ผมร่วง ปัญหาหนักใจที่ถ้ารู้สาเหตุ คุณก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย monkeydluffy, 26 มกราคม 2023.

  1. monkeydluffy

    monkeydluffy สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2022
    โพสต์:
    54
    ค่าพลัง:
    +1
    L4fHTf.jpg
    ในชีวิตประจำวันของเรา เส้นผมของเราจะร่วงประมาณ 30 - 70 เส้น เหมือนเทียบกับปริมาณเส้นผมทั้งหมดบนศีรษะของเรา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่เล็กน้อยมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้น เส้นผมกลับร่วงถี่ขึ้นและเกิดใหม่ก็ยิ่งน้อยลง ส่งผลให้เส้นผมมีความหนาแน่นน้อยลงเรื่อย ๆ จนทำให้เห็นลักษณะของผมบางหรือศีรษะล้านได้

    แต่ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะยังไม่ได้มีอายุมาก แต่ก็เกิดสภาวะนั้นเสียแล้ว ซึ่งนั่นเกิดจากการที่ผมร่วงเยอะมาก หรือ ผมร่วงหนักมาก เกินไป ซึ่ง ผมร่วง (Hair Loss) หมายถึง การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะหรือกับทุกส่วนในร่างกาย โดยในแต่ละรายอาจจะมีลักษณะความรุนแรงที่อาจแตกต่างกัน

    หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอปัญหาผมร่วง คุณจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจสาเหตุผมร่วงเสียก่อน ว่า ตัวเองนั้น เข้าข่ายใด เพื่อที่จะสามารถหาวิธีแก้ผมร่วงได้อย่างตรงจุด เพื่อให้การรักษาผมร่วงประสบผลสำเร็จ

    ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผมร่วง

    L4fvU8.png
    ผมร่วงเป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนแก้ไม่ตก เพราะไม่รู้ว่า มีสาเหตุมาจากอะไร หลาย ๆ เรื่องที่ได้ยินมาว่า หากทำเช่นนั้น ทำเช่นนี้จะทำให้ผมร่วง เราลองมาดูกันว่า เรื่องอะไรบ้างที่เราได้ยินมาบ่อย ๆ

    สวมหมวกทำให้ผมร่วงจริงไหม

    การสวมหมวกไม่สามารถทำให้ผมร่วงได้ หากแต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดผมร่วง กล่าวได้ว่า การสวมหมวกที่ไม่ถูกต้องเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดผมร่วง เช่น หากมีการสวมหมวกเป็นเวลานาน ก็จะทำให้หนังศีรษะและรากผมไม่มีอากาศหายใจ อาจจะเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค และแบคทีเรีย ทำให้เกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ ซึ่งทำให้เกิดอาการผมร่วงได้

    ดังนั้น เราจึงควรสวมหมวกให้ถูกวิธี ก็คือ สวมหมวกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยที่หมวกมีขนาดพอดีกับศีรษะ ไม่เล็กหรือคับจนเกินไป รวมถึงสามารถระบายอากาศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดหนังศีรษะอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกและอับชื้น เท่านี้ ก็จะช่วยลดอาการผมร่วงได้แล้ว

    การไหลเวียนโลหิตไม่ดี ทำให้ผมร่วงจริงไหม

    ไม่จริง เพราะการไหลเวียนโลหิตไม่ได้ทำให้เกิดอาการผมร่วง หากแต่เป็นเพราะเส้นเลือดฝอยที่มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถเข้าถึงรากผมได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น เมื่อรากผมไม่ได้รับออกซิเจนและเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลง ก็ส่งผลให้รากผมไม่แข็งแรง จึงเกิดอาการผมร่วงได้ และไม่เพียงเท่านี้ ยังส่งผลการงอกเส้นผมใหม่ก็ลดลงอีกด้วย

    สระผมบ่อยเกินไป ทำให้ผมร่วงไหม

    หากมีการสระผมทุกวัน นั่นไม่ใช่สาเหตุของการที่เกิดผมร่วงมาก เพราะโดยปกติ ในหนึ่งวัน ผมร่วงวันละ 30 - 70 เส้น แต่ถ้าหากผมร่วงเกิน 70 เส้นก็จะถือว่า ผิดปกติ แถมถ้าหากเราไม่ได้สระผมเป็นเวลานานแล้วกลับมาสระ ผมก็อาจจะร่วงมากถึง 200 เส้น เลยทีเดียว แต่นั่นก็ถือว่า วงจรปกติของเส้นผม

    เวลาที่เราสระผมก็มักจะมีผมร่วงลงมาอยู่แล้ว เพราะเมื่อผมเปียก ก็จะทำให้ผมอ่อนลงและมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ผมร่วงลงมา ดังนั้น ผมที่ร่วงลงในการสระแต่ละครั้งจึงเป็นผมในส่วนที่ต้องร่วงลงมาตามวงจรปกติอยู่แล้ว

    แพ้ยาสระผม ทำให้ผมร่วงจริงไหม

    โดยตามความเป็นจริง ยาสระผมที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น ไม่ได้มีสารเคมีที่รุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดอาการแพ้ แล้วเกิดอาการผมร่วง เพราะถ้าหากเกิดอาการแพ้ยาสระผมจริง ๆ จะต้องมีลักษณะหนังศีรษะเป็นขุย มีผื่นแดงขึ้น และจะทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ไม่ใช่ผมร่วงผมบางทั้งศีรษะอย่างแน่นอน

    แต่ทั้งนี้ การใช้ยาสระผมก็อาจจะทำให้เกิดอาการผมร่วงเยอะมากได้ สำหรับบางคน ด้วยยาสระผมที่ใช้อยู่อาจจะไม่เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ หรือบางคนอาจจะมีการทำสีผม โกรกผม ยืดผม เป็นต้น ทำให้หนังศีรษะมีสารเคมีบางประเภทอยู่แล้ว รวมถึงสภาพเส้นผมที่อ่อนแอ เมื่อมาเจอกับยาสระผมบางประเภทก็อาจจะทำให้เกิดอาการผมร่วงได้

    กินคีโตทำให้ผมร่วงไหม

    เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเฉพาะกรณีที่กินคีโตแบบหักดิบ คือ งดกินแป้งทั้งหมดตั้งแต่ครั้งแรก เป็นการทำให้ร่างกายได้คาร์โบไฮเดรตต่ำและไขมันสูงในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งคนที่ทำเช่นนี้ มีจำนวนมากถึง 30% ที่เจอเหตุการณ์ผมร่วง

    ด้วยร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียดในระดับเซลล์ จนเกิดอาการช็อก ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการผมร่วงได้ ดังนั้น จึงควรกินคีโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ ลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลลง จนกระทั่งงดไปในที่สุด ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้แล้ว

    ผงชูรสทำให้ผมร่วงไหม

    สำหรับเรื่องผงชูรส ยังไม่พบวิจัยใดในการยืนยันว่า การกินผงชูรสทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ แต่ในการกินอาหารรสจัดก็อาจจะเป็นสาเหตุในการเกิดผมร่วงได้ เพราะอาหารรสจัดนั้น จะทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นผมไม่ได้ดีมากพอ จึงอาจทำให้เกิดผมร่วงได้

    อีกส่วนหนึ่งก็คือ ผงชูรสจะทำให้ร่างกายเราคุ้นเคยกับโซเดียม ทำให้เมื่อทานอาหารที่มีผงชูรส จะทำให้เรากระหายน้ำมากกว่าปกติ เพราะร่างกายรู้สึกว่ารสชาติอาหารยังเค็มหรือรสจัดไม่มากพอ จึงทำให้เราปรุงรสชาติมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นจะทำให้เราเป็นโรคไตมากกว่าอาการผมร่วง

    ผมร่วง มีสาเหตุจากอะไรบ้าง


    L4fITP.png

    ทีนี้ เมื่อเราเข้าใจเรื่องราวที่ได้ยินมาแล้วว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริงไม่จริงบ้าง แล้วสาเหตุผมร่วงจริง ๆ แล้วเกิดจากอะไร ยิ่งบางคนที่ผมร่วงเยอะมาก จะมีวิธีแก้ผมร่วงหรือรักษาผมร่วงอย่างไร เราต้องมารู้สาเหตุว่า จริง ๆ แล้วผมร่วงเกิดจากอะไรกันแน่

    1. ผมร่วงจากฮอร์โมน

    โดยปกติ เพศชายจะผมร่วงมากกว่าเพศหญิง รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด มลภาวะต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยปกป้องเส้นผมไม่ให้หลุดร่วงทำงาน โดยฮอร์โมนหรือต่อมต่าง ๆ ที่ทำให้ผมร่วง มีดังนี้

    1. ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสทอสเตอโรน (Dihydrotestosterone หรือ DHT) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผมร่วง เพราะมันไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นผม ไม่ให้งอกใหม่ รวมถึงทำให้เส้นผมเก่าไม่ได้รับอาหารไปหล่อเลี้ยง จนทำให้ผมบางและร่วงในที่สุด วิธีป้องกันก็คือ การทานอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ทั้งผัก ผลไม้ และธัญพืชก็จะช่วยได้

    2. ต่อมไทรอยด์ฮอร์โมนก็มีส่วนทำให้ผมร่วง ผมบางได้เช่นกัน

    3. อินซูลิน เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะพบมากในเพศหญิง และเพศชายที่มี Hyperinsulinemia ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการผมร่วงได้ด้วยเช่นกัน

    4. เอสโตรเจน เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน เป็นสาเหตุผมร่วงที่พบได้ในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และวัยหมดประจำเดือน


    2. ผมร่วงกรรมพันธุ์


    กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด โดยพบจากคนที่มีพันธุกรรมผมบาง ศีรษะล้านในครอบครัว โดยพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ โดยจะพบในผู้ชายมากถึง 95%

    3. ผมร่วงเพราะขาดสารอาหาร

    อีกหนึ่งสาเหตุที่ขาดไม่ได้เลย คือ การขาดสารอาหาร หากถามว่า ผมร่วงขาดสารอาหารอะไร เราสามารถตอบได้ทันทีว่า เกิดจากการขาดสารอาหารจากโปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่น ๆ

    4. ผมร่วงจากความเครียด

    ความเครียดส่งผลต่อร่างกายมากกว่าที่คิด โดยสังเกตได้ง่ายจากอาการผมร่วง โดยอาจจะมีสาเหตุความเครียดมาจากสภาวะความเจ็บป่วย การผ่าตัด เรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ การทำงาน รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนดึก ก็ล้วนแต่ส่งผลให้ร่างกายทำงานไม่ปกติ

    นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้บางคนเลือกระบายอารมณ์ออกมา ด้วยการจิกทึ้ง หรือถอนผมตัวเอง จนทำให้เส้นผมอ่อนแอลง และเมื่อทำมาก ๆ ก็จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนกลายเป็นโรคดึงผม (Trichotillomania) ในที่สุด

    5. ผมร่วงจากโรคต่าง ๆ

    โรคภัยไข้เจ็บบางโรคก็อาจส่งผลให้เกิดผมร่วงได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัส และโรคลูปัสบางชนิด อาจทำให้ผมร่วงถาวรได้ เนื่องจากแผลเป็น หรือมีไข้สูง รวมถึงผลกระทบจากยาที่ใช้รักษา เช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

    6. ผมร่วงจากเคมี

    บางรายก็มีปัญหาผมร่วงจากการใช้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เช่น แชมพู ครีมนวด ผลิตภัณฑ์อาหารผม รวมไปถึงแฟชั่นการทำสีผม การดัดผม และการจัดทรงที่มีส่วนผสมของสารเคมีสังเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยช่วยเพิ่มโอกาสให้เส้นผมเปราะบาง ทั้งยังส่งผลให้หนังศีรษะอักเสบ จนเซลล์รากผมอ่อนแอ และเกิดผมร่วงในที่สุด

    7. ผมร่วงหลังคลอด

    ผู้หญิงอาจจะต้องเจอกับปัญหาผมร่วงหลังคลอดบุตร เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงจนกว่าเดิม จึงส่งผลให้ผมไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม และทำให้ผมร่วงได้

    8. ผมร่วงหลังผ่าตัด

    หลังจากการผ่าตัด 3 – 4 เดือน ก็อาจจะเกิดผมร่วงได้ ด้วยสาเหตุจากความเครียดและผลข้างเคียงจากยาสลบที่ใช้ ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดมไอระเหย และรูปแบบฉีดเลย

    9. ผมร่วงจากพฤติกรรมประจำวัน

    การใช้ชีวิตประจำวันของเราก็อาจส่งผลให้เกิดผมร่วงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาบางชนิด กินอาหารไม่มีประโยชน์ ลดน้ำหนักผิดวิธี การใช้สารเคมี สีสังเคราะห์ การนอนน้อยหรือนอนดึก การสระผมก่อนเข้านอน การหวีผมแรงขณะผมเปียก การรวบผมแน่น ๆ เป็นต้น

    ผมร่วงรักษาอย่างไร


    L4hS8v.png
    หากคุณกำลังมองหาวิธีแก้ผมร่วง โดยเรามีวิธีมาให้คุณเลือก 2 ทาง คือ การรักษาผมร่วงด้วยตนเอง และการรักษาผมร่วงด้วยวิธีทางการแพทย์ แต่ละวิธีมีรายละเอียดอย่างไร ลองมาดูกัน

    แก้ผมร่วงด้วยตนเอง

    สำหรับการรักษาผมร่วงด้วยตนเอง สามารถทำได้เองง่าย ๆ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมบางอย่างเท่านั้นเอง เพียงไม่กี่สัปดาห์ อาการผมร่วงก็จะลดลงและผมสะอาดขึ้น

    • ลดอาหารที่มีผงชูรส ของทอด ของมัน อาหารรสจัด
    • เลือกใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติหรือสมุนไพร
    • ใช้สมุนไพรหมักผม เพื่อบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ
    • ใช้อุณหภูมิน้ำที่ไม่ร้อนเกินไปในการสระผม
    • ใช้แปรงนวดศีรษะ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนศีรษะ
    • ทานอาหารที่ประโยชน์ เลือกอาหารประเภทที่อุดมด้วยวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และโอเมก้า 3 ซึ่งพบได้ในปลาแซลมอน อะโวคาโด กล้วยหอม ผักใบเขียว และธัญพืชต่าง ๆ
    • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
    • ไม่มัดผมแน่น หรือหวีผมบ่อยจนเกินไป
    • ลดความเครียด ใส่ใจสุขภาพจิตของตัวเอง ผ่อนคลาย
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก นอนน้อย หรืออดนอน
    • หลีกเลี่ยงไม่ให้เส้นผมปะทะแสงแดด เพราะรังสียูวีจะไปทำลายสารเคลือบผม ลดความชุ่มชื้น จนทำให้ผมแห้งกรอบ เปราะหัก หลุดร่วงได้ง่าย
    แก้ผมร่วงด้วยวิธีทางการแพทย์

    และเราสามารถเลือกรักษาผมร่วงได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ในอีกทางเลือกหนึ่ง โดยในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้
    • การใช้ยาหรือแชมพูกำจัดเชื้อรา
    • ทานยาแก้ผมร่วง เพื่อรักษาอาการผมร่วงในระยะยาว
    • การปลูกผม โดยการนำเส้นผมจากด้านหลังและด้านข้างของศีรษะ มาปลูกบนบริเวณที่ศีรษะล้าน
    • การฉายแสงที่เรียกว่า Laser Hair Therapy เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดใต้ชั้นผิวหนังศีรษะให้ดีขึ้น
    • การทำ PRP ผม เป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น เพื่อเพิ่มอาหารผม ทำให้ผมงอกได้ดีขึ้น
    • การใช้เลเซอร์รักษาผมร่วง (Fotona Laser, LLLT) เพื่อกระตุ้นการทำงานให้เส้นผมและหนังศีรษะทำงานได้ดีขึ้น
    • การปลูกผมด้วยวิธีปลูกผมแบบ FUT (Follicular unit transplantation) ทำให้มีแผลเป็นบริเวณจุดที่ถูกตัดหนังศีรษะออก ด้านหลังที่มีรากผมแข็งแรงออกมา และแยกเฉพาะรากผมที่ต้องการไปปลูกในบริเวณที่ผมบาง ศีรษะล้าน
    • การปลูกผมด้วยวิธีปลูกผมแบบ FUE (Follicular unit extraction) เจาะเอาเซลล์รากผมจากหนังศีรษะบริเวณที่ผมหนาแน่นทีละกราฟต์
    สรุปเรื่องผมร่วง

    L4kZXl.png
    ผมร่วงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยหนึ่งเป็นเพราะวงจรปกติของเส้นผม รวมถึงสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เข้ามามีปัจจัยกระตุ้นให้ผมร่วงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ปัญหาทางด้านสุขภาพ รวมถึงหน้าที่การงานที่ทำให้เราต้องเจอสารเคมีอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาผมร่วงก็สามารถรักษาได้ ไม่ว่าจะรักษาผมร่วงด้วยตนเองหรือใช้วิธีทางการแพทย์ดูแล แต่ทั้งนี้ เมื่อได้รับการรักษาแล้ว คุณก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาประสบผลมากที่สุด
     

แชร์หน้านี้

Loading...