พระสงฆ์กับเหตุบ้านการเมืองในอดีต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 9 กันยายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    [​IMG]
    พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับคน สภาพแวดล้อม ครอบครัว อาชีพ ปัญหาสังคม และประเทศชาติส่วนรวม ตลอดจนปัญหาโลก ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ปัญหา ทุกอย่าง ล้วนมีเหตุ มีปัจจัย เชื่อมโยงก่อให้เกิดให้มีเสมอ จะหยุดปัญหา เหล่านั้นได้ ก็ต้องหาทางหยุดต้นเหตุให้ได้เสียก่อน ความสัมพันธ์ระหว่าง พระพุทธศาสนา และพระสงฆ์ กับเหตุบ้านการเมือง ในอดีตนั้น เกี่ยวข้อง กันมาโดยตลอด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะถือว่าหลักธรรม ใน พระพุทธศาสนา สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง สอดคล้องเกี่ยวข้อง กับคนในสังคม และการปกครองทุกระดับชั้นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใดก็ตาม ต่างก็เรียกร้องโหยหา แต่ความถูกต้องความเป็นธรรมในสังคม อยากมีอยากเห็นบ้านเมืองที่มีแต่ความสงบเย็น คนในสังคมเคารพกฎหมาย ยึดมั่นอยู่ในหลักศีลธรรม ประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของชาติ สามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจตลอดเวลาว่า "เรามีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ"
    โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยัน ให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือ
    สมัยพุทธกาล
    ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้น มีข้อความกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค และคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสีนี ว่า : หลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูได้ไปคบกับพระเทวทัต จนทำให้พระองค์หลงเดินทางผิด ทำบาปหนักมากมาย เช่น ถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระบิดา ของพระองค์เอง เพียงเพื่อต้องการขึ้นครองราชสมบัติแทนเท่านั้น ถือว่าพระองค์ ได้ทำกรรมหนักที่สุด ที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ถึงกับห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ต่อมาพระองค์ก็ทรงมีความทุกข์มาก
    ทุกครั้งที่พระองค์ทรงหลับพระเนตรทั้งสองลงด้วยตั้งพระทัยว่า เราจะหลับ ก็สะดุ้งเฮือกเหมือนถูกหอกตั้ง ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงเอา ทรงหวาดผวาเกรงว่าจะมีภัยเกิดขึ้นแก่พระองค์ตลอดเวลา จนหาความสำราญเบิกบานพระทัยไม่ได้เลย
    คืนหนึ่ง ในขณะที่พระองค์ประทับนั่งบนปราสาทและได้ทอดพระเนตรออกไปสู่ท้องฟ้าอันกว้างไกล พร้อมกับเปล่งอุทานว่า ท่านทั้งหลาย คืนนี้พระจันทร์เต็มดวง ช่างสวยงามน่าชื่นชมยิ่งนัก เราควรเข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ท่านใดดี ถึงจะทำให้จิตใจเราผ่องใสขึ้นมาได้บ้าง หมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ บัดนี้ พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่ สวนอัมพวัน ของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ พระเกียรติศัพท์ของ พระองค์แผ่ไพศาล ยิ่งนัก ขอให้พระองค์เสด็จเข้าเฝ้าเถิดพระเจ้าข้า พร้อมทั้งได้พรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้ามากมาย จนพระเจ้าอชาตศัตรู คล้อยตาม และมีรับสั่งให้เตรียมการจัดขบวนเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่พอพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ จะถึงวัดอัมพวันพระองค์ก็ทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น พระโลมาลุกชูชัน ตรัสถามหมอชีวกว่า
    นี่ท่านไม่ได้หลอกเรามาให้ศัตรูฆ่าแน่นะ ก็ไหนว่ามีพระอรหันต์ตั้ง ๑,๒๕๐ องค์ ทำไม่ถึงเงียบผิดปกติ แม้แต่เสียงจามเสียงไอ หรือเสียงพูดคุยกันก็ไม่เห็นมี ไม่ได้หลอกพระองค์มาแน่นอนพระเจ้าข้า จากนั้นก็นำพระองค์เสด็จเข้าไปภายใน จนถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง นั่นก็คือ พระอรหันต์จำนวน
    ๑,๒๕๐ องค์ นั่งสงบนิ่งเรียบร้อยเหมือนห้วงน้ำใสสงบเย็นไม่มีผิด
    เมื่อพระองค์เข้าไปนั่งต่อพระพักตร์แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระองค์จะโปรดประทานวโรกาสทรงพยากรณ์ปัญหาของหม่อมฉัน หม่อมฉันจะขอทูลถามปัญหาบางเรื่องพระเจ้าข้า
    พระพุทธเจ้ามีพระดำรัสว่า มหาบพิตร ถ้ามหาบพิตรทรงประสงค์จะถามสิ่งใดก็ถามเถิด จากนั้นพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ได้ทูลถามถึงปัญหาข้อข้องใจที่ค้างคามานานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้หาเลี้ยงชีพด้วยศิลปศาสตร์ต่างๆ มีอยู่เป็นจำนวนมากเหล่านี้ คือ ทหารช้าง ทหารม้า ทหารธนู ทหารเชิญธง ทหารจัดกระบวนทัพ ทหารหน่วยเสบียง พวกราชบุตรผู้เข้าสงคราม ทหารหน่วยอาสา แม่ทัพนายกอง ทหารหน่วยกล้าตาย ทหารสวมเกราะหนัง ทหารรับใช้ ช่างทำขนม ช่างกัลบก (ช่างตัดผม) พวกซักฟอก พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างทอหูก ช่างจักสาน ช่างปั้นหม้อ นักคำนวณ พวกนับคะแนน (นักการบัญชี) หรือศิลปศาสตร์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก บุคคลเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่ตนเห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงเลี้ยงตนเอง มารดา บิดา บุตร ภรรยา มิตรสหาย ให้เป็นสุข อิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลอันสูงส่ง แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เพื่อให้ได้อารมณ์ที่ดี มีผลเป็นสุข ให้เกิดในสวรรค์ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงสามารถทำให้รู้สามัญผล (ผลเกิดจากการเป็นสมณะ) ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันอย่างนั้นได้หรือไม่ พระเจ้าข้า พระเจ้าอชาตศัตรู ทูลถามพร้อมกับยกตัวอย่างว่า อาชีพทางโลกทุกอาชีพ เขาทำกันเพื่อเลี้ยงตัว ครอบครัว พ่อแม่และญาติๆ เป็นต้น ส่วนอาชีพนักบวชได้อะไร หรือบวชเพื่อจุดประสงค์ใด
    จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและเปรียบเทียบจนพระองค์ทรงเข้าพระทัย ทำให้พระองค์มีพระหฤทัยเบิกบาน มีความเกษมสำราญ ทรงลืมความทุกข์ความร้อนใจเพราะบาปที่พระองค์ได้ทำไว้ไปชั่วขณะ ทรงบรรทมหลับสนิทไม่มีนิมิตร้ายให้เห็นอีก และทรงประกาศพระองค์เป็นพระราชอุบาสกในพระพุทธศาสนา .. มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่พระองค์ทรงอาฆาตเจ้าลิจฉวีอย่างรุนแรง ด้วยเรื่องการขัดผลประโยชน์เกี่ยวกับการค้าที่ตำบลปัฏฏนคาม ริมฝั่งแม่น้ำคงคา หมายยกกองทัพไปขยี้เมืองวัชชีให้แหลกลาญ แต่พระองค์ทรงทราบว่า การที่จะสู้รบกับเจ้าลิจฉวี ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก อาจทำให้พลาดท่าเสียทีได้ เราน่าจะหาที่ปรึกษาที่ชาญฉลาดสักคน แต่สุดยอดของนักปราชญ์ยุคนี้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว น่าจะลองส่งคนเข้าเฝ้าทูลถามดู
    จากนั้นก็ส่งวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า แม้เมื่อเราไม่กล่าว อีก ๒-๓ วัน พระเจ้าอชาตศัตรูก็จะยกทัพไปฆ่าเจ้าวัชชีเหล่านั้น แต่เมื่อเรากล่าว วัสสการพราหมณ์ ก็ต้องไปทำลายความสามัคคีของเจ้าวัชชี แต่ต้องใช้เวลานานถึง ๓ ปี เจ้าวัชชีจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำบุญสร้างที่พึ่งให้กับตนเองได้อีก จึงมีพระดำรัสว่า ไม่มีใครสามารถจับพวกเจ้าวัชชีได้ด้วยวิธีการอื่น นอกจากการเจรจาหย่าศึก และทำให้แตกความสามัคคีเท่านั้น
    พระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสถามวัสสการพราหมณ์ว่า การเจรจาเพื่อหย่าศึกจะทำให้กองทัพไพร่พลของเราพบกับความพินาศ เราจะจับพวกเจ้าวัชชีด้วยวิธีทำลายความสามัคคีเท่านั้น แต่เราจะทำอย่างไรดี วัสสการพราหมณ์ กราบทูลแผนการที่ตนได้คิดเอาไว้แล้ว โดยทำทีเป็นขัดพระบรมราชโองการ จนถูกลงโทษจับโกนศีรษะ แล้วเนรเทศออกนอกเมืองไป
    [​IMG]

    ในที่สุดวัสสการพราหมณ์ก็สามารถเข้าไปอยู่ในเมืองวัชชีได้สำเร็จ และได้เริ่มวางแผนต่อไป
    จากความระแวงสงสัยในตัวของวัสสการพราหมณ์ ของเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย กลายเป็นความแตกแยก เจ้าลิจฉวีที่มีแต่ความสามัคคีกลมเกลียว เหนียวแน่น เป็นปึกแผ่นมาโดยตลอด เคยประชุมพร้อมเพรียง ปรึกษาหารือ ข้อราชการ เป็นประจำ ต้องมาแตกแยกทะเลาะวิวาทกัน เพราะคนเพียงคนเดียว
    ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมา ทุกคนกลับเมินเฉย ต่างก็พูดกันว่า ใครเป็นใหญ่ก็จงหาทางป้องกันเมืองเอาเองเถิด
    ในที่สุดเมืองวัชชีที่เคย เกรียงไกรมาโดยตลอด กลับต้องมาย่อยยับไปภายในพริบตา เพราะแผนการอันชาญฉลาดของวัสสการพราหมณ์เพียงคนเดียว.. นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสู้รบชิงชัยกันระหว่าง พระเจ้าอชาตศัตรู กับพระเจ้าปเสน ทิโกศล ปรากฏในพระไตรปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยสังคามวัตถุสูตร กล่าวว่า : ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู เจ้าครองแคว้นมคธ ทรงรับสั่งไพร่พล เตรียมกำลังเพื่อยกไปรุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้าครองแคว้น กาสี ฝ่ายพระเจ้า ปเสนทิโกศล ทราบข่าว จึงทรงจัดกระบวนทัพ ออกไปสู้รบป้องกันแคว้นกาสีเอาไว้
    ผลปรากฏว่า พระเจ้า ปเสนทิโกศล ทรงชนะจับพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นเชลยศึกได้ แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลมีดำริว่า
    แม้ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูจะคิดรุกรานก่อน แต่เธอก็ยังเป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของเรา เอาเถอะ เราขอยึดเพียงพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า (ทหารราบ) ทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ แล้วปล่อยพระองค์ไปในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ดีกว่า แล้วพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามนั้น รุ่งขึ้นอีกหนึ่งวัน พระภิกษุจำนวนมากเมื่อทราบข่าวนั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้า พระพุทธเจ้า ยังที่ประทับ แล้วกราบทูลเล่าเรื่องการทำสงครามระหว่างพระเจ้าอชาตศัตรูกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้พระพุทธองค์ทรงสดั บอย่างละเอียด หลังจากพระพุทธองค์ได้สดับเรื่องนั้นแล้ว ก็ตรัสพระคาถาในเวลานั้นว่า :
    บุรุษจะแย่งชิงเขาได้ ก็ชั่วเวลาที่การแย่งชิงของเขายังผลสำเร็จได้ แต่เมื่อใด บุคคลเหล่าอื่นแย่งชิงเอาจากผู้แย่งชิงนั้น เขาย่อมถูกแย่ง ชิงกลับไปเมื่อนั้น เพราะว่า คนพาลย่อมเข้าใจว่า เป็นฐานะ (เหตุเป็นที่ตั้ง) ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่พอบาปให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ เพราะฉะนั้น ความหมุนเวียนแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้นย่อมถูกเขาแย่งชิงกลับคืน ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ได้ตรัสพระธรรมเทศนาโดยทรงปรารภถึงความปราชัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอาศัยบ้านกาสิกคาม ทรงรบกับพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นพระเจ้าหลาน แต่พระองค์ก็ทรงปราชัยต่อพระเจ้าอชาตศัตรูถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พระองค์ทรงดำริว่า เราไม่สามารถทำให้เด็กที่มีปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมแพ้ได้ ถึงเรามีชีวิตอยู่ก็ไม่มีประโยชน์อันใด"
    จากนั้นก็ทรงอดพระกระยาหาร ทรงบรรทมอย่างเดียว จนข่าวได้แพร่สะพัดไปทั่วทั้งพระนคร ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระพุทธเจ้าทราบ พระพุทธองค์มีดำรัสว่า :
    ภิกษุทั้งหลาย แม้ผู้ชนะย่อมก่อเวร ฝ่ายผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์เหมือนกัน
    จากนั้นพระองค์ก็ตรัสพระคาถาย้ำว่า : "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้สงบระงับ ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข"
    สมัยกรุงศรีอยุธยา
    เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกกองทัพหลวงเข้าตีโอบกองทัพหลวงข้าศึก เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๑๓๕ กองทัพท้าวพระยายกไปไม่ทันเสด็จ ช้างพระที่นั่งพาไล่เข้าไปจนถึงกองทัพหลวงข้าศึก แต่สมเด็จพระนเรศวรมีพระสติไม่หวั่นหวาด คิดเห็นในทันทีว่า ทำสงครามที่จะเอาชนะได้มีอยู่ทางเดียว จึงขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังหน้าช้างพระมหาอุปราชา แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนว่า เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไมเล่า เชิญเจ้าพี่เสด็จออกมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด ต่อไปภายภาคหน้า กษัตริย์จะทำยุทธหัตถีอย่างเรานั้น จะไม่มีอีกแล้ว ในที่สุด พระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาก็ชนช้างกัน สมเด็จพระนเรศวรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ด้านขวาขาด ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง กองทัพกรุงหงสาวดีจึงแตกพ่ายยับเยิน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ในตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา นำพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูป เข้าเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิตถูกจองจำอยู่ในวัง จึงทูลถามว่า
    [​IMG]

    เสด็จไปสงครามทรงชนะข้าศึกมา เหตุใดเหล่าแม่ทัพนายกอง จึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวร ทรงเล่าเรื่องที่รบกันให้สมเด็จ พระพนรัตฟัง แล้วตรัสว่า
    "ข้าราชการเหล่านั้นมันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม จะให้แต่โยมสองคน พี่น้องฝ่าเข้าไปท่ามกลางวงล้อมข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชา หลังจากได้ชัยชนะแล้ว จึงเห็นหน้ามัน นี่หากบารมี ของโยมหาไม่ แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว" สมเด็จ พระพนรัตน์ ได้ทูลขอชีวิตข้าราชการทั้งหมดไว้ โดยอ้างเหตุผลว่า "ถ้าสมเด็จพระนเรศวร มีชัยชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศ ก็จะไม่เป็น มหัศจรรย์ เหมือนที่มีชัยด้วยทรงทำ ยุทธหัตถีโดยลำพัง พระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่า หากพระบารมีบันดาล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย"
    สมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงพระปีติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ บรรดาข้าราชการ ที่ต้องพระราชอาญาทั้งหมดจึงพ้นจากความผิด ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปทันที ..
    สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
    ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็ยังคงสนิทแนบแน่น เกี่ยวข้อง และพึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี มีเรื่องเล่าไว้ดังนี้ : วันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้จุดไต้แล้วเดินถือ เข้าไปภายใน พระบรมมหาราชวัง ทั้งที่เป็นเวลากลางวันแสกๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงมีพระดำรัสว่า
    ขรัว รู้แล้วๆ
    แล้วท่านก็เอาไต้ที่ติดไฟอยู่นั้นทิ่มกับกำแพงวังเพื่อดับไฟ แล้วท่านก็เดินกลับออกไป เหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากท่านเกิดความวิตกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงหมกมุ่นมัวเมา ในกามคุณมากเกินพอดี เพราะได้ทราบว่า ขณะนั้นพระองค์ทรงโปรดการทอดพระเนตร ละครมากเป็นพิเศษ ครั้นท่านจะถวายพระพรทูลเตือนโดยตรง ก็เกรงพระราชอัธยาศัย
    ดังนั้น ท่านจึงได้แสร้งจุดไต้เดินถือเข้าไปภายในพระบรมมหาราชวัง ในเวลากลางวัน คล้ายกับจะเตือนให้รู้ว่า ภายในเขตพระราชฐานมีแต่เวลากลางคืน ไม่มีเวลากลางวันหลงเหลืออยู่เลย ..


    ที่มา: คมชัดลึก
     

แชร์หน้านี้

Loading...