เรื่องเด่น น้อมรำลึก ๒๒ มิถุนายน คล้ายวันละสังขาร "สมเด็จโต วัดระฆัง" พระอมตะมหาเถราจารย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้าง"พระสมเด็จ" ที่โด่งดัง..

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์, 22 มิถุนายน 2017.

  1. โพธิสัตว์

    โพธิสัตว์ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ธันวาคม 2016
    โพสต์:
    113
    กระทู้เรื่องเด่น:
    92
    ค่าพลัง:
    +726
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก " สมเด็จโต" "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

    _paragraph_2_131(1).gif

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือ

    ประวัติ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี) เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ

    อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง
    สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

    บรรพชาและอุปสมบท
    เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี" เนื่องจากเป็นนาคหลวงจึงเรียกว่า "พระมหาโต" มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
    จริยาวัตร

    ท่านมีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมขอผู้อื่นเป็นหลักและไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใด ๆ แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล

    ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

    12985611_1737271423210123_7348064590808776749_n.jpg

    buddha_15(1).jpg


    คำสอนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

    เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือนอกจากด้านคาถาอาคมแล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ การแสดงออกของท่านตามบันทึกหลักฐานในสมัยหลัง มักบันทึกถึงความเป็นพระเถระผู้มีเมตตา ดำรงศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เอกสารที่บันทึกประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ชั้นเก่าสุด คือเอกสารฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รวบรวมขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ไม่ได้บันทึกคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ เพียงแต่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ต่างกรรมต่างวาระกัน ตามที่ผู้รวบรวมได้บันทึกมาจากปากคำผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เท่านั้น

    อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้ปรากฏมีคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น

    "บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ..."
    "ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า...หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นเมื่อถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่...จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า"

    _mg_9865__29983.jpg

    22(110).jpg

    ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
    เรียบเรียงโดย

    ศักดิ์ศรี บุญรังศรี : สำนักข่าวทีนิวส์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 22 มิถุนายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...