เรื่องเด่น นักศาสนศาสตร์หวั่นตามโลกดิจิทอลไม่ทัน มองผู้นำเมินหลักสร้างปรองดองแนะเปิดใจ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 9 สิงหาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b899e0b8a8e0b8b2e0b8aae0b895e0b8a3e0b98ce0b8abe0b8a7e0b8b1e0b988e0b899e0b895e0b8b2e0b8a1e0b982.jpg

    เวทีประชุมนักศาสนศาสตร์แห่งเอเชียที่อินโดนีเซีย หวั่นตามโลกดิจิทอลไม่ทันแนะเร่งปรับตัว มองผู้นำเมินหลักสร้างปรองดอง พุทธเถรวาทเน้นตีความแนวคิดพระอรรถกถาจารย์มากกว่า’พระไตรปิฎก’

    วันที่ 8 ส.ค.2562 พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร ) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเพียงหนึ่งเดียว เข้าร่วมการประชุมนักศาสนศาสตร์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 9 เรื่อง “ความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่ และการฟื้นฟู: ตัวบ่งชี้อันศักดิ์สิทธิ์และกฎเกณฑ์แห่งมนุษย์” (Congress of Asian Theologians – CATS-IX on Reconciliation, Renewal, and Restoration: Divine Indicative and Human Imperative) ระหว่างวันที่ 05 – 10 สิงหาคม 2562 ที่เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ได้รายงานผลการร่วมประชุมดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai เป็นตอนที่ 2 ความว่า “Congress of Asian Theologians (CATS) IX” (2)

    การที่ศาสนามองเห็นว่า “ปัญหาของโลก” คือ “ปัญหาของเรา” เป็นเหตุนำมาซึ่งการมองหา “ศาสนธรรม” ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการกับปัญหาของโลก ซึ่งมีอยู่มากมาย หลากหลาย การสร้างความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟูในหมู่มวลมนุษยชาติ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ถือเป็นความรับผิดชอบของทุก ๆ ศาสนา ที่สำคัญคือ หากต่างฝ่ายต่างทำบนฐานความเชื่อศรัทธาแห่งตน ก็อาจกลับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกันได้

    แต่เมื่อได้เรียนรู้(อย่างเอาใจใส่)จากกันและกัน โดยไม่ตัดสินล่วงหน้า ฟังด้วยความเคารพ ทำความเข้าใจ ให้การแบ่งปันด้วยจิตที่เป็นกุศล บนพื้นฐานแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ “รู้จัก คุ้นเคย” กลายเป็น “ญาติ” ในทางธรรมได้ในที่สุด ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอน ว่า “วิสฺสาสปรมา ญาติฯ” (ความคุ้นเคยกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง)

    นอกจากที่ประชุมจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศาสนาด้วย ดังที่ได้เล่าให้ฟังแล้วนั้น ยังมีโปรแกรมการประชุมที่น่าสนใจที่อยากเล่าสู่กันฟัง เพื่อนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการพระพุทธศาสนาของเราด้วย

    ในภาคเช้าของทุก ๆ วัน จะมีกำหนดการ “การภาวนาและไบเบิลศึกษา” (Morning Worship and Bible Study) ที่นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมกันประกอบพิธีบูชาขอบคุณพระเจ้า (Morning Worship) ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการประชุมแล้ว ยังต่อด้วยการศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล กล่าวคือได้นำเอาพระวจนะในพระคัมภีร์มาทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเนื้อหาซึ่งอยู่บนบริบทแห่งสังคมเมื่อสองพันปีก่อน มาตีความใหม่ให้เห็นแนวทางในการตอบสนองต่อบริบทสังคมยุคใหม่

    เท่าที่เคยเข้าร่วมประชุมในวงวิชาการพระพุทธศาสนาหลายครั้งที่ผ่าน ยังไม่เคยได้เข้าร่วมการประชุมมีหน่วยงานองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีกำหนดการให้มี “พระไตรปิฎกศึกษา” ก็เห็นเป็นเรื่องที่น่าจะลองนำไปปรับใช้ได้

    ส่วนในการนำเสนอบทความทางวิชาการ บทความวิจัย และบทความวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีกว่า 20 บทความ (ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน) ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำเสนอใช้เวลาในการนำเสนออย่างเต็มที่คนละประมาณ 15 – 20 นาที โดยมีเวลาสำหรับการสอบถามและการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยอาจแบ่งกลุ่มบทความที่นำเสนอออกเป็นอย่างน้อย กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ว่าด้วยการถอดบทเรียนจากพระคัมภีร์เพื่อยืนยันพระประสงค์ รวมทั้งค้นหาแนวทางและพันธิจที่เหมาะสมในการการสร้างความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู ในบริบทสังคมปัจจุบัน

    กลุ่มที่ว่าด้วยบทบาทขององค์กรศาสนาในการสร้างความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู

    กลุ่มที่ว่าด้วยการตอบสนองประเด็นทางสังคม การสร้างความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู ที่ถูกมองข้าม เช่น การค้ามนุษย์ เอชไอวี/เอดส์ เกย์และเลสเบี้ยน การฆ่าตัวตาย และ

    กลุ่มที่ว่าด้วยบทเรียนพื้นที่การสร้างความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู

    สิ่งที่สังเกตเห็นเป็นปัญหาร่วมกันในแวดวงศาสนา โดยไม่มีข้อยกเว้น คือ มุมมองของผู้นำที่ยังปิด การยึดถือพระคัมภีร์ตามลายลักษณ์อักษร ประเด็นปัญหาใหม่ๆที่ศาสนาตามไม่ทัน เป็นที่มาสำคัญที่ทำให้ศาสนาไม่สามารถดึงเอา “คุณค่า” ที่มีอย่างเต็มเปี่ยมในศาสนา มาปรับใช้ในบริบทสังคมยุคใหม่ให้เต็มศักยภาพได้

    “คุณค่า” ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา สำหรับการสร้าง “ความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู” ก็มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ผู้นำต้อง “เปิดใจ” เพื่อ “ตามให้ทัน” ปัญหาใหม่ๆของโลก ด้วยการ “ตีความคำสอน” ตามเจตนารณ์มากกว่าตามลายลักษณ์อักษร เพื่อนำไปสู่การปรับประยุกต์เพื่อตอบสนองปัญหาในสังคมยุคใหม่ต่อไป

    ที่น่าสนใจคือ “พุทธเถรวาท” ที่ถือตัวเองว่าเก็บคำสอนที่เป็นพุทธวจนะไว้สมบูรณ์ที่สุด กลับให้ความสำคัญกับ “การตีความ” ของ “พระอรรถกถาจารย์” จนกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า “พระไตรปิฎก” นั้น อาจทำให้พุทธธรรมถูกจำกัดด้วยกาลเวลา เป็นเหตุให้พระคุณที่เรียกว่า “อกาลิโก” จืดจางลงก็ได้ เพราะ “การตีความ” ที่พระอรรถกถาจารย์ได้เคยตีความไว้เมื่อสองพันปีที่แล้ว เป็นการตีความบนบริบท “สังคมเกษตรกรรม” ในขณะที่ปัจจุบันนี้เป็นบริบท “สังคมยุคดิจิตัล”

    “การเบียดเบียนกัน” มีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเมื่อสองพันกว่าปีก่อน

    Social Bullying หรือ Cyberbullying เป็นการเบียดเบียนกันรูปแบบใหม่ในสังคมยุคดิจิตัล ที่หากศาสนาตามไม่ทัน ก็การไม่สามารถนำพุทธธรรมมาจัดการปัญหาได้

    การประชุม “นักศาสนศาสตร์แห่งเอเชีย” ถือเป็นหนึ่งความหวังจากความพยายามของพี่น้องชาวคริสต์ที่จะค้นหาศาสนธรรมมาปรับใช้ให้สมสมัย ในการสร้าง “ความปรองดอง การเริ่มต้นใหม่และการฟื้นฟู” มวลมนุษยชาติ

    นี่อาจเป็นแบบอย่างที่ดีให้อีกหลายองค์กร ได้เริ่มต้น(หากยังไม่เริ่ม)หรือสานต่อ(หากได้เริ่มต้นไว้แล้ว) การค้นหาศาสนธรรมและนำมาปรับประยุกต์ให้สมสมัย ในสังคมยุคดิจิตัล ต่อไป

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.banmuang.co.th/news/education/159591
     

แชร์หน้านี้

Loading...