พระกรรมฐาน ๔๐ โดยพระครูธรรมธรเล็ก

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย first, 10 กรกฎาคม 2007.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    -ท่านอาจารย์ปรารภให้นำพระกรรมฐาน ๔๐ ที่ได้รับการตรวจแก้ ให้ถูกต้องทั้งอรรถและพยัญชนะมารวบรวมไว้ในเว็บพลังจิตเพื่อจะได้ เป็นแนวทางในการศึกษาพระกรรมฐาน
    -ขออนุโมทนาในการตรวจแก้ไขโดยท่านอาจารย์ พี่เล็กพริกขี้หนูและพี่ ๆ ทุกท่านที่เคยถอดเทปเสียงมาก่อนหน้านี้ทุกครั้ง จะได้นำมาลงให้อ่านเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติต่อไปครับ


    ๑. อานาปานสติ อสุภกรรมฐาน พรหมวิหาร ๔

    ขอให้ทุกคนนั่งตัวตรงสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งหมด หุบปากสนิท ลิ้นแตะเพดานไว้นิดหนึ่ง หลับตาเบา ๆ เหมือนกับเรามองย้อนเข้าไปในตัวเอง คือมองขึ้นไปบนศีรษะจนกระทั่งมันโค้งลงไปในอก ลงไปอยู่ในท้อง

    หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึกว่า โธ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ตามไปกับลมหายใจเข้าออก

    หายใจเข้า รู้อยู่ว่าหายใจเข้า พร้อมกับคำภาวนา หายใจออก รู้อยู่ว่าหายใจออก พร้อมกับคำภาวนา จะใช้คำภาวนาว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่เราชอบ ให้ความรู้สึกทั้งหมดคือจิตของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น

    ถ้ามันคิดถึงเรื่องอื่น นอกเหนือจากลมหายใจเข้าออก นอกเหนือจากคำภาวนาเมื่อไร ดึงมันกลับเข้ามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำภาวนาเมื่อนั้น รู้ตัวเมื่อไรดึงมันกลับมา ทำให้เคยชินไว้ นานไปมันก็จะทรงตัวได้เอง

    คราวนี้กำหนดนึกถึง ภาพพระพุทธรูปที่เรารักเราชอบ จะเป็นแบบพระสงฆ์ แบบพระพุทธ แบบพระวิสุทธิเทพ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อยู่ตรงที่สุดของลมหายใจ คือแถว ๆ สะดือ หายใจลงไปสุดตรงไหนก็ตรงนั้นแหละ เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ใสสว่างอยู่ในนั้น

    หายใจเข้า พระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจออกพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจเข้า ภาพพระก็สว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระก็สว่างขึ้น จนกระทั่งความสว่างของพระนั้นกลบกลืนเราไปด้วย ตัวเราสว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระ

    หายใจเข้า พระสว่างขึ้นตัวเราสว่างขึ้น หายใจออก พระสว่างขึ้นตัวเราสว่างขึ้น กำหนดใจให้นิ่งอยู่ตรงนี้ครู่หนึ่ง คราวนี้เมื่อหายใจเข้าพระสว่างขึ้น หายใจออกให้พระไหลตามลมหายใจของเราออกมา แต่ไม่ได้มาที่ปลายจมูก ให้ท่านขึ้นไปอยู่บนศีรษะของเราเลย

    ภาพพระจะขยายใหญ่ขึ้น อยู่บนศีรษะของเรา หายใจเข้าภาพพระเล็กลง ลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระเล็กลง แต่ยังคงสว่างไสวเป็นปกติ ลงไปอยู่ในท้อง หายใจออกภาพพระขยายใหญ่ขึ้น ไปสว่างสดใสอยู่บนศีรษะของเรา

    กำหนดความรู้สึกเท่านั้น เป็นความรู้สึกไม่ใช่ตาเห็น ขอให้เรามั่นใจว่ามีพระอยู่กับเรา จะเห็นชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ตาม เอาแค่ความมั่นใจที่สัมผัสได้เท่านั้น หายใจเข้าภาพพระไหลลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระลอยขึ้นไปอยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระเล็กลง หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น

    คราวนี้ให้ทุกคนกำหนดภาพพระให้นิ่งอยู่บนเหนือศีรษะ น้อมจิตน้อมใจกราบลงตรงนั้น ตั้งใจว่านั่นคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กำลังมาโปรดเราอยู่ เราต้องมีความดีพอเพียง พระองค์ท่านถึงเสด็จมาโปรดเรา มาสงเคราะห์เรา

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหนนอกจากอยู่บนพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน

    จากนั้นกำหนดใจคิดต่อจากที่เคยสอนวันก่อน วันก่อนนั้น เราดูว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยงอย่างไร มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด

    ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์

    วันก่อนเราพิจารณาแล้วว่ามันไม่เที่ยงจริง ๆ เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนชรา ในที่สุดก็ตายไป อาจจะตายตั้งแต่ตอนเด็กก็ได้ ตอนหนุ่มตอนสาวก็ได้ ตอนชราก็ได้

    แล้วมันยังมีแต่ความทุกข์ยากอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเจ็บป่วย หนาวร้อน หิวกระหาย ร่างกายสกปรก ต้องคอยดูแลมันอยู่ต้องทำหน้าที่การงาน บริหารตัวเอง บริหารหมู่คณะ ต้องกระทบกระทั่งกับผู้ร่วมงาน ทั้งหมดนี้มีแต่ความทุกข์
    คราวนี้เรามาดูจุดสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

    “ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา” ต้องพยายามทบทวนจุดนี้บ่อย ๆ ให้มากไว้ เพื่อสภาพจิตจะได้ยอมรับว่า มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราจริง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ร่างกายเรานี้ประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ คือ มหาภูตรูป ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    ส่วนที่แข็ง เป็นแท่งเป็นก้อน เป็นชิ้นเป็นอัน จับได้ต้องได้ เรียกว่าธาตุดิน นึกตามไป ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก อวัยวะภายในทั้งหลายอย่างปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก เหล่านี้เป็นต้น พวกนี้เป็นธาตุดินแยกมันไว้ส่วนหนึ่ง

    <O:p
    ส่วนที่ไหลไปมาในร่างกายของเรา เรียกว่าธาตุน้ำ มี เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี ปัสสาวะ เหงื่อ ไขมันเหลว แยกมันไว้อีกส่วนหนึ่ง

    <O:p
    ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา เรียกว่าธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้อง ในไส้ ในกระเพาะ เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย เรียกว่าความดันโลหิต เหล่านี้แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

    <O:p
    ความอบอุ่นที่มีอยู่ในร่างกาย เรียกว่าธาตุไฟ ได้แก่ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ที่สันดาปช่วยย่อยอาหาร ที่ให้ความอบอุ่นไปทั่วร่างกายของเรา แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

    <O:p
    ส่วนแรกเป็นธาตุดิน กองมันไว้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอกทั้งหลายทั้งปวง
    <O:p
    ส่วนที่สองคือธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ปัสสาวะ ไขมันเหลว แยกไว้อีกกองหนึ่ง

    <O:p
    ส่วนที่เป็นธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้องในไส้ ลมที่พัดไปเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

    <O:p
    ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย เป็นธาตุไฟ คือ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ไฟธาตุที่ช่วยสันดาปย่อยอาหาร แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

    <O:p
    นี่คือดิน นี่คือน้ำ นี่คือลม นี่คือไฟ แล้วตัวเราของเราอยู่ที่ไหน เมื่อเอาดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้มาประกอบกันเข้า มีปัญจสาขา คือ หนึ่งศีรษะ สองแขน สองขา จิตคือตัวเรามาอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ตามบุญตามกรรมที่เราสร้างมา เราก็ไปยึดไว้ นี่ตัวกู นี่ของกู

    <O:p
    แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นแค่เปลือก เหมือนกับเปลือกหอย เหมือนกับกระดองเต่า เหมือนกับรถยนต์ เปลือกหอยกับกระดองเต่านั้น เป็นคนละเรื่องกับตัวหอยหรือตัวเต่า รถยนต์นั้นเป็นคนละเรื่องกับคนขับรถ

    <O:p
    ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ามันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนเป็นสัตว์ ล้วนแล้วแต่เกิดจากธาตุ ๔ นี้ทั้งสิ้น ประกอบไปด้วย ปัญจสาขา หนึ่งศีรษะ สองแขน สองขา ประกอบไปด้วยทวารทั้ง ๙ ที่มีแต่ความสกปรกหลั่งไหลออกมาเป็นปรกติ

    <O:p
    ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งบกพร่อง มันก็เจ็บ มันก็ป่วย ถ้าหากว่าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปเลย มันก็ตาย ถ้าธาตุลมขาดไป ธาตุไฟก็ดับ เมื่อไม่มีธาตุไฟคอยควบคุม คอยเผาผลาญไว้ ธาตุน้ำก็ล้นเกิน ดันธาตุดินที่เป็นส่วนใหญ่ของร่างกายอืดพองขึ้นมา

    <O:p
    ผ่านกาลเวลานานเข้า ธาตุน้ำยิ่งล้นเกินมากเข้า ร่างกายก็ปริก็แตก มีแต่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลโทรมไปทั้งกาย สัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนกแร้ง นกตะกรุม สุนัข เหี้ย ตะกวดทั้งหลาย ก็มาฉีกมาทึ้ง มาดึงมาลาก เอาไปกินเป็นอาหาร

    <O:p
    ตับไต ไส้ ปอด เนื้อหนังมังสา โดนทึ้งกระจัดกระจาย ส่งกลิ่นเหม็นตลบไปไกล หลาย ๆ ร้อยเมตร นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของเรา นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของคนที่เรารัก นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดูมันไว้ให้ชัดเจน

    <O:p
    พอถูกฉีกถูกทึ้ง ถูกดึงถูกลาก เนื้อหนังมังสา หมดไปแล้ว โครงกระดูกอาจจะยัง ควบกันอยู่เพราะเส้นเอ็นยังมี เมื่อผ่านการชะของฝน ผ่านการเผาของแดด ผ่านการพัดโกรกของลม เส้นเอ็นก็ค่อย ๆ เปื่อยสลายไป

    <O:p
    โครงกระดูกก็หลุดลุ่ยกระจัดกระจาย กะโหลกศีรษะกระเด็นไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระดูกกรามล่างไปทางหนึ่ง กระดูกคอที่เป็นข้อ ๆ ไปทางหนึ่ง กระดูกไหปลาร้าที่เหมือนกับสามเหลี่ยมสองอันมาชนกันไปทางหนึ่ง

    <O:p
    กระดูกหัวไหล่ กระดูกต้นแขน กระดูกข้อศอก กระดูกปลายแขน กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ ตลอดจนเล็บมือ กระจัดกระจายไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังที่เป็นข้อ ๆ มีกระดูกซี่โครงยึดโยงอยู่กับกระดูกหน้าอก ก็หลุดเป็นข้อ ๆ หลุดเป็นวง ๆ กลิ้งเกลื่อนไป

    <O:p
    กระดูกบั้นเอวที่เป็นข้อ ๆ สำหรับก้มได้เงยได้ มีทั้งข้อต่อกระดูกและหมอนรองกระดูก ก็หลุดลุ่ยไปเป็นชิ้น ๆ กระดูกเชิงกราน หรือส่วนที่เราใช้นั่ง โค้ง ๆ เว้า ๆ มีช่องว่างอยู่ตรงกลาง กระเด็นไปทางหนึ่ง กระดูกก้นกบที่เป็นปลายแหลม ๆ เป็นชิ้น ๆ กระเด็นไปทางหนึ่ง

    <O:p
    กระดูกต้นขา กระดูกท่อนขา กระดูกหัวเข่า กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า กระดูกฝ่าเท้า กระดูกส้นเท้า กระดูกนิ้วเท้า ตลอดจนเล็บเท้าทั้งปวง หลุดลุ่ยกระจัดกระจาย ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นรูปร่างอีกเลย

    <O:p
    ลองดูย้อนกลับมาอีกทีหนึ่ง จากเล็บเท้า นิ้วเท้า ฝ่าเท้า ข้อเท้า ส้นเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า ต้นขา โคนขา เชิงกราน ก้นกบ บั้นเอว สันหลัง หน้าอก ซี่โครง ไหปลาร้า หัวไหล่ ต้นแขน ข้อศอก ปลายแขน ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ เล็บมือ ต้นคอ กรามล่าง ฟัน กะโหลกศีรษะ

    <O:p
    ประกอบขึ้นมาเป็นตัวใหม่ แล้วปล่อยมันสลายลงไป สลายลงไปแล้ว ประกอบขึ้นมาเป็นตัวใหม่ จากนั้นปล่อยมันสลายลงไปอีก ดูมันอยู่อย่างนี้ให้เห็นจริงว่า นี่คือสภาพที่แท้จริงของร่างกายของเรา

    <O:p
    สภาพที่แท้จริงของความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความเป็นคน ความเป็นสัตว์ มันเหมือนกันทั้งสิ้น คือเป็นเพียงธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราว ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพัง คืนให้แก่โลกไปตามเดิม

    <O:p
    ระหว่างที่อาศัยมันอยู่ก็มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์ ในที่สุดมันก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย จากกระดูกใหม่ ๆ สีขาว ผ่านการเผาของแดด ผ่านการพัดโกรกของลม ผ่านการชะของฝน ก็ค่อย ๆ เก่าลง ๆ

    <O:p
    ในที่สุดก็เปื่อยสลาย กลายเป็นฝุ่น จมลงดินไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี ตัวเรา ตัวเขา คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของ บ้าน เรือนโรง ภูเขา ป่าไม้ อะไรก็ตาม ไม่มีเหลืออยู่เลย แม้แต่นิดเดียวก็ไม่มี สลายทั้งหมด ตายทั้งหมด พังทั้งหมด คงอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นอย่างนี้ ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นอย่างนี้

    <O:p
    ดังนั้น เราควรจะไปอยู่ที่ไหน ถึงจะพ้นจากความทุกข์นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านค้นพบว่า มีสถานที่ที่เป็นเอกกันตบรมสุข เป็นสถานที่ที่หลุดพ้น ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องทุกข์อีก นั่นคือ พระนิพพาน

    <O:p
    ให้ทุกคนเอากำลังใจ เกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครยกจิตขึ้นพระนิพพานได้ ขึ้นไปกราบพระพุทธเจ้าบนนั้น ตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าเราตาย เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียว เอาใจจดจ่ออยู่เบื้องพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    <O:p
    ถ้ามันยังหายใจอยู่ กำหนดรู้ว่ามันหายใจอยู่ ถ้ามันไม่หายใจ กำหนดรู้ว่ามันไม่หายใจ ถ้ามันภาวนาอยู่ กำหนดรู้ว่ามันภาวนาอยู่ ถ้ามันไม่ภาวนา กำหนดรู้ว่ามันไม่ภาวนา เอาจิตจดจ่อมั่นคง อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานนั้น

    <O:p
    ตั้งใจแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น เราปรารถนาความสุขอย่างไร เขาทั้งหลายก็ปรารถนาความสุขอย่างนั้น เราปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อย่างไร เขาก็ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อย่างนั้น
    <O:p
    กำหนดภาพพระพุทธเจ้าให้สว่างไสว แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ คิดว่านั่นคือความ เมตตาจากเรา ที่ส่งไปสู่สรรพสัตว์โดยทั่วหน้า กำหนดใจสบาย ๆ คิดง่าย ๆ ว่า

    <O:p
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตกล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด...”

    <O:p
    กำหนดความสว่างแผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ เต็มทั้งสถานที่นี้ วัดนี้ บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้ จังหวัดนี้ กว้างออกไปทุกที ๆ กำหนดใจคิดว่า

    <O:p
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอง เดือดร้อน ลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใด ๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”

    <O:p
    กำหนดใจแผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ ครอบคลุมไปทั้งประเทศ ครอบคลุมไปทั้งโลก ครอบคลุมไปทั้งจักรวาล โลกเราเหมือนกับอะไรเล็ก ๆ นิดเดียวอยู่ใต้ร่างกายของเรา ตัวเราที่เป็นเครื่องส่งผ่านของพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้ตัวเราใหญ่โตเต็มไปทั้งแผ่นดินแผ่นฟ้า มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรา ตั้งใจว่า

    <O:p
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด...”

    <O:p
    กำหนดใจกว้างออกไป กว้างออกไป ไปถึงทุกจักรวาล ไปทุกดวงดาว ไปทุกภพทุกภูมิ ตั้งแต่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม จนกระทั่งพระทั้งหมดบนพระนิพพาน พระเมตตาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแผ่ไปถึงท่านทั้ง หลายเหล่านั้น ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งใจว่า

    <O:p
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอท่านทั้งหลายเหล่านั้นพึงเสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตนให้พ้นทุกข์ เพื่อยังโลกทั้งหลายไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ด้วยเถิด...”

    <O:p
    ตอนนี้ตัวเรากลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระนิพพาน ตั้งใจว่า วันนี้ถ้าถึงอายุขัยตายไป เราก็ขออยู่ ณ สถานที่นี้ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ คือพระนิพพาน

    <O:p
    ตั้งใจว่า ในวันนี้ เราจะประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม ถ้าเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตลง เราขอมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ คือพระนิพพาน กำหนดใจสบาย ๆ เอาไว้ตรงจุดนี้

    ตั้งใจว่า ผลานิสงส์ที่ได้จากการเจริญกรรมฐานก็ดี จากการสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ดี ลูกตั้งความปรารถนาไว้หนึ่งเดียวคือ พระนิพพานนี้ อย่าลืมแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเกาะไว้ตลอดเวลา แม้จะทำอะไรก็ตาม อย่าทิ้งความรู้สึกจากพระ อย่าทิ้งความรู้สึกจากพระนิพพาน

    <O:p
    แล้วค่อย ๆ คลายสมาธิออกมา โดยกำหนดสติรู้อยู่ตลอดเวลา แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งสัก ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์ นึกถึงภาพพระ นึกถึงพระนิพพานไว้ดังนี้ อีก ๗๐ - ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะทำหน้าที่ของเราคือ สวดมนต์ - ทำวัตร ต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p</O:p
    วันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๖
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  2. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๒. อานาปานสติ พุทธานุสติ

    ทุกคนนั่งในท่าสบายของตัว นั่งตัวตรงๆ บาลีบอกว่า “อุชุง กายัง” ตั้งกายให้ตรง แต่ไม่ใช่เกร็งร่างกาย เป็นการนั่งตัวตรงตามสบายๆ อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่าไปเกร็ง อย่าไปฝืนมัน ปิดปากลงเบาๆ ปลายลิ้นแตะเพดานไว้ แตะไม่ใช่กด

    หลับตาลง เหมือนกับเรานึกย้อนเข้าไปในกะโหลกศีรษะของเรา จนกระทั่งมันค่อย ๆ ไหลลงไปในอก ลงไปสุดที่ท้อง กำหนดความรู้สึกทั้งหมด อยู่ที่สุดของลมหายใจที่ท้อง หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หรือ ใช้คำภาวนาใดก็ได้ที่เราถนัด ที่แนะนำให้ใช้พุทโธ เพราะว่าสั้นดี สามารถจับคำภาวนาได้ง่าย <O:p

    กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก การกำหนดลมหายใจนั้น ไม่ใช่การบังคับลมหายใจ เป็นการกำหนดความรู้สึกตามลมหายใจเข้าไป

    ร่างกายมันต้องการลมหายใจแรงก็ดี ต้องการเบาก็ดี ต้องการยาวก็ดี ต้องการสั้นก็ดี เราแค่กำหนดรู้เท่านั้น เอาความรู้สึกทั้งหมดของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ถ้ามันส่งไปที่อื่น ไปนึกถึงเรื่องอื่น ให้ดึงมันกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกใหม่

    พอมันเคลื่อนไปเราก็ดึงมันกลับมา พอมันเคลื่อนไปเราก็ดึงมันกลับมา เมื่อทำไปนานๆ ความคล่องตัวมีมากขึ้น อารมณ์ใจเริ่มทรงตัว แค่นึกเท่านั้น ความรู้สึกทั้งหมดก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าออกทันที

    ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นพื้นฐานใหญ่ของกรรมฐานทั้งปวง ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก สติจะไม่ตั้งมั่นทรงตัว สมาธิจะเกิดได้ยาก ดังนั้น การปฏิบัติในทุกวัน เราทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่

    คราวนี้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไว้ที่จุดสุดของลมหายใจ คือไว้ที่ท้อง มันจะเป็นฐานที่ ๓ ฐานที่ ๗ อย่างไรแล้วแต่เราถนัด ให้รู้ว่าลมหายใจมันลงไปสุดตรงนั้น <O:p

    จากนั้น นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพระปางอะไรก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรก็ได้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้ ในลักษณะพระวิสุทธิเทพก็ได้ เอาภาพพระนั้นไว้ตรงที่สุดของลมหายใจ<O:p

    เมื่อหายใจเข้า ให้ไปสุดที่พระพุทธรูป เมื่อหายใจออก พระพุทธรูปไหลตามลมหายใจออกมา หายใจเข้าพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ใสสว่าง ไหลตามลมเข้าไป ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกภาพพระพุทธรูป ไหลออกจากท้องผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก หายใจเข้าภาพพระไหลเข้า สว่างไสวอยู่ในท้อง หายใจออกภาพพระไหลออก สว่างไสวอยู่ที่ปลายจมูก ทำอย่างนี้ให้ได้ระยะหนึ่ง<O:p

    แล้วกำหนดใจให้นิ่งอยู่ที่ภาพพระซึ่งอยู่ในท้อง หายใจเข้าพระก็สว่างขึ้น หายใจออกพระก็สว่างขึ้น หายใจเข้าพระก็สว่างขึ้น หายใจออกพระก็สว่างขึ้น ให้อยู่นิ่งอยู่ที่ท้อง กำหนดความรู้สึกหยุดอยู่ที่ท้องแห่งเดียว

    คราวนี้กำหนดความรู้สึก เลื่อนภาพพระขึ้นมาตรงจุดกลางอก ตรงที่เรารู้สึกว่าลมหายใจผ่านแรงที่สุด หายใจเข้าลมหายใจเข้าที่จมูก ผ่านองค์พระที่ใสสว่างอยู่กลางอก ลงไปสุดที่ท้อง

    ความรู้สึกส่วนใหญ่ อยู่ที่องค์พระที่อยู่กลางอก หายใจออกจากท้อง ผ่านภาพพระที่สว่างไสวอยู่กลางอก มาสุดที่ปลายจมูก หายใจเข้าภาพพระอยู่กลางอกสว่างไสว หายใจออกภาพพระที่อยู่กลางอกสว่างไสว

    แล้วกำหนดความรู้สึก เลื่อนภาพพระขึ้นมาอยู่ในศีรษะของเรา จะชัดหรือไม่ชัดไม่เป็นไร ให้เรามั่นใจว่ามีภาพพระอยู่ก็ใช้ได้ อย่าไปใช้สายตาบังคับเห็น เอาความรู้สึกเท่านั้น ว่านั่นเป็นองค์พระ ภาพพระอยู่ในศีรษะของเรา

    หายใจเข้าลมหายใจเข้าที่จมูก ภาพพระสว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา ลมหายใจผ่านอกลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอกลงมาสุดที่ปลายจมูก แต่ภาพพระนั้นสว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา หายใจเข้าภาพพระในกะโหลกศีรษะของเราสว่างไสวไปทั่ว หายใจออกภาพพระในกะโหลกศีรษะของเราสว่างไสวไปทั่ว <O:p

    คราวนี้กำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระไปตรงหน้าของเรา กะว่าอยู่ห่างสักประมาณช่วงแขนเอื้อมถึง ไปสว่างไสวลอยอยู่ข้างนอกตรงหน้า หายใจเข้าภาพพระก็สว่าง หายใจออกภาพพระก็สว่าง เอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระตรงหน้าของเรา อย่าใช้สายตา ให้กำหนดความรู้สึกสบาย ๆ <O:p

    ขอย้ำอีกทีอย่าใช้สายตา จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็ตาม ให้เรารู้สึกว่ามีภาพพระอยู่ตรงหน้าก็ใช้ได้แล้ว หายใจเข้าภาพพระตรงหน้าเราสว่างไสว หายใจออกภาพพระตรงหน้าเราสว่างไสว <O:p

    จากนั้นกำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระไปอยู่ด้านหลังของเรา ในระดับเดียวกับศีรษะของเรา หันหน้ามาด้านเดียวกับเรา หายใจเข้านึกถึงภาพพระข้างหลังสว่างไสวอยู่ หายใจออกนึกถึงภาพพระข้างหลังที่สว่างไสวอยู่ <O:p

    พุท...โธ ภาพพระข้างหลังสว่างไสว พุท...โธ ภาพพระข้างหลังสว่างไสว นึกอยู่อย่างนั้น ความรู้สึกอย่าให้เลื่อนไปที่อื่น ถ้าจะรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา ให้เป็นความรู้สึกส่วนน้อย สัก ๒ ส่วน ๓ ส่วนเท่านั้น อีก ๗ ส่วน ๘ ส่วนของเรา ให้กำหนดนิ่งอยู่ที่ภาพพระเท่านั้น

    แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระขึ้นไปอยู่บนศีรษะ ภาพพระลอยอยู่เหนือศีรษะของเรา สว่างไสวอยู่ตรงนั้น ตอนนี้เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องปลายจมูก หายใจเข้าคิดว่า ลมหายใจขาวสะอาดไหลจากพระ ผ่านกระหม่อมของเรา ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง <O:p

    หายใจออก ลมหายใจไหลออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก ออกไปทางกระหม่อม สุดที่ภาพพระนั้น หายใจเข้า เหมือนเราหายใจจากเหนือศีรษะลงไป หายใจออก เหมือน กับออกไปที่เหนือศีรษะ ที่ตรงภาพพระนั้น ให้กำหนดความรู้สึกส่วนใหญ่อยู่ที่ภาพพระ <O:p

    ภาพพระสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรา หายใจเข้า ลมหายใจที่ขาวใสสะอาด ไหลตามลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ลมหายใจที่ขาวใสสะอาด ไหลออกไปสุดที่องค์พระ กำหนด ความสว่างไสวของพระ ลงมาให้คลุมกายเราทีละน้อย ๆ <O:p

    อย่ากำหนดพรวดพราดทีเดียว ค่อยๆสว่างลงมาที่ศีรษะ สว่างลงมาถึงลูกตา ถึงระดับดวงตา ถึงระดับใบหู ถึงระดับคาง สว่างลงไปถึงหัวไหล่ ถึงต้นแขน ถึงกลางอก ถึงท้อง ถึงเชิงกราน ถึงตลอดทั้งร่างกาย<O:p

    หายใจเข้า ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่าง ตัวเราสว่าง หายใจออกภาพพระสว่าง ตัวเราสว่าง แล้วกำหนดความรู้สึกใหม่

    หายใจเข้า ภาพพระไหลจากศีรษะลงไปอยู่ที่ท้อง จากองค์ใหญ่เป็นเล็ก ลงไปสุดอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลออกจากท้อง ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ กลายเป็นองค์ใหญ่ หายใจเข้าองค์เล็กลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกองค์ใหญ่ไปอยู่ที่ศีรษะ พุท...โธ ภาพพระใสๆ ไปอยู่ที่ท้องเป็นองค์เล็ก พุท...โธ ภาพพระใสๆ ขึ้นไปอยู่ที่ศีรษะเป็นองค์ใหญ่

    คราวนี้ให้กำหนดใจนิ่งอยู่ที่ภาพพระบนศีรษะ น้อมจิตน้อมใจกราบลงตรงจุดนั้น ให้ตั้งใจว่านั่นคือ“องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า” ขณะนี้พระองค์ท่านเสด็จมาโปรดเราแล้ว <O:p

    การที่จะเกิดมาเป็นคนสักชาติหนึ่งก็แสนยาก เกิดมาแล้วจะได้พบพระพุทธเจ้าก็แสนยาก พบพระพุทธเจ้าแล้วจะได้ฟังธรรมก็แสนยาก ได้ฟังธรรมแล้วจะเกิดความเลื่อมใสก็แสนยาก เลื่อมใสแล้วจะปฏิบัติตามให้ได้ผลก็แสนยาก

    ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเรา พระรัศมีที่ใสสว่างครอบคลุมลงมา ทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจของเราสว่างไสวไปหมด <O:p

    พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ มีพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้พบเห็นอริยสัจที่ไม่มีใครพบเห็นได้ พระองค์มีพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงตรากตรำพระวรกายสั่งสอนสัตว์โลกอยู่ ๔๕ ปีเต็ม ๆ <O:p

    ๔๕ ปีที่พระองค์ท่าน อดตาหลับขับตานอนสอนพวกเรา เนื่องจากเพราะเห็นว่าพวกเราโปรดได้สงเคราะห์ได้ ในแต่ละคืนพระองค์ท่านจะได้บรรทมสักชั่วโมง สองชั่วโมงก็แสนยาก ในบาลีกล่าวถึงพุทธกิจ ๕ ประการไว้ว่า<O:p

    “ปุพพัณเห ปิณฑปาตัญ จะ” เช้าขึ้นมาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ท่านเสด็จบิณฑบาตตลอดพระชนม์ชีพ <O:p

    “สายัณเห ธัมมเทสนัง” ตอนบ่ายทรงเทศน์โปรด สั่งสอนประชาชน<O:p

    “ปโทเส ภิกขุโอวาทัง” ค่ำลงมาให้โอวาทสั่งสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และสิกขมานาทั้งหลาย <O:p

    “อัฒฑรัตเต เทวปัญหะนัง” เที่ยงคืนไปแล้วแก้ปัญหาให้กับ เทวดา พรหม ที่เขาสงสัย หรือเทศน์โปรด เทวดา พรหม ที่มาขอฟังธรรม

    “ปัจจุเสว คเตกาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกะนัง” พอใกล้รุ่งอย่างเช่นตอนนี้ เวลานี้ พระองค์ท่านก็จะสอดส่อง ตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลก ว่าสมควรจะเสด็จไปโปรดผู้ใด สรุปแล้วลองคิดง่าย ๆ ดูว่า พระองค์ท่านมีเวลาบรรทม คือนอนอย่างพวกเราคืนหนึ่งกี่ชั่วโมง <O:p

    พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายลักษณะนี้ ๔๕ ปีเต็ม ๆ ด้วยพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อสงเคราะห์พวกเรา เห็นว่าพวกเราสอนได้ มีโอกาสที่จะทำเพื่อความหลุดพ้นได้ พระองค์ท่านทุ่มเทชีวิต จนกระทั่งวาระสุดท้ายก็เพื่อพวกเรา และขณะนี้พระองค์ท่านเสด็จอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเรา พร้อมที่จะสนับสนุนความดีในทุก ๆ ด้านของเรา พร้อมที่จะรับเราไปสู่พระนิพพาน

    พระองค์ท่านประทับอยู่อย่างนั้น ทุกวันทุกเวลา ไม่ได้ไปไหน แต่เราเคยเอาจิตใจจดจ่อกับพระองค์ท่านสักวันละเท่าไหร่ กี่นาที กี่ชั่วโมง หรือว่าลืมโดยสิ้นเชิง พระองค์ท่านประกอบไปด้วยพระบริสุทธิคุณ คือชำระจิตใจของพระองค์ท่านให้ผ่องใสจากกิเลสได้อย่างวิเศษยิ่ง ไม่มีใครทำได้ดีกว่าพระองค์ท่านอีกแล้ว

    เมื่อประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ พระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ พระ บริสุทธิคุณอย่างสิ้นเชิง นี่แหละ...พระองค์ท่านถึงเป็นพระพุทธเจ้า คำประพันธ์สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าเราสวดอยู่ทุกวันว่า

    อิติปิโส ภควา แม้เพราะเหตุนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น

    อรหัง เป็นพระผู้ไกลจากกิเลส <O:p

    สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ <O:p

    วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีทั้งปวง<O:p

    สุคโต พระองค์ท่านไปดีแล้ว ในทางโลกนั้นจะไปที่ไหนก็ตาม พระองค์ก็สร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ให้เกิด ปลูกฝังธรรมะในจิตในใจของคน ในทางธรรมนั้น พระองค์ท่านไปสู่พระนิพพานแน่นอนแล้ว <O:p

    โลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งในโลก โลกคือหมู่สัตว์ กี่ภพกี่ภูมิ กี่หมู่กี่เหล่า พระองค์ท่านรู้แจ้งเห็นจริงหมด ใครสร้างกรรมอย่างไร ถึงได้รับผลของความทุกข์ พระองค์ท่านรู้หมด ใครสร้างบุญอย่างไร ถึงได้รับผลของความสุข พระองค์ท่านรู้หมด

    จะทำอย่างไร ถึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง พระองค์ท่านรู้ทั้งหมด รู้โลกภายในคือกายนี้ รู้โลกภายนอก คือกายคนอื่น รู้โอกาสโลก คือโลกนี้ที่เป็นที่อยู่ทั้งหมดนี้ ตลอดถึงดวงดาวในทุกจักรวาล พระองค์ท่านรู้หมด รู้ครบถ้วน จึงชื่อว่าโลกะวิทู

    อนุตตโร ปุริสทัมมะสารถิ ทรงเป็นสารถีคือผู้ควบคุม ผู้ฝึกสอนที่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว

    สัตถา เทวมนุสสานัง พระองค์ท่านเป็นศาสดา คือ เป็นครูของทั้งมนุษย์และเทวดา สอนทั้งคน ทั้งเทวดา นางฟ้า พรหม ไปด้วย

    พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีสติมั่นคงอยู่ตลอดเวลา จะหลับจะตื่น จะยืนจะนั่ง พระองค์ท่านรู้ตัวอยู่ตลอด รู้ว่าร่างกายนี่มันทุกข์ รู้ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในกองทุกข์ รู้ว่าร่างกายนี่มันต้องตาย หายใจเข้าไม่หายใจออก มันก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้า มันก็ตาย รู้ว่าตายแล้ว พระองค์ท่านไปพระนิพพาน <O:p

    ภควา ถือเอา ๒ ศัพท์ว่าเป็นผู้มีโชค เสด็จไปที่ใดก็ตาม สร้างความสมบูรณ์พูนสุขทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งอริยทรัพย์และโลกียทรัพย์ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย อีกศัพท์หนึ่งกล่าวว่า เป็นผู้จำแนกแจกธรรม คือนำธรรมะไปสั่งสอนคนอื่นเขา พระองค์ท่านตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แล้วสอนธรรมะนั้นแก่ผู้อื่น ให้ตรัสรู้ตาม

    บัดนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าผู้ใด ประทับอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเราแล้ว ทุกวันทุกเวลาในแต่ละวัน ให้เอาจิตจดจ่ออยู่กับพระองค์ท่านให้มากที่สุด

    ตั้งใจว่า นี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพวกเรา พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหนเลย นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือ เราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือ เราอยู่บนพระนิพพาน

    เอาใจเกาะภาพนี้ไว้ คือเอาใจเกาะพระนิพพาน หายใจเข้า พระรัศมีที่สว่างไสวก็ครอบคลุมกายของเรามา หายใจออก พระรัศมีที่สว่างไสว ก็ครอบคลุมกายของเรามา

    หายใจเข้าครั้งหนึ่ง หายใจออกครั้งหนึ่ง นึกถึงภาพพระองค์ท่าน นึกถึงคำภาวนา ก็คือเราใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจเข้า ใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจออก ใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง

    ให้ตั้งใจว่า...ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ เราไม่ขอเกิดมามีมันอีก ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ขอมาเกิดอีก การเป็นเทวดาเป็นพรหม ที่มีสุขชั่วคราว เราก็ไม่ปรารถนา ตายเมื่อไร เราขอไปอยู่พระนิพพาน กับพระองค์ท่านเท่านั้น

    หายใจเข้า ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้า ไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมหายใจออก มาอยู่ที่เหนือศีรษะ ทุกวันทุกเวลา เอาใจเกาะไว้ดังนี้ให้ได้ <O:p

    ตอนนี้ให้แบ่งความรู้สึกออกเป็นสองส่วน ความรู้สึกสัก ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ให้จับภาพพระไว้อย่างนั้น จดจ่อกับภาพพระอย่างนั้น ความรู้สึกที่เหลือทั้งหมดกำหนดให้กายมันเคลื่อนไหว เพื่อทำหน้าที่ของเรา

    ตั้งใจว่าเราจะทำงานทุกอย่างเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถ้ามันตายวันนี้เราขอไปพระนิพพาน กำหนดใจให้มั่นคงดังนี้ แล้วเตรียมตัวทำวัตรต่อได้
    <O:p
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๖
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  3. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๓. “มาร”

    <O:p
    ขอให้ทุกคนขยับตัว นั่งในท่าที่สบาย จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ ขยับเปลี่ยนอิริยาบถเสียก่อน ถึงเวลาจะได้ไม่เมื่อยมาก เพราะว่าตราบใดที่กำลังใจของเรา ยังข้องเกี่ยวอยู่กับร่างกาย ยังนึกถึงร่างกาย ยึดติดกับร่างกาย ความรู้สึกต่างๆ มันก็จะครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เรานั่งได้ไม่นาน เพราะว่ามันจะเมื่อย จะชา จะปวด
    <O:p

    ยกเว้นว่าเราต้องการดูตัวเวทนา ถ้าอย่างนั้นจะมีการทนนั่งกัน นั่งมันนานๆ เพื่อให้อาการเวทนา และความทุกข์ทั้งหลาย มันเกิดขึ้น แล้วจะได้แยกแยะว่า ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือว่าเกิดขึ้นกับใจของเรา ซึ่งลักษณะแบบนั้น พวกเราไม่ค่อยถนัดกัน
    <O:p

    ดังนั้น พวกเรานั่งท่าที่สบาย หายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ ทั้ง ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบออกให้หมด ไม่อย่างนั้นบางคนพอเริ่มภาวนา จะรู้สึกอึดอัด รู้สึกแน่น ทำให้ตกใจ บางทีคนไม่กล้าทำต่อไปเลยก็มี นั่นเป็นอาการที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกมันหยาบไปนิดหนึ่ง
    <O:p

    หายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง ระบายลมหยาบให้หมด แล้วค่อยปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ กำหนดความรู้สึกไปด้วยว่ามันผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
    <O:p

    ความรู้สึกทั้งหมดของเราต้องอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงลมหายใจเข้าออกนี้ อย่าให้มันเคลื่อนไปไหน นึกถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกลับมาตรงนี้ทันที ถ้าหากว่าเราจะดูกำลังใจของเราตอนนี้เราก็จะได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วมันมีการส่งออกอยู่ตลอดเวลา ส่งออกไปยังเรื่องอื่น ไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ได้อยู่กับสติสมาธิเฉพาะข้างหน้า


    แม้กระทั่งการปฏิบัติในมโนมยิทธิของเรา คณาจารย์สายอื่นท่านก็กล่าวว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการส่งจิตออกนอก แต่อาตมาขอยืนยันว่า การส่งจิตออกนอกในลักษณะฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ เป็นคนละเรื่องกับมโนมยิทธิ


    มโนมยิทธิเป็นการส่งจิตออกนอก ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ จะมีการควบคุม มีการป้องกัน ควบคุมไม่ให้นิวรณ์กินใจเราได้ ควบคุมไม่ให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นกับใจได้ ต้องการจะไปตรงจุดไหนไปได้ นี่คือการใช้ผลของฌานสมาบัติ ไม่ใช่ว่าสร้างผลเกิดแล้วไม่สามารถที่จะนำผลนั้นไปใช้ได้


    ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ลืมลมหายใจเข้าออกเมื่อไร คือลืมความดีเมื่อนั้น ดังนั้น ทุกวันๆ เราต้องทบทวนตัวเอง ต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา ทุกเวลาต้องกำหนดรู้อยู่เสมอ
    <O:p

    ถ้าไม่รู้ลมหายใจเข้าออก ก็ต้องรู้อิริยาบถ คือการเคลื่อนไหวของร่างกายแทน เราเดินให้รู้ว่าเดินอยู่ ก้าวเท้าซ้ายรู้อยู่ว่าก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวารู้อยู่ว่าก้าวเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายรู้อยู่ว่าแกว่งแขนซ้าย แกว่งแขนขวารู้อยู่ว่าแกว่งแขนขวา อย่างน้อยๆ ต้องรู้อิริยาบถเหล่านี้อยู่


    จะทำการทำงานใด ๆ ก็ตาม สติสัมปชัญญะให้มีอยู่เฉพาะหน้า กวาดใบไม้ ทำความสะอาด ไม้กวาดเราจะไปทางซ้าย ไปทางขวา ไปแรง ไปเบา ต้องรู้อยู่ จะถูพื้น ไม้ถูเคลื่อนไปข้างหน้า กลับมาข้างหลัง เราต้องรู้อยู่
    <O:p

    ไม่ว่าทำกิจทำการใด ๆ ก็ตาม ถ้าสติสมาธิไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ต้องอยู่กับอิริยาบถเฉพาะหน้า ต้องกำหนดรู้มันไว้ ถ้าสติสมาธิทรงตัวอยู่ตรงหน้า นิวรณ์ก็ทำอันตรายเราไม่ได้ มารทั้ง ๕ ก็ทำอันตรายเราไม่ได้
    <O:p

    การที่เราปฏิบัติความดี จะมีสิ่งที่คอยมาขัดขวางอยู่ เรียกว่า “มาร” รากศัพท์ของมารเป็นบาลี คือคำว่า “มาระ” แปลว่า“ผู้ฆ่า” คือฆ่าเราเสียจากความดีทั้งปวง


    ทันทีที่เราเริ่มต้นปฏิบัติภาวนา กำลังใจเริ่มเข้าสู่ตัวปีติ มารจะขัดขวางทันที เพราะบุคคลที่เริ่มเข้าถึงปีติ จะเกิดความยินดี อิ่มเอิบ ไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติ จะทุ่มเทความพากเพียรกับการปฏิบัติ ดังนั้น จะหลุดพ้นจากอำนาจของเขาได้ มารจึงพยายามขัดขวาง
    <O:p

    มารมี ๕ อย่าง คือ
    <O:p

    ขันธมาร ร่างกายนี้แหละที่เป็นมาร เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวป่วย ทำให้เราทำความดีไม่ถนัด สมัยฆราวาส อาจจะกินเหล้าเมายาหัวทิ่มพื้น นอนตากน้ำค้างอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่พอมาปฏิบัติภาวนา มันเจ็บโน่น ป่วยนี่ อยู่เรื่อยไป
    <O:p

    บางคนกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลย คือ คิดว่าเพราะมาทำความดีถึงเป็นอย่างนี้ ดังนั้นอย่าทำเลยดีกว่า อันนี้คือ ขันธมาร นั่ง ๆ อยู่ก็คันตรงโน้น เจ็บตรงนี้ ปวดตรงนั้น อยู่ ๆ ก็เกิดแปลบปลาบขึ้นมาในร่างกาย ทำให้สมาธิของเราเคลื่อนไป ให้รู้จักหน้าตาของมันไว้ ว่านั่นคือ มาร


    กิเลสมาร คือ ความชั่วที่ฝังอยู่ในจิตในใจของเรามา เป็นแสน ๆ ชาติมาแล้ว พยายามจะกระตุ้นเราให้ฟุ้งซ่าน ให้ไหลไปกับ รัก โลภ โกรธ หลงอยู่ตลอดเวลา ลีลาของมารก็คือ ยั่วให้กำหนัด ล่อให้หงุดหงิด ลวงให้หลงผิด
    <O:p

    ความกำหนัดยินดี อยากมีอยากได้ ทำให้เกิดราคะกับโลภะ เพราะโลภจึงอยากได้ เพราะยินดีจึงอยากมีอยากเป็น ยั่วให้หงุดหงิด คือกระตุ้นโทสะให้เกิด ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส มันพยายามสอดแทรกเข้ามาในใจของเราอยู่เสมอ จะทำลายเกราะป้องกันจิตใจของเรา เพื่อยึดเราให้เป็นทาสของมันให้ได้ รู้จักหน้าตาของมันเอาไว้
    <O:p

    เทวปุตตมาร ก็คือ การทดสอบของเทวดาก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี แต่ถ้าเกิดเราสอบตก อย่างเช่นว่าท่านมาทำร้ายเรา อาจจะทำร้ายในนิมิตก็ดี ทำร้ายตัวตนของเราจริงๆ ก็ดี จนใกล้จะถึงแก่ความตาย แทนที่เราจะรำลึกถึงความตายได้ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ คิดว่าถ้าตายเราไปนิพพานได้


    กลายเป็นว่า เรากลัวตาย เราไปดิ้นรน ไปต่อสู้ ถ้าหากว่าเราปล่อยวางร่างกายไม่ได้ เขาก็คือมาร เพราะว่าขวางเรา ทำให้เราก้าวไม่ผ่านจากจุดนั้น แต่ถ้าปัญญาของเราดี ก้าวผ่านไปได้ เขาก็กลายเป็นผู้หนุนเสริมของเรา
    <O:p

    อภิสังขารมาร คือ บุญบาป บาปนั้นขวางเราอย่างไร เรารู้อยู่ ตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน โอกาสจะประกอบกรรมทำความดีนั้น สัตว์นรก เปรต อสุรกายไม่มีโอกาสเลย สัตว์เดรัจฉานมีน้อยเหลือเกินที่จะได้ทำความดี ดังนั้น..มันขวางเราให้เข้าถึงความดีได้ยากแบบนี้
    <O:p

    ส่วนบุญที่ขวางเราไม่ให้เข้าถึงความดีนั้น มีกำลังของฌานสมาบัติ เป็นต้น โดยเฉพาะอรูปฌาน ถ้าได้อรูปฌาน ต้องไปเกิดเป็นอรูปพรหม หนึ่งหมื่นมหากัป สองหมื่นมหากัป สี่หมื่นมหากัป แปดหมื่นมหากัป อยู่กันเนิ่นนานเหลือเกิน นานจนกำหนดเป็นตัวเลขแล้ว เราไม่สามารถจะอ่านมันออกมาได้
    <O:p

    ดังนั้นโอกาสที่จะทำความดีต่อของเราก็ไม่มี ถ้าเศษบุญเก่าไม่เหลืออยู่ หลุดจากจุดของอรูปพรหม อาจจะลงอบายภูมิไปเลย แต่ถึงเศษบุญเก่ามีเหลืออยู่ ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมาลำบากยากเข็ญกันต่อไป ดังนั้นเขาจึงขวางเราด้วยวิธีนี้


    ตัวสุดท้ายคือ มัจจุมาร คือ ความตายที่คอยขวาง หลายคนกำลังใจแรงกล้า มอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้ว่าขวางไม่ได้ด้วยวิธีอีก ๔ อย่างที่ผ่านมา ก็ทำให้ตายไปเลย


    แต่นั่นหมายความว่าช่วงนั้นเราต้องมีอุปฆาตกรรมเข้ามาถึงด้วย กรรมใหญ่ที่เราเคยฆ่าคน ฆ่าสัตว์ เศษกรรมนั้นจะมาสนองช่วงนั้นพอดี เป็นวาระ เป็นเวลาที่เปิดให้เขา เขาจึงสามารถทำอันตรายเราได้ เพราะเขารู้จังหวะรู้เวลานั้น ๆ ถ้าไม่ใช่จังหวะอย่างนั้น ไม่ใช่เวลาอย่างนั้น เขาทำอะไรเราไม่ได้
    <O:p

    มารมีตัวมีตนจริง ๆ เป็นตัวเป็นตน จับได้ต้องได้ แต่ว่าเรากว่าจะรู้ กว่าจะเห็นเขา บางทีก็กลายเป็นสนับสนุนเขา มารมีความสามารถมาก เวลาเราต่อสู้กับเขา ถ้าหากว่าเราโกรธ มีโทสะ เราก็แพ้เขา เพราะว่าการล่อให้หงุดหงิด เขาสามารถทำได้สำเร็จแล้ว
    <O:p

    ถ้าเราไปยินดีกับสิ่งที่เขามาล่อลวง โลภะกับราคะก็เกิด การยั่วให้กำหนัดของเขาก็สำเร็จอีกแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราทั้งหมด มารจะส่งข้อสอบมาทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที หัวข้อข้อสอบก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง แค่ ๔ ข้อนี่แหละ เขาออกข้อสอบได้เป็นล้าน ๆ ทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา
    <O:p

    คนรอบข้างของเรา วัตถุทุกชิ้น ข้าวของทุกอย่าง เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ อยู่ ๆ คนข้างตัวของเราที่เรารัก เราไว้เนื้อเชื่อใจ อาจจะพูดอะไรบางอย่าง ที่กระทบใจเราอย่างรุนแรงได้ นั่นเป็นการดลใจของมารให้ทำดังนั้น
    <O:p

    เห็นข้าวของวางอยู่ เดินผ่านมาอารมณ์เสียอย่างกะทันหัน “..ใครกันวะ ? มันวางข้าวของเกะกะขนาดนี้ ไม่รู้จักเก็บไม่รู้จักงำ...” กลายเป็นว่าของชิ้นหนึ่ง คนคนหนึ่ง คำพูดคำหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รอบข้างของเรา เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับเราได้ทั้งหมด
    <O:p

    เราแผ่เมตตาให้เขาได้อย่างเดียว แต่การที่เราแผ่เมตตาให้เขาอย่างเดียว บางทีกำลังเราไม่พอ เนื่องจากว่าเมตตาขนาดพระพุทธเจ้าแผ่ให้เขา เขายังไม่ยินดีที่จะรับ แล้วกำลังของเราเท่าพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? แต่ขณะเดียวกันถ้าเราใช้โทสะ เราก็แพ้เขาอีก
    <O:p

    ดังนั้นว่าเมตตาก็ไม่ไหว โทสะก็ไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร ? ก็ต้องพิจารณาให้เห็นจริงว่า มารนั้นไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นครูที่ดีที่สุดของเรา สิ่งที่เขาเอามาทดสอบ ถ้าเราสามารถก้าวผ่านไปได้ เราจะไม่ตกต่ำจากจุดนั้นอีก ข้อสอบชนิดนี้จะไม่สามารถทำอันตรายเราได้อีก

    ถ้าเราสอบตกต่างหาก เขาจึงจะเป็นผู้ขวาง เป็นผู้ฆ่าเรา ดังนั้นว่า จริง ๆ แล้ว มารก็คือครูบาอาจารย์ประเภทหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ที่ขยันเหลือเกิน ออกข้อสอบทดสอบเราอยู่ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที

    เผลอเมื่อไร รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราเมื่อนั้น เผลอเมื่อไรก็รับเข้าทางตา รับเข้าทางหู รับเข้าทางจมูก รับเข้าทางลิ้น รับเข้ากาย แล้วก็เข้าไปสู่ใจเมื่อนั้น
    <O:p

    พระพุทธเจ้าท่านถึงได้สอนให้เรารู้จักสำรวมอินทรีย์ คือ รู้จักระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอาไว้ ไม่ให้ยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบ ตาเห็นรูปหยุดอยู่แค่นั้น รูปทำอันตรายเราไม่ได้ อย่าไปปรุงแต่งว่านั่นเป็นหญิง นั่นเป็นชาย นั่นสวย นั่นไม่สวย ถ้าหากว่าเริ่มปรุงแต่งเมื่อไหร่ ก็เสร็จเขาเมื่อนั้น


    ขอให้ทุกคนตั้งใจว่า เราทำหน้าที่ของเรา คือพยายามที่จะไปนิพพานให้ได้ เขาทำหน้าที่ของเขา คือเขามีหน้าที่ขวางก็ขวางไป ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัว ไม่มีใครทำอะไรขัดกัน ไม่มีใครเป็นศัตรูกัน
    <O:p

    มารไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นครูที่ดีที่สุด เป็นครูที่ขยันออกข้อสอบมากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องสร้าง สติ สมาธิ ปัญญา ให้มั่นคง เพื่อจะได้รับมือกับเขาได้


    บริวารของเขาทั้งหลายที่ส่งออกมา อยู่ในลักษณะของกามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    <O:p

    พยาบาท ความผูกโกรธ อาฆาตแค้นผู้อื่นเขา ถีนมิททะ ความง่วงเหงาหาว นอน ความขี้เกียจปฏิบัติ จะได้อยู่กับเขาต่อไป <O:p

    อุธัจจะ ความฟุ้งซ่านอารมณ์ใจไม่ตั้งมั่น

    วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลังเลสงสัยในครูบาอาจารย์ ว่าจะมีความสามารถจริงหรือไม่ ? นั่นเป็นการดลใจของมาร เป็นบริวารของมาร
    <O:p

    เราสามารถหลีกพ้นได้ง่ายที่สุด คืออยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็นึกว่า โธ กำหนดภาพพระให้แนบแน่นอยู่ในใจ
    <O:p

    ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก เข้าไปเล็กลง ออกมาใหญ่ขึ้น เข้าไปเล็กลง เล็กลง ออกมาใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น กำหนดใจให้นิ่งอยู่อย่างนี้
    <O:p

    มารจะทำอันตรายเราไม่ได้ เนื่องเพราะว่าจิตของเราอยู่เฉพาะหน้า ไม่ได้ส่ง ออก ไม่ได้ปรุงแต่งไปในอารมณ์อื่น ๆ มารทั้งหลาย ที่เขาขัดขวางเรา เพราะไม่ต้องการให้เราหลุดพ้น
    <O:p

    หน้าที่ของเขาก็คือ สร้างความลำบากนานัปการให้แก่เรา ให้เราต่อสู้ ให้เราฟันฝ่า เพื่อบารมีของเราได้เข้มแข็งขึ้น ได้มั่นคงขึ้น กำลังจะได้สูงขึ้น เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้
    <O:p

    ดังนั้น มารไม่ใช่ศัตรู เราไม่ใช่คนมีศัตรู เราอย่าไปคิดเป็นศัตรูกับใคร เพราะนั่นเป็นกำลังใจของ วิหิงสาวิตก คือการตรึกในการจะเบียดเบียนคนอื่น
    <O:p

    เป็นกำลังใจของ พยาปาทวิตก คือการตรึกที่จะอาฆาตแค้นโกรธเคืองคนอื่น ให้วางกำลังใจลงเสีย คิดว่าเราเป็นผู้ไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคน และสัตว์ทั่วโลก


    ขอให้มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรม และเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ได้ประสบแต่ความสุข โดยถ้วนหน้ากัน ทุก ๆ ท่านเถิด
    <O:p

    จับภาพพระของเราให้สว่างไสวเอาไว้ กำหนดใจแผ่เมตตาให้เป็นปกติ เมตตาต่อคน เมตตาต่อสัตว์ อย่าให้มีประมาณ อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง อย่าไปดูว่า คนนี้สวยเราเมตตา คนนี้หล่อเราเมตตา สัตว์ตัวนี้สวยเราเมตตา สัตว์ตัวนี้ไม่สวยเราไม่เมตตา อย่างนั้นใช้ไม่ได้


    กำลังใจของเราต้องเป็น อัปปมัญญา คือ หาประมาณไม่ได้ ตั้งเจตนาไว้ว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ทั้งหมดให้มีความสุขเสมอหน้ากัน เวลาออกทำการทำงาน ทำหน้าที่ของเรา ฆราวาสทำการทำงานก็ดี กำหนดใจให้สบาย ให้สดชื่น ให้แจ่มใส ให้เห็นว่าคนรอบข้างของเรา คือเพื่อน ร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น
    <O:p

    ถ้าเขามีสุข เรายินดีในความสุขของเขา เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในชีวิต เรายินดีกับเขา ถ้าเขาอยู่ในความทุกข์ เราพร้อมจะช่วยเหลือเขา ถ้าหากว่าความทุกข์นั้น เกินจากความสามารถของเรา เราก็ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้าหากว่ามันมีความสามารถถึงเมื่อไร เราช่วยเมื่อนั้น
    <O:p

    เป็นพระเป็นเณร ถึงเวลาออกบิณฑบาต กำหนดใจให้ญาติโยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะใส่บาตรก็ดี ไม่ใส่บาตรก็ดี ขอให้เขาเหล่านั้น มีแต่ความสุข ล่วงพ้นจากความทุกข์โดยทั่วหน้ากัน ให้เมตตาเป็นปกติ กรุณาเป็นปกติ มุทิตาเป็นปกติ และวางกำลังใจให้อุเบกขาเป็นปกติ
    <O:p

    ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายต่อสิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่น สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รส สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัส สักแต่ว่าสัมผัส ให้สติรู้เท่าทัน หยุดมันเอาไว้แค่นั้น อย่าให้เข้ามาทำอันตรายจิตใจของเราได้
    <O:p

    ถ้าใจของเราอยู่กับพระ ใจของเราอยู่กับการภาวนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะทำอันตรายเราไม่ได้ ดังนั้นทุกเวลาที่สติ สมาธิ ทรงตัว พยายามเกาะภาพพระให้เป็นปกติ เกาะลมหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ
    <O:p

    ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ หน้าที่การงานทุกอย่างของเรา ให้คิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เรามีแค่วันนี้วันเดียว หรือว่าเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเดียวเท่านั้น หายใจเข้า ถ้าไม่หายใจออก อาจจะตายไปเลย หายใจออก ไม่หายใจเข้าก็อาจจะตายไปเลย
    <O:p


    ถ้าเวลาเราน้อยจนขนาดนี้ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่การงานอะไรที่เรารับผิดชอบ ทำเหมือนกับว่ามันเป็นวันสุดท้ายของชีวิต ทำแบบทุ่มเท ทำให้ดีที่สุด เพื่อถึงเวลาแล้วเราจะได้จากไปอย่างสง่างามที่สุด
    <O:p

    ในเมื่อเรามีแค่ตอนนี้ มีแค่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ถ้าหากว่าดูเวรกรรมเก่า ๆ ที่เราทำไว้ มันมากเหลือเกิน เวลาที่เหลืออยู่แค่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ชั่วโมงข้างหน้าไม่มี นาทีข้างหน้าไม่มี เราจะรีบตะเกียกตะกายสร้างความดี เพื่อให้หนีความชั่ว ให้ได้มากที่สุด สมควรที่จะทำดังนี้แล้วหรือไม่ ?
    <O:p

    ในเมื่อความชั่วในอดีตที่ทำไว้ มีมากเหลือเกิน มันเกาะติดหลังมาแล้ว เราต้องรีบยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดลมหายใจเข้าออก ยึดพระนิพพานให้แนบแน่นเข้าไว้ ไม่อย่างนั้นกรรมเก่าที่เกาะติดมาอยู่ ก็จะลากเราลงสู่อบายภูมิ ทำให้เราต้องทุกข์ยากลำบาก หาที่สิ้นสุดไม่ได้
    <O:p

    น้อมจิตน้อมใจเกาะภาพพระให้เป็นปกติ ตั้งใจว่า นั่นคือพระพุทธเจ้าของเรา ท่านไม่อยู่ที่ไหนนอกจากพระนิพพาน เห็นท่านเมื่อไรคือเราอยู่กับท่าน อยู่กับท่านเมื่อไหร่คือเราอยู่บนพระนิพพานด้วย ให้จิตจดจ่ออยู่กับเฉพาะหน้า อย่าส่งไปอารมณ์อื่น การรับรู้อารมณ์อื่นถ้าขาดสติ กันมันไม่ทัน มันจะทำอันตรายให้กับเราได้ทันที
    <O:p

    ตอนนี้ให้ทุกคนค่อย ๆ คลายจากสมาธิ ออกมาสู่อารมณ์ปกติอย่างระมัดระวัง แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเกาะภาพพระ เกาะการภาวนาไว้ให้เป็นปกติ เราจะได้ทำหน้าที่การงานของเราต่อไป


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันจันทร์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 มิถุนายน 2010
  4. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990


    วันนี้เป็นวันพระ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ ปีนี้เดือนยี่มาเร็วมาก เพราะว่าปีหน้ามี ๘ สองหน ในเมื่อเป็นวันพระ ก็ขอพูดเรื่องของพระ คือเรื่องของพวกเรากันเอง อยากจะบอกกับทุกคนว่า ขณะนี้พวกเราอยู่ในสถานภาพใหม่

    ทั้งผู้ที่บวชใหม่และผู้ที่บวชเก่าแล้ว ขอให้นึกว่าตัวเราเป็นผู้ใหม่ไว้เสมอ ไม่เช่น นั้นแล้ว ท่านจะประมาทในการปฏิบัติ หลวงพ่อตอกย้ำเราอยู่เสมอๆ ว่า

    “นิพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา เราขอรับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”<O:p

    อย่าได้ลืมตรงจุดนี้เป็นอันขาดว่า...เราบวชเพื่อพระนิพพาน...

    ส่วนใหญ่พวกเราพอบวชไปนานๆ แล้ว ด้วยการชักจูงของกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมทั้งหมด เราก็จะเบี่ยงเบนไปจากจุดมุ่งหมายของตัว ลืมไปว่าวันแรกที่บวชจะบวชเพื่ออะไร ? ไปติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไปคลุกคลีกับรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นปกติอันนั้นลืมตัว

    การที่เราฝึกในศีล ในสมาธิ ในปัญญา จุดที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างสติ สัมปชัญญะ สติ.. ความระลึกได้ สัมปชัญญะ.. รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราเป็นอะไร เราทำอะไร<O:p

    การที่เราจะเป็นพระหรือไม่เป็นพระ อยู่ที่การปฏิบัติของเราเอง สมัยก่อนบวชเราไหว้พ่อ ไหว้แม่ ไหว้ผู้ใหญ่ พอบวชเข้ามา พ่อแม่ก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี กราบเราไหว้เรา เรามีอะไรดี ท่านถึงมากราบมาไหว้เรา เลี้ยงท่านก็เลี้ยงเรามา อบรมสั่งสอนเรามา ไม่ว่าวัยวุฒิ คืออายุ คุณวุฒิ คือความรู้ความสามารถ เราสู้ท่านไม่ได้อยู่แล้ว

    ถ้าท่านไม่เลี้ยงดูเรามา เราก็ไม่รอดเป็นคน จนเติบโตมากระทั่งบวชอยู่ทุกวันนี้ มีจุดเดียวเท่านั้นที่เราจะดีกว่า ก็คือศีล จะเป็นพระหรือไม่เป็นพระ ขั้นต้นอยู่ที่ศีลนี่เอง<O:p

    ดังนั้น ให้ทุกคนทบทวนอยู่เสมอในแต่ละวันๆ ว่าศีลทุกสิกขาบทของเรา บริสุทธิ์ บริบูรณ์หรือไม่? ถ้ามันบกพร่องให้แสดงคืนอาบัติเสีย ไม่ว่าศีลนั้นจะเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม <O:p

    อาบัติใหญ่ คือ ปาราชิก ๔ ข้อ สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ อย่าให้ต้องเป็นอันขาด เพราะมันแก้ไม่ได้ก็มี แก้ได้ยากก็มี เปิดทวนไว้อยู่เสมอๆ ว่า ๑๗ ข้อนี้ห้ามโดนเด็ดขาด <O:p

    ส่วนที่เหลือ สติสัมปชัญญะเรายังไม่สมบูรณ์ โอกาสพร่องมันมี ให้รีบแสดงคืนอาบัติเสียทุกวัน จะได้เป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าในคืนนั้นเรานอนอยู่แล้วตายไป บาปกรรมความชั่วจะได้ไม่ติดตัวเราไป <O:p

    การที่เราบวชเข้ามา ชีวิตต้องรับกฎ รับกติกาใหม่ ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเสียใหม่ ต้องมีความประพฤติปฏิบัติเสียใหม่ เพื่อให้อยู่ในกรอบของภิกษุ เพื่อให้อยู่ในกรอบที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ซึ่งมีทั้งข้อที่ห้าม ข้อที่อนุญาต ขอให้ทุกคนตั้งใจทำให้ดี ไม่ว่าจะบวชมากบวชน้อยอย่างไรก็ตาม <O:p

    หลวงพ่อเคยสอนไว้ว่า “..การบวชน้อย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็มีคุณค่ามาก เหมือนกับเพชร แม้จะเม็ดเล็ก แต่ก็ราคาสูง การบวชมาก ถ้าหากว่าทำแต่ความชั่ว ก็เหมือนกับขี้ ยิ่งกองใหญ่ ก็ยิ่งเหม็นมาก..! ”<O:p

    คราวนี้ความเหม็น ความน่ารังเกียจ ที่เราประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกรอยนั้น มันไม่ได้มีโทษแต่ปัจจุบัน คือญาติโยมไม่สงเคราะห์ แต่มันจะมีโทษในอนาคตด้วย คือตายเมื่อไรจะมีอเวจีเป็นที่ไปแห่งเดียว หนักเบาตามโทสานุโทษ <O:p

    อาจจะอยู่เป็นกัปป์ตามอายุของอเวจี หรืออยู่น้อยกว่านั้น แต่ว่าท่านก็ต้องผ่านอุสุทนรก ผ่านยมโลกีย์นรก ผ่านมหานรกขุมต่าง ๆ อีก กว่าที่จะหลุดพ้นมาได้นั้นมันเนิ่นนานเหลือเกิน แม้จะได้เห็นปลายได้ว่ามันนานแค่ไหน แต่คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ความทรมานนั้น แม้ระยะเวลา นาทีสองนาทีมันก็นานเหมือนเป็นกัปป์เป็นกัลป์แล้ว <O:p

    ผมเองมาบวชเอาอายุตอนจวนจะ ๓๐ เพราะผมกลัวนรก ผมเห็นนรกตั้งแต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ และเห็นด้วยว่าทุกขุม มีแต่บรรดานักบวชลงไปอยู่กันแน่นขนัด ครั้งแรกที่เห็นผมตกใจมาก คือเขาแสดงภาพเป็นนักบวชให้เห็นชัดเจน มันแน่นเหมือนอย่างกับเราเปิดกล่องไม้ขีดแล้ว เห็นหัวไม้ขีดอย่างไรอย่างนั้นเลย <O:p

    ผมจึงสรุปได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ถ้าหากว่าสักแต่ว่าบวชไม่รอดแน่นอน ในเมื่อเราบวชมาแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ตัวว่าเราเป็นนักบวช เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่ของความเป็นภิกษุ

    ภิกษุ รากศัพท์เดิมคือ ภิกขุ แปลได้ ๒ อย่างคือ ผู้ขออย่างหนึ่ง กับผู้เห็นภัยในวัฏสงสารอย่างหนึ่ง <O:p

    การที่เราเป็นผู้ขอ (เดี๋ยวอีกสักครู่เราก็จะไปทำหน้าที่ของการเป็นผู้ขอ) การที่เราจะขอเขา อย่าไปขอเฉยๆ ต้องมีผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้แก่ผู้รับด้วย <O:p

    คือ การชำระศีลของเราทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ ทรงสมาธิตั้งมั่นให้สูงสุดเท่าที่เราจะทำได้ สร้างปัญญาให้เกิด ให้เห็นว่าร่างกายนี้โลกนี้มีแต่ความทุกข์จริงๆ ถ้าเราชำระใจของเราให้ผ่องใสได้ ชำระศีลของเราให้ผ่องใสได้ ญาติโยมที่ใส่บาตรก็จะมีอานิสงส์สูงมาก

    ผมอยู่ที่นี่มา ๖ เดือนกับอีกนิดหน่อย ผมสังเกตอยู่เสมอว่า โยมใส่บาตรมากขึ้นทุกที บ้านที่เคยใส่ก็ใส่ประจำไม่งดเว้น บ้านที่ไม่เคยใส่ก็ใส่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ

    แสดงว่าบุคคลที่ใส่บาตร ทำบุญกับพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ ซึ่งจะได้อานิสงส์สูงกว่าปุถุชนทั่ว ๆ ไปเป็นแสน ๆ เท่า เขาจะต้องได้ผลดีในการทำบุญใส่บาตรของเขา มันจะต้องมีผลตอบแทนอะไรที่เห็นได้ชัด แล้วเขาพูดกันต่อ ๆ ไป <O:p

    ดังนั้น เขาถึงใส่บาตรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่าลืมว่าเราคือ “ภิกษุ” คือผู้ขอ จะไปขอเขาเราต้องนอบน้อมถ่อมตน จะไปขอเขาก็อย่าสักแต่ว่าขออย่างเดียว ให้เรามีสิ่งที่ดีที่สุดไป เพื่อให้ผู้รับได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วย <O:p

    ต้องพยายามทำตนเป็นเนื้อนาบุญที่ดีที่สุด เท่าที่เราจะพึงทำได้ อย่าไปโดยความหยิ่งผยอง อย่าไปโดยมานะว่าเราเป็นพระ เราเป็นนักปฏิบัติ เรามีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ เรามีสมาธิตั้งมั่น เรามีปัญญา

    ถ้าไปในลักษณะนั้น เราวางกำลังใจผิด สมเด็จพ่อของเรา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางรูปแบบไว้ ให้พระต้องขอเขากิน เพื่อลดทิฐิมานะของตน<O:p

    หลายท่าน ฐานะทางบ้านดีมาก พูดง่าย ๆ ว่ามีเหลือกินเหลือใช้ ในชีวิตฆราวาสต้องการกินดีอยู่ดีขนาดไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ท่านสละมันมา กลับขอเขากิน เราเป็นขอทาน อย่าลืมฐานะของตัว

    ในเมื่อเราเป็นขอทาน สิ่งที่เขาให้คือความเมตตาปราณีของญาติโยมเขา ถ้าเราทำตัวไม่ดี ไม่มีญาติโยมที่ไหนเขาจะสงเคราะห์ คุณก็เห็นอยู่ว่า ใกล้ ๆ ของเรานี้เองเขาเป็นอย่างไร ? เราต้องทำตัวให้สมกับที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์

    ทันทีที่คุณฉันข้าวฉันน้ำ ใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์มา ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกายนี้ ไม่ใช่ของคุณแล้ว พ่อแม่อาจจะให้เลือดเนื้อร่างกายนี้มา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่ หลวงพ่อ ขัดเกลาจิตใจนี้ให้คุณ <O:p

    คุณเกิดทางร่างกายมาอายุเกิน ๒๐ ปี คุณเกิดในทางธรรมมา ตามจำนวนระยะเวลาที่คุณตั้งหน้าตั้งตา ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

    แต่ว่าคุณเกิดใหม่อีกวาระหนึ่งแล้ว คือ วาระที่เราฉันข้าวฉันน้ำ ใช้เครื่องอุปโภค บริโภคของญาติโยมเขา เลือดเนื้อร่างกายของเราทุกส่วน ไม่ใช่เราอย่างแน่นอนแล้ว เป็นสมบัติของญาติโยมเขาไปแล้ว

    เราอยู่ได้ด้วยการที่คนอื่นเลี้ยง อย่าลืมฐานะของตัวเราเอง ต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอ ก้มมองเห็นเรานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ คลำดูศีรษะ ศีรษะของเราโล้น มันเป็นเครื่องบังคับเครื่องบ่งชี้ให้เรารู้ว่า เราอยู่ในฐานะของนักบวช ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้

    ทำให้สมกับที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส คือเป็นลูกของพระพุทธเจ้าที่ท่านรักยิ่ง พ่อแม่จะรักลูกก็ต่อเมื่อลูกทำดี ประพฤติดี เราเป็นลูกพระพุทธเจ้าอย่างเดียวยังไม่พอ เรายังเป็นธรรมเสนา เป็นทหารแห่งกองทัพธรรม เป็นทหารในพุทธอาณาจักร

    กำลังใจของเรา ที่ต่อสู้ฟันฝ่ากับกิเลส มีอยู่สักเท่าไหร่ สมควรกับการเป็นทหารกล้า ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือไม่ ? ลำบากนิดหน่อยก็จะไม่ยอมทนเสียแล้ว นั่นใช้ไม่ได้

    เราบวชเข้ามา คนอื่นเขาสงเคราะห์เรา อยากได้เย็นมันอาจจะได้ร้อน อยากได้อ่อนมันอาจจะได้แข็ง จำกัดด้วยปัจจัย ๔ ต้องทนลำบากทางกาย ต้องทนความอึดอัดในกฎระเบียบ ซึ่งเป็นความลำบากทางใจ ต้องทนต่อสู้กับกิเลสที่กระหน่ำตีเราอยู่ทุกวัน <O:p

    ในชีวิตฆราวาส ถ้ากิเลสมันเป็นเสือ ปล่อยเสือตัวนั้นอยู่ในป่า เราเดินทั้งปี อาจจะไม่เจอเสือตัวนั้น แต่ในชีวิตนักบวช เขาเอาเสือตัวนั้นใส่กรง แล้วจับเรายัดเข้าไปด้วย เสือมันจะขบกัดเราอยู่ทุกวัน

    ถ้าเราไม่ใช้สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต่อสู้กับมัน กดคอมันเอาไว้ มันก็จะเป็นอันตราย ขบกัดเรา ถึงกดคอมันไว้ได้ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ ไม่รู้เราจะหมดแรงเมื่อไหร่ ถ้าหมดแรง มันกัดเราอีกทันที ดังนั้นต้องหาทางฆ่าเสือให้ตายให้ได้<O:p

    วิธีฆ่าเสือคือกิเลสของเราให้ตาย ต้องหาเหตุให้เจอ ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ? กิเลสตัณหา อุปาทาน อกุศลกรมต่าง ๆ ที่มันสร้างความลำบากให้กับเราในทุกวันนี้ เพราะเรามีร่างกายนี้ เพราะเราเกิดมา ถ้าเราไม่เกิดอีก ไม่มีร่างกายนี้อีก เราก็ไม่ต้องมาทนทุกข์ยาก ลำบากด้วยอำนาจของพวกกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรม เหล่านี้ <O:p

    ดังนั้นเราจะพึงปรารถนาการเกิดอีกหรือไม่ ? ตอนนี้ทุกท่านอยู่ในกรอบชีวิตของนักบวช ทุกท่านอยู่ในเขตที่จำกัดด้วยปัจจัย ๔ อยู่ในสนามรบ ที่เราต้องต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง คือต่อสู้กับกิเลส เพื่อไม่ให้ตัวเราตกนรก<O:p

    พยายามทำอย่างไร ? จะให้ภูมิจิตภูมิธรรมของเราก้าวหน้าขึ้น สู่ภพภูมิที่สูง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เราต้องใช้ความพยายามของเรา อดทนอดกลั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง <O:p

    เราต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่เราจะได้มาปฏิบัติกัน บางท่านก็สงสัย ผมจะตื่นตี ๒ ประจำ ยกเว้นเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันยาเข้าไป ผมจะต้องตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ไม่อย่างนั้นโดนยามันน็อก ผมจะลุกไม่ไหว ไม่อย่างนั้นแล้วตี ๒ ผมต้องลุกขึ้นมาแล้ว<O:p

    อันดับแรกยังไม่ทันขยับตัว ก็ต้องนึกถึงพระก่อน ควบคุมลมหายใจเข้าออกของตัวเองก่อน จนกระทั่งภาพพระตั้งมั่น สติตั้งมั่น แล้วก็ภาวนาตามที่เคยทำมา ว่าจะภาวนาอย่างไร ยกจิตขึ้นสู่ระดับไหน <O:p

    ทำจนครบชุด มันก็ได้เวลาที่จะออกมาล้างหน้า สรงน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง เตรียมจะทำวัตรเช้าต่อแล้ว เราทำวัตรสวดมนต์ออกเสียงตามสาย ญาติโยมได้ประโยชน์ด้วย ต่อให้ฟังไม่เข้าใจ เขาก็รู้ว่านั่นพระสวดมนต์<O:p

    แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เราลุกขึ้นมาสู้กับกิเลส ญาติโยมหลายท่านเขาทึ่ง เคยพูดให้ได้ยินว่า พระเจ้าท่านทำได้อย่างไรนะ ? เวลาใกล้รุ่งเป็นเวลาที่น่านอนที่สุด นี่ต้องแหวกกองกิเลสออกมานั่งทำวัตรสวดมนต์กันเลยหรือ ? <O:p

    คุณทำแค่นี้ญาติโยมเขาเห็น เขาก็ชื่นชมแล้ว ยิ่งทำดีมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งชื่นชมมากขึ้น เพราะมันไม่เสียที ไม่เสียแรงที่เขาเลี้ยงมา

    ไม่เสียทีที่เขาเองต้องลำบากด้วยความเป็นอยู่ แต่แบ่งปันปัจจัย ๔ ต่างๆ เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์แก่เรา อันนี้เป็นความกรุณาของโยมเขา แล้วเราทำดีพอเหมาะพอสมที่จะใช้สอยบริโภคในปัจจัย ๔ ที่โยมเขาสละมาให้แล้วหรือยัง ?<O:p

    ในชีวิตของความเป็นพระ เราทำกรรม คือบาป กรรมชั่ว ผลของมันก็คูณด้วย แสน สมมติว่าเราเป็นฆราวาส เกิดมาก็เริ่มฆ่าสัตว์เลย ฆ่าปลาแล้วกัน วันละหนึ่งตัว ๆ ฆ่าไปเรื่อย จนอายุครบ ๑๐๐ ปีแล้วเราตาย เราจะตกอเวจีมหานรก เพราะเราทำ อาจิณกรรม คือกระทำกรรมที่ต่อเนื่อง ที่สม่ำเสมอ ที่ยาวนาน <O:p

    แต่ในชีวิตของความเป็นพระ พวกท่านฆ่าปลาตัวเดียว ลงอเวจีมหานรก โทษมันมากกว่ากันมหาศาลขนาดนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็มากกว่ามหาศาล ถ้าปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา ผลมันก็คูณด้วยแสนเช่นกัน <O:p

    สมัยเป็นฆราวาส ผมทุ่มเทให้แก่การปฏิบัติ ๑๐ กว่าปี ฝึกกรรมฐานตามแบบของหลวงพ่อสอน กองไหนชอบใจผมฝึกกองนั้น ผมพยายามเอากรรมฐานให้ได้ครบ ๔๐ กอง ปล้ำเป็นปล้ำตายอยู่ ๑๑ ปีเต็ม ๆ โดยตั้งใจว่า <O:p

    “..ถ้าเราจะเป็นนักบวช เราควรจะเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ฆราวาส เพื่อที่เวลาบวชแล้ว ญาติโยมจะได้ไหว้เราได้เต็มมือ ทำบุญกับเราแล้วจะได้บุญเต็มที่..”<O:p

    ๑๑ ปีผ่านไป ผมทำแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น ทำแบบที่คนรอบข้างว่าผมบ้า แต่ว่าจุดมุ่งหมายที่ผมต้องการมันไม่ได้ กรรมฐานหลายกองที่ปลุกปล้ำกันแทบเป็นแทบตาย มันไม่ทรงตัว พอผมตัดสินใจบวชเข้ามา ปรากฏว่าสิ่งที่ผมต้องการในชีวิตฆราวาส มันไหลมาเทมาตอนนั้น <O:p

    ไม่ว่าคุณจะปฏิบัติอะไร ? มันก็รู้สึกคล่องแคล่วชำนาญ ไม่ว่าคุณจะภาวนา พิจารณาอย่างไร ? มันสะดวกมันง่ายดายไปหมด กรรมฐานที่เคยทำไม่ได้ มันก็ทำได้ทำง่าย ทำก็คล่องตัว

    ผมมีความสงสัยมาก จึงไปกราบเรียนถามหลวงปู่มหาอำพัน ตอนช่วงที่ผมไปดูแลท่านที่ป่วยอยู่ ท่านบอกว่า ก่อนหน้านี้ต้นทุนของผมไม่พอ แต่พอบวชเข้ามาอานิสงส์ใหญ่มันเกิด <O:p

    คือกุศลของการที่เราบวช รวมกับความตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีผลมากกว่าชีวิตฆราวาส เป็นแสนแสนเท่า ทำให้ต้นทุนที่ผมไขว่คว้ามา ๑๐ กว่าปี มันเพียงพอ มันถึงได้ในสิ่งที่ต้องการ<O:p

    ดังนั้น ตอนนี้พวกท่านทุกคน อยู่ในจุดที่ดีที่สุด ที่จะสร้างบุญสร้างกุศลแล้ว พยายามทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้ดี พยายามสร้างสมาธิให้เกิดทุกวัน ๆ วางกำลังใจให้สูงสุด คือเกาะพระนิพพานให้ได้ <O:p

    แล้วใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใด ๆ ในหน้าที่ของสงฆ์ก็ดี หรือว่าทำในคันถธุระ ช่วยในการก่อสร้าง ช่วยทำความสะอาดวัดวาอารามก็ดี ให้มีสติเกาะพระอยู่เสมอ ให้มีสติรู้อยู่เสมอว่า เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในกองทุกข์ <O:p

    ในเมื่อชีวิตมันมีแต่ความทุกข์เช่นนี้ เราเองยังอยากเกิดมาทุกข์ไหม ? ตอนนี้เราวางชีวิตครอบครัวอยู่ข้างหลัง ย้อนกลับไปเมื่อไร ความทุกข์ใหญ่จะเกิดแก่เรา เราไม่ได้รับผิด ชอบชีวิตของตัวเราคนเดียว แต่ต้องรับผิดชอบชีวิตของอีกหลาย ๆ คน ความทุกข์ ความเหนื่อยยาก ความเครียด รอเราอยู่แล้ว <O:p

    ตอนนี้เราต้องกอบโกยความดีให้มากที่สุด เพื่อถึงวาระ ถึงเวลา จะได้มีต้นทุนไว้ต่อสู้กับมัน เราจะใช้โอกาสที่ดีที่สุดนี้ ในการฝึกปฏิบัติตน สร้างกำลังกาย กำลังใจของเราให้ ดีที่สุด เข้มแข็งที่สุด

    เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา ต้นทุนของเราเพียงพอ ถ้าเราไปเป็นฆราวาส เราก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ต้องทุกข์ยากมากนัก เพราะทำใจได้เสียแล้ว หรือในชีวิตของความเป็นพระต่อไปข้างหน้าของเรา ถ้าหากว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี เราก็จะมีแต่ความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป <O:p

    พวกท่านทุกคนก็ดี ตัวผมเองก็ดี ตอนนี้แบกภาระที่ใหญ่หลวงมาก สิ่งที่เราแบกอยู่บนบ่านี้ นอกจากภารธุระในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำอย่างไรที่เราจะสร้างตนเองให้เป็นพระให้ ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

    ทำอย่างไรที่เราจะนำพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เผยแผ่ขจรขจายไป ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย และจะทำอย่างไร? ที่จะกอบกู้ชื่อเสียงซึ่งบรรดานักบวชทำให้ตกต่ำอยู่ ให้กลับคืนมาดีดังเดิมได้

    ภาระใหญ่หลวงนี้อยู่บนบ่าของพวกเราทุกคน แล้วทั้งพวกคุณทั้งตัวผมเอง ยังมีภาระใหญ่ คือ แบกป้ายยี่ห้อของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุงอยู่บนบ่า ไปถึงไหนคุณก็บอกกับเขาว่า ผมบวชกับอาจารย์เล็กครับ ผมปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำครับ เราพูดได้เต็มปากเต็มคำมั้ย ?

    ครูบาอาจารย์ของเราดีขนาดไหน? ตอนนี้เราทำตัวสมกับเป็นศิษย์ของท่านหรือยัง? หลวงพ่อเคยบอกกับผมเป็นปกติว่า ไปไหนพวกแกก็บอกว่ามาจากวัดท่าซุง แกเอา ซุงดี ๆ หรือว่าซุงผุ ๆ ไปอวดเขา<O:p

    ถ้าเอาซุงดี ๆ ไปอวดเขามันก็ยังเป็นซุงอยู่ เราสามารถจะกลึง จะเกลา จะเหลา จะถากมันขึ้นมา เพื่อให้เป็นวัสดุที่พอใช้งานได้นั้น เราทำมันแล้วหรือยัง ? ไม่ต้องวิเศษเลิศลอยถึงขนาดแกะเป็นเรือสุพรรณหงส์หรอก เอาแค่เป็นภาชนะต่าง ๆ ที่มันพอดูได้ พองาม เหมาะ สมกับฐานะของตน เราทำได้ดีเท่าไหร่ ?<O:p

    ทั้งภาระของพระศาสนา ทั้งชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาอาจารย์ อยู่กับเราแล้ว เราต้องทำให้ดี ไม่เพียงแต่คนนอกที่มองเรา นักบวชด้วยกันก็มองเรา ทำอย่างไร ? เราจะทำกาย ทำวาจา ทำใจของเราให้ดีกว่านี้ <O:p

    ต้องระลึกอยู่เสมอว่า วันเวลาล่วงไป ๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา ต้องดูตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเราติเราโดยศีลได้หรือไม่ ? ต้องดูอยู่เสมอว่าผู้อื่นติเราโดยศีลได้หรือไม่ ? <O:p

    ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า คุณวิเศษต่าง ๆ ในพระศาสนาของเรามีหรือไม่ ? เพื่อถึงเวลาจะได้ไม่เก้อไม่เขิน เมื่อเพื่อนสหธรรมมิกไต่ถาม ต้องระลึกอยู่เสมอว่าผู้อื่นเลี้ยงเรา เราต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย <O:p

    ต้องระลึกอยู่เสมอว่าตอนนี้เราเป็นพระแล้ว กิริยาอาการใด ๆ ที่เป็นของพระ เราต้องทำกิริยาอาการนั้น ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้คิดอยู่เสมอ คิดอยู่ในขณะที่ภาพพระอยู่กับเรา คิดอยู่ ปฏิบัติอยู่ ในขณะที่กำลังใจเราเกาะนิพพานเอาไว้ <O:p

    วันพระ ก็เลยขอพูดเรื่องของพระ ถึงแม้ว่าเวลาจะไม่เพียงพอ ไม่สามารถพูดทั้งหมดได้ แต่ก็คิดว่าสิ่งที่บอกกล่าวพวกเราไป คงจะนำไปปฏิบัติตรวจสอบตัวเอง สร้างกำลังใจให้ดีขึ้น ทำการปฏิบัติของเราให้ดีขึ้นให้มากกว่านี้ ก็ขอฝากเอาไว้เท่านี้ <O:p


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันอังคารที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  5. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๕. สังโยชน์ ๑๐


    ขอให้ทุกคนนั่งตัวตรง การนั่งตัวตรงของเรา ไม่ได้หมายความว่าไปเกร็งร่างกายแต่ว่ายืดตัวขึ้นให้ตรง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่เสีย หลับตาเบาๆ นึกย้อนเข้าไปในศีรษะของเรา เหมือนกับเราเหลือบตาขึ้น มองกะโหลกศีรษะข้างใน

    แล้วมองย้อนลงไป ถึงจุดศูนย์กลางของร่างกายเรา กำหนดใจ ให้นิ่ง ๆ ไว้ตรงนั้น พร้อมกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แม้ว่าจะหายใจเข้า จะหายใจออกอยู่ ให้กำหนดความ รู้สึกไว้นิดเดียวที่ลมหายใจเท่านั้น

    ความรู้สึกส่วนใหญ่ทั้งหมด ให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรา ศูนย์กลางกายของเรา เป็นจุดที่สามารถเข้าถึงความสงบได้ดีที่สุด มีพลังที่จะต่อสู้กับกิเลสได้มากที่สุด วันนี้เรามาดูว่าเราสามารถทำจิตให้นิ่งอยู่อย่างนี้ได้นานเท่าไร ?<O:p

    ศูนย์กลางกาย คือ ที่สุดของลมหายใจเข้าออกของเรา กำหนดความรู้สึกไม่ต้องปักแน่นมาก เอาแค่ให้แน่วแน่อยู่ภายใน ไม่ต้องใส่ใจกับภายนอก กำหนดความรู้สึกส่วนหนึ่งรู้สึกอยู่กับลมหายใจเข้าออก
    <O:p
    หายใจเข้าพร้อมกับคำภาวนา ไปสุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หายใจออกพร้อมกับคำภาวนา ออกมาสุดที่ปลายจมูก แต่ว่ากำลังใจส่วนใหญ่ ให้ปักนิ่งอยู่ในร่างกายของตัวเอง <O:p

    การที่เราส่งใจออกข้างนอก มันเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งหมด เพราะเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส เรามักกั้นมันไว้ไม่ทัน ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเรา ไม่ทันกับมัน มันก็จะวิ่งเข้ามาอยู่ในใจของเรา ทำให้เกิดความทุกข์แก่เราได้

    วันนี้เรามากำหนดใจให้อยู่ภายในจริง ๆ อย่าส่งออกนอก นอกจากความรู้สึกส่วนหนึ่ง ที่แบ่งให้กับลมหายใจเข้าออกแล้ว ความรู้สึกส่วนใหญ่ ให้อยู่ข้างในให้หมด การปฏิบัติของเราทุกครั้ง ให้หวังผล สูงสุด คือ“พระนิพพาน”<O:p

    เมื่อเริ่มปฏิบัติ ให้ทุกคนตั้งใจว่า ขณะนี้ ศีลของเราทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ครบถ้วน การปฏิบัติของเรานี้ ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถ้ามันตายลงไปตอนนี้ เราปรารถนาที่เดียวคือ พระนิพพาน ให้ตัดสินใจเช่นนี้เสมอ <O:p

    ให้คิดอยู่เสมอว่า เราต้องตาย ความตายมาถึงเราได้ทุกเวลา ความตายอยู่แค่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกอีกก็ตาย หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้าอีกก็ตาย

    ลมหายใจของเรา เป็นที่รวมของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ มันหายใจเข้า แล้วมันก็หายใจออก มันหายใจออก แล้วมันก็หายใจเข้า หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ <O:p

    เปลี่ยนแปลงดังนี้อยู่ทุกวัน ๆ ทุกเวลาทุกนาที ทุกลมหายใจมีแต่ความไม่เที่ยงเป็นปกติ การที่ต้องหายใจเข้า หายใจออก คือการทำหน้าที่การงานอย่างหนึ่ง <O:p

    ถ้าหากว่ากำหนดความรู้สึกตามมันไป ก็จะเห็นว่า ลมหายใจของเรา ประกอบ ด้วยความทุกข์เป็นปกติ ทุกข์ของการที่ต้องหายใจเข้า ทุกข์ของการที่ต้องหายใจออก ถ้าไม่ทำหน้าที่ดังนี้มันตาย

    จึงต้องตะเกียกตะกายหายใจกันต่อไป อยู่ท่ามกลางความทุกข์อย่างนี้ มันไม่มีอะไรทรงตัว ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา<O:p

    ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็นเพียงธาตุลมที่เป็นสมบัติของโลกเท่านั้น ถึงวาระ ถึงเวลาที่หมดลมหายใจเข้า หมดลมหายใจออก ร่างกายนี้ก็เสื่อมสลายตายพังไป ลมก็กลับคืนไปสู่ธาตุลม <O:p

    ดังนั้น ทุกลมหายใจของเรานี้ อยู่กับความไม่เที่ยง อยู่กับความเป็นทุกข์ อยู่กับความไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อยู่กับความตายตลอดเวลา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า พระองค์ท่านระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คือ ระลึกดังนี้<O:p

    รู้อยู่ว่าหายใจเข้า ถ้าไม่หายใจออกมันก็ตาย รู้อยู่ว่าหายใจออก ถ้าไม่หายใจเข้ามันก็ตาย ความตายมันอยู่กับเราตลอดเวลา ถ้าเราเกิดมาอีก มีร่างกายแบบนี้อีก มันก็จะทุกข์แบบนี้อีก อยู่กับความตายแบบนี้อีก

    ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เราพ้นตาย พ้นเกิดได้ มีแต่แดนพระนิพพานเท่านั้น การที่เราจะไปพระนิพพานได้ จะต้องสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะสลัดตัวเองให้หลุดจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวง สิ่งร้อยรัดเราให้ติดอยู่ในวัฎฏสงสาร เรียกว่า สังโยชน์ มันมีอยู่ ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ<O:p

    ๑. สักกายะทิฐิ คือความเห็นว่า ตัวเราเป็นของเรา อันนี้แก้ด้วยการพิจารณา ในกายคตานุสติกรรมฐาน ในจตุธาตุววัฏฐาน ๔ คือพยายามให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบด้วยอวัยวะภายนอกภายใน ที่เป็นเครื่องจักรกลต่าง ๆ <O:p

    ส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อมสลายไปก็เจ็บป่วย พังไปก็ถึงแก่ความตาย หรือว่าแยกมันออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ให้เห็นจริง ๆ ว่าไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของเรา <O:p

    กระจายออกแล้วรวมเข้า รวมเข้าแล้วกระจายออก กระจายออกแล้วรวมเข้า สลับไปสลับมาดังนี้ จนกระทั่งเห็นจริง ๆ ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา มันเป็นเครื่องอาศัยที่ประกอบไปด้วยความทุกข์เท่านั้น<O:p

    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ทุ่มเทจิตใจให้ความเคารพต่อท่าน ด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง พวกเราทั้งหมดมีตัววิจิกิจฉานี้น้อยแล้ว <O:p

    ถ้าเราไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็ไม่มาปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนาดังนี้ การที่เราเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา แปลว่าวิจิกิจฉาเรามีน้อยเหลือเกิน แทบไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้<O:p

    ๓. สีลัพพตปรามาส ความไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง จากภาษาบาลีแปลว่า ลูบคลำในศีล คือจับๆ คลำๆ เท่านั้น ยังไม่เอาจริงเอาจัง เราต้องตั้งหน้าตั้งตา รักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ อย่าทำให้ศีลขาดศีลพร่องด้วยตัวเราเอง อย่ายุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ อย่ายินดีเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำ<O:p

    ๔. กามฉันทะ ความพอใจใน รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้จะต้องแก้ด้วย กายคตานุกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน มรณานุสติ ให้รู้อยู่เสมอว่าเราจะตาย ตัวเราก็ตาย ตัวเขาก็ตาย

    สภาพร่างกายที่แท้จริง เต็มไปด้วยความสกปรก มันประกอบไปด้วยอวัยวะภายในภายนอก มีแต่เหงื่อไคล น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ถึงเวลาก็ส่งกลิ่นเหม็น มีชีวิตอยู่ ก็ต้องชำระสะสางมันอยู่ทุกวัน

    สภาพของเราก็ดี ของเขาก็ดี เป็นอย่างนี้ เมื่อถึงเวลาตาย ก็เน่า ก็เปื่อย ก็โทรมไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ได้ ไม่มีอะไรน่ารักใคร่ น่าชอบใจ น่ายินดี พยายามมองให้เห็นดังนี้<O:p

    ๕. ปฏิฆะ การกระทบกระทั่ง อันเป็นสาเหตุของความโกรธ ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นคนอื่นเขา ผูกเอาไว้ในใจ ไม่ยอมละไม่ยอมวาง ให้รู้อยู่เสมอว่าตัวเรานี้อยู่ในกองทุกข์ ตัวบุคคลอื่นก็อยู่ในกองทุกข์

    เราเองจะโกรธเกลียดเขาหรือเปล่า เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เขาเองจะรู้ว่าเราโกรธเราเกลียดหรือเปล่า เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ต่างคนต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น <O:p

    ถ้าเขาทำให้เราไม่พอใจ เรื่องที่เขาทำนั้น เราเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูก็ดี ให้พิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้ามันถูกต้อง เขาคือกระจกที่ส่องให้เราเห็นหน้าตัวเอง ว่า เรานั้นน่าเกลียดน่าชังเพียงใด<O:p

    เราก็ไม่ควรไปโกรธไปเกลียดเขา เพราะว่าเขาเป็นครู เป็นผู้ที่ทำให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่ถ้าสิ่งที่เขาทำให้เราเห็น พูดให้เราได้ยิน ไม่เป็นความจริง ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องไปโกรธเขา <O:p

    บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา ขนาดไม่รู้ว่าอะไรเป็นความจริงนั้น เราจะโกรธจะเคืองเขาไปให้เสียเวลาทำไม โกรธเขาไปเราก็ลงนรก ไม่อาจจะหลุดพ้นได้ <O:p

    ต้องให้อภัยเขาให้ได้ พยายามใช้ตัวเมตตาพรหมวิหาร เห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน<O:p

    เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เป็นทุกข์เป็นโทษทั้งกับตัวเอง และคนอื่นขนาดไหน เขาถึงได้ทำไป ในเมื่อเขาไม่รู้ เราก็ควรให้อภัยเขา มองให้เห็นว่า ธรรมดาของคนที่ไม่รู้เขามีการกระทำดังนั้น ๆ<O:p

    ๖. รูปราคะ ความยินดีในรูปทั้งปวง<O:p

    ๗. อรูปราคะ ความยินดีในความไม่มีรูปทั้งปวง<O:p

    ทั้ง ๒ ข้อนี้ หมายเอาสิ่งที่เราเห็น และ เราไม่เห็น เป็นส่วนของนามธรรม ที่ละเอียดที่สุดก็คือ การทรงฌานหรือการทรงอรูปฌาน ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้จิตเราสงบเยือกเย็น ปราศจากความหวั่นไหวในรัก โลภ โกรธ หลง ตลอดเวลาที่เราทรงได้ จะทำให้เรายินดี เราพอใจ ไปยึดไปเกาะในมัน จนกลายเป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ไปติดอยู่ในโลกนี้ต่อไป <O:p

    วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ใช้กำลังของฌานหรือว่าอรูปฌานที่เราทำได้นั้น ส่งใจไปเกาะพระนิพพานแทน จับภาพพระแทน ตั้งใจว่านี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน นอกจากอยู่บนพระนิพพาน <O:p

    เอากำลังสมาธิ สมาบัตินั้นเกาะท่าน เราอยู่กับท่านคืออยู่บนพระนิพพาน ถ้าอย่างนี้ เป็นการใช้กำลังของฌานและอรูปฌานในทางที่ถูก ไม่ถือว่าเป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏฏะ<O:p

    ๘. มานะ ความถือตัวถือตน มีทั้งการถือตัวถือตนด้วยความหยิ่งทะนง คือเห็นว่าเราดีกว่าเขา เราเหนือกว่าเขา มีทั้งการถือตัวถือตนในลักษณะที่น้อยเนื้อต่ำใจ คือว่าเราต่ำต้อยกว่าเขา เราสู้เขาไม่ได้<O:p

    อันนี้เป็นการยึดถือในมานะทั้งปวงเช่นกัน ต้องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า ไม่ว่าตัวตนคนสัตว์ เราหรือเขาก็ตามล้วนแต่เป็นเช่นนี้ คือสักแต่ว่าประกอบขึ้นมาด้วยธาตุ ๔ สักแต่ว่าเป็นรูปเป็นร่าง สักแต่ว่าเป็นเครื่องใช้ไม้สอย สักแต่ว่าเป็นที่อาศัย<O:p

    ล้วนแล้วแต่อยู่แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า ทุกคนทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรรมที่ตนสร้างมา มองให้เห็นตรงจุดนี้ จะได้ไม่ไปมานะ ถือตัวถือตน<O:p

    ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง พลุกพล่านไปสู่อารมณ์ต่างๆ ให้จับลมหายใจเข้าออก ให้เป็นฌานสมาบัติให้ได้ แล้วเอากำลังนั้นเกาะพระนิพพานแทน ก็จะตัดความฟุ้งซ่านนี้ได้<O:p

    ๑๐. อวิชชา ความรู้ไม่ครบ รู้ไม่หมด หรือที่บางท่านแปลว่า ความไม่รู้นั้น ประกอบขึ้นมาจากสองสิ่ง คือฉันทะ รู้สึกพอใจในมัน จึงเกิดราคะ คือ ยินดีอยากมีอยากได้ <O:p

    ตัวนี้ต้องระวังให้จงหนัก เผลอเมื่อไหร่มันเกาะใจเราเมื่อนั้น ต้องสร้างสติ สมาธิ ปัญญาให้สมบูรณ์จริง ๆ ตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น อย่าไปยินดีหรือไม่ยินดีกับมัน ยินดีนั้นเป็นราคะ ไม่ยินดีนั้นเป็นโทสะ พยายามวางใจให้นิ่ง วางใจให้ทรงตัวเป็นอุเบกขา

    สักแต่ว่าเห็นรูปให้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น อย่าไปพิจารณาว่าเป็นหญิงเป็นชาย อย่าไปพิจารณาว่าสวยหรือไม่สวย หล่อหรือไม่หล่อ อย่าไปฟุ้งซ่านคิดต่อว่า ถ้าเป็นสามีหรือภรรยาเราแล้วจะเป็นอย่างไร

    หูได้ยินเสียง ให้สักแต่ว่าได้ยินอยู่ตรงนั้น อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปพอใจกับมัน ถ้ายินดีเมื่อไหร่ พอใจเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความอยากมี อยากได้เมื่อนั้น<O:p

    จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิด ล้วนแล้วแต่อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต้องรู้เท่าทัน ต้องหยุดมันให้ได้ <O:p

    ถ้าสามารถทำดังนี้ได้ ทันทีที่ตาเห็นรูป ปัญญาจะบอกว่า ถ้าเราคิดมันจะออกไปในแง่ไหน ในเมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของการคิด คือจะพาให้เราติดอยู่ในวัฏฏะ เวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จบ <O:p

    ต้องเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม วนเวียนไม่มีที่สุดดังนี้ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษดังนี้ ก็จะหยุดมันเอาไว้แค่นั้น สามารถที่จะระงับมันไว้ได้ไม่ปรุงแต่งต่อ <O:p

    ในเมื่อสามารถหยุดมันตรงนั้น ดับมันตรงนั้น มันคือนิโรธ การเข้าถึงความดับ สังโยชน์ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำอันตรายเราได้ ถ้าเราดับมันได้อย่างสิ้นเชิง เราก็จะพ้นทุกข์ พ้นการเวียนตายเวียนเกิด

    ดังนั้น ให้เราทุกคนพิจารณาอยู่เสมอ ๆ ในสังโยชน์ทั้งสิบข้อ สมัยอาตมาปฏิบัติใหม่ๆ หลวงพ่อให้เขียนติดหัวนอนเอาไว้ ตื่นเช้าขึ้นมาลืมตาดู วันนี้มันมีข้อไหนที่เรายังทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ วันนี้มันมีข้อไหนที่มันร้อยมันรัด มันยึด มันติดในใจเราอยู่ เราต้องแกะมันออก สลัดมันออก ปลดมันออกให้ได้ <O:p

    อริยสัจ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้นั้น ที่สำคัญคือรู้ในทุกข์ ดังนั้นว่า สังโยชน์ทุกข้อ ล้วนแล้วแต่พาให้เราเกิดทุกข์ ในเมื่อสาเหตุใหญ่ของการพาให้เกิดทุกข์ คือการมีร่างกายนี้

    ถ้าเราพิจารณาจนเห็นอย่างแท้จริงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีความยินดีในมัน ไม่มีความปรารถนาในมัน ทุกข์นั้นก็จบลง การเวียนตายเวียนเกิดก็สิ้นสุดลง <O:p

    ความทุกข์นั้น ท่านบอกว่า ปริญญาตันติ เม คือให้เรากำหนดรู้ รู้แล้ววางลง ไม่จำเป็นต้องไปแบกในมัน รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นทุกข์ แล้วก็ปล่อยมันอยู่ตรงนั้น <O:p

    ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นสมบัติของร่างกาย การที่เราจะอยู่กับมันต่อไป อย่างไรก็ไม่เกินหนึ่งร้อยปี การที่เราทุกข์ทรมานอยู่หนึ่งร้อยปีมนุษย์ ถ้าเปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับกัลป์ไม่ถ้วนแล้วไซร้ มันก็เป็นเวลาชั่วแวบเดียวเท่านั้น เหมือนกับเราหลับตาลงแล้วลืมตาขึ้นเท่านั้น ระยะเวลาแค่นิดเดียวแค่นี้ทำไมเราจะอยู่กับมันไม่ได้ <O:p

    กำหนดใจให้รู้ให้เห็นในทุกข์นั้น ให้รู้ว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดได้เกิดอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว สิ่งที่ไม่ว่าจะทุ่มเททรัพย์สินเงินทองเท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่อาจซื้อหามาได้นั้น อยู่ตรงหน้าเราแล้ว <O:p

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทนทุกข์ยากลำบาก สร้างบารมีมาอย่าง น้อย สี่อสงไขยกับแสนมหากัลป์ ถึงจะตรัสรู้ ถึงจะมีปัญญาญาณเห็นทุกข์นี้ได้ แต่ขณะนี้สิ่งที่เห็นได้ลำบาก ต้องใช้ปัญญาอย่างมหาศาล ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่เบื้องหน้านี้แล้ว<O:p

    เราจึงควรจะยินดี ควรจะดีใจว่า ขณะนี้ร่างกายแสดงความทุกข์ให้เราเห็น สิ่งที่เราไม่สามารถ จะซื้อหาด้วยทรัพย์สินเงินทองใดใด ไม่สามารถจะเรียกร้องให้มันปรากฏขึ้นได้ แต่ขณะนี้มันแสดงให้เห็น ปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว <O:p

    ในเมื่อทุ่มเทเงินทองเท่าไหร่ก็ไม่อาจจะซื้อหาได้ ดังนั้นความทุกข์จึงมีคุณค่ามหาศาล มีคุณค่ายิ่งกว่าทองเท่าภูเขา มีคุณค่ายิ่งกว่าโคตรเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก<O:p

    เราก็จะเห็นว่า จริง ๆ แล้วความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะคอยกระตุ้นเตือนเราให้เรารู้ตัวอยู่เสมอ จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในวัฏฏสงสาร จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในร่างกายของเรา จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในร่างกายของคนอื่นเขา

    ถ้าหากว่ากำหนดรู้ได้ดังนี้ กำหนดเห็นได้ดังนี้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความสุข เพราะเราปล่อยวางในทุกข์ทั้งปวง เราจะเป็นผู้ที่เข้าถึงนิพพาน เป็นผู้หลุดพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิด พยายามพิจารณาสังโยชน์ทั้งหมด ให้รู้ว่าถ้ามันร้อยรัดเรา มันจะดึงเราตกอยู่ในห้วงทุกข์<O:p

    แต่ขณะนี้แม้มันดึงเราอยู่ในห้วงทุกข์ แต่เราก็เห็นทุกข์ชัดเจนแล้ว ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เป็นทุกข์นี้ เราไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่าโลกเราที่เป็นทุกข์นี้ เราไม่ขอมาเกิดอีก จะเป็นเทวดา เป็นพรหม ที่หลุดพ้นทุกข์ชั่วคราว เราก็ไม่เอา เราต้องการที่เดียวคือ พระนิพพาน<O:p

    เมื่อมาถึงจุดนี้ ให้ส่งใจเกาะพระนิพพานไว้ การส่งใจออกนอก จะมีคุณค่าที่สุดต่อเมื่อส่งไปเกาะพระนิพพานไว้ ส่งไปเกาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ตั้งใจว่าถ้าเราตายวันนี้เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น <O:p

    ทำใจจดจ่อมั่นคงอยู่กับพระนิพพานตรงหน้า ให้รู้ถึงความว่าง ความโปร่งเบา ความใสสะอาด ความเยือกเย็น ของพระนิพพาน ให้อารมณ์พระนิพพานนี้ เต็มอยู่ในจิตในใจของเรา เต็มอยู่ในกายของเรา <O:p

    ทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ให้พยายามประคับประคอง รักษาอารมณ์พระนิพพานนี้ ให้อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ยิ่งนานเท่าไหร่กิเลสมันก็ยิ่งตายลงไปมากเท่านั้น ยิ่งลดน้อยลงไปมากเท่านั้น โอกาสที่เราจะเข้าสู่พระนิพพานของเรา ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น<O:p

    จิตของเราจดจ่ออยู่กับภาพพระนิพพาน ที่ใส สะอาด สว่าง สงบ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นแก้วแพรวพราวผ่องใสอยู่ตรงหน้า อยู่ในวิมานที่เกิดจากบุญบารมีที่เราสร้างสมมา ที่สว่างไสวแพรวพราวอยู่ตรงนี้ <O:p

    มีสติรู้ตัวเมื่อไหร่ กำหนดใจมาตรงนี้ ทำให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้นานที่สุด ในแต่ละวัน ในอิริยาบถไหน ๆ ก็ตามให้กำหนดเอาไว้ดังนี้ <O:p

    ประคับประคองให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อความสุขในปัจจุบัน และความสุขในอนาคต คือเมื่อตายแล้วให้ไปอยู่ในนิพพานนี้ <O:p

    ให้ค่อย ๆ กำหนดสติ ถอนกำลังใจออกมาสู่อารมณ์ปกติ เพื่อที่เราจะได้กลับมาสวดมนต์ทำวัตรของเราต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพุธที ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  6. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๖. พุทธานุสติ พรหมวิหาร ๔ ธาตุ ๔


    ทุกคนนั่งตัวตรงแต่ไม่ต้องเกร็งร่างกาย หลับตาลงเบาๆ สบายๆ เหมือนกับเรากำลังนั่งคุยกับใครสักคน เอาตาเรามองย้อนเข้าไปในศีรษะ มองย้อนลงไปในอก มองย้อนลงไปถึงในท้อง

    ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง ผ่านกลางอก ออกมาที่ปลายจมูก

    เวลาลมกระทบจมูก กระทบกึ่งกลางอก กระทบที่สุดของท้องให้รู้ไว้ เวลาลมออกจากท้อง กระทบกึ่งกลางอก กระทบปลายจมูกให้รู้ไว้ เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เท่านั้น

    ถ้ามันคิดเรื่องอื่น ให้ดึงมันกลับมาอยู่กับลมหายใจทันที หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ <O:p

    นึกถึงภาพพระไว้องค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นภาพแบบพระสงฆ์ก็ดี แบบพระพุทธก็ดี แบบพระวิสุทธิเทพก็ดี ให้อยู่ตรงหน้าของเรา ตรงๆ ไปข้างหน้า อย่าใช้สายตามอง อย่าใช้สายตาเพ่ง

    กำหนดใจสบายๆ ว่ามีภาพพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้าของเรา จะเห็นหรือไม่เห็นช่างมัน ให้เรารู้สึกและมั่นใจว่ามีพระอยู่ตรงหน้าของเรา หายใจเข้าจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น หายใจออกกำลังใจจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น

    หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ทำใจเบาๆ สบายๆ นึกว่ามีพระพุทธรูปสว่างๆ องค์หนึ่งอยู่ตรงหน้าของเรา สายตาไม่เห็นไม่เป็นไร เพราะเราหลับตาต้องไม่เห็นอยู่แล้ว

    เอาความรู้สึกทั้งหมดจดจ่ออยู่ตรงหน้านั้น นึกถึงภาพพระนั้นไว้ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น จดจ่อให้แน่วแน่อยู่สักครู่หนึ่ง

    คราวนี้กำหนดกำลังใจของเรา ดึงเอาภาพพระนั้นมา อยู่เหนือศีรษะของเรา เท่ากับว่าตอนนี้ เรามีพระพุทธรูปอยู่บนศีรษะ เป็นพระพุทธรูปแก้วใส สว่าง สะอาด อยู่ข้างบน เปล่งรัศมีใสสว่าง ครอบคลุมตัวเราลงมา

    หายใจเข้า พระพุทธรูปก็สว่าง หายใจออก พระพุทธรูปก็สว่าง ความสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรานี่เอง ให้พระพุทธรูปหันหน้าไปด้านเดียวกับเรา เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดที่เรากำหนดความรู้สึก ควบคุมได้แบบสบาย ๆ ต้องการหน้าตักกว้างสักเท่าไหร่ เรากำหนดเอาเอง

    หายใจเข้าพระก็สว่าง หายใจออกพระก็สว่าง ยิ่งเอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระ ยิ่งกำหนดลมหายใจเข้าออกมากเท่าไหร่ พระองค์ท่านก็สว่างมากขึ้นทุกทีๆ ความสว่างนั้นครอบคลุมตัวเราลงมา จนกระทั่งตัวเราก็พลอยสว่างไปทั้งหมดด้วย

    กำหนดใจว่าภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่าง ถ้ามันจะภาวนา ให้มันภาวนา ถ้ามันไม่ต้องการภาวนาก็ปล่อยมัน ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับภาพพระที่สว่างอยู่เฉย ๆ <O:p

    คราวนี้กำหนดภาพพระ เพิ่มขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง องค์แรกสว่างไสวอยู่บนศีรษะของเรา องค์ที่สองนี้เอาท่านเข้ามา อยู่ในกะโหลกศีรษะของเรา เหมือนกับว่าตอนนี้หัวของเราว่าง ๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไรเลย

    มีพระพุทธรูปแก้วใสๆ สว่างๆ อยู่ในหัวองค์หนึ่ง อยู่บนหัวองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์แรกอยู่เหนือหัวของเรา องค์ที่สองอยู่ในหัวของเรา <O:p

    หายใจเข้าภาพพระทั้งสองก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสององค์ก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น <O:p

    จากนั้นกำหนดภาพพระองค์หนึ่ง ให้อยู่กึ่งกลางอกของเรา ตรงที่ลมหายใจต้องผ่าน ภาพพระองค์แรก อยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สอง อยู่ในหัวของเรานี่เอง องค์ที่สาม อยู่กึ่งกลางอกของเรา

    หายใจเข้าภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น ใครจะกำหนดให้องค์ไหนใหญ่ แล้วแต่เราชอบ แล้วแต่ถนัด องค์ที่หนึ่งใหญ่ องค์ที่สองเล็ก องค์ที่สามใหญ่ ก็แล้วแต่เราชอบ

    หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น<O:p

    จากนั้นให้กำหนดภาพพระองค์ที่สี่ ให้อยู่ในท้องของเรา อยู่ตรงที่ลมหายใจเข้าออกไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจเข้าลมจะไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจออกลมจะออกจากตรงนั้น ให้มีภาพพระพุทธรูปองค์ที่สี่อยู่ในท้องของเรา ใสสว่างเหมือนกัน <O:p

    องค์ที่หนึ่งอยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สองอยู่ในศีรษะของเรา ระดับเดียวกับสายตาของเรา องค์ที่สามอยู่ในอก องค์ที่สี่อยู่ในท้อง ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปอยู่ด้วยกับเราสี่องค์ หายใจเข้าพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจออกพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น

    เหมือนกับว่าเราหายใจผ่านทางศีรษะของเรา ลมหายใจเข้า ผ่านพระองค์ที่หนึ่ง มาถึงองค์ที่สอง ถึงองค์ที่สาม ไปสิ้นสุดที่องค์ที่สี่ ภาพพระสว่างสดใสขึ้นตามลมหายใจ หายใจออก ลมหายใจกลับพระองค์ที่สี่ มาพระองค์ที่สาม มาที่พระองค์ที่สอง ไปหมดที่พระองค์ที่หนึ่ง ภาพพระยังคงใสสว่างอย่างนั้น <O:p

    หายใจเข้า ภาพพระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่าง หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่งก็สว่าง หายใจเข้าหนึ่ง สอง สาม สี่ หายใจออก สี่ สาม สอง หนึ่ง เข้าพระสว่างทุกองค์ ออกพระสว่างทุกองค์<O:p

    หายใจเข้า พระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่างขึ้น หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่ง สว่างขึ้น เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง พระพุทธรูปสว่างไสวไม่มีประมาณ<O:p

    จากนั้นกำหนดภาพพระองค์ที่หนึ่ง องค์สอง และองค์สี่ มารวมกันอยู่ในอกของเรา กลายเป็นพระพุทธรูปแก้วใส อยู่ในอกของเราองค์เดียว ภาพพระทั้งสี่องค์ ตอนนี้เหลืออยู่ในอกของเราองค์เดียว <O:p

    กำหนดให้ท่านเลื่อนลงไปอยู่ในท้อง เล็กลงไปหน่อยหนึ่ง ตามลมหายใจเข้าไป อยู่ที่ท้องท่านก็เล็กลง เลื่อนออกมาตามลมหายใจออก ท่านก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น มาที่อก มาที่ศีรษะ ไปอยู่เหนือหัวโน่น ใหญ่เบ้อเร่อเลย <O:p

    หายใจเข้า ท่านก็ไหลเข้ามา จากใหญ่ก็เป็นเล็ก มาอยู่ในศีรษะ มาอยู่ในอก ลงไปที่ท้อง เป็นองค์เล็กจิ๋วอยู่ในท้องโน่น หายใจออก กำหนดภาพท่านใหญ่ขึ้น มาที่หน้าอก มาที่ศีรษะ ไปใหญ่โตมโหฬาร อยู่เหนือศีรษะเราโน่น

    หายใจเข้า พระพุทธรูปแก้วองค์ใหญ่เล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้องของเรา หายใจออก พระพุทธรูปแก้วองค์เล็กใหญ่ขึ้น ๆ ๆ จนไปอยู่บนศีรษะของเรา หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ๆ ๆ เลื่อนไปอยู่บนศีรษะ<O:p

    คราวนี้กำหนดใจ ให้นิ่งอยู่กับภาพพระบนศีรษะ ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปองค์เดียว พระพุทธรูปทุกองค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด อยู่บนศีรษะของเรา สว่างไสวไปทั่ว ให้กำหนดใจ แผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย <O:p

    ให้รัศมีขาวสะอาดสว่างไสวของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างจากร่างกายของเราออกไป เหมือนอย่างกับเราโยนก้อนหินลงน้ำ แล้วน้ำกระเพื่อมเป็นวงกว้างออกไป ๆ ทุกที กว้างออกไปจากร่างกายของเรา เต็มทั้งห้อง ๆ นี้ ทั้งวัดนี้ ทั้งตลาด ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด กำหนดใจกว้างออกไปเรื่อย ๆ ตั้งใจว่า<O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตทั้งหลายของท่านเหล่านั้น ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด...”<O:p

    กำหนดกำลังใจ ให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากทั้งจังหวัดก็ไปทั้งประเทศ ไปทั้งทวีป ไปทั้งโลก เหมือนกับภาพพระพุทธรูปและตัวเรา โตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกเราทั้งโลกเหมือนกับลูกอะไรเล็กๆ ลูกเดียว ที่อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา กำหนดใจเอาไว้แผ่เมตตาออกไปให้ตั้งใจเอาไว้ว่า

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยากเศร้าหมอง เดือดร้อนลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใดๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”<O:p

    กำหนดกำลังใจให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ๆ ดวงดาวดวงอื่น ๆ ไปทั้งจักรวาลนี้ ไปทั้งจักรวาลอื่น ๆ ที่มีดวงดาวนับประมาณไม่ได้ <O:p

    ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ที่มีมนุษย์ มีสัตว์ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้รับผลแห่งความเมตตา ที่แผ่ออกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านกายของเราออกไป ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น พ้นทุกข์ มีความสุขโดยทั่วหน้ากัน กำหนดใจสบาย ๆ คิดว่า <O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด...” <O:p

    นึกถึงภาพพระที่ใสสว่าง นึกถึงตัวเราที่ใสสว่าง นึกถึงกระแสเมตตาที่ใสสว่าง ให้แผ่ปรกไปทั่วทั้งทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า เบื้องต่ำสุด ถึงอเวจีมหานรก นรกทุกขุม เปรตทุกจำพวก อสุรกายทุกประเภท สัตว์เดรัจฉานทุกชนิด

    มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ในทุกจักรวาล เทวดาทั้งหมด พรหมทั้งหมด พระในนิพพานทั้งหมด ล้วนแต่อยู่ในกระแสเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ให้กำหนดใจว่า

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล แก่ผู้ที่ตกอยู่ใน ความทุกข์ยากยิ่งกว่าเรา ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้ง หลาย ไปสู่สันติสุขโดยถ้วนหน้าคือพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...”<O:p

    จากนั้นน้อมจิตน้อมใจ กราบลงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สว่างไสว ที่ใหญ่โตหาประมาณไม่ได้ ให้คิดว่าท่านคือพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อยู่ที่ใดเลยนอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน ถ้าเราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน <O:p

    ให้กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่กับเรา ความใส สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นของพระนิพพานเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเรา<O:p

    จากนั้นกำหนดใจดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือความเป็นจริง ๓ อย่าง ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนให้ยึดถือได้ <O:p

    ดูว่า ไม่ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าพืชก็ตาม เมื่อแรกเกิดก็เล็กนิดเดียว แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอยู่ในวัยเด็ก จากเด็กเล็กก็เป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ เป็นสัตว์แก่ เป็นต้นไม้ชรา <O:p

    ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไป มันไม่เที่ยงอย่างนี้ ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องหนาว ต้องร้อน ต้องหิว ต้องกระหาย ต้องหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม เข้าห้องน้ำ เข้าห้องส้วม รักษาพยาบาล ดูแลทำความสะอาดมัน ไม่ให้สกปรก<O:p

    ต้นไม้ทั้งหลายก็ต้องหากิน ต้องแผ่ขยายรากลงไปในหิน ในดิน ซึ่งบางที่ก็แข็งกว่าจะเจาะผ่านไปได้ ก็แสนลำบากยากเย็น กว่าจะหาธาตุอาหารได้สักส่วนหนึ่ง กว่าจะหาน้ำได้สักส่วนหนึ่ง มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา <O:p

    ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะวัตถุธาตุ สิ่งของใดๆ ก็ตาม ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์อย่างนี้ทั้งนั้น จากนั้นก็กำหนดใจดูไปว่า ตัวคนก็ดี ตัวสัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี สิ่งของก็ดี มันไม่มีอะไร เป็นส่วนประกอบแท้จริงส่วนเดียว ล้วนเกิดจากสิ่งของหลายอย่าง รวมกันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้น <O:p

    เอาตัวเราเป็นหลักก็แล้วกัน ร่างกายของเรานี้เกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวมกันขึ้นมาชั่วคราว แล้วเราก็มาอาศัยอยู่ เหมือนคนที่อยู่ในบ้าน เหมือนเต่าที่อยู่ในกระดอง เหมือนหอยที่อยู่ในเปลือก เหมือนคนที่ขับรถยนต์ ธาตุ ๔ นี้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เป็นอย่างไร ? ให้กำหนดใจนึกตามไป<O:p

    ธาตุดิน คือส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในใหญ่น้อย อวัยวะภายนอกใหญ่น้อย ทั้งปวงที่จับได้ต้องได้ มีความแข็งเรียกว่าธาตุดิน <O:p

    ธาตุน้ำ คือส่วนที่เหลว เอิบอาบไหลอยู่ในร่างกายของเรา คือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ <O:p></O:p>
    ธาตุลม คือส่วนที่พัดไปมาอยู่ในร่างกายของเรา มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้อง ลมที่ค้างในไส้ เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย เรียกความดันโลหิต <O:p

    ธาตุไฟ คือส่วนที่ให้ความอบอุ่น ได้แก่ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในการรักษาสภาพความสมดุลของร่างกายเราเอาไว้ <O:p

    ลองแยกทั้งหมดออกเป็น ๔ ส่วนด้วยกัน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอก รวมไว้กองหนึ่ง <O:p></O:p>
    ส่วนที่เป็นน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ แยกไว้อีกกองหนึ่ง

    ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดขึ้นเบื้องสูง ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกกองหนึ่ง

    ส่วนที่เป็นความอบอุ่นในร่างกาย ที่ก่อให้เกิดความสมดุล ส่วนที่ช่วยเผาผลาญย่อยอาหาร ส่วนที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ทำลายร่างกายให้ทรุดโทรมลง แยกไว้อีกกองหนึ่ง

    จะเห็นว่ากองนี้คือดิน กองนี้คือน้ำ กองนี้คือลม กองนี้คือไฟ ไม่มีอะไรเหลือเป็นเราเลยแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่มี เอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟเหล่านี้มาขยำรวม ๆ กันเข้า ปั้นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เรามาอาศัยมันอยู่ ก็ไปคิดว่าเป็นตัวกู ของกู

    ตัวเรา ของเรา จริง ๆ แล้วมันไม่มี มันเป็นรถยนต์ที่เราอาศัยขับมันอยู่ มันเป็นกระดองที่เต่าต้องแบกไป มันเป็นเปลือกที่หอยต้องแบกไป มันเป็นบ้านที่เราอาศัยมันอยู่ ถึงเวลาบ้านพังก็ไม่เกี่ยวกับเรา

    ขณะที่อยู่กับมัน ก็มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด อยู่กับมันก็มีแต่ความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย

    ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของความปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เกิดมาเมื่อไหร่ก็ทุกข์อย่างนี้อีก เกิดมาเมื่อไหร่ ก็มีร่างกายที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอีก อยู่บนโลกที่ทุกข์ยากแบบนี้อีก มีสถานที่เดียวที่ไม่เกิดไม่ตาย ก็คือ พระนิพพาน<O:p

    เมื่อเห็นชัดแล้วว่า ร่างกายนี้หาความดีไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ แล้วเรายังจะปรารถนาร่างกาย ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ปรารถนาโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนอย่างนี้ไปอีกทำไม ? เพราะเกิดอีกเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น<O:p

    ขึ้นชื่อว่าการเกิดเช่นนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่มีแต่ความทุกข์เห็นปานนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว<O:p

    เป็นเทวดาหรือพรหม มีความสุขเพียงชั่วคราว หมดบุญเมื่อไหร่ก็ต้องลงมาทุกข์อีก เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ตายลงไปเมื่อไรเราขอมาอยู่ที่นี่ อยู่ที่พระนิพพานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่พระนิพพานนี้เท่านั้น<O:p

    เอาใจเกาะพระนิพพานให้มั่นคง ทรงอารมณ์นี้เอาไว้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จนกว่าจะได้ยินเสียงบอกหมดเวลา

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพฤหัสบดีที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  7. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๗.การปฏิบัติพระกรรมฐาน


    ครั้งนี้เราเท่ากับว่า เริ่มกรรมฐานรอบใหม่ของปีใหม่ ทิ้งกันไปหลายวันให้ทำกันเอง กำลังใจก็ไม่ทรงตัว พวกเราทุกคน จำเป็นที่จะต้องรักษากำลังใจ ให้ทรงตัวให้ได้ เพราะว่าการเกาะในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเกาะในครูบาอาจารย์ ขอให้เกาะให้ถูกต้อง <O:p

    ถ้าตราบใดที่เรายังต้องอาศัยท่านอยู่ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่มีกายเนื้อ ตราบนั้นเรายังเอาตัวรอดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง


    ต่อไปถ้าหากว่าสิ้นท่านไป เราก็จะเคว้งคว้าง หาที่เกาะไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสไว้ว่า ขอให้มีตัวเองเป็นเกาะ ขอให้มีตัวเองเป็นฝั่ง เพื่อที่จะให้ข้ามวัฏฏะสงสารนี้ให้ได้ การมีตัวเองเป็นเกาะ คืออย่างน้อย ๆ ต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัว

    เพื่อว่าเราซึ่งอยู่ท่ามกลางทะเลทุกข์นี้ ถ้าเรามีเกาะเป็นเครื่องอาศัย เราก็จะทุกข์น้อยกว่าคนอื่น หรือว่ามีตนเองเป็นฝั่ง คือเราจะสามารถก้าวล่วงทะเลทุกข์นี้ขึ้นสู่ฝั่งได้ อันนี้ก็ถือว่าประเสริฐที่สุด


    การปฏิบัติทุกครั้งอย่าลืม เริ่มต้นที่ลมหายใจเข้าออก สติทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่ หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้องให้รู้ตลอดไป หายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มากระทบปลายจมูกให้รู้อยู่ตลอดไป

    สติมันเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อไร ให้ดึงมันกลับมา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเมื่อนั้น ถ้าเราหมั่นทำอย่างนี้บ่อย ๆ กำลังใจจะทรงตัวได้ง่าย ก้าวถึงระดับของฌานสมาบัติได้ง่าย


    มีอยู่จุดหนึ่งที่อยากจะเตือนคือว่า พวกเราพอก้าวถึงความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว มันผ่านขั้นตอนอะไรมา เรามักจะไปตามดู ตามจี้มันอยู่ตรงนั้น ซึ่งอันนี้ผิด อย่างการทรงปฐมฌาน มันจะผ่านอารมณ์วิตก คือนึกอยู่ว่าภาวนา

    วิจารณ์คือ รู้อยู่ว่าตอนนี้ภาวนาอยู่ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น คำภาวนาว่าอะไรรู้อยู่

    ปีติ มีอาการ ต่าง ๆ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ร่างกายลอยขึ้น หรือว่าตัวพองตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรูมาก ๆ หรือว่าแตกระเบิดไปเลย
    <O:p

    ถัดไปคือสุข ความเยือกเย็นใจ เนื่องจากกำลังใจทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า ทำให้รัก โลภ โกรธ หลง ที่แผดเผาเราอยู่ ต้องดับลงชั่วคราว มันเย็นกายเย็นใจบอกเป็นภาษาคนไม่ถูก

    อันดับสุดท้ายคือเอกัคตา อารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ไม่เคลื่อนคล้อยไปที่อื่น
    <O:p

    พอขั้นตอนต่าง ๆ นี้เกิดขึ้น เราจำมันได้ พอถึงเวลาก็นี่วิตกนะ นี่วิจารณ์นะ นี่ปีตินะ เดี๋ยวมันจะต้องสุข เดี๋ยวมันจะต้องเป็นเอกัคตา ถ้าเราไปตามจี้มันอยู่ในลักษณะนี้ อารมณ์มันจะไม่ทรงตัว
    <O:p

    เพราะอารมณ์ใจนั้น มันประกอบด้วยความอยากมากเกินไป มันเป็นอารมณ์ของอุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านของใจเราเอง ความฟุ้งซ่านเป็นนิวรณ์ คือกิเลสที่หยาบ ถ้าตราบใด กิเลสหยาบห้าตัวตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในใจของเรา ตราบนั้นกำลังใจจะไม่ทรงตัว


    ดังนั้น ให้เรากำหนดภาวนาเฉย ๆ กำหนดรู้ลมเฉย ๆ เรามีหน้าที่ภาวนา เราภาวนาของเราไป มันจะเป็นฌาน หรือไม่เป็นฌาน เป็นเรื่องของมัน สิ่งที่ต้องระวังอีกจุดหนึ่งก็คือเมื่อก้าวเข้าถึงตัวปีติ อารมณ์ใจมันจะไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ไม่หน่ายในการปฏิบัติ ต้องระมัดระวังไว้
    <O:p

    ให้ตั้งเวลาการปฏิบัติไว้ เอาประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออย่าให้เกินหนึ่งชั่วโมง เหตุที่ต้องตั้งอารมณ์ปฏิบัติเอาไว้ เพราะว่าถ้าไปทุ่มเทมันมาก ๆ ก็เหมือนกับคนที่โหมทำงานหนัก ถึงเวลามันจะทรงตัวได้แค่ครั้งเดียว รุ่งขึ้นทำงานหนักอย่างเดิมไม่ได้
    <O:p

    ขณะเดียวกัน การปฏิบัตินั้น ถ้าเราไม่ถอนอารมณ์ใจออกมา มันจะข้ามวันข้ามคืน โดยไม่รู้ตัว ร่างกายทนไม่ไหว ประสาทร่างกายมันชำรุดลง อันตรายมันจะเกิดขึ้น คืออยู่ในลักษณะที่เรียกว่ากัมมัฏฐานแตก สติแตก หรือบางคนก็ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ทำให้เป็นบ้าไป
    <O:p

    จริง ๆ แล้วกรรมฐานช่วยให้หายบ้า ที่ทำแล้วเป็นบ้าเพราะว่าทำมากเกินไป ไม่รู้จักประมาณ เมื่อเราตั้งเวลาไว้ครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงแล้ว เมื่อเลิกจากนั้นให้ประคับประคอง รักษาอารมณ์ของเราให้อยู่ตลอด เปลี่ยนอิริยาบถอื่น ไปทำการทำงาน จากนั่งเป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน การเปลี่ยนอิริยาบถ ร่างกายจะได้พักผ่อน มันจะได้ไม่ตึงจนเกินไป
    <O:p

    ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือ เมื่ออารมณ์ใจเริ่มก้าวสู่สมาธิที่สูงขึ้น ลมหายใจเข้าออกมันจะเบาลงโดยอัตโนมัติ ละเอียดลงโดยอัตโนมัติ บางทีคำภาวนาก็หายไป บางทีลมหายใจพร้อมกับคำภาวนา ก็หายไปด้วยกัน
    <O:p

    บางคนรู้สึกตกใจว่า เอ๊ะ..เราไม่ได้หายใจ เอ๊ะ..เราไม่ได้ภาวนา แล้วก็รีบตะเกียกตะกายหายใจใหม่ ภาวนาใหม่ อันนั้นทำให้กำลังใจถอยกลับมาสู่จุดแรกเริ่ม เขาให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ให้รู้ว่าตอนนี้ลมหายใจมันเบา ตอนนี้คำภาวนามันหายไป รู้ไว้เฉย ๆ
    <O:p

    ไม่ต้องไปตกอกตกใจ ไม่ต้องไปอยากมัน ไม่ต้องไปสนใจว่าขั้นตอนต่อไปมันจะเป็นอย่างไร รักษาอารมณ์ให้ทรงตัวให้เป็นปกติ เมื่อถึงเวลามันก็จะก้าวข้ามไป
    <O:p

    เมื่อลมหายใจเบาลง หลังจากนั้น กระทั่งลมหายใจและการภาวนาก็หายไป ร่างกายเหมือนกลายเป็นหินไป ความรู้สึกรวมอยู่จุดเดียว สว่างโพลงเฉพาะหน้าไม่สนใจอารมณ์อื่น
    <O:p

    ให้กำหนดใจว่า เราจะอยู่ในอารมณ์นี้ ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ถอยออกมา จิตมันมีสภาพจำ เมื่อถึงเวลา มันจะถอยออกมาของมันเอง จะได้ไม่เผลอ ข้ามคืนข้ามวันไปโดยไม่รู้ตัว


    สมาธิยิ่งลึกเท่าไร เวลาก็ผ่านไปแบบไม่รู้ตัวมากเท่านั้น เรารู้สึกว่าแป๊บเดียวบางทีผ่านไปครึ่งค่อนวัน ข้ามคืนไปแล้วก็มี พวกขั้นตอนเหล่านี้เราต้องจดจำให้ขึ้นใจ ถึงเวลาถึงวาระ อารมณ์ใจอะไรเกิดขึ้น เราจะต้องรับมือมันได้ตามขั้นตอนที่ว่ามา จะได้ไม่เสียประโยชน์ของเราเอง
    <O:p

    ตัวผมเองติดอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ แค่อารมณ์ปฐมฌาน ผมติดอยู่ตั้ง ๓ ปี เพราะว่ารู้ขั้นตอนมันหมด ก็เลยตามดู ตามจี้มันอยู่ตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าตัวนั้นเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งวันหนึ่งทำใจไว้ว่า ต่อไปนี้มันจะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่างเถอะ เราภาวนาก็แล้วกัน คิดแค่นั้นอารมณ์ทรงตัวทันที
    <O:p

    ดังนั้น พวกเราอย่าก้าวข้ามขั้นตอนไป หรือว่าอย่าไปตามจี้ขั้นตอนของมัน อารมณ์ใจของเราเป็นอย่างไร ให้เราเอาสติกำหนดรู้เท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือตัวเมตตา ตัวพรหมวิหาร ๔ เป็นตัวที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้เยือกเย็น หล่อเลี้ยงกรรมฐานให้เจริญยั่งยืนได้
    <O:p

    แต่ละวันพยายามแผ่เมตตา โดยให้อารมณ์ใจทรงตัว ในลักษณะที่เคยสอนไปให้มากที่สุด การที่เราแผ่เมตตาออกไป นอกจากจะทำให้คนและสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งสิ่งที่เราไม่เห็นตัว คือเหล่าอทิสมานกายต่าง ๆ เป็นมิตรกับเรา มีความรักใคร่ ให้การสงเคราะห์กับเราแล้ว


    กำลังใจที่ทรงตัวด้วยอารมณ์ของพรหมวิหารนั้น จะก้าวขึ้นสู่ระดับความเป็นพระอริยเจ้าง่ายมาก เพราะว่าจิตที่มีเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนใคร อารมณ์ใจที่ทรงไว้อยู่อย่างนั้น ศีลทุกข้อจะรักษาได้โดยอัตโนมัติ


    เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็จะไม่ฆ่าเขา เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็ไม่ลักขโมยเขา เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็ไม่ละเมิดในคนที่เขารัก เรารักเขา เราสงสารเขา เราอย่าไปโกหกเขา เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อยากเห็นคนอื่นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา และก็ไม่แนะนำให้คนอื่นทำเช่นนั้นด้วย

    ดังนั้น การปฏิบัติของเราทุกครั้ง ลมหายใจเข้าออก เป็นหลักสำคัญประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ ต้องแผ่เมตตา จนอารมณ์ใจของเราทรงตัว ประการสุดท้ายก็คือพยายามพิจารณาให้เห็นความจริงในสภาพร่างกายของเรานี้
    <O:p

    ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ให้เห็นว่า ถ้าหากเรายึดถือมั่นหมาย ยึดเกาะติดอยู่กับส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบ ส่วนละเอียด มีรูปหรือไม่มีรูป ล้วนแล้วแต่พาให้เราทุกข์
    <O:p

    โดยเฉพาะการอยู่กับร่างกายนี้ มีแต่ความทุกข์ การดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ พยายามหลีกหนีมัน ไปให้พ้นให้ได้ อีกอย่างหนึ่ง ที่ต้องดูให้เห็นชัดเจนก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา


    มันเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา มันพังสลายลงไป เราก็ต้องแยกจากมันไป ต้องดูให้เห็นให้ชัดเจน เพื่อที่จิตจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเราเอง จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของคนอื่นเขา


    เห็นทุกอย่างให้ไม่เที่ยง เห็นทุกอย่างให้เป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างว่าไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา โดยเฉพาะอารมณ์กระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องระมัดระวังให้จงหนัก สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ต้องหยุดมันไว้ให้ทัน ให้มันอยู่แค่ตรงที่สัมผัสนั้น อย่าให้มันเข้ามาในใจ


    พอมันเข้ามาในใจ จิตสังขารก็เริ่มนึกคิดปรุงแต่ง ชอบหรือไม่ชอบเป็นโทษทั้งสิ้น ชอบเป็นราคะ ไม่ชอบเป็นโทสะ ทันทีที่เราปรุงแต่ง ราคะ โทสะ โมหะ มันจะเจริญงอกงามทันที ต้องระวังมันไว้ให้ทัน หยุดมันไว้ให้ทัน


    ถ้าสติของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออก สติจะแหลมคม ปัญญาจะกระจ่าง จะสามารถรู้เท่าทัน และหยุดมันเอาไว้ได้ ดังนั้น เราทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ไม่ว่าการปฏิบัติในระดับไหนก็ตาม ลมหายใจสำคัญที่สุด


    ตามมาด้วยเครื่องหล่อเลี้ยง คือเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ และการพิจารณาให้เห็น สภาพความเป็นจริงของร่างกาย โดยเฉพาะจุดสุดท้าย ให้ทุกคนส่งกำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ เกาะพระนิพพานตามกำลังของมโนมยิทธิก็ดี ตามกำลังของอภิญญาสมาบัติก็ดี
    <O:p

    หรือกำหนดภาพพระขึ้นตรงหน้า ตั้งใจว่านั่นเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่เฉพาะพระนิพพานเท่านั้น เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน


    ให้ตั้งใจรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย ตายเมื่อไร เราต้องไปพระนิพพานให้ได้ ไม่อย่างนั้นทุกข์โทษเวรภัยต่าง ๆ ที่เราทำสร้างเอาไว้ในอดีต มันจะลงโทษเรา ให้ตกนรก ลำบากอย่างไม่รู้จบ แทบจะไม่เห็นว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน
    <O:p

    จะต้องเกิดเป็นเปรต อดอยากหิวโหย อยู่ในระยะเวลาอันเนิ่นนานเหลือเกิน จะต้องเกิดเป็นอสุรกายหลบ ๆ ซ่อน ๆ หากินไม่เต็มปากเต็มท้อง จะต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน ลำบากด้วยการหากินไม่ได้อย่างใจ ปรารถนาอย่างหนึ่งอาจจะได้อย่างหนึ่ง ตกอยู่ในภัยอันตรายตลอดเวลา


    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องพิจารณาให้เห็น ถ้าเราไปนิพพานไม่ได้ เราต้องพบกับมันแน่ ๆ ดังนั้น มีเวลาว่างเมื่อไร ส่งกำลังใจเกาะนิพพานไว้ให้เป็นปกติ ตั้งใจแผ่เมตตา เห็นหมู หมา กา ไก่ ก็ดี เห็นคนก็ดี ให้มีจิตประกอบไปด้วย เมตตาพรหมวิหารอยู่เสมอ เห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
    <O:p

    การปฏิบัติของเรา จะโดนทดสอบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดรักเกิดชอบใจ สิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดโทสะจริตขึ้นมา ต้องดูต้องรู้เท่าทันมัน
    <O:p

    ถ้าเราเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายคนอื่น ตัวราคะกับโลภะก็กำเริบไม่ได้ <O:p

    เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่สลายตายพังไปหมด ไม่มีสิ่งใดทรงตัว ยึดถือมั่นหมายไปก็ทุกข์ มีกายหนึ่งก็ทุกข์ห้า มีสองกายก็ทุกข์สิบ มีสามกายก็ทุกข์สิบห้า มีแต่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
    <O:p

    อีกประการหนึ่งก็คือ สภาพร่างกายเรานี้ ถ้าหากเรายึดถือมั่นหมายมัน นอก จากอารมณ์ราคะ โลภะ เกิดแล้ว โทสะยังเกิดอีก โทสะส่วนใหญ่มี พื้นฐานมาจากมานะ การถือตัวถือตน พอกระทบเข้า ความถือตัวบังเกิดขึ้น ได้ยินแล้วหูร้อน ได้เห็นแล้วตาร้อน ส่วนใหญ่เอาตัวเองเข้าไปเปรียบ เอาตัวเองเข้าไปวัด แล้วกำหนดมาตรฐานขึ้นมาเอง
    <O:p

    ดังนั้นเราจะต้องรู้เท่าทันมัน ต้องคิดให้เป็นปล่อยให้เป็น วางให้เป็น ทันทีที่ตาเห็นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่หูได้ยินแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่จมูกได้กลิ่นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่ลิ้นได้รสแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่กายสัมผัสไม่ชอบใจ ก็อย่าให้มันเข้ามาในใจเลย
    <O:p

    มันจะได้ไม่กระทบ ชอบหรือไม่ชอบจะได้จบลงตรงนั้น ถ้ากระทบแล้วอารมณ์โทสะมันเกิด ให้พิจารณาดู โดยเฉพาะสิ่งที่คนอื่นเขาทำให้เห็น สิ่งที่คนอื่นเขาพูดให้ได้ยิน ต้องแยกแยะ ต้องพิจารณาให้เป็น


    อันดับแรกให้ดูว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นจริงไหม ? สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นจริงไหม ? ถ้ามันเป็นความจริง เราไม่ควรจะไปโกรธ ไปเกลียดเขา เขาอุตส่าห์ลงทุนยอมเป็นกระจก ส่องให้เห็นหน้าอันน่าเกลียดน่าชังของเราเอง เราจะได้แก้ไขเพื่อที่มันจะได้ดีขึ้น
    <O:p

    เราควรจะโกรธกระจกหรือไม่ ? คนที่ทำให้เราเห็นตัวของเราเอง ก็จัดว่าเขาเป็นครู นักเรียนคนไหนเกลียดครู นักเรียนคนนั้นเอาดีไม่ได้ หาความก้าวหน้าไม่ได้ ดังนั้นถ้าว่ามันเป็นจริง ควรจะรับไว้ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามแก้ไขตัวเราไป


    ถ้ามันไม่มีความเป็นจริง บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา กระทั่งความจริงเป็นอย่างไร เขาก็ยังไม่รู้ คนแบบนี้น่าสงสารมากกว่าน่าโกรธ ให้อภัยเขาเถอะ สงสารเขาเถอะ
    <O:p

    คนที่อารมณ์ใจเป็นแบบนี้ กาย วาจา ใจ เป็นแบบนี้ เขายังต้องเกิดอีกนาน ยังต้องทุกข์ยากลำบากอีกนาน เราจะโกรธเขาไม่โกรธเขา เบียดเบียนไม่เบียดเบียนเขาก็ทุกข์อยู่แล้ว
    <O:p

    ถ้าเรารู้จักคิดดังนี้ อารมณ์โกรธ มันจะไม่สะสมอยู่ในจิตของเรา ถ้าคิดไม่เป็นมันสะสมไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ท้ายที่สุด คนสุดท้ายนั้นจะโชคร้าย พอเขากระทบนิดเดียว เราก็ระเบิดตูมใส่หน้าเขา
    <O:p

    บางคนก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ..ทำนิดเดียวแค่นี้โกรธขนาดนี้เชียวหรือ ? บางคนแทบจะฆ่าให้ตายไปเลยก็มี เพราะว่าคิดไม่เป็น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น ตัดอารมณ์ทิ้งไม่เป็น ต้องรู้จักวิเคราะห์ รู้จักวิจัย รู้จักดูความก้าวหน้าของตนเอง
    <O:p

    วันนี้ รัก โลภ โกรธ หลง ของเรา ลดลงหรือไม่ ? มีโอกาสให้รัก ให้ชอบใจ มีโอกาสให้อยากได้ใคร่ดี เราตัดมันได้หรือไม่ ? อารมณ์รัก ตัดได้ด้วยอสุภกรรมฐาน กายคตานุสติกรรมฐาน
    <O:p

    ความโลภตัดได้ด้วยจาคานุสติและทานบารมี คือการเสียสละให้ปันเขา มีโอกาสให้ เราละเว้นโอกาสนั้นหรือเปล่า ? มีความตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ในใจหรือเปล่า ?
    <O:p

    อารมณ์โทสะ แก้ไขได้ด้วยพรหมวิหาร ๔ รักเขาเสมอตัวเรา ก็อย่าไปโกรธไปเคืองเขา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ ก็อย่าไปเบียดเบียนเขา แม้แต่ด้วยกาย วาจา หรือใจ เห็นเขาได้ดี อย่าไปอิจฉาริษยาเขา
    <O:p

    ความอิจฉาริษยา มันทำให้ใจของเราเศร้าหมอง มันทำให้ตัวของเราตกต่ำเอง พยายามยินดีกับความดีของเขา เขาต้องสร้างบุญไว้ดีในอดีต ปัจจุบันเขาถึงได้รับความดีอย่างนั้น
    <O:p

    ถ้าเราอยากได้ดีแบบนั้น เราต้องสร้างปัจจุบันนี้ให้ดี อนาคตข้างหน้าเราก็จะดีเช่นเขา หรือดีกว่าเขา ถ้าทุกสิ่งทุกอย่าง เราพยายามสงเคราะห์ พยายามช่วยเหลือแล้ว ไม่อาจสงเคราะห์ ไม่อาจช่วยเหลือได้ เราต้องหยุด รักษากำลังใจของเราให้ดี จะได้ไม่ไปเศร้าหมอง ไม่ไปคิดมากอยู่กับมัน
    <O:p

    และที่สำคัญก็คือ ถ้าหากว่าเราปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ เราก็หลุดพ้นไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหยุดลงเป็น มันจะเป็นสังขารุเปกขาญาณ สักแต่ว่าอยู่ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าทำ


    รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ ใจไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว ไม่เกาะแม้ร่างกายตัวเอง ไม่เกาะทั้งร่างกายคนอื่น ไม่เกาะโลกไหน ๆ ที่ไม่ใช่พระนิพพาน จิตใจทั้งหมดปล่อยวาง อารมณ์พระนิพพาน จะเต็มอยู่ในใจเอง
    <O:p

    แรก ๆ เราก็ต้องเกาะ แต่ถ้าดำเนินมาถึงจุดนี้ไม่ต้องเกาะแล้ว อารมณ์พระนิพพานที่เต็มอยู่ในใจ จะทำให้เรารู้ว่า ตายตอนนี้เราก็นิพพานตอนนี้ นั่นแหละที่ภาษาพระท่านบอกว่า ญาณคือเครื่องรู้ มันเกิดขึ้น
    <O:p

    แต่ถึงเครื่องรู้มันเกิดขึ้น เราก็ประมาทไม่ได้ ต้องพยายามประคับประคอง รักษาอารมณ์พระนิพพาน ให้อยู่กับเรา แรก ๆ เราต้องส่งใจขึ้นไปก่อน แต่พออารมณ์นิพพานเต็มอยู่ในใจ มันไม่ต้องเกาะอะไรแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างปล่อยหมด วางหมด
    <O:p

    มันจะเป็นไปเฉพาะหน้าของมันเท่านั้น คือร่างกายก็ทำหน้าที่ของตนไป อะไรเกิดขึ้นกับมัน ก็รับรู้แก้ไขไปพลาง แก้ไขได้ตกก็ไม่ยินดี แก้ไขไม่ตกก็ไม่ยินร้าย รู้อยู่ว่าการเกิดของร่างกายมันเป็นแบบนี้ อารมณ์จิตมันจะปล่อยวางทั้งหมด
    <O:p

    ทุกข์ทั้งหลายที่ส่วนใหญ่แล้ว คนเขาแบกเอาไว้ เมื่อถึงตอนนั้น ถึงวาระนั้น ทุกข์เป็นเรื่องที่เรากำหนดรู้เท่านั้น รู้แล้วก็ปล่อยมันเอาไว้ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น จิตใจก็เบา สบายแต่มีความสุข
    <O:p

    เรื่องทุกข์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของร่างกาย เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด มีแต่บารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของเรา มีแต่พระนิพพานเต็มอยู่ในใจของเราเท่านั้น
    <O:p

    อารมณ์ใจสุดท้าย ให้เกาะพระนิพพานไว้ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าไม่ต้องเกาะ มีพระนิพพานอยู่ในจิตในใจเลย ตรึงอยู่ในจิตในใจเลย ยิ่งเป็นการดี ดังนั้น เรายิ่งต้องทบทวนตัวเอง ยิ่งต้องฝึกฝนตัวเองให้มากเข้าไว้
    <O:p

    เมื่อถึงวาระ ถึงเวลาจะได้ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ครูบาอาจารย์ไม่ได้อยู่กับเราตลอด ถึงเวลาต่างคนก็ต่างไป ต่างคนต่างตาย เกาะความดีก็ไปดี เกาะความชั่วก็ไปชั่ว ไม่เกาะอะไรเลยก็ไปนิพพาน
    <O:p

    ขอให้ทุกคนนึกถึงขั้นตอนต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ลมหายใจเข้าออก ทิ้งไม่ได้ เมตตาพรหมวิหาร ต้องให้ทรงตัว การพิจารณาวิปัสนาญาณก็ต้องมี และจิตสุดท้ายให้เกาะที่พระนิพพาน
    <O:p

    กำหนดสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ กระทบแล้วก็วางมันลง อย่าไปนึก ไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ถ้าคิดปรุงแต่งเมื่อไร ก็ชอบหรือไม่ชอบเมื่อนั้น แต่ละวันรักษาอารมณ์ใจเราให้ได้อย่านี้ทุกวัน ๆ
    <O:p

    อย่าลืมใช้ฝึกฝนใจไปเกาะนิพพานให้ได้ ขั้นตอนการปฏิบัติ ให้ทบทวนแบบนี้ทุกวัน ๆ ทำแบบนี้ทุกวัน ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อให้มั่นใจขนาดไหน ก็ต้องทวนเอาไว้เพื่อความสุขทั้งปัจจุบัน และอนาคตของเรา อย่าลืมว่าคลายอารมณ์ออกมาแล้ว ต้องรักษามันให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพุธที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 มิถุนายน 2010
  8. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๘. พุทธานุสติ


    ขอให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบาย จริง ๆ แล้วท่าที่สบายที่สุด คือแล้วแต่ความถนัดของเรา เพียงแต่ว่าตอนนี้ เราปฏิบัติภาวนากันอย่างเป็นทางการ ถ้าหากว่าเรานั่งขัดสมาธิก็จะดูเรียบร้อยหน่อย เป็นงานเป็นการหน่อย <O:p

    อย่างที่หลวงพ่อเคยบอกว่า ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อันนี้มาจากในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่า อุชุ กายัง ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตเอาไว้เฉพาะหน้า คือให้ความรู้สึกทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ากำหนดตามเข้าไป หายใจออกกำหนดตามออกมา ความรู้สึกทั้งหมด ตามดูตามรู้อยู่แค่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก<O:p

    นึกถึงเรื่องอื่นเรื่องใดเมื่อไร ให้ดึงความรู้สึกมันกลับมา คราวนี้ทำไมเราต้องนั่งตัวตรง ก็เพื่อที่ว่า ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของเรา จะได้เดินสะดวก และที่แน่ ๆ ก็คือต้องใช้สติประกอบไปด้วย <O:p

    ถ้าสติมันขาด มันอาจจะนั่งหลังโกง อาจจะมีการวูบลงไป ลักษณะเหมือนคนสัปหงก เป็นต้น การนั่งเราไม่ต้องเกร็งตัวของเรา นั่งสบาย ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเสียให้หมด หลับตาลงเบา ๆ <O:p

    นึกย้อนขึ้นไปในศีรษะของเรา เหมือนกับเราเหลือบตา มองขึ้นไปบนหัวของเรา แล้วก็นึกย้อนเข้าไปในอก ย้อนเข้าไปในท้อง กำหนดความรู้สึกง่าย ๆ อย่างนี้ จากนั้นเริ่มนึกถึงลมหายใจเข้าออก ปากของเราก็ปิดลงเบา ๆ ปลายลิ้นแตะเพดานนิดหนึ่ง

    ทุกส่วนของร่างกายผ่อนคลาย ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ท้อง ตามดูเข้าไป หายใจออก ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ให้ความรู้สึกไหลเข้า ไหลออกตามลมหายใจดังนี้ <O:p

    เข้ารู้อยู่ ออกรู้อยู่ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หรือว่าจะเอาคำภาวนาอันใดอันหนึ่งที่เราถนัด จะเป็น นะ มะ พะ ธะ ก็ได้ พองหนอ ยุบหนอ ก็ได้ หรือว่าสัมมาอรหัง ก็ได้ อิติปิโส ก็ได้ คาถาเงินล้าน ก็ได้

    ถ้ารู้สึกว่ากำลังใจของเราไม่ทรงตัว มันฟุ้งซ่าน ดึงเข้ามาสู่อารมณ์ภาวนาได้ยาก ให้ใช้คาถาที่พระพุทธเจ้าท่านให้มา เป็นคาถาที่รวมใจของเราให้ทรงตัว ให้ภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง ใช้คำภาวนานี้แทนคำภาวนาทุกอย่าง

    อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง นี่เป็นคาถาที่สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบให้ ถ้าเราฟุ้งซ่าน รักษาอารมณ์ใจให้ทรงตัวไม่ได้ ก็นึกถึงคาถา อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังนี้

    ให้ใช้แทนคำภาวนาอื่น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นห้านาที สิบนาที หรือครึ่งชั่วโมง แต่จากที่เคยลองมา ไม่เคยเกินสามนาที กำลังใจที่ฟุ้งซ่านมันจะนิ่ง มันจะลงตัว ดังนั้น วันไหน ถ้ากำลังใจของเราฟุ้งซ่าน ไปรัก โลภ โกรธ หลง ตามปกติของมัน ไม่สามารถจะดึงเข้าหาคำภาวนาได้<O:p

    ให้นึกขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดเมตตาสงเคราะห์ รวบ รวมกำลังใจของเรา ให้ทรงตัวโดยเร็ว แล้วภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังสักครู่หนึ่ง พอกำลังใจทรงตัวแล้ว เราค่อยใช้คำภาวนาที่เราถนัดต่อไป <O:p

    คาถานี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้ ดังนั้น ถ้าเราใช้คาถานี้ ก็เท่ากับเราทรงพุทธานุสติอยู่ ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปกติเท่านั้น เรานับว่าโชคดี ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตา คอยอนุเคราะห์สงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา <O:p

    แม้กระทั่งเรื่องยาก ๆ ที่ปกติสมัยหลวงพ่อ หลวงปู่ของเรา จะต้องสู้กันชนิดเอาเป็นเอาตายไปข้างหนึ่ง กว่าจะหากลอุบายใด ๆ มาปรับมาปราบความฟุ้งซ่านของจิต มาปรับลมหายใจเข้าออกให้มันทรงตัว บางทีเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี

    แต่ของเรามีองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเมตตาให้การสงเคราะห์อยู่ ภาวนาคาถาง่าย ๆ แค่นี้ อารมณ์ใจก็ทรงตัวได้ง่ายเช่นกัน สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือภาพพระ ต้องเอาใจเกาะพระอยู่เสมอ <O:p

    อันดับแรก กำหนดภาพพระขึ้นมาตรงหน้า เป็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพระพุทธรูป นั่ง ยืน นอน ก็ได้ เป็นพระพุทธรูปที่เราชอบองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้ หรือเป็นภาพพระวิสุทธิเทพก็ได้ <O:p

    เอาใจจดจ่ออยู่ตรงหน้า หายใจเข้าก็นึกถึงภาพพระนั้น หายใจออกก็นึกถึงภาพพระนั้น กำหนดความรู้สึก ให้ภาพพระนั้นสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ หายใจเข้าภาพพระก็สว่าง หายใจออกภาพพระก็สว่าง กำลังใจให้จดจ่อแน่วนิ่งอยู่กับภาพพระตรงหน้า <O:p

    ไม่ต้องทุ่มเทความรู้สึกให้มาก ไม่จำเป็นต้องเห็นชัดเจน ให้มั่นใจว่าขณะนี้ตรงหน้าของเรา มีภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ตรงหน้าเราก็พอใจแล้ว อย่าอยากเห็นโดยใช้สายตา มันจะพาให้เสีย กำหนดความรู้สึกเบา ๆ สบายๆ พุท เข้า โธ ออก ภาพพระสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ <O:p

    เมื่อภาพพระเริ่มทรงตัว กำลังใจเริ่มนิ่ง ให้ดึงภาพพระเข้ามา ให้มาอยู่ในศีรษะของเรา เหมือนกับศีรษะมันว่าง ๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไร ให้พระพุทธรูปเข้ามาอยู่ในศีรษะของเรา หันหน้าไปด้านเดียวกับเรา <O:p

    หายใจเข้าผ่านภาพพระที่สว่างไสว ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง หายใจออก ผ่านท้อง ผ่านอก ผ่านภาพพระที่สว่างไสวอยู่ ลงไปสุดที่ปลายจมูก พุท เข้า พระสว่างขึ้น โธ ออก พระสว่างขึ้น พุท เข้า พระสว่างขึ้น โธ ออก พระสว่างขึ้น กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ <O:p

    นึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา ครอบคลุมกายของเราลงมา ความสว่างจากศีรษะลงมาที่คอ ลงมาที่ไหล่ ลงมาที่อก ลงมาที่เอว ลงมาที่สะโพก ลงไปถึงส่วนเท้าทั้งหมด หายใจเข้าภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่างด้วย

    หายใจออกภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่างด้วย แล้วกำหนดเลื่อนภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นไปอยู่บนศีรษะหันหน้าไปทางด้านเดียวกับเรา สว่างไสวลอยสูงจากศีรษะของเราขึ้นไปประมาณครึ่งคืบ <O:p

    หายใจเข้าก็ดึงเอาความสว่างขององค์พระ ผ่านอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกลมหายใจจากท้อง ผ่านอก ตรงไปยังภาพพระซึ่งสว่างอยู่อย่างนั้น หายใจเข้า ภาพพระก็สว่าง หายใจออก ภาพพระก็สว่าง <O:p

    กำหนดใจให้นิ่ง ๆ อยู่ตรงศูนย์กลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะจับภาพท่านทั้งองค์ก็ได้ จับส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ เหมือนกับลมหายใจ ไหลจากองค์พระ ผ่าน อก ลงไปที่ท้อง ลมหายใจออกจากท้อง ผ่านอก ขึ้นไปสุดที่องค์พระท่าน <O:p

    เมื่อกำลังใจทรงตัวแล้ว ก็ให้ค่อย ๆ กำหนดภาพพระให้ใหญ่ขึ้น หายใจเข้า ภาพพระก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นสว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นสว่างขึ้น

    กำหนดให้ความขาวสะอาด สว่างไสวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คือกระแสแห่งพระเมตตาบารมี ที่ประทานลงมาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า เพื่อปรารถนาให้เขาเหล่านั้น ล่วงพ้นจากความทุกข์ มีความสุขโดยเสมอหน้ากัน <O:p

    กำหนดให้กระแสแห่งพระเมตตานั้น ผ่านจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงมาที่ตัวเรา กระจายออกไปรอบด้าน ให้กระจายสีขาวสว่างนั้น กว้างออกจากตัวเรา ค่อย ๆ แผ่ออกไปให้เต็มหมดทั้งห้องนี้ กว้างออกไปทั้งวัด ทั้งตลาด ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด<O:p

    กว้างออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเราหย่อนหินลงไปในน้ำ กระแสน้ำจะเคลื่อนเป็นวง ๆ กว้างออกไปทุกที ทุกที กำหนดใจว่า <O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรม และเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้ทุกท่านจงล่วงพ้นจากความทุกข์ มีความสุขโดยเสมอหน้ากันเถิด..."<O:p
    ให้กระแสใจที่เยือกเย็นสว่างไสวของเรานั้น แผ่กว้างออกไป กว้างออกไป ด้วยกำลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่า<O:p

    ”...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยถ้วนหน้ากันเถิด...”<O:p

    ให้กระแสกำลังใจของเรา แผ่กว้างออกไปอีก กว้างออกไปอีก ทั้งจังหวัด ทั้งภาค ทั้งประเทศ ทั้งทวีป ทั้งโลก กำหนดกำลังใจ กว้างออกไป กว้างออกไป จนรู้ว่าโลกของเรานั้น เหลือเพียงลูกเล็ก ๆ ลูกเดียว <O:p

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและตัวเรา สว่างไสวโตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้าไปหมด กระแสพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลั่งไหลผ่านกายของเรา ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีจุดใดที่ว่างเว้น ไม่มีจุดใดที่ไปไม่ถึง ให้กำหนดใจว่า<O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอง เดือดร้อน ลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใด ๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”<O:p

    ให้กระแสพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างไกลออกไป จากโลกของเรา ไปสู่ดวงดาวอื่น ๆ ไปสู่จักรวาลอื่น ๆ ทั่วทั้งอนันตจักรวาล <O:p

    ไม่ว่าจะเป็น ที่ใดก็ตาม ที่มีสัตว์อาศัยอยู่ มีคนอาศัยอยู่ ขอให้ได้รับกระแสแห่งพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ ขอให้มีความสุขโดยทั่วหน้ากัน ให้ตั้งใจว่า<O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด...” <O:p

    กระแสแห่งความสว่าง สะอาด เยือกเย็นนี้ จงปรากฏ แก่สรรพสัตว์ ทุกหมู่ทุกเหล่า ทุกจักรวาล ไม่ว่าจะกี่แสนโกฏิจักรวาล ก็ให้ปรากฏโดยถ้วนทั่วกัน ความหวังดี ปรารถนาดีของเรานั้น มุ่งตรงไป

    ต่ำสุดตั้งแต่นรกทุกขุม ขึ้นมาเปรตทุกจำพวก อสุรกายทุกจำพวก สัตว์เดรัจฉาน ทุกชีวิต มนุษย์ทุกรูปทุกนาม ภุมเทวดาทุก ๆ ท่าน รุกขเทวดาทุก ๆ ท่าน อากาศเทวดา ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น รูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น ตลอดจนถึงพระทั้งหลายในพระนิพพานนั้น<O:p

    กระแสแห่งพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่ไปสงเคราะห์ ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ผู้ที่มีทุกข์อยู่ ขอให้พ้นจากความทุกข์ ผู้ที่มีสุขอยู่ ขอให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้ใดตั้งความปรารถนาในสิ่งใด ขอให้ความปรารถนานั้น จงสำเร็จด้วยเถิด ให้ตั้งใจว่า<O:p

    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล แก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตน ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ โดยถ้วนหน้ากันเถิด...”
    <O:p
    กำหนดภาพพระให้โดดเด่นเต็มทั้งจักรวาล กระแสแห่งพระเมตตาที่แผ่ปรกลงไป ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในภพใดภูมิใดก็ตาม ขอให้ได้รับความสุข ความเยือกเย็นโดยเสมอหน้ากัน <O:p

    หลังจากนั้น ให้กำหนดใจ ดึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ค่อย ๆ เล็กลง ตามลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ภาพพระที่สว่างไสว ค่อย ๆ เล็กลงมา เล็กลงมา จนกระทั่งปรากฏอยู่ เฉพาะบนศีรษะของเราอีกวาระหนึ่ง <O:p

    คราวนี้หายใจเข้า ให้ภาพพระเลื่อนจากศีรษะ ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง โดยที่เล็กลงไปเรื่อย ๆ จนเป็นภาพพระองค์เล็ก ๆ ใส ๆ สว่างไสวอยู่ในท้องของเรา หายใจออก ให้ภาพพระเลื่อนจากท้อง ขึ้นมาถึงอก ขึ้นไปบนศีรษะ <O:p

    โดยภาพพระขยายใหญ่ขึ้นไป เป็นภาพพระองค์โต ขนาดที่เรากำหนดใจได้อย่างสบาย ๆ อยู่บนศีรษะของเรา ไปสว่างไสวอยู่บนนั้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ไหลตามลมหายใจขึ้นไป <O:p

    ความรู้สึกเหมือนกับลมหายใจเข้าออก ไหลเข้าทางศีรษะไปสุดที่ท้อง ไหลออกจากท้อง ออกไปเหนือศีรษะที่ภาพพระนั้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง หายใจออก ภาพพระนั้นใหญ่ขึ้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะ<O:p

    จุดที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา วัตถุธาตุใด ๆ ก็ตาม สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีสภาพที่แท้จริงคือ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วสลายตัวไปในที่สุด

    วันนี้อารมณ์ใจของเราทรงตัว ภาพพระอาจจะชัดเจนแจ่มใส แต่ต่อจากนี้ไปอีกไม่นาน อารมณ์ใจของเราที่ไม่เที่ยง ก็จะไม่ทรงตัว ภาพพระอาจจะหายไป ความฟุ้งซ่านอาจจะเข้ามาแทน <O:p

    ดังนั้น ให้กำหนดใจ ให้รู้เท่าทันมันว่า กระทั่งผู้ปฏิบัติที่หวังความพ้นทุกข์ อย่างพวกเราทั้งหลาย ยังประกอบไปด้วยความไม่เที่ยงถึงขนาดนี้ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมายในสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องการให้มันเที่ยง ต้องการให้มันทรงตัว ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะทุกข์ <O:p

    ดูให้เห็นสภาพที่แท้จริง ของร่างกายเรา ว่ามันประกอบขึ้นจากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ ให้เป็นเรือนร่างที่เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงวาระ มันก็ตาย มันก็พังไป ดูเด็กที่เพิ่งเกิดมา ตอนแรกก็นอนหงาย <O:p

    จากนั้นหัดพลิกคว่ำ หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน ในที่สุดก็วิ่งได้ จากเด็กเล็กกลายเป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนชรา ในที่สุดก็ตายไป ไม่มีใครทรงตัวอยู่ได้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดเท่าไหร่ ตายหมดเท่านั้น

    ท้ายที่สุด ร่างกายนี้ก็เสื่อมสลาย วัตถุธาตุทั้งหลายก็เสื่อมไป ไม่มีอะไรทรงตัว ทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด สลายตัวหมด กลายเป็นฝุ่น กลายเป็นผง กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นเรา เป็นของเรา <O:p

    คนที่เรารัก ของที่เรารัก ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่เราหามา ท้ายสุดก็เสื่อมสลายไปสิ้น ยึดถือมั่นหมายเมื่อไร ก็มีแต่ความทุกข์ เพราะไม่มีอะไรที่ทรงตัว เป็นเรา เป็นของเราเลย กระทั่งร่างกายนี้ก็ไม่ทรงตัว ไม่มีอะไรเป็นของเรา แล้วร่างกายของคนอื่น จะเป็นของเราได้อย่างไร ? <O:p

    ทุกวันที่จับภาพพระอย่างนี้ ให้กำหนดใจนึกถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร มีแต่ความทุกข์ยาก ร่างกายนี้เป็นก้อนทุกข์ เกิดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อน เกิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์อย่างนี้อีก เราไม่พึงปรารถนามันแล้ว <O:p

    ถ้าหากว่าเกิดใหม่แล้วทุกข์อีก การไม่เกิดที่พาให้พ้นทุกข์ นั่นก็คือพระนิพพาน ให้ส่งกำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ นึกถึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อยู่ที่ใด นอกจากพระนิพพานที่เดียว เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน <O:p

    เอากำลังใจเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ว่าตอนนี้เรานั่งอยู่ ตรงเบื้องพระพักตร์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้เรานั่งอยู่บนพระนิพพาน <O:p

    ตอนนี้เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ด้วยพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจต่าง ๆ ที่จะทำเพื่อความพ้นทุกข์นั้นไม่มี สถานที่นี้ใส สะอาด สว่าง สงบ ปราศจากความทุกข์ มีแต่ความสุขโดยส่วนเดียว ให้กำหนดใจให้แน่วนิ่งเอาไว้<O:p

    รักษาอารมณ์ใจของพระนิพพาน ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ถึงเลิกไปแล้ว ก็ให้แบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง นึกถึงตรงนี้ไว้ตลอดเวลา ความรู้สึกส่วนหนึ่งของเรา ต้องเกาะภาพพระ เกาะพระนิพพานไว้ตลอดเวลา เพื่อความอยู่สุขของเรา<O:p

    การสวดมนต์ทำวัตร เป็นกิจที่สำคัญ ถ้าเรารู้จักรักษาอารมณ์ใจ แม้จะไปพระนิพพานก็ไปได้ การสวดมนต์ทั่วไปได้สมาธิ ถ้ากำหนดนึกถึงตัวอักษรคำสวดขึ้นมาเป็นตัว ๆ ก็จะได้ทิพจักขุญาณ <O:p

    ถ้ากำหนดใจ จับภาพพระไว้ตลอดเวลา ตั้งใจว่าเราสวดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นเราตายลงเมื่อไร เราจะอยู่บนนั้น เราจะอยู่บนพระนิพพาน<O:p

    ถ้าเราทำจนชิน นานไปเราก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระนิพพาน คราวนี้ให้กำหนดสติ คลายอารมณ์ใจออกมาอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง เพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ของเราต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  9. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๙. ธัมมานุสติ

    <O:p</O:pมาว่าเรื่องของการปฏิบัติกันต่อไป ตอนนี้ทุกคนกำลังใจก็เริ่มจะทรงตัว อย่าลืมการปฏิบัติตามที่ย้ำไว้ทุกวัน เราจะทิ้งลมหายใจไปไม่ได้ ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องยึด เป็นเครื่องประคับประคองสติของเรา ให้ทรงตัวอยู่และมั่นคง <O:p

    ถ้าเราลืมลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติในกรรมฐานทุกกองจะไม่ทรงตัว จะมีผลน้อยมาก การจับลมหายใจเข้าออกของเรา ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก<O:p

    ถ้ามันไปนึกถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงมันกลับมาหาลมหายใจเข้าออกเมื่อนั้น ถ้าเรามีความชำนาญ พอนึกความรู้สึกมันจะอยู่กับลมหายใจเข้าออก ตามระดับที่เราเคยทำได้ เราจะได้กสิณก็ดี ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ อรูปฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็ดี<O:p

    ถ้ามันมีความคล่องตัว เรานึกถึงลมหายใจเข้าออก กำลังใจมันก็จะไปจับอยู่ตรงระดับนั้นก่อน แล้วหลังจากนั้นเราค่อยลดกำลังใจลง หรือว่าเคลื่อนกำลังใจขึ้นไป สลับกันไปสลับกันมา จนเกิดความคล่องตัว <O:p

    เรื่องของการทรงฌานสำคัญมาก เพราะว่าทันทีที่กำลังใจทรงเป็นฌานนั้น รัก โลภ โกรธ หลงจะกินใจของเราไม่ได้ ไฟใหญ่สี่กองได้แก่ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โลภัคคิ ไฟคือโลภะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ

    ไฟใหญ่สี่กองจากรัก โลภ โกรธ หลง เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่กำลังใจของเราทรงเป็นฌานได้ ไฟทั้งสี่กองนี้จะดับลงชั่วคราว เราจะมีความสุข ดังนั้น ต้องพยายามกำหนดใจของเรา ให้ทรงเป็นฌานให้ได้

    ถ้ายังทรงฌานระดับใดระดับหนึ่งไม่ได้ เราก็ยังไม่สามารถที่จะหนีความทุกข์ได้ การจะหนีความทุกข์นั้น ถ้าเราหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ไปเลย เข้าสู่พระนิพพานไปเลย ก็จบเรื่องกันไป

    แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ถึง การทรงกำลังใจในลักษณะทรงฌานนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก แม้กระทั่งพระอริยะเจ้า ท่านจะเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี จนถึงพระอรหันต์ ถ้าทำได้ ไม่มีใครทิ้งฌานสมาบัติเหล่านี้

    ท่านจะพยายามทำกำลังใจ ให้ทรงตัวอยู่เสมอ ด้วยความไม่ประมาท เพื่อที่จะรักษาอารมณ์จิตให้ผ่องใส เพื่อที่จะสร้างสติให้มั่นคง ทำให้ปัญญาเฉียบแหลมคมกล้า ถึงเวลาจะได้ตัดกิเลสได้ตามที่ต้องการ

    การทรงฌานเป็นการเพาะสร้างกำลัง วิปัสสนาญาณเปรียบเหมือนอาวุธ ถ้าเรามีทั้งกำลัง มีทั้งอาวุธ เราก็สามารถจะตัดจะฟันสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการตัดกิเลส กำลังฌานแม้เพียงปฐมฌาน ก็สามารถตัดกิเลสได้แล้ว

    ปฐมฌานขั้นหยาบก็ดี ขั้นกลางก็ดี ขั้นละเอียดก็ดี ถ้าท่านทรงไว้ได้คล่องตัวจริง ๆ อารมณ์พระอริยเจ้าขั้นโสดาบัน ก็อยู่ในมือของท่านแล้ว พระโสดาบัน มีสามระดับ ระดับต้นเรียกว่า สัตตะขัตตุปรมะ คือ เกิดอีกเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง

    ลำดับต่อไปเรียกว่าโกลังโกละ หมายถึงว่าจากตระกูลสู่ตระกูล คือเกิดเป็นคน ตายไปเป็นเทวดา กลับมาเป็นคนอีกที กลายเป็นพระอรหันต์ คือจากตระกูลของมนุษย์เข้าสู่ตระกูลของมนุษย์อีกคราหนึ่งก็จบ

    ระดับสุดท้ายเอกะพิชี แปลว่า ผู้มีพืชอันเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าเราทำกำลังใจทรงฌานได้ แม้เพียงปฐมฌาน ความเป็นพระอริยะเจ้าจะอยู่ในมือของเราแล้ว เหตุที่อยู่ในมือของเราก็เพราะว่า <O:p

    ทันทีที่เราทรงฌานได้ ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ไฟใหญ่สี่กองนี้จะโดนกำลังของฌานกดให้ดับลงชั่วคราว เราจะสุข เยือกเย็นใจ อย่างไม่เคยปรากฏเป็นมาก่อน<O:p

    คราวนี้ถ้าหากว่าเราทรงปฐมฌานได้เท่านั้น ตีเสียว่าเป็นปฐมฌานขั้นหยาบ ยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้ ผู้ที่ทรงปฐมฌานขั้นกลางก็ดี ขั้นละเอียดก็ดี ท่านจะมีความสุขความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? <O:p

    ผู้ที่ทรงฌานที่สอง ที่สาม ที่สี่ อรูปฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ มีความมั่นคงกว่าเรานับประมาณไม่ได้ ท่านจะมีความสุขกว่าเราขนาดไหน ? <O:p

    นี่แค่ระดับปุถุชนทั่วไปเท่านั้น ยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้ พระโสดาบันท่านจะมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? เมื่อพระโสดาบันท่านมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนั้น พระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านจะมีความสุขขนาดไหน ?<O:p

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอรหันต์นั้น ท่านพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องเกิดมาทุกข์อีกแล้ว จะมีความสุขขนาดไหน ? อรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิที่มีความสุข ไม่มีความหวาดสะดุ้งต่อสิ่งใด เพราะทราบว่าในทวีปทั้งสี่ไม่มีใครเป็นศัตรูของท่านได้นั้น <O:p

    ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไม่ได้เศษหนึ่งส่วนสิบหกของพระโสดาบัน เพราะพระเจ้าจักรพรรดินั้น ถ้าหากว่าพลาดยังลงสู่อบายภูมิได้ ยังเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ แต่พระโสดาบันนั้น ท่านปิดอบายภูมิโดยสิ้นเชิง

    การเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ที่มีแต่ความทุกข์นั้น จะไม่มีสำหรับท่านอีกต่อไป คราวนี้พระสกทาคามี ที่รัก โลภ โกรธ หลง เหลือน้อยเต็มทีนั้น ท่านจะมีความสุขมากกว่าพระโสดาบันขึ้นไปอีกขนาดไหน ?<O:p

    พระอนาคามี ที่ไม่ต้องลงมา เวียนเกิดเวียนตายในภพต่าง ๆ เกิดเป็นพรหมแล้ว ปฏิบัติต่อให้เข้าพระนิพพานไปเลย เป็นการประกันความเสี่ยงว่า ความทุกข์ในระดับหยาบนั้น จะไม่มีสำหรับท่านอีก ท่านจะมีความสุขขนาดไหน ?<O:p

    พระอรหันต์ที่ท่านพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง จะมีความสุขสักขนาดไหน ? แล้วพระพุทธเจ้าของเราที่เป็นจอมอรหันต์ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ สามารถสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้นั้น ท่านจะมีความสุขเพียงใด ?

    ถ้าเรากำหนดใจนึกตามดังนี้ได้ ปัญญาเกิดดังนี้ได้ เราก็จะมองเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ควรแก่การเคารพยิ่งจริงแท้ กำลังใจเราก็จะมั่นคงต่อพระรัตนตรัย ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การที่เรากำลังใจทรงตัวในการเคารพพระรัตนตรัย เป็นกฎข้อแรกของการเป็นพระโสดาบัน <O:p

    เมื่อท่านทรงฌานอยู่ ไม่ว่าจะขยับไปทางด้านไหน สติจะรู้รอบ ศีลของท่านจะเป็นห้าข้อก็ดี แปดข้อก็ดี สิบข้อก็ดี สองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อก็ดี ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง พอขยับมันจะรู้ว่าศีลจะขาด จะพร่องหรือไม่ ? <O:p

    เมื่อท่านรักษาศีลทุกสิกขาบท ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ ที่ช่วยในการดำรงสติ สร้างเสริมปัญญาให้เกิดขึ้น เมื่อศีลทุกข้อของเราบริสุทธิ์ได้ ก็อย่ายุยงส่งเสริม ให้คนอื่นเขาทำลายศีล เห็นคนอื่นเขาละเมิดศีล ก็อย่าไปยินดีด้วย <O:p

    ถ้าท่านทำอย่างนี้ได้ กฎข้อที่สองของการเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในมือของเรา ก็เหลือเพียงข้อสุดท้าย คือให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ไม่ว่าเราจะทรงฌานสมาบัติได้ขนาดไหนก็ตาม เราทุกคนต้องตายแน่ <O:p

    ความตายอยู่เพียงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของเราเท่านั้น หายใจเข้าไม่หายใจออก มันก็ตายแล้ว หายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้าไปใหม่ มันก็ตายเช่นกัน ความตายอยู่ใกล้ชิดกับเราขนาดนี้

    ถ้าหากว่าตายแล้ว ตกสู่อบายภูมิ เกิดเป็นสัตว์นรก ต้องทนทุกข์เวทนา ลำบากยากเข็ญเนิ่นนานเหลือเกิน มีไฟเผาอยู่ตลอดเวลา มีสรรพาวุธสับฟันอยู่ตลอดเวลา ความเจ็บปวด ความรู้สึกครบถ้วนทุกอย่าง แต่ไม่มีการตายเลย <O:p

    เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา ร่างกายที่ถูกทำลาย ก็จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ โดนทรมานต่อไปอีก เกิดเป็นเปรต ก็มีแต่ความอดอยากหิวโหย ไม่สามารถจะกินอะไรได้ ที่กินได้ ก็กินของสกปรกโสโครก ไม่สามารถจะหาได้อิ่มปากอิ่มท้อง มีแต่ความทุกข์ยากเหลือคณา<O:p

    เกิดเป็นอสุรกายมีสภาพดีกว่าเปรตหน่อยหนึ่ง สามารถหากินได้คล่อง ตัวกว่า แต่ก็ต้องกินพวกของสกปรกโสโครก ของเน่าเหม็น ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ทั่ว ๆ ไป ของอะไรที่มีเจ้าของอยู่ ก็ล่วงเกินของเขาไม่ได้ แอบกินของเขาไม่ได้<O:p

    ต้องกินพวกซากสัตว์ พวกอุจจาระ ปัสสาวะ ที่เขาทอดทิ้งแล้ว ไม่มีใครต้องการแล้ว มีแต่ความทุกข์ยากลำบาก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องระแวงภัยอยู่ตลอดเวลา หากินไม่เต็มปากเต็มท้อง ไม่ทราบว่าชีวิตจะสิ้นสุดไปเมื่อไหร่ เพราะอันตรายมีอยู่รอบข้าง <O:p

    ถ้าหากว่าเราเกิดอีก เราก็จะมีแต่ความทุกข์ดังนี้อีก ดังนั้น ทั้งการตายของเรา ทั้งการเกิดของเรา ซึ่งอยู่แค่ช่วงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น มันประกอบไปด้วยความทุกข์ขนาดนี้ ถึงเกิดมาเป็นคนก็ตาม มันก็ยังมีความทุกข์อยู่ <O:p

    เนื่องจากว่าคนเราเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ไม่มีสิ่งใดยึดถือมั่นหมายได้ ต้องการอย่างหนึ่งไปได้อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ไม่ต้องการไปได้มันมา ดังนั้น มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น <O:p

    ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของความปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของความกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เหล่านี้เป็นต้น เกิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น พลาดเมื่อไรทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิมเมื่อนั้น<O:p></O:p

    ชีวิตของเราอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ดังนั้น ขอให้ทุกคนตั้งใจว่า ถ้าตายตอนนี้เราขอไปพระนิพพานที่เดียว ถ้าเป็นดังนี้ได้ กฎข้อสุดท้ายของการเป็นพระโสดาบัน เราก็สามารถทำได้แล้ว <O:p

    ถ้าหากว่าทุกเวลาที่ท่านทรงฌานอยู่ รักษากำลังใจอยู่ ตราบใดที่นิวรณ์ ๕ ไม่สามารถกินใจท่านได้ ตราบนั้นจิตใจของท่านยังผ่องใส ตราบนั้นสติสัมปชัญญะของท่านยังสมบูรณ์ <O:p

    เมื่อเป็นดังนั้น เราก็ทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้มั่นคงจริงๆ ไม่ว่าจะกราบ จะไหว้ จะกล่าวคำสรรเสริญบูชาคุณของท่าน ก็ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ <O:p

    พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เราขอยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เราก็ยึดจริงๆ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เราขอยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง ก็ยึดเพราะเราเห็นคุณของพระธรรมแล้ว สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เราขอยึดพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เราก็ยึดจริง ๆ เพราะว่าเราเห็นคุณของพระสงฆ์แล้ว

    การที่เราเกิดอีกเราก็จะมีแต่ความทุกข์ สิ่งที่พาให้พ้นทุกข์ได้คือ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องมีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ ถ้ากำลังใจเราทรงฌานอยู่ แค่ขยับตัวก็รู้ว่าศีลขาดหรือไม่ และให้คิดอยู่เสมอว่า เมื่อตายแล้วเราจะไปพระนิพพาน<O:p

    ดังนั้น ทุกคนก็จะเห็นได้ว่า กำลังใจที่ทรงฌานนั้น จริงแท้แล้วสำคัญที่สุด หลายท่านอาจจะเกรงว่า การติดในรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี จะพาให้ไม่พ้นทุกข์ พาให้ไปถึงพระนิพพานไม่ได้

    ความจริงแล้ว การติดอยู่ในรูปฌาน อรูปฌานนั้น ส่วนใหญ่จะไปเพลิดเพลินกับความสุข ความเยือกเย็นของมัน เราก็ใช้กำลังใจในการทรงฌานก็ดี อรูปฌานนั้นก็ดี เกาะพระนิพพานไว้แทน

    ถ้าเอากำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ได้ ก็ถือว่าเราไม่ได้ติดในรูปฌานและอรูปฌาน หากแต่ใช้กำลังของฌานสมาบัตินั้น เป็นเครื่องนำเราก้าวไปสู่ความหลุดพ้น เมื่อเราทรงฌานอยู่ เรามีกำลัง เรามีสติ

    เมื่อเราพิจารณาวิปัสสนาญาณ เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราได้ ก็ให้จับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงว่า พระองค์อยู่ที่พระนิพพานเท่านั้น <O:p

    เราเห็นท่าน คือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน อันนี้เราทำมาหลายวันติดกัน เริ่มมีความคล่องตัว แม้จะขาดความชัดเจนแจ่มใสบ้าง ก็ถือว่าใช้ได้ ขอให้เรามั่นใจว่า ตรงหน้าเรามีภาพพระอยู่

    จะชัดเจนแจ่มใสก็ดี ไม่ชัดเจนก็ดี ขอให้ความรู้สึกของเรามั่นใจว่ามีก็ใช้ได้ การกำหนดภาพพระนั้น เลือกเอาที่เราชอบใจ จะเป็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ตาม ที่เราชอบ จะเป็นภาพพระวิสุทธิ์เทพก็ได้ หรือจะเป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้

    ตั้งใจกำหนดจดจ่ออยู่กับท่าน แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง เกาะภาพพระอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าเราทรงกำลังเกินนั้นไป ก็กำหนดใจอยู่กับภาพพระเฉยๆ ยิ่งกำลังใจสูงเท่าไหร่ ภาพพระก็ยิ่งสว่างไสวมากเท่านั้น

    แต่ถ้าหากว่าเรามีความคล่องตัวในการทรงฌาน เวลาเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ก็สามารถทรงฌานสมาบัติได้ ถ้าหากว่าเป็นดังนั้น ให้แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งจับภาพพระไว้เป็นปกติ หรือถ้าหากใครได้มโนมยิทธิ ให้ส่งกำลังใจไปกราบพระบนพระนิพพานเลย<O:p

    ทุกวันให้รักษากำลังใจไว้อย่างนี้ โดยความรู้สึกของเราอย่าได้เผลอเป็นอันขาด ความรู้สึกนั้นก็คือว่าเราจะต้องตาย ตายเมื่อไหร่เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

    การกำหนดภาพพระ พวกเราทำกันมามากแล้ว วันนี้จะขอกล่าวถึง ธัมมานุสติ คือ การระลึกถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทุกคนกำหนดภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เบื้องบนศีรษะของเรา

    กำหนดใจว่า เสียงที่ท่านได้ยินนี้ เป็นเสียงธรรมะจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระแสธรรมะนั้น หลั่งไหลจากพระโอษฐ์ของพระองค์ท่านลงมา ให้เห็นเป็นดอกมะลิทองคำ ค่อย ๆ ลอยต่อเนื่องตามกันลงมาเป็นทางยาว

    ผ่านองค์ของหลวงปู่ ผ่านองค์หลวงพ่อ ผ่านครูบาอาจารย์ของเราลงมา อยู่ตรงหน้าของเรา ให้นึกว่าตรงหน้าของเรามีพานทองคำอยู่หนึ่งใบ ดอกมะลิทองคำที่เป็นตัวแทนของพระธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่อยๆ ลอยลงมาอยู่ตรงหน้า

    รวมกันทีละเล็กทีละน้อย มากขึ้น มากขึ้น ให้กำหนดใจจับภาพดอกมะลิทองคำ ที่ลอยออกจากพระโอษฐ์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลั่งไหลเป็นสายลงมา จนกระทั่งผ่านตัวของเรา ไปอยู่บนพานที่อยู่บนหน้าตัก หรือว่าอยู่ตรงหน้าแทน

    ให้กำหนดความรู้สึกอยู่อย่างนี้ ให้หลั่งไหลวนเวียนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สุด ไม่มีการเต็ม ลงมาเท่าไหร่ก็มีอยู่เท่าเดิมที่เราต้องการ ต้องการจะมากขนาดไหนก็ตาม จะเอาห้าดอก เจ็ดดอก เก้าดอก หรือว่าเต็มทั้งพานก็ดี แล้วแต่เราชอบใจ

    ถ้าเราสามารถกำหนดสติ นึกภาพอย่างนี้ได้ ตัวอารมณ์ธัมมานุสติกรรมฐานของเราจะทรงตัวดีมาก จริง ๆ แล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีอยู่กับเราตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

    อุปปาทา วา ภิกขเว ตถาคตานัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ดี อนุปปาทา วา ตถาคตานัง ตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ดี ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตตา ธรรมธาตุทั้งหลาย ก็ทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น เป็นปกติอยู่แล้ว <O:p

    สัพเพ สังขารา อนิจจาติ อันว่าสังขารทั้งหลาย หมายถึง สรรพสิ่งทั้งหลาย คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของใด ๆ ก็ตาม มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด

    สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สรรพสิ่งทั้งหลาย ประกอบไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะต้นไม้ จะสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ตัวของมันเองเกิดอยู่ในกองทุกข์ ก็ประกอบขึ้นมาจากความทุกข์ยากลำบากเหมือนผู้อื่น <O:p

    สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรทรงตัว เป็นเราเป็นของเราได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น นี่คือนิยามแห่งธรรม นี่คือความเป็นจริงแห่งธรรมะนั้น นี่คือคำจำกัดความของธรรมะนั้น <O:p

    องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ ทรงพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้ มองเห็นธรรมะที่มีอยู่เป็นปกตินี้ได้ชัดเจน ขณะที่ผู้อื่นเขาไม่เห็น เมื่อรู้แล้ว พระองค์ท่านก็นำมาสอนเราให้รู้ตาม <O:p

    ผู้รู้ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ใครทำใครได้ ทำแทนกันก็ไม่ได้ รู้แล้วจะบอกกล่าวคนอื่นก็ยาก เพราะธรรมะเป็นของละเอียดลึกซึ้ง <O:p

    อกาลิโก ธรรมะนั้นมีอยู่แล้วเป็นปกติ มีอยู่แล้วในทุกกาลทุกสมัย เอหิปัสสิโก เป็นเรื่องที่ท้าพิสูจน์ได้ ใครมาปฏิบัติก็จะเห็นผล ขอให้ตั้งใจทำจริงเท่านั้น โอปนยิโก ขอให้น้อมนำเข้ามาในกายนี้ ให้เห็นธรรมทั้งภายในภายนอกให้เป็นปกติ<O:p

    ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนอื่น ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา แล้วท้ายที่สุดก็น้อมเข้ามาว่า ร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ก็ทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเช่นกัน

    ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้รู้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น จะรู้ได้ด้วยตนเอง ธรรมะนั้นเป็นของละเอียด คำพูดก็ดี ตัวหนังสือก็ดี เป็นของหยาบ ไม่สามารถที่จะอธิบายความละเอียดของธรรมะอย่างแท้จริงได้

    ยกเว้นท่านทำถึงเมื่อไหร่ ท่านก็จะรู้สึกว่า อ๋อ..ที่แท้ธรรมะเป็นอย่างนี้ แต่อย่าไปยึดถือมั่นหมาย เพราะว่านั่นอาจจะเป็นธรรมส่วนที่เราเข้าถึง ไม่ใช่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าเข้าถึง ถ้าหากว่าใช่ มันก็ใช่แค่ของเรา<O:p

    ยังไม่ใช่ธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่ใช่ของพระอรหันต์ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า เข้าถึงแล้วให้น้อมจิตน้อมใจ กราบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พยายามสร้างกำลังใจของเราว่า ธรรมะที่ดีกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องขวนขวายเพื่อธรรมะส่วนนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา

    ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวตั้งมั่น ดอกมะลิทองคำตรงหน้า (ที่ท่านลืมไปแล้ว) กำหนดใจให้อยู่กับดอกมะลินั้น มันจะค่อยๆ ใสขึ้น สว่างขึ้น สะอาดขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นแก้วใส แพรวพราวอยู่ตรงหน้าของท่านทั้งพาน<O:p

    ตลอดสายแห่งกระแสธรรมะ ที่หลั่งไหลจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ก็จะกลายเป็นดอกมะลิแก้ว ล่องลอยลงมาเป็นเส้นทางอันสว่างไสว เป็นเส้นทางที่จะนำเราพ้นทุกข์ เป็นเส้นทางที่จะพาเราไปสู่ความสุข <O:p

    ถึงแม้ว่าธรรมะจะสำคัญเพียงใดก็ตาม อย่าลืมว่า พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ที่เรายึดถือนั้น ถ้าโดยสภาพแล้วไม่ใช่พระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณที่แท้จริง ล้วนแล้วแต่เสื่อมสลายตายพังได้ทั้งสิ้น

    ดังนั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ก็ให้ตั้งใจว่า ถ้าหากว่าตาย เราขอไปสู่พระนิพพานแห่งเดียว ให้เอากำลังใจจับภาพพระธรรม ที่เป็นดอกมะลิแก้วก็ดี ดอกมะลิทองก็ดี ที่หลั่งไหลออกจากพระโอษฐ์ ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงไว้

    เวลาสวดมนต์ก็ให้นึกถึงภาพนี้ รักษาภาพนี้เอาไว้ให้อยู่กับเราตลอดเวลา จะได้ขึ้นชื่อว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติในธัมมานุสติกรรมฐานอย่างแท้จริง <O:p

    ตอนนี้ก็ขอให้ทุกคนค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมา พยายามแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง ประคับประคองภาพธัมมานุสติกรรมฐานให้อยู่กับเรา ขณะที่ตัวเราจะได้เตรียมทำวัตรสวดมนต์ต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    วันศุกร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
    <O:p></O:p>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 11 มิถุนายน 2010
  10. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๐. สังฆานุสติ


    ความจริงการที่วัดมีงาน มันเป็นการทดสอบอารมณ์ปฏิบัติของเราได้ดีที่สุด ว่าสิ่งทั้งหมดที่เราทำมา มันใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน ? สมัยหลวงพ่อ เครื่องเสียงหายาก มันมีแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่เป็นแผ่นครั่ง

    หลวงพ่อถึงขนาดลงทุนซื้อเครื่องเสียง แล้วยกให้ห้องข้าง ๆ ไป ในเมื่อมีเครื่องมีแผ่น มันก็เปิดกันดังสนั่น แล้วหลวงพ่อก็นั่งภาวนา ท่านอยากรู้ว่า สามารถที่จะสู้กับเสียงได้จริง ๆ หรือเปล่า <O:p

    พอภาวนาอารมณ์ใจเริ่มทรงตัวเป็นปฐมฌาน จิตกับประสาทมันเริ่มแยกจากกัน สิ่งต่าง ๆ ที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก มันเริ่มไม่สนใจ จิตมันจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ถ้าทรงฌานสูงขึ้นไปกว่านั้น ตั้งแต่ฌานสอง ฌานสาม ขึ้นไป เสียงมันเบาลงแทบจะไม่ได้ยินเลย<O:p

    ถ้าถึงฌานสี่นี่เสียงมันดับสนิท ไม่รับรู้อาการภายนอก เมื่อซื้อให้มันเครื่องหนึ่ง สามารถสู้ได้แน่ ก็ซื้อให้อีกเครื่องหนึ่ง ให้ห้องข้าง ๆ ตอนแรกซื้อให้ห้องทางซ้าย แล้วก็ซื้อให้ห้องทางขวา ให้มันเปิดแข่งกันแล้วท่านก็ภาวนา ปรากฏว่าสู้ได้สบายมาก <O:p

    สมัยผมเข้าเวรอยู่หน้าห้องหลวงพ่อที่วัดท่าซุง ผมก็ซื้อเทปมาเปิดฟัง เทปเพลงโดยเฉพาะเพลงเพราะ ๆ ที่ผมชอบ ในชีวิตผมชอบเสียงผู้หญิงไม่กี่คน อย่างของวงจันทร์ ไพโรจน์ ผ่องศรี วรนุช ลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์ หรือสุนทรี เวชานนท์

    ตอนสมัยเป็นฆราวาส เสียงพวกนี้นี่มันจะติดใจผมมาก พอบวชเข้ามาก็รู้ว่าการที่เราจะละ จะตัดอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่หนีมัน แต่ต้องวิ่งไปชนกับมัน ผมก็ซื้อเทปมา แล้วก็เปิดฟังหน้าห้องหลวงพ่อนั่นแหละ เป็นคนอื่นเปิดเทปในนั้น โดนตีกบาลแยก

    แต่ผมเปิดฟังหลวงพ่อไม่ว่าสักคำ เพราะท่านรู้ว่าเรากำลังสู้กับตัวเอง เพลงที่เราชอบ เสียงที่เราชอบ ถึงเวลาเราสามารถรักษาอารมณ์ให้ทรงตัวอยู่ได้มั้ย ? ใหม่ ๆ มันก็ไหลตามไป เผลอหน่อยเดียวไปตั้งครึ่งค่อนเพลง

    ก็ตั้งหน้าจับอารมณ์ภาวนากันใหม่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เราชอบ จิตมันจะเคลื่อน จะคล้อยตามไปได้ง่าย สติ สมาธิต้องทรงตัวจริง ๆ ต้องจดจ่ออยู่แต่เฉพาะหน้าจริง ๆ พอสู้กันตรงนั้น

    จนกระทั่งผมมั่นใจว่า ยังไงก็จะไม่แพ้เสียงนี้แล้ว ก็ปรากฏว่า พอดีออกไปธุดงค์ ได้ลองของ จุดที่ไปก็คือบ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ มันสูงจากระดับน้ำทะเล พันสองร้อยกว่าเมตร อากาศเดือนเมษามันหนาวพอ ๆ กับดอยอินทนนท์เลย <O:p

    ผมไปพักที่นั่น ปรากฏว่ามันเป็นงานประจำปีของเขา ความที่ชาวบ้านเขาหวังดีกลัวเราจะหนาว เขาก็นิมนต์ผมเข้าไปพักในห้องเครื่องไฟ เพราะว่ามันเป็นรั้วรอบขอบชิด เขาต้องทำแข็งแรง กันคนขโมย มันก็เลยพลอยกันลมหนาวลมร้อนได้สบายด้วย <O:p

    คราวนี้มันเป็นงานประจำปี คนทั้งหมู่บ้านเขาต้องใช้ไฟฟ้า มันนิมนต์พระอยู่กับเครื่องไฟ แล้วมันก็ติดเครื่องด้วย ปรากฏว่าผมหลับสบายไม่รู้เรื่อง ไม่ถึงเวลามันไม่ตื่น เพราะว่าพอภาวนาไป ภาวนาไป หูมันดับ มันไม่รับรู้อาการภายนอก ก็เลยเป็นการทดสอบที่ดีที่สุด<O:p

    เมื่อคืนนี้พวกคุณทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วที่รักษากำลังใจไม่ได้ เพราะว่าคุณไปใส่ใจในเสียง การที่คุณไปใส่ใจในเสียง ก็คือคุณไปสนใจในมัน ฟังแล้วก็คิดตาม คล้อยตาม เราชอบ เราไม่ชอบ หรือเนื้อหามันจะเป็นอย่างไร

    ใจคุณส่งออก พอไปสนใจกับมัน เสียงมันก็มีอิทธิพล คุณเลยนอนไม่หลับ ถ้าหากว่ากำลังใจทั้งหมด ความรู้สึกทั้งหมดของคุณ อยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก หายใจเข้า ผ่านจมูก ตามดูลงไป ผ่านกึ่งกลางอก ตามดูลงไป ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ปลายจมูก

    ถ้ากำลังใจของเราอยู่อย่างนี้ หรืออยู่กับภาพพระ หายใจเข้า ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไป ภาพพระองค์เล็กๆ ไหลลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมหายใจออกมา ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ เป็นองค์ใหญ่

    ถ้าคุณสนใจอยู่แค่นี้ เสียงจะทำอะไรคุณไม่ได้ แต่คราวนี้เราไปสนใจกับข้างนอกมันมากกว่า เสร็จแล้วก็ยังไปปรุงไปแต่ง ด้วยการที่เอาตัวกูของกูเป็นที่ตั้ง คือมานะถือตัวถือตนว่ากูปฏิบัติดี ไอ้พวกนั้นมันระยำ

    ถ้าเราคิดอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ คนเราทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหมด ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรมเท่านั้น การสมมติคำว่าดี คำว่าเลวขึ้นมา เพื่อที่เราจะแยกแยะได้สะดวกเท่านั้น ไม่ใช่สมมติขึ้นมาแล้ว ให้เราไปแบกมัน <O:p

    บุคคลที่ทำดีตามคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำของเขาทำให้เขาตกอยู่ในกระแสสีขาว มันจะไหลทวนกระแสโลก ขึ้นไปสู่ข้างบนอยู่เสมอ ไปสู่ภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    บุคคลที่กระทำสิ่งที่คัดค้านคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาตกอยู่ในกระแสสีดำ พาไหลลงอยู่ตลอดเวลา ลงไปสู่ความเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา

    สิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นทำ เขาคิดว่าดี เขาจึงทำ ในเมื่อเขาคิดว่าดี เราเองเห็นว่ามันไม่ดี ก็แสดงว่าเราต้องคุ้นเคยกับความไม่ดีนั้นมาก่อน เราต้องเคยกระทำความไม่ดีนั้นมาก่อน

    เมื่อเราทำมาแล้ว เราก้าวพ้นมาแล้ว เราเห็นทุกข์เห็นโทษของมันแล้ว บุคคลอื่นมากระทำสิ่งนั้น มารับช่วงสิ่งนั้นจากเรา ก็แปลว่าเขาคือทายาท คือผู้รับมรดก เท่ากับเป็นลูกเราหลานเรานั่นเอง

    ในเมื่อลูกหลานเราตกอยู่ในความทุกข์ความลำบาก เราจะไปโกรธลูก โกรธหลาน ไม่พอใจในลูก ในหลาน หรือว่าควรจะเมตตาสงสารเขา เราควรจะแผ่เมตตาต่อเขาดี<O:p

    ตั้งใจว่าเมื่อใดก็ตาม ที่เขารู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วอย่างชัดเจน ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือ เราจะยื่นมือไปช่วยเขา แต่ถ้าขณะจิตที่เขายังมืดยังบอดอยู่ เราไม่สามารถจะช่วยเหลือเขาได้ ไม่สามารถจะแนะนำเขาได้ เราก็ควรจะเกิดความเวทนาสงสารเขา ปรารถนาจะให้เขาพ้นทุกข์

    สิ่งที่เขาทำ เขาเห็นว่าดี เขาจึงทำ เมื่อเขาเห็นว่าดี เขาจึงทำ โดยที่ไม่รู้ว่าความดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขาน่าสงสารเพียงไหน ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักนำเอาพรหมวิหาร ๔ มาประกอบ รู้จักการให้อภัย เราก็ไม่ต้องเก็บเอาอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มาอยู่ในใจของเรา

    เขาทั้งหลายเหล่านั้น ยังเป็นผู้ที่อ่อนด้วยกำลังของความดี ไม่รู้ว่าความดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขายังต้องอาศัยสิ่งภายนอกมากระตุ้น สิ่งภายนอกที่กระตุ้นทางตา ได้เห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ ที่สวยงามพออกพอใจของเขา

    ได้ยินเสียงบรรดาดนตรีต่าง ๆ ที่เป็นที่พออกพอใจของเขา ได้กลิ่นที่มันหอมชื่นใจตามที่เขาปรารถนา ได้รสที่มันอร่อยตามที่เขาต้องการ ได้สัมผัสที่มันอ่อนนุ่มตามที่เขาปรารถนา

    แล้วเขาก็เก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาในใจ เมื่อเก็บเข้ามาในใจ กำลังใจมันยินดีกับสิ่งนั้น ก็เกิดความปลาบปลื้ม เกิดความปีติขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว โดยที่ไม่รู้เสียด้วยว่าความปีตินั้นเกิดจากอะไร

    ในเมื่อเกิดความปีติความยินดีขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเองมีความสุข เมื่อห่างสิ่งนั้นมาไม่มีการกระตุ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเหมือนเดิม ก็รู้สึกว่าตัวเองขาดความสุข หงุดหงิด กลัดกลุ้ม กระวนกระวายใจ

    เขาก็จำเป็นต้องเดินไปหาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอีก เพื่อที่จะกระตุ้นตัวเองขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เลยมารุมล้อมรอบข้างของเราอยู่ กลายเป็นกระแสการทดสอบเรา ว่าเราเองที่ตั้งใจจะละ เราละมันได้เท่าไร
    เราเองมาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติความดี เมื่อก้าวถึงความสุข ความเยือกเย็นใจ ก็รู้ว่า นี่เป็นความสุข ความเยือกเย็นใจจริง ๆ ต้องสร้างมันขึ้นมาในใจของเรา ไม่สามารถที่จะไปกระตุ้นด้วยสิ่งภายนอกได้ <O:p

    เพราะการกระตุ้นเร้าจากสิ่งภายนอกนั้น มันเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าเราสร้างให้มันมีอยู่ในจิตในใจของเรา มันจะเป็นความสุข ความปีติ ความสงบเยือกเย็นที่ยั่งยืนแท้จริง

    เรารู้ว่าสิ่งนี้ดีแน่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี หลวงปู่ หลวงพ่อก็ดี สั่งสอนเรามา เราทำแล้ว เราเห็นผลแล้วว่าดี เราก็ทำสิ่งนี้

    ส่วนคนทั้งหลายทั้งปวง ที่เขามาสนุกกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องกระตุ้น ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยที่ไม่ใช่เสริมสร้างขึ้นภายในใจอย่างพวกเรา เขาก็เห็นว่าดี ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดี ดังนั้นจึงไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก มีแต่คนที่กำลังเป็นไปตามกรรม

    เรารู้อยู่ว่าเขาอยู่ในสถานะที่กำลังไหลลงต่ำ กำลังไหลลงไปหาความทุกข์ที่มากขึ้น มากขึ้น ทับถมพูนทวีขึ้นทุกที สร้างความทุกข์ยากลำบาก ทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดนับชาติไม่ได้ เราควรจะโกรธหรือควรจะให้อภัยเขา ?<O:p

    ตัวเราเองทำความดี ก็ไม่ได้หมายความว่า เราทำดีเพราะอยากดี แต่ที่เราทำดีเพราะรู้ว่าสิ่งนี้ดีเราจึงทำ ก็อย่าเอาตัวมานะ ถือตัวถือตน ไปคิดว่าเราดี เขาเลว พยายามมองให้เห็นว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับเราทั้งหมด<O:p

    ตราบใดที่เขายังไม่รู้ทุกข์ที่แท้จริง ยังไม่ดิ้นรนให้พ้นทุกข์ เขาก็ยังจ่อมจมอยู่กับความทุกข์เช่นนั้น เขาทั้งหลายเหล่านั้นน่าสงสารอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงสมควรให้อภัยเขา <O:p

    ดึงกำลังใจของเราอยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่กับความรู้สึกที่หวังดี ปรารถนาดี รักเขาเสมอตัวเรา สงสารปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ถ้าหากว่าเขาทำความดีได้ เราก็พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข <O:p

    แต่ถ้าไม่สามารถช่วยเหลือสิ่งใดได้ เพราะกระแสโลกมันแรงเกินไป เราก็ต้องปล่อยวาง รักษาใจให้เป็นอุเบกขา ไม่หวั่นไหวกับสิ่งกระทบต่าง ๆ ถึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นพระโยคาวจร คือเป็นผู้สอนตน เป็นผู้ปฏิบัติตน ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อก้าวไปสู่การพ้นทุกข์ <O:p

    โอกาสที่เราจะมีเครื่องทดสอบแบบนี้ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ เราอยู่ปีหนึ่งเต็ม ๆ เราถึงจะเจอครั้งหนึ่ง เมื่อมีเครื่องทดสอบที่ดีแบบนี้ ถ้าเราไปยินร้าย คือไปโกรธ ไปขุ่นเคืองมัน ก็แปลว่าเราสอบตก กำลังใจของเรายังใช้ไม่ได้ <O:p

    พยายามดึงกำลังใจของเรา ให้รวมตัวอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อยู่กับพระนิพพาน ที่พึ่งอื่นใดของเราไม่มีนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ <O:p

    สิ่งที่จะเป็นเครื่องยึด เครื่องเกาะ ให้เราพ้นจากวัฏฏะสงสารอันน่ากลัวนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าพระนิพพาน ดังนั้นให้กำลังใจของเราอยู่กับพระพุทธเจ้า ให้กำลังใจของเราอยู่กับพระธรรม ให้กำลังใจของเราอยู่กับหลวงปู่ หลวงพ่อ

    ครั้งก่อนๆ เราเรียนเรื่องพุทธานุสติ ธัมมานุสติมาแล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของสังฆานุสติ การระลึกถึงพระสงฆ์ ไม่ใช่แค่นึกว่าเป็นหลวงปู่องค์นั้น เป็นหลวงพ่อองค์นี้ แต่ให้ดูปฏิปทาการปฏิบัติของท่าน <O:p

    ว่าหลวงปู่องค์นั้น ท่านปฏิบัติของท่านอย่างไร สร้างกาย วาจา ใจ ของท่านอย่างไร ท่านถึงได้ยกตนขึ้นเป็นกัลยาณชน เป็นพระอริยะชน จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน หรือเป็นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ <O:p

    พิจารณาดูตามประวัติ ของพระเถระสมัยพุทธกาลก็ได้ อย่างพระสารีบุตร เป็นผู้ที่เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้ใดปัญญาเหนือกว่า นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พระสารีบุตรนอกจากเลิศด้วยปัญญาแล้ว ยังเป็นผู้กอปรด้วยความกตัญญูอย่างยิ่ง<O:p

    ถ้าท่านทราบว่าพระอัสสชิ พระอรหันต์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ อยู่ในทางทิศไหน ท่านจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น คือแสดงความเคารพผู้เป็นบูรพาจารย์คนแรก ที่นำธรรมะมาให้ท่าน ว่าไม่ว่าอาจารย์อยู่ทางด้านไหน ท่านจะไม่หันเท้าไปทางนั้น ท่านก็จะนอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสชิอยู่ตลอดเวลา <O:p

    เมื่อราธพราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่ยากจน ปรารถนาการบวช ไม่มีใครรับรองให้ เพราะว่าคิดว่าหลวงตาแก่ ๆ บวชเข้ามาก็เอาดีไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครรู้คุณของพราหมณ์นี้บ้าง พระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านรู้คุณของพราหมณ์นี้

    ท่านเคยบิณฑบาต แล้วราธพราหมณ์ ใส่ข้าวให้หนึ่งทัพพี พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ดีแล้ว..สารีบุตร เธอจงให้การอุปสมบทแก่ราธพราหมณ์นี้เถิด พระสารีบุตรอุปสมบท คือบวชให้ราธพราหมณ์ ด้วยจิตกตัญญูต่อข้าวหนึ่งทัพพี <O:p

    แล้วเราก็ได้พระอรหันต์ขีณาสพ คือพระราธเถระ ที่เป็นหลวงตาที่ว่านอนสอนง่ายที่สุดในโลก แม้กระทั่งพระใหม่ที่เพิ่งบวช กล่าวตักเตือนท่านก็น้อมรับ กลายเป็นพระผู้เลิศในทางอ่อนน้อมถ่อมตน กลายเป็นพระผู้เลิศในทางว่านอนสอนง่ายขึ้นมา <O:p

    วาระสุดท้ายของชีวิต พระสารีบุตรท่านเป็นโรคกระเพาะทะลุ ถ่ายเป็นโลหิตเป็นกระโถน ๆ รู้ว่าตัวเองถึงเวลานิพพานแล้ว ไปกราบทูลลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลาแล้วไปไหน ? <O:p

    ท่านไปชวนน้อง ๆ ของท่าน คือ ท่านอุปเสนะ ท่านจาลา ท่านอุปจาลา ท่านสีสุปจาลา ท่านจุนทะ ท่านเรวัตตะ กลับไปบ้าน ไปสงเคราะห์แม่ <O:p

    ถ้าหากว่าท่านไม่มีจิตกตัญญู คิดว่าตัวเราพ้นแล้ว คนอื่นเป็นอย่างไรก็ช่าง แม่ของท่าน ซึ่งมีลูกเจ็ดคน เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แต่ตนเองเป็นมิจฉาทิฐิ ก็จะตกอบายภูมิ อย่างที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้

    ท่านป่วยหนัก จนกระทั่งใกล้จะนิพพานแล้ว ก็ยังกลับไปเทศน์สงเคราะห์แม่ จนกระทั่งแม่ของท่านเป็นพระโสดาบัน เมื่อแม่เป็นพระโสดาบัน รู้ว่าลูกคือพระสงฆ์ มีคุณความดีขนาดไหน ลูกก็หมดลมหายใจพอดี<O:p

    นี่คือพระสารีบุตรมหาเถระเจ้า ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ในบรรดาสาวกทั้งปวง ไม่มีปัญญาผู้ใดยิ่งไปกว่าท่านอีก <O:p

    ในความกตัญญูกตเวที ต่อครูบาอาจารย์ กตัญญูกตเวที ต่อผู้ที่เลี้ยงดูตนมา กตัญญูกตเวที ต่อบิดามารดา คิดว่าท่านก็ไม่เป็นรองใคร เราคิดถึงตรงจุดนี้ คุณของพระสงฆ์ตรงจุดนี้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำตาม ทำให้ได้

    เราจะได้เป็นสุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ที่ปฏิบัติดีแล้ว

    อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า <O:p

    ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรม ยังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลออกไป <O:p

    สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติโดยชอบแล้ว คือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อพระนิพพาน ปฏิบัติสมควรแก่การเป็นปูชนียบุคคล <O:p

    ปฏิบัติสมควรต่อการที่ผู้อื่นเคารพกราบไหว้ ปฏิบัติสมควรแก่การที่ผู้อื่นให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่ <O:p

    หรือเราจะนึกถึงพระเถระรูปอื่น ๆ อย่างพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้า เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ สามารถเผยแผ่พระศาสนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้กว้างไกลไปในชมพูทวีป <O:p

    เป็นผู้ที่มีปกติ ไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพาน พบผู้ใดทำความดีอย่างไร ได้เป็นเทวดาอย่างไร เป็นนางฟ้าอย่างไร เป็นพรหมอย่างไร ก็นำมาประกาศต่อมหาชน เพื่อให้คนเหล่านั้นได้ทำตาม <O:p

    เห็นคนลงนรกเพราะทำความชั่วอย่างไร ก็นำมาประกาศต่อมหาชน เพื่อให้เขาเหล่านั้น จะได้ไม่กระทำความชั่วนั้น ๆ <O:p

    หรือว่าอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะเถระ พระอรหันต์องค์แรกของโลก ที่เป็นสาวกอรหันต์ หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปโปรดสงเคราะห์ ท่านและคณะ<O:p

    ท่านมีดวงตาเห็นธรรม กลายเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรก ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้เลิศทางรัตตัญญู คือมีประสบการณ์มาก เพราะว่าบวชเป็นพราหมณ์มา ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ท่านมีความดีอย่างไร เราดูตรงจุดนั้น ทำตามตรงจุดนั้น

    หรือว่าพระมหากัจจายนะเถระเจ้า เป็นผู้เลิศในปฏิสัมภิทาญาณ เทศน์สั่งสอนผู้อื่นได้ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์เอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองไว้ จึงได้มีภัทเทกรัตตสูตร ที่เป็นคำเทศน์ของท่าน อยู่ในพระไตรปิฎกด้วย <O:p

    หรืออย่างพระอานนท์เถระเจ้า ผู้เป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการ ท่านเป็นพระอนุชา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่พระปรินิพพาน <O:p

    เป็นผู้ที่รู้รอบ รู้ว่ากาลไหนควร กาลไหนไม่ควร ที่จะนำคนเข้าหาพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่รอบคอบ พระพุทธเจ้าไปเทศน์ที่ใดก็ตาม ท่านได้ขอพรเอาไว้ว่า ขอให้กลับมาเทศน์ให้ท่านฟังอีกรอบหนึ่ง ท่านจึงเป็นผู้ที่จดจำพระไตรปิฎกได้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ <O:p

    ท่านเป็นกำลังที่สำคัญที่สุด ในการสังคายนาพระไตรปิฎก รวบรวมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่เรา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราคิดให้ถึง มองให้เห็น <O:p

    หรือไม่ก็มาดูพระเถระในยุคหลัง ๆ อย่างหลวงปู่ทวด มรณภาพไปเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เกียรติคุณของท่านก็ยังคงขจรขจาย เอ่ยถึงหลวงปู่ทวด คนต้องรู้ว่าวัดช้างให้ <O:p

    หรืออย่างหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย มรณภาพไปเนิ่นนานแล้ว แต่คุณความดีก็ยังครอบคลุม ทั่วแคว้นล้านนาไทย ตลอดจนกระทั่งทั่วประเทศ <O:p

    หรืออย่างหลวงปู่มั่น ท่านสร้างพระให้เป็นพระ ได้มากมายมหาศาลเหลือเกิน แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ ที่มีโอกาสแค่เห็นท่านแค่ทางหน้าต่างรถไฟ เพียงแค่แวบเดียว คำสอนที่ได้รับก็คือ “...ตั้งใจทำให้ดีนะ ตั้งใจภาวนานะ...” ปรากฏว่าลูกศิษย์ของท่าน สามารถเป็นหลักชัยของหมู่ชนจำนวนมาก <O:p

    หรือหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง ต้นตำหรับสมเด็จวัดระฆัง อันลือลั่นสนั่นเมือง ท่านมีปฏิปทาอย่างไร หลวงพ่อสมเด็จท่านมีปกติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ กล่าววาจาดี กล่าววาจาไพเราะ ไม่เคยขึ้งโกรธใคร ไม่เคยตำหนิใคร <O:p

    กระทั่งสุนัขนอนขวางทางอยู่ หลวงพ่อสมเด็จท่านยังเดินเลี่ยงไป เพื่อที่จะได้ไม่ไปรบกวนสุนัขนั้น แต่ละท่านแต่ละองค์มีปฏิปทาอย่างไร ให้ดูเอาไว้<O:p

    หรือหลวงปู่ปานก็ดี หลวงพ่อฤๅษีลิงดำก็ดี มีปฏิปทาความดีอย่างไร เรานึกถึง ระลึกถึง น้อมเอาคุณนั้นเข้ามาอยู่ในจิตในใจของเรา นึกถึงรูปของท่านก็ได้ นึกถึงความดีของท่านก็ได้ แล้วตั้งใจทำตาม <O:p

    ถ้าเราจับสังฆานุสติดังนี้ กำหนดเป็นภาพพระสงฆ์ องค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารัก เราชอบ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก กำหนดว่า ท้ายสุดทุกท่านก็ไปพระนิพพาน เราก็เอาใจจับพระนิพพานไว้ <O:p

    หรือกำหนดภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภาพพระสงฆ์ที่เรารัก เราชอบ เราเคารพ ซ้อนอยู่ในกายของท่าน นึกว่า ตอนนี้เราอยู่กับพระพุทธจ้า อยู่กับหลวงพ่อ อยู่บนพระนิพพาน <O:p

    กำหนดใจไว้อยู่อย่างนี้ทุกวัน ๆ ประกอบกับลมหายใจเข้าออก เพื่อให้กรรมฐานทรงตัว อย่าลืมว่า หลวงปู่ หลวงพ่อ ทุกรูปทุกนาม ท้ายสุดก็มรณภาพ ท้ายสุดก็ไปพระนิพพาน<O:p

    พระผู้ทรงความดีขนาดนั้น ก็ไม่มีใครอยู่ยงดำรงขันธ์ ล้วนแล้วแต่ตายหมดทั้งสิ้น เราเองก็ต้องตาย ตายแล้วถ้าเราเกิดก็ทุกข์อีก <O:p

    ดังนั้น เราไปนิพพานดีกว่า ก็เอาจิตเกาะพระนิพพานไว้ดังนี้ แล้วพยายามรักษาอารมณ์ที่สุข ที่เยือกเย็นนี้ ไว้อยู่กับเราให้นานที่สุด ในอนาคตเราก็จะเข้าถึงความพ้นทุกข์เช่นเดียวกับท่านเช่นกัน<O:p

    คราวนี้ ให้ทุกคนคลายกำลังใจออกมาช้า ๆ อย่างระมัดระวัง รักษาประคับ ประคองกำลังใจเอาไว้ เพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ของเราต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 มิถุนายน 2010
  11. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๑. เทวตานุสติ

    ขอให้ทุกคนจับภาพพระ พร้อมกับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ เรื่องของภาพพระ จัดเป็นพุทธานุสติกรรมฐาน โดยเฉพาะถ้าเรานึกอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าอยู่บนพระนิพพาน ก็เป็นวิปัสสนานุสติกรรมฐานไปด้วย <O:p

    ส่วนเรื่องของลมหายใจเข้าออก เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งหมด เป็นเครื่องสร้างสติของเราให้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งเราจะทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ทิ้งเมื่อไร กรรมฐานทุกกองมันจะไม่ทรงตัว <O:p

    เรื่องของภาพพระ กับลมหายใจเข้าออก ให้ถือเป็นพระวินัยประจำตัวไปเลย คือเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำ จะมากจะน้อยก็ตาม ในแต่ละวันต้องนึกถึงให้ได้ ต้องการภาพพระแบบไหน ลักษณะไหน แล้วแต่เราชอบ <O:p

    ส่วนลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีความคล่องตัว มันจะกระโดดข้ามขั้น พอนึกปั๊บ มันจะวิ่งไปสู่จุดที่เราเคยชิน คืออารมณ์ฌานระดับต่างๆ ไปเลย ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ ก็ให้เริ่มต้นจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

    ใช้ความรู้สึกตามดูลม ว่ามันผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ตามความรู้สึกของเราอยู่เช่นนี้ ถ้าจิตมันละเอียดจริงๆ มันจะรู้ลมได้ตลอด โดยไม่ต้องไปกำหนดฐานเลย<O:p

    ลมหายใจไหลเข้า รู้ไปตลอดสาย ลมหายใจไหลออก รู้ไปตลอดสาย ถ้าหากว่ารู้แบบนี้ ก็แปลว่า จิตของเราทรงเป็นฌานอัตโนมัติแล้ว ถ้ากำลังมันสูงมากขึ้น มากขึ้น ลมหายใจเข้าออกของเรา บางทีมันจะสว่างตลอดไปถึงข้างใน <O:p

    มันสว่างตลอดเส้นทางที่ลมเข้าไป สว่างตลอดเส้นทางที่ลมออกมา ดังนั้น ให้กำหนดความรู้สึกอยู่เฉพาะหน้า ตั้งใจดูตามลมพร้อมกับภาพพระ หายใจเข้า ภาพพระไหลตามลมเข้าไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมออกมา ให้ท่านไปอยู่บนศีรษะก็ได้<O:p

    หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ไปอยู่เหนือหัวของเรา เมื่อภาพพระชัดเจนแจ่มใส สมบูรณ์แล้ว อย่าลืมแผ่เมตตา ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นปกติ <O:p

    เมตตาพรหมวิหาร จะหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้เยือกเย็น ทำให้กรรมฐานทรงตัว ไม่เสื่อมสลายไปง่าย กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ความจริงกองใดกองหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจทำ ก็ไปนิพพานได้ทั้งนั้น <O:p

    แต่ว่าการปฏิบัติของเรา ส่วนใหญ่มีพื้นฐานในอดีตมาแล้ว มีความถนัดในกรรมฐานหลาย ๆ กองมาแล้ว เราต้องเลือกสิ่งที่มันเหมาะ สิ่งที่มันดี สำหรับตัวเราเอง <O:p

    จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า ถ้าเรามีพรหมวิหาร ๔ อยู่ในใจ กรรมฐานทุกกองจะทรงตัวได้ง่าย เพราะอารมณ์มีความเยือกเย็นเป็นปกติ การแผ่เมตตา พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ <O:p

    อันดับแรกคือ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อสัมผัสกระแสเมตตาแล้ว กำลังใจที่เร่าร้อนก็จะชื่นเย็น ทำให้เขาไม่คิดจะเป็นศัตรูกับเรา อยู่ในป่า อยู่ในสถานที่รกชัฎ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหวาดกลัวว่า สัตว์ชนิดไหนจะทำร้าย <O:p

    เมื่อเราไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ต้องหวาดระแวง กำลังใจที่ทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า ไม่ส่งส่ายไปอารมณ์อื่น มันก็เป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อแผ่เมตตาออกไป จนกำลังใจของเราทรงตัวแล้ว มั่นคงแล้ว ก็ให้พิจารณาร่างกายของเราต่อ <O:p

    ดูให้เห็นว่า ร่างกายของเรามันไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงไปเรื่อย ๆ ในท่ามกลาง และสลาย ตาย พัง ไปในที่สุด ดูให้เห็นว่าขณะดำรงชีวิตอยู่ มีแต่ความทุกข์ <O:p

    ขณะเวียนว่ายตายเกิดตามภพ ตามภูมิต่าง ๆ มีแต่ความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด การแก่ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ การได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ การมีความปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ <O:p

    แม้เป็นเทวดา พรหม มีความสุข แต่ก็ยังมีทุกข์อยู่ คือว่ายังกลัวว่าจะต้องตกสู่อบายภูมิ ยังมีกิจที่จะต้องขวนขวาย ทำเพื่อความหลุดพ้น ดังนั้น แม้เทวดา พรหม ก็ยังเป็นทุกข์ ท้ายสุดก็คือ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา<O:p

    ร่างกายเป็นธาตุ ๔ คือดิน คือน้ำ คือลม คือไฟ ประกอบขึ้นมาเป็นเรือนร่างชั่วคราว ให้เราได้อาศัยอยู่ ถึงเวลามันก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ได้ กายของเทวดา ของพรหมที่เป็นทิพย์ ถ้าหากว่าหมดบุญ ก็ต้องสลายไปเช่นกัน<O:p

    ต้องจุติไปสู่ภพอื่น ภูมิอื่น ไปได้กายที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ตามบุญตามบาปของตน ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นกัน ถ้าไปยึดถือมั่นหมาย ก็เป็นทุกข์ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว มันไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา <O:p

    มันเป็นแค่เปลือกให้เราอาศัยอยู่ เป็นเหมือนรถยนต์ที่เราขับมัน ถึงเวลารถพัง เราก็ไปหารถคันใหม่ ตามบุญตามกรรมที่เราทำมา ทำกรรมดีเอาไว้มาก ก็ได้รถสวย ๆ ราคาสูง ๆ ทำกรรมดีเอาไว้น้อย ก็ได้รถเก่า ๆ พัง ๆ ไม่มีราคา

    แต่ไม่ว่าจะเป็นรถเก่า รถใหม่ เราก็ต้องแบกภาระ ในการดูแลมันอยู่เสมอ การที่เราต้องดูในร่างกายนี้ หิวต้องหาให้มันกิน กระหายต้องหาให้มันดื่ม ร้อนต้องหาน้ำให้มันอาบ ต้องหาเครื่องบรรเทาความร้อนให้กับมัน <O:p

    หนาวต้องหาผ้าให้กับมัน เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล แล้วตลอดเวลามันยังมีแต่ความสกปรก ต้องคอยดูแล อาบน้ำชำระมัน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า มีแต่ความสกปรก ไม่ทำความสะอาดมันวันเดียว กลิ่นก็เริ่มออกมาแล้ว <O:p

    สภาพร่างกายของเรา มีความเป็นจริงอย่างนี้ ของคนอื่น สัตว์อื่น ก็เป็นอย่างนี้ เรายังจะไปยินดีมันหรือไม่ ในเมื่อถึงวาระ ถึงเวลา มันก็เปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนขันธ์ ไปตามบุญตามบาปของเรา <O:p

    สำหรับวันนี้ จะขอพูดถึงเรื่องของภพภูมิที่สูงกว่า ดีกว่าภพภูมิของเรา คือเรื่องของเทวดา คือเทวตานุสติกรรมฐาน เราเรียนเรื่องของพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์มาแล้ว <O:p

    พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตาม พระธรรมของพระองค์ท่าน ป้องกันผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกสู่อบายภูมิ ให้ก้าวสู่ภพภูมิที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปตราบจนหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน <O:p

    พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติดี ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบแล้ว รู้ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน และนำธรรมะนั้นไปเผยแผ่ เพื่อให้ศาสนาของเรา กว้างไกลออกไป เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายโดยถ้วนหน้า <O:p

    คราวนี้เรามาดูเรื่องของ เทวตานุสติกรรมฐาน คือ การระลึกถึงความดีของเทวดา เทวดานั้นท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า มี ๓ จำพวก ด้วยกัน คือ

    สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ คือ การแต่งตั้งขึ้นมา อย่างเจ้าพระยามหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น<O:p

    อุปัตติเทพ เป็นเทวดาโดยการกำเนิดขึ้น อย่างภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดาทั้ง ๖ ชั้น พรหมทั้ง๑๖ ชั้น อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น จัดอยู่ในพวกอุปัตติเทพทั้งหมด <O:p

    วิสุทธิเทพ เทวดาผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสิ้นเชิง ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหมด พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งท่านทั้งหลายอยู่บนพระนิพพาน <O:p

    การระลึกถึงความดีของเทวดาแต่ละลำดับชั้น ไม่ใช่ระลึกถึงในลักษณะเอาท่านเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ระลึกถึงในลักษณะของการอ้อนวอนขอให้ท่านช่วยเหลือ แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เรา ศึกษาคุณสมบัติของท่าน แล้วปฏิบัติตามนั้น เราก็จะได้อย่างท่าน จะเป็นอย่างท่าน<O:p

    การจะเกิดมาเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย กุศลข้อแรก ที่ต้องมีเป็นปกติ คือ ศีล อย่างน้อยศีล ๕ ข้อ ต้องบริสุทธิ์สมบูรณ์ ถ้าศีลไม่ครบถ้วน ก็ไม่มีโอกาสได้เกิดเป็นคน

    จะต้องมีทาน เพราะว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ก็ดี พระเจ้าจักรพรรดิก็ดี จะต้องมีการสงเคราะห์ บุคคลผู้อยู่ใต้การปกครองของท่านอยู่เสมอ ตลอดเวลา ถ้าไม่มีกำลังของทาน ย่อมไม่ส่งผลให้ท่านมีทรัพย์สินมากมาย ก็ไม่สามารถที่จะแจกจ่าย สงเคราะห์แก่บุคคลที่ท่านปกครองได้ <O:p

    มีทาน มีศีลแล้ว ก็ยังต้องมีภาวนาเป็นปกติ โดยเฉพาะพระเจ้าจักรพรรดิราชทุกท่าน จัดเป็นธรรมิกราช เป็นพระราชาผู้ทรงธรรมเป็นปกติ จะสั่งสอนบุคคลที่ท่านปกครองทุกคนให้ปฏิบัติในธรรมะต่าง ๆ เพื่อความอยู่สุขในปัจจุบัน ถ้าเกิดใหม่ก็จะได้รับความสุขความเจริญอีก <O:p

    พระเจ้าจักรพรรดิราช จัดเป็นถูปารหาบุคคล คือบุคคลที่สมควรจะสร้างพระสถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิเอาไว้ ให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา การได้กราบไหว้บูชา แม้แค่ระลึกถึงความดีของท่าน อย่างน้อย ๆ ก็พาให้เราเกิดเป็นเทวดาได้ <O:p

    คุณความดีของท่าน คือ มีทาน มีศีล มีภาวนา เราควรปฏิบัติตามในสิ่งใดบ้าง ถ้าทำได้ ให้ตัดสินใจว่าเราจะทำสิ่งนั้น <O:p

    อุปัตติเทพต่าง ๆ คือเทวดาทั้งหลาย พรหมทั้งหลาย อย่างน้อย ๆ ท่านต้องมี หิริ คือรู้จักละอายชั่ว ไม่กล้าทำความชั่ว ต้องมีโอตตัปปะ คือเกรงกลัวผลของความชั่วนั้น จะให้ผล จะทำให้ตนเองตกสู่อบายภูมิ <O:p

    หิริ โอตตัปปะ เรียกว่า เทวธรรม คือ ธรรมะของเทวดาทั้งหลาย แล้วยังต้องมีศีลบริสุทธิ์ทุกสิกขาบท การเป็นเทวดาเป็นพรหม โอกาสที่จะละเมิดศีลนั้นแทบจะไม่มี ดังนั้น ต่อให้ท่านตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ ท่านก็รักษาได้โดยง่าย

    ส่วนการปฏิบัติภาวนาต่าง ๆ ถ้าอารมณ์ใจทรงตัว ก็จะไปเกิดเป็นพรหมตามลำดับชั้นต่าง ๆ ทรงปฐมฌานอย่างหยาบได้ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ อย่างกลางเป็นพรหมชั้นที่ ๒ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๓

    ทรงฌานที่ ๒ ได้ อย่างหยาบ จะเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๔ อย่างกลางเป็นพรหมชั้นที่ ๕ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๖ <O:p

    ทรงฌานที่ ๓ ได้อย่างหยาบ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗ อย่างกลางเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๘ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๙ <O:p

    ทรงฌานที่ ๔ ได้ ฌาน ๔ มีแค่สองระดับ คือหยาบกับละเอียด ทรงฌาน ๔ อย่างหยาบได้เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐ ทรงฌาน ๔ อย่างละเอียดได้เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๑ ถือว่าเป็นชั้นสูงสุดของรูปพรหม ในโลกีย์พรหมทั้งหลาย<O:p

    ถ้าสร้างกำลังใจเป็นพระอนาคามีได้ จะเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ถ้าทรงอรูปฌานได้ ก็จะเกิดเป็นอรูปพรหม แล้วแต่ว่าเราทรงฌานไหนได้ <O:p

    ทรงอากาสานัญจายตนฌานได้ จะได้เกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๑ ทรงวิญญาณัญจายตนฌานได้ จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๒ ทรงอากิณจัญญายตนฌาน ได้ จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๓ ทรงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๔<O:p

    แดนของอรูปพรหม จะอยู่ระหว่างพรหมชั้นที่ ๑๑ กับพรหมชั้นที่ ๑๒ เป็นเขตแดนต่างหากออกไป อยู่ในสภาพที่มีแต่ดวงจิต ไม่มีอายตนะรับรู้อย่างอื่น เสวยความ สุขตามกำลังฌานของตน <O:p

    เป็นอากาสานัญจายตนพรหม ก็เสวยความสุขอยู่ ๒๐,๐๐๐ มหากัป เป็น วิญญาณัญจายตพรหม เสวยความสุขอยู่ ๔๐,๐๐๐ มหากัป เป็นอากิณจัญญายตนพรหม เสวยความสุขอยู่ ๖๐,๐๐๐ มหากัป<O:p

    เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม เสวยความสุขอยู่ ๘๔,๐๐๐ มหากัป แต่ว่าเป็นการกินบุญเก่าล้วน ๆ ถ้าหากว่าบุญใหญ่จากอรูปฌานหมด ไม่เคยทำบุญอื่นไว้ อาจจะตกสู่อบายภูมิไปเลย <O:p

    การเป็นเทวดาจึงต้องมีเทวธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ จะต้องมีศีลบริสุทธิ์ จะต้องมีฌานสมาบัติ แต่ว่ามีเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย อยู่ในสถานที่ของภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดาทั้ง ๖ ชั้นเป็นจำนวนมาก

    เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น ยินดีในสถานที่เพียงแค่นั้น หรือว่ามีกิจต่าง ๆ ที่จะต้องรับผิดชอบ ตามลำดับชั้นภูมินั้น ๆ แม้ว่ากำลังใจก้าวล่วงไปแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่นั้นจนกว่าจะหมดวาระ ถึงจะไปสู่ภพภูมิของตนตามกำลังของความดี ตามกำลังของความเป็นพระอริยเจ้าของท่านทั้งหลายเหล่านั้น <O:p

    ส่วนอันดับสุดท้าย คือ วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นวิสุทธิเทพ เป็นผู้ชำระใจของตนให้หมดความรัก โลภ โกรธ หลง ได้อย่างสะอาดบริสุทธิ์ การจะชำระใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ สติ สมาธิ ปัญญา จะต้องสมบูรณ์พร้อม <O:p

    เมื่อครู่ได้กล่าวแล้วว่า ถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก จิตไม่สามารถจะทรงตัวตั้งมั่นได้ ตัวสมาธิไม่เจริญ ตัวสติก็จะบกพร่อง ดังนั้น ลมหายใจเข้าออกสำคัญที่สุด <O:p

    ถ้าสติ สมาธิ สมบูรณ์พร้อม ได้เห็นทุกอย่างที่มากระทบ ได้ยินทุกอย่างที่มากระทบ ได้กลิ่นทุกอย่างที่มากระทบ ได้รสทุกอย่างที่มากระทบ รับสัมผัสทุกอย่างที่มากระทบ ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น

    เมื่อหยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีการปรุงแต่งต่อ กิเลสทุกอย่าง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การที่สติ สมาธิ ปัญญา จะทรงตัวแหลมคม อยู่ที่ความขวนขวายของเราเอง อยู่ที่ความพยายามของเราเอง ไม่มีใครช่วยเหลือเราได้

    ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างได้ การช่วยเหลือก็คือการแนะนำ เหมือนกับการบอกทาง เมื่อบอกแล้ว ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาเดินไปตามทางนั้น ก็จะใกล้ จุดหมายปลายทางไปเรื่อย ๆ<O:p

    แต่ถ้าบอกแล้วเราไม่เชื่อ เราไม่เดินตามทางนั้น โอกาสจะถึงจุดหมายก็ไม่มี ถ้าเราประมาท เดินบ้าง หยุดบ้าง โอกาสจะถึงจุดหมายก็น้อยลง เพราะว่าชีวิตนี้เป็นของน้อย อาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ได้

    เรื่องของพระอริยเจ้า เรื่องของครูบาอาจารย์ เรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้า เรื่องของพระพุทธเจ้า การที่เราดู เราศึกษาปฏิปทาของท่าน เหมือนกับเราไปดูสมบัติของมหาเศรษฐี ดูว่าท่านรวยอย่างนั้น ท่านรวยอย่างนี้ นั่นก็ยังเป็นสมบัติของท่านเป็นปกติ <O:p

    มันต้องดูว่า ท่านทำอย่างไรถึงรวยแบบนั้น แล้วเราทำตามนั้น ปฏิบัติตามนั้น เราก็จะรวยอย่างท่านบ้าง ดังนั้น การศึกษาในเทวตานุสติกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นสมมติเทพ อุปัตติเทพ วิสุทธิเทพ ก็คือ ให้เราศึกษาปฏิปทา คือ การปฏิบัติตนของท่าน แล้วไปทำตาม เพื่อให้เข้าถึงตามลำดับเหมือนท่านเหล่านั้น <O:p

    เมื่อท้ายสุด กำลังใจของเราเกาะอยู่จุดสุดท้าย คือพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระวิสุทธิเทพทั้งปวง ให้ตั้งใจว่า ถ้าเราตายลงไปเมื่อไร เราขอมาอยู่ที่นี่เท่านั้น ถ้ากำลังใจของเรา ทรงตัวตั้งมั่นจริง ๆ ถึงเวลาพอตาย มันจะมาเอง

    เพราะว่าจิตมีสภาพจำ ถ้าเราตั้งใจให้มันจดจำความดี จนกระทั่งเคยชินกับความดี ถึงวาระ ถึงเวลา มันก็เกาะดีโดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ทำความเคยชินในด้านดีให้กับมัน ถึงวาระ ถึงเวลา มันเกาะในด้านไม่ดี ก็พาเราไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ไม่งาม<O:p

    ดังนั้น การจับภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก ก็จัดเป็นการปฏิบัติในเทวตานุสติกรรมฐานอย่างหนึ่ง หรือจับภาพพระวิสุทธิเทพไปเลย <O:p

    หายใจเข้า ภาพของท่าน สว่างสดใสอยู่ตรงหน้า หรือ อยู่บนศีรษะ หายใจออก ภาพของท่านสว่างสดใสอยู่ตรงหน้า หรือ อยู่บนศีรษะ ให้ตั้งใจว่า ถ้าตายลงไป เราจะไปอยู่กับท่านบนพระนิพพานเพียงที่เดียว

    แล้วทรงอารมณ์ภาวนาต่อ จนกระทั่งเต็ม คือ เต็มที่ที่เราทำได้ จากนั้นพยายามประคับประคองอารมณ์นั้นไว้ พยายามจับภาพนั้นไว้ให้เป็นปกติ ทำให้มากทุกวัน กรรมฐานทุกกองพาเราไปสู่พระนิพพานได้ เทวตานุสติกรรมฐานย่อมพาเราไปนิพพานได้

    เพียงแต่ว่าเราทำถูกต้องหรือไม่เท่านั้นเอง ขอให้ทุกคนประคับประคองภาพนั้นไว้ รักษาภาพนั้นไว้ให้ดี ถึงเวลาเราจะทำวัตร ก็แบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง จดจ่ออยู่กับภาพนั้น ๆ เอาไว้ อย่าให้เคลื่อนไปไหน<O:p

    ขณะที่ปากเราพูด อย่าให้เคลื่อนไป ขณะที่ใจของเรานึกถึง อย่าให้เคลื่อนไป ขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว อย่าให้ภาพพระเคลื่อนไป <O:p

    พยายามสร้างความเคยชิน ในการทำความดีขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว ขณะที่ร่างกายทำกิจอื่น ๆ ไว้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา กำลังใจจะได้ทรงตัวอยู่แบบนั้นได้ง่าย


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 มิถุนายน 2010
  12. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๒. จาคานุสติ


    การปฏิบัติของเราทุกวันนั้น พื้นฐานอย่าง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ต้องใช้คำว่า จำเป็นต้องรู้ไว้ การที่เราทรงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่ ถ้ายังต้องกำหนดใจไปรู้มัน แปลว่า กำลังมันยังอ่อนมาก

    ต้องให้มันรู้ลมอัตโนมัติ คือ ความรู้สึกอยู่กับลมหายใจ และคำภาวนา โดยอัตโนมัติ ถ้าอย่างนั้น ถึงจะพอมีกำลัง จะตัดกิเลสหยาบขั้นต้นได้ การที่เราจะรู้ลมโดยอัตโนมัติก็หมายความว่า สมาธิต้องทรงตัว อย่างต่ำ ๆ ก็ต้องเป็นปฐมฌานละเอียด

    กำลังของปฐมฌาน มีอานุภาพสามารถตัดกิเลสขั้นต้นได้ คือ สามารถที่จะตัดสังโยชน์เบื้องต้น ให้เราเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน และความเป็นพระสกิทาคามี <O:p

    การรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก บางคนกล่าวว่า เป็นการติดในสมาธิ ขอบอกว่า ถ้าสมาธิของเรากำลังไม่ทรงตัว โอกาสจะก้าวถึงความเป็นพระอริยะเจ้านั้นจะไม่มี <O:p

    ดังนั้น ทุกวันต้องประคับประคอง รักษาอารมณ์ภาวนาของเรา ให้ทรงตัว คอยดูมันอยู่เสมอ ๆ ถ้าสติมันพลาดไป รู้ตัวเมื่อไร ให้ดึงใจกลับเข้ามา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่ฟุ้งซ่าน อย่างไรเรียกว่าฟุ้งซ่าน ? <O:p

    ก็ให้สังเกตใจตนเองว่า มันอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันอยู่กับคำภาวนา หรือว่ามันวิ่งไปอารมณ์อื่น ตัววัดที่ง่ายที่สุดก็คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่าง ได้แก่ <O:p

    กามฉันทะ จิตมันพอใจอยู่กับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ หรือไม่ ?<O:p

    พยาบาท จิตมันนึก โกรธ เกลียด อาฆาต แค้น คนนั้นคนนี้อยู่หรือไม่ ?<O:p

    ถีนมิทธะ มีความง่วงเหงาหาวนอน และขี้เกียจเป็นปกติ หรือไม่ ?<O:p

    อุทธัจจะ คือ อารมณ์ไม่ได้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะหน้า ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ หรือไม่ ?<O:p

    วิจิกิจฉา คือ ลังเลว่า ผลการปฏิบัติมันจะมีผลจริงหรือไม่ ?<O:p

    ถ้าอารมณ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้นอยู่ในใจของเรา ฌานสมาบัติก็สลายตัวไปแล้ว ทันทีที่เห็นนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในใจของเรา รีบขับไล่มันออกไป วิธีไล่ที่ง่ายที่สุดก็คือ ดึงความรู้สึกทั้งหมด กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา <O:p

    ให้มันอยู่ตรงนี้ อยู่กับเดี๋ยวนี้ อยู่เฉพาะหน้าของเรา ทันทีที่กำลังใจของท่าน สามารถตามลมหายใจเข้าไป ผ่านจมูกรู้ตัวอยู่ ผ่านกึ่งกลางอกรู้ตัวอยู่ ลงไปสุดที่ท้องรู้ตัวอยู่ ลมหายใจออกจากท้องรู้ตัวอยู่ ผ่านกึ่งกลางอกรู้ตัวอยู่ มาสุดที่ปลายจมูกรู้ตัวอยู่ <O:p

    ขอบอกว่า อันนี้เป็นอาการของปฐมฌานขั้นต้น ปฐมฌานมี ๓ ระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แค่ความรู้สึกของปฐมฌานเบื้องต้น ทันทีที่ท่านเข้าถึง กำลังของมันเพียงพอที่จะกดไฟใหญ่ ๔ กอง ที่เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทุกวี่ทุกวัน ให้ดับลงชั่วคราว ได้แก่<O:p

    ราคัคคิ ไฟคือราคะ โลภัคคิ ไฟคือโลภะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือ โมหะ ไฟของ รัก โลภ โกรธ หลง ๔ กองนี้ เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่กำลังใจเข้าถึงปฐมฌาน ถึงแม้จะเป็นขั้นต้น ขั้นหยาบ แต่กำลังมันเพียงพอ มันจะกดให้ไฟ ๔ กองนี้ให้ดับลงชั่วคราว<O:p

    เราจะพบกับความสุข ความเยือกเย็นใจ อย่างไม่เคยพบมาก่อน คนที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับลง มันสบายแบบไหน พูดเป็นคำพูดไม่ได้ คำพูดของคนก็ดี ตัวหนังสือก็ดี มันหยาบเกินไป ที่จะอธิบายอารมณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า มันเป็นปัจจัตตัง คือ คนที่ทำนั่นแหละ ถึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง<O:p

    เมื่อไฟทั้ง ๔ กองดับลง เราเข้าถึงความสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูกนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ปัญญาคิดต่อไปอีกนิดเดียว คือว่า นี่ยังเป็นโลกียฌาน ยังเป็นกำลังสมาธิ ที่ผูกพันอยู่กับโลก โลกียะ คือยังคลุกอยู่กับโลก มันยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้ <O:p

    แล้วบุคคลที่ได้ฌานที่ ๒ จะมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? ฌานที่ ๓ ที่ทรงตัวกว่า ยิ่งมีความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? แล้ว ฌานที่ ๔ ที่มั่นคงมากกว่ากำลัง ฌาน ๑ - ๒ - ๓ นั้นจะมีความสุขเยือกเย็นขนาดไหน ? <O:p

    แล้วกำลังของสมาธิ คือ ฌานสมาบัติทั้งหมดนี้ ยังสามารถที่จะพลาดลงสู่อบายภูมิได้ ถ้าอย่างนั้นบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ท่านจะมีความสุขเยือกเย็นใจขนาดไหน ? ที่ได้รู้ว่า อบายภูมิปิดสนิทสำหรับท่านแล้ว โอกาสจะตกต่ำไปกว่านี้ไม่มีแล้ว เกิดเป็นคนกับเทวดาสลับกัน มากที่สุดก็ไม่เกิน ๗ ครั้ง ก็จะเข้าสู่พระนิพพานได้ ท่านจะมีความสุขเยือกเย็นใจขนาดไหน ?<O:p

    แล้วพระสกทาคามี ที่ รัก โลภ โกรธ หลง เบาบางมาก อย่างเก่งเกิดอีกครั้งเดียว ก็เข้าสู่พระนิพพาน นั่นจะมีความสุข ความสบายขนาดไหน ?<O:p

    พระอนาคามีที่ดับไฟราคะ ไฟโทสะ ได้อย่างแน่นอนแล้ว ราคะ กับ โลภะ เป็นตัวเดียวกัน เท่ากับว่าไฟใหญ่ ๔ กอง โดนดับไป ๓ กองแล้ว นั่นจะมีความสุขเยือกเย็นขนาดไหน ?<O:p

    แล้วพระอรหันต์ ที่ดับไฟกิเลสทั้งหมดได้โดยสิ้นเชิง นั่นจะมีความสุขขนาดไหน ? ความสุขทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะเทียบได้กับความสุขขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณหรือไม่ ?<O:p

    เมื่อเราคิดแบบนี้ ตรองแบบนี้ ความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัย จะเต็มอยู่ในจิตในใจของเราเอง กติกาข้อแรกของความเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในกำมือของเรา คือเราต้องเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ<O:p

    กติกาอีก ๒ ข้อก็คือว่าเราต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าสมาธิของเราทรงตัวเป็นฌาน สติมันจะรู้รอบ ขยับตัวก็รู้แล้ว ว่าศีลจะขาดหรือไม่ ? ดังนั้น การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็เป็นเรื่องง่าย <O:p

    นอกจากจะไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเองแล้ว ยังไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ เมื่อเห็นคนอื่นเขาละเมิดศีล ก็ไม่พลอยยินดีด้วย ดังนั้น ศีลทุกสิกขาบทของเราก็บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง กติกาข้อที่ ๒ ของการเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในกำมือของเราเช่นกัน <O:p

    กติกาข้อสุดท้าย คือตั้งใจไว้ว่า ถ้าตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานเพียงแห่งเดียว ถ้ากำลังสมาธิมันทรงตัว สติ สมาธิ มันจะจดจ่อตั้งมั่น เราอาจจะจับภาพพระเป็นปกติ หรือว่าเอาจิตเกาะพระนิพพานเป็นปกติ ถ้าอย่างนั้น กติกาความเป็นพระโสดาบันของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง<O:p

    โบราณาจารย์ถึงได้กล่าวไว้ว่า กำลังแค่ปฐมฌานก็สามารถเป็น พระโสดาบัน และพระสกิทาคามีได้แล้ว เหตุที่เป็นได้นั้น เพราะว่ากำลังของฌาน กดกิเลสให้สงบลงชั่วคราว ทำให้เราเห็นคุณของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง <O:p

    ทำให้เรารู้ว่าพระนิพพานนั้นดีจริง ๆ ถ้าคิดว่ากติกาหลายข้อ มันมากเกินไป ก็ให้ดูที่ศีลอย่างเดียว สติ สมาธิของเราทั้งหมดประคับประคองอยู่ที่ศีล ตั้งใจว่าเรารักษาศีลเพราะเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะว่าเราต้องการจะไปนิพพาน <O:p

    ถ้าสติมันทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า กำลังของมันทรงเป็นปฐมฌานได้ กติกาความเป็นพระโสดาบันก็ง่ายอย่างนี้ แล้วถ้าจะก้าวขึ้นความเป็นพระสกิทาคามี ก็ทำปฐมฌานนี้ให้ละเอียด มันจะรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก โดยอัตโนมัติ

    คนที่สติสมาธิทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ตัวรัก โลภ โกรธ หลง มันจะเบาบางมาก จริง ๆ แล้วมันโดนกดดับไปซะด้วยซ้ำไป แต่ว่ากำลังมันยังไม่มั่นคง ดังนั้น ถ้าเราสามารถทรงสมาธิได้ ในระดับปฐมฌานละเอียด กติกาของความเป็นพระสกิทาคามี ก็อยู่ในกำมือของเราเช่นกัน<O:p

    ถ้าถึงตอนนั้น ให้เราทบทวนดูตามกรรมบถ ๑๐ เพราะว่าศีล ๕ น้อยเกินไปสำหรับพระสกิทาคามี ก็ดูว่าเรายังทำร้ายสัตว์ให้ลำบากโดยเจตนาหรือไม่ ? เราหยิบฉวยสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ หรือว่าเรายังลักขโมย ช่วงชิง สิ่งของของคนอื่นเขาหรือไม่ ?<O:p

    คนที่เขารัก ถ้ามีโอกาส เรายังล่วงละเมิดหรือไม่ ? ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ตาม ใจมันอาจจะคิด แต่ว่าถ้าสติสมาธิมันอยู่ตรงหน้า มันจะรู้เท่าทัน แล้วก็ไล่ความคิดนั้นออกไปทัน มันก็สามารถที่จะระงับ ไม่ให้ออกไปทางวาจาที่จะพูด ไม่ให้ออกทางกายที่จะทำได้ <O:p

    คราวนี้ ก็มาดูกรรมอันเกิดจากคำพูดทั้ง ๔ อย่าง คือ ผรุสวาทา พูดคำหยาบ ยังด่าคนอื่นอยู่ ถ้าสติสมาธิ มันอยู่กับฌานสมาบัติตรงหน้า มันไม่มีเวลาไปด่าใคร มันไม่สามารถที่จะโกรธจนไปด่าใครได้ แล้วมันยังพูดในปิสุณาวาทา ส่อเสียด ยุยงให้คนอื่นเขาแตกร้าวกันหรือไม่ ? <O:p

    ถ้าสติสมาธิมันอยู่ตรงหน้า จิตทรงเป็นฌาน ปัญญามันจะแหลมคม มันจะเห็นว่า การทำดังนั้น สร้างแต่ความทุกข์ให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น มันก็จะหยุดการกล่าววาจาส่อเสียด ยุแยงตะแคงแซะ ให้คนอื่นเขาแตกร้าวกัน <O:p

    ไม่ว่าจะเป็นการเลียบเคียง ในลักษณะใดก็ตาม ถ้ากำลังใจมันทรงฌานจริง ๆ ตัววิหิงสาวิตก คือการคิดพยาบาท การคิดร้ายต่อคนอื่นมันจะไม่มี ดังนั้น คำพูดส่อเสียดมันก็จะไม่มี การพูดวาจาเพ้อเจ้อ คือ สัมผัปปลาปวาทา ก็ไม่มี <O:p

    เหตุที่ไม่มี เพราะว่าถ้ากำลังของสมาธิมันทรงตัวอยู่ สติมันจะรู้รอบ รู้ว่าคำพูดประเภทไหนมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ก็จะละคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ หันมาพูดแต่คำพูดที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียว <O:p

    ส่วนข้อสุดท้ายคือ มุสาวาทา การโกหกเขา ถ้าสติ สมาธิทรงตัว การโกหกก็จะไม่มี ดังนั้นกายกรรมทั้ง ๓ คือการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม จะไม่มี สำหรับผู้ที่ทรงฌานได้ วจีกรรม ๔ คือการพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดโกหก ก็จะไม่มีสำหรับผู้ที่ทรงฌานได้ <O:p

    มันก็เหลือแค่ว่า อย่าโลภอยากได้ของของเขาจนเกินพอดี การโลภ คือการที่ไม่ได้มาถูกต้องตามศีลตามธรรมแล้ว ก็ยังคิดลักขโมย ช่วงชิง ฉ้อโกง หลอกลวงเขา เพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น <O:p

    ถ้าหากว่าใจมันทรงเป็นสมาธิอยู่ ตัวโลภตัวนี้ก็จะไม่มี ก็จะเหลือตัวพยาบาทคือโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น ในเมื่อไฟราคะ โลภะ โทสะ โมหะ โดนกำลังของฌานสมาบัติมันกดดับไป ตัวโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น มุ่งร้ายคนอื่นมันก็จะไม่มี <O:p

    ส่วนกติกาข้อสุดท้ายของกรรมบถ ๑๐ นั้น เป็นส่วนกำไรแท้ ๆ คือตัวทิฏฐุชุกัมม์ นั้นเป็นสัมมาทิฐิ เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เราตั้งใจจะปฏิบัติตามนั้น<O:p

    จะเห็นได้ว่า ถ้าสมาธิมันทรงตัวแค่ปฐมฌานเท่านั้น การจะเป็นพระโสดาบันก็ดี เป็นพระสกิทาคามีก็ดี ไม่ใช่ของยากสำหรับเรา ดังนั้น ในการปฏิบัติขั้นต้นของทุกๆ คน เราจำเป็นต้องยึดหัวหาด คือปฐมฌานเป็นอย่างน้อย เพื่อก้าวถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ ความเป็นพระโสดาบัน และพระสกิทาคามี เป็นลำดับแรก สำหรับอารมณ์ของพระอริยเจ้า ก็จะกล่าวถึงแต่เพียงนี้ <O:p

    วันนี้ เรามาศึกษากันต่อ ในเรื่องของจาคานุสติกรรมฐาน เราระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันมาแล้ว ระลึกถึงคุณความดีของเทวดากันมาแล้ว วันนี้ เราจะมาดูว่า จาคานุสติ คือ การระลึกถึงความเสียสละออก มีคุณความดีในลักษณะไหน ? สมควรปฏิบัติตามอย่างไร ? <O:p

    รากเหง้าของกิเลสใหญ่ทั้ง ๓ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ดึงให้เราเวียนตายเวียนเกิด ทุกข์ทรมานไม่รู้จบ ราคะกับโลภะ รักกับโลภ เป็นตัวเดียวกัน เพราะรัก ถึงอยากมีอยากได้ ท่านถึงได้กล่าวไว้แค่ราคะ โทสะ โมหะ <O:p

    คราวนี้ตัว รัก ก็ดี ตัวโลภ ก็ดี ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มันทำให้จิตใจของเราถูกหน่วงเหนียวแน่น อยู่กับทรัพย์สินสิ่งของต่าง ๆ ตลอดจนร่างกายของเรา ไม่รู้จักสละออก ก็ทำให้เรายึด เราเกาะ เราติดอยู่ในโลกนี้ ติดอยู่ในร่างกายนี้ เวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จบ <O:p

    ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนกับเก้าอี้ ๓ ขา ถ้าตราบใดที่ขาทั้ง ๓ ของมันยังมั่นคงอยู่ ตราบนั้น เราไม่สามารถที่จะล้มมันได้ เพราะเก้าอี้ตัวนี้ใหญ่มาก ใหญ่เหลือเกิน แต่ถ้าเราตัดขาใด ขาหนึ่งของมันออก เก้าอี้มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ อย่างน้อยๆ มันต้องพลิกตะแคงไป<O:p

    ดังนั้น การที่เราจะตัดรากเหง้ากิเลสใหญ่ ตัวรัก กับโลภ หรือว่าตัวราคะนี้ ถ้ามีการเสียสละ คือการสละออกซึ่งทรัพย์สิน สิ่งของ อารมณ์ยึด อารมณ์เกาะ หรือว่าตัว รัก โลภ โกรธ หลง อันใดก็ตาม <O:p

    มันก็จะต้องอาศัยจาคานุสติ คือระลึกอยู่เสมอว่า ถ้ามีโอกาส เราจะให้ ถ้ามีโอกาส เราจะเสียสละ ไม่ว่าจะเห็นคน เห็นสัตว์ก็ตาม ถ้ารู้ว่า เขาต้องการความช่วยเหลือในด้านใด ถ้าหากเรามีความสามารถ เราจะช่วย<O:p

    ความรู้สึกนี้ มันจะทรงอยู่ในใจเสมอ คราวนี้ การที่สละออก ส่วนใหญ่ก็ต้องเสียทรัพย์สินสิ่งของ แรก ๆ ก็อาจจะรู้สึกว่ายากมาก ลำบากมาก ที่จะต้องเสียสละ สิ่งที่เราหามาโดยยาก ก็ให้สละจากของน้อย ๆ ก่อน <O:p

    การที่เราจะสละออก จะทำบุญ จะสร้างในทานบารมี ถ้าหากว่าเราสละของใหญ่ จิตใจมันยึดมันหวง สละของแพงจิตใจมันยึดมันหวง ก็เริ่มสละจากของเล็ก ๆ น้อย ๆ การสละออก ให้มีสติรู้ว่าเราทำเพื่อตัด ราคะ ตัด โลภะ <O:p

    ดังนั้น มันยิ่งหน่วงยิ่งเหนี่ยวเรามากเท่าไร ให้เราสละออกได้ยากเท่าไร ถ้าเราสามารถสละได้ มันจะเกิดปีติ คือปลื้มใจ อิ่มใจมากเท่านั้น กำลังการสละออก ถ้าหากว่าเราทำมาก สละได้ยาก ก็ให้สละแต่น้อย ๆ เพียงแต่ว่าทำบ่อย ๆ ถ้าเราทำบ่อยๆ จิตใจเคยชินกับการสละออก ต่อไปก็สละของใหญ่ ของแพงได้ ของที่เรารัก เราหวง ก็สละได้ <O:p

    การสละออกนั้น ท่านบอกว่า ถ้าหากว่าเจตนาบริสุทธิ์ ตั้งใจละ เพื่อเป็นการตัดตัวรักตัวโลภจริง ๆ ไม่ใช่สละออกเพื่อให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราดี วัตถุที่เราจะสละออกไป คือสิ่งที่เราได้มาโดยถูกต้องตามศีล ตามธรรม <O:p

    เมื่อเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ ตัวเราผู้สละออกขณะนั้น มีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์หรือไม่ ? ต้องใช้คำว่าขณะนั้น คือตอนนั้น เดี๋ยวนั้น ไม่ใช่เมื่อนาทีก่อน หรือเมื่อชั่วโมงก่อนที่เราละเมิดในศีล <O:p

    ดังนั้น ตัวเราตอนนั้นให้ตั้งใจว่า ศีลทุกสิกขาบทของเรา มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็จะเป็นผู้ให้ที่บริสุทธิ์ ก็เหลือแต่ปฏิคาหก คือผู้รับ ว่าจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ขนาดไหน ?<O:p

    ถ้าหากว่าเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทาน บริสุทธิ์ ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ การสละออกของเรา จะมีอานิสงส์เต็มร้อยส่วน เพียงแต่ว่าให้ใช้ปัญญาประกอบ การสละออกของเรา อย่าให้ตัวเองต้องเดือดร้อน อย่าให้คนรอบข้างต้องเดือดร้อน

    ถ้ามันยังจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็ให้คิดอยู่เสมอว่า ถ้าหมดความจำเป็นเมื่อไร เราพร้อมที่จะสละออก อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นจาคานุสติ อย่าลืมว่า อนุสติคือการระลึกถึงเท่านั้น แค่คิดว่าเราจะสละ ถ้าหากว่าได้สละออกไป ได้ให้แล้ว อันนั้นเป็นทานบารมี

    ในเมื่อเราสละวัตถุ สละสิ่งของได้ เราก็สละอารมณ์ไม่ดีในใจของเราได้ ค่อย ๆ สละมันออกไป ด้วยกำลังของสมาธิ ในเมื่อตัว ราคะ โลภะ มันออกไปได้ ตัวโทสะ กับโมหะ มันก็ไม่มีกำลัง <O:p

    เพราะว่าเก้าอี้ ๓ ขา มันโดนตัดขาไปเสียข้างหนึ่งแล้ว การที่เราจะตัดกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหาน เพื่อเข้าสู่พระนิพพานของเรา ก็เข้าไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งในสาม <O:p

    แต่ถ้าเราสละถึงที่สุด แม้แต่ชีวิตนี้ก็สละได้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพราะเรารู้ว่าเราทำความดีแบบนี้ เราตายเราก็ไปพระนิพพาน <O:p

    ถ้าสามารถสละถึงขนาดนี้ได้ ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความดีจุดใดที่เราทำไม่ได้ เรายอมตายเสียดีกว่า ถ้าอย่างนั้นตัวจาคานุสติคือการสละออกของเรา จะมีผลเต็มที่ คือท้ายสุดก็เข้าสู่พระนิพพานเช่นกัน <O:p

    สำหรับเวลาทั่ว ๆ ไปเมื่อใคร่ครวญดูว่า มีสิ่งใดที่เราสละได้ มีสิ่งใดที่เราสามารถให้ เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นได้ เรามีโอกาสที่จะให้ แล้วเราไม่ให้มีไหม ? <O:p

    ถ้าหากว่าเราสามารถให้ได้ทุกเวลา ก็ให้ทรงอารมณ์ใจภาวนา รักษาอารมณ์ตัวสละในใจของเรานั้น ให้ทรงตัวไว้ สมาธิทรงตัวสูงมากเท่าไร กำลังการสละออกของเราก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น สามารถที่จะให้ได้ตลอดเวลา แม้แต่ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกาย ถ้ามีคนต้องการมันก็สละให้ได้ <O:p

    เพราะเรารู้ว่าเราตาย เราก็ไปพระนิพพาน ก็ให้เอาใจเกาะพระนิพพานเป็นจุดสุดท้าย จับอารมณ์ภาวนาให้ทรงตัว ให้กำลังมันสูงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ จาคานุสติกรรมฐาน ก็จะสามารถทรงตัวอยู่ ตราบใดก็ตามที่เรายังคิดจะสละออก ตราบนั้นตัวอนุสติตัวนี้ก็ตั้งมั่นอยู่กับเราตลอดไป<O:p

    สำหรับตอนนี้ ก็อย่าลืมเรื่องภาพพระ คือพุทธานุสติของเรา ให้อยู่ควบกับลมหายใจเข้าออก กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง จับภาพพระให้เป็นปกติ<O:p

    เมื่อสวดมนต์ทำวัตร ให้ตั้งใจว่า เราทำเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อานิสงส์ทั้งหมด เราต้องการไปพระนิพพานแห่งเดียว เอาความรู้สึกของเรา จับภาพพระเอาไว้ ปากเราก็สวดมนต์ทำหน้าที่ของเราไป<O:p

    ถึงเวลาทำการทำงานอื่น ๆ ให้จับภาพพระอยู่กับเราตลอดเวลา การงานต่าง ๆ ก็จะทรงตัว ทำแล้วได้ผลละเอียดละออดี ตอนนี้ให้ค่อย ๆ ถอนจิตออกมา และประคับประคองให้อยู่กับภาพพระเอาไว้ เพื่อจะได้ทำวัตรเช้าต่อไป

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
    <O:p</O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 มิถุนายน 2010
  13. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๓. สีลานุสติ<O:p</O:p

    <O:p</O:p
    มาว่าเรื่องกรรมฐานของเราต่อ จริงๆ แล้วการปฏิบัติกรรมฐานนั้น เราต้องเป็นคนจริงจัง สม่ำเสมอ และต้องมีปัญญาประกอบด้วย การที่เราจริงจังสม่ำเสมอ ผลของการปฏิบัติถึงจะมี
    <O:p</O:p
    เพราะว่าการที่เรามาปฏิบัติกรรมฐานกัน เป็นการฝืนกระแสโลก เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ ถ้าหากว่าเราไม่พยายามว่ายเข้าไว้ ให้ตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะลอยตามกระแสไป
    <O:p</O:p
    การปล่อยให้ลอยตามกระแสไปนั้น ถ้าเรากำลังยังดีอยู่ ถึงเวลาตะเกียกตะกาย ว่ายขึ้นมาใหม่ มันยังมีกำลังที่จะว่าย แต่ระยะทางอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าเราปล่อยลอยไป สมมติว่าหนึ่งวัน แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายกลับมา
    <O:p</O:p
    พยายามที่จะทำ พยายามที่จะว่าย เป็นเวลาหนึ่งวัน ระยะห่างอาจจะได้เท่าเดิม แล้วเราปล่อยลอยไปอีก ว่ายใหม่ก็จะได้แค่เดิม หรือถ้าหากว่ามันล้าเสียแล้ว เราเองก็อาจจะได้ระยะทางไม่เท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม ถ้าปล่อยให้มันลอยไปอีก คราวนี้ระยะทางมันก็จะยิ่งไกลมากขึ้น กลายเป็นว่าเราเป็นคนขยัน ทำงานทุกวัน แต่ผลงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว พอทำไป ทำไป หลายท่านก็หมดกำลังใจ ท้อ และก็เลิกทำไปโดยปริยาย
    <O:p</O:p
    บรรดากรรมฐานต่าง ๆ นั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ มีถึง ๔๑ แบบ คือสมถกรรมฐาน ๔๐ กอง แล้วก็มีมหาสติปัฏฐาน ๔ อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้มีกรรมฐาน ที่เหมาะกับจริต นิสัยของแต่ละคน ซึ่งมันแตกต่างกันไป
    <O:p</O:p
    จริต คือ ความเป็นไปของจิต มี ๖ อย่าง ด้วยกัน คือ
    <O:p</O:p
    พุทธิจริต ประกอบไปด้วยความฉลาดเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ศรัทธาจริต ประกอบไปด้วยน้อมใจเชื่อเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    โทสะจริต เป็นคนมักโกรธเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    วิตกจริต เป็นคนที่คิดไม่ได้ตรองไม่ตก ละล้าละลังเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    โมหะจริต เป็นบุคคลที่มีกำลังใจมืดมนเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ราคะจริต เป็นบุคคลที่มีความรักสวยรักงามเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ในแต่ละจริตนั้น มันล้วนแล้วแต่มีอยู่ในใจของเรา ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง ๖ ประการ เพียงแต่ว่า อย่างใดอย่างหนึ่งที่มันจะเด่นขึ้นมา อันนี้ต้องสังเกตเอง เราเป็นคนฉลาด ฟังอะไรครั้งเดียวจำได้ สามารถที่จะทำอะไรได้คล่องตัว มีความเข้าใจแตกฉาน ในสิ่งต่าง ๆ หรือไม่ ?
    <O:p</O:p
    ถ้าใช่ เราก็เป็นพุทธิจริต เรามีความรักสวยรักงามเป็นปกติหรือไม่ ?

    ถ้าหากว่ามีความรักสวยรักงามเป็นปกติ จิตมีความปราณีตละเอียด ทำอะไรทำแล้วทำอีก ถ้าหากว่าไม่ดีไม่เลิก อันนี้แสดงว่า เราประกอบไปด้วยราคะจริต
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเขาว่าอะไรดี ที่ไหนดี เราก็เชื่อ และต้องการไปยังสถานที่นั้น ไปกระทำสิ่งนั้น ๆ อันนี้เป็นศรัทธาจริต

    ถ้าเป็นคนมักโกรธ ฟังอะไร กระทบอะไร เห็นอะไรไม่ได้ เกิดโทสะขึ้นมาโดยพลัน อันนี้เป็นโทสะจริต
    <O:p</O:p
    ถ้าเราเป็นคนที่คิดไม่ตก ตรองไม่ตก กังวลอยู่เสมอหรือไม่ ? ถ้าเป็น อันนี้ก็จัดเป็นวิตกจริต

    หรือว่าเป็นคนที่หาปัญญาไม่ได้ คนอื่นเขามองเห็นช่องทางง่าย ๆ ของเราเองทำแล้วทำอีก ควานแล้วควานอีก ไม่ตรงเป้าเสียที อันนี้ก็จัดเป็นโมหะจริต
    <O:p</O:p
    ในแต่ละจริตวิสัยนั้น ท่านกำหนดกองกรรมฐานเอาไว้ สำหรับปฏิบัติให้ตรงกับกำลังใจของตน เพื่อจะได้เกิดความคล่องตัว ทำให้ถูกต้องตรงกับจริต เพื่อจะได้ผลเร็ว
    <O:p</O:p
    พุทธิจริตนั้น ท่านให้ใช้ กายคตานุสติ มรณานุสติ คือการระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกายนี้ ตลอดจนกระทั่งความตาย และอุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระนิพพานอยู่เสมอ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เหมาะแก่ท่านผู้ที่เป็นพุทธิจริต เพราะว่าปัญญาท่านมาก สิ่งที่คนอื่นมองเห็นได้ยาก ท่านก็เห็น
    <O:p</O:p
    ศรัทธาจริต ท่านให้ระลึกใน พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นปกติ ว่ามีคุณความดีอย่างไร ? ในสีลานุสติ จาคานุสติ ให้ระลึกถึงคุณของการรักษาศีล การบริจาคให้ทานเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ราคะจริต ท่านให้ใช้ อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ กอง พิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรา ที่แท้จริงมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร คนอื่นมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร
    <O:p</O:p
    และให้ใช้กายคตานุสติกรรมฐาน คือให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ ว่ามันไม่สวยไม่งาม มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ ประกอบไปด้วยอวัยวะภายนอก ภายใน ใหญ่น้อยทั้งปวง ไม่ดูแล ไม่รักษา ไม่ขัดสีฉวีวรรณมัน แค่วันสองวัน กลิ่นมันก็เหม็นจนทนไม่ได้<O:p</O:p

    โทสะจริต ท่านให้ใช้ พรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ คือให้มีความรักเขา เสมอตัวเรา ความสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ ความยินดี เมื่อเขาได้ดีมีสุข และเมื่อไม่สามารถที่จะทำอะไร ตามกำลังความสามารถได้แล้ว ก็ให้ปล่อยวาง
    <O:p</O:p
    หรือใช้วรรณกสิณทั้ง ๔ คือเพ่งสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาวเป็นปกติ เพื่อที่จะรักษาอารมณ์ทรงตัว ต่อต้านอารมณ์ของโทสะได้ <O:p</O:p
    วิตกจริตกับโมหะจริต ท่านให้ใช้อานาปานสติกรรมฐาน คือ ดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เพราะว่าสองจริตนี้ ถ้าให้ทำอย่างอื่น กำลังใจของท่าน จะก้าวไม่ถึงจุดนั้น เราเองก็มาพิจารณาดูว่า ตัวเราเหมาะกับจริตไหน สมควรแก่กรรมฐานกองไหน
    <O:p</O:p
    เพราะว่าจริตทั้งหกนี้ มันมีครบถ้วน ขึ้นอยู่กับว่า อันไหนที่มันเด่นออกมา เมื่อพิจารณาเห็นแล้ว ถ้ามีกรรมฐานหลายกอง ที่เหมาะกับจริตของเรา ให้เลือกกองที่เราชอบใจที่สุด รักมากที่สุด แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำกองนั้นไป มันก็จะได้ผล
    <O:p</O:p
    จากการที่เรากล่าวเอาไว้ข้างต้นว่า ส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจะอยู่ในลักษณะ ทำทำ ทิ้งทิ้ง ไม่สม่ำเสมอ เปรียบเหมือนกับ การขุดบ่อเพื่อจะหาน้ำ พอขุดลงไปได้สักสองวาสามวา ยังไม่ถึงน้ำเสียที คนอื่นบอกตรงโน้นดี ก็เปลี่ยนที่ไปขุดตรงโน้น
    <O:p</O:p
    ขุดลงไปได้สักวาสองวา คนอื่นบอกว่าตรงโน้นดี ก็เปลี่ยนที่ไปอีก การที่เราขาดความจริงจังสม่ำเสมอ ในทำการกรรมฐาน ทำให้มันไม่เกิดผล ดังนั้น เมื่อมันไม่เกิดผล หรือว่าเกิดผลน้อย เหมือนกับขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำเสียที เราอาจจะท้อ แล้วก็เลิกขุด
    <O:p</O:p
    เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทรงอารมณ์กรรมฐานได้แล้ว ทรงตัวแล้ว ให้พยายามประคับประคองอารมณ์นั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ให้ยาวที่สุด เพื่อความเคยชินของกำลังใจ
    <O:p</O:p
    มันจะได้ยอมรับอารมณ์นั้น ๆ ต่อไปมันก็จะทรงอารมณ์นั้น ได้ยาวนานยิ่งกว่าเดิม และถ้ามีความคล่องตัวจริง ๆ ก็จะทรงได้ตลอดเวลาที่ต้องการ
    <O:p</O:p
    การปฏิบัติกรรมฐานของเรานั้น มีสิ่งที่มาขวาง ก็คือมารทั้งหลาย เขามีความฉลาด จะทำให้เราเกิดอารมณ์กระทบ ไม่พอตา ไม่พอใจก็ดี ชอบอกชอบใจก็ดี แล้วเราก็จะพลาดไปจากจุดที่เราปรารถนา ที่เราต้องการ
    <O:p</O:p
    ให้สังเกตว่า เมื่อเราปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่ามันดีเหลือเกิน ทาน ศีล ภาวนาของเรา มีความก้าวหน้ามาก มีความคล่องตัวมาก แล้วอยู่ๆ มันก็พังไปเฉย ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าเราสังเกตตรงจุดนี้ หมั่นจับตรงจุดนี้บ่อย ๆ จะเห็นได้ว่า ทันทีที่เราปฏิบัติแล้ว ความดีเริ่มทรงตัว อยู่ ๆ มันก็จะพังไปทุกที มันจะเอาโลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาอยู่ในใจแทน ก่อนกรรมฐานนั้น ๆ นี่คือฝีมือของมาร คือผู้ขวาง
    <O:p</O:p
    ขอให้ทุกท่านทราบไว้ว่า ขณะที่กำลังใจท่านฟุ้งซ่านที่สุด ความจริงแล้วเป็นเวลาที่ท่านใกล้ความดีที่สุด มารเขารู้ว่าเราจะพ้นจากมือเขาแล้ว เขาก็พยายามที่จะดึงเรา ให้เป๋ไปจากจุดที่เรามุ่งไป
    <O:p</O:p
    มันเหมือนกับเรายืนอยู่หน้าประตูแล้ว แค่เอื้อมมือไปเปิดประตู เราก็จะก้าวพ้นไปแล้ว แต่ว่าทุกครั้ง เขาสามารถหลอกให้เราสนใจสิ่งอื่นได้ แล้วก็เลี้ยวตามเขาไป จนกระทั่งพอรู้ตัวขึ้นมา เอ๊ะ..ก่อนหน้านี้ทำไมเราทำแล้วรู้สึกดีเหลือเกิน ? ทำไมตอนนี้กำลังใจมันถึงแย่ขนาดนี้ ? ทำไมมันถึงเลวขนาดนี้ ?
    <O:p</O:p
    ถ้าท่านรู้จักตรอง โดยการคิดย้อนกลับไป ให้รู้ว่าตัวเองตอนนั้นคิดอย่างไร ? พูดอย่างไร ? ทำอย่างไร ? อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ? กำลังใจเราถึงได้ดี ถึงได้ทรงตัว ก็ให้คิดแบบนั้น พูดแบบนั้น ทำแบบนั้น สร้างสิ่งแวดล้อมแบบนั้นขึ้นมา
    <O:p</O:p
    เราก็จะก้าวไปสู่จุดที่เคยทำได้อีก แล้วคราวนี้ ให้ใช้สติระมัดระวัง ควบคุมเอาไว้ อย่าให้คล้อยตามกำลังของมาร ที่มาหลอกลวงและดึงเราไปอีก ถ้ารู้จักพินิจพิจารณา ในลักษณะนี้บ่อย ๆ เราก็จะเริ่มชนะเขาได้บ้าง
    <O:p</O:p
    หลังจากนั้นก็จะชนะมากขึ้น มาอยู่ในลักษณะก้ำกึ่งกัน ตอนนี้ จะเป็นตอนที่สนุกที่สุดของการปฏิบัติ คือมันจะช่วงชิงไหวชิงพริบกันว่า คะแนนต่อไปจะเป็นของเราหรือของเขา
    <O:p</O:p
    ถ้ามาถึงตรงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ดูละคร จะสิ่งใดก็ตาม ไม่มีความน่าสนใจไปกว่าการดูใจตัวเอง การสร้างกำลังใจตัวเอง ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายิ่งใช้สติ ใช้ปัญญา ควบคุมมันให้มากขึ้น หมั่นพินิจพิจารณา สร้างกำลังของตนให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น เราก็จะชนะมากกว่าแพ้ แล้วในที่สุดก็จะก้าวไปสู่จุดที่ไม่แพ้อีก
    <O:p</O:p
    สิ่งต่างๆ รอบข้าง มันล่อลวงเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องของราคะ มันเห็นรูปสวย มันก็พลอยยินดีด้วย ไปคลุกคลีตีโมง ไปฟุ้งซ่านอยู่ตรงจุดนั้น กำลังใจเราก็เสีย
    <O:p</O:p
    มันได้ยินเสียงเพราะ มันก็พลอยยินดีด้วย มันก็ใฝ่ฝันที่อยากจะฟัง พยายามที่จะเสาะหามา หรือไปอยู่ใกล้สิ่งนั้น ก็เสียผลการปฏิบัติ <O:p</O:p
    มันได้กลิ่นหอม มันก็พลอยยินดีด้วย มันได้รสอร่อย มันก็พลอยยินดีด้วย มันได้สัมผัสที่นุ่มนวลชอบใจ มันก็พลอยยินดีด้วย
    <O:p</O:p
    ทำให้เราไปหลง ไปยึด ไปติดอยู่ตรงจุดนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น มันก็พังไป หรือว่าเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราได้รส เราสัมผัส ไม่ชอบใจสักอย่างเดียว โทสะมันก็เกิด ในเมื่อความชั่วมันเกิด ความดีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าความชั่ว มันมาอาศัยอยู่แทนเสียแล้ว เราก็เสียผลการปฏิบัติเช่นกัน
    <O:p</O:p
    ดังนั้นการปฏิบัติกรรมฐาน นอกจากจะทำอย่างสม่ำเสมอ จริงจังแล้ว ยังต้องมีสติสัมปชัญญะ ยังต้องมีปัญญา ต้องคอยตามดู ตามรู้ ตามระมัดระวัง อย่าให้กิเลสมันมาชักจูงเราไปได้
    <O:p</O:p
    สำหรับวันนี้ เรามาศึกษาเรื่องของสีลานุสติกรรมฐาน เราจะมาดูว่าศีลมีคุณสมบัติอย่างไร ? มีความดีอย่างไร ? ศีลก็คือความเป็นปกติ ปกติของปุถุชนทั่วๆ ไป ต้องมีศีลอย่างน้อย ๕ ข้อ เรียกว่ามนุษยธรรม
    <O:p</O:p
    คือจะต้องเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักขโมย เว้นจากการละเมิดคนที่มีเจ้าของ เว้นจากการพูดปด เว้นจากการดื่มสุราเมรัย หรือสิ่งของที่ทำให้เมามายขาดสติสัมปชัญญะ
    <O:p</O:p
    ถ้าเราละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม อบายภูมิจะรอเราอยู่ข้างหน้า ตายเมื่อไหร่ได้ไปแน่ ๆ ศีลเป็นเครื่องกั้นเราจากอบายภูมิ กั้นไม่ให้เราเป็นสัตว์นรก ไม่ให้เป็นเปรต ไม่ให้เป็นอสุรกาย ไม่ให้เป็นสัตว์เดรัจฉาน
    <O:p</O:p
    นี่คือทุนของศีลขั้นต้น รักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ทางที่ชั่ว ถ้าเราตกลงไปในทางที่ชั่ว คือลงสู่อบายภูมิแล้ว เมื่อสิ้นกรรมอันนั้น มาเกิดเป็นคน เศษกรรมอันนั้นก็ยังมาทำอันตรายเราได้อีก
    <O:p</O:p
    ถ้าเคยฆ่าคนฆ่าสัตว์ไว้เป็นปกติ ก็จะอายุสั้นพลันตาย หรือถ้าหากว่ายังดำรงชีวิตอยู่ ก็จะมีแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับตน เพราะเศษของกรรมมันตามมา
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเคยลักขโมยเขาเอาไว้ เกิดมาทรัพย์สินจะเสียหาย จะโดนไฟไหม้บ้าง โดนทำลายด้วยลมด้วยน้ำบ้าง เกิดแผ่นดินไหวบ้าง ทรัพย์สมบัติทั้งหมด จะสลายตัวไป ทรงตัวอยู่ไม่ได้ เพราะเศษกรรมมันเกิดขึ้น มันตามมาสนอง
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเคยละเมิดลูกเขาเมียใคร คนที่เขามีคนรักมีคนเขาหวง เกิดมาชาติใหม่ เศษกรรมก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ บังคับบัญชาคนอื่นไม่ได้ เป็นคนไม่มีอำนาจ ไม่มีใครเชื่อฟัง
    <O:p</O:p
    ถ้าโกหกคนอื่นเป็นปกติ เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรมก็จะทำให้เรา ไม่มีโอกาสจะได้ฟังความเป็นจริง พูดอะไรคนก็ไม่เชื่อ ถ้าเราไม่ต้องการให้เศษกรรมข้อนี้ สร้างความลำบากให้กับเรา เราก็อย่าพูดปด
    <O:p</O:p
    ถ้าเราดื่มสุราเมรัย หรือว่าเครื่องดองของเมาอะไร ที่ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ทำแต่น้อย เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรมก็จะทำให้มีโรคปวดศีรษะเป็นปกติ ถ้าหากว่าปานกลาง ก็จะเป็นโรคประสาท สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าทำมากเป็นปกติ ทุกวัน ๆ เศษกรรมตัวนี้ จะทำให้เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะอยู่ในลักษณะไม่มีสติสัมปชัญญะ คือ กลายเป็นคนบ้า
    <O:p</O:p
    ถ้าเรารักษาศีลได้บริสุทธิ์สมบูรณ์ อบายภูมิทั้งหลาย ไม่สามารถจะนำเราไปได้ อย่างน้อยเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่ชอบใจ และเศษกรรมทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏแก่เรา
    <O:p</O:p
    นี่คือคุณของศีลขั้นต้น และกำลังของศีล ยังจะส่งผลให้เรา เกิดเป็นเทวดาได้ เกิดเป็นพรหมได้ ไปสู่พระนิพพานได้ ถ้าเรามีศีลเป็นปกติ ตายจากมนุษย์ ก็จะเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่ง
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าศีลของเรา ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าทรงศีลเป็นฌาน เราก็จะเกิดเป็นพรหมตามกำลังของฌานที่เราทรงอยู่ หรือถ้าเราตั้งใจรักษาศีล เพราะจะไปพระนิพพาน ถ้าจิตไม่ยึดไม่เกาะร่างกายจริง ๆ เราก็จะสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้
    <O:p</O:p
    ดังนั้น ในแต่ละวัน ให้ทุกคนใคร่ครวญศีล ตามสภาพของตน เป็นฆราวาสก็รักษาศีล ๕ เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ศีล ๘ หรือถ้ารักษากรรมบถ ๑๐ ได้ก็ยิ่งดี เป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ เป็นพระก็ศีล ๒๒๗ ข้อ พร้อมอภิสมาจาร
    <O:p</O:p
    หากว่าเราสร้างสติสัมปชัญญะของเรา ได้สมบูรณ์ เพียงแค่ขยับตัว เราก็รู้แล้วว่าศีลจะขาด จะพร่องหรือไม่ ? ให้เราทบทวนศีลตามสภาพของตนอยู่ทุกวัน อาจจะประเภทว่า ตื่นเช้าขึ้นมาก็เริ่มใคร่ครวญ ทบทวนไปเลย
    <O:p</O:p
    มีสิกขาบทไหนที่ยังพร่องไม่สมบูรณ์ ให้ตั้งใจว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลทุกสิกขาบทของเราจะสมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วตั้งหน้าตั้งตารักษาไป ในขณะที่สติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ การพร่องในศีลย่อมมีเป็นปกติ แต่ว่าอย่าให้พร่องโดยเจตนาของเรา
    <O:p</O:p
    เพราะว่าเจตนานั้น เป็นตัวกรรมใหญ่ ที่จะพาเราไปสู่อบายภูมิ หรือไปสู่สุคติ ถ้าเจตนาของเราละเว้น ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ เราก็ไปสู่สุคติแน่นอน แต่ถ้าหากว่าเจตนาของเราตั้งใจละเมิด อบายภูมิก็เป็นที่ไปของเราแน่นอนเช่นกัน
    <O:p</O:p
    เมื่อเราใคร่ครวญในศีลเป็นปกติแล้ว มั่นใจแล้วว่า วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลทุกข้อของเราจะสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ให้เราจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาต่อไปเลย
    <O:p</O:p
    จะเป็นการจับภาพของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมลมหายใจเข้าออกก็ได้ ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ได้ แล้วแต่เราถนัด เมื่ออารมณ์ใจของท่านตั้งมั่น ก็แปลว่าท่านทรงฌานในสีลานุสติกรรมฐาน
    <O:p</O:p
    ให้ท่านตั้งใจว่า เรารักษาศีลเพราะเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะเราต้องการไปพระนิพพาน พอกำลังใจทรงตัว ก็ประคับประคองรักษากำลังนั้นเอาไว้
    <O:p</O:p
    มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับภาพของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่าพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่หนึ่งที่ใดเลย นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
    <O:p</O:p
    ตั้งใจว่า อานิสงส์ของศีลที่เราตั้งใจพิจารณานี้ ที่เราตั้งใจปฏิบัติด้วยการงดเว้นนี้ ขอให้เป็นปัจจัย ส่งผลให้เราเข้าสู่พระนิพพานแห่งเดียว หายใจเข้า ศีลทุกข้อของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์ หายใจออก ศีลของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์
    <O:p</O:p
    ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับศีล ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับพระ ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับนิพพาน พยายามทรงกำลังใจแบบนี้ให้เป็นปกติ จึงจะชื่อว่า ท่านปฏิบัติในสีลานุสติกรรมฐานได้ทรงตัว
    <O:p</O:p
    การปฏิบัติกรรมฐาน กองใดกองหนึ่งก็ตาม ถ้าเราทำได้แล้ว ก่อนที่จะขึ้นกรรมฐานกองอื่น ให้เราทวนของเก่าเสียก่อน ถ้าเราทำในพุทธานุสติ ก็จับภาพพระพร้อมกับคำภาวนา ให้ทรงตัว แจ่มใส
    <O:p</O:p
    ถ้าเราปฏิบัติในธัมมานุสติ ก็จับภาพของดอกมะลิแก้ว หรือดอกมะลิทองคำ ที่เราใช้แทนธัมมานุสติกรรมฐาน ให้เป็นปกติ ทรงตัว แจ่มใส ถ้าปฏิบัติในสังฆานุสติ ก็จับภาพหลวงปู่หลวงพ่อ องค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพท่าน จนภาพปรากฏชัดเจนแจ่มใส อย่างนี้เป็นต้น
    <O:p</O:p
    พอกำลังใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ค่อยถอยกำลังใจออกมา เริ่มต้นปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ เราต้องมีการย้อน ทวนหน้าทวนหลัง ซักซ้อมเพื่อความคล่องตัว อย่างนี้อยู่เสมอ เพื่อว่า ถึงวาระถึงเวลา กำลังใจมันมีจริตไหนปรากฏขึ้น จะได้ใช้กรรมฐานกองนั้น ๆ ต่อสู้กับมันได้ทันท่วงที
    <O:p</O:p
    ดังนั้น เมื่อทำได้แล้ว ของเก่าห้ามทิ้ง ต้องทบทวนไว้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน เมื่อกำลังใจทรงตัวแล้ว ก็ทำกองใหม่ต่อไป หรือถ้าเราไม่มีความจำเป็น ต้องศึกษามันให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เราชอบใจกองไหน ให้เรายึดมั่นกองนั้นของเราไป
    <O:p</O:p
    ให้ทำดังนี้อยู่เป็นปกติทุกวันๆ ถือเป็นภาระเป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องทรงกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ให้ได้ในแต่ละวัน อย่าให้จิตของเรา ไปฟุ้งซ่านกับความรัก โลภ โกรธ หลง เพื่อรักษาอารมณ์แจ่มใสของจิตให้เป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ถ้าทำได้ดังนี้ ถึงเวลาเราตาย เราก็ไปสู่สุคติ ถ้าเราไม่ต้องการการเกิด ไม่มีความปรารถนาในร่างกายนี้ ไม่มีความปรารถนาในโลกนี้ เราก็จะไปสู่พระนิพพานตามความต้องการของตน ตอนนี้ ขอให้ทุกคน รักษากำลังใจ ให้ทรงตัวอยู่กับอารมณ์ที่เราทำได้ แล้วแบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง ควบคุมร่างกายไว้ตามปกติ เพื่อจะได้สวดมนต์ทำวัตรของเราต่อไป
    <O:p</O:p
    <O:p</O:pพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๗
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 มิถุนายน 2010
  14. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๔. มรณานุสติ

    มาว่ากันถึงเรื่องการปฏิบัติต่อไป สำหรับตอนเช้า ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะถือว่าเราได้พักผ่อนมาทั้งคืนแล้ว สภาพร่างกายของเรานั้น ถ้ามันหิวมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ตัวฌานสมาบัติ มันจะเกิดขึ้นยาก

    ถ้าไม่ใช่คนที่ทำฌานสมาบัติ จนคล่องตัวจริง ๆ เมื่ออยู่ในภาวะเหล่านี้ กำลังใจหรือว่ากำลังสมาธิ มันจะถดถอย ไม่ทรงตัว ขณะที่ร่างกายของเราอ่อนเพลีย ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี ก็ยังสามารถทรงฌานสมาบัติอยู่ได้ <O:p

    แต่ถ้ามันไม่ไหว ต้องการพักผ่อน บางทีสติมันขาดลงไปเอง บางคนจะหลับไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่ามันหลับไปตอนไหน ดังนั้น ในตอนค่ำ เราเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว ถ้าจะปฏิบัติภาวนาอีก บางทีมันจะง่วง มันจะโงก มันเอาดีได้ยาก

    ถึงได้กล่าวว่า การปฏิบัติในตอนเช้านี้สำคัญที่สุด เหมือนกับการทำมาหากิน หาเช้ากินถึงค่ำ เพราะว่ากำลังใจของเรานั้น ถ้าหากว่าสภาพแวดล้อมไม่ดี สภาพร่างกายไม่ดี มันก็ไม่ทรงตัว <O:p

    คราวนี้ในตอนเช้า เราพักผ่อนมาทั้งคืนแล้ว ข้ออ้างไม่มี จะกล่าวว่ามันเหนื่อย จะกล่าวว่ามันง่วงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาทำความดี ความจริงการทำความดีนั้น จะอยู่ในอิริยาบถไหน ก็ได้ผลเสมอกัน


    จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้ทั้งนั้น แต่เนื่องจากว่า ถ้าเราไม่ได้รับการฝึกมาจนอารมณ์ใจทรงตัว อิริยาบถนอน ถ้าเผลอเมื่อไหร่ สติมันขาด มันจะตัดหลับเมื่อนั้น ยกเว้นว่าถ้าเราสามารถทำได้ จนกระทั่งหลับและตื่น จิตมีสภาพตื่นเสมอกัน


    ถ้าอย่างนั้น เราปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถนอน ก็จะมีผลเช่นเดียวกับอิริยาบถอื่น ๆ ตอนเช้าที่กล่าวว่า มีความสำคัญมาก เพราะว่ากำลังใจที่เราทำได้นี้ มันจะเป็นเครื่องอาศัยไปได้ทั้งวัน
    <O:p

    แต่ถ้าประคับประคองมันไม่เป็น มันก็อาจจะอาศัยไปได้พักหนึ่ง ดังนั้น ในตอนเช้า การปฏิบัติภาวนาของเรา จึงสำคัญมาก สร้างอารมณ์ใจของเราให้สูงที่สุด เท่าที่จะสูงได้ แล้วพยายามประคับประคอง รักษามันเอาไว้


    พยายามสังเกตกำลังใจตัวเองว่า มันมีนิวรณ์กินใจหรือไม่ ? มันกระทบกับงานรอบข้าง กับคนรอบข้างแล้ว กำลังใจมันตกหรือไม่ ? บางคนไปได้ครู่เดียว กำลังใจก็แย่แล้ว แต่ถ้าเราหมั่นฝึกบ่อย ๆ สู้บ่อย ๆ กำลังใจมันจะเคยชินกับการอยู่กับความดี มันก็จะทรงตัวได้นานขึ้น
    <O:p

    ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว สมมุติว่า ตอนเช้า เราตั้งกำลังใจสูงสุด เวลาออกบิณฑบาต เราก็ทรงอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ กำลังใจมันดี มันก็จะไปเผลอตอนกำลังฉัน เมื่อฉันอาหาร ถ้าสติมันเคลื่อน กำลังใจมันไม่ทรงตัว ก็จะหลุดตอนนั้น
    <O:p

    ถ้าไม่ไปหลุดตอนนั้น ก็จะไปหลุดตอนทำการทำงาน มันเผลอ สติ สมาธิมันอาจจะขาดช่วงลง ถอยลงมาอยู่แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น ทำให้รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราได้ง่าย ก็ให้หาเวลา เพื่อที่จะภาวนา ให้กำลังใจมันทรงตัวใหม่


    ถ้าเราทำการทำงาน คนรอบข้างวุ่นวายอยู่ ให้หาโอกาสเข้าห้องน้ำสักหน่อยหนึ่ง แต่เข้าลักษณะแบบคนท้องผูก นั่งนานนิดหนึ่ง แต่เป็นการนั่งภาวนา พออารมณ์ใจทรงตัวก็ประคับประคอง รักษามันเอาไว้ แล้วออกมาทำหน้าที่ของเราต่อ


    กำลังใจมันก็จะทรงตัวได้เหมือนเดิม แล้วก็คอยระมัดระวัง ประคับประคองมันอยู่เสมอ พอสักบ่ายแก่ ๆ จะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันหนักเหมือนกับแบกช้างทั้งตัว ก็หาทางทำใหม่ ภาวนาใหม่
    <O:p

    การที่เราปฏิบัติภาวนา พยายามอย่าให้คนเห็น เพราะว่าถ้าไม่ได้ไปในทางเดียวกัน คือ กำลังใจไม่ได้ไปในทางเดียวกันทั้งหมด บุคคลแค่เอ่ยปากปรามาส โทษหนักจะเกิดกับเขา ถึงได้กล่าวว่า อย่าพยายามให้คนเห็น แอบ ๆ ทำเอา
    <O:p

    พอทำตอนบ่าย กำลังมันก็จะต่อช่วงไปถึงเย็น เมื่อเลิกงานกลับบ้าน กลับที่พักของเรา คราวนี้ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาทั้งวัน เพลียมาทั้งวัน ก็ให้ตั้งใจว่า ...
    <O:p

    ตอนนี้เรานอนลงแล้ว ร่างกายที่เหยียดยาวออก มันก็เหมือนกับคนตายนั่นเอง มันจะได้ลุกขึ้นมาใหม่ ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นวันใหม่หรือเปล่าก็ช่างมัน ถ้ามันตายตอนนี้ เราขอไปพระนิพพาน แล้วจับลมหายใจให้หลับไป
    <O:p

    ให้พยายามทำอย่างนี้ ถึงกล่าวได้ว่า เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง เหมือนกับเราอยู่ในสถานที่นี้ เปิดไฟตรงหน้าพระประธาน แสงไฟอาจจะไปได้ไม่ตลอด เราต้องเปิดไฟตรงกลางอีกหนึ่งดวง แสงไฟก็ยังไปได้ไม่ทั่ว ต้องเปิดไฟหน้าอาคารอีกหนึ่งดวง


    นี่คือลักษณะของการที่เรา ใช้ความพยายามในการปฏิบัติภาวนา ตอนเช้า ภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัว เหมือนเปิดไฟหน้าพระประธาน พอรู้สึกว่ามันไม่ไหว แสงมันจะส่องไม่ถึง ตอนกลางวัน ก็ภาวนาต่ออีกสักครู่หนึ่ง จะตอนเวลาพักเที่ยง หรือเวลาอะไรก็ได้ <O:p

    พอรู้สึกว่า ไฟมันส่องไม่ถึงตอนบ่าย ก็เปิดไฟหน้าอาคาร คือ ภาวนามันอีกสักครู่หนึ่ง อาจจะตอนเวลากาแฟก็ได้ แล้วหลังจากนั้น ตอนค่ำ เรานอนลงตั้งใจว่า ถ้ามันตายขอไปพระนิพพาน ภาวนาให้หลับไป
    <O:p

    ตอนที่หลับ กำลังใจอย่างน้อย ต้องเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ ไม่อย่างนั้นมันจะฟุ้งซ่านอยู่ หลับไม่ได้ แปลว่า คืนนั้นทั้งคืนจนกว่าจะตื่น เราอยู่ในฌาน ระดับปฐมฌานหยาบ เป็นอย่างน้อย
    <O:p

    กำลังใจของเรา ก็จะทรงอยู่ในด้านดี เมื่อตื่นขึ้นมา รู้สึกตัวเมื่อไร ภารกิจแรกของเราคือ จับลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตทรงเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ ตื่นขึ้นมา จะงงอยู่พักหนึ่ง แล้วในที่สุดจะคิดได้ว่า เราต้องภาวนา แล้วก็จะเริ่มจับลมภาวนา
    <O:p

    ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างกลาง ตื่นขึ้นมารู้สึกตัว มันจะภาวนาต่อทันที ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างละเอียด หลับอยู่มันก็รู้ว่าหลับ อะไรเกิดขึ้นในระหว่างที่หลับ จะรู้ทั้งหมด เพียงแต่จะใส่ใจกับมันหรือไม่เท่านั้น
    <O:p

    ดังนั้น คำภาวนาก็ดี การพิจารณาก็ดี มันจะต้องเนื่องกันไป ตลอดระยะเวลาที่หลับ เมื่อจะตื่น รู้ตัวว่าจะตื่น กำหนดใจว่า เราพร้อมที่จะตื่นแล้ว กำลังใจมันจะคลายตัวออก ความรู้สึกจะกระจายออกไป จนถึงปลายมือปลายเท้า


    ต่อเมื่อประสาทร่างกายสมบูรณ์แล้ว มันก็จะบอกว่า เอาละ..ลุกได้ มันก็จะลุก ลืมตา มันก็จะลืมตา ลุกขึ้น มันก็จะลุกขึ้น ลักษณะของจิตมันเร็วมาก แจ่มใสมาก มันจะสั่งการ เหมือนกับร่างกายนี้เป็นหุ่นยนต์


    แต่ว่ามันสั่งการเร็ว คนภายนอกจะดูไม่ออก จะเหมือนกับว่า เราลืมตาแล้วลุกขึ้นเลย แต่เนื่องจากว่า จิตมันละเอียด มันเห็นชัดเจนทุกขั้นตอน มันเหมือนกับภาพรีเพลย์ช้า ๆ เหมือนกับดูโทรทัศน์ เราจะสามารถควบคุมร่างกายได้ มีสติอยู่กับทุกอิริยาบถของมัน
    <O:p

    ถ้าเราสามารถรักษากำลังใจทรงตัวได้ จิตใจจะสงบ จะเยือกเย็น สติสมาธิก็จะทรงตัว ระหว่างที่ทำการทำงานต่างๆ งานการจะมีประสิทธิภาพมาก เพราะว่าสติมันอยู่เฉพาะหน้า โอกาสที่จะผิดพลาดทางการงานมันก็น้อย
    <O:p

    เมื่อกำลังใจมันเริ่มตก เริ่มลดลง อันนี้ต้องขยันสังเกต คือ ความเครียดมันจะเริ่มปรากฏขึ้น บางคนคุยกับเจ้านายหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่รู้ตัวว่าเสียงตัวเองดังขึ้น ๆ
    <O:p

    ให้รู้ตัวไว้เลยว่า ถ้าเสียงเราดังเกินระดับปกติเมื่อไร ถ้าไม่ใช่ รัก โลภ โกรธ หลง มาครองใจของเราเต็ม ๆ แล้ว ก็แปลว่า กำลังสมาธิของเรามันถอยแล้ว ความเหนื่อยความเครียดกับงาน มันเข้ามาแทนที่แล้ว


    เมื่อรู้ตัว ให้รีบหาเวลา ที่จะขับไล่สิ่งที่ไม่ดี ให้ออกจากใจเรา เพื่อที่จะรักษากำลังใจของเราให้ทรงตัว อารมณ์ใจในตอนเช้า ถ้าหากว่ามันฟุ้งซ่าน มันจะพาเราฟุ้งซ่านไปทั้งวัน และอาจจะหลาย ๆ วัน
    <O:p

    แต่ถ้าอารมณ์ใจตอนเช้ามันทรงตัว เกาะความดีได้ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มันจะถอยของมันไป เพราะสภาพจิตของเรา เสวยอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียว ถ้าตอนนี้ อารมณ์ของความดี มันอยู่กับเรา อารมณ์ของความชั่ว มันก็เข้าไม่ได้
    <O:p

    แต่ถ้าเผลอสติ ให้อารมณ์ของความดีหลุดไป อารมณ์ของความชั่วมันเข้ามาแทน คราวนี้จะยุ่งแล้ว เพราะว่าพวกเราทุกคน เคยชินกับการทำความชั่วมานับชาติไม่ถ้วน ในเมื่อมันเคยชิน ถึงวาระ ถึงเวลา กำลังใจมันจะไหลไปหาความชั่วเอง


    ดังนั้น เมื่อรู้ตัว ต้องรีบดึงกำลังใจคืนมา ให้มาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้มาอยู่เฉพาะหน้า อย่าให้มันไหลไปกับ รัก โลภ โกรธ หลงได้ การปฏิบัติ ถ้าเรามีสติควบคุมตัวเอง ลักษณะนี้อยู่ทุกวัน เราจะมีความก้าวหน้าขึ้นไปทุกวัน


    ขณะที่ก้าวหน้า ก็อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปพอง อย่าไปฟูกับมัน เพราะว่าถ้าเราพองกับมัน ฟูกับมัน ก็แปลว่า เราปล่อยให้กำลังใจของเรา ถูกรัก โลภ โกรธ หลง แซงได้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน กำลังใจมันถดถอย ก็อย่าไปฟุบอยู่กับมัน อย่าไปเสียใจอยู่กับมัน


    เรายังไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบพระอรหันต์ จะให้กำลังใจมันทรงตัวมั่น คงไปทีเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ในแต่ละวัน พยายามให้กำลังใจของเรา เกาะด้านดีมากกว่าด้านชั่ว ๒๔ ชั่วโมงพยายามให้กำลังใจมันอยู่กับด้านดีให้ได้ ๑๒ ชม. หรือเกิน ๑๒ ชม.ไป ไม่อย่างนั้น เราจะขาดทุน
    <O:p

    สำหรับตอนนี้ เราก็มาศึกษากันต่อ ในด้านของกรรมฐานกองต่อไป วันนี้จะกล่าวถึง มรณานุสติกรรมฐาน คือการนึกถึงความตาย การนึกถึงความตาย เป็นเรื่องของคนฉลาด ที่เป็นพุทธิจริต
    <O:p

    สำหรับจริตอื่นๆ ยังนึกได้ยาก บางทีพอกล่าวถึงความตาย ก็รู้สึกหดหู่ รู้สึกเศร้าหมอง รู้สึกหวาดกลัวแล้ว ความตายเป็นธรรมดาของสัตว์โลกทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น
    <O:p

    คือ ทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน สัตว์ทุกตัวเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน แต่ที่เห็นคนเห็นสัตว์ มันมากขึ้นทุกวัน เพราะว่า การเกิดขึ้นมา มันยังต้องดำรงชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง อาจจะไม่กี่ปี หรือว่าหลายสิบปี
    <O:p

    ดังนั้น คนเก่ายังไม่ทันจะตาย สัตว์เก่ายังไม่ทันจะตาย คนใหม่ สัตว์ใหม่ มันก็เกิดขึ้น เราถึงได้รู้สึกว่า มันมากขึ้นๆ แต่จริงๆ แล้วมันเกิดมาเท่าไหร่ มันตายหมดเท่านั้น การระลึกถึงความตาย ทำให้เราไม่ประมาท
    <O:p

    เป็นการสรุปยอดคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงเหลือแต่คำว่า ไม่ประมาท คำเดียว คนเราถ้ารู้ตัวอยู่ว่าจะตาย ตายแล้วไม่แน่ว่าจะไปสุคติหรือทุกคติ
    <O:p

    ถ้าคนนั้นมีความฉลาด ก็จะรีบขวนขวาย ปฏิบัติเพื่อตนเอง อย่างน้อย ๆ ให้พ้นจากอบายภูมิ ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ให้ได้เกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมเป็นอย่างน้อย หรือถ้าปฏิบัติต่อ เข้าสู่พระนิพพานได้เลยก็ยิ่งดี
    <O:p

    ความตายนั้น มาถึงเราได้ทุกเวลา หายใจเข้า ไม่หายใจออก มันก็ตาย หายใจออก ไม่หายใจเข้าไปใหม่ มันก็ตายแล้ว ความตายอยู่กับเรา ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า
    <O:p

    “อานันนทะ..ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายประมาณวันละกี่ครั้ง ?” พระอานนท์ (ตอนนั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว) ตอบว่า “ประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบไปว่า
    <O:p

    “อานันทะ..ดูก่อน อานนท์ นั่นยังห่างไกลนัก ตถาคตนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก” นั่นคือ บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้ตัวอยู่เสมอว่าจะตาย หายใจเข้า ไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออก ไม่หายใจเข้าก็ตายเช่นกัน
    <O:p

    ดังนั้น ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก เราอยู่กับความตายตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงตรัสว่า พระองค์ท่านนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก
    <O:p

    ถ้าเราไม่สามารถจะนึกถึงขนาดนั้นได้ ก็ให้กำหนดใจ นึกไปถึงในเวลาที่เรามีสตินึกได้ ดูซิว่า คนที่ตายไปแล้วมีไหม ? สัตว์ที่ตายไปแล้วมีไหม ? เอาแค่คนที่เรารู้จัก เอาแค่ญาติมิตรสนิทสนมกับเรา
    <O:p

    คนที่แก่กว่าอย่าง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตายไปแล้วเท่าไร ? พี่ ป้า น้า อา ตายไปแล้วเท่าไร ? เพื่อนรุ่นเดียวกับเรา ตายไปแล้วเท่าไร ? รุ่นน้องๆ ตายไปแล้ว เท่าไร ? เด็กเล็กๆ ตายไปแล้วเท่าไร?
    <O:p

    ความตายอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายว่า จะมาถึงเวลานั้นเวลานี้ ทันทีทันใด ก็อาจจะเข้ามาถึงได้ เด็กเล็กๆ ก็ตาย คนหนุ่มคนสาวก็ตาย คนวัยกลางคนก็ตาย คนแก่ก็ตาย
    <O:p

    เด็กบางคน ยังอยู่ในท้องแม่ ได้แค่เดือนสองเดือน สภาพร่างกาย ยังพัฒนาเป็นคนได้ไม่สมบูรณ์ ยังมีอวัยวะภายในภายนอกไม่ครบถ้วน ๓๒ ก็ตายแล้ว แท้งออกมาตาย บางคนก็ตายในวันที่คลอด บางคนก็อยู่ได้ในระยะหนึ่งก็ตาย


    บางคนวิ่งได้ เดินได้เก่งแล้ว ค่อยตาย บางคนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ค่อยตาย เป็นวัยกลางคนแล้วตาย เป็นคนแก่แล้วตาย ความตายมาได้ตลอดเวลา ถ้าหากว่าตายแล้วเราเกาะความดีไม่ได้ ตกสู่อบายภูมิ ก็ขึ้นชื่อว่าขาดทุนย่อยยับ
    <O:p

    ถ้าเกาะความดีได้บางส่วน ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ยังพอทน เกิดเป็นเทวดาพอได้มีความสุขชั่วคราว แต่ยังต้องเวียนว่ายเวียนเกิดอีก ลงมาพบกับความตายอีก ดังนั้น ถ้าจะให้พ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ มีอยู่สถานที่เดียวคือพระนิพพาน
    <O:p

    พระนิพพานนั้น จะเรียกว่าเกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วต้องมีตาย เป็นสถานที่ที่บุคคลทำความดีถึงที่สุด หลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะไปอยู่กันที่สถานที่นั้น บุคคลที่อยู่ในนิพพานคือ พระอรหันต์ทั้งหมด พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้าทั้งหมด
    <O:p

    เราเกิดมาในชาติหนึ่ง ๆ ที่ผ่านมา มีชาติไหนที่เราไม่ตายบ้าง ? ในแต่ละชาตินั้น ๆ เราอาจโชคดี ได้พบพระอรหันต์ ได้ทำบุญกับท่าน บางทีได้พบหลายๆ องค์ ถือว่าเป็นโชคดีมหาศาล ได้ต่อกำลังบุญ กำลังความดีของเรามา
    <O:p

    ส่งผลให้เราเป็นสัมมาทิฐิ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง บางชาติเกิดมา ได้พบพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเป็นแสนๆ องค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า จะเกิดในช่วงที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ว่างจากพระศาสนา บางทีได้พบท่านเป็นแสน ๆ องค์


    บางชาติ บางวาระ เราได้พบกระทั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีก็ได้กราบทำบุญ กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันตเจ้าบริวารเป็นแสน ๆ องค์ แต่ว่าในชาตินั้น ๆ เราพ้นความตายไหม ?
    <O:p

    มันก็ตายจนได้ ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตายอยู่เป็นปกติ ต้องพบกับความทุกข์ยาก เร่าร้อนเป็นปกติ จิตประกอบไปด้วยราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นปกติ
    <O:p

    แล้วบุคคลที่ประเสริฐสุด อย่างพระอรหันตเจ้าทุกรูปก็ดี พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ดี พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็ดี ก็ไม่อาจจะหนีพ้นจากความตายไปได้ วาระสุดท้าย ทุกๆ พระองค์ก็ทิ้งขันธ์ เข้าสู่พระนิพพานเช่นเดียวกัน
    <O:p

    บุคคลที่เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด ก็ยังไม่สามารถจะพ้นความตายได้ เทวดา พรหม ที่บางศัพท์เรียกว่า อมร (อะมะระ แปลว่า ผู้ไม่ตาย) ก็ยังคงตายเช่นกัน ถึงวาระหมดบุญ ก็จุติ คือ เคลื่อนจากภพนั้น ๆ เพื่อไปกำเนิดในภพอื่นได้
    <O:p

    การจุติหรือเคลื่อนไป ก็คือความตายนั่นเอง ในเมื่อผู้ที่ทรงความดีสูงสุด คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าทุกรูปทุกนาม ไม่สามารถจะรอดพ้นความตายไปได้
    <O:p

    พรหมทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย ไม่สามารถจะรอดพ้นความตายไปได้ แล้วตัวเรามันจะพ้นความตายไปได้อย่างไร ? ในเมื่อเรามีความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก เราไม่ทราบว่ามันจะตายเมื่อไร
    <O:p

    เราต้องเร่งขวนขวาย ปฏิบัติความดีให้มากที่สุด สั่งสมเสบียงไว้ให้มากที่สุด เพื่อการเดินทาง อันยาวไกลในเบื้องหน้า ถ้ายังมีการเดินทางอยู่ เราจะได้มีเสบียงอาหาร ที่พร้อมบริบูรณ์ ไม่ต้องยากลำบาก กับการเดินทางมากนัก
    <O:p

    แต่ถ้าเราตายแล้ว สามารถหลุดพ้นเข้านิพพานได้ นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด ดีที่สุด แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ดังนั้น ต่อให้เรารู้ว่า ถ้าตายแล้ว เราจะเข้าพระนิพพานแน่ๆ เราก็ยังคงต้องสร้างสมความดี ละเว้นความชั่ว ให้เป็นปกติ
    <O:p

    ทุกๆ ขณะจิต ให้มีพระพุทธเจ้า ให้มีพระธรรม ให้มีพระสงฆ์อยู่ในใจ ทุก ๆ ขณะจิต ให้มีพระนิพพานอยู่ในใจ รู้ตัวอยู่เสมอว่ามันจะต้องตาย ถ้าตายแล้วเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
    <O:p

    เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัว ก็ให้จับการภาวนาต่อไป อารมณ์ใจของเรา ให้อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อยู่กับความรู้สึกทั้งมวล ที่ไหลตามลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
    <O:p

    ระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ถ้าตายเราขอไปพระนิพพานเท่านั้น ในแต่ละวัน ให้รักษาอารมณ์ใจ ในลักษณะนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ให้ระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องตาย ตายอย่างแน่นอน
    <O:p

    ถ้าตายแล้ว เราขอไปพระนิพพาน ถ้าตายแล้ว ขอไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ถ้าตายแล้ว ขอไปอยู่กับหลวงปู่ หลวงพ่อของเรา ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็ชื่อว่าท่านทรงมรณานุสติกรรมฐานได้ อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการ


    ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆก็ตาม ให้มีสติระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องตาย ถ้าจะตาย ก็ขอตายภายใต้การทำความดี ทำตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทำให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด เมื่อถึงวาระถึงเวลา จะได้จากไปอย่างสง่างามที่สุด
    <O:p

    สำหรับตอนนี้ ให้ทุกคนประคับประคองอารมณ์ใจไว้ พอเราเปลี่ยนอิริยาบถ อย่าให้จิตเคลื่อนตามไป ให้กำลังส่วนหนึ่งเกาะความดี เกาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกาะพระนิพพานเอาไว้ตามปกติของเรา


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันศุกร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 มิถุนายน 2010
  15. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๕. กายคตานุสติ

    <O:p</O:pสำหรับวันนี้ ในเบื้องต้นขอกล่าวถึง ความมีสติสัมปชัญญะของเรา สติ คือความระลึกนึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว <O:p</O:p
    เราบวชเข้ามา เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา เรามีความรู้ตัวบ้างหรือไม่ ว่า ตอนนี้ เราเป็นปูชนียบุคคลแล้ว เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเขากราบไหว้ เขาให้การเคารพบูชา เขาให้การเลี้ยงดูเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเรามีสติระลึกได้ ก็นับว่าเข้าถึง แต่ถ้าเราไม่มีสติ ระลึกได้ตรงนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่า ถ้าเราระลึกได้เฉยๆ ว่าเป็นปูชนียบุคคล มันจะประกอบไปด้วยตัวมานะ ถือตัวถือตนอีกต่างหาก
    <O:p</O:p
    เราต้องนึกไปถึง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียกพวกเรา ท่านใช้คำว่าภิกขุ คือ ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร การเป็นผู้ขอ เพราะว่า เรามีปกติบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ท่านใช้คำว่าสัมมาอาชีวะ อาชีพที่ถูกต้อง <O:p</O:pพระของเรามีงานประจำ เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ เพียงอย่างเดียว คือ ขอเขากิน เราเป็นขอทาน งานอื่นไม่ใช่งานของพระ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหาเงินหาทอง แบบไหนก็ตาม ไม่ใช่งานของพระทั้งหมด <O:p</O:pงานประจำมีอย่างเดียวคือ เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาต

    ถ้าเราไม่มีความระลึกได้ตรงนี้ เราก็อาจจะไปในลักษณะ ทำตัวเป็นเจ้านายเขา ไปให้โยมเขาสงเคราะห์ เหมือนกับว่าเป็นหน้าที่โยมที่จะต้องเลี้ยงเรา <O:p</O:pถ้าเป็นดังนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่าโบราณท่านใช้คำว่า โปรดสัตว์ คือ เราต้องรักษากาย วาจา ใจของเราให้ดีที่สุด ให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลาแล้ว การที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์เรา เขาจะได้อานิสงส์สูงสุดเท่าที่เขาจะพึงได้
    <O:p</O:p
    การทำบุญของญาติโยมส่วนใหญ่ คือ หวังผลเพื่อความสุขสบายในเบื้องหน้า ถ้าหากว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี มีความแจ่มใส มีความผ่องใส บริสุทธิ์เป็นปกติ ญาติโยมที่ทำบุญ ท่านก็จะได้บุญใหญ่ สมกับความตั้งใจของเขา สมกับที่โบราณท่านบัญญัติ ใช้คำว่าโปรดสัตว์ แต่ถ้ากำลังใจของเราไม่ดี ศีล สมาธิ ปัญญาของเราบกพร่อง เราออกไปในแต่ละวัน มันจะไม่ใช่การโปรดสัตว์ มันเป็นการไปให้สัตว์เขาโปรด โทษใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับเรา
    <O:p</O:p
    ทุกวันตัวเราขวนขวายหาความดีใส่ตัว แล้วในตอนเช้าๆ ญาติโยมก็จะมาเอาความดีไปจากเรา ถ้าเราไม่สามารถรักษาความดีให้ทรงตัวได้ มีความดีเพียงเล็กน้อย ญาติโยมจำนวนมากด้วยกัน ต่างคนต่างเอาไป ต่างคนต่างคว้าไป เราก็จะไม่มีอะไรเหลือ
    <O:p</O:p
    ไม่เหลือยังไม่ว่า อาจจะขาดทุน ติดลบอีกต่างหาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทรงสติสัมปชัญญะ ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เหลือบเห็นผ้าเหลืองเมื่อไร ให้รู้ตัวว่า ตอนนี้ เราเป็นพระแล้ว คลำศีรษะไม่มีผมหรือผมสั้น เราต้องรู้ตัวว่า เราเป็นพระแล้ว<O:p</O:p
    ท่านว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว กริยาอาการใดๆ ที่เป็นของสมณะ เราต้องทำกริยาอาการนั้นๆ คือ ต้องมีความสำรวมในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ในขณะที่บิณฑบาต ต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ กำลังใจให้ทรงตัวอยู่กับภาพพระให้เป็นปกติ กำลังใจให้ทรงตัวอยู่กับการภาวนาให้เป็นปกติ เมื่อโยมเขาสงเคราะห์ ก็ใช้เสขิยวัตรในการบิณฑบาตของเรา คือ สายตาลดต่ำ เหลือบดูอยู่แต่ในบาตร <O:p</O:p
    เมื่อถึงวาระของการเดิน ให้มองไปข้างหน้าแค่ชั่วแอก คือ ถ้าหากว่าเราอยู่บนเกวียน ก็มองไปสุดปลายแอก คือ แค่คอวัวเท่านั้น ถ้าในปัจจุบันนี้ก็คือ ทอดสายตาต่ำลงมองไปข้างหน้า ระยะประมาณสองเมตร
    <O:p</O:p
    ไม่ใช่สอดส่ายสายตาไปทั่ว ขาดการสำรวมระวัง ญาติโยมที่เป็นผู้หญิงเขาใส่บาตร แทนที่ใจของเราจะอยู่กับพระ แทนที่ใจของเราจะนึกอวยพรให้เขา ว่าขอให้เขาทั้งหลายมีความสุข มีความปรารถนาที่สมหวังทุกประการ
    <O:p</O:p
    เราก็จะไปยินดียินร้ายกับเขาอีก เห็นโยมผู้หญิงแก่หน่อยก็ อ้าว..ทำไมแก่จัง ? เห็นโยมผู้หญิงอ้วนหน่อยก็ อ้าว..ทำไมอ้วนจัง ? ไม่พอใจ เห็นโยมผู้หญิงหน้าตาดีหน่อย ใจก็ไปคิด เออ..หน้าตาดีนะ น่ารัก น่าปรารถนา น่าจะเป็นแฟนของเรา
    <O:p</O:p
    ถ้าในลักษณะนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่าราคะกับโทสะ จะกินใจเราอยู่ตลอดเวลา มันกินลึก มันซึมลึก กว่าเราจะรู้ตัว มันพาเราลงนรกไปนานแล้ว เราไปให้ญาติโยมเขาสงเคราะห์ ได้ข้าว ได้กับ ได้น้ำมา เพื่อที่จะเป็นเครื่องอาศัย
    <O:p</O:p
    คือฉันลงไปแล้ว ให้อัตภาพร่างกายนี้มันคงอยู่ได้ ไม่เกิดอาการกระวนกระวายมากนัก เราจะได้ปฏิบัติธรรมของเรา ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้ข้าว ได้กับ ได้น้ำ ได้ขนมแล้ว ยังคิดจะไปเอาตัวของเขาอีก มันก็เกินไป
    <O:p</O:p
    เพราะฉะนั้น ต้องมีความสำรวมระวังให้เป็นปกติ ตลอดระยะทาง ควรจะทำอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไร เรารู้อยู่ ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวอยู่ในด้านดี สามารถรักษาความแจ่มใสของจิต ไม่ให้กิเลสมันเข้ามาแทรกได้ ญาติโยมที่ทำบุญกับเราก็จะมีบุญมาก
    <O:p</O:p
    ในแต่ละวัน เราฉันข้าวที่ญาติโยมเขาเลี้ยง ใช้สอยปัจจัย ๔ ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์ เท่ากับว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา มันกลายเป็นของโยมไปแล้ว ในเมื่อชีวิตของเราก็เป็นของโยมเขาไปแล้ว จะเรียกง่ายๆ ว่า เป็นทาสของเขาไปแล้ว
    <O:p</O:p
    ลักษณะของทาส หรือว่าลูกจ้าง หรือคนที่เขาเลี้ยง คนที่เขาสงเคราะห์ ก็ต้องทำตัวให้ดีที่สุด เพื่อให้นายทาส หรือว่านายจ้าง หรือบุคคลผู้ให้การสงเคราะห์ เขาจะได้เมตตาสงเคราะห์เราไปเรื่อย
    <O:p</O:p
    ไม่ใช่ว่าออกไปในลักษณะที่ กำลังใจมันใช้ไม่ได้ เราเป็นพระ เป็นปูชนียบุคคล กำลังใจอย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือกำลังใจเป็นพระได้ยิ่งดี
    <O:p</O:p
    ไม่ใช่กำลังใจของเรา เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วไปให้มนุษย์เขาสงเคราะห์
    <O:p</O:p
    ถ้าลักษณะนั้น เขาสงเคราะห์เรา อานิสงส์เขาก็น้อย ขาดทุน เราก็จะไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาไว้
    <O:p</O:p
    เราเป็นพระภิกษุสงฆ์ หน้าที่ของเราคือ อันดับแรก ชำระจิตใจของเราให้ผ่องใส ให้มีกิเลสอยู่ในใจให้น้อยที่สุด ถึงหมดไปได้เลยยิ่งดี อันดับที่สองก็คือ สงเคราะห์ญาติโยมเขา ตามกำลังตามความสามารถของตน
    <O:p</O:p
    ไม่ว่าจะเป็นการสงเคราะห์ ในลักษณะเนื้อนาบุญก็ดี สงเคราะห์ในการ สอนญาติโยมให้รู้ธรรมก็ดี การสงเคราะห์ข้อหลังนี้ จัดเป็นการเผยแผ่พระศาสนา ให้กว้างไกลออกไปด้วย
    <O:p</O:p
    ถ้าเรายังทำไม่ได้ เรายังปฏิบัติไม่ได้ เราจะเอาอะไรไปสอนญาติโยมเขา สอนตัวเองยังไม่สำเร็จ สอนคนอื่นมันจะสำเร็จได้อย่างไร ? ตราบใดที่เรายังทำไม่ได้ ยังไม่รู้จริง ตราบนั้นสิ่งที่เราพูด ก็ไม่แน่ว่าจะถูกต้อง สิ่งที่เราสอน ก็ไม่แน่ว่า จะเป็นไปตามพระสัทธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    <O:p</O:p
    ปัจจุบันนี้ นักบวชต่างๆ ตลอดจนกระทั่งฆราวาส ทำให้พระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตกต่ำเหลือเกิน แต่ละคนอ้างสิทธิ อ้างเสรีภาพ ในการที่จะวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    <O:p</O:p
    มันเป็นการใช้การวิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย ด้วยโลกียปัญญาในลักษณะของปริยัติ คือศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิบัติ จนตีราคาคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตกต่ำลงไปทุกวัน ไร้ค่าลงไปทุกวัน
    <O:p</O:p
    หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้ได้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา เราจะได้ยืนยันกับเขา เราจะได้มีหลักฐานบอกเขาว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แท้จริงเป็นอย่างนี้
    <O:p</O:p
    ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราถึงจะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส คือเป็นลูกที่พระพุทธ เจ้าท่านรักมาก แต่ถ้าเราทำไม่ได้ สักแต่ว่าอาศัยผ้าเหลือง ให้โยมเขาสงเคราะห์ไปวันหนึ่งวันหนึ่ง สักแต่ว่าอาศัยพระศาสนาเป็นที่อาศัย เป็นที่อยู่ที่กินไปวันหนึ่งวันหนึ่ง
    <O:p</O:p
    เราตายเมื่อไร เรามีหวังลงอเวจีมหานรก อบายภูมิเปิดรอเราอยู่ ดังนั้น ในแต่ละวัน เราต้องทบทวนศีลของเรา ให้บริสุทธิ์ เราต้องรักษาสมาธิของเรา ให้ตั้งมั่นทรงตัว เราต้องมีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงสภาพร่างกายนี้ และสภาพของโลกนี้
    <O:p</O:p
    จงถอนความยินดี อยากได้ใคร่มี ในร่างกายนี้ ในโลกนี้เสีย เพื่อจะได้หลุดพ้น ไปพระนิพพานให้ได้ เพื่อที่เราจะได้เป็นบุคคล ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์แล้ว ได้อานิสงส์มาก
    <O:p</O:p
    เพื่อที่เราจะได้เผยแผ่ พระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ขจรขจายออกไป เพื่อที่ญาติโยมทั้งหลายจะได้รู้ว่า นักบวชที่ดีจริงๆ ยังมีอยู่
    <O:p</O:p
    แม้มันจะดีถึงที่สุดไม่ได้ ก็ให้มันดีในลักษณะของพระโยคาวจร คือ ผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แม้จะไม่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ขึ้นชื่อว่าพระโยคาวจร ก็ยังไม่ขาดทุนมาก
    <O:p</O:p
    คราวนี้ การที่เราจะรู้เท่าทันร่างกาย รู้เท่าทันในโลกนี้ เราต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ศึกษาตามคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำมาปฏิบัติให้เห็นผล
    <O:p</O:p
    สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงกายคตานุสติกรรมฐาน คือการระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ กายคตานุสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่สำคัญมาก ผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้าทุกท่าน ต้องผ่านกรรมฐานกองนี้
    <O:p</O:p
    ถ้าไม่เคยปฏิบัติ ในกายคตานุสติกรรมฐาน เราจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ กายคตานุสติ การตามระลึกถึงกาย คือ ดูให้รู้ ให้เห็น ในสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ดูว่าสภาพที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ?
    <O:p</O:p
    ร่างกายของเรา มันปกปิดเอาไว้ด้วยหนัง เราดูเมื่อไร ก็ไปติดอยู่ที่หนัง เราก็จะยินดีกับมัน พอใจกับมัน เราลองนึกถึงสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ว่าสภาพความเป็นจริงของมันเป็นอย่างไร
    <O:p</O:p
    ลองค่อยๆ นึกไปว่า ถ้าเราลอกหนังออกไปชั้นหนึ่ง สภาพข้างในมันมีอะไร พอเราถลกหนังมันออก พวกเลือด น้ำเหลืองก็ไหลโทรมไป ผ่านใต้หนังกำพร้า ต่อไปก็เป็นหนังแท้ มีความหนามากกว่าหนังกำพร้า เป็นสีขาว
    <O:p</O:p
    ใต้หนังแท้ลงไป เป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยเลือด น้ำเหลือง ลักษณะเป็นมัดกล้าม แทรกเอาไว้ด้วยไขมัน ลักษณะของมัดกล้ามก็จะยาวเรียว ไปตามลักษณะของร่างกายส่วนนั้น ๆ
    <O:p</O:p
    มีชั้นของไขมันแทรกอยู่ มีเส้นเลือดแทรกอยู่ มีเส้นประสาทแทรกอยู่ ถ้าหากว่า ยกเอาเนื้อออกไป เอาเส้นเลือดออกไป เอาเส้นประสาทออกไป มันก็จะไปถึงกระดูก ที่มีเส้นเอ็นรัดอยู่ มัดอยู่
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่า ยกเส้นเอ็นออก กระดูกมันก็หลุดสลายไป ไม่สามารถจะคุมเป็นรูปเป็นร่างอยู่ได้ คราวนี้เรามาดูว่า ตรงกลางของร่างกาย มันประกอบไปด้วยอวัยวะภายในใหญ่น้อย ลักษณะเป็นเครื่องจักรกล ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา
    <O:p</O:p
    มีหัวใจ มีปอด มีตับ มีม้าม มีไต มีถุงน้ำดี มีกระเพาะอาหาร มีกระเพาะปัสสาวะ มีลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก มีหลอดอาหาร มีหลอดลม ถ้าหากว่าในลักษณะนี้ อยู่ๆ เราเดินไปเจอตอนกลางคืน มีใครมีรูปร่างลักษณะนี้เดินมา เรามั่นใจได้เลยว่าผีหลอก
    <O:p</O:p
    แต่ว่าเจ้าผีนี่อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ว่าผู้หญิง ไม่ว่าผู้ชาย ไม่ว่าสัตว์ทั้งหลาย เจ้าพวกผีนี่มันอยู่ด้วยตลอดเวลา มันหลอกเราอยู่ตลอดเวลา มันเอาหนังมาคลุมเข้าไป ไม่ให้เราเห็นเลือด ไม่ให้เราเห็นเนื้อ ไม่ให้เราเห็นน้ำเหลือง
    <O:p</O:p
    ไม่ให้เราเห็นอวัยวะภายใน ที่กำลังเต้นอยู่ กำลังทำงานของมันอยู่ เราก็หลงไปยึด ไปติดอยู่กับมัน ติดอยู่แค่หนัง หนังมันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก็ประกอบไปด้วยเส้นขน มีต่อมเหงื่อ มีต่อมไขมัน
    <O:p</O:p
    ถึงวาระ ถึงเวลา ร่างกายมันก็จะหลั่งไขมัน ออกมาหล่อเลี้ยงผิวกาย หลั่งเหงื่อออกมา เพื่อที่จะหล่อร่างกายให้มันเย็น ไม่ให้มันร้อนจนเกินไป ความสกปรกต่างๆ นี้ จับอยู่ที่ร่างกายเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ตั้งแต่ศีรษะจรดไปถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ มีแต่ส่วนของความสกปรกทั้งนั้น มีแต่ขี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะ ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ไคล ขี้ฟัน กระทั่งขี้เล็บ มากมายเต็มไปหมด
    <O:p</O:p
    ไม่อาบน้ำสักวันหนึ่ง ตัวเราเองก็จะทนไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่คนอื่นเลย สภาพร่างกายของเรา ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็มีสภาพดังนี้ ถ้าไม่อาบน้ำสักสองวันสามวัน ก็เหม็นจนทนไม่ได้
    <O:p</O:p
    ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ที่เราพบคือ เขาทำการขัดสีฉวีวรรณมาดีแล้ว เราก็คิดว่าสะอาด เขาเอาน้ำอบ น้ำหอม มากลบกลิ่นเหม็นของร่างกาย เราก็ไปชอบกลิ่นนั้น เอาเสื้อผ้ามาปิดมาบังในร่างกาย เราก็ไปชอบความสวยของเสื้อผ้านั้น ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าเราลองเอาเสื้อผ้าออก เอาหนังออก ถลกไปถึงเนื้อ อวัยวะภายใน มันจะไม่มีอะไรเป็นสาระ เป็นแก่นสาร มีแต่เลือด น้ำเหลือง ไขมัน เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท
    <O:p</O:p
    สภาพความเป็นจริงของร่างกาย มันเป็นอย่างนี้ ตัวเราก็เป็นอย่างนี้ คนอื่นก็เป็นอย่างนี้ ผู้หญิงก็เป็นอย่างนี้ ผู้ชายก็เป็นอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    แล้วร่างกายก็ยังมีกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งบรรจุเต็มไปด้วยน้ำปัสสาวะ มีลำไส้ใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกากอาหารคืออุจจาระ ทั้งหมดที่เรากินลงไปดี ๆ แท้ ๆ แต่พอผ่านการย่อยสลายเหลือกากออกมาแล้ว บางทีถ่ายออกมาเหม็นไปสามบ้านแปดบ้าน
    <O:p</O:p
    เราเองเคยนึกถึงตรงนี้ไหม ? เออ ถ้าเป็นเพศตรงข้าม หน้าตาสวย ๆ หล่อ ๆ แต่เวลาเข้าส้วมทีเหม็นไปสามบ้านแปดบ้าน มันมีอะไรให้น่าใคร่ น่ายึดถือ สภาพความเป็นจริงของมันเห็นๆ อยู่ แต่ว่าทุกคนก็พยายามปิดบังมัน
    <O:p</O:p
    สภาพร่างกายของเรานี้ มันเหมือนกับถุง ที่บรรจุเอาไว้ด้วยของสกปรก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือนกับถุงที่บรรจุไปด้วยเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เป็นถั่ว เป็นงา ถึงวาระมัดปากถุงเอาไว้ ก็เห็นว่าถุงมันสวยงาม
    <O:p</O:p
    แต่พอเปิดถุงเทออกมา ให้เห็นความจริงว่า ข้างในเป็นข้าว ข้างในเป็นถั่ว ข้างในเป็นงา สิ่งที่ไปยึดไปถือว่าถุงนั้นสวยก็ไม่มี คราวนี้นั่นมันเป็นเพียงพืช เป็นข้าว เป็นถั่ว เป็นงา แล้วถุงที่เราอาศัยมันอยู่นี้ มันไม่ใช่ธัญพืช
    <O:p</O:p
    มันประกอบไปด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ด้วยน้ำเหลือง น้ำหนองต่าง ๆ ด้วยอุจจาระ ด้วยปัสสาวะ มีแต่ความเหม็นเน่า มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ ถ้าหากว่าเราเปิดถุงไถ้นี้ออกมา เราก็จะวิ่งหนี เพราะทนความโสโครกของมันไม่ได้
    <O:p</O:p
    ยังไม่ทันจะตายเลย มันก็เน่าแล้ว มันก็เหม็นแล้ว ร่างกายที่ประกอบไปด้วยทวารทั้ง ๙ มีแต่ความสกปรก หลั่งไหลออกมาทุกวัน ถ้าไม่ดูแล ไม่อาบน้ำ ไม่ขัดสีฉวีวรรณ ไม่ล้าง ไม่ชำระมัน แม้กระทั่งเราเองก็ทนไม่ได้
    <O:p</O:p
    สิ่งสกปรกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ดี ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ฟัน ขี้ไคล อะไรก็ตาม ถึงเวลาถ้ามันกองอยู่ตรงหน้า เราก็รังเกียจ ทนมันไม่ได้ หนีมันไปเสีย หลีกมันไปเสีย แล้วลองนึกดูว่า ในร่างกายของเรา ก็มีสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วเรายังจะไปยินดี อยากมีอยากได้ในมันอยู่อีกหรือ ?
    <O:p</O:p
    ร่างกายของคนอื่น ของสัตว์อื่นก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ก็เป็นอย่างนี้ เรายังจะไปยินดีมันอีกหรือ ? ยังไปอยากได้มันมา ประคับประคองเอาไว้อยู่หรือ ?
    <O:p</O:p
    ลักษณะของมัน ก็คือถุงที่บรรจุเอาไว้ด้วยขี้และเยี่ยว คืออุจจาระปัสสาวะนั่นเอง แล้วมันก็ซึมออกมานอกถุงอยู่ตลอดเวลา ส่งความเหม็นอยู่ตลอดเวลา เรายังอยากได้มันอยู่อีกหรือไม่ ? ยังต้องการมันอยู่หรือไม่ ?
    <O:p</O:p
    เกิดมาเมื่อไร ก็มีแต่ร่างกาย ที่สกปรกโสโครกอย่างนี้ เกิดมาเมื่อไร ก็จะพบคนพบสัตว์ ที่มีแต่ความสกปรกโสโครกอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการมัน ก็จงเลิกความปรารถนาในมัน
    <O:p</O:p
    ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของตนเอง ร่างกายของคนอื่น ร่างกายของสัตว์อื่น เมื่อไม่ปรารถนาในตัวตนของเรา ไม่ปรารถนาในตัวตนของผู้อื่น ก็ต้องไม่ปรารถนาในการเกิด เพราะว่าเกิดเมื่อไร เราก็ต้องพบกับมันอย่างนี้อีก
    <O:p</O:p
    มีแต่ร่างกายที่สกปรกโสโครก หาความดีไม่ได้ อยู่ไปก็มีแต่ความทุกข์ เพราะว่าร่างกายคือรังของโรค มีความทุกข์เป็นปกติ มีความสกปรกเป็นปกติ เป็นสมบัติของโลกนี้ ในเมื่อมันเป็นสมบัติของโลก ถึงวาระถึงเวลาก็ต้องคืนให้กับโลกไป
    <O:p</O:p
    มันพยายามที่จะทวง ที่จะดึง ที่จะเอาคืนอยู่ตลอดเวลา คือมันทรุดโทรมไปตลอดเวลา หมดสภาพลงไปตลอดเวลา นี่คือความไม่เที่ยงของมัน ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมาย หวังจะให้มันดี หวังจะให้มันทรงตัว มันไม่เป็นไปตามนั้น เราก็มีแต่ความทุกข์
    <O:p</O:p
    ในเมื่อเราเห็น สภาพความเป็นจริงแล้ว ว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ท้ายสุดสภาพร่างกาย ที่สกปรกโสโครกนี้ มันก็ยังตาย ยังพัง ยังเน่าเปื่อย ผุพังเป็นดินไป
    <O:p</O:p
    ไม่เหลืออะไรไว้เลย กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ คืนให้กับโลกไป สภาพของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของคนหรือสัตว์ก็ตาม เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดดังนี้ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้
    <O:p</O:p
    เกิดใหม่เมื่อไร ก็เป็นอย่างนี้เมื่อนั้น ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดใหม่ ไม่ควรจะมีสำหรับเราอีก เราก็เอาใจเกาะพระนิพพานเข้าไว้ ตั้งใจว่า เราตายเมื่อไร ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
    <O:p</O:p
    ตายเมื่อไร ขึ้นชื่อว่าการเกิดมา มีร่างกายแบบนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก การเกิดมาในโลก ที่ทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ ไม่มีสำหรับเราอีก ตั้งใจว่า ตายแล้วเราขออยู่พระนิพพานแห่งเดียว เอาใจเกาะพระนิพพานให้มั่นคง ภาวนาให้อารมณ์ทรงตัว ก็ขึ้นชื่อว่าเราปฏิบัติในกายคตานุสติกรรมฐาน ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สอนเรามา
    <O:p</O:p
    ถ้าเรารู้แจ้งเห็นจริง สภาพจิตของเรายอมรับว่า ร่างกายนี้ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ขึ้นชื่อว่าการเกิด เราไม่พึงปรารถนา ขึ้นชื่อว่าร่างกายนี้ โลกนี้ เราไม่พึงปรารถนา เราก็จะได้อยู่ในพระนิพพานจริง ๆ
    <O:p</O:p
    ให้รักษาอารมณ์ใจอย่างนี้ไว้ ให้อยู่กับเราให้ได้ ทุกวัน ทุกเวลา เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา เราจะได้ก้าวพ้นความเกิด ไปอย่างที่เราต้องการ เราจะได้อยู่ในพระนิพพานอย่างที่เราต้องการ <O:p</O:p
    <O:p
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
    <O:p</O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  16. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๖. อุปสมานุสติ

    <O:p
    การปฏิบัติความดีของพวกเรา กำลังใจยังไม่ทรงตัวอย่างแท้จริง ทำไประยะหนึ่ง มันเหมือนกับตัน ไปไม่ถูก ไปไม่เป็น อันนั้นอาจจะเกิดจาก ความซ้ำซากจำเจในสถานที่ และเรื่องของการปฏิบัติของเราเอง ทำให้มันไม่ก้าวหน้า <O:p

    การที่เราปฏิบัตินั้น ตัวสมถะ คือ การภาวนาให้กำลังใจมันสงบลง กับตัววิปัสสนา คือ การพิจารณาเพื่อให้ปัญญามันเกิด ยอมรับสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ทั้งสองอย่างนี้ ต้องไปด้วยกัน มันถึงจะเจริญ มันถึงจะมีความก้าวหน้า <O:p

    สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มันเหมือนกับคนที่ถูกเชือกผูกขาติดกัน มันก้าวข้างใดข้างหนึ่งไปถึงจุดสุดแล้ว มันจะก้าวต่อไม่ได้ เพราะถ้าก้าวต่อแล้ว มันจะกระตุกกลับมาที่เดิม ต้องก้าวอีกข้างหนึ่งมันถึงจะไปได้ <O:p

    ดังนั้น การภาวนาของเรา ถ้ารู้สึกว่าอารมณ์ใจของเรามันไปถึงที่สุดแล้ว มันถึงที่ตัน ไปต่อไม่ได้ มันจะถอยหลังออกมา เมื่อมันถอยหลังออกมา ถ้าเราไม่หาเรื่องดีดีให้มันคิด มันก็จะคิดฟุ้งซ่านในรัก โลภ โกรธ หลง ไปตามความถนัด ไปตามความชำนาญของมัน<O:p

    การพิจารณาในเรื่องของวิปัสสนาญาณนั้น เราพิจารณาได้หลายแนว จะดูตามแนวของอริยสัจ คือ ดูสาเหตุของทุกข์ให้เจอ เลิกสร้างเหตุนั้นความทุกข์ก็ไม่เกิด <O:p

    หรือว่าดูในเรื่องของไตรลักษณ์ ลักษณะความเป็นจริงของทุกสิ่ง ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด มีแต่ความทุกข์ ถ้าไปยึดถือมั่นหมาย มันไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ <O:p

    และไม่มีอะไรทรงตัวได้ ทุกอย่างต้องเสื่อมสลายตายพังไปในที่สุดแม้กระทั่งตัวเรา หรือจะพิจารณาตามแบบของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง คือ<O:p></O:p>
    อุทยัพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นปกติของทุกสิ่งทุกอย่าง<O:p

    ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาว่าทุกอย่างต้องพัง ต้องดับ ต้องสลายไปหมด<O:p

    ภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาให้เห็นว่า มันเป็นทุกข์เป็นภัย เป็นของน่ากลัว เหล่านี้เป็นต้น จนไปจบลงที่ สังขารุเปกขาญาณ คือ การปล่อยวางเพราะรู้จริงเห็นจริงแล้ว<O:p

    เมื่อเราพิจารณาในลักษณะนี้ไป อารมณ์ใจมันก็จะค่อย ๆ ทรงตัว จนกลาย เป็นการภาวนาไปโดยอัตโนมัติ เราก็ภาวนาต่อไปเลย เมื่อภาวนาไปเรื่อย ๆ อารมณ์ใจมันขึ้นถึงที่สุด มันไปถึงจุดที่มันเคยตันอยู่ มันก็จะถอยหลังออกมา <O:p

    เราก็มาพิจารณาใหม่ สลับกันไปสลับกันมา เหมือนกับผลัดกันก้าวเท้าเดิน มันถึงจะก้าวหน้า กำลังของวิปัสสนาญาณนั้น ได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราพิจารณาไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นภาวนาเองโดยอัตโนมัติ <O:p

    เพราะอารมณ์จิตมันดิ่งมันลึกลงไปตามลำดับของการภาวนา มันจะเป็นของมันเอง แต่ว่าขั้นต้นของวิปัสสนาญาณนั้น ถ้าเราไม่มีพื้นฐานของการภาวนา อารมณ์ใจกว่าจะทรงตัวมันยากมาก<O:p

    ส่วนอารมณ์ของสมถภาวนานั้น ถ้าหากว่ามันทรงตัวแล้ว ไปถึงที่สุดของมันแล้ว เราพิจารณาไม่เป็น เมื่ออารมณ์ใจมันถอยหลังออกมา มันจะฟุ้งซ่านไปยังรัก โลภ โกรธ หลงของมันเอง <O:p

    ดังนั้น ทั้งสองอย่างจึงต้องไปด้วยกัน ผลัดกันก้าว ผลัดกันเดิน สมถกรรมฐานเป็นการเพาะกำลังให้แข็งแรง วิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับอาวุธที่คมกล้า เมื่อมีกำลังมีอาวุธแล้ว การจะตัดกิเลสก็เป็นเรื่องง่าย <O:p

    ในเมื่อเรารู้ว่า ทั้งสองอย่างต้องทำสลับกันไป แต่บางทีมันก็ยังไม่ไหว มันก็ยังรู้สึกว่าไปได้ไม่ดี ไม่คล่องตัว อาจจะเกิดจากอิริยาบถของเรา ที่มันซ้ำ ๆ อยู่กับที่ ไม่ใช่ว่านั่งก็นั่งมันอย่างเดียวไปตลอด <O:p

    ยืนก็ยืนมันอย่างเดียวไปตลอด เดินก็เดินมันอย่างเดียวไปตลอด นอนก็นอนมันอย่างเดียวไปตลอด มีน้อยคนที่ทำอยู่อิริยาบถอย่างเดียว แล้วอารมณ์ใจจะตั้งมั่น ให้เราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง <O:p

    เมื่อเราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถ มีสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามา สภาพจิตก็จะไม่เบื่อหน่าย มันก็จะเริ่มปฏิบัติในอิริยาบถใหม่ <O:p

    หรือว่าเริ่มปฏิบัติในสถานที่ใหม่ เพื่อที่จะให้กำลังใจ ทรงตัวเท่ากับที่เราเคยทำมา หรือว่าอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะว่ามันไม่ซ้ำซากจำเจแล้ว <O:p

    คราวนี้ การภาวนาในอิริยาบถอื่น จากที่เคยลองมาแล้ว อิริยาบถยืนก็คล้ายกับการนั่ง แต่เพียงแต่ว่าอารมณ์ใจของเรานั้น มันต้องทรงตัวจริง ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะรู้สึกว่าตัวโยก ๆ อยู่หน่อยหนึ่ง <O:p

    ถ้ายืนไปนาน ๆ ก็เหมือนกับสภาพของการนั่ง คือว่าขาแข็ง ถ้าอารมณ์ใจไม่ก้าวเข้าไปถึงความเป็นฌาน ยังไปเกาะอยู่กับร่างกาย เราก็จะรู้สึกเมื่อยจนทนไม่ไหวเช่นกัน
    อิริยาบถนอนนั้น ถ้าจิตมันหยาบ สติมันขาด มันจะตัดหลับไปเลย <O:p

    ส่วนอิริยาบถเดิน คือ การเดินแล้วภาวนาไปด้วย หรือว่าเดินแล้วพิจารณาไปด้วย ในลักษณะที่เรียกว่าจงกรมนั้น ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้ง่าย ถ้าทำได้ อารมณ์ใจก็ทรงตัวได้ง่าย<O:p

    การเดินจงกรมนั้น เริ่มตั้งแต่การกำหนดสถานที่ที่จะเดิน แนวทางจงกรม ถ้าหากว่าจะเอาให้เหมาะสม ก็คือแนวเหนือใต้เส้นหนึ่ง แนวตะวันออกเฉียงเหนือตะวันตกเฉียงใต้เส้นหนึ่ง แนวตะวันตกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้เส้นหนึ่ง

    ส่วนแนวตะวันออกตะวันตกเขาไม่นิยมกัน เพราะว่าถ้าหากอยู่ในที่โล่ง บางวาระบางเวลา แสงแดดจะส่องหน้าพอดี สร้างความรำคาญ ทำให้เดินจงกรมไม่สะดวก<O:p

    ระยะทางการเดินจงกรม ถ้าหากว่าพื้นที่มีเหลือเฟือ เราจะกำหนดใกล้ไกลแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าหากจะเอาให้พอเหมาะพอดี จากการที่เคยลองมา ระยะประมาณ ๒๕ – ๓๐ ก้าว เป็นระยะที่กำลังเหมาะ<O:p

    แต่ในสถานที่ที่จำกัด อย่างสมัยที่บวชใหม่ ๆ อยู่ที่วัดท่าซุง กุฏิมันเล็กมาก กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตรครึ่งเท่านั้น ก็ใช้วิธีเดินเป็นรูปเลข ๘ อารบิก เวลาเราเดินวนเป็นรูปเลข ๘ ระยะทางมันได้เพิ่มขึ้น <O:p

    หมายความว่า ระยะทางจะใกล้จะไกล จะยาวจะสั้นทำได้ทั้งนั้น แต่จากการที่เคยทำมา คือระยะที่เหมาะสม คือระยะประมาณ ๒๕ – ๓๐ ก้าว เมื่อเราเดินไปสุดทางแล้ว เราก็วนกลับ การเดินนั้นให้กำหนดใจ กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างหนึ่ง<O:p

    อันนี้จะเป็นอิริยาบถและสัมปชัญญะในมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ดูว่าตอนนี้ก้าวเท้าซ้าย ตอนนี้ก้าวเท้าขวา ตอนนี้แขนมันแกว่งไปข้างหน้า ตอนนี้แขนมันแกว่งไปข้างหลัง ไม่ต้องไปค่อย ๆ ยก ย่าง เหยียบ อย่างที่ส่วนใหญ่เขาสอนกัน อันนั้นมันเด็กหัดใหม่ <O:p

    อิริยาบถของเราให้เป็นไปตามปกติ ก้าวเดินไปตามปกติ เพียงแต่กำหนดสติรู้ตามไปด้วย ว่าตอนนี้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ตอนนี้เท้ามันวางลงแตะพื้น ตอนนี้ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ตอนนี้เท้ามันวางลงแตะพื้น เหล่านี้เป็นต้น <O:p

    ถ้าอารมณ์จิตมันค่อย ๆ ละเอียดขึ้น ทรงตัวมากขึ้น มันจะรู้ทั่วทั้งร่างกาย รู้แม้กระทั่งลมหายใจที่หายใจอยู่ รู้แม้กระทั่งว่ามีอากาศมากระทบร่างกายส่วนไหน แล้วทำให้ขนของร่างกายของเรา มีการเคลื่อนไหวอย่างไร มันจะรู้ละเอียดขนาดนั้น<O:p

    อีกวิธีหนึ่ง คือ เดินไปภาวนาไป ลักษณะนี้แรก ๆ จะมีปัญหา คือว่าถ้าเราจับลม ๓ ฐานเมื่อไร เราจะก้าวไม่ออก เพราะว่าลม ๓ ฐานคือ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก อันนี้เป็นกำลังของปฐมฌาน

    จิตที่เริ่มเข้าสู่ระดับของปฐมฌานนั้น มันเริ่มแยกออกจากประสาทของร่างกาย ทำให้บังคับร่างกายไม่ได้ บางคนพอรู้ลม ๓ ฐาน ขามันก้าวไม่ออก ติดอยู่แค่นั้น ให้ค่อย ๆ ทำ ผ่อนหนักผ่อนเบา ประคับประคองไปเรื่อย <O:p

    ก้าวเดินพร้อมกับรู้ลมหายใจให้ได้ ถ้าหากว่าท่านทำได้ มันก็จะเป็นสภาพของการทรงฌานใช้งาน คือ อิริยาบถต่าง ๆ ของเราทำไปตามปกติ ขณะเดียวกันก็ยังทรงฌานได้ตามปกติ<O:p

    อีกวิธีหนึ่งก็คือ เดินไปพร้อมกับกำหนดหัวข้อธรรม ข้อใดข้อหนึ่ง ที่เรายังไม่รู้จริง ยังไม่เห็นแจ้ง กำหนดขึ้นมา แล้วคิดพิจารณาไป ดูมันให้ละเอียด แยกแยะมันออกมา เช่น <O:p

    การพิจารณาว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ก็ดี ร่างกายนี้ยังไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราก็ดี มันมีแต่ความทุกข์ก็ดี หรือว่าพิจารณาตามแบบของปฏิจสมุปบาท คือดูว่าอวิชชา ความเขลาเป็นเหตุให้ไม่รู้จริงนั้น มันทำให้เราเกิดขึ้นอย่างไร<O:p

    การเดินจงกรมนั้นมีอานิสงส์มาก ถ้าเราเดินจนเคยชิน การเดินทางไกลจะเหนื่อยช้า เหนื่อยยาก ครูบาอาจารย์บางท่านเดินจงกรม เช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า จากการที่เคยทำมา มันเป็นการเดินทรงฌานไปในตัว <O:p

    แต่ว่าขณะเดียวกัน ถ้าเราจะพิจารณา ก็พิจารณาได้ ในขณะที่เราเดิน เช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า ขณะที่ทรงฌานเดินอยู่นั้น กำลังใจของเราจะไม่ฟุ้งซ่านไปยังอารมณ์อื่น กิเลสไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้<O:p

    อานิสงส์ข้อต่อไปก็คือว่า ทำให้ท้องไม่ผูก อาหารที่ฉันเข้าไปนั้นมันย่อยได้ดี เลือดลมจะคล่องตัว ท้องไม่ผูก ถ่ายได้สะดวก <O:p

    อานิสงส์ข้อต่อไปก็คือว่า เมื่อเลือดลมดี ไม่มีเศษอาหารตกค้างในร่างกาย การเจ็บไข้ได้ป่วยก็น้อยลง และข้อที่สำคัญที่สุดคือว่า สมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ที่เราทำได้ในขณะจงกรมนั้น จะทรงตัวและเสื่อมยาก

    ส่วนใหญ่เมื่อเรานั่งอยู่ อารมณ์ใจจะทรงตัว เมื่อเราเคลื่อนไหว มันมักจะเสื่อมไป หลุดไป ถอยไป แต่ถ้าเราชินกับการเคลื่อนไหว ในลักษณะเดินจงกรมแล้ว อารมณ์ที่ทรงตัวนั้น จะคลายตัวได้ยาก เพราะว่ามันชินกับอิริยาบถอื่นแล้ว

    สิ่งเหล่านี้คือ อานิสงส์ของการเดินจงกรม คือ อานิสงส์ของการเปลี่ยนอิริยาบถร่างกาย ในการปฏิบัติภาวนาของเรา ทำให้สิ่งที่มันไม่ก้าวหน้ามันก็ก้าวหน้า สิ่งที่เคยทำไม่ได้ มันก็ทำได้ง่ายขึ้น หรือว่าบางท่านอาจจะใช้วิธี เดินไปท่องหนังสือไป หรือเดินไปท่องแบบสวดมนต์ไป มันก็จะจำได้ง่ายด้วย<O:p

    สำหรับวันนี้จะพูดถึง อุปสมานุสติกรรมฐาน ถ้าว่ากันตามศัพท์ อุปสมานุสติ คือ การระลึกถึงความสงบระงับ อันนี้หมายถึงสงบจากกิเลสทั้งปวง อย่างที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านสรุปว่า เป็นการระลึกถึงพระนิพพานนั่นเอง<O:p

    การระลึกถึงพระนิพพานนั้น ถ้ากำลังใจของเรา ยังเข้าไม่ถึงโคตรภูของพระโสดาบัน เราจะไม่เข้าใจว่า กำลังใจที่เกาะพระนิพพาน ที่รักพระนิพพาน ที่เข้าถึงพระนิพพานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร เราก็ระลึกไม่ได้

    ให้ใช้วิธีง่าย ๆ คือ ภาวนาจับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า หายใจออก ใช้คำภาวนาที่หลวงพ่อท่านเคยใช้ว่า นิมิตจิตติ นิมิตจิตตา นิพพานะจิตติ นิพพานะจิตตา ก็ได้ หรือจะใช้ นิพพานะ สุขัง ก็ได้ แล้วแต่เราถนัด<O:p

    แต่ถ้าบุคคลที่อารมณ์ใจ เข้าถึงโคตรภูของพระโสดาบัน อารมณ์ท่านจะเข้าถึงกระแสพระนิพพานที่แท้จริง จะรู้ว่าความเยือกเย็น ความสงบระงับของกิเลสที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ท่านเหล่านี้จะเกาะอุปสมานุสติได้ง่าย เพราะว่าเข้าถึงจริงๆ แล้ว<O:p

    อีกประเภทหนึ่งคือ ท่านที่ได้มโนมยิทธิ คือมีฤทธิ์ทางใจ สามารถถอดจิตไปยังภพภูมิต่าง ๆ ได้ ถ้าอย่างนั้นจะสะดวกที่สุด สบายที่สุด คือ ส่งกำลังใจขึ้นไป กราบพระบนพระนิพพานเลย <O:p

    ถ้าหากว่าส่งกำลังใจขึ้นไปในลักษณะอย่างนั้น เป็นอุปสมานุสติกรรมฐานอย่างแท้จริง เพราะว่าจิตของเราอยู่บนพระนิพพานแล้ว สภาพรัก โลภ โกรธ หลง มันเกิดขึ้นไม่ได้ <O:p

    รัก โลภ โกรธ หลงเป็นสมบัติของร่างกาย ถ้าไม่มีจิตไปคอยปรุง คอยแต่งกับมัน มันก็ไม่สามารถทรงตัวได้ มันก็สลายตัวของมันไปเอง เมื่อรัก โลภ โกรธ หลง สลายตัวไป เราก็เข้าถึงอุปสมานุสติที่แท้จริง นี่คือมโนมยิทธิที่หลวงพ่อท่านต้องการ <O:p

    มโนมยิทธิที่แท้จริงนั้น เหมาะสำหรับคนฉลาด ถ้ามีความเขลาแทรกอยู่แม้แต่นิดเดียว ก็ไม่อาจหลุดพ้นได้ มโนมยิทธิที่แท้จริงก็คือ เรารู้จักพระนิพพาน เราไปพระนิพพานได้ เอาใจตั้งไว้ที่พระนิพพานได้ <O:p

    ถ้าเราเอาใจเกาะที่พระนิพพานไว้เป็นปกติทุกวัน ๆ กำลังใจทรงตัวเคยชินกับความปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ถ้าทำไปนาน ๆ อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลงมันจะสลายตัวไปของมันเอง<O:p

    มโนมยิทธิไม่ได้จำเป็นต้องรู้อดีต อดีตทุกชาติเราเกิดมา ไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรู้ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนี้ชีวิตเราเกิดอยู่ มีขันธ์ ๕ อยู่ก็ทุกข์ตลอด ไม่จำเป็นต้องรู้อนาคต เพราะว่าอนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก <O:p

    ไม่จำเป็นต้องระลึกชาติ เพราะว่าไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรู้ใจคนอื่น เพราะว่าแค่ระวังใจของเราให้พ้นจากกิเลส ก็ระวังไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคนและสัตว์ ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน <O:p

    ถ้าเรามั่นใจ ในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปดูมัน มโนมยิทธิที่สำคัญที่สุดคือเกาะพระนิพพานให้ได้ ใช้ในอุปสมานุสติกรรมฐานให้ได้ <O:p

    ส่วนใหญ่ที่เห็นใช้กัน คือไประลึกชาติ ไปย้อนอดีต ฉันเป็นอย่างนั้นกับเธอ ฉันเป็นอย่างนี้กับเธอ แล้วแทนที่จะตัด จะละ กลับไปยึดมัน ฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ แทนที่จะสลัดบ่วงของสังโยชน์ที่มันคล้องเราอยู่ ก็กลายเป็นคล้องติดมากขึ้น <O:p

    จะว่าไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะว่าถ้าเราใช้มโนมยิทธิจนคล่อง คือเราทรงฌานอยู่ตลอดเวลา ถ้าตายเราก็เกิดเป็นพรหมได้ แต่ว่าโอกาสที่จะหลุดพ้นมันช้าลง <O:p

    ถึงได้กล่าวว่า มโนมยิทธิเป็นเรื่องของคนฉลาดเท่านั้น คือ ใช้มโนมยิทธิไปในเรื่องของอุปสมานุสติกรรมฐาน ใช้กำลังของมโนมยิทธิเกาะพระนิพพานไว้ ใหม่ ๆ ก็เกาะไม่ทรงตัว เผลอนิดเดียวมันก็ลงมาแล้ว <O:p

    จากที่เคยทำอยู่แรก ๆ วินาทีสองวินาทีมันก็ลงมาแล้ว เพราะอารมณ์ของพระนิพพานเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก เมื่อเราเกาะไม่ได้ ทรงไม่อยู่ เราต้องหางานให้มันทำ เนื่องจากว่าเคยสวดมนต์ได้มาก ก็เลยกำหนดใจขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน <O:p

    ตั้งใจสวดมนต์ทุกบทที่เคยสวดได้ ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เมื่อจิตมีงานทำ มันรู้ว่างานยังไม่หมด มันก็จะอยู่กับงานนั้น จิตก็จะค่อย ๆ ชินกับอารมณ์พระนิพพาน เพราะรู้ว่าถ้างานยังไม่หมด มันก็จะไม่เคลื่อนลงมา <O:p

    พอมันอยู่บ่อยเข้า บ่อยเข้า เคยชินกับสภาพความละเอียด ของอารมณ์พระนิพพานมากเข้า มันก็เกาะได้นานขึ้น ถ้าทำบ่อย ๆ ทำให้เป็นปกติ ในที่สุดอารมณ์พระนิพพานก็จะทรงตัว <O:p

    ถ้าทำได้ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ โดยไม่เผลอทิ้งกำลังใจจากจุดนั้น กิเลสจะค่อย ๆ หมดไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาไปตัด ไม่ต้องเสียเวลาไปคิด ไปพิจารณา เพราะว่ารัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกาย <O:p

    เราส่งใจไปพระนิพพานเสียแล้ว ไม่มีใจอยู่กับร่างกายเสียแล้ว รัก โลภ โกรธ หลงก็เกิดไม่ได้ ในเมื่อมันเกิดไม่ได้ มันไม่มีใครเลี้ยงดูมัน คือไม่ได้ไปปรุงไปแต่ง ไปสร้าง ไปเสริมมัน มันก็จะค่อย ๆ สลายตัวหมดสภาพของมันไปเอง <O:p

    อุปสมานุสติกรรมฐานที่แท้จริง จึงควรที่จะทรงมโนมยิทธิได้ ถ้าหากว่าทรงมโนมยิทธิไม่ได้ ให้ตั้งใจจับในพุทธานุสติกรรมฐาน คือจับภาพพระองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เรารักเราชอบมากที่สุด <O:p

    จะเป็นรูปพระพุทธเจ้าในลักษณะของพระสงฆ์ก็ดี ในลักษณะของพระพุทธปางไหนก็ดีที่เราชอบ หรือในลักษณะของพระวิสุทธิเทพ ตั้งใจว่านั่นคือองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ตรงไหน นอกจากพระนิพพาน จำไว้ให้แม่น <O:p

    ถ้าเราเจอพระพุทธเจ้าที่อื่น นั่นเป็นฉัพพรรณรังสีของพระองค์ท่าน ที่ส่ง ไปปรากฏต่อหน้าเรา ลักษณะเหมือนท่านทุกประการ แต่ว่ากายที่แท้จริงของพระองค์ท่านนั้นอยู่พระนิพพาน ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าพระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน ๆ นอกจากพระนิพพาน<O:p

    เราเห็นที่อื่นคือฉัพพรรณรังสีเท่านั้น แต่ว่าจะใช้คำว่าเท่านั้นก็ไม่ได้ เพราะว่าโอกาสที่จะได้พบท่าน แม้ในลักษณะของฉัพพรรณรังสีนั้นยากเหลือเกิน ยากกว่าถูกรางวัลที่หนึ่งเยอะ มีโอกาสได้พบได้เห็น ถือเป็นบุญของตนอย่างยิ่ง <O:p

    ในเมื่อเราจับภาพพระ แล้วกำหนดว่า พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน นอกจากบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน กำหนดใจง่าย ๆ สบาย ๆ อย่างนี้ ก็จัดเป็นอุปสมานุสติกรรมฐานอีกแบบหนึ่ง<O:p

    เรื่องของมโนมยิทธินั้น ที่แท้จริงแล้วง่ายมาก คือคิดได้ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยชิน และไม่ได้ซักซ้อมให้เกิดความคล่องตัว เราก็ขาดความมั่นใจ มโนมยิทธิแค่คิดก็ถึงแล้ว ไม่ได้จำกัดด้วยระยะทาง ไม่ได้จำกัดด้วยสถานที่ ไม่ได้จำกัดด้วยเวลา<O:p

    เพียงแต่ว่าเราต้องมีความมั่นใจในตนเอง มีการซักซ้อมบ่อยๆ เมื่อทำมากเข้า ประสบการณ์มากขึ้น อารมณ์ใจทรงตัวดีขึ้น เราก็จะเกิดความมั่นใจขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ ทำได้เฉพาะต่อหน้าครูบาอาจารย์ ลับหลังแล้วไม่สามารถทำได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย<O:p

    จึงขอสรุปว่า อุปสมานุสติกรรมฐาน คือ การระลึกถึงความสงบระงับที่แท้จริง หมายถึงอารมณ์ของพระนิพพานนั้น ถ้าหากว่าไม่ใช่โคตรภูของพระโสดาบันขึ้นไป เราใช้คำภาวนา ก็เข้าถึงได้แค่เพียงผิวเผิน<O:p

    ถ้าหากว่าจะจับภาพพระ กำหนดว่าท่านอยู่บนพระนิพพาน ก็ยังไม่มั่นคงจริง ๆ ถ้าจะให้มั่นคงจริง ๆ ต้องทำในมโนมยิทธิให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขวนขวาย ต้องสร้างเสริมตัวเองให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ หมดสิ้นกิเลสอย่างแท้จริง<O:p

    สำหรับตอนนี้เวลาไม่เพียงพอ ขอให้ทุกคนวางกำลังใจ โดยการจับภาพพระให้ทรงตัวเอาไว้ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่กับภาพพระเสมอ กำหนดใจว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน <O:p

    ถ้าหากว่ามันตายลงไปเมื่อไร เราขอไปอยู่กับพระองค์ท่านที่นั่น ที่พระนิพพานแห่งเดียว กำหนดเอาไว้แบบนี้ให้ทรงตัวอยู่ตลอด ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถไหนก็ตาม ภาพพระหายไปเมื่อไหร่ โปรดทราบว่า เรามีโอกาสพลาดลงไปสู่อบายภูมิแล้ว <O:p

    ให้รีบกำหนดภาพขึ้นมาใหม่ในทันที ถ้าใครได้มโนมยิทธิ ให้ส่งใจไปกราบพระบนพระนิพพาน เพื่อที่จะได้เป็นอุปสมานุสติอย่างแท้จริง อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการ วันนี้ให้วางกำลังใจอยู่ตรงจุดนั้น ขณะเดียวกันก็ให้เตรียมตัวเพื่อทำวัตรสวดมนต์ของเราไปด้วย


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  17. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๗. รูปฌาน ๔<O:p</O:p

    <O:p</O:p
    เรื่องของอนุสติ คือ การตามระลึกถึงความดีในจุดใดจุดหนึ่ง สำหรับวันนี้จะสรุปลงที่อานาปานสติ อย่าลืมว่าอานาปานสตินั้นเป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทุกกอง
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเราปฏิบัติในอานาปานสติไม่ได้ กรรมฐานกองอื่น ๆ ก็ไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความทรงตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ลำพังตัวอานาปานุสติ คือการระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการกำหนดจิตตามลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้า หายใจออก มันกระทบตรงจุดไหนบ้าง
    <O:p</O:p
    โบราณาจารย์ท่านกำหนดเอาไว้หลายวิธี คือกำหนดเฉพาะปลายจมูกก็ได้ ท่านเปรียบเหมือนกับว่า เจ้าของฝูงวัวที่เลี้ยงวัว ตอนเช้า ๆ เปิดคอกให้วัวออก ก็จะไปดักอยู่หน้าประตู วัวออกมากี่ตัวจะได้นับทัน
    <O:p</O:p
    เอาเฉพาะปลายจมูกอย่างเดียว หายใจเข้า ผ่านปลายจมูกเข้าไป หายใจออกผ่านปลายจมูกออกมา หรือว่าจะเอาเป็น ๓ ฐาน หายใจเข้า ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้องผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
    <O:p</O:p
    หรือจะเอาเป็น ๗ ฐานตามแบบของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำท่านก็ได้ หรือว่าจะไม่กำหนดจุดสัมผัสเลย หายใจเข้า กำหนดรู้ตลอดกองลม หายใจออก กำหนดรู้ตลอดกองลมก็ได้
    <O:p</O:p
    การปฏิบัติในอานาปานสตินั้น เริ่มแรกต้องมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว เพราะว่าใหม่ๆ สภาพจิตของเรา มันเคยชินกับการกระโดดโลดเต้นไปสู่อารมณ์อื่น ๆ ทันทีทันใดที่มันปรารถนา ท่านกล่าวไว้ว่าเหมือนกับการผูกลิงไว้ ใหม่ ๆ ลิงมันยังไม่เคยชิน ถ้าหากว่าถูกจับมัดเอาไว้ มันก็จะดิ้นรนเป็นปกติ

    จิตของเราก็เช่นกัน ใหม่ ๆ มันยังไม่เคยชิน ในการโดนจับมัดอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันก็จะดิ้นรน แวบซ้าย แวบขวาไปเรื่อยๆ เผลอเมื่อไหร่ มันไปเมื่อนั้น
    <O:p</O:p
    เราก็ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ค่อย ๆ ประคับประคองมัน มันจะได้เพียงเล็กน้อยแค่ไหน ก็ถือว่าเป็นกำไรทั้งสิ้น <O:p</O:p
    วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้หายใจเข้า หายใจออก แล้วนับจำนวนไว้ อย่างเช่นว่าตั้งใจว่า เราจะนับจำนวนให้ครบสิบ ถ้าเราใช้คำภาวนาควบไปด้วย อย่างเช่น พุทโธ เป็นต้น
    <O:p</O:p
    ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ลำพังอานาปานสตินั้น ไม่มีคำภาวนา แต่ที่เรากำหนดคำภาวนาก็ดี กำหนดจุดสัมผัสของลมก็ดี เป็นการสร้างสติสัมปชัญญะ เป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับจิต เมื่อมีงานเพิ่มขึ้น มีจุดที่ต้องระมัดระวังตามรู้มากขึ้น สติจะได้ทรงตัวง่าย <O:p</O:p
    ถ้าเราควบกับพุทธานุสติ โดยภาวนาว่าพุทโธ หายใจเข้า พุท ผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก โธ จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
    <O:p</O:p
    อันนี้ถ้าจิตไม่ได้แวบไปไหน รู้ตลอดตั้งแต่พุทเข้า โธออก ให้นับหนึ่ง พอหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ให้นับสอง ถ้าจิตคิดเรื่องอื่นเมื่อไหร่ ให้ทิ้งจำนวนที่เราทำได้ กลับมานับหนึ่งใหม่
    <O:p</O:p
    หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นับหนึ่งใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสองใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสามใหม่ ถ้าจิตมันแวบไปสู่อารมณ์อื่น สู่เรื่องอื่นก่อนที่จะครบสิบ ให้ดึงกลับมาที่ลมหายใจ พร้อมกับนับหนึ่งใหม่ทันที
    <O:p</O:p
    แรกๆ ทำไป โอกาสจะนับได้สักหนึ่งถึงสามก็ยาก แต่พอใช้ความพยายาม ใช้สติสัมปชัญญะ ประคับประคองมันเอาไว้ โอกาสที่จะนับหนึ่งถึงสามได้ก็เริ่มง่ายขึ้น โอกาสที่จะนับหนึ่งถึงห้าก็เริ่มง่ายขึ้น แต่กว่าจะครบสิบ บางทีเกินชั่วโมง
    <O:p</O:p
    เพราะว่าจิตของเรา มันเคยชินกับการวิ่งไปสู่อารมณ์อื่นๆ ไปสู่ความฟุ้งซ่านตามปกติของมัน เมื่อเรามาบังคับมัน มันก็ต้องดิ้นต้องรน แต่ก็ลักษณะเดียวกับลิงนั่นเอง คือถ้าเรามัดมันแน่นจริง ๆ คอยเฝ้าดู คอยเฆี่ยนตีมัน พอมันเหนื่อยมากเข้า มันเจ็บตัวมากเข้ามันก็จะเข็ด เมื่อมันเข็ด มันก็จะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเฉพาะหน้า
    <O:p</O:p
    คราวนี้การหายใจเข้า การหายใจออกนั้น เราจะกำหนดจับลมกี่ฐานก็ได้ แล้วแต่เราถนัด จะจับฐานปลายจมูกก็ได้ กึ่งกลางอกก็ได้ ที่ท้องก็ได้ <O:p

    หรือจะจับเข้าทางช่องจมูกซ้าย ช่องจมูกขวา จับฐานที่เพลาตา ที่โคนลิ้น กึ่งกลางอก ที่ท้อง หรือที่ศูนย์เหนือสะดือ ตามแบบของทางสายธรรมกาย ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำก็ได้
    <O:p</O:p
    แต่ว่าจากที่เคยปฏิบัติมา ลมสามฐานเป็นส่วนที่จับง่าย ใช้สติพอดี ไม่ต้องระมัดระวังมากเหมือน ๗ ฐาน แล้วก็ไม่ได้จำเป็น ที่จะต้องให้สติลดน้อยถอยลงมา เหลือฐานเดียว เพราะจะทำให้พลาดได้ง่าย
    <O:p</O:p
    เมื่อจิตเริ่มอยู่เฉพาะหน้า ขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัติ ที่จะทรงให้เป็นอัปนาสมาธิ มันก็ประกอบไปด้วยองค์อย่างต่ำที่สุด ๕ อย่าง คือ วิตก คิดอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ ตอนนี้ภาวนาอยู่ ตามรู้ลมหายใจเข้าอยู่ ตามรู้ลมหายใจออกอยู่
    <O:p</O:p
    ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะแรง จะเบา จะยาว จะสั้น คำภาวนาว่าอย่างไรรู้อยู่ ลำดับต่อไปตัวปีติก็จะเกิดขึ้น ปีติก็มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ขณิกาปีติ ปีติเพียงเล็กน้อย ความบันเทิงใจเริ่มเกิดขึ้นเล็กน้อย ก็จะมีผลทำให้ร่างกายขนลุกเป็นพัก ๆ ไหวเป็นพัก ๆ
    <O:p</O:p
    ต่อไปก็เป็นขุททกาปีติ อาการนี้จะมีน้ำตาไหล อยู่ ๆ น้ำตาไหลออกมาเฉย ๆ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้โกรธใคร ไม่ได้เคืองใคร ไม่ได้ดีใจอะไรเลย มันไหลพราก ๆ ออกมาเอง
    <O:p</O:p
    หรือจะเป็นโอกกันติกาปีติ ตัวโยกไหว โยกไปโยกมา บางทีก็ดิ้นตึงตังโครมคราม เหมือนกับผีเข้าเจ้าสิง หรืออุเพ็งคาปีติ ลอยขึ้นทั้งตัว
    <O:p</O:p
    หรือผรณาปีติ รู้สึกตัวพองตัวใหญ่ หรือรู้สึกว่าเหลือแต่ใบหน้าใหญ่โตอยู่ หรือรู้สึกว่าตัวเองรั่วเป็นรู มีสรรพสิ่งต่างๆ ไหลออกจากร่างกายซู่ซ่าไปหมด หรือบางทีก็รู้สึกว่า ตัวมันระเบิด ละเอียดแหลกเป็นผงไปเลย หรือว่าเห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ วิ่งเข้ามา
    <O:p</O:p
    อันนั้นเป็นอาการของปีติ บางคนก็เจออาการเดียว บางคนก็เจอสองอย่าง สามอย่าง สี่อย่าง ห้าอย่าง โอกาสที่จะเจอครบน้อยมาก แต่ที่จะไม่เจอเลยก็หายากอีกเช่นกัน เมื่อจิตเริ่มเข้าถึงปีติ ตรงจุดนี้ต้องระมัดระวังให้ดี
    <O:p</O:p
    เพราะว่าพอเริ่มเข้าถึงปีติ มันมีความอิ่มเอิบใจบอกไม่ถูก มันจะไม่เบื่อไม่หน่าย รู้สึกอยากจะทำ อยากจะปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา อันนี้ให้ตั้งเวลาไว้ คือกำหนดเอาไว้ว่า เต็มที่เราจะภาวนาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง หรือว่าครึ่งชั่วโมง
    <O:p</O:p
    แล้วเราก็เปลี่ยนอิริยาบถไปทำการทำงานอื่น โดยการประคับประคองความ รู้สึกนั้นไว้ หรือว่าเปลี่ยนอิริยาบถ ไปยืน ไปเดิน ไปนอน เพื่อที่ประสาทร่างกายบางส่วนจะได้พักผ่อน
    <O:p</O:p
    ไม่อย่างนั้นถ้าเราไปเร่งมันมาก ไปเครียดกับมันมาก ประสาทร่างกายรับไม่ไหว ก็จะเกิดอาการสติแตก ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ อย่างที่เขาเรียกว่าบ้า อย่างที่เขาเรียกว่ากรรมฐานแตก เป็นต้น
    <O:p</O:p
    จริง ๆ แล้วเรื่องของกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติยิ่งปฏิบัติ สติยิ่งสมบูรณ์พร้อม แต่ที่มีอาการดังนั้น เพราะว่าทำเกิน ส่วนอีกประเภทหนึ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผลคือ ทำขาด กลายเป็นกามสุขัลลิกานุโยค คือ ย่อหย่อนเกินไปอย่างหนึ่ง
    <O:p</O:p
    กลายเป็นอัตกิลมถานุโยค คือ เครียดเกินไปอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างล้วนแล้วแต่ไม่ดีทั้งสิ้น ต้องมัชฌิมาปฏิปทา คือพอเหมาะพอดี พอสมกับตัว
    <O:p</O:p
    คราวนี้มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่มีมาตรฐานวัดเนื่องจากว่า มันขึ้นอยู่กับกำลังกาย กำลังใจเฉพาะของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน บางคนนั่งกรรมฐานชั่วโมงหนึ่ง สามชั่วโมง ห้าชั่วโมง สบายดีทุกประการ จิตรวมตัว ทรงตัวดีมาก
    <O:p</O:p
    บางคนแค่สามนาที ห้านาทีก็แย่แล้ว ดังนั้นว่า จุดพอดีของแต่ละคนอยู่ตรงไหน ต้องพยายามหัดสังเกต พยายามทำดู ถ้าเราตั้งเอาไว้ที่หนึ่งชั่วโมง รู้สึกว่าไปได้พักเดียวกำลังใจก็เริ่มแย่แล้ว
    <O:p</O:p
    เนื่องจากว่าพอเริ่มเกิดปีติ มารเขารู้ว่า เราจะพ้นมือเขาแล้ว ถ้าจิตเริ่มเป็นฌานเมื่อไหร่ ความรู้สึกสุขในฌานอย่างหนึ่ง การเห็นจริงในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าสอนอย่างหนึ่ง จะทำให้ตัวศรัทธาของเราแน่นแฟ้นไม่เปลี่ยนแปลง
    <O:p</O:p
    มารเขารู้ว่าเราจะพ้นมือเขาได้ เขาก็จะพยายามขัดขวาง ถ้าเราตั้งใจมากวันไหน มันจะฟุ้งซ่านมากในวันนั้น ยกเว้นว่าเรามีความคล่องตัว พอตั้งใจภาวนาก็ข้ามไปจนเป็นฌานเลย ถ้าอย่างนั้น พอจะหนีมันได้
    <O:p</O:p
    ไม่อย่างนั้น มารจะหลอกให้เราฟุ้งซ่าน อยู่กับความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นปกติ ถ้าจิตฟุ้งซ่านอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะทรงเป็นฌานเป็นอัปปนาสมาธิ ได้ ดังนั้นว่าแค่ปีติเท่านั้น เขาก็จะลวงให้เราผิด ให้เราพลาดได้แล้ว
    <O:p</O:p
    บางคนอิ่มอกอิ่มใจ ทำไม่รู้จักเบื่อไม่รู้จักหน่าย เกิดปัคคาหะ คือความเพียรอย่างยิ่งขึ้นมา ทำไม่รู้จักเลิก ข้ามวันข้ามคืน ไม่กินไม่นอนก็มี ในลักษณะนั้น โอกาสที่จะเสียคน โอกาสที่กรรมฐานจะพังมีเยอะ
    <O:p</O:p
    เพราะว่าจิตใจก็เหมือนกับร่างกาย เราโหมทำความดีมาก ๆ รุ่งขึ้นมันก็โทรม ทำอะไรไม่ได้ ถ้าหากว่ามันโทรม มันไปไม่ไหว ทำอะไรไม่ได้ แล้วเราฟุ้งซ่าน ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าสติแตก หรือกรรมฐานแตก
    <O:p</O:p
    แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราย่อหย่อนเกินไป ไม่พยายามบังคับมันให้ทำความดี มันก็จะทรงตัวได้ยากเช่นกัน อารมณ์ของเราในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน มันขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย ถ้าเหนื่อยมาก ๆ หิวมาก ๆ เจ็บไข้ได้ป่วย มันก็ไม่เอากับเราเช่นกัน
    <O:p</O:p
    แต่ขณะเดียวกัน บางวันมันก็ทรงตัวดีมาก ภาวนาปุ๊บอารมณ์ใจลงตัว มีความสงบเยือกเย็น อยู่ในสมาธิเลย อย่างนั้นก็มี ดังนั้น ให้เรากำหนดใจสบาย ๆ ว่า ถ้าหากว่าอารมณ์ใจมันทรงตัว มันภาวนาแล้วดี เราก็จะทำไม่เกินหนึ่งชั่วโมงแล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าอารมณ์ใจมันไม่ทรงตัว มันฟุ้งซ่าน เราก็จะไม่เอาเกินนี้ ให้ทุกคนเปรียบเทียบกับน้ำฝน ที่หยดลงไปในตุ่ม วันนี้ได้ ๕ หยด ๑๐ หยด พรุ่งนี้อาจจะได้ครึ่งตุ่ม แต่ว่ามันจะได้มากได้น้อยก็ตาม มันไม่ได้หายไปไหน มันยังคงรวมตัวอยู่เป็นปกติ
    <O:p</O:p
    พุท..โธ หายใจเข้า หายใจออก ตามรู้แค่คำเดียว อานิสงส์ก็มหาศาลกล่าวกันไม่หมดแล้ว ถ้าเรายิ่งทำได้ ห้าครั้ง สิบครั้ง ยี่สิบครั้ง ห้าสิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง ทำได้ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง อานิสงส์ก็ยิ่งมาก
    <O:p</O:p
    ดังนั้น มันจะได้มาก เราก็พอใจกับมัน มันจะได้น้อย เราก็พอใจกับมัน ไม่พยายามบังคับมัน ฝืนมัน จนมากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมปล่อยมันไหลตามสบาย ทำมันมากจนเกินปกติ ให้มันพอดีพอเหมาะพอควร
    <O:p</O:p
    ถ้าเราผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างนี้ได้ อารมณ์ใจก็จะทรงตัว จากปีติ มันก็จะกลายเป็นสุข มีความเยือกเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่ากิเลสใหญ่ คือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เผาผลาญเราอยู่นั้น มันโดนกำลังของสมาธิกดดับลง

    จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่เอกัคตารมณ์ คืออารมณ์ใจที่ทรงตัวเป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากว่าจิตของเราหยาบ จะรู้สึกว่า วิตก มันก็นึกอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ ตอนนี้มันภาวนาอยู่ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาว หรือสั้น คำภาวนาว่าอย่างไรก็รู้อยู่
    <O:p</O:p
    ปีติ มันเกิดอาการทั้ง ๕ อย่างขึ้นก็รู้อยู่ สุข เกิดความเยือกเย็นใจอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนก็รู้อยู่ เอกัคตารมณ์ ลมหายใจตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็มีอยู่ แต่ถ้าจิตละเอียด เราจะแยกออกได้ว่า มันเกิดขึ้นทีละขั้น ทีละขั้นตามลำดับไป
    <O:p</O:p
    เหมือนกับคนที่ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น รู้อยู่ทุกขั้น แต่ถ้าจิตหยาบ มันก็ก้าวขึ้นไปพรวดเดียว ๕ ขั้นเลย ทรงตัวอยู่สุดท้ายคือเอกัคตารมณ์ที่เดียว
    <O:p</O:p
    เมื่อจิตเข้ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว ลมหายใจจะละเอียด จะเบา จิตจะรู้รอบ สติ สัมปชัญญะจะสมบูรณ์ จะสามารถรักษาอารมณ์ฌานสมาบัติที่เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ก็ให้ตามดู ตามรู้ไปเรื่อย ๆ
    <O:p</O:p
    มันหายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ มันหายใจแรง หายใจเบา รู้อยู่ มันหายใจยาวหายใจสั้น รู้อยู่ มันมีคำภาวนา ให้รู้อยู่ ลักษณะนี้ พอตามดูตามรู้ไปเรื่อย สภาพจิตมันจะละเอียดขึ้น สติสมาธิจะจดจ่ออยู่เฉพาะหน้ามากขึ้น
    <O:p</O:p
    อาการที่เคยรับรู้ทางร่างกายต่างๆเริ่มห่างออกไป จิตกับประสาทเริ่มแยกออกจากกัน มันจะก้าวขึ้นสู่อาการของฌานที่ ๒ ลมหายใจเข้าออกจะเบาลง หรือถ้าหยาบหน่อยก็จับไม่ได้ หายไปเฉย ๆ คำภาวนาทั้งปวงก็หายไปเฉย ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าถึงตอนนี้ ให้กำหนดรู้เอาไว้อย่างเดียว รู้ว่าตอนนี้มันไม่หายใจ รู้ว่าตอนนี้มันไม่ภาวนา ถ้าเรากำหนดรู้อย่างนี้สบายๆ ไม่ไปตกใจว่า มันไม่หายใจแล้วเราจะตาย ไม่ไปไขว่คว้าลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้อยู่ตรงนี้ไม่นาน มันก็จะก้าวสู่ฌานที่ ๓

    ตอนนี้จะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย คือ มันจะรู้สึกเหมือนกับว่ากลาย เป็นหินไป แรก ๆ อาจจะเริ่มจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา จนกระทั่งแข็งไปทั้งตัวเหมือนกับถูกสาปกลายเป็นหิน หรือว่าถูกใครมัดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ไม่มีจุดใดว่างเลย มันจะแน่น เกร็ง ตรึง แข็งอยู่กับที่ แต่ว่าภายในมันจะสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูก อันนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓

    ถ้าเราไม่ตกใจ ตามดู ตามรู้ไปอีก มันก็จะก้าวเข้าสู่อาการของฌานที่ ๔ ตัดสภาพการรับรู้ภายนอกไปโดยสิ้นเชิง <O:p</O:pมันจะเป็นไปเองของมันโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปบังคับมัน ไม่ว่าระดับฌานไหน ๆ ก็ตาม ถ้าเราไม่มีความคล่องตัวในการเข้าออก เราบังคับไม่ได้ นอกจากตามรู้ไปเฉย ๆ เมื่อถึงอาการของฌานที่ ๔ ความรู้สึกทั้งหมดจะรวมตัวอยู่ที่จุดเดียวเฉพาะหน้า
    <O:p</O:p
    อาจจะอยู่ตรงหน้าของเรา อาจจะตรงปลายจมูก อาจจะอยู่กึ่งกลางอก อาจจะอยู่ที่จุดสูงของร่างกาย ความรู้สึกทั้งหมดอยู่ตรงจุดนั้น สว่างไสวมาก เยือกเย็นมาก อาการภายนอกต่าง ๆ มันไม่รับรู้เลย ถ้าอย่างนั้นเป็นอาการของฌาน ๔
    <O:p</O:p
    ตอนนั้น จิตจะจดจ่ออยู่เฉพาะภายใน ไม่รับรู้อาการภายนอก สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายตอนนั้น จิตมันจะไม่รับ ดังนั้น ต่อให้ใครตะโกนกรอกหูก็ดี ยิงปืนอยู่ข้างหูก็ดี ฟ้าผ่าลงมาก็ดี มันก็จะไม่ได้ยิน
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าถึงตรงระดับนี้ จิตก็จะทรงตัวมั่นคง เยือกเย็น หนักแน่นมาก ให้กำหนดใจว่า ไม่เกินครึ่งชั่วโมงหรือไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เราจะถอนกำลังใจออกมา เมื่อถึงวาระ ครบเวลา จิตมันมีสภาพรู้ มันจะถอนออกมาตรงเวลาอย่างที่เราต้องการ
    <O:p</O:p
    แต่ถ้าเราไม่กำหนดใจไว้ บางทีมันก็ข้ามไปหลาย ๆ ชั่วโมง ข้ามไปเป็นวัน เป็นหลาย ๆ วันก็มี แต่ความรู้สึกของเรา รู้สึกว่ามันเพิ่งจะนั่งเท่านั้น ดังนั้น ถ้าถึงตรงระดับนี้แล้วทุกครั้งให้กำหนดใจว่า เราจะทำเป็นเวลานานเท่าไหร่ อย่าให้นานจนเกินไป <O:p

    ถ้าจะให้ดีก็นอนไปเลย นอนภาวนา พออารมณ์ใจมันคล่องตัว เอนตัวลงปุ๊บ ใจมันดิ่งลึกปั๊บลงไปทันที ทันทีที่ศีรษะแตะถึงหมอน มันก็จะทรงตัวเต็มกำลังของมัน ตั้งใจว่าอีกหนึ่งชั่วโมงมันจะถอนออกมา ถึงเวลาถึงวาระ มันจะถอนออกมาเอง

    เมื่ออารมณ์ใจถึงระดับนี้ ทรงตัวได้ง่ายแล้ว ให้ซ้อมการเข้าออกฌานให้เป็นปกติ คือพยายามเข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือเข้าฌานที่ ๔ ถอยมา ๓ มา ๒ มา ๑ หรือว่าเข้าฌาน ๑ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ฌาน ๒ สลับกันไปสลับกันมาให้มีความคล่องตัว
    <O:p</O:p
    ถ้าเรายังทำไม่ได้คล่องตัว โอกาสที่จะผิด จะพลาด จะหลุดไปสู่อารมณ์ฟุ้งซ่านอื่น ก็ยังคงมีได้ง่าย ถ้าเราทำได้คล่องตัว นึกปุ๊บได้ปั๊บเมื่อไร ก็ชื่อว่าเราทรงอานาปานสติกรรมฐานได้อย่างแท้จริง
    <O:p</O:p
    เมื่อถึงวาระถึงเวลาตรงนี้ เราก็ใช้กำลังในการทรงฌานนั้น ด้วยการเข้าให้ถึงจุดเท่าที่เราทำได้ แล้วคลายกำลังใจออกมา พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายนี้ ความเป็นจริงของโลกนี้ ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างไร สภาพจิตที่แน่วแน่ นิ่ง ใสสะอาดนั้น จะทำให้เรารู้เห็นได้ชัดเจน พิจารณาตรงจุดไหน ก็รู้ได้ง่าย กระจ่างแจ้งได้ง่าย
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าตั้งใจจะตัด จะละ มันก็ตัดได้ง่าย ละได้ง่าย ด้วยกำลังของสมาธิระดับนั้น ๆ ถ้าหากว่า เราประคับประคองอารมณ์ใจมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ต้องแบ่งความรู้สึก คือสติ สมาธิส่วนหนึ่ง จับมันเอาไว้เสมอ ๆ ปล่อยไม่ได้ ทิ้งไม่ได้
    <O:p</O:p
    เพราะว่าถ้าเราเผลอเมื่อไร มารจะส่งอารมณ์ของนิวรณ์เข้ามาแทรก จิตของเราที่เคยชินกับการไหลลงต่ำ มันก็จะไหลลงต่ำไปทันที เราทำได้ถึงระดับไหน ให้พยายามประคับประคอง รักษาให้อารมณ์ใจอยู่ระดับนั้นตลอดเวลา
    <O:p</O:p
    ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำงานทำการใด ๆ จะอุจจาระ ปัสสาวะ ฉันอาหาร เราก็กำหนดรู้ไปด้วย เวลาออกบิณฑบาต ก็กำหนดรู้ไปด้วย
    <O:p</O:p
    ตั้งใจเอาไว้ว่า เราจะรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี้ ให้ตลอดเส้นทางของการบิณฑบาตของเรา แล้วพยายามประคับประคองมันเอาไว้ให้ได้ ถ้ามันแวบไปอารมณ์อื่น ก็ดึงให้มันกลับมา
    <O:p</O:p
    พยายามฝึกแบบนี้ ให้อารมณ์ใจทรงตัวอยู่ให้ได้ หรืออย่างสมัยก่อน ที่ผมเองทำใหม่ ๆ จะใช้วิธีนอน แล้วก็ลุกขึ้นนั่ง เวลาเรานอนลง หรือเอนตัวลง จิตสมาธิก็ดิ่งตามลงไปทันที เป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔
    <O:p</O:p
    ศีรษะแตะหมอนปั๊บ อารมณ์ใจก็ทรงตัวเต็มที่เท่าที่ทำได้ เสร็จแล้วก็คลายกำลัง ใจลุกนั่งขึ้นมา มันก็ถอยเป็น ๔ เป็น ๓ เป็น ๒ เป็น ๑ เป็นอุปจารสมาธิ เราต้องหาวิธีฝึกที่เราถนัด ที่เราชำนาญ
    <O:p</O:p
    ขณะเดียวกันควรจะแอบฝึก เพราะว่าถ้าเราลุก ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ คนที่เห็นอาจจะคิดว่าเราบ้าก็ได้ ซึ่งจะเกิดโทษแก่เขา เราพยายามฝึกแบบนี้ ทำแบบนี้ให้ทุกอิริยาบถ ขณะเคลื่อนไหวให้เราทรงฌานได้
    <O:p</O:p
    จะวิ่งก็ให้ทรงฌานขณะที่วิ่ง จะเดินก็ให้ทรงฌานขณะที่เดิน จะทำงานทำการหิ้วปูนก็ดี หรือว่ากวาดขยะ กวาดใบไม้อะไรก็ดี ก็ให้เราทรงฌานไว้ในขณะนั้น สภาพจิตของเราก็จะผ่องใส คล่องแคล่ว แหลมคม สามารถรู้เท่าทันว่ากิเลสจะเข้ามาหรือไม่
    <O:p</O:p
    เมื่อถึงวาระนั้นเวลานั้น ก็เหมือนกับเราใส่เกราะเอาไว้ เป็นเหมือนเกราะแก้วขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะคุ้มกายคุ้มใจของเรา ไม่ให้นิวรณ์เข้ามาแทรก ไม่ให้นิวรณ์เข้ามาทำลายเราได้ ไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลง เข้ามาทำลายเราได้
    <O:p</O:p
    พยายามซ้อมมันให้ชำนาญ เหมือนกับเราชักรอก จะดึงก้อนน้ำหนัก ให้มันสูงให้มันต่ำ จะผ่อนสั้น ผ่อนยาวขนาดไหน ก็ทำให้คล่อง ถึงเวลามีเรื่องอะไรที่ต้องรับรู้ ก็คลายกำลังใจลงมานิดหนึ่ง มาพูดกับเขา มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง
    <O:p</O:p
    จบงาน เสร็จงาน เสร็จเรื่องที่พูด เสร็จเรื่องที่ทำ รีบดึงกำลังใจกลับเข้าไปอยู่ในเกราะของเราใหม่ รีบกลับเข้าไปอยู่ในฌาน ในสมาธิของเราใหม่ ระมัดระวังไว้อย่าให้นิวรณ์มันกินใจเราได้
    <O:p</O:p
    ทำในลักษณะนี้ ให้ชินอยู่ตลอดเวลา สภาพจิตจะยิ่งผ่องใสขึ้นไปเรื่อย ๆ สติ สมาธิ ถ้ามันทรงตัว สภาพจิตผ่องใส มันก็จะไปเคี่ยวให้ศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์ ศีลยิ่งบริสุทธิ์ สมาธิก็ยิ่งทรงตัว สมาธิยิ่งทรงตัวปัญญาก็ยิ่งเกิด
    <O:p</O:p
    เมื่อปัญญาเกิดก็จะไปคุมศีลอีกทีหนึ่ง เป็นลักษณะเหมือนเราไขน็อต จนกระทั่งมันสั้นเข้า ๆ และถึงที่สุดของมัน อย่าลืม ไม่ว่าจะยืน จะนั่ง จะนอน ให้เราเห็นอยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา
    <O:p</O:p
    ไม่ว่าตัวเรา ตัวเขา ผู้หญิง ผู้ชาย คน สัตว์ สิ่งของทั้งปวง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร เกิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น
    <O:p</O:p
    ดังนั้น ให้ถอนความพอใจในการเกิดเสีย ตั้งใจว่า ถ้าตายเมื่อไหร่ เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้าหากว่าใครจับภาพพระเป็นพุทธานุสติไปด้วย ก็ให้กำหนดใจจดจ่ออยู่กับภาพพระนั้น ถ้าไม่ได้จับภาพพระ ก็ให้เอาใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์สูงสุดที่เราทำได้ <O:p</O:p
    แต่ละวัน แต่ละวัน ให้อยู่กับอานาปานสติลักษณะอย่างนี้ ก็ขึ้นชื่อว่าเราเป็นผู้ทรงอานาปานสติกรรมฐาน ได้อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการ ได้อย่างที่หลวงปู่ หลวงพ่อ เมตตาสอนเรามา
    <O:p</O:p
    กำลังใจของเรา เมื่อถึงวาระจะทำสิ่งใดก็ตาม ให้แบ่งส่วนหนึ่งประคับประคองอารมณ์นี้เอาไว้เสมอๆ จะคลายออกมาก็ให้มันมีสติอยู่ จะกลับเข้าไปก็ขอให้มันมีสติอยู่ ตามรู้อยู่อย่างนี้ จะมีความก้าวหน้าตามที่เราต้องการ สำหรับตอนนี้ก็ขอให้ทุกคนค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมา จะได้เตรียมตัวทำวัตรของเราต่อ
    <O:p</O:p
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p</O:p
    วันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗<O:p</O:p
    <O:p</O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  18. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๘. สรุปอนุสติ ๑๐ วรรณกสิณ ๔

    <O:p</O:p
    สำหรับตอนนี้ ในเรื่องของอนุสติ คือการตามระลึกถึงความดีทั้ง ๑๐ ประการ เราก็ได้ศึกษามาครบถ้วนแล้ว ในเรื่องของอนุสติ พื้นฐานใหญ่คืออานาปานสติ การนึกถึงลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    มันก็จะมีอยู่สองสามขั้นตอน ที่ถ้าหากว่าเราปฏิบัติแล้ว ไม่มีความเข้าใจ หรือว่าเกิดความกลัวขึ้นมา ก็จะก้าวพ้นไปไม่ได้ คือขั้นตอนที่เริ่มเป็น ปีติ ได้แก่ มีอาการน้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ขนลุก หรือว่าลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวแตก ตัวระเบิด อะไรพวกนั้น
    <O:p</O:p
    อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรานั้น ถ้าหากว่าเราไม่กลัว ปล่อยให้มันเป็นไปเต็มที่ ตามกำลังของมัน ถ้ามันขึ้นเต็มที่ มันจะผ่านไปเลย แล้วก็ไม่เป็นอีก เพราะ ว่าครั้งต่อไป จิตของเราพอตั้งใจปุ๊บ มันจะทรงเป็นฌานไป มันจะก้าวข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไป
    <O:p</O:p
    บางคนพอเริ่มสั่น ก็เริ่มกลัว บางคนลอยขึ้น ก็กลัว กลัวว่าลอยไปไกลๆ เดี๋ยวกลับไม่ได้ บางคนรู้สึกว่าตัวมันพอง ตัวมันใหญ่ ตัวมันรั่ว ตัวมันแตกระเบิด กลัวจะตาย บางคนน้ำตาไหล ตัวโยกไปโยกมา หรือว่าดิ้นเหมือนกับทรงเจ้าเข้าผี อายคนอื่นเขา
    <O:p</O:p
    ไปฝืนไม่ให้อาการเหล่านั้นมันเกิด ถ้าหากว่าเราฝืน อาการเหล่านั้นจะหายไป แต่ว่ามันจะก้าวข้ามจุดนั้นไม่ได้ เมื่อกำลังใจเริ่มทรงตัว ถึงจุดนั้นเมื่อไร อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกทันที
    <O:p</O:p
    ดังนั้น มีทางเดียวก็คือว่า ปล่อยให้มันเป็นไปเลยเต็มที่ของมัน ถ้ามันขึ้นเต็มที่เมื่อไร มันจะเลิกของมันเมื่อนั้น ให้สังเกตว่า ในขณะนั้นกำลังใจของเราทรงตัวนิ่งมาก
    <O:p</O:p
    อาการภายนอกมันจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ลอยขึ้นทั้งตัว หรือว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวแตก ตัวระเบิด อะไรก็ตาม จิตมันจะนิ่ง สงบระงับเป็นปกติ ถ้ารู้จักสังเกตตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปกลัวอะไรกับมัน
    <O:p</O:p
    ขั้นตอนที่พวกเราจะไปติดอยู่อีกขั้นหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่กำลังใจก้าวจากปฐมฌานละเอียด ขึ้นไปสู่ฌานที่ ๒ ตอนนั้นลมหายใจจะไม่มี คำภาวนาจะไม่มี ความจริงลมหายใจมันมีของมันปกติ เพียงแต่มันละเอียดมาก
    <O:p</O:p
    ถ้าเราไม่ได้เอาสติตามจดจ่อมันจริง ๆ จะจับมันไม่ติด ตอนนั้น ถ้าหากว่าเราไปตกใจว่า เอ๊ะ..เราไม่ได้หายใจ เอ๊ะ..คำภาวนามันไม่มีแล้ว แล้วไปรีบหายใจ ไปรีบภาวนา เท่ากับว่าเราถอยหลังกลับ มันจะไม่ก้าวหน้า
    <O:p</O:p
    อันนั้นให้กำหนดรู้ไว้เฉยๆว่า ตอนนี้มันไม่หายใจแล้ว ตอนนี้มันไม่ภาวนาแล้ว จิตมันนิ่ง มันใสอย่างไร ให้กำหนดใจรู้ไปเช่นนั้น มันจะก้าวขึ้นเป็นฌานที่ ๓ ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นหินไป บางคนก็จะมาตกใจขั้นนี้อีก อันนั้นเป็นเรื่องปกติ
    <O:p</O:p
    มันอยากจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป ถ้าหากว่าเราทำใจอย่างนี้ได้ กำลังใจจะทรงตัว แล้วเป็นสมาธิได้เลย จะก้าวขึ้นสู่ฌาน ๔ ได้ง่าย
    <O:p</O:p
    ในเรื่องของอนุสติอื่นคือ พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ สีลานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของศีล จาคานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของการเสียสละ การบริจาคให้ทาน
    <O:p</O:p
    เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของเทวดา ของพรหม ของพระบนนิพพาน กายคตานุสติ ระลึกถึงความเป็นจริงของสภาพร่างกาย มรณานุสติ ระลึกถึงความตายเพื่อจะได้ไม่ประมาท อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบ ระงับ คือพระนิพพาน
    <O:p</O:p
    อนุสติทั้งหลายเหล่านี้ ผูกพันอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก อนุสติต่าง ๆ อีก ๙ กองจะทรงตัวได้ยาก หรือไม่ทรงตัวเอาเลย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะปฏิบัติในอนุสติข้อไหนก็ตาม เราต้องมีอานาปานสติควบคุมอยู่เสมอ
    <O:p</O:p
    ในอนุสติ ๑๐ นั้น คนที่เป็นพุทธิจริต คือมีความฉลาด จะสามารถปฏิบัติในมรณานุสติ กายคตานุสติ อุปสมานุสติได้ง่าย เพราะว่ามีความฉลาด มีปัญญามาก
    <O:p</O:p
    ในเรื่องของ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีศรัทธาจริต มีจิตน้อมเชื่อง่ายเป็นปกติ ถ้าปฏิบัติในอนุสติเหล่านี้ ก็จะมีกำลังจิตทรงตัวได้ง่าย
    <O:p</O:p
    สำหรับกายคตานุสติเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นราคะจริต ส่วนผู้ที่เป็นโมหะจริตกับ วิตกจริต ให้ใช้อานาปานสติอย่างเดียว ใช้อนุสติอื่นๆ ไม่ได้ ผู้ที่เป็นโทสะจริต เราจะใช้อนุสติ๑๐ นั้น กำลังใจมันเข้ากันไม่ได้
    <O:p</O:p
    ดังนั้นโทสะจริตอย่างเดียว ที่จะต้องแตกแขนงออกไป ใช้กรรมฐานกองอื่นๆ ที่ไม่ใช่อนุสติ ๑๐ ประการนี้ คือใช้วรรณกสิณ ๔ และพรหมวิหาร ๔ แทน
    <O:p</O:p
    สำหรับอนุสติ การตามระลึกถึงความดีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ในแต่ละวัน ให้เรามีอนุสติข้อใดข้อหนึ่ง ทรงอยู่ในใจเสมอ ไม่ว่าจะระลึกถึงความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงความดีของศีล ระลึกถึงความดีของการบริจาค ให้ทาน ระลึกถึงความดีของเทวดา พรหม ระลึกถึงความตาย จะได้ไม่ประมาท ระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกาย ระลึกถึงความสงบระงับในพระนิพพาน หรือระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    แต่ละวัน แต่ละเวลา ให้อนุสติ ๑๐ อย่างนี้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ในใจของเราก็ได้ หรือว่าจะเอาเฉพาะอนุสติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้ถึง ๑๐ ก็ก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยเจ้าระดับต้นได้แล้ว
    <O:p</O:p
    อย่างเช่น กติกาความเป็นพระโสดาบันคือ เราต้องเคารพพระพุทธเจ้าจริง ๆ เคารพระธรรมจริง ๆ เคารพพระสงฆ์จริง ๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง อันนี้ก็คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสตินั่นเอง
    <O:p</O:p
    จะต้องเป็นผู้มีศีลทุกสิกขาบท บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลด้วยตัวเอง ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วงศีล และไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเขาล่วงศีล อันนี้เป็นสีลานุสติ
    <O:p</O:p
    ลำดับสุดท้ายก็คือว่า ระลึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ถ้าเราตายเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว อันนี้เป็นมรณานุสติและอุปสมานุสติ
    <O:p</O:p
    จะเห็นได้ว่าเราใช้อนุสติ ๖ ประการ สำหรับความเป็นพระโสดาบัน เน้นหนักตรงสีลานุสติ คือให้ตั้งใจว่า เรารักษาศีล เพราะเราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะเราต้องการจะไปพระนิพพาน
    <O:p</O:p
    สำหรับพระสกทาคามี ก็ยังเป็นอนุสติทั้ง ๑๐ ประการ คือ ๖ ประการใหญ่นี้เช่นกัน แต่ว่าพระสกทาคามีนั้น กำลังสมาธิท่านสูงกว่า ปัญญาท่านมากกว่า
    <O:p</O:p
    ดังนั้น เรื่องของราคะ ความรักระหว่างเพศ โลภะ ความโลภอยากได้ใคร่มีในสิ่งต่าง ๆ โทสะอารมณ์ความโกรธ จะสงบระงับได้มากกว่า เพราะว่ามีปัญญามากขึ้น
    <O:p</O:p
    เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นตัวขัด เป็นตัวขวาง เป็นตัวไม่นำไปสู่พระนิพพาน ก็พยายามลด พยายามละมัน ในเมื่อท่านมีอานาปานสติ คือตัวฌานสมาบัติที่มีกำลังสูงกว่า ก็เลยสามารถทำให้ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางกว่าได้ <O:p

    แต่ก็ยังจัดอยู่ในอนุสตินั่นเอง คือเป็นฌานในอานาปานสติ ถ้าเป็นพระสกทาคามี ก็แปลว่ากำลังของฌานจะต้องสูงกว่าพระโสดาบัน
    <O:p</O:p
    แต่ในอนุสติทั้ง ๖ คือการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ดี การระลึกทบทวน ระมัดระวังในสิกขาบทต่างๆ ของศีลในสภาพของตนก็ดี การระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปนิพพานก็ดี จะละเอียดกว่า ทรงตัวกว่าพระโสดาบัน
    <O:p</O:p
    ส่วนพระอนาคามีนั้น ทุกท่านจะต้องมีฌาน ๔ ทรงตัวเป็นปกติ ต้องมีความคล่องตัวในฌาน ๔ มาก ไม่อย่างนั้นแล้วจะระงับ ราคะ โลภะ โทสะ ไม่ทัน เนื่องเพราะพระอนาคามีนั้น ราคะ โลภะ โทสะดับลงโดยสิ้นเชิง
    <O:p</O:p
    เพราะว่าสติของท่านสมบูรณ์ รู้เท่าทัน เห็นว่าสาเหตุของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากอะไร แล้วก็หยุดการทำเหตุนั้นได้ทัน<O:p</O:p
    เนื่องเพราะว่าต้องมีกำลังของสมาธิในอานาปานสติกรรมฐาน จึงจะเห็นได้ว่าแม้พระอนาคามีก็ตาม ก็ยังคงสามารถใช้อนุสติ เพื่อที่จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าระดับนี้เช่นกัน
    <O:p</O:p
    ส่วนพระอรหันต์นั้น เป็นผู้สงบระงับในทุกรูปแบบ เป็นผู้ไม่เป็นทุกข์โทษเวรภัยให้กับคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ไม่มีทางที่กิเลสส่วนอื่น ๆ จะเกิดขึ้นในใจของท่านได้
    <O:p</O:p
    เพราะว่าปัญญาของท่านแจ่มใส สติของท่านสมบูรณ์ ไม่ไปสร้างเหตุของการรัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา รัก โลภ โกรธ หลง ก็กินใจของท่านไม่ได้ อันนี้ก็เกิดจากกำลังของอานาปานุสติ ในระดับของฌาน ๔ เป็นอย่างน้อย
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าได้สมาบัติอื่นๆ ขึ้นไปจนถึงสมาบัติ ๘ ก็ยิ่งดี หมายความว่า ในอนุสติทั้ง ๑๐ นั้น ถ้าหากว่าใช้อานาปานุสติเป็นหลัก ใช้พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ มรณานุสติ และอุปสมานุสติเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    เราสามารถเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ขั้นต้น คือพระโสดาบันและพระสกทาคามี ขั้นกลางคือพระอนาคามี และขั้นสูงสุดคือพระอรหันต์ได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้ให้เป็น ต้องรักษาอารมณ์ ให้ทรงตัว ต้องมีปัญญาควบกับสติ สัมปชัญญะด้วย
    <O:p</O:p
    พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงสภาพของร่างกายของเรา สภาพร่างกายของผู้อื่น จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคน เป็นสัตว์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีสภาพความเป็นจริง ในลักษณะของความไม่สวยไม่งาม ความสกปรกโสโครก
    <O:p</O:p
    ความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดเช่นกัน ไม่มีอะไรทรงตัวให้ยึดถือมั่นหมายได้ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ก็มีแต่ความทุกข์เป็นปกติ ตราบใดที่ยังเกิดอีกก็ยังทุกข์อีก
    <O:p</O:p
    เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะปล่อยวางร่างกายนี้ ปล่อยวางโลกนี้ หรือว่ายังไปยึดไปถือมันอยู่ จะต้องคอยระมัดระวังกิเลสตามสังโยชน์ ที่จะเกาะกินใจของเรา โดยเฉพาะอวิชชาสังโยชน์ ซึ่งเราระมัดระวังแค่ไหน ก็พยายามจะสอดจะแทรกเข้ามาเสมอ

    เราเห็นสิ่งใด เกิดความชอบใจขึ้นมา ได้ยินสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา ได้กลิ่นสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา ได้รสสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา สัมผัสสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา อารมณ์ใจใดๆ เกิดขึ้นในใจเกิดความชอบใจขึ้นมา
    <O:p</O:p
    อันนี้จัดเป็นฉันทะ คือยินดีกับมัน มันก็จะสร้างราคะ คือความอยากมีอยากได้ขึ้นมาในใจ ดังนั้น เราจะต้องผูกใจของเราอยู่กับคำภาวนา ผูกใจของเราอยู่กับลมหายใจเข้า ออกให้เป็นปกติ
    <O:p</O:p
    เพื่อที่สติสัมปชัญญะจะได้ทรงตัว ไม่เผลอไปยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เราต้องระมัดระวังอยู่ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ทั้งหลับและตื่น จะต้องพยายามมีสติรู้รอบ หลับอยู่ก็ต้องรู้ ตื่นอยู่ยิ่งจำเป็นต้องรู้
    <O:p</O:p
    ถ้าขาดสติลงช่วงใดช่วงหนึ่ง กำลังของกิเลสจะสามารถสอดแทรกเข้ามา ทำให้จิตใจของเราเริ่มว้าวุ่น ขุ่นมัว แล้วเราก็จะพลาดจากเป้าหมายออกไป
    <O:p</O:p
    ดังนั้น อนุสติทั้ง ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่ง ในแต่ละวันเราจำเป็นจะต้องให้มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา เพื่อที่กำลังของกิเลสจะได้แทรกเข้ามาไม่ได้
    <O:p</O:p
    สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของกสิณต่อไป การศึกษากรรมฐานนั้น ถ้าหากว่าเราศึกษาขั้นต้น คือให้รู้อยู่ว่า กรรมฐานแต่ละกองมีการปฏิบัติอย่างไร มีคุณประโยชน์อย่างไร แล้วเราชอบใจกองใดกองหนึ่ง ก็นำกองนั้นไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างแท้จริง
    <O:p</O:p
    สำหรับกสิณทั้ง ๑๐ นั้นเป็นกรรมฐานหยาบ เพราะว่ามีนิมิต ให้จับได้ต้องได้ กสิณนั้นจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า วรรณกสิณ คือ กสิณเกี่ยวกับสีสันต่างๆ ประกอบไปด้วย กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว
    <O:p</O:p
    อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับธาตุกสิณ คือธาตุ ๔ มี กสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ
    <O:p</O:p
    อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของกสิณแสงสว่าง และกสิณอากาศ สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงวรรณกสิณทั้ง ๔ ก่อน เพราะว่าเหมาะสำหรับท่านที่เป็นโทสะจริต ซึ่งเมื่อครู่กล่าวแล้วว่าจะต้องมีข้อปฏิบัติที่ต่างจากอนุสติทั้ง ๑๐ ประการ วรรณกสิณทั้ง ๔ คือ
    <O:p</O:p
    กสิณสีแดง ภาษาบาลีเรียกว่า โลหิตกสิณ
    <O:p</O:p
    กสิณสีเหลือง ภาษาบาลีเรียกว่า ปีตกกสิณ
    <O:p</O:p
    กสิณสีเขียว ภาษาบาลีเรียกว่า นีลกสิณ
    <O:p</O:p
    กสิณสีขาว ภาษาบาลีเรียกว่า โอทาตกสิณ
    <O:p</O:p
    กสิณทั้ง ๔ กองนี้ เหมาะสำหรับท่านที่เป็นโทสะจริต ผู้ใดเจริญกสิณทั้ง ๔ กองนี้ กำลังโทสะจะเบาบางลง ถ้าทำจนได้เต็มที่ จะสามารถตัดอารมณ์ของโทสะได้ แล้วกสิณทั้ง ๔ กองนี้ยังมีอานุภาพพิเศษต่าง ๆ กันไป
    <O:p</O:p
    อย่างโอทาตกสิณ(กสิณสีขาว) เป็นหนึ่งในกสิณทั้ง ๓ กอง ที่จะสร้างทิพจักขุญาณให้เกิดขึ้นแก่เราได้
    <O:p</O:p
    นีลกสิณ(กสิณสีเขียว) ทำให้สถานที่ที่สว่างอยู่มืดมิดไปได้ สามารถกำบังตนของเราไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นได้
    <O:p</O:p
    ปีตกสิณ(กสิณสีเหลือง) สามารถเปลี่ยนสีอื่น ๆ ให้กลายเป็นสีเหลืองได้ ให้กลายเป็นสีทองได้ สามารถที่จะทำให้วัตถุต่าง ๆ กลายเป็นทองคำได้
    <O:p</O:p
    โลหิตกสิณ(กสิณสีแดง) สามารถเปลี่ยนวัตถุต่างๆให้กลายเป็นสีแดงได้
    <O:p</O:p
    เหล่านี้เป็นอานุภาพพิเศษ สำหรับการฝึกกสิณนั้น จำเป็นจะต้องมีดวงกสิณ คือสิ่งที่เราอาศัยเพ่งก่อน สมัยโบราณนั้น กสิณสีแดง ท่านให้ดูดอกไม้สีแดง หรือว่าผ้าสีแดงเป็นหลัก กสิณสีเขียว ท่านให้ดูใบไม้เป็นหลัก
    <O:p</O:p
    กสิณสีเหลืองท่านให้กำหนดดูดวงอาทิตย์ การกำหนดดูดวงอาทิตย์นั้น อย่าดูดวงอาทิตย์ตอนที่ส่องแสงสว่างมาก เพราะว่าจะทำให้สายตาเสีย กสิณสีขาว ท่านให้ดูผ้าขาว หรือว่าดูดวงจันทร์เป็นหลัก
    <O:p</O:p
    สำหรับเราในสมัยนี้ วัตถุต่างๆ หาง่าย การสร้างดวงกสิณทำได้ง่าย สมัยก่อน ตัวผมเองใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ มาพ่นสีลงไป พ่นเป็นสีแดง พ่นเป็นสีเหลือง พ่นเป็นสีเขียว พ่นเป็นสีขาว
    <O:p</O:p
    แล้วใช้จานครอบลง ตัดออกมาเป็นวงกลม ติดใส่ข้างฝาไว้ แล้วก็จับเป็นนิมิตภาวนา ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปใช้สองคืบสี่นิ้วอย่างตำราเขาว่า เอาขนาดที่เรารู้สึกว่าพอเหมาะพอดี สามารถจับภาพนั้นได้สะดวก
    <O:p</O:p
    เมื่อเราใช้สีใดสีหนึ่งขึ้นมาก่อน ถึงเวลาแล้วกำหนดใจ ตั้งใจสบาย ๆ ลืมตามองภาพนั้นแล้วหลับตาลงนึกถึง จะเห็นภาพนั้นได้ชั่วคราว พอภาพมันเลือนหายไป ให้ลืมตามองใหม่ หลับตาลงนึกถึงอีกพร้อมกับคำภาวนา อย่างเช่นว่า
    <O:p</O:p
    สีแดง ใช้คำภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    สีเหลือง ใช้คำภาวนาว่า ปีตกกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    สีเขียว ใช้คำภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    สีขาว ใช้คำภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
    <O:p</O:p
    หรือจะคิดเป็นภาษาไทยอยู่ในใจว่า สีแดง ๆ สีเหลือง ๆ สีเขียว ๆ สีขาว ๆ ก็ได้ พร้อมกับจับลมหายใจเข้าออก ให้เป็นปกติ ลืมตามองภาพ หลับตานึกถึง ภาพหายไปลืมตามองใหม่ หลับตานึกถึงพร้อมคำภาวนา
    <O:p</O:p
    ทำดังนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ภาพก็จะเริ่มค่อย ๆ ปรากฏติดตาขึ้นมา เรียกว่าอุคหนิมิต ลืมตาอยู่ก็เห็น หลับตาลงก็เห็น เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ท่านทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องเพิ่มสติให้มากกว่าเดิม เพราะว่าถ้าเผลอเมื่อไรภาพจะหายไป
    <O:p</O:p
    จำเป็นต้องเอาใจจดจ่ออยู่กับภาพนั้น จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง จะทำงานทำการใด ๆ ก็ตาม ต้องแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง จับภาพของกสิณไว้เสมอ ถ้าเราทำดังนี้ได้เป็นปกติ ภาพกสิณนั้น สีสันก็จะค่อย ๆ จางลงไปเรื่อย ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าเป็นสีแดง สีเขียว จะจางลงอย่างเห็นได้ชัด จะค่อยๆ เป็นสีเหลือง เป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว เป็นสีขาวทึบขึ้น แต่ถ้าหากว่าเป็นปีตกกสิณ เป็นสีเหลืองอยู่แล้ว ก็จะเป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว
    <O:p</O:p
    ถ้าโอทาตกสิณเป็นสีขาวอยู่แล้ว ก็จะค่อย ๆ เป็นสีขาว เป็นแผ่นทึบขึ้น เราจับไปเรื่อยๆ ตามปกติของเรา พร้อมกับคำภาวนา จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง จะเดิน จะนอน ให้ความรู้สึกอยู่กับภาพกสิณอย่างนี้ไปเรื่อย
    <O:p</O:p
    ภาพนั้นจะค่อย ๆ ใสขึ้น สะอาดขึ้น คือจากที่เป็นขาวทึบก็จะค่อย ๆ จางลง ๆ จนกลายเป็นใส ใสขึ้น ใสขึ้น สว่างขึ้น ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็ใสกระจ่างเจิดจ้าไปหมด อันนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต
    <O:p</O:p
    เมื่อเป็นปฏิภาคนิมิต ความสว่างนั้น จะสว่างเหมือนกับเอากระจกสะท้อนแสงอาทิตย์ใส่ดวงตาของเรา เราก็เริ่มอธิษฐาน ขอให้ภาพนี้เล็กลง ให้ภาพนี้ใหญ่ขึ้น ให้ภาพนี้หายไป ให้ภาพนี้ปรากฏขึ้นให้อยู่บนศีรษะ ให้อยู่ในอก ให้อยู่ข้างซ้าย ให้อยู่ข้างขวา<O:p</O:p
    ให้อยู่ข้างหน้า ให้อยู่ข้างหลัง ให้มาได้ ให้หายได้ ทำอย่างนี้ให้คล่องตัว นึกเมื่อไร ให้ทำได้เมื่อนั้น ถ้าเป็นดังนี้ แปลว่ากำลังของกสิณนี้ เราทำได้ทรงตัวแล้ว เมื่อทำได้ทรงตัวก็ลองอธิษฐานใช้ผลดู
    <O:p</O:p
    คือว่าถ้าเป็นโอทาตกสิณ ก็ให้อธิษฐานว่าขอให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพนรกจงปรากฏขึ้นมา ขอให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพสวรรค์จงปรากฏขึ้นมา ให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพของพรหมจงปรากฏขึ้นมา
    <O:p</O:p
    ให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพของพระนิพพานจงปรากฏขึ้นมา ภาพของนรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี นิพพานก็ดี หรือสถานที่ใดๆ ก็ตาม จะปรากฏขึ้นมาแทนดวงกสิณ ก็ให้พยายามทำให้คล่อง ดูให้ชัดเจน รักษาอารมณ์ใจให้แจ่มใส
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเป็นนีลกสิณก็ให้กำหนดว่า ให้ความมืดจงปรากฏขึ้น แต่ว่าให้จำกัดเขตเอาไว้ ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในห้องก็อธิษฐานแค่ให้ในห้องนี้มืดลง หรืออธิษฐานให้กายของเราหายไปด้วยอำนาจของกสิณ
    <O:p</O:p
    หรือว่าถ้าเป็นปีตกกสิณ ก็ลองเปลี่ยนวัตถุอื่น ๆ ให้เป็นทองดู หรือว่าเป็นสีแดง ก็ลองทดลองเปลี่ยนวัตถุอื่น ๆ ให้เป็นสีแดงดู ถ้าสามารถทำได้คล่องตัว กสิณเหล่านี้ก็เท่ากับว่าเป็นของเราแล้ว
    <O:p</O:p
    คราวนี้ ถ้าทำแค่นี้จิตก็จะได้แค่ฌาน ๔ จะเป็นแค่โลกียอภิญญาเท่านั้น ก็ให้รู้จักพิจารณาด้วยว่า จริง ๆ แล้วภาพกสิณนี้มันก็ไม่เที่ยง แรก ๆ มันเป็นภาพอยู่ข้างนอก พอหลับตานึกถึงภาพก็ปรากฏขึ้นข้างใน
    <O:p</O:p
    จากสีเข้ม ก็เป็นสีจางลง จากสีจางลง ก็เป็นสีใส จากสีใสก็กลายเป็นแก้วทั้งดวง มันไม่เที่ยงเป็นปกติอย่างนี้ ตอนที่เราจับมันไม่ได้ เกาะมันไม่ติด เราก็กลุ้ม ก็ทุกข์ใจเป็นปกติ
    <O:p</O:p
    แล้วในที่สุดมันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นดวงกสิณที่เราสร้างขึ้นก็ดี กสิณภายในก็ดี กระทั่งตัวเราก็ดี เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายได้
    <O:p</O:p
    ถ้าเกิดอีกเมื่อไร ก็ต้องพบกับความไม่เที่ยงเช่นนี้ เกิดอีกเมื่อไร ก็ต้องพบกับความทุกข์เช่นนี้ ถ้าเราเกิดอีก ก็ทุกข์อีก แล้วเราจะโง่มาเกิดทำไม ? เราควรจะไปนิพพานดีกว่า
    <O:p</O:p
    ก็เอากำลังของกสิณนี้ เกาะพระนิพพานแทน เราจะสามารถเห็นพระนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใส สามารถเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชัดเจนแจ่มใส วางอารมณ์ใจว่า ถ้าตายเมื่อไร เราขออยู่ที่นี่แห่งเดียว
    <O:p</O:p
    แล้วจับในอุปสมานุสติหรือพุทธานุสตินั้นแทน ถ้าทำดังนี้ได้ กำลังของสมาธิที่ทรงตัว จะทำให้กิเลสค่อย ๆ ลดน้อยลง แล้วในที่สุดก็สลายตัวไป เราก็จะเข้าสู่พระนิพพานได้ตามที่เราต้องการ
    <O:p</O:p
    สำหรับวรรณกสิณทั้ง ๔ นี้ ถ้ากำลังใจทรงตัวถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อไร มันจะตัดตัวโทสะได้โดยอัตโนมัติของมันเอง สำหรับวันนี้เวลาไม่พอแล้ว การศึกษาเรื่องของกสิณ ให้เราไปปฏิบัติเอาตามใจชอบของตน ตอนนี้ก็ให้รักษากำลังใจส่วนหนึ่ง เกาะภาพพระให้เป็นปกติ แล้วเตรียมตัวทำวัตรเช้าของเราต่อไป
    <O:p</O:p
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p</O:p
    วันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗
    <O:p</O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  19. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๑๙. ธาตุกสิณ ๔ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ<O:p</O:p

    <O:p</O:pวันนี้มาว่าเรื่องของการฝึกเกี่ยวกับกสิณทั้ง ๑๐ ของเราต่อไป เมื่อวานได้กล่าวถึงวรรณกสิณทั้งสี่ คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว ไปแล้ว เรื่องของกสิณนั้น แม้ว่าจะเป็นกรรมฐานที่หยาบ มีนิมิต สัมผัสได้ จับได้ ต้องได้ แต่ว่ามันลำบากด้วยการหานิมิตกสิณ เพื่อที่จะใช้ในการเพ่งและพิจารณา
    <O:p</O:p
    สำหรับวันนี้จะกล่าวถึง ธาตุกสิณทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

    กสิณทั้งสี่กองนี้ เริ่มจากปฐวีกสิณ เราต้องหานิมิตกสิณก่อน สมัยโบราณท่านบอกว่า ให้ใช้ ดินสีอรุณ คือ สีเหลืองอมแดง เพื่อนำมาทำเป็นนิมิตกสิณ ต้องเอาดินมาละเลงบนผ้าสะดึง
    <O:p</O:p
    แต่ว่าสมัยนี้ของเรา ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ดี แต่เนื่องจากว่า สมัยนี้บางทีการหาวัสดุมาทำมันยากอยู่สักนิดหนึ่ง เด็กรุ่นหลัง ๆ กระทั่ง ดินสีอรุณหรือดินขุยปู ในลักษณะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้จักเลย
    <O:p</O:p
    เราก็ใช้ดินทั่ว ๆไป อาจจะเอามานวดมาปั้นก็ได้ ปั้นให้เป็นรูปกลม ๆ ขนาดที่เราชอบใจก็ได้ หรือว่า จะปั้นให้เป็นสี่เหลี่ยมก็ได้ หรือว่าจะทำเป็นนิมิตกสิณอย่างของคนโบราณ คือ ละเลงลงบนผ้า ให้กว้างสองคืบสี่นิ้วก็ได้ หรือว่าจะปัดกวาดสถานที่ใดที่หนึ่งให้สะอาดมองพื้นดินที่เห็น แล้วจับเป็นนิมิตกสิณก็ได้
    <O:p</O:p
    สำหรับกสิณน้ำนั้นง่าย เราใช้น้ำใส่ภาชนะ ใส่ขัน ใส่ถังอะไรก็ได้ ที่เราจะสามารถนั่งแล้วมองได้ถนัด เรื่องของกสิณลม สมัยก่อนท่านให้จับอาการไหวของพวกใบไม้ต่าง ๆ แล้วก็นำเอาการไหวนั้นเอามาเป็นนิมิต
    <O:p</O:p
    แต่เนื่องจากว่า บางขณะลมสงัด ถ้าหากว่านิมิตยังไม่ทรงตัว เราก็ทำต่อไม่ได้ จากที่เคยฝึกมา ให้ใช้พัดลมเปิดเบา ๆ ให้ลมนั้นกระทบร่างของเรา จับอาการกระทบเป็นระลอก ๆ ของลมนั้นเป็นนิมิตได้
    <O:p</O:p
    หรือว่าถ้ามีความคล่องตัวแล้ว ใช้ลมหายเจ้าเข้า ลมหายใจออกของเรา เป็นนิมิตก็ได้ กสิณไฟนั้น สมัยก่อนใช้ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นมา แล้วก็เจาะรูที่ผ้า นำผ้านั้นขึงอยู่หน้ากองไฟ มองเฉพาะไฟ ที่ผ่านจากรูกลมของผ้าเข้ามา
    <O:p</O:p
    แต่ว่าจริง ๆ แล้วจะใช้แบบไหนก็ได้ จุดเทียนขึ้นมา แล้วเพ่งเปลวเทียนก็ได้ หรืออย่างสมัยที่ผมฝึก มันหาเทียนยาก มีแต่ตะเกียงน้ำมัน ก็ใช้ตะเกียงน้ำมัน หรือเวลาหุงข้าว ก็เอาไฟทั้งเตาเป็นนิมิตกสิณได้ สมัยโน้นเตาแก๊สยังไม่มี หม้อไฟฟ้ายังไม่มี ถึงเวลาก็ต้องติดไฟหุงข้าว จะเป็นเตาถ่าน เตาฟืนอะไร ผมก็ใช้นิมิตไฟทั้งเตานั้น เป็นนิมิตกสิณแทน
    <O:p</O:p
    คราวนี้จะกล่าวถึงอานุภาพของกสิณก่อน ธาตุกสิณทั้งสี่กองนี้มีอานุภาพมาก ปฐวีกสิณนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการทำของอ่อนให้เป็นของแข็ง เมื่อทำได้แล้วก็อธิษฐานได้ตามใจ สามารถเดินขึ้นบนอากาศได้เหมือนกับมีบันไดรองรับ เดินบนน้ำได้ เหมือนอย่างกับว่าพื้นน้ำนั้นแข็งตัวอยู่
    <O:p</O:p
    เรื่องของอาโปกสิณ(กสิณน้ำ) เราสามารถทำสิ่งที่แข็งให้อ่อนได้ ดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้ตามใจของเราชอบ ที่ที่ไม่มีน้ำ อดน้ำอยู่ สามารถอธิษฐานให้น้ำเกิดขึ้นที่นั่นได้ ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเราทำเป็น ก็สามารถทำเป็นทิพยจักขุญาณได้

    โบราณาจารย์กล่าวว่า กสิณไฟ กสิณสีขาว กสิณแสงสว่าง และ กสิณน้ำ เป็นพื้นฐานของทิพยจักขุญาณ เรื่องของอาโปกสิณนั้น ถ้าหากว่าเรากำหนดใจจดจ่ออยู่กับน้ำในภาชนะนั้น ก็เป็นอาโปกสิณ แต่ถ้าเราเพ่งจิตจนถึงก้นของภาชนะนั้น สามารถทำเป็นทิพยจักขุญาณได้
    <O:p</O:p
    เรื่องของ วาโยกสิณ เราสามารถจะไปที่ไหน ๆ ก็ได้ ด้วยกำลังของวาโยกสิณอย่างที่โบราณเขาใช้คำว่า "เหาะไป" แต่ว่าความจริงแล้ว ถ้าหากว่ามีคนเห็นเราอยู่ตรงหน้าแล้ว เราไปด้วยกำลังของวาโยกสิณจริง ๆ ถ้าไม่ได้อธิษฐานให้ไปช้า ๆ อย่างเช่น ถ้านั่งอยู่ตรงนี้ คิดว่าเราจะไปกรุงเทพฯ คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ จะเห็นเราหายไปเฉย ๆ แล้วไปปรากฏที่กรุงเทพฯ

    แต่จริงๆ แล้ว เราลอยไปด้วยอำนาจของวาโยกสิณ เพียงแต่ว่าลอยไปเร็วมาก มันก็เลยเหมือนกับหายวับจากจุดนี้ไป ไปปรากฏที่อีกจุดหนึ่ง หรือว่าที่ไหนไม่มีลม มันร้อนอบอ้าว อธิษฐานให้มีลม ให้มันเย็นสบายได้
    <O:p</O:p
    เรื่องของเตโชกสิณ ถ้าทำได้แล้ว เราสามารถทำให้ไฟติดขึ้นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ จะให้ความอบอุ่น จะให้แสงสว่าง หรือจะให้เผาผลาญสิ่งใดก็ได้ อำนาจของเตโชกสิณ เราสามารถควบคุมมันได้อย่างที่ต้องการ ถ้าจะเผากันแค่เสื้อผ้า รับรองว่าตัวคุณไม่มีอันตราย ทั้ง ๆ ที่ไฟลุกท่วมตัวอยู่อย่างนั้น
    <O:p</O:p
    คราวนี้ ธาตุกสิณทั้งสี่นี้ ยังสามารถใช้ในการปรับธาตุ เพื่อรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วยได้ เนื่องจากว่าคนที่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดจากการที่ธาตุใดธาตุหนึ่งบกพร่อง ถึงมีอาการเจ็บป่วย
    <O:p</O:p
    ถ้าเราอธิษฐานให้ธาตุสี่ประสานเสมอกัน อาการเจ็บป่วยนั้นก็หาย แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ถ้าไม่ใช่หน้าที่ของตนจริง ๆ อย่าไปฝืนกรรมทำในลักษณะนั้น เพราะว่าทุกคนต้องสร้างกรรมมา ถึงจะเจ็บไข้ได้ป่วย
    <O:p</O:p
    ถ้าเราไปฝืนกระแสกรรม โดยการช่วยเหลือผู้อื่นเขา กรรมอันนั้นจะเข้าถึงตัวเราอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราไปฝืนกฎของกรรม อำนาจจากอภิญญาที่ได้จากกสิณ จะเสื่อม ในเมื่อธาตุกสิณทั้งสี่มีอนุภาพดังนี้ เวลาเราปฏิบัติ ให้เริ่มจากกองใดกองหนึ่งที่เราชอบ
    <O:p</O:p
    ถ้าจับปฐวีกสิณก่อน ก็ลืมตาดูภาพนิมิตกสิณที่เราทำไว้ หลับตาลงนึกถึงภาพนั้น พร้อมกับคำภาวนาว่า ปฐวีกสิณัง ปฐวีกสิณัง ถ้าภาพเลือนหายไป ลืมตาขึ้นมาดูใหม่ แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น
    <O:p</O:p
    ระยะแรกๆ มันจะนึกได้แค่ชั่วคราว พอถึงเวลาหลับตาลง ไม่ทันอึดใจภาพก็หายไป ให้ลืมตาดูใหม่พร้อมกับคำภาวนาใหม่ ทำดังนี้ไปเรื่อย ๆ บางทีเป็นเดือนเป็นปี เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านครั้ง กว่าภาพนั้นจะปรากฏได้ ทั้งหลับตาและลืมตา
    <O:p</O:p
    ถ้าทำอาโปกสิณ ให้ใช้ภาชนะบรรจุน้ำวางอยู่ตรงหน้า ลืมตามองน้ำในภาชนะนั้น แล้วหลับตาลง พร้อมกับนึกถึงภาพของน้ำในภาชนะ ภาวนาว่า อาโปกสิณัง อาโปกสิณัง ดังนี้ไปเรื่อย ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าการกำหนดในวาโยกสิณ เมื่ออาการของลม มากระทบผิวกายเป็นระลอก ก็ให้กำหนดอาการกระทบอย่างนั้น พร้อมกับคำภาวนาว่า วาโยกสิณัง วาโยกสิณัง
    <O:p</O:p
    ถ้าฝึกเตโชกสิณเป็นปกติ ก็ให้จับภาพของดวงเทียน หรือว่ากองไฟนั้น ๆ พร้อมกับคำภาวนาว่า เตโชกสิณัง เตโชกสิณัง
    <O:p</O:p
    ธาตุกสิณทั้งสี่นี้ ถ้าหากว่าเป็นอุคหนิมิต ก็จะเป็นนิมิตตามกองกสิณนั้น ๆ เช่น ปฐวีกสิณ ถ้าเราทำนิมิตดินเป็นรูปวงกลม เป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างที่เราชอบ ถึงเวลานั้น ภาพนั้นก็จะปรากฏเป็นรูปอย่างนั้น ถ้าเป็นกสิณน้ำ ก็จะปรากฏเป็นวงตามภาชนะนั้น ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าเป็นกสิณลม อันนี้จับยากสักนิดหนึ่ง เพราะว่าเรามองลมไม่เห็น แต่พอจับอาการกระทบไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มเห็นขึ้นมา เหมือนอย่างกับเราเห็นไอแดดที่มันเต้นเป็นตัวในเวลาร้อนมาก ๆ หรือเหมือนกับไอน้ำ ที่เราต้มน้ำหรือว่าหุงข้าว แล้วไอนั้นลอยขึ้นมาเป็นระลอก ๆ อย่างนั้น

    ถ้าหากว่าเป็นกสิณไฟ ก็จะมีนิมิต ตามลักษณะของดวงกสิณที่เราเพ่งอยู่ ถ้าหากว่าเราเพ่งเปลวเทียน นิมิตก็จะเป็นดวงเทียน ในลักษณะเปลวไฟลอยตั้งอยู่เฉย ๆ ถ้าเราเพ่งภาพของกองไฟ ก็จะเห็นไฟทั้งกองนั้น ตั้งอยู่ตรงหน้าของเรา
    <O:p</O:p
    แต่ว่ามีอยู่จุดหนึ่ง ถ้าหากว่าบางท่านมีความคล่องตัวมาก่อน มันจะไม่เห็นเป็นเปลวไฟในลักษณะดวงกสิณที่เราเพ่ง แต่มันจะเห็นในลักษณะเหมือนอย่างกับตาลปัตรทองคำ คือมันจะพุ่งขึ้นไปแล้วแตกกระจายเป็นแฉก ๆ อยู่ทางด้านบน ซึ่งอันนี้ผมเจอมาด้วยตัวเอง
    <O:p</O:p
    เมื่ออุคนิมิตนี้ปรากฏขึ้น เราต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพิ่มสติ จะหลับจะตื่น จะยืน จะนั่ง เอากำลังใจส่วนหนึ่ง จดจ่ออยู่กับภาพกสิณ พร้อมกับคำภาวนาเสมอ
    <O:p</O:p
    พอทำไป ๆ สีสันของกสิณนั้นก็จะอ่อนลง จางลง จนกระทั่งกลายเป็นสีขาวทั้งหมด จากสีขาวก็ค่อยใสขึ้น สว่างขึ้น จนกระทั่งสว่างเจิดจ้า เหมือนเอากระจกสะท้อนแสงใส่ตาของเรา
    <O:p</O:p
    แต่ว่ามีนิมิตกสิณอยู่สองกอง คือ อาโปกสิณ กับ เตโชกสิณ นิมิตทั้งสองกองนี้ ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว เมื่อเราอธิษฐาน ให้ใหญ่ ให้เล็ก ให้มา ให้หายไป มีความคล่องตัวแล้ว บางทีอยู่ๆ จะเห็นกระแสน้ำไหลมาท่วมทุกทิศทุกทาง ก็อย่าได้ตกใจ
    <O:p</O:p
    หรืออยู่ ๆ เห็นเป็นไฟลุกไหม้พรวดพราดขึ้นมา บางทีไหม้ไปทั้งอาคารทั้งหลัง ก็อย่าได้ไปตกใจ ไม่ว่าจะน้ำมาทุกทิศทุกทาง หรือไฟลุกท่วมไปทั้งอาคารก็ตาม โปรดทราบว่า นั่นเป็นแค่นิมิตกสิณเฉย ๆ
    <O:p</O:p
    เราสามารถที่จะควบคุมมันได้สบายมาก ถ้าเราอธิษฐานให้ไฟลุกท่วมทั้งโบสถ์นี้ โบสถ์นี้ก็จะไม่มีอันตราย ถ้าเราไม่ต้องการให้ไหม้ ให้น้ำท่วมมาทุกทิศทุกทางก็จริง แต่ถ้าเราไม่ต้องการให้มีอันตรายจากน้ำนั้น น้ำนั้นก็ทำอันตรายใครไม่ได้
    <O:p</O:p
    มีหลายท่านที่ทำกสิณดังนี้แล้ว พอนิมิตพวกนี้เกิดขึ้น ตกใจกลัววิ่งหนีก็ดี หรือว่าตื่นตกใจเรียกให้คนช่วยก็ดี ในลักษณะนั้นเป็นการขาดสติ บางทีตกใจมากจนทำให้ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ทำกรรมฐานต่อไม่ได้เลยก็มี
    <O:p</O:p
    ดังนั้น ขอให้เราทุกคนโปรดเข้าใจว่า ถ้านิมิตกสิณเหล่านี้เกิดขึ้น เราทำให้มันเกิด ต้องการให้มันมามันก็มา ต้องการให้มันหายไป มันก็หายไปเดี๋ยวนั้น มันจะทำอันตรายเราไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถควบคุมมันได้ทั้งสิ้น
    <O:p</O:p
    ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปตกใจ ไม่จำเป็นต้องไปหวาดกลัว ให้เราพยายามทำกสิณในลักษณะนี้ให้ทรงตัวให้ได้ เมื่อเป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว เราก็ลองอธิษฐานใช้ผลดู คือจับภาพกสิณให้สว่างเจิดจ้าเต็มที่ กำหนดอธิษฐานให้หาย ให้มา จนคล่องตัวแล้ว
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเป็นปฐวีกสิณ ก็ลองนำน้ำมาสักขันหนึ่ง อธิษฐานว่า ขอให้น้ำนี้จงแข็งเหมือนดินแล้ว เสร็จแล้วเข้าฌานให้เต็มระดับ คือจับภาพกสิณให้สว่างเจิดจ้าเต็มที่ เมื่อคลายใจออกมาสู่อารมณ์ปกติแล้ว อธิษฐานให้น้ำนี้แข็งตัวใหม่ จากนั้นเข้าฌานให้เต็มที่อีกครั้งหนึ่ง น้ำนั้นก็จะแข็งเหมือนกับดินไปทั้งขัน
    <O:p</O:p
    สมัยที่อยู่วัดท่าซุง เด็กนักเรียนทำได้แล้ว ก็แกล้งเพื่อนตัวเอง พอเข้าส้วมก็รอจังหวะ เพื่อนจะตักน้ำล้างส้วม ก็อธิษฐานให้น้ำมันแข็ง เพื่อนตักน้ำไม่ได้ ตัวเองก็ชอบใจ ไปหัวเราะเยาะเพื่อนได้
    <O:p</O:p
    เมื่อพยายามทำให้มีความชำนาญ นึกเมื่อไหร่น้ำก็แข็งเมื่อนั้น คราวนี้จะลองหัดเดินน้ำดูก็ได้ แต่ว่าถ้าหัดเดินน้ำ ให้อธิษฐานว่า ให้น้ำทุกจุดที่เราเหยียบลงไปมีความแข็ง และหนาแน่นเหมือนกับดิน อย่าไปอธิษฐานให้น้ำทั้งหมดแข็ง เพราะว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเขา ถ้าอธิษฐานผิดในลักษณะนั้น ผลของกสิณจะไม่เกิด
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเป็นกสิณน้ำ ก็ลองอธิษฐานของแข็งให้อ่อนดู อาจจะนำไม้สักแผ่นหนึ่ง เหล็กสักแผ่นหนึ่ง มาวางตรงหน้า เข้าสมาธิเต็มที่จนภาพกสิณใสเจิดจ้า แล้วอธิษฐานขอให้ไม้หรือเหล็กนั้นอ่อนลง
    <O:p</O:p
    จากนั้น คลายกำลังใจลงมาอธิษฐานใหม่ แล้วกลับเข้าสู่สภาวะของฌานสมาบัติ ให้เห็นดวงกสิณใสเจิดจ้าแบบนั้นอีกครั้งหนึ่ง พอลดกำลังใจลง สิ่งนั้นก็จะอ่อนตัวลง จับบิด ดัดแปลง เปลี่ยนรูป ได้ตามที่เราต้องการ
    <O:p</O:p
    ถ้าหากว่าเป็นกสิณลม ก็เอาระยะใกล้ ๆ ในจุดที่คนเขามองไม่เห็น เพื่อคนเขาจะได้ไม่แตกตื่น อย่างเช่นอธิษฐานว่า จะไปในดงไผ่นั้น ก็เข้าสมาธิเต็มที่ แล้วคลายกำลังใจออกมา อธิษฐานแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง พอเข้าสมาธิเต็มที่แล้ว ร่างกายก็จะไปอยู่ในสถานที่ที่ต้องการนั้น ๆ
    <O:p</O:p
    ถ้าเป็นกสิณไฟ ก็แอบ ๆ จุดไฟเล่นของเราก็ได้ จุดเทียนในกุฏิของเรา ตั้งใจอธิษฐานขอให้ไฟมันติด มันก็จะติดขึ้นมา ทำให้มีความคล่องตัวแบบนี้ทุกวัน ซ้อมทำอยู่เรื่อย ๆ ทุกบ่อย
    <O:p</O:p
    ความจริงเรื่องของกสิณนั้น ถ้าเราทำกองใดกองหนึ่งได้แล้ว กสิณที่เหลือก็เหมือน ๆ กัน คำว่าเหมือนกันก็คือว่า ใช้กำลังของสมาธิเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนนิมิต เปลี่ยนคำภาวนาเล็กน้อยเท่านั้น
    <O:p</O:p
    กสิณกองต่อไปคือ อาโลกสิณ เป็นการจับแสงสว่าง สมัยก่อนเขาดูแสงสว่างที่ลอดฝา ลอดตามช่องเข้ามา ลอดตามหลังคาเข้ามา แต่ว่าสมัยนี้มีลูกแก้ว ใช้ลูกแก้วเป็นนิมิตกสิณ หรือว่าใช้พระแก้วเป็นนิมิตกสิณก็ได้อาโลกสิณนั้น เป็นกสิณสร้างทิพยจักขุญาณโดยตรง

    ใครทำอาโลกสิณได้ สามารถมีทิพยจักขุญาณ เห็นนรก สวรรค์ พรหม นิพพานได้ง่าย ๆ ขณะเดียวกัน ถ้าที่ใดมันมืดมิด ต้องการจะให้สว่าง มันก็สว่างตามที่เราต้องการได้ เวลาจับภาพนิมิตกสิณพร้อมกับคำภาวนา ก็ใช้คำว่า อาโลกสิณัง อาโลกสิณัง
    <O:p</O:p
    กสิณกองต่อไปคืออากาสกสิณ อันนี้ให้จับช่องว่างเป็นช่องใดช่องหนึ่งตามข้างฝาก็ได้ ตามหลังคาก็ได้เป็นตัวนิมิต ตั้งใจภาวนาว่า อากาสกสิณัง อากาสกสิณัง ดังนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเป็นปฏิภาคนิมิตเต็มระดับ
    <O:p</O:p
    อากาสกสิณนี้มีอานุภาพตรงที่ว่า สถานที่ใดมันจะทึบมันจะตันขนาดไหนก็ตาม ประตูหน้าต่างที่เขาล็อกไว้ขนาดไหนก็ตาม ถ้าเราต้องการจะผ่านไป ถึงเวลาอธิษฐานให้ตรงนั้นเป็นช่องว่าง เราก็สามารถผ่านไปได้ง่าย ๆ ลักษณะของการดำดิน หรือว่ามุดภูเขาไปทั้งลูก ก็ใช้กำลังของอากาสกสิณนี้เอง
    <O:p</O:p
    กสิณทั้งหมดนั้น ถ้าเราทำได้แค่นั้น มันเป็นโลกียอภิญญา ไม่สามารถจะหลุดพ้น ก็ให้พิจารณาดูความไม่เที่ยงของมัน ไม่ว่าจะดิน จะน้ำ จะลม จะไฟ มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายตัวไปเช่นกัน <O:p

    ดวงกสิณทุกอย่าง แรก ๆ มันก็ไม่สามารถตั้งมั่นทรงตัวอยู่ได้ เมื่อเป็นอุคหนิมิตทรงตัว ก็แสดงว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ แล้วถึงเวลาสามารถบังคับมันให้เป็นปฏิภาคนิมิตได้ เดี๋ยวก็ใหญ่ เดี๋ยวก็เล็ก มันมีความไม่เที่ยงของมันอยู่เป็นปกติ
    <O:p</O:p
    ตัวเราที่ทำกสิณอยู่ กว่าจะได้แต่ละอย่าง มันลำบากยากเย็น แสนเข็ญขนาดไหน ต้องนั่งเมื่อยอยู่เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เพื่อจะจับภาพกสิณให้เป็นอุคนิมิตให้ได้ อาการอย่างนี้มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น
    <O:p</O:p
    ท้ายสุดตัวเราก็ดี ภาพกสิณก็ดี มีความสลายตัวไปเป็นปกติ ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่เป็นตัวตนได้ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ให้ยึดถือมั่นหมายได้ เกิดมาเมื่อไรก็ต้องพบกับสภาพความไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้
    <O:p</O:p
    แล้วเรายังปรารถนาที่จะเกิดอีกหรือไม่ ? เมื่อไม่ต้องการเกิดอย่างแน่วแน่ ก็เอากำลังของกสิณไปเกาะพระนิพพานแทน คิดไว้เสมอว่า ถ้าตายเมื่อไร เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น
    <O:p</O:p
    ดังที่เคยบอกมาหลายครั้งแล้วว่า กรรมฐานทุกกองถ้าทำเป็น เราสามารถไปพระนิพพานได้ทั้งนั้น เพียงแต่พิจารณาลงในไตรลักษณ์ หรือพิจารณาลงในอริสัจ ๔ ก็จะเข้าถึงที่สุดของการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น
    <O:p</O:p
    สำหรับตอนนี้ ขอให้ทุกท่านค่อยๆคลายกำลังออกมา เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ของเราต่อไป<O:p

    <O:p</O:pพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p</O:p
    วันพุธที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗<O:p</O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2010
  20. first

    first เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2005
    โพสต์:
    181
    ค่าพลัง:
    +4,990
    ๒๐. อสุภกรรมฐาน ๑๐


    เมื่อวานนี้เรื่องของกสิณลืมบางจุดไป อย่างเช่นอาโปกสิณ เขาให้เทน้ำใส่ให้เต็มภาชนะพอดีอย่าให้พร่อง เพราะว่าถ้าหากว่ามันพร่อง ใจของเรามันไปจับที่ขอบภาชนะ อันนั้นเขาเรียกว่ากสิณโทษ ใช้ไม่ได้ เขาให้สนใจแค่ลักษณะของน้ำและตั้งใจจับตรงนั้น <O:p

    ถ้าหากว่าเป็นอุคหนิมิตของอาโปกสิณมันจะมีลักษณะกระเพื่อม ๆ เหมือนกับน้ำที่เป็นคลื่นน้อย ๆ ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิตมันก็จะนิ่ง แล้วก็ค่อย ๆ สีจางลงไปเรื่อย <O:p

    ในเรื่องของวาโยกสิณนั้น แรก ๆ ก็เหมือนกับว่าเป็นไอหรือว่าแดด ที่เต้นเป็นตัวขึ้นมา อันนั้นเป็นอุคหนิมิต ถ้าหากว่าเป็นปฏิภาคนิมิต มันจะลอยจับกลุ่มกันแน่น เหมือนกับหมอกหนา ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ลืมบอกไป เดี๋ยวพอเราไปเจอเข้าก็เกิดความสงสัยอีก

    สำหรับวันนี้จะว่าถึงเรื่องของอสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่าง คือการพิจารณาซากศพเป็นอารมณ์ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นราคะจริต มีจิตรักสวยรักงามเป็นปกติ หรือมีจิตเกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างเพศเป็นปกติ <O:p

    สำหรับการพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้น ในปัจจุบันนี้จะทำได้ยากอยู่สักหน่อย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เขาเอาศพไปทิ้งป่าช้าเฉย ๆ บ้าง หรือว่าประเภทที่โดนประหารชีวิต โดนฆ่าบ้าง มันสามารถที่จะเห็นได้ง่าย สมัยนี้มันเห็นได้ยาก

    ตอนที่ผมฝึกอยู่ ผมใช้พวกซากสัตว์ที่มันตายบ้าง หรือว่าใช้โครงกระดูกที่เขาทำไว้สำหรับพวกนักศึกษาแพทย์บ้าง หรือไม่ก็เข้าตลาด ไปดูตามเขียงหมู ที่เขาหั่น เขาสับ เขาฟันเนื้อหมูออกมาเป็นชิ้นๆ เป็นส่วน ๆ บ้าง<O:p

    แต่ว่าที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือได้บรรดาผี ต้องใช้คำว่าบรรดาผีที่มีความเมตตา เขาหามมาทีละศพ ทีละศพ ทุกคืน ถ้าหากว่าได้อย่างนี้ท่านก็สามารถที่จะฝึกได้ แต่ถ้าหากไม่ได้อย่างนี้บางทีก็จะลำบากอยู่ <O:p

    สำหรับอสุภกรรมฐาน ถ้าหากว่าท่านพบศพที่จะพิจารณาได้ อย่างเช่นว่า ซากสัตว์ก็ดี ให้ยืนทางด้านเยื้อง ๆ กับเหนือลม อย่าไปยืนเหนือลมโดยตรง เพราะว่ายืนเหนือลมโดยตรง สัตว์ที่มากินซาก เช่นว่า พวกนกแร้ง นกตะกรุม หรือว่าพวกสัตว์ป่าอย่างสุนัขจิ้งจอก สุนัขป่าก็ดี แม้กระทั่งเสือ หรือว่าพวกเหี้ย ตะกวด <O:p

    พวกนั้นเขาจะได้รับความลำบาก เพราะว่าถ้าเราอยู่เหนือลมตรง เขาจะได้กลิ่น เขาจะไม่กล้าเข้ามากิน หรือว่าบางประเภทเขาหวงซาก อย่างพวกเสือ พวกหมาป่า หรือพวกหมาจิ้งจอก มันจะกัดเอา จะทำร้ายเอา <O:p

    แล้วก็อย่าไปยืนทางใต้ลมโดยตรง ถ้ายืนทางใต้ลมโดยตรง กลิ่นมันเข้ามาเต็มที่ ถ้าไม่คุ้นชินมันจะอาเจียน หรือไม่ก็อย่างที่ผมเคยโดนคือลมมันหวน พอลมมันหวนกลับ ดมกลิ่นเข้าไปเต็ม ๆ ไม่ทราบว่ามันเป็นโทษอย่างไร ท้องเสียไปเป็นวัน ๆ ต้องระมัดระวังให้ดี <O:p

    จะพิจารณาก็ยืนอยู่ในจุดที่ห่างพอสมควร ในราว ๆ สัก ๓ หรือ ๔ เมตร แล้วก็ให้อยู่ทางเหนือลม เยื้องไปทางซ้ายก็ได้ทางขวาก็ได้ จะได้ไม่เป็นการรบกวนสัตว์มากจน เกินไป <O:p

    มีอยู่จุดหนึ่งที่อยากจะเตือนก็คือว่า สำหรับหลายท่านที่กำลังใจเข้มแข็ง มันจะมีนิมิตหลอก ซากศพนั้นบางทีมันก็เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวนั้นบางทีก็เป็นอุคหนิมิต แต่บางทีมันเคลื่อนไหวในลักษณะเขาต้องการทดสอบเรา

    บางทีศพมันลุกขึ้นมากอดเอาดื้อ ๆ หรือบางทีมันก็เคลื่อนไหวลักษณะยื่นมือมาจะบีบคอ ขอให้ทุกคนเข้าใจว่านั่นเป็นนิมิตที่เขามาทดสอบเท่านั้น ถ้าเราทำเฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ เขาก็จะเลิกไปเอง <O:p

    ดังนั้นว่าการฝึกอสุภกรรมฐาน นอกจากจะต้องทนต่ออาการต่างๆ ที่น่าขยะแขยงแล้ว ยังต้องมีความกล้าอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นถ้านิมิตเหล่านี้มาหลอก หรือว่ามาทดสอบ เราอาจจะกลัวมาก ขนาดเสียสติไปเลยก็ได้ <O:p

    เรื่องของอสุภกรรมฐานนั้นมีทั้งหมด ๑๐ อย่าง ที่ต้องกำหนดไว้ถึง ๑๐ อย่าง ก็เพราะว่าเหมาะสำหรับคนที่ชอบในลักษณะต่างๆ กัน จะได้เห็นว่าสภาพความเป็นจริงของร่างกายที่ชอบนั้นเป็นอย่างไร ?<O:p

    .อุทุมาตกอสุภ คือ ซากศพที่พองอืดอยู่ อันนี้สำหรับผู้ที่ชอบคนประเภทที่เรียกว่าอ้วนพี ประเภทอวบอย่างนั้น อึ๋มอย่างนี้ เจออุทุมาตกอสุภเข้า แล้วจะรู้ ว่าจริง ๆ แล้วมันบวม มันพอง มันใกล้จะปริ จะพังอยู่แล้ว <O:p

    ๒.วินีลกอสุภ คือ ซากศพที่มันเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นต้น สังเกตดูพอศพตาย ซัก ๒ วัน ๓ วัน มันก็จะเริ่มเขียว ๆ ขึ้นมา หรือถ้ามากกว่านั้น บางทีก็พองขึ้นมา น้ำเหลืองมากก็เป็นสีเหลือง

    ถ้าหากว่าเลือดมันทรงตัวอยู่ก็เป็นสีแดง เป็นต้น อันนี้สำหรับผู้ที่ติดใจในผิว พรรณวรรณะอันผ่องใส เช่นว่า แหม..สาวคนนี้หน้าเด้งเหลือเกิน อย่างนี้เป็นต้น เหมาะสำหรับคนที่จะฝึกใน วินีลกอสุภ<O:p

    ๓.วิปุพกอสุภ คือ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลโซมอยู่ อันนี้เอาไว้สำหรับผู้ที่ไปติดในบรรดาเครื่องสำอาง แหม..วันนี้ใส่น้ำหอมกลิ่นฟุ้งมาเชียว หรือไม่ก็ทาน้ำยาบำรุงผิวมา กลิ่นดีเหลือเกิน ถูกใจ ถ้าเราไปดูซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลโซมอยู่แล้วมันจะถูกใจไหม ?<O:p

    ๔.วิฉิทกอสุภ คือ ซากศพที่โดนฟันขาดออกเป็น ๒ ท่อน อย่างสมัยก่อนเขาประหารชีวิต หรือว่ารบกัน หรืออย่างสมัยนี้นาน ๆ อาจจะบังเอิญ ไปเจอคนโดนรถชนขาดเป็นสองท่อน หรือว่าหมาโดนรถชนขาดสองท่อน เป็นต้น <O:p

    อันนี้สำหรับผู้ที่ไปติดใจในเนื้อหนังของคนอื่นเขา มันจะได้เห็นว่าสภาพที่แท้จริงแล้ว มันไม่ได้เป็นแท่งทึบอย่างที่เราติดใจ แต่ว่ามันเป็นชิ้น เป็นท่อน มีอวัยวะภายในน้อยใหญ่อยู่ <O:p

    ๕.วิกขายิตกอสุภ คือ ซากศพที่โดนสัตว์กิน ทึ้ง เว้าแหว่ง หรือไม่ก็กัดแทะจนกระทั่งเหลือเนื้อหนังติดอยู่เพียงไม่เท่าไร อันนี้สำหรับผู้ที่ติดใจในอวัยวะบางส่วนของเขา อย่างเช่นว่า ชอบอก ชอบเอว ชอบสะโพก ชอบขาอ่อน ชอบน่อง

    เมื่อไปเจอพวกที่โดนสัตว์กัดทึ้งเป็นชิ้น ๆ ตรงโน้นก็แหว่งตรงนี้ก็เว้า แก้มหลุดหายไปข้างหนึ่ง ริมฝีปากฉีกไปครึ่งหนึ่ง หน้าอกหายไปแถบหนึ่ง เห็นแต่ซี่โครงโผล่ขาวโพลน อย่างนี้ก็หมดอารมณ์ ถ้าหากว่าใครชอบใจอวัยวะเป็นส่วน ๆ อย่างนี้ ก็ไปดูวิกขายิตกอสุภ <O:p

    ๖.วิกขิตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกเขาทิ้ง นาน ๆ ไปก็หลุดเป็นชิ้น ๆ พวกนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบอิริยาบถ แหม..สาวคนนี้เคลื่อนไหวสวยเหลือเกิน เดินอ่อนช้อยอย่างนั้น สวยอย่างนี้ เหยียดแขนก็ดูดี คู้แขนก็ดูดี ก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง ดีทั้งหมด ให้ไปดูซากศพที่เขาทิ้งเอาไว้ พอนาน ๆ ไปแล้วมันหลุดเป็นชิ้น ๆ หรือวิกขิตกอสุภ <O:p

    ๗.หตวิกขิตกอสุภ คือ ซากศพที่โดนฟันขาดเป็นท่อน ๆ อาจจะเป็น ๗ ท่อน ๘ ท่อนก็ได้ อย่างพวกฆาตกรฆ่าหั่นศพ หรือไม่ก็ประเภทโดนรถชนไปแล้ว ยังไม่ทันจะเก็บศพ อีกคันหนึ่งมาทับซ้ำเข้าไป หลุดเป็นชิ้น ๆ อวัยวะภายนอกภายใน กระจายเกลื่อนถนนเลย <O:p

    นี่สำหรับคนประเภทที่คลำดูไม่มีหางก็ใช้ได้ คือขอให้มีอวัยวะครบ ๓๒ เป็นชอบ ถ้าสันดานเราเป็นอย่างนี้ก็ไปดูหตวิกขิตกอสุภ <O:p

    ๘.โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลท่วม ไหลนองไปหมด อย่างสมัยก่อนเขาฟันหัวขาด เลือดพุ่งกระฉูดขึ้นไปเป็นเมตร แล้วตกลงมาอาบร่างจนแดงไปหมด อันนี้สำหรับผู้ที่ติดใจในเครื่องประดับ ชุดสวยอย่างนั้น เครื่องประดับสวยอย่างนี้ มันไม่ได้ชอบแต่ตัวเฉย ๆ มันชอบกระทั่งชุดด้วย ให้ไปดูสภาพจริง ๆ ของร่างกายว่าอย่างนี้สวยไหม ?<O:p

    ๙.ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่มีหนอนชอนไช เน่าเละไปหมด พวกนี้สำหรับผู้ที่ติดในร่างกายตัวเอง ร่างกายของเราดีอย่างนั้น น่าพอใจอย่างนี้ แหม..กล้ามตรงนี้สวยเหลือเกิน ติดแม้กระทั่งร่างกายตัวเอง ดูซิ มันใช่ของเราไหม ? ตอนนี้พวกหนอนต่าง ๆ มันครองสิทธิ์ กินกระจายอยู่ตรงหน้าของเรา <O:p

    ๑๐.อัฎฐิกอสุภ เป็นกระดูก โครงกระดูก อย่างเช่นว่าพอมันเน่าไปนาน ๆ ส่วนอื่น ๆ เปื่อยสลายไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกอยู่ หรืออย่างที่ผมปฏิบัติอยู่ก็คือ เอาโครงกระดูกสำหรับนักศึกษาแพทย์เขามาพิจารณา

    อันนี้สำหรับผู้ที่ชอบเวลาเพศตรงข้ามเขายิ้ม แหม..ฟันสวยเหลือเกิน ให้มันดูว่า ฟันมันก็ส่วนหนึ่งของกระดูก แล้วกระดูกทั้งหมดมันมีลักษณะเป็นอย่างนี้ สำหรับเรื่องของอสุภกรรมฐานก็มีอานุภาพในการช่วยระงับความพอใจในร่างกายแบบต่างๆ ของเรา <O:p

    คราวนี้ในการปฏิบัติอุทุมาตกอสุภ เราเจอซากศพที่พองเต็มที่เลย อย่างหมาตายมาสองวัน สามวัน หรือถ้าหากว่าแดดร้อน ๆ วันเดียวเท่านั้นแหละ อืดพอง สี่ขาเหยียดกางทีเดียว จะแตก จะระเบิดอยู่แล้ว

    เราก็ยืนในจุดที่เหมาะสมอย่างที่ว่าไป แล้วก็เริ่มกำหนดภาพนั้นเป็นนิมิต ภาวนาว่า อุทุมาตกัง ปฏิกุลัง..อุทุมาตกัง ปฏิกุลัง ว่าไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่า เป็นอุคหนิมิต คือ เริ่มติดตา จะเห็นเป็นศพในลักษณะที่เราพิจารณาอยู่ <O:p

    ถ้าหากว่าเป็นปฏิภาคนิมิตคือจิตเริ่มทรงเป็นปฐมฌาน ภาพนั้นก็จะเป็นคนหรือสัตว์ที่อ้วนพีผ่องใสเป็นปกติ เห็นอย่างกับคนทั่วๆไปเลย ลืมบอกไปว่า อสุภกรรมฐาน ถ้าโดยตัวของมันจริงๆ ปฏิบัติแล้วจะทรงได้ประมาณปฐมฌานเท่านั้น <O:p

    สำหรับวินีลกอสุภ ที่เราไปพิจารณาซากศพที่มันเขียว มันเหลือง มันแดง มันขาวเหล่านั้น ถ้าเป็นอุคหนิมิต ก็จะเห็นเป็นภาพปกติของมัน คือ เริ่มติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น แต่ว่าเรื่องหลับตาลืมตานี่ บางคนทำง่ายเลยคิดไม่ถึง <O:p

    ผมเองมองซากศพครั้งแรกจำติดตาไปเจ็ดแปดวัน ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันเป็นเพราะกลัว หรือว่าผีมันเจตนาจะหลอก หรือว่าในอดีตผมเคยทำได้ เลยจำได้ง่ายก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าบางขณะมันเสียว ๆ มันกลัวอยู่เหมือนกัน <O:p

    สำหรับวินีลกอสุภ ถ้าหากว่าเราจับภาพนั้นอยู่แล้วเริ่มติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น นั่นเป็นอุคหนิมิต ถ้าหากว่าสีใดสีหนึ่งมันขยายขึ้นมาจนท่วมทับสีอื่นหมด อย่างเช่นว่าสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาวก็ดี อันนี้เป็นปฏิภาคนิมิต <O:p

    สำหรับคำภาวนา ให้ใช้ว่า วินีลกัง ปฏิกุลัง..วินีลกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่าลืมว่า คำภาวนาทุกอย่าง ต้องจับพร้อมกับลมหายใจเข้าออกทั้งหมด <O:p

    วิปุพกอสุภ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่ ก็ภาวนาว่า วิปุพกัง ปฏิกุลัง..วิปุพกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นอุคหนิมิต คือเริ่มติดตา ก็จะเห็นซากศพที่เป็นน้ำเหลืองไหลอยู่ตามปกติ แต่ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิต มันจะเป็นศพที่น้ำเหลืองทุกอย่างหยุดนิ่ง กลายเป็นศพที่ชัดเจนแจ่มใสอยู่ ไม่มีอาการหลั่งไหลของน้ำเหลืองอีก <O:p

    ต่อไปวิฉิทกอสุภ ซากศพที่โดนฟันขาดเป็นสองท่อน โดนรถชนขาดเป็นสองท่อนก็ภาวนาว่า วิฉิทกัง ปฏิกุลัง..วิฉิทกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อย ๆ ถ้าอุคหนิมิต ก็จะเห็นเป็นภาพซากศพที่ขาดเป็นสองท่อนอย่างนั้น แต่ถ้าหากเป็นปฏิภาคนิมิต คราวนี้มันจะเป็นตัวสมบูรณ์ไม่ขาดท่อน<O:p

    วิกขายิตกอสุภ ซากศพที่โดนสัตว์กัด เว้า ๆ แหว่ง ๆ กระดูกโผล่ที่นั้น เส้นเอ็นโผล่ตรงนี้ พวกเราที่เข้าไปธุดงค์ ทางด้านห้วยขาแข้ง จะเจอซากสัตว์ในลักษณะนี้บ่อย เพราะว่าพวกเสือบ้าง หมาป่าบ้างมันกินทิ้งเอาไว้ อาศัยพิจารณาได้

    เราใช้คำภาวนาว่า วิกขายิตกัง ปฏิกุลัง..วิกขายิตกัง ปฏิกุลัง ถ้าหากว่าเป็นอุคหนิมิต เริ่มติดตาก็จะเห็นเป็นภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิต ก็จะเป็นลักษณะเหมือนกับคนหรือสัตว์สมบูรณ์อยู่ทั้งตัว <O:p

    วิกขิตกอสุภ ซากศพที่หลุดกระจายเป็นท่อน ๆ เป็นชิ้น ๆ เราใช้คำภาวนาว่า วิกขิตกัง ปฏิกุลัง..วิกขิตกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อย ๆ อุคหนิมิตก็คือเป็นซากศพที่เป็นชิ้นๆ อย่างนั้น แต่ถ้าหากเป็นปฏิภาคนิมิต จะเป็นซากศพที่สมบูรณ์ทั้งซากเหมือนกัน

    หตวิกขิตกอสุภ ซากศพที่โดนฟันขาดเป็นท่อน ๆ โดนรถชนขาดเป็นท่อน ๆ เป็นชิ้น ๆ แต่ละส่วนกระจัดกระจายไปทั่ว อย่างพวกฆาตกรฆ่าหั่นศพพวกนั้น เราก็ใช้คำภาวนาว่า หตวิกขิตกัง ปฏิกุลัง..หตวิกขิตกัง ปฏิกุลัง อุคหนิมิตก็ยังเป็นศพที่ขาดเป็นท่อนๆ อยู่ แต่ถ้าหากว่าเป็นปฏิภาคนิมิต ก็จะเป็นศพที่สมบูรณ์เหมือนเดิม <O:p

    ต่อไปก็ โลหิตกอสุภ ซากศพที่มีเลือดไหลนองท่วมซากอยู่ ภาวนาว่า โลหิตกัง ปฏิกุลัง..โลหิตกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่าเป็นอุคหนิมิต ก็จะเห็นเป็นซากศพที่มีโลหิตท่วมอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิต ภาพโลหิตก็จะขยายแดงหนาทึบไปหมด <O:p

    ต่อไปเป็น ปุฬุวกอสุภ ซากศพที่มีหมู่หนอนชอนไช ยุบยับไปหมด ใช้คำภาวนาว่า ปุฬุวกัง ปฏิกุลัง..ปุฬุวกัง ปฏิกุลัง ไปเรื่อย ๆ ภาพติดตาของอุคหนิมิตจะเป็นซากศพที่มีหมู่หนอนที่ชอนไชอยู่เป็นปกติ

    ถ้าเป็นปฏิภาคนิมิต มันจะมีลักษณะสีขาว เหมือนอย่างกับกองผ้า หรือสำลีที่กองอยู่ จริง ๆ แล้ว สีขาว ๆ ก็คือสีของหนอนนั่นเอง แต่ปฏิภาคนิมิตนี่มันจะหนาทึบ ลักษณะเหมือนกับสำลีก้อนใหญ่ ๆ หรือไม่ก็ผ้าขาวกองใหญ่ ๆ

    อันสุดท้ายคือ อัฏฐิกอสุภ การพิจารณากระดูก ให้ภาวนาว่า อัฏฐิกัง ปฏิกุลังอัฏฐิกัง ปฏิกุลัง จับภาพกระดูกที่เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่พวกนั้น หรือถ้าหากใช้อย่างที่ผมใช้ก็คือโครงกระดูกทั้งโครงนั้น <O:p

    อุคหนิมิต อาจจะน่ากลัวอยู่หน่อย คือ เป็นภาพโครงกระดูกเคลื่อนไหวไปมา อาจจะเป็นกะโหลก กลิ้งไปกลิ้งมา กระดูกท่อนน้อยท่อนใหญ่ ลอยไปลอยมา หรือว่าเป็นทั้งโครงอย่างที่ผมทำ มันก็จะเดินเข้ามาหา หรือเดินไปเดินมาอยู่ตรงหน้า ถ้ากำหนดต่อไปมันก็จะกลายเป็นโครงกระดูกที่นิ่งอยู่เฉยๆ อันนั้นเป็นปฏิภาคนิมิต <O:p

    นี่คือลักษณะอสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ กอง ถ้าเรามีโอกาสจำคำภาวนาและนิมิตของมันให้ชัดเจน ระมัดระวังไว้ ตั้งสติตัวเองไว้ให้มั่น อย่าไปกลัวมัน ยืนให้ถูกทิศ อย่าไปดมกลิ่นของมันมาก ตั้งหน้าตั้งตาภาวนา พิจารณาไป <O:p

    เมื่อภาพมันเริ่มติดตาแล้ว เราก็ต้องพิจารณาต่อว่า เออหนอ..ร่างกายของสัตว์นี้ก็ดี ร่างกายของคนนี้ก็ดี ที่เราเห็นว่ามันคงทน มันสมบูรณ์ เป็นเราเป็นของเราอยู่นี้ ที่แท้จริงไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลย <O:p

    ตายไปวันหนึ่ง สองวัน ก็บวม ก็อืด ก็พองขึ้นมาอย่างนี้ เริ่มมีสีเหลืองๆ เขียวๆ ขาวๆ แทรกเข้ามาตามส่วนต่างๆ ของซากศพ พอสักสี่ห้าวัน ผิวกายก็แตกปริ มีน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลโซม กลิ่นเหม็นตลบจนทนไม่ได้ <O:p

    บ้างก็หลุดขาด เป็นท่อนน้อย ท่อนใหญ่ อวัยวะทั้งภายนอกและภายในกระจัดกระจายอยู่ สิ่งที่เราเห็นมันเป็นแค่ผิวหนัง คือเปลือกส่วนหนึ่งที่หลอกตาเราอยู่เท่านั้น ไม่ว่าจะร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี สภาพแท้จริงมันเป็นอย่างนี้เอง<O:p

    มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง ในที่สุดก็สลายตัวไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลยแม้แต่น้อย ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ <O:p

    แม้กระทั่งตอนตาย ก็อาจจะได้รับความทุกข์ทรมาน คือถูกเขาฆ่าหรือว่าเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น ความทุกข์มันมีอยู่กับร่างกายนี้เป็นปกติ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมายว่า เป็นเรา เป็นของเราอยู่อีก ทั้งๆ ที่สภาพความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย <O:p

    ถ้าเรายังยึดถือมั่นหมายมันอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องเกิดมาอีก มาพบกับความทุกข์อย่างนี้อีก มามีร่างกายที่สกปรก โสโครก เน่าเหม็นแบบนี้อีก ไปยึดติดในร่างกายของคนอื่นเขาที่สกปรกโสโครก เน่าเหม็นอย่างนี้อีก <O:p

    ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาในโลก ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ เกิดมาอาศัยอยู่ในร่างกายที่มันเน่าเหม็นแบบนี้ เกิดมาอาศัยอยู่ในโลก ที่ทุกข์ยากเร่าร้อนแบบนี้ เรายังมีความปรารถนาหรือไม่ ? <O:p

    ถ้าจิตมันบอกตัวเองอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการอีกแล้ว ไม่ใช่บอกตัวเองว่าไม่ต้องการ เพราะรู้ว่าตอบอย่างนี้แล้วถูก มันเกิดจากสภาพจิตบอกตัวเองจริง ๆ ว่า ชื่อว่าการเกิดเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีกแล้ว <O:p

    เราก็ตั้งใจจับคำภาวนา เกาะภาพพระ ตั้งใจว่าถ้าหากว่าตาย เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้าหากว่าภาพซากศพนั้นมีสีใดสีหนึ่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาวก็ตาม ให้จับสีสันนั้นเป็นนิมิต พร้อมกับคำภาวนา กำลังจิตจะเข้าสู่ฌานสี่ได้ <O:p

    เมื่อถึงวาระ ถึงเวลาแล้ว เอากำลังใจส่วนนั้นเกาะพระนิพพานแทน ให้อยู่กับภาพพระของเรา อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หรือว่าอยู่บนวิมานของเราในพระนิพพาน ตั้งใจว่าถ้ามันตายลงไปเมื่อไร เราขอมาอยู่พระนิพพานนี้แห่งเดียว <O:p

    ถ้าทำอย่างนี้จนอารมณ์ทรงตัวเป็นปกติ ทุกวันทุกคืน กำลังใจรู้อยู่ว่าร่างกายนี้มันไม่ดี มันไม่สวยไม่งาม มีสภาพความเป็นจริงที่ประกอบไปด้วย อวัยวะภายในใหญ่น้อย มีเลือด มีน้ำเหลือง น้ำหนองเป็นปกติ มันเน่ามันเปื่อยเป็นปกติ <O:p

    เราไม่ต้องการร่างกายของเรา เราไม่ต้องการร่างกายคนอื่น เราไม่ต้องการร่างกายสัตว์อื่น เราไม่ต้องการเกิดมาทุกข์แบบนี้ เราต้องการที่เดียวคือพระนิพพาน ถ้าจิตจดจ่ออยู่แบบนี้ ก็ขึ้นชื่อว่า เราปฏิบัติในอสุภกรรมฐานจนถึงที่สุดได้แล้ว <O:p

    สำหรับอีกจุดหนึ่ง ที่ลืมกล่าวเสียตั้งแต่ตอนแรก คือว่า ถ้าเราพิจารณาในซากศพ ให้เลือกพิจารณาซากศพที่เป็นเพศเดียวกับตัวเอง ไม่อย่างนั้นอาจจะเจอลักษณะเดียวกับผม <O:p

    คือว่าสมัยนั้น ลูกศิษย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำคนหนึ่ง ก็คือจ่าสุรินทร์ อยู่ที่นิติเวช กรมตำรวจ ถึงเวลามีซากศพเข้ามา ก็จะโทรศัพท์บอกพระในวัด “หลวงพี่ครับ มีศพเข้ามาแล้ว ใครจะมาพิจารณาซากศพก็รีบมานะครับ..” <O:p

    ถึงเวลาก็ขออนุญาตเขาเข้าไป ปรากฏว่าศพบางศพสภาพมันดี ทีนี้ความดื้อด้านของจิต แรก ๆ ใหม่ ๆ เข้าไปมันก็อ้วกซะไม่มี แต่พอนานไปจิตมันเริ่มด้าน มันจะเลือกดูแต่ที่มันยังดี ๆ อยู่ ดูในอวัยวะในส่วนที่ตัวเองชอบ <O:p

    เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้ พยายามพิจารณาซากศพที่เป็นเพศเดียวกับตัวเอง เพื่อจิตที่มันดื้อ จะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่นได้ เรื่องสภาพดื้อของจิตนี้ บางคนโชคดีเหลือเกิน แค่เห็นเท่านั้นเอง ก็จดจำไปตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปดูซ้ำ มันคาจิตคาใจ อยู่ในลักษณะที่กลัวไปเลยก็มี <O:p

    แต่ขณะเดียวกัน บางประเภทอย่างผมเอง มันดื้อมาก ตอนแรกมันก็อาเจียนบ้าง อารมณ์เกี่ยวกับกามราคะ หายหดหมดเกลี้ยงไปเป็นอาทิตย์ ๆ แต่พอนาน ๆ ไปมันกำเริบขึ้นมาใหม่ แล้วเราจะไปเลือกดูแต่ที่มันดี ๆ <O:p

    ในสมัยนี้ถ้าหากว่ามันหาซากศพยาก มีโอกาสเจอสัตว์ตายข้างถนนก็ดี มีโอกาสที่โยมเขาเปิดโลงศพ เพื่อจะล้างหน้าศพก็ดี หรือว่าไปธุดงค์ เจอซากสัตว์อยู่ในป่า เจอ กระดูกสัตว์อยู่ในป่าก็ดี ให้ฉวยโอกาสฝึกในอสุภกรรมฐานเอาไว้ <O:p

    พยายามทำให้คล่อง คล่องตัวถึงขนาดที่เรียกว่า มันสามารถมาช่วยเหลือเราได้ในขณะจิตที่เราเผลอ ผมเองเจอมาคือว่า มีวันหนึ่งกำลังเข้ากรุงเทพ ปรากฏว่ารถวิ่งไป ๆ มันก็เป็นเวลาที่นักเรียนกำลังไปโรงเรียน <O:p

    ไปเจอนักเรียนผู้หญิงวัยรุ่นอยู่ ก็เออ..ชอบใจ ลักษณะท่าทางของเธอแจ่มใสเหลือเกิน ไม่ได้ยินดีในสภาพของเธอ แต่ว่าเห็นเออ..น่ารักนะ ท่าทางแจ่มใส ตั้งอกตั้งใจไปโรงเรียน ลูกเราหลานเราเป็นอย่างนี้ก็ดี คิดไม่ทันจะจบภาพอสุภกรรมฐานมันแทรกพรวดขึ้นมา แหม..ลักษณะสีสัน กลิ่นอะไรมันมาครบ เกือบจะอาเจียน..! <O:p

    สมัยบรรดาผีที่เขาหลอกผมนี่ เขาเอามาแต่ละซากนี่ สีสัน กลิ่นมาครบถ้วนสมบูรณ์ บางทีเลือดไหลนองท่วมพื้น จนกระทั่งเราจะอาเจียนออกมา ในเมื่อภาพมันปรากฏพรวดขึ้นมาแทนที่ มันจะไปเออ..น่ารัก ก็กลายเป็นจะอาเจียนขึ้นมาแทน

    ต้องทำให้มันคล่องตัวให้ได้ชนิดที่ว่า ถึงเวลามันสามารถโผล่ขึ้นมา สกัดตัวอารมณ์อกุศล ที่มันแทรกใจของเราขึ้นมาได้ทัน มันถึงจะใช้ได้ <O:p

    อย่างครูบาอาจารย์สายของเรา คือ หลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก หลวงปู่พริ้งนี่เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ปานอีกทีหนึ่ง แม้จะเกิดร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกัน แต่ว่าท่านอยู่ในระดับอาจารย์ หลวงปู่ปานไปขอศึกษาจากท่าน <O:p

    หลวงพ่อฤๅษีลิงดำกล่าวว่า “หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก (หรือบางมะกอกอันเดียวกัน) เป็นพระที่ชำนาญในอสุภกรรมฐานที่สุด ท่านสามารถเนรมิตซากศพเป็นตัวๆ ขึ้นมาอยู่ต่อหน้าให้พิจารณาได้เลย..”<O:p

    นั่นครูบาอาจารย์ของเรา เก่งกาจสามารถขนาดนั้น อันนั้นต้องมีความสามารถในเรื่องของอภิญญาสมาบัติเป็นปกติ ไม่อย่างนั้นจะทำเช่นนั้นไม่ได้ ลำพังอสุภกรรมฐานจะให้เป็นนิมิตติดตาก็ยากแล้ว <O:p

    ในเมื่อโอกาสในการที่จะทำอสุภกรรมฐานมันมีน้อย แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีเลยทีเดียว เราเห็นบาดแผลตามร่างกายของเรา ตามร่างกายของสัตว์ ก็จับเป็นคำภาวนาได้ จะเป็น วิกขายิตกัง ปฏิกุลัง..วิกขายิตกัง ปฏิกุลัง ก็ได้ <O:p

    หรือว่าถ้ามันมีน้ำเหลืองไหลอยู่ ก็เป็น ปุฬุวกัง ปฏิกุลัง ปุฬุวกัง ปฏิกุลัง ขออภัย วิปุพกัง ปฏิกุลัง ไปก็ได้ แล้วแต่เราจะพิจารณา ทุกอย่างไม่ว่าจะคน จะสัตว์ สิ่งของอะไรก็ตาม มันก็เสื่อมสลาย ก็ตาย ก็พังไปในที่สุด ไม่มีอะไรทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้

    เกิดเมื่อไร ทุกข์เมื่อนั้น สถานที่เดียวที่พ้นตาย พ้นเกิด พ้นทุกข์ ก็คือพระนิพาน อย่าลืมจุดสุดท้ายของเราจับพระนิพพานให้ได้ เกาะภาพพระให้ติด หรือว่าเกาะสีสัน วรรณะอันใดอันหนึ่งของอสุภกรรมฐาน ภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัว <O:p

    นึกเมื่อไรให้ภาพปรากฏเมื่อนั้น มันถึงจะอาศัยได้ มันถึงจะกล่าวได้ว่าเราปฏิบัติในอสุภกรรมฐานอย่างแท้จริง สำหรับวันนี้เวลาก็ไม่พอแล้ว ให้ทุกคนคลายกำลังใจออกมา แล้วก็ตั้งใจในการสวดมนต์ ทำวัตรของเราต่อไป<O:p

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ<O:p
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๗<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 18 มิถุนายน 2010
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...