นักพรตชั้นเอก/หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 23 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,256
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    LuangtaMahaBua.jpg
    นักพรตชั้นเอก
    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘
    วันนี้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายต่างก็มาจากสถานที่ต่าง ๆ มีโอกาสได้มารวมกันในสถานที่นี้ เพื่ออบรมใจให้เป็นไปตามหลักธรรมที่พระองค์ได้ประทานไว้ อันเป็นองค์แทนศาสดา เพราะขณะจวนจะปรินิพพานได้ตรัสไว้ว่า “พระธรรมและวินัยนี่แล จะเป็นศาสดาแทนในกาลที่เราล่วงไปแล้ว” นี่เป็นพระโอวาทที่ประทานไว้เพื่อความแน่ใจและมั่นใจแก่บรรดาพุทธบริษัท ไม่ให้มีความว้าเหว่เสียใจและน้อยใจว่าตนไม่มีที่พึ่ง เพราะพระพุทธเจ้านิพพานไปเสียแล้ว อย่างนี้ไม่ให้มีในบรรดาสาวกและพุทธบริษัททั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นลูกของพระตถาคตด้วยกัน

    ดังนั้น การปฏิบัติเพื่อตนและส่วนรวมทุกแง่ทุกมุม จึงโปรดคำนึงถึงหลักธรรมที่พระศาสดาประทานไว้ ผู้มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องแนะนำความประพฤติทุก ๆ อาการที่เคลื่อนไหว ชื่อว่าเป็นผู้ได้เข้าเฝ้าพระตถาคตอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นผู้ได้รู้เห็นธรรมที่ประทานไว้ ทั้งฝ่ายมรรคและฝ่ายผลเป็นลำดับ นับแต่สมาธิขึ้นไปถึงปัญญาวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะประจักษ์ใจด้วยแล้ว อยู่ที่ไหนก็เหมือนได้อยู่ในที่ประทับเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะสมาธิคือความสงบเย็นใจ ปัญญาคือความฉลาดรอบคอบทั้งภายนอกภายใน ซึ่งเป็นอุบายวิธีแก้ไขจิตใจให้หลุดพ้นไปเป็นลำดับ จนถึงขั้นบรรลุมรรคผล นิพพานก็เป็นธรรมที่พระองค์ทรงดำเนินและผ่านพ้นไปแล้ว ผู้บำเพ็ญและรู้เห็นตามนัยแห่งธรรมที่กล่าวมา ชื่อว่าผู้เข้าเฝ้าพระตถาคตตลอดเวลา ไม่มีขณะใดจะเคลื่อนคลาดจากความเป็นศิษย์พระตถาคตทางภายใน

    เราทั้งหลายเป็นผู้มุ่งเพื่อความประพฤติชอบตามร่องรอยของพระพุทธเจ้า โปรดมองดูหลักพระธรรมวินัยอันเป็นเหมือนองค์ศาสดา ผู้ดำเนินไปตามทางสายที่ให้นามว่า มัชฌิมาปฏิปทา จึงไม่จัดว่าเป็นผู้ล้าสมัยตามเสด็จพระพุทธเจ้าไม่ทัน เพราะมัชฌิมาเป็นศูนย์กลางแห่งธรรมทั้งฝ่ายมรรคและฝ่ายผล ทั้งเป็นธรรมที่มีประสิทธิภาพล้ำยุคล้ำสมัยมาตลอดอนันตกาลแล้ว บรรดาท่านผู้มีจิตหลุดพ้นเป็นบุคคลพิเศษขึ้นมาให้โลกได้กราบไหว้บูชา ล้วนแต่เดินตามทางสายมัชฌิมาอันเป็นทางสายเอกนี้ทั้งนั้น

    วันนี้เป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านได้ถือโอกาสสละเวลาจากสถานที่และสำนักต่าง ๆ มาเยี่ยม และเพื่อปรึกษาหารือธรรมซึ่งกันและกัน โดยถือว่าเป็นหมู่เพื่อน และครูอาจารย์ที่เคยได้คบค้าสมาคม และอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน และมีความหวังในอรรถในธรรมจากกันและกัน ก็หลักที่จะให้เป็นผู้มั่นคงต่อตนเอง และพระธรรมวินัยนั้น ต้องเป็นผู้มีความหนักแน่นในทุกสิ่งอันเป็นเครื่องดำเนินของสมณะ กิจของสมณะที่ควรแก่ตน โปรดอย่าเห็นว่าเป็นของไม่สำคัญ ทุก ๆ ขณะที่เคลื่อนไหวไปมาเกี่ยวกับกิจการทุกอย่าง ไม่ว่าภายนอก ไม่ว่าภายใน ไม่ว่างานส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด โปรดถือเป็นกิจสำคัญสำหรับตัวที่จะเป็นอุปกรณ์สนับสนุนจิตให้มีกำลังคืบหน้า และถอดถอนกิเลสอาสวะได้อย่างใจหวัง

    สิ่งสำคัญที่เราเป็นนักบวช และควรระลึกอยู่เสมอ คือความเป็นพระหนึ่ง การประพฤติตัวตามระเบียบหลักธรรมวินัยให้สมศักดิ์ศรีของพระหนึ่ง มีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ ไม่ปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาบังคับและฉุดลากไปหนึ่ง เพราะสิ่งทั้งนี้มีอยู่ทุกแห่งทุกหน บรรดาสัตว์บุคคลที่มีวิญญาณครอง และเคยตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบนหัวใจเป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่าทำผู้นั้นให้ได้รับความสุขความเจริญและเฉลียวฉลาดพอให้เป็นผู้แปลกจากโลกแห่งไตรภพ ซึ่งควรจะประพฤติตามอำนาจกิเลสตัณหาพาให้เป็นไป นอกจากจะคอยฉุดลากผู้คล้อยตามให้ตกต่ำลงเป็นลำดับเท่านั้น จึงควรทำความเข้าใจไว้เสมอ อย่าลืมตัว

    นักบวชเป็นผู้แปลกจากโลกทั้งด้านความประพฤติ มรรยาท อัธยาศัย หน้าที่การงาน และทางด้านความรู้สึก มีความกลมกลืนกันกับธรรมคือความสม่ำเสมอ โลกมีความไว้วางใจและเคารพกราบไหว้อย่างสนิทใจ พร้อมทั้งให้ความสนับสนุนด้วยปัจจัยสี่ไม่มีประมาณโดยไม่เสียดาย เนื่องจากเป็นพระที่มีนามว่า ศากยบุตร อยู่ที่ใด ไปที่ใด ไม่มีความอดอยากขาดแคลนด้วยปัจจัยเครื่องอาศัยของสมณะ เพราะการปฏิบัติกับเพศมีความกลมกลืนกัน คือเพศก็เป็นเพศของพระ ข้อปฏิบัติก็เป็นข้อปฏิบัติของพระ ความเคลื่อนไหวไปมาทุกๆ อาการเป็นความเคลื่อนไหวของพระ ดำเนินไปตามจารีตประเพณีที่พระพุทธเจ้าทรงพาดำเนินมา แม้จะยังไม่ใช่ผู้ทรงไว้ซึ่ง มรรค ผล นิพพานอย่างแท้จริง แต่ก็ใช่ในฐานะผู้เตรียมพร้อมเพื่อจะทรงมรรค ผล นิพพานอยู่แล้วด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกตามหลักแห่งสวากขาตธรรม สมกับโลกที่มุ่งความร่มเย็นจากพระผู้มีธรรมครองใจ

    ไปบ้านใดเมืองใดมีความร่มเย็นและอบอุ่นแก่บ้านแก่เมือง อยู่บ้านใดเมืองใดให้การแนะนำสั่งสอนเป็นอรรถเป็นธรรม เขามาศึกษาปรารภเพื่ออรรถเพื่อธรรม หรือข้อข้องใจในแง่ต่าง ๆ ที่เห็นว่าไม่ผิดจากหลักธรรมซึ่งจะควรนำมาให้เพื่ออุบายแก่เขา ย่อมพยายามแก้ไขและตักเตือนสั่งสอนให้เป็นที่เข้าใจ จนเขาได้รับประโยชน์เท่าที่ควรแก่ฐานะของตน เป็นที่ยึดเหนี่ยวน้ำใจของโลกแทนพระพุทธเจ้าและสาวกได้ตามควรแก่ภาวะของตน

    แม้จะไม่ใช่องค์ของศาสดาอันแท้จริง แต่ก็ใช่ในฐานะของผู้มุ่งหน้าต่อธรรมของพระองค์อย่างยิ่งนั่นเอง เช่นเดียวกับพ่อแม่มีลูกหลายคน คนที่หนึ่งเรียนสำเร็จเรียบร้อยและมีงานทำเป็นล่ำเป็นสัน รายได้ก็เพียงพอกับความเป็นอยู่ไม่ฝืดเคือง ลูกคนที่สองก็กำลังเรียนจวนสำเร็จอยู่แล้ว ลูกคนที่สามก็กำลังเรียนด้วยความตั้งอกตั้งใจ จนถึงลูกคนสุดท้องซึ่งกำลังเรียนอย่างขะมักเขม้น

    แม้ทางด้านความประพฤติหลักนิสัยใจคอ นับแต่คนหัวปีลงมาจนถึงคนสุดท้อง เป็นที่ภาคภูมิและไว้วางใจของพ่อแม่ จนไม่อาจจะตำหนิคนไหนได้ลง เพราะลูกแต่ละคนต่างก็มีความประพฤติอัธยาศัยดี ตามลำดับแห่งความรู้และวัยของตน ๆ ทุกคน พ่อแม่ยังมีความมั่นใจกับลูกทุกคน ว่าเป็นผู้มีความสามารถฉลาดรู้ในกิจการ และมีหลักฐานมั่นคงในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน เพราะความรู้ความประพฤติอัธยาศัยของเด็กทุกคนในปัจจุบันบอกความเจริญ และมั่นคงของเด็กในอนาคตอยู่แล้ว

    ลูกของพระตถาคตนับแต่พระอรหันต์ลงมาถึงพระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน และกัลยาณชนก็ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับพ่อแม่ผู้มีลูกหลายคน และเป็นที่มั่นใจต่อลูกของตนฉะนั้น แม้จำพวกรองพระอรหันตขีณาสพลงมา ซึ่งมีกิเลสอันยังละไม่ได้โดยเด็ดขาดและยังละไม่ได้ แต่ก็ต่างมุ่งหน้าดำเนินตามร่องรอยของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างเต็มใจ แม้ทางสายของผู้ยังมีกิเลสกำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ก็เป็นทางสายเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินไปแล้ว เมื่อไม่ถอยความเพียร ต้องบรรลุถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า ตามบทธรรมว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต โดยแน่นอน ฉะนั้น จึงควรจะเป็นที่เคารพเป็นที่ไว้วางใจ และพอจะให้ความอบอุ่นแก่โลกได้เท่าที่ควรแก่ฐานะของตน

    ทั้งนี้ อธิบายเกี่ยวกับส่วนรวมของนักบำเพ็ญผู้กล้าตายในสงคราม คือการรบกับกิเลส เมื่อย้อนเข้ามาหาตัวของเราโดยเฉพาะแล้ว ก็โปรดยึดหลักที่เทียบเคียงไว้มาเป็นเครื่องดำเนิน ผลจะเป็นเช่นเดียวกันกับท่านที่ได้รับและผ่านไปแล้วนั่นแล จะไม่มีอะไรมาทำให้แยกจากกัน ถ้าต้นเหตุลงรอยเดียวกัน ข้อสำคัญโปรดอย่าไปคาดกาลสถานที่เพื่อมรรค ผล นิพพาน จะผิดไปวันยังค่ำ แต่จงสนใจกับข้อปฏิบัติที่ให้นามว่า มัชฌิมา เป็นสำคัญกว่าอื่น นี่คือกาลสถานที่ที่เกิดขึ้นแห่งมรรค ผล โดยแท้

    เราจะเป็นพระไปโดยลำดับ นับแต่พระเบื้องต้นที่ได้รับการอุปสมบทออกมาจากโบสถ์ใหม่ ๆ จนถึงพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา และพระอรหันต์ จะหนีจากสวากขาตธรรมที่ทุกท่านกำลังบำเพ็ญอยู่เวลานี้ไปไม่ได้เลย ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะนิพพานแล้วหรือยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะพระโอวาทที่ประทานไว้ทั้งสิ้น ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ผู้เดียว และทรงความจริงไว้อย่างสมบูรณ์ เว้นแต่ผู้บำเพ็ญจะทำให้ผิดพลาดทั้งความรู้ความเห็นและการปฏิบัติปลีกจากความจริงแห่งธรรมไปเสียเท่านั้น จึงจะไม่มีหวังผลคือความสุขอันสมบูรณ์

    เราทุกท่านล้วนแต่เป็นนักปฏิบัติซึ่งมารวมกันอยู่เวลานี้ โปรดทำความหนักแน่นต่อหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง อย่าเป็นคนเกียจคร้านอ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่ทางของพระพุทธศาสนา และไม่ใช่ทางแห่งมรรค ผล นิพพาน อยู่ที่ไหนอย่าเป็นผู้ลืมตน จงเป็นผู้ผู้เดียวเสมอ อย่าทำความเกี่ยวข้องกังวลกับสิ่งใด ๆ ด้วยความเป็นอารมณ์ห่วงใย อยู่ที่ใดให้มีสติปัญญาเป็นเพื่อนสองของใจ และอย่าทำให้เคลื่อนคลาดจากหลักธรรม จะเป็นการปลีกแวะจากทางนิยยานิกธรรม จะไม่สมหวังดังใจหมาย จะอดบ้าง อิ่มบ้าง สะดวกบ้าง ฝืดเคืองบ้าง อย่านำมาเป็นอารมณ์ข้อข้องใจ ทำอย่างไรสติปัญญากับใจจะกลมกลืนกันอย่างสนิท นั่นเป็นเรื่องที่ควรสนใจอย่างยิ่ง เพราะทางพ้นทุกข์มีสติปัญญาเป็นเอกในการตามรักษาจิตให้พ้นภัยไปเป็นระยะ ๆ โปรดทราบอย่างถึงใจ

    อย่าได้ลืมเรื่องของโลกเป็นของไม่แน่นอนแต่ไหนแต่ไรมา มีความเจริญแล้วมีความเสื่อมไป ไม่ว่าโลกนอกคือทั่วๆ ไป ไม่ว่าโลกในคือตัวเราเอง เพราะเป็นโลกเหมือนกัน จำต้องมีความแปรสภาพและสลายไปทั่วดินแดน ไม่มีเกาะใดเป็นเกาะยกเว้นเป็นพิเศษ ไม่ทราบว่าวันใด เวลาใด และสถานที่ใด จะเป็นวัน เดือน ปี สถานที่ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อความแตกสลายของเราและของท่าน อันเป็นสภาพจะต้องปลงอยู่โดยดี เวลานี้ยังเป็นกาลอันควรอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะพยายามแหวกว่ายเพื่อตัวเองให้พ้นฝั่งแห่ง อนิจฺจา วต สงฺขารา คือเรื่องเกิด ๆ ตาย ๆ อันเป็นงานพร่ำเพรื่อ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีวันคาดหมายว่าจะเสร็จสิ้นกันเมื่อไร

    งานประเภทนี้เป็นงานที่หนักใจมากมาย เพราะเป็นงานที่หาจุดหมายไม่ได้ ทำกันตลอดกัปกัลป์ก็ไม่มองเห็นฝั่งแห่งความจบสิ้น โปรดรีบ ๆ อย่าให้สายเกินไป ทั้ง ๆ ที่ชีวิตยังครองกันอยู่ จงเป็นผู้มุ่งหน้าต่อความเพียร อันเป็นงานพาให้ถึงความจบสิ้น อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ ไม่มีเชื้อต่อแห่งภพ ฉะนั้น จงอยู่คนเดียว นั่งคนเดียว เดินคนเดียว มาคนเดียว ไปคนเดียวด้วยอารมณ์ของจิตอันเป็นธรรมแท่งเดียว อย่าให้ข้องแวะกับสิ่งใด ๆ อันจะก่อความยุ่งเหยิงแก่ตนเอง จิตแม้จะมีกิเลสรุมล้อมหนายิ่งกว่าภูเขาก็ตาม ก็ไม่ต้องมีความท้อใจว่า จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจของสติปัญญาอันมีความเพียรหนุนหลัง อย่างไรภูเขาบนหัวใจต้องพังทลายลงโดยแน่นอน

    ถ้าถึงคราวจนมุมจะหาทางรอดตัวจากกิเลสมารไม่ได้ โปรดระลึกถึงพระบรมศาสดา นับแต่คราวเป็นกษัตริย์มาจนถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ทุกระยะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกและแก่ธรรม ไม่ทรงทำอะไรแบบขอไปที แม้เวลาเสด็จออกทรงผนวชก็ไม่ทรงเยื่อใยในชีวิต ทรงปลีกองค์สำเร็จพระอิริยาบถอยู่ในป่าเพียงพระองค์เดียว มีวิริยธรรมคือความเพียรเป็นคู่พึ่งเป็นและพึ่งตาย ไม่ทรงหมายพึ่งใครในเวลานั้น ทรงห้ำหั่นกลั่นกรองพระองค์แบบขีดเส้นไว้ว่า ถ้ารอดตายกลับไปก็ให้ได้เป็นบุคคลพิเศษ และเป็นศาสดาสอนโลก ถ้าไม่รอดตายก็ยอมให้พญามัจจุราชนำไปตามเรื่องความหิวโหยของเขาผู้ต้องการความตายของคน และสัตว์มาเป็นภักษาหารประจำวัน สุดท้ายแห่งการต่อต้าน และรุกรบชิงชัยระหว่างกษัตริย์ผู้กล้าตายกับพระยามาราธิราช และพญามัจจุราช

    ผลแห่งชัยชนะตกเข้ามาในเงื้อมพระหัตถ์ของพระสิทธัตถราชกุมาร องค์กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ผู้เป็นนักพรตชั้นเอก พระยามาราธิราชเสียชีวิตเครื่องต่อภพต่อชาติ และอำนาจวาสนาลงในปัจฉิมยามแห่งคืนของเดือนหกเพ็ญ ตำแหน่งของบุคคลพิเศษและตำแหน่งแห่งศาสดาของโลก ได้ตกมาเป็นของพระมหากษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ผู้เป็นนักบวช ปรากฏพระนามกระเดื่องทั่วพิภพว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทุกชั้นจนถึงสมัยปัจจุบันคือวันนี้ หลักธรรมที่ยังพระสิทธัตถะให้ทรงตรัสรู้นั้น ย่อใจความลงมีสี่ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่คือหลักมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางที่พอเหมาะพอดีตลอดมา ฉะนั้น มัชฌิมาปฏิปทา จึงมิใช่ธรรมล้าสมัยและเลยสมัย แต่เป็นธรรมสายกลางอยู่ตลอดเวลา อกาลิโก เวลาคับขันต่อทางดำเนิน โปรดระลึกเอาพระพุทธเจ้ามาประทับที่ดวงใจ จะมีความกล้าหาญร่าเริง ไม่ท้อใจและน้อยใจว่าตนมีวาสนาน้อย

    ผู้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักมัชฌิมาเป็นชั้น ๆ จะเป็นผู้มีความเชื่องชินต่อตัวเองและสิ่งยั่วยวนเป็นลำดับ ปัญญาจะมีความฉลาดแยบคายเป็นชั้น ๆ สามารถแยกแยะธาตุขันธ์ออกพิจารณาให้เห็นตามความจริงได้ ทั้งขันธ์ข้างนอกและขันธ์ข้างใน ทั้งขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง และขันธ์ละเอียด ขันธ์หยาบได้แก่สิ่งภายนอกที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไป ขันธ์กลางได้แก่ ธาตุขันธ์ของเรา ปัญญาสามารถแยกแยะได้โดยตลอดและทั่วถึง พร้อมทั้งการถอดถอนความเกี่ยวข้องกังวลออกจากธาตุขันธ์เหล่านี้ได้ ส่วนขันธ์ละเอียดได้แก่ นามขันธ์ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งเหล่านี้ปัญญายังสามารถแยกแยะออกจากใจให้เห็นได้โดยชัดเจน และยังสามารถรู้แจ้งแทงทะลุเข้าไปถึงรากฐาน คือจิตกับอวิชชาที่คละเคล้ากันอยู่ อันเป็นที่เกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้น จนรู้เท่าทันและปล่อยวางได้โดยประการทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังลี้ลับต่อสติปัญญาได้ ต้องถูกเปิดเผยขึ้นมาตามลำดับของสติปัญญาที่มีกำลังพอตัวแล้ว
    (ต่อด้านล่าง)
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,256
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ต่อกันไปเหมือนลูกโซ่ไม่มีที่สิ้นสุด จนถึง สมฺภวนฺติ และประมวลสมุทัยว่า เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส, สมุทโย โหติ เหล่านั้นเป็นสมุทัยทั้งสิ้น ซึ่งออกจากอวิชชาดวงเดียว ความรู้แกมโกง ความหลงแกมจริง นี่คืออวิชชาแท้ ธาตุสี่ที่ประชุมกันเข้าเป็นรูปกาย เป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหล่านี้ไม่ใช่อวิชชา แต่อาศัยอวิชชาเป็นผู้ปรุงขึ้น เช่นเดียวกับบ้านเรือนมิใช่เรา แต่อาศัยเราปลูกขึ้นฉะนั้น ขันธ์ทั้งห้าก็มีลักษณะเช่นเดียวกันมิใช่อวิชชาอันแท้จริง แต่อาศัยอวิชชาที่มีอำนาจมากกว่าถูไถพาให้ขันธ์ทั้งห้าจำต้องยอมทำตามคำสั่งของตน ขันธ์ทั้งห้าจึงกลายเป็นสมุทัยไปตามอวิชชาพาให้เป็นไป เรื่องทั้งนี้จะเห็นได้ชัดในขณะที่อวิชชา ซึ่งเป็นตัวสมุทัยอย่างเอกดับไปแล้ว ส่วนขันธ์ทั้งห้ามิได้ดับไปด้วยอวิชชา คงยังเป็นขันธ์ ๆ อยู่ตามปกติของตนจนกว่าจะถึงกาลอันแท้จริงของเขา แล้วสลายไปตามคติธรรมดาที่พาเป็นมาและเป็นไป

    พระพุทธเจ้าและสาวกอรหันต์ทรงบรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว ย่อมสังหารอวิชชาให้ดับไปด้วยมรรคญาณ แต่ขันธ์ทั้งห้ามิได้ถูกสังหารไปด้วย พระองค์และสาวกทรงยึดเอาขันธ์ที่ยังทรงตัวอยู่ประกาศศาสนา เที่ยวแนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ผู้ควรแนะนำ เต็มภูมิของพระศาสดาและภูมิของพระสาวก จนกว่าจะถึงกาลอันควรของศาสดาและสาวกจะก้าวเขาสู่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อันสิ้นสุดของสมมุติเพียงแค่นั้น แต่ธรรมป่าชอบจะให้ชื่อขันธ์ประเภทที่ไม่มีอวิชชาครองตัวว่า ขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีพิษสงอะไรต่อไปอีก

    อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้นนี้ เมื่อปัญญาหยั่งเข้าถึงตัวจริง ๆ แล้วก็ดับลงชั่วขณะเดียวตามบทธรรมว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ฯลฯ นิรุชฺฌนฺติ และ เอวเมตสฺส ฯลฯ นิโรโธ โหติ อวิชชาดับสังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณดับ ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับอวิชชาย่อมดับตามกันไปตลอดสาย ไม่มีอะไรเหลืออยู่แม้ปรมาณู เหล่านี้เป็นสายของนิโรธความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรุงติดต่อกันเป็นลำดับจนถึงภพชาติ ซึ่งเกี่ยวกับอวิชชาเป็นรากฐาน ย่อมดับลงไปพร้อม ๆ กัน ขันธ์แม้ยังครองตัวอยู่ก็มิได้จัดว่าเป็นสมุทัยต่อไปอีก ที่ขันธ์ทำงานเกี่ยวข้องกับอวิชชาเป็นลำดับจนถึง เอวเมตสฺส ฯลฯ สมุทโย โหติ นั้น เพราะอวิชชาเป็นตัวการสำคัญ สิ่งที่เป็นบริวารจึงกลายเป็นลูกโซ่เกี่ยวเนื่องกันไปกับอวิชชา พออวิชชาดับลงไปเท่านั้นก็ปรากฏว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ฯลฯ นิรุชฺฌนฺติ และ เอวเมตสฺส ฯลฯ นิโรโธ โหติ ทุก ๆ สิ่งย่อมดับตามกันหมด

    นี่เรื่องอวิชชา อธิบายให้เห็นในจิตของเราที่มีอวิชชาฝังอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปคาดภพชาติที่ไหน นอกจากจุดของอวิชชาที่มีอยู่เพราะภพชาติต่าง ๆ จะเกิดจากจุดอวิชชานี้เท่านั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดภพเกิดชาติ ที่ไปปรากฏตัวในภพชาตินั้น ๆ มันออกจากใจ อวิชชานี้แลพาให้เป็นไป อวิชชาดับไปในขณะใดภพชาติก็ดับไปในขณะนั้น ไม่มีปัญหาอื่นมาทำให้ยุ่งยาก ที่ท่านกล่าวไว้ในปัจจยาการนั้น ท่านกล่าวประวัติของจิตที่เป็นอวิชชา ซึ่งเริ่มต้นแต่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ฯลฯ เป็นต้น จนถึง สมุทโย โหติ และกล่าวประวัติของจิตที่ดับอวิชชาได้แล้ว เป็นความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง ตามบทธรรมว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ฯลฯ จนถึง นิโรโธ โหติ

    นี่เป็นประวัติของอวิชชาดับจากจิต แต่ทั้งสองประโยคแห่งสมุทัยและนิโรธนี้ ท่านมิได้อธิบายวิธีเสริมสมุทัย และวิธีดับสมุทัยไว้อย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงเล่าประวัติสมุทัยสัจ และนิโรธสัจไว้เท่านั้น ผู้ต้องการแสดงปัจจยาการให้ละเอียด จำต้องหาความรู้พิเศษมาเพิ่ม เพื่อประดับธรรมสูตรนี้ให้แจ้งชัดขึ้น มิฉะนั้นต้องแสวงหาสูตรต่าง ๆ มีพระธรรมจักรเป็นต้น มาเสริมให้ความในสูตรนี้กระจ่างขึ้นเพื่อผู้ฟังจะได้รับความเข้าใจ และรู้วิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามความหมายของธรรมสูตรนี้โดยแท้จริง ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับความเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมในสูตรนี้ได้ เพราะพวกเราแม้ร่างกายจะแก่ อายุจะมาก แต่ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมสูตรนี้มิได้แก่และมากไปตาม

    เพราะธรรมสูตรนี้รู้สึกจะแสดงแบบผู้ใหญ่ฟังกัน ซึ่งต่างฝ่ายก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว เช่น คำว่าท่าน ไม่จำเป็นต้องไปค้นหาที่มาของสระและพยัญชนะตลอดจนตัวสะกดไม้เอกไม้โท ผู้รู้หนังสือไทยเราแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจกันทีเดียว แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่ยังไม่รู้และอ่านหนังสือไทยไม่ออก รู้สึกจะเป็นปัญหาอันหนักไม่น้อยในคำว่าท่าน เพียงคำเดียว ธรรมสูตรนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เฉพาะท่านที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้เรียนอวิชชาจบแล้ว ไม่มีบทใดบาทใดเป็นปัญหา ท่านเข้าใจโดยตลอด แต่พวกเรารู้สึกจะเข้าใจยาก ถ้าจะเทียบอวิชชาเปรียบเหมือนจักรตัวใหญ่ สังขาร วิญญาณ จนถึง สมฺภวนฺติ เปรียบเหมือนจักรตัวเล็กซึ่งจะคอยทำงานตามจักรตัวใหญ่ที่พาหมุน พอเปิดเครื่องและจักรตัวใหญ่เริ่มทำงานเท่านั้น จักรตัวเล็กทุกตัวก็จำต้องทำงานไปตาม ๆ กัน

    แต่เราผู้มิใช่ช่างเครื่องไปมองดูแล้วน่าเวียนศีรษะ และไม่ทราบว่าจักรตัวไหนทำงานในหน้าที่อะไร และตัวไหนเริ่มทำงานก่อนและหลังกัน เพราะจักรแต่ละตัวต่างก็ทำงานตามหน้าที่ของตน ๆ ในเวลาเดียวกัน แต่นายช่างเครื่องประจำโรงงานเขาไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับเครื่องจักรชนิดต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้น เขารู้วิธีเปิด วิธีปิดและแก้ไขเครื่องชนิดต่าง ๆ อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย ผิดกับเราผู้เข้าไปดูและยืนเวียนศีรษะอยู่ในบริเวณโรงงานเป็นไหน ๆ

    เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าพระอรหันต์กับเรา รู้และเข้าใจเรื่องปัจจยาการกันมากน้อยเพียงไร การเกิดก่อนเกิดทีหลังของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา และเกี่ยวโยงกันอย่างไรบ้าง พวกเราไม่ค่อยจะเข้าใจ แม้คาดคะเนก็คาดเพื่อผิดไปทั้งนั้น ไม่ถูกกับหลักความจริงของอวิชชาที่ทำงานโดยแท้จริง เมื่อจิตยังไม่เข้าถึงตัวอวิชชาด้วยสติปัญญา และถอดถอนขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจจริง ๆ ต่อเมื่อเรียนอวิชชาจบสมบูรณ์แล้วนั่นแล ย่อมเป็นเหมือนนายช่างประจำเครื่องในโรงงานจะพูดแยกแยะ หรือสลับซับซ้อนเรื่องอวิชชาไปสักเท่าไร ก็เข้าใจไปตลอดสายไม่มีความสงสัยอะไรทั้งนั้น

    การกล่าวเรื่องอวิชชามาตามความรู้สึกของธรรมป่า อาจจะมีที่คลาดเคลื่อนไปบ้างตามวิสัยที่เคยเป็น และสุดวิสัยที่จะอธิบายให้ถูกต้องโดยทั่วถึง หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้ฟังและผู้อ่านตามเคย บรรดาธรรมที่แสดงมา ส่วนใดที่เหมาะกับจริตนิสัยก็กรุณามอบไว้กับธรรม จนกว่ากำลังความสามารถจะพอยกขึ้นพิจารณาและปฏิบัติ ก็กรุณายกขึ้นและแก้ไขไปตามกำลัง และส่วนใดเห็นว่าผิดจากหลักธรรมก็กรุณาผ่านไป อย่าให้มีความกระเทือนใจแก่ตนเอง สมกับเราแสวงหาธรรมเครื่องซักฟอกใจให้สะอาดนิ่มนวลแก่ตนเสมอ

    ในอวสานแห่งธรรมนี้ ขอความสวัสดีมีชัยจงเกิดมีแด่ท่านผู้ฟัง และท่านผู้อ่านโดยทั่วหน้ากันเทอญ
    ขอบคุณที่มา :- http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2461&CatID=9
     

แชร์หน้านี้

Loading...