เรื่องเด่น ปรมาจารย์เว่ยหล่าง พระอรหันต์ของจีนที่นิพพานมาเป็นพันๆปีแต่ร่างกายยังนั่งสมาธิเป็นหินอย่างสมบูรณ์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 27 กรกฎาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,618
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    เว่ยหล่าง-พลังจิต.jpg

    ...................



    ปรมาจารย์เว่ยหล่าง พระอรหันต์ของจีนที่นิพพานมาเป็นพันๆปีแต่ร่างกายยังนั่งสมาธิเป็นหินอย่างสมบูรณ์


    ประวัติของท่านเว่ยหล่าง
    ท่านเว่ยหล่าง พระสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ของพุทธศาสนานิกายเซน เดิมชื่อฮุ่ยเน่ง (Hui Neng) ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ สมัยยุคราชวงค์ถัง เดิมเป็นชาวเมืองน่ำเฮี้ยง แล้วต่อมาได้ไปอยู่ที่กวางตุ้ง บิดาได้ถึงแก่กรรมในขณะที่ท่านยังเล็กอยู่ และมารดาก็เลี้ยงท่านมาในสภาพที่ยากจนทนทุกข์ ทั้งสองคนได้ย้ายจากกวางตุ้งไปอยู่กวางเจา ต้องทำงานในเรือกสวนไร่นา ช่วงเวลาว่างก็จะตัดไม้ ผ่าฟืนและหาบไปขายในตลาด ท่านเว่ยหล่างอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่มีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณและมีความจำเป็นเลิศ
    ในหนังสือ "สูตรของเว่ยหล่าง" ที่แปลโดยท่านพุทธทาสภิกขุ มีข้อความที่ท่านเว่ยหล่างเล่าอัตชีวประวัติเอาไว้ว่า
    "บิดาของอาตมาเป็นชาวเมืองฟันยาง ถูกถอดจากตำแหน่งข้าราชการ ถูกเนรเทศไปอยู่อย่างราษฎรสามัญที่ซุนเจาในมณฑลกวางตุ้ง อาตมาโชคร้ายโดยที่บิดาไปถึงแก่กรรมเสียแต่ในขณะที่อาตมายังเล็กเหลือเกิน และละทิ้งมารดาไว้ในสภาพที่ยากจนทนทุกข์ เราสองคนจึงย้ายไปอยู่ทางกวางเจา และอยู่ที่นั่นด้วยความทุกข์ยากเรื่อยมา วันหนึ่ง อาตมากำลังนำฟืนไปขายที่ตลาดเพราะเจ้าจำนำคนหนึ่งเขาสั่งให้นำไปขายเขาถึงที่ร้าน ได้พบชายคนหนึ่งกำลังบริกรรมสูตรสูตรหนึ่งอยู่แถวหน้าร้านนั่นเอง พอได้ยินข้อความแห่งสูตรเท่านั้น ใจของอาตมาก็ลุกโพลงสว่างไสวในพุทธธรรม อาตมาจึงถามชื่อคัมภีร์ที่เขากำลังสวดอยู่ ก็ได้ความจากชายคนนั้นเองว่า สูตรนั้นชื่อ "วัชรสูตร" (วชฺรจฺเฉทิกสูตร หรือสูตรอันกล่าวด้วยเพชรสำหรับตัด) อาตมาจึงไล่เลียงต่อไปว่าเขามาจากไหน ทำไมจึงจำเพาะมาท่องบ่นแต่สูตรนี้ ชายคนนั้นตอบว่าเขามาจากวัดตุงซั่น ตำบลวองมุย เมืองคีเจา เจ้าอาวาสในขณะนี้มีนามว่า "หวางยั่น" (ฮ่งยิ้ม) เป็นพระสังฆปริณายก (แห่งนิกายเซน) องค์ที่ห้า..."
    เมื่อท่านเว่ยหล่างเกิดความลุกโพลงแห่งปัญญาขึ้น ได้ไต่ถามที่ไปกับอุบาสกผู้นั้น ทราบว่าเป็นสานุศิษย์ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๕ แห่งนิกายเซน และชายผู้นั้นยังมอบเงินอีก ๑๐ ตำลึง แก่ท่านเว่ยหล่างเพื่อนำไปให้มารดาไว้ใช้สอย และชายผู้นั้นยังได้แนะนำให้ท่านเว่ยหล่างเดินทางไปศึกษาที่วองมุยด้วย เมื่อได้จัดแจงให้มีคนช่วยดูแลมารดาเสร็จแล้ว ท่านเว่ยหล่างก็ออกเดินทางไปที่เมืองคีเจา ณ ตำบลวองมุย และได้เข้าไปนมัสการพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๕ พร้อมกับกราบเรียนท่านว่า
    "กระผมเป็นคนเมืองซุนเจา แห่งมณฑลกวางตุ้ง เดินทางมาแสนไกล เพื่อทำสักการะเคารพแด่คุณพ่อ และกระผมไม่ต้องการอะไร นอกจากธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวเท่านั้น"
    ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า "เป็นชาวเมืองกวางตุ้ง หรือเป็นคนป่าคนเยิง แล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะได้อย่างไรกัน"
    ท่านเว่ยหล่างกล่าวว่า "แม้จะมีคนชาวเหนือและคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือหรือทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธภาวะซึ่งมีอยู่ในคนนั้นๆ แตกต่างกันได้ไม่ คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากคุณพ่อก็แต่ในร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกันในส่วนธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของเราทั้งหลาย"

    -----------------
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 27 กรกฎาคม 2017
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,618
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    คอลัมน์รับอรุณ : ตามรอยท่านเว่ยหล่าง
    พระไพศาล วิสาโล
    ท่านเว่ยหล่างเป็นปรมาจารย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศจีน อีกทั้งยังได้รับการยกย่องอย่างมากในญี่ปุ่น เนื่องจากเซนที่สืบทอดมานานนับพันปีในประเทศนั้นไม่ว่าสายไหนก็ล้วนมีท่านเป็นต้นธาร เนื่องจากคำสอนของท่านมุ่งสู่การบรรลุธรรมแบบ “ฉับพลัน” ซึ่งมีลักษณะพิเศษเป็นแบบฉบับของท่านเอง

    ชีวประวัติของท่านน่าสนใจด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ท่านบรรลุธรรมทั้ง ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก อีกทั้งได้รับมอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ของนิกาย “ฉาน” ( หรือ “เซน”ในญี่ปุ่น) ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นฆราวาสและเป็นแค่คนงานในวัดเท่านั้น กว่าท่านจะได้อุปสมบทก็ผ่านไปอีกหลายปี หลังจากที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากฝ่ายตรงข้ามที่อิจฉาท่านเป็นเวลานาน

    ท่านเว่ยหล่างเกิดเมื่อพ.ศ.๑๑๘๑ สมัยราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในจีน ท่านมรณภาพเมื่อพ.ศ. ๑๒๕๖ แม้เวลาจะผ่านไปร่วม ๑,๓๐๐ ปี แต่เรื่องราวของท่านยังเป็นตำนานที่เล่าขานในหมู่ชาวพุทธจีนกระทั่งปัจจุบัน ใช่แต่เท่านั้นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับประวัติของท่านตั้งแต่กำเนิดจนมรณภาพ ก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้ สำหรับคนไทยแล้ว เรื่องแบบนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะอย่าว่าแต่บุคคลเมื่อพันปีที่แล้วเลย แค่บุคคลเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วอย่างหลวงพ่อโต พรหมรังสี บ้านที่ท่านเกิดอยู่ตรงไหน ก็ไม่มีใครรู้

    สถานที่ท่านเว่ยหล่างสมภพและมรณภาพนั้นอยู่ไม่ไกลจากกวางโจว อีกทั้งวัดที่ท่านอุปสมบทก็อยู่ในเมืองกวางโจว ดังนั้นหลังจากเสร็จงานสอนกรรมฐานที่เมืองโฝกัง มณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าพร้อมกับกัลยาณมิตรชาวไทยเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีอะไรดีกว่าการไปเยี่ยมเยือนสถานที่เหล่านั้น เป็นการตามรอยท่านและจาริกบุญกลาย ๆ โดยมีคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งมีความรู้รอบเกี่ยวกับปรมาจารย์ท่านนี้ เป็นมัคคุเทศก์

    ตอนที่คุณนริศแนะนำให้ไปเยือนหมู่บ้านที่ท่านเว่ยหล่างเกิดนั้น ในใจคิดว่าเป็นเมืองเล็ก ๆ แบบบ้านนอก แต่ที่ไหนได้ซินซิงเป็นเมืองใหญ่เอาการ (แม้กระนั้นมัคคุเทศก์ชาวจีนก็บอกว่านี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ประชากร “แค่” ๔ แสนคนเท่านั้น) จัดว่าเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองหยวินฝูในมณฑลกวางตุ้ง บ้านที่ท่านเกิดนั้นตอนนี้ไม่มีเค้าหลงเหลือแล้ว มีอาคารบ้านเรือนรายล้อมเพราะอยู่กลางเมือง แต่มีวิหารเล็ก ๆ ข้างหน้าเป็นรูปปั้นพระศรีอาริย์ยิ้มต้อนรับอาคันตุกะ ถัดจากนั้นจึงเป็นรูปปั้นของท่านเว่ยหล่างให้คนมาเคารพสักการะ

    ท่านเว่ยหล่างกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ เมื่อโตขึ้นท่านได้ย้ายบ้านไปอยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง ปัจจุบันมีวัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน ชื่อวัดหลงถัน ข้าง ๆ วัดมีซากอาคารที่บ่งบอกว่าเป็นบ้านของท่าน พร้อมทั้งระบุตำแหน่งที่ท่านตำข้าวด้วย บรรยากาศสงบร่มรื่นเพราะอยู่บนเขาแวดล้อมด้วยต้นไม้

    ท่านต้องทำงานเลี้ยงแม่ตั้งแต่เล็ก จึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ อาชีพหลักคือผ่าฟืนขาย วันหนึ่งขนฟืนไปส่งให้ลูกค้าที่ร้าน ขณะที่เดินออกมาได้ยินชายผู้หนึ่งกำลังสาธยายวัชรเฉทิกสูตร พอตั้งใจฟัง จิตของท่านก็สว่างโพลง ความสนใจในธรรมเกิดขึ้นแก่ท่านทันที ถามชายผู้นั้นว่าได้เรียนธรรมดังกล่าวจากไหน เมื่อได้รับคำตอบท่านก็ลาแม่ ไปยังวัดนั้นทันทีคือวัดตงซาน มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นวัดของท่านหงเหริ่น สังฆปริณายกองค์ที่ ๕

    ที่นั่นเองท่านต้องทำงานผ่าฟืนและสีข้าวนานหลายเดือน วันหนึ่งได้ฟังว่าศิษย์อาวุโสของวัดนี้แต่งโศลกว่า “กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงาใส จงหมั่นเช็ดหมั่นปัดอยู่เสมอ อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้” ท่านเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง จึงแต่งโศลกขึ้นอีกบทหนึ่ง แล้ววานคนช่วยเขียนให้ เป็นโศลกซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์เซน นั่นคือ “ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร” (สำนวนแปลพุทธทาสภิกขุ) ท่านหงเหริ่นเมื่อได้อ่านโศลกนี้ก็รู้ว่าผู้แต่งรู้ธรรมอย่างแจ่มแจ้ง กระจ่างชัดในอนัตตลักษณะ คือรู้ว่า แท้จริงแล้วไม่มี “ตัวกู ของกู” มีแต่ทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ จึงได้มอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ให้แก่ท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้บวช

    เราไม่มีโอกาสไปวัดตงซาน แต่ก็ได้ไปเยือนสถานที่ที่ท่านได้สดับธรรมด้วยความบังเอิญจนบรรลุธรรม ปัจจุบันมีการสร้างวัดจินไถเป็นอนุสรณ์ แต่ปรากฏว่าประตูปิดตาย ห้ามเข้า เนื่องจากโครงสร้างอาคารมีปัญหา อาจเกิดอันตรายได้ พวกเราได้แต่ถ่ายรูปข้างหน้าวัด

    อย่างไรก็ตามทั้งสามจุดนี้ในทัศนะของชาวพุทธจีนมีความสำคัญน้อยกว่าวัดที่ท่านมรณภาพ คือ วัดกั๋วเอิน ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือมากมาย แม้ถูกทำลายอย่างหนักในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ ๕๐ ปีก่อน วัดนี้สร้างโดยถังเกาจงฮ่องเต้ ท่านเว่ยหล่างมาพำนักที่นี่เมื่อชรามากแล้ว อยู่ได้เพียงหนึ่งปี ก็มรณภาพ ด้วยอายุ ๗๕ ปี

    วัดนี้มีญาติโยมชาวจีนมาทำบุญกันมิใช่น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ระหว่างที่เรากำลังชมวัด ก็มีอาม่าคนหนึ่งกวักมือเรียกให้พวกเราไปที่วิหารใหญ่ ไปถึงจึงรู้ว่ากำลังมีการสรงน้ำพระพุทธองค์เนื่องในวันวิสาขบูชา(ตามประเพณีจีน) ผู้คนล้นหลามจนยืนอออยู่นอกวิหาร แต่ทางวัดก็เอื้อเฟื้อให้พวกเราเข้าไปสรงน้ำพระพุทธองค์ได้อย่างสะดวก รวมทั้งได้พบปะท่านเจ้าอาวาสซึ่งอยู่บริเวณนั้นด้วย

    อย่างไรก็ตามวัดเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าวัดกวงเซี่ยวในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปสมบท ว่ากันว่าตอนที่ท่านมาถึงวัดนั้นใหม่ ๆ ได้ฟังการบรรยายธรรมของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงในหมู่ศิษย์ของท่านว่า ธงหรือลมกันแน่ที่ไหว เถียงกันไม่จบจนกลายเป็นสองฝักสองฝ่าย ท่านจึงพูดแทรกขึ้นมาว่า “ใจ(ของพวกท่าน)ไหวต่างหาก” อาจารย์ใหญ่ท่านนั้นได้ยินก็รู้ว่าท่านเว่ยหล่างซึ่งตอนนั้นอายุ ๓๘ แล้ว ไม่ใช่คนธรรมดา จึงได้จัดการบวชให้ท่านในเวลาต่อมา จุดเด่นของวัดนี้คือ ต้นโพธิ์ซึ่งสำคัญที่สุดในจีน เนื่องจากเชื่อกันว่าท่านปลงผมใต้ต้นนี้ ใกล้ ๆ กันเป็นเจดีย์ ๗ ชั้นซึ่งเชื่อว่าบรรจุเส้นผมที่ท่านปลงเอาไว้ เนื่องจากวัดนี้อยู่กลางเมืองกวางโจว จึงมีคนมาสักการะท่านเว่ยหล่างมากมาย ทั้งคนแก่และคนหนุ่มสาว

    อีกวัดที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับการตามรอยท่าน ก็คือ วัดหนานฮว๋า ซึ่งอยู่เมืองเสากวน ห่างจากกวางโจว ๓ ชั่วโมง ท่านได้แสดงธรรมที่วัดนี้อยู่นาน ชาวพุทธจีนในไทยคงคุ้นกับวัดนี้มากที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานร่างของท่านที่ไม่เน่าเปื่อย อยู่ในท่านั่งสมาธิ น่าแปลกที่ร่างนี้รอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมไปได้ ทุกวันนี้ถือเป็นสถานที่จาริกบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจีน วัดนี้มีเนื้อที่กว้างขวาง อยู่ติดภูเขา สงบร่มรื่น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของวัดจีนโบราณ

    เมืองเสากวนยังมีอีกวัดที่สำคัญ คือวัดต้าเจี้ยน ท่านผู้รู้ได้ประมาณว่า เนื้อหาร้อยละ ๖๓ ใน “สูตรของเว่ยหล่าง”นั้นมาจากการเทศนาของท่านที่วัดนี้ ส่วนร้อยละ ๒๗ เป็นงานบรรยายที่วัดหนานฮว๋า ที่เหลือท่านแสดงที่วัดกั๋วเอิน

    อันที่จริงชีวิตและคำสอนของท่านเว่ยหล่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือว่า “มุมมอง”หนึ่งเท่านั้น ในวงวิชาการมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับประวัติของท่าน แม้กระทั่งคำสอนของท่านอันลือชื่อของท่านคือ “สูตรของเว่ยหล่าง” ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าใครเป็นคนเขียน เป็นคำสอนของท่านเว่ยหล่างจริงหรือไม่ และ “ของจริง”นั้นเป็นอย่างไร เพราะคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ซึ่งค้นพบเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว มีหลายตอนที่แตกต่างจากฉบับที่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะโศลกอันโด่งดังของท่านเว่ยหล่าง ในฉบับที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มีถึง ๒โศลก และมีเนื้อความแตกต่างกันในสาระสำคัญเลยทีเดียว ประเด็นเหล่านี้ยกให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะช่วยกันหาคำตอบ แต่สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความแตกต่างเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดสำหรับการฝึกฝนอบรมจิตตามแนวทางของท่าน(หรือตามคำสอนที่ปรากฏในหนังสือ)

    รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org
    ขอบพระคุณที่มา :- http://www.visalo.org/article/sarakadee255706.htm
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,618
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    พุทธศาสนาฝ่ายเซ็น



    ชื่อศาสนา

    พุทธศาสนาฝ่ายเซ็น ((Zen Buddhism)

    เซ็น (Zen) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นซึ่งมาจากภาษาจีนว่า ฌาน (Ch'an) หรือการทำสมาธิ อันตรงกับคำภาษาสันสกฤตว่า ธฺยาน (Dhyana) แปลว่าเพ่ง เพื่อให้จิตเข้าถึงตัวธรรมชาติตามธรรมชาติเดิมของจิต



    สัญลักษณ์ศาสนา

    วงกลมลายเส้นพู่กันจีน เป็นสัญลักษณ์ของความว่าง


    zen1.jpg

    ประเภทของศาสนา

    อเทวนิยม (Atheism) ไม่มีการนับถือพระเจ้าไม่สอนให้เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก



    ผู้ให้กำเนิดนิกาย

    พระโพธิธรรม

    กำเนิดศาสนา

    ประมาณ ค.ศ. 520

    สถานที่กำเนิดศาสนา

    ประเทศจีน

    การกำเนิดศาสนา

    เมื่อพระโพธิธรรมเดินทางมาถึงตอนใต้ของจีน



    จำนวนผู้นับถือศาสนา

    ประมาณ 394,000,000 คน (ปี ค.ศ.2005)



    ประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนฝ่ายเซ็น

    จีน ญี่ปุ่น เวียตนาม เกาหลีและประเทศอื่นๆที่มีชาวจีน ญี่ปุ่น เวียตนามและเกาหลีพำนักอยู่

    ประวัติผู้ให้กำเนิดนิกาย

    พระโพธิธรรมเป็นสังฆราชแห่งนักบวชเซ็น ท่านเกิดประมาณปีพุทธศักราช 440 ในเมืองกันจิ (Kanchi ) อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปัลลวะ ( Pallava ) ทางอินเดียตอนใต้ ท่านนับถือศาสนาพราหมณ์โดยกำเนิด และเป็นพระราชบุตรองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิงหวรมัน(Simhavarman) ต่อมาท่านได้หันมานับถือพุทธศาสนา และได้รับการสอนธรรมะจากท่านปรัชญาตาระ (Prajnatara ) และท่านปรัชญาตาระนี้เองที่แนะนำพระโพธิธรรมให้เดินทางไปประเทศจีน ท่านมาถึงจีนภาคใต้ ประมาณ พ.ศ. 520 และได้แสดงธรรมตามคำนิมนต์ของพระจักรพรรดิหวู (Wu) แห่งราชวงศ์เหลียง ในการพบปะกันครั้งนี้ พระจักรพรรดิได้ตรัสถามถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทานในพุทธศาสนาพระโพธิธรรมได้ตอบตามหลักคำสอนว่าด้วยความว่าง ประมาณ พ.ศ. 496 มีการสร้างวัดเส้าหลินขึ้นติดกับภูเขา ซ่ง (Sung) ที่จังหวัด โหหนาน (Honan)

    ที่ยอดเขาเฉาฉือ (Shaoshih) ด้านตะวันตกของภูเขาซ่ง ( Shung) ใกล้วัดเส้าหลิน พระโพธิธรรมได้นั่งบำเพ็ญกรรมฐานถึง 9 ปี

    แม้ว่าพุทธศาสนิกในประเทศจีนจะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว แต่พระโพธิธรรมก็มีสานุศิษย์เพียงไม่กี่คน ในหนังสือ “การถ่ายทอดประทีปธรรม” ของท่านเต้าหยวน ระบุว่าไม่นานหลังจากท่านได้มอบตำแหน่งสังฆปรินายกแก่ทายาทของท่านคือฮุ้ยค้อ พระโพธิธรรมก็มรณภาพ ในปี พ.ศ. 528

    เหตุที่พระโพธิธรรมมีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดาพระที่สอนธรรมะในประเทศจีน เป็นพราะ ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำเซ็นมาสู่ประเทศจีน คำสอนเรื่องเซ็นของพระโพธิธรรมต่างจากผู้อื่น ท่านเน้นความเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์และคัมภีร์ต่างๆ

    สาวกสำคัญ

    ท่านฮุ่ยเล้งหรือเวยหล่าง ในยุค ราชวงศ์ถัง เป็นปรมาจารย์องค์ที่ 6 มีชื่อเสียงด้วยโศลกของท่านที่เขียนตอบโศลกของเพื่อนศิษย์อาวุโสที่เขียนไว้ว่า

    "กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงา

    จงหมั่นเช็ดถูมันทุกๆเวลา อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้"

    ท่านเวยหล่างได้เขียนต่อไว้ว่า

    "ต้นโพธิ์นี้เดิมมิใช่ต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงาอันใสบริสุทธิ์ด้วย

    แต่เดิมไม่มีอะไรสักอย่าง แล้วฝุ่นละอองจะจับที่ตรงไหน"

    คำสอน

    พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นกำเนิดจากคำสอนของพุทธศาสนาของอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีน หลักสำคัญของพุทธศาสนาคือการไม่มีตัวตนและวิธีมองโลกแบบไม่แบ่งแยกไม่ประเมินค่า ปรัชญาเต๋าก็มองโลกแบบไม่แบ่งแยกเช่นกัน ทั้งยังเน้นญาณปัญญามากกว่าความรู้เชิงเหตุผล เพราะความรู้เชิงเหตุผลมีข้อจำกัดและเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ปรัชญาเต๋าเน้นความรักธรรมชาติและการปล่อยให้วิถีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ เซ็นรับมรดกทางปัญญาข้างต้นมาผสมผสานกัน เกิดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการอยู่กับปัจจุบันและชีวิตในโลกนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดเกลาจิตใจให้บรรลุพุทธภาวะ

    พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคน เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสัตว์ สิ่งที่บดบังพุทธภาวะ คือ ความคิดปรุงแต่งซึ่งก่อให้เกิดตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น หมกมุ่นอยู่ในความคิดที่ก่อให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ฝ่าย เช่น ดี-ฃั่ว ถูก-ผิด เมื่อเราขจัดความคิดปรุงแต่งออกไป ก็จะไม่มีตัวตนและความยึดติดทั้งหลาย มองเห็นเอกภาพของสรรพสิ่ง

    ในฐานะที่เซ็นเป็นสาขาหนึ่งของพุทธศาสนา จึงยึดถือแนวคำสอนหลักเหมือนกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะหลักอริยสัจ 4 และ อริยมรรคมีองค์ 8 เซ็นถือว่าสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ธรรมะคือธรรมชาติ และธรรมชาติคือตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง

    เซ็นไม่ให้ความสำคัญแก่ตรรกะหรือเหตุผล แต่เน้นประสบการณ์ตรง คือเข้าถึงโดยไม่ผ่านสื่อกลางใดๆ เซ็นไม่มีการแย้งกันในเรื่องถูกหรือผิด ความสมบูรณ์หรือความไม่สมบูรณ์ ความมีหรือไม่มี เพราะถือเป็นการเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น ขณะเดียวกัน เซ็นก็เป็นนิกายวิปัสสนาโดยเฉพาะ คือไม่เน้นหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ แต่มุ่งที่จะขัดเกลาจิตใจ

    เซ็นอาจนิยามได้ด้วยโศลกอันมีชื่อเสียงที่มีเนื้อความว่า

    "การถ่ายทอดพิเศษนอกคัมภีร์

    ไม่อาศัยถ้อยคำหรือตัวอักษร

    ชี้ตรงไปยังจิตมนุษย์

    เพ่งมองให้ถึงธรรมชาติของตนเองและบรรลุพุทธภาวะ"

    บรรทัดแรกของโศลก หมายถึง การถ่ายทอดธรรมจากใจสู่ใจ ซึ่งเป็นการให้คุณค่าต่อศักยภาพในปัจเจกบุคคล หน้าที่ของผู้สอนคือ หาแนวทางที่เหมาะสมกับศิษย์ เพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้ที่สุด

    เซ็นยึดหลักแบบมหายาน คือถืออุดมคติ 3 ประการ ได้แก่

    1. หลักมหาปัญญา เน้นเรื่องสุญญตา หรือความว่าง ได้แก่การละความยึดถือ แม้กระทั่งพระนิพพาน

    2. หลักมหากรุณา ได้แก่การตั้งโพธิจิตเพื่อช่วยสัตว์ทั้งปวง

    3. หลักมหาอุปาย คือจะต้องแสวงหากุศโลบายในการช่วยเหลือปวงสัตว์

    พุทธภาวะ (Buddhahood) หรือความรู้แจ้งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น เอกจิต (One Mind) หรือจิตเดิมแท้ (Essence of Mind) เป็นภาวะที่ไม่อาจจะเอาชื่อหรือสัญลักษณ์ทางภาษาใด ๆ ไปนิยามได้ เพราะเป็นภาวะที่อยู่เกินเลยขอบเขตของภาษาและไม่ใช่สิ่งที่จะเอาการใช้เหตุผล (Reasoning) ไปทำความเข้าใจได้

    จุดหมายแห่งการดำเนินชีวิตแบบเซ็นคือ การบรรลุซาโตริ (Satori) หรือภาวะรู้แจ้ง ซึ่งเป็นภาวะที่บุคคลสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้วกลับเข้าสู่พุทธภาวะ การมีประสบการณ์ซาโตริจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราขจัดวิธีมองโลกแบบแบ่งแยกประเมินค่า เลิกแบ่งแยกสิ่งต่างๆออกจากกันและกัน เป็นเราเป็นเขา เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ เป็นดีเป็นชั่ว ตระหนักถึงความเป็นเอกภาพ ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งปวง ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติแต่ดั้งเดิมของจักรวาลนี้ ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดดำรงอยู่เป็นเอกเทศ สรรพสิ่งในจักรวาลมีความเป็นไปโดยพลวัต (dynamic) อย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อให้เกิดภาวะเอกภาพของสรรพสิ่ง

    การที่จะขจัดอวิชชาที่เป็นสาเหตุของวิธีมองโลกแบบแบ่งแยกประเมินค่า จะต้องมีจิตที่เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาก็จะเกิด มโนทัศน์เรื่องการเกิด-การตาย สวย-ขี้เหร่ ดี-ชั่ว หรือ เรา-เขาก็จะหมดไป เลิกยึดถือว่ามีตัวตนในสรรพสิ่ง แล้วเราจะพบว่าทุกอย่างล้วนไร้ตัวตนที่จะเปรียบเทียบ เกิดประจักษ์รู้แจ้งในพุทธภาวะ

    หลัก 5 ประการของเซ็น

    (1) ความจริงสูงสุดไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูด ดังคำที่ว่า "เซ็นคือ การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ" ซึ่งตรงกับความคิดหลักของปรัชญาเต๋าที่ว่า "เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง" และ "ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด"

    (2) การฝึกฝนในทางธรรมคือการขจัดความคิดปรุงแต่ง ความคิดเกี่ยวกับตัวตน การคิดแบบแบ่งแยก รวมถึงการท่องพระสูตร การประกอบพิธีต่างๆเกิดจากความคิดปรุงแต่ง เราพึงเฝ้าดูและหมั่นขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่งจึงจะเป็นการปฎิบัติธรรมที่แท้จริง

    (3) การทำงานในชีวิตประจำวันด้วยความมีสติเป็นการปฏิบัติธรรมวิธีหนึ่ง พุทธภาวะอาจพบได้ในทุกเวลาและทุกแห่ง และการรู้แจ้งในความหมายของเซ็น ก็มิได้หมายถึงการปลีกตัวจากภารกิจทางโลกไปออกบวช เซ็นคือประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติกิจประจำวันอย่างผู้ที่ตื่นอยู่ทุกขณะจิต

    (4) ผลบั้นปลายไม่มีอะไรใหม่ การรู้แจ้งในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตน ความรู้สึกถึงเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งทั้งมวลไม่ใช่สิ่งใหม่หรือพิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงการรู้แจ้งถึงสิ่งที่อยู่ในตัวเรามาตลอดเวลาเท่านั้น เมื่อขจัดตัวตนที่ปรุงแต่งออกไป เมื่อสิ้นอวิชชา มาสู่ภาวะของความตื่น พุทธภาวะจะปรากฎขึ้นเอง

    (5) คำสอนทั้งหลายไม่มีความสำคัญมากนัก คำพูด ความคิด คำสอน ลัทธิ ไม่มีความหมาย ตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งได้ สิ่งสำคัญที่สุดมีเพียง ประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น



    ระบบคุณธรรม

    ระบบคุณธรรมของเซ็นเหมือนกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือ เน้นความมีเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

    1. อย่าฆ่าสัตว์

    2. อย่าลักทรัพย์

    3. อย่าละเมิดบุตรภรรยาบุคคลอื่น

    4. อย่าพูดคำเท็จ

    5. อย่าดื่มน้ำเมา

    6. อย่ากล่าวคำผิดของบุคคลอื่น

    7. อย่าสรรเสริญตัวเอง

    8. อย่าเป็นคนอิจฉาริษยา

    9. อย่าเป็นคนอกตัญญู

    10. จงสรรเสริญพระไตรรัตน์

    บุคคลพึงถือว่า ชายทุกคนเป็นเสมือนหนึ่งบิดาของเขา สตรีทุกคนเป็นมารดาของเขา เพราะคนเหล่านี้ในอดีตเคยได้เป็นมารดาบิดาของตนมาแล้ว หากฆ่าคนเหล่านี้ ก็เท่ากับฆ่ามารดาบิดาของตนเอง

    สถานภาพของสตรี

    พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นเน้นความเท่าเทียมของความเป็นหญิงกับความเป็นชาย ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

    แนวคิดเรื่องความตาย

    พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นไม่พูดถึงเรื่องโลกหน้า เชื่อว่า คนเราควรจัดการกับชีวิตปัจจุบันให้ดีที่สุด ตั้งสติให้อยู่ในขณะจิตปัจจุบันเสมอ ความตายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต



    การปฏิบัติเซ็น

    วิธีการปฏิบัติเซ็น แบ่งได้เป็น 3 ประการคือ

    ซาเซ็น (Zazen)

    ซันเซ็น (Sanzen) หรือวิธีการแห่งโกอัน

    ม็อนโด (Mondo)

    1. ซาเซ็น หมายถึง การนั่งขัดสมาธิอย่างสงบและเพ่งสมาธิ

    ห้องปฏิบัติซาเซ็นต้องเงียบสงบ ก่อนปฏิบัติให้กินและดื่มเพียงพอประมาณ สวมเสื้อผ้าหลวมๆ นั่งบนหมอนในท่าสมาธิเพชรหรือสมาธิดอกบัว ท่าสมาธิเพชรให้วางมือบนขาซ้ายก่อน แล้ววางเท้าซ้ายบนขาขวา ท่าสมาธิดอกบัวให้วางเท้าซ้ายบนเท้าขวา วางมือขวาลงบนเท้าซ้าย แล้ววางฝ่ามือซ้ายที่หงายขึ้นบนฝ่ามือขวา โดยปลายนิ้วโป้งจรดกัน นั่งตัวตรง หูอยู่ในระดับเดียวกับไหล่ จมูกอยู่ตรงกับสะดือ ลิ้นแตะเพดานส่วนหน้าของปาก ฟันบนและฟันล่างจรดกัน ริมฝีปากบนสัมผัสริมฝีปากล่างควรเปิดตาอยู่ตลอดเวลา ทอดสายตาลงต่ำ หายใจเข้าออกลึก ๆ

    การปฏิบัติซาเซ็นเป็นการเพ่งความรู้สึกนึกคิดไว้กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จนกระทั่งจิตสงบนิ่งแน่วแน่ จิตที่สงบจะพร้อมกับการตระหนักรู้ในความเป็นจริงของสรรพสิ่งซึ่งไร้ภาวะแบ่งแยก สิ่งต่างๆที่เรารับรู้นั้นถูกบิดเบือนจากความเป็นจริง และตัวการที่บิดเบือนความจริงนั้นก็คือความคิดของเราเอง เมื่อปฏิบัติซาเซ็น เราปล่อยความคิดนั้นให้ผ่านไปอย่างเข้าใจ ไม่ใช่กำจัดสิ่งลวงตาทั้งหลายเหล่านั้น

    ทั้งนิกายโซโตและนิกายรินไซต่างให้ความสำคัญแก่ซาเซ็น แต่ต่างกันตรงที่ โซโตถือการปฏิบัติาซาเซ็นเป็นสำคัญที่สุด ส่วนรินไซถือว่าซาเซ็นเป็นทางเพื่อให้บรรลุถึงการแก้ปัญหาโกอัน ซาเซ็นจึงมีความสำคัญรองจากโกอัน

    2. ซันเซ็น หรือ วิธีการแห่งโกอัน

    โกอัน หมายถึง เอกสารข้อมูลที่รับรู้กันโดยทั่วไป (public document) ในปัจจุบัน ศัพท์นี้หมายถึงเรื่องราวของอาจารย์เซ็นในอดีต หรือบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ใช้เป็นเครื่องมือทำลายวิธีคิดทางตรรกะ เพื่อที่จะช่วยนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความจริงแห่งเซ็น

    โกอันเป็นปัญหาที่ยากจะหาคำตอบ และเป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะอยู่นอกขอบเขตการใช้เหตุผลและการไตร่ตรองตามกระบวนการทางปัญญา วิธีการแห่งโกอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนิกายรินไซ ผู้ปฏิบัติเข้าไปรับปัญหาโกอันจากอาจารย์มาขบคิด แต่ละคนจะพยายามคิดค้นหาคำตอบด้วยการใช้ระบบเหตุผลพิจารณาปัญหานั้นๆ แล้วอาจจะลงความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวไร้สาระ ต่อเมื่อผู้ขบคิดละทิ้งวิธีคิดทางตรรกะ คำตอบจึงจะปรากฏ

    การแก้ปริศนาธรรมโกอันมักใช้เวลานาน อาจารย์ผู้มีประสบการณ์จะรู้ว่าเมื่อใดที่ ศิษย์ของตนใกล้จะประสบสภาวะการรู้แจ้ง เมื่อนั้นอาจารย์จะช่วยศิษย์ให้ไปสู่การรู้แจ้งด้วยการกระทำที่ไม่คาดฝัน เช่น ฟาดด้วยไม้หรือร้องตะโกนออกมา

    ตัวอย่างของโกอันซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

    เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่หก (ท่านฮุยเหน็ง) ถูกถามโดยพระภิกษุเมียว (Myo) ว่าอะไรคือเซ็น ท่านย้อนถามว่า "อะไรคือใบหน้าดั้งเดิมของเธอก่อนที่เธอจะเกิดมา"

    ครั้งหนึ่ง ท่านฮะกูอิน (Hakuin) อาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่นบอกลูกศิษย์ผู้หนึ่งว่า “เธอคงเคยได้ยินเสียงตบมือของมือสองข้างมาแล้ว ลองแสดงเสียงตบมือของมือข้างเดียวให้ฉันฟังหน่อย”

    3. ม็อนโด คือการถามและการตอบอย่างอย่างทันทีทันใด โดยไม่ใช้ระบบความคิดหรือเหตุผลไตร่ตรองว่าเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่ อาจารย์จะเป็นผู้ตั้งคำถามและพิจารณาคำตอบที่ลูกศิษย์ตอบในขณะนั้น

    ตัวอย่างของวิธีการแบบม็อนโด

    ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเฮียะกุโจ (Hyakujo) กำลังเดินอยู่กับอาจารย์บาโซ (Baso) มีห่านฝูงหนึ่งบินผ่านมา

    "นั่นอะไร" อาจารย์บาโซถาม

    "ห่านป่า" ท่านเฮียะกุโจตอบทันที

    "พวกมันกำลังบินไปไหนกัน" อาจารย์บาโซถาม

    "พวกมันบินหนีไปแล้ว" ท่านเฮียะกุโจตอบ

    อาจารย์บาโซจึงบิดจมูกของท่านเฮียะกุโจอย่างแรง พร้อมกับกล่าวว่า "ช่างพูดออกมาได้ว่า พวกมันบินหนีไปกันแล้ว ทั้งๆที่ห่านพวกนั้นอยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรก" ท่านเฮียะกุโจเหงื่อไหลโทรมหลัง แล้วก็บรรลุซาโตริ

    วิธีการแบบม็อนโดนี้ช่วยขจัดวิธีการใช้เหตุผล เพราะเหตุผลไม่ได้บ่งถึงข้อเท็จจริงในขณะนั้นๆ จิตที่รับรู้โลกฉับพลัน ตรงไปตรงมา ไม่ผ่านม่านของการใช้เหตุผล ย่อมจะไม่ถูกอวิชชาเข้ามาครอบงำทำให้พุทธภาวะอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ปรากฏออกมาได้

    ซาโตริ (Satori)

    ซาโตริ (Satori) เป็นคำภาษาญี่ปุ่น แปลว่าการรู้อย่างแจ่มแจ้ง หมายถึงภาวะแห่งการสำนึกรู้ถึงพุทธจิต เป็นการสำนึกรู้ถึงจิตสำนึกที่บริสุทธิ์ มองเข้าไปสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง ต่างกับความรู้ความเข้าใจที่เกิดเพราะกระบวนการทางปัญญาหรือกระบวนการทางตรรกะ ซาโตริหมายถึงการพบโลกทัศน์ใหม่ที่ไม่สามารถจะรับรู้ได้ด้วยจิตใจที่ยังสับสนด้วยทวิทัศน์ (a dualistic mind) ซาโตริเป็นสิ่งที่คู่กับเซ็น เพราะชีวิตแบบเซ็นเริ่มต้นที่ซาโตริ ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่ได้บรรลุซาโตริ ก็ไม่สามารถจะไปสู่ความจริงแห่งเซ็นได้

    การเน้นซาโตริเช่นนี้ ทำให้เซ็นมีลักษณะที่ต่างจาก "ธฺยาน" จุดมุ่งหมายของธฺยาน คือ จิตที่สงบนิ่งอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งหรือที่เรียกว่า การอยู่ในฌาน ส่วนเซ็นเริ่มต้นโดยการมีซาโตริ คือ จิตใจที่เป็นอิสระจากกระบวนการทางตรรกะ เข้าสู่การสำนึกรู้ถึงความจริงใหม่ๆ ที่ไม่เคยประสบมาก่อน เป็นภาวะแห่งอิสรภาพทางจิตเมื่อถูกปลดปล่อยจากทฤษฎีและการใช้เหตุผลต่างๆ

    อย่างไรก็ดี การปฏิบัติเซ็นอย่างสมบูรณ์แบบ หมายถึงการใช้ชีวิตประจำวันตามธรรมชาติ ท่านโปเช็งนิยามคำว่าเซ็นว่า "เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน" ข้อนี้พูดง่ายแต่ทำยาก การกลับสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของเราใช้เวลาฝึกยาวนาน พระเซ็นผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งกล่าวว่า

    "ก่อนที่จะศึกษาเซ็น ภูเขาก็คือภูเขา และแม่น้ำก็คือแม่น้ำ ระหว่างที่ศึกษาเซ็น ภูเขาไม่ใช่ภูเขา และแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ แต่เมื่อได้รู้แจ้งแล้ว ภูเขาก็กลับเป็นภูเขา และแม่น้ำก็กลับเป็นแม่น้ำอย่างเดิม"

    จุดเน้นของเซ็นเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติและการปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามธรรมชาตินี้สะท้อนถึงแนวคิดของปรัชญาเต๋าอย่างชัดเจน



    คัมภีร์

    เซ็นไม่สนใจนามธรรม ไม่มีหลักปรัชญาใดเป็นพิเศษ เซ็นมุ่งเพียงอิสรภาพจากการยึดติดในความเชื่อและตำราทั้งหลาย แม้กระนั้น ก็มีพระสูตรสำคัญบางพระสูตรซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่ศาสนิกเซ็น ได้แก่

    1. ปรัชญาปารมิตาสูตร จัดเป็นพระสูตรดั้งเดิมที่สุด ว่าด้วยสุญญตา ปรัชญาปารมิตาสูตรนี้มีอยู่หลายคัมภีร์ด้วยกัน เช่น มหาปรัชญาปารมิตา อัษตสหัสริกปรัชญาปารมิตาหฤทยะ พระสูตรนี้ได้แปลออกเป็นภาคจีนประมาณพ.ศ.713 วัชรัจเฉทิกะเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดชาวจีนมากที่สุด

    วัชรัจเฉทิกะปรัชญาปารมิตาสูตร สอนว่า "ทุกอย่างเป็นเพียงมายา เป็นเพียงปรากฏการณ์ และเป็นเพียงผลิตผลของจิตของเราเองเท่านั้น"

    ส่วนในปรัชญาปารมิตาหฤทยะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สั้นที่สุด และเป็นหัวใจของพระสูตรชุดนี้กล่าวถึงเรื่องสุญญตาโดยละเอียด

    2 อวตังสกะสูตร

    ใจความสำคัญของพระสูตรนี้คือ " ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นหนึ่ง หนึ่งนั้นคือสัจธรรมสูงสุด พุทธะ จิต สรรพสัตว์ เป็นหนึ่ง"

    3. วิมลเกียรตินิทเทศสูตร

    พระสูตรนี้เซ็นนิยมที่สุด ความในพระสูตรนี้เล่าว่า

    ครั้งหนึ่ง วิมลเกียรติโพธิสัตว์ มิได้ไปร่วมประชุมเพราะอาพาธ พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายไปถามข่าวเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของวิมลเกียรติโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็อิดเอื้อนไม่อยากไป โดยอ้างเหตุว่า ตนเองไม่สมควรจะไปให้คำแนะนำแก่วิมลเกียรติโพธิสัตว์ ในที่สุดพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นผู้ไปและได้ถามถึงสุขภาพของวิมลเกียรติโพธิสัตว์ ท่านได้ตอบว่า "ความเจ็บไข้ของพระโพธิสัตว์เกิดจากมหากรุณา และความเจ็บไข้จะคงอยู่ตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังคงมีอวิชชา เมื่อใดความป่วยของสรรพสัตว์หมดสิ้นไปแล้ว เมื่อนั้นความป่วยไข้ของข้าพเจ้าจะหมดไปด้วย”

    จุดเด่นของวิมลเกียรตินิทเทศสูตรอยู่ที่ว่า ความเป็นพุทธ การจะเป็นพระโพธิสัตว์และดำรงชีวิตตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุ

    นิกาย

    1. โซโตเซ็น ผู้ก่อตั้ง คือ โดเก็น โซโตเซ็นเป็นนิกายเซ็นที่มีศาสนิกนับถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน ผลงานของท่านอาจารย์โดเก็นนอกจากงานเขียนต่างๆ ก็คือ การนั่งวิปัสสนาซาเซ็น

    2. รินไซเซ็น ผู้ก่อตั้ง คือ นักบวชจีนฝ่ายเซ็น ชื่อลินจิ (Linji) เซ็นฝ่ายรินไซเน้น โกอัน บทกวี (ไฮกุ) การจัดดอกไม้ (อิเกบานะ) การชงชา การคัดลายมือ การสนทนาโต้ตอบกับอาจารย์ และอื่นๆ



    พิธีกรรม

    การนั่งซาเซ็น

    การเดินวิปัสสนา

    พิธีชงน้ำชา

    พิธีชงน้ำชา หรือ ชาโนยุ (Chanoyu) เป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นอันหนึ่ง ซึ่งพัฒนามาจากพุทธศาสนาฝ่ายเซ็น หัวใจของพิธีชาโนยุอันได้แก่ ความงามอันเรียบง่าย ความกลมกลืนกับธรรมชาติ และการเคลื่อนไหวอย่างสำรวมแช่มช้อย มีสติกำกับทุกอิริยาบท ล้วนสะท้อนหลักปรัชญาของเซ็นที่มุ่งฝึกจิตให้สงบนิ่งและอยู่ในวิถีของธรรมชาติ

    นอกจากนี้ ชาโนยุยังเกี่ยวพันกับศิลปะของชาวญี่ปุ่นอย่างแนบแน่น เริ่มต้นด้วยการที่ผู้เข้าร่วมพิธีชื่นชมสวน ชื่นชมห้องที่ประกอบพิธี เครื่องใช้ในการชงน้ำชา เครื่องตกแต่งห้อง เช่น ภาพวาด หรือดอกไม้ในแจกัน


    ดาวน์โหลดเอกสาร

    จัดทำโดย อ. มธุรส ศรีนวรัตน์, B.A., M.A. (Innsbruck)
    ขอบพระคุณที่มา :- http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/zen00.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...