ปกิณกธรรม ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 3 กรกฎาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    <CENTER>ปกิณกธรรม ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ </CENTER>
    <!--detail--><!--images--><!--images-->ปกิณกธรรม
    ของ
    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

    นับแต่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถร พำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ติดต่อกันมา ๕ พรรษา นั้น (ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๒) ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับชาวบ้านหนองผือหลายเหตุการณ์ ด้วยเมตตาธรรมของ ท่าพระอาจารย์มั่น ท่าได้อนุเคราะห์อบรมสั่งสอนและปลูกฝังในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาให้ แก่ชาวบ้านหนองผือและศรัทธาญาติโยม รวมทั้งฆราวาสจากที่อื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นคติธรรม สอนใจแก่บุคคล ที่เกิดภายหลัง เรื่องราวที่นำมาเล่านี้ ได้หยิบมายกมาจากคนเฒ่าคนแก่ที่เคยใกล้ชิดปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน พระอาจารย์มั่น และนำมาจากท่านที่เคยประสบเหตุการณ์และเล่าเรื่องสืบต่อกันมาบ้าง เหตุการณ์ที่นำมาเล่านั้น อาจไมเรียงตามลำดับ แต่จะเล่าตามที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่อง ๆ ไป

    ๑. ต้อนรับเจ้าคุณพระราชาคณะ

    มีท่านเจ้าคุณพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งระดับรองเจ้าคณะมณฑลเคยเป็น ลูกศิษย์ของท่านพำนักอยู่วัดที่กรุงเทพมหานคร อยากจะเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ข่าวคราวนี้รู้สึกว่าเป็นงานที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่ง ระดับคณะสงฆ์ของจังหวัดสกลนคร เลยทีเดียว และเป็นงานที่มียศมีเกียรติมากของข้าราชการ ตลอดทั้งชาวบ้านหนองผือและหมู่บ้านใกล้เคียง ในสมัยนั้น ต่างก็จะได้ต้อนรับพระราชาคณะระดับสูงสักครั้งหนึ่ง เพราะนาน ๆ ทีจึงจะได้มีงานต้อนรับ พระราชาคณะชั้นสูง ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครเข้ามาเยี่ยมเยียนชาวบ้านนอกคอกนาอย่างพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงมีความปลื้มปีติใจอย่างมาก

    ในที่สุดข่าวทางอำเภอพรรณานิคมสั่งมาให้คณะสงฆ์ในเขตตำบลนาใน พร้อมทั้งข้าราชการครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้าน ให้ตระเตรียมจัดการต้อนรับท่านอย่างเป็นทางการ จากนั้นชาวบ้านหนองผือ และหมู่บ้านใกล้เคียงจึงได้จัดเตรียมขบวนต้อนรับอย่างสมเกียรติ มีประชาชนคนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาว ตลอดทั้งพวกเด็ก ๆ ก็ไปด้วย โดยไปรอต้อนรับกันที่ทเข้า ณ บ้านห้วยบุ่น เป็นระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร เพราะท่านเจ้าคุณพระราชาคณะนั้นจะนั่งเกวียนเทียมวัวจากตัวอำเภอพรรณานิคมมาตามทางเกวียน เลาะเลียบเขาและอ้อมเขามาลงที่บ้านห้วยบุ่น ซึ่งเป็นจุดต้อนรับของประชาชนชาวตำบลนาใน

    ไม่นานคณะของท่านเจ้าคุณก็มาถึงและได้เปลี่ยนจากนั่งเกวียนมาขึ้นแคร่หามซึ่งชาวบ้านหนองผือ จัดเตรียมตกแต่งไว้รอท่าเรียบร้อยแล้ว เมื่อท่านขึ้นแคร่หามเรียบร้อยก็พากันหามออกมาหน้าขบวน โดยมี ประชาชนที่ไปต้อนรับแห่ขบวนตามหลัง มีฆ้องตีแห่ไปด้วยอันเป็นประเพณี สนุกสนานตามประสาชาวบ้าน มาเรื่อย ๆ ตามทางเกวียนจนเข้ามาถึงหมู่บ้านหนองผือ ผ่านบ้านเลยลงทุ่งนามุ่งสู่วัดป่าบ้านหนองผืออัน เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการเดินทาง

    สำหรับภายในวัดป่าบ้านหนองผือ พระภิกษุสามเณรทุกรูปได้ลงมาเตรียมรอต้อนรับท่านที่ศาลา ทั้งหมดท่านพระอาจารย์มั่นก็อยู่บนศาลาเช่นกัน ในขณะนั้นพวกขบวนแห่ก็เคลื่อนใกล้เข้ามาทุกที มาถึงประตู ทางเข้าวัดเคลื่อนมาเรื่อยๆ ในที่สุดขบวนแห่ก็เคลื่อนมาถึงบริเวณศาลาที่เตรียมต้อนรับ และยังคิดที่จะหามแห่ เกวียนรอบศาลาสามรอบตามประเพณี ทันใดนั้นเสียงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ดังขึ้น เล็ดลอดออกมาจาก ภายในศาลา เสียงของท่านดังมากชัดเจนเป็นสำเนียงภาษาท้องถิ่นอีสานขนานแท้ว่า

    "เอาบุญหยงฮึ..พ่อออก? พ่ออกเอาบุญหยัง..? บุญเดือนสามกะบ่แม่น เดือนหกกะบ่แม่น เอาบุญหยัง..ล่ะ...พ่อออก" ( หมายความว่า ทำบุญอะไรหรือโยม โยมทำบุญอะไร? ทำบุญเดือนสามก็ไม่ใช่ บุญเดือนหกก็ไม่ใช่ ) ท่าพูดเน้นและย้ำอยู่อย่างนั้น จนทำให้พวกขบวนหามแห่ พวกตีฆ้อง ตีกลอง แปลกใจ และตกใจกลัวเสียงของท่านมากและพากันหลบหน้าหลบตาหายลับไปกับฝูงชน ส่วนพวกที่กำลังหามพระราชาคณะ รูปนั้นก็กลัวท่านเหมือนกันแต่จะทำอย่างไรได้ จึงต้องจำใจหามท่านเข้าไปจนถึงระเบียงศาลา โดยหามเอาขอบ ของแคร่เข้าไปชิดกับระเบียงศาลาแล้วท่านเจ้าคุณฯ ก็ลุกขึ้นยืน ก้าวเท้าเหยียบขอบระเบียงศาลาเดินเข้าไปภายใน ยืนลดผ้าห่มจีวรเฉวียงบ่าให้เรียบร้อยสักครู่หนึ่ง จึงเดินเข้าไปยังอาสน์สงฆ์แล้วกราบนมัสการพระประธาน เสร็จแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่จัดไว้

    ฝ่ายญาติโยมที่แห่หามท่านมาเห็นว่าหมดธุระแล้ว จึงเก็บสัมภาระแคร่หามและเครื่องของต่างๆ ไปไว้ที่เดิมในขณะที่ผู้คนกำลังวุ่นวายกันอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็ยังพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้ายๆจะให้รู้ว่า งานขบวนหามขบวนแห่พระในครั้งนี้มีความผิด ท่านจึงพูดเสียงดังผิดปกติจากนั้นท่านก็ไม่ได้พูดอะไรอีก ท่านได้เข้าไปต้อนรับพูดจาปราศรัยกับท่านเจ้าคุณฯ ถึงตอนกลางคืนวันนั้นท่านก็ได้ประชุมพระเณร เข้าใจว่าคงจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์หนักเหมือนกันญาติโยมบ้านหนองผือบางคนสมัยนั้นมักไปแอบฟังเทศน์ท่าน ที่ใต้ถุนศาลา ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์อบรมพระเณรในตอนกลางคืนอยู่เสมอๆ ประมาณ ๔-๕ คน

    คืนนี้ก็เป็นนักแอบฟังเหมือนเช่นเคย แต่คราวนี้ไปกันหลายคน เพราะมีเหตุให้สนใจหลายอย่าง มีท่านเจ้าคณะรูปนั้นมาแบบมีเกียรตินี้หนึ่ง และเพื่อมาฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขิ้นในตอนกลางวันนั้นหนึ่ง มาถึงแล้วก็เข้าไปแอบอยู่ที่ใต้ถุนศาลานั่นเอง ขณะนั้นท่านท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์พระเณรอยู่ ตอนแรก ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านคงจะยังไม่รู้ว่ามีโยมมาแอบฟังบังเอิญมีโยมคนหนึ่งวางกระป๋องยาสูบไว้ในที่มืด ฟังเพลิน มือคว้าไปสะดุดกระป๋องยาสูบเข้าทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ท่านได้ยินจึงพูดว่า "พ่อออกมาเนอะ" ( หมายความว่า โยมก็มาฟังด้วย )

    การแอบฟังของญาติโยมในคืนนั้นก็ทำให้รู้เรื่องราวหลายอย่าง ส่วนมากเป็นเรื่องการประพฤติ ปฏิบัติพระวินัยของพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งกิริยา มารยาทอย่างอื่นที่ยังไม่เหมาะสมกับสมณสารูป และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการรวมคณะสงฆ์ทั้งสองให้เป็นคณะเดียว อาจเนื่องมาจากท่านเจ้าคณะรองภาคฯ รูปนั้น มาปรึกษาขอความเห็นจากท่านพระอาจารย์มั่นก็เป็นได้ และท่านก็ได้เทศน์อบรมพระเณรในคืนนั้น เป็นพิเศษจนดึก ล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่เข้มข้นทั้งนั้น เทศน์ถึงความผิดของพระเณรแล้วก็โยงมาถึงความผิดของ ญาติโยม เพราะไม่มีใครสอนเขาให้เข้าใจพวกเขาเลยไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ที่ผิดก็เลยพากันผิดมาเรื่อยๆ จนบางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้ติดเป็นประเพณีนิยมสืบกันมาก็มี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ท่านได้เริ่มจุดที่จะสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือต่อไป

    ตอนเช้าท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรทุกรูป เข้าไปบิณฑบาตภายในหมู่บ้านหนองผือ ตามปกติชาวบ้านจะรอใส่บาตรกันเป็นกลุ่มๆ ละ ๓๐-๔๐ คน มีทั้งหมด ๓ กลุ่ม พอพระเณรมาถึงละแวกบ้าน จะมีโยมประจำคนหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ต้นทางก็จะตีเกราะเคาะไม้เป็นสัญญาณเตือนก่อน จากนั้นพระเณร ก็เดินเป็นแถวตามลำดับพรรษาเข้าไปยังหมู่บ้าน ฝ่ายญาติโยมที่จะใส่บาตรจะยืนเรียงแถวยาวไปตามถนน เป็นกลุ่มๆ ไป

    วันนี้ก็เช่นกัน พระเจ้าพระสงฆ์ก็ไปรับบิณฑบาตเหมือนเช่นเคย มีท่านพระอาจารย์มั่น เป็นองค์นำหน้า พอไปถึงกลุ่มแรกท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดขึ้นเสียงดังชัดเจน แต่เป็นประโยคใหม่ แปลกกว่าคำพูดเมื่อวานนี้ เป็นสำเนียงอีสานว่า " สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม ปลาเก่ากะบ่ได้ ปลาใหม่กะบ่ได้ เอาบุญหยังฮึ..พ่อออกแม่ออกเมื่อวานนี้ สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม.." ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ภายหลังมาพวกชาวบ้านจึงเข้าใจความหมายและเรื่องราวต่างๆที่ท่านพูดนั้น จากพระเณรภายในวัด ซึ่งได้เล่าหรืออธิบายให้ญาติโยมที่ไปจังหันที่วัดในตอนเช้าฟัง เมื่อพวกโยมเหล่านั้นกลับมาบ้าน ก็ได้บอกเล่าเรื่องเหล่านั้นให้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆทราบอีก และเล่าต่อๆมาจนถึงทุกวันนี้

    เรื่องนั้นมีความหมายว่า การที่ญาติโยมตั้งขบวนแห่พระอย่างนั้น เป็นการอันไม่สมควร ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพสถานที่และครูบาอาจารย์ เป็นความผิดแผก แหวกแนวประเพณีของนักปฏิบัติ ผิดทั้งฝ่ายโยม ทั้งฝ่ายพระ พระผู้ถูกหามไม่ป่วยไม่ชรา อาพาธก็ผิดพระวินัย พระก็เป็นโทษเป็นอาบัติเป็นบาปเป็นกรรม ฝ่ายญาติโยมเป็นผู้ส่งเสริมความผิด ทำให้พระผิดพระวินัย ญาติโยมก็พลอยได้รับโทษไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การที่ญาติโยมคิดว่าเป็นการทำเอาบุญเอากุศลในครั้งนี้นั้นก็เลยไม่ได้อะไร บุญเก่าก็หดหาย บุญใหม่ก็ไม่ได้ เป็นการกระทำอันเปล่าประโยชน์

    ภายหลังชาวบ้านจึงพากันจำใส่ใจตลอดมา และไม่กล้าทำประเพณีอย่างนี้อีกเลย จึงได้พากันเล่าต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นอุบายการสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่ชาญฉลาดยิ่ง จนชาวบ้านหนองผือได้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกบ้างจนมาถึงทุกวันนี้

    ๒. ท่านพระอาจารย์มั่น รับนิมนต์สวดมนต์ในบ้าน

    ครั้งนั้นชาวบ้านหนองผือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือเกิดโรคระบาดชนิดหนึ่ง อย่างรุนแรง มีคนตายเกือบทุกวันครั้งละ ๑ - ๒ คน แต่ละวันต้องเอาคนตายไปฝังไปเผาอยู่เสมอ จนทำให้ผู้คนประชาชนแตกตื่นกลัวกันมากไม่รู้ว่าจะทำประการใด บางคนก็คิดอยากอพยพรื้อบ้านเรือน หนีไปอยู่ท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังลังเลใจอยู่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะบ้านหนองผือนี้ยังเป็นหมู่บ้านี่อุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานพอสมควร ถ้าจะปล่อยให้ว่างเปล่าอยู่ก็รู้สึกว้าเหว่มาก หมดที่พึ่งที่อาศัย ในตอนนี้ชาวหนองผือหดหู่ใจกันมาก ทั้งกลัวโรคระบาดชนิดนี้จะมาถึงตัวในวันใดคืนใดก็ไม่อาจรู้ได้ การรักษาหยูกยาในสมัยนั้นมีแต่รากไม้สมุนไพรต่างๆ เท่านั้น กินได้ก็ไม่ค่อยจะหายนอกจากนั้นบางคน ก็วกไปหาหมอผีทำพิธีไสยศาสตร์เสกเป่าต่างๆ ก็มี คือทำทุกวิถีทาง เพื่อจะให้หายเพราะความกลัวตาย

    เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ชาวบ้านก็มีความทุกข์ความลำบากใจ บางคนก็หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตกตอนกลางคืนมาก็พากันเข้าห้องนอนกันเงียบ ไม่มีใครกล้าจะออกมาเพ่นพ่านตามถนนหนทางกันเลย ในที่สุดพวกคนวัดคนวา คนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้หลักนักปราชญ์พิธีในทางพุทธศาสนาจึงพากันตกลงว่าต้อง ทำพิธีบุญชำระกลางหมู่บ้าน ปัดรังควาน ตามประเพณีโบราณนิยมของภาคอีสานสมัยนั้น แต่ก็มีปัญหาเล็กน้อย เนื่องด้วยชาวบ้านหนองผือมีความเคารพและเกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก งานการอะไรที่คิดว่าไม่สมเหตุสมผล ก็ไม่อยากจะให้ถึงท่านแต่ถ้าไม่ถึงท่านก็ไม่ได้อีก เพราะว่างานพิธีบุญในครั้งนี้จำเป็นต้องนิมนต์พระสงฆ์ไป เจริญพระพุทธมนต์ ที่ปะรำพิธีกลางบ้านด้วย สำหรับพวกโยมเจ้าพิธีทั้งหลายต่างก็พะวักพะวนใจอยู่ว่า จะตัดสินใจกันอย่างไรสุดท้ายจึงตกลงให้โยมผู้ชายคนใดคนหนึ่งเข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าหนองผือ ดูก่อน ในตอนนี้โยมบางคนกลัวท่านพระอาจารย์มาก ไม่กล้าไปขอตัวไม่เป็นผู้เข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่น

    ในที่สุดจึงได้มอบหมายหน้าที่ให้โยมผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมีความกล้าหน่อย ซึ่งเขาเคยบวชพระมานานพอสมควรแต่ ลาสิกขามามีครอบครัวแล้ว เป็นผู้เข้าไปปรึกษาเรื่องนี้กับท่านพระอาจารย์มั่น เขาชื่ออาจารย์ บู่ นามสกุล ศูนย์จันทร์ ( ชาวบ้านหนองผือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ขณะนี้บวชเป็นพระพักอยู่สำนักสงฆ์ดานกอย ) ท่านเล่าว่า " ตอนแรกก็กลัวท่านเหมือนกัน แต่ดูแล้วคนอื่นเขาไม่กล้าเลย ตัดสินใจรับว่า ตายเป็นตายแต่ยังอุ่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านเป็นพระระดับนี้ผิดถูกอย่างไรท่านคงจะบอกสอนเรา อาจเป็นว่าเราคิดมากไปเองก็ได ้" โยมอาจารย์บู่ ท่านจึงตกลงไปที่วัดหนองผือ เพื่อเข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อไปถึงวัดขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่น กำลังนั่งอยู่ที่อาสนะหน้าห้องกุฏิท่าน หลวงพ่อบู่เล่าว่า ก่อนที่จะก้าวเดินขึ้นบันได กุฏิท่านนั้นรู้สึกว่าใจมันตีบตันไปหมด จึงอดใจก้าวเท้าจนกระทั่งเท้าเหยียบขั้นบันไดขั้นแรกและขั้นที่สอง พร้อมกับศรีษะ ตัวเองโผล่ขึ้นไป พอมองเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงหันหน้าขวับมาพร้อมกับกล่าวขึ้นก่อนว่า " ไปหยังพ่อออกจารย์ บู่ " ตอนนี้จึงทำให้โยมอาจารย์บู่โล่งอกโล่งใจ จิตใจที่ตีบตันก็หายไป มีความปลอดโปร่งขึ้นมาแทนที่ จึงเดินขึ้นบันไดแล้ว คลานเข้าไปกราบท่าน เสร็จแล้วเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ให้ท่านทราบ

    ท่านพระอาจารย์มั่นฟังเสร็จได้หลับตาลงนิดหนึ่ง เมื่อลืมตาขึ้นมาท่านพูดว่า " มันสิเป็นหยัง เมืองเวสาลี เกิดโรคระบาดฮ้อนฮน คนตายกันปานอึ่ง พระพุทธเจ้าให้ไปสวดพระพุทธมนต์คาถาบทเดียว ความฮ้อนฮนหมู่นั้นจึงหาย ไปหมดสิ้น..เอาทอนี่ละน้อ " ท่านพูดเสร็จแล้วก็ไม่พูดอะไรต่อไปอีก เนื้อความนั้นหมายความว่า " จะเป็นอะไรไป เมืองเวสาลี คราวนั้นเกิดโรคระบาดร้อนรน อนธการ มีผู้คนนอนตายกันเหมือนกับอึ่ง กับเขียด พระพุทธเจ้าให้ไปเจริญพระพุทธมนต์ เรื่องราวความเดือดร้อนต่างๆ เหล่านั้นก็หายไปจนหมดสิ้น " หลวงพ่อบู่เล่าว่า เมื่อได้ฟังท่านพระอาจารย์มั่นพูดอย่างนั้นแล้ว รู้สึกมีความดีใจมาก เกิดมีกำลังใจขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นลงจากกุฏิท่านไป แล้วรีบกลับ บ้านไปป่าวร้องให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอนุญาตแล้ว ให้พวกเราพากันจัดการเตรียมสร้างปะรำพิธีให้เรียบร้อย ชาวบ้านต่างคนก็ต่างดีใจมาก พากันจัดแจงปลูกปะรำพิธีกลางบ้านเสร็จในวันนั้น นอกจากนั้นยังจัดหาอาสนะ ผ้าขาวกั้นแดด กระโถน กาน้ำ ตลอดทั้งเครื่องประกอบต่างๆ ในพิธีให้ครบถ้วนหมดทุกอย่าง เมื่อพร้อมแล้วได้วันเวลา จึงไปอาราธนานิมนต์ พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ งานนี้เห็นว่าทำกันสองวัน วันแรกท่านพระอาจารย์มั่นไม่ได้ขึ้นมาสวดด้วยท่านจัดให้พระสงฆ์ ภายในวัดขึ้นมาสวดก่อน ต่อเมื่อวันสุดท้ายท่านจึงขึ้นมา ตอนนี้หลวงพ่อบู่เล่าว่าท่านเดินขึ้นมาสวดมนต์ด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้ารวมทั้งพระติดตามอีก ๓ - ๔ รูปก็เหมือนกัน ฝ่ายทางปะรำพิธีพวกญาติโยมก็เตรียมน้ำสำหรับล้างเท้าไว้รอท่า อยู่ก่อนแล้ว ท่านเดินทางมาถึงหน้าปะรำพิธี มีโยมคนหนึ่งเตรียมล้างเท้า อีกคนหนึ่งเป็นคนคอยเช็ด ทำไปจนเสร็จหมดทุกรูป เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ทุกรูปแล้ว โยมก็เข้าไปประเคนน้ำ หมากพลู บุหรี่ สักครู่ท่านเริ่มทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพราะญาติโยมเขามานั่งรอท่าก่อนพระสงฆ์มาถึงแล้ว

    หลวงพ่อบู่เล่าว่า พิธีในวันนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านนำพระเจริญพระพุทธมนต์เพียงสองหรือสามรุปเท่านั้น ที่จำได้มี รตนสูตรและกรณียเมตตสูตร ไม่นาก็จบลง หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้เทศน์อบรมฉลองพวกญาติโยมที่มา ร่วมในงานนั้น อันเกี่ยวกับเรื่องของความตายและคนกลัวตายว่า "เป็นเพราะไม่มีที่พึ่งทางจิตใจหรือไม่รู้ที่พึ่งอันเกษมอันอุดม จึงกลัวการตายแต่ไม่กลัวการเกิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคว้าโน้นคว้านี้เป็นที่พึ่ง บางคนกลัวตายแล้วไปไขว่คว้าเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่ง ที่เคารพนับถือด้วยความงมงาย มีการอ้อนวอน วิงวอนขอโดยวิธีบนบานศาลกล่าวจากเถื่อนถ้ำและภูเขา ต้นไม้ใหญ่ ศาลพระภูมิเจ้าที่เจ้าทางต่างๆ ที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นที่สถิตย์อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อันอาจดลบันดาลให้ชีวิตตนรอดพ้น จากอันตรายความตายและความทุกข์ได้ จึงหลงพากันเซ่นสรวงด้วยเครื่องสังเวยต่างๆ ตามที่ตนเองเข้าใจว่าเจ้าของสถานที่ เหล่านั้นจะพอใจหรือชอบใจ นอกจากนั้นยังมี การทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ สะเดาะนาม สืบชะตาราศี ตัดกรรมตัดเวร โดยวิธีต่างๆ เหล่านี้"

    ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ต่อไปอีกว่า "ที่พึ่งอันอุดมมั่นคงนั้นคือการให้ภาวนา น้อมรำลึกนึกเอาพระคุณอันวิเศษ ของพระพุทธเจ้า พร้อมพระธรรมและพระอริยสงฆ์ มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้องสมกับที่พวก เราเป็นผู้รับ นับถือเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่งประจำกายใจของตน และอีกอย่างให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของอุบาสก อุบาสิกา มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนา" สุดท้ายท่านได้ย้ำลงไปว่า " ต่อไปนี้ให้ญาติโยมทุกคนทั้งหญิง ทั้งชาย เฒ่าแก่ เด็กเล็กเด็กน้อยก็ตาม พากันสวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็น ก่อนนอนตื่นนอนทุกวัน ให้ผู้ใหญ่ในครอบครัว พ่อแม่เป็นผู้พาทำ ทำที่บ้านใครบ้านมัน ทุกครัวเรือน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลแก่พวกเรา ความเดือดร้อนต่างๆ เหล่านั้นมันก็จะหายไปเอง " ท่านให้โอวาทอบรมชาวบ้านหนองผือในครั้งนั้นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้จบการให้โอวาทลง จากนั้นท่านพูดคุยกับญาติโยมนิดๆ หน่อยๆ แล้วสักครู่ ท่านจึงกลับวัด

    งานบุญในครั้งนี้ทำกัน ๒ วัน ที่น่าสังเกตคือ พระสงฆ์ที่ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านนั้นไม่ได้ไปฉันข้าวที่บ้านใน ตอนเช้า การถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์นั้นให้เอาไปรวมถวายที่วัดทั้งหมดจึงเป็นการสิ้นสุดลงของงานบุญในครั้งนี้ ขอแทรกเรื่องนี้สักเล็กน้อย เหตุที่ชาวบ้านหนองผือไม่นิยมนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้านนั้น เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีงานบุญที่บ้านโยมคนหนึ่ง บ้านที่จัดงานบุญนั้นเป็นบ้านที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ปลูกสร้างแบบชนบทบ้านนอกโบราณ รู้สึกว่าจะคับแคบสักหน่อย ที่สำหรับพระนั่งก็คับแคบมาก แต่เจ้าภาพเรือนนี้คงไม่เคยจัดงานอย่างนี้หรือเพื่อจะมีหน้ามีตา อย่างใดก็ไม่อาจทราบได้ นิมนต์พระขึ้นไปตั้งมากมาย เมื่อพระขึ้นไปบนบ้านแล้วจึงทำให้ท่านยัดเยียดกันอยู่ ทำความ ลำบากใจให้แก่พระมาก กว่างานจะเสร็จจึงทำเอาพระหน้าตาเสียความรู้สึกไปหมด

    เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงสอนชาวบ้านหนองผือว่า " จะนิมนต์พระมาสวดมาฉันในบ้านก็ต้องดูสถานที่ก่อน ถ้าที่คับแคบให้นิมนต์พระมาแต่น้อย ถ้ากว้างขวางก็ให้ดูความเหมาะสม หากนิมนต์มาแล้วทำให้พระลำบาก ยิ่งพระแก่ๆ แล้ว ยิ่งลำบากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ญาติโยมก็จะไม่ได้บุญ จะเป็นบาปเสียเปล่าๆ และอีกอย่างหนึ่งการเอาพระขึ้นมาฉันข้าวในงานบุญ บ้านก็เหมือนกันยิ่งลำบากมาก ไม่รู้ว่าอะไรวุ่นวี่วุ่นวายกันไปหมด พอฉันเสร็จแล้วพระบางรูปก็อาจปวดท้องไส้ขึ้นมาแล้วจะวิ่ง ไปที่ไหน ยิ่งพระเฒ่าพระแก่ๆ แล้วยิ่งทรมานมาก ปวดท้องขึ้นมารังแต่จะออก จะวิ่งไปอย่างไร ถึงแม้มีที่วิ่งไปก็คงดูไม่งาม สำหรับสมณเพศ ฉะนั้นจึงให้ญาติโยมพิจารณาดู " ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านหนองผือไม่เคยนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้าน แต่สำหรับการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมแสดงธรรมเทศนาหลังสวดมนต์เสร็จในงานบุญบ้านต่างๆ นั้นยังทำ กันอยู่ตามปกติ จึงเป็นระเบียบประเพณีปฏิบัติสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้

    ๓. เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาปฏิบัติ

    ครั้งหนึ่งมีเหตุเด็กผู้ชายป่วยไข้ตายลง ชื่อเด็กชาย นงค์ นามสกุล จันทะวงษา อายุประมาณ ๖ ขวบ เป็นไข้ตาย อยู่ที่กระท่อมเถียงนา เพราะเป็นหน้ากำลังดำนากัน ตามปกติพ่อแม่ในชนบทบ้านนอกทางภาคอีสานสมัยนั้น เมื่อถึงหน้าฤดู ทำนาก็ต้องหอบลูกจูงหลานไปนาด้วย แม้ลูกหลานจะป่วยไข้แต่พอเอาไปก็ต้องเอาไป เผื่อจะได้เยียวยารักษากันไป พร้อมกับทำนาไปด้วยเพื่อจะเร่งงานนาให้เสร็จทันกับฤดูกาล แต่วันนั้นบังเอิญเด็กมีไข้ขึ้นสูง เยียวยาไม่ทันในที่สุดก็ตาย ทำให้พ่อแม่พี่น้องมีความเศร้าโศกเสียใจมาก

    เมื่อตายแล้วพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องการจะให้นำศพเด็กเข้าไปทำบุญที่บ้าน แต่มาขัดข้อเรื่องของ ความคิดเห็นตามประเพณีโบราณว่า คนที่ตายในทุ่งในป่าห้ามไม่ให้เอาผ่านเข้าบ้านโบราณท่านถือ และอีกอย่างคนตายโหง หรือตายอย่างกระทันหัน เช่น ตายจากอุบัติเหตุ ผูกคอตาย ฆ่ากันตาย ยิงกันตาย เหล่านี้เป็นต้น โบราณท่านไม่ให้หาม ผ่านเข้าบ้านและห้ามเผาให้ฝังครบสามปีแล้วจึงขุดเอากระดูกขึ้นมาเผาได้ เลยทำให้ชาวบ้านหนองผือสมัยนั้นถกเถียงกันไป ถกเถียงกันมา ในที่สุดญาติโยมจึงนำปัญหานี้ไปปรึกษาสอบถามกับท่านพระอาจารย์มั่น

    ท่านได้แก้ความสงสัยนี้ให้แก่ญาติโยมบ้านหนองผือด้วยเหตุผลง่ายๆว่า " พวกหมูป่า อีเก้ง กวางที่ยิงตาย ในป่า ยังเอามาเข้าบ้านเรือนได้ นี่มันคนตายแท้ๆ ทำไมจะเอาเข้าบ้านเข้าเรือนไม่ได้ " ดังนั้นญาติโยมชาวบ้านจึงนิ่งเงียบไป ทำให้หูตาสว่างขึ้นมา สุดท้ายก็นำเอาศพเด็กชายคนนั้นเข้าไปทำบุญที่บ้าน และเผาเหมือนกันกับศพของคนตายตามปกติ ธรรมดาทุกอย่าง ภายหลังต่อมาชาวบ้านหนองผือจึงไม่ค่อยถือในเรื่องนี้เป็นสำคัญ คนตายทุกประเภทจึงทำเหมือนกันหมด

    สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนักอยู่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ ช่วงระยะ ๕ พรรษานั้นมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือ มีพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่านมรณภาพลง ๒ รูป คือ พระอาจารย์สอกับพระอาจารย์เนียม แต่มรณภาพลงคนละเดือน โดยเฉพาะพระอาจารย์เนียม มรณภาพเมื่อตอนเช้าด้วยอาการสงบ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทราบเรื่องทุกอย่าง พอตอนเช้า ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาพระเณรไปบิณฑบาตรภายในหมู่บ้านตามปกติ ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตรอยู่นั้น ท่านพูดขึ้นเป็น สำเนียงอีสานว่า " ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ พ่อออกแม่ออก ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ " ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อยๆ กับกลุ่มญาติโยม ที่รอใส่บาตรทุกกลุ่มจนสุดสายบิณฑบาตร คำพูดของท่านนั้นหมายความว่า พระอาจารย์เนียมอยู่กับที่แล้วไม่กระดุกกระดิก แล้วหรือตายแล้ว ซึ่งญาติโยมตอนนั้นบางคนก็เข้าใจบางคนก็ไม่เข้าใจความหมาย ภายหลังจึงเข้าใจชัดว่า พระอาจารย์เนียม มรณภาพแล้วเมื่อเช้านี้ เมื่อญาติโยมทั้งหลายได้ทราบอย่างนั้นแล้วจึงบอกต่อๆ กันไป แล้วพากันเตรียมตัวไปที่วัดในเช้าวันนั้น

    สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรบิณฑบาตรเสร็จแล้วกลับถึงวัด ล้างเท้าขึ้นบนศาลาหอฉัน วางบาตร บนเชิงบาตร ลดผ้าห่ม คลี่ผ้าสังฆาฏิที่ซ้อนออก ห่มเฉพาะจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อยแล้วพับเก็บผ้าสังฆาฏิ จึงเข้าประจำที่ฉัน เตรียมจัดแจงอาหารลงบาตร เพราะมีโยมตามส่งอาหารที่วัดด้วย เสร็จแล้วอนุโมทนายถาสัพพีตามปกติ จึงพร้อมกันลงมือฉัน

    ฝ่ายพวกชาวบ้านญาติโยมภายในหมู่บ้าน ที่จะมาวัดในเช้าวันนั้นก็กำลังบอกล่าวป่าวร้องให้ผู้คนประชาชนไปที่วัด เพื่อจะได้จัดเตรียมเอาเครืองใช้ไม้สอยและอุปกรณ์จำเป็นในการที่จะทำงานฌาปณกิจศพตามประเพณี ทั้งคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มๆ แข็งแรงก็ให้ไปด้วย ผู้มีมีดพร้า ขวาน จอบ เสียม ก็ให้เอาไปด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไปปราบพื้นที่ที่จะทำเป็นที่เผาศพชั่วคราว สำหรับพวกที่มีพร้ามีขวานให้ไปตัดไม่ที่มีขนาดใหญ่หน่อย ยาวประมาณ ๒ วากว่าๆ มาทำเป็นไม้ข่มเหงหรือไม้ข่มหีบศพที่อยู่ บนกองฟอน ไม่ไห้ตกลงมาจากกองฟอนขณะไฟกำลังลุกไหม้อยู่ส่วนคนเฒ่าคนแก่รู้หลักในการที่จะทำเกี่ยวกับศพก็เตรียมฝ้าย พื้นบ้านพร้อมด้ายสายสิญจน์ เพื่อนำไปมัดตราสัง ภูไท เรียกว่ามัดสามย่าน ( คือห่อศพด้วยเสื่อแล้วมัดเป็นสามเปลาะ โดยมัด ตรงคอ ตรงกลาง และตรงข้อเท้า) นอกจากนั้นก็มีธูปเทียนดอกไม้ กะบองขี้ไต้ น้ำมันก๊าด พร้อมทั้งหม้อดินสำหรับใส่กระดูก หลังจาเผาเสร็จ เป็นต้น

    ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เมื่อฉันจังหันเสร็จและทำสรีรกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้วได้ลุกจากอาสนะที่นั่ง เดินลง จากศาลาหอฉันไปที่กุฏิศพพระอาจารย์เนียม พระเณรทั้งหลายก็ติดตามท่านไปด้วย ไปถึงท่านก็สั่งการต่างๆ ตามที่ท่านคิดไว้แล้ว คือคล้ายๆกับว่าท่านจะเอาศพของพระอาจารย์เนียมเป็นเครื่องสอนคนรุ่นหลังหรือทอดสะพาน ให้คนรุ่นหลังๆ ทั้งพระเณร พร้อมทั้งญาติโยมชาวบ้านหนองผือเอาเป็นคติตัวอย่าง ท่านจึงไปยืนทางด้านบนศรีษะของศพแล้วก้มลงใช้มือทั้งสองจับมุมเสื่อ ทั้งสองข้างของศพ ทำท่าทางจะยกศพขึ้นอย่างขึงขังจริงจังพระเณรทั้งหลายเห็นกิริยาอาการของท่านอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าใจ ความหมายว่า ท่านต้องการจะให้ยกศพหามไปที่กองฟอนเดี๋ยวนั้น โดยไม่ต้องตกแต่งศพหรือทำโลงใส่เลย

    ดังนั้น พระเณรทั้งหลายจึงพากันกรูเข้าไปช่วยยกศพนั้นจากมือท่าน หามไปที่กองฟอนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของวัด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าพระเณรทั้งหลายเข้ามาช่วยหามมากแล้ว ท่านจึงปล่อยให้จัดการหามกันเอง ท่านเพียงแต่ คอยสั่งการตามหลังเท่านั้น แล้วท่านก็เดินตามหลังขบวนหามศพนั้นไป ในตอนนี้พวกญาติโยมชาวบ้านกำลังทยอยเข้ามาที่บริเวณวัด ขณะที่พระอาจารย์มั่นกำลังเดินไปอยู่นั้น ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเดินถือฝ้ายพื้นบ้านเข้ามาหาท่านท่านเห็นจึงหยุดเดินและถามขึ้นว่า " พ่อออก ฝ้ายนั้นสิเอามาเฮ็ดอีหยัง..?" (หมายความว่า โยมจะเอาฝ้ายนั้นมาทำอะไร) โยมนั้นก็ตอบท่านว่า " เอามามัดสามย่านแหล่ว ข้าน้อย " ( มัดตราสัง ) ท่านพูดขึ้นทันทีว่า " ผูกมัดมัน เฮ็ดอีหยัง มันสิดิ้นรนไปไส มันฮู้พอแฮงแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้ อย่างอื่น สิยังมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ่มซะซือ " ( หมายความว่า ผูกมัดทำไม ศพมันจะดิ้นไปไหนเพราะตายแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้ อย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ้งเสียเปล่าๆ ) โยมคนนั้นก็เลยหมดท่าพูดจาอะไรไม่ออก เก็บฝ้ายนั้นแล้วเดินตามหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นเข้าไปยังที่ที่เผาศพพระอาจารย์เนียม

    เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปถึงที่เผาศพแล้ว มีโยมหนุ่มๆ แข็งแรงกำลังแบกหามท่อนไม้ใหญ่พอประมาณยาว ๒ วากว่าๆ ( ทางนี้เรียกว่าไม้ข่มเหง ) มาที่กองฟอน ท่านพระอาจารย์มั่นเหลือบไปเห็นจึงพูดขึ้นทันทีว่า " แบกมาทำเฮ็ดหยังไม้นั่น..?" ( หมายความว่า แบกมาทำไมไม้ท่อนนั้น ) พวกโยมก็ตอบว่า " มาข่มเหงแหล่วข้าน้อย " ( หมายความว่า เอาไม้นั้นมาข่มศพบนกองฟอน เพื่อไม่ให้ศพตกออกจากกองไฟ ) ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า " สิข่มเหงมันเฮ็ดอิหยังอีก ตายพอแฮงแล้วย่านมันดิ้นหนีไปไส " (หมายความว่า จะไปข่มเหงทำไมอีกเพราะตายแล้ว กลัวศพจะดิ้นหนีไปไหน ) พวกโยมได้ฟังเช่นนั้นก็เลยวางท่อนไม้เหล่านั้นทิ้งไว้ที่พุ่มไม้ข้างๆ นั้นเอง แล้วมานั่งลงคอยสังเกตการณ์ต่อไป

    ก่อนเผานั้นท่านพระอาจารย์มั่นสั่งให้พลิกศพตะแคงขวา แล้วตรวจดูบริขารในศพโดยที่ไม่ได้แต่งศพแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีจีวรของศพปกปิดอยู่เท่านั้น แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นสายรัดประคดเอวของศพ จึงดึงออกมาโยนไปให้พระที่อยู่ใกล้ๆ พร้อมกับพูดว่า " นี่ประคดไหม ใครไม่มีก็เอาไปใช้เสีย " แล้วท่านก็พาพระเณรสวดมาติกาบังสุกุลจนจบลง แล้วจึงให้ตาปะขาวจุด ไฟใส่กะบองแล้วยื่นให้ท่าน เมื่อท่านรับแล้วพิจารณาครู่หนึ่งจึงไปวางไฟลงใต้ฟืนในกองฟอน ไม่นานไฟก็ติดลุกไหม้ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเปลวโพลงสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ในที่สุดไฟเริ่มไหม้ทั้งฟืนทั้งศพ ทำให้ศพที่ถูกไฟไหม้อยู่นั้นมีน้ำมันหยดหยาดย้อยถูก เปลวไฟเป็นประกายวูบวาบพร้อมกับเสียงดังพรึบๆ พรับๆ ไปทั่ว จนที่สุดคงเหลือแต่เถ้าถ่านกับกองกระดูกเท่านั้นเอง

    ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงหันหน้าเดินออกมาข้างนอก ปล่อยให้ญาติโยมดูแลเอง ในขณะที่ท่านกำลังเดินออกมาท่านเหลือบไปเห็นโยมผู้ชายคนหนึ่งถือหม้อดินใหม่ขนาดกลางเดินเข้ามาหาท่าน ท่านจึงถามโยมคนนั้น ทันทีว่า " พ่อออกเอาหม้อนั้นมาเฮ็ดหยัง " ( หมายความว่า โยมเอาหม้อดินนั้นมาทำอะไร ) โยมคนนั้นตอบท่านว่า " เอามาใส่กระดูกแหล่วข้าน้อย " ( หมายความว่าเอามาใส่กระดูกขอรับ ) ท่านจึงชี้นิ้วลงบนพื้นดินพร้อมกับถามโยมคนนั้นว่า " อันนี้แม่นหยัง " ( หมายความว่า อันนี้คืออะไร ) โยมตอบท่านว่า " ดินขอรับ " ท่านจึงชี้นิ้วไปที่หม้อดินที่โยมถืออยู่พร้อมกับถามอีกว่า " นั่นแด้..เขาเอาอีหยังเฮ็ด " ( หมายความว่า นั้นเขาทำด้วยอะไร ) โยมตอบท่านว่า "ดินข้าน้อย" ท่านจึงสรุปลงพร้อมกับชี้นิ้วทำท่าทางให้ดูว่า " นั่นก็ดิน นี่ก็ดิน ขุดลงนี่แล้ว จึงกวาด..ลงนี่ มันสิบ่ดีกว่าหรือ " ( หมายความว่า หม้อใบนั้นก็ทำด้วยดิน ตรงพื้นนี้ก็ดิน ขุดเป็นหลุมแล้วให้กวาดกระดูกและเถ้าถ่าน ต่างๆ ลงด้วยกัน จะไม่ดีกว่าหรือ ) ท่านจึงบอกโยมนั้นเอาหม้อไปเก็บไว้ใช้ โดยบอกว่า " ให้เอาหม้อใบนั้นไปใช้ต้มแกงอย่างอื่นยังจะมี ประโยชน์กว่าที่จะเอามาใส่กระดูก " เมื่อโยมได้ฟังเช่นนั้นจึงนำหม้อดินไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป


    ๔. การทำบุญที่ท่านพระอาจารย์มั่นสรรเสริญ

    การสั่งสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นในสมัยนั้น ส่วนมากท่านจะเน้นให้ญาติโยมสมาทานศีลห้าเป็นหลัก ส่วนศีลแปดหรือศีลอุโบสถ ท่านไม่ค่อยจะเน้นหนักเท่าไหร่ท่านกล่าวว่า ศีลห้าเหมาะสมที่สุดสำหรับฆราวาสญาติโยมผู้ครองเรือน ถ้างดเว้น ตลอดไปไม่ได้ก็ขอให้งดเว้นให้ได้ในวันพระวันศีล สำหรับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นท่านบอกว่า " สัตว์ที่มีบุญคุณนั้นห้ามเด็ดขาด " นอกจากนั้นท่านกล่าวว่า " จะงดเว้นไม่ได้ดอกหรือ เพียงวันสองวันเท่านั้น การกินในวันรักษาศีลจะกินอะไรก็คงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น สัตว์ที่ฆ่าเอง แค่นี้ทำไม่ได้หรือ ไม่ตายดอก... "

    สำหรับการขอศีลนั้น ท่านไม่นิยมนิยมให้ขอ และท่านก็ไม่เคยให้ศีล ( ตอนอยู่หนองผือ ) ท่านให้ใช้วิธีรัติงดเว้นเอาเลย ไม่ต้อง ไปขอจากพระซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผู้ใดมีเจตนาจะรักษาศีลจะเป็นศีลห้า ศีลแปดก็ตาม ให้ตั้งอกตั้งใจเอาเลย แค่นั้นก็เป็นศีลได้แล้ว และการ ถวายทานในงานบุญต่าง ๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า " บุญนั้นผู้ถวายได้ถวายได้แล้วสำเร็จแล้วตั้งแต่ตั้งใจ หรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีก เพียงแต่ตั้งเจตนาดีเป็นกุศลหวังผลคือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเท่านี้ก็พอแล้วนั่นมันเป็นพิธีการหรือกฏเกณฑ์อย่างหนึ่งของเขา ไม่ต้องเอาอะไรทุกขั้นทุกตอนดอก "

    ครั้งนั้นมีศรัทธาญาติโยมจากสกลนคร เขาเป็นคนเชื้อสายจีน มีชื่อว่า เจ๊กไฮ แซ่อะไรนั้นเขาไม่ได้บอกไว้ เขามีความลื่อมใส ศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก ขอเป็นเจ้าภาพกฐินในปีนั้น เมื่อถึงเวลากำหนดกรานกฐินแล้ว จึงได้ตระเตรียมเดินทางมาพัก นอนค้างคืนที่บ้านหนองผือหนึ่งคืน โดยพักบ้านของทายกวัดคนหนึ่ง เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับไปจังหันตอนเช้าด้วย พอเช้าขึ้นพวกเขาจึงพากันนำเครื่องกฐินพร้อมกับเครื่องไทยทานอาหารต่างๆ เหล่านั้นไปที่วัด เมื่อถึงวัดล้างเท้าที่หัวบันไดแล้วพากัน ขึ้นบนศาลาวางเครื่องของ คุกเข่ากราบพระประธาน แล้วจึงรวบรวมสิ่งของ เครื่องผ้ากฐิน พร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่างๆ วางไว้ที่หน้าพระประธานในศาลา

    ส่วนเจ๊กไฮ ผู้เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น เมื่อวางจัดผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่ เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน ( เจ๊กไฮ ก็กราบเหมือนกัน ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ ) แล้วเขาก็ลง จากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอารามเฉยอย่างสบายอารมณ์ จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตรแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัด แจงอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพรต่อไป แต่เจ๊กไฮ ก็ไม่มารับพรด้วย มีคนถามเขาว่า " ทำไมไม่รับพรด้วย " เขาบอกว่า " อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้นอั๊วจึงไม่ต้องรับพรและคำกล่าวถวายใดๆ เลย "

    ภายหลังฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่าผ้ากฐินมาเป็นผ้าบังสุกุลแทน ท่านจึพิจารณากองผ้ากฐิน เป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย ท่านกล่าวถึงผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียง แค่ ๔ เดือนเท่านั้นไม่เหมือนกับผ้าบึงสุกุลซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป คือ ผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขตใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึง จะทำอย่างอื่นต่อไป และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า " ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ เจ๊กไฮทำบุญได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่าเขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า ทำบุญได้บุญแท้.. "

    ทุกคนที่ไปกฐินในครั้งนี้ต่างก็มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมะ ที่ท่านกล่าวออกมาซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่แปลกใหม่ ยังไม่เคย ได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นเลย โดยเฉพาะกับเจ๊กไฮผู้เป็นเจ้าภาพยิ่งมีความปลื้มปีติมากกว่าเพื่อน เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ ถูกต้องเป็นที่พออกพอใจของครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพเลื่อมใส จึงเป็นที่ตรึงตราใจของเขาไปจนตลอดสิ้นชีวิตและได้เป็นเรื่องเล่าขาน กันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

    อีกครั้งหนึ่งมีญาติโยมทางโคราช จะเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินมาทอดที่วัดป่าบ้านหนองผือในปีถัดมา เจ้าภาพชื่อนายวัน คมนามูล เป็นพ่อค้าชาวโคราช มีท่านพระอาจารย์มั่นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการรับผ้ากฐินครั้งนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วทางเจ้าภาพกฐินก็กำหนดวัน เวลาจะนำกฐินมาทอด ฝ่ายพระที่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ในปีนั้น รูปที่มีหน้าที่อปโลกน์กฐิน ( การเลือก, การบอกเล่า ถ้าเราถวายของสิ่งเดียวแก่ภิกษุสงฆ์หลายรูป ท่านจะต้องเลือกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ( เช่นถวายกฐิน ) พิธีการเลือกนั้นเรียกว่า อปโลกน์ หรือ อปโลกนกรรม ) ต่างก็เตรียมท่องคำอปโลกน์กัน อย่างดิบดี ตลอดทั้งพระรูปที่มีหน้าที่สวดญัตติทุติยกรรม ( กรรมมีญัตติเป็นที่สอง หรือ กรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ, กรรมอันทำด้วยญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และ การมอบให้ผ้ากฐิน เป็นต้น ) ก็เตรียมฝึกหัดอย่างเต็มที่เหมือนกัน เพื่อกันความผิดพลาด เพราะคิดว่าการ สวดต่อหน้าท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่เช่นนี้ ถ้าเกิดผิดพลาด สวดตะกุกตะกักหรือไม่ถูกอักขระฐานกรณ์ กลัวท่านจะดุเอา ต่อหน้าญาติโยม แล้วจะเป็นที่อับอายขายหน้ากัน อันนี้เป็นธรรมเนียมของพระในวัดที่จะรับกฐิน จะต้องตักเตือนกันก่อนกว่าพิธีจริงจะมาถึง งานนี้คิดว่าคงจะเช่นกัน

    เมื่อวันทอดกฐินมาถึงเจ้าภาพเขานำผ้ากฐินมาถวายในตอนเช้า คณะกฐินเมื่อมาถึงวัดแล้วได้นำผ้ากฐินพร้อมทั้งเครื่องอันเป็น บริวารขึ้นไปวางบนศาลา เพื่อรอเวลาพระบิณฑบาตรและฉันเสร็จก่อนจึงค่อยทอดถวาย ในขณะที่พระจะกลับจากบิณฑบาตร จัดแจกอาหาร ลงบาตรเสร็จและให้พรแล้วลงมือฉันตามปกติ ญาติโยมเมื่อเห็นพระเณรทยอยถือบาตรลงจากศาลาหอฉัน ไปล้างบาตรในที่สำหรับล้าง นั่นแสดงว่าพระเณรท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว พวกโยมคณะกฐินจึงพากันขึ้นมาที่ศาลามาถึงก็เห็นท่านพระอาจารย์มั่นนั่งบนอาสนะ กำลังทำสรีรกิจ ส่วนตัวหลังฉันภัตตาหาร มีการล้างมือ บ้วนปาก ชำระฟัน เป็นต้น พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าญาติโยมขึ้นไปบนศาลาแล้ว ท่านจึงพูดขึ้นว่า " พ่อออก... สิเฮ็ดจั้งใด ของหมู่น ี้" ( หมายความว่า พวกโยมจะทำยังไงกับของเหล่านี้ ) โยมผู้เป็นเจ้าภาพนำผ้ากฐินมาจึงพูดตอบท่านว่า " แล้วแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์จะพิจารณาขอรับ " ท่านพระอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า " ถ้าจั้งซั่นให้พากันไปหาฟดหรือใบไม้มาปกปิดเสียก่อน " พวกญาติโยมเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงพากันรีบลงไปหาฟดหรือใบไม้นำมาปกปิดกองผ้ากฐินเรียบร้อยแล้วจึงถอยห่างออกมาอยู่ข้างนอก สักครู่ท่านพระอาจารย์มั่นจึงลุกไปพิจารณากองผ้าเหล่านั้นเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านพระอาจารย์มั่นจึงกล่าวกับญาติโยมว่า " ของหมู่นั่นเสร็จเรียบร้อยแล้วเน้อพวกญาติโยมที่มานี้ก็ได้บุญได้กุศลแล้วทุกคนเน้อ " และท่านก็พูดคุยกับญาติโยมที่มาทำบุญในวันนั้น อีกบ้างพอสมควร หลังจากนั้นพวกญาติโยมก็ได้กราบแล้วลงจากศาลาไปรับประทานอาหารจากเศษข้าวก้นบาตรจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงพร้อมกันไปกราบลาท่านพระอาจารย์กลับบ้าน งานจึงเป็นอันเสร็จสิ้นลงเพียงเท่านี้

    ส่วนพระรูปที่ฝึกซ้อมเตรียมท่องคำอปโลกน์กฐินและสวดญัตติทุติยกรรมวาจาอย่างดิบดีมาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น คิดว่าจะได้สวดแสดงในงานกฐินครั้งนี้ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น เรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นอันว่าจบลงเพียงแค่นั้นแล ภายหลังหมู่พระทั้งหลายจึงมาพูดกับหมู่เพื่อนว่า " ท่านพระอาจารย์ใหญ่เราเด็ดขาดจริงๆ ไม่สะทกสะท้านสงสัยในเรื่องพิธีการ เหล่านี้เลย " จึงทำให้หมู่พระลูกศิษย์สมัยนั้นคิดสงวนภูมิใจอยู่องค์เดียวมาจนถึงทุกวันนี้

    ๕. คุณยายขาวกั้งติดปัญหา

    ในการเทศน์อบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมักจะกล่าวปรารภ เปรียบเทียบให้ญาติโยมฟังอยู่เสมอว่า " การเทศน์การสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น เหมือนกับการ จับปลานอกสุ่ม " ( สุ่มคือ เครื่องมือจับปลาขนิดหนึ่ง ) การจับปลานอกสุ่มนั้นใครๆ ก็ย่อมรู้ว่ามันยาก ขนาดไหน เพราะปลามันมีที่จะไปได้หลายทางโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มันจึงไม่ยอมให้จับได้ง่าย ๆ ไม่เหมือนกับปลาที่อยู่ในสุ่ม ซึ่งมีขอบเขตจำกัดบังคับมันอยู่ จึงจับได้ง่ายแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า ปลานอกสุ่มจะจับไม่ได้เลย จับได้เหมือนกัน สำหรับผู้มีปัญญา ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีอุบายวิธี อันชาญฉลาดมากในการสั่งสอนคน ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวปรารภในทำนองถ่อมตน แต่องค์ท่าานก็ สามารถอบรมสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจของญาติโยม ให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของท่าน เป็นจำนวนมากมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้

    ข้อที่น่าสังเกตในอุบายวิธีการสั่งสอนญาติโยมของท่านคือ ท่าจะสอนเน้นเป็นรายบุคคลเฉพาะ ผู้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ท่านได้พิจารณาดูภายในแล้วเท่านั้น ถ้าหากญาติโยมผู้ใดถูกท่าน พระอาจารย์มั่นพูดทักซักถามแล้ว จะต้องตั้งใจฟังให้ดี ๆ นั่นแสดงว่าท่านจะบอกขุมทรัพย์ให้ จึงเป็นบุญลาภวาสนาของบุคคลนั้นโดยแท้ และบุคคลผู้นั้นจะถูกท่านซักถามแนะนำติดตามผล อยู่เสมอตามอุบายวิธีของท่านจนสมควรแก่บุญวาสนาของบุคคลนั้นแล้ว ท่านจึงปล่อยให้ ดำเนินตามที่ท่านแนะสอน เพื่อเพิ่มบารมีของเขาจนแก่กล้าเป็นลำดับต่อไป

    สมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก ทั้งหญิงทั้งชาย หลังจากได้พากันละเลิกนับถือผีแล้ว โดยพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรก ให้ละเลิกนับถือผีถือผิดเหล่านั้น ให้หันหน้ามานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจังมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณที่พึ่งแทน และท่านยังได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาพร้อมทั้ง เดินจงกรมด้วย พากันปฏิบัติอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้น บางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน ที่สำคัญมีคุณยายขาวกั้ง เทพิน คุณยายขาววัน พิมพ์บุตร คุณยายขาวสุภีร์ ทุมเทศ คุณยายขาวตัด จันทะวงษา คุณยายขาวเงิน โพธิ์ศรี คุณยายขาวงา มะลิทอง คุณยายขาวกาสี โพธิ์ศรี และคุณแม่ชีกดแก้ว จันทะวงษา ( ชาวบ้านหนองผือ บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่สมัยพนะอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษา จนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๔ ยังเป็นแม่ชีพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ และได้เล่าเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ) โดยมีพระอาจารย์ หลุย จนฺทสาโร เป็นผู้บวชให้

    เมื่อบวชแล้วไปอยู่ตามสำนักที่ตั้งขึ้นชั่วคราวใกล้ๆ กับสำนักสงฆ์ของครูบาอาจารย์เพื่อจะได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเมื่อมีโอกาส บางครั้งพวกเขาก็พากันออกไปภาวนาหาความสงบวิเวกตามป่าช้าบ้าง ตามป่าเชิงเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นบ้าง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ให้แก่จิตใจ ไปกันเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางด้านปฏิบัติสมาธิแล้ว จึงค่อยหาโอกาสเข้าไปกราบนมัสการเล่าถวายท่าน ท่านก็จะแก้ไข ความขัดข้องนั้นให้ด้วยความเมตตากรุณา จนปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ และได้ปฏิบัติกัน อย่างนั้นมาเรื่อยๆ

    จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางเข้าไปยังบ้านหนองผือ และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ยิ่งทำให้คุณยายขาวแม่ชีและญาติโยม ซึ่งกำลังมีความสนใจปฏิบัติธรรม อยู่แล้วมีความสนใจมากยิ่งขึ้น จนบางคนปรากฎผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ในจำนวนนั้นมีคุณยายขาวคนหนึ่งผู้บวชชีเมื่อตอนแก่ ท่านมีอายุมากกว่าเพื่อนและเป็นหัวหน้าคณะแม่ชี ชื่อคุณยายขาวกั้ง เทพิน อายุประมาณ ๗๐ กว่าปี การปฏิบัติมาธิมีความก้าวหน้ามากมีความรู้ความเห็น ซึ่งเกิดจากการภาวนาหลายเรื่องหลายประการ ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทางด้านจิตภาวนาอยู่เสมอ เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องทางด้านจิตภาวนา มีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการเล่าปัญหาถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ท่านก็จะแนะอุบายวิธีให้ไปประพฤติปฏิบัติตาม ในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ตกไป

    ตอนหลังคุณยายขาวกั้ง ท่านแก่ชราภาพมากไปมาไม่สะดวก ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้าน ขณะที่อยู่บ้านท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน ตอนหนึ่งท่านนั่งภาวนาจิตไปเที่ยวเพลิน ชมเมืองสวรรค์ เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้งท่านบอกว่า มันสนุกสนานเพลิดเพลิน เห็นแต่สิ่งสดสวยงามทั้งนั้น ไปแล้วก็อยากไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน วันหนึ่งไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก แต่คุณยายขาวกั้งก็ยัง ติดอกติดใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อีก

    คืนหนึ่งคุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ ตามที่เคยไปแต่เหมือนมี อะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้ พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จคุณยายก็ไปที่วัด เข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น เล่าเรื่องถวายท่านว่า " เมื่อคืนหลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้ " ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า " ไปเที่ยวเฮ็ดยั้งดุแท้ ( บ่อยแท้ ) " คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบ ว่า " ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวย ๆ งาม ๆ ทั้งนั้น " ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า " เอาล่ะ บ่ต้อง ไปอีกนะทีนี้ " คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเช่นนั้น แต่ในใจของ คุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไปเพราะกลัวคุณยายจะผิดทาง และเสียเวลา ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่าจึงจะไม่ผิดทาง ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไป ปฏิบัติตาม ซึ่งตามปกติาคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ แต่ ละครั้งใช้เวลาไม่นานเพราะคุณยายขาวกั้งจะถามเฉพาะปัญหาที่แก้ไม่ตกจริง ๆ เท่านั้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่น ตอบมาอย่างไร คุณยายใจแล้วจะกราบลาท่านกลับที่พักของตนเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็ เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญขึ้นอีกคือ วันหนึ่งไปที่วัดเพื่อจะไปกราบถามปัญหากับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ วันนั้นพอถึงวัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า " ฮ้วย...บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาว แหล่วบ่น้อ " ( หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยาย เข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ ) เพราะช่วงนั้น คุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่งแต่งงานใหม่กำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นว่า " ข้าน้อย มิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก " ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า " อ้าว... เอาให้ดีเด้อ... ภาวนาให้ดีๆ เด้อ " เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมา กล่าวอยู่เสมอว่า " แก้ไห้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ " ดังนี้ จากนั้นท่าน พระอาจารย์มั่น คงจะแนะอุบายวิธีแก้ให้คุณยายนำไปปฏิบัติ คุณยายพอได้อุบายแล้ว ก็ถือโอกาสกราบลาท่าน กลับบ้านของตน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัวเตรียมใจ ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระ อาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียรนั่งสมาธิ ภาวนาอยู่ประมาณสองสามวันจึงรู้ สาเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านั้นได้ จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูก หลานฟังว่า " พวกสู..กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิก กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้ " ( หมายความว่า พวก ลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายยายเห็นว่า ยายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น แต่ว่ายายไม่ต้องการจะ เกิดอีก จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้ ) หลังจากนั้นต่อมาไม่นานนาอุ่นหลานสาวของคุณยาย ขาวกั้งที่กำลังตั้งท้องอยู่ ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยาย ขาวกั้ง เข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว

    สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง เรื่องการภาวนานั้นรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากและเป็นไปเร็วกว่า บรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตามการภาวนาของท่านก็เกิด ความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยายที่มีท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตภาวนา ได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงนั้นพอดี จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขากั้งได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน จนสามารถ แก้ปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดี และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อบอุ่นใจของ คุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย

    ส่วนแม่ขาวแม่ชีนอกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ประพฤติปฏิบัติทำความพากเพียรตามรอยปฏิปทาของ ท่านพระอาจารย์มั่นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ และได้ครองเพศถือบวช เป็นแม่ขาวแม่ชีสมาทานรักษาศีลแปด เจริญเมตตาภาวนาของท่านมาจนจิตใจหนักแน่น มั่นคงในธรรมปฏิบัติไม่อาจย้อนไปถือเพศเป็นผู้ครองเรือน อีกจนตลอดสิ้นอายุขัยของท่านทุกคน ส่วยฆราวาสญาติโยมผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่อาจสละบ้านเรือนออก ถือบวชได้ ก็ตั้งตนอยู่ในภูมิธรรมของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีทั้งหลายและมีจิตใจศรัทธามั่นคงอยู่ในบวรพระ พุทธศาสนา ถือพระไตรสรณคมน์เป็นหลักในการบำเพ็ญตน ตลอดถึงคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาห้าประการ คือ ประกอบด้วยศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ เชื่อกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๑ ไม่แสวง บุญนอกเขตพุทธศาสนา ๑ และบำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ๑ ดังนี้ ตลอดมาจนสิ้นชีวิตของเขานั้นแล

    ๖. กำลังใจ

    ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นปีที่คณะเสรีไทยกำลังโด่งดังมาก บ้านหนองผือก็เป็นอีกแห่งที่ คณะเสรีย์ไทยได้เข้าไปตั้งค่าย เพื่อฝึกอบรมคณะครูและประชาชนชายหนุ่มให้ไปเป็นกองกำลังทหาร ต่อสู้ ขับไล่ทหารญี่ปุ่นในสมัยนั้น คุณครูหนูไทย สุพลวานิช ( ชาวบ้านหนองผือ ผู้อยู่ในเหตการณ์และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๔๔ ) ใช้ชีวิตอยู่ในอำเถอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ) เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเกณฑ์ให้ไปฝึกอบรมในค่ายนี้ ท่าน เกิดที่บ้านหนองผือนี่เอง เป็นธรรมดาสัญชาตญาณของคนเรา เมื่อตกอยู่ในภาวะเหตุการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ แสวงหาสิ่งพึ่งพิงทางใจในยามคับขัน ช่วงเวลาว่างในการฝึกก็นั่งพักผ่อนตามอัธยาศัย พูดคุยสรวลเสเฮฮา กับหมู่เพื่อนร่วมค่ายหลายเรื่องหลายราว จนกระทั่งมาถึงเรื่องของดีของขลังของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อป้องกัน อันตรายที่จะมาถึงตัว มีเพื่อนคนหนึ่งในจำนวนนั้นได้พูดขึ้นว่า " ท่านพระอาจารย์ใหญ่ในวัดป่าบ้านหนองผือ ทราบข่าวว่าท่านเป็นพระดีองค์หนึ่ง พวกเราจะไม่ลองไปขอของดีกับท่านดูบ้างหรือ ท่านคงจะให้พวกเรา "

    ด้วยคำพูดของเพื่อนจึงทำให้คุณครูหนูไทยนำไปคิดเป็นการบ้าน วันต่อมาคุณครูหนูไทยหาแผ่นทอง มาได้แผ่นหนึ่ง มาตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ วางใส่จานขันธ์ห้า แล้วให้โยมผู้เฒ่าทายกวัดที่เป็นญาติซึ่งไปจังหัน ที่วัดในตอนเช้านำแผ่นทองถวายท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ท่านทำหลอดยันต์ให้แต่โยมผู้ที่นำแผ่นทองไปนั้น ไม่กล้าเข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่นโดยตรง จึงให้พระอุปัฏฐากเข้าไปลองถามท่านดูก่อน ท่านพระอาจารย์มั่น ได้พูดตอบพระอุปัฏฐากว่า " เขาอยากได้ กะเฮ็ดให้เขาสั้นตั๊ว " ( หมายความว่า เขาต้องการก็ทำให้เขาได้จะเป็น อะไร ) เมื่อพระอุปัฏฐากเข้าใจแล้วจึงบอกให้โยมเอาแผ่นทองมาให้ท่าน รออยู่ประมาณสามวันพระอุปัฏฐาก ท่านก็นำหลอดยันต์นั้นมาให้โยมแล้วโยมผู้เฒ่าคนนั้นจึงนำมาให้คุณครูหนูไทยอีกทีหนึ่ง คุณครูหนูไทยเมื่อได้ ของดีแล้วก็มีความดีอกดีใจเป็นอันมาก ทะนุถนอมเก็บรักษาไว้ในที่มิดชิด และนำติดตัวไปในทุกสถานที่เลย ทีเดียว

    วันหนึ่งว่างจากการฝึกอบรมจึงเดินเที่ยวเล่นไปทางด้านหลังสนาม เผอิญเหลือบไปเห็นพวกเพื่อน สามสี่คนกำลังทำอะไรกันอยู่ข้างมุมสนาม คุณครูหนูไทยจึงเดินไปดูก็เห็นพวกเขากำลังทดลองจะยิง " เขี้ยวหมูตัน " ด้วยอาวุธปืนคาร์ไบน์ ( ชื่อเรียกในสมัยนั้น ) เมื่อเขาทดลองยิงแล้วปรากฎว่า " เขี้ยวหมูตัน " ที่ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์นั้น แตกกระจายไปคนละทิศละทาง เพื่อนคนที่เป็นเจ้าของเขี้ยวหมูตันหน้าถอดสี ไปหมด ส่วนเพื่อนคนที่เป็นคนยิงคงจะย่ามใจ หันหน้ามาถามคุณครูหนูไทยที่เดินเข้าไปสมทบทีหลังว่า " มีของดีอะไรมาลองบ้างเพื่อน " ด้วยความซื่อและความเป็นเพื่อน คุณครูหนูไทยจึงตอบเขาไปว่า " มีอยู่ " แค่นั้นแหละเพื่อนคนนั้นก็ก้าวเท้าเข้ามาเอามือล้วงปั๊บไปทีกระเป๋าเสื้อของคุณครูหนูไทยพร้อมกับพูดขึ้นว่า " ไหนเอาของดีมาลองดูหน่อยซิ " โดยคุณครูหนูไทยคิดไม่ถึงว่าเพื่อนจะกล้าทำได้เช่นนั้น แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว วัตถุสิ่งนั้นจึงติดมือเพื่อนคนนั้นไป คุณครูหนูไทยวอนขอเขาอย่างไร เขาก็ไม่ยอมคืนให้ท่าเดียว

    ในที่สุดเขาก็นำตะกรุดยันต์นั้นไปวางที่ระยะห่างประมาณสัก ๓ - ๔ วา แล้วเขาก็ถอยกลับมายกปืน ขึ้นเล็งไปที่ตะกรุดยันต์นั้น เพื่อนทุกคนที่อยู่ที่นั่นเงียบกริบ ต่างคนก็ต่างเอาใจไปจดจ่อที่จุดเดียวกัน สักครู่คนยิงจึงกดไกปืนเสียงดัง " แชะ แชะ " แต่ไม่ระเบิด ทั้งหมดที่อยู่ที่นั่นต่างตกตะลึง ครั้งที่สามเขา ลองหันปลายกระบอกปืนนั้นขึ้นบนฟ้าแล้วกดไกอีกครั้ง ปรากฎว่าเสียงปืนกระบอกนั้นดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว บริเวณ ส่วนคุณครูหนูไทยนึกขึ้นได้จึงใช้จังหวะนั้นกระโดดวิ่งเข้าไปหยิบตะกรุดยันต์นั้นอย่างรวดเร็ว แล้ว กำไว้ในมืออย่างหวงแหนที่สุด ถึงแม้พวกเพื่อน ๆ จะขอดูขอชม ก็ไม่อยากให้เขาดูเขาชม เดินบ่ายเบี่ยง ไปทางอื่น แต่พวกเพื่อนก็ขอดูขอชมจนได้ เสร็จแล้วทุกคนจึงพากันเลิกลา กลับไปที่พักของตนด้วยความ ฉงนสนเท่ห์และตื่นเต้นในอภินิหารตะกรุดยันต์ของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างมาก อันนี้คุณครูหนูไทยเล่าให้ ฟังอย่างนั้น

    ภายหลังต่อมาบางคนทราบข่าวจึงพากันไปขอจากท่านพระอาจารย์มั่นที่วัด ส่วนมากจะได้เป็น แผ่นผ้าลงอักขระคาถาด้วยยันต์ สำหรับตะกรุดแผ่นทองนั้นไม่ค่อยมี เพราะแผ่นทองสมัยนั้นหายากมาก ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์มั่นคงเห็นว่ามากไปจนเกินเลย จึงบอกให้เลิก ท่านบอกว่าสงครามเขาจะสงบแล้ว ไม่ต้องเอาก็ได้ พวกตะกรุดยันต์ ผ้ายันต์ เหล่านั้น นั่นมันเป็นของภายนอก สู้เอาคาถาบทนี้ไปบริกรรมแนบ กับใจไม่ได้ ให้บริกรรม ทุกเช้าค่ำจนขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัยอันตรายต่างๆ จะไม่มากล้ำกรายตัวเราได้เลย คาถาบทนั้นว่าดังนี้

    "นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา" ฯลฯ
    ( เป็นบทสวด ส่วนหนึ่งของบทสวด โมระปะริตตัง ( คาถายูงทอง ) )

    ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านหนองผือเลยไม่กล้าขอท่านอีก และเป็นความจริงตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูด ยังไม่ถึง ๗ วันก็ได้ทราบข่าวว่า เครื่องบินทหารอเมริกันบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นย่อยยับ จนในที่สุดประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม และสงครามในครั้งนั้นก็สงบจบสิ้นลง ดังที่พวกเราท่านทั้งหลายได้รู้จักกันแล้วในหน้าประวัติศาสตร์นั้นแล

    โมระปะริตตัง (คาถายูงทอง)

    อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
    หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
    ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
    ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
    เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
    เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
    นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
    นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
    อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
    อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
    หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
    ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
    ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
    เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
    เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
    นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
    นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
    อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ

    นะมัตถุ พุทธานัง : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
    นะมัตถุ โพธิยา : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่พระโพธิญาณ
    นะโม วิมุตตานัง : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย
    นะโม วิมุตติยา : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่วิมุตติธรรม

    ที่มาจาก
    http://www.luangpumun.org/watpab.html<!--detail--> <!-- [​IMG] -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...