- นิพพานเข้าถึงอย่างไร -

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย tsukino2012, 10 ตุลาคม 2014.

  1. tsukino2012

    tsukino2012 หยุดจึงพบ สงบจึงเกิด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    1,311
    ค่าพลัง:
    +3,090
    - นิพพานเข้าถึงอย่างไร -

    พุทธองค์ให้คำจำกัดความของนิพพานแตกต่างออกไปจากภพภูมิต่างๆ ภพของสวรรค์ก็ดี นรกก็ดี มนุษย์ก็ดี ล้วนเป็นภพภูมิ เป็นดินแดนเกิด
    แต่นิพพานไม่ใช่แดนเกิด ไม่ใช่ภพภูมิ เป็นเพียงสภาวะธรรมของความว่าง ที่มิอาจหาสมมติบัญญัติใดๆมาอธิบายลักษณ์ได้

    พุทธองค์สอนให้เจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เพื่อเข้าถึงสภาวะนิพพาน อย่ามองไปถึงผู้ที่สามารถเข้าถึงได้ เอาแค่ผู้ที่ปฏิบัติถูก
    ผู้ที่ทำปัจจัยให้นิพพานได้ตรงก่อน จะมีสักเท่าใด
    บางคนคิดว่า เพียงแต่ให้ทานส่วนเดียว ให้โดยมาก ตัดความตระหนี่ให้ได้ ก็นิพพานได้
    บางคนคิดว่า เพียงแต่รักษาศีลส่วนเดียว รักษาให้ดี ไม่ให้ด่างพร้อย ก็นิพพานได้
    บางคนคิดว่า เพียงแต่ภาวนาเพื่อเจริญสมาธิส่วนเดียว เอาให้ถึงฌาน ก็นิพพานได้
    บางคนคิดว่า เพียงแต่ท่องตำรา ศึกษาพระธรรมมาก เป็นดั่งผู้มีปัญญา ก็นิพพานได้
    บางคนคิดว่า เพียงแต่การให้ทานและรักษาศีล มาโดยตลอดชีวิต ก็นิพพานได้
    บางคนคิดว่า ตนมีศีล มีสมาธิ และมีปัญญา มีฤทธิ์ มีอภิญญาญาณหยั่งรู้ ก็นิพพานได้
    จากตัวอย่างแนวคิดข้างต้น เป็นความคิดที่ยังไม่ถูกต้อง เพราะศีล สมาธิ ปัญญา มิใช่เครื่องบ่งชี้ว่า บุคคลที่มีธรรมเหล่านี้ ได้หมดกิเลสลงแล้ว พุทธองค์สอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ จากนั้นให้ใช้ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้แล เป็นเครื่องอบรมจิต ละความยึดมั่น เพื่อเข้าถึงสภาวะนิพพาน

    จิตเข้าถึงสภาวะนิพพานได้อย่างไร?
    ทุกคน ทุกสรรพชีวิต ที่มีจิตวิญญาณ ล้วนเกิดมาด้วยจิตสุดท้ายแห่งความยึดมั่น เมื่อเราเติบโต เรียนรู้ เราก็เริ่มยึดมั่น เริ่มมีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ เกลียด กลัว ฯลฯ อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ความยึดมั่นในสิ่งใดๆ เป็นตัวนำพา โดยปรกติคนทั่วไปนั้นกลัวความตาย อารมณ์ของความกลัวนั้น ก็เป็นปัจจัยชักนำไปเกิด แม้แต่คนที่ยินดีที่ตนเองจะตาย ก็ยังมีอารมณ์ของความยินดี อารมณ์นั้นก็เป็นปัจจัยชักนำไปเกิดเช่นเดียวกัน และการให้ทานเพื่อหวังร่ำรวยในภพหน้า ก็คือความยึดมั่นอันร้ายกาจเช่นกัน เป็นความปรารถนาอยากจะเกิด ตั้งใจเกิดด้วยตัวเอง ทำให้ยากต่อการละกิเลสเข้าไปอีก รวมถึงผู้ที่ปรารถจะไปอยู่นิพพาน นิพพานที่เข้าใจว่าเป็นดินแดน เป็นที่อยู่อาศัยที่งดงาม ก็เป็นความยึดมั่นอยากไปเกิดเช่นกัน เมื่อมีความปรารถที่จะเกิด ก็จะได้เกิดในภพภูมิที่รองรับกับสภาวะจิตของคนๆนั้น สภาวะนิพพานจะเข้าถึงสำหรับผู้ที่ตายในสภาพที่หมดความยึดมั่น ไม่ยินดี ยินร้าย มีแต่ความสงบเท่านั้น ดังนั้น การให้ทาน การรักษาศีล หรือแม้แต่การภาวนา หากปฏิบัติแล้ว แต่ก็ยังคงมีความยึดมั่น ทำให้ยังมีอารมณ์ปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็ยังไปไม่พ้นนรกสวรรค์อยู่ดี

    ศีล สมาธิ ปัญญา
    ธรรมทั้ง ๓ อย่างเกื้อกูลสนับสนุนกัน จะเข้าถึงนิพพานต้องมีครบทั้ง ๓ ธรรม

    ศีล
    เป็นเรื่องของการควบคุมกายและใจอย่างหยาบ เป็นเครื่องมือในการลด ละ ซึ่งการก่อกรรมที่ไม่ดีต่างๆ เพื่อครองจิตใจให้สงบ เป็นบาทฐานที่ดีต่อการฝึกสมาธิ มหาโจรคนบาป ไม่มีศีล เบียดเบียนคนอื่นเพื่อความสุขส่วนตน บุคคลเหล่านี้ย่อมไม่เกรงกลัวกรรม ไม่ละอายต่อบาป ไม่เชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้มีความคิดว่า เกิดตายชาติเดียว บาปบุญไม่มี จะก้าวต่อถึงระดับสมาธิ ด้วยมิจฉาทิถฐิดังกล่าว มหาโจรย่อมไม่ปล่อยเวลาหาความสำราญของตน เพื่อมารักษาศีล หรือภาวนาอย่างแน่นอน แม้จะแกล้งทำทีเหมือนนั่งภาวนา เจริญกรรมฐานก็ตาม แต่ภายในใจจะว้าวุ่น คิดแต่เรื่องเลวทรามต่ำช้า หาความสงบมิได้เลย การฝึกกรรมฐานของมหาโจรผู้ขาดศีล ไม่มีวันสำเร็จ ฉะนั้น หากบุคคลใดยังพร่องในศีล เขาผู้นั้นก็ไม่แตกต่างจากมหาโจร คือปฏิบัติกรรมฐานไม่ก้าวหน้านั่นเอง

    สมาธิ
    เป็นเรื่องที่ผู้ทรงศีลสามารถเจริญได้ไว กรรมฐานเครื่องมือเข้าถึงความสงบ หยุดพักจิตกับการวิ่งตามกระแสความอยาก เมื่อจิตที่ว้าวุ่นได้หยุดลง ด้วยความสงบนั้น จิตเข้าถึงความสงบระดับฌาน เมื่อจิตที่สงบได้ขบคิดทบทวนค้นหาคำตอบของสภาวะธรรม ย่อมได้คำตอบที่ไม่เคยค้นพบในเวลาที่จิตไม่สงบ ความเข้าใจธรรมบังเกิด วิปัสสนาสัมฤทธิ์ผล ความสามารถในการค้นพบคำตอบนั้นคือตัว "ปัญญา" ตัวปัญญาจากสมาธินี้เรียกว่า "ปัญญาญาณ" หรือ "อภิญญาญาณ" แม้จะมีปัญญาในขั้นตอนนี้แล้ว หากแต่ไม่นำปัญญาที่ได้ไปต่อยอด กลับนำเอาอภิญญาญาณ หรืออิทถิฤทธิ์ที่เกิดจากกำลังของฌานไปใช้ตอบสนองความต้องการทางโลก แทนที่จะดับความยึดมั่นลงไป กลายเป็นเพิ่มพูนความยึดมั่นใหม่ๆขึ้นมา ผู้มีความคิดที่เป็นมิจฉาดังกล่าวก็มิอาจก้าวหน้าไปสู่ระดับการเจริญปัญญาที่แท้จริงได้

    ปัญญา
    เกิดจากความสงบ นำไปสู่ความเข้าใจ หากใช้ปัญญาพิจารณาธรรมที่เป็นเหตุแห่งความยึดมั่น อันพุทธองค์บัญญัติให้ว่า "สังโยชน์" คือกิเลส เป็นความยึดมั่นที่ร้อยรัดให้ทุกคนติดอยู่ในสังสารวัฏ สังโยชน์ทั้ง ๑๐ อย่าง ที่ผู้ปฏิบัติจนเกิดปัญญาจะต้องใช้ปัญญาเข้าไปจัดการ ขุดรากถอนโคนให้สิ้นเสียทั้ง ๑๐ อย่าง เมื่อนั้น ก็ได้ชื่อว่า หมดความยึดมั่น หมดกิเลส เป็นอริยบุคคลระดับสูงสุด สำเร็จอรหันต์ เข้าถึงสภาวะนิพพาน

    วิริยะ โสดาปัตติผล
     
  2. Piagk3

    Piagk3 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    606
    ค่าพลัง:
    +1,222
    คำสอนจากพุทธโอษฐ์ สั้นๆ ที่กล่าวสาเหตุของการเกิดและดับไม่เกิดอีก
    ภิกษุ ท. ! เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรม ๔
    ประการ เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอด
    กาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ธรรม ๔ ประการ อย่างไหนเล่า ? ภิกษุ ท. !
    เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยศีล.... ซึ่งอริยสมาธิ....
    ซึ่งอริยปัญญา....ซึ่งอริยวิมุตติ.... เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยว
    ไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.
    ภิกษุ ท. ! เมื่ออริยศีล, อริยสมาธิ, อริยปัญญา, และอริยวิมุตติ
    เป็นธรรมที่เราและเธอรู้แล้วตามลำดับ แทงตลอดแล้ว; ตัณหาในภพก็ถูกถอนขึ้น
    ขาด ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพก็สิ้นไปหมด บัดนี้ความต้องเกิดขึ้นอีกมิได้มี, ดังนี้.
    ก็คือ ปฏิบัติตามอริยมรรคองค์แปด ที่จะพาไปนิพพาน
     
  3. tsukino2012

    tsukino2012 หยุดจึงพบ สงบจึงเกิด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    1,311
    ค่าพลัง:
    +3,090
    มรรค 8 คือ ศีล , สมาธิ , ปัญญานี่เอง
     

แชร์หน้านี้

Loading...