พระพุทธชินราช :

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 6 มกราคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    897e0b898e0b88ae0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b2e0b88a-e0b982e0b894e0b8a2-e0b899e0b89e-e0b8a7e0b8b4e0b88a.jpg
    ผู้เขียน วิชัย เทียนถาวร

    จังหวัดพิษณุโลกหรือเมืองสองแควอันยิ่งใหญ่ในอดีต มีวัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้คนทุกทั่วสารทิศต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่” ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) เป็นวัดหลวง ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2458

    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นวัดชั้นเอกวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านทางฝั่งตะวันออก เป็นวัดที่ประดิษฐานของพระศรีศาสดา พระพุทธชินสีห์ และพระพุทธชินราชอันเลื่องชื่อ โดยเฉพาะ “พระพุทธชินราช” ที่ประดิษฐานเป็นพระประธานองค์ใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปจะขานนามว่า “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว (2.875 เมตร) สูง 7 ศอก (3.5 เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง ตั้งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตก (ด้านริมน้ำน่าน) พระเกศ (ผม) มีลักษณะยาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ (ใบหน้า) ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมดังเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยองค์อื่นๆ พระขนง (คิ้ว) โก่ง เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย มีสังฆาฏิ (ผ้าคลุมกันหนาวที่ใช้ทาบบนจีวร) ยาว ปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ (นิ้วมือ) ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท (ฝ่าเท้า) แบนราบและค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปองค์อื่นในยุคสุโขทัย ส้นพระบาท (ส้นเท้า) ยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวรรณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ ที่พระเพลา (ตัก) ทั้งเบื้องขวาและซ้ายขององค์ (ตัว) ตามลำดับ

    นอกจากนั้นยังมีการประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วศิลปะอันงดงาม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยไม้แกะสลักที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สร้างสรรค์ผลงานโดยฝีมือช่างชั้นครูทางเหนือ ตัวเรือนทำจากไม้สัก ยอดบนเป็นปลายหางตัว “มกร” (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) ประกอบกันคล้ายช่อฟ้าอยู่ตรงปลายซุ้มและมีตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ เป็นลวดลายอันอ่อนช้อยครบองค์ประกอบของเครื่องสูง ไม่ว่าจะเป็นการขยับลำตัวในลักษณะงวงไอยรา การแกะสลักครีบตั้งขึ้นมาเป็นใบระกา ก่อนจะกระดกหัวเป็นมกรคล้ายพวกอุบะโค้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างคล้ายสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่งมีลำตัวยาวคล้ายนาคแต่ท่อนหัวซึ่งอยู่สองฟากองค์พระเป็นรูปตัวสัตว์ที่มีงวงคล้ายคชสาร (ช้าง) มีขาคล้ายราชสีห์ (สิงโต) เป็นไปได้ว่าไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมองค์พระพุทธชินราช แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์เรื่อยมา

    พระวิหารที่ใช้ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราชนั้นเป็นวิหารเก้าห้อง ได้รับการออกแบบแผนผังเป็นพิเศษเพื่อเชิดชูพระพุทธชินราชให้มีความโดดเด่น พื้นวิหารได้ลดระดับลงทีละน้อย เมื่อมองจากภายนอกพระวิหาร องค์พระจะอยู่ในระดับสายตาพอดี มีหน้ามุกโถง ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นโครงสร้างเครื่องประดับแบบสุโขทัย หลังคาซ้อนกันสามชั้น ชั้นบนสุดอยู่ตรงช่วงพระประธานและมีหลังคาปีกนกสองชั้นเลยออกมา หน้าบันของมุกโถงเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหมหรือจั่วภควัม ชั้นล่างสุดแกะสลักไม้เป็นรูปเทพพนม ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้

    และชั้นบนสุดตรงหน้าพรหมแกะสลักเป็นรูปแจกันดอกไม้ มีเทพยดายืนประนมมืออยู่ทั้งสองข้าง หน้าบันและลวดลายต่างๆ ลงรักปิดทองทั้งหมด ปั้นลมมีลักษณะเป็นเส้นอ่อนโค้งเล็กน้อย ประดับด้วยใบระกาแบบสุโขทัย หลังคาต่ำเพราะมีช่วงปีกนกถึงสี่ชั้น ผนังจึงต่ำมาหน้าต่างเป็นแบบลูกตั้ง ด้านละเจ็ดบาน สามารถปิดเปิดได้ อยู่ระหว่างเสาแบน หน้าต่างแต่ละบานเจาะช่องลมและช่องแสงสว่างบานละ 6 ช่อง เป็นช่องเล็กๆ ซึ่งแสงสว่างจะผ่านเข้าออกได้น้อยมาก

    พื้นผนังภายในระหว่างช่วงหน้าต่างมีงานจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในทุกช่อง แต่ละช่องจะมีรูปทวยเทพนั่งพับเพียบประนมกรกลุ่มละ 3 องค์ หันหน้าสู่พระประธาน พื้นหลังของเทพยดาเป็นลายดอกไม้ร่วง ซึ่งมีสีสดใสงดงาม สองทางเข้ามีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก และพุทธประวัติอยู่ทั้งทางซ้ายและขวาตามลำดับ

    ส่วนเบื้องหลังองค์พระพุทธชินราชนั้นใช้สีดำทาเป็นพื้น มีรูปเทพยดาประนมกรอยู่ข้างละองค์ ประดับด้วยดอกไม้ร่วงสีทอง ระยะห่างกันพองาม ภายในพระวิหารมีเสาโดยสองแถวเป็นเสากลมขนาดใหญ่แถวละ 7 ต้น รับกับชายคาปีกนก อีกสองแถวเป็นเสากลมขนาดเล็กอีกแถวละ 7 ต้น รวมเสาทั้งหมด 28 ต้น โดยเสาแต่ละต้นจะเขียนลายทองประดับพื้นสีดำเป็นลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ก้านแย่ง ช่วงคอเสาและเชิงเสาเขียนลายกรุยเชิงอย่างสวยงาม มีกลีบบัวซ้อนสลับกัน 5 ชั้น ลงรักปิดทองแวววาว รองรับขื่อและโครงสร้างแบบเครื่องประดับ ขื่อทาด้วยสีชาด

    ตอนหัวและท้ายขื่อเขียนประดับด้วยลายกรุยเชิง ตรงเสาและขื่อช่วงหน้าพระพุทธชินราชมีลายรวงผึ้งและที่เสามีลายสาหร่ายหัวนาคทั้งสองด้าน (พระพุทธชินราช ในพระราชนิพนธ์ของ ร.5 พ.ศ.2460)

    ตํานานของพระพุทธชินราชก่อนจะมาเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวพิษณุโลกนั้น มีความเป็นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ได้ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ 6 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1900 ตามพงศาวดารเหนือได้กล่าวเรื่องการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มีใจความว่า

    เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลกเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตรัสให้สร้างวัดพระรัตนมหาธาตุที่มีพระมหาธาตุรูปปรางค์สูง 8 วา และพระวิหารทิศกับระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง 4 ทิศ โดยโปรดให้ช่างชาวเชลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญชัย ร่วมมือกันสร้างพระพุทธรูป หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ 3 องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ โดยได้เริ่มทำพิธีเททองหล่อเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ พ.ศ.1498 แต่เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นติดองค์พระได้ไม่สมบูรณ์ จึงต้องทำพิธีหล่อทองในเวลาต่อมาอีก 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ โดยในครั้งหลังสุดพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงได้ตั้งสัจจาธิษฐานแล้วทำพิธีเททองหล่ออีกครั้งเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พ.ศ.1500 จึงได้สำเร็จเป็นองค์พระที่สมบูรณ์

    [​IMG] [​IMG]

    ซึ่งในช่วงเวลานี้เองก็ได้มีการปรากฏตัวของชีผ้าขาว (ปะขาว) ผู้หนึ่งมาจากแห่งหนใดไม่มีใครทราบได้มาช่วยปั้นและเททองหล่อพระให้แล้วเสร็จลุล่วงไปด้วยดี พร้อมกับทำสัญลักษณ์ตรีศูลไว้ที่พระพักตร์ และเมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ชีผ้าขาวผู้นั้นก็ออกเดินทางไปทางเหนือของเมือง พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็ได้อันตรธานหายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านทั้งหลายจึงเข้าใจกันว่าชีผ้าขาวผู้นั้น คือ ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) นฤมิตตนลงมาช่วยหล่อพระพุทธชินราชเป็นผลให้ได้พระพุทธชินราชที่มีพุทธลักษณะงดงามไร้ที่ติ ทำให้ทุกคนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนหมู่บ้านที่ชีผ้าขาวได้หายตัวไปนั้น ก็ได้ชื่อในภายหลังว่า บ้านปะขาวหายหรือตาผ้าขาวหายมาจนถึงทุกวันนี้ (จากตำนานพงศาวดารเหนือ)

    เมืองพิษณุโลกในช่วงเวลาที่มีการสร้างพระพุทธชินราชหรือหลวงพ่อใหญ่นั้น ก็ได้มีการสร้างพระเครื่องบรรจุกรุไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพื่อสืบทอดพุทธศาสนา พระเครื่องหลายพิมพ์มีแบบพิมพ์องค์พระลอกแบบพุทธศิลป์ที่สื่อความหมายถึงพระพุทธชินราชองค์ใหญ่ โดยพระพุทธชินราชใบเสมา เนื้อชินเงินก็ได้รับการคัดเลือกไว้ในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม เป็นศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น ซึ่งถูกขุดพบจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอีกด้วย

    นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมากราบนมัสการขอพรจากองค์พระพุทธชินราช ด้วยความเคารพเลื่อมใสในบารมีของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์นี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า พระพุทธชินราชมีความศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมไปด้วยบารมีแผ่กว้างไพศาลเพียงใด

    พระมหาอุปราชแห่งเมืองสองแคว

    ย้อนไปกว่า 450 ปี ณ พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองชั้นเอกที่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและการค้าที่เจริญรุ่งเรืองอย่างเมืองพิษณุโลกหรือที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองสองแคว” นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินแล้วเมืองนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปลดแอกกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยาจากการปกครองของอาณาจักรหงสาวดีอันยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น โดยมหาราชผู้ที่ต่อมามีพระนามปรากฏแก่ชนรุ่นหลังสืบไปตราบจนปัจจุบัน

    หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งแรกได้ 5 ปี “องค์ดำ” ผู้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตริย์ก็ได้เสด็จกลับจากการเป็นองค์ประกันของฝ่ายอยุธยาต่อกรุงหงสาวดีสู่แผ่นดินแม่อีกครั้ง เมื่อเสด็จกลับมาถึงได้ไม่นานนักก็มีรับสั่งจากพระมหาธรรมราชาโปรดเกล้าให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นพระอิสริยยศสูงสุด จะเป็นรองก็เพียงแต่พระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว อีกทั้งยังได้รับพระราชทานนามพระองค์ใหม่ว่า “พระนเรศวร” พระนเรศวรซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียงแค่ 17 พรรษา แต่ด้วยความรู้ความสามารถในศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาในช่วงที่ถูกจับเป็นองค์ประกันที่กรุงหงสาวดีจึงสามารถปกครองเมืองพิษณุโลกด้วยความเป็นธรรม ยึดถือประโยชน์สุขของปวงชนเป็นที่ตั้ง ก่อนคิดอ่านสะสมสรรพาวุธ เสบียงอาหารและไพร่พลคิดการสืบไปในภายภาคหน้า

    พระปรีชาสามารถทั้งในการเมืองและการสงครามของสมเด็จพระนเรศวรนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาอาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วกัน ในขณะที่ปกครองหัวเมืองหลักอย่างพิษณุโลกอยู่นั้นพระองค์ได้ยกทัพเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระธรรมราชาผู้เป็นพระบิดาออกรบป้องกันแผ่นดินจากการรุกรานของอาณาจักรเขมรละแวก ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นหลังจากประสบกับความเสื่อมโทรมมาเป็นเวลานานอยู่หลายครั้ง หลังจากการรบที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี สมเด็จพระนเรศวรจึงคุมกองกำลังทหาร 3,000 นายเข้าปะทะกับทัพของพระทศราชาที่รุกเข้ามาปล้นสะดมยังเมืองสระบุรีและพื้นที่โดยรอบซึ่งมีกำลังมากกว่าเกือบเท่าตัว ทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่าแต่พระองค์ก็วางกลศึกตามหลักพิชัยสงครามจนทัพของพระทศราชาแตกพ่ายกลับไปอย่างง่ายดาย ศึกครั้งนี้จึงทำให้แม่ทัพนายกองทั่วทั้งแผ่นดินสุวรรณภูมิทั้งหมดรู้ถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ อาณาจักรเขมรละแวกจึงไม่กล้าที่จะยกทัพเข้ามารุกรานนับแต่นั้นมา

    ภายหลังเมื่อฝ่ายหงสาวดีมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจากพระเจ้าบุเรงนองสู่พระเจ้านันทบุเรงได้ไม่นาน พระเจ้านันทบุเรงไม่สามารถปกครองหัวเมืองประเทศราชได้เหมือนดั่งผู้เป็นพระราชบิดาจนทำให้เหล่าหัวเมืองน้อยใหญ่ได้รับความทุกข์ร้อนเป็นอันมาก เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2127 สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงประกาศตัดสัมพันธไมตรีกับกรุงหงสาวดี โดยมีราษฎรและเทวดาฟ้าดินทั้งหลายที่มาเป็นสักขีพยานกัน ณ เมืองแครง

    เหตุการณ์ครั้งนี้เองจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ถูกจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ของชาวพิษณุโลกที่ย้ำเตือนชนชาติไทยทั้งปวงถึงความมีอธิปไตยเหนือแผ่นดินบ้านเกิดตน ไม่ยอมให้ใครมารุกรานไงเล่าครับ

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/columnists/news_1303108
     

แชร์หน้านี้

Loading...