บางมุมของ “พระสังฆราช” ที่ชาวพุทธยังไม่รู้

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 3 ตุลาคม 2013.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    [​IMG]

    วันนี้ (3 ตุลาคม) เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทย ล้วนปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี พระองค์ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนไทยเป็นล้นพ้น ทรงประกอบศาสนกิจเป็นคุณประโยชน์เอนกอนันต์ มิเพียงแต่ชาวพุทธในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปทั่วโลก พระองค์ท่านจึงได้รับการยกย่องจากทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและในต่างประเทศ

    พระประวัติชีวิตและผลงานของพระองค์ จึงมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่อยู่มากมาย แต่ก็ยังมีบางมุมในพระประวัติ ที่เชื่อว่าชาวพุทธหลายคนยังอาจจะไม่เคยรับทราบมาก่อน โอกาสนี้ กองบรรณาธิการ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ได้รับความกรุณาจาก พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม มีคุณค่าแก่ชาวพุทธ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบเนื่องต่อไป

    อนึ่ง พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ เป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชทรงรับอุปถัมภ์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 ปี ทรงสั่งสอนหลักธรรม และส่งเสริมให้เรียนรู้จนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระ ดร.อนิลมาน รับใช้สมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเจริญวัยในปัจจุบัน จึงเป็นท่านหนึ่งที่ทราบถึงพระประวัติส่วนพระองค์ทุกเรื่องได้เป็นอย่างดี

    พระจริยวัตรประจำวัน

    พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงตื่นบรรทมทุกเช้าเวลา 03.30 น. จากนั้นจะทรงนั่งสวดมนต์ภาวนาไปจนถึงเวลา 05.00 น. บทสวดมนต์ที่พระองค์ท่องประจำ มีตั้งแต่สวดพระปาติโมกข์ ท่องพระสูตรและพระคาถาต่างๆ

    “ถ้าวันไหนมีกิจกรรมเยอะๆ จะต้องทำ พระองค์จะรับสั่งกับอาตมาว่า...วันนี้สวดยังไม่จบคอร์สเลย...เพราะทรงพระอารมณ์ดี”

    หลังจากสวดมนต์เสร็จ พระองค์จะทรงนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งและมั่นคง ต่อไปจนถึง เวลา06.00 น. จากนั้นจึงเสด็จออกจากพระตำหนัก เพื่อรับแขกที่มาเข้าเฝ้าหรือเสด็จบิณฑบาต แม้ตอนที่พระองค์เป็นพระสังฆราชก็ยังเสด็จออกบิณฑบาตเป็นประจำ

    “พระสังฆราชทรงพระเมตตามาก หลังจากบิณฑบาตกลับมาทรงเห็นเณรน้อยหลายรูป ที่ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร ส่วนพระองค์ของเต็มบาตรเพราะมีประชาชนมาถวายกันเยอะ พระองค์จะทรงแบ่งอาหารจากบาตรให้แก่เณรด้วย หรือบางทีพระรอบกุฏิที่ไม่ออกบิณฑบาต พระองค์ทรงกลัวว่าพระเหล่านั้นจะไม่มีอาหารฉัน ก็จะทรงแบ่งอาหารในบาตรให้ พร้อมพูดติดตลกว่า แทนที่ลูกศิษย์จะเลี้ยงอุปัชฌาย์ กลายเป็นอุปัชฌาย์เลี้ยงลูกศิษย์แทน”

    ในทุกๆ วัน จะมีทั้งแขก ผู้มีชื่อเสียงและเหล่าพุทธศาสนิกชน มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 09.30น. จึงจะเสวยพระกระยาหาร โดยเสวยมื้อเดียวมาตลอด

    พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า แขกที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ บางวันมีจำนวนมากจนบางครั้งขณะที่พระองค์ทรงเสวยก็ยังมีมาเข้าเฝ้า

    “วันหนึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นมีแขกมาเข้าเฝ้า ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชกำลังเสวย สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนป้ายบอกว่า ห้ามเข้าเฝ้าจนกว่าจะเสวยเสร็จ...เพราะทรงเห็นว่า พระองค์มีเวลาเสวยเพียงวันละมื้อเท่านั้น”

    สมเด็จพระสังฆราชจะบรรทมอีกทีประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเสวยเสร็จ เมื่อตื่นบรรทมแล้วถ้ามีงานนิมนต์ก็จะเสด็จไป หรือถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา พระองค์จะเสด็จไปสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เสด็จไปไหน พระองค์จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่าย ค้นคว้าตำรา ทรงอ่านหนังสือหรือทรงพระนิพนธ์

    ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ทรงเปิดพระตำหนักให้ญาติโยมได้เข้าเฝ้าอีกครั้ง จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือ จะทรง
    ค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์งาน หรือทรงเตรียมงานสำหรับวันต่อไป

    สมเด็จพระสังฆราชจะเข้าบรรทมทุกวันในเวลา 21.00 น. โดยก่อนบรรทมจะสวดมนต์เจริญภาวนาอีกครั้ง

    ทรงเป็นนักสื่อสารมวลชน

    หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเคยเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ด้วย โดย พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงเคยขอให้สมเด็จพระสังฆราชจัดรายการวิทยุ ที่สถานี อส. เกี่ยวกับเรื่องธรรมะเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา

    “พระองค์จะทรงเขียนบทวิทยุเอง เป็นบทสั้นๆ ประมาณ 10 นาที แล้วทรงอ่านอัดเทปเพื่อนำไปเปิดในรายการ ครั้งหนึ่งสมเด็จย่าทรงให้พระองค์ทรงเขียนเรื่องธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อนำไปออกอากาศ พระองค์จึงทำบทวิทยุเรื่อง “การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่” โดยทำเป็นตอนๆ และในช่วงท้าย พระองค์กทรงนิพนธ์เรื่องจิตตนครขึ้นมา”

    นอกจากนี้ พระ ดร.อนิลมาลยังเปิดเผยว่า สมเด็จพระสังฆราชทางเป็นคนทันสมัยมาก เพราะครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน “ศรีสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารของผู้หญิง

    ทรงเป็นกวีเอก

    อีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นกวีที่เก่งมาก ทรงแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทุกประเภท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างสละสลวย โดยเฉพาะ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชทรงพระนิพนธ์กลอนถวายทุกปี

    เมื่อสมัยที่ทรงผนวชเป็นพระใหม่ สมเด็จพระสังฆราชเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473

    แต่ครั้นสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ผลปรากฏว่า ทรงสอบตกทั้งๆ ที่ทรงตั้งพระทัยมาก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้มาก พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ทรงระบายความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นกลอน หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงใช้ความผิดหวังเป็นพลังกลับไปสอบใหม่จนจบเปรียญ 9

    รับสั่งได้ถึง 4 ภาษา

    พุทธศานิกชนมักจะเห็นว่า เหล่าแขกที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย คำถามคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าว่า พระองค์มีพระปรีชามาก ทรงฝึกหัดภาษาต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับสั่งอย่างคล่องแคล่ว และทรงเขียนได้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ จีน นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ทรงอ่านและเขียนได้คล่องคืออักษรขอมโบราณ อักษรพม่า อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี

    พระนิพนธ์อันทรงคุณ

    พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา นิยายทั่วไป โดยพระนิพนธ์ล่าสุดเรื่อง “จิตตนคร” โดย พระธีรโพธิ ภิกขุ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพในชื่อ “จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี

    “พระนิพนธ์มีมหาศาลมากที่กำลังจัดพิมพ์ขณะนี้ มีถึง 32 ซีรีย์ แต่ละเล่มหนาถึง 500หน้า ซึ่งเป็นธรรมะทุกระดับ”

    ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับฟังเทปของสมเด็จพระสังฆราชเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง และทรงสนพระทัยมากจนขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพิมพ์ถวาย โดยในหลวงทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง

    ส่ง”พระธรรมทูต”เผยแผ่ศาสนา

    สมเด็จพระสังฆราชทรงทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพระศาสนาอย่างกว้างไกล ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีพระไทยและวัดไทยที่ไปเผยแผ่พระพุทธทั่วโลก อันเนื่องมาจากพระดำริที่มองการณ์ไกลของพระองค์นั่นเอง

    เมื่อปี พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์แรก ที่ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ ฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ

    “ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงริเริ่มฝึกพระธรรมทูต โดยเลือกจากพระเณรให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นก็ฝึกให้ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมได้ เพื่อง่ายต่อการส่งไปเผยแพร่ศาสนายังวัดในต่างประเทศ”

    จากพระธรรมทูตองค์แรกเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบัน มีพระธรรมทูตที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างวัดทั่วโลกถึง 200 แห่ง และในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี เหล่าพระธรรมทูตก็ได้กลับมาที่วัดบวรฯ เพื่อสัมมนาตรวจสอบจิตวิญญาณแห่งพระธรรมทูตครั้งใหญ่ร่วมกัน

    เนื่องในวโรกาสที่ใต้ฝ่าพระบาทเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ขอตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจพระกุศลบารมี ที่ใต้ฝ่าพระบาททรงกระทำบำเพ็ญมา จงอภิบาลรักษาใต้ฝ่าพระบาทให้เสด็จสถิตเป็นบุญยฐานและประทีปธรรมของปวงพุทธบริษัทตลอดไป

    ข่าวโดยทีมข่าว Celeb-Online
    http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000124143
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 ตุลาคม 2013
  2. Specialized

    Specialized ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    22,159
    กระทู้เรื่องเด่น:
    23
    ค่าพลัง:
    +83,349
    สาธู๊ -/\-
     
  3. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เรื่องของ “สมเด็จพระสังฆราช” ในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

    เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556

    “ธรรมลีลา” ขอร่วมเฉลิมฉลองด้วยเรื่องของ “สมเด็จพระสังฆราช” ในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ทั้งพระอัจฉริยภาพ และพระจริยาวัตรอันงดงาม

    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยกล่าวแก่ศิษย์ผู้หนึ่งที่อุตสาหะเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

    “อยากกราบพระดี ไม่ต้องดั้นด้นเดินทางมาถึงเชียงใหม่หรอก กราบอยู่ที่กรุงเทพฯก็ได้ ก็สมเด็จญาณฯนั่นไง”

    นี่เป็นคำยืนยันการรับรองในหมู่พระสุปฏิปันโน ถึงพระจริยาวัตรของสมเด็จพระสังฆราช ว่างดงามเพียบพร้อม เป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่เป็นนิจ

    สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดำรงชีวิตด้วยการกินอยู่ง่าย ทรงมักน้อย อดทน เป็นพระผู้สันโดษ และไม่ยึดติดพิธีรีตอง การดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นไปอย่างพอเหมาะแก่ความเป็นสมณะที่เรียกว่า “สมณสารูป”

    แม้จะทรงดำรงสมณศักดิ์อยู่ในฐานะประมุขของสงฆ์ก็ตาม ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร มีดำรัสแก่ภิกษุสามเณรในวัดอยู่เสมอว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา เป็นพระต้องจน”

    กระทั่งจีวรนุ่งห่มก็ทรงใช้สอยอย่างธรรมดา เรียบง่าย โปรดใช้จีวรที่ซักย้อมเป็นประจำมากกว่าของใหม่ ทั้งยังโปรดที่จะซักและเย็บชุนด้วยพระองค์เอง

    ทรงรับสั่งในหมู่พระเณรและศิษย์ใกล้ชิดเสมอๆว่า ให้ใช้สอยข้าวของอย่างประหยัด โดยทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่าง ไม่ทรงนิยมสะสมข้าวของ และมักแจกจ่ายออกไปตามโอกาสอันควร เช่น ในวันมหาปวารณาออกพรรษา

    คราวหนึ่งมีผู้ประสงค์จะถวายรถยนต์สำหรับทรงใช้สอยเวลาเสด็จไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทรงมีรับสั่งตอบว่า “ไม่รู้จะไปเก็บไว้ที่ไหน” หมายความว่า ไม่ทรงรับถวาย

    และทุกครั้งเวลาเสด็จไปร่วมงานบุญงานกุศลที่วัดไหน เมื่อมีผู้ถวายปัจจัย พระองค์จะไม่ทรงรับไว้เอง จะประทานคืน โดยรับสั่งว่า “ขอร่วมทำบุญด้วย”

    รูปที่ 1 สมเด็จพระสังฆราชทรงมีไมตรีแน่นแฟ้นกับองค์ทะไลลามะ ประมุขและผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ในคราวที่องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นั้น ได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ถวายคำแนะนำการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาทแด่องค์ทะไลลามะ

    และอีกครั้งหนึ่งในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยปี พ.ศ. 2536 องค์ทะไลลามะเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพบกันในพระอุโบสถ องค์ทะไลลามะได้กล่าวทักทายเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า”

    รูปที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระโสภนคณาภรณ์ ทรงเป็น “พระอภิบาล”(พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

    รูปที่ 3 ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการทรงผนวช และทรงเป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัยขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 6-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

    รูปที่ 4 และ 5 พระอัจฉริยภาพด้านภาษาของสมเด็จพระสังฆราชมีมากมาย นอกจากภาษาจีนแล้ว ยังสนพระทัยภาษาต่างประเทศอื่นๆอีก เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สันสกฤต ขอม ในภาพนี้กำลังทรงอักษรจีนด้วยพู่กันจีน เมื่อครั้งเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2536 คำที่เขียนเป็นคำมงคล มีความหมายว่า “รำลึกถึงพระพุทธเจ้าจิตใจจะผ่องใส”

    รูปที่ 6 พระอิริยาบถที่เห็นได้ชัดของสมเด็จพระสังฆราช คือ ทรงมีพระอัธยาศัยนุ่มนวล อ่อนน้อม และทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงวางองค์เป็นกันเองกับคนทุกเพศทุกวัย ในภาพนี้เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ หน้าตำหนักคอยท่า ปราโมช

    รูปที่ 7 และ 8 เมื่อครั้งที่เสด็จไปทอดพระเนตรเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ซึ่งอยู่กลางทุ่งนา หมู่บ้านนิคลิหะวา ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศเนปาล สถานที่ตั้งของเสาอโศกนั้นอยู่ไกล ต้องเสด็จผ่านทุ่งนาและเดินบนคันนา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างลำบาก ทำให้คณะที่ตามเสด็จพากันอ่อนล้า เมื่อถึงที่หมายจึงประทับกับพื้นหญ้ากลางทุ่งนาแบบไม่มีพิธีรีตอง เป็นอีกพระอิริยาบถหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้วางตนเรียบง่ายและไม่ถือพระองค์

    รูปที่ 9 เนื่องด้วยนามสกุลเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ “คชวัตร” หมายถึง “ช้างจำศีล” จึงมักมีผู้นำตุ๊กตารูปช้างมาถวายพระองค์อยู่เสมอ ส่วนไก่ตัวนี้เป็นไก่แจ้ตาบอด ทรงมีพระเมตตาเลี้ยงไว้ และดูแลเป็นอย่างดี

    รูปที่ 10 ขณะทรงสนทนากับท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม ไก่แจ้ของท่านพุทธทาสก็เข้ามาร่วมวงด้วย ทำให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแย้มพระสรวล

    รูปที่ 11 ทรงอยู่ท่ามกลางคนหูหนวก และทำสัญลักษณ์ภาษามือ ว่า “I Love You”

    รูปที่ 12 “เจ้าจุด” สุนัขที่อาศัยอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร มักชอบคอยตรวจตราสถานที่ภายในวัดก่อนที่สมเด็จพระสังฆราชจะไปถึงที่นั้นๆ เป็นสุนัขที่มีความภักดีอย่างยิ่ง เวลาเจ้าพระคุณสมเด็จฯเสด็จกลับมาวัด เจ้าจุดก็วิ่งไปรับเสด็จที่รถพระประเทียบ และพระองค์ก็จะทรงทักเจ้าจุดด้วยพระเมตตา เมื่อเสด็จไปทรงปฏิบัติศาสนกิจ ณ พระอุโบสถ เจ้าจุดก็รอจนพระองค์ทรงทำกิจเสร็จ ไม่ว่าดึกแค่ไหนก็จะไปส่งที่ตำหนัก

    (ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ “พระของประชาชน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” จัดพิมพ์โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

    (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

    http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000123769
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      140.6 KB
      เปิดดู:
      492
    • 2.jpg
      2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      4.6 KB
      เปิดดู:
      4,983
    • 3.jpg
      3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      136.4 KB
      เปิดดู:
      492
    • 4.jpg
      4.jpg
      ขนาดไฟล์:
      110.8 KB
      เปิดดู:
      553
    • 5.jpg
      5.jpg
      ขนาดไฟล์:
      140 KB
      เปิดดู:
      287
    • 6.jpg
      6.jpg
      ขนาดไฟล์:
      121.7 KB
      เปิดดู:
      299
    • 7.jpg
      7.jpg
      ขนาดไฟล์:
      131.6 KB
      เปิดดู:
      447
    • 8.jpg
      8.jpg
      ขนาดไฟล์:
      93.8 KB
      เปิดดู:
      351
    • 9.jpg
      9.jpg
      ขนาดไฟล์:
      138.9 KB
      เปิดดู:
      364
    • 10.jpg
      10.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6 KB
      เปิดดู:
      4,997
    • 11.jpg
      11.jpg
      ขนาดไฟล์:
      5.1 KB
      เปิดดู:
      4,959
    • 12.jpg
      12.jpg
      ขนาดไฟล์:
      5.1 KB
      เปิดดู:
      4,984
    • 13.jpg
      13.jpg
      ขนาดไฟล์:
      3 KB
      เปิดดู:
      4,974
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 ตุลาคม 2013
  4. topnank

    topnank เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,899
    ค่าพลัง:
    +874
    สมเด็จพระสังฆราช กับหลวงพ่อเกษม คิดว่าไม่ค่อยได้เห็นบ่อยครับ เอามาฝากให้ดูกัน
    พระบรรลุธรรม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    100 ปีสมเด็จพระสังฆราช กับเรื่องที่ชาวพุทธ(อาจ)ยังไม่รู้

    [​IMG]

    พุทธศาสนิกชนชาวไทยจากทั่วทุกสารทิศพร้อมใจกันเดินทางไปถวายพระพร “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี อย่างไม่ขาดสาย ทั้งที่ “วัดบวรนิเวศวิหาร” และ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ที่ประทับรักษาพระวรกาย จนทำให้สถานที่ทั้ง 2 แห่งคับแคบไปถนัดใจ

    ความจริงต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่วันที่ 3 ตุลาคมเท่านั้น หากแต่เนื่องแน่นนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันแรกที่จัดงาน จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของการจัดงาน “พระชันษา 100 ปี สดุดีพระสังฆบิดร” เลยทีเดียว

    คงไม่ต้องถามว่า ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น

    เพราะเป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนในด้านต่างๆ มากมายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดพระชนม์ชีพ จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระของประชาชน”

    เป็นความปลื้มปีติของพุทธศาสนิกชนคนไทยที่มีโอกาสได้ร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อองค์สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี เป็นพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทยที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่ยาวนานที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    และนับจากนี้ไปคือ เรื่องราวบางแง่บางมุมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่น่าสนใจและน่าศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชีวิต

    ทรงมีเชื้อสายทั้งจีน ญวน ผสมคนไทยอยุธยาและชาวปักษ์ใต้

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติเมื่อเวลาราว 4 นาฬิกาหรือตีสี่ วันศุกร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 ณ บ้านเลขที่ 367 ถนนปากแพรก ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนหัวปีของนายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร

    ภูมิประวัติในวัยเด็กของสมเด็จพระสังฆราชถือว่ามีความน่าสนใจยิ่ง และอาจถือเป็นตัวอย่างความเป็น “ชาวสยาม” แต่ดึกดำบรรพ์ได้ดี ด้วยสืบสาแหรกตระกูลมาจากหลายทิศหลายทางต่างชาติต่างภาษา

    เริ่มจากวงศาคณาญาติฝ่ายบิดา กล่าวคือนายเล็กซึ่งเป็นปู่ของพระองค์สืบเชื้อสายทางหนึ่งมาจาก “หลวงพิพิธภักดี(ช้าง)” ชาวกรุงเก่าหรือชาวอยุธยา ขณะที่มารดาของนายเล็กชื่อนางจีนเป็นสาวชาวใต้จากเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพังงา

    ขณะที่วงศาคณาญาติฝ่ายมารดา คุณตาคือนายทองคำบิดาของนางกิมน้อย เป็นคนเชื้อสายญวน ส่วนมารดาชื่อนางเฮงเล็กเป็นคนจีน แซ่ตัน ดั้งเดิมบรรพบุรุษโดยสารเรือสำเภามาจากเมืองจีน เรือแตกก่อนถึงฝั่งเมืองไทย แต่ก็รอดชีวิตมาขึ้นฝั่งเมืองไทยได้ แล้วจึงไปตั้งถิ่นฐานค้าขายอยู่เมืองกาญจนบุรี ส่วนชื่อกิมน้อยซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระคุณก็เป็น “ภาษาญวน” กิมแปลว่าเข็ม กิมน้อยก็คือ “เข็มน้อย” โดยญาติข้างฝ่ายมารดานี้ต่อมาใช้นามสกุลว่า “รุ่งสว่าง”

    ทรงเป็นพระอภิบาลในหลวง ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์พระบรมฯ

    เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆารามในปี 2476 จากนั้นทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และยังคงฉายา “สุวฑฺฒโน” (มีความหมายว่าผู้เจริญดี) ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประทานให้เมื่อครั้งเป็นสามเณร

    ทั้งนี้ ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณก็คือ เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโสภน คณาภรณ์(หมายความว่าผู้เป็นอาภรณ์หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ราชทินนามนี้ไม่เคยมีการก่อนในประวัติศาสตร์ ถือเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่ท่านโดยเฉพาะ

    ถัดมาในปี 2495 และ 2498 พระโศภนคณาภรณ์ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชและพระราชาคณะชั้นเทพตามลำดับ โดยังคงราชทินนาม “พระโศภนคณาภรณ์” อยู่เช่นเดิม

    นอกจากนี้เมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระสาสนโภณ(มีความหมายว่าผู้งามในพระศาสนาหรือผู้ยังพระศาสนาให้งาม) ซึ่งต้องบอกว่าเป็นราชทินนามนี้เป็นราชทินนามพิเศษ เพราะพระราชสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริผูกขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระมหาสา ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ส่วนราชทินนามสมเด็จพระญาณสังวร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่เพื่อพระราชทานสถาปนาพระญาณสังวร(สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะครั้งแรกเมื่อปี 2359 สมเด็จพระญาณสังวรจึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่จะโปรดฯ พระราชทานสถาปนาแก่พระเถรผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ซึ่งภายหลังสมเด็จพระญาณสังวร(สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร) และก็ไม่เคยมีการพระราชทานสถาปนาตำแหน่งที่พระญาณสังวรให้แก่พระเถราจารย์รูปใดอีกเลยกระทั่งปี 2515 นับเป็นเวลาถึง 152 ปี

    นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวช เมื่อพุทธศักราช 2499 พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช

    อีกเกือบ 20 ปีต่อมา เจ้าพระคุณให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

    “สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ทรงมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้ทรงมอบหมายให้สนองพระเดชพระคุณ จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า ‘หัวใหม่’ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า ‘บวชด้วยศรัทธา’ เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญาและได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด...”

    ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพุทธศักราช 2521 อีกด้วย

    ทรงเคยสอบตกเปรียญ 4ทรงเป็นนักปฏิบัติกรรมฐาน

    เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ภายในปีแรกที่เข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะเป็นสามเณรทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี ถัดมาปี 2473 อายุ 18 ปี สอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค นำมามาซึ่งความปีติยินดีอย่างยิ่ง ดังที่เจ้าพระคุณได้บันทึกความรู้สึกในครั้งนั้นไว้ว่า “ไม่มีปีใดที่ให้ความสุขกายสุขใจมากเท่ากับคราวที่สอบ ป.ธ.3ได้”

    จากนั้น เจ้าพระคุณตั้งใจเรียนประโยค 4 ต่อมาด้วยความคาดหวังอย่างสูงพร้อมทั้งเก็งข้อสอบที่คาดว่าน่าจะออกไว้ด้วยความมั่นอกมั่นใจ แต่เมื่อถึงคราวสอบปรากฏว่าข้อสอบกลับออกประโยคง่ายๆ ที่ไม่ได้สนใจเตรียมมา ทำให้รู้สึกเสียใจและท้อถอยถึงกับปลงว่าดูท่าจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว แต่หลังจากคิดทบทวนและไตร่ตรองดูก็ได้พบความจริงว่า เป็นผลจากความประมาท ปีต่อมาจึงเรียนซ้ำประโยค 4 อีกครั้งและเตรียมสอบนักธรรมเอ ด้วย ซึ่งผลการสอบปรากฏว่าสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยคในปี 2475

    ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี กระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป

    วันหนึ่งระหว่างที่เจ้าพระคุณกำลังง่วนสนใจศึกษาภาษาต่างๆ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า “กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกรรมฐานเสียบ้าง” รับสั่งดังกล่าว ทำให้เจ้าพระคุณหันมาสนใจการปฏิบัติกรรมฐาน และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเอาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นครูกรรมฐานพระองค์แรก

    แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ละจากเส้นทางสายปริยัติ โดยสอบได้ชั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดแทบจะเรียกได้ว่า “ปีเว้นปี” กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันถือเป็นระดับชั้นสูงสุดในปี 2484 ขณะมีอายุได้ 29 ปีและมีพรรษาในภิกขุภาวะเพียง 9 ปีเท่านั้น

    ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสามารถกล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อได้รับการพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช กล่าวคือโดยปกติแล้วตามธรรมเนียมที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์จะมีพระนามเฉพาะแต่ละพระองค์ไป เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรยาณวงศ์ ส่วนสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนจะได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามสำหรับตำแหน่งคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณเหมือนกันทุกพระองค์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงทรงเป็นพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ทว่า ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป

    ทรงเป็นสหายธรรมหลวงมหาตาบัว-ท่านพุทธทาส

    นอกจากนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเถราจารย์ที่สำคัญของไทย หลายต่อหลายรูป แต่ที่ว่ากันว่าใกล้ชิดมีอยู่ 2 รูปคือ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี และพระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขผลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีที่มาที่ไป

    กล่าวคือ ในปี 2509 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมการศาสนาดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อส่งไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ในการนี้มหาเถรสมาคมเห็นชอบแต่งตั้งพระสาสนโสภณ(สมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและกรรมการมหาเถรสมาคมให้เป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

    ในการนี้พระเถราจารย์ซึ่งร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดแรก ล้วนแล้วแต่ปรากฏนามว่าเป็นภิกษุผู้ทรงภูมิธรรมและปฏิบัติแห่งยุครัชกาลปัจจุบันทั้งสิ้น อาทิ

    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ

    พระราชชัยกวี(เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ภายหลังได้เป็นที่พระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขผลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    พระราชสิทธิมุนี(โชดก ญาณสิทฺธิ) ภายหลังได้เป็นที่พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุ

    พระปัญญานันทมุนี(ปัน ปญฺญานนฺโท) ภายหลังได้เป็นที่พระพรหมมังคลาจารย์ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี

    พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ภายหลังได้เป็นพระธรรมวิสุทธิมงคล วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

    เล่ากันมาว่า ในระยะเริ่มต้นของการฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น บางครั้งได้ไปอบรมพระธรรมทูตที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าพระคุณฯ และท่านพุทธทาสภิกขุใช้วิธีการฝึกฝนบรรดาพระภิกษุตามธรรมเนียมดั้งเดิมแบบยุคพุทธกาล กระทั่งว่า เมื่อบิณฑบาตกลับมาแล้วให้พระสงฆ์ฉันภัตตาหารอยู่ตามโคนไม้ เมื่อถึงเวลาอนุโมทนาท่านก็จะไม่ให้สวดมนต์เช่นที่เคยทำกันมา แต่จะใช้วิธีเรียกภิกษุรูปใดรูหนึ่งขึ้นมาแล้วให้เทศน์แทน โดยกำหนดว่า เมื่อเรียกรูปไหนก็ต้องเทศน์ได้ทุกรูป เพื่อฝึกฝนความพร้อมในการเป็นพระธรรมทูต

    นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ล่ากันว่าเมื่อคราวท่านพุทธทาสภิกขุอาพาธหนักนั้น เจ้าพระคุณได้เคยไปเยี่ยมท่านพุทธทาสภิกขุที่ได้ขอละสังขาร โดยท่านให้เหตุผลว่า อายุเกินพระพุทธเจ้ามาแล้ว แต่เจ้าพระคุณได้ขอไว้ หลังจากนั้นอาการของท่านพุทธทาสก็ฟื้นขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกลหายปี

    เจ้าคุณพระศายกวงศ์วิสุทธิ์ หรือ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตาม เล่าว่า ตอนที่เสด็จไปเยี่ยมนั้น ท่านพุทธทาสยังไม่ได้อาพาธหนัก ยังไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นแต่เพียงเจ็บออดแอด ยังออกมารับเสด็จได้เป็นชั่วโมง ท่านพาไปดูโรงมหรสพทางวิญญาณ ลานหินโค้ง แล้วก็นำเสด็จมาประทับที่ม้าหินหน้ากุฏิที่ปกติเก้าอี้ม้าหินนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งประจำ ท่านอาจารย์พุทธทาสทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ประทับแล้วท่านก็ไม่ยอมนั่ง ท่านพุทธทาสทูลว่า “ขอประทานกราบสมเด็จพระสังฆราชหน่อยที่อุตส่าห์เสด็จมาเยี่ยมถึงวัด” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพยายามห้าม แต่ท่านไม่ยอม แล้วต่างคนก็ต่างกราบ พอท่านพุทธทาสกราบ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็บอกไม่ได้ๆ ก็ต้องกราบกลับ

    ส่วนเรื่องขอให้มีชีวิตต่อนั้น พระอาจารย์อนิลมานบอกว่า เหมือนกับเวลาไปเยี่ยมคนที่รู้จักกันแล้วระหว่างคุยก็ปรารภเรื่องสังขารว่าไม่ไหวแล้ว แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็รับสั่งว่าขออาราธนาใต้เท้าอยู่ก่อนอย่าเพิ่งไป...

    นอกจากนั้น เมื่อครั้งมีพระพลานามัยแข็งแรง สมเด็จพระสังฆราชฯ จะเสด็จไปยังวัดป่าในต่างจังหวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนเป็นประจำทุกปีเพื่อทรงเยี่ยมและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นโอกาสให้ให้ทรงปฏิบัติองค์อย่างพระป่าเช่นเดียวกับพระรูปอื่น ทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอย่างวิเวกท่ามกลางความเงียบสงัดของธรรมชาติป่าเขา

    นอกจากนี้ อีกวัดหนึ่งที่เสด็จไปก็คือ วัดป่าบ้านตาดของหลวงตามหาบัว ดังปรากฏรูปถ่ายในหลายวาระ

    สอบที่มาคาถาชินบัญชร

    คาถาชินบัญชรเป็นที่นับถือสวดกันแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมฺรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งหนึ่ง นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนำมาขอให้สมเด็จพระสังฆราชฯ แปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ในฐานะที่สมเด็จฯ เชี่ยวชาญด้านปริยัติ ท่านพิจารณาแล้วยังเกิด “สงสัยในถ้อยคำและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคำที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างใด ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเองหรือได้ต้นฉบับมาจากไหน”

    จนต่อมาเมื่อ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้นำหนังสือ The Mirror of The Dhamma(กระจกธรรม) มาถวาย หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือขนาดเล็กๆ เรียบเรียงโดยภิกษุนารทมหาเถระและกัสสปเถระ พิมพ์ในประเทศศรีลังกา เมื่ออ่านคาถาชินบัญชรในหนังสือเล่มนั้นดูแล้ว ปรากฏว่า

    “...ก็ได้พบคำและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึ่งจับความได้หายความข้องใจ จึงคิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันที่เมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกาเฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย”

    ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบฉบับไทยและฉบับลังกาแล้ว สมเด็จพระญาณสังวรจึงสรุปได้ว่า “ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่ ฉบับลังกานั้นมี 22 บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทยมี 14 บท ก็คือ 14 บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคำก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก ส่วนคำอธิษฐานท้ายบทที่ 14 ของบทที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก บทคาถาที่ 9 ของฉบับไทย บรรทัดที่ 2 น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้ ส่วนคาถาบทที่ 12 และ 13 สลับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลำดับดี”

    หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการประชุมและชำระพระคาถาชินบัญชรสำนวนต่างๆ และให้ความรู้สมบูรณ์แปลกใหม่กว่าที่เคยทราบกันมา ภายหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2518 ยังโปรดให้จัดสัมมนา ณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ก่อนจะตีพิมพ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อพิมพ์ครั้งแรกอีกด้วย

    และต่อมาทรงได้รับข้อมูลจากพระเถระชาวพม่าคือท่านธัมมานันทะ ถึงได้ทราบจากหลักฐานของฝ่ายพม่าระบุว่า คาถาชินบัญชรแต่งในเมืองไทยในสมัยอาณาจักรล้านนาอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์พม่า และชาวพม่าเชื่อว่าพระเถระล้านลาแต่งขึ้นตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่าที่ปกครองล้านนาในสมัยนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) น่าจะได้ฉบับเดิมมาตัดทินให้พอเหมาะพอดีตามที่ท่านต้องการ

    ส่วนเมื่อถามว่าสมเด็จพระสังฆราชสวดมนต์บทใดเป็นประจำ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ทรงสวดหลายบทไปเรื่อยไม่ซ้ำ และทรงทบทวนปาฏิโมกข์ อยู่เสมอเพื่อไม่ให้ลืม เนื่องจากทรงทบทวนปาฏิโมกข์เป็นประจำ จึงจำปาฏิโมกข์ได้คล้อง

    บางครั้งเมื่อเสด็จไปพักแรมยังวัดต่างจังหวัดและตรงกับวันพระกลางเดือนหรือสิ้นเดือน ก็จะทรงขออนุญาตเจ้าอาวาสของวัดนั้นสวดปาฏิโมกข์ให้พระสงฆ์ในวัดนั้นฟัง โดยทรงกล่าวกับเจ้าอาวาสว่า “ขออนุญาตสวดปาฏิโมกข์ถวาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากมากที่พระผู้ใหญ่ระดับนี้จะสวดปาฏิโมกข์เอง

    อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงปฏิบัติพระกรณียกิจมามากมาย กระทั่งได้รับการยอมรับว่า เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงคุณอันประเสริฐรูปหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาที่ล่วงเลยไปและพระชนมายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชวรต้องเสด็จเข้ารับการรักษาพระวรกายและประทับรักษาพระองค์ ณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จากนั้นมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 26 มกราคม 2547

    ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนพระองค์ขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเองจำนวน 7 รูป โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะพระที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้มรณภาพภาพไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา จึงได้มีการแต่งตั้ง “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำขึ้นทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทน

    ขณะที่พระราชาคณะที่เหลืออีก 6 รูปประกอบด้วย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

    ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์

    ...วันนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้เจริญพระชันษาครบ 100 ปี จึงเป็นวโรกาสอันเป็นมงคลที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะได้พร้อมใจกันถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง เจริญพระชนม์ชีพเพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นเสาหลักของบวรพุทธศาสนาสืบไปตราบนานเท่านาน....
    ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
    ทีฆายุโก โหตุ พระสังฆบิดร

    ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ
    -99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช
    -พระผู้สำรวมพร้อม
    -จดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


    http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000125123]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 556000013114811.jpg
      556000013114811.jpg
      ขนาดไฟล์:
      34.9 KB
      เปิดดู:
      7,614
    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      4.8 KB
      เปิดดู:
      4,122
    • 2.jpg
      2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6.1 KB
      เปิดดู:
      4,131
    • 3.jpg
      3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      4.4 KB
      เปิดดู:
      4,133
    • 4.jpg
      4.jpg
      ขนาดไฟล์:
      4 KB
      เปิดดู:
      4,128
    • 5.jpg
      5.jpg
      ขนาดไฟล์:
      3.9 KB
      เปิดดู:
      4,104
    • 6.jpg
      6.jpg
      ขนาดไฟล์:
      3.2 KB
      เปิดดู:
      4,103
    • 7.jpg
      7.jpg
      ขนาดไฟล์:
      4.3 KB
      เปิดดู:
      4,091
    • 8.jpg
      8.jpg
      ขนาดไฟล์:
      3.1 KB
      เปิดดู:
      4,112
    • 9.jpg
      9.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.1 KB
      เปิดดู:
      4,092
    • 10.jpg
      10.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6.8 KB
      เปิดดู:
      4,098
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 ตุลาคม 2013
  6. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    อ่อนน้อม-เรียบง่าย'สังฆราช'สมณะผู้ทรงธรรม

    [​IMG]

    “สมเด็จท่านสิ้นพระชนม์แล้ว” เสียงสั่นเครือของ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัย 53 ปี ภายหลังทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    ในห้วงยามนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ คงไม่มีคำพูดใดที่จะบรรยายถึงความรู้สึกต่อการสูญเสียพระอาจารย์ ซึ่งท่านเปิดเผยว่า การเคารพนับถือพระองค์ท่านไม่ได้อยู่แค่ในฐานะพระอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่พระองค์ท่านเป็นเสมือนพ่อที่ดูแลสั่งสอนลูกคนนี้มาตั้งแต่เด็ก

    “สมเด็จพระสังฆราชเสด็จประเทศเนปาลเมื่อปี 2513 และทรงรับปากคณะสงฆ์เนปาลไว้ ว่าจะช่วยฝึกพระเณรประเทศเนปาล โดยให้มาไทยเพื่อได้รับการศึกษาที่ถูกต้องและกลับไปเผยแผ่ ก่อนหน้านั้นบวชเณรที่ศรีลังกา 9 เดือน จากนั้นอาตมาได้เข้าเฝ้าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราชครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2518 อาตมาไม่ทราบว่าหน้าตาสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างไร มาจากสนามบินก็มาถึงพระอาจารย์จากเนปาลก็นำเข้าเฝ้าถวายตัวกับสมเด็จพระสังฆราช”

    พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าอีกว่า ตอนนั้นจำได้ว่า เมื่อได้เข้าเฝ้าครั้งแรกพอกราบท่านเสร็จ พระองค์ก็ให้ไปหาพระเลขาฯ ที่กุฏิข้างๆ พระเลขาฯ ก็จัดเสื่อ หมอน ที่นอนให้ แล้วพาไปกุฏิที่พัก ความทรงจำตอนนั้นเห็นพระพักตร์ครั้งแรก จำได้แค่ว่าทรงยิ้ม พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยก็จำไม่ได้ และทรงทราบดีว่าอาตมาเป็นสามเณรเนปาลเชื้อสายศากยวงศ์

    “สำหรับอาตมานับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในพระเมตตาอุปถัมภ์ดูแลเหมือนกับลูกคนหนึ่งของพระองค์ ด้านการมีเชื้อศากยวงศ์ของอาตมา พระองค์ก็มีความโปรดปรานเป็นพิเศษตรงที่ว่าเป็นเชื้อสายศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า เวลาเสด็จประเทศเนปาลพระองค์มักจะถามเรื่องนี้ หรือเวลาอยู่ในไทยจะทรงชี้ให้ทุกคนเห็นว่า นี่เขาเป็นเชื้อสายศากยวงศ์นะ แสดงให้เห็นว่าทรงมีความภาคภูมิใจในความเป็นศากยะระดับหนึ่ง แต่สำหรับอาตมาเองไม่มีอะไร ก็คือเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสสนองงานถวาย ก็รู้สึกว่าโชคดีที่ทรงไว้วางพระทัยมีโอกาสสนองงานถวายเทียบกับสามเณร และพระวัดบวรฯ มีอยู่มากมายกว่า 20 รูป ในขณะนั้นอาตมาถือว่าเป็นโชคดีที่สุด”

    “ถ้าเป็นช่วงสนองงานพระสังฆราช ก็ตื่นเช้าบิณฑบาตและอยู่กับพระองค์เป็นส่วนใหญ่ ช่วงเช้าอยู่กับพระองค์เพราะทรงรับแขก ช่วงบ่ายก็ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้เรียนจบแล้วและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็จะอยู่กับงานร่างเอกสารต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ตอนเย็นสมเด็จพระสังฆราชมีแขกมาเฝ้า และช่วงค่ำก็อยู่กับพระองค์ พระองค์จะเข้าสวดมนต์และภาวนา บางครั้งสวดมนต์ก็อยู่กับพระองค์ ดูว่าทรงต้องการอะไร ดังนั้น ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับเอกสาร งานค้นคว้า และติดตามสมเด็จพระสังฆราชเป็นส่วนใหญ่"

    เมื่อเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นการผลักดันของสมเด็จพระสังฆราช ไมใช่เป็นความใฝ่ฝันของอาตมาเลย ทรงให้ไปศึกษาและเมื่ออาตมาศึกษากลับมาแล้ว ก็ภูมิพระทัยมาก รับสั่งว่านี่เขาเป็นดอกเตอร์แล้วนะ

    "แต่ขณะเดียวกันทรงชี้ว่าหน้าที่ของคุณตอนนี้ก็คือ สอนสิ่งที่คุณเรียนมา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่อยู่ในการบริหารและงานเอกสาร ต้องเจอผู้คน เมื่อสมเด็จพระสังฆราชขีดเส้นให้อย่างนั้น ในฐานะลูกศิษย์ก็น้อมรับ พยายามทำตัวให้ดีที่สุด เริ่มทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนในสิ่งที่เรียนมา"

    การอบรมสั่งสอนของสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปอย่างมีแบบแผน พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ บอกว่า สมัยเป็นสามเณรก็จะชอบนึกเสมอว่าทำไมต้องเป็นเรา อยากจะเล่น อยากจะหนี แต่ว่าถูกบังคับให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช แต่ตอนนี้มองย้อนกลับไปแล้วอาตมารู้สึกโชคดีที่ไว้วางพระทัย และต้องทนกับความดื้อของสามเณรน้อยๆ รูปนี้

    “สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงสอนนั้น ก็คงยากจะย่อความออกมาในทุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งที่ทรงทุ่มเทให้อาตมา แต่สิ่งที่เห็นก็คือ การวิจัย การวิจารณ์ การพัฒนาโยนิโสมนสิการในเรื่องข้อธรรมะต่างๆ สมเด็จพระสังฆราชจะมีจุดเด่นที่ว่า พระองค์โปรดที่จะวิเคราะห์ข้อธรรม ไม่ใช่ว่ารับเข้ามาเฉยๆ พระองค์จะทรงนั่งสอนว่า ดูสิพระไตรปิฎกนี้อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ความรู้ใหม่ๆ แม้ว่าอ่านมา 30-40 ปีก็ตาม ซึ่งแต่ละประเด็นที่ทรงยกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ามีวิธีคิดใหม่ๆ หรือว่าวิธีที่ทรงสอนเอง บางครั้งทรงสอนแบบไม่มีข้อกังขา ทำให้จุดหนึ่งเรากล้าที่จะศึกษา กล้าที่จะค้นคว้า”

    “ความอ่อนน้อม ถ่อมตน เรียบง่าย” คือ สิ่งที่พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ยึดในสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นแบบ “จากพระจริยวัตรของพระองค์ ทรงอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยถือพระองค์ว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช หากมีพระผู้ใหญ่เข้ามาแม้มีพรรษามากกว่าแค่ 1 วัน พระองค์จะลดพระองค์ลงมาจากอาสนะมากราบ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนที่เห็นมาตลอด และทรงเรียบง่าย มีความเป็นสมณะไม่อยู่อย่างหรูหรา เวลาเสด็จไปไหนไม่ได้รับจตุปัจจัยใดๆ ที่ญาติโยมถวายเลย พระองค์ประทานคืนเพื่อให้เขาไปทำบุญต่อ รับสั่งว่า เขานิมนต์พระสังฆราช และนิมนต์ด้วยความยากลำบาก ท่านบอกว่าไปไม่ใช่เพื่อรับของ แต่ไปเพื่อช่วยงานเขา เพื่อให้งานเขาสำเร็จและทรงทำเช่นนี้มาตลอด ก็เป็นภาพที่ประทับใจมาโดยตลอดว่านี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า สมณะ”

    http://www.komchadluek.net/detail/20131026/171333.html
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ตุลาคม 2013
  7. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประทับที่โรงพยาบาล

    [​IMG]

    โดย...สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช


    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงประชวรและประทับที่โรงพยาบาล เพื่อรักษาพระองค์มาตลอดนับแต่ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มหาเถรสมาคมมีมติตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะที่มีอาวุโสสูงสุดในด้านสมณศักดิ์

    พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของโลก และส่วนหนึ่งมาจากพระชนม์มากขึ้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมย่อมเข้าใจดีและถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จทรงผ่านเรื่องเหล่านี้มามาก จึงทรงเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

    นอกจากทรงประชวรตามอายุขัยแล้ว มีอาการโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาด้วย เช่น เบาหวาน ไต เป็นต้น แต่ทรงสนทนาไม่ได้เพราะแพทย์เจาะพระศอ ขณะนี้ประทับรักษาพระองค์ที่ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

    พระอาการเป็นไปตามอัตภาพ โดยมีคณะแพทย์ถวายการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด

    หนังสือ ๑๐๐ ปี พระผู้เจริญพร้อม 3 ตุลาคม 2556 พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือน ต.ค. 2556 จำนวน 3 หมื่นเล่ม ได้เล่าว่า บรรยากาศบนที่ประทับบริเวณชั้น 5 อาคารวชิรญาณสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เต็มไปด้วยความเงียบสงบแทบไม่ต่างไปจากวัด ด้านหน้าห้องบรรทมมีพระพุทธรูปองค์พระประธานประจำอาคาร พร้อมทั้งพระพุทธรูปองค์น้อยใหญ่ประดิษฐานสำหรับเป็นที่สักการะ พร้อมทั้งอัญเชิญพระรูปขนาดใหญ่ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มาวางตั้งไว้ให้ประชาชนผู้ที่มาเข้าเฝ้าได้ถวายสักการะ ซึ่งในแต่ละวันจะมีคณะบุคคล หรือบุคคลทยอยมาเข้าเฝ้าเสมอ

    พอตกเย็นเป็นช่วงเวลาทำวัตรตามปกติ ในบางวันจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมสวดมนต์ด้วย หรือบางคราวก็มีสวดโพชฌงค์ 7 ถวาย บางคราวก็มีพระสายปฏิบัติหรือพระป่า เดินทางมาถวายสักการะ และเยี่ยมพระอาการอยู่เนืองๆ บางโอกาสได้สวดบทโพชฌงค์ 7 ถวายด้วย (บทสวดโพชฌงค์ 7 สามารถช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ)

    สำหรับคณะแพทย์ที่ถวายการรักษา ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการแพทย์ พร้อมคณะพยาบาล เพื่อถวายการรักษาพยาบาลเป็นการเฉพาะ แต่ก่อนที่จะรักษาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ทางคณะแพทย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าแพทย์หลวงก่อน แล้วต้องแจ้งให้คณะกรรมการวัดบวรนิเวศทราบด้วย

    ด้านการดูแลอุปัฏฐาก วัดบวรนิเวศได้จัดให้พระภิกษุสามเณรผลัดกันอยู่เวรเป็นประจำ โดยแบ่งเป็น 2 กะให้หมุนเวียนกันไป และให้มีการเขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับรายละเอียดในการถวายการอุปัฏฐาก รวมทั้งรายงานถึงพระภารกิจและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันโดยละเอียดอีกด้วย

    พระ ดร.อนิล (ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2556) ได้เล่าถึงความเมตตา เมื่อพระ ดร.อนิลไปเฝ้าถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องที่ประทับของโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นเวลาดึกมากก็ไม่ได้เข้านอนเพราะเป็นห่วง ตอนนั้นพระองค์ยังรับสั่งได้อยู่ ประมาณตี 2 แล้ว พระ ดร.อนิลไปยืนอยู่ข้างเตียงเพื่อดูการทำงานของเครื่องออกซิเจนว่าทำงานหรือเปล่า แต่ห้องปิดไฟจึงเข้าไปดูใกล้ๆ พระองค์ทรงถอดหน้ากากออกซิเจนออกแล้วตรัสให้พระ ดร.อนิลไปนอนเพราะดึกแล้ว จากนั้นก็ทรงใส่หน้ากากออกซิเจนตามเดิม ซึ่งพระ ดร.อนิลประทับใจที่ทรงเมตตา

    บางคราวเมื่อพระอาการแข็งแรงดี จึงเสด็จกลับมาประทับที่พระตำหนักคอยท่าปราโมช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นครั้งคราว ตามแต่พระอาการ จนกระทั่งระยะหลังๆ จะประทับที่โรงพยาบาลโดยตลอด

    ในวันที่ 3 ต.ค.ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันประสูติ จะมีประชาชนจำนวนมากจากทุกสารทิศที่เฝ้าคอยโอกาสนี้เพื่อกราบนมัสการ และเฝ้าถวายพระพรที่โรงพยาบาล รวมทั้งในวาระสำคัญอื่นๆ ที่ทางคณะแพทย์ลงความเห็นว่าทรงมีพระพลานามัยดี ทางโรงพยาบาลก็จะอนุญาตให้ประชาชนเข้าเฝ้าถวายสักการะ และถวายพระพรได้

    อีกตอนหนึ่งของหนังสือเล่มดังกล่าว ได้รายงานว่า ระยะแรกๆ ตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ 2544 พระองค์เพียงแต่เสด็จเข้าออกโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจพระอาการแล้วจึงเสด็จกลับวัด ใน พ.ศ. 2545 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นช่วงๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จฯ เยี่ยมถึงโรงพยาบาล และพระราชทานดอกไม้มาทรงเยี่ยมพระอาการทุกวันอังคารและวันศุกร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศ์ ได้เสด็จมาเยี่ยมเป็นประจำ

    หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ว่า เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เป็นเหตุให้ต้องทรงย้ายไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช

    เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2553 เวลาบ่ายโมงตรง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าเฝ้า กราบทูลให้ หลวงปู่ เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อความปลอดภัย เพื่อความสะดวกในการถวายการรักษาพยาบาล

    เวลาประมาณ 16.30 น. ในวันที่ 1 นั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไปประทับ ณ ห้องที่ชั้น 6 ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช

    ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับรักษาพระองค์ ณ ที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

    เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย วันที่ 30 พ.ค. 2556 เจ้าประคุณสมเด็จ จึงเสด็จกลับมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในครั้งนี้เองที่เจ้าประคุณสมเด็จทรงมีโอกาสเสด็จกลับวัดบวรนิเวศอีกครั้ง

    บันทึกของ พระสุทธิสารเมธี พระภิกษุผู้อยู่ประจำวาระ เพื่อถวายอุปัฏฐาก บันทึกว่า เวลา 16.15 นาที เสด็จออกจากอาคาร 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช ไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างเสด็จกลับจึงได้แวะที่ประตูเสี้ยวกาง วัดบวรนิเวศวิหาร ในเวลา 16.25 น. ทรงใช้เวลา 1 นาที โดยประทับบนรถยนต์พระประเทียบ ทรงประทานเทียนธูปแด่พระเทพสารเวที เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในพระอุโบสถ จากนั้นขบวนรถได้เคลื่อนออกจากบริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีคณะพยาบาลและแพทย์รอรับเสด็จ รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าพยาบาลที่ตามเสด็จจากโรงพยาบาลศิริราช รับเสด็จ ก่อนเสด็จเข้าห้องที่ประทับ ได้ทรงไหว้พระพุทธรูปประจำอาคารประมาณ 1 นาที ทรงลืมพระเนตรตลอดเวลาที่ทรงไหว้ โดยมีพระสุทธิสารเมธี และนายกันต์พจน์ กราบทูล จากนั้นเสด็จเข้าห้องประทับ

    ในการเสด็จกลับจากโรงพยาบาลศิริราช มาประทับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพระเทพสารเวที พระครูพิศาลวินัยวาท พระครูวินัยธรสะท้าน ตามเสด็จ

    พระอาการโดยทั่วไปปกติ พระพักตร์ผ่องใส ทรงลืมพระเนตรตลอดเวลาที่ประทับที่รถพระประเทียบ และไหว้พระประธานประจำอาคารวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร

    นับเป็นเวลา 1 เดือนพอดีที่ทรงย้ายไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นก็ทรงเสด็จกลับมาประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ดั้งเดิมโดยตลอด และดูเหมือนว่าครั้งกลับมายังที่ประทับคราวนั้นเอง พระองค์มีโอกาสได้แวะเยี่ยมวัดและถวายสักการะองค์พระประธานที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งล่าสุด

    เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประทับที่โรงพยาบาล - โพสต์ทูเดย์ ข่าวธรรมะ-จิตใจ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  8. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    [​IMG]

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ “อาหารหวานโปรดพิเศษคือกล้วยหักมุกปิ้ง” ไม่ต้องไปซื้อไกลหรอก มีขายอยู่หน้าวัดนั่นเอง

    อาจารย์ทิพย์ เพ็ญธิสาร อดีตสามเณรผู้ปฏิบัติรับใช้บอก และเล่าว่า อยู่รับใช้สมเด็จพระสังฆราชระหว่างปี พ.ศ.2493 จนถึง พ.ศ.2503 ช่วงเวลานับ 10 ปี ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติอย่างใกล้ชิด แรกเข้าไปอยู่รับใช้ เพียงเข้ามาอยู่ในวัดบวรฯ ได้เพียง 3 วัน เด็กก็มาตามให้เข้าไปหา

    “ท่านให้จดคำเทศน์ตามคำบอก เริ่มงานกันตั้งแต่ประมาณ 19.00 น.เศษๆ”

    การจด “ตอนแรกท่านก็บอกช้าๆ และทวนคำ เราก็จดตามทัน แต่พอเร่งความเร็วก็จดตามไม่ทัน เอ...เราจะเอาอย่างไรละคราวนี้ จำได้แต่ตอนหัวและตอนท้าย ตรงกลางจำไม่ได้ เลยใส่สำนวนตัวเองเข้าไป พอท่านบอกจดเสร็จแล้ว ก็ต้องอ่านให้ท่านฟัง ท่านบอกว่าฮืม...นั่นมันสำนวนเณรนี่”

    เพราะพระอัจฉริยภาพในการจำเป็นเลิศนี้ ทำให้นาทีนั้น “ท่านหัวเราะ ผมก็หัวเราะเขินๆ”

    หลังจากนั้น “ท่านเอายางลบลบออก คราวนี้บอกช้าๆ สั้นๆ จนจบ เราเริ่มกันทุ่มกว่าๆ ไปเสร็จเอาประมาณตี 1 ผมว่าเหมือนท่านทดสอบว่า ผมเป็นคนอย่างไร”

    วัตรปฏิบัติเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อดีตสามเณรน้อยบอกว่า ท่านเคร่งครัดในระเบียบวินัยมาก สมกับเป็น “ผู้เจริญพร้อม” ท่านมักปรารภเนืองๆ เรื่องสมณสารูป คือกิริยามารยาทของพระว่า “ญาติโยมเขาศรัทธาบริจาคปัจจัย อาหารมาเลี้ยงเราเพราะเขาคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ ถ้าเรารักษาระเบียบวินัยไม่ได้ คือศีลไม่บริสุทธิ์ก็เหมือนนาหญ้ารกแล้วจะปลูกข้าวขึ้นได้อย่างไร”

    พระนิสัยนั้น “ท่านเป็นคนนิ่ง หนักแน่น เท่าที่ผมอยู่กับท่านมา เรื่องดีใจเสียใจ ท่านจะไม่ออกอาการ ผมไม่เคยเห็นท่านหัวเราะเสียงดัง ไม่เคยเห็นท่านหัวเราะเห็นฟัน เวลาขันอะไรก็มักจะหัวเราะหึๆ อยู่ในลำคอ”

    เหตุการณ์ที่อดีตผู้ปฏิบัติรับใช้ไม่ลืมคือ เจ้าคุณสมเด็จฯให้นำเครื่องไทยทานไปให้พระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ หลวงพ่อเดิม ผู้มีหน้าที่ดูแลเจดีย์ในวัดบวรฯ เมื่อรับของแล้วก็ตกใจ เพราะของแต่ละอย่างล้วนเป็นของดีๆ ทั้งนั้น ครั้นถามไปก็ได้ความว่า เกิดจากความผูกพันตั้งแต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นสามเณรมาอยู่วัดบวรฯใหม่ๆ

    เรื่องมีอยู่ว่า...หลวงพ่อเดิมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำพระ เณร ปัดกวาดสถานที่ และทำความสะอาดเครื่องบูชาต่างๆ ท่านเห็นว่าสามเณรน้อยข้อวัตรปฏิบัติดี มีความสงบเสงี่ยมจึงเลือกให้เข้าไปช่วยทำความสะอาด

    ทราบกันดีว่า ข้าวของในวัดบวรฯนั้น แต่ละอย่างล้วนเป็นของมีค่า ราคาแพง สามเณรน้อยได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อเดิมให้เช็ดถูแจกันแก้วเจียระไนล้ำค่า พอรู้ว่าของราคาแพงสามเณรน้อยก็เกิดอาการเกร็ง เมื่อทำความสะอาดเสร็จไปแล้ว 1 ใบ พอหยิบใบที่สองมาเท่านั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น แจกันแก้วเจียระไนหล่นแตกกระจาย

    สามเณรเจริญยืนตะลึง หลวงพ่อเดิมปรี่เข้ามาจับมือ ละล่ำละลักถามว่าถูกเศษแก้วบาดมือไหม โดยที่ไม่ห่วงเครื่องแก้วล้ำค่าแต่อย่างใด พอตั้งสติได้ หลวงพ่อเดิมกับเณรน้อยช่วยกันเก็บเศษแก้ว แต่เสียงแจกันแก้วแตกนั้นได้เรียกพระ เณร และ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” เข้ามาในห้องเข้ามาพลางถาม “ใครทำอะไรแตก” หลวงพ่อเดิมนิ่ง สามเณรน้อยตัวสั่นพั่บๆ ความกลัวแล่นไปทั่วสรรพางค์กาย เย็นยะเยือกไปทั้งตัว กลางความหวาดหวั่นของสามเณรน้อย ไม่ฝันว่าหลวงพ่อเดิม พระภิกษุผู้รับหน้าที่ผู้นำปัดกวาดจะเป็นผู้รับผิดเอง

    “ท่านบอกว่า ฟังแล้วเหมือนลมหายใจมันอุ่นขึ้นมา ทำให้รอดตายเพราะหลวงพ่อเดิมช่วยไว้แท้ๆ”

    เหตุการณ์นั้น แม้จะผ่านมานับนาน จนสามเณรเจริญดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรฯ และดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราชแล้ว หากเสมือนไออุ่นความรักจากหลวงพ่อเดิมยังประทับอยู่ไม่เสื่อมคลาย หลวงพ่อเดิมจึงได้รับการดูแลจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสมอมา

    นอกจากเรื่อง หลวงพ่อเดิม แล้วยังมีเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กับหลวงพ่อดี วัดเหนือ หรือวัดเทวสังฆราม และพระชนนีสมเด็จพระสังฆราชประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 ในครอบครัวนายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร บ้านอยู่บริเวณปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี บรรพชาที่วัดใกล้บ้านคือวัดเหนือ เป็นศิษย์หลวงพ่อดี เล่าขานกันว่า เป็นเจ้าอาวาสที่ดุ พระ เณรเข้ามาอยู่วัดแล้วต้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต้องศึกษาเล่าเรียน

    เมื่อหลวงพ่อดีเห็นแววสามเณรน้อย จึงให้เรียนภาษาบาลี และส่งตัวมาเรียนยังวัดเสน่หา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ครั้นเรียนได้ก้าวหน้า มีผู้ชวนเข้าเรียนวัดในกรุงเทพฯ สามเณรจึงกลับเมืองกาญจน์เข้าปรึกษาหลวงพ่อดี ท่านทัดทานไว้ พร้อมบอกว่าเตรียมที่เรียนไว้ที่วัดบวรฯแล้ว

    ด้วยความกตัญญูกตเวทิตา ทรงเห็นคล้อยตามหลวงพ่อดีทุกประการ ผลให้วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2472 สามเณรเจริญ คชวัตร เข้าจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และอยู่มาจวบจนพระชันษาครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2556

    สำหรับความกตัญญูในพระชนนีนั้น เห็นได้จากเมื่อพระชนนีชราภาพ เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ทรงรับมาอยู่ด้วยที่วัด เพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้พระชนนีอยู่ในเรือนหลังเล็กข้างตำหนักคอยท่าปราโมช และยังมีเรื่องที่แสดงว่า ทรงห่วงใยความรู้สึกในพระชนนีเป็นที่ยิ่ง

    เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดเมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯยังเป็นพระเปรียญ 7 ประโยค มีผู้เข้ามาชักชวนให้ไปเป็นอนุศาสนาจารย์ พระองค์ทรงเห็นคล้อยตาม จึงยื่นหนังสือขอลาสิกขา กติกาสมัยนั้นมีอยู่ว่า พระเปรียญธรรม 7 ประโยคอย่างพระองค์ เมื่อต้องการลาสิกขา นอกจากจะต้องลาเจ้าอาวาสแล้ว ยังต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วย

    ครั้นเรื่องเจ้าพระคุณสมเด็จฯขอลาสิกขา ทราบถึงพระชนนี ท่านจึงมายังกุฏิ พลางยื่นคำขาดว่า “หากคุณมหาสึก อิชั้นจะผูกคอตาย”

    คำขาดในพระชนนี ยังผลให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ต้องเร่งทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ขอถอนใบลาสิกขา โดยให้เหตุผลว่า “มีความจำเป็นอย่างที่สุด ที่จะลาสิกขาไม่ได้”

    แรงกตัญญูโดยแท้ที่สมเด็จพระสังฆราชยังอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ทรงมุ่งมั่นศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ จวบจนได้เป็นสังฆบิดร.

    กตัญญูพระสังฆบิดรเรื่องดีๆที่ยังซ่อนเร้น - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 630.jpg
      630.jpg
      ขนาดไฟล์:
      83.4 KB
      เปิดดู:
      3,092
  9. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ธรรมะ-พระจริยาของสมเด็จพระสังฆราช

    [​IMG]

    หากจะถามว่าในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด 19 พระองค์ สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษาถึง 100 ปี มีกี่พระองค์ คำตอบ มีเพียง “หนึ่งพระองค์” เท่านั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราช องค์ที่ 19

    พระจริยวัตรของพระองค์โสภณะงดงามและน่าเลื่อมใสยิ่ง พระเกียรติคุณทั้งก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และตลอด 25 ปีในตำแหน่งประมุขสงฆ์ไทยได้ผรณาการแผ่ไพศาลทั้งในและต่างประเทศ ทว่าพระจริยาและพระเกียรติคุณมีอเนกอนันต์ มิอาจพรรณนาหมดสิ้น หลายเรื่องเป็นที่ปรากฏ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ชาวไทยและพุทธศาสนิกชนอาจไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน และเพื่อเทิดพระเกียรติ จึงขอถ่ายทอดพระจริยาและพระเกียรติคุณจากปากของผู้ที่ถวายงานและเคยถวายงานใกล้ชิด

    แม้สุขภาพกายไม่ดี...แต่ทรงอายุยืน

    หากใครที่เคยอ่านพระประวัติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จะทราบว่าพระองค์มีพระสุขภาพไม่ค่อยดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ด้วยมีโรคประจำตัว แต่ใครจะคิดว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังเจริญด้วยอายุถึง 100 ปี ทรงมีเคล็ดลับหรือทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร

    พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย หนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และผู้ถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ตัวเองยังเป็นสามเณรอายุ 14 ปี เล่าว่า จริงอยู่ในแง่พระสุขภาพนั้นไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีโรคประจำตัว แต่พระองค์ไม่เคยคิดว่าพระวรกายเป็นปัญหา ไม่ย่อท้อต่อโรค ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นกอปรด้วยพระวิริยอุตสาหะในการฟันฝ่าอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ที่สำคัญทรงใช้สมาธิในการดูแลพระวรกายไปพร้อมกับการรักษาของหมอ

    “ท่านไม่เคยย่อท้อต่อโรคที่เกิดแต่พระวรกาย เช่น ในคราวสอบเปรียญธรรม 4 ประโยคต้องเอาผ้าสบงรัดหน้าอกให้อุ่นแล้วไปสอบ หลายครั้งพระกำลังแม้จะอ่อนแรงแต่พระเมตตาไม่เคยอ่อนตาม ครั้งหนึ่งหมอเช็กอาการประชวรและแนะนำให้งดศาสนกิจ แต่ว่าก่อนเข้าโรงพยาบาลทรงรับงานไว้งานหนึ่งที่ต่างจังหวัด ท่านจึงขออนุญาตหมอไปเพราะกลัวงานนั้นจะเสีย อีกครั้งหนึ่งหมอขอประทานพระอนุญาตเพื่อจะผ่าตัดติ่งในน้ำดี ก็ทรงบอกว่าช่วงนี้มีภารกิจและศาสนกิจที่รับไว้เยอะเดี๋ยวจะลองดูเองก่อน แล้วก็ทรงใช้สมาธิในการบำบัดควบคู่ไปกับการดูแลรักษาของหมอ”

    ผู้ช่วยเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ ทรงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อาหารเสวยก็จะเป็นอาหารแบบคนโบราณบ้านนอกกินกัน เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด เห็ดยำเมืองกาญจน์ ไม่ใช่อาหารเลิศหรู และที่สำคัญจะไม่เสวยสัตว์ปีก และสัตว์ใหญ่ แต่อาจมีปลาบ้างเป็นบางครั้ง

    ทรงเคารพในระเบียบแบบแผน

    พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชรูปแรก เล่าถึงสมเด็จฯ ว่า ทรงเป็นผู้ที่เคารพในกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะทรงทำอะไร ส่วนหนึ่งด้วยพระนิสัย และอีกส่วนเพราะไม่ต้องการให้ใครมองว่าทรงมีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจอะไรก็ได้

    “หลังจากที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้มีพระดำริในการสร้างวัดในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย และอาตมาได้รับมอบหมายให้ดูการสร้างวัด พระองค์ได้ประทานนโยบายว่า การจะสร้างวัดในที่ใดๆ จะต้องมีชาวบ้านในที่นั้นๆ และต้องไม่ไปเรี่ยไรหรือบอกบุญ เพราะจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ถ้าชาวบ้านอยากร่วมบุญก็ไม่ขัดข้อง”

    อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ จะรับสั่งเสมอว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของการสร้างวัด ไม่ให้ข้ามขั้นตอน เช่น ที่ที่จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ตามกฎหมายกำหนด 6 ไร่ขึ้นไป ไม่เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นต้น และทรงย้ำว่าอย่าถือว่าเป็นวัดที่สังฆราชไปสร้าง เพราะถ้าไปทำในส่วนที่ผิดก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่วัดทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่อยากจะสร้างวัดในอนาคตที่มักจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

    ทรงพระเมตตาต่อคนและสัตว์

    พระธรรมบัณฑิต กล่าวต่อว่า พระเกียรติคุณหนึ่งที่เห็นตลอดเวลาที่ถวายงาน คือ ทรงมีพระเมตตาสูงทั้งต่อคนและสัตว์ ทุกครั้งที่เสด็จไปต่างจังหวัด เมื่อเห็นญาติโยมจะทรงสนทนาพูดคุยแบบเป็นกันเอง เพื่อให้สร้างความคุ้นเคย โดยครั้งหนึ่งไปเจอคนแก่นั่งกินหมากก็เข้าไปทักทายและมีรับสั่งถามว่า กินหมากมานานหรือยัง โยมแม่ของอาตมาก็กินเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ที่เห็นแล้วประทับใจ ก็คือครั้งที่ทรงเผชิญหน้ากับควายขณะออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา

    “ครั้งหนึ่งสมเด็จฯ เสด็จไปสกลนคร วัดท่านอาจารย์วัน (ปกติจะทรงบิณฑบาตทุกวัน) ตอนเช้าจึงเสด็จออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา โดยอาตมาเดินตามและพระอีกจำนวนหนึ่ง พอเดินไปได้ 2 กิโลเมตร ก็ไปเจอควาย ซึ่งควายจะไม่ถูกกับพระอยู่แล้ว เพราะสีจีวรมันขัดกับตาของมัน พอมันเห็นก็ไม่พอใจ จะวิ่งเข้าใส่ สมเด็จฯ ไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เมตรก็หยุด ทรงยืนนิ่ง 34 นาที อาตมาอยู่ด้านหลังใจเต้นตุบๆ แต่สักพักควายก็ยกหัวขึ้นแล้ววิ่งหนีไป พอควายไปแล้ว ก็ทูลถามว่าทรงว่าคาถาอะไร ก็รับสั่งว่าแผ่เมตตาให้เขา ต่างคนต่างมีหน้าที่ปฏิบัติทางใครทางมัน”

    อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า ช่วงที่ควายวิ่งเข้ามานั้นพระองค์ไม่ได้รับสั่งกับพระที่ติดตามว่าให้ระวัง ทั้งที่โดยทั่วไปถ้าใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็จะต้องบอกทุกคนให้ระวัง แต่วันนั้นไม่รับสั่งอะไร กลับทรงยืนนิ่งประจันหน้ากับควาย

    แสดงธรรมเข้าใจง่าย ไม่อ้างอาจารย์

    อดีตพระเลขานุการฯ เล่าพระจริยาอย่างหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า ทุกครั้งที่แสดงธรรมจะทรงแสดงธรรมแบบง่ายๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและไม่ทรงอ้างเรื่องอภินิหาร แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกกว่าอาจารย์ทั้งหลายและน่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับพระสงฆ์ทั้งหลายในการที่จะเทศน์สอนชาวบ้านในปัจจุบัน คือ จะทรงอ้างพระพุทธเจ้าตลอด ไม่อ้างธรรมของพระอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้

    “เวลาที่พระเทศน์หรือแสดงธรรมมักจะอ้างว่าเป็นธรรมะของพระอาจารย์รูปนั้นรูปนี้ แต่สมเด็จฯ ไม่ทรงใช้ ทรงใช้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แม้ว่าจะไปฟังจากอาจารย์ทั้งหลายที่สอนอย่างโน้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องศีล สมาธิ ภาวนา ก็จะสอนว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ขณะที่ธรรมะที่ทรงแสดงก็จะรับสั่งแบบที่เข้าใจง่าย เช่น เรื่องสติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ถ้าใครฟังที่ท่านเทศน์ก็อดพูดไม่ได้ว่าช่างเข้าใจง่ายแท้”

    เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เล่าต่อว่า เรื่องสติปัฏฐาน 4 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าหน้าที่วิทยุ อส. มาบันทึกเทปที่วัดบวรนิเวศวิหารในปี พ.ศ. 2514 โดยสมเด็จฯ ได้เทศน์สอนพระนวกะและญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งต่อมาทางวัดบวรฯ ได้ทำเรื่องขอทางสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอก๊อบปี้ต้นฉบับมาทำเป็นซีดีแจกในคราวที่สมเด็จฯ ทรงเจริญพระชันษา 90 ปี

    ธรรมะ-พระจริยาของสมเด็จพระสังฆราช - โพสต์ทูเดย์ ข่าวสังคม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • a1.jpg
      a1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      61.7 KB
      เปิดดู:
      5,685
    • a2.jpg
      a2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      77.7 KB
      เปิดดู:
      172
    • a3.jpg
      a3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      57.7 KB
      เปิดดู:
      248
    • a4.jpg
      a4.jpg
      ขนาดไฟล์:
      67 KB
      เปิดดู:
      216
    • a5.jpg
      a5.jpg
      ขนาดไฟล์:
      90.2 KB
      เปิดดู:
      199
    • a6.jpg
      a6.jpg
      ขนาดไฟล์:
      65.5 KB
      เปิดดู:
      280
    • a7.jpg
      a7.jpg
      ขนาดไฟล์:
      95.2 KB
      เปิดดู:
      161
  10. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระอริยสงฆ์ผู้ทรงธรรม

    19.30 น. นาทีแห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวพุทธที่รับรู้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    พุทธศาสนิกชนสุดอาลัยกับการจากไปของพระอริยสงฆ์ผู้ทรงธรรม

    แม้สมเด็จพระสังฆราชจะสิ้นพระชนม์แล้ว แต่เรื่องเล่าและสิ่งที่ควรค่าแก่ความทรงจำไม่ได้สิ้นไป พระธรรมคำสอนยังอยู่ในใจพวกเราเสมอและตลอดไป

    ผมขอนำเรื่องเล่าบางเรื่องที่ลูกศิษย์ของพระองค์เคยเล่าไว้มาเล่าต่ออีกทอดหนึ่งสัก 2 เหตุการณ์

    เรื่องแรกเกิดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ มีสุนัขและแมวจรจัดมาอยู่กันเยอะมาใช้วัดเป็นที่อาศัยและอาศัยกินข้าววัดไปด้วยในคราวเดียวกัน

    ก็มีลูกศิษย์และพระลูกวัดที่มีเจตนาดีคิดว่าการที่มีสุนัขและแมวมากมายเกินไปจะดูไม่เหมาะและดูไม่สบายตาเพราะที่วัดเป็นที่ประทับ จึงเรียกเทศบาลมาจับสุนัขวัดและแมววัดไปเกือบหมด

    พระองค์ฯทรงสังเกตเห็นว่าทำไมหมา-แมวเหลือน้อย จึงได้ตรัสถามลูกศิษย์ก็ได้รับคำตอบว่าหมา-แมวเหล่านั้นถูกเนรเทศไปแล้ว

    พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “พวกเขามาอาศัยวัด พวกเราก็อาศัยวัดเหมือนกัน” และมีรับสั่งให้ไปเอาตัวกลับมาอยู่ด้วยกัน

    อีกเรื่องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2534 ตอนตี 2 มีเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ชุมชนตรอกบวรรังษี ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่หลังวัดบวรนิเวศวิหาร

    เพลิงโหมลุกลามบ้านเรือนหลังแล้วหลังเล่า ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ เพราะรถดับเพลิงเข้าไปคุมเพลิงไม่ได้ เนื่องจากเป็นชุมนุมมีซอยคับแคบรถดับเพลิงเข้าไปไม่ถึงและไฟกำลังลามมาถึงวัด

    ลูกศิษย์จึงรีบวิ่งขึ้นไปทุบประตู “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์

    เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เห็นพระองค์กำลังทรงนั่งสมาธิ ยังไม่ทันที่ลูกศิษย์จะบอกอะไร พระองค์ก็ทรงถามว่า “ไฟไหม้รึ” จากนั้นพระลูกศิษย์ได้พาพระองค์เสด็จไปที่ศาลา 150 ปี เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่ปลอดภัย

    แต่พระองค์มิโปรด จึงเสด็จไปใกล้ที่เกิดเหตุ

    พระองค์เสด็จขึ้นไปบนชั้น 5 ของตึก สว.ธรรมนิเวศและรับสั่งให้เปิดหน้าต่างออก ภาพเพลิงที่โหมไหม้อย่างรุนแรงปรากฏขึ้น เสียงชาวบ้านหอบผ้าหอบผ่อนหนีกันอลหม่านดังระงมไปหมด

    นาทีนั้นพระองค์ทรงมองขึ้นไปบนฟ้าและยกพระหัตถ์ขึ้นโบก 3 ครั้ง ชั่วอึดใจลมที่พัดกระโชกแรงก็หยุดและเกิดก้อนเมฆมหึมา พลันฝนก็ตกกระหน่ำลงมา ทำให้เพลิงที่กำลังโหมไหม้อยู่ค่อยๆมอดดับลง

    ชาวบ้านที่เห็นปรากฏการณ์ต่างยกมือสาธุที่พระองค์ทรงมีพระเมตตา “เรียกฝนดับไฟ”

    หลังจากเพลิงสงบลงพระองค์ยังทรงเมตตาเปิดวัดให้ชาวบ้านที่ถูกเพลิงผลาญมาพักอาศัยด้วย

    เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นเพียงบางเสี้ยวที่บอกเล่าถึงพระเมตตาของพระองค์

    พระองค์สูงมากสำหรับพวกเรา แต่พระองค์คิดว่าเราไม่ได้ต่ำเกินไปสำหรับพระองค์

    พระองค์ไม่ใช่เพียงเป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้ทรงปฏิบัติให้เห็น ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

    ยิ่งเขียนยิ่งอาลัย ยิ่งคิดยิ่งเสียใจ

    และตราบที่ยังมีลมหายใจ คนไทยทุกคนจะไม่มีวันลืมเลือนพระองค์

    พระผู้ทรงได้ชื่อว่าเป็นดั่งบุปผางามแห่งบวรพระพุทธศาสนา.

    พระอริยสงฆ์ผู้ทรงธรรม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     
  11. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เจ้าบอด เจ้าจุด สัตว์ตัวโปรดสมเด็จพระสังฆราช

    [​IMG]

    “เจ้าบอด เจ้าบอด” เสียงเรียกสัตว์ตัวโปรดของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ยังทรงพระชนม์ชีพ ทุกครั้งที่เวลาพระองค์เสด็จลงจากตำหนักคอยท่าปราโมช วัดบวรนิเวศวิหาร ก็จะทรงเรียกชื่อเจ้าบอดไก่ตัวโปรด ซึ่งเป็นไก่ตาบอดทั้ง 2 ข้าง และจะเดินอยู่บริเวณตำหนักคอยท่าปราโมช แต่พอสมเด็จพระสังฆราชเสด็จลงมาจากตำหนัก ไก่ตัวนี้ก็จะวิ่งเข้าไปหาพระองค์ พระองค์จะทรงอุ้ม สนทนา หยอกล้อ และไก่ตัวนี้ก็เชื่องด้วย แต่เวลาคนอื่นไปจับไก่ตัวนี้ก็จะไม่ยอม

    พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เล่าถึงเรื่องราวพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราชที่มีต่อทุกชีวิต ไม่เว้นแต่สัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในวัด นอกจากไก่ชื่อเจ้าบอดแล้ว ยังมีสุนัขอีกหลายตัวที่ไม่ได้เลี้ยงในแง่ของต้องให้อาหารเอง แต่สุนัขตัวหนึ่งที่อยู่บริเวณนี้ ชื่อ เจ้าจุด เมื่อเห็นสมเด็จพระสังฆราชลงมาจากตำหนัก ก็จะกลายเป็นตำรวจนำเสด็จ เวลาเสด็จไปไหนสุนัขตัวนี้ก็จะเดินนำไปก่อนเลย บางครั้งพระองค์เสด็จไปนอกวัด ไม่รู้ว่าพระองค์ท่านเสด็จกลับมาวัดเมื่อไหร่ ต้องรอดูเจ้าจุด ถ้าเจ้าจุดไปรอที่พระประเทียบแสดงว่าใกล้เสด็จกลับละ พอเจ้าจุดเห็นพระองค์จะแสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตา ดีใจแล้วนำเสด็จกลับมาตำหนัก และจะคอยนั่งอยู่ใกล้ๆตำหนักตลอดเวลา นอกจากนี้ก็ยังเลี้ยงเต่าไว้ในวัดด้วย

    “นี่คือพระเมตตา นอกจากจะมีพระเมตตาต่อคนแล้ว ยังสามารถจะสื่อไปยังสัตว์ทั้งหลายด้วย แม้แต่ในช่วงที่พระองค์ประชวรต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ สัตว์เหล่านี้ก็จะคอยเดินวนเวียนมองหาพระองค์ที่ตำหนักคอยท่าปราโมช หากพระองค์กลับมาที่วัดบ้างเป็นบางครั้ง เจ้าจุดจะตื่นเต้นกว่าเพื่อนไปนั่งรออยู่ก่อนละ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เจอพระองค์มาหลายเดือน ตอนหลังมาเจ้าบอดกับเจ้าจุดก็เริ่มแก่ กินข้าวไม่ได้และก็ตายไปแล้ว”

    http://www.komchadluek.net/detail/20131107/172196.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...