พระสงฆ์ กับการเก็บสะสมเงินส่วนตัว

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 21 มีนาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม

    ก่อนหน้านี้ ตกเป็นข่าวฮือฮา จากการจัดทำสินค้ากระเป๋าพูลเพิ่มทรัพย์ ละม้ายยี่ห้อแบรนด์เนม แลกเงินบริจาคญาติโยม และก่อนนั้นก็กรณีสะสมรถหรูโบราณ

    ล่าสุด เป็นข่าวเรื่องที่ว่า ได้มีแนวทางการปกครองคณะสงฆ์ในวัดไผ่ล้อม กำหนดให้พระสงฆ์ต้องมีการปฏิบัติกิจของสงฆ์ อย่างจริงจังและเข้มข้น ทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิธีการปรับเงินพระ

    ถ้าไม่ลงทำวัตร ปรับครั้งละ 500 บาท

    ส่วนรูปไหนที่ขาดการปฏิบัติกิจ และแจ้งไม่มีปัจจัยจ่ายค่าปรับ ก็ไปหักจากกิจนิมนต์ ที่โยมใส่ซองถวาย ณ ที่จ่าย ไม่มีการผ่อนปรน โดยนำปัจจัยที่ปรับตั้งไว้เป็นกองทุน สำหรับไว้ทำอาหารถวายเป็นภัตตาหารเพล ในโอกาสที่พระสงฆ์ทำงานในกิจกรรมต่างๆ

    จากเหตุการณ์นี้ น่าคิดต่อไปว่า

    1.ขอสนับสนุนให้ทุกวัดกวดขันต่อการปฏิบัติกิจของสงฆ์

    เมื่อบวชแล้วต้องปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรม และสละเสียซึ่งกองกิเลสตัณหา

    อันที่จริง ควรจัดการเด็ดขาดไปเลย หากบวชแล้วย่อหย่อน ไม่มีเหตุจำเป็น ก็สมควรจับสึกออกไปเสีย ไม่ควรปล่อยไว้เป็นจุดด่างพร้อยของวงการสงฆ์

    2.การจัดการด้วยวิธีปรับเงินของพระที่ย่อหย่อน สะท้อนว่า พระมีเงิน “ส่วนตัว”

    เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่เมื่อถูกปรับแล้ว จึงเกิดแรงจูงใจที่จะมาทำวัตร เพื่อปกป้องทรัพย์สินส่วนตัวไว้

    ประเด็น เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้การไม่ทำวัตรเช้า-เย็น

    น่าคิดว่า ปัจจุบัน พระสงฆ์แต่ละรูป (ไม่ใช่แค่วัดไผ่ล้อม) มีเงินสะสมไว้ในนามส่วนตัวมากมายแค่ไหน โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ทั้งๆ ที่ การสะสมเงินทองส่วนตัวมิใช่แนวทางตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

    กรณีวัดไผ่ล้อม หากต้องการนำร่องให้สะเด็ดน้ำ ในเมื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุนมารับเงินค่าปรับแล้ว สมควรใช้วิธีห้ามพระสงฆ์สะสมเงินส่วนตัวเด็ดขาด โดยปัจจัยทุกบาทที่ได้จากญาติโยมสมควรนะเข้าไว้ในกองทุนส่วนกลางของวัด และให้มีการจัดการที่ชัดเจน พระจะได้ไม่ต้องมีห่วง ไม่ต้องพะวงกับเงินทองทรัพย์สินส่วนตัวอีก จะสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น

    3.แนวทางการจัดการเงินของพระสงฆ์ โดยมิให้พระต้องถูกครอบงำโดยเงินนั้น มีการดำเนินการอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง แนวทางของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ซึ่งมีความเคร่งครัดในสิกขาบทที่เกี่ยวกับเงินทองเป็นอย่างมาก ท่านสั่งสอนและทำไว้เป็นแบบอย่าง ว่าจะไม่มีพระครอบครองปัจจัยเงินทองเป็นส่วนตัวฝากไว้ในธนาคาร ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในเงินทองด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น

    เป็นไปตามพระวินัยว่า “ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์” และ “ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือ ของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

    ในทางหนึ่ง สิกขาบทนี้ ทำให้พระสงฆ์เบาตัว เบาใจ ไม่มีการอิจฉาริษยาหรือแก่งแย่งเกี่ยวกับเอกลาภ

    0b98c-e0b881e0b8b1e0b89ae0b881e0b8b2e0b8a3e0b980e0b881e0b987e0b89ae0b8aae0b8b0e0b8aae0b8a1e0b980.jpg

    หลวงพ่อชาเคยปรารภเรื่องการเก็บสะสมปัจจัยส่วนตัวว่า

    “ถ้าผมสิ้นไป พวกท่านทั้งหลายค้นเห็นปัจจัยเงินทองอยู่ในกุฏิผม โอ๊ย! เสียหายหมด เสียหายมาก เสียศักดิ์ศรีของพระปฏิบัติมากที่สุด”

    หลวงพ่อชาเข้มงวดไปถึงการออกปากขอสิ่งของ หรือเรี่ยไรเงินทองจากญาติโยมทุกรูปแบบ

    แม้แต่การตั้งตู้บริจาคในวัดก็ไม่มี

    เมื่อญาติโยมนำเงินมาถวาย ท่านก็ไม่เคยแสดงความยินดีหรือตระหนี่หวงแหน เพราะท่านถือว่าเงินทองไม่ใช่เรื่องของพระ เป็นเรื่องศรัทธาญาติโยม

    เมื่อญาติโยมมาถวายปัจจัย ก็จะมีไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บเอาไว้ โดยที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

    เล่ากันว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะออกปฏิบัติ ท่านก็ยังจับเงินอยู่

    “เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตน มันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปี ผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงิน ตลอดทั้งพรรษา 2 เดือนกว่า ยังตัดสินใจไม่ได้ จวนจะออกพรรษาแล้ว จับเงินในกระเป๋ามีอยู่หลายร้อยเหมือนกัน ตกลงใจว่าวันนี้จะต้องเลิก เมื่อมันทะลุปุ๊บตกลงว่ามันจะเลิกเท่านั้น เลยสบาย

    ตอนเช้า ถือกระเป๋าสตางค์มาพบเพื่อนองค์หนึ่ง เป็นมหาเปรียญ ท่านกำลังล้างหน้าอยู่ ผมโยนกระเป๋าสตางค์ให้ แล้วว่า นิมนต์เถิดท่านมหา เอาไปเถิด เอาไปเรียนหนังสือ ไม่ต้องห่วงผมหรอก ผมเลิกแล้ว

    ตกลงกันแล้วเมื่อคืนนี้ ตกลงกันแล้ว ช่วยเป็นพยานให้ผมด้วย

    ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่แตะต้องเงินทองเป็นอันขาด

    ตั้งแต่วันนั้นมาผมยังไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยซื้อ ไม่เคยแลกไม่เคยเปลี่ยน มีแต่ปฏิบัติทั้งนั้นแหละ อะไรต่างๆก็สำรวมอยู่”

    หลวงพ่อชาเคยพูดถึงการใช้เงินครั้งหนึ่งว่า “เอาเงินค่ารถหมกไว้ซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเราก็รู้ พระอื่นไม่รู้แต่พระเรานี่ก็รู้ เพราะเราก็เป็นพระเหมือนกัน ร้อนระอุอยู่อย่างนั้น อย่างวัดป่าพงเราไปไหนก็ไม่มีค่ารถ แต่เขาก็ให้ไป มันดีกว่าเราต้องมาหอบสตางค์เสียอีก” – “ความจริงไม่มีเงินไม่ใช่ว่าจะไปไหนไม่ได้ ยิ่งไปได้ดีกว่าเก่า ค่ารถไม่มีก็เดินเอา ทำจริง ๆ เสีย เดี๋ยวเขาก็นิมนต์ขึ้นรถเอง”

    เคยมีพระสงฆ์บางรูป พยายามต่อรองเรื่องการถือปัจจัยเงินทองกับท่าน ว่าจะใช้เงินถือเงินแบบไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ไหม หลวงพ่อชาได้ให้คำตอบเรียบๆ ว่า “ถ้าท่านกินเกลือหมดกระทะไม่เค็ม ท่านก็อาจทำได้”

    98c-e0b881e0b8b1e0b89ae0b881e0b8b2e0b8a3e0b980e0b881e0b987e0b89ae0b8aae0b8b0e0b8aae0b8a1e0b980-1.jpg

    4. ภาครัฐและมหาเถรสมาคม สมควรจะใส่ใจปฏิรูปกันจริงๆ จังๆ เสียที เรื่องพระกับการถือครองเงินทองทรัพย์สินส่วนตัว

    ถ้าห้ามเด็ดขาด บังคับใช้จริงจัง จะมีคนจำพวกที่แอบแฝงเข้ามากอบโกยจากพระพุทธศาสนา โดยไม่ได้มีกุศลศรัทธาแท้จริง ไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติธรรม สละกิเลสโดยแท้ คงจะต้องถอนตัวออกไปจำนวนไม่น้อย ชาวบ้านจะได้กราบไหว้พระสงฆ์ ทำนุบำรุงพระสงฆ์ที่เหลืออยู่อย่างสบายใจมากขึ้น

    รายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสตร์ (ชุดที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน) เคยนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีข้อเสนอแนะร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ระบุว่า จะต้องให้มีการจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด, ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้มาจากการดำเนินงานภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล พระสงฆ์ หรือของวัดใด ฯลฯ

    เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 เพื่ออุดช่องโหว่

    โดยกำหนดให้ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดนับตั้งแต่ที่ได้มา และไม่สามารถจำหน่าย โอน หรือทำพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้

    ตัดวงจรผลประโยชน์เสียตั้งแต่ต้นทาง ยุติปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองของวัดและของพระที่รุงรังมาก บวชแล้ว แทนที่จะลด ละ เลิก กลับเกิดภาวะสั่งสมทรัพย์สิน กองกิเลสมหาศาล

    บางกรณี พระมรณภาพ ทิ้งทรัพย์สินไว้มากหลาย ญาติพี่น้องมาเรียกร้องว่าเป็นมรดกของตนเอง บางกรณี พระมีเงินเก็บล้นกุฏิ ทรัพย์สินหรูหรา รถยุโรปคันแพง บ้าน ที่ดิน ฯลฯ

    หากดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางนี้จริง เชื่อว่า วงการพระพุทธศาสนาจะ “สะอาด สว่าง สงบ” มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก ผู้คนจะอนุโมทนาสาธุกันทั้งแผ่นดิน

    สารส้ม

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.naewna.com/politic/columnist/34593
     

แชร์หน้านี้

Loading...