พระธรรมเทศนา..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 8 กันยายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    ได้ใจแล้ว คือ ได้ธรรม
    เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม
    รู้ใจแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล
    ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน



    คติธรรมจากหลวงปู่
    การรักษาศีลธรรม โดยไม่มีใจเป็นตัวประธาน ผลก็คือ
    ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา และ ไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่น
    ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน ร่างกาย และจิตใจ ของกันและกัน
    ศีล คือ พืชแห่งความดีงามอันยอดเยี่ยม
    ร่างกายกับจิตใจ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
    เมื่อจิตใจไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ
    ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้
    หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี . . . ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
    สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย
    ดีใด ไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่า ดีเลิศ
    ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
    การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลกนั้น การบำรุงรักษาตน คือใจเป็นเยี่ยม
    จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี
    ใจนี้คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
    คนพลาดใจคือ คนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้
    แม้จะเกิดสักร้อยชาติ พันชาติ ก็คือ ผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง


    พัฒนาตน
    คนเราทุกคน . . . . .ใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ
    ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้ - ความฉลาดเท่านั้น
    ที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งกายและใจโดยถูกทาง
    ตลอดจนให้ผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย
    นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วย และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตด้วย
    จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง
    โดยไม่เลือกเพศ - วัย - ชาติ - ชั้นวรรณะ อะไรเลย

    ปล่อยวาง
    สิ่งที่ล่วงไปแล้ว . . . ไม่ควรทำความผูกพัน
    เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
    แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้น
    กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
    ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
    โดยความไม่สมหวังตลอดไป . . .
    อนาคต ที่ยังมาไม่ถึงนั้น เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
    อดีต . . . ปล่อยไว้ตามอดีต
    อนาคต . . . ปล่อยไว้ตามกาลของมัน
    ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
    เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย

    การรักษาศีล
    ศีลนั้นอยู่ที่ไหน มีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่าผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลง
    กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว รักษาได้ไม่กี่กาลก็ได้ผลไม่กี่กาล ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจ กล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้มีศีลจักมั่งคั่ง ไม่อด ไม่อยาก ไม่ยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์ จิตดวงเดียว เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ผู้มีศีลแท้ เป็นผู้หมดเวร หมดภัย

    หลวงปู่ตอบคำถามเรื่องการรักษาศีล และอะไรคือศีลอย่างแท้จริง
    ศีลที่แท้จริง คือความคิดในแง่ต่างๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามขอบเขตของศีลธรรม ที่เป็นสภาพปกติ ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาชื่อว่า มีสภาพปกติไม่คะนองกายวาจาใจ ให้เป็นกิริยาน่าเกลียด นอกจากความปกติดีงามทางกาย วาจา ใจ ของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่างที่พอแยกกันออกได้ไม่ยากนักว่า นั่นคือตัวบ้านเรือน และนั่นคือเจ้าของบ้าน ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบาก เฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกกันไม่ออก ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจกลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตามตลาดไปนานแล้ว และอาจมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่นๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาแล้วก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้นความไม่รู้ "อะไรเป็นศีลธรรมแท้" จึงเป็นอุบายวิธีหลีกภัยอันเกิดแก่ผู้มีศีลได้อย่างหนึ่งอย่างแยบยลและเย็นใจ อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยยาก แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกสบาย ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใดไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย ตัวจะตายจากศีล กลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีลเช่นเดียวกับคนที่เป็นห่วงสมบัติ ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้

    วาสนา
    วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต(ผู้มีปัญญาและประพฤติดี) วาสนาก็เลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิต ฉะนั้นบุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิตเพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น

    __________________
     

แชร์หน้านี้

Loading...