ประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ จากหนังสือพุทธังกุโร มหาปุญโญ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ศุภกร เต็มคำขวัญ, 27 ธันวาคม 2010.

  1. ศุภกร เต็มคำขวัญ

    ศุภกร เต็มคำขวัญ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    307
    ค่าพลัง:
    +1,107
    ประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ
    จากหนังสือพุทธังกุโร มหาปุญโญ


    ดำเนินการโดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก
    ที่มา : จากหนังสือ พุทธังกโร มหาปุญโญ
    โดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก
    วัดป่านาคำน้อย อ.นายูง อุดรธานี


    สรรสาระชีวิต หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

    ตอนที่ ๑ ต้นตระกูลภูไท บรรพบุรุษของหลวงปู่จาม


    หลวงปู่จาม มหาปุญโญ นามสกุล ผิวขำ มีต้นตระกูลเป็นชนเผ่าภูไท กลุ่มเจ้าครองนคร หรือกลุ่มผู้ปกครอง
    ถิ่นฐานเดิมของภูไท อยู่ที่สิบสองปันนา สิบสองจุไท อาณาจักรน่านเจ้า มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัด ต่อมาเมื่อมีประชากรมากขึ้น การทำมาหากินเริ่มอัตคัดขาดแคลน ส่วนหนึ่งได้อพยพมาหาแหล่งทำมาหากินโดยมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองแถง เขตประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างจากป้อมเดียนเบียนฟูประมาณ ๒๓ กิโลเมตร และที่เมืองอังคำ เขตประเทศลาว


    ต่อมา ภูไทส่วนหนึ่ง ก็ได้อพยพต่อมาหาแหล่งที่ทำมาหากินที่เมืองพิน เมืองพะ-ลาน เขตประเทศลาว ผู้ปกครองลาวสมัยนั้นคือเจ้าอนุวงศ์ ได้เกณฑ์ชาวภูไทไปเป็นทหารเพื่อขยายอาณาจักรและจัดกองทัพเพื่อมารบพุ่งกับชาวไทย(ชาวสยามประเทศ) แต่เนื่องจากชาวภูไทรักสงบ ไม่ต้องการรบพุ่งทำสงคราม จึงอพยพหนีมาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยข้ามมาทางเรณูนคร มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดงบังอี่ (คำชะอี หนองสูงในปัจจุบัน) ส่วนกลุ่มที่ข้ามมาทางท่าแขก นครพนมนั้น มาตั้งถิ่นฐานอยู่พรรณานิคม ตรงกับสมัยรัช-กาลที่ ๒ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวภูไทได้เข้ามาในประเทศไทย(สยาม) หลายระลอกในหลายรัชสมัยได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวอำเภอกุสุมาลย์ พรรณานิคม วาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และบางส่วนก็เลยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลางอีกหลายแห่ง ชาวภูไท เรียกตัวเองว่า ภูไท หรือผู้ไท สำเนียงอาจเพี้ยนกันบ้าง จึงอนุโลมเรียกภูไทหรือผู้ไทก็ได้ เพราะเข้าใจความหมายว่า เป็นกลุ่มเผ่าเดียวกันโดยความหมายที่แท้จริง คือ เป็นคนไทย เพราะชาวภูไทเองนั้น ภาคภูมิในความเป็นคนไทย หรือเป็นไท แปลว่าอิสระ รักสงบ


    ภูไทมีภาษาของตนเอง พูดภาษามีสำเนียงหางเสียงท่วงทำนอง ไพเราะน่าฟัง เป็นภาษาไทยแบบภูไท มีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าหากพิจารณาเห็นว่าดีกว่า เหมาะสมกว่า เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย ชาวภูไทมีความรักสามัคคีกัน สำหรับชาวภูไท ตระกูลของหลวงปู่จาม ทางบ้านห้วยทราย เป็นเชื้อเจ้า ทางผู้หญิงอพยพมาจากเมืองวัง เรียนหนังสือเก่ง มีความคิดเฉียบคม ปัญญาเฉียบแหลม มีขุนบรมเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล เมื่อถูกจีนรุกรานจึงอพยพมาเรื่อย ๆ ตามลำดับจากเมืองแถง สู่เมืองวัง เข้าสู่ประเทศไทยตามลำดับ


    ตอนที่ ๒ วิถีชีวิตชาวภูไทในไทย


    ตระกูลภูไทของหลวงปู่จาม มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นผู้มีปัญญานักปกครอง มีความเด็ดเดี่ยว รักสงบ ไม่รุกราน มีความยุติธรรม

    โดยทั่วไป ประเพณีหลัก จะยกย่องลูกผู้ชายคนแรก (ลูกกก) ให้ดูแลพ่อแม่ แต่ถ้าลูกชายคนแรกไม่มีความเหมาะสม พ่อแม่ก็จะเลือกลูกชายคนสุดท้อง(ลูกหล้า) ให้เป็นหลักของครอบครัว ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าลักษณะฝากผีฝากไข้ ชาวภูไท ชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีลักษณะภูเขาผสมที่ราบ มีป่าไม้ รักธรรมชาติ เพราะมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะทำมาหากิน ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักสงบ แต่มีความกล้าหาญสมเป็นนักรบในจิตวิญญาณของชาวภูไท ประเพณีดั้งเดิม นับถือผี นับถือไสยศาสตร์ ถือว่าผีเหล่านั้นเป็นผีปู่ผีย่ามีการบ่วงสรวง เซ่นไหว้ ยึดถือผีปู่ผีย่าเป็นสรณะที่พึ่งโดยไม่ลึกซึ้งคำสอนในพระพุทธศาสนา

    ต่อมาเมื่อ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้จาริกมาบำเพ็ญธรรมแถวภูผากูด และที่อื่น ๆ ในแถบนี้ จึงมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมะจากหลวงปู่ทั้งสองในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา ท่านสั่งสอนให้ยึดมั่นในไตรสรณคมน์เป็นหลักใจ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ย่อมจะเจริญรุ่งเรือง ทำให้วิถีชีวิตของชาวภูไทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความสันติสุขเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความศรัทธาในพระกรรมฐานจึงมีมากขึ้น ทำให้เกิดสำนักสงฆ์มากขึ้น และเป็นวัดในเวลาต่อมา พระกรรมฐานจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก วิถีชีวิตของภูไทจึงยึดมั่นในแนวทางสัมมาทิฎฐิไว้เป็นหลักใจของชุมชน

    ชาวภูไทที่ได้บวชเป็นพระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงมีปฏิปทาน่าเคารพ เลื่อมใสกราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคล แก่คนและฟังคำสั่งสอนอบรมย่อมได้ปัญญานำทางดำเนินชีวิตไปสู่ความสุขในปัจจุบันและถ้าหากปฏิบัติตามอย่างจริงจังก็อาจพ้นทุกข์ได้ เท่าที่สามารถทราบได้ขณะเขียนก็ได้แก่ หลวงปู่คำ คมฺภีรญาโณ หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่กว่า สุมโน หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นต้น ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น นอกจากนั้นก็มี หลวงปู่คูณ อธิมุตโม ที่มหาสารคาม ล้วนเป็นเชื้อสายภูไท และพระกรรมฐานรุ่นกลางรุ่นถัด ๆ ไปก็มีอีมาก ผู้เขียนยังหาหลักฐานไม่ทันขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย


    ตอนที่ ๓ กำเนิดเด็กชายจามในตระกูลสัมมาทิฎฐิ


    บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็นที่กำเนิดของเด็กชายจาม ผิวขำ เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ

    นายกา และ นางมะแง้ ผิวขำ (ขณะเด็กชายจาม ก่อกำเนิดนั้นยังไม่มี นามสกุล เพิ่งได้รับการตั้งนามสกุลในรัชกาลที่ ๖ ) เป็นผู้ให้กำเนิดที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงปู่มั่น ได้มาจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่เสาร์ที่ภูผากูด อำเภอคำชะอี พ่อแม่ได้พาเด็กชายจาม อายุประมาณ ๖ ปี ไปกราบหลวงปู่ทั้งสอง พ่อแม่ให้กราบเด็กชายจามก็กราบทุกแห่งและพระกรรมฐานทุกองค์ตามที่แม่บอกด้วยความตั้งใจนับว่าแม่ได้สั่งสอนปลูกฝังนิสัยให้เป็นคนดีตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ จึงกล่าวได้ว่าเป็นตระกูลสัมมาทิฎฐิยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก

    ต่อมาช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ บรรดาศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นจำนวนประมาณ ๗๐ รูป ได้มารวมกันเป็นกองทัพธรรมสายพระกรรมฐานมากเป็นประวัติการณ์ ขณะเด็กชายจาม อายุได้ประมาณ ๑๑ ปี ได้ติดตามพ่อแม่ไปอุปัฏฐากดูแลพระกรรมฐานอย่างใกล้ชิด แม่มะแง้ได้แกงขนุนอ่อนถวายพระสงฆ์ สามเณร แห่งกองทัพธรรมทั้งหมด

    เท่าที่ตรวจดูสอบถามได้มี หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่แว่น ธนปาโล หลวงปู่กว่า สุมโน หลวงปู่ มหาปิ่น ปญฺญาพโล หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่กู่ ธมฺมทินโน หลวงปู่ดี ฉนฺโน หลวงปู่ซามา อจุตโต หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี หลวงปู่สาม อกิญจโน หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่คำ คมฺภีรญาโณ เป็นต้น

    การบำเพ็ญสมณธรรมของกองทัพธรรมดังกล่าวได้ใช้ภูผากูดเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พักประจำอยู่ที่ถ้ำจำปา ต่อมาจึงตั้งสำนักสงฆ์หนองน่องทางทิศใต้ของบ้านห้วยทรายให้เป็นที่รวมประชุมพระกรรมฐานแห่งกองทัพธรรมและบรรดาศิษย์ได้กระจายกันอยู่หาสถานที่วิเวกบำเพ็ญจิตภาวนา ซึ่งมีภูต่าง ๆ บริเวณนั้นมากมาย เช่น ภูผาแดง ภูเก้า ภูจ้อก้อ ภูค้อ ภูถ้ำพระ ภูกระโล้น ภูผากวาง ภูสร้างแก้ว ภูบันได ภูผาบิ้ง ภูกอง ภูผากูด ภูผาชาน ภูเขียว เป็นต้น

    นายกา และแม่มะแง้ ผิวขำ ได้ให้กำเนิดบุตรร่วมอุทรเดียวกันจำนวน ๙ คน ได้แก่ นายแดง นายเจ๊ก นายจาม นายเจียง นายจูม นางจ๋า นายถนอม นายคำตา และนางเตื่อย

    นายแดง ผิวขำ คือโยมบิดาของพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก นางเจียงได้บวชเป็นแม่ชีตลอดชีวิต นอกจากนั้นก็ได้ให้กำเนิดลูกหลานปลูกฝังอุปนิสัยจนได้บวชใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกหลายคน



    ตอนที่ ๔ เรียนรู้ชีวิตปฐมวัย พ่อมอบสมบัติทิพย์ให้


    เด็กชายจามมีอุปนิสัยใจร้อน ใจเร็ว ตัดสินใจเด็ดขาดอดทนมุ่งมั่น มุ่งสู่อนาคต ทำอะไรทำจริง ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนเมื่ออายุ ๙ ปี ที่โรงเรียนบ้านคำชะอี ห่างจากบ้านห้วยทรายประมาณ ๓ กิโลเมตร ได้ขี่ม้าไปโรงเรียนกับเด็กชายเจ๊กผู้พี่ชาย บางวันได้แกล้งพี่ชายให้เดินไปเองเสี่ยงภัยจากเสือ ตนเองได้ควบม้าหนีกลับบ้าน แต่พี่น้องก็รักกัน โดยเฉพาะนายเจ๊กรักเด็กชายจามมากทั้งสองพี่น้องมีสติปัญญาดี แต่เรียนได้แค่ ป. ๒ เนื่องจากทางราชการแจ้งระงับการเรียนของเด็กที่บ้านอยู่ห่างโรงเรียนเกิน ๒ กิโลเมตร เพราะเสือชุกชุมได้กัดคนตายอยู่บ่อย ทั้ง ๆ ที่เด็กทั้งสองรักการเรียน ก็ได้แต่ร้องไห้

    เมื่อเด็กชายจามอายุย่างเข้า ๑๔ ปี ได้มีโอกาสขับเกวียนร่วมขบวน ๕ เล่ม บรรทุกอัฐบริขารและอาหารซึ่งมีนายกา ผิวขำ ผู้บิดาไปกับขบวน หลวงปู่มั่น พาโยมแม่ของท่านและคณะพระสงฆ์สามเณรเดินทางไปโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ขบวนทั้งหมดต้องบุกป่า ฝ่าดงไปด้วยความยากลำบาก แม้กระทั่งหมาที่เดินตามไปถึงกับหมดแรงต้องอุ้มหมาคู่ใจขึ้นเกวียนไปด้วย

    ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของเด็กชายจาม ทำให้พ่อกาเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงให้ขับเกวียนบรรทุกสินค้าต่าง ๆ เช่น ไหม ฝ้าย และของป่าไปขายที่จังหวัดยโสธร เพื่อแลกเกลือ ปลาร้าและของกินนำไปขายที่คำชะอีเพื่อเลี้ยงชีพ

    ต่อมานายจามอายุย่างเข้า ๑๖ ปี นายกาจึงนำไปฝากกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะรับฝากได้ถามนายกาว่า “โยมรักลูกไหม” ท่านตอบว่า “ยังรักอยู่” หลวงปู่มั่นตอบว่า “ถ้ายังรักอยู่ก็ไม่รับ“

    จากคำตอบเด็ดขาดของหลวงปู่มั่นทำให้นายกาต้องคิดหนัก เพราะผิดหวังแต่ก็ยังไม่ย่อท้อ ได้ปรึกษากับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโมและศิษย์หลวงปู่มั่นท่านอื่น จึงได้รับคำแนะนำว่า “ถ้ามอบให้ท่านก็ให้เป็นลูกท่านเลย ไม่ต้องห่วงใย จะสมประสงค์“ จึงเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นอีกครั้งหนึ่งแล้วกราบเรียนว่า ขอมอบนายจามให้เป็นลูกโดยเด็ดขาดจะทำอย่างไรก็แล้วแต่หลวงปู่มั่นจะเห็นสมควร ท่านจึงยินยอมรับฝากตั้งแต่นั้นมาและหลวงปู่มั่นกล่าวยกย่องนายกาว่า “มีสติปัญญาดี ตัดสินใจถูกต้อง ไม่เสียแรงที่ได้อบรมธรรมะให้ตลอดที่อยู่ห้วยทราย” จึงถือว่าเป็นจุดแปรผันของชีวิตที่สำคัญยิ่งที่พ่อได้มอบสมบัติทิพย์ให้ด้วยมองเห็นอนาคตอันสดใส นายจามได้เป็นศิษย์นุ่งขาวห่มขาวอยู่ประมาณ ๙ เดือน ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง ( อำเภอหัวตะพาน ) จังหวัดอุบลราชธานี



    ตอนที่ ๕ ชีวิตสามเณรน้อยที่เด็ดเดี่ยว


    “กลัวจนขี้ขึ้นสมอง” เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยคนขี้กลัวผีทั้งหลายที่มักจะมีอาการสั่นเทาทำอะไรไม่ถูก หรืออีกคำพูดหนึ่งว่า “สติแตก” ผู้อ่านคงจะได้ยินมาแล้ว เหตุการณ์ที่จะเล่าถึงสามเณรจามต่อไปนี้ คงจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ใครเล่าอยากจะเอาตัวไปเสี่ยงกับเหตุการณ์นั้น

    คราที่ หลวงปู่มั่น เดินทางจาริกจากไป ท่านได้ฝาก สามเณรจาม อยู่ในความดูแลของ หลวงปู่กงมา หลวงปู่อ่อน หลวงปู่มหาปิ่น เผอิญโยมได้นิมนต์พระเณรไปยโสธร ระหว่างทางต้องแวะพักแรมเป็นเหตุให้เหลือแต่สามเณรสิมกับสามเณรจาม พักปักกลดอยู่ที่ป่าช้า วันนั้นมีการเผาศพคนตาย ๒ ศพ สมัยนั้นต้องใช้สิ่งของอยู่ในป่าต้มน้ำดื่ม ก็ได้อาศัยไม้ไผ่หามศพ มาตัดเป็นกระบอกต้มน้ำดื่มพอพลบค่ำต่างก็เข้ากลด ซึ่งอยู่ห่างกันพอประมาณในป่าช้านั้น

    ความมืดเริ่มเข้ามาเยือน พร้อมกับความเงียบวังเวง อากาศเย็นก็โชยมาตามกระแสลมไม่ได้ยินเสียงผู้คนเพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกลได้ยินแต่เสียงสัตว์บางครั้งก็เสียงแมลงบางชนิดฟังดูมีอาการเย็นที่เท้าที่มือ หลังจากได้สวดมนต์แล้วต่างก็เข้าที่หวังจะภาวนาเอาธรรมะเป็นเพื่อน ความที่จิตยังตื่นกวัดแกว่งประกอบกับสัญญาที่มองเห็นศพที่ถูกเผา สังขารเกิดปรุงขึ้นผสมสัญญาเก่าในเรื่องผี จะภาวนาอย่างไรจิตก็ไม่สงบฟุ้งซ่านพิกล อากาศก็เย็นลงอีกเกิดปวดปัสสาวะขึ้นมาอีก ความรู้สึกก็ทวีมากขึ้นจนท้องแข็ง โผล่จะออกจากกลดเพื่อไปปัสสาวะ จิตก็ปรุงต่อไปอีกว่า “ ผีมันคงมานั่งเฝ้ากองไฟ ดูการไหม้ของร่างกายของมันแน่ๆ” ขยับแล้วขยับอีกก็ปวดหนักขึ้นมาอีก พยายามนิ่งไว้ให้ความปวดทุเลา เปิดมุ้งกลดเอาหัวโผล่ ๓ - ๔ ครั้งไม่กล้าออกจากกลด ครั้นจะเรียกสามเณรสิมออกมาเป็นเพื่อนก็เกรงเพื่อนจะว่าขี้ขลาดตาขาว

    สามเณรจามตัดสินใจพุ่งตัวออกจากกลดเพราะฉี่จะราดแล้ว น้ำปัสสาวะซึมออกมาแล้ว รีบวิ่งไปที่โล่งแล้วก็ปล่อยออกทันที ด้วยอาการเหลียวหน้าเหลียวหลังเพราะความกลัวจนสุดขีดปัสสาวะไม่สุดสักทีใช้เวลานานเพราะกลั้นไว้นาน

    ขณะที่น้ำปัสสาวะกำลังออกมา ได้สติดีขึ้นโดยลำดับเกิดปัญญาออกมาว่า “เอ ก็ไม่เห็นมีอะไร ผีมาหลอกก็ไม่ทำร้ายให้ถึงตายได้ “ ถามตัวเองว่า “เรากลัวอะไร” และจะหาคำตอบของความกลัวนั้น “ใครทำให้เรากลัว“ ตาก็มองไปดูที่กองไฟกำลังครุกรุ่นไหม้ศพอยู่ใกล้จะหมดแล้ว เมื่อปัสสาวะสุดดีแล้ว ขณะนั้นความกลัวลดลง แต่ยังหวาดผวาอยู่ จึงตัดสินใจเดินไปดูที่กองฟอน เพื่อให้แน่ใจและจะหาคำตอบของความกลัวนั้น จากนั้นเขี่ยดุ้นฟืนเข้าไปในเตาเผา ซึ่งเป็นเตาเผาศพบ้านนอกก่อแบบชาวบ้านง่ายๆ เมื่อเขี่ยฟืนเข้าไปทั้งสองเตาไฟก็ลุกโพลงขึ้น

    ท่านพิจารณาทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดความรู้สึกกลัว จนถึงขณะนั้นจึงได้คำตอบว่า “ที่กลัวเพราะกลัวจิตตนเองที่กิเลสบังคับให้ปรุงแต่งให้จิตฟุ้งซ่านไป เพราะขาดสติปัญญา กิเลสเข้าครอบงำปัญญา ธรรมะจึงไม่เกิด เมื่อธรรมะเกิดเพราะมีสติปัญญามาทันก็ไม่กลัว” ท่านว่า “ธรรมะย่อมชนะกิเลส ถ้ามีสติปัญญาพร้อม” “กิเลสทำให้เรากลัว เราไม่ได้กลัวผีกลัวจิตของเราที่ปรุงแต่งไปต่างหาก” แต่ส่วนลึกของจิตใจยังมีข้อสงสัยว่า “ผีมีจริงหรือ“ จะต้องพิสูจน์แต่ที่แน่ๆ คือ “เราไม่กลัวผี” แล้ว ขณะที่สามเณรจามอยู่กับหลวงปู่มั่น สามเณรจามได้มีสหธรรมิกที่เป็นเพื่อนสามเณรด้วยกัน คือ สามเณรสิม ( หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ) และมีศิษย์หลวงปู่มั่นที่จำพรรษาอยู่เท่าที่จำได้คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺยาคโม หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้นมา ต่อมาหลวงปู่มั่นจะปลีกตัวออกไปวิเวกที่อื่น จึงฝากสามเณรจามไว้ให้อยู่ในความดูแลของ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

    หลวงปู่สิงห์ ได้เดินทางไปสร้างวัดป่าบ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนำกองทัพเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรจามได้ติดตามไปช่วยงานสร้างวัดและได้รับฟังการอบรมธรรมะตามโอกาสขณะที่ไปเผยแผ่ธรรมะจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น

    ขบวนกองทัพธรรมนำโดย หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นั้นมีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถปัญญาบารมีเฉพาะตัวหลายอย่างแตกต่างกัน หลวงปู่สิงห์ จะเน้นด้านปัญญา ด้านหลักธรรม ไตรสรณาคมน์ เป็นหลัก หลวงปู่ดี ฉันโน จะเน้นด้านกสิณมีฤทธิ์ สามารถปราบความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ได้รื้อศาลต่างๆ ที่นับถือผีอยู่เดิม ถ้ามีข่าวว่ามีผีเฮี้ยนที่ไหนท่านจะเดินทางไปปราบแล้วสั่งสอนชาวบ้านให้ยึดมั่นไตรสรณาคมณน์ ทำให้สามเณรจามได้สนใจศึกษาทางสมถะภาวนาเพื่อให้มีพลังกสิณ และฝึกฝนจนประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวัง

    ด้วยความมุ่งมั่นพากเพียรปฏิบัติตามแนวทางพระกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยวเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สามเณรจามเป็นโรคเหน็บชาถึงขั้นวิกฤติเพราะได้บำเพ็ญในระดับขั้นอุกฤษฏ์ เพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ในชาตินี้ ทั้งอดอาหาร อดนอน อธิษฐาน อดอาหาร ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน บางช่วงจะออกบิณฑบาต เพื่อฉันเฉพาะวันพระ และอดนอน เพื่อทำความเพียรภาวนาหลายวันติดต่อกันเป็นระยะๆ ตลอดไตรมาส จึงเป็นเหตุให้ร่างกายขาดอาหารและพักผ่อนน้อยเกินไป จนทำให้ร่างกายอ่อนเพลียอ่อนกำลัง คำนึงในใจว่าชีวิตนี้เราคงสิ้นหวังกระมัง



    ตอนที่ ๖ สามเณรจาม เจอผีจริงเข้าแล้ว


    ชาวบ้านแถวจังหวัดยโสธรสมัยนั้นนิยมเลี้ยงผีเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่ตนเชื่อถือ จะนับถือผีมากกว่านับถือพระ ชาวบ้านได้สร้างศาลผีปู่ผีย่าไว้ในหมู่บ้านพื้นที่บริเวณใดชาวบ้านพบว่าผีดุก็จะไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพียงแต่ให้เครื่องเช่นไหว้บวงสรวงขอให้ช่วยเหลือ

    คราวหนึ่ง หลวงปู่อ่อนเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยหลวงปู่กงมา(ขณะนั้นยังเป็นพระหนุ่ม ๆ) พระอื่น ๆ อีก และสามเณรจามได้ติดตามไปเที่ยววิเวกในป่ารกชัฏตามแนวทางพระกรรมฐานที่หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่นได้สั่งสอนและได้ปฏิบัติมา สถานที่ใดที่มีผีดุ ชาวบ้านกลัว ท่านจะไปภาวนาทำความเพียรเพื่อทดสอบฝึกฝนตนเอง หาประสบการณ์ ตลอดจนวิจัยธรรมที่จะเหมาะสมในการละกิเลสอุปาทานทั้งหลาย ในทำนองที่ว่า “สถานที่น่ากลัวที่สุดย่อมมีสิ่งที่ดีที่สุด” ท่านไม่เคยปฏิเสธว่าไม่มีผีไม่มีเทวดา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ปฏิเสธ

    คณะจาริกของหลวงปู่อ่อนพร้อมสามเณรจาม ได้เลือกพักปักกลดบริเวณป่ารกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าผีดุมาก เคยแสดงให้ปรากฏมาแล้วบริเวณใกล้ ๆ ที่เนินที่มีกอไผ่งามลำใหญ่ ไม่มีร่องรอยใครมาตัดฟันเลยแม้แต่บริเวณใกล้เคียงกันนั้นก็ตาม คณะจาริกแสวงธรรมได้ปักกลดอยู่ห่างกันพอประมาณ สามเณรจามอายุประมาณ ๑๖ - ๑๗ ปี กำลังแข็งแรงล่ำสัน อาสาที่จะไปหาฟืนแห้ง ไม้ไผ่แห้งมารมบาตรหรือระบมบาตร เพื่อไม่ให้เป็นสนิม ทำถวายหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่กงมา

    เหตุสำคัญอยู่ที่กอไผ่มีศาลพระภูมิ มีไม้แห้งจำนวนมากจากที่ได้ค้นหาที่อื่นมาแล้ว ก่อไผ่ยืนตายอยู่เพราะเกิดขลุยไผ่หรือไผ่ออกดอกแล้วก็แสดงว่าหมดอายุ แต่ไม่มีรอยใครตัดเลย สามเณรจามจึงไปเรียนถามหลวงปู่ทั้งสองซึ่งยังเป็นครูบาในขณะนั้น ท่านวางเฉย แสดงว่าท่านคงรู้ว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ก็ได้ หรือไม่กล้าบอกเพราะความจำเป็นก็สุดจะคาดเดาได้ สามเณรจามก็จัดแจงตัดมาจำนวนเพียงพอที่จะใช้เผา(ระบม)บาตร ขณะที่จะตัดไม้สามเณรจามตะโกนร้องบอกว่า “ผีตาปู่เอ๋ย ถ้าอยู่ที่นี่ก็หนีไปก่อนนะข้าต้องการไม้ไผ่ เอาไปเผาบาตร ข้ากำลังต้องการไม้ไผ่อยู่ สูออกไปจากที่นี่ก่อนนะ”

    เย็นวันนั้นเอง สามเณรจามได้ยินเสียงเหมือนเสียงผู้หญิงสาวร้องโอย ๆ โหยหวนเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็กลับไปที่ศาลในป่า จากนั้นก็ได้ยินเสียงอื้ออึงในบ้าน หมาเห่าหอนกันทั้งคืน วันนั้นชาวบ้านก็ไม่เป็นอันนอน เสียงถ้วยโถโอชามกระทบกันก๊องแก๊ง ๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านรู้ดีว่าต้องมีใครไปรบกวนผีที่ศาลแน่ ๆ

    พอรุ่งเช้าก็เกิดเรื่องใหญ่ ชาวบ้านแห่กันมากล่าวโทษเผดียงว่า เพราะเหตุที่พระเณรมาอยู่ที่นี่ ทำให้ผีปู่ย่าเดือดร้อนไปรบกวนที่ศาลพระภูมิเจ้าที่ ผีจึงมากวนชาวบ้าน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกัน ขอร้องให้ท่านย้ายไปอยู่ที่อื่นเถิด

    ด้วยเหตุที่ต้องการสถานที่สัปปายะและอาศัยชาวบ้านบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต หลวงปู่อ่อนและหลวงปู่กงมา ขณะเป็นพระหนุ่ม ๆ ได้ เดินทางไปหาสถานที่ใหม่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน สามเณรจามทำหน้าที่เฝ้าอัฐบริขารอยู่องค์เดียว จนมืดค่ำก็ยังไม่กลับก็ได้แต่เฝ้ารอหลังจากสรงน้ำเสร็จก็นั่งผ่ามะขามป้อมจิ้มเกลือฉันไปรอไปในความมืด

    ช่วงระหว่างโพล้เพล้พลบค่ำนั้นสามเณรจามยังไม่ได้เข้ากลดเอาเสื่อปูนั่งฉันมะขามป้อมไปพลาง เริ่มมืดสนิทได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญวนเวียนอยู่แถวศาล ได้ยินเสียงใบไม้ กร๊อบแกร๊บ ต่อมาก็ได้ยินเสียงเหมือนสัตว์หรือหนูวิ่งเข้ามาหา เมื่อใกล้ก็กระโจนเข้ามาใต้เสื่อที่นั่งอยู่ สามเณรจามจึงเอามือตบตรงเสียงนั้น ตะโกนว่า “ มึงเข้ามาทำไม” จึงจุดเทียนขึ้นส่องดูก็ไม่เห็นมีอะไร รอจนดึกหลวงปู่ทั้งสองก็ยังไม่กลับมา จึงดับเทียนไหว้พระนั่งภาวนา

    ครั้นหลวงปู่ทั้งสองกลับมาแล้ว หลวงปู่อ่อนส่งเสียงเรียก “ เณร…เณร” มาแต่ไกลแต่ท่านไม่ตอบ จนกระทั่งใกล้จึงตอบรับว่า “ครับผม มีอะไรหรือครับ” หลวงปู่อ่อนว่า “คิดว่าเธอนอนหลับแล้ว ยังไม่นอนหรือ” พอรุ่งเช้าจึงได้เล่าเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ให้หลวงปู่ทั้งสองฟัง ท่านก็พอใจในความกล้าของเณร



    พ่อแม่ครูอาจารย์เสาร์ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น และศิษย์พระกรรมฐานทั้งหลายที่จาริกไปแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อทำความเพียร เจริญจิตภาวนานั้นก็เพื่อให้เกิดปัญญาในธรรมขั้นสูง ๆ ขึ้นไป ในขณะเดียวกันนั้นก็เพื่ออบรม สั่งสอนประชาชนชาวบ้านที่ไปโปรดทั้งบิณฑบาต และแสดงธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ละทิฏฐิเก่าที่เชื่อนับถือผี ให้หันมายึดในไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสัมมาทิฏฐิและเป็นหนทางที่จะดับทุกข์ได้ ภูต ผี เทวดาต่าง ๆ ยังมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ พอใจก็ให้คุณได้ ถ้าไม่พอใจก็ให้โทษ แต่ไตรสรณคมน์นั้นมีแต่คุณ พระพุทธเจ้าสอนให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ และชักจูงให้ชาวบ้านญาติโยมประพฤติปฏิบัติตามจะได้มีสุขและหาทางพ้นทุกข์ในที่สุด

    ชาวบ้านที่มาฟังธรรม รักษาศีล ตามวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกกลัวผี โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก เรียกว่า “ขวัญอ่อน” เคยมีเหตุการณ์ยามดึกสงัด โยมได้ยินเสียงเสมือนสัตว์วิ่งเหยียบใบไม้บนพื้นดังชอบ ๆ สักพักก็หยุดแล้วก็ดังใหม่ขึ้นอีกมาเป็นระยะ ๆ เสียงตะโกนมาว่า “ช่วยด้วยผีมา” ได้ยินเหมือนขึ้นต้นไม้เมื่อฉายไฟไปยังเสียงก็ปรากฏว่าเป็นตัวบ่างวิ่งหากินในยามค่ำคืน นี่แหละจิตที่กิเลสครอบงำอยู่ปรุงแต่ง ปัญญาธรรมเข้ามาไม่ทันก็กลัว เมื่อรู้อย่างนี้แล้วความกลัวคงน้อยลง ความกล้าคงมากขึ้นจนไม่กลัวเลย

    พระอาจารย์อินทร์ถวาย เคยถามหลวงปู่ว่า “หลวงอา กลัวไหมครับ” หลวงปู่ตอบว่า “ไม่กลัวมันหรอก เพราะเขากลัวเราจนร้องห่มร้องไห้แล้ว เราจะไปกลัวเขาทำไม”

    เมื่อน้อมมาพิจารณาเป็นธรรมะจะเห็นได้ว่า ผีในจิตใจของเราร้ายยิ่งกว่าผีภายนอก กิเลสในจิตใจเป็นผีร้ายคอยสิงอยู่ให้จิตใจคิดทำความชั่ว บาปอกุศล แต่ถ้าธรรมะเข้ามาอยู่ในจิตใจเมื่อใดย่อมจะคิดทำความดีทำบุญกุศล หลวงปู่จามจึงพยายามสั่งสอนให้ทำความดีย่อมได้ผลดีตลอดไป



    ตอนที่ ๗ นิมิตสิ่งโบราณ


    ขณะที่บำเพ็ญธรรมพากเพียรมุ่งมั่นขั้นอุกฤษฏ์ อยู่กับหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองขอน อุบลราชธานี สมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เป็นลูกธรรมแท้ในพระพุทธศาสนา แม้ว่าสุขภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยนักก็ตามแต่ก็คุ้มค่าของความพากเพียร

    ผลที่ได้รับทำให้จิตสงบดีขึ้นโดยลำดับ เกิดนิมิตแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏและแตกต่างกับผู้อื่นจึงพอใจในผลงานของตน คุ้มค่าที่อดนอนและอดอาหาร

    นิมิตเป็นภาพเจดีย์ปรักหักพังหลายแห่ง พระพุทธรูปเก่าแก่หลายปางมากมาย เนื้อเป็นทองคำบ้าง ทองสัมฤทธิ์บ้าง หินบ้าง ไม้บ้าง ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกิดปีติในสมาธิจนน้ำตาไหล เห็นภาพต้นโพธิ์ ต้นไม้อื่นที่พระพุทธเจ้าบางองค์ที่ได้ตรัสรู้

    ความสงสัยในจิตใจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับปลื้มปีติในผลงานของการบำเพ็ญสมาธิภาวนา การปฏิบัติแต่ละวันแต่ละคืน เกิดภาพในสมาธิบ้าง เกิดภาพในฝันยามหลับนอนบ้าง แม้ว่าจะเปลี่ยนแนวทางมาพิจารณาปัญญาแต่ปัญญาไม่เกิด จะมีแต่ภาพนิมิตเกิดขึ้นมาแทน จึงเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติของตน แต่ความเป็นสามเณรน้อยเป็นเด็ก ๆ อยู่ไม่กล้าที่จะสอบถามหลวงปู่มั่น เพราะเกรงบุญญาบารมีของท่าน ได้แอบถามเพื่อนสหธรรมิกแต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเกรงจะเป็นการอวดอุตริหรืออวดความสามารถจึงเจียมตัวไว้

    ระยะหลัง ๆ ที่ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้ธุดงค์ไปแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อภาวนา ก็ได้ปรากฏภาพทำนองนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เดิมก็คิดว่าเป็นภาพสัญญาที่เกิดขึ้นมาหลอกด้วยอำนาจของกิเลสจึงพยายามแก้ข้อสงสัยนั้นเรื่อยไป แต่เมื่อธุดงค์ไปกลับพบสิ่งปรักหักพังที่วัดเก่าแก่ต่าง ๆ จึงได้แน่ใจขึ้นอีกว่า คงจะเป็นบุญญาบารมีที่ตนเองได้เคยสร้างสมไว้แต่อดีตชาติ

    คำถามที่ถามในใจตนเองว่า เหตุในอดีตคืออะไร เราสร้างบารมีเพื่อจุดมุ่งหมายอันใดแน่
    ทั้ง ๆ ที่เราพากเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ในชาตินี้


    ตอนที่ ๘ ชีวิตวัยหนุ่มเรียนรู้ชีวิตทางโลก


    สามเณรจาม อายุได้ ๑๙ ปี ใกล้จะอุปสมบทแต่ความป่วยไข้เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น มีอาการหนักขึ้นตามลำดับ จนไม่สามารถออกไปบิณฑบาตได้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เขียนจดหมายแจ้ง นายกา ผู้เป็นบิดา ได้ทราบอาการป่วยและนายกาจึงขับเกวียนไปรับเพื่อนำมารักษาตัวที่บ้านห้วยทราย

    การรักษาโรคเหน็บชา จะต้องให้กินอาหาร ๓ มื้อหรือมากกว่าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ด้วยเหตุของการอดอาหารเป็นระยะเวลานานและให้การรักษาด้วยยาพื้นบ้านที่ต้องใช้สุราเป็นกระสายยา จึงต้องให้ลาสิกขาจากสามเณร ทั้ง ๆ ที่ปรารถนาจะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ในอีกไม่นานนัก การรักษาใช้เวลาประมาณ ๓ ปี โรคเหน็บชาจึงหายขาด

    ช่วงนี้เป็นระยะแห่งการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว นายแดงผู้เป็นพี่ชายคนโตได้แต่งงาน จึงแยกครอบครัวไปตั้งรกรากที่บ้านแวง ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปมากน้องชายก็ได้ออกบวชทำให้ขาดกำลังที่จะช่วยทำมาหากินและทำงานต่างๆให้ครอบครัวตลอดจนดูแลน้องๆ อีกหลายคน ภาระอันหนักจึงตกอยู่แก่นายจามที่เป็นหลักให้แก่ครอบครัว

    จนกระทั่งอายุได้ ๒๗ ปี นายกาผู้เป็นพ่อได้ศรัทธาออกบวชเป็นพระ นางมะแง้ผู้เป็นแม่ก็ได้ออกบวชเป็นแม่ชี เนื่องด้วยเสียใจมากที่ลูกชายคนสุดท้องได้เสียชีวิตอีก ทั้งอายุมากแล้วควรหาที่พึ่งและสมบัติทิพย์ในบั้นปลายของชีวิต ดั้งนั้น นายจามจึงรับภาระหนักขึ้นในการดูแลเลี้ยงดูน้องๆด้วย

    ด้วยเหตุนี้เองญาติพี่น้องจึงหมายมั่นจะให้นายจามแต่งงานมีครอบครัวเป็นหลักฐาน มีแม่บ้านมาช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง จึงได้มีการทาบทามหญิงสาวสวยชาวภูไท ญาติผู้ใหญ่ได้ไปขอหมั้นเป็นเงิน ๑๒ บาทตามประเพณีและผู้ชายจะต้องปลูกเรือนหอ ทำไพลหญ้ามุงหลังคาด้วยตนเอง

    นายจามคิดคำนึงถึงภาระอันหนักหน่วง และห่วงที่จะเกิดขึ้นมาผูกคอผูกเท้าผูกมือ แต่ในจิตใจส่วนลึกหวังจะออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เพราะได้รู้ได้เห็นทุกข์ของการมีครอบครัวและความยากลำบากในการเลี้ยงดู เอาอกเอาใจผู้อื่นอีกหลายคนจะไหวหรือ ในที่สุดจึงไปปรึกษาแม่ชีมะแง้ที่อยู่ภูเก้า ( วัดภูเก้า ) อำเภอหนองสูง ซึ่งบำเพ็ญธรรมร่วมอยู่กับ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

    แม่ชีมะแง้ได้ให้ข้อคิดเป็นแนวทางตัดสินใจด้วยตัวเองว่า “ ถ้าลูกจะแต่งงานนั้นแม่ดีใจ แต่ถ้าลูกบวชแม่จะดีใจยิ่งกว่า” แสดงถึงความมีสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง นายจามจึงได้นำข้อคิดของแม่มาพิจารณาทบทวน เนื่องจากตามประเพณีเมื่อหมั้นผู้หญิงแล้วถ้าหากไม่แต่งงานจะต้องถูกปรับสินไหม

    นายจามจึงกลับไปปรึกษากับแม่ชีมะแง้อีกครั้งหนึ่งว่า “ แม่อยากจะให้บวชจริงๆหรือ เขาจะต้องปรับถ้าไม่แต่งงานกับเขา” แม่ชีมะแง้ตอบอย่างหนักแน่นว่า

    “ ปรับก็ไม่เป็นอะไรหรอกลูก แม่ยินดีมากๆเลย ที่จะเห็นลูกบวช “

    เหตุการณ์เกิดเกื้อหนุนพอดี นายจูมผู้เป็นน้องชายได้ลาสิกขา มาเป็นกำลังให้ครอบครัวจึงเป็นโอกาสมาแก้ไขวิกฤต ประกอบกับแม่ชีมะแง้ได้เจรจาต่อรองกับฝ่ายหญิงว่าจะบวช โดยไม่มีเจตนาจะหนีหมั้นแต่อย่างใด จึงได้ลดค่าปรับลงเหลือเพียง ๖ บาท
    ( สมัยนั้นควายราคาตัวละ ๒ บาท ๕๐ สตางค์ ) นายจามจึงตัดสินใจบวชโดยเร็ว



    ตอนที่ ๙ สงครามหัวใจ


    พระอาจารย์พัน โยมบิดาของพระอาจารย์ สวัสดิ์ โกวิทโท ซึ่งเคยบวชเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ขณะเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง พร้อมด้วยแม่ชีมะแง้ แม่ชีแก้ว และญาติได้พา นายจาม เดินทางจากบ้านห้วยทรายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๐ เดินเท้ากันไปไหว้พระธาตุพนมที่นครพนม เพื่ออธิฐานขอบวชแล้วเดินทางเรียบแม่น้ำโขง ผ่านสกลนคร เพื่อมุ่งหน้าไปอุดรธานี

    เมื่อถึงบ้านผือได้พบหญิงชื่อบาง เธอได้ชักชวนให้นอนด้วย จะปล้ำเอาเป็นผัว “พี่นาคเข้าห้องด้วยกันเถอะ” หญิงสาวคนนี้ตามตื้ออยู่หลายวันแม้จะเดินทางต่อไปผ่านบ้านอื่นก็พบหญิงสาวผู้นี้ตามไม่ลดละ

    แม่ชีมะแง้ได้ปรึกษากับแม่ชีแก้วและญาติแล้วเห็นว่าอาจเสียทีเขา “กลัวผู้หญิงตะครุบเอาไปเป็นผัวจะต้องบวชให้โดยเร็ว” จึงรีบพานายจาม ไปบรรพชาเป็นสามเณรไว้ก่อนที่วัดป่าบ้านโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๑ เพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพราะหญิงสาวผู้นี้ในขั้นต้นเสียก่อน

    การเดินทางสมัยนั้น ค่อนข้างยากลำบาก เดินไปกันทางเท้าค่ำไหนนอนนั้น ต้องใช้เวลารอนแรมไปหลายเดือน จะต้องพบปะกับผู้คน เดินทางไปแต่ละแห่งก็ได้พบหญิงสาวหลายแห่งหลายคน ที่บึงกาฬก็พบหญิงสาวขอแต่งงานแต่ไม่หนักหนาเท่าหญิงสาวที่บ้านผือ ได้สอบถามหลวงปู่ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวท่านบอกว่า “อดีตชาติเคยเป็นสามีภรรยากันมา” และ “เป็นธรรมดาที่เกิดมาหลายชาติ” และเหตุการณ์นั้นได้ผ่านพ้นได้อย่างหวุดหวิด อาจเป็นด้วยแรงอธิฐานที่ปรารถนาไว้จึงมีทางออกให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤติชีวิตนั้นผ่านไปได้ ท่านยิ่งเชื่อมั่นในไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถึงหัวใจเอาชนะสงครามหัวใจของอำนาจกิเลสได้



    ตอนที่ ๑๐ แม่วางเส้นทางชีวิต


    แม่ชีมะแง้ ได้รับคำแนะนำจาก แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ผู้เป็นญาติสนิทและพระอาจารย์พัน ได้พร้อมใจกันวางเส้นทางชีวิตให้สามเณรจามโดยจะต้องรีบบวชเป็นพระโดยเร็วและเลือกวัดที่มีรากฐานทางด้านพระกรรมฐานตามที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้วางแนวทางไว้ตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิมนั้น ถูกต้องเหมาะสมแล้วคือ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินตามรอยทางพระกรรมฐานที่มีแหล่งกำเนิดที่ดีและเชื่อมั่นในแนวทางที่จะบำเพ็ญพากเพียรเพื่อที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ และมีทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป

    ในที่สุดคณะก็ได้ไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ การอุปสมบทจึงเกิดขึ้น เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ตรงกับเดือนเกิด อายุเกือบ ๒๙ ปีเต็ม โดยมี พระเทพกวี (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ เป็นอันว่าแม่ชีมะแง้ได้วางเส้นทางชีวิตให้ลูกชายได้สมความปรารถนาแล้ว

    แม่ชีมะแง้และแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นเพศหญิงย่อมเข้าใจในจริตนิสัยใจคอของผู้หญิงสาวอยู่แล้วอย่างดี จึงใช้สติปัญญาปฏิภาณไหวพริบที่ทั้งสองได้เคยผ่านชีวิตทางโลกมาแล้วสามารถปกป้องคุ้มครองลูกชายให้ผ่านพ้นสงครามหัวใจที่เป็นเหตุการณ์สำคัญถึง ๒ ครั้ง ท่านเข้าใจดีว่า “เสือป่านั้นไม่น่ากลัวเท่าเสือบ้าน” เสือบ้านคือผู้หญิงจะตะครุบเอาไปกินน่ากลัวกว่าเสือในป่าเพราะเชื่อมั่นว่าบุญบารมีของพระจามนั้นได้สะสมมาแต่อดีตชาติแล้วได้แววมาตั้งแต่เด็กแล้ว ใครเล่าจะรู้จักลูกของตนดีไปกว่าแม่บังเกิดเกล้าคงไม่มีอีกแล้ว

    แม่ชีมะแง้เป็นผู้มีสติปัญญาดี มีไหวพริบปฏิภาณดีมีอุปนิสัยเป็นคนละเอียดช่างสังเกต การปฏิบัติที่แสดงถึงคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อคราวหลวงปู่มั่นพาโยมแม่กลับไปจังหวัดอุบลราชธานี ได้แวะพักที่ห้วยทราย เห็นหลวงปู่มั่นเดินหลังจากบิณฑบาตได้แวะไปแบ่งอาหารให้โยมมารดาถึง ๒ ครั้งในวันเดียวกัน แม่ชีมะแง้เห็นอย่างนั้นจึงจัดแจงทำอาหารคาวหวานไปให้โยมแม่หลวงปู่มั่นเสียเอง เป็นที่ประจักษ์ใจท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นจะนำอาหารในบาตรออกมาให้โยมแม่ของท่าน โยมแม่ของหลวงปู่มั่นจึงห้ามว่า “แม่แดงจัดมาให้ฉันทานแล้ว” (ที่เรียกว่าแม่แดง เรียกตามชื่อลูกชายคนโต แม่ชีมะแง้มีลูกชายคนโตชื่อแดง) และพฤติกรรมของหลวงปู่มั่นที่ปฏิบัติต่อโยมแม่อย่างนี้เป็นที่ประทับใจและเป็นตัวอย่างอันดี เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งนอกเหนือปฏิปทาอื่น ๆ ของท่านแล้วนั้น ทำให้ชาวบ้านแถบนี้ได้เคารพนับถือด้วยคำเรียกว่า “ญาท่านเสาร์” และ “ญาท่านมั่น”ด้วย

    มีข้อสังเกตกันว่า แม่ชีมะแง้คงจะเข้าใจรู้จักลึกซึ้งในคุณธรรมบุญวาสนาบารมีของ พระจาม ผู้เป็นลูกชายที่อดีตชาติคงได้บำเพ็ญบารมีมามาก จะเห็นจากคุณลักษณะประจำตัวที่เด็ดเดี่ยวทำอะไรทำจริง ประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนชะรอยจะต้องบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ตลอดชีวิตอย่างแน่นอน เล่ากันว่า แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ คงจะมีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาเพราะการปฏิบัติเจริญจิตภาวนาของแม่ชีแก้วนั้นเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว รู้จักนรกสวรรค์ได้อย่างดี ญาณทัศนะที่ล้ำลึกเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้และสิ่งที่ปรากฏประจักษ์ในคุณธรรมของ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ที่ได้ละสังขารไปแล้ว กระดูกอังคารของท่านกลายสภาพเป็นสิ่งสดใสเสมือนแก้วไปแล้ว ท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา



    ตอนที่ ๑๑ วิกฤติสร้างวีรบุรุษ


    เมื่อการบวชได้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย คณะจึงได้เดินทางไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญ เพื่ออธิษฐานฝากฝั่ง พระจาม ตลอดจนพระจาม ก็อธิษฐานตนฝากไว้ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ให้ตลอดรอดฝั่ง จึงพากันไปนมัสการ พระธาตุหลวง ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยผ่านไปนมัสการพระธาตุบัวบกที่บ้านผือ พระธาตุโคกซวก ที่ศรีเชียงใหม่ ข้ามไปยังฝั่งประเทศลาว ความมั่นใจจึงเกิดขึ้นอย่างเต็มหัวใจ คณะจึงมุ่งกลับสู่คำชะอี ด้วยการเดินทางด้วยเท้าไม่มียานพาหนะและคณะมีหลายคนบางคนก็อายุมาก ย่อมทำให้การเดินทางได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควรประกอบด้วยลักษณะนิสัยประจำตัวของพระจามที่มีอยู่เดิมนั้น ค่อนข้างใจร้อนทำอะไรรวดเร็ว เด็ดเดี่ยวอยู่แล้วจึงได้ขอร้องกับคณะที่ไปส่งโดยขอแยกตัวไปเพื่อแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อภาวนาสักระยะหนึ่งจึงจะตามไป

    เมื่อข้ามจากฝั่งประเทศลาวมาไทยแล้ว พระจามจึงขอแยกออกจากคณะเพื่อ มุ่งไปบำเพ็ญจิตภาวนาเพียงองค์เดียว เพราะมีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างเต็มหัวใจ ที่ตนเองได้เคยศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่หลวงปู่มั่นขณะเป็นเณรมาในขั้นอุฤษฏ์แล้ว ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นหลายองค์ เช่นหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดี ฉนฺโน มาแล้วโดยเฉพาะหลวงปู่ดี เก่งทางกสิณพระจามเชื่อมั่นตนเองว่า มีฤทธิ์อำนาจพอที่จะรักษาตนเองได้ตลอดจนเรียนรู้ธรรมเนียมพระธุดงค์กรรมฐานอย่างดีมาแล้ว

    พระจามได้มุ่งสู่ถ้ำพระ อำเภอผือ ปักกลดบำเพ็ญจิตภาวนาระยะหนึ่งแล้วเดินธุดงค์ต่อไปยังถ้ำเกิ้ง ใกล้ภูย่าอู่ เขตจังหวัดอุดรธานี อยู่บนเทือกเขาภูพาน ที่บริเวณนั้นมีเสือชุกชุม เสือแถบนี้เคยกินคนมาแล้ว เมื่อชาวบ้านทราบจึงมีความเป็นห่วงว่าจะถูกเสือตะครุบเอาไปกิน

    ชาวบ้านบอกเล่าว่า มีเสือโคร่งสามารถกินควายวัวคนได้ เสือดาวมักจะกินลูกควายลูกวัวและคนได้ เสือดำมักกินหมาที่ติดตามคนไปแต่ถ้าเข้าใจผิดว่าคนเป็นหมาก็สามารถกินคนได้เช่นกันที่เสือแถวนี้ชอบกินคนเพราะได้เคยกินศพคนเดินทาง มีคณะที่แบกหามสัมภาระไปขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนาม เมื่อใครตายก็ทิ้งศพไว้ในป่าโดยไม่เผาหรือฝัง เสือจะกินซากศพที่ตายใหม่ ๆ รสชาติเนื้อคนคงจะอร่อยทำให้เสือติดใจในรสชาติจึงเป็นสาเหตุที่เสือชอบกินคน

    ชาวบ้านแนะนำว่ากลางคืนต้องอยู่ในกลดอย่าออกมาข้างนอกจนกว่าจะรุ่งเช้า ต้องหากระบอกไว้ปัสสาวะในกลด เสือดำ เสือดาว อาจเข้าใจเป็นหมาก็จะตะครุบเอาไปกิน ถ้าออกมานอกกลด แม้แต่ระหว่างการเดินทางก็ต้องระมัดระวัง

    คืนวันแรกที่ถ้ำเกิ้ง พระจามสวดมนต์ก่อนพลบค่ำจากนั้นก็เข้าภาวนาในกลด โดยไม่ออกมาจนกระทั่งรุ่งเช้าออกไปบิณฑบาตปรากฏว่าคืนนั้น เสือไม่มาหากินบริเวณนั้น เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เมื่อชาวบ้านทราบตอนไปบิณฑบาต ถามเรื่องราวแล้วชาวบ้านตกใจถามว่า “ เสือไม่มาหรือ” ท่านตอบว่า “ ไม่มี “ แต่ชาวบ้านเข้าใจเหตุการณ์ดีจึงพากันไปตัดไม้ไผ่มาปักตามซอกหินที่เงื้อมผาถ้ำเกิ้งนั้นทำคอก ๒ ชั้น และทำไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันเสือทุกชนิด ทำให้พระจามได้ใจชื้นขึ้นจากความรู้สึกที่ชาวบ้านเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

    คืนวันที่สองท่านได้เข้าคอกเข้ากลดสวดมนต์ทำวัดเสร็จเรียบร้อยก่อนมืด พอเริ่มพลบค่ำได้ยินเสียงเสือร้องรับกันเป็นทอดๆแต่ไกลและเสียงร้องใกล้เข้ามาๆ เป็นระยะหลายตัวเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จิตเริ่มปรุงแต่งจึงเกิดความกลัวมากขึ้นตามลำดับ รู้สึกกลัวมากขึ้นจนตัวสั่น แม้ยังไม่เห็นตัวก็เพราะเป็นเวลาค่ำมืด ในช่วงวิกฤติตรงที่เสือมาร้องอยู่ที่หน้าถ้ำห่างนิดเดียวที่พึ่งสุดท้ายคือการสวดมนต์ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ท่านบอกว่าเริ่มแรกนั้นตั้งนะโม สวดก็ไม่จบ สวดอิติปิโสก็ไม่ถูก เสือเดินวนไปเวียนมา ได้แต่นะโมเฉยๆ อิติปิโสเฉยๆ เกิดกลัวจนขนพองสยองเกล้า แต่เมื่อเสือไม่เข้ามาตะกุยคอกที่ชาวบ้านสร้างให้ไว้ ก็มีสติขึ้นมา ตั้งสติได้ก็สวดมนต์ได้จนจบ สวดอย่างถี่ยิบเพื่อให้จิตสงบโดยเร็ว เพราะไม่แน่ใจว่าเสืออาจหวนกลับมาเล่นงานก็ได้

    จากนั้นไม่นานจิตก็สงบเป็นสมาธิ ความกลัวหายไปหมด เชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างปราศจากข้อสงสัย ต่อจากนั้นก็ปรากฏหัวหน้าเทวดาแต่งตัวสวยงามมาบอกว่า ถ้าต้องการให้ช่วยเหลือก็ให้นึกถึงจะมาช่วยเหลือทันที และบอกบริวารที่เป็นเพศหญิงให้ออกไปจากบริเวณถ้ำเสียก่อนและให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง และบอกอีกว่าใกล้ๆมีบ่อน้ำทิพย์ให้ใช้ดื่มกินได้

    วิกฤติชีวิตได้ผ่านไปจากการเสี่ยงภัยจากเสือร้าย ท่านจึงเกิดความมั่นใจ ตอนรุ่งเช้าออกไปบิณฑบาต ก็ได้เดินสำรวจดูรอยตีนเสือมากมายตามทางเดิน แต่จิตใจไม่สะทกสะท้าน จิตใจมั่นคงอยู่กับ “ พุทโธ “ ตลอดเวลาท่านได้พักภาวนาอยู่ที่ถ้ำนี้ระยะหนึ่งพอสมควรแล้วและเห็นว่าใกล้จะเข้าพรรษา จึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ที่โปรดโยมแม่ชี

    เมื่อพรรษาผ่านไปรู้สึกเป็นห่วงโยมแม่ จะลาสิกขาถ้าตัวเองไม่อยู่ห้วยทราย จึงไปเรียนปรึกษา ว่าจะออกธุดงค์ไปหาวิเวกที่ต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนาน แม่ชีมะแง้จึงกล่าวให้เกิดความสบายใจว่า “ ไม่ต้องเป็นห่วงใยแม่ เพราะแม่มีหลักใจแล้วขอให้ออกไปแสวงหาธรรมขั้นสูง ณ สถานที่สัปปายะตามรอยพระกรรมฐานเถิด “ ต่อจากนั้นพระจามจึงตัดสินใจ ออกหาวิเวก โดยเดินทางไปลาพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่ภูเก้า เพื่อไปหาพระอาจารย์คูณ อธิมุตโตที่มหาสารคาม หลวงพ่อกา จึงเดินทางไปจำพรรษาที่มหาสารคามเพราะด้วยความห่วงใย



    ตอนที่ ๑๒ อัศจรรย์เด็กผู้หญิง


    เมื่อออกพรรษาญาติโยมได้รับหลวงพ่อกากลับไปห้วยทราย พระจามและสหธรรมิกรวม ๔ องค์ ได้เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ช่วงระหว่างเลยกับเพชรบูรณ์ เพื่อแสวงหาสถานที่วิเวก บนเชิงเขาหินผาได้พบพระธุดงค์ ๒ องค์ จะเดินข้ามดงใหญ่ องค์หนึ่งพึ่งหายป่วยตั้งใจจะข้ามไปอีกฟากเขา พอเดินไปกลางดงก็หมดแรง ขอให้เพื่อนกางกลดให้เพื่อพักอยู่ก่อนโดยขอให้เพื่อนเดินไปให้พ้นดงก่อนมืด แล้วชวนให้ชาวบ้านกลับมาช่วยในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าในคืนนั้นพระองค์นั้นถูกเสือคาบไปกินเหลือแต่ร่องรอย เป็นอัฐบริขารในกลด สันนิษฐานว่าคงออกไปปัสสาวะข้างนอกจึงถูกเสือคาบเอาไปกิน ส่วนท่านและสหธรรมิกเดินข้ามฟากไปโดยปลอดภัย

    ต่อมาได้ไปพักปักกลดอยู่บนเชิงเขาแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านเลยวังใส ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมแม่น้ำเลย เช้าวันหนึ่งคณะสงฆ์ได้เดินทางออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีศรัทธาญาติโยมใส่บาตรให้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับไปที่พักปักกลด ได้มีศรัทธาญาติโยมบางท่านติดตามเอาอาหารมาถวายเพิ่มเติม มีเด็กหญิงตัวเล็กๆไปด้วยโดยไม่มีพ่อแม่นำไป เด็กหญิงคนนั้นได้นำข้าวและสัปปะรดครึ่งลูกไปถวาย

    ขณะนั้นก็มีการเตรียมอาหารแยกอาหารและกับข้าวเพื่อจัดถวายพระสงฆ์เพื่อเฉลี่ยกันฉันให้ทั่วถึง เด็กหญิงคนนั้นกุลีกุจอจัดอาหารคาวหวานตลอดจนการประเคนอาหารมีความแคล่วคล่องกว่าผู้ใหญ่ การพูดการจาฉะฉานรู้จักวิธีการปฏิบัติต่อพระกรรมฐานอย่างดีกว่าผู้ใหญ่ที่มาถวายด้วย เพราะยังรู้สึกเก้ๆกังๆ ทำอะไรไม่ค่อยจะถูก เด็กหญิงคนนั้นพูดขึ้นว่า “ ขออภัยด้วยบ้านนี้เป็นบ้านป่าดง ไม่รู้จักพระเจ้า ไม่รู้จักพระสงฆ์ ทำอะไรไม่ค่อยจะถูก” ทุกคนรู้สึกประหลาดใจ สะดุดใจ ทำไมเด็กหญิงตัวน้อยๆพูดจาฉะฉานดีกว่าผู้ใหญ่ รู้ข้อวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐานดีขนาดนี้ พระจามและสหธรรมิกรู้สึกแปลกใจ ทั้งๆที่ผู้ใหญ่ได้ผ่านโลกมาก็มากผ่านการทำบุญมาก็มาก ทำไมจึงแตกต่างกันถึงปานนั้น ท่านได้นำคำพูดนั้นมาสนทนาพิจารณาทบทวนความสงสัย ในที่สุดก็ลงความเห็นเป็นคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ว่า “ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นโสดาบันมาเกิดใช้ชาติ แต่ถ้าไม่ใช่มนุษย์ก็เป็นเทวดา”

    คณะจึงเดินทางไปบำเพ็ญจิตภาวนาที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ระยะหนึ่ง การภาวนายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงเดินธุดงค์ต่อไปยังเพชรบูรณ์



    ตอนที่ ๑๓ ทดสอบจิตใจตนเอง



    คณะสหธรรมิกได้จาริกไปถึงเทือกเขาในอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่บริเวณเทือกเขาแห่งนี้เป็นบริเวณที่สัปปายะพื้นที่ลาดลงไปทุ่งนา มีหมู่บ้านไม่ไกลนัก ขณะที่บำเพ็ญจิตภาวนาอยู่ที่นี่

    สหธรรมิก ๑ องค์เป็นไข้มาลาเรียอาการหนักไม่สามารถรักษาได้เพราะอยู่ห่างไกล แม้จะใช้ยาพื้นบ้านก็ไม่สามารถรักษาให้อาการทุเลาได้เป็นเหตุให้เสียชีวิต

    ส่วนอีก ๑ องค์เกิดได้มีศรรักปักอกเพราะได้พบรัก จึงลาสิกขาบทไปแต่งงาน

    จึงเหลือเพียง ๒ องค์ มุ่งทำความเพียรที่นั่นต่อไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะหาทางพ้นทุกข์ การบำเพ็ญพากเพียรไม่เกิดผล เพราะเหตุสหธรรมิก ๒ องค์ต้องลาจากไปด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้จิตใจสับสนกระวนกระวายภาวนาหลายคืนจิตไม่สงบ มีแต่ร้อนรนรุ่มร้อน

    พระจามได้นึกถึงวิธีการสั่งสอนฝึกจิตที่ พระพุทธเจ้า ตอบสารถีผู้ฝึกม้า ควรจะทำอย่างไรกับม้าที่ฝึกยาก ม้าที่ฝึกยากเปรียบเสมือนจิตของคนเราที่จะต้องฝึกฝนทรมานอย่างเหมาะสมกับจริตนิสัยของตน ท่านจึงหาวิธีทดสอบจิตที่ดื้อมากขณะนั้นทั้ง ๆ ที่เคยทำได้และสูญหายไป ฝึกใหม่ก็ไม่ยอมลง แสดงถึงจิตตนเองมีความดื้อมากขณะนั้น

    ช่วงนั้นระหว่างเดือน ๙ เดือน ๑๐ ฝนกำลังตกหนักน้ำไหลจากภูเขา ไหลตามลำห้วยลงมาในทุ่งนาท่วมเอ่อเป็นบริเวณกว้างต้นข้าวกำลังงอกงามดี เกิดความคิดขึ้นมาว่า เอาละคราวนี้จะลองภาวนาในน้ำ เพื่อแก้ความร้อนรนในจิตใจ เอาความเย็นเข้าแก้ไข และแก้สติที่ชอบเผลอหลับขณะภาวนาเสมอ

    เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงตั้งจิตอธิษฐานไม่นอน จะภาวนาในอิริยาบถนั่ง จึงลงไปภาวนาในทุ่งนา โดยแช่ตัวในน้ำ บางคืนตั้งแต่ ๓ ทุ่มบ้าง ๔ ทุ่มบ้าง จนถึงตี ๔ หรือตี ๕ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคืน พระจาม กับสหธรรมิกอีก ๑ องค์ จำพรรษาอยู่ที่นั้นตลอดไตรมาสโดยชาวบ้านได้สร้างเสนาสนะให้ชั่วคราว

    ท่านได้บำเพ็ญความเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง บางครั้งก็หลับขณะนั่ง หลับขณะยืน หลับขณะเดินจึงแก้ไขการหลับในน้ำกลางทุ่งนา นั่งในน้ำอยู่ระดับคอหอยพอดี ถ้าหลับสัปหงกหัวทิ่มลงมาน้ำจะเข้าจมูก หน้าแช่น้ำพอรู้สึกว่าจะสำลักน้ำตาย ก็โผล่ขึ้นมาหายใจ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้อยู่หลายคืนเว้นบ้าง ถ้าขณะภาวนาตัวลอยขึ้นก็จะใช้มือจับต้นข้าวไว้ เพื่อให้ตัวจมไว้ในระดับที่ต้องการ ทำให้การบำเพ็ญจิตภาวนาได้ผลดีขึ้นพอสมควร

    เมื่อจิตสงบก็พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟ พิจารณากายานุสติ พิจารณาอสุภะอสุภังว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ปัญญาทางธรรมยังไม่เฉียบคมพอที่จะตัดกิเลสออกได้แม้แต่กิเลสหยาบหรือกลาง แล้วกิเลสขั้นละเอียดจะหลุดออกจากจิตใจได้อย่างไรเกิดความสงสัยตัวเองอย่างบอกไม่ถูก เมื่อจิตออกจากสมาธิก็เร่าร้อน จึงต้องหาสาเหตุว่าทำไมจิตจึงร้อน ถามใจตนเอง ต้องค้นหาความจริงให้ได้

    ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ที่ตั้งไว้แน่วแน่ที่จะต้องให้หลุดพ้นในชาตินี้ให้ได้ จึงทรมานจิตอย่างหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ผลการปฏิบัติแม้ว่าจะไม่ได้ผลเท่าที่ตั้งใจไว้ก็ตาม แต่ก็ยังเกิดความรู้ขึ้นเกือบทุกครั้งที่เกือบตาย เกือบขาดใจ ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงหน้าที่ของกายกับจิตนั้นแยกกัน จิตไม่อาจบังคับกายได้ทุกอย่าง จิตจะบงการการให้ทำงานตามที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้ กิเลสจะคอยปิดบังให้จิตหลงว่าเป็นเจ้าของกาย จึงหวงกายเป็นที่สุด แท้จริง กายไม่ใช่ของใจ ใจเพียงอาศัยกายอยู่ กายตายได้แต่ใจไม่ตายแต่กิเลสบังไว้ พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาไตรลักษณ์คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

    บางคืนจิตสงบเป็นสมาธิก็เกิดนิมิตภาพเดิม ๆ อีก เห็นพระพุทธรูปมากมาย วัดร้างต่าง ๆ ที่ชำรุดผุพัง ต้นโพธิ์ เกิดความรู้สึกขึ้นว่าได้เกิดหลายชาติ มีส่วนในการสร้างสิ่งที่ปรากฏในนิมิตนั้น บางคืนเกิดญาณทัศนะรู้อดีตชาติแบบลาง ๆ แต่ย้อนไปหลายชาติ แม้กระทั่งบางชาติเคยตกนรก บางชาติเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

    เมื่อออกพรรษาได้ระยะหนึ่งท่านจึงจาริกต่อไป ด้วยการเดินทางตามป่าเขาลัดเลาะไป ณ สถานที่ต่าง ๆ ค่ำที่ไหนก็หาที่พักปักกลดภาวนา ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง เรื่อย ๆ ไปมุ่งไปเหนือ



    ตอนที่ ๑๔ แสวงหามัชฌิมาเพื่ออริยมรรค


    พระจามเดินธุดงค์ไปยังเชียงใหม่ ได้ปักกลดบำเพ็ญภาวนาทำความเพียรบริเวณที่เนินเขาแห่งหนึ่งใกล้แม่งัด การภาวนายังไม่ก้าวหน้าจิตจะดิ้นรนแส่ส่ายออกไปภายนอกอยู่ตลอดเวลา จิตจะปรุงแต่งไม่ยอมสงบ แม้ว่าจะผ่านการทดสอบจิตใจอย่างเข้มข้นมาแล้ว เป็นปัญหาหนักที่ท่านต้องเอาไปขบคิดอย่างหนัก ต้องหาทางออกที่เหมาะสมเป็นอย่างไรแน่ ท่านหวนคิดถึง แนวคำสอนของหลวงปู่มั่น ที่ตนต้องค้นหาแนวทางที่เหมาะสม หาความพอดีของตนเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ท่านได้ทบทวนแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ไปพบปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จึงเกิดความคิดขึ้นว่าเราเองทดลองมาสมควร ยังหาจุดสมดุลของจิตยังไม่ได้ กระนั้นเลยเราต้องหาจุดที่เป็นมัชฌิมาเฉพาะตนให้รู้แจ้งให้ได้ มิฉะนั้นจะดำเนินไปสู่อริยมรรคไม่เกิดผล เกิดความเชื่อว่าจะหามัชฌิมาที่นี่แหละคราวนี้

    วันหนึ่งได้ไปสรงน้ำที่ริมน้ำแม่งัด เหลือบเห็นขอนไม้จมอยู่ใต้น้ำ เกิดสะดุดใจขึ้นว่า เราต้องใช้ขอนไม้นี้เป็นครูสอนจิตของเราที่ดื้อด้านนัก จึงพิจารณาท่อนซุงจมน้ำ ซุงเขาคงไม่รู้จักร้อนไม่รู้จักหนาวอยู่ของเขาเฉย ๆ แม้น้ำจะไหลแรงก็เฉยความรู้เกิดขึ้นว่านั้นคือธรรมชาติของเขา เมื่อน้อมนำมาสู่จิตของตนเองก็เกิดปัญญาฉุกขึ้นว่าเราคงต้องวางเฉยไม่รู้ไม่ชี้ไม่ต้องอยากได้ใคร่ดี จะภาวนา “พุทโธ” อย่างเดียวจิตจะสงบหรือไม่ก็ไม่สนใจไม่ต้องการใด ๆ ไม่รู้สึกใด ๆ เป็นแบบซุงไม้จมน้ำ จิตเราก็จมอยู่ในกิเลสก็เป็นทำนองเดียวกันนั้นแหละ

    ต่อจากนั้นท่านก็จัดแจงนุ่งผ้าให้กระชับเพื่อไม่ให้หลุดลงน้ำแล้วตั้งจิตอธิษฐาน แล้วดำลงไปใต้ซุงเอามือค้ำซุงไว้บริกรรม “พุทโธ” จนสุดกลั้นลมหายใจก็โผล่ขึ้นมาหายใจ ต้องการรู้ว่าจิตจะเป็นสภาพอย่างไรขณะกำลังจะหมดลมหายใจ ขณะใจจะขาดจะเป็นอย่างไร

    ปัญญาได้เกิดขึ้น ขณะที่ลมหายใจจะหมดกำลังจะขาดใจ จิตจะรวมลงเป็นสมาธิเป็นระยะ ๆ จะดำน้ำได้นานขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขณะที่จิตรวมเป็นสมาธิได้ลมหายใจจะแผ่วเบาต้องการอากาศไปใช้น้อยลงเกิดความรู้ความเข้าใจความสัมพันธ์สามัคคีกันของจิตกับกาย สติ สมาธิ ปัญญา มารวมกันแนบแน่นเป็นเอกัคคตารมณ์ มีพลังมาก จึงเข้าใจอำนาจของจิต ความรู้แจ้งเกิดขึ้นว่านี้คือ มัชฌิมาของตนเฉพาะมีพลังแรงมาก เดินทางปัญญาได้แล้ว

    ท่านเกิดความมั่นใจว่าตนเองดำเนินตามแนวทางปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วคงจะสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงหลุดพ้นได้ในชาตินี้กระมัง เกิดปีติอย่างแรงกล้าหารู้ไม่ว่าเป็นวิปัสนูปกิเลส ที่หลอกให้หลงทางเสียอีกแล้ว จึงมุ่งมั่นภาวนาเดินทางปัญญาหนักขึ้น เพื่อพิจารณาสติปัฏฐาน เอาอริยสัจสี่ มรรคแปด มาดำเนินไปแต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่พอใจ กลับมีสัญญาเกิดขึ้นเป็นนิมิตแบบเดิม ๆ

    ท่านหันมาพิจารณาในนิมิต โดยตั้งใจใหม่ว่า ถ้านิมิตจะเกิดก็ให้เกิด เราจะดูให้รู้เฉย ๆ เกิดก็เกิดไป เราจะรู้เขาเท่านั้น โดยไม่เอาจิตตามเหมือนที่เคยทำมาแล้ว เราจะวางจิตเป็นกลางไว้เสมือนท่อนซุงที่จมอยู่ในน้ำ กิเลสจะหลอกก็หลอกไปดูซิว่าจะมีฤทธิ์เดชสักแค่ไหน ในที่สุดนิมิตที่เกิดขึ้นนั้นมีปัญญาเกิด เพราะญาณทัศนะเกิดขึ้นบอกชัดว่าอดีตชาติตนเองเสริมสร้างบารมีไว้มาก นิมิตภาพเหล่านั้นชัดเจนว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างไว้หลายต่อหลายชาติมาแล้วดังนั้นจึงปรากฏให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตส่วนลึกว่าเราอาจไม่ใช่จะเป็นสาวกที่สามารถหลุดพ้นอาสวะกิเลสได้เพราะการอธิษฐานไว้เดิมคงไม่ใช่เสียแล้ว



    ตอนที่ ๑๕ เหตุการณ์ประหลาด


    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากได้แยกกับหลวงปู่สิมไปแล้ว จึงไปพบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่อำเภอสเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ธุดงค์ไปด้วยกันตามภูต่าง ๆ ที่ชาวเขาอาศัยอยู่ ได้ระยะหนึ่งก็ได้แยกทางกันธุดงค์ไปตามลำพังหลวงปู่ชอบได้ธุดงค์ไปตามหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงไปเรื่อย ๆ ส่วนหลวงปู่จามก็เดินธุดงค์ไปตามลำน้ำแม่ขาล ได้ไปปักกลดอยู่ที่ถ้ำใกล้หมู่บ้านหาดเสียวสะเมิง บริเวณถ้ำมีโพรงลึกเข้าไปมีรอยตีนเสืออยู่บริเวณถ้ำ ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำเสือนอน

    หลวงปู่จามได้พักอยู่ในถ้ำนั้นระยะหนึ่งจึงเดินธุดงค์ต่อไป ระยะทางที่จะไปยังมีหมู่บ้านท่ากระถิน ซึ่งไกลมากต้องใช้เวลาเดินทาง ๑ วันเต็มๆ หลังจากฉันอาหารแล้วก็พักผ่อนพอสมควร เมื่อตะวันตรงหัวก็เริ่มเดินทางไปยังหมู่บ้านดังกล่าว

    ขณะเดินทางไป ได้พบทหารยามที่อยู่บนคบไม้ เพื่อตรวจการเข้ามาของเครื่องบินพันธมิตรที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในพม่า ทหารยามเห็นพระธุดงค์เดินมาจึงลงจากคบไม้และนิมนต์ให้พักและขอเครื่องลางของขลัง แต่หลวงปู่จามไม่มีอะไรจะให้เผอิญมีรูปถ่ายของท่านที่ทำใบสุทธิเหลืออยู่ ๑ รูป จึงมอบให้ทหารไทยคนนั้น ประมาณ ๔ โมงเย็นจึงได้เดินทางต่อไป ตามแนวทางเดินเป็นสภาพป่าดงดิบสลับห้วย ต้องเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยขึ้นดอยลงดอย เพื่อมุ่งไปสู่บ้านเป้าหมาย คือบ้านท่ากระถิน ไปทาง อ.สันป่าตอง ขณะเดินทางตะวันได้ตกดินไปแล้วแต่ สิ่งที่น่าประหลาดใจว่าทำไมตามทางเดินไปนั้นไม่มืดเห็นทางสว่างตลอด เห็นต้นไม้ได้ชัดเจนเห็นสัตว์ป่าวิ่งตัดหน้า ทั้ง ๆ ที่เป็นข้างแรมไม่เห็นดวงจันทร์ ใช้เวลาเดินทางไปจนเมื่อยล้าก็พักผ่อนตามทาง เมื่อกระหายน้ำก็แวะตักน้ำดื่มตามลำห้วย เกิดความสงสัยว่าเหตุใดจึงสว่างไสวเช่นนั้น ยังหาคำตอบไม่ได้

    การเดินทางในคืนนั้นปรากฏว่ามาถึงทางสามแพร่งไม่แน่ใจว่าทางใดจะไปสู่บ้านท่ากระถิน จึงได้หยุดพิจารณาดูแต่ไม่แน่ใจ จึงหลับตาตั้งจิตอธิษฐานว่าเส้นทางใดจะไปสู่บ้านท่ากระถินก็ให้จิตใจอยากไปทางนั้น หลังจากอธิษฐานเสร็จจิตก็บอกให้ไปทางซ้ายมือปรากฏว่าถูกทาง พอเดินไประยะหนึ่งก็พบลำห้วยจึงข้ามห้วย ขณะนั้นก็มืดลงทันทีมองไม่เห็นสิ่งใดต้องใช้มือคลำทางไป รู้สึกแปลกใจอย่างมาก

    ขณะนั้นมีไม้ขีดไฟเหลืออยู่เพียง ๒ ก้าน ไม่มีไฟฉายไม่มีเทียน เพราะใช้หมดแล้ว จึงตัดสินใจเอาไม้ขีดมาจุด เพื่อดูทางไปได้ เห็นต้นไม้ถูกฟันเปลือกออกแสดงว่าใกล้หมู่บ้านแล้ว จึงใช้มือคลำต้นไม้เพื่อแหวกทางเดินต่อไปอีกระยะหนึ่งก็ได้กลิ่นควันไฟ จึงแน่ใจว่าคงจะพบคนบริเวณไม่ไกลนัก ได้ยินเสียงชาวบ้านคุยกันจึงมุ่งตรงไปยังเสียงนั้นต่อมาได้เห็นชาวบ้านออกมาผิงไฟเพราะอากาศหนาวจัด จึงมุ่งตรงไปหา ชาวบ้านแตกตื่นคิดว่าเป็นคนร้ายจึงได้ถือมีดไม้ออกมา พอรู้ว่าเป็นพระจึงนิมนต์เข้าไปในบ้านปรากฏว่าเวลาขณะนั้นประมาณตี ๔ เศษใกล้สว่าง ชาวบ้านต่างแปลกใจว่าท่านมาได้อย่างไรเพราะตามเส้นทางมีเสือชุกชุม ถามท่านว่า “ไม่พบเสือหรือ” ท่านตอบว่า “ไม่เห็นเพียงได้กลิ่นเยียวเห็นรอยเยี่ยว” ทำให้ชาวบ้านแปลกประหลาดใจทั้ง ๆ ที่เดือนมืด ชาวบ้านจึงนิมนต์ไปพักผ่อนที่บ้านระยะหนึ่ง นอนได้ถึงแปดโมงเช้า ชาวบ้านก็นำอาหารมาถวาย ชาวบ้านได้ทำที่พักให้พัก อยู่ ๗ วันท่านจึงลากลับ

    ด้วยความสงสัยยังไม่หายข้องใจว่าทำไมจึงสว่างตามทางเดินทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาค่ำคืนเดือนมืด ท่านจึงเดินทางตอนกลางวันย้อนกลับไปยังบ้านหาดเสี้ยวอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับความกระจ่างจนถึงบัดนี้ใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ประมาณ ๗ โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็นจึงถึงบ้านหาดเสี้ยว



    ตอนที่ ๑๖ ผีสางเทวดา


    หลวงปู่จามเดินธุดงค์ไปริมแม่น้ำกก เชียงราย เดินดุ่มไปองค์เดียว เพื่อวิเวกแสวงหาธรรมขั้นสูง ในพื้นที่ธรรมชาติป่าเขาลำเนาไม้ ริมแม่น้ำกก ที่เชิงดอยมีถ้ำขนาดเล็กพออาศัยพักพิงทำความเพียรได้เพียงองค์เดียว

    หลังจากที่ท่านได้ทดสอบจิตใจ ทดสอบวิธีการฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเอง ณ สถานที่สัปปายะต่าง ๆ มาโดยลำดับแล้ว ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ มิอาจแสวงหาคำตอบข้อสงสัยได้จึงเลือกสถานที่ใหม่ เพื่อทดสอบแสวงมัชฌิมาอันเป็นทางสายกลางที่จะเดินอริยมรรคเพื่อให้จิตละกิเลสตัณหาอุปาทานออกไปจากจิตใจให้ได้

    การบำเพ็ญจิตภาวนาที่บริเวณถ้ำริมแม่น้ำกก ท่านได้ทำความเพียรอย่างแกล้วกล้าแต่จิตก็ไม่สงบ แส่ส่ายออกไป มีแต่สัญญาเข้ามาและปรุงแต่งออกไปอย่างกว้างขวางจนถึงกับท้อใจบ้างในบางเวลาแม้จะพิจารณาธรรมด้วยสติปัฏฐาน เอาอริยสัจมาเป็นข้อธรรมเพื่อเดนอริยมรรคมีองค์แปด ก็เกิดสับสนในจิตใจ ปัญญาไม่เกิดสว่างไสวเท่าที่ควร

    ท่านจึงเกิดความสงสัยว่าจะมีอำนาจอื่นหรือพลังอื่นเข้ามาขวางกั้นไม่ให้ความเพียรที่ทำนั้นเกิดผลหรืออย่างไร ท่านจึงตะโกนออกไปว่า “ เทวดา ยม ยักษ์ นาค มารบกวนทำไม อยากจะตกนรกหรือ? ”

    ต่อจากนั้นท่านก็บริกรรม พุทโธ ต่อไป อีกไม่นานจิตสงบ เห็น พญานาค โผล่มาในนิมิตมาบอกว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องไม่มีส่วนในการรบกวนใด ๆ “การไม่สงบเพราะจิตใจของท่านเองต่างหาก” ท่านจึงหวนมาพิจารณาในจิตของท่านว่า “ชะรอยจะไม่ใช่บำเพ็ญตนมาเพื่อตัดกิเลสแต่เพียงผู้เดียวเสียแล้ว ................?"



    ตอนที่ ๑๗ เทพเป่าและนำทางไป


    หลวงปู่จาม ธุดงค์องค์เดียวจากเชียงรายไปอำเภอแม่สาย เพื่อมุ่งไปสู่อำเภอพร้าว ระยะทางไกลมากต้องอาศัยเดินลัดตัดดอยข้ามดอยไปจะใกล้กว่าเดินทางตามทางราบ ท่านจึงบากบั่นมุ่งหน้าไปอย่างไม่ลดละ จากบ้านหนึ่งกับบ้านหนึ่งระยะก็ห่างกัน ค่ำก็ปักกลดพักภาวนา บางวันก็ได้ฉันอาหารบางวันก็ไม่ได้ฉันเพราะไม่มีหมู่บ้านจะไปบิณฑบาตได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียแต่จิตใจไม่ท้อถอยคงมุ่งมั่นบากบั่นตามที่ตั้งใจไว้จนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก็ปักกลดอยู่ใกล้ๆ ไม่ห่างไกลนักเพื่อจะได้บิณฑบาตในตอนเช้า

    ชาวบ้านได้มาพบก็ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านว่ามีพระธุดงค์มาพักอยู่ชายบ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ทำอาหารมาถวายในตอนค่ำ แต่หลวงปู่จามไม่รับถวายเพราะเลยเวลาฉันแล้ว แต่ผู้ใหญ่บ้านคนนั้นไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่บ้านเสียใจจึงกลับไปบอกลูกบ้านว่า “ รุ่งขึ้นไม่ต้องใส่บาตร เพราะพระองค์นี้ไม่ฉันอาหาร ขนาดต้มไก่ร้อนๆ มันยังไม่ฉันเลย “

    รุ่งเช้าหลวงปู่จามก็เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านปรากฏว่าไม่มีใครใส่บาตรเลยแม้แต่คนเดียว บางคนมีศรัทธาแต่ไม่กล้าเพราะเกรงกลัวผู้ใหญ่บ้าน ท่านก็แต่สะพายบาตรเปล่ากลับไปที่พัก ดื่มแต่น้ำเปล่า แล้วเตรียมบริขารเดินทางต่อไปจนกระทั่งเวลาประมาณ ๓ โมงเย็น ไปพบหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งก็ปักกลดพักอยู่ใกล้ๆหมู่บ้านนั้น

    พอรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งก็สะพายบาตรเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ปรากฏว่าหมู่บ้านนี้ชาวบ้านนับถือคริสต์ศาสนาไม่มีใครใส่บาตรได้เลยแม้แต่คนเดียวก็สะพายบาตรเปล่ากลับมาอีกเป็นคำรบที่สอง ได้ฉันน้ำ เก็บอัฐบริขารเดินทางต่อไปอีกจนค่ำก็ปักกลดบนดอย ได้ยินเสียงคน เสียงหมาเห่า อยู่เชิงดอย ก็หวังว่ารุ่งเช้าจะได้บิณฑบาต ฉันอาหารให้อิ่มหนำสำราญ

    เมื่อตะวันขึ้นก็สะพายบาตรลงเขาไปบิณฑบาตตามข้อวัตรปฏิบัติ เดินจนสุดหมู่บ้านก็ไม่มีใครใส่บาตรอีกเพราะเป็นหมู่บ้านที่คริสต์ศาสนาได้ไปเผยแพร่คำสอนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ท่านก็เดินต่อไปยังบ้านโดดเดี่ยวหลังหนึ่ง ที่มียายกับหลานเล็กๆ ๑ คนอายุประมาณ ๖ - ๗ ขวบ หลานออกมาดูแต่ยายไปหลบอยู่ที่หลังบ้าน ท่านจึงยืนนิ่งอยู่นาน หลานได้โผล่หน้าดูแล้วบอกว่า “ ยายๆตุ๊เจ้ามากุมบาต “ ( กุมบาต หมายถึง มาบิณฑบาต ) ยายบอกว่า “ อย่าไปมองดูมัน “ หลานบอกยายว่า “ ไม่มองดูก็เห็น ยืนอยู่หน้าบ้าน “ ยายเห็นว่าท่านยืนอยู่ไม่ไปไหนยายจึงเอาข้าวมาปั้นหนึ่งให้หลานลงมาใส่บาตรให้ หลานจึงลงมาใส่บาตรให้ท่าน

    ต่อจากนั้นท่านก็เดินกลับที่พักเพื่อจะฉันข้าวปั้นนั้น ขณะกำลังเดินกลับใกล้จะพ้นหมู่บ้านนั้นมีหมาแม่ลูกอ่อนวิ่งตามมา จะไล่กลับมันก็ไม่กลับวิ่งตามไปตลอด ท่านจึงหยุดคิดพิจารณาว่าหมามันคงจะอยากกินข้าว มันคงหิว และต้องมีนมให้ลูกมันกิน ท่านคิดในใจว่า “ ข้าวปั้นเดียวกินคงไม่อิ่ม ให้หมาหิวมันกินดีกว่า “ ก็เลยล้วงข้าวปั้นจากบาตรโยนให้หมาลูกอ่อนกิน เมื่อเดินกลับไปที่พักก็จัดอัฐบริขารเดินทางต่อไป

    เนื่องจากไม่ได้ฉันอาหารมา ๓ วันแล้ว ประกอบกับการเดินทางที่ต้องใช้พละกำลังขึ้นเขาลงห้วยทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ระหว่างเดินทางไปในวันนั้นรู้สึกหูอื้อตาลาย ใจหวิว จนถึงเวลาประมาณเที่ยงวันขณะเดินปีนเขารู้สึกวูบดับไปไม่รู้สึกตัวล้มลง พอรู้สึกตัวอยู่ในท่านอนอยู่บนทางเดินในป่า ได้พบชายหนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ ๒๐ ปี ชายหนุ่มถามว่า “ท่านคงจะเหนื่อยมากนะครับ “ ท่านตอบว่า “ เหนื่อยมาก ไม่ได้ฉันอาหารมา ๓ วันแล้ว “ ชายหนุ่มบอกว่า “ ไม่เป็นไรให้นอนอยู่นิ่งๆ เดี๋ยวจะเป่าให้ “ เขาเริ่มเป่าตามแขน ขาลำตัว ขึ้นมาถึงตีนผม รู้สึกประหลาดว่า ลมที่เป่านั้นเย็นมาก พอเป่าตรงจุดไหนก็เบาสบายขึ้น แล้วเป่าย้อนลงไปจากตีนผมลงไปถึงเท้า

    เมื่อชายหนุ่มเป่าเสร็จก็นิมน๖ให้ท่านลุกขึ้นนั่งแล้วถามว่า “ เป็นอย่างไรสบายดีหรือยัง ให้ลองขยับแขนขาดู “ หลวงปู่ตอบว่า “ รู้สึกสบายขึ้น “ ชายหนุ่มถามว่า “ ท่านจะไปไหนต่อ “ หลวงปู่ตอบว่า “ จะไปที่บ้านป่าเมี่ยงแม่สม “ ชายหนุ่มตอบว่า “ งั้นก็ไปทางเดียวกับผม เดี๋ยวผมจะสะพายกลดสะพายบาตรให้ ท่านคอยเดินตามผมไป” ท่านก็เดินตามหนุ่มคนนั้นไป ทิ้งระยะไม่ห่างนัก ไม่ใกล้นัก ถ้าจะคุยกันก็ไม่ค่อยสะดวก แต่ก็พอมองเห็นกันได้เพราะอยู่ในป่า ถ้าเห็นว่าทิ้งระยะห่างมากชายหนุ่มก็ยืนรอ แม้จะเร่งฝีเท้าก็ตามไม่ทันชายหนุ่ม จนถึงทางแยก ชายหนุ่มบอกว่าทางนี้ไปบ้านป่าเมี่ยง ผมจะไปอีกทางหนึ่งแยกกันตรงนี้ จึงประเคนบาตร กลด คืนท่าน บอกว่าเดินข้ามห้วยก็ถึงบ้านป่าเมี่ยงแล้ว

    เมื่อแยกกันท่านก็นั่งพักสักครู่เพื่อจะเดินทางต่อไปนั่งมองดูชายหนุ่มที่เดินแยกทางไป พอเห็นผ่านต้นไม้ใหญ่ก็ไม่เห็นโผล่ออกมาตามทางเดินนั้นอีกเลย ชายหนุ่มหายลับไปที่ต้นไม้ใหญ่ ด้วยความสงสัยจึงไปตรวจสอบดูรอยเท้าก็ไม่พบรอยเท้าเลยแม้แต่น้อย

    เมื่อถึงบ้านป่าเมี่ยง ท่านได้นอนพักหลับไปและโยมได้นำน้ำอ้อยมาถวายให้ฉันทำให้ร่างกายดีขึ้น หูที่เคยอื้อไม่ได้ยินก็ดีขึ้นโดยลำดับ



    ตอนที่ ๑๘ ผจญผีที่ซากเจดีย์เก่า


    หลวงปู่จามได้เดินธุดงค์ไปอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่กับ พระอาจารย์หนู สุจิตโต และมีตาผ้าขาวไปด้วยหนึ่งคน ไปปักกลดบนหลังดอยที่มีลักษณะหลังปลาช่อน ด้านหนึ่งของภูป็นสันสูงเป็นหลังปลามีซากเจดีย์ปรักหักพังอยู่หนึ่งองค์ อีกด้านหนึ่งเป็นผาชัน หลวงปู่จามได้ปักกลดมุมหนึ่งขององค์เจดีย์ ส่วนตาผ้าขาวปักกลดอยู่อีกมุมหนึ่งตรงกันข้าม ส่วนพระอาจารย์หนู ปักกลดอยู่ด้านหน้าผา

    ชาวบ้านได้ทัดทานว่าอย่าปักกลดแถวนั้นเลยจะเกิดเภทภัยเพราะเคยมีพระและฆราวาสขึ้นไปถูกอาถรรพ์โดยเกิดภาพหลอนให้เห็นเป็นน้ำ จึงว่ายหนีน้ำแต่เป็นการว่ายอยู่บนบก อกแถกพื้นดินพื้นหินเกิดบาดแผลฟกช้ำดำเขียวอยู่ไม่ได้มาแล้ว แต่ตาผ้าขาวดันปากโป้งบอกว่าไม่กลัว หลวงปู่จามบอกว่าจะมาภาวนาหาทางพ้นทุกข์ไม่ต้องการทรัพย์สินใดๆ

    พอเริ่มพลบค่ำต่างก็เข้าอยู่ในกลดขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่นั้น ตาผ้าขาวมองเห็นชายนุ่งผ้าโสร่งเดินไปมารอบกลด ภาวนาจิตก็ไม่สงบ ไม่ได้หลับนอนตลอดคืน พอรุ่งเช้าเผ่นหนีไป ส่วนหลวงปู่จาม ขณะสวดมนต์ได้ยินเสียงคล้ายค้างคาวบินไปมาอยู่รอบกลด ๓ ตัวและเข้ามาในกลด และกระโดดเกาะหลังรู้สึกคล้ายสำลีมาสัมผัสหนังท่านจึงเอามือปัด ก็กระโจนหนีได้ยินเสียงร้องคิกคักเป็นเสียงคล้ายผู้หญิง สมัยนั้นไม่มีไฟฉาย มีแต่เทียนไขจึงต้องภาวนาไม่ได้นอนหลับเลย พอมาคืนที่สองก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะทำนองเดียวกัน ต้องนั่งภาวนาตลอดคืน ส่วนกลางวันต้องหลับพักเอาแรงไว้สู้กับอมนุษย์ที่มองไม่เห็นตัวต่อไป

    เริ่มค่ำในคืนที่สาม หลวงปู่จาม รำลึกถึงโอวาทของ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ขณะอยู่ที่วัดป่าห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้สวดบทโพชณังคปริตร จะช่วยระงับเหตุเภทภัยอาเพทต่างๆ หลวงปู่จามจึงสวดมนต์บทนี้แทนการภาวนาพุทโธ สวดโพชฌงค์ หลายๆ เที่ยวต่อเนื่อง ทำให้จิตสงบรวมลงเป็นสมาธิ สิ่งที่เคยรบกวนไม่สามารถเข้ามาใกล้ได้เลย จิตได้สงบเป็นสมาธินานพอสมควรก็บังเกิดความสว่างไสวมองเห็นได้ทั่วบริเวณ ปรากฏเห็นร่างเป็นหญิง ๓ คนที่เคยกระโดดเกาะหลัง หลวงปู่จามจึงส่งกระแสจิตขู่จะใช้กระสิณไฟ ร่างอมนุษย์นั้นทำท่ากลัวจนตัวสั่น บอกว่ามารบกวนเพราะได้รับคำสั่งจากเจ้านายผู้ชายนุ่งโสร่งเจ้าของทรัพย์สมบัติที่เฝ้าอยู่เพราะห่วงสมบัติ ต่อมาก็เห็นภาพผู้ชายนั้นยืนอยู่ มือถือพระพุทธรูปทองคำ เทียน ๒ เล่ม อีกมือหนึ่งถือแก้วมณีบนเชิงรองลูกแก้วมณีเปล่งแสงประกายโตขนาดไข่ไก่ หลวงปู่จามจึงส่งกระแสจิตตวาดว่ามารบกวนทำไม อมนุษย์ตอบว่า กลัวท่านจะมาขุดเอาของมีค่าใต้เจดีย์ จึงติองหาทางให้ท่านหนีไป หลวงปู่จามจึงบอกว่า “ มาที่นี่ไม่หวังทรัพย์สินเงินทองใดๆ เรามาภาวนาเพื่อหาทางพ้นทุกข์ มารบกวนไม่กลัวบาปกรรมหรือจะตกนรกนะ”

    หลวงปู่จามถามว่า “ ในมือเจ้านั้นอะไร” เขาเลยว่า “สมณะไม่สำรวม” ท่านเลยขู่ไปทางกระแสจิตว่า “ เดี๋ยวจะใช้เตโชกสิณเผาให้เป็นจุณหรอก” พวกนั้นจึงกลัวลาน ร้องขอชีวิต ท่านจึงกล่าวสำทับว่า “ พวกเจ้าไม่รู้จักบุญกุศลหรือมาทำบาปทำกรรมอยู่ทำไมจะตกนรก” ต่อมาจึงได้ตกลงว่าต่างคนต่างอยู่ไม่รบกวนกันแต่สัญญานี้ไม่รวมถึงพระอาจารย์หนูด้วย ต่อจากนั้นพระอาจารย์หนูก็ถูกเล่นงาน หลวงปู่จามถามพระอาจารย์หนูว่า “ อาจารย์หนูทำอะไรเสียงดัง ฟันดาบหรืออย่างไรเมื่อคืนนี้” พระอาจารย์หนูตอบว่า “ ฟันดาบอะไรพวกผีมันอาละวาดต่างหาก” พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก ขณะที่ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จึงขอให้พระอาจารย์หนูได้ไขปริศนาเกี่ยวกับผีผู้หญิง ๓ ตนนั้น พระอาจารย์หนูบอกว่า “ มันไม่เพียงกระโดดเกาะหลังเท่านั้น มันเข้ามาจับหำ ( ของลับ ) อาจารย์ด้วย”



    ตอนที่ ๑๙ รู้แจ้งประจักษ์อนาคตอันไกลโพ้น


    หลวงปู่จาม ได้เดินธุดงค์ไปเชียงใหม่ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโรงธรรม อำเภอสันกำแพง อยู่กับ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ๒ พรรษา ในช่วงนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านจึงอยู่ที่นี่เป็นหลักในบางโอกาสก็ออกไปหาวิเวกตามดอยต่างๆ

    ต่อมาได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ในช่วงนั้น ได้มีการทิ้งระเบิดในเมืองบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะปลอดภัย หลวงปู่สิมจึงชวนหลวงปู่จามออกไปอยู่ที่จอมทอง ระยะหนึ่ง

    การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาที่จอมทองแห่งนี้ได้พบกับความแปลกใหม่ของจิตตัวเอง เพราะเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะสมแก่การบำเพ็ญพากเพียร และบุคคลสัปปายะ เนื่องด้วยหลวงปู่สิมเคยเป็นสามเณรอยู่ด้วยกัน ขณะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น จึงมีความเข้าใจสนิทสนมกันดี

    ในช่วงแรกของการภาวนา จิตไม่สงบแส่ส่ายออกนอกเกิดสัญญาปรุงแต่งลักษณะเดียวกันกับที่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว แม้ว่าจิตจะเคยสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิหลายครั้งแล้วก็ตามเกิดเสื่อมลงอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆที่ได้ใช้อุบายต่างๆ แก้ไขมาหลายครั้งต่อหลายหนแล้ว บางคืนจิตร้อนรนเสมือนว่ากิเลสไม่เบาบางเลยทั้งๆที่ปกติธรรมดาจะไม่ปรากฏแต่พอเริ่มอธิฐานจิตเข้าที่ภาวนาจะเกิดอาการลักษณะนี้ขึ้นมา คิดทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งๆที่บำเพ็ญพากเพียรอย่างจริงจัง แต่ผลที่ได้ดูเหมือนไม่คุ้มค่ารู้สึกว่าเกือบหมดกำลังใจ

    แต่เนื่องด้วยอุปนิสัยของท่านเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ท่านระลึกถึงหลวงปู่มั่น ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่เคยให้คำแนะนำสั่งสอนและปฏิปทาของท่านเหล่านั้นแล้ว จึงเกิดพลังใจตั้งสัจจะอธิฐานว่า “ ถ้าจิตจะสงบหรือไม่สงบก็ไม่ว่า จะเกิดหรือไม่เกิดอะไรก็ไม่ว่า เราไม่หวังอะไรอีกแล้วต่อไปนี้จะเอาเฉพาะ พุทโธ ให้แนบแน่นกับลมหายใจที่ตรงหัวใจของเรา จะไม่ยอมให้หนีไปไหน “

    ต่อจากนั้นอีกไม่นาน จิตค่อยๆ สงบละเอียดรวมลงเป็นสมาธิกายเบาจนไม่มีกายเหลือแต่จิตดวงเดียว เกิดนิมิตภาพเจดีย์ปรักหักพังมากมาย พระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆมากมาย ต้นโพธิ์ ต้นจิก และอื่นๆ เป็นภาพแล้วภาพเล่า ต่อจากนั้นก็เห็นภาพตนเอง ในอดีตชาติเกิดขึ้นมาจนนับไม่ไหว ท่านได้กำหนดรู้ในภาพนิมิตที่เกิดขึ้นมาโดยลำดับปัญญารู้แจ้งในแต่ละชาติในอดีตทั้งกรรมดีกรรมชั่วคละเคล้าปะปนกันไป ตลอดจนบุญบารมีที่สร้างไว้แต่อดีตชาติ ทั้งขึ้นสูงและลงต่ำ สวรรค์ นรก มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน

    การพิจารณากลับไปกลับมาปรากฏความรู้แจ้งชัดขึ้นมาว่าการที่มุ่งทำความเพียรเพื่อละกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ในชาตินี้คงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เสมือนว่ามีอะไรสักสิ่งหนึ่งปิดกั้นไว้ ปัญญาไม่ทะลุแจ้ง ฉุกคิดถึงแนวทางปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาพุทธภูมิมาแล้ว ชะรอยเราจะเคยปรารถนา............มาแล้วกระมัง ท่านจึงถอนจิตออกจากสมาธิแล้วไปที่หน้าองค์พระพุทธรูป ห่มผ้าจีวรจรดไหล่เรียบร้อย กราบแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าได้เคยปรารถนา......ที่บำเพ็ญมาเพื่อการเป็น.......ในภายภาคหน้าแล้วก็ขอให้จิตสงบเยือกเย็นขอให้ภาพนิมิตเหล่านั้นหายไปและให้เกิดความรู้แจ้งเห็นชัดเป็นที่ประจักษ์เถิด” จึงได้พักผ่อนหลับ

    ในคืนต่อมาการภาวนาได้ผลดี จิตสงบรวดเร็วจิตใจที่เคยร้อนมีแต่เยือกเย็น เบาสบาย จิตรวมลงถึงฐานอัปปนาสมาธิพักในสมาธิเพื่อให้เกิดพลังเต็มที่แล้วจิตถอนขึ้นมาเองอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ เกิดญาณทัศนะสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน หยั่งรู้เข้าใจภาพนิมิตที่เคยปรากฏมาแล้วอย่างปราศจากข้อสงสัย รู้แจ้งแล้วว่าชาตินี้ยังไม่สามารถบำเพ็ญพากเพียรให้สิ้นอาสวะกิเลสได้ ได้รู้เห็นจิตใจของตนในส่วนลึกอย่างละเอียดว่า ได้เคยอธิฐานตั้งความปรารถนา...........ไว้แล้วในอดีตชาติและได้รับการ...............แล้ว ไม่สามารถถอนออกได้ จึงจะต้องบำเพ็ญบารมีเพิ่มขึ้นจะต้องเกิดตายอีกหลายชาติ จนกว่าบารมีจะเต็มและถึงระยะเวลาที่จะต้องลงมาอีก เพื่อการ................ ที่จะต้องมาโปรดสัตว์ที่โลกกำลังร้อนระอุซึ่งเป็นระยะเวลาอีกนานเท่าใดไม่สามารถจะประมาณได้

    การสั่งสมอุปนิสัยบุญบารมีในแนวทางของความเป็น.......และได้รับการ...........แล้วนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตน การจะบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นใครก็เป็นเรื่องเฉพาะของการเป็นใครคนนั้น กรณีบำเพ็ญสาวกบารมีก็จะเป็นสาวก บำเพ็ญอัครสาวกบารมีก็จะเป็นอัครสาวก บำเพ็ญปัจเจกบารมีก็เป็นปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าบำเพ็ญพุทธบารมีก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้า

    ผู้เขียนได้ถามหลวงปู่ว่า เกิดตายอีกหลายชาติไม่เบื่อหรือ ท่านตอบว่า “เบื่อไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ต้องมาเกิดตายจนกว่าจะหมดภาระหน้าที่นั้น”



    ตอนที่ ๒๐ ทำเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินเพื่อพระพุทธศาสนา


    ขณะที่ท่านใช้ชีวิตเป็นสามเณรอยู่ ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ - ๒๔๗๑ ก็ได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ พากเพียรภาวนาอย่างหนักหน่วงตามแนวทางการปฏิบัติของพระกรรมฐานตามคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ต่อมาได้ลาสิกขาไปดำเนินชีวิตฆราวาส ตามความเป็นไปในทางโลกเป็นเวลาประมาณ ๑๑ ปี จึงมีประสบการณ์ทางโลกมากพอสมควร ต่อจากนั้นก็ได้กลับมาใช้ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ดำเนินตามรอยแนวทางพระกรรมฐานได้ยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัตรอย่างเอาจริงเอาจังโดยจะบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อหวังให้หมดกิเลสอาสวะพ้นทุกข์เสียในชาตินี้ เพราะได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจชีวิตความเป็นไปของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่จะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร

    เมื่อหลวงปู่จาม ได้มีโอกาสเข้ามาสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ อีกครั้งหนึ่งนั้น (เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะอายุเกือบ ๒๙ ปีเต็ม) ก็เร่งทำความเพียรโดยออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ป่าเขาถ้ำเงื้อมผาที่ทุรกันดารตามแม่น้ำลำธาร เจริญรอยตามพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมา เชื่อมั่นว่าธรรมชาติจะเป็นครูสอนธรรมให้เกิดขึ้นได้ เฉพาะเหมาะสมกับจริตนิสัยของตน แสวงหาโมกขธรรมอันเป็นสมบัติทิพย์แห่งตน ได้ใช้เวลาอีกประมาณ ๖ ปี ขณะที่อายุได้ประมาณ ๓๖ ปีเป็นพรรษาที่ ๖ ของการอุปสมบทในปี ๒๔๘๙ จึงได้รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนต่ออนาคตของตนเองว่าได้ปรารถนาพุทธภูมิไว้แล้ว

    เมื่อท่านได้รู้แจ้งประจักษ์ความเป็นไปของตนเองอย่างปราศจากข้อสงสัยแล้ว จึงได้เปลี่ยนแนวทางมากำหนดใหม่ที่จะต้องบำเพ็ญธรรมสะสมบุญวาสนาบารมี เพื่อความเป็นพุทธะต่อไป โดยการอบรมเทศนาสั่งสอน ท่านได้จาริกย้อนกลับไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ได้เคยเดินธุดงค์ไป ที่เคยได้รับการสนับสนุนดูแล เกื้อหนุนด้านอาหาร ด้านความสะดวก ตลอดจนการสร้างเสนาสนะและการปกป้องความปลอดภัย เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ และสร้างความสัมพันธ์ให้เป็นญาติธรรมด้วยการให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านปริยัติและแนะแนวทางปฏิบัติควบคู่กันไปตามแนวคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยเน้นเกี่ยวกับบารมี มงคล กรรมฐาน และการปฏิบัติธรรมโดยทั่วไป จึงเกิดประโยชน์ในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างขวางและลึกซึ้งเข้าสู่จิตใจมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการประพฤติปฏิบัติงานพระพุทธศาสนาเพื่อประชาชนอันเป็นผลต่อส่วนรวมของประเทศชาติ

    นอกจากนั้นความแคลงใจอยู่ถึงกรณีบางหมู่บ้านที่เคยนับถือพุทธศาสนาอยู่เดิมแต่กลับกลายเป็นไปนับถือศาสนาอื่น จึงไม่ยินดีตักบาตรให้ ทำให้ต้องอกโซจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดนั้นยังฝังใจอยู่ จึงอยากจะทดลองขีดความสามารถของตน ได้มุ่งเดินธุดงค์ไปยังหมู่บ้านเหล่านั้น ท่านได้ปักกลดอยู่ที่บริเวณป่าช้า กำหนดกลยุทธ์ที่จะหาทางพลิกสถานการณ์ให้กลับมาสู่สภาพเดิมและคาดหวังที่จะทำให้ชาวเขาเหล่านั้นกลับมานับถือพระพุทธศาสนาตามเดิมมีหลายครั้งหลายโอกาสได้ปะคารมกับนักสอนศาสนาอย่างประทับใจแก่ชาวเขาทำให้หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาอีกเป็นจำนวนมาก

    หลวงปู่จามได้ใช้เวลาจาริกไปสั่งสอนอบรมนำการปฏิบัติจิตภาวนาทั่วไปเป็นเวลาถึง ๒๔ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๒ ท่านอายุประมาณ ๖๐ ปี ญาติโยมที่ห้วยทรายเห็นว่าท่านได้จากไปนานมากแล้วอายุก็มากแล้ว สมควรที่จะกลับมาเป็นมิ่งขวัญของญาติพี่น้อง และคณะศรัทธาจะได้มีโอกาสมากราบนมัสการและรับฟังเทศนาธรรมที่ท่านได้ไปแสวงหามา เพื่อโปรดทางนี้บ้าง แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ จึงร่วมใจกับคณะแม่ชี จัดสร้างกุฏิไว้รอรับการกลับมาที่วัดป่าห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม) และส่งคณะญาติโยมไปนิมนต์กลับมาอยู่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



    ความเป็นมาของวัดป่าห้วยทราบนี้นั้นเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตได้ตั้งสำนักสงฆ์หนองน่องอยู่ทางทิศใต้ของบ้านห้วยทราบ ได้มีพระกรรมฐานมาปฏิบัติธรรมอยู่หลายองค์ เท่าที่มีข้อมูลก็ได้แก่ หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้เป็นที่รวมของพระกรรมฐานศิษย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่มีการเทศนาสั่งสอนในวันพระและวันสำคัญ ๆ

    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงปู่พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้มาสร้างเสนาสนะให้เป็นสำนักสงฆ์ถาวรโดยจำลองแนวความคิดมาจากวัดป่าบ้านหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม เพื่อหวังจะให้เป็นที่ศึกษาอบรมปฏิบัติธรรมของพระกรรมฐาน และศรัทธาญาติโยมในแถบนี้ จึงย้ายสำนักสงฆ์จากหนองน่องมาเป็นสำนักสงฆ์ห้วยทรายบริเวณป่าช้าบริเวณทางทิศตะวันตกของบ้านห้วยทราย ซึ่งหลวงตาพระมหาบัวได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดป่าวิเวกวัฒนาราม” และขอเป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๘

    เท่าที่ค้นหาหลักฐานได้ปรากฏว่า ท่านที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ต่อจาก หลวงตาพระมหาบัว ก็ได้แก่ หลวงปู่สม โกกนุทโท หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร และหลวงปู่จาม มหาปุญโญ



    ๒๑ ชีวิตในบั้นปลาย


    ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงปู่จาม อายุได้ ๖๒ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม ท่านพิจารณาเห็นว่า เสนาสนะเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมจากปลวกเกรงจะเป็นอันตรายต่อบรรพชิตและฆราวาส ท่านจึงดำริให้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้สภาพดีขึ้นและในปี ๒๕๒๑ หลวงปู่ได้ออกแบบกุฏิเสาเดียวสร้างเป็นตัวอย่างครั้งแรก ๑ หลัง สามารถกันปลวกได้ จึงได้เปลี่ยนกุฏิไม้เดิมมาเป็นกุฏิเสาเดียวสร้างด้วยเหล็กถือปูนอีกหลายหลังในระยะต่อ ๆ มา


    เมื่อปี ๒๕๒๓ หลวงปู่จามได้นิมิตว่า “เทวดาจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวกมาถวายให้” หลังจากนิมิตไม่นานได้มีโยมจากพิษณุโลก ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกมาอย่างละไม่กี่องค์ถวายหลวงปู่ในปีนั้นเอง จึงได้นำมาบูชาไว้ ต่อมาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกก็ได้เสด็จมาเพิ่มเองในภาชนะที่อัญเชิญไว้มากขึ้น ๆ ตลอดจนมีญาติโยมก็ได้อัญเชิญมาถวายอีกเป็นจำนวนมากขึ้นอีก ญาติโยมห้วยทรายและบ้านใกล้เคียงเคยเห็นแสงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในเวลาค่ำคืนวันพระเสมอ ๆ


    ต่อมาเมื่อปลายปี ๒๕๒๗ หลวงปู่เห็นว่าสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกควรจะเป็นความเหมาะสมกับคติความเชื่ออันเป็นแบบฉบับตามคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาจึงดำริให้สร้างเจดีย์ ท่านเป็นผู้ออกแบบพระเจดีย์ประยุกต์ศิลปะลักษณะผสมผสานขึ้นดังปรากฏเด่นสง่าเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าและพระธาตุสาวกเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะแก่พุทธบริษัทโดยทั่วไป การก่อสร้างพระเจดีย์ท่านควบคุมก่อสร้างเองโดยอาศัยช่างชาวบ้านถิ่นนี้ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปีแล้วเสร็จ มีโยมบัวผัน โยมบู่ทอง โยมเลียงพรรณ โยมสุพจน์ คหบดีเชียงใหม่ ตลอดจนคณะศรัทธาในอำเภอต่าง ๆ ที่ได้เคยดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่ ช่วงไปบำเพ็ญทำความเพียรที่เชียงใหม่ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อหลวงปู่อาพาธไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลลานนา คณะศรัทธาญาติโยมดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการร่วมทุนสร้างเจดีย์และเสนาสนะอื่นด้วย


    ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุสาวก ตลอดจนพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ญาติโยมคณะศรัทธาอัญเชิญมาถวายอีกจำนวนมาก


    นอกจากนี้พระพุทธรูปบูชาองค์ใหญ่ๆ ที่ศรัทธาญาติโยมมาถวายไม่สามารถอัญเชิญไว้ที่พระเจดีย์ได้ ก็จะนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลา และพิจารณามอบให้วัดอื่น ที่ยังขาดพระพุทธรูป พระประธานอีกหลายแห่ง ตลอดจนโรงเรียนต่างๆ เป็นที่น่าสังเกตุว่าทำไมพระพุทธรูปส่วนใหญ่จะเป็นปางพระพุทธชินราชมากมายนัก ผู้เขียนจึงค้นหาความจริงได้ว่าหลวงปู่บอกว่า “ พระพุทธชินราช เป็นปางที่ใกล้เคียงปุริสลักษณะ”
    ( ปุริสลักษณะ หมายถึง ลักษณะพระพุทธเจ้า ๓๒ ประการ )
    ข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญในบั้นปลายนี้หลวงปู่จะเน้นการอบรมสั่งสอนและการปฏิบัติจิตภาวนา ควบคู่กันไปโดยมุ่งหวังให้พุทธบริษัททั่วไปประพฤติดีปฏิบัติชอบตามแนวทางคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้รู้เข้าใจในนรก สวรรค์ พรหมโลก มีจริง บาปอกุศลและบุญกุศลมีจริง และนิพพานก็มีจริง อย่าประมาทในชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นโอกาสดีที่สุดแล้ว


    เมื่อปี ๒๕๓๐ ขณะหลวงปู่ ปลูกต้นสักในวัดป่าวิเวกวัฒนาราม ท่านพูดเชิงปรารภกับพระอาจารย์เพชร อรุโณ ว่า “ เมื่อต้นสักนี้โตขึ้นเท่าแขนก็จะละสังขารเพราะมีอายุขัยเพียง ๘๓ ปี “


    ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านอายุ ๘๓ ปีพอดี หลวงปู่ก็ล้มป่วยหนักเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ญาติโยมจึงกราบนิมนต์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลลานนาเชียงใหม่ ท่านก็ยินดีและอดทนเดินทางไปรับการรักษา ขณะที่ผ่าตัดเสร็จแล้วหลวงปู่พูดกับพระอาจารย์เพชร และญาติโยมว่า “ อายุขัยหมดแล้ว ต่อไปเหลือแต่อายุที่หมอเขาต่อให้ “
    มาจนถึงบัดนี้ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ รวมอายุได้ ๙๕ ปี



    ตอนที่ ๒๒ (จบ) ส่งท้ายไว้ให้คิด


    โดยปกติแล้วผู้มีอายุยืนยาวนาน ผู้คนในแผ่นดินก็จะให้การยกย่องเคารพนับถืออย่างสูง เพราะถือว่าได้ผ่านโลกมามากผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชน ประกอบกับความสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณวุฒิวัยวุฒิและชาติวุฒิ

    สำหรับองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ นั้นท่านอายุยืนยาวถึง ๙๕ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่านได้ดำรงสมณเพศมายาวนาน การประพฤติตามข้อวัตรและปฏิปทาที่ท่านได้บำเพ็ญคุณงามความดีมาอย่างดี ไม่มีสิ่งด่างพร้อยถือเป็นบุคคลหาได้ยากท่านหนึ่งในแผ่นดิน น่าที่คนรุ่นหลังจะได้น้อมนำมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจตน และนำมาเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี และเป็นการสมควรที่จะเชิดชู ยกย่องให้ท่านเป็นปูชนียบุคคลผู้หนึ่งที่สมควรคารวะกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าในมงคลสูตร “บูชาบุคคลที่สมควรบูชาย่อมเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

    ผู้เขียนได้มีโอกาสมากราบท่านครั้งแรก ประทับใจในความเมตตาเสมือน “ ปู่ใจดี “ เมื่อรู้ว่าผู้เขียนมีอาชีพเป็นทหาร ท่านก็เล่าเหตุการณ์ในอดีตเป็นคุ้งเป็นแคว อย่างกว้างขวาง เสมือนกับเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นยอด มีความจำ ดีมาก ยกเหตุการณ์ต่างๆ เล่าให้ฟังแม้แต่การรบพุ่งการศึกสงคราม ทั้งในประเทศและต่งประเทศผู้เขียนรู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถของท่านอันเป็นความประทับใจครั้งแรกที่ได้พบท่าน

    เป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์อินทร์ สนฺตุสฺสโก ให้ช่วยเขียนประวัติปฏิปทาและสาระธรรมเท่าที่จะทำได้ จึงเดินทางเพื่อหวังจะสอบถามรายละเอียด จะได้มีข้อมูลในการเขียน แต่เอาเข้าจริงหลวงปู่ท่านคงจะรู้ว่าเรามาเพื่อจะเขียนประวัติของท่าน ท่านจึงตอบคำถามแต่เพียงสั้นๆ ทำให้ผู้เขียนหนักใจอยู่แต่ก็ได้รับความอนุเคราะห์ร่วมมือจากหลายท่าน จึงค่อยอุ่นใจบ้างแม้จะไม่สมใจก็ตาม ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะตอบสั้นแต่มีสาระ ที่สมควรนำมาคิด จึงขอนำมาลงบันทึกไว้บ้างดังนี้

    ถาม : หลวงปู่ไม่เอาพระอรหันต์ในชาตินี้หรือ ?
    ตอบ : เอาอยู่ แต่เอาไม่ได้
    ถาม : หลวงปู่สร้างสมบุญญาบารมีไว้มากมายพอหรือยังและได้ญาณทัศนะถึงขั้นไหน ?
    ตอบ : ธรรมดาผู้ที่เกิดตายหลายชาติ นับไม่ไหว ย่อมมีอยู่
    ถาม : พลังอำนาจทางกสิณ หลวงปู่ได้เมื่อใด ?
    ตอบ : มีของเดิมอยู่
    ถาม : หลวงปู่ปรารถนาพุทธภูมิจะต้องเกิดอีกกี่ชาติ ?
    ตอบ : เกิดตายอีกหลายชาตินับไม่ไหว
    ถาม : เกิดตายอีกหลายชาติ หลวงปู่ไม่เบื่อหรือ ?
    ตอบ : เบื่อไม่ได้ เป็นหน้าที่
    ถาม : เคยเกิดมาเป็นใหญ่เป็นโต เคยเป็นตำแหน่งใดบ้างในอดีตชาติ ?
    ตอบ : พระเจ้าแผ่นดิน ฮ่องเต้ เจ้าชาย พราหมณ์ อาจารย์ทิสาปาโมกข์ ฤาษี แม่ทัพ
    ถาม : หลวงปู่เคยตกนรกไหม ?
    ตอบ : เคย หลายชาติ
    ถาม : หลวงปู่เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานไหม ?
    ตอบ : เคย หลายชาติ
    ถาม : หลวงปู่ กลัวอะไรมากที่สุด ?
    ตอบ : ช้าง เจอต้องหนี
    ถาม : หลวงปู่ชอบ อะไรมากที่สุด ?
    ตอบ : “หัวเราะ” ก็แล้วแต่จะเป็นไป
    ถาม : หลวงปู่เกลียดอะไรมากที่สุด ?
    ตอบ : ตกนรก

    ผู้เขียนได้ฟังคำบอกเล่าจากพระอาจารย์เพชร อรุโณ ว่าได้เคยมีผู้สื่อข่าวมาถามหลวงปู่ จึงขอนำคำถาม – คำตอบ มาลงให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเองดังนี้

    ถาม : หลวงปู่ไปธุดงค์ทางไหนบ้าง ?
    ตอบ : ทุกทิศทุกทาง
    ถาม : หลวงปู่เจออะไรบ้าง ?
    ตอบ : เจอทุกอย่างที่พบ
    ถาม : หลวงปู่เจออาจารย์ไหนบ้าง ?
    ตอบ : เจอทุกคนที่เห็น
    ถาม : หลวงปู่เจออุปสรรคอะไรบ้าง ?
    ตอบ : อุปสรรคอื่นไม่มี มีแต่เตะก้อนหินเป็นแผลเดินไม่ได้
    ถาม : หลวงปู่กลัวเสือไหม ?
    ตอบ : บางครั้งก็กลัวบางครั้งก็ไม่กลัว เพราะเสืออยู่ฝายาหม่องพกใส่ยามเลย

    นัยว่าผู้สื่อข่าวพบคำตอบเช่นนี้ จึงไม่มีข้อมูลปาฏิหาริย์ จะนำไปเขียนขายหาเงินดังที่หวังไว้แต่เดิม จึงต้องผิดหวังกลับไป


    จบ


    ที่มา : จากหนังสือ พุทธังกโร มหาปุญโญ
    โดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก
    วัดป่านาคำน้อย อ.นายูง อุดรธานี




    แหล่งที่มา :: -:-
     
  2. ~มะเดี่ยว~

    ~มะเดี่ยว~ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    13
    ค่าพลัง:
    +61
    มีโอกาสไปกราบท่าน สองครั้ง ท่านใช้ให้เปิดขวดน้ำให้ ปิติใจมากครับ

    แถมขอถ่ายรูปท่านด้วย บุญจริงๆ
     
  3. purivat

    purivat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2010
    โพสต์:
    227
    ค่าพลัง:
    +254
    อยู่ไกล้ครับ ไว้มีโอกาสจะไปกราบท่าน
     

แชร์หน้านี้

Loading...