ เหมือนลิงที่นั่งหลบฝนอยู่ตามโพรงไม้

    ถึงบาลีนี้แล้ว คงจะมองออกแล้วกระมังว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระบาลีนั้น คือนั่งอย่างไร คงไม่มีลิงตัวไหนนั่งหลบฝนด้วยท่าเทพบุตร หรือท่าเทพธิดาหรอกนะ ในสังคมไทยบัญญัติรู้กันว่า ท่าเทพบุตรและท่าเทพธิดานั้นสุภาพเรียบร้อย พอเห็นพระนั่งในท่ากระโหย่งประคองอัญชลี ก็มักจะติเตียน แทนที่จะสอบถามและหาความรู้

    ท่านอาจารย์ได้ท่านั่งอย่างนี้มาจากที่ไหน มีกล่าวไว้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนไว้ไหม ไม่มีถามเลย

    พอเจอก็ผรุสวาทอย่างเต็มที่ พระนี้นั่งสวดมนต์เหมือนนั่งขี้, นั่งเหมือนเปรตขอส่วนบุญ, นั่งไม่สมควรกับสมณะ ฯลฯ สุดท้ายก็ได้บาปกันไป จริงๆ ท่านั่งกระโหย่งนี้แหละมีมาแต่เดิม ทุกคนนั่งท่านี้มาตั้งแต่ในท้องแม่ (ยกเว้นพระพุทธเจ้า) ถ้าจะไม่สุภาพ ก็คงเป็นคนไม่สุภาพมาแต่ในท้อง แต่ใครล่ะจะยอมรับว่าตัวเองไม่สุภาพ ส่วนคำว่า อัญชลี ท่านกล่าวว่า ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ อญฺชลิมฺปคฺคยฺห คือ ประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยการประกบกันของนิ้วมือทั้งสิบ จากบาลีนี้ จึงหมายถึง การประนมมือนั่นเอง

    การนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี นี้เป็นท่านั่งของพระภิกษุในการประกอบพิธีต่างๆ อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการอุปสมบท การแสดงอาบัติ การสวดปาติโมกข์ การปวารณา วุฏฐานวิธี การขอขมา และการสวดสังฆกรรมอื่นๆ อีกมากมาย คือก่อนหน้านั้น ไม่รู้ว่า นั่งท่าใดกันอยู่ แต่พอจะมีการสวดหรือทำสิ่งใดเป็นทางการ ในพระบาลีจะกล่าวว่า ครองผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าพระเถระ นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วก็ แล้วแต่สังฆกรรม

    51438983_2970602002965915_2144983590486671360_n.jpg

    ฉะนั้น เห็นสิ่งใดแล้ว สงสัย อย่าพึ่งตำหนิ จำสิ่งนั้นให้ดี ไม่ว่าจะเป็นคำพูด กิริยาท่าทาง แล้วตั้งคำถามในใจก่อน จากนั้นหาคำตอบให้ได้ก่อน เที่ยวถามผู้รู้ให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยลงความเห็น ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ก็ควรเป็นเช่นนี้ ในการเสพข่าวเช่นกัน ก็ควรรู้ให้ชัดก่อนว่า จริงแท้ประการใด ถ้าไม่รู้ ให้สอบถามผู้รู้ แล้วค่อยลงความเห็น

    การนั่งแบบพับเพียบ ขัดสมาธิ เทพบุตร เทพธิดา ก็เรียบร้อยดี ไม่มีการปรับอาบัติ ในท่านั่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราได้รู้ธรรมเนียมการนั่งกระโหย่งตามพระบาลีแสดงไว้ เพื่อสืบทอดต่อไป ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นไว้ก็คงไม่เสียหาย เพราะคำว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก และคนไทยเราส่วนมาก ยังไม่รู้ว่านั่งอย่างไร แต่พม่าหรือศรีลังกา มีให้เห็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก

    เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาของตำนานท่าพระนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

    ขอบคุณข้อมูลโดย ไกร ไร้เทียมทาน


    ------------
    ขอบคุณที่มาของข้อมูล
    https://www.kidnan.com/20320/
     
  2. อัครไมตรี

    อัครไมตรี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    418
    ค่าพลัง:
    +8,439
    ท่านี้ลุงคนหนึ่งเคยนั่งไหว้พระบิณฑบาตรับพร
    เลยถามว่าทำไมนั่งท่านี้แกตอบว่าเป็นท่าเคารพแทนท่ากราบ เลยถามแกไปว่ายังไง แกตอบแบบนี้ครับเท้า2 ข้อศอกวางบนหัวเข่า2 มือที่หน้าผาก1รวม 5 แบบนี้ครบท่ากราบ
     

แชร์หน้านี้

Loading...