ผลิตสื่อสอนธรรมะพันล้านคุ้มค่าหรือ?

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อธิมุตโต, 14 สิงหาคม 2007.

  1. อธิมุตโต

    อธิมุตโต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    4,741
    ค่าพลัง:
    +13,087
    ผลิตสื่อสอนธรรมะพันล้านคุ้มค่าหรือ?


    [​IMG]

    คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือหลักคำสอนที่ชาวพุทธถือเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ตามพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระอานนท์ที่ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ให้ถือพระธรรมและพระวินัยที่แสดงไว้ และบัญญัติไว้เป็นตัวแทนนั้น แบ่งออกเป็น 3 ปิฎกหรือ 3 ตะกร้า คือ

    1. พระวินัยปิฎก อันเป็นคำสอนที่ว่าด้วยข้อห้าม และข้ออนุญาตสำหรับภิกษุและภิกษุณีถือปฏิบัติ

    2. พระสุตตันตปิฎก คือคำสอนที่เทศนาโดยบุคลาธิษฐาน คือยกบุคคลขึ้นมาแสดงเป็นหลัก

    3. อภิธรรมปิฎก คือคำสอนที่แสดงโดยยึดหลักธรรมขั้นสูงหรือความจริงในขั้นปรมัตถ์ ไม่มีบุคคลตัวตนเราเขามาเกี่ยวข้อง ได้ตรัสเกี่ยวกับสภาวธรรมตามจริงล้วนๆ

    ในปัจจุบันคำสอนทั้ง 3 ปิฎกนี้มีการแปลจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย และพิมพ์ออกเผยแผ่แล้วหลายครั้ง รวมไปถึงการนำออกเผยแผ่ทางอินเทอร์เน็ตด้วย

    ดังนั้นถ้าผู้ใดสนใจจะศึกษาใฝ่หาความรู้ก็คงไม่ยากที่จะหามาอ่าน และที่ยิ่งกว่านี้ในประเทศไทยการศึกษาของสงฆ์ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมมากมาย ทั้งในส่วนที่เป็นพระสงฆ์ และเป็นฆราวาสได้มีการศึกษาค้นคว้าคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งในส่วนที่เป็นบาลี อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และชั้นเกจิอาจารย์ พิมพ์ออกเผยแผ่อย่างดาษดื่น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนไทยอยู่ไม่น้อยที่ไม่เข้าใจ และไม่สนใจจะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งมีผู้สอนก็ไม่สนใจ

    อะไรทำให้คนไทยไม่สนใจพุทธศาสนา และควรจะแก้ไขอย่างไร?

    เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจจะเรียนรู้ และที่เป็นผู้รู้แล้วอยากให้คนอื่นรู้ตามได้มองเห็นปัญหานี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนในฐานะคนที่เคยอยู่ในวงการพุทธศาสนามาระยะหนึ่ง และในปัจจุบันนี้ก็มีส่วนในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ในฐานะคนทำสื่อ ใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูวงการสงฆ์ และวงการฆราวาสที่เป็นชาวพุทธ ก็พอจะพบเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

    1. ในปัจจุบันวัตถุนิยมได้เข้ามาครอบงำผู้คนในสังคม และทำให้การแสวงหาความสุขทางด้านจิตใจที่เคยมีมาในยุคก่อนด้อยค่าลง

    2. บทบาทของพระสงฆ์ที่มีต่อผู้คนในสังคมในฐานะผู้ให้น้อยลง และบทบาทในฐานะผู้รับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้จากศาสนา

    ยิ่งพฤติกรรมของพระสงฆ์ในปัจจุบันย่อหย่อนในเรื่องของวัตรปฏิบัติที่นักบวชในพุทธศาสนาควรจะมีควรจะเป็น จึงทำให้ศรัทธาของผู้คนเสื่อมถอยลง

    3. การศึกษาในทางโลกก้าวหน้า และมีบทบาทต่อสังคมเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ในขณะเดียวกัน การศึกษาของพระสงฆ์ล้าหลังในด้านต่างๆ ที่พระภิกษุควรจะเรียนรู้ และนำไปเป็นองค์ประกอบในการสอน

    จริงอยู่ถึงแม้ประเทศไทยจะมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ถึง 2 แห่ง แต่จะต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาของสงฆ์ที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับทางฝ่ายบ้านเมืองแล้วก็ถือได้ว่ายังด้อยกว่า

    ด้วยเหตุ 3 ประการที่ว่านี้เอง ผู้คนในสังคมไทยจึงเหินห่างพุทธศาสนามากกว่าแต่ก่อน และนี่เองน่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้หวังดี และอยากเห็นพุทธศาสนาเจริญงอกงาม และมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมไทยเหมือนก่อน จึงได้พยายามจะฟื้นฟูกิจการของพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติด้วย

    ยิ่งกว่านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่าทางมหาเถรสมาคมได้ดำริให้มีการสร้างภาพยนตร์พระไตรปิฎก โดยทุ่มเงินลงทุนสร้างถึง 1,200 ล้านบาท และจะแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ นัยว่าเพื่อจูงใจให้คนไทยนับถือพุทธศาสนามากขึ้น

    ในวันที่ได้ฟังข่าวนี้ ผู้เขียนในฐานะคนทำสื่อ และพอจะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่ออยู่บ้าง จึงได้นำเรื่องนี้มาศึกษาทบทวนก็พบว่า ถึงแม้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือได้ว่าเกิดจากกุศลจิตที่ต้องการให้คำสอนของพุทธองค์แทรกซึมเข้าสู่จิตใจของชาวพุทธมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

    แต่เมื่อดูลงลึกไปถึงวิธีการอันเป็นผลของการแสดงเจตนา ก็ค่อนข้างวิตกกังวลใน 2 ประเด็นดังต่อไปนี้

    1. เนื้อหาในพระไตรปิฎกมีทั้งที่ทรงแสดงไว้ในรูปของบุคลาธิษฐาน และธรรมาธิษฐาน จึงมีปัญหาว่าจะนำเสนอในรูปของภาพยนตร์อย่างไรให้ครอบคลุมทั้ง 2 ด้านได้อย่างสมบูรณ์

    2. คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้โดยใช้เวลา 45 พรรษา ถือได้ว่ามีมากมายเหลือคณานับเกินกว่าที่จะนำมาสรุปนำเสนอด้วยภาพยนตร์ความยาว 250 ตอนได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

    3. พระพุทธองค์มีพุทธจริยวัตรเพียบพร้อมด้วยวิชาและจรณะคือมีทั้งความรู้และความประพฤติล้ำเลิศควรค่าแก่การเป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ดังนั้นผู้ที่จะมาแสดงแทนถ้ามีความด้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจรณะหรือความประพฤติในสายตาของผู้คนในสังคม ก็ยากที่จะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของผู้รู้และเข้าใจในเรื่องพุทธลักษณะ และถ้าหาไม่ได้ก็จะทำให้บทบาทของความเป็นพุทธขาดหายไป และอาจทำให้เกิดผลในทางลบต่อภาพยนตร์ได้

    ด้วยเหตุ 3 ประการนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้สร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเถรสมาคมจะต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะนั่นหมายถึงความคุ้มค่า หรือไม่ต่อการลงทุนเมื่อเทียบกับเงิน 1,200 ล้านบาทกับผลที่ได้เพราะจะต้องไม่ลืมว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทำได้หลายวิธีด้วยเงินเท่าที่ลงไป

    ดังนั้นควรอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงต้นทุน โอกาส โดยใช้เงิน 1,200 ล้านบาทเป็นตัวตั้งในการเปรียบเทียบกับกิจกรรมดังต่อไปนี้

    1. ให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ศึกษาอยู่ใน 2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ และกำหนดเงื่อนไขในการรับทุนให้ทำการศึกษาค้นคว้าในแต่ละหมวดคำสอนแล้วนำออกเผยแผ่

    2. จัดประกวดแต่งหนังสือหลักสูตรสอนพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา และนำหนังสือที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นหลักสูตรในการสอนแต่ละระดับ

    3. ให้ทุนในการค้นคว้าวิจัยพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้คนต่างประเทศหันมาสนใจพุทธศาสนา เป็นการช่วยวัดไทยในต่างแดนเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกทอดหนึ่ง

    4. ให้ทุนคนต่างประเทศมาศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทยในมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง และให้กลับไปสอนในประเทศของตน
     
  2. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439

แชร์หน้านี้

Loading...