ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 มกราคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์
    พระญาณวิริยาจรรย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)
    เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
    ตอนที่ ๑
    [​IMG]

    การเขียนประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระของข้าพเจ้า โดยการได้ยินได้ฟังจากตัวของท่านเองและครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้า ตลอดถึงลูกศิษย์ของท่าน เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ท่านเป็นนักผจญภัย เพื่อต่อสู้กับกิเลสอย่างยอดเยี่ยม จึงเป็นประวัติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเองตั้งแต่เป็นสามเณร เพียงแต่ได้ยินอาจารย์ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง ก็รู้สึกเลื่อมใสจริง ๆ จนอยากจะพบท่านทีเดียว แต่ประวัติของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้น เข้าใจว่าตัวข้าพเจ้าเองไม่สามารถจะพรรณนาได้หมดแน่ เพราะเหลือวิสัยเนื่องจากมีอะไรหลายอย่างที่เป็นสิ่งลึกลับอยู่ แต่ว่าความจริงแล้วการแนะนำพร่ำสอนในธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ายอมรับอย่างไม่มีข้อแม้เลยว่า เป็นธรรมที่มีเหตุผลและเป็นผลที่ได้รับจริง ๆ จนข้าพเจ้าต้องอุทานมาคนเดียวขณะที่เพิ่งจะมาอยู่กับท่านว่า เรามาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ เพียงเดือนเดียว แจ่มแจ้งในธรรมดีกว่าอยู่กับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าถึง ๘ ปีแต่อะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องอุทานออกมาเช่นนี้นี่แหละที่จะเป็นต้นเหตุให้เขียนประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ต่อไป

    คำแรก ที่ข้าพเจ้าได้ฟังจากท่านอาจารย์มั่นฯ แม้ว่าวันแรกที่ข้าพเจ้าไปพบวันนั้นต้องเดินไปเป็นหนทางถึง ๒๐ กิโลเมตร พอสรงน้ำเสร็จเข้าไปกราบท่าน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร แสดงธรรมเลยทีเดียว ท่านแสดงว่า
    มัชฌิมา ทางกลาง หมายถึงอะไร หมายทางพอดี ของพอดีนั้นมีความสำคัญ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขาดความพอดี ใช้ไม่ได้ ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาดความพอดีก็เป็นบ้านไม่ได้ จีวร เสื้อผ้า ตัดยาวไป สั้นไปก็ใช้ไม่ได้ อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ ความเพียรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ มัชฌิมา ทางกลางคือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดี ให้พอดีนั่นเอง กามสุขลฺลิกานุโยค คือ การปฏิบัติตกไปในทางรัก อตฺตกิลมถานุโยค คือ ตกไปในทางชัง นี่คือการไม่พอดี ทำสมาธิหลงไปในความสุขก็ตกไปในทางรัก ทำสมาธิไม่ดีในบางคราว เศร้าใจ ตกไปในทางชัง การขจัดเสียซึ่งส่วนทั้งสองนั้น คือการเดินเข้าสู่อริยะมรรค.การถึงอริยมรรคนั่นคือการถึงต้นบัญญัติ การถึงต้นบัญญัติคือการถึง พุทธ

    ยาขนานนี้เองเป็นยาขนานแรกที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ส่งให้ข้าพเจ้าฉัน มันช่างเป็นขนานที่หนักเอาการ แต่เป็นธรรมที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด

    พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เป็นพระปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐาน ท่านได้แสดงความสามารถในด้านนี้อย่างสูงทุกประการ ตามความเป็นจริงก็ปรากฏอย่างมีศิษย์คนใดจะกล้าปฏิเสธ คุณธรรมต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นนั้น ฝังอยู่ในดวงจิตของผู้เป็นศิษย์อย่างไม่มีทางเลือนลาง เป็นความจริงเหลือเกินที่ว่า ท่านได้ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รับรองจากปัญญาชนทั้งหลาย ผลประโยชน์เกิดจากการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมปรากฏอยู่แก่ผู้ที่น้อมตัวเข้าเป็นศิษย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าบางคนอาจะไม่เคยเห็นหน้าท่าน เพียงแต่เป็นชั้นหลานเหลน หรือเพียงอ่านประวัติของท่านก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสอย่างซาบซึ้งตรึงใจแล้ว

    การอ่านประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ผู้อ่านควรจะได้ตระหนักถึงข้อปฏิบัติปฏิปทาอันจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่เดียว เพราะท่านได้ทำตัวของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ กับทั้งยังมีความเมตตาต่อนักบวชด้วยกันอย่างมากที่สุด มองเห็นการณ์ไกลได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าใคร่จะเขียนให้ใกล้ความจริงเป็นที่สุด ซึ่งแม้จะเป็นยาขมบ้าง เข้าใจว่าอาจจะแก้โรคให้แก่ท่านในภายหลัง เพราะยาขมใครก็ไม่อยากรับประทาน จะรับประทานก็ต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ยาขมก็ได้ช่วยชีวิตมนุษย์มาแล้วมากต่อมากมิใช่หรือ ๆ
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สถานเดิม
    ท่านเกิดในตระกูล แก่นแก้ว.บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อนางจันทร์ เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องอยู่ ๙ คน แต่ ๗ คนนั้นได้ถึงแก่กรรม คงเหลือ ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี ท่านมีร่างกายสง่าผ่าเผย หน้าตาคมสัน เป็นลักษณะน่าเคารพบูชา เป็นผู้รักการรักงาน เป็นที่ไว้วางใจได้ในการงานที่ได้รับ.มอบหมาย จึงเป็นที่รักแก่บิดามารดาอย่างยิ่ง ท่านได้ศึกษาวิชาหนังสือไทย-ไทยน้อย-ขอม จากสำนักอา ได้ศึกษารู้เร็ว จนอาออกปากชมว่าฉลาดมาก เมื่ออ่านหนังสือได้แล้ว ท่านก็ได้ค้นคว้าหนังสือประวัติศาสตร์และนวนิยายของภาคอีสาน (เขาเรียกกันว่าลำพื้นลำแผ่น) เมื่อผู้เขียนอยู่กับท่าน ๆ จะเล่าถึงนิยายเก่ามีอันเป็นคติมาก เช่น เสียวสวาทเป็นต้น

    เป็นธรรมดาอยู่เองของสังสารวัฏต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้มนุษย์เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การหมุนเวียนนี้แหละ สำหรับผู้ดีมีวาสนา ก็หากหาแต่ความดีเท่านั้นให้เป็นทุนในการท่องเที่ยว เมื่อพอแก่ความต้องการก็เท่ากับสะสมบุญมาก ซึ่งในมงคลคาถามีว่า “ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ผู้มีบุญทำไว้แล้วแต่ปางก่อน” บุญย่อมผูกนิสัยให้ดีและชอบการพ้นทุกข์เสมอไป ดังในปัจฉิมภาวิกชาติของพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย บารมีได้ส่งให้พระองค์ออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรม โดยเกิดขึ้นในพระหฤทัยของพระองค์เอง จนกระทำให้สำเร็จพระโพธิญาณในที่สุด แม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อบุญติดตามผูกอุปนิสัย ก็เป็นเหตุให้น้อมเข้ามาบรรพชาอุปสมบท ในขอบเขตของพระบรมศาสดา พ้นทุกข์ไป

    พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ก็เห็นจะเป็นเช่นกับพระสาวกเหล่านั้น จึงมีเหตุปัจจัยแนะนำจิตของท่าน ให้น้อมไปเพื่อบรรพชา ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาไปช่วยงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาไปช่วยเต็มความสามารถในการนั้น แม้ท่านลาสิกขาไปแล้ว ก็ลาแต่กายเท่านั้น ส่วนใจยังครองเพศบรรพชิต จึงทำให้ท่านระลึกอยู่ไม่วาย เป็นเพราะเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว ท่านจึงเบื่อฆราวาสวิสัย

    ครั้นเมื่ออายุ ๒๒ ปี จึงลาบิดามารดาอุปสมบท ท่านทั้ง ๒ ก็อนุญาต ท่านได้เข้าไปเล่าเรียนธรรมที่สำนักท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ วัดเลียบ อุบลราชธานี ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ที่วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูศรีทา ชยเสโน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ นามมคธที่อุปัชฌาย์ตั้งชื่อ ภูริทตฺโต

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเป็นผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบแต่จะพยายามหาทางก้าวหน้าเรื่อยไป แม้แต่ท่านบวชเข้ามาใหม่ ก็มิใช่เพื่อบวชแล้วก็ฉันและจำวัด ได้มาอยู่กับพระผู้ปฏิบัติก็อยากจะทำให้เห็นจริงเห็นจึงไปเสียเลย ความไม่ชอบอยู่นิ่งของท่านนี้เอง ทำให้ท่านต้องชักไซ้ไต่ถามหาความจริงเอากับท่านอาจารย์เสาร์อยู่ตลอดเวลา ท่านได้รบเร้าให้อาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น แต่อาจารย์ก็หมดความรู้จะสอนต่อไป

    ท่านอาจารย์เสาร์ท่านเอ็นดูศิษย์คนนี้ของท่านอย่างยิ่ง เรียกว่าศิษย์คนโปรดก็ว่าได้ ท่านจึงพาศิษย์ของท่านไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่า เขา ลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความสงบ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ จึงได้พาธุดงค์ข้ามไปฝั่งประเทศลาว จนถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อได้ยินได้ฟังว่าอาจารย์ไหนเก่งทางสอนกัมมัฏฐาน ก็จะได้แวะไปพักอยู่และขอเรียนกัมมัฏฐานด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่ท่านได้ปฏิบัติเรียนรู้มาแล้ว

    ที่สุดก็ย้อนลงมาที่เมืองท่าแขก อยู่ฝั่งซ้าย (เขตอินโดจีน) ซึ่งเป็นภูมิประเทศอันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพรมีหมู ช้าง เสือ หมี ผีร้ายนานาประการ ตลอดจนไข้มาเลเรียก็ชุกชุม แต่เป็นที่ประกอบไปด้วยความวิเวกวังเวงสงัดยิ่งนัก ซึ่งสมควรแก่ผู้แสวงหาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อาศัย จะได้ยังความไม่ประมาทให้เป็นไปในตน ปีนั้นท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านถ้ำ ท่านทั้ง ๓ ได้พักจำพรรษาอยู่ที่นั้น

    ในระหว่างพรรษานั้น ท่านอาจารย์เสาร์ และสามเณรได้จับไข้มาเลเรีย มีอาหารหนักบ้าง เป็นบ้าง ก็ไม่ถึงกับร้ายแรงจริง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

    วันหนึ่งมีคณะอุบาสกอุบาสิกาได้นำผ้ามาบังสุกุล ท่านอาจารย์เสาร์จะต้องการตัดจีวร เราก็ต้องจัดทำทุกอย่าง กว่าจะเย็บเสร็จเพราะต้องเย็บด้วยมือ ใช้เวลาถึง ๗ วันจึงเสร็จ พอยังไม่เสร็จดีเลย ไข้มันเกิดมาจับเอาเราเข้าให้แล้ว ทำให้เราต้องเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา นึกในใจว่า เณรก็ไข้ อาจารย์ก็ไข้ เราก็กลับจะมาไข้เสียอีก ถ้าต่างคนต่างหนักใครเล่าจะดูแลรักษากัน ถ้าเกิดล้มตายกันเข้า ใครจะเอาใครไปทิ้งไปเผากันเล่า เจ้ากรรมเอ๋ยอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ก็เจ็บป่วยไปตาม ๆ กัน ยิ่งกว่านั้นอาจารย์ของเรานั่นแหละจะร้อนใจมาก

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็เล่าต่อไปว่า

    เราได้คิดมานะขึ้นมาในใจว่า บัดนี้เราไม่มีทางเลือกทางอื่นแล้ว ที่จะมาระงับเวทนานี้ได้ เพราะยาจะฉันแก้ไข้ก็ไม่มีเลย มีแต่กำลังอานุภาพแห่งภาวนานี้เท่านั้น เพราะว่าเรามาอยู่สถานที่นี้ก็เพื่อจะอบรมตน ในทางเจริญกัมมัฏฐานภาวนา เราจะมาคิดแส่ส่ายไปทางอื่นหาควรไม่ เราต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งจึงจะถูก แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา ไม่ต้องท้อถอยอ่อนแอ จะต้องเป็นผู้กล้าหาญจึงจะจัดว่าเป็นนักพรตได้

    แล้วเราก็ตัดสินใจปฏิบัติบูชาพระพุทธศาสนาด้วยข้อปฏิบัตินั้น

    ท่านจึงกำหนดพุทโธเป็นบริกรรมต่อไป เพราะขณะนั้นท่านก็ยังไม่สันทัดในการเจริญกัมมัฏฐานเท่าไร ครั้นบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ขึ้นมาว่า

    กายนี้เป็นที่อาศัยของจิตและเป็นทางเดินของจิต เปรียบเสมือนแผ่นดิน ย่อมมีทางน้อยใหญ่เป็นที่สัญจรของหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า กายนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของจิต และเป็นที่เที่ยวไปมาของจิตฉันนั้น ถ้าจิตมามัวยึดถือกายนี้ว่าเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมได้รับความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจมีความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง และก็ฟังกันหลายองค์ ว่า

    เมื่อหมดหนทางเพราะไม่มีใครช่วยแล้ว เรานั่งสมาธิเข้าที่อยู่โดยการเสียสละ กำหนดจิตแล้วทำความสงบ ทำให้เป็นหนึ่งแน่วแน่ ไม่ให้ออกนอกเป็นอารมณ์ได้เลย เพราะขณะนั้นทุกข์เวทนากล้าจริง ๆ พอกำหนดความเป็นหนึ่งนิ่งจริง ๆ ครู่หนึ่งปรากฏว่า ศีรษะลั่นเปรี๊ยะปร๊ะไปหมด จนเหงื่อไหลออกมาเหมือนรดน้ำ เมื่อออกจากสมาธิปรากฏว่าไข้ได้หายไปราวกับปลิดทิ้ง นี่เป็นระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา เราได้พยาบาลอาจารย์ของเราได้เต็มที่

    การเดินทางในครั้งนี้นั้นได้เป็นเช่นนี้หลายหน บางครั้งมาเลเรียขึ้นสมองแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อลูกศิษย์อาจารย์ปรึกษากันเห็นว่าไม่มีผลในการเดินธุดงค์อันทุรกันดารเช่นนี้แล้ว ต่างก็ชวนกันกลับประเทศไทย.
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สถาปนาพระธาตุพนม
    ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าขณะที่ข้าพเจ้าทำหมากถวายท่านเวลากลางวันต่อไปอีกว่า

    พวกเราก็ต้องเดินทางหลังจากออกพรรษาแล้ว รอนแรมตามฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยลงมา ณ ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้นก็มีหมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ หลายก๊ก เช่น ภูไท ไทยดำ ลาวโซ่ง

    ท่านเล่าว่า

    ภูไทมีศรัทธาดีกว่าทุกก๊ก แต่ภูไทนี้การภาวนาจิตใจอ่อน รวมง่าย รักษาไม่ใคร่เป็น ส่วนลาวโซ่งนั้นไม่ใคร่เอาไหนเลย แต่ทุก ๆ ก๊กก็ทำบุญนับถือพุทธทั้งนั้น เขาให้พวกเราได้มีชีวิตอยู่ก็นับว่าดี แต่ขณะนี้ตัวของเราเองก็ยังมองไม่เห็นธรรมของจริง ยังหาที่พึ่งแก่ตนยังไม่ได้ จะไปสอนผู้อื่นก็เห็นจะทำให้ตัวของเราเนิ่นช้า จึงไม่แสดงธรรมอะไร นอกจากเดินทางไป พักไป บำเพ็ญสมณธรรมไป ตามแต่จะได้

    ครั้นแล้วท่านอาจารย์เสาร์ก็พาข้ามแม่น้ำโขงกลับประเทศไทย ที่ท่าข้ามตรงกับพระธาตุพนมพอดี

    ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่า

    ขณะนั้นพระธาตุพนมไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด ทั้ง ๓ ศิษย์อาจารย์ก็พากันพักอยู่ที่นั้น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทาง ผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓-๔ แสงนั้นก็จะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป

    ทั้ง ๓ องค์ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ จึงพูดว่า

    ที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสาริกธาตุอย่างแน่นอน

    ในตอนนี้ผู้เขียนกับพระอาจารย์มั่น ฯ ได้เดินธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดอ้อมแก้วมี ๒ องค์เท่านั้น และมีตาปะขาวตามมาด้วยหนึ่งคน ท่านจึงมีโอกาสเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้ข้าพเจ้าฟัง ซึ่งน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจำได้ว่าเป็นปีที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ คุณนายพวงจากจังหวัดอุบลราชธานี จะตีตั๋วให้ไปทางเครื่องบิน ท่านบอกว่า เราจะเดินเอาจึงได้พาผู้เขียนพร้อมด้วยตาปะขาวบ๊อง ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะเต็มเต็งเท่าไรนักไปด้วย เดินไปพักไป แนะนำธรรมะแก่ผู้เขียนไปพลาง จนไปถึงพระธาตุพนม เขตจังหวัดนครพนม แล้วท่านก็พาผู้เขียนพักอยู่ที่นี่และได้ฟังเรื่องราวของพระธาตุพนม ซึ่งจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไปข้างหน้า โดยจะเล่าถึงการสถาปนาพระธาตุพนม

    ดังนั้น ท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดรอบบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ถึง ๓ เดือนเศษๆ จึงค่อยสะอาด เป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้

    เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้น ผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกัมมัฏฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์จนได้ประสบผลตามสมควร การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าต่อไปว่า

    ก่อนท่านจะกลับประเทศไทย ท่านเป็นโรคริดสีดวงจมูกประจำตัวมานาน โรคนั้นมักจะกำเริบบ่อย ๆ จึงทำให้ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์อย่างมิได้ท้อถอยนั้น วันหนึ่งจิตของท่านได้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ ขณะที่จิตถอยออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ได้ปรากฏความรู้ที่น่าอัศจรรย์ขึ้นมาว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากได้กระทำกรรมไว้ และเมื่อได้พิจารณาตามรูปเรื่องจนเห็นสมจริงตามความรู้นั้นทุกประการแล้ว จิตก็รวมลงเป็นอัปปนาสมาธิอีก คราวนี้ปรากฏว่ามีอีกาตัวหนึ่งมาจับอยู่บนศีรษะ แล้วมันก็เอาจะงอยปากจิกกินจมูกของท่านจนหมดไป ตั้งแต่นั้นมา โรคริดสีดวงจมูกของท่านก็หายเป็นปกติ นี่เป็นการระงับความอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งที่สอง

    จากนั้นท่านทั้ง ๓ ก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้ ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานี.อันเป็นถิ่นเดิมของท่าน
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๕๙
    การแสวงหาธรรมะต่อไปในประเทศพม่า
    ความไม่หยุดยั้ง มุ่งหวังหาความจริงเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสโดยทุกทางของพระอาจารย์มั่น ฯ เป็นไปอย่างไม่คอยเวลา แม้จะต้องใช้เวลาปีแล้วปีเล่าในการมุมานะ แทบว่าจะหมดหนทางอยู่แล้วก็ตาม แท้จริงพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาก็ยังมิได้เสื่อมคลายไปไหนเลย.มีแต่การที่จะหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติให้ได้ผลเท่านั้น เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านต้องการแสวงหาความจริงที่ไม่มีความวิปริต ท่านเองปฏิบัติ พระอาจารย์พาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งแนะแนวทาง แต่ท่านก็ยังรู้สึกตัวเองว่า ยังไม่พบความจริง ยังไม่เป็นที่พอใจ

    ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งขณะนอนพักอยู่ที่บ้านนาสีนวน ตำบลหนองเหียน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในโอกาสที่ผู้เขียนกำลังถวายนวดเป็นประจำ คือในตอนเช้า หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็เริ่มนวดถวายไปจนถึง ๑๑.๐๐ น. ตอนกลางคืนหลังจากเดินจงกรมแล้ว ๒ ทุ่มเศษถวายนวดจนถึง ๕ ทุ่มหรือกว่านั้น โอกาสที่เล่าถึงการไปธุดงค์ที่ประเทศพม่าครั้งนี้ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษว่า เราอาจจะมีโอกาสไปสักครั้งบ้าง จึงทำให้ผู้เขียนพยายามจดจำการเล่าของท่าน ซึ่งท่านเองอาจจะรู้จักใจของผู้เขียนที่มีความสนใจและฝังใจ ท่านจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดถี่ถ้วนใช้เวลาหลายวัน และผู้เขียนเองก็พยายามซักถามท่านอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดรสชาติขึ้นมาก

    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ท่านก็ได้พบเพื่อนสหธัมมิกอีก ๑ องค์และมีชื่อมั่นเหมือนกับชื่อของท่าน แต่ปัจจุบันท่านองค์นั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม.อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ คือพระเทพมงคลปัญญาจารย์ ท่านอาจารย์มั่นฯ กับท่านเจ้าคุณ ฯ เทพมงคลปัญญาจารย์ได้ปรึกษาหารือกันว่า.เราจะต้องถวายชีวิตแต่พระพุทธศาสนา เดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก เมื่อตกลงสละชีวิตร่วมกันแล้ว ก็ออกเดินทางคือไปโดยไม่มีจุดหมาย ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นประเทศอะไร จะต้องมีหนังสือเดินทางข้ามแดนหรือไม่ก็ตาม เพราะถือเอาการอยู่ป่าเป็นสำคัญ เห็นที่ไหนเหมาะดีก็อยู่ทำความเพียรไป แต่พอจะเกิดความเคยชินก็เดินทางต่อไปอีก.

    เมื่อท่านทั้ง ๒ เดินทางข้ามภูเขาไป แต่ละลูก ๆ นั้น เห็นภูเขาที่สูงชันน่ากลัวทั้งสิ้น ขณะที่ไปก็พบแต่พวกชาวเขาพูดกันไม่รู้เรื่อง

    ท่านเล่าว่า ดีมากที่ไม่รู้ภาษากัน มีแต่เพียงว่าเขาให้อาหารแก่เราพอปะทังชีวิตก็พอแล้ว

    ในขณะที่ท่านทั้ง ๒ กำลังเดินทางข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก็ถึงเมืองทางเขตพม่า พวกชาวบ้านเป็นไทยใหญ่เป็นส่วนมาก พวกเขาพอรู้ภาษาไทยบ้างเล็กน้อย พวกชาวบ้านเห็นเข้าแล้วก็เกิดความเลื่อมใส นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ ท่านก็พักชั่วคราว ตามที่ท่านสังเกตดู พวกเขาเป็นคนที่มีศีลธรรมดี เวลาเขาขายของกันนั้น เจ้าของร้านบางทีก็ไม่อยู่เฝ้าหน้าร้าน เขาเขียนราคาติดสิ่งของไว้เสร็จ คนซื้อไม่เห็นเจ้าของร้านก็เอาเงินวางไว้ให้ แล้วหยิบเอาของนั้นไปตามราคา การลักการขโมยไม่มี ผู้คนมีรูปร่างหน้าตาสะอาด

    ท่านรำพึงว่า ธรรมะอะไรหนอ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีศีลธรรมอันดีงาม น่าแปลกใจจริง

    เพื่อการแสวงหาเฉพาะธรรมะเท่านั้น ท่านทั้ง ๒ จึงไม่พยายามที่จะสอนใครและหาความสนิทสนมกับใคร ๆ เพราะต้องการปฏิบัติมากกว่า อันแดนพม่ากับแดนไทยนี้ ท่านเล่าว่า มันกีดกันด้วยภูเขาลูกใหญ่จริงๆ.ไม่เหมือนทางภาคอีสานของไทย ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วภูเขาลูกเล็ก ๆ ทั้งนั้น

    เสือ-ช้าง งูจงอาง-หมี-วัวกระทิง ท่านอาจารย์ไม่พบบ้างหรือก็ผู้เขียนถาม

    ท่านตอบว่า

    ไม่ต้องพูดถึงหรอก ตลอดระยะทางก็มีแต่เฉพาะพวกมันทั้งนั้น ก็เข้าไปป่าทึบซึ่งเป็นเขตของมัน แม้แต่พวกเราจะจำวัดในป่ากัน ๒ องค์ ก็ไม่อยู่ใกล้กัน เสียงช้างและเสือน่ะหรือ อ๋อ ชินต่อพวกมันเสียแล้ว แม้แต่จะเดินสวนทางผ่านกันไปก็ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้

    การเดินทางของเราทั้ง ๒ คราวนี้ มิได้มีการสนทนาธรรมเท่าใด.เพราะต่างเอาความเพียรเป็นสำคัญ เมื่อจะพึงได้รับความสงบเย็นใจก็ถือว่าใช้ได้ บางครั้งเดินไปเหนื่อย หยุด หยุดทำไม ก็นั่งสมาธิ ถ้าไม่พบบ้านเรือนเลยก็ต้องอดอาหาร

    ก็เทวดาไม่ใส่บาตรหรือครับผู้เขียนย้อนถาม

    เทวดาก็คือคนใจบุญ เห็นมีแต่ต้นไม้จะมีเทวดาที่ไหนมาใส่บาตร

    เราทั้งสองอดอาหารโดยการเดินทาง บางครั้งนานถึง ๓ วันเพราะไม่มีบ้านคน.ดื่มเฉพาะน้ำ แต่ไม่ได้กระทบกระเทือนจิตใจของเราแต่อย่างใดเลย มันเป็นความพอใจ จึงไม่เห็นจะเป็นการหนักใจอะไร เข็มทิศก็ไม่มี

    การเดินทางมิหลงแย่หรือครับ ก็ผู้เขียนชักถาม

    เราก็ถามชาวบ้านเขาไปเรื่อย ๆ ไปถูกผิดบ้างตามเรื่อง ส่วนการผจญกับสัตว์ป่าน่ะหรือ ก็ไม่เห็นเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์อะไร วิริยังค์ (ชื่อผู้เขียน)

    นายพรานป่าพวกเขาไปตามป่าดงพงพี พบงูฆ่างู พบเสือฆ่าเสือ พบช้างฆ่าช้าง นอนกลางดงกลางป่าไม่เห็นเขาจะกลัวอะไร พวกพรานทั้งหลายซึ่งเป็นนักล่าสัตว์ เขาผจญกับพวกสัตว์ร้ายมากกว่าเรา เราไม่จำเป็นจะต้องถือว่าการผจญกับพวกสัตว์ร้ายเป็นเรื่องสำคัญ เราถือว่าการปฏิบัติที่เรากำลังจะต่อสู้กับกิเลสภายในนี้แหละสำคัญกว่า

    การเดินทางอย่างทุรกันดารและยาวไกลคราวนี้ ก็ทำให้เกิดผลทางใจแก่เราไม่น้อยเลย เป็นเหตุให้เกิดความกล้าหาญในทางใจขึ้นอีกมาก

    ท่านก็พยายามหาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานหลายต่อหลายท่าน ตามทางที่ไปจนถึงพระธาตุชเวดากอง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดถึง ๘ เดือน แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ และก็ไม่ผิดอะไรกับที่ไปประเทศลาว จึงทำให้ท่านคิดจะกลับประเทศไทยต่อไปอีก

    ตามข่าวเล่าลือว่าอาจารย์ที่ประเทศพม่านี้เก่งในทางการสอนและปฏิบัติกัมมัฏฐานมาก ท่านได้เสาะแสวงหา ตั้งปัญหาถามทุกอย่าง คำตอบยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเหมือนกับที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ มิได้ยิ่งขึ้นไป แม้เราจะถามให้สูงขึ้นซึ่งอรรถปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจ แต่เราก็ไม่มีปัญญา เรามีความรู้เท่าไร ก็ถามเขาเท่านั้น มิใช่ถามเพื่อการลองภูมิ เหมือนกับคนทั้งหลายที่อวดดี ถามเพื่อจะแก้ตัวเอง เมื่อไม่มีความรู้ที่จะถาม ถามก็แต่ที่เรามีอยู่มันก็จนใจ และก็ไม่เห็นค่า มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป ถ้าหากว่าเราจะพึงได้รับความรู้ก้าวหน้าต่อไปอีก เราก็เห็นจะไม่ห่วงอะไรข้างหลังเลย เพราะไม่เห็นมีอะไรจะให้ห่วง

    ดังนั้นเราทั้งสองจึงตัดสินใจกลับ ปีนี้กลับโดยการเดินไม่ทันเสียแล้ว จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่บนเขาแห่งหนึ่งในเขตเมืองมะละแหม่ง เป็นเพียงสำนักสงฆ์มีพระอยู่องค์เดียว เมื่ออาศัยอยู่ที่นั้น มีกุฏิที่กำบังแดดฝนถูกต้องตามพระวินัยนิยม ก็เร่งความเพียรไปตามที่พอจะทำได้

    นับเป็นการเดินทางผจญภัยและหยุดจำพรรษาพักผ่อน ทั้งสองก็ปรึกษากันว่าออกพรรษาแล้วจะเข้าไปประเทศไทยที่ไหนดี. แต่ท่านมั่นบอกว่าพอแล้ว ผมจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ส่วนพระอาจารย์มั่นฯ เห็นว่า การปล่อยให้ท่านมั่นกลับเข้ากรุงเทพฯ องค์เดียวคงไม่ดีแน่ ท่านจึงได้ไปส่งและพักแรมอยู่ที่วัดสระประทุม ฯ ด้วยกัน ครั้งนั้นพอดีมีคนเยอรมัน ๒ คน มีศรัทธาเลื่อมใสท่านมั่น ช่วยสร้างกุฏิถวาย และรู้จักคุ้นเคยกับพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งท่านเล่าว่าชาวเยอรมันที่มีนิสัยดี รู้จักบุญบาป มาทำบุญในประเทศไทย เท่ากับเป็นเทวดาตั้งแต่ยังไม่ตายทีเดียว

    อ้าวก็ฝรั่งชาติอื่นเล่าครับผู้เขียนย้อนถาม

    ก็เรายังไม่เคยเห็นเขาทำบุญเลย เราก็เลยไม่ต้องพูดถึงเขา

    หลังจากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็มุ่งธุดงค์องค์เดียว.คราวนี้ไม่มีใครเป็นเพื่อน แล้วตรงไปยังจังหวัดเลย เพราะจังหวัดเลยมีภูมิลำเนาเป็นป่าใหญ่ มีภูเขาและถ้ำใหญ่ มาก ตามปรกติถ้ำใหญ่ ๆ ท่านไม่ค่อยจะชอบ ท่านชอบถ้ำเล็ก ๆ มีภูเขาไม่ใคร่สูงนัก พอขึ้นลงได้สบาย จึงจะอยู่นาน ท่านจึงค้นพบถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

    ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ ต้องนับว่าเป็นสถานที่สัปปายะแก่ผู้บำเพ็ญความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะที่เขียนนี้พระอาจารย์หลุยซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งได้อาศัยอยู่และกำลังพัฒนาให้เป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

    ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เล่าว่า ในครั้งแรกของการมาที่ถ้ำนี้หลังจากกรากกรำมาจากประเทศพม่าแล้ว ก็รู้สึกว่าได้รับความสงบมากพอสมควร การอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแต่องค์เดียว จึงเป็นการทำความเพียรที่ได้ผลมาก แต่ก็ยังไม่ได้ปัญญา หรือเป็นที่แน่ใจอย่างไรเลย เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเป็นผู้ที่รักความจริง สิ่งปลอมแปลงหรือสิ่งหลอกลวงท่านไม่ชอบ ขณะที่ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่า ได้ปรารภถึงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งนั้นว่า การเชื่อมงคลตื่นข่าวนี้ไม่ดีเลย ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ทำว่าตนไปอยู่ถ้ำอยู่เขาหวังเพื่อให้ดังแล้วมีคนไปหามาก นั่นคือพาให้เขาหลง

    ขณะที่ท่านเล่านั้นมีพระอาจารย์รูปหนึ่งอยู่ที่ภูค้อ มีคนไปหามาก ท่านไม่ฉันข้าวอยู่แต่ในถ้ำ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ พูดกับผู้เขียนว่า.พวกเธออย่าทำอย่างนั้น อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาให้คนแห่กันไปหามันบ่แม่นหมายความว่ามันไม่ถูก ท่านบอกนักบวชที่อยู่ถ้ำอยู่เขาเพียงต้องการวิเวก จะไปเที่ยวป่าวประกาศไปหาพระในถ้ำให้เอิกเกริกนั้นผิดวิสัย

    อย่าว่าแต่ใครเลย แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าผู้เขียนเองก็ถูกท่านดุเอา ตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ อยู่วัดบ้านหนองผือ ท่านเคยพูดว่า

    กงมา เธอไปอยู่ในถ้ำ และเที่ยวทำโน่นทำนี่ เขาเล่าลือ มันบ่แม่นหนา ให้อยู่อย่างสงบจริง ๆ จึงจะถูก

    ซึ่งผู้เขียนได้ยินมากับหูอย่างนี้

    แม้ท่านจะมาอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้นาน แต่ท่านก็พยายามหลบหลีกผู้คนที่จะมาเห็นตัวท่านว่าวิเศษ ดูเอาเถิดแม้แต่กลดของท่าน ท่านเล่าว่า

    เรายังต้องเอาร่มจีนกางแล้วเอาผ้ามุ้งมาย้อมกลัก ทำอย่างนี้ต้องการจะไม่ให้เขามาหาของขลัง เพราะเขาจะได้เข้าใจว่า เราไม่ใช่พระธุดงค์

    ท่านพระอาจารย์มั่น ๆ พยายามหลบหลีกการมีชื่อเสียงและชุมนุมชนวุ่นวาย ซึ่งตรงกันข้ามกับพระที่อยู่ถ้ำป่าเขา เพื่อต้องการหาชื่อเสียงให้วุ่นวายไป เพราะพระภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นธรรมะป่าอะไร ๆ ทำนองนั้น ต้องการอยากจะหาชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นฯ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านรักความสงบโดยไม่เห็นแก่หน้าใครเลย ใครจะมารบกวนความสงบของท่านไม่ได้

    ดูแต่วันหนึ่งท่านอยู่บ้านนามน เวลาเย็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ มีคุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีจากจังหวัดสกลนคร จะเข้าไปถวายสิ่งของและนมัสการ เดินเข้าไป ๓-๔ คน เวลานั้น ท่านยังต้องไล่ตะคอกให้ออกจากวัดไปโดยเร็ว เพราะเวลานี้ต้องการความสงบ อย่ามายุ่ง จนคุณโยมต้องวิ่งหนีกลับกันจ้าละหวั่น ซึ่งผู้เขียนก็ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง

    นี่แหละจึงเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ มิได้ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต้องการอามิสอันจะนำมาซึ่งการทำลายความสงบอันเป็นยอดปรารถนา

    คุณโยมที่อ้างถึงนี้เป็นโยมที่เคยอุปัฏฐากมาตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น แทนที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะเอาอกเอาใจ แต่ท่านต้องขับไล่ไสส่งไปเพราะมาก่อกวนความสงบ

    ต่อมาภายหลังคุณโยมนุ่มก็ได้เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงได้มานมัสการในเวลาอันสมควร

    ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ท่านบอกว่า ยังไม่สามารถจะแก้ความสงสัยของการปฏิบัติได้ แม้ว่าจะคิดการดำเนินการปฏิบัติอย่างทุรกันดารแสนที่จะตรากตรำแล้ว สงบก็ถึงที่สุดแล้ว วิเวกก็ถึงที่สุดแล้ว นั่งสมาธิก็ถึงที่สุดแล้ว เขาป่าก็ถึงที่สุดแล้ว เขาถ้ำไหนที่ใดก็ถึงที่สุดแล้ว ในที่สุดท่านก็เดินทางกลับมายังวัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีอีก เพื่อมาพบกับท่านอาจารย์เสาร์ จากนั้นเมื่อท่านพักอยู่ที่วัดเลียบ ท่านก็พยายามทำความเพียรอย่างเต็มกำลัง เพราะวัดเลียบในสมัยนั้นสงบสงัด ไม่พลุกพล่านเหมือนในปัจจุบันนี้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สุบินนิมิตเกิดขึ้น
    เหมือนกับธรรมะบันดาล โดยความที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ประโยคพยายามอย่างจรดเหนือจรดใต้รอบฟ้าแดนดินก็ว่าได้ และยังไม่ได้สมดังความมุ่งหมาย ถ้าเป็นอย่างเรา ๆ ท่านๆ เห็นท่าจะต้องล้มเลิกการปฏิบัติเสียแล้ว เพราะลำบากแสนสาหัสจริงๆ ท่านยังพูดกับผู้เขียนเสมอ ๆ ขณะที่ผู้เขียนตำหมากถวายท่านตอนกลางวันว่า

    วิริยังค์เอ๋ย มันแสนสาหัสสากรรจ์จริง ๆ หนา เราได้ตรากตรำทำมา เกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียที่ในกลางป่าดงพงไพรโดยไม่รู้ ไม่เห็นอะไร มันสาหัสก็แสนสาหัส มันสากรรจ์ก็แสนจะสากรรจ์ แต่มันก็มีอะไรอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้เราต่อสู้ไม่เคยกลัว และก็ไม่ถอยให้แก่มันแม้แต่ก้าวเดียว ก็เป็นเหมือนกับธรรมะบันดาล คือค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่เราได้หลับไปแล้ว แต่การหลับของเราในขณะนั้นก็เหมือนจะตื่น เพราะต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอๆ

    ท่านเล่าว่า

    เราก็ฝันไปว่า เราเดินออกจากบ้านไปตามหนทางแล้ว ก็เข้าสู่ป่าที่รกชัฏมีทั้งหนามและไม้รกรุงรัง

    ท่านก็เดินผ่านป่านั้นเรื่อยไป ก็ได้พบกับต้นชาดต้นหนึ่งที่ล้มตาย มีกิ่งก้านผุไปหมด ท่านก็ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่ล้มนั้น ปรากฏว่าเป็นขอนไม้ที่ใหญ่โตมากทีเดียว แม้ท่านขึ้นไปบนขอนไม้ชาดแล้วจึงสังเกตดูก็รู้ว่าเป็นต้นชาดที่ตายสนิท ไม่มีทางจะงอกงามขึ้นมาได้อีก มองไปข้างหน้าเป็นท้องทุ่งเวิ้งว้าง ปลอดโปร่งกว่าทางที่ผ่านมา

    ขณะนั้นปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งมาจากทางไหนไม่ทราบ แล้วก็เข้ามาเทียบข้างขอนไม้ชาดที่ท่านกำลังยืนอยู่นั้น ท่านก็ขึ้นบนหลังม้าขาวนั้นทันที ม้าก็พาท่านวิ่งห้อเต็มเหยียดไปกลางทุ่ง พอสุดทุ่งก็พอดีพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า ม้าก็ได้หยุดลงตรงนั้นพอดี แต่ท่านมิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกนั้น ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้นเสียก่อน

    ครั้นเมื่อท่านตื่นขึ้นก็ได้ทบทวนตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้สุบินนิมิตนี้ เกิดความมั่นใจและทำนายนิมิตนั้นตามลำดับว่า

    ที่เราออกจากบ้านไปนั้น คือเราได้ออกจากความเป็นฆราวาส แต่ไปพบป่ารกชัฏ แสดงว่าเราได้เดินทางไปแต่ยังไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากอย่างหนัก แต่การที่เราได้ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่งอกอีกไม่ได้นั้น แสดงว่าเราอาจจะเป็นชาติสุดท้ายด้วยการแสวงหาธรรมในทางที่ถูกต้องต่อไป ทุ่งว่างเป็นทางที่จะปลอดโปร่งในการที่จะดำเนินการปฏิบัติที่ไม่มีความลำบากนัก การที่เราได้ขี่ม้าขาว หมายถึงการเดินไปสู่ความบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว การไปพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูตู้นั้น คือเราไม่ได้ถึงปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้เปิดตู้นั้นดูก็คงแตกฉานกว่านี้ นี่เป็นเพียงพบตู้ก็ถึงเพียงปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีการสอนผู้อื่นได้บ้างเท่านั้น

    เมื่อเหมือนบุญบันดาลเช่นนี้ ก็ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกมากในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไป

    ท่านเล่าว่า จากนั้นท่านได้พยายามอยู่อย่างเดียว คือเมื่อจิตได้พลังเกิดความสงบ และความแกร่งขึ้นในจิตนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ให้มันสงบเหมือนแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนนั้นถือเอาความสงบเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ท่านพยายามที่จะกำหนดจิต พิจารณากายคตาอย่างหนัก. ท่านได้ใช้กระแสจิตกำหนดเข้าสู่กายทุกส่วน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน. ให้จิตนี้จดจ่ออยู่ที่กายตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย

    บางครั้งท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่าท่านได้เดินลุยเหยียบไปบนร่างของคนตายซึ่งนอนเรียงรายอยู่ทั่วไป การกระทำเช่นนี้ใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งก็รู้สึกว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็ไม่เหมือนเมื่อคราวทำจิตให้สงบ ไม่เกิดปัญญาเลย มีแต่อยู่เฉยสบายๆ ก็สบายจริง แต่ก็ได้แต่สบาย ไม่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ยังบังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ ครั้งนี้รู้สึกว่าความหวั่นไหวตามอารมณ์ชักชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะถูกหนทางแล้วกระมัง

    วันหนึ่งท่านนิมิตเป็นอุคคหะขึ้น (หมายความว่านิมิตในสมาธิ) เห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้า ห่างจากตัวท่านราว ๑ ศอก หันหน้าข้าหาท่าน ขณะนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งเข้ามากัดซากศพนั้น ดึงเอาไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ เมื่อเห็นนิมิตปรากฏอย่างนั้น ท่านก็กำหนดพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายสังเวชสลดมิได้ท้อถอย ทำให้เห็นอยู่ทุกอิริยาบถ แล้วก็กำหนดขยายส่วนต่าง ๆ ออกไปได้ตามความปรารถนา แม้จะกำหนดอย่างนั้นให้เต็มทั่วทั้งวัดและทั้งโลกก็ได้ หรือกำหนดให้ย่อยยับดับสูญไม่มีอะไรเหลือก็ทำได้ เรียกว่ากำหนดให้เป็นไปตามความปรารถนาทุกอย่าง

    ท่านได้พิจารณาซากศพนี้เป็นเวลานาน และยิ่งกำหนดยิ่งพิจารณาไปเท่าไร จิตก็ยิ่งปรากฏสว่างไสวขึ้นมาก จึงได้ปรากฏเป็นดวงแก้วขึ้น แล้วทิ้งการกำหนดอสุภ โดยกำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วนั้นเป็นอารมณ์

    วาระต่อไปจึงปรากฏเห็นเป็นนิมิตอันหนึ่ง คล้ายกับภูเขาอยู่ข้างหน้า คิดอยากจะไปดู บางทีอาจจะเป็นหนทางที่อาจจะปฏิบัติได้ดีบ้างกระมัง ปรากฏในนิมิตสมาธิต่อไปอีกว่า ได้เดินเข้าไปมองเห็นเป็นชั้น ๆ มีถึง ๕ ชั้น จึงก้าวขึ้นไปจากชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่.๕ เป็นบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่บนชั้นนั้น แต่แล้วก็กลับคืน และในขณะนั้นปรากฏว่าได้สะพายดาบอันคมกล้าไปด้วยเล่มหนึ่ง พร้อมทั้งสวมรองเท้าวิเศษอีกด้วย

    ในคืนต่อไปทำสมาธิเข้าไปถึงชั้นเดิมอีก แต่คราวนี้ปรากฏเป็นกำแพงแก้วอยู่ข้างหน้า ที่กำแพงแก้วนั้นมีประตูเข้าออกได้ จึงคิดอยากจะเข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั้น จึงเอามือผลักบานประตูเดินเข้าไป เห็นมีทางอยู่ทางหนึ่งเป็นสายตรง ได้เดินเข้าไปตามทางสายนั้น ข้างทางด้านขวามือมีที่สำหรับนั่ง และมีพระกำลังนั่งสมาธิอยู่ประมาณ ๒ - ๓ รูป ที่อยู่ของพระนั้นคล้ายกับประทุนเกวียน แต่เราไม่ค่อยจะเอาใจใส่เท่าไรนักจึงเดินต่อไป.ข้างทางทั้ง ๒ มีถ้ำเงื้อมอยู่มาก และได้เห็นดาบสคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เอาใจอีก แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงหน้าผาซึ่งสูงชันมาก คิดจะเดินต่อไปอีกก็ไม่ได้ จึงหยุดเพียงแค่นั้นแล้วกลับมาตามทางเดิม

    ในคืนต่อไปก็ได้เข้าจิตสมาธิดำเนินไปตามทางเดิมทุกประการ เมื่อไปถึงหน้าผานั้นปรากฏว่ามียนต์อยู่อันหนึ่งคล้ายๆ กับอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผานั้น จึงได้ขึ้นยนต์ พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ยนต์ก็ชักพาขึ้นไปบนยอดเขาลูกนั้น แต่บนเขานั้นมีสำเภาใหญ่อยู่ลำหนึ่ง ได้ขึ้นบนสำเภาลำนั้นอีก ข้างในสำเภามีโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ตัวหนึ่ง บนโต๊ะมีผ้าสีขาวละเอียดปูไว้ เมื่อมองไปมองมาทั้ง ๔ ทิศ เห็นมีแสงประทีปตั้งไว้รุ่งโรจน์ชัชวาล ประทีปนั้นคล้ายกับติดเชื้อด้วยน้ำมัน จึงได้ขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และได้ฉันจังหัน (ฉันเช้า) ที่นั้นด้วย ของฉันก็มีข้าวและแกงกับอีกหลายอย่าง เวลาฉันเสร็จแล้วมองข้างหน้าเห็นฝั่งโน้นไกลลิบ จะไปต่ออีกก็ไม่ได้เพราะมีเหวลึกขวางหน้าอยู่ และสะพานที่จะข้ามก็ไม่มี จึงต้องกลับสู่ทางเดิม

    คืนหลังต่อมาก็ได้เข้าสมาธิจึงไปตามเดิมนั่นเอง แต่พอมาถึงสำเภาลำนั้น ก็ยังคิดอยากจะข้ามเหวต่อไป ปรากฏว่ามีสะพานเล็ก ๆ พอข้ามไปได้ เมื่อข้ามไปถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เห็นเป็นกำแพงใหญ่สูงมาก และประกอบไปด้วยค่ายคู ประตูและหอรบครบบริบูรณ์ ด้านหน้ากำแพงมีถนนใหญ่อยู่สายหนึ่ง จากทิศใต้ไปทิศเหนือ นึกอยากไป แต่ผลักประตูไม่ออก จึงต้องกลับทางเดิม

    คืนหลังต่อมาอีกก็ได้เข้าสมาธิจิตไปตามทางเดิมนั้นอีก ในคืนวันนั้น เมื่อไปถึงระหว่างตอนที่จะข้ามสะพานครั้งเหวลึกนั้น ปรากฏว่ามีสะพานใหญ่กว่าวันก่อนมาก ขณะที่เดินไปตามสะพานถึงระหว่างกลางนั้น ก็ได้พบกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเดินสวนทางมาแล้วกล่าวว่า อฏฺฐงฺคิโก มคฺโคแล้วก็เดินต่อไป ครั้นไปถึงประตูแล้วมองเห็นประตูเล็ก จึงผลักประตูเล็กออกไปได้ เข้าไปผลักประตูใหญ่ก็ได้อีก เมื่อเดินเข้าไปก็เห็นมีกำแพงและมีเสาธงตั้งอยู่กลางเวียง กำแพงนั้นสูงตระหง่านบานใจยิ่งนัก ที่ข้างหน้ามีถนนสะอาดเตียนราบรื่นและมีหลังคามุงไว้ มีประทีปโคมไฟติดไว้ตามเพดานสว่างไสว ข้างหลังถนนเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่ง จึงเดินเข้าไปในโบสถ์นั้น ภายในโบสถ์มีทางสำหรับเดินจงกรม และมีดวงประทีปตามไว้สว่างไสวอยู่ ๒ ข้างทางเดิน คิดอยากจะเดินจงกรม จึงได้เดินกลับไปกลับมาอยู่ ณ ที่นั้น และเห็นธรรมาสน์อันวิจิตรไปด้วยเงินตั้งอยู่. จึงได้ขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น ข้างบนธรรมาสน์มีบาตรอยู่ใบหนึ่ง เมื่อเปิดดูก็พบมีดโกนอยู่เล่มหนึ่ง.

    พอมาถึงตอนนี้ไม่มีนิมิตอะไรอีกต่อไป คงหยุดเพียงแค่นี้ ทุกวันทุกคืนได้เข้าจิตทำนองนี้จนเกิดความชำนิชำนาญ จะเข้าออกเวลาไหนก็ตามใจชอบ พอถึงที่ของมันแล้วจะสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย แม้เสียงก็ไม่ได้ยิน ทุกขเวทนาก็ไม่ปรากฏ เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๓ เดือน และทุกครั้งที่เข้าจิตไปนั้น ดาบและรองเท้าก็ต้องมีพร้อมทุกคราวไป จนสำคัญตนว่า ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจดจากกิเลสแล้ว

    การเกิดนิมิตที่ท่านเล่ามานี้ ผู้เขียนได้เขียนจากปากคำของท่านเอง ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น.ฯ นั่งอยู่ที่ศาลาเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษขอจดลงในสมุดบันทึกเลย และท่านก็บอกผู้เขียนว่า ระวังอย่าได้ไปหลงในนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริง ๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็สำคัญตัวเราเองมาแล้ว และมันก็น่าจะหลง เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่วิปัสสนูปกิเลสก็คือความเห็นเช่นนี้.

    ท่านเล่าต่อไปว่า ถึงแม้จะสำคัญว่าตนบริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกัน จึงได้มีการกำหนดรู้ เมื่อเวลาจิตออกจากความสงบแล้ว ปรากฏว่ายังมีวี่แววแสดงอาการกระทบกระเทือน ในเมื่ออารมณ์มากระทบย่อมอ่อนไหวไปตาม เมื่อคิดค้นดูเหตุการณ์ด้วยตนเองแล้ว เห็นว่าลักษณะจิตที่ดำเนินไปอย่างนี้ คงจะยังไม่ตรงต่ออริยมรรคอริยผลแน่ จึงพยายามไม่ให้จิตมันลงไปเหมือนเดิม ถึงมันจะลงก็ไม่ยอมให้มันลง กำหนดกายคตาเป็นอารมณ์ พยายามแก้ไขตัวเองอยู่เดือนเศษ

    ในวันหนึ่งหลังจากที่มิให้จิตมันหลงไปตามนิมิตต่าง ๆนั้นได้แล้ว กำหนดเฉพาะกายคตา จิตได้เข้าถึงฐานปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมด แล้วแหวะภายในกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่ในร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็ใช้เวลาพักจิต มิใช่พิจารณาไปโดยได้มีการหยุดพัก แต่เมื่อพักจิตก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้นและไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า

    นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบก็อยู่เฉย ที่สงบนั้นต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือ กายนี้เป็นตัวทุกข์ และให้เห็นตัวทุกข์อยู่จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค

    ท่านอาจารย์มั่นฯได้เล่าถึงตอนนี้ จึงพูดขยายความต่อไปอีกว่า

    เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา จนครั้งหนึ่งปรากฏว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วก็ได้กำหนดจิตให้นิ่ง จนเกิดความสังเวชสลดใจ จึงถือเอาหลักนั้นเป็นการเริ่มต้น เพราะเห็นว่าถูกต้องแล้วเป็นปฏิปทาดำเนินต่อไป
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ ศ ๒๔๕๕
    ธุดงค์ผจญภัยองค์เดียวถึงถ้ำไผ่ขวาง
    ท่านได้พิจารณาในตัวของท่านเองว่า ที่เราบำเพ็ญถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็พอจะรู้ทางถูกทางผิดบ้างแล้ว ถ้าเราจะอยู่ที่วัดเลียบต่อไป การทำความเพียรของเราก็จะไม่สามารถทำถึงขั้นอุกฤษฏ์ได้ เพราะยังเกี่ยวข้องกังวลบางสิ่งบางประการ จึงตัดสินใจออกป่าแต่ผู้เดียว โดยท่านเอาร่มจีนมาแทนกลด เพราะถ้าเอากลดไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นพระธุดงค์ ก็จะมารบกวนหาของขลังอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นที่กังวลเป็นอุปสรรคต่อการประกอบความเพียร ท่านเห็นพระธุดงค์ไปที่พระพุทธบาท ถึงกับเขียนไว้ข้างมุ้งกลดเลยว่า มีพระให้เช่า ท่านบอกว่าท่านที่ธุดงค์โดยมุ่งหวังชื่อเสียงลาภสักการะนั้นอย่าธุดงค์ดีกว่า เราเข้าป่าเพื่อแสวงหาธรรมปฏิบัติ ก็ควรจะยกความกังวลทั้งหลายออกไปเสีย

    ท่านเดินธุดงค์ออกจากจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนั้นด้วยการเดินเท้าเปล่า รอนแรมผ่านดงพญาเย็นเรื่อยมาแทบจะกล่าวได้ว่าท่านได้ผ่านภูเขาแทบทุกลูกในประเทศไทย แต่แล้วก็ยังไม่เหมาะในการทำความเพียร ในที่สุดการธุดงค์ของท่านในครั้งนั้น ก็ลุมาถึงถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาริกา เขตจังหวัดนครนายก ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นป่าทึบและดงดิบ อยู่กลางป่าจึงดาษดื่นไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ เช่นเสือ ช้างที่ดุร้าย พร้อมทั้งงูเห่าและงูจงอาง ท่านเล่าว่า เดินเข้าไปเย็นยะเยียบเงียบจากเสียงภายนอก มีแต่เสียงของพวกสัตว์นานาชนิด มันเป็นสิ่งที่เราปรารถนาและต้องการอยู่แล้ว เพราะจะพยายามทรมานตัวเอง.

    เมื่อท่านได้มุ่งหน้าเข้าไปยังถ้ำน้ำตกสาริกาบนภูเขา ในระหว่างทางได้พบหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนซึ่งเป็นชาวไร่ พวกเขาจึงถามท่านว่า

    ท่านหลวงพ่อครับ จะไปไหน ?

    ท่านตอบว่า จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนี้

    บรรดาชาวไร่เหล่านั้นก็พากันตกตะลึง พยายามทัดทานท่านว่า

    อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไป ในถ้ำนี้มรณภาพไปแล้วถึง ๖ องค์ ขอให้อยู่กับพวกผมที่บ้านนี้เถิด อย่าเข้าไปเลย

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ตอบไปว่า เออ โยมขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ ๗ ก็แล้วกัน

    ท่านไม่ยอมฟังคำทัดทานของชาวบ้าน ได้เดินธุดงค์เข้ายังถ้ำภูเขาลูกนั้นต่อไป

    ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่นจนมืดครึ้ม เป็นที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งเป็นที่พระธุดงค์ได้มรณภาพถึง ๖.องค์ ชาวบ้านแถวนั้นเขาเข้ามานำเอาศพไปบำเพ็ญกุศลกันตามมีตามเกิด ท่านอาจารย์มั่น ฯ เมื่อทอดอาลัยในชีวิตแล้ว ก็วางบริขารไว้แห่งหนึ่งตรงปากถ้ำ จัดการสถานที่แล้วเดินดูรอบๆ บริเวณ ได้ยินแต่เสียงจักจั่นเรไรร้อง พวกนกส่งเสียงกระจิ๊บกระจ๊าบ ก็ยิ่งทำให้เกิดความวังเวงยิ่งขึ้น

    เมื่อเวลาตอนพลบค่ำสนธยา รอบ ๆ บริเวณนั้นเต็มไปด้วยความสงัดเงียบ.ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจไม่แข็งพอก็อาจจะเป็นบ้าไปเพราะความกลัวเสียก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเคยชินในเรื่องนี้เสียแล้ว จึงไม่มีอะไรจะมาทำให้จิตใจของท่านเกิดหวั่นไหว เมื่อค่ำลงสนิทแล้วท่านก็เริ่มบำเพ็ญความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปทั่วหมด ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตอันดีเป็นอย่างมากในค่ำคืนวันนั้น

    รุ่งขึ้นท่านก็ออกบิณฑบาตที่บ้านไร่นั้น นำอาหารกลับมาฉันที่ถ้ำ เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พักกลางวันไปสักชั่วโมง เพราะเหน็ดเหนื่อยมาตลอดคืนที่แล้ว แต่พอลุกขึ้นท่านก็รู้สึกหนักตัวไปหมด และหนักผิดปกติจนท่านแปลกใจ

    เมื่อท่านไปถ่ายอุจจาระก็รู้สึกว่าเป็นท้องร่วง.เมื่อสังเกตดูอุจจาระก็พบว่าทุกอย่างไม่ย่อยเลย ข้าวสุกก็ยังเป็นเมล็ด แตงโมก็ยังเป็นชิ้นอยู่ ถ่ายออกมาก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ท่านเข้าใจว่าเหตุนี้เอง พระเหล่านั้นมรณภาพ ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น

    ท่านจึงเดินเที่ยวหาบริเวณที่อันจะทำให้เกิดความหวาดเสียว ซึ่งต้องเป็นที่เหมาะ เพราะจะต้องทำกันให้ถึงที่สุด แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งตั้งอยู่บนปากเหวลึก แล้วท่านก็ทดลองโยนหินลงไป กว่าจะได้ยินเสียงก็กินเวลาอึดใจหนึ่ง ท่านก็กะว่าที่ตรงนี้เหมาะแล้ว ถ้าเราจะต้องตายก็ขอให้ตายตรงนี้ ให้ท่านหล่นลงไปในเหวนี้เสียเลย จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา ในค่ำวันนี้ท่านตั้งปณิธานว่า

    เอาละ ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด

    และในค่ำคืนวันนั้นเอง เมื่อท่านกำหนดจิตตามที่ท่านฝึกฝนไว้ตอนหลังสุดตามอุบายนั้น ก็เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ซึ่งปรากฏเห็นแม้กระทั่งเมล็ดทราย โดยปรากฏเห็นเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน. ความผ่องใสของใจนี้ทำให้พิจารณาเห็นอะไรได้ทุกอย่างที่ผ่านมา แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันทั้งหมด

    การนั่งสมาธิคราวนี้ท่านใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน โดยไม่แตะต้องอาหารเลย การพิจารณาถึงกายคตาตลอดถึงธรรมะต่าง ๆ ท่านได้ตัดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติจิต ในขณะที่การพิจารณาธรรมทั้งหลายอย่างได้ผลนั่นเอง นิมิตอย่างหนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่ท่าน คือเห็นเป็นลูกสุนัขกินนมแม่อยู่ ท่านได้ใคร่ครวญดูว่า นิมิตที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องมีเหตุ เพราะขณะจิตขั้นนี้จะไม่มีนิมิตเข้ามาเจือปนได้ คือเลยชั้นที่จะมีนิมิต ท่านกำหนดพิจารณาโดยกำลังของกระแสจิต ก็เกิดญาณคือความรู้ขึ้นว่า ลูกสุนัขนั้นหาใช่อื่นไกลไม่ คือตัวเราเอง เรานี้ได้เคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับครั้งไม่ถ้วน คงหมุนเวียนเกิดตายอยู่ในชาติของสุนัข

    ท่านใคร่ครวญต่อไปว่า ก็ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คือเหตุใดจึงต้องเป็นสุนัขอยู่อย่างนั้น

    ได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีอยู่ในภพของมัน จึงต้องอยู่ในภพของมันตลอดไป

    ขณะท่านทราบว่าตนต้องเกิดเป็นสุนัขนั้น ได้ถึงซึ่งความสลดจิตมากที่สุด แม้ความสว่างไสวของจิตก็ยังคงเจิดจ้าอยู่ตลอดระยะเวลานั้น ท่านจึงพิจารณาค้นความจริงในจิตของท่านว่า เหตุอันใดที่ต้องทำให้เกิดความพะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลังอยู่ในขณะนี้ แม้จะได้รับความสลดอย่างยิ่งนี้แล้ว ก็ยังจะพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้ ก็เมื่อความละเอียดของจิตเกิดขึ้นพร้อมกับความสว่างไสวแล้วนั้น ความจริงที่ยังไม่ทราบมาก่อนได้เกิดขึ้นแก่ท่านแล้วก็คือ

    การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ

    ท่านจึงหวนรำลึกต่อไปว่า เราได้ปรารถนามานานสักเท่าใด

    ก็เพียงสมัยพระพุทธกาลนี่เอง ไม่นานนัก

    ท่านจึงตัดสินใจที่จะไม่ต้องการพุทธภูมิอีกต่อไป เพราะเหตุที่มาสังเวชตนที่ตกเป็นทาสของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นสุนัขเสียนับภพนับชาติไม่ถ้วน

    ด้วยเหตุนี้ท่านจึงนึกถึงธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ก็มาระลึกได้ว่า ปฐมเทศนาเป็นบทบาทสำคัญซึ่งจะเป็นทางบรรลุธรรม เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้ จากความเห็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกมาแสดง เช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงอริยสัจจ์ ๔ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ

    ทุกข์ ควรกำหนดรู้
    สมุทัย ควรละ
    นิโรธ ควรทำให้แจ้ง
    มรรค ควรเจริญให้มาก

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาคำนึงถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเช่นนี้แล้ว ท่านก็มาพิจารณาต่อไปอีกว่า

    ทุกข์ คืออะไร ในปฐมเทศนาแสดงว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ และใครเล่าเกิด-แก่-เจ็บ ตาย ก็คืออัตภาพร่างกายของเรานี่เอง ฉะนั้นร่างกายนี้จึงถือได้ว่า เป็นอริยสัจจธรรม การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ ก็เท่ากับรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจจ์นั่นเอง ดูแต่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ด้วยพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ คืออนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ทรงยก รูปขึ้นมาให้พระปัญจวัคคีย์พิจารณา คือทรงแสดงว่า

    รูปํ ภิกขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน

    ปริวัตน์ที่ ๒ ว่า ตํ กึ มญฺญสิ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วาติ ภิกษุที่หลายท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
    ปริวัตน์ที่ ๓ ว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว รูปํ อตีตํ วา อนาคตํ วา ปจฺจุปนฺนํ วา เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูปในอดีต อนาคต หรือรูปปัจจุบัน

    สพฺพํ รูปํ รูปทั้งปวง
    เนตํ มม เนโส หมสฺมิ น เม โส อตฺตา ติ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนเรา
    เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญา ยทตฺตพฺพํ จงพิจารณาข้อความนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ

    ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้พิจารณาว่า การพิจารณาตัวทุกข์นี้ก็คือรูปกายนี่เอง พระปัญจวัคคีย์แม้จะได้บรรลุธรรมในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ พระพุทธองค์จึงต้องทรงเน้นหนักลงไปที่กายนี่เอง โดยทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เพี่อจะให้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด

    ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้คำนึงถึงปฏิปทาของพระพุทธองค์ตอนที่จะตรัสรู้ ที่ทรงนั่งสมาธิในวันวิสาขะเพ็ญเดือน ๖ นั้น ตอนปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติในหนหลังได้ นี่คือการพิจารณา กาย จุดสำคัญจุดแรกเนื่องจากอัตภาพ แต่ละอัตภาพที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้นมีทั้ง สุข ทุกข์ มีทั้ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นการยืนยันว่า พระพุทธองค์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ทรงพิจารณา กายเพราะญาณเป็นที่ระลึกชาติหนหลังได้นั้น ต้องรู้ถึงการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่คืออัตภาพแต่ละอัตภาพ ซึ่งต้องมีทุกข์ครบถ้วนทุกประการในการที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้น

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้คำนึงว่า การพิจารณาทุกข์ พระพุทธองค์ทรงดำเนินมาแล้วแต่ปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงได้ความชัดในใจของท่าน แล้วก็ได้นำเอาการระลึกชาติ ในการที่ท่านได้เกิดเป็นสุนัขอันแสนนานนั้น มาเป็นเหตุพิจารณาให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิตนั้น เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการแห่งสัจธรรม ดำเนินให้เป็นไปตามความเป็นจริงนี้ เรียกว่า ญาณ คือการหยั่งรู้ ท่านได้ความรู้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียงพอ (อิ่มตัว) ของญาณแต่ละครั้ง มิใช่เป็นสิ่งที่จะนึกคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่ต้องเกิดจากความจริงที่ว่า ต้องพอเพียงแห่งความต้องการ (อิ่มตัว)

    การเป็นขึ้นจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการอบรมมาพอแล้ว เช่นผลไม้มันต้องพอควรแก่ความต้องการของมัน จึงจะสุก ห่อข้าวที่ถูกไฟ หุงด้วยไฟ มันต้องการไฟเพียงพอกับความต้องการของมันจึงจะสุก แม้การพิจารณากายที่เรียกว่าตัวทุกข์นี้ก็เช่นเดียวกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการพิจารณาจนเพียงพอแก่ความต้องการ (จุดอิ่มตัว) แต่ละครั้ง เช่นกำลังของการพิจารณานี้ มันอาจจะอยู่ได้ชั่วขณะหรือเวลา สุดแล้วแต่กำลังของญาณ เช่นนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจนานเท่าไรนั้น สุดแล้วแต่การพิจารณากายเห็นชัด ด้วยสามารถแห่งพลังจิต การพิจารณาทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดญาณนี้ ถ้าเกิดความเพียงพอกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้เมื่อนั้น
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เล่าต่อไปว่า ณ ค่ำคืนระหว่างแห่งการดำเนินจิตก็กำลังสว่างไสวและได้ผลนั้น สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาในเวลา ๒๓.๐๐ น ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คือมีอาการสั่นสะเทือนขึ้นทั้งภูเขา ดูรู้สึกเหมือนกับว่า ภูเขาลูกที่ท่านนั่งอยู่นั้น จะพลิกคว่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างได้ผล บางครั้งจะได้ยินเหมือนเสียงต้นไม้หักเป็นระนาวทีเดียว อากาศเป็นเหมือนกับมืดลมมืดฝน เป็นลักษณะที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เกือบจะทำให้ท่านต้องลืมตาออกมาทีเดียว แต่ท่านก็หาได้ลืมตาดูตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่

    ท่านได้พิจารณาเป็นอนุโลมิกญาณในอริยสัจธรรม พร้อมกับเหตุอันน่าสะพรึงกลัวนั้น ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เป็นอยู่อย่างนั้นนานเท่าใดไม่อาจทราบได้ ท่านได้กำหนดสติอย่างมั่นคง และได้คำนึงถึง สติ นี้เป็นอย่างดีและชัดเจนขึ้นอย่างยิ่งว่า สติอันที่จะเรียกได้ว่ามีกำลังนั้น ต้องมาต่อสู้และผจญภัยเพื่อเป็นการทดสอบว่า จะเกิดความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก จะยังคงพิจารณาอยู่กับร่องรอยได้หรือไม่ ท่านได้พิสูจน์แล้วว่า ความหวั่นไหวแห่งสติในขณะนั้นไม่มีเลย ยังคงรักษาระดับการพิจารณา อันเป็นอนุโลมิกญาณได้อย่างปกติ

    เหตุการณ์หาได้หยุดยั้งลงแต่เพียงแต่นั้นไม่ ยังคงดำเนินอย่างรุนแรงขึ้นทุกขณะ มันประดุจว่าร่างกายของท่านแทบจะถูกบดไปเป็นผุยผง เป็นจุณวิจุณไปทีเดียว เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดเป็นเวลานาน พลันอาการประหลาดก็เกิดขึ้นมาอีก คือมีอาการร่างกายใหญ่โตขึ้นสูงเท่ากับต้นไม้ใหญ่.ถือตะบองเหล็กซึ่งมีรัศมีดังเปลวไฟแปร๊บปร๊าบ เดินย่างสามขุมตรงรี่เข้ามาหาท่านอย่างผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ พร้อมกับตวาดว่า

    จงลุกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นจะต้องตาย

    ว่าแล้วก็เงื้อตะบองขึ้นสุดแขน ขณะท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังพิจารณาอนุโลมิกญาณอย่างได้ผล ก็มาผจญกับสิ่งลึกลับ อันไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน ซึ่งมันทำให้ท่านแทบจะเผลอลืมตาขึ้นมาดู แต่ท่านก็ระงับสภาพอันน่าละพึงกลัวนั้นเสียได้.ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์เหล่านั้น กำหนดสติอันทรงพลังของท่าน และท่านก็มั่นใจในสติอันที่ได้อบรมจนเป็นมหาสตินั้น

    ณ ที่นั้น การที่เกิดความมหัศจรรย์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นอันตรายต่อการบำเพ็ญจิตขั้นละเอียดเป็นที่สุด เพราะถ้าเสียทีตกใจลืมตา หรือสติอ่อนจะผ่านขั้นนี้ไม่ได้เลย หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ถูกยักษ์ตนนั้นมันตะคอกเอาแล้ว ท่านก็กำหนดในใจ พูดตอบยักษ์ไปว่า

    เราไม่ลุก

    ทันใดนั้นเองปรากฏว่ายักษ์ได้หวดตะบองอันใหญ่นั้นลงยังร่างของท่านอย่างน่าใจหายใจคว่ำ ท่านรู้สึกประดุจว่าตัวของท่านจมลงดินลงไปลึกประมาณ ๑๐ วา

    แต่ทันใดนั้นก็ปรากฏว่าตัวของท่านลอยขึ้นเหนือแผ่นดินอีก ขณะที่มีอาการเช่นนั้นท่านหาได้ลืมสติไม่ กำหนดเป็นอนุโลมิกญาณ อยู่ตลอดไป จึงยังแน่วแน่จดจ่ออยู่ ณ ที่เดียว ซึ่งขณะนั้นเป็นการพิจารณาจุดสุดยอดของญาณ

    ท่านว่า เป็นสิ่งที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง คำว่าชีวิตความตายมิได้มีความหมายเลยในขณะนั้น ชีวิตมิได้เป็นสิ่งมีค่า เท่ากับการพิจารณาจุดสุดยอดแห่งอนุโลกมิกญาณในขณะนั้นเลย จึงหาได้เกิดความหวาดกลัว หรือสะดุ้งแต่ประการใดไม่ !
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เหตุการณ์ก็หาได้หยุดลงแต่เพียงนั้นก็หาไม่ ทันใดเจ้ายักษ์ตนนั้น มันก็ถอนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นต้นตะเคียน อยู่ข้างหลังของท่าน ต้นตะเคียนนั้นใหญ่ขนาด ๑๐ อุ้ม ใหญ่มากทีเดียว มันเอามือทั้งสองข้างฉุดต้นตะเคียน เหมือนกับยกหม้อน้ำ ปรากฏว่ารากตะเคียนได้หลุดขึ้นจากดินพร้อมกับดินแถว ๆ นั้นกระจายไปหมด ปรากฏว่าก้อนดินหล่นกระจายถูกต้องร่ายกายทั่วไป และพร้อมกันนั้น มันก็ยกต้นตะเคียนขึ้น พร้อมด้วยความโกรธตาแดงยังกับลูกไฟ ยกขึ้นสูงเหนือภูเขาลูกนั้น ฟาดลงมายังร่างของท่านดังสะท้านหวั่นไหว ปรากฏว่าร่างกายของท่านทรุดแบนละเอียดติดอยู่กับก้อนหินนั้น และพร้อมกันนั้นก็ปรากฏว่าหินก้อนที่ท่านนั่งอยู่นั้น ก็แตกละเอียดเป็นจุณไปในชั่วพริบตานั้นเอง ขณะนั้นเกือบจะทำให้ท่านต้องเผลอลืมตาขึ้นมาดูความเห็นไปต่าง ๆ แต่ว่าท่านได้คำนึงถึงมหาสติอันเป็นเครื่องบังคับกำกับการพิจารณาในจุดสุดยอดแห่งธรรมอันละเอียดอ่อน ทำให้ท่านได้พิจารณาอย่างเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้เหตุการณ์อันเป็นเครื่องทำให้เกิดอาการหวั่นไหว ท่านก็มิได้มีความหวั่นไหวเลย

    ในที่นี้ท่านได้คำนึงต่อไปว่า มีสิ่งหนึ่งอันเป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นมลทินของใจ นั่นคือการพะว้าพะวัง ของการปรารถนาพระโพธิญาณ และก็กลับไม่ปรารถนาเช่นนั้น หันมาเพื่อความพ้นทุกข์ อันจะพึงได้บรรลุธรรมอันยิ่งใหญ่ในขณะนั้น นี่เองที่ทำให้มีมลทิน.เป็นเครื่องสะกิดใจไว้ แต่เมื่อได้สละแล้ว ท่านจึงมิได้คำนึงถึงสิ่งอื่น อันเป็นเหตุให้ต้องประสบสิ่งอันเป็นที่หวาดกลัวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว ปรากฏว่าทุกอย่างในโลกนี้มีสภาพเป็นอันเดียว ดุจหน้ากลองชัย โลกนี้ราบลงหมด คือสว่างราบเตียน ร่างกายของท่านก็ปรากฏว่าประมวลกันเข้าดังเดิม และปรากฏว่ายักษ์ตนนั้นจำแลงตัวเป็นมนุษย์ ลงมากราบไหว้ขอขมาลาโทษท่าน แล้วมันก็หายไป

    ขณะนั้น ไก่ขันกระชั้นแล้ว แสดงว่าใกล้แจ้ง ซึ่งประมาณเวลาราวๆ ตี ๓ หรือตี ๔ เห็นจะได้ ท่านได้คำนึงถึงญาณ ๓ ในอริยมรรค คือสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตที่บำเพ็ญถึงจุดอิ่มตัวเป็นญาณ ซึ่งมิใช่ว่าจะถือเป็นชั้นนั้น ชั้นนี้ เพราะถือว่าได้สำเร็จ การเข้าใจว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้คือการไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการหลงสมุทัยไปทีเดียวเลย

    ท่านคำนึงถึงญาณว่า เป็นจุดอิ่มตัว เหมือนกับการรับประทานอาหาร มันมีจุดอิ่มตัว พอมันพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็อิ่มไม่ต้องพูดอะไรให้มาก มีอาหารรับประทานเข้าไปก็แล้วกัน ญาณก็เช่นเดียวกัน บำเพ็ญให้ถูกต้อง โดยการพิจารณาทุกข์ เมื่อถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไรก็รู้เอง เหมือนคนรับประทานอาหารอิ่มเมื่อไรเขารู้ตัวของเขาเอง เช่นเมื่อพิจารณา กาย คือตัวทุกข์ นั้นแล้ว พอเมื่อเห็นกายเขาก็เกิดความสังเวชสลดจิต แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นญาณ เพราะมันจะเกิดขึ้นเอง จะมาสมมุติให้เกิดขึ้นไม่ได้ คำว่า สัจจะ คือความจริง เช่นกับการพิจารณาเห็นตัวทุกข์ ชื่อว่าเห็นจริงมิได้เดาเอา เช่นเห็นว่าผมเป็นธาตุดินอย่างนี้เป็น สัจจญาณ การดำเนินญาณคือความจริงให้ปรากฏอยู่เสมอชื่อว่า กิจจญาณ การถึงจุดละวาง เหมือนกับคนอิ่มอาหาร ละไปแล้วซึ่งความหิว โดยอัตโนมัติเป็น กตญาณ

    ท่านได้คำนึงถึงสมุทัยว่า อันกามตัณหา ความใคร่ในกาม ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความไม่อยากมีอยากเป็น ที่จริงแล้วคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตในขณะที่กำลังบำเพ็ญญาณนั้นเอง เพราะกิเลสเกิดขึ้นตอนเจริญปัญญาญาณนี้สำคัญนัก จะเกิดการถือตัวอย่างก้าวไปไกล แก้ไม่หลุด คือเมื่อเห็นญาณ ความหยั่งรู้เกิดขึ้น ซึ่งละเอียดและอัศจรรย์ เลยยึดเอาว่า เป็นพระนิพพานเสียเลย นี่แหละ กิเลสปัญญา เพราะตอนที่ผู้บำเพ็ญจะสำคัญตนว่าบรรลุแล้ว มิหนำซ้ำยังตั้งตนเป็นนักพยากรณ์เสียอีกว่า คนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้ บางครั้งเกิดอัศจรรย์ขึ้นมาในจิต ว่าละกิเลสได้หมด แล้วมีธรรมมาบอกเกิดขึ้นเมื่อวันนั้นเดือนนั้น เราได้บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บัญญัติเราเข้าให้อีกว่า แน่แล้ว สำเร็จแล้ว ทีนี้ก็จะทำให้จิตต้องนึกว่าสำเร็จ บรรลุ และถือตนหนักขึ้น ดังนั้นในสมุทัยสัจจ์ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทัย ควรละ ก็ละตรงที่เรียกง่าย ๆว่า วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวนั้นแล้ว
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เพื่อความรอบคอบของจิตที่กำลังเนินไปอย่างได้ผลว่า เมื่อไม่ข้องอยู่ในอุปาทาน และห่วงอยู่ในความที่จะเข้าใจตัวเองว่า บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ได้แล้ว เพราะว่าท่านขณะที่กำลังบำเพ็ญวิปัสสนาญาณนั้น ได้ทราบชัดว่า วิปัสสนา นั้นคือความเห็นแจ้ง แต่ธรรมดาแล้วก็คงเห็นแจ้งเฉย ๆ เช่นเห็นว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ เกิดขึ้นจากตาในด้านการพิจารณา แต่ยังไม่ใช่ญาณ การที่จะเป็นญาณขึ้นมาได้นั้น ต้องถึงจุดอิ่มตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เช่นพิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ทั้งหลายแล้ว พิจารณาไม่หยุดยั้ง จนถึงจุดอิ่มตัว ญาณ คือความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น นี่แหละจึงจะชื่อว่า เป็นวิปัสสนาญาณ ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเองเนื่องจากการบำเพ็ญวิปัสสนาให้เพียงพอ เช่นเดียวกับความอิ่มเกิดขึ้นจากความเพียงพอของการรับประทานอาหารนั่นเอง เพราะความเกิดเอง ในที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก ความเห็นเอง นิโรธ ควรทำให้แจ้ง การทำให้ไม่ให้คนหลง ในมรรคผลนิพพานนั่นเอง เพระผู้ปฏิบัติทั้งหลายงมงายในความเป็นเช่นนี้มาก ในเมื่อไม่ใช้ปัญญาญาณเพราะไปใช้แต่สิ่งสำคัญตนจึงต้องใช้การทำให้แจ้ง มันจะเป็นอย่างไรขึ้นก็ช่าง เราทำไป แล้วธรรมที่ดำเนินไปก็บรรลุเป็นหมายเอง

    ในวาระสุดท้าย ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เราได้กำหนดทวนกระแสจิต คือเมื่อพิจารณาไปแล้วทุกอย่าง นับมาแต่การพิจารณาดูตัวทุกข์ คือขันธ์ทั้ง ๕ นั้นแล้ว และพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา คือให้เห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ เท่านั้นเป็นธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และพิจารณาที่ธรรมทั้งหลายอันละเอียดวิเศษที่สุด จนเข้าใจว่าเป็นผู้บรรลุ ขจัดออกไปทั้งหมดโดยอนุโลมิกญาณแล้ว ท่านก็ทวนกระแสจิต กลับมาหา ฐิติภูตํ คือที่ตั้งของจิต ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นต้นเหตุการณ์ทวนกระแสจิตที่เป็นอนุโลมิกญาณ ให้เห็นว่า ใครผู้รู้ ใครผู้เห็น คือให้รู้ว่าเป็นผู้ไม่ตาย ให้เห็นว่าเป็นธาตุ เพราะได้พิจารณาเห็นโดยญาณนั้นเป็นความจริง อันตัว ผู้รู้ เห็นอยู่ที่ไหน อาศัยญาณที่บำเพ็ญขึ้นจนพอแก่ความต้องการ อันที่เรียกว่า อนุโลมิกญาณนั้นแล้ว ก็จะปรากฏว่าได้เห็นตัว ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ไม่ตาย คราวนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นองค์มรรค ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก ผู้ที่มาเห็นตัว ผู้เห็น กล่าวว่า เป็นผู้หายความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องห่วงว่าอาจารย์โน้นถูก อาจารย์นี้ผิด เรากำลังทำนี้จะถูกหรือจะผิด ไม่มีในจิตของผู้เป็นเช่นนี้ ถ้ายังไม่ถึงเช่นนี้ ก็จะยังสงสัยอยู่ร่ำไป แม้ใครจะมาเทศน์ให้ฟังเท่าไรก็แก้สงสัยไม่ได้

    ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ขณะนั้นปรากฏว่าโลกนี้เตียนราบประดุจหน้ากลองชัย เรียบเอาจริง ๆ ท่านได้ย้ำให้ข้าพเจ้าฟัง แต่การราบเรียบเหมือนหน้ากลองชัย คือการอยู่ในสภาพอันเดียวกัน ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่การปรากฏขึ้นในจิตนั้น เป็นเช่นนั้นเพราะว่าไม่มีอะไรมาข้องอยู่กับใจ ในจิตนั้นเป็นเช่นนั้น เพราะท่านพูดกับข้าพเจ้าต่อไปว่า นี้เป็นการที่ได้หนทางเป็นครั้งแรก ในใจของเราให้หายสงสัยว่า จะเป็นอะไรต่อไป แน่ชัดในใจโดยปราศจากการกังขา

    ในที่นี้จึงรวมไว้ซึ่ง อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ เป็นที่รวมกำลังทั้งหมดเท่ากับเป็นการรวมกองทัพธรรมใหญ่ พร้อมที่จะขยี้ข้าศึก คือ กิเลส ให้ย่อยยับลงไป ในเมื่อการรวมกำลังนี้สมบูรณ์เต็มที่แต่ละครั้ง เพราะความที่ได้ขยี้ข้าศึกคือกิเลสนี้เอง จึงเกิดเป็นวิสุทธิ ๗ ประการ ครั้นเมื่อเป็นดังนี้บริบูรณ์แล้ว คำว่าชั้นนั้นชั้นนี้ก็ไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเหตุได้ตัดเสียแล้วซึ่งอุปาทาน ท่านได้เล่าเป็นเชิงแนะนำผู้เขียน เป็นลำดับตามวาระแห่งจิตของการดำเนินของท่าน จนผู้เขียนไม่อาจนำมาเขียนให้หมดไปทุกคำได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำพูดที่ท่านได้แสดงให้ผู้เขียนฟังเท่านั้น เป็นอันว่า ๓ วัน ๓ คืนของการพิจารณานั้น ท่านได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ และควรเห็น ได้รับผลคือความจริงในพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น

    ท่านเล่าต่อไป ว่า ในวันนั้นท่านได้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริง แล้วก็ลุกขึ้นเดินจงกรมเสียเวลาก่อนแจ้ง รู้สึกเบาตัวไปหมด.ได้เวลาไปบิณฑบาตตอนเช้า ท่านได้นุ่งสบงห่มจีวร ซ้อนสังฆาฏิเป็นปริมณฑล กับบาตรสะพายไว้ข้าง ประดุจอุ้ม แล้วก็เข้าไปสู่หมู่บ้านที่ท่านเคยไปแต่กาลก่อนนั้น

    อันชาวบ้านต่างก็พากันเชื่อว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ตายไปเสียแล้ว เพราะไม่ได้มาบิณฑบาตตั้ง ๓ วัน เนื่องจากพระธุดงค์มาตายที่นี่หลายองค์ ท่านอาจารย์มั่น ฯ องค์นี้จะต้องเหมือนกับองค์อื่น ๆ ซึ่งชาวบ้านต่างก็พากันสงสัยตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งพอท่านอาจารย์มั่น ฯ มาอยู่วันเดียว บิณฑบาตวันเดียวก็หายไปเฉย ๆ แต่ก่อนๆ พระธุดงค์ที่มาอยู่ที่นั้น บางองค์ก็ ๓ เดือน ๖ เดือนจึงตาย แต่ท่านอาจารย์ มั่นฯ องค์ใหม่นี้ทำไมจึงตายเร็วนักเพียงสองสามวันเท่านั้น ชาวบ้านบางคนที่สนใจเป็นพิเศษ พอไม่เห็นท่านมาบิณฑบาต ก็ได้ไปเยี่ยมท่านที่ถ้ำ แต่ก็ไม่เห็น เพราะที่ท่านนั่งสมาธินั้นลี้ลับมาก ครั้นจะค้นให้ทั่วก็กลัวจะเป็นการรบกวนสมาธิของท่าน ถ้าท่านกำลังนั่งสมาธิ แต่ถ้าหากท่านตายจริง หลายวันแล้วเดี๋ยวก็จะเน่าเฟะ ก็จะลำบาก ชาวบ้านต่างก็โจษขานกันไป และคิดที่จะหาหนทางเอาศพมาบำเพ็ญกุศลกัน
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    แต่ที่ไหนได้ รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๓ นั้น ก็ปรากฏเห็นโฉมหน้าของท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังออกมาบิณฑบาตโดยปกติแล้ว ทุกคนก็บังเกิดความเลื่อมใส ต่างก็ถามท่านว่า

    ท่านอาจารย์ครับ ๓ วันที่แล้วมาทำไมจึงไม่มาบิณฑบาต

    ท่านอาจารย์ได้ตอบว่า ก็เราได้ต่อสู้กับความโง่ของตัวเองนั่นแหละโยม เห็นจิตสงบดีจึงไม่ได้มา

    แต่ชาวบ้านก็ยังไม่แน่ใจว่า ท่านจะอยู่ไปได้ตลอดหรือไม่

    หลังจากท่านบิณฑบาตกลับไปที่ถ้ำแล้วนั้น จากนั้นอาการต่าง ๆ ก็ปกติดี อาหารทุกอย่างย่อยเป็นปกติ ร่างกายของท่านสมบูรณ์ ในตอนนี้ท่านได้พักผ่อนบำเพ็ญความเพียรตามปกติ และท่านก็หวนพิจารณาถึงพระที่มรณภาพไปแล้ว ๖ องค์ ว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็ได้ทราบว่า ประพฤติเป็นศีลวิบัติโดยลักษณะต่าง ๆ กัน

    องค์ที่ ๑ ได้มาอยู่ ๒ เดือน ๒๙ วันก็มรณภาพ องค์นี้ผิดวินัยข้อที่เก็บอาหารเป็นสันนิธิ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในโภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ เวลาไปบิณฑบาตแล้ว มีอาหารบางสิ่งที่ไม่บูดเสียแล้วเก็บไว้ฉันในวันต่อไป

    องค์ที่ ๒ อยู่ได้ ๓ เดือนกับ ๑๐ วัน ก็มรณภาพ ส่วนองค์ที่ ๒ นี้ ได้ตัดต้นไม้ในป่าด้วยตนเอง แล้วนำมาทำร้านเพื่อเป็นที่สำหรับนั่งและนอนนอกถ้ำ เพราะว่าจะนั่งนอนกับหินและดินก็ชุ่มชื้น นี่ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค

    องค์ที่ ๓ อยู่ได้ ๔ เดือนกับ ๒๒ วันก็มรณภาพ องค์ที่ ๓ นี้ได้ขุดดิน โดยที่แถวนั้นมีมันป่ามาก ก็ขุดเอามันมาไว้และต้มฉันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมณะไม่ควรทำ และผิดวินัยตามพุทธบัญญัติข้อ ๑ ของ ภูตคามวรรค และข้อที่ ๑๐ ของมุสาวาทวรรค

    องค์ที่ ๔ ได้มาพักอยู่ ๕ เดือนกับ ๒๐ วัน ก็มรณภาพที่ถ้ำนี้ ชาวบ้านได้นำศพไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี องค์นี้ได้ทำผิดวินัยที่เก็บอาหารบิณฑบาตมาได้ แล้วเอาไว้ฉันต่อไป และได้ไปเก็บผลไม้ต่าง ๆ ในป่ามาเองซึ่งเป็นการผิดวินัยข้อ ๘ ของโภชนวรรคปาจิตตีย์ และข้อที่ ๑ ของภูตคามวรรคปาจิตตีย์

    องค์ที่ ๕ อยู่ได้ ๖ เดือนกับ ๒๘ วันก็มรณภาพ องค์นี้ได้ไปเก็บผลไม้จากต้นไม้ เพราะในป่านั้นก็มีผลไม้ป่าต่าง ๆ เป็นต้นว่า ไม้เต็ง ไม้พอง ผลนมวัวเป็นต้น ท่านได้ไปเก็บเองจากต้นมาฉันเอง นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ข้อที่ ๑ ขอภูตคามวรรคและข้อที่ ๑๐ ของโภชนวรรค

    องค์ที่ ๖ อยู่ได้ ๗ เดือนกับ ๑๒ วันแล้วก็ขอให้โยมพาไปส่งที่วัดเดิมของท่านที่ขอนแก่น เมื่อกลับไปอยู่วัดเดิมได้ ๑ เดือน ท่านก็มรณภาพ องค์นี้ก็เก็บอาหารต่าง ๆ ที่เป็นสันนิธิ เป็นอาบัติโดยที่ได้ทำอยู่เป็นอาจิณ แล้วตัวท่านเองก็มิได้รู้ถึงสมุฏฐานแห่งการเป็นอาบัติ จึงต้องศีลวิบัติอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต และการจะเดินธุดงค์และอยู่ป่านั้น ข้อสำคัญต้องรักษาขนบธรรมเนียมพร้อมด้วยพระธรรมวินัยของพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัด จึงจะเป็นไปเพื่อความสะดวกสบายได้

    ในวันหนึ่งท่านได้นั่งสมาธิปลอดโปร่งมาก แต่ว่าการที่ท่านได้มาอยู่ที่ถ้ำนี้ นับแต่ท่านพบแสงสว่างแห่งธรรม ท่านก็ได้รับผลแห่งความสงบตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ในคืนนั้น ท่านพิจารณาถึงการแนะนำสั่งสอนธรรมอันเป็นภายในนี้ว่า เราแนะนำพร่ำสอนไฉนหนอ จึงจะเป็นผล ท่านก็กำหนดพิจารณาดูในขณะนั้นว่า

    การแนะนำในขั้นต้นนี้ ควรจะต้องดำเนินไปเฉพาะพระภิกษุสามเณรเป็นประการสำคัญ เพราะพระภิกษุสามเณรแม้องค์เดียว ถ้าได้เห็นธรรมเป็นที่แน่ชัดแล้ว จะไปสอนอุบาสกอุบาสิกาได้เป็นจำนวนมาก และก่อนแต่ที่จะสอนใครก็ควรต้องพิจารณาจิตใจของผู้นั้นว่า ควรจะได้รับธรรมะอย่างไร ผู้นั้นควรจะนำไปปฏิบัติอย่างไร

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านย้ำกับผู้เขียนว่า

    ถ้าเราไม่พึงรู้ถึงความเป็นจริง คืออุปนิสัยวาสนาและปุพเพนิวาสแต่กาลก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราได้ทราบชัดว่า ผู้ใดควรได้รับธรรมกัมมัฏฐานอะไร และจะสามารถรู้ซึ้งในกัมมัฏฐานได้แล้ว เราจะยังไม่สอนใครเลยทีเดียว

    ฉะนั้นการสอนกัมมัฏฐานของท่านจึงได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฏต่อมาว่าเมื่อท่านสอนใครแล้วต้องได้ผล เพราะเราจะเห็นผู้เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานองค์สำคัญ ๆ ที่ได้ทำประโยชน์แก่พุทธศาสนาอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นส่วนมาก เพราะได้รับการฝึกฝนมาอย่างถูกต้องจากท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้นเอง

    ณ ที่นี่เองท่านก็ได้รู้จักภาษาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า เป็นต้นว่า ลิงบ้าง นกบ้าง มันคุยกัน มิใช่ว่าท่านจะได้ยินเพียงแต่มีเสียงจี๊ด ๆ แจ๊ด ๆ หรือ กรี๊ด ๆ แกร๊ด ๆ แต่ว่ามันก็ใช้ภาษาของมัน ซึ่งบางครั้งท่านอาจารย์เล่าว่า

    พวกนกจะรู้ภาษากันก็หาไม่ พวกมันก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่มีบางตัวบางพวกก็ไม่เชื่อฟัง มันรู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีว่า มนุษย์บางคนมีจิตใจโหดร้าย มาขโมยเอาลูกเขาไปทั้ง ๆ ที่เขาก็หวงแสนหวง แต่พวกนกหนูทั้งหลาย บางครั้งไปหากิน ลักขโมยมนุษย์ตามไร่ตามสวนนั้น หาใช่ว่าพวกมันจะไม่รู้ก็หาไม่ พวกเขาก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่พวกมันก็ไม่ยอมเชื่อฟัง แต่บางทีพวกนักล่าลิง ได้ยิงลิงแล้วเอามาลอกหนังกินเสียนั้น พวกลิงมันก็เห็นว่ามนุษย์นี้น่ากลัวยิ่งนัก แต่พวกที่ไม่เคยเห็นว่ามนุษย์ฆ่าพวกมัน ๆ จะไม่กลัว แต่ว่าพวกมันเห็นว่าเป็นตัวอะไรแปลกน่ากลัว นี้เป็นภาษาสัตว์ ซึ่งผู้ใดได้รู้และเข้าใจภาษาของมันแล้ว ก็จะทำให้ได้รู้อะไรแปลก ๆ ขึ้นมาก
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    และในบริเวณนั้นมีลิงอยู่ฝูงหนึ่งที่ไต่ยั้วเยี้ยอยู่ตามข้าง ๆ ถ้ำ บางครั้งพวกมันจะหายไป เพราะไปเที่ยวหากินตามที่ไกล ครั้นพอเวลาเย็นมันก็จะกลับมาอยู่ข้างถ้ำ ต่างก็สนทนากันทุกวัน บ้างก็ทะเลาะกัน บางทีก็สัพยอกหยอกกันตามภาษาของมัน ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า

    น่าขำ บางตัวมันจะว่า มึงได้อะไรมาไม่แบ่งกู กูได้มาก็ยังแบ่งให้มึงบางทีไปเจอลูกผลไม้อะไรที่อร่อยในลูกเดียวกัน.มันก็ต้องยื้อแย่งกันจนต้องกัดกัน ตัวหน้าหรือจ่าฝูงต้องมาห้าม บางทีเขาชอบพอกันระหว่างตัวเมียกับตัวผู้ มันก็ว่า ฉันชอบเธอ อะไรทำนองนั้น แต่ที่ดีที่สุดนั้นคือเขาจะมีการยำเกรงหัวหน้ากันมาก เชื่อกันจริงๆ พอหัวหน้าให้สัญญาณมันจะต้องเงียบ ให้สัญญาณหากินกันได้ ก็รีบไปหากิน ให้สัญญาณกลับก็จะกลับกันทันที

    มีอยู่สี่ห้าตัวซึ่งเป็นลิงชั้นหัวหน้า พากันมานั่งอยู่บนก้อนหินก้อนหนึ่งชำเลืองคอยดูท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็มิได้เอาใจใส่ แล้วมันก็สนทนากันว่า ฤๅษีนี้ดีมากไม่เหมือนฤๅษีองค์ก่อนๆ ฤๅษีองค์ก่อนๆ นั้น บางทีก็ขว้างปาเรา เหมือนกับจะกินเรา และทำผิดทำเนียมของฤๅษี ไม่ทำความเพียรเหมือนฤๅษีเราองค์นี้นั่นเองถึงได้ต้องตายกันไปจนหมด เราเข้าใจว่าฤๅษีองค์นี้คงไม่ตายแน่เพราะฤๅษีองค์นี้ร่างกายท่านผ่องใสมาก

    ท่านอาจารย์ท่านได้ยินพวกมันพูดกันโดยตลอด โดยที่ท่านรู้และเข้าใจภาษาสัตว์ ท่านก็นึกในใจว่า

    พวกสัตว์เดียรัจฉานแท้ๆ มันก็ยังรู้อะไรๆ ดีเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาเพียงแต่ส่งเสียงร้องกันเจี๊ยก ๆ จ๊ากๆ แต่มันก็มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ดูแต่เราฟังภาษาแขกภาษาจีน ภาษาฝรั่งเถอะ ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะไม่รู้เรื่องอะไร คือไม่ผิดอะไรกับที่เราฟังอึ่งอ่างมันร้อง พวกนกหนูปูปีกมันส่งเสียงร้อง และเราก็จะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ถ้าใครได้เรียนตามภาษานั้น ๆ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เขาพูดอะไรกัน

    ในการผ่องใสแห่งจิตที่ได้รับในถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ของท่านพระอาจารย์มั่น ฯ จึงเป็นที่พอใจของท่าน ที่ได้เข้าถึงธรรมอันละเอียดทั้งฌานทั้งญาณ ทำให้ท่านแน่ใจถึงความรู้ของท่านอย่างแท้จริง ครั้นท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นี้ จวบใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไป ผ่านจังหวัดสระบุรี ได้ไปถึงจังหวัดลพบุรี และได้พักอยู่ที่ถ้ำสิงห์โต เขาช่องลม (ปัจจุบันนี้เรียกเขาพระงาม ) ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๔๖

    ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่สถานที่นั้นเป็นที่สงบสงัดเงียบยิ่งนัก ท่านได้พักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นั่นหลายวัน และในขณะที่ท่านอยู่ ถ้ำเขาช่องลมนั้นท่านบำเพ็ญความเพียร หวนระลึกถึงความเป็นจริงที่ท่านได้ปรากฏแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ท่านได้ระลึกว่า

    สาวกของพระพุทธเจ้า.จะต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ และถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย

    โดยนัยนี้ท่านก็ได้รู้ขึ้นภายในสมาธิ คำว่าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุนั้น ได้แก่การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความถูกต้อง หรือต้องการความจริงแท้ ต้องดูความจริงอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ได้ออกบรรพชาในเบื้องต้น ซึ่งพระองค์ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ราชบัลลังก์ พระมเหสี ราชสมบัติ แม้ที่สุดพระเกศา การเสียสละเช่นความสุขอันเป็นไปด้วยราชสมบัตินั้น พระพุทธองค์มีผู้คนคอยยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติวัฏฐาก แล้วได้เสียสละมานอนกับดินกินกับหญ้าใต้โคนต้นไม้ ถึงกับอดอาหารเป็นต้น การเสียสละเหล่านี้เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อให้ถึงซึ่งวิโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย และเมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็ทรงนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ อันเป็นสถานที่สงบสงัด และได้ทรงพิจารณาซึ่งความจริงคือ อริยสัจ ๔ นั้น นี้เป็นมูลเหตุอันเป็นเบื้องแรกของพระองค์ สาวกผู้ที่จะเจริญตามรอยพระยุคลบาทนั้น จำเป็นที่จะต้องระลึกถึงความเป็นจริงของพระพุทธองค์ในข้อนี้ นำมาเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาของตนที่กำลังดำเนินอยู่ว่า ในการปฏิบัติหรือการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พวกเราได้พากันถือเอาต้นเหตุให้พึงระลึกถึงความจริงของตนที่ว่าได้เสียสละโดยความเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่ถือเอาความจริงตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ในข้อนี้ ก็จะเรียกได้ว่า ไม่ถือเอาพระองค์เป็นมูลเหตุ คือบางหมู่บางเหล่าถือการปฏิบัติเพียงแต่เป็นโล่ห์บังหน้า แล้วก็มีเบื้องหลังที่ไม่มีการเสียสละหรือทำไปอย่างมีการยุ่งยากพัวพัน จะสละก็สละไม่จริง ซึ่งบางทีแม้แต่เป็นบรรพชิต แล้วก็ยังมีจิตใจโลภโมโทสัน ไม่สละแม้แต่อารมณ์ ยังจะถือว่าข้าพเจ้ามียศถาบรรดาศักดิ์อะไรเทือกนั้น
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บางทีการอยู่ป่าเอามาเพียงเพื่อเป็นเลศบางประการ ทำเป็นว่าเรานี้อยู่ป่าอยู่เขา เหมือนจะออกวิเวกให้เป็นที่บำเพ็ญความสงบ แต่กลับเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความห่วงใยอาลัย ยุ่งยากด้วยการก่อสร้าง สะสมด้วยเครื่องกังวลนานับประการ นี้ไม่ได้ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ

    ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเกิดความสว่างผ่องใส อันเป็นภายในนั้น ท่านพยายามพิจารณาหาความจริง เพื่อเป็นแนวทางในอันที่จะปฏิบัติตัวของท่านให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่แท้จริง และจะได้แนะนำให้คนอื่นทำให้ถูกทางต่อไป ท่านจึงได้พิจารณาต่อไปถึงคำว่า

    พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ

    ท่านได้คำนึงว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติตัวของพระองค์ให้เป็นแบบอย่างจริง ๆ มิใช่เพียงทรงสอนคนอื่นแล้วพระองค์ไม่ทรงปฏิบัติ เช่นตอนแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว จะทรงรับข้าวมธุปายาสจาก ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ก็ทรงหาบาตรเพื่อรับ และพระองค์ก็ทรงทำพุทธกิจ

    บุพพณฺเห บิณฺฑบาตญฺจ รุ่งเช้าพระองค์เสด็จไปบิณฑบาต
    สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอนป่ายพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท คืออุบาสกอุบาสิกา
    ปโทเส ภิกฺขุ โอวาทํ พอพลบค่ำพระองค์ก็ทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุและสามเณร
    อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหานํ ตอนกลางคืนทรงแก้ปัญหาเทวดาทั้งหลาย
    ปจฺจุสฺเสฺว คเตกาเล ภพฺพา ภพฺเพ วิโลกานํ ในเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรวจดูว่า สัตว์โลกจะมีผู้ใดบ้างที่มีวาสนาบารมีอันจะพึงได้รับพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงใคร่ครวญแล้วทรงทราบว่า ผู้ใดสมควรจะได้รับผลแห่งธรรม พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้เขาเหล่านั้นได้รับผลแห่งธรรม

    นอกจากนั้นพระองค์จะทรงปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติ เช่น การทรงจีวร การฉันเฉพาะในบาตร แม้กระทั่งจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงอุ้มบาตรไว้ตลอดเวลา

    นับแต่วันที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์จะทรงเปี่ยมพระทัยถึงความมีพระเมตตาต่อมนุษย์ทุกถ้วนหน้า ไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงกระทำประโยชน์ให้แก่เขาทั้งหลาย โดยมิได้คิดเพื่อจะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนเลย ทรงเสียสละอย่างจริงใจแท้ แม้บางครั้งพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อย ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างหนัก แต่พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างที่ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยนั้นแต่ประการใด

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พิจารณาถึงเนติแบบฉบับ รำพึงถึงความจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว ก็ได้คำนึงต่อไปอีก

    การที่ให้ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับนี้ ย่อมเป็นประการสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าสาวกไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างแล้ว จะเป็นเพียงอาศัยการอยู่ในพุทธศาสนา เพียงเพื่อหาความสุขอันไม่ถูกทาง เช่นไม่มีเมตตากรุณา ไม่มีการเสียสละ แม้แต่จะปฏิบัติธรรมวินัย ถึงจะเป็นบรรพชิตแล้วก็ยังไม่ยอมเสียสละ เอาแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เอาแต่ความเพลินเพลินในกามคุณ หาอุบายวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความโลภ โกรธ หลง แม้แต่การเที่ยวไปบิณฑบาตก็หาว่าเสียเกียรติ หรือว่าการแสดงธรรม ก็ต้องมีกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องตอบแทน จะบำเพ็ญศาสนกิจ ก็ต้องหวังปัจจัยลาภ ในที่สุดก็ลืมความเป็นสมณะเสียสิ้น นี้คือไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับ

    ท่านอาจารย์มั่นฯ พยายามใคร่ครวญในข้อนี้มากที่สุด เพราะท่านมาทราบแน่แท้แก่ใจแล้วว่า การบำเพ็ญกัมมัฏฐานในสมัยนั้นได้เสื่อมลงมาก ไม่ใคร่จะตรงความจริงทั้งภายในทั้งภายนอก ท่านมาคำนึงว่า การปฏิบัติจิตนี้จะต้องประกอบพร้อมทั้งภายในภายนอก เช่นภายนอก การรักษาไว้ซึ่งพระวินัยน้อยใหญ่นี้สำคัญยิ่ง ถ้าผิดพระวินัยแม้แต่อาบัตินิดเดียวก็จะทำให้จิตละเอียดไม่ได้.เช่นการปฏิบัติเรื่องของบาตร ถ้าล้างแล้วไม่เช็ดเก็บไว้ในที่สมควรก็จะเป็นอาบัติทุกกฎ หรือการฉันจุ๊บ ๆ จั๊บ ๆ เป็นอาบัติทุกกฎ

    อาบัติเล็กน้อยจะล่วงละเมิดไปไม่ได้เลย ต้องรักษาให้เรียบร้อยจริง ๆ นอกจากอาบัติแล้วก็มีการรักษาธุดงค์ ข้อวัตรต่างๆ เช่นฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต เป็นต้น อันเป็นการนำไปสู่การขัดเกลากิเลสหยาบ ๆ นั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านพิจารณาว่าก็เป็นแบบฉบับที่พระบรมศาสดาได้กระทำเป็นแบบฉบับมาแล้ว ถ้าหากว่าผู้ต้องการความสงบ ความก้าวหน้าแห่งการบำเพ็ญจิตแล้วจะละเลยเสียไม่ได้

    และอีกประการคือรักษาวัตรต่าง ๆ จากวัตรหลายประการเช่น อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เวจจกุฎีวัตร เสนาสนวัตร ภัตตาวัตร และเสขิยวัตร เหล่านี้นั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติจิตทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเพื่อศีลวิสุทธิ์ และจิตวิสุทธิ์ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านปรารภในใจของท่านว่า บุคคลผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์นี้ ถ้าไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับแล้วจะไม่สามารถนำหมู่คณะไปสู่ความเจริญได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ทิ้งความจริงอันเป็นแบบฉบับที่ดีไว้แล้วเพื่อให้สาวกทั้งหลายได้เอาเป็นตัวอย่าง และตัวอย่างอันนี้ได้รับความเจริญยั่งยืนนานมาแล้ว เพราะเหตุแห่งแบบอย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้นเอง ที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงถาวรเจริญมาแล้ว การนำเอาพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับจึงเป็นการนำความเจริญได้แน่แท้แก่ตนและบุคคลอื่น ท่านได้คำนึงถึงข้อต่อไป ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

    ให้เอาเราเป็นที่พึ่งอาศัย คือว่าผู้ที่เป็นพุทธบริษัทนั้นควรจะได้รู้ข้อเท็จจริงในที่พึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า

    พาหุ เว สรณํยนฺติ ปพฺพตานิ วนานิ จ อารามรุกฺขเจตยานิ มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
    เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ เนตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
    โย. จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
    ทุกขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ
    เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺข ปมุจฺจติ

    มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากถูกภัยคุกคามแล้ว พากันไปถือภูเขา ป่า อารามและต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ ว่าเป็นที่พึ่ง

    นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม พวกเขาพากันพึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้

    ส่วนผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง มาเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ก้าวล่วงทุกข์ด้วยมรรค ๘

    นี่แหละเป็นที่พึ่งอันเกษม นี่แหละเป็นที่พึ่งอันอุดม พวกเขาอาศัยที่พึ่งนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไม่ให้ถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพราะว่าการถือเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งนั้น เป็นเรื่องงมงาย เช่น ต้นไม้ใหญ่ ตั้งศาลพระภูมิ ถือว่าผีเจ้าเข้าทรง เหล่านี้นั้นเป็นเรื่องของความไม่แน่ใจในพระองค์ ซึ่งท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พิจารณาเห็นว่า การเชื่อเช่นนั้น จะทำให้ผิดการดำเนินสู่จุดที่หมายแห่งความจริงในพระพุทธศาสนา แม้ในการบำเพ็ญจิตในเบื้องต้นก็จะทำให้ไขว้เขว เพราะขาดองค์คุณคือศรัทธา คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ได้บวชก็พอทำเนา แต่ผู้ที่บวชแล้ว เช่นพระภิกษุสงฆ์นี้ ย่อมจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในพระพุทธองค์ จึงได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท แต่พระภิกษุสงฆ์บางองค์กลับมาเป็นเสียเอง เช่นพาเขาไปตั้งศาลพระภูมิ หาวันตั้งศาลพระภูมิ นี้เป็นการแสดงถึงความไม่แน่ใจของท่านต่อองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของท่านเอง ท่านเหล่านั้นหาได้คิดไม่ว่า การกระทำเช่นนั้นคือการทรยศ อาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ โดยการอยู่ได้ด้วยปัจจัยบริโภค ไม่อดอยากปากแห้ง แต่กลับถือเอาศาสนาคร่ำครึที่พระพุทธองค์ได้ทรงตำหนิแล้ว นำเอามาใช้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ออกปากว่า ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่เหตุไฉนเล่า จึงไปสนับสนุนการนับถือศาสนาอื่น อันที่เรียกว่าพระภูมิบ้าง อะไรอื่นบ้าง นั้นคือการทรยศต่อพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า ข้อนี้สำคัญ เพราะจะเป็นเบื้องต้นของการจะดำเนินไปหาที่สุดแห่งทุกข์ เพราะทุก ๆ คนที่เป็นศาสนิกชนต้องกล่าวว่า

    ข้าพเจ้าถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

    แต่เขาไฉนจึงไปถือเอาผีป่า พระภูมิ ซึ่งมันหาตัวจริงมิได้เป็นที่พึ่ง เมื่อขั้นต้นทำไม่ได้แล้วต่อไปจะทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ทางฝ่ายพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นผู้มีความเชื่อมั่นใจในพระพุทธองค์อย่างแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ออกจากความเป็นฆราวาสมาทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ จึงต้องไม่เป็นผู้ทรยศต่อองค์พระบรมศาสดา ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า

    คำว่าศรัทธา คือความเชื่อนี้ จึงถือว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเช่นท่านพระอริยบุคคลชั้นต้น คือพระโสดาบัน ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา มีข้ออันท่านพระโสดาบันละได้อันเนื่องมาจากมรรคนั้นมี ๓ ประการคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความเห็นถือว่าเป็นตัวตน ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความลูบคลำในศีล คืองมงายในสิ่งไม่ควรจะยึดถือ เช่นนับถือภูต-ผี-พระภูมิเป็นต้น นี่เป็นสิ่งแสดงว่าการจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยถือเอาพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ความจริงแล้วการนับถือพระพุทธองค์นั้นก็คือต้องการให้เอาพระพุทธองค์เป็นมูลเหตุ และเป็นแบบฉบับนั้นเอง แม้ว่าเราจะยังไม่เป็นอริยโสดาก็ตาม แต่เราก็ต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยศาสดาเป็นต้น ความที่เป็นบุคคลอ้างตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุสามเณร แต่พากันหลงเชื่องมงาย.เช่นเชื่อ ศาลพระภูมิ เชื่อผีเจ้าเข้าทรง พระภูมิเจ้าที่ อะไรอย่างนี้ จะอ้างตนว่าเป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา นั้นดูเป็นการไม่สมควรเลย

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า

    เราต้องการสอนคนให้เข้าถึงอริยสัจธรรม ถึงความเป็นอริยบุคคล ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ำถึงความจริงข้อนี้ให้หนักที่สุด เพราะถ้าไม่เข้าใจถึงความจริงแห่งความเชื่อนี้แล้ว จะเป็นการกั้นหนทางที่จะเข้าสู่ความจริงเป็นอริยเสีย เราทุกคนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปรารถนาพระนิพพาน แม้การบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ก็กล่าวกันว่า นิพพานปจโยโหตุ ขอให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเถิด แม้ว่าเราจะพึงทราบว่าผู้ใดผู้หนึ่ง ทรงความเป็นอริยบุคคล เราก็จะให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง นี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณธรรมอันสูง คือความเป็นอริยนี้ เป็นยอดปรารถนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน

    ก็แต่ว่าเบื้องต้นในการดำเนินไปสู่ความเป็นอริยนี้ จำเป็นที่จะต้องมองดูความจริงข้อนี้คือ

    ให้ถือเอาเราเป็นที่พึ่งอาศัยอันเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เน้นหนักในข้อที่ว่า ต้องไม่ถือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งท่านได้คำนึงความข้อนี้ว่า ต้องให้ผู้ที่จะดำเนินจิตตามเรา เราจะต้องแนะนำให้เห็นจริงในข้อนี้เสียก่อน จึงจะสอบความจริงในชั้นต่อไป เป็นอันได้ความละเอียดแน่ชัดพร้อมกับความสว่างไสวภายในของท่านในข้อความ ๓ ประการ แห่งพระดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ

    ๑ ให้ถือเราเป็นมูลเหตุ ๒ ให้ถือเราเป็นเนติแบบฉบับ ๓ ให้ถือเราเป็นที่พึ่งอาศัย

    เมื่อรุ่งเช้าวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันปลอดโปร่งที่สุดแล้ว ท่านคงบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามปกติ.อยู่มาวันหนึ่ง ท่านนั่งกำหนดพิจารณาความละเอียดอยู่ในถ้ำสิงห์โตนั้น ได้ระลึกไปถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ณ ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่วัดนั้น ก็ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง บนธรรมาสน์ ในเวลานั้นเป็นเวลาราว ๒๓.๐๐ น.เศษ นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และกำลังพิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาทว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อเป็นชาติก็ต้องมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ และการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ นี้เหตุมาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อยังมีอวิชชาอยู่ตราบใด ก็จะต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตราบนั้น

    ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านก็ได้คำนึงถึงพระพุทธเจ้า ที่ทรงพิจารณาถึง ปฏิจจสมุปบาท ว่าพระองค์ท่านได้ทวนกระแสกลับ ดูตัวอวิชชา ท่านจึงได้เริ่มทวนกระแสว่า เพราะเหตุใดท่านจึงต้องแก่ ตาย โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้รำพัน คับแค้นแน่นใจ เพราะความพลัดพรากจากของชอบใจ พลาดหวัง ท่านได้พิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะได้เกิดมาเป็นอัตภาพแห่งมนุษย์ จะต้องประสบความเป็นเช่นนี้ทุกคน อัตภาพคือความเกิดนั้นมาจากอะไร ก็มาจากภพ

    คำว่าภพก็คือสัตว์ทั้งหลายที่พึงอาศัยอยู่ ขณะนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในภพ ซึ่งมันเป็นผลมาจากอะไร ก็เป็นผลมาจากอุปทาน คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตเศร้าหมองติดพันอยู่กับสิ่งใด ด้วยเหตุแห่งการยึดมั่น จิตก็จะไปก่อกำเนิด ณ ที่นั้น เช่นบุคคลที่ทำจิตไปในทางฌาน เพ่งอยู่ในความละเอียดคือไม่มีรูป ก็จะไปเกิดในภพเป็นอรูปภพ เพ่งอยู่ในความละเอียดในรูป ก็จะไปเกิดในภพคือรูปภพ และถ้าได้ฝึกจิตเป็นธรรมดา ก็จะไปเกิดในกามภพ เช่น มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน เปรต นรก เป็นต้น สุดแล้วแต่จิต ไปประหวัดกับอะไร ก็จะไปถือกำเนิดในสิ่งนั้น สุดแล้วแต่กรรมของคนที่จะประหวัดเห็นดีไป

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็พิจารณาไปก็ได้ถอยกลับมาจากที่ว่า ก่อนอุปาทานนี้มาจากอะไร คือมาจากตัณหา คือความทะเยอทะยาน อันความทะเยอทะยานนี้ คือกามตัณหา

    ความทะเยอทะยานในกามคุณ คือความใคร่ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น

    ความทะเยอทะยานในภวะ คือความมีความเป็น ต้องการอยาก รูปสวยรวยทรัพย์ ต้องการอยากเป็นคุณหญิงคุณนาย ต้องการอยากมียศถาบรรดาศักดิ์

    ทะเยอทะยานในวิภวะ คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น คือไม่อยากมีความทุกข์ ความอดอยากปากแห้ง ไม่อยากเสื่อมจากยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนกำลังเฟื่องฟูอยู่

    ความทะเยอทะยานเหล่านี้ ก็มาจากเวทนา คือความเสวยทุกข์ เสวยสุข ทุกข์ที่เกิดเป็นมีขึ้นมาแล้ว และได้รับผลอยู่ทุกกาลเวลาแห่งความเกิดขึ้น ได้รับอันเนื่องมาจากความได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ขณะที่เสวยทุกข์นั้น ก็ต้องการแต่ความสุขเป็นต้น แต่ผลหาได้มีแต่ความสุขไม่ ต้องมีทุกข์ด้วย

    ความเสวยสุขเสวยทุกข์นี้เนื่องมาจากอายตนะ คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เช่นมีตาไปเห็นรูป ก็เกิดความสุขทุกข์ หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจกระทบอารมณ์ เกิดความสุขทุกข์ ก็นับเนื่องมาจากนามรูป เพราะนามกับรูปที่ก่อกำเนิด เกิดขึ้นมาเป็นคน คนเรานี้มีนามกับรูปจึงเป็นตัวขึ้นมาได้

    ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านได้พิจารณาถอยร่นปฏิจสมุปบาท มาจนถึงรูปนามนี้แล้ว ท่านเกิดความสงสัยว่า ถอยจากรูปนามยังมีวิญญาณและสังขาร แล้วจึงขึ้นต้นด้วยอวิชชา และวิญญาณ สังขารนี้ก็มีแล้วในนามรูป เหตุไฉน จึงมามีสังขารและวิญญาณ โดยเฉพาะของตัวมันอีก เมื่อท่านสงลัยแล้วก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น.
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อยู่มาวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม ลพบุรี เพราะโดยปรกติแล้วท่านจะไปที่นี่บ่อยๆ ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มาก จนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๒ วากว่า และวันนั้นเป็นวันที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มาที่เขาพระงามตามปกติ ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มา ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ถามขึ้นว่า

    เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ค่ำที่แล้ว คือเดือน. ๘ นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมา แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย

    ท่านจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่น ฯ ว่า

    ก็ท่านอาจารย์ว่าอย่างไรเล่า ที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม ?

    ท่านอาจารย์มั่นจึงตอบว่า ได้. แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า

    ปฏิจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ

    สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร-วิญญาณ-ของนามรูป

    สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่งอาศัย วิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธานอาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง ๒ นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขาไปรู้จริงได้

    เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า

    อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง

    หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ.อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้น ท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้ว จงไปศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ เถิด เธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านอาจารย์มั่น ฯ

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีได้กล่าวเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายอยู่เสมอๆ ทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรม สนใจในท่านอาจารย์มั่นฯ มากขึ้น ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน

    ในปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านก็ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้จำพรรษาที่กรุงเทพ ฯ ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษา เพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม ท่านก็พยายามมาที่วัดบรมนิวาสทุกๆ วันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังเทศน์แล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็จะให้เข้าไปหาท่านอยู่ ๒ ต่อ ๒ และขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ ตลอดระยะเวลาพรรษา ในตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า

    วัดสระปทุมมีอาจารย์สอนกัมมัฏฐานอยู่องค์หนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ท่านสอบแบบอานาปานสติ คือให้ตั้งใจอยู่ที่ลมแล้วก็กำหนดตั้งไว้ เช่นครั้งแรกให้ตั้งอยู่ที่กระหม่อม เมื่อดีแล้วก็ลดลงมาที่หน้าผาก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่ปลายจมูก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่หน้าอก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่สะดือ กำหนดลม พร้อมกับบริกรรมว่า พุทโธๆ ให้นับพุทธ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐-๑๐๐ แล้วทวนกลับ ๑๐๐-๙๐-๘๐-๗๐-๖๐-๕๐-๔๐-๓๐-๒๐-๑๐-๔-๓-๒-๑ ทวนไปทวนมา ท่านได้สังเกตดู คนบางคนได้รับความเย็นใจมากพอสมควร นับว่าเป็นทางที่ให้เกิดความสงบได้ แต่ท่านเล่าว่ามันเป็นการเกินความจำเป็นที่จะกำหนดเช่นนั้น เพราะเมื่อเรามีความสงบแล้วก็ควรปล่อย แล้วรักษาแต่สติให้คงอยู่ไม่ต้องนับ แต่เมื่อท่านสังเกตดูเหตุการณ์แล้ว ท่านก็ไม่ว่าหรือตำหนิอะไรในที่นั้น แม้เขาจะทำอยู่เช่นนั้นก็ไม่เห็นบาปกรรมอะไร เป็นกุศลแก่เขาอย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อผู้ใดบำเพ็ญภาวนาก็เป็นเหตุ เป็นบ่อเกิดกุศลผลบุญอย่างที่บุคคลจะพึงกระทำได้ยาก การที่ท่านเดินไปวัดบรมนิวาสทุกวันพระนั้น แม้เส้นทางจากวัดสระปทุมดูเหมือนก็จะไกลมิใช่น้อยแต่กลับเป็นใกล้ เพราะขณะที่เดินไป ท่านภาวนาไปด้วย

    ในวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินไปนั้น กำหนดจิตสงบลง ปรากฏว่าเหมือนกับแผ่นดินยุบลงไป แลดูไปทุกอย่างที่ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าตัวตน เดินเหมือนกับชั่วอึดใจเดียวก็ถึงวัดบรมนิวาส

    ในวันนั้นเป็นเวลากลางวัน ขณะที่ท่านเดินออกจากวัดบรมนิวาสไปถึง ถนนหลวง ขณะที่กำลังเดินไปอยู่นั้น ท่านเล่าว่าเวลาจึงกำลังดูดดื่มในอรรถปฏิบัติมาก ทั้งเดินไปทั้งเจริญอสุภกัมมัฏฐานไปเรื่อย ๆ ขณะนั้นได้มองเห็นผู้หญิงแขกคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ข้างหน้า ประเดี๋ยวเดียวผู้หญิงแขกคนนั้น ปรากฏว่ามีร่างกายอ้วนขึ้นทุกที นึกแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ก็ได้มองดูไปเรื่อย ๆ หนักเข้า มันมิใช่อ้วนเสียแล้วนั้นคือทั้งตัวกำลังพองเน่าขึ้นอืด อันจะให้เป็นของน่าเกลียดนั้นเอง พอมันขึ้นเต็มที่ของมันแล้วก็เปื่อยเน่า มีน้ำเลือดและน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แล้วมีพวกหมู่หนอนชอนไชและแมลงวันไต่ตอมไปมา น่าเกลียดจริง ๆ ในที่สุดเลือดเนื้อและหนังเอ็นก็ได้เปื่อยเน่าย่อยยับไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกติดต่อกันไว้เท่านั้น แล้วก็ได้เห็นโครงกระดูกนั้นเดินไปได้ จะปรากฏเป็นชายหรือหญิงก็หาไม่ จึงได้เกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก

    ทั้งนี้ก็เพราะท่านมิได้ตั้งใจที่จะพิจารณาให้ร่างกายนั้นเป็นอสุภอะไร เพียงเพียงมองดูธรรมดา ๆ เท่านั้นแต่มันก็สามารถเป็นไปได้ จึงได้นึกถึงประวัติของพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล นัยว่าท่านกำหนดเอากายคตาสติเป็นอารมณ์เหมือนกัน

    วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่นั้น สามีภรรยาคู่หนึ่งเกิดทะเลาะกัน ฝ่ายภรรยาก็หลบหน้าสามีไป ได้เดินทางผ่านมาพบกับพระเถระองค์นั้นเข้า เบื้องต้นหญิงคนนั้นก็ได้แสดงอาการยิ้มแย้มไปบ้าง พระเถระเมื่อมองไปเห็นฟันของหญิงคนนั้นเข้าแล้ว ได้ปรากฏเห็นเป็นร่างกระดูกไปทั้งตัว แล้วก็เห็นเป็นร่างกระดูกเดินได้ จึงมิได้รู้จักว่าคน ๆ นั้นเป็นหญิงหรือชาย

    ครั้นเมื่อสามีเขาตามมาพบพระเถระแล้วถามท่านว่า ได้พบผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้หรือไม่ ท่านจึงบอกเขาไปว่าได้เห็นแต่ร่างกระดูกร่างหนึ่งเดินผ่านไปแต่ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย

    ตั้งแต่วันนั้นต่อมาท่านจึงได้รู้เรื่องว่าการเจริญอสุภะ เมื่อเป็นไปแก่กล้าแล้ว สามารถเห็นเป็นอสุภะไปได้ทั้งนอกและใน จึงได้หมดความสงสัยในเรื่องนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    ท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าให้ฟังว่า

    ตามข้างทางจากวัดบรมนิวาสไปวัดสระปทุมในสมัยนั้น บนทุ่งนาบ้าง เป็นสวนบ้าง แม้แต่ที่วัดบรมนิวาสเอง ก็มีแต่หนามหวายเกิดอยู่เต็มบริเวณ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ในปีนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณาภายในพรรษานั้นว่า เราควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่เราจะได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากนักจะรู้ได้ เราอุตส่าห์พยายามมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อ ๆไป

    ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบล ฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

    ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่น ๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

    เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน

    เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า

    กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว

    กล่าวจบท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า

    การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

    จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔

    ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง. จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริง ๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็ก นักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า

    นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว

    เมื่อได้ล่ำลาศิษย์ของท่านเสร็จ ท่านก็จัดกลด อัฐบริขารของพระธุดงค์ออกจากวัดเดิมที่ท่านอยู่ ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่ง.จนกระทั่งได้เห็นอรรถธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ในปีนี้เองท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้คิดถึงพระกรรมวาจาจารย์ของท่านคือพระครูสีทา ชยเสโน เพราะหลังจากท่านได้พบกับความจริงแห่งการปฏิบัติแล้วนั้น ท่านใคร่จะให้อาจารย์ของท่านได้รับแสงสว่างแห่งธรรมนี้บ้าง ในวันหนึ่ง ท่านจึงได้เข้าไปนมัสการที่วัด และพูดขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย เมื่อท่านพระครูให้โอกาสท่านเล่าถวายแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้เริ่มเล่าความจริงที่ท่านได้ประสบมา ในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกานั้นว่า

    การปฏิบัตินี้เป็นทางที่จะเห็นทางพาให้พ้นทุกข์ คือมรรค ๘

    มรรค ๘ ข้อต้นนั้น ได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นชอบ เห็นอะไร เห็นอริยสัจ ๔

    อริยสัจ ๔ คืออะไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    มรรคคือ มรรค ๘ ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด ๘ ทุกข์คืออะไร คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น

    การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณา เพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิแล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสีย ควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจนจนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เจริญให้มาก กระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ

    เมื่อท่านพระครูได้ฟังแล้ว ท่านก็เกิดความเลื่อมใสว่า ธรรมเช่นนี้ แม้เราที่ได้เรียนมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพราะปริยัตินั้นเพียงแต่เรียนพอเข้าใจ แต่ไม่รู้วิธีการที่ใช้ คราวนี้รู้วิธีการที่จะทำอะไรกับสิ่งนั้นแล้ว เอาละเราขอขอบใจเธอมาก

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์ของท่านพอสมควรแล้วก็ลากลับไป เมื่อท่านพระครูได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ มาเป็นเวลานาน ครั้นแล้ววันหนึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาเห็นกายและเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย และสามารถทวนกระแสจิตเห็นตัวผู้รู้ผู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วสิ้นกังขาความสงสัยในใจซึ่งสัตถุศาสนา จึงได้ให้พระไปนิมนต์พระอาจารย์มั่นฯ มาพบและเล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ว่าทำถูกแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอให้เจริญให้มาก เมื่อพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็จะพึงรู้เอง

    เมื่อท่านพระครู ฯ ได้ให้ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้รู้เห็นเป็นพยานในการเห็นธรรมในกาลนั้นแล้วท่านได้รำพึงว่า

    ศิษย์ของเราองค์นี้นับว่าเห็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากเหลือเกิน เพราะเมื่อได้รู้ได้เห็นธรรมอันแท้จริงแล้วก็ไม่ลืมครูบาอาจารย์. อุตส่าห์มาแนะนำให้เราได้รู้ได้เห็น และเป็นการถูกต้องแม้เราเป็นพระผู้เฒ่า เป็นถึงอาจารย์ถ้าจะพึงมัวถือแต่มานะทิฏฐิก็คงไม่สามารถฟังธรรมจากศิษย์ที่มีความสามารถในธรรมได้ แต่ก็ดีที่มีศิษย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เป็นประโยชน์แก่ชนบทเป็นอันมาก อันว่าศิษย์นั้นถ้าดี ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ก็พลอยได้รับเกียรติและชื่อเสียงตามไปด้วย นี่ก็เป็นเช่นนั้น

    ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมโดยทั่วไป สุดแล้วแต่ผู้ใดจะมีความสามารถ เมื่อผู้มีความสามารถมากก็แนะนำบอกกล่าวแก่ผู้มีความสามารถน้อย ก็จะทำให้สัตถุศาสนากว้างขวางออกไป มิใช่ว่าใครจะว่าเราใหญ่เราโต เป็นอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ เรามียศถาบรรดาศักดิ์แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องกีดขวางการที่จะศึกษาหาธรรมอันยิ่งให้ตน นี่เป็นทางเสื่อมเสียแก่ตน.และผู้อื่นอย่างใหญ่หลวง แต่เราเองมิได้คิดเช่นนั้น เราได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมณธรรมตามที่ศิษย์ของเราแนะนำให้จนเกิดผล และเราเองบัดนี้ก็จะสามารถสอนใครต่อใครให้ดำเนินตามแนวนี้ อันเป็นทางถูกต้องแก้ความสงสัยได้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น.ฯ เห็นท่านพระครูฯ นั่งนิ่งเฉยอยู่นาน ท่านก็เลยอำลากลับ และในปีนี้เองท่านก็ได้พบโยมมารดาของท่าน ซึ่งท่านได้ตั้งใจไว้ว่าท่านจะโปรดโยมด้วยธรรมทั้งหลายที่รู้มาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปพบกับโยมที่บ้านตำบลบ้านบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ

    เมื่อโยมได้เห็นท่านก็มีความดีอกดีใจมาก เพราะท่านได้จากไปเสียนาน เมื่อท่านได้ปราศรัยเล่าถึงการเดินทางธุดงค์ ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนได้แสงสว่างแห่งธรรมได้แก่โยมฟัง จนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็ย้อนมาพูดถึงการปฏิบัติโดยขอร้องให้โยมพยายามปฏิบัติจิตอันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ ทางโยมมารดาก็ตกลงที่จะปฏิบัติตามที่ได้แนะให้

    นับแต่ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำให้แล้ว โยมมารดาก็ได้มีความสนใจเป็นกรณีพิเศษ ได้ทำตามคำแนะนำทุกประการ และจิตก็เป็นไปได้ตามจริงที่เกิดขึ้น ได้รับความเย็นใจมีศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชเป็นชี โดยมีท่านอาจารย์เสาร์บวชให้

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า

    โยมมีความเพียรมาก แม้ว่าจะแก่แล้วก็ตาม อธิษฐานนอนตะแคงข้างขวาตลอดชีวิต มีการเดินธุดงค์ไปในที่กันดารเช่นเดียวกับพระสงฆ์ รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวตลอดชีวิต มีความเพียรมั่นคงไม่ท้อถอย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ เองก็ชมว่ามารดาของท่านมีความเพียรแก่กล้า หลังจากที่โยมได้บำเพ็ญกัมมัฏฐานตามคำแนะนำของท่านอาจารย์มั่นฯ มาหลายปี ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ทราบว่า อินทรีย์ของการอบรมจิตได้แก่กล้าแล้ว ท่านได้แนะนำวิธีสุดท้ายคือ

    การบำเพ็ญวิปัสสนาญาณให้เกิดความแก่รอบของญาณโดยอุบาย ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้วพระพุทธองค์ได้ทรงให้ปัญจวัคคีย์ พิจารณา รูป เวทนา เป็นต้น โดยปัญญาตามความเป็นจริง ปัญญาในที่นี้ได้แก่ ญาณ หรือความรู้อันเกิดจากกระแสธรรมอันยิ่ง

    โยมมารดาของท่านได้รับการอบรมมากแล้ว ก็พิจารณาตามนั้น จนเป็นที่พอแก่ความต้องการ โดยการเจริญให้มากกระทำให้มาก มีความรู้ความสามารถทวนกระแสจิตเข้าถึงซึ่งฐิติภูตัง และเจริญต่อไปจนเป็นการพอโดยการอบรมเป็นอินทรีย์ บังเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ออกอุทานต่อหน้าพระอาจารย์มั่นฯ ว่า

    เราหายสงสัยแล้ว เราจะไม่มาเกิดอีกแล้วจึงนับว่าเป็นที่พอใจของท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้บอกแก่โยมมารดาของท่านว่า

    บัดนี้อาตมาภาพได้ทดแทนบุญคุณของคุณโยมหมดแล้ว เป็นการทดแทนที่ได้สิ้นสุดลงเป็นการสุดท้าย

    จากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พยากรณ์มารดาของท่านกับพระบางองค์ว่า

    มารดาของท่านได้เป็นอริยบุคคลชั้นที่ ๓( ตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ) หลังจากนั้น เมื่อสังขารของโยมแก่หง่อมแล้ว ความชราเข้าครอบงำ ลูกหลานขอให้รับประทานอาหารในตอนเย็นก็ไม่ยอม โยมมารดาของท่านพูดว่า เราต้องมีศีล ๘ เป็นวิรัติตลอดชีวิตของเราเมื่อถึงกาลที่โยมมารดาของท่านจะสิ้นชีวิต ท่านก็ได้บอกถึงวัน เดือน ปี เวลาบ่าย ๓ โมงเย็นว่าจะถึงแก่กรรม เมื่อถึงกาลนั้นก็ได้ถึงแก่กรรมตามที่พูดไว้ด้วยความสงบจริง ๆ ในตอนสุดท้ายเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ทราบวันเวลาแล้วท่านก็ได้ไปทำฌาปนกิจศพมารดาของท่านด้วยตัวท่านเอง

    ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งได้พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ได้ออกจากการเป็นครูแล้ว เพราะผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่ได้รับการแนะนำจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งปรากฏว่าได้รับผลเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง

    ในระหว่างเดือนเดียวกันนั้น พระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านก็พลอยได้ไปศึกษาด้วย และได้เกิดความเลื่อมใสในอุบายทางด้านการปฏิบัติพอสมควร ท่านอาจารย์สิงห์ได้ตกลงใจอย่างแน่วแน่ ในการเปลี่ยนจากพระปริยัติเป็นพระธุดงค์เพื่อติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ต่อไป ส่วนพระปิ่นเป็นผู้น้องชายขอลาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยปฏิญาณว่าจะขอศึกษาสัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะลาออกปฏิบัติตามภายหลัง เมื่อท่านพักศึกษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ครบกำหนด ๕ ปี และสอบได้เปรียญ ๕ ประโยคแล้ว ก็ได้ออกไปปฏิบัติตามคำปฏิญาณของของท่านจริงๆ โดยติดตามท่านอาจารย์ไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่าเขาอันเป็นสถานที่วิเวก

    ในสมัยนั้นพระเปรียญที่ออกเที่ยววิเวกธุดงค์กัมมัฏฐาน ท่านนับว่าเป็นองค์แรก ซึ่งแต่กาลก่อนนานมาแล้วไม่เคยมีปรากฏเลย นับเป็นศุภนิมิตที่ดีอย่างยิ่ง เมื่อท่านออกธุดงค์คราวนี้ ท่านก็ได้นามว่า พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๐ ปี พรรษาที่ ๘

    ในคราวเดียวกันกับที่ท่านออกธุดงค์ในคราวนั้น มีพระที่ออกธุดงค์ไป เพื่อจะศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ ด้วยกัน ๓ องค์เท่านั้น คือ ๑ พระอาจารย์คำพวย ๒ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี ๓. พระอาจารย์ทอน บ้านหัววัว อ.ลุมพุก จ.อุบลฯ
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876

    พ.ศ. ๒๔๕๙
    ถ้ำภูผากูด กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม
    เมื่อออกพรรษา ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด เมื่อทราบแน่แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินโดยเท้าเช่นพระธุดงค์ทั้งหลาย ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือน ๆ ก็ไม่เห็นสักคันหนึ่ง ตามทางที่ท่านไปก็เป็นดงดิบ ล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่ บางต้น ๙ อ้อม ๑๐ อ้อม แลดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงๆ ขณะที่เดินธุดงค์เห็นว่าที่ไหนเหมาะ ก็แวะพักทำความเพียรกันเป็นเวลา ๕ วัน หรือ ๗ วัน

    ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินธุดงค์ระหว่างทางยังไม่ถึงถ้ำภูผากูดนั้น ท่านได้คิดถึงอาจารย์ของท่านมากและก็วันหนึ่งหลังจาการพักผ่อนการเดินทาง ซึ่งเร่งเดินเป็นวัน ๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ที่เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ระลึกถึงที่ท่านได้ทราบภายในญาณเมื่อคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาว่า ท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ

    ถ้าหากว่าท่านยังมีจิตกังวลในการปรารถนาเช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน เพื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิต เราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้ ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเรา ๆ ก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ

    นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิละเอียดของท่านอาจารย์มั่นฯ แต่เมื่อท่านได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว และท่านก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไปจนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด โดยรอบบริเวณภูเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่งดี ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้ ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วจะอยู่กันนานไม่ได้เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย

    โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง ๕ ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีเป็นปรกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์มีความรู้ความชำนาญในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์มั่น ๆ ท่านว่าเราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้วเป็นที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาด อยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี คำว่าภูผากูด คือมีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้น ผักที่จะขึ้นตามผักกูดมาก็เช่นผักหนาม ผักเต่าเกียด

    ในคราวนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติด ๆ กับท่านอาจารย์มั่นฯ แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบล ฯ เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด

    ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เดินจนกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ท่านก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไป นานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์ มั่นฯ ได้เข้าไปกราบนมัสการสนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่ง ตามอัธยาศัย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์

    ในระหว่างพรรษาทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พูดขึ้นว่า

    ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่ ?
    ท่านอาจารเสาร์ได้ตอบว่าเราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน
    ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ?ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม
    ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจนท่านอาจารย์เสาร์ตอบ
    เพราะเหตุไรบ้างครับ ?ท่านอาจารย์มั่น ฯ ถาม

    เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้งท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

    ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง ?ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม

    เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้ ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ และได้กล่าวต่อไปว่า ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปรกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มันก็เรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไรรู้สึกว่าไม่ก้าวไป

    ท่านอาจารย์ มั่นฯ จึงกล่าวว่า กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง

    ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า และเธอรู้ไหมว่าเรามีอะไรเป็นเครื่องห่วง ?

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาลิกาโน้นจึงได้ตอบทันทีว่า ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเรื่องปัจเจกโพธิกระมังครับ

    ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า

    แน่ทีเดียว ในจิตใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ว่า ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฎ์นี้มันนานเหลือเกิน
     

แชร์หน้านี้

Loading...