ปฏิปทาการดำเนิน(จงกรม)ของหลวงปู่ขาวทั้งสมัยยังหนุ่มและชราภาพ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 21 พฤศจิกายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    ปฏิปทาการดำเนินของหลวงปู่ทั้งสมัยยังหนุ่มและชราภาพ

    [​IMG]

    หลวงปู่ขาวท่านมีนิสัยใจเด็ดเดี่ยว ความเพียรกล้าทั้งสามอิริยาบถ คือเดินจงกรมก็เก่ง เดินแต่ฉันเสร็จแล้วถึงเที่ยง เข้าพักร่างกายพอบรรเทาขันธ์ แล้วเข้านั่งสมาธิพอประมาณราว 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็เข้าสู่ทางจงกรม ทำความเพียร ละหรือถอดถอนกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เคยฝังจมอยู่ภายในใจสัตว์โลกไม่เคยบกบางเหมือนสิ่งอื่น ๆ กี่ชั่วโมงท่านไม่ค่อยกำหนด จนถึงเวลาปัดกวาดบริเวณที่อยู่ของพระองค์เดียว ที่ไม่ชอบกังวลกับสิ่งใดผู้ใด ท่านจึงออกมาปัดกวาด สรงน้ำ นั่งรำพึงไตร่ตรองอรรถธรรมในแง่ต่าง ๆ ตามอัธยาศัย หลังจากนั้นส่วนมากท่านมักเข้าทางจงกรมมากกว่าการเข้านั่งสมาธิภาวนา
    ท่านเดินจงกรมแต่ละครั้งราว 3-4-5 ชั่วโมง บางครั้งถึง 6 ชั่วโมง จึงจะเข้าที่พัก ซึ่งส่วนมากมักเป็นเพิงบ้าง เป็นปะรำเล็ก ๆ บ้างในหน้าแล้งฝนไม่ตก ถ้าหน้าฝนก็อยู่กุฎี ซึ่งเป็นกระต๊อบพอหมกตัวอยู่ได้ ไม่หรูหราน่าอยู่อะไรเลย ยังน่าสังเวชด้วยซ้ำ ในสายตาของผู้เคยอยู่ด้วยความปรนปรือหรูหรามาก่อน เริ่มไหว้พระสวดมนต์ ก่อนนั่งสมาธิภาวนา ท่านชอบสวดมนต์นานด้วย กว่าจะหยุดเวลาเป็นชั่วโมง ๆ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ ก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาต่อไปเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงกว่าจะพักผ่อนหลับนอน การเดินจงกรมของท่านก็นาน การนั่งภาวนาก็นานเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง การยืนก็นาน เมื่อถึงวาระที่ควรยืนรำพึงอรรถธรรมภายในใจด้วยปัญญา ท่านยืนได้เป็นชั่วโมง ๆ เช่นกัน จนกว่าจะหมดปัญหาจากข้อธรรมที่รำพึงไตร่ตรองนั้น ๆ ท่านจึงก้าวเดินจงกรมในท่าเดิมต่อไป การนั่งสมาธิภาวนา ท่านนั่งจนตลอดรุ่งได้ในบางคืน ท่านเคยนั่งตลอดรุ่งอยู่บ่อย ๆ สมัยยังหนุ่มอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับหนุ่มฟ้อดังพระเณรหนุ่มทั้งหลาย เพราะตอนท่านออกบวชอายุท่านก็ได้สามสิบกว่าปีแล้ว ท่านเป็นนักรบนักต่อสู้ในทางธรรมจริง ๆ
    ท่านเคยเทศน์ให้พระเณรฟังอย่างเด็ด ๆ ก็มีในบางโอกาสว่า
    ท่านทั้งหลายทราบไหมว่า สกุลของกิเลสที่ครองอำนาจบนหัวใจสัตว์โลกในไตรภพมานาน จนประมาณกาลเวลาของมันไม่ได้นั้น เป็นสกุลที่เหนียวหนับตับแข็งมาก มีกำลังมากฉลาดแหลมคมมากยิ่งกว่าน้ำซับน้ำซึมเป็นไหน ๆ กลมารยามาก ร้อยสันพันคม คว่ำกิน หงายกิน ปลิ้นปล้อนหลอกลวง สัตว์โลก ไม่อาจพรรณนาวิชาการและลวดลายของมันให้จบสิ้นลงได้ เนื่องจากมันมีมากยิ่งกว่าท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาครเป็นไหน ๆ ในสามแดนโลกธาตุนี้ อยู่ในข่ายแห่งวิชา และอำนาจของมันครอบงำทั้งสิ้น ไม่มีช่องว่างแม้เม็ดทรายหนึ่ง ที่วิชากลอุบายอันแยบคายของมันจะไม่เข้าไปเคลือบแฝงหรือซึมซาบอยู่ หากเป็นตุ่ม ก็เต็มตุ่มล้นตุ่ม เป็นยุ้งก็เต็มยุ้ง เป็นฉางก็เต็มฉาง เป็นบ้านก็เต็มบ้าน เป็นเมืองก็เต็มเมือง เป็นโลกก็เต็มโลก เป็นท้องฟ้ามหาสมุทร ก็เต็มท้องฟ้ามหาสมุทร เป็นโลกธาตุก็เต็มโลกธาตุ ไม่มีว่างเว้นจากมัน คือสกุลกิเลสที่ทรงพลังมหาศาลจะไม่ดักข่ายครอบไว้
    ทั้งสามโลกธาตุนี้คืออาณาจักรและขอบข่ายแห่งอำนาจของสกุลกิเลสทั้งมวล และแน่นหนามั่นคงมาก ยากที่สัตว์ทั้งหลายจะเล็ดลอด หรือทำลายออกมาได้ นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่ทราบวิชาร่ายมนต์กล่อมสัตว์โลกของมัน ก็ขอนิมนต์ทราบแต่ขณะนี้ จะได้มีสติตื่นตัวตื่นใจไม่นิ่งนอนดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้
    การพูดสกุลกิเลสให้ท่านทั้งหลายฟังนี้ ผมพูดออกมาจากความที่เคยเคียดแค้นต่อมันตามระยะเวลา และกำลังแห่งความเพียร ที่เคยต่อสู้ห้ำหั่นกับมัน ขั้นเริ่มแรกมีแต่แพ้มันอย่างหลดลุ่ย หมดทางต่อสู้เป็นพัก ๆ ฟิตใหม่สู้ใหม่ สู้ใหม่เป็นพัก ๆ และแพ้มันแบบล้มลุกคลุกคลานเป็นตอน ๆ พอโงหัวขึ้นได้บ้างก็สู้ใหม่ ๆ ด้วยใจของนักต่อสู้ โดยยึดเอาตาย กับชัยชนะมันเป็นเดิมพัน สู้ไม่ถอย นั่งอยู่ก็สู้ คือก็เพียร เดินอยู่ก็สู้ ยืนอยู่ก็เพียร นอนอยู่ถ้ายังไม่หลับก็สู้ ในท่าต่าง ๆ เป็นท่าต่อสู้ทั้งนั้น แม้จะแพ้แล้วแพ้เล่าก็ไม่ถอย เพราะยังไม่ถึงจุดที่ตั้งเอาไว้ดั้งเดิม คือตายและชนะอย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงเป็นจุดที่ยุติการต่อสู้ เมื่อสู้ไม่ถอย เพียรไม่ถอย กำลังและความคล่องตัวแห่งสติปัญญาก็ค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นมา ใจที่เคยคึกคะนอง เหมือนม้าตัวผาดโผน ก็ค่อยสงบลงได้
    ใจที่เคยเรียน เคยจำได้แต่ชื่อแต่นามว่า สมาธิ ๆ ความสงบมั่นคงก็ค่อยปรากฏเป็นสมาธิ ความสงบมั่นคงขึ้นมาในตัวเองให้ได้เห็นได้ชม จนประจักษ์กับตัวเองว่า อ้อ คำว่าสมาธิ ๆ ที่ท่านจารึกไว้ในตำรานั้น ความจริง ความมี ความเป็น ความปรากฏแห่งสมาธิแท้นั้น ปรากฏขึ้นที่ใจนี้เองหรือ เออ บัดนี้เราหายสงสัยเรื่องสมาธิในตำราแล้ว เพราะได้มาปรากฏองค์สมาธิอยู่กับใจของเราเอง เวลานี้ ใจสงบ ใจสว่าง โล่งภายในใจที่เคยอัดอั้นตีบตันและปิดทางตัวเองมานานแสนนาน เริ่มลืมตาอ้าปาก พูดจาปราศรัยกับเพื่อนฝูงได้ ด้วยความโล่งใจ แน่ใจ และมั่นใจต่อมรรคผลนิพพาน ว่าจะไม่ตายเสียก่อนจะได้ชม แม้เพียงขั้นสมาธิความสงบ ก็นับว่าพอกินพอใช้ ไม่ฝืดเคืองสำหรับฐานะเรา คนจนมาตลอดภพชาติต่าง
    ต้นทุนแห่งอัตสมบัติคือสายทางแห่งมรรคผลนิพพานที่เรามั่นใจว่าจะต้องถึงในวันเวลาข้างหน้า คือสมาธิสมบัติ ความสงบเย็นใจ เราได้เป็นต้นทุนประจักษ์แล้วเวลานี้ เรามีหวังในธรรมสมบัติขั้นสูงส่งขึ้นไปโดยลำดับด้วยความพากเพียรที่เป็นมาและเป็นอยู่ อิทธิบาทสี่นี้เริ่มปรากฏขึ้นมาบ้างแล้ว คือ ฉันทะ พอใจทั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา พอใจทั้งผลที่ปรากฏกับใจขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน ราวกับน้ำซับน้ำซึม จิตใจชุ่มเย็นโดยสม่ำเสมอในอิริยาบถต่าง ๆ วิริยะ เพียรไม่ถอย ทุกอิริยาบถเป็นไปด้วยความเพียร ปราบกิเลส ถอนกิเลสสกลมหิมา จิตตะ มีความฝักใฝ่ใคร่ต่อการบำรุงรักษาใจเพื่อธรรมรสอันโอชา พยายามระวังรักษาไม่ให้รสอันเป็นพิษภัยแทรกสิงใจ วิมังสา พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองมองหาเหตุหาผลที่มาเกี่ยวข้องกับใจด้วยความไม่ประมาท พยายามฝึกจิตที่เคยโง่เพราะความปิดบังของกิเลส ให้คลี่คลายขยายตัวขึ้น สัจธรรมคือความฉลาดของสติปัญญา ใจไม่อับเฉาเมาหัวเหมือนแต่ก่อน อิทธิบาททั้งสี่ นับวันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นตาม ๆ กัน ทั้งฉันทะ ทั้งวิริยะ ทั้งจิตตะ และวิมังสาธรรม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีกำลังกล้าพร้อมเผชิญหน้ากิเลส โดยไม่เลือกกาล สถานที่ และเหตุการณ์ใด มีจิตมุ่งมั่นจะหั่นแหลกกันโดยถ่ายเดียว
    เมื่อสมาธิปรากฏเป็นปากเป็นทางพอตั้งตัวได้แล้ว ก็เร่งทางปัญญาออกพิจารณาธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก ประสานกัน รวมลงในไตรลักษณ์คือ อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อิทธิบาททั้งสี่จึงเริ่มประสานงานกันอย่างสนิทติดพัน กลายเป็นอิทธิบาทอัตโนมัติไปตามสติปัญญาที่พาให้เป็นไป นับแต่บัดนั้นแล จะเรียกว่าเข้าสู่สงครามกับกิเลสชนิดต่าง ๆ แบบตลุมบอนก็ไม่ผิด เพราะความรู้สึกนึกคิดที่หนักไปในธรรมวิมุตติ นับวันเวลามีกำลังและสะกิดใจไม่หยุดหย่อน ในลักษณะสู้ไม่ถอย เอาให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียว แม้จะตายก็ขอให้ตายในสนามรบ คือตายในวงความเพียรท่าต่อสู้อย่างเดียวหากยังไม่ตายก็เอาให้กิเลสหมอบราบและตายเกลื่อนให้เห็นประจักษ์ใจทุกระยะแห่งการต่อสู้ด้วยสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมาวุธอันทันสมัย
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-hist-index-page.htm
     
  2. Mr.Kim

    Mr.Kim เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กันยายน 2007
    โพสต์:
    3,036
    ค่าพลัง:
    +7,028

    [​IMG][​IMG][​IMG][​IMG]



    ธมฺมกาโม ภวํ โหติ</SPAN>
    ผู้ฝักใฝ่ในธรรมเป็นผู้เจริญ
    ธมฺมเทสฺสิ ปราภโว

    ผู้ชังธรรม เป็นผู้เสื่อม
    นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ

    สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี.

    จงเตือนตน ของตน ให้พ้นผิด
    ตนเตือนจิต ตนได้ ใครจะเหมือน
    ตนเตือนตนไม่ได้ ใครจะเตือน
    อย่าลืมเลือน เตือนตน ให้พ้นภัย


    ...............................................................
    อนุโมทนา สาธุ ๆ ๆ
    (good)(good) (good) (good) (good) (good) (good)
     

แชร์หน้านี้

Loading...