บันทึกนางนพมาศว่า มีคนอเมริกันอยู่ในกรุงสุโขทัยยุคพระร่วง! ร. ๕ ทรงวิจารณ์…วิปราส !! –...

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 11 พฤศจิกายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b899e0b8b2e0b887e0b899e0b89ee0b8a1e0b8b2e0b8a8e0b8a7e0b988e0b8b2-e0b8a1e0b8b5e0b884e0b899e0b8ad.jpg
    วันที่ ๑๑ พฤศจิกายนนี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นเทศกาลลอยกระทงอีกครั้ง เมื่อพูดถึงลอยกระทงก็นึกถึงนางนพมาศที่ว่าเป็นผู้สร้างกระทงดอกบัวขึ้นในงานลอยกระทง นางเป็นธิดาของพระศรีมโหสถ ในตระกูลพราหมณ์ของกรุงสุโขทัย ด้วยความเป็นคนสวยและฉลาด บิดาจึงนำตัวไปถวายรับราชการกับพญาลือไท กษัตริย์พระองค์ที่ ๔ ของราชวงศ์พระร่วง นางได้ทำความดีความชอบครั้งสำคัญ ๓ ครั้ง คือ

    ครั้งที่ ๑ เมื่อเข้าไปรับราชการได้ ๕ วันก็มีพระราชพิธีจองเปรียงลอยกระทง นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวกมุทขึ้น ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะในคืนวันเพ็ญ สวยงามและมีความหมายเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงรับสั่งให้ทำกระทงดอกบัวแบบของนางนพมาศลอยในเทศกาลลอยกระทงตลอดไป

    ครั้งที่ ๒ ในเดือน ๕ ของทุกปี จะเป็นวันที่ขุนนางต่างเมืองมาประชุมกันที่กรุงสุโขทัย เจ้าประเทศราชก็จะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายด้วย พระเจ้าแผ่นดินจะต้อนรับด้วยหมากพลู นางนพมาศจึงคิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นขึ้นด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอีก รับสั่งว่าต่อไปในงานมงคลหรือรับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากแบบของนางนพมาศ จนเป็นที่มาของพานขันหมากในพิธีสมรสจนวันนี้

    ครั้งที่ ๓ นางนพมาศได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ด้วยดอกบัวขึ้นอีกอย่าง ถวายให้พระร่วงเจ้าใช้ถวายพระรัตนตรัย เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยเช่นกัน รับสั่งให้ใช้พนมดอกไม้แบบนี้ต่อไปในวันเข้าพรรษา

    เมื่อเข้าไปอยู่ในรั้วในวัง เห็นขนบธรรมเนียมราชประเพณีต่างๆ ตลอดจนภูมิสถานบ้านเมือง นางก็จดพรรณนาไว้รวม ๓ เล่มสมุดไทย เรียกว่า “หนังสือเรื่องนางนพมาศ” บ้าง “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” บ้าง นับเป็นพงศาวดารสมัยกรุงสุโขทัยได้เล่มหนึ่ง

    แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์คำนำไว้ตอนหนึ่งว่า

    “เมื่ออ่านตรวจดูหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ในทางภาษา เป็นหนังสือแต่งใหม่ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง สำนวนผิดกับหนังสือแต่งครั้งกรุงสุโขทัยนัก และมีข้อความในหนังสือนั้นบางแห่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นจริงไม่ได้เป็นอันขาด เช่น ชาวต่างประเทศว่ามีอังกฤษ ฝรั่งเศส วิลันดา สเปน และที่สุดอเมริกัน ซึ่งความจริงรู้อยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่แน่นอนว่า ฝรั่งชาติเหล่านั้นหรือชาติใดๆยังไม่มีมาในประเทศนี้ในครั้งนางนพมาศ

    อีกประการหนึ่งที่ว่า ครั้งนครสุโขทัยมีปืนใหญ่หนักตั้งร้อยหาบ พันหาบ ข้อนี้จะเป็นจริงไม่ได้ ด้วยปืนใหญ่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในโลกเวลานั้น เหตุใดจึงกล่าวไว้ในหนังสือนางนพมาศ เหตุนี้จึงน่าสงสัยว่าจะเป็นหนังสือผู้อื่นแต่งขึ้นใหม่ๆ เอาแต่ชื่อนางนพมาศมาอ้างให้คนหลงเชื่อ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบบังคมทูความเรื่องนี้แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง มีรับสั่งว่าได้ทรงสังเกตอยู่ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศทางภาษาเป็นหนังสือใหม่ และมีข้อความที่จะจริงไม่ได้อยู่ในนั้นจริง แต่ท่านที่ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นต้นท่านทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ท่านคงจะได้สังเกตเห็นความวิปราสในหนังสืออย่างที่เราเห็นเหมือนกัน แต่ท่านจะได้หลักฐานอื่นอย่างไรซึ่งเราไม่รู้ได้มาประกอบ จึงได้ทรงเชื่อถือ ในส่วนพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองนั้น พระองค์ทรงพระราชดำริเห็นว่า เรื่องเดิมเขาจะมีจริง แต่ต้นฉบับจะลบเลือนบกพร่องอยู่อย่างไร มามีผู้ปฏิสังขรณ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่ผู้ที่ปฏิสังขรณ์หย่อนทั้งสติปัญญาและความรู้ ไปหลงนิยมเสียว่ายิ่งตกแต่งให้เพราะเจาะละเอียดลออขึ้นได้อีกเท่าใด ยิ่งเป็นการดี จึงซ่อมแซมเสียจนเลอะไป อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้”

    หลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องเก่าโบราณนานมา ถ่ายทอดต่อต่อๆกันมา บ้างก็คลาดเคลื่อนด้วยด้วยความจำสับสน บ้างก็เจตนาจะระบายสีให้ดูดียิ่งกว่าความเป็นจริง บางเรื่องจึงวิปราสไป แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษากันกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น บางอย่างก็ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ ความจริงก็ปรากฏขึ้น อย่างแต่ก่อนเราเชื่อกันมานานว่า พระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเราก็พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า อู่ทองนั้นเป็นเมืองร้างไปก่อนที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยากว่า ๓๐๐ ปีแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอู่ทองจะอพยพมาจากเมืองอู่ทอง และศึกษาต่อไปก็พบว่า พระเจ้าอู่ทองย้ายราชธานีมาจากเมืองอโยธยา ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับกรุงศรีอยุธยานั่นเอง นี่ก็เป็นการค้นคว้าหาความจริงของประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน


    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000107997
     

แชร์หน้านี้

Loading...