พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๒ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nouk, 8 พฤษภาคม 2013.

  1. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๒
    พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


    วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร

    พระธรรมเทศนาโปรดพระเณรที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ สกลนคร เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๖
    พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าถ้ำศรีแก้ว ผู้บันทึก
    คัดจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑
    โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔ กระทู้ 18109 โดย: เรือนธรรม 26 ธ.ค. 48

    ว่าด้วย ความ อยาก

    โลภนักมักลาภหาย

    มักหลาย กลายบ่ได้

    อยากกินหลายได้กินเท่าก้อย

    อยากกินน้อยได้กินเท่าโป้มือ ฯ

    นี่เราทั้งหลายจงพิจารณาดู ความโลภเป็นความฉิบหาย เรามักอยากได้หลาย ๆ ก็เลยกลายไม่ได้ เราอยากกินหลาย ๆ ทำไมจึงได้กินเท่าก้อย ผู้ที่อยากกินน้อย ทำไมได้กินเท่าโป้มือ นิ้วก้อยกับโป้มือ (หัวแม่มือ) อันไหนใหญ่กว่ากัน ทำไมจึงกลับกันเช่นนั้นเล่า ผู้ที่ว่าอยากได้หลายเลยกลับได้เท่านิ้วก้อยนิดเดียว ผู้มักน้อยแต่กลับได้หลาย นี้แหละผู้ที่มีความละโมบโลภมากมันเป็นอย่างนี้แหละ

    พวกเราอยากจะฉิบหายไหม พากันต้องการไหมความฉิบหาย ถ้าต้องการแล้วก็ให้พากันโลภให้มาก ๆ โกรธให้มาก ๆ หลงให้มาก ๆ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นไฟ ความโลภก็เป็นไฟความโกรธก็เป็นไฟ ความหลงก็เป็นไฟ

    ไฟแต่ละอย่าง ๆ นี้แหละย่อมเผาสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นทุกข์ทรมาน สัตว์ทั้งหลายที่ฉิบหายก็เพราะไฟโลภะโทสะโมหะ อันนี้มิใช่อื่นไกลเลยเราทั้งหลายจงพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจ พวกเราเป็นกรรมฐาน เราจะเอาอะไรมาตั้งให้เป็นหลักฐานของเรา ความโลภความโกรธ ความหลง เป็นมูลฐานแห่งฝ่ายอกุศล เป็นไปในทางเสื่อม ทางฉิบหายแก่ตัวของตัวเอง ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เป็นมูลฐานฝ่ายกุศล เป็นไปในทางเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวของตัวเอง เอกะมูลา ธรรมทั้งหลายมีมูลอันเดียว ก็ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีจิตนี้เป็นมูล ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ก็มีจิตดวงเดียวนี้แหละเป็นมูลเหตุ จึงได้นามว่า เอกะมูลา มีมูลเหตุมาจากอันเดียว คือจิต ถ้าจิตไม่โลภแล้วก็ไม่มีอะไรโลภ ถ้าจิตไม่มีความโกรธแล้วก็ไม่มีอะไรโกรธ ถ้าจิตไม่หลงแล้วก็ไม่มีอะไรจะหลง คนที่ตายไม่มีลมหายใจนั้นแหละคนไม่มีจิต ไม่เห็นมันโลภอยากได้อะไรสักอย่าง ไม่เห็นคนที่ตายมันโกรธแค้นเดือดดาลให้แก่ใคร ไม่เห็นคนตายมันหลงอะไร เห็นแต่ผู้ที่ยังมีจิตใจนี้แหละ ยังมีความหลงรักหลงชัง
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ความเจริญเล่าพวกเราต้องการไหม ถ้าพวกเราปรารถนาต้องการความเจริญแล้ว ให้พากันดับไฟเสีย ด้วยการพิจารณามูลกรรมฐาน ใครๆ บวชเข้ามาอุปัชฌาย์ได้สอนแล้วทุกคนไม่ใช่หรือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ให้พิจารณามูลกรรมฐานทั้ง ๕ อย่างนี้โดยอนุโลมปฏิโลม ให้เห็นตามความที่เป็นจริง ซึ่งมันเป็นของปฏิกูลตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อย่าหลงเห็นไปตามสัญญาวิปลาศว่าเป็นของสวยของงาม น่ารักใคร่ชอบใจ อันเป็นมูลเหตุแห่งอกุศลจิต ให้ตั้งใจพิจารณาในร่างกายของเรา ให้รู้แจ้งแทงตลอดว่า ร่างกายของเรานี้มันมีแต่ อะสุจิ อะสุภัง เป็นของสกปรก เมื่อจิตของเราเห็นอยู่อย่างนี้ เราจะมีความกำหนัดรักใคร่อะไร มีตรงไหนบ้างที่มันเป็นของสวยของาม พวกเราพากันมาหลงอะไรในรูปอันเป็นของสกปรกอันนี้ ให้พากันพิจารณาลอกเอาหนังออกให้หมดดูซี่ มันเป็นอย่างไรบ้าง หนังก็ยังเป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่หรือ ควรแล้วหรือ พวกเราจะมามีความกำหนัดรักใคร่ ชอบใจในหนังอันเป็นของสกปรก เหม็นเน่า เหม็นเบื่อ แสนที่จะน่าเกลียดน่าชังยิ่งนัก

    เมื่อเรามาพิจารณาเห็นอย่างนี้จิตของเราก็ไม่หลง ไม่มีความกำหนัดรักใคร่ในรูป เพราะมันเห็นตามสภาพตามความเห็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น อหังการ มะมังการไม่เป็นเราเป็นของเรา ไม่เป็นของเขาของใคร พิจารณาให้เป็นปฎิภาค คือให้แยกออกทำลายแยกให้กระจัดกระจายออกไป เมื่อจิตของเราพิจารณาเห็นได้อย่างนี้ จึงเป็นความเห็นชอบเป็นความเห็นอันประเสริฐ มีคุณค่าอันสูง เปรียบเหมือนต้นไม้ ถ้ายังเป็นต้นเป็นลำอยู่อย่างนั้นจะมีค่ามีราคาอะไร ต่อเมื่อเขาเอามาจักมาผ่ามาเหลา และเอามาขัดมาเกลา เอามาดัดแปลงประกอบกระทำเป็นเครื่องใช้ จึงเป็นของมีค่ามีราคา ใคร ๆ ก็ต้องการมีความปรารถนาอยากได้ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ต่อไป ให้พากันมาพิจารณาร่างกายนี้โดยปฏิภาค คือแยกออกจากสัตว์จากบุคคล จากตัวจากตน จากหญิงจากชาย จากความสมมติ ความนิยม ให้แยกผมให้เป็นส่วนผม และผมนี้ไม่ใช่สัตว์ ผมนี้ไม่ใช่บุคคล ผมไม่ใช่เรา ผมไม่ใช่ของเรา ผมไม่ใช่เขาและไม่ใช่ของเขา ของใคร ผู้ใดผู้หนึ่ง ด้วยว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นแต่อาการ มูลกรรมฐาน ๕ อย่างนี้เราทุกคนเห็นได้ด้วยตา ทั้งเห็นได้ทุกวันทุกเวลา ท่านจึงได้สอนให้พิจารณาไม่ให้หลงสำคัญผิด ว่าเป็นของสวยของงาม อันเห็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย

    ในธัมมจักกัปวัตตนสูตร อันเป็นพระปฐมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า เทฺว เม ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายไม่ควรเสพสองฝั่ง คือความรักและความชัง ให้ปฏิบัติอยู่ในสายกลาง คือความไม่รักและไม่ชัง เพราะความรักความใคร่ ความชอบใจด้วยอำนาจแห่งความกำหนัด มันเป็นไฟตัวราคะ เมื่อไฟราคะตัวนี้ติดขึ้นแล้วภายในจิตใจของผู้ใด ก็ย่อมแผดเผาจิตใจของผู้นั้นให้ได้รับความเดือดร้อน ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ไม่เป็นสุข เถลไถลไปตามอำนาจแห่งความรัก จนไม่มีสติเป็นคนเสียสติ ไม่มีปัญญาอุบายเป็นเครื่องรักษาตัวเอง เสียความสำรวมระวัง ไม่มีหิริ โอตตัปปะความละอายความเกรงกลัวในจิตใจ ให้ประพฤติความชั่วช้าที่เป็นกรรมอันลามก นำทุกข์นำโทษอันเป็นภัย นำความเดือดเนื้อร้อนใจมาสู่ตนของตน อันเป็นผลมาจากความรักและไฟราคะ นี่ภิกษุทั้งหลายอันพวกเธอทั้งหลายไม่ควรเสพสองฝั่ง อันเบ็นฝั่งฝ่ายแห่งความรัก และมันเป็นทุกข์เป็นโทษประกอบไปด้วยภัยมีประการต่าง ๆ อย่างนี้ ๑
     
  3. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ยังฝั่งอีกข้าง ๑ อันพวกเธอผู้เป็นบรรพชิตไม่ควรเสพ คือความชัง มันเป็นไฟตัวโทสะ เมื่อไฟคือโทสะตัวนี้ติดลุกขึ้นแล้ว ในจิตสันดานของบุคคลผู้ใด ย่อมแผดเผาบุคคลผู้นั้นให้มีจิตนั้นคิดประทุษร้าย กระทำสิ่งที่ลามก อันเป็นกรรมเลวทราม ไม่มีหิริและโอตตัปปะ อันเป็นความละอายต่อบาป เกรงกลัว ต่อบาป ความชั่วที่ตนกระทำนั้นแหละ มันจะนำทุกข์นำโทษนำภัย ให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจมาสู่ตนของตน อันเป็นผลมาจากฝั่ง คือความที่ภิกษุทั้งหลายไม่ควรเสพ คือความชัง ส่วนอันความไม่รัก ความไม่ชัง นั้นแหละเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางสายกลางที่ภิกษุควรพากันดำเนินและประพฤติปฏิบัติตาม มัชฌิมาสายกลาง ปฏิปทาอันเป็นข้อปฏิบัตินี้ เป็นทางที่ปราศจากภัยอันตราย อุปมาเหมือนเราเดินทางเราหลีกออกจากทางไปข้างซ้ายก็มีแต่ขวากแต่หนาม จะหลีกไปข้างขวาก็ไปโดนแต่หนามอีกนั่นแหละ หรือเปรียบเหมือนรถยนต์แล่นออกจากถนนไปหาฝั่งริมถนนข้างซ้ายก็ติด รถก็คว่ำ หรือแล่นออกไปหาฝั่งริมถนนข้างขวาก็ตก รถคว่ำ เป็นภัยอันตรายมีความเสียหายแก่ตัวของตัวเอง ถ้าหากว่ารถวิ่งไปตรงตามทางไม่หลีกออกจากทางแล้ว ก็แล่นไปได้สะดวกสามารถไปให้ถึงที่จุดหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย นี้ฉันใด อันภิกษุผู้ยินดีในความก้าวหน้าปรารถนาแต่ความสุขความเจริญแก่ตนเองแล้ว พึงเว้นการเสพสองฝั่งเสียให้เด็ดขาด พึงตั้งใจประกอบการประพฤติปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นหนทางสายกลาง เว้นจากความรักและความชัง อันเป็นมูลเหตุให้เกิดอภิชฌาและโทมนัส

    ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามหนทางสายกลางนั้น ต้องเป็นผู้สำรวมระวังจิต ย่อมรักษาจิตไม่ให้จิตเกิดอภิชฌา คือความยินดีในความรักใคร่ชอบใจ และโทมนัส คือความยินร้ายในอารมณ์ที่น่าเกลียดที่น่าชัง ต้องเป็นผู้มีสมาธิจิตอันสมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ตั้งมั่นอยู่ในท่ามกลางปริมณฑลแห่งศาสนา อยู่ตรงไหนปริมณฑลของศาสนา วัดจากไหนไปถึงไหน ท่านบอกว่าปริมณฑลของศาสนานั้นส่วนกว้างศอกกำมา ยาววา หนาคืบ คือเบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไปถึงสุดปลายเท้า ส่วนเบื้องบนก็ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงปลายผม ด้านข้างขวาก็ไปสุดปลายมือขวา ด้านซ้ายก็ไปสุดปลายมือซ้าย ด้านข้างหน้าก็ไปสุดที่กระดูกหน้าอก ด้านหลังก็ไปสุดที่กระดูกสันหลัง นี้เป็นปริมณฑลของศาสนามีอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นที่ไกล ศาสนาอยู่ในร่างกายของเรานี้ ที่เขาว่าศาสนาอยู่ที่เมืองลังกา ไม่ใช่เมืองลังกาโน้น อยู่ในเมืองคือร่างกายของเรานี้ ให้พวกเราภาวนาพิจารณากายอันนี้ จนให้เป็นกายปัสสัทธิจิตปัสสัทธิ คือสงบกายและสงบจิต ที่เรียกว่ากายวิเวก จิตวิเวก
     
  4. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เมื่อเราอบรมอยู่ในกายวิเวก จิตวิเวก ทำให้มากเจริญให้ยิ่งด้วยความไม่ประมาทในการประกอบกายวิเวกและจิตวิเวก เราก็จะได้ลุถึงซึ่งอุปธิวิเวกซึ่งเป็นความสงบอันยอดเยี่ยม เราควรปฏิบัติอย่างนี้ในหนทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิบัติ คือปฏิบัติตามหนทางสายกลาง จิตของเราจึงจะไม่หลงติดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในภพทั้ง ๓ อันเป็นที่ท่องเที่ยวเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ที่ยังมีความหลงติดอยู่ในกามารมณ์ รูปารมณ์ และอรูปารมณ์ สัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวถือเอากำเนิดเกิดอยู่ในกามภพก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกามารมณ์เป็นที่อยู่อาศัย สัตว์ทั้งหลายที่มีความประมาท เมาเพลิดเพลินหลงติดอยู่ในอารมณ์อันใด อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม สัตว์เกิดอยู่ด้วยอันใด ความแก่ของสัตว์ทั้งหลายก็แก่ด้วยอารมณ์อันนั้น เจ็บก็เจ็บด้วยอารมณ์อันนั้น ตายก็ตายด้วยอารมณ์อันที่ตนหลงนั้น ถ้ากิเลสความหลงตัวนี้ยังมีอยู่ตราบใด ความเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เวียนว่ายวนเวียน ไม่รู้แล้วสิ้นสุดลงได้ เมื่อความเกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีก ยังเป็นไปอยู่อย่างนี้ ทุกข์ทั้งหลายอันอาศัยความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วเกิดขึ้น ที่เรียกว่าชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ก็ย่อมติดตามทรมานสัตว์ทั้งหลายไปทุกภพทุกชาติไม่มีที่จะสิ้นสุดลงได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อเราทั้งหลายมามองเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่ในตัวของเรา อันตัวของเรานี้ตกอยู่ในกองทุกข์ ที่อาศัยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำเราแล้ว ควรแล้วหรือ เราจะมามัวหลงประมาทอยู่ ไม่รีบทำความเพียรในทางอันเป็นหนทางให้พ้นไปจากทุกข์ อันเป็นทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา เราควรประพฤติและปฏิบัติตามและพึงเว้น อันที่ภิกษุไม่ควรเสพสองฝั่ง คือความรักและความชัง แล้วมาตั้งอยู่ในความวิเวก คือกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ให้พากันทำให้มาก เจริญให้ยิ่งในความวิเวกเหล่านั้นโดยแยบคายในอุบายอันอาศัยความไม่ประมาท ปฏิบัติอย่างนี้อยู่ทุกวันทุกเวลา เราก็จะมีแต่ความสุขเกษมสันติตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ

    ที่มา :
     

แชร์หน้านี้

Loading...