ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่ขาว อนาลโย โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 9 พฤษภาคม 2012.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมาตามความรำพึงนึกคิดท่านเสมอ เช่น นึกถึงช้างว่าหายหน้าไปไหนเป็นปี ๆ แล้วไม่เห็นผ่านมาทางนี้บ้างเลย หรือลกนายพรานยิงตายเสียแล้ว พอตกกลางคืนดึก ๆ ช้างตัวนั้นก็มาหาจริง ๆ และเดินตรงเข้ามายังกุฎีที่ท่านพักอยู่ มายืนลูบคลำสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณกุฏีท่านพอให้ทราบว่าเขามาหา แล้วก็กลับเข้าป่าเข้าเขา และหายเงียบไปเลยไม่กลับมาอีก เวลารำพึงนึกถึงเสือก็เหมือนกัน ว่าเสือที่เคยเดินผ่านมาที่นี่บ่อย ๆ บัดนี้หายหน้าไปไหนนานแล้วไม่เห็นมาอีก หรือถูกเขาฆ่าตายกันหมดแล้ว เพียงนึกถึงเสือตอนกลางวัน แต่พอตกตอนกลางคืน เสือก็มาเที่ยวเพ่นพ่านภายในวัด และบริเวณที่ท่านพักอยู่จริง ๆ พอเป็นนิมิตให้ท่านทราบว่าเขายังอยู่ ยังไม่ตายดังที่วิตกถึง แล้วก็หนีไปไม่มาซ้ำ ๆ ซาก ๆ อีกเลย

    ท่านเล่าว่าตอนนึกถึงสัตว์ต่าง ๆ รู้สึกแปลกอยู่มากผิดธรรมดา พอนึกถึงทีไร ถึงสัตว์ชนิดไร สัตว์ชนิดนั้นมักจะมาหาท่านแทบทุกครั้งที่นึกถึงเขา คล้ายกับมีอะไรไปบอกข่าวให้สัตว์นั้น ๆ ทราบและให้มาหาท่าน

    พระวิเศษทางภายในอย่างท่าน คงมีเทพาอารักษ์คอยให้อารักขา และคอยอำนวยความสะดวกตามความคิดเห็นต่าง ๆ อยู่เสมอ พอคิดอะไรขึ้นมา จึงมักมีเครื่องสนองตอบทางความคิดเสมอมา ถ้าไม่มี ทำไมจะมีอะไรมาหาท่านตรงตามความคิดเสียทุกครั้งเช่นนั้น อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คิดคนละกี่ร้อยกี่พันเรื่อง และกี่ร้อยกี่พันหนก็ไม่เห็นมีอะไรมาตอบสนองความนึกคิดความต้องการบ้างเลย พอให้ทราบว่า เราก็มีอะไรดี ๆ พอตัวผู้หนึ่งที่ควรได้รับความเทิดทูนอย่างท่าน นอกจากคิดลม ๆ แล้ง ๆ ไปพอให้กวนใจได้รับความลำบากทรมานเปล่า ๆ เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรพอเป็นชิ้นดีแฝงมาบ้างเลย จึงน่าอับอายความคิดของตัว ที่ขนแต่กองทุกข์มาให้วันละกี่ร้อยกี่พันเรื่อง จนสมองทั้งหมดกำลังที่จะทำงานต่อไป
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปฏิปทาการดำเนินของหลวงปู่ทั้งสมัยยังหนุ่มและชราภาพ

    หลวงปู่ขาวท่านมีนิสัยใจเด็ดเดี่ยว ความเพียรกล้าทั้งสามอิริยาบถ คือเดินจงกรมก็เก่ง เดินแต่ฉันเสร็จแล้วถึงเที่ยง เข้าพักร่างกายพอบรรเทาขันธ์ แล้วเข้านั่งสมาธิพอประมาณราว 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็เข้าสู่ทางจงกรม ทำความเพียร ละหรือถอดถอนกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เคยฝังจมอยู่ภายในใจสัตว์โลกไม่เคยบกบางเหมือนสิ่งอื่น ๆ กี่ชั่วโมงท่านไม่ค่อยกำหนด จนถึงเวลาปัดกวาดบริเวณที่อยู่ของพระองค์เดียว ที่ไม่ชอบกังวลกับสิ่งใดผู้ใด ท่านจึงออกมาปัดกวาด สรงน้ำ นั่งรำพึงไตร่ตรองอรรถธรรมในแง่ต่าง ๆ ตามอัธยาศัย หลังจากนั้นส่วนมากท่านมักเข้าทางจงกรมมากกว่าการเข้านั่งสมาธิภาวนา

    ท่านเดินจงกรมแต่ละครั้งราว 3-4-5 ชั่วโมง บางครั้งถึง 6 ชั่วโมง จึงจะเข้าที่พัก ซึ่งส่วนมากมักเป็นเพิงบ้าง เป็นปะรำเล็ก ๆ บ้างในหน้าแล้งฝนไม่ตก ถ้าหน้าฝนก็อยู่กุฎี ซึ่งเป็นกระต๊อบพอหมกตัวอยู่ได้ ไม่หรูหราน่าอยู่อะไรเลย ยังน่าสังเวชด้วยซ้ำ ในสายตาของผู้เคยอยู่ด้วยความปรนปรือหรูหรามาก่อน เริ่มไหว้พระสวดมนต์ ก่อนนั่งสมาธิภาวนา ท่านชอบสวดมนต์นานด้วย กว่าจะหยุดเวลาเป็นชั่วโมง ๆ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ ก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาต่อไปเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงกว่าจะพักผ่อนหลับนอน การเดินจงกรมของท่านก็นาน การนั่งภาวนาก็นานเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง การยืนก็นาน เมื่อถึงวาระที่ควรยืนรำพึงอรรถธรรมภายในใจด้วยปัญญา ท่านยืนได้เป็นชั่วโมง ๆ เช่นกัน จนกว่าจะหมดปัญหาจากข้อธรรมที่รำพึงไตร่ตรองนั้น ๆ ท่านจึงก้าวเดินจงกรมในท่าเดิมต่อไป การนั่งสมาธิภาวนา ท่านนั่งจนตลอดรุ่งได้ในบางคืน ท่านเคยนั่งตลอดรุ่งอยู่บ่อย ๆ สมัยยังหนุ่มอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับหนุ่มฟ้อดังพระเณรหนุ่มทั้งหลาย เพราะตอนท่านออกบวชอายุท่านก็ได้สามสิบกว่าปีแล้ว ท่านเป็นนักรบนักต่อสู้ในทางธรรมจริง ๆ

    ท่านเคยเทศน์ให้พระเณรฟังอย่างเด็ด ๆ ก็มีในบางโอกาสว่า

    ท่านทั้งหลายทราบไหมว่า สกุลของกิเลสที่ครองอำนาจบนหัวใจสัตว์โลกในไตรภพมานาน จนประมาณกาลเวลาของมันไม่ได้นั้น เป็นสกุลที่เหนียวหนับตับแข็งมาก มีกำลังมากฉลาดแหลมคมมากยิ่งกว่าน้ำซับน้ำซึมเป็นไหน ๆ กลมารยามาก ร้อยสันพันคม คว่ำกิน หงายกิน ปลิ้นปล้อนหลอกลวง สัตว์โลก ไม่อาจพรรณนาวิชาการและลวดลายของมันให้จบสิ้นลงได้ เนื่องจากมันมีมากยิ่งกว่าท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาครเป็นไหน ๆ ในสามแดนโลกธาตุนี้ อยู่ในข่ายแห่งวิชา และอำนาจของมันครอบงำทั้งสิ้น ไม่มีช่องว่างแม้เม็ดทรายหนึ่ง ที่วิชากลอุบายอันแยบคายของมันจะไม่เข้าไปเคลือบแฝงหรือซึมซาบอยู่ หากเป็นตุ่ม ก็เต็มตุ่มล้นตุ่ม เป็นยุ้งก็เต็มยุ้ง เป็นฉางก็เต็มฉาง เป็นบ้านก็เต็มบ้าน เป็นเมืองก็เต็มเมือง เป็นโลกก็เต็มโลก เป็นท้องฟ้ามหาสมุทร ก็เต็มท้องฟ้ามหาสมุทร เป็นโลกธาตุก็เต็มโลกธาตุ ไม่มีว่างเว้นจากมัน คือสกุลกิเลสที่ทรงพลังมหาศาลจะไม่ดักข่ายครอบไว้

    ทั้งสามโลกธาตุนี้คืออาณาจักรและขอบข่ายแห่งอำนาจของสกุลกิเลสทั้งมวล และแน่นหนามั่นคงมาก ยากที่สัตว์ทั้งหลายจะเล็ดลอด หรือทำลายออกมาได้ นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่ทราบวิชาร่ายมนต์กล่อมสัตว์โลกของมัน ก็ขอนิมนต์ทราบแต่ขณะนี้ จะได้มีสติตื่นตัวตื่นใจไม่นิ่งนอนดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้

    การพูดสกุลกิเลสให้ท่านทั้งหลายฟังนี้ ผมพูดออกมาจากความที่เคยเคียดแค้นต่อมันตามระยะเวลา และกำลังแห่งความเพียร ที่เคยต่อสู้ห้ำหั่นกับมัน ขั้นเริ่มแรกมีแต่แพ้มันอย่างหลดลุ่ย หมดทางต่อสู้เป็นพัก ๆ ฟิตใหม่สู้ใหม่ สู้ใหม่เป็นพัก ๆ และแพ้มันแบบล้มลุกคลุกคลานเป็นตอน ๆ พอโงหัวขึ้นได้บ้างก็สู้ใหม่ ๆ ด้วยใจของนักต่อสู้ โดยยึดเอาตาย กับชัยชนะมันเป็นเดิมพัน สู้ไม่ถอย นั่งอยู่ก็สู้ คือก็เพียร เดินอยู่ก็สู้ ยืนอยู่ก็เพียร นอนอยู่ถ้ายังไม่หลับก็สู้ ในท่าต่าง ๆ เป็นท่าต่อสู้ทั้งนั้น แม้จะแพ้แล้วแพ้เล่าก็ไม่ถอย เพราะยังไม่ถึงจุดที่ตั้งเอาไว้ดั้งเดิม คือตายและชนะอย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงเป็นจุดที่ยุติการต่อสู้ เมื่อสู้ไม่ถอย เพียรไม่ถอย กำลังและความคล่องตัวแห่งสติปัญญาก็ค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นมา ใจที่เคยคึกคะนอง เหมือนม้าตัวผาดโผน ก็ค่อยสงบลงได้

    ใจที่เคยเรียน เคยจำได้แต่ชื่อแต่นามว่า สมาธิ ๆ ความสงบมั่นคงก็ค่อยปรากฏเป็นสมาธิ ความสงบมั่นคงขึ้นมาในตัวเองให้ได้เห็นได้ชม จนประจักษ์กับตัวเองว่า อ้อ คำว่าสมาธิ ๆ ที่ท่านจารึกไว้ในตำรานั้น ความจริง ความมี ความเป็น ความปรากฏแห่งสมาธิแท้นั้น ปรากฏขึ้นที่ใจนี้เองหรือ เออ บัดนี้เราหายสงสัยเรื่องสมาธิในตำราแล้ว เพราะได้มาปรากฏองค์สมาธิอยู่กับใจของเราเอง เวลานี้ ใจสงบ ใจสว่าง โล่งภายในใจที่เคยอัดอั้นตีบตันและปิดทางตัวเองมานานแสนนาน เริ่มลืมตาอ้าปาก พูดจาปราศรัยกับเพื่อนฝูงได้ ด้วยความโล่งใจ แน่ใจ และมั่นใจต่อมรรคผลนิพพาน ว่าจะไม่ตายเสียก่อนจะได้ชม แม้เพียงขั้นสมาธิความสงบ ก็นับว่าพอกินพอใช้ ไม่ฝืดเคืองสำหรับฐานะเรา คนจนมาตลอดภพชาติต่าง

    ต้นทุนแห่งอัตสมบัติคือสายทางแห่งมรรคผลนิพพานที่เรามั่นใจว่าจะต้องถึงในวันเวลาข้างหน้า คือสมาธิสมบัติ ความสงบเย็นใจ เราได้เป็นต้นทุนประจักษ์แล้วเวลานี้ เรามีหวังในธรรมสมบัติขั้นสูงส่งขึ้นไปโดยลำดับด้วยความพากเพียรที่เป็นมาและเป็นอยู่ อิทธิบาทสี่นี้เริ่มปรากฏขึ้นมาบ้างแล้ว คือ ฉันทะ พอใจทั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา พอใจทั้งผลที่ปรากฏกับใจขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน ราวกับน้ำซับน้ำซึม จิตใจชุ่มเย็นโดยสม่ำเสมอในอิริยาบถต่าง ๆ วิริยะ เพียรไม่ถอย ทุกอิริยาบถเป็นไปด้วยความเพียร ปราบกิเลส ถอนกิเลสสกลมหิมา จิตตะ มีความฝักใฝ่ใคร่ต่อการบรุงรักษาใจเพื่อธรรมรสอันโอชา พยายามระวังรักษาไม่ให้รสอันเป็นพิษภัยแทรกสิงใจ วิมังสา พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองมองหาเหตุหาผลที่มาเกี่ยวข้องกับใจด้วยความไม่ประมาท พยายามฝึกจิตที่เคยโง่เพราะความปิดบังของกิเลส ให้คลี่คลายขยายตัวขึ้น สัจธรรมคือความฉลาดของสติปัญญา ใจไม่อับเฉาเมาหัวเหมือนแต่ก่อน อิทธิบาททั้งสี่ นับวันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นตาม ๆ กัน ทั้งฉันทะ ทั้งวิริยะ ทั้งจิตตะ และวิมังสาธรรม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีกำลังกล้าพร้อมเผชิญหน้ากิเลส โดยไม่เลือกกาล สถานที่ และเหตุการณ์ใด มีจิตมุ่งมั่นจะหั่นแหลกกันโดยถ่ายเดียว

    เมื่อสมาธิปรากฏเป็นปากเป็นทางพอตั้งตัวได้แล้ว ก็เร่งทางปัญญาออกพิจารณาธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก ประสานกัน รวมลงในไตรลักษณ์คือ อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อิทธิบาททั้งสี่จึงเริ่มประสานงานกันอย่างสนิทติดพัน กลายเป็นอิทธิบาทอัตโนมัติไปตามสติปัญญาที่พาให้เป็นไป นับแต่บัดนั้นแล จะเรียกว่าเข้าสู่สงครามกับกิเลสชนิดต่าง ๆ แบบตลุมบอนก็ไม่ผิด เพราะความรู้สึกนึกคิดที่หนักไปในธรรมวิมุตติ นับวันเวลามีกำลังและสะกิดใจไม่หยุดหย่อน ในลักษณะสู้ไม่ถอย เอาให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียว แม้จะตายก็ขอให้ตายในสนามรบ คือตายในวงความเพียรท่าต่อสู้อย่างเดียวหากยังไม่ตายก็เอาให้กิเลสหมอบราบและตายเกลื่อนให้เห็นประจักษ์ใจทุกระยะแห่งการต่อสู้ด้วยสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมาวุธอันทันสมัย
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปฏิปทาที่ผาดโผนมากและเห็นผลประจักษ์

    การทำความพากเพียรในขั้นเริ่มแรกและต่อมาจนจิตสงบลงเป็นสมาธิได้แม้จะเป็นความเพียรผาดโผน ด้วยการเอาชีวิตเข้าประกันก็ตาม แต่การเพียรการต่อสู้ในระยะนี้ เป็นการต่อสู้ที่บอบช้ำมาก แต่ผลปรากฏมีน้อยไม่สมดุลย์กัน ทั้งนี้เพราะยังไม่รู้วิธีการต่อสู้และพากเพียรเท่าที่ควร แต่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำต้องยอมรับยอมโดนความบอบช้ำไปก่อน เพื่อทราบเหตุผลจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา แล้วปรับตัวปรับความเพียรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอันดับต่อไปสำหรับผมเองเคยเป็นดังที่กล่าวมานี้(หลวงปู่พูด) กว่าจะจับหลักเกณฑ์ได้ก็เกือบเป็นเกือบตาย

    เมื่อการปฏิบัติทางด้านปัญญาแยกแยะร่างกายส่วนต่าง ๆ ออกคลี่คลายดูด้วยปัญหาจนปรากฏชัดทั้งอสุภะอสุภัง ทั้งทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตาในร่างกายโดยลำดับแล้วนั่นแลความเพียรจึงนับวันผาดโผนโจนทะยาน ทั้งประโยคพยายาม ทั้งสติปัญญาที่ก้าวออกสู่งานในวงกรรมฐานห้า มีเกสา โลมา เป็นต้น ตลอดสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป ด้วยความเพลิดเพลินในการพิจารณา และความเห็นตามเป็นจริงในสกลกายส่วนต่าง ๆ จนตลอดทั่วถึง ประสานกับสภาพธรรมภาวนอกซึ่งมีอยู่ทั่วไปว่า มีลักษณะอย่างเดียวกัน หายสงสัยและปล่อยวางไปโดยลำดับ สติปัญญาขั้น พิจารณารูปขันธ์นี้ ผาดโผนมากผิดธรรมดาของความเพียรภาคทั่ว ๆ ไป แต่ก็เหมาะสมกับงาน ซึ่งเป็นงานหยาบ ที่จำต้องใช้สติปัญญาอันผาดโผนไปตาม ๆ กัน เช่นเดียวกับท่อนไม้ซึ่งอยู่ในขั้นที่ควรถากอย่างหนักมือ ก็จำต้องทำเช่นนั้น สติปัญญาที่ทำการพิจารณาร่างกาย ซึ่งเป็นขันธ์หยาบ ก็จำต้องดำเนินไปตามความเหมาะสมของงาน เมื่อสติปัญญารู้เท่าและปล่อยวางขันธ์นี้แล้ว ก็ลดการพิจารณาแบบนั้นลงไปเอง เช่นเดียวกับไม้ซึ่งนายช่างดัดแปลงลงถึงขั้นที่ควรลดจากการถากการฟันอย่างหนักมือแล้ว ก็ลดไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกฉะนั้น

    ส่วนนามขันธ์ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั้นเป็นขันธ์ละเอียด การพิจารณาทางด้านปัญหาก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน สติปัญญาที่พิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ย่อมเป็นไปอย่างละเอียดสุขุมราวกับน้ำซับน้ำซึมนั่นแหละ แต่การพิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ พิจารณาลงในไตรลักษณ์ล้วน ๆ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ได้ตามแต่ความถนัดของการพิจารณา ไม่มีคำว่าอสุภะอสุภังเหมือนพิจารณาร่างกายอันเป็นขันธ์หยาบ

    การพิจารณาขันธ์สี่นี้จะพิจารณาขันธ์ใดก็ได้ตามแต่ถนัด เช่น ทุกขเวทนาขันธ์เป็นต้น ประสานกันกับกายกับจิตกับทุกขเวทนา โดยพิจารณาแยกแยะเทียบเคียง รูป ลักษณะ อาการความรู้สึก ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งสามอย่างนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอย่าง แยกแยะดูให้ชัดเจนด้วยปัญญาจริง ๆ อย่าสักแต่พิจารณาพอผ่าน ๆ ไป นั้นเป็นลักษณะของกิเลสทำงาน เอาความขี้เกียจอ่อนแอมาทับเราต่างหาก ซึ่งมิใช่ทางเดินของธรรมคือสติปัญญาอย่างแท้จริงดำเนิน จะไม่เห็นความจริงแต่อย่างใด ต้องพิจารณาแบบสติธรรม ปัญญาธรรม จนเป็นที่เข้าใจตามความจริงอย่างถึงใจทุกส่วน

    อันความอยากหายจากทุกขเวทนานั้น อย่าอยาก ๆ อยากให้หายเท่าไร ยิ่งเพิ่มสมุทัย ตัวผลิตทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แต่ให้อยากรู้ อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่แสดงอยู่กับกายกับใจเท่านั้น นั่นคือความอยากอันเป็นมรรคทางเหยียบย่ำกิเลส ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือการเห็นแจ้งตามความจริงของกายเวทนา จิต ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนั้น ความอยากรู้จริงเห็นจริงนี้มีมากเท่าไร ความเพียรพยายามทุกด้านยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น

    ฉะนั้น จงสนใจเฉพาะความอยากรู้จริง เห็นจริง ประเภทนี้อย่างเดียว และผลักความอยากให้ทุกข์หาย ออกจากวงการพิจารณาในเวลานั้นทันที ๆ อย่าให้โผล่หน้าขึ้นมาขัดขวางได้ จะมาทำลายความอยาก ประเภทมรรคเพื่อผล ให้จมหายไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ต้องการจะไม่เจอ แต่จะไปเจอแต่ความกลัวตาย ความอ่อนเปียกเรียกหาคนอื่นมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสสมุทัยทั้งมวลเข้าทำงานในวงความเพียร จึงรีบเตือนนักปฏิบัติจิตภาวนาไว้ เกรงจะเสียท่าให้มัน เพราะกิเลสมักรวดเร็วมากกว่าธรรมจะตามรู้ตามเห็นทันมัน

    นักปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้น จะรู้มารยาของกิเลสประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวมาได้ดีประจักษ์ใจและขับไล่ให้สิ้นซากไปได้ไม่สงสัย

    การพิจารณาทุกขเวทนาในขันธ์มีรูปขันธ์เป็นสำคัญ จงอย่าคำนึงความเจ็บปวดรวดร้าวจะหาย ตัวจะเป็นจะตาย ยิ่งกว่าความอยากรู้อยากเห็นความจริงจากกาย จากเวทนา จากจิต ซึ่งพร้อมจะแสดงความจริงให้นักปฏิบัติผู้แกล้วกล้าหน้านักรบ เพื่อเรียนจบอริยสัจ รู้ประจักษ์ด้วยสติปัญญาอันคมกล้าของตนอยู่แล้ว อันความกลัวเป็นกลัวตายความอยากให้ทุกข์หายในเวลานั้น นั่นคือแม่ทัพใหญ่ของสกลกิเลส จะคอยทำลายบัลลังก์แห่งความเพียรทุกด้าน ให้ล้มละลายแบบไม่เป็นท่า จงพากันทราบไว้ทุก ๆ องค์ อย่าหลงกลมัน ซึ่งดักรออยู่ปากคอก จะออกกีดขวางต้านทานทางเดินของธรรมอยู่ตลอดเวลาที่ได้ช่องได้โอกาส

    กรุณาทราบไว้ด้วยว่า กิเลสทุกประเภท ไม่เผลอเรออ่อนแอท้อแท้เหลวไหลเซ่อซ่าเซอะซะ เหมือนนักปฏิบัติภาวนาแต่กิริยา ส่วนใจปล่อยให้กิเลสฉุดลากไปถลุงหุงต้มกินเลี้ยงกันอย่างเอร็ดอร่อยพุงมันน่ะ ดังนั้นในเวลาที่เข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างทุกขเวทนากล้ากับสติปัญญาพิจารณาแยกแยะกัน เพื่อหาความจริง จงขยับสติปัญญาเพื่อต่อยเพื่อสู้ท่าเดียว คือสติปัญญาหมุนติ้วเข้าสู่จุดที่ทุกขเวทนากล้าสาหัสปรากฏอยู่ในวงของกาย สติจดจ่อ ปัญญาคลี่คลายเวทนา กาย ใจ ที่กำลังคลุกเคล้ากันอยู่ ว่าทั้งสามนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอัน แยกแยะดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ย้อนหน้าย้อนหลัง ตลบทบทวนในระหว่างกาย เวทนา จิต ด้วยสติปัญญา อย่าสนใจกับเรื่องทุกข์จะหาย และการจะเป็นจะตาย ตลอดสถานที่เวล่ำเวลาใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะนั้น จงสนใจแต่การพิจารณาเพื่อความรู้แจ้งในกาย ในเวทนา ในจิตอย่างเดียว สติปัญญาจงใช้เป็นปัจจุบัน จดจ่อต่องานอย่างใกล้ชิด ติดพัน อย่าหันเห อย่าคาดคะเน อย่าด้นอย่าเดา ทั้งสมุทัย ทุกข์ ทั้งมรรค - นิโรธ ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะทั้งนี้ล้วนเปิดช่องให้สมุทัยทำงานของมันในวงความเพียรและเพิ่มโทษเพิ่มทุกข์ให้แก่เราถ่ายเดียว ผู้ปฏิบัติจงระวังให้มาก เพราะเป็นกิเลสโดยแท้ที่ต้องระวังตั้งตัวอยู่เสมอ ไม่เผลอให้มัน ขณะเดียวกันก็ตั้งท่าพิจารณาดังกล่าวแล้ว จงพิจารณาแบบตลุมบอน ใครดีใครอยู่เป็นคู่เคียงของสัจธรรม วิมุติธรรม ใครไม่ดีจงพังไป แต่อย่าให้เราผู้ทรงความเพียรพังก็แล้วกัน ต้องสู้เพื่อให้กิเลสพังท่าเดียว ท่าอื่นไม่ถูก ไม่เหมาะสำหรับนักปฏิบัติผู้เป็นเหมือนนักรบในสงครามเพื่อชัยชนะโดยถ่ายเดียว
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การพิจารณาทุกขเวทนาในกายประสานกันกับจิต แยกแยะทั้งสามอย่างนี้ ออกสู่ความจริงด้วยปัญญาไม่หยุดยั้ง ย่อมจะทราบความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้อย่างชัดเจนหายสงสัย และได้ชัยชนะเป็นพัก ๆ ตอน ๆ ได้ความอาจหาญในทุกขเวทนาตลอดความล้มความตายก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาเช่นเดียวกับ กาย เวทนา จิต และหายจากความกลัวตาย ดังที่กิเลสเคยหลอกมาเป็นประจำ พอความจริงเข้าถึงกันแล้ว ต่างอันก็ต่างจริง กายก็จริงตามสภาพของกาย เวทนาก็จริงตามสภาพของเวทนา จิตก็จริงตามสภาพของจิต ต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกระเทือนกัน แม้ความตายก็เป็นสัจธรรมความจริงอันหนึ่ง จะตื่นให้กิเลสหัวเราะทำไม

    เมื่อสติปัญญาพิจารณาไม่ถอยจนทราบความจริง กองกาย เวทนา จิต ประจักษ์ใจแล้ว.

    1. ทุกขเวทนาดับวูบลงในขณะนั้น

    2. แม้ทุกขเวทนาไม่ดับก็ไม่ประสานกันกับจิตดังที่เคยเป็นมา

    3. จิตสงบตัวอย่างละเอียดลออและอัศจรรย์เกินคาด

    4. จิตที่สงบตัวนั้นปรากฏสักแต่ว่ารู้และอัศจรรย์เท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง

    5. ขณะจิตสงบเต็มที่ กายหมดไปจากความรู้สึกโดยสิ้นเชิง

    6. ถ้าจิตพิจารณารอบตัวและตัดขาดจากเวทนาแล้ว แต่ไม่รวมลงเป็นเอกเทศ เป็นเพียงรู้ ๆ อยู่ด้วยความรอบตัว ร่างกายก็สักแต่ปรากฏว่ามี แต่ไม่ประสานกันกับจิต

    นี่คือผลแห่งการพิจารณาด้วยอุบายวิธีที่กล่าวมาเป็นดังนี้ในวงปฏิบัติ ถ้าอยากรู้อยากเห็นอยากชม จงปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวมา ที่เคยได้อ่านในหนังสือซึ่งท่านอธิบายไว้จะมาปรากฏที่ใจของเราเอง โดยไม่อาจสงสัย นี่คือวิธีการพิจารณาทุกขเวทนา เวลาเกิดขึ้นกับร่างกาย จงพิจารณาอย่างนี้ จะรู้อย่างนี้จะเห็นอย่างนี้ไม่เป็นอื่น

    ในนามขันธ์หรือนามธรรมทั้งสามคือ สัญญา สังขารและวิญญาณ เวลาพิจารณาก็เกี่ยวโยงกับกายเหมือนกันในบางกรณี ข้อนี้ยกให้เป็นข้อคิดข้อพิจารณาของผู้ปฏิบัติจะพึงรู้ และปฏิบัติต่อตัวเอง ตามเหตุการณ์ที่เกิดกับตน เพราะนามขันธ์ทั้งสามนี้ ท่านพิจารณาเป็นการเป็นงานอย่างแท้จริง หลังจากจิตรู้เท่า ปล่อยวางรูปขันธ์เรียบร้อยแล้ว

    เมื่อจิตยังไม่ปล่อยรูปขันธ์ การพิจารณาจำต้องประสานถึงรูปขันธ์อย่างแยกไม่ออก แต่ทั้งนี้เป็นหน้าที่ และเป็นกิจจำเป็นของนักปฏิบัติจิตภาวนาโดยเฉพาะ เป็นราย ๆ ไป หากรู้กับตัวเองว่า จะควรพิจารณาทั่วไปกับขันธ์ทั้งหลาย หรือจะพิจารณาขันธ์ใดในกาลเช่นไร โดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้นจะเข้าใจ ในการพิจารณาขันธ์ห้า ให้เหมาะสมกับการปล่อยวางเป็นวรรคเป็นตอนไป การพิจารณาอย่างกว้างขวางก็ในวงรูปขันธ์เท่านั้น

    รูปขันธ์นี้พิสดารอยู่มาก การพิจารณาจึงไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด สุดแต่ถนัดต่อการพิจารณาจะแยกแยะร่างกายส่วนต่าง ๆ ออกเป็นชิ้นเป็นอัน จากคำว่าสัตว์ ว่าบุคคลก็ได้ จะพิจารณาเป็นอสุภะสิ่งปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างก็ได้ จะพิจารณาไปทางไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามไตรลักษณ์ก็ได้ จนจิตมีความชำนิชำนาญทั้งภาคอสุภะและภาคไตรลักษณ์ จนหาที่ติดที่ข้องไม่ได้แล้วก็ปล่อยวางไปเอง

    เมื่อจิตปล่อยวางรูปขันธ์แล้ว จิตจะหมุนเข้าสู่นามขันธ์ทั้งสาม คือ สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างเต็มสติปัญญาที่มีอยู่ต่อไป ไม่มีคำว่าท้อถอยลด-ละเลย สติปัญญาจะหมุนตัวไปเองโดยไม่ถูกบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นขั้นสติปัญญาคล่องตัวแล้ว เรื่องสติปัญญาคล่องตัวนี้ เริ่มเป็นมาแต่ขั้นพิจารณาอสุภะในรูปขันธ์คล่องตัวอยู่แล้ว จนถึงขั้นปล่อยวาง เมื่อก้าวเข้าสู่ สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงคล่องตัวต่อการพิจารณาทุกแง่ทุกมุม ไม่มีคำว่าอืดอาดเนือยนายดังที่เคยเป็นมา นอกจากต้องรั้งเอาไว้เมื่อเห็นว่าจะเพลินต่อการพิจารณาจนเกินไป ไม่ยอมพักตัวในเรือนคือสมาธิ ที่เคยเห็นในตำราว่า มหาสติ มหาปัญญา นั่นจะปรากฏกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ ที่หมุนตัวไปกับการพิจารณาไม่หยุดหย่อนผ่อนคลายในการทำงานไปเอง ไม่ต้องถามใคร

    นับแต่ขั้นรู้เห็นอสุภะเด่นชัดด้วยการพิจารณาเรื่อยมา ความขี้เกียจ ความท้อแท้อ่อนแอ ความอิดหนาระอาใจ หายหน้าไปหมด ไม่ปรากฏในจิตดวงนั้นเลย ด้วยเหตุนี้แลจึงทำให้รู้ประจักษ์ใจว่า อันความขี้เกียจไม่เอาไหนเป็นต้น มันเป็นสกลกิเลสทั้งมวล เป็นตัวมัดแข้งมัดขามัดจิตมัดใจสัตว์โลกไว้ ให้ก้าวสู่ความดีงามไม่ออก พอถูกตปธรรม มีสติปัญญาเป็นต้นเผาผลาญให้พินาศไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีในจิตใจเลย มีแต่ความเข้มข้นแห่งความเพียรทุก ๆ อิริยาบถเว้นแต่หลับเท่านั้น นอกนั้นเป็นท่าแห่งความเพียรทั้งสิ้น กิเลสเหล่านั้นไม่กล้ามาขัดขวาง แม้จะยังมีอยู่ภายในใจก็ตาม เพราะนับวันจะ กุสลา มนุษย์แล้วอย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นการพิจารณานามขันธ์ทั้งสาม ของท่านผู้มีสติปัญญาอันเกรียงไกรมาแต่รูปขันธ์แล้ว จึงคล่องตัวรวดเร็วไม่มีสติปัญญาใดในโลกสมมุติจะรวดเร็วเทียมเท่าได้

    จิตที่ปล่อยรูปขันธ์แล้ว ยังต้องฝึกซ้อมสติปัญญาจากความคิดปรุงภาพแห่งขันธ์ให้ปรากฏขึ้นแล้วดับไป ปรากฏขึ้นแล้วดับไป ๆ จนรูปขันธ์ที่ปรากฏขึ้นจากความปรุงดับอย่างรวดเร็วราวกับฟ้าแลบ จากนั้นก็เป็นจิตว่างจากรูป จากวัตถุต่าง ๆ ทั้งภายในภายนอก หมดความสนใจพิจารณาต่อไปอีก มีแต่หมุนเข้าสู่นามธรรมทั้งสาม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสาม โดยถ่ายเดียว โดยถือจิตเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เนื่องจากอาการทั้งสามนี้ปรากฏขึ้นจากจิตและดับไปที่จิต สังเกตสอดรู้อาการเหล่านี้ขณะเกิดและดับ เมื่อสติปัญญารู้เท่าทัน ปัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี จะมีเพียงปรากฏขึ้นแล้วดับไป ๆ ไม่สืบต่อกับอะไร

    จิตขึ้นพิจารณานามธรรมนี้ เป็นจิตว่างจากสิ่งภายนอกทั้งปวง แต่ยังไม่ว่างจากจิตและนาม ธรรมทั้งสามนี้ จึงต้องพิจารณาจุดนี้โดยความเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนจิตพอกับขันธ์และหยั่งเข้าสู่จิตล้วน ๆ อันเป็นเรือนรังของอวิชชาโดยเฉพาะ พิจารณากันในจุดนั้นกับนามขันธ์ประสานกัน จนสติปัญญาเห็นความเหลวไหลหลอกลวงของนามขันธ์พร้อมทั้งจิตอวิชชาประจักษ์ใจแล้ว อวิชชาภายในใจก็พังทลายหายซากลงไปในขณะนั้นด้วยสติปัญญาที่ทันสมัย

    อวิชชาอันเป็นกิเลสโดยตรงนั้นดับ ส่วนขันธ์อันเป็นเครื่องมือของกิเลสอวิชชานั้นไม่ดับไม่หายซากไปกับอวิชชา แต่กลับมาเป็นเครื่องมือของจิตบริสุทธิ์และเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีกิเลสเข้าครองอำนาจเหมือนแต่ก่อน เพราะจิตบริสุทธิ์ธรรมบริสุทธิ์นั้นไม่บีบบังคับขันธ์เหมือนกิเลส และไม่ยึดเหมือนกิเลส เพียงอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือด้วยความยติธรรมเท่านั้น นี่คือการล้างป่าช้าความเกิด - ตายให้สิ้นซากไปจากใจ ปราชญ์ท่านล้างอย่างนี้แล จงพากันจำไว้ให้ตั้งใจและนำไปปฏิบัติให้ถึงธรรม จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในขณะที่จิตเข้าถึงธรรมบริสุทธิ์เต็มดวงนั่นแล หายสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์โดยประการทั้งปวง

    สงครามระหว่างกิเลสกับธรรม ต่อสู้กันภายในวงความเพียรของนักปฏิบัติจิตภาวนา โดยยึดใจเป็นเวทีสนามรบ มาจบมายุติกันที่ใจดวงบริสุทธิ์ หลังจากกิเลสสิ้นซากไปหมดแล้ว ปัญหาทั้งมวลมาหมดกันที่นี่แล
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ดังนั้นจึงขอนิมนต์พระลูกพระหลานทั้งหลาย รู้เนื้อรู้ตัวด้วยธรรมกระเทือนโลก ที่ปลุกสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นจากความหลับของกิเลสแต่บัดนี้ ที่กำลังมีครูอาจารย์สั่งสอนอยู่ จะไม่เสียทีให้กิเลสชนิดต่าง ๆ อยู่ร่ำไป ดังที่เคยเป็นมา ซึ่งน่าทุเรศเอานักหนาในสายตาของนักปราชญ์ ผู้ฉลาดแหลมคมเหนือกิเลส โดยประการทั้งปวงแล้ว พวกเราที่ถูกกิเลสกล่อมใจให้หลับทั้งที่ตื่นอยู่ มักเห็นขี้ดีกว่าไส้ เห็นภัยว่าเป็นคุณ เห็นบุญว่าเป็นบาป เห็นหาบเห็นหามอันเป็นภาระหนัก ว่าเป็นเครื่องประดับตกแต่งที่สวยงามอร่ามตาแช่มชื่นใจ ทำอะไรที่เป็นสารคุณจึงมักทำแบบสุกเอาเผากิน แบบขอไปที ๆ ผลจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ หาความสม่ำเสมอและหลักเกณฑ์ไม่ได้ ราวกับไม้ปักกองขี้ควาย คอยแต่จะหกล้มก้มกราบ หาความเป็นตัวของตัวไม่ได้ มีแต่ความไร้สาระเต็มตัวเต็มใจ กิริยาใด ๆ แสดงออก มีแต่กิริยาอาการทำลายตัวเอง ทั้งนี้เพราะความเคยชินของนิสัยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของในทางที่ถูกที่ดีเท่าที่ควร พระทั้งองค์ คนทั้งคนจึงกลายเป็นเศษพระเศษคนไปได้ และเกลื่อนกล่นอยู่ในท่ามกลางแห่งคนดี ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าประเภทเศษเดนระหว่างแห่งพระดี พระแท้ ด้วยสุปฏิบัติ คนดี คนแท้ ด้วยทาน ศีล ภาวนา สัมมาคารวะ กับพระเศษ พระเดน คนเศษ คนเดน

    เราจะสมัครทางไหน จงรีบตัดสินใจจากการพิจารณาด้วยดีเสียแต่บัดนี้ เวลาตายแล้ว ความดีงามที่พึงหวังมิได้ขึ้นอยู่กับผ้าเหลืองที่ห่มคลุมและการนิมนต์พระมา กุสลา มาติกา บังสกุลอะไรนะ แต่มันขึ้นอยู่กับตัวเราฝึกเราให้มี กุสลาธรรม คือความฉลาด เปลื้องตนจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ขณะที่มีชีวิตอยู่ต่างหาก จะว่าผมไม่บอกไม่เตือน นี่คือคำบอกคำเตือนท่านทั้งหลายโดยแท้จริงอย่างถึงใจเรื่อยมา ไม่มีเพียงครั้งนี้หนเดียว จงจดจำให้ตั้งใจและปฏิบัติตามตลอดไป ด้วย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ พยายามทำตนให้เป็นเนื้อเป็นหนังของตนด้วยธรรมเครื่องดำเนินและส่องทาง จะไม่เป็นพระครึ เณรครึ พระล้าสมัย เณรล้าสมัย คนครึ คนล้าสมัยต่อความดีงามและมรรคผลนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยพระเมตตาสุดส่วนไม่มีใครเสมอเหมือน

    ผมเองก็นับวันแก่ลง การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนก็ไม่สะดวก พระเณรก็นับวันหลั่งไหลมามากเพื่อรับการอบรมสั่งสอน ขณะมาอยู่และศึกษาอบรมก็จงตั้งใจจริง อย่านำความเหลาะ ๆ แหละ ๆ มาสังหารตนและทำลายเพื่อนฝูงผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรม จะเสียไปทั้งเราและผู้อื่น ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ไว้หน้าใคร มันทำลายทั้งสิ้น คำว่าพระ ๆ เณร ๆ หรือความเข้าใจว่าเราเป็นพระเป็นเณรนั้น พึงทราบว่ากิเลส คือกิเลสที่เคยเป็นข้าศึกต่อเราเต็มตัว ไม่กลัวใคร อย่าเข้าใจว่ามันจะมาถวายตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ถวายการอุปัฏฐากรักษา เพื่อเป็นความสะดวกปลอดภัยไร้สิ่งรบกวนในการประกอบความพากเพียรของพระ ที่ตนเข้าใจว่าเป็นอาจารย์ของมันเลย จงทราบว่า แม้เราบวชเป็นพระเป็นแน่แล้ว แต่กิเลสมันก็คือกิเลสอย่างเต็มตัว และขึ้นอยู่บนหัวคน หัวพระ หัวเณรเรื่อยมา แต่ก่อนบวชจนบัดนี้ไม่ยอมลงเลย ฉะนั้น มันจึงไม่กลัวพระกลัวเณรและกลัวคนกลัวสัตว์โลกใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นนายและเป็นข้าศึกของคนของสัตว์ของพระเณรเรื่อยมา และยังจะเรื่อยไป ถ้าไม่รีบกำจัดมันเสียแต่บัดนี้ ให้ฉิบหายสิ้นซากไปจากใจ

    การเทศน์วันนี้ก็เทศน์อย่างหมดไว้หมดพุง ไม่มีอะไรหลงเหลือตกค้างอยู่ภายในใจเลย ทั้งเหตุ คือปฏิปทาเครื่องดำเนิน เผ็ดร้อนหนักเบาประการใดที่เคยต่อสู้กับกิเลสมา ทั้งผล ที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติมากน้อย หยาบละเอียด ก็ได้ขุดคุ้ยมาแสดงให้ฟัง อย่างหมดเปลือกหมดไส้หมดพุง ไม่มีลี้ลับปิดบังไว้แม้แต่น้อย

    ดังนั้นจงนำอุบายวิธีเหล่านี้ไปฝึกหัดดัดสันดาน กิเลสตัวร้ายกาจแสนพยศของแต่ละท่าน อย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ระวังอย่าให้กิเลสฝึกหัดดัดสันดาน เอาเสียอย่างหมอบราบ แทนที่จะดัดมันก็แล้วกัน ข้อนี้ผมกลัวนักกลัวหนา ไม่อยากเห็นไม่อยากได้ยิน เพราะผมเองเคยโดนมันดัดสันดานมาแล้ว จึงเป็นบทเรียนอย่างดีที่สุดจะนำมาเตือนท่านทั้งหลายไม่ได้ ขอจบเสียที จงพากันสวัสดีมีชัยทั่วหน้ากัน
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่เริ่มป่วยจากโรคชรา

    นับแต่ปี ๒๕๒๖ ย่างเข้ามา อาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ของหลวงปู่ก็เริ่มปรากฏมาพร้อม ๆ กันราวกับได้นัดแนะกันไว้ ท่านมักเจ็บป่วยบ่อย ๆ ทั้งที่ปกติโรคชราก็ทำงานประจำขันธ์อยู่แล้ว เริ่มลุกและเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่เป็นปี ๆ อยู่แล้ว โรคที่เพิ่มความทรุดโทรมก็ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้เห็นได้ชัดในสายตาและความรู้สึกของบรรดาศิษย์และประชาชนที่เข้ากราบเยี่ยม ส่วนคณะนายแพทย์ที่คอยดูแลรักษาหลวงปู่เป็นประจำไม่ขาดตลอดมานั้น คือ คณะแพทย์ทางอำเภอหนองบัวลำภู และคณะแพทย์ทางโรงพยาบาลอุดร ฯ ได้ควบคุมดูแลอาการของท่านเป็นประจำ ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ นับว่าได้ดูแลท่านหลวงปู่อย่างใกล้ชิดท่านหนึ่ง ทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บป่วย มีการไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งหมอที่มาจากสำนักพระราชวังเป็นครั้งคราว ช่วยกันพยาบาลรักษาท่านอย่างใกล้ชิด ด้วยความสนิทใจและเคารพเลื่อมใสในหลวงปู่จริง ฟ แม้เช่นนั้น อาการต่าง ๆ ก็คอยแต่จะกำเริบอยู่เสมอ ท่านมีอาการเวียนศีรษะเป็นประจำ นั่งนานไม่ค่อยได้ นี่เป็นสาเหตุแห่งโรคชนิดอื่นจะตามมา เช่น โรคบวมตามหลังมือ หลังเท้า อ่อนเพลียมาก ฉันไม่ได้ อาการเหล่านี้ค่อยทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันเวลา จนกลายเป็นคนไข้หนัก ทั้ง ๆ ที่หาไข้จริง ๆ ไม่เจอ เจอแต่อาการเหล่านี้ในองค์ท่าน ไม่ปรากฏมีโรคชนิดใดอย่างแท้จริงปรากฏเลย ในความรู้สึกของหมอและคนทั่วไปจึงรวมลงในจุดเดียวกันว่า ท่านมรณภาพด้วยโรคชราโดยแท้ การเขียนเรื่องอาการป่วยของท่าน เห็นว่าไม่มีอะไรแปลกและพิสดารผิดธรรมดา จึงเขียนเพียงย่อ ๆ พอท่านผู้อ่านทั้งหลายเข้าใจกัน

    จันทร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๐๕.๔๕ น. หลวงปู่ก็มรณภาพด้วยอาการอันสงบท่ามกลางสานุศิษย์ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในเวลานั้น เพราะเป็นตอนเช้า พระก็เริ่มออกบิณฑบาต ประชาชนก็ยังไม่มีมาก ที่กุฎีใหญ่ที่ท่านพักเป็นประจำ ในวัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

    เมื่อข่าวมรณภาพของท่านแผ่กระจายออกไป ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน พระ เณร ทราบต่างก็หลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพท่านเป็นจำนวนมากจนไม่อาจพรรณนา ทางจังหวัดได้รายงานเรื่องนี้ไปยังสำนักพระราชวังโดยด่วน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด เวลา ๙.๐๐ น. ได้เคลื่อนย้ายศพหลวงปู่มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ “ศาลาเมตตาอนาลโย” โดยเปิดโอกาสให้ศรัทธาประชาชนทั่วไปเข้ากราบนมัสการรดน้ำศพ ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชทานน้ำอาบศพ และทรงเป็นประธานในงาน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และตั้งศพบำเพ็ญกุศลพระราชทาน ๗ วัน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน โกศโถ ฉัตรเบญจา ตั้งประดับ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานเงินสี่แสนบาท เป็นค่าอาหารถวายพระและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอด ๗ วันด้วย

    จบบริบูรณ์

    ขอบพระคุณข้อมูลจาก....
    http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-hist-index-page.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,569
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    ประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย (เริ่มบวช-มรณภาพ) 7.5 Hrs.

    AKedOLR5lwJjtHBCXGp0xHxQhAG15fizTxoJTUs9Yp0IRw=s48-c-k-c0x00ffffff-no-rj.jpg
    JJJ Family
    120,512 viewsAug 15, 2017
    Sadhuka.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...