บทกวีธรรมะ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nouk, 27 มิถุนายน 2012.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ที่มา : http://www.dhammathai.org/kaveedhamma/view.php?No=455

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย .......

    .....จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
    .....หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ
    เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

    วิมุตติความหลุด. พ้นอวิชชา
    ด้วยสมาธิและปัญญา .. จิตมั่น
    รู้แจ้งแจ่มในวิชชา. วิเศษ ยิ่งแฮ
    คลายปมสังโยชน์นั้น .... หลุดเข้านิพพาน

    ความหลุดหยุดอวิชชา.... ประหาน กิเลสทราม
    เจโตวิมุตติหลุดด้วยฌาน สมาธิมั่น
    วิชชา อภิญญาญาน. ปฏิสัม-ภิทา นา
    ปัญญาวิมุตติจิตมั่น. หลุดพ้นวัฏฏา

    เจโตฯประหารสิ้น.. ราคะทราม
    จัดในสังโยชน์ตาม ท่านว่า
    อภิญญาปรากฎตาม กำลัง ฌานเอย
    สมาธิแน่วแน่หนา... ฆ่าเจ้านิวรณ์

    ปัญญาฯพาหลุดสิ้น อวิชชา
    ด้วยปฏิสัมภิทา สี่นั้น
    รู้แจ้งแห่งธรรมา... อรรถ ธรรมเอย
    นิรุตติและปฏิภาณนั้น... ร่วมสร้างวิชชา

    อรหันต์ ๒ อรหันต์ ๔ อรหันต์ ๕ เป็นไฉน ???

    อรหันต์ ๒

    อรหันต์ ผู้บรรลุ อรหัตผล
    ประทีปดล ส่องโลกา สง่าใส
    ควรได้รับ ทักขิณา ด้วยหทัย
    บูชาใน ปฏิปทา บรรดาชน

    สุกข- วิปัสสก อรหันต์
    ผู้แจ้งครัน ด้วยปัญญา อย่าสับสน
    บรรลุโดย วิปัสสนา ปัญญาดล
    ท่านหลุดพ้น มิได้ใช้ อาศัยฌาน

    สมถ ยานิก อรหันต์
    ผู้แจ้งพลัน ฌานสมา- -บัติประสาน
    หมายถึง ผู้รู้แจ้ง โดยใช้ฌาน
    เป็นบาทผ่าน สู่วิปัส- -สนา..เอย

    อรหันต์ หมายถึง ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, ท่านผู้สมควรรับทักษิณาและการเคารพบูชาอย่างแท้จริง อรหันต์ ๒ คือ
    ๑. สุกขวิปัสสก หมายถึง ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือ ท่านผู้มิได้ฌาน สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วนๆ
    ๒.สมถยานิก หมายถึง ผู้มีสมถะเป็นยาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต

    อรหันต์ ๔ ประกอบด้วย
    ๑. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน)
    ๒.เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา ๓)
    ๓.ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา ๖)
    ๔.ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา)

    อรหันต์ ๕ ประกอบด้วย
    ๑. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว)
    ๒. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ)
    ๓. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓)
    ๔. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา ๖)
    ๕. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔)
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    วิชชา ๓ วิชชา ๘ คืออะไร

    วิชชา หรือ ญาณ หมายถึง ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ

    วิชชา ๓

    วิชชา คือความรู้ยิ่ง... ในธรรม
    ธรรมวิเศษเลอล้ำ ชิดใกล้
    “วิชชา” คือ ธรรม ทั้งสาม ญาณนา
    “ระลึกเหตขันธ์ก่อนได้” .. “ปุพเพนิวาสฯญาณ”

    ญาณสองกำหนดรู้ กำเนิด สัตว์เอย
    เห็นการเวียนว่ายเกิด .. พวกเจ้า
    “จุตูปปาตญาณ” เพริศ หรือ “ทิพพ- จักขุญาณ”
    เวียนว่ายกรรมพาเข้า .. สู่ห้วงวัฏฏา

    ญาณหยั่งรู้เพื่อสิ้น อาสวะ กิเลสเอย
    ธรรมเพื่อสิ้นอาสวะ .. ยิ่งรู้
    ขานเรียก “อาสวักขย ญาณ”สิ้น กิเลสทราม
    เป็นญาณพะอริยะผู้ .. ตรัสรู้ความจริง (อริยสัจสี่)

    วิชชา ๓ ประกอบด้วย

    ๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้, ระลึกชาติได้

    ๒.จุตูปปาตญาณ หรือ ทิพพจักขุญาณ คือ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม, เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

    ๓.อาสวักขยญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ, ความตรัสรู้

    จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

    วิชชา ๘

    วิชชาแปด เป็นไฉน ใคร่อยากรู้
    เป็นความรู้ ที่แจ้ง แห่งเหตุไหน
    “วิปัสสนาญาณ” ญาณปัญญา พิจารณาใน
    “นาม-รูป ไตร- ลักษณ์”ต่อเนื่อง เรื่องวิชชา

    “มโนม- ยิทธิ ฤทธิ์ด้วยจิต
    นิรมิต ดุจชักดาบ จากฝักหนา
    หรืองูใหญ่ ออกจากคราบ ปราบศักดา
    “อิทธิวิธา” แสดงฤทธิได้ ด้วยผลฌาน

    “ทิพพโสต” “ทิพพจักขุ” เป็นฤทธิซึ่ง
    จิตเป็นหนึ่ง พละกล้า มหาศาล
    จิตแนบแน่น เป็นหนึ่งเดียว เคี่ยวในฌาน
    ร่วมประสาน อภิญญาบรรเจิด เกิดพลัง

    อีก “เจโต- ปริยญาณ” ญาณรู้จิต
    รู้ความคิด ผู้อื่นได้ ดั่งใจหวัง
    “ปุพเพนิวาสฯ” ระลึกชาติ ด้วยกำลัง
    เป็นญาณหยั่ง รู้อดีต ที่ผ่านมา

    ญาณสุดท้าย เป็นญาณ ที่ประเสริฐ
    ความรู้เลิศ รู้หมดสิ้น สิ้นกังขา
    สิ้นอาสวะ เผากิเลส ด้วยปัญญา
    และนี่คือ “อาสวัก- ขยญาณ”

    วิชชา ๘ คือ ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ

    ๑.วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือนามรูปโดยไตรลักษณ์

    ๒.มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ

    ๓. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

    ๔. ทิพพโสต คือหูทิพย์

    ๕. เจโตปริยญาณ คือ ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้

    ๖. ปุพเพนิวาสานุสสติ คือ ระลึกชาติได้

    ๗. ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์

    ๘. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ

    ฌานสมาบัติ (ฌาน ๔)

    พระผู้มีพระภาคฯตรัสรู้พ้น .. ภัยพาล
    บรรลุสัมโพธิญาณ ... เจิดจ้า
    ปัญญาวิมุตติใช้ฌาน เป็นบาท นั่นแฮ
    ควรน้อมจิตศึกษา.... เพื่อรู้จัก "ฌาน"

    "ปฐมฌาน"เป็นบาทพา พ้นกาม..นิวรณ์
    สงัดจากอกุศลทราม . ปลดเปลื้อง
    วิตก วิจาร สุขงาม.... ปีติล้น จิตนา
    เอกัคตาต่อเนื่อง เพื่อเข้า"ทุติยฌาน"

    "ทุติยฌาน"จิตผ่อง แผ้วนา
    จิตอาบด้วยธรรมา. สุขยิ่ง
    วิตก วิจารระงับกา- ยาสงบ ยิ่งเอย
    ด้วยพลังสมาธิยิ่ง.. จิตนิ่งน้อมธรรม

    อุเบกขาตั้งมั่นอยู่ "ตติยฌาน"
    ไม่มีวิตกวิจาร.... ปีติสิ้น
    สติ สัมปชัญญ์นาน.... เอิบอิ่ม จิตนา
    จิตตื่นตัว ฟุ้งสิ้น.. สงบพร้อมพิศธรรม

    กายระงับดับสุขสิ้น... แม้ปราณ
    ด้วยอุเบกขาฌาน เนื่องแท้
    โทมนัสโสมนัส สราญ หมดสิ้น ทุกข์เอย
    มีสติสมบูรณ์แล้... นี่เข้า "จตุตถฌาน"
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 มิถุนายน 2012
  3. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    การปฏิบัติที่ถูกต้องคือละนามรูป ให้ทำดังนี้

    บัณฑิตเหล่าใดมีปณิธานแรงกล้าที่จะละนามรูปเพื่อความหลุดพ้น เห็นไตรลักษณ์แจ่มแจ้งในนามรูป ปรารภอนาคาริกผู้ไม่หวนกลับ มีนิพพานเป็นอารมณ์ น้อมจิตไปสู่นิพพานไม่ถอนไม่คลาย พิจารณานามรูปว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มั่นคงดีแล้ว

    ละนามรูปเข้าสู่ปฐมฌาน ทำความพอใจอยู่ในปฐมฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ .

    ละปฐมฌานเข้าสู่ทุติยฌาน ทำความพอใจในทุติยฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละทุติยฌานเข้าสู่ตติยฌาน ทำความพอใจในตติยฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละตติยฌานเข้าสู่จตุตถฌาน ทำความพอใจในจตุตถฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละจตุตถฌานเข้าสู่อากาสานัญจายตนฌาน ทำความพอใจในอากาสานัญจายตนฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละอากาสานัญจายตนฌานเข้าสู่วิญญานัญจายตนฌาน ทำความพอใจในวิญญานัญจายตนฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละวิญญานัญจายตนฌานเข้าสู่อากิญจัญญายตนฌาน ทำความพอใจในอากิญจัญญายตนฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละอากิญจัญญายตนฌานเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ทำความพอใจในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น มีปณิธานอันแรงกล้าเพื่อละนามรูปเป็นผู้ไม่หวลกลับ.

    ละเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทำความพอใจในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัตินั้น ทำความพอใจในความดับ ตั้งความปรารถนาอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้า

    อธิษฐานให้จิตตสังขารดับลง สัญญาเวทนา และ อาสาวกิเลสทั้งปวง ก็จะดับลงพร้อมกับจิตตสังขารนั้น.

    เราไม่ตาม ดูจิต ไม่ตามคิด
    แต่เลือกคิด เลือกจิต เป็นกุศล
    ขืนฟุ้งตาม อริยาบท ที่วกวน
    จิตจักพ้น นิวรณ์ห้า มาอย่างไร ???

    สติปัฏฐาน 4 ข้อสุดท้ายคือ ธรรมในธรรม
    ธรรมในธรรมข้อสุดท้ายคือ อริยะสัจ 4
    อริยะสัจ 4 ข้อสุดท้ายคือ มรรคมีองค์ 8
    มรรคมีองค์ 8 ข้อสุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ
    สัมมาสมาธิ ข้อสุดท้ายคือ จตุตถฌาน
    จตุตถฌานคือ มีเอกคตารมณ์ เสวยอุเบกขาอยู่เป็นอารมณ์เดียว

    ราคะ โทสะ และโมหะ กำจัดได้ด้วยอุเบกอันเกิดจากปัญญาและความเพียร

    สัพเพ ธัมมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือคำตอบสุดท้าย

    อนิจจาอนิจจังไม่เที่ยงแท้
    มันผันแปรปรวนไปได้ทุกเมื่อ
    มันเป็นทุกข์กังวลจนเหลือเฟือ
    ไม่หลงเหลือบ่งชัดอนัตตา
    มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป
    มันวูบไหวเกิดดับนานนักหนา
    ตัวตั้งต้นชี้ชัดคืออัตตา
    ละวางนั่นละหนาวิมุติเอย
     
  4. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    สู่วิมุตติ ได้ด้วย การปฏิบัติ
    จากปริยัติ ที่เรียน เพียรฝึกฝน
    วิริยะ คร่ำเคร่ง เพ่ง อดทน
    เพื่อได้ผล ปฏิเวธ ดั่งเจตนา

    ด้วยการเพ่ง เร่งเร้า เผากิเลส
    ที่ต้นเหตุ ตัณหาเร้า เข้าสังสาร์
    อีกนิวรณ์ นอนเนื่อง ในอาตมา
    สู่วัฏฏา วนเวียน ควรเพียรทำ

    จะด้วยการ ใช้ปัญญา เพียงอย่างเดียว
    หรือจะเคี่ยว ฌานเป็นบาท ล้วนทางสัมม์
    ใช้สมถะ วิปัสสนา ปัญญาธรรม
    จะพ้นกำ กงเกวียน เวียนว่ายวน

    สติปัฏฐาน หรือฌาน ปัญญายิ่ง
    หากละทิ้ง รูป-นาม กาม สับสน
    ละสังโยชน์ ทั้งสิบได้ ในจิตตน
    ก็หลุดพ้น สู่วิมุตติ พิสุทธิธรรม

    ด้วย "โพชฌงค์" องค์ธรรม แห่งตรัสรู้
    "สติ"รู้(ตัว) "สอดส่องธรรม" "ความเพียร"สัมม์
    "ความอิ่มใจ" "ความสงบ" "จิตมั่น" ธรรม
    "อุเบกข์"ธรรม นำจิตรู้ สู่นิพพาน

    *****************
    “อรูปฌาน” (ฌาน๕ - ๘)

    ในฌาน สมาบัติ ทั้งแปดนั้น
    ได้แบ่งกัน รูปฌานสี่ มีรูปหมาย
    อรูปฌาน อีกสี่นั้น ไม่มีกาย
    ได้แต่หมาย สัญญา เป็นอารมณ์

    “อากาสานัญ จายตนะ” ฌานที่ห้า
    เป็นฌานหา ที่ว่างสุด เกิดสุขสม
    น้อม ที่ว่าง ไม่มีที่สุด เป็นอารมณ์
    ฌานจะสม- บูรณ์ได้ เพราะสัญญา

    “ วิญญาณัญ จายตนะ” ชื่อฌานหก
    พระไตรปิฎก บันทึกไว้ ให้รู้หนา
    กำหนด วิญญาณ หาที่สุดมิได้ เป็นสัญญา
    น้อมนำมา เป็นอารมณ์ สุขสมจริง

    “อากิญจัญญา ยตนะ” ฌานนี้ ไม่มีแน่
    ทุกสิ่งแท้ คือความว่าง กระจ่างยิ่ง
    ไม่มีเหลือ สิ่งใด ในความจริง
    จิตน้อมนิ่ง อารมณ์เจ้า เข้าสู่ฌาน

    “เนวสัญญานา สัญญายตนะ” ฌานแปดนั้น
    สัญญาอัน จำได้ กลับกลายสิ้น
    น้อมอารมณ์ จำไม่ได้ ดั่งใจจินต์
    ให้ถวิล ถึงสัญญา มาจดจำ

    อรูปฌาน ที่ห้า ถึงแปดนี้
    เป็นฌานที่ ใช้ สัญญา นะคมขำ
    ทั้งห้าฌาน ใช้ฌานสี่ เป็นบาทนำ
    เชิญงามขำ เร่งฝึกฝน เกิดผลเอย
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...