เรื่องเด่น ท่ามกลางภาวะโลกร้อน และความเสี่ยงจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก...

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 30 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b8b2e0b887e0b8a0e0b8b2e0b8a7e0b8b0e0b982e0b8a5e0b881e0b8a3e0b989e0b8ade0b899-e0b981e0b8a5e0b8b0.jpg Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ ภัยพิบัติล้างโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เคยเลยเกิดมาแล้วเมื่อ 66 ล้านปีก่อน

    มนุษย์เรามีแนวโน้มจะเผชิญกับกาลอวสานเช่นเดียวกับไดโนเสาร์หรือนกโดโดหรือไม่ นี่คือถามที่ใครหลายคนสงสัยใคร่รู้

    ปัจจุบัน เผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังเผชิญหน้ากับมหันตภัยร้ายนานับประการที่คุกคามการดำรงอยู่ของเราบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงครามนิวเคลียร์ โรคระบาด หรือแม้แต่การที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์อาจพุ่งชนโลก

    ในบทความนี้ เดวิด เอ็ดมันด์ส นักปรัชญาและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง จะพูดคุยกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่คุกคามโลก และหาว่าเราจะสามารถแก้ไข หรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ได้หรือไม่ ตลอดจนตอบคำถามสำคัญว่า มนุษย์จะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้อีกหนึ่งร้อยปีหรือไม่

    “ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์” คืออะไร

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ หากสัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์มาต่อเนื่องนับแต่โบราณกาล เหตุใดมนุษย์จึงไม่มีสิทธิ์จะมีจุดจบแบบเดียวกันบ้าง

    ดร.อันเดิร์ช แซนด์แบร์ย นักวิจัยจากสถาบันฟิวเจอร์ออฟไลฟ์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์หมายถึงภัยคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติหรือลูกหลานของพวกเรา”

    จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 มนุษย์เคยคิดพวกเราอยู่ในโลกที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน

    เรื่องน่าตกใจก็คือ ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์ มีมากมายและหลากหลายประเภท ดังต่อไปนี้ :

    ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ การศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ บ่งชี้ว่าโลกเผชิญกับเหตุอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนบ่อยครั้งขึ้น ตลอดช่วงเวลาเกือบ 300 ล้านปีที่ผ่านมา

    ก่อนช่วงทศวรรษที่ 1980 เราไม่เคยคิดว่าโลกจะต้องเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่อย่างการถูกพุ่งชนโดยหินจากนอกโลก

    แต่นักวิทยาศาสตร์สองพ่อลูก คือ ลูอีส และวอลเตอร์ อัลวาเรซ ได้เปลี่ยนความคิดดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงเมื่อพวกเขาเผยแพร่สมมติฐานว่าไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ลงจากเหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

    สมมติฐานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและเห็นด้วยมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการค้นพบแอ่งหลุมยักษ์ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาตันในเม็กซิโก

    อย่างไรก็ตาม บรรดาคนหัวแข็งในกลุ่มผู้สนใจเรื่องความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์ ระบุว่า โอกาสที่โลกจะถึงกาลอวสานจากเหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนนั้นยังห่างไกลจากความเป็นจริง เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง

    ประชากรล้นโลก ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ “การยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อประชากรโลกหยุดเพิ่มขึ้น”

    “คนส่วนใหญ่ยอมรับถึงความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.คาริน คุห์ลมาน นักวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (ยูซีแอล) กล่าว

    “แต่มันกลับไม่ค่อยจะเป็นข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังร่อยหรอลง เพราะมันเป็นประเด็นที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะไม่คิดถึงมัน”

    “แต่ก็เหมือนกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งทำให้มนุษยชาติต้องตายก่อนเวลาอันควร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน” ดร.คุห์ลมาน กล่าว และว่า “มันเป็นความผิดของมนุษย์อย่างเรา”

    “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นแง่มุมหนึ่งของปัญหาประชากรล้นโลก รวมทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กัน โดยในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังจะหมดลง เรากลับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทั้งที่ความจริงเรากำลังจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใช้ และยิ่งเป็นทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงไปอีก” ดร.คุห์ลมาน กล่าว

    เธอยังระบุด้วยกว่า การยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อประชากรโลกไม่เพิ่มขึ้น

    ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ ประชากรผึ้งที่ลดลงกำลังสร้างความวิตกให้นักวิทยาศาสตร์

    มนุษย์เรามีชีวิตอยู่โดยที่มองว่าการฆ่าสัตว์ป่าเป็นเพียงเรื่อง “น่าสงสาร”

    แต่งานวิจัยบางชิ้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ภายในกลางศตวรรษนี้ เราจะไม่สามารถจับปลาในทะเลได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการประมงเชิงพาณิชย์อีกต่อไป นี่หมายความว่าเราจะไม่มีปลาให้ซื้อได้ตามร้านทั่วไป แน่จะไม่มีอาหารเมนูปลาให้เราได้กินกันอีกต่อไป

    แมลงก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่เริ่มหายไปอย่างเงียบ ๆ เช่นเดียวกับนกบางชนิดที่หายไปจากธรรมชาติเพราะแมลงที่พวกมันกินเป็นอาหารหมดไปจากธรรมชาติ

    ดร.คุห์ลมาน บอกว่า เรายังไม่รู้ว่าผลกระทบจากการที่ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายจะเป็นเช่นไร แต่ก็แน่ใจได้ว่ามันจะส่งผลร้ายต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรา

    โรคระบาด

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเชื้อกลายพันธุ์เป็นความท้าทายที่นักวิทยาศาสตร์ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง

    ดร.ลลิตา สุนดาราม จากศูนย์ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์ในเมืองเคมบริดจ์ กำลังศึกษาและประเมินความเสี่ยงทางชีวภาพ

    เธอกล่าวถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 ซึ่งประเมินกันว่าราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในยุคนั้นติดเชื้อชนิดนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไประหว่าง 50-100 ล้านคน

    การแพร่ระบาดของโรคมักเกิดขึ้นเมื่อมีการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ ผู้คนกลับจากสงครามและอาศัยอยู่รวมกันในย่านแออัด

    ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันเราจะสามารถพัฒนาวัคซีนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่โลกในยุคโลกาภิวัตน์ก็นำอันตรายมาด้วยเช่นกัน

    ในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนนั้น ผู้คนเดินทางด้วยรถไฟและเรือ แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งผู้คนเดินทางได้สะดวกสบายทางเครื่องบินนั้น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จึงสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น และอาจนำไปสู่หายนะครั้งใหญ่

    ภัยคุกคามจากมนุษย์ด้วยกัน

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 1995 สมาชิกโอมชินริเคียวได้ก่อเหตุปล่อยแก๊สซารินโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 12 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นยังพยายามก่อเหตุโจมตีด้วยไฮโดรเจนไซยาไนด์อีกหลายแห่งแต่ประสบความล้มเหลว

    ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติที่คนเราก่อขึ้นส่วนใหญ่มาจากความไม่ตั้งใจ

    แต่การที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น ก็ทำให้เกิดความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่บุคคลผู้ไม่หวังดีจะก่อเหตุโจมตีที่สร้างความหายนะครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การเพาะเชื้อไวรัสในห้องแล็บโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์

    ดร.ฟิล ตอร์เรส จากสถาบันฟิวเจอร์ออฟไลฟ์ ระบุว่า หากมี “ปุ่มวันสิ้นโลก” อย่าจริง ก็คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะกดมัน ซึ่งคนพวกนี้อาจรวมถึงกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาทื่เชื่อว่าพวกเราได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้ทำลายล้างโลก เพื่อกอบกู้โลกไว้ ดังเช่นพวกสาวกลัทธิโอมชินริเคียว

    ขณะเดียวกัน ดร.ตอร์เรส บอกว่าเราต่างเผชิญความเสี่ยงจากกลุ่มคนที่มีแรงจูงใจในการทำให้มนุษย์สูญสิ้นไปเพื่อสนองเหตุผลส่วนตัว เช่น พวกก่อเหตุกราดยิงคนไม่ซึ่งหน้า

    คนกลุ่มนี้อาจแสดงความปรารถนาในการขจัดเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้หมดสิ้นไปด้วยน้ำมือของพวกเขา ไม่ว่าจะโดยเปิดเผย หรือเป็นการเขียนในบันทึกส่วนตัว

    แต่คนพวกนี้มีเท่าใดกันแน่ ผู้เชี่ยวชาญบางรายคาดว่า ปัจจุบันมีผู้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและผู้มีอาการทางจิตอยู่ประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก และหลายคนในจำนวนนี้อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามขึ้นได้

    สงครามนิวเคลียร์

    Image copyright Getty Images

    สงครามนิวเคลียร์อาจไม่สามารถฆ่าคนทั้งโลกได้ แต่ผลกระทบที่ตามอาจทำได้

    ดร.เซท บอม จาก Global Catastrophic Risk Institute ซึ่งเป็นสถาบัน ศึกษาและวิจัยเรื่องความเสี่ยงมหันตภัยโลก บอกว่า การเผาไหม้ของเมืองที่ถูกระเบิดนิวเคลียร์ถล่มจะทำให้เกิดฝุ่นที่แพร่กระจายไปในเมฆ และชั้นบรรยากาศโลก

    ฝุ่นที่ว่านี้อาจตกค้างอยู่ได้นานหลายสิบปี และปิดกั้นแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก

    การสูญพันธุ์ของมนุษย์จากสงครามนิวเคลียร์อาจมาจากผลโดยรวมของความเสียหายที่เกิดขึ้นทันทีจากระเบิดนิวเคลียร์ ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโลก

    ปัญญาประดิษฐ์

    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ เป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์เราอาจสูญเสียการควบคุมเอไออย่างสิ้นเชิง

    ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาในหลายรูปแบบ เช่น ความเสี่ยงที่อัลกอริทึมอัตโนมัติอาจทำให้ระบบของตลาดหุ้นโลกล่มโดยบังเอิญ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง หรือการที่มนุษย์เราอาจสูญเสียการควบคุมเอไออย่างสิ้นเชิง

    หนึ่งตัวอย่างที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกำลังวิตกกังวลก็คือ เทคโนโลยีการตัดต่อวิดีโออันแนบเนียนที่เนียกว่า Deepfake ซึ่งใช้ภาพวิดีโอของบุคคลมีชื่อเสียงมาตัดต่อให้ดูเหมือนกำลังทำหรือพูดอะไรก็ตามที่ผู้ผลิตต้องการ

    คนร้ายอาจผลิตวิดีโอของผู้นำโลกคนหนึ่งกำลังข่มขู่ผู้นำโลกอีกคน จนอาจนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ 2 ประเทศก็เป็นได้

    ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้าไปมาก และตรวจจับได้ยากขึ้นทุกขณะ

    เราจะลดความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์ได้อย่างไร

    Image copyright Getty Images/NASA
    คำบรรยายภาพ อนาคตโลกอยู่ในมือของพวกเราทุกคน

    อารยธรรมของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นั่นขึ้นอยู่กับภัยที่คุกคาม

    สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักก็คือ อนาคตของเราไม่ใช่เรื่องตายตัวหรือคงทนถาวร ดังนั้นเราจึงยังสามารถทำอะไรได้หลายอย่างในตอนนี้ เพื่อช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป

    ดร.แซนด์แบร์ย กำลังทำงานเพื่อให้เครื่องจักรในอนาคตอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

    ส่วนผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กำลังหาวิธีการทางวิศวกรรมธรณี เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใส่ฝุ่นละอองเข้าไปในชั้นบรรยากาศโลก

    หรือหาวิธีเอาชีวิตรอดจาก “ฤดูหนาวนิวเคลียร์” (nuclear winter) ซึ่งหมายถึงภาวะที่โลกหนาวเย็นอย่างรุนแรงหลังจากการยิงระเบิดนิวเคลียร์ถล่มกัน ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองที่ชั้นบรรยากาศโลก จนแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึงพื้นผิวโลกซึ่งจะทำพืชทั่วไปไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเจริญเติบโตได้ และทำให้มนุษย์ต้องพึ่งพาอาหารจากเห็ดราแทน

    ส่วน ดร.คุห์ลมาน มีความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องแก้ไขเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติก็คือ ต้องหยุดการเพิ่มประชากรโลก “เราต้องเปลี่ยนค่านิยมสังคมในเรื่องเกี่ยวกับขนาดครอบครัว โดยเลิกมีความคิดว่าเราต่างมีสิทธิ์ที่จะมีลูกได้หลายคนและบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากเท่าที่เราต้องการ”


    นี่คือสิ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยกันได้เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นกับโลกและเผ่าพันธุ์ของเรา

    มนุษย์มักไม่ค่อยมองการณ์ไกล และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ มักไม่ปรับไปตามผลประโยชน์ของคนรุ่นต่อ ๆ ไป

    แต่ ดร.คุห์ลมาน บอกว่า หากศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ศตวรรษสุดท้ายของพวกเรา เราก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์อย่างจริงจังมากกว่านี้


    บทความนี้ปรับมาจากรายการ Will humans survive the century? โดยเดวิด เอ็ดมันด์ส ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีเรดิโอ 4

    ขอบคุณที่มา
    https://www.bbc.com/thai/features-47733954
     

แชร์หน้านี้

Loading...