ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย siamgirl, 24 มีนาคม 2008.

  1. siamgirl

    siamgirl เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2007
    โพสต์:
    1,682
    ค่าพลัง:
    +2,742
    O ชีวิตในชาติปัจจุบันนี้น้อยนัก สั้นนัก

    พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า
    อัปฺปกญฺจิทํ ชีวิตมาหุธีรา = ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก

    ทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ คือมิได้มีเพียงชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิตมีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต
    “ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึงชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก

    ชีวิตคืออายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคนอย่างยืนนานก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ไม่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบเทียบกับชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วนนับปีไม่ได้ และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้อีกเช่นกัน

    ที่ปราชญ์ท่านว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบเทียบกับชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้

    O ทุกชีวิตล้วนผ่านกรรมดีกรรมชั่วมามากมาย

    ทุกชีวิตก่อนแต่จะได้มาเป็นคนเป็นสัตว์อยู่ในปัจจุบันชาติต่างเป็นอะไรต่ออะไรมาแล้วมากมาย แยกออกไม่ได้ว่ามีกรรมดีกรรมชั่วอะไรบ้าง ทำกรรมใดก่อน ทำกรรมใดหลัง

    ทั้งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาติอดีตทั้งหลาย ย่อมมากมายเกินกว่าที่ได้มากระทำในชาตินี้ชีวิตนี้อย่างประมาณไม่ได้ และกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านั้นย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ

    แม้ว่าผลจะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจเรียงลำดับตามเหตุที่ได้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผลทั้งหลายย่อมเกิดแน่ แม้เหตุได้กระทำแล้ว

    O ผู้ใดทำเหตุ ย่อมได้รับผลตรงตามเหตุแน่นอน

    เมื่อมีเหตุย่อมมีผล เมื่อทำเหตุย่อมได้รับผล และผลย่อมตรงตามเหตุเสมอ ผู้ใดทำผู้นั้นจักเป็นผู้รับผล เที่ยงแท้แน่นอน

    เมื่อใดกำลังมีความสุข ไม่ว่าผู้กำลังมีความสุขนั้นจะเป็นเราหรือเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุดีหรือกรรมดีใดไว้

    แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจ ว่าเหตุแห่งความสุขที่กำลังได้เสวยอยู่เป็นเหตุดีแน่ เห็นกรรมดีแน่ ผลดีเกิดแต่เหตุดีเท่านั้น ผลดีไม่มีเกิดแต่เหตุไม่ดีได้เลย

    เมื่อใดที่กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ว่าผู้กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นจะเป็นเราหรือเป็นเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุไม่ดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุไม่ดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุไม่ดีหรือกรรมไม่ดีใดไว้

    แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจว่าเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนที่กำลังได้เสวยอยู่ เป็นเหตุไม่ดีแน่ เป็นกรรมไม่ดีแน่ ผลไม่ดีเกิดเกิดแต่เหตุไม่ดีเท่านั้น ผลไม่ดีไม่มีเกิดแต่เหตุดีได้เลย

    O ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มีข้อยกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

    เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำดีไม่ได้ดี หรือเขาทำดีไม่ได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดไปจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

    เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำไม่ดีแต่กลับได้ดี หรือเขาทำไม่ดีแต่กลับได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

    ชีวิตในชาตินี้ชาติเดียวย่อมน้อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตในอดีตชาติ ซึ่งนับชาติหาถ้วนไม่ ดังนั้น กรรมคือการกระทำ ที่ทำในชีวิตนี้ชาตินี้ชาติเดียวจึงน้อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมหรือการกระทำที่ทำไว้แล้วในอดีตชาติ อันนับจำนวนชาติไม่ถ้วน

    O ความซับซ้อนของกรรม

    การเขียนหนังสือด้วยปากกาหรือดินสอลงบนกระดาษแผ่นเดียวนั้น เขียนลงครั้งแรกก็ย่อมอ่านออกง่าย อ่านเข้าใจได้ง่าย แต่ยิ่งเขียนทับเขียนซ้ำลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวกันนั้น ตัวหนังสือย่อมจะทับกันยิ่งขึ้นทุกที การอ่านก็จะยิ่งอ่านยากขึ้นทุกทีจนถึงอ่านไม่ออกเลย ไม่เห็นเลยว่าเป็นตัวหนังสือ จะเห็นแต่รอยหมึกหรือรอยดินสอทับกันไปทับกันมาเป็นสีสันเท่านั้น

    ให้เพียงรู้เท่านั้นว่าได้มีการเขียนอะไรลงบนกระดาษแผ่นนั้น หาอ่านรู้เรื่องไม่และหาอาจรู้ได้ได้ ว่าเขียนอะไรก่อนเขียนอะไรหลัง นี้ฉันใด การทำกรรมหรือการทำดีทำชั่วก็ฉันนั้น ต่างได้ทำกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทับถมกันมายิ่งกว่าตัวหนังสือที่อ่านไม่ออก หารู้ไม่ว่าได้เขียนอะไรก่อนเขียนอะไรหลัง

    ทำกรรมแบบใดไว้ก็ไม่รู้ ไม่เห็น แยกไม่ออกว่าทำกรรมใดก่อนทำกรรมใดหลัง ทำดีอะไรไว้บ้าง ทำไม่ดีอะไรไว้บ้าง มากน้อยหนักเบากว่ากันอย่างไร มาถึงชาตินี้ไม่รู้ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นความซับซ้อนของกรรมที่แยกไม่ออก เช่นเดียวกับความซับซ้อนของตัวหนังสือที่เขียนทับกันไปทับกันมา

    O ผลแห่งกรรมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการกระทำ

    ความซับซ้อนของกรรมแตกต่างกับความซับซ้อนของตัวหนังสือ ตรงที่ตัวหนังสือเขียนทับกันมาก ๆ ย่อมไม่มีทางรู้ว่าเขียนเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีอย่างไร แต่กรรมนั้น แม้ทำซับซ้อนมากเพียงไร ก็มีทางรู้ว่าทำกรรมดีไว้มากน้อยเพียงไร หรือกรรมไม่ดีไว้มากน้อยเพียงไร โดยมีผลที่ปรากฏขึ้นของกรรมนั้นเองเป็นเครื่องช่วยแสดงให้เห็น

    ชีวิตหรือชาตินี้ของทุกคนมีชาติกำเนิดไม่เหมือนกัน เป็นคนไทยก็มี จีนก็มี แขกก็มี ฝรั่งก็มี มีชาติตระกูลไม่เสมอกัน ตระกูลสูงก็มี ตระกูลต่ำก็มี มีสติปัญญาไม่ทัดเทียมกัน ฉลาดหลักแหลมก็มี โง่เขลาเบาปัญญาก็มี มีฐานะต่างระดับกัน ร่ำรวยก็มี ยากจนก็มี ความแตกต่างห่างกันนานาประการ

    เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องชี้ให้ผู้เชื่อในกรรมและผลของกรรมเห็นความมีภพชาติในอดีตของแต่ละชีวิตในชาติปัจจุบัน เกิดมาต่างกันในชาตินี้เพราะทำกรรมไว้ต่างกันในชาติอดีต

    O อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของกรรม นำให้เกิดความแตกต่างของชีวิต

    ความแตกต่างของชีวิตที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็นอำนาจที่ใหญ่ยิ่งที่สุดของกรรมคือความได้ภพชาติของพรหมเทพ ความได้ภพชาติของมนุษย์ กับความได้ภพชาติของสัตว์ เทวดาอาจมาเป็นมนุษย์ได้ เป็นสัตว์ได้ มนุษย์อาจไปเปิดเทวดาได้ เป็นสัตว์ได้ และสัตว์ก็อาจไปเป็นเทวดาได้ เป็นมนุษย์ได้

    ด้วยอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของกรรมอันนำให้เกิด นี้เป็นความจริงที่แม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงนี้ก็ย่อมเป็นความจริงเสมอไป ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความจริงได้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ควรกลัวอย่างหนึ่ง คือกลัวการไม่ได้กลับมาเกิดเป็นคน ไม่ได้ไปเกิดเป็นเทวดา

    เทวดามาถือภพชาติเป็นมนุษย์เป็นที่ยอมเชื่อถือกันมากกว่าเทวดาจะไปเป็นอะไรอื่น จึงมีคำบอกเล่าหรือสันนิษฐานกันอยู่เสมอ ว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นเทวดามาเกิด

    O กรรม....ทำให้เทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้

    ทั้งนี้ก็โดยสันนิษฐานจากความปราณีตงดงามสูงส่งของผู้นั้นผู้นี้ บางรายก็มีพร้อมทุกประการ ทั้งชาติ ตระกูลที่สูง ฐานะที่ดี ผิวพรรณวรรณะที่งาม กิริยาวาจามารยาทที่สุภาพอ่อนโยนไพเราะ เรียบร้อย เฉลียวฉลาด

    บางผู้แม้ไม่พร้อมทุกประการดังกล่าว ก็ยังได้รับคำพรรณนาว่าเป็นเทวดา นางฟ้ามาเกิด เพราะผิวพรรณ มารยาทงดงาม อ่อนโยน นุ่มนวล นี้ก็คือการยอมรับอยู่ลึกๆ ในใจของคนส่วนมากว่าเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้

    เทวดามาเกิดป็นมนุษย์มีตัวอย่างสำคัญยิ่งที่พึงกล่าวถึงได้เป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นั่นคือ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จลงโลกมนุษย์ ประสูติเป็นพระสิทธัตถะราชกุมาร พระราชโอรสพระเจ้าสุทโธทนากับพระนางสิริมหามายา

    เรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่รู้จักกันกว้างขวาง คือ เรื่องของเทพธิดาเมขลา เทพธิดาองค์นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์รักษามหาสมุทร มีหน้าที่คอยคุ้มครองช่วยเหลือมนุษย์ผู้ถือไตรสรณาคมน์ มีศีลสมบูรณ์ ปฏิบัติชอบต่อมารดาบิดา พราหมณ์โพธิสัตว์เดินทางไปเรือแตกกลางมหาสมุทร พยายามว่ายเข้าฝั่งอยู่ถึง ๗ วัน

    เทพธิดาเมขลาจึงแลเห็น ได้ไปแสดงตนต่อพระมหาสัตว์ทันที รับรองจะให้ทุกอย่างที่พระมหาสัตว์ปรารถนา และได้เนรมิตสิ่งที่พระมหาสัตว์ขอทุกอย่าง คือเรือทิพย์และแก้วแหวนเงินทอง พระมหาสัตว์พ้นจากมหาสมุทร ได้บำเพ็ญทานรักษาศีลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดในเมืองสวรรค์

    พระมหาสัตว์ครั้งนั้นต่อมาคือพระพุทธเจ้า เทพธิดาเมขลาต่อมาคือ พระอุบลวัณณาเถรี และผู้ดูแลช่วยเหลือพระมหาสัตว์ต่อมาคือพระอานนท์ นี้คือเทวดาถือภพชาติเป็นมนุษย์ได้ อย่างน้อยก็ตามความเชื่อถือ จึงมีการเล่าเรื่องเทพธิดาเมขลาดังกล่าว

    O มนุษย์เกิดเป็นเทวดาได้ เพราะกรรมที่กระทำ

    เทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้ และมนุษย์ก็เกิดเป็นเทวดาได้ ดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกว่า เมื่อทรงเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์หัวหน้าพ่อค้าเกวียน

    ได้ทรงซื้อสินค้าในนครพาราณสีบรรทุกเกวียนนำพ่อค้าจำนวนมากเดินทางไปในทางกันดาร เมื่อพบบ่อน้ำก็พากันขุดเพื่อให้มีน้ำดื่ม ได้พบรัตนะมากมายในบ่อนั้น พระโพธิสัตว์ทรงเตือนว่า ความโลภเป็นเหตุแห่งความพินาศ แต่ไม่มีผู้เชื่อฟัง พวกพ่อค้ายังขุดบ่อต่อไปไม่หยุด หวังจะได้รัตนะมากขึ้น

    บ่อนั้นเป็นบ่อที่อยู่ของพญานาค เมื่อถูกทำลาย พญานาคก็โกรธใช้ลมจมูกเป่าพิษถูกพ่อค้าเสียชีวิตหมดทุกคน เหลือแต่พระโพธิสัตว์ที่มิได้ร่วมการขุดบ่อด้วย จึงได้รัตนะมากมายถึง ๗ เล่มเกวียน ท่านนำออกเป็นทาน และได้สมาทานศีล รักษาอุโบสถจนสิ้นชีวิต ได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นเทวดาได้

    มนุษย์มีบุญกุศลและความดีพร้อมทั้งกายวาจาใจมากเพียงไร ก็จะเกิดเป็นเทวดาได้เพียงนั้น คือสามารถขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงได้เมื่อละโลกนี้แล้ว

    O กรรมทำให้มนุษย์เกิดเป็นสัตว์ได้

    มนุษย์เกิดเป็นเทวดาได้ และเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ ในสมัยพุทธกาลชายผู้หนึ่งโกรธแค้นรำคาญสุนัขตัวหนึ่งที่ติดตามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ตรัสแสดงให้รู้ว่า บิดาที่สิ้นไปแล้วนั้นมาเกิดเป็นสุนัข และได้ทรงให้พิสูจน์ โดยบอกให้สุนัขนำไปหาที่ซ่อนทรัพย์ ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้นอกจากผู้เป็นบิดาของชายผู้นั้น และสุนัขก็พาไปขุดพบสมบัติที่ฝังไว้ก่อนสิ้นชีวิตได

    O อานุภาพของการให้ความเคารพในพระธรรม
    ก็นำสัตว์ให้มาเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ได้

    สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดาได้คงจะมีเป็นอันมาก มีเรื่องต่างๆ ในพระพุทธศาสนาที่เล่ากันสืบมา คือในสมัยพุทธกาล มีสัตว์ได้ยินเสียงพระท่านสวดมนต์ก็ตั้งใจฟังโดยเคารพ ตายไปก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพในสวรรค์ ด้วยอานุภาพของการให้ความเคารพในพระธรรมของพระพุทธเจ้า

    สัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ นี้ต้องเป็นที่เชื่อถืออยู่ลึกๆ ในจิตสำนึก จึงแม้เมื่อพบมนุษย์บางคนบางพวกก็ได้มีการแสดงความรู้สึกจริงใจออกมาต่างๆ กัน เช่น ลิงมาเกิดแท้ๆ สัตว์นรกมาเกิดแน่ๆ ทั้งนี้ก็เห็นจากหน้าตาท่าทางบ้าง กิริยามารยาท นิสัยใจคอความประพฤติบ้าง

    ซึ่งโดยมากผู้ที่พบเห็นด้วยกันก็จะมีความรู้สึกตรงกันดังกล่าว เป็นความรู้สึกที่เกิดจากความเชื่อนั่นเอง ว่าสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ หรือมนุษย์เกิดมาจากสัตว์ได้

    (มีต่อ ๑)

    O ความประมาทปัญญา เป็นทางแห่งความตาย

    ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย นี้เป็นพุทธศาสนสุภาษิต และความประมาททั้งหลายรวมลงในความประมาทปัญญา ปัญญาคือเหตุผล ผู้ไม่เห็นความสำคัญของเหตุผล ประมาทเหตุผล จึงไม่ใช้เหตุผล ความไม่ใช้เหตุผลนี้แหละ คือความประมาทปัญญา ผู้ประมาทปัญญา หรือผู้ไม่ใช้เหตุผล คือผู้เดินอยู่บนทางแห่งความตาย

    O ความประมาท : ทางแห่งความตาย

    ความตายนั้น มีทั้งตายด้วยสิ้นชีวิต และตายด้วยสิ้นชื่อเสียง เกียรติยศ ทั้งสองอย่างนี้เกิดได้แก่ผู้ประมาทปัญญา

    O ความประมาททางกาย

    ความประมาทในการกระทำ ที่เรียกว่าประมาททางกาย เช่น ความประมาทเกี่ยวกับอาวุธร้าย มีปืนและระเบิด เป็นต้น ไม่คำนึงถึงเหตุผลว่าอาวุธเช่นนั้นมีโทษร้ายแรง ความประมาทเช่นนี้ที่ทำให้เกิดความตายด้วยสิ้นชีวิตแล้วเป็นจำนวนมาก นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

    O ความประมาททางวาจา

    ความประมาทในการพูด คือ พูดโดยไม่ระวังถ้อยคำ เรียกว่าประมาททางวาจา ไม่คำนึงให้รอบคอบว่าจะเกิดผลอย่างไรในการพูด พูดไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธ ความประมาทเช่นนี้ทำให้เกิดความตายด้วยสิ้นชีวิตแล้วเป็นอันมาก ด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นอันมาก นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

    O ความประมาททางใจ

    ความประมาทในความคิด คือ คิดฟุ้งซ่านไปโดยไม่ระมัดระวัง เรียกว่าประมาททางใจ การฆ่าตัวตายก็เกิดจากความประมาทนี้ ความเสียสติก็เกิดจากความประมาทนี้ ความทำลายผู้อื่นก็เกิดจากความประมาทนี้ นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

    O ความตายด้วยสิ้นชีวิต

    ความตายด้วยสิ้นชีวิต แม้จะเกิดจากความประมาท ก็ยังดีกว่าความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ ที่เรียกกันว่าตายทั้งเป็น

    O ความตายทั้งเป็น

    ความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ เกิดจากความประมาทปัญญาในเรื่องต่าง ๆ เป็นความประมาททางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่อบรมปัญญาในเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง

    O ผลที่เกิดจากความประมาทปัญญา

    ผลที่เกิดจากความประมาทปัญญา คือ ความตาย ไม่ว่าจะตายด้วยสิ้นชีวิต หรือตายด้วยสิ้นชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นความไม่ดีทั้งสิ้น ความประมาทปัญญา หรือความประมาท จะให้ผลดีไม่มีเลย จึงไม่ควรประมาทปัญญา

    ความไม่ประมาทปัญญา คือ ความเห็นความสำคัญของปัญญา ทั้งปัญญาตนและปัญญาผู้อื่น จะเห็นความสำคัญแต่ปัญญาตนไม่เห็นความสำคัญปัญญาผู้อื่นด้วย ก็ไม่ได้

    O ประมาทปัญญาตนและผู้อื่น ให้ผลเหมือนกัน

    ความไม่เห็นความสำคัญปัญญาตนมีโทษอย่างไร ความไม่เห็นความสำคัญปัญญาผู้อื่นก็มีโทษอย่างนั้น ผู้ไม่ประมาทปัญญา จึงหมายถึงผู้ไม่ประมาททั้งปัญญาตนและปัญญาผู้อื่น

    ประมาทปัญญาตนเป็นหนทางแห่งความตาย ประมาทปัญญาผู้อื่นก็เป็นทางแห่งความตาย ผู้พ่ายแพ้แก่ผู้อื่น ต้องเสื่อมเสียสูญสิ้นเป็นอันมาก ต้องเศร้าโศกเสียใจถึงเสียสติก็มี ก็เพราะประมาทปัญญาผู้อื่น

    O ผู้ไม่อบรมปัญญาตนเท่านั้น จะเป็นผู้ที่ประมาทปัญญาผู้อื่น

    ความประมาทปัญญาผู้อื่น ก็คือความประมาทปัญญาตนนั่นเอง ผู้ไม่อบรมปัญญาตนเท่านั้น ที่จะประมาทปัญญาผู้อื่น ผู้อบรมปัญญาตน จะไม่ประมาทปัญญาผู้อื่นเลย

    นั่นก็คือผู้เห็นความสำคัญของปัญญาตน จะแลเห็นความสำคัญของปัญญาผู้อื่นด้วย ประมาทปัญญาผู้อื่น คือ เห็นผู้อื่นไม่มีปัญญา ไม่สามารถ เห็นตนเองมีปัญญามีความสามารถยิ่งกว่าผู้อื่น

    จะคิดจะพูดจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น จึงไม่รอบคอบ ไม่ใช้ปัญญาให้เต็มที่ เป็นการประมาทปัญญา เป็นการเดินอยู่บนทางแห่งความตายได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งอย่างสิ้นชีวิต และอย่างสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ

    O การดำรงชีวิตจะสวัสดีเพียงไร สำคัญอยู่ที่.....
    การประมาทปัญญตนและผู้อื่นมากน้อยเพียงไร

    ความประมาทปัญญา หมายถึง ทั้งความประมาทปัญญาตน ความประมาทปัญญาผู้อื่น และความประมาทปัญญาที่เป็นกลาง มิใช่ปัญญาตนหรือปัญญาผู้ใด

    ความประมาทปัญญาที่เป็นกลาง คือ ความไม่เชื่อว่าปัญญาเป็นความสำคัญ ปัญญาเป็นความจำเป็นสำหรับประคับประคองชีวิตให้สวัสดี ทั้งที่ปัญญาเป็นสิ่งควรอบรมให้มีเป็นอันมากในตน ก็ไม่เห็นค่าของปัญญา

    ไม่พยายามทำปัญญาให้เป็นปัญญาตน เปรียบเช่นเห็นสิ่งมีค่าเป็นสิ่งไม่มีค่า ก็ไม่พยายามแสวงหาไว้เป็นสมบัติตน เรียกว่าประมาทสิ่งนั้น ผู้ประมาทปัญญา ย่อมไม่อบรมปัญญา

    การดำรงชีวิตจะสวัสดีเพียงไร สำคัญที่ประมาทปัญญาตน และปัญญาผู้อื่นมากน้อยเพียงไร ประมาทปัญญาตนและปัญญาผู้อื่นมาก ชีวิตจะสวัสดีน้อย ประมาทปัญญาตนและปัญญาผู้อื่นน้อย ชีวิตจะสวัสดีมาก

    O ผู้ไม่ประมาทปัญญา ย่อมไม่พบกับความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ

    ผู้ไม่ประมาทปัญญา แม้จะต้องพบความตายด้วยความสิ้นชีวิตอันเป็นธรรมที่ไม่มีผู้หลีกเลี่ยงพ้น แต่ก็ย่อมไม่พบความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ ประมาทปัญญาผู้อื่น คือ ไม่รอบคอบในการคิดพูดทำเกี่ยวกับผู้อื่น

    ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอบคอบระมัดระวัง อยากคิด อยากพูด อยากทำ เกี่ยวกับผู้อื่นอย่างไร ก็คิด ก็พูด ก็ทำ มีความไว้วางใจเป็นเหตุสำคัญบ้าง มีความระแวงสงสัยเป็นเหตุสำคัญบ้าง ผลที่ตามมาจากความประมาทปัญญา อาจเป็นความตายด้วยสิ้นชีวิต หรือตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสอง

    O ปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนถูกความตายบังคับ

    ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือ ผู้มีปัญญา สอนให้เร่งอบรมมรณสติ นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตายก็คือ เพื่อให้ปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย

    กิเลสเครื่องเศร้าหมอง ตัณหาความดิ้นรนและทะยานอย่าง อุปทาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหา อุปาทาน หัดละเสีย ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงได้ทุกวินาที

    O กิเลสทั้งหลาย ล้วนเป็นโทษแก่ผู้ตาย

    อ้างความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทานนั้น บางครั้งบางคราวก็ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย ได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา เช่น ผู้มีความโลภอย่างได้ข้าวของทรัพย์สินเงินทองของเขาผู้อื่น บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขา โกงเขา ลักขโมยเขา ได้สิ่งที่โลภอยากเป็นของตนสมปรารถนา

    หรือผู้มีความโกรธ อยากว่าร้ายเขา อยากทำร้ายร่างกายเขา บางครั้งบางคราวก็อาจทำให้สำเร็จสมใจ แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว แม้ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ จะไม่สามารถใช้กิเลสกองใดกองหนึ่ง ให้ผลสนองความปรารถนาต้องการได้เลย

    ผู้มีความโลภที่ตายแล้วไม่อาจลักขโมยของของเขาได้ หรือผู้มีความโกรธที่ตายแล้ว ก็ไม่อาจว่าร้ายเขาทำร้ายเขาได้

    กล่าวได้ว่า แม้ใจของผู้ตายจะยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน อยู่มากมายเพียงไร ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีอันเป็นคุณแก่ตน หรือแก่ผู้ใดได้เลย มีแต่ผลร้ายเป็นโทษสถานเดียวจริง กิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายไม่ได้ แต่เป็นโทษแก่ผู้ตายได้

    O ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติสำหรับผู้นั้น เป็นอันหวังได้

    เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีกแล้ว สิ่งที่เป็นนามแลไม่เห็นด้วยสายตาเช่นเดียวกับลมหายใจคือจิต ก็จะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม คือ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ที่มีขณะจิตยังอยู่ในร่าง คือยังเป็นจิตของคนเป็น คนยังไม่ตาย พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”

    O จิตที่มีกิเลสมาก.....ย่อมเศร้าหมองมาก

    กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสเป็นจิตที่เศร้าหมอง มีกิเลสมาก....จิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อย.....จิตก็เศร้าหมองน้อย

    จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละร่างไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี มากน้อยหนักเบาตามกิเลสความเศร้าหมองของจิต

    O จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลส เป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์

    คำว่า “จิตเศร้าหมอง” มิได้หมายถึง จิตที่หดหู่อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจเท่านั้น
    “จิตเศร้าหมอง” หมายถึง จิตที่ไม่บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว คือ เศร้าหมองอยู่ด้วยกิเลส
    จิตมีกิเลสมากก็เศร้าหมองมาก จิตมีกิเลสน้อยก็เศร้าหมองน้อย

    O กิเลสกองหลง เป็นเหตุแห่งราคะ โลภะ และโทสะ

    อันกิเลสกองหลงหรือโมหะนั้น เป็นกองใหญ่ กองสำคัญ เป็นเหตุแห่งราคะหรือโลภะและโทสะ ความหลงหรือโมหะคือ ความรู้สึกที่ไม่ถูก ความรู้สึกที่ไม่ชอบ ความรู้สึกที่ไม่ควร คนมีโมหะคือคนหลง ผู้มีความรู้สึกไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรทั้ง คือ คนมีโมหะ คือ คนหลง เช่น หลงตน หลงคน หลงอำนาจ เป็นต้น

    O ผู้มีโมหะมาก คือมีความหลงมาก
    มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร ในตน คน อำนาจ

    คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควร ในตนเอง คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นผู้มีความดี ความสามารถ ความพิเศษเหนือใครทั้งหลายเกินความจริง เป็นความรู้สึกในตนที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร

    เมื่อมีความรู้สึกอันเป็นโมหะความหลง ราคะหรือโลภะและ โทสะก็จะเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงตนว่าดีวิเศษเหนือคนทั้งหลาย ความโลภให้ได้มาซึ่งสิ้นอันสมควรแก่ความดีความวิเศษของตน ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้น ถูกเปรียบหรือถูกลบล้างย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

    ผู้หลงคนจะมีความรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ที่ตนหลง มีความสำคัญ มีความดีวิเศษเหนือคนอื่น เกิดความมุ่งหวังเกี่ยวกับความสำคัญความดีความวิเศษของคนนั้นคนนี้ ความมุ่งหวังนั้นเป็นโลภะ และเมื่อมีความหวังก็ย่อมมีได้ทั้งความสมหวังและความผิดหวังเป็นธรรมดา ความผิดหวังนั้นเป็นโทสะ

    ผู้หลงอำนาจเป็นผู้มีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในอำนาจที่ตนมี ผู้หลงอำนาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นยิ่งใหญ่ เหนืออำนาจทั้งหลายเกินความจริง เป็นความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร

    ผู้หลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย ย่อมเกิดความเห่อเหิมทะเยอทะยานในการใช้อำนาจนั้น ให้เกิดผลเสริมอำนาจของตนให้ยิ่งขึ้น ความรู้สึกนี้จัดเป็นโลภะ และแม้ไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน ความผิดหวังนั้นจักเป็นโทสะ

    O บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก มีจิตเศร้าหมองมาก

    ผู้มีโมหะมาก คือ มีความหลงมาก มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควรในตนในคน ในอำนาจ ย่อมปฎิบัติผิดได้มาก ก่อทุกข์โทษภัยให้เกิดได้มาก ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ทั้งแก่ส่วนน้อย และแก่ส่วนใหญ่ รวมถึงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

    บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมาก จะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อม แม้แต่ต่อผู้ควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความอ่อนน้อม บุคคลเหล่านี้เมื่อละโลกนี้ไปขณะที่ยังไม่ได้ละกิเลส คือ โมหะให้น้อย จิตย่อมเศร้าหมอง ย่อมไปสู่ทุคติ

    O ผลของกรรมที่เที่ยงแท้ หลังความตาย

    ทุคติของผู้หลงตนจนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อยอย่างยิ่ง คือ จะเกิดในตระกูลต่ำ ตรงกันข้ามกับผู้รู้จักอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้ความอ่อนน้อม ที่จะไปสู่สุคติ คือ จะเกิดในตระกูลสูง เป็นเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมที่เที่ยงแท้ ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ทำเช่นใดจักได้เช่นนั้น

    การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับการอ่อนน้อม เป็นกรรมไม่ดี การเกิดในตระกูลต่ำเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ ปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนน้อมจากคนทั้งหลาย ส่วนผู้ที่เกิดในตระกูลสูง ย่อมได้รับความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูลสูงมีปกติได้รับ นั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดี คือ ความอ่อนน้อม

    (มีต่อ ๒)


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 มีนาคม 2008
  2. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,129
    อนุโมทนา สาธุ..ดีแล้ว ชอบแล้ว

    เจ้าของกระทู้อ่านหรือยังจ๊ะ..เข้าใจหรือป่าวครับ
     
  3. siamgirl

    siamgirl เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2007
    โพสต์:
    1,682
    ค่าพลัง:
    +2,742
    xDDDD:555:อ่านเเล้วค่ะ
     
  4. โสภา จาเรือน

    โสภา จาเรือน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    2,013
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,332
    อนุโมทนาสาธุ

    ความตายจะไม่ใช่เรื่องน่าเสียดาย...
    ถ้าเธอปิดอบายเสียได้แต่บัดนี้...
     
  5. Khunkik

    Khunkik เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2006
    โพสต์:
    2,151
    ค่าพลัง:
    +18,075
    อ่านแล้วนึกถึง โลกธรรม ๘
     
  6. kittitpx

    kittitpx เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    570
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +1,999
    เป็นบทความที่ดีครับ
    (good)
     

แชร์หน้านี้

Loading...