พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย..(พระแก้วขาว)

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย deneta, 25 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. deneta

    deneta เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    2,711
    ค่าพลัง:
    +5,720
    [​IMG]
    ประวัติ พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย..

    พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้น ณ ที่ใด
    เพียงแต่ทราบว่าพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกองค์นี้มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ข้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาวซึ่งมีเรื่องปรากฏในตำนานโยนกว่า
    พระแก้วขาวองค์นี้ พระอรหันต์ได้แก้วขาวมาแต่จันทรเทวบุตร จึงได้ให้พระวิษณุกรรมสร้างเป็นพระพุทธปฏิมากร

    ครั้นสร้างสำเร็จแล้วได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ๔ องค์ คือที่พระเมาฬีองค์หนึ่ง พระนลาฏองค์หนึ่ง พระอุระองค์หนึ่งและพระโอษฐ์องค์หนึ่ง
    พระแก้วขาวองค์นี้ได้ประดิษฐาน ณ กรุงละโว้ เป็นเวลานานจนถึงกาลที่พระฤาษีสุเทพสร้างเมืองหริภุญชัย และขอพระนางจามเทวีราชธิดาเจ้ากรุงละโว้
    ขึ้นมาครองนครหริภุญชัย จนถึงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๑ ได้อัญเชิญไปไว้ยังเมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต
    พระแก้วขาวนี้มาประดิษฐานในเมืองเชียงใหม่นาน ๘๔ ปี จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๐๙๕ พระเจ้าไชยเชษฐา
    จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองหลวงพระบางด้วยกันกับพระแก้วมรกต..


    ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๑๐๗ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้นในพุกามประเทศ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงเห็นว่า ที่ตั้งเมืองหลวงพระบางนั้นมีทำเลซึ่งจะสู้ข้าศึกศัตรูมิได้
    จึงได้โปรดให้ย้ายราชธานีลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองเวียงจันทร์ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับ ณ เมืองเวียงจันทร์นั้น ปรากฏแต่ว่าให้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงไปด้วย
    ส่วนพระแก้วขาวหาได้อัญเชิญลงไปด้วยไม่ อาจเป็นไปได้ว่าในเวลามีเหตุจลาจลคงมีผู้พาหนีไป แล้วจึงเอาไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยจะทิ้งอยู่นั่นไม่ถึงร้อยปี

    ตามตำนานกล่าวว่ามีพรานสองคนชื่อ พรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่าได้พบพระแก้วนี้อยู่ภายในถ้ำในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พรานทั้งสองรู้ว่าเป็ฯของวิเศษแต่สำคัญว่าเป็นเทวรูป
    จึงไปเซ่นบวงสรวงบนตามวิสัยพราน ภายหลังทั้งสองเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยวเกรงว่าใครไปมาพบเข้าก็จะลักเอาไปเสีย จึงคิดกันจะอัญเชิญมารักษาไว้เซ่นบวงสรวงที่บ้านเรือนของตน
    จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยกับคานหน้าไม้ ในขณะที่เดินมานั้นพระแก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบหน้าไม้ลิไปหน่อย พรานทึงและพรานเทิงได้รักษาพระแก้วไว้ที่บ้านต่อมา
    เมื่อไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยที่บนบานพระแก้วจึงเอาโลหิตแต้มเซ่นเป็นนิตย์

    ครั้นสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เจ้าชัยกุมารเจ้านครจำปาศักดิ์ได้ทรงทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนัง ซื้อเขาสัตว์ป่าตามบ้านพรานว่า พรานทึง พรานเทิง มีพระแก้วเป็นของวิเศษอยู่องค์ ๑
    เจ้าชัยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวแก่พรานทึง พรานเทิงได้พระแก้วผลึกมาเห็นว่าพุทธปฏิมาอันวิเศษ จึงได้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชาในนครจำปาศักดิ์
    ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิ์มีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้มิได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี ดังนั้นแม้กองทัพไทยยกไปถึงนครจำปาศักดิ์เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต
    คราวได้พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกองค์นี้แต่อย่างใด ด้วยพวกชาวนครจำปาศักดิ์พากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย

    ครั้งเจ้าชัยกุมารถึงแก่พิราลัย เจ้าหน้าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ได้โปรดให้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เจ้าหน้าได้โปรดให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกไว้ในเมืองใหม่
    แต่ความก็มิได้ทราบเข้ามาถึงกุรงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ ๑ ครั้นเจ้าหน้าถึงแก่พิราลัย ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
    ใช้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าหน้าเมื่อปีมะแมตรีศก พุทธศักราช ๒๓๕๔ ข้าหลวงได้ไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้าจึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์ว่า
    พระแก้วผลึกนี้เป็นของวิเศษไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ชายเขตแดนพระราชอาณาจักรและเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง
    หากมีเหตุเช่นนั้นอีกของวิเศษอาจจะเป็นอันตรายหายสูญไป พวกท้าวพระยานครจำปาศักดิ์เห็นชอบด้วยจึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลถวายพระพุทธรูปแก้วผลึกองค์นี้
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก และมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงพระมหานคร

    เมื่อมีงานสมโภชที่กรุงเทพมหานครเสร็จแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนี้ไปไว้ ณ โรงที่ประชุมช่าง
    ข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ได้มีพระบรมราชโองการให้ช่างจัดเนื้อแก้วผลึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูปมาเจียระไนเป็นรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้น
    ครั้นต่อพระกรรณบริบูรณ์แล้วให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธรูปแก้วผลึกให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน
    แล้วจึงทรงพระราชดำริให้ช่างปั้นฐานมีหน้ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย และหน้ากระดานบนลวดทับหลังเกษตรแก้ว ต่อองค์พระปฏิมา เมื่อทรวดทรงสัณฐานงดงามพึงพอพระราชหฤทัยแล้ว
    ให้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์แต่งให้เกลี้ยงเกลาสนิทแล้วหุ้มด้วยทองคำทำให้เกลี้ยงเกลาขึ้นเงางาม ด้วยชอบพระราชหฤทัยว่าเนื้อแก้วเกลี้ยงใสบริสุทธิ์ติดต่อกับเครื่องทองอันเกลี้ยงนั้นงามยิ่งนัก
    หากแต่ยอดพระรัศมีพระศกยังไม่ต้องอย่างแบบแผนพระพุทธรูปจึงมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้ม ส่วนพระเศียรที่มีพระศกแล้วดุนให้เม็ดพระศกเต็มตามที่ แล้วต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดี
    มีเพชรประดับใจกลางหน้าหลังและกลีบต้นพระรัศมี เมื่อเครื่องทองพระศกพระรัศมีสำเร็จแล้วถวายสวมลงพื้นทองและช่องดุนพระศกก็มาปรากฏข้างพระพักตร์เป็นรวงผึ้งไป
    พระพักตร์ก็เห็นพรรณเหลืองคล้ำไม่ผ่องใสเหมือนสีพระองค์ จึงได้มีรับสั่งให้ประชุมนายช่างที่มีสติปัญญาปรึกษาคิดแก้ไข จึงปรึกษาตกลงกันเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิ์แผ่หุ้มลงเสียชั้นหนึ่งก่อน
    ขัดเงินข้างในให้เกลี้ยงชักเงางามแล้วจึงสวมพระศกทองคำลงชั้นนอกแผ่นเงิน ก็เห็นพระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลดีเสมอกับพระองค์

    ครั้นแล้วจึงมีรับสั่งให้นำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อยพอจะสอดลงในช่องบนพระจุฬาธาตุเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้พอสมควรเป็นอุดมปูชนียวัตถุ
    และให้นำตัวทองน้อยเท่ากับช่องพระเนตรแล้วลงยาราชาวดีขาวดำตามที่พระเนตรขาวดำแล้วฝังให้แนบพระเนตรให้งามดีขึ้น
    เพราะแต่ก่อนนั้นพระเนตรเป็นแต่ขุมแล้วแต้มหมึกและฝุ่นเป็นขาวดำเท่านั้น ไม่มีผิวเป็นมั่นคงเหมือนผิวยาราชาวดี นอกจากนี้ยังมีรับสั่งให้ช่างทองทำฉัตรทองคำ ๕ ชั้น
    ชั้นต้นเท่าส่วนพระอังสาลงยาราชาวดีประดับพลอยมีใบโพแก้วห้อยเป็นเครื่องประดับ ปลายคันฉัตรปักลงกับฐานข้างเบื้องพระปฤษฏางค์ พระพุทธปฏิมา
    และให้ทำสันถัตห้อยหน้าฐานพระพุทธปฏิมาด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีประดับเพชรและพลอย ครั้นการสำเร็จแล้วจึงให้อัญเชิญไปประดิษฐานในหอพระสุลาลัยพิมาน
    ซึ่งประดิษฐานอยู่ข้างบุรพทิศพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลาเข้าค่ำมิได้ขาด
    ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตกแต่งหอพระสุลาลัยพิมานด้วยเครื่องแก้วล้วนแต่ของอย่างดีที่มีเข้ามาจากต่างประเทศเป็นอันมาก
    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปแก้วผลึก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้มาแต่เมืองนครจำปาศักดิ์
    ทรงทำเครื่องประดับพระองค์แล้วเสร็จประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า แต่ยังหามีเพชรพลอยที่มีราคามากไม่ จะทรงทำฉลองพระเดชพระคุณใหม่ให้งดงามดียิ่งกว่าเก่า
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างกระทำเครื่องประดับพระองค์และฐานใหม่ด้วยเพชรพลอยใหญ่ ๆ มีราคาเป็นอันมาก มีฉัตรกลางและฉัตรซ้ายขวาด้วย
    ครั้นถึงวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ (วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔) ได้ทำการฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    แล้วถวายพระนามว่า พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงพระราชอุทิศถวายสิริราชสมบัติแด่
    พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ๓ วันกับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขอแรงเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่ ตั้งโต๊ะที่หน้าพระอุโบสถด้วยเครื่องโต๊ะนั้น
    ก็เปลี่ยนทุกวันประกวดประขันกันยิ่งนัก

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพรรณนาถึงพุทธลักษณะและเนื้อแก้วของพระพุทธบุษรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยไว้ตอนหนึ่งว่า..


    .."พระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วผลึกขาวบริสุทธิ์อย่างเอกอุดม ทึบทั้งแท่งงามหนักหนาที่ช่างทองเรียกว่าบุษย์น้ำขาวบ้าง เพชรน้ำขาวบ้าง โดยฝีมือช่างทำก็งามดีกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ
    บรรดามีในที่ต่างๆ ที่ช่างดีดีทำ แม้นใครจะพิเคราะห์โดยละเอียดจนถึงเอากางเวียนมากางจับกระเบียดเทียบเคียงดูก็ดี จะจับส่วนที่คลาดเคลื่อนไม่เที่ยงเท่ากัน
    หรือจะติว่าที่นั้นๆ ไม่งามไม่ดีจะว่าดังนี้โดยความจริงใจจะได้เป็นอันยาก เสียอยู่แต่ปลายพระกรรณข้างขวานั้นลิชำรุดอยู่หน่อยหนึ่ง ถึงกระนั้นก็มีผู้เอาเนื้อแก้วเช่นนั้น
    เจียระไนแล้วตัดติดสนิทดีหามีแผลต่อปรากฏไม่ น้ำแก้วใสบริสุทธิ์โปร่งแลดูตลอดหน้าไปหลังและหลังไปหน้า แต่ที่ต้นพระเพลาลงมาจนทับเกษตรนั้นมียวงดังฝ้่ายขาว
    แทรกอยู่บ้าง เป็นเหตุให้ผู้เห็นแน่ใจว่าแก้วนั้นเป็นแก้วศิลาแท้มิใช่แก้วหุงสามัญดังเครื่องกระจก ในส่วนทับเกษตรใต้พระองค์พระพุทธรูปนั้นมีรอยร้าวรานอยู่หน่อยหนึ่ง
    แต่ไม่เกินขึ้นถึงองค์พระพุทธรูปจนผู้ดูจะเห็นได้ เมื่อพระพุทธรูปนั้นประดิษฐานอยู่บนแท่นสถานมีทับเกษตรจมลงในพุทธอาสน์แล้ว รอยรานร้าวนั้นก็มิได้ปรากฏเห็นเลยทีเดียว
    พระพุทธรูปแก้วองค์นี้งามยิ่งนักหนาหาที่จะเปรียบมิได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนและเกาะสิงหลลังกาที่เขาทำเป็นแว่นตาหรือรูปพระพุทธปฏิมาและส่ิงอื่นใช้อยู่นั้น
    เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไปคือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวไปสู้ไม่ได้เลย

    พระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้มีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ ๑๒ นิ้ว หน้าตักวัดแต่ระวางพระชานุทั้งสอง ๙ นิ้วกับกระเบียดอัษฏางค์
    นิ้วที่ว่านั้นคือนิ้วช่างไม้นับนิ้วหนึ่งคือ ๗ เมล็ดข้าวเปลือกเรียงกัน
    พระพุทธรูปแก้วผลึกพระองค์นี้เป็นของดีอัศจรรย์นักหาที่จะมีอื่น ซึ่งจะบริสุทธิ์สะอาดงามดีเสมอมิได้เลยเป็นของวิเศษประเสริฐและเป็นรูปพระพุทธเจ้าแท้ไช่เทวรูปและตุ๊กตา
    เพราะมีทีท่าได้ส่วนกับพระพุทธลักษณะ และมีอาการทรงจีวรสบงผ้าพาดเป็นอย่างพระพุทธรูปแท้ทีเดียว ผู้ที่แต่งจดหมายกำหนด
    นี้ได้บูชาปฏิบัติและได้ตรวจตราดูพระพุทธรูปแก้ว พระองค์นี้อยู่เนืองๆ นานกว่า ๕๐ ปี สังเกตุเห็นเป็นแน่แท้ดังนี้แล.."..



    โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสื่อมใสในพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้าง
    พระพุทธรัตนสถานขึ้นตรงหน้าพระพุทธมณเฑียรทางด้านตะวันออก สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระวิหารนี้เสาและฝาผนังพนักล้วนสร้างด้วยศิลา
    บานประตูหน้าต่างประดับมุกพื้นพระวิหารปูด้วยเสื่อเงินมีฐานชุกชีทำด้วยงาช้างชั้น ๑ รองบุษบกทองคำประดับพลอยที่ตั้งพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชในปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผูกพัทธสีมา
    พระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถที่ทรงทำสังฆกรรม เมื่อเสร็จการทรงผนวชแล้ววัดพระพุทธรัตนสถานได้เป็นที่ข้างในทำพิธีพุทธบูชาต่อมา

    ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ กล่าวความว่าในตอนปลายรัชกาล ในวันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ เวลาย่ำรุ่งแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ถวายพระธำมรงค์เพชรใหญ่ราคา ๑๐๐ ชั่ง บูชาพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยองค์ ๑ ส่วนในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน กล่าวความว่า
    ทรงมีพระบรมราชโองการกับพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี (กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์) ให้จัดธูปเทียนเครื่องนมัสการไปทูลลาพระแก้วมรกตกับพระบรมอัฐิ
    หีบพระธำมรงค์หีบหนึ่ง พระมหาสังวาลองค์หนึ่ง ให้ถวายพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย และต่อมาอีกไม่กี่วันก็เสด็จสวรรคต (๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑)

    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
    ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเมื่อเสด็จวรรคตแล้วได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานยังพระพุทธรัตนสถานอีกครั้งหนึ่ง

    ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต.


    ประวัติ พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กุมภาพันธ์ 2013

แชร์หน้านี้

Loading...