ประวัติ "หลวงพ่อเล็ก" วัดบางนมโค จ.อยุธยา (ตอนที่ 1)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย montrik, 7 กันยายน 2020.

  1. montrik

    montrik แดง แดนอุทัย สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มกราคม 2008
    โพสต์:
    10,119
    กระทู้เรื่องเด่น:
    74
    ค่าพลัง:
    +12,075
    ประวัติ "หลวงพ่อเล็ก" วัดบางนมโค จ.อยุธยา [ตอนที่ 1]
    พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต เรียบเรียง
    คำชี้แจง
    ...สำหรับ "ประวัติหลวงพ่อเล็ก เกสโร" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นการพิมพ์มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง โดยคุณ Ann_siriket เป็นผู้รับอาสาในการพิมพ์มาจากหนังสือที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อเล็ก เกสโร

    ซึ่งเป็น "พระหลวงลุง" ของหลวงพ่อฯ (เป็นพี่ชายของแม่ของหลวงพ่อ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ คือเป็น "พระคู่สวด" ของหลวงพ่อด้วย)

    หนังสือเล่มนี้หลวงพ่อเป็นผู้บันทึกและจัดพิมพ์มานานแล้ว เป็นหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่งที่หายาก พระชัยวัฒน์เป็นผู้เก็บรักษาเป็นมรดกตกทอดเอาไว้นานแล้วเช่นกัน

    ด้วยเหตุนี้ หากมีผู้ใดประสงค์คัดลอกออกไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของหนังสือเล่มนี้ก่อน

    บัดนี้ พวกเราที่เป็นลูกหลานหลวงพ่อรุ่นหลัง นับว่าโชคดีที่จะได้มีโอกาสอ่านถ้อยคำของท่าน ที่ได้บันทึกเรื่องราวไว้ให้เป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง

    โดยเฉพาะตอนท้ายประวัติจะเป็นการเขียนเรื่อง "อภิญญาปฏิบัติ" ซึ่งเป็นข้อเขียนที่ท่านยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอย่างในเวลานี้ ซึ่งสมัยนั้นท่านยังใช้นามปากกาว่า "พระมหาวีระ ถาวโร"

    จึงขอให้ทุกท่านได้ติดตามอ่านสำนวนของท่านในสมัยก่อนๆ ซึ่งจะทยอยลงไปเป็นตอนๆ จนกว่าจะครบถ้วน (ในสำนวนการพิมพ์สมัยนั้น อาจจะมีศัพท์ที่ไม่ตรงกับปัจจุบันนี้บ้าง)

    เกสรานุสรณ์

    พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ
    หลวงพ่อเล็ก เกสโร
    ณ เมรุวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    --------------------------
    รวบรวมโดย
    พระมหาวีระ ถาวโร
    วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
    วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๐๘
    --------------------------
    หลวงพ่อเล็ก เกสโร
    ชาตะ พ.ศ. ๒๔๒๘ มรณะ พ.ศ. ๒๕๐๗
    พระผู้รักษาพระวินัย ยิ่งกว่าชีวิต

    คำปรารภ
    "...เนื่องในการประชุมเพลิงศพ หลวงพ่อเล็ก เกสโร อดีตเจ้าอาวาส วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘

    พระสมุห์อุไร เจ้าอาวาสวัดบางนมโคองค์ปัจจุบัน และ พระมหาเวก วัดดาวดึงสาวาส ธนบุรี ต่างฝ่ายต่างก็ส่งข่าวให้ข้าพเจ้าทราบ (หมายเหตุ พระมหาเวก เป็นพระน้องชายของหลวงพ่อฯ - ผู้พิมพ์)

    และต่างฝ่ายก็ตั้งใจจะมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดงาน เจตนาอันดีของท่านทั้งสองนี้ ข้าพเจ้าขอเทิดทูนไว้เหนือความดีใด ๆ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ทรงไว้ซึ่งสัจจะธรรม มีอารมณ์ของจิตผ่องใสเปี่ยมไปด้วยกุศลเจตนา ประกอบไปด้วยอัปปัจจายนกรรม ตั้งใจยกย่องส่งเสริมในข้าพเจ้า

    และน้ำจิตของท่านทั้งสองนี้ ยังเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีในท่านผู้ตาย เพราะต่างฝ่ายต่างแจ้งให้ทราบว่า จะจัดการงานศพคราวนี้ให้สมเกียรติ จิตสำนึกของท่านทั้งสองนี้ช่างเต็มไปด้วยมุทิตาธรรม น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง

    เมื่อข้าพเจ้าได้รับจดหมายจาก พระสมุห์อุไร และ พระมหาเวก แล้วรู้สึกเต็มตื้นและปลื้มใจในสามัคคี และกตัญญูของท่านทั้งสองฝ่าย

    แต่ก็ได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งผู้จัดงานไป เพราะข้าพเจ้าเวลานี้ไม่มีความเหมาะสมในตำแหน่งนี้เสียแล้ว เหตุผลก็คือ

    ๑. แก่เกินไปสำหรับตำแหน่งผู้จัดงาน

    ๒. ขาดทุนทรัพย์เพราะแต่ลำพังตัวเองก็เลี้ยงเกือบไม่ไหว

    ๓. มีสุขภาพไม่สมบูรณ์สามวันดีสี่วันไข้ บางวันอยู่ดี ๆ นึกจะป่วยขึ้นมา ก็ล้มฮวบฮาบหน้ามืดตามัวเอาเฉย ๆ รวมความแล้ว ข้าพเจ้าก็เหมือนซากศพที่เคลื่อนที่ได้นั่นเอง จึงได้ปฏิเสธเสียเพราะไม่เหมาะสมดังกล่าวมาแล้ว ได้แต่ยอมรับว่า

    เมื่อถึงวันเผาถ้าไม่ตายเสียก่อน หรือพอมีแรงจะทรงตัวได้ จะเดินทางมาร่วมเผาด้วย และรับจะพิมพ์หนังสือแจกชำร่วยในงานประมาณ ๓๐๐ เล่ม การพิมพ์ก็ต้องเป็นหนี้โรงพิมพ์เพราะไม่มีเงินสด

    ในขณะที่หลวงพ่อเล็กกำลังป่วยอยู่นั้น คุณมหาเวกได้ส่งข่าวให้ทราบทางจดหมายบ้าง โทรเลขบ้าง ตัวเองไปพบบ้าง เวลานั้นข้าพเจ้าเองก็อยู่ในสภาพร่อแร่จะตายมิตายแหล่อยู่เหมือนกัน สตางค์ก็ไม่มีใช้ โรคภัยไข้เจ็บก็เล่นงานเอางอมแงมทีเดียว

    มีหลายครั้งที่คิดว่าจะชิงตำแหน่งผีก่อนหลวงพ่อเล็ก เขาว่าเคราะห์ดีผีคุ้มโบราณท่านว่า ถ้าไม่ถึงที่คงไม่ตายวายชีวาต ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ เป็นความจริงทีเดียว

    ขณะที่ป่วยอยู่ในสภาพรอความเป็นผีของข้าพเจ้าอยู่นั้น เงินจะซื้อยากินก็ไม่มี จะเหลียวซ้ายแลขวาหาญาติหรือก็ไม่มี เพราะมาอยู่ตามลำพัง

    ครั้นจะขอพึ่งบารมีพวกเจริญวิปัสสนาแบบนิวเคลียร์หรือก็หมดหวัง เพราะ "วิปัสสนา" หรือ "วิปัสสะหนอ" นั้น เขาไม่ใช้พรหมวิหาร ๔ เพราะเขากลัวจะถ่วงหนักไปนิพพานไม่ได้ เขาเลยโละทิ้งไปเสีย

    เมื่อ "คณะวิปัสสนาหนอ" เขาไม่มีพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องนอนป่วยตามลำพัง จะเป็นจะตายเป็นเรื่องของข้าพเจ้า

    ส่วนพวกเขามุ่งพระนิพพานอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ไปถึงพระนิพพานกันหมดแล้วก็ไม่รู้ จากมาเสียหลายเดือนแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวเลย

    เมื่อขณะป่วยหนักอยู่นั้น แขกไปมาหาสู่ก็เพิ่มขึ้นกว่าปกติ บางพวกรู้ว่าป่วยก็มาเยี่ยม บางพวกก็มาของให้ช่วยสงเคราะห์ ก็ได้พยายามอดกลั้นทุกขเวทนา ปกปิดอาการทุรนทุรายของสังขารเสีย ด้วยอธิวาทนะขันติธรรม ช่วยสงเคราะห์ไปตามหลักธรรมที่เรียนรู้และปฏิบัติได้ ได้ตัดสินใจเสียแล้วว่า

    โอกาสใดได้อนุเคราะห์ผู้มีทุกข์ด้วยธรรมแล้ว ถึงแม้จะต้องสิ้นลมปราณไปในขณะนั้นก็เต็มใจ เพราะการตายในระหว่างพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นการตายตามแบบของพุทธศาสนิกผู้กตัญญูต่อพระพุทธเจ้า แขกผู้มาหามาเยี่ยมแต่ละวัน ต้องรอคิวกันเข้าพบ เพราะสถานที่ไม่พอจะรับรองพร้อมกันได้

    ในระยะนั้นเองก็ได้พบเทวดาชุบชีวิต เทวดา ๖ องค์นี้อยู่ไม่ไกล แต่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน พอเหมาะมาพบเข้าก็เกิดความสนิทสนมถูกอกถูกใจกันทันที ดูเหมือนกับเป็นพี่น้องคลานตามกันมา

    เมื่อทราบว่าป่วยก็เยี่ยมเช้าเยี่ยมเย็น ส่งอาหารที่เหมาะสมให้ทั้งเช้าทั้งเพล ทุกเย็นต้องออกไปเยี่ยม นำเครื่องดื่มที่สมควรเอาไปให้ จัดหายารักษาโรคให้ตามอาการของโรค

    ในที่สุดก็ถวายสังฆทานสร้างพระพุทธรูปแทนตัวให้ จนหายจากโรคพอมีชีวิตมาเขียนหนังสือนี้ได้ ก็เพราะอาศัยท่านทั้ง ๖ นี้เองชุบชีวิตไว้

    เทวดาชุบชีวิตทั้ง ๖ นั้น ได้แก่

    ๑. ส.ต.อ.สง่า บัวเผือก
    ๒. แป้งล่ำ บัวเผือก
    ๓. คุณนายจันทร์นวล นาคนิยม
    ๔. สมบุญ กุหลาบศรี
    ๕. กิมลุ้ย แซ่ตั้ง

    ทั้ง ๕ นี้เป็นชุดหนึ่ง และอีกท่านหนึ่งเป็นรายที่ ๖ ก็คือ เสริมศรี ส่งศิริ คนนี้ได้ส่งข้าวส่งน้ำให้ยารักษาโรคเหมือนกัน ในที่สุดได้ถวายสังฆทาน สร้างพระพุทธรูปแทนตัวให้ มาซื้อสัตว์ที่จะถูกฆ่ามาให้ปล่อย

    เป็นอันว่าทั้ง ๖ ท่านนี้เป็นคณะเทวดาชุบชีวิตของข้าพเจ้าร่วมกัน ที่เรียกว่า "เทวดา" ก็เพราะคณะทั้ง ๖ นี้ มีพรหมวิหาร ๔ เป็นคุณธรรมประจำใจ

    ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตจนติดเป็นสันดานแล้ว เพียงเห็นกันครั้งเดียว คงไม่ลงทุนลงแรงเสียเงินเสียเวลามารักษาพยาบาลให้หมดเปลือง เพราะช่วยคนอย่างข้าพเจ้าจะเอาวัตถุอะไรตอบแทนได้ ตัวเองก็เต็มที่อยู่แล้ว จะใส่ปากใส่ท้องก็หาได้ยากเต็มทน

    เมื่อสภาพของข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งว่าที่ผีอย่างนี้ ในสมัยเมื่อหลวงพ่อป่วยจึงไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติพยาบาล ได้แต่น้อมใจรำลึกถึง คิดอยู่เสมออยากจะไปเยี่ยมและพยาบาลด้วยตนเอง แต่ตนเองก็มีสภาพอย่างนั้น

    ในที่สุดก็ต้องเอาอารมณ์วิปัสสนาเข้าช่วย ไม่ใช่วิปัสสนาหนอนะ วิปัสสนาแบบของพระพุทธเจ้า ในที่สุดก็ตัดใจได้หายกลุ้ม

    เมื่อได้ข่าวการมรณะของท่าน กำลังเขียนเรื่อง "อุทุมพลิกาสูตร" และตั้งใจจะเขียนกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ พร้อมด้วยมหาสติปัฏฐานสูตร และวิปัสสนาญาณ โดยวิธีแก้ไขสำนวนให้อ่านง่าย เพราะตามแบบของท่านเป็นภาษาตำราอ่านยาก

    เพื่อประโยชน์แก่นักปฏิบัติ พอเขียนสูตรนั้นใกล้จะจบ ก็ได้ข่าวมรณภาพ เลยงดเขียนคำอธิบายและอย่างอื่น เพราะถ้าขืนเขียนตามแนวนั้น พ.ศ. นี้คงไม่ได้พิมพ์

    จึงขอร้องให้บรรดาพวกเพื่อน ๆ ที่เกลียดบ้าน หันเข้าหาป่าเป็นเรือนตาย ช่วยกันเขียนตามกำลังและอารมณ์ ก็ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดี

    แต่ครั้นเมื่อได้รับต้นฉบับครบ มาตรวจแล้ว ปรากฏว่าได้หนังสือเกินกว่า ๒๐ ยก ไปถามทางโรงพิมพ์ว่าจะทันไหม ทางโรงพิมพ์ตอบว่าไม่ทันแน่

    เป็นอันว่าต้องตัดเอาพิมพ์เพียงเล็กน้อย ที่เหลือเอาไว้พิมพ์เล่มต่อไป เล่มนี้ขายผ้าเอาหน้ารอดไปคราวหนึ่งก่อน ขอท่านสหายที่รักโปรดทราบด้วย หนังสือเล่มหน้ามีแนวเขียนดังต่อไปนี้

    ๑. แก้ข้อสงสัยของผู้ถามปัญหามา ปัญหานี้มีเยอะแล้วไม่ต้องถามไปอีกก็ได้ คิดว่าตอบสัก ๑๐๐ หน้าก็เกือบไม่หมด
    ๒. บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
    ๓. บารมี ๓๐ ทัศน์
    ๔. อุทุมพลิกาสูตร
    ๕. มหาสติปัฏฐานสูตร
    ๖. กรรมฐาน ๔๐ ทัศน์
    ๗. วิปัสสนาญาณ ๙

    ประกอบไปด้วยการปฏิบัติเพื่อได้ฌาน ได้ญาณ และการใช้ญาณเพื่อประโยชน์แก่การตรวจโรค ตรวจกรรม การใช้กรรม การพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องนรก สวรรค์ พรหม พระนิพพาน

    ใช้ญาณเป็นเครื่องพิสูจน์ จะได้แนะนำวิธีที่จะนำญาณนั้นไปใช้เพื่อรู้ให้ละเอียดและง่ายที่สุด เท่าที่ความสามารถของข้าพเจ้าจะทำได้

    ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เลิศ เป็นแต่เพียงพอทำได้บ้างเท่านั้น ท่านที่รู้ดีได้ดีกว่าข้าพเจ้าในปัจจุบันนี้มีอีกมาก หากท่านผู้อ่านไม่มองข้ามไปเสียแล้ว ก็คงจะพบท่านเหล่านั้นนานแล้ว

    หนังสือเล่มหน้าตั้งใจว่าจะเขียนประมาณ ๔๐๐ หน้า ขนาด ๘ หน้ายก ปกแข็งเดินทอง ต้องใช้ทุนประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท ถ้าหากมีทุนพอเมื่อไร ก็จะเริ่มลงมือพิมพ์เมื่อนั้น พิมพ์แจกไม่ใช่พิมพ์ขาย

    ถ้าท่านผู้ใดประสงค์จะร่วมบำเพ็ญกุศลในส่วนธรรมทานแล้ว โปรดแจ้งตรงไปยังข้าพเจ้า คิดอัตราค่าพิมพ์เล่มละ ๓๐ บาท ท่านจะบำเพ็ญกุศลร่วมคนละกี่เล่มก็รับทั้งนั้น เมื่อพิมพ์เสร็จจะได้จารึกรายนามท่านผู้มีจิตเป็นกุศลร่วมออกทุนไว้ท้ายหนังสือ..."

    พระมหาวีระ ถาวโร
    ๑๑ เมษายน ๒๕๐๘

    ขอขอบพระคุณ
    หลวงพี่ชัยวัฒน์
    เพจ Tamroi Phrabuddhabat
    FB_IMG_1599439632679.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...