เรื่องเด่น บุพกรรมของ “พระอัฑฒกาสีเถรี” อดีตนางโสเภณี ที่พระพุทธองค์ทรงส่ง “ทูต” ไปทำพิธีอุปสมบทให้

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 18 กุมภาพันธ์ 2018.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    บุพกรรมของ “พระอัฑฒกาสีเถรี” อดีตนางโสเภณี ที่พระพุทธองค์ทรงส่ง “ทูต” ไปทำพิธีอุปสมบทให้

    -20.jpg

    พระท่านว่า คนเราเกิดมาเป็นอะไรอย่างไรเพราะ “เพรงกรรม” (กรรมแต่ปางก่อน) จัดสรรให้มาเกิด กรรม คือสิ่งที่เราทำด้วยเจตนา ไม่ว่าเราจะทำดีหรือไม่ดีล้วนแต่ออกจากเจตนา (ความตั้งใจ) ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้รับผลจากการกระทำ ก็คือได้รับผลจากเจตนาของเราเอง

    1370797746-6-o.jpg

    ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า การที่เราเกิดมาจนมิใช่เกิดมาโดยบังเอิญ ดังคำพูดว่า “บังเอิญเกิดมาจน” หากแต่ตั้งใจเกิดมาจนเองต่างหากเล่า อ้าว ! คุณตั้งใจทำกรรมอันเป็นสาเหตุให้ต้องเกิดมาจน ก็เท่ากับคุณตั้งใจเกิดมาจนนั่นแหละ อย่าเถียง…ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ตรัสว่า

    • คนชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไร้เมตตา ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนอายุสั้น
    • คนชอบเบียดเบียนสัตว์ ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนขี้โรค
    • คนมักโกรธพยาบาทคนอื่น ตายไปเกิดเป็นคนมีผิวพรรณทราม ไม่สวย
    • คนขี้อิจฉาไม่มีความเคารพอ่อนน้อม ตายไปเกิดเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ
    • คนกระด้างถือตัว ตายไปเกิดในตระกูลต่ำ
    • คนชอบเสวนาผู้รู้ สนใจไถ่ถามเรื่องบุญและบาป ตายไปเกิดเป็นคนฉลาด
    • คนที่อายุยืน ไม่มีโรค หล่อหรือสวย มีชาติสกุลสูง ฉลาด ก็เพราะทำกรรมตรงกันข้ามกับข้างต้น
    เรื่องกรรมและผลแห่งกรรมเป็น “พุทธวิสัย” พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นจะรู้ได้ ปุถุชนคนมีกิเลสไม่สามารถหยั่งรู้ได้ จึงไม่ควรคิดให้ปวดสมองว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

    loading...
    ข้อสำคัญ เราพึงสังวรสำรวจตัวเรามิให้พลาดทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่งามเป็นใช้ได้

    ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุณีนางหนึ่งด่าภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่งว่า “อีนางแพศยา” ด้วยความโกรธ ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้ง ภิกษุณีรูปนั้นในชาตินั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร เพราะทำกรรมหนัก คือ “ว่าร้ายพระอริยเจ้า” (อริยุปวาท) อันเป็นหนึ่งใน “กรรมหนัก” (อนันตริยกรรม) ๕ ประการ

    1_410.jpg

    หลังจากใช้กรรมในนรกหมดแล้ว นางกลับมาเกิดใหม่ในพุทธกาลนี้ เป็นบุตรีของตระกูลเศรษฐีในเมืองแคว้นกาลี ก็คงกุศลกรรมบางอย่างแหละที่บันดาลให้นางมาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี

    แต่เศษบาปกรรมเก่าก็ยังมีอยู่ จึงทำให้ชีวิตนางผันผวนกลายเป็นนางคณิกา (หญิงโสเภณี) ในที่สุดลูกเศรษฐีกลายเป็นหมอนวดโสเภณี

    นางอัฑฒกาสีชื่อเสียงเรียงใดไม่แจ้ง ที่ได้ชื่อว่า “อัฑฒกาสี” เพราะว่า “ค่าตัวเธอแพงหูฉี่” ใครจะร่วมอภิรมย์กับนางเพียง “ประตูเดียว” ก็ราคาเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาษีแคว้นกาสีเก็บได้ในวันหนึ่ง

    ว่ากันว่า แคว้นกาสีเก็บส่วยได้วันหนึ่งตกประมาณพันกหาปณะ ครึ่งหนึ่งของหนึ่งพันก็คือ ห้าร้อยกหาปณะ เพราะเหตุนี้นางจึงมีชื่อเรียกขานว่า “อัฑฒกาสี” แปลว่า ราคาครึ่งหนึ่งของภาษีของแคว้นกาสี

    นางอัฑฒกาสีมีอาชีพ “ขายเนื้อสด” อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมารู้สึกเบื่อหน่ายในอาชีพของตน คิดอยากบวชเป็นภิกษุณี พวกนักเลงล่วงรู้ความลับของนาง จึงพากันไปดักกลางทางเพื่อจับตัวนาง

    นางรู้ข่าวนั้นจึงส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นางต้องการบวช แต่ได้ข่าวว่าพวกนักเลงดักจับตัวนางระหว่างทาง จะให้ทำประการใด ?

    พระพุทธองค์ทรงส่ง “ทูต” ไปทำพิธีอุปสมบทให้นาง การอุปสมบทของนางจึงเป็นการอุปสมบทแบบที่เรียกว่า “ทูเตนะอุปสัมปทา” (การอุปสมบทโดยผ่านทูต)

    สมัยนั้นในหมู่ภิกษุสงฆ์ มีการบวชอยู่ ๒ ประเภท คือเอหิภิกขุอุปสัมปทา (การบวชที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้เอง) กับทูเตนะอุปสัมปทา (การบวชผ่านทูต) การบวชของภิกษุณีมีอยู่ประการเดียว และต่อมาก็มีการบวชผ่านทูตเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ พระอัฑฒกาสีเถรี จึงเป็นรูปแรกที่ได้รับการอุปสมบทแบบนี้

    พระอัฑฒกาสีเถรี หลังจากบวชแล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ทันทีที่ได้บรรลุพระอรหัต พระอัฑฒกาสีเถรีได้เปล่งอุทาน อันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ว่า

    “แคว้นกาสีได้ส่วยประมาณเท่าใด คนเขาตั้งราคาของเราเท่ากับกึ่งหนึ่งของส่วยของแคว้นกาสี ต่อมาเราเบื่อหน่ายในรูปโฉมโนมพรรณของเรา เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัดยินดีในรูปโฉม คิดว่าเราอย่าได้เวียนเกิดเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกเลย (จึงออกบวช) เราได้บรรลุวิชชาสามประการแล้ว ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว”

    ว่ากันว่าคนที่เวียนว่ายอยู่ในทะเลกามนานเข้าอาจถึง “จุดอิ่ม” เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เมื่อคนเช่นนี้เกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้ เพราะรู้สึก “เอียน” มาก ดุจเดียวกับ “คอทองแดง” บางคนเมาหัวราน้ำ วันดีคืนดีอาจหันหลังให้สุรายาเมาอย่างเด็ดขาด ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว

    1209781177.jpg

    พระอัฑฒกาสีก็เป็นคนประเภทนี้ เมื่อนางออกบวชจึงบรรลุธรรมชั่วระยะเวลาไม่นานเลย บุญบารมีแต่ปางก่อนที่ได้บวชเป็นภิกษุณี ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ก็คงมีส่วนหนุนส่งให้ได้เบนชีวิตมาในพระศาสนา และได้บรรลุธรรมในที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นพระท่านจึงสอนเสมอว่าให้ทำบุญกุศลไว้ให้มาก บุญกุศลนี้แหละสักวันหนึ่งจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเรา

    ประวัติพระอัฑฒกาสีเถรีให้ข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนามิได้รังเกียจผู้มีเบื้องหลังชีวิตที่สังคมรังเกียจอย่างนางคณิกา นางคณิกาเมื่ออยากบวชก็ได้รับอนุญาตให้บวชเช่นเดียวกับคนทั่วไป

    พระพุทธศาสนาถือ “ศักยภาพ” เป็นสิ่งสำคัญ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้เสมอเหมือนกัน นางคณิกา คนยากคนจน คนเกิดวรรณะชั้นต่ำที่สังคมรังเกียจ พระพุทธศาสนาให้โอกาสเขาเข้ามาพัฒนาคนได้เสมอ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ

    danh-le-tam-bao.jpg

    นี่คือความใจกว้างของพระพุทธศาสนา

    ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ผู้มีประสบการณ์ชีวิตอันขมขื่นมาก่อน หลังจากบวชแล้ว ประสบการณ์ตรงนั้นเองกลับเป็นเครื่องมือ หรือ “สื่อ” สั่งสอนคนอื่นได้เป็นอย่างดี

    อย่างพระนางปฏาจาราที่ประสบความทุกข์จนเกือบเสียจริต พอบวชมาแล้วก็นำเอาประสบการณ์นั้นไปตักเตือนสั่งสอนภิกษุณีและสตรีอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าพระอัฑฒกาสีเถรีก็คงนำเอาประสบการณ์ชีวิตของนางมาเป็นบทเรียนแก่สตรีอื่น ๆ เช่นกัน

    ข้อสังเกตประการสุดท้าย ความพลาดพลั้งของพระอัฑฒกาสีเถรีในอดีตชาติที่ด่าพระอริยเจ้า ก็ช่วยให้เราสังวรมากขึ้นว่า อย่าพึงด่าว่าร้ายใครง่าย ๆ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นพระอริยะหรือไม่ หาไม่พลาดพลั้งทำ “อริยุปวาทกรรม” ดุจดังพระอัฑฒกาสีในอดีตก็เป็นได้

    คัดบางตอนมาจาก…หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
    ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
    เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


    ขอบคุณที่มา
    http://www.sabaiclub.com/?p=19917
     
  2. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095
    sa194.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...