บทเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 15 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    บทเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

    โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

    [​IMG]



    ผู้เขียนได้กลายเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ไปในวันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา โดยถูกนำตัวไปให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) แก่สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2524 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯไปทรงพระอักษรระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

    การให้ปากคำถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระจริยาวัตรของพระองค์ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ โดยใช้วิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่าเพื่อเป็นการรวบรวมบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ไว้กับสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะอันจะเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้อย่างถูกต้อง

    การเสวนาระหว่างผู้ที่ศึกษาร่วมรุ่นปริญญาเอกพัฒนศึกษาศาสตร์ 2 คน กับพระอาจารย์ 1 ท่าน คือ ท่านอาจารย์ ดร.ชมพันธ์ กุญชร ณ อยุธยา ปรากฏว่าเรื่องที่ รศ.ชาญชัย อินทรประวัติ ได้กล่าวถึงที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งซึ่งผู้เขียนออกจะเลือนๆ ไปบ้างแล้ว คือ เรื่องที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานบทเรียนให้แก่สมเด็จพระเทพฯ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 8 พรรษา

    เมื่อได้ฟังแล้ว ผู้เขียนเกิดความกระจ่างแบบสหัชญาณ (Intuition) ขึ้นมาทันทีทันใด กล่าวคือผู้เขียนได้บรรยายวิธีการสอนของโสเครติสในการพูดถึงปรัชญาการศึกษาอยู่เสมอว่า โสเครติสเชื่อว่าคนเรานั้นมีความรู้ดั้งเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีวิธีตั้งคำถามให้เหมาะสม แล้วผู้ที่ถูกถามก็จะเข้าใจแบบเห็นแจ้งแทงทะลุไปโดยตลอดขึ้นมาเอง (ทำนองว่าการตั้งคำถามเป็นการแคะความรู้ออกมานั่นเอง)

    ปัญหาก็คือผู้เขียนไม่สามารถหาตัวอย่างที่เจ๋งๆ ประกอบการบรรยายได้เลย จนกระทั่งได้ยินเรื่องที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าพระราชทานเมื่อ 25 ปีมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนลืมไปนานแล้ว ทำให้ต่อไปนี้การอธิบายวิธีการของโสเครติส (Socrates" Method) ก็คงจะชัดแจ้งยิ่งขึ้น

    นับว่าเป็นอานิสงส์ของการยอมตัวเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์แท้ๆ

    สมเด็จพระเทพฯ ได้ทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

    "ข้าวสาร 1 กระสอบมีกี่เม็ด?"

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่าข้าวสาร 1 กระสอบมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม กิโลกรัมหนึ่งมีเครื่องชั่งวัดได้ 10 ขีด ดังนั้น ก็เอาภาชนะไปตวงข้าวสารมาชั่งได้ 1 ขีด แล้วก็นับข้าวสารที่ตวงมานั้นว่ามีกี่เม็ดแล้วก็เอา 10 คูณ เสร็จแล้วก็เอา 100 คูณผลลัพธ์อีกทีก็จะได้จำนวนเม็ดข้าวสารใน 1 กระสอบ

    สมเด็จพระเทพฯ ทรงทูลว่า

    "ไม่อยากรู้แล้ว"

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าไม่ได้หรอก หากถามก็แสดงว่าอยากรู้ ดังนั้น จงไปทำการหาข้าวสารมาตวงและนับเสีย เมื่อได้ผลเป็นอย่างไรให้มาบอกด้วยว่าข้าวสารหนึ่งกระสอบมีกี่เม็ด เพราะว่าก็อยากรู้เหมือนกัน!

    ความจริงความรู้ส่วนใหญ่คนเราก็รู้ๆ กันอยู่ เพียงแต่ความรู้เหล่านี้บางทีมันอัดกันอยู่แน่น ต้องมีวิธีการแคะออกมาคือการถามให้คิดฟื้นความจำและใช้เหตุผล ซึ่งเรื่องมาตราชั่ง-ตวง-วัดเมตริกนี้เราก็เรียนมาในหลักสูตรประถมศึกษาตอนต้นทุกคน แต่โจทย์เลขง่ายๆ เช่นนี้หากไม่คิดทบทวน ฟื้นความจำและใช้เหตุผลแล้ว ก็ดูออกจะเป็นเรื่องที่หมดหวังเอาเลยทีเดียว

    พวกเราชาวพัฒนศึกษาศาสตร์ทุกคนระลึกถึงพระจริยาวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเทพฯ ได้อย่างติดหูติดตาเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เองและเป็นบุญที่ได้พบเห็น คือครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระอักษรที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ชื่อมหาวิทยาลัยเป็นชื่อพระราชทาน ต้องอ่านว่า "สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด" นะ ไม่ใช่ที่ชอบออกเสียงกันผิดๆ ว่า สี-นะ-คะ-ริน-ทะ-ระ-วิ-โรด) อยู่ในช่วงปีที่ 2 พ.ศ.2526 ในช่วงพักครึ่งของการเรียนในช่วงเช้า คือประมาณ 10.30 น. ทางสำนักพระราชวัง โดยพระพี่เลี้ยงได้จัดเครื่องดื่มส่วนพระองค์มาเตรียมถวาย ซึ่งสูตรประจำคือ น้ำส้ม นมสด และน้ำเปล่าอย่างละแก้ว

    ตามปกติแล้วพวกเราก็จะผลัดกันยกมาถวายท่าน วันนั้น รศ.ดร.สุวกิจ นิสิตชาวมหาสารคามเป็นคนยกไปถวาย แต่คงเป็นเพราะดูหนังสือดึกหรืออย่างไรไม่ทราบได้ สุวกิจทำเครื่องดื่มหกหมดเลย ในขณะที่ทุกคนตกตะลึก โดยเฉพาะสุวกิจหน้าซีดเผือดไปเลย แต่พระองค์ท่านทรงยิ้มแล้วรับสั่งว่า

    "ดีแล้ว จะได้กินอย่างอื่นบ้าง ของพวกนั้นชักจะเบื่อแล้ว" บรรยากาศตึงเครียดก็ผ่อนคลายลงทันที

    สุวกิจไม่เคยลืมพระมหากรุณาธิคุณครั้งนั้นเลย และบทเรียนสำคัญยิ่งที่ผู้เขียนจดจำมาตลอด เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งที่สามารถอธิบายได้อย่างสิ้นกังขาเลยว่าทำไมคนไทยทั้งชาติจึงรักและเทิดทูนสมเด็จพระเทพฯ อย่างล้นเหลือ


    Ref.
    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01151149&day=2006/11/15
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2006

แชร์หน้านี้

Loading...