พระอภิธัมมาติกาบรรยาย โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 20 มีนาคม 2010.

  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    พระอภิธัมมาติกาบรรยาย โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

    กรุณา วิย สตฺเตสุ ปญฺญายสฺส มเหสิโน เญยฺยธมฺเมสุ สพฺเพสุ ปวติติตฺถ ยถารุจี, ทยาย ตาย สตฺเตสุ, สมุสฺสาหิตมานโส ฯลฯ อภิธมฺมภถํ กเถสีติ

    บัดนี้จักได้รับประทานวิสัชชนาในพระอภิธัมมาติกา ๒๒ ติกะ ในเบื้องต้น ฉลองศรัทธาท่านสาธุชนสัปบุรุษ โดยสมควรแก่กาลเวลา เนื่องด้วยพระอภิธัมมาติกานี้ยากที่จะอธิบายแก้ไขแปลออกไปให้พิศดารได้ มีแต่ใช้มาติกาบังสุกุลเวลาคนตายเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นภาษาบาลีอยู่ยากที่จะเข้าใจได้ ที่ท่านแปลออกไว้ก็มีแต่พระอถิธัมม์ ๗ พระคัมภีร์เท่านั้น ส่วนในพระอภิธัมมาติกานี้ หาได้มีผู้แปลออกไว้พิสดารไม่ พระอภิธัมมาติกา ๒๒ ติกะ ในเบื้องต้นนี้ สมเด็จพระชินศรีศาสดาจารย์ เสด็จคมนาการขึ้นจำพรรษา ในชั้นดาวดึงษ์เทวโลก ทรงตรัสเทศนาในพระอภิธัมม์ ๗ คัมภีร์ โปรดหมู่เทวดาโดยมีพระพุทธมารดาเป็นประธาน “กเถตุ กามยตา” ทรงปุจฉาเป็นสักกวาที ปรวาที ทุก ๆ คัมภีร์เป็นลำดับ ๆ ไป

    ในเบื้องต้นต่อไปนี้ อาตมาจักได้วิสัชนาในพระอภิธัมมาติกา เป็นปุจฉาวิสัชชนาตามพระพุทธฎีกา เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส มีศรัทธาเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    “นิคฺคมวจนํ” ในสมัยครั้งหนึ่ง ยังมีพระอาจารย์องค์หนึ่งชื่อว่า สักกวาทีอาจารย์ มารำพึงแต่ในใจว่า เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดานั้น พระองค์ก็ได้ทรงเลือกคัดจัดสรรพระวินัยสุตตันตาภิธัมม์ทั้ง ๓ ปิฎกนี้แล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะเสมอด้วยพระคุณของพระพุทธมารดานั้นได้ ทรงเห็นแต่พระอภิธัมมาติกนี้ไซร้ จึงจะสมควรด้วยพระคุณของพระพุทธมารดาได้ พระอภิธัมมาติกานี้ พระบาลีก็ยังปรากฏอยู่ ๒๒ ติกะ ติกะละ ๓ รวมเป็น ๖๖ บทดังนี้ ทำไฉนหนออาตมาจึงจะรู้ จึงจะเข้าใจในเนื้อความแห่งพระอภิธัมมาติกานี้ได้

    เมื่อท่านสักกวาทีอาจารย์รำพึงแต่ในใจฉะนี้แล้ว จึงเข้าไปสู่สำนักของท่านปรวาทีอาจารย์ ขอโอกาสไต่ถามซึ่งบาลีและเนื้อความให้แจ้งชัด ท่านปรวาทีอาจารย์ จึงได้ยกพระบาลีกล่าวขึ้นว่า “กุสสลา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนั้นอย่างหนึ่ง “อกุสลา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง “อพฺยากตา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤตนั้นอย่างหนึ่ง

    (มีต่อ)
     
  2. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑. “กุสสลา ธมฺมา”

    โดยอธิบายในธรรมที่เป็นกุศลนั้นว่า “ธรรมอันเป็นส่วนของบุคคลผู้ฉลาด” แปลว่าตัดเสียซึ่งบาป ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน อุปมาเหมือนปลูกต้นมะม่วง ย่อมรักษามิให้กาฝากเกิดขึ้นในลำต้น เพราะกลัวต้นมะม่วงนั้นจะไม่งาม จะมีผลน้อย เปรียบเหมือนร่างกายของบุคคลผู้ฉลาด อันธรรมดาบุคคลผู้ฉลาดนั้นย่อมจะระวังรักษา กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มิให้เศร้าหมองได้ ฉะนั้น

    ท่านสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ในปฐมมาติกา คือ “กุสสลา ธมฺมา” นั้น ท่านก็แปลถูกต้องตามพยัญชนะแล้ว ยังอธิบายขยายความซ้ำอีกด้วย ข้าพเจ้าก็เข้าใจแล้ว แต่ยังมีความสงสัยและวิตกถึงบุคคลที่ยังโง่เขลากว่าข้าพเจ้าก็ยังมีอยู่อีกมาก เพราะเหตุนั้นจึงขอความแนะนำจากท่านต่อไปอีกสักหน่อยเถิด

    ท่านปรวาทยาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า “เอโก กิร ปุริโส” ดูก่อนท่านสักกวาที ดังได้ยินมาว่า มีบุรุษหนึ่งเป็นคนฉลาด ได้เห็นเรือพลัดมาอยู่ท่าน้ำของตนแล้วก็พิจารณาเห็นว่า เรือลำนี้เป็นเรือโจร พวกโจรก็เก็บเอาสิ่งของในเรือไปหมดแล้ว ปล่อยเรือนี้มาที่ท่าน้ำของเรา ถ้าเราไม่ผลักออกไปเสียจากท่าน้ำของเราแล้ว เมื่อเจ้าของเรือตามมาพบเข้าในกาลใด ก็จะกล่าวโทษเราว่าเป็นโจร ลักเอาเรือของเขามาดังนี้

    หรือเปรียบเหมือนบุรุษไถนาคนหนึ่ง วันหนึ่งมีพวกโจรนำเอาถุงทรัพย์ไปทิ้งไว้ที่ริมนา ในกาลครั้งนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จผ่านไปกับพระอานนท์ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นถุงทรัพย์นั้นแล้ว ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า อสรพิษอยู่ที่นี่ เมื่อบุรุษไถนาคนนั้นได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสตรัสแก่พระอานนท์ดังนั้น ก็สำคัญว่าเป็นอสรพิษจริง ๆ หาได้คิดว่า พวกโจรนำเอาถุงทรัพย์มาทิ้งไว้ที่ริมนาของตนไม่ พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอานนท์ก็เสด็จหลีกไปสู่สถานที่อื่น ต่อมาภายหลัง บุรุษผู้เป็นเจ้าของ
    ทรัพย์ตามมา เห็นถุงทรัพย์ของตนทิ้งไว้ที่ริมนาของบุรุษไถนานั้น ก็สำคัญมั่นหมายว่าบุรุษไถนานั้นเป็นโจร จึงจับเอาบุรุษไถนานั้นไปฉะนี้

    บุรุษผู้มีวิจารณญาณ พิจารณาเห็นเหตุผลดังนี้แล้ว ก็ถอยเรือของตนปล่อยไปตามกระแสน้ำ ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด สามารถตัดภัยเสียได้ดังนี้ ถ้ามิฉะนั้นก็จะเปรียบเหมือนบุรุษเลี้ยงโค บุรุษเจ้าของโคนั้น เมื่อได้เห็นโคหลวงมาปะปนอยู่ในคอกโคของตน ก็คิดแต่ในใจว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้าน หรือนายอำเภอมาเห็นโคหลวงอยู่ในคอกของเราแล้ว ก็หาว่าเราลักเอาโคหลวงมา แล้วก็จะจับเอาเราไปลงทัณฑกรรมต่าง ๆ เมื่อบุรุษเลี้ยงโคคิดดังนี้อยู่แล้ว ก็เปิดประตูคอก ไล่โคหลวงออกไปให้พ้นจากบ้านของตน ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดตัดราชภัยให้พ้นไปเสียได้

    และอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ของเรา เสวยพระชาติเป็นกุฑาลบัณฑิต ครั้งนั้นพระองค์ได้ทำไรข้าวโพดและถั่วราชมาสเป็นต้น อยู่ที่ริมฝั่งมหาสมุทร ครั้นเมื่อถึงฤดูร้อนแล้ว ก็บวชเป็นฤๅษี เมื่อถึงฤดูฝน ก็สึกออกมาทำไร่ต่อไป แต่เป็นเช่นนั้นอยู่ถึง ๗ ครั้ง ภายหลังพระองค์จึงมาคิดว่า เรามีความเหนื่อยยากลำบากกาย ต้องบวช ต้องสึกมา ก็เพราเราเป็นห่วงจอบกับข้าวโพดนี้เอง เมื่อพระองค์คิดได้ฉะนั้นแล้ว จึงนำเอาผ้าห่อพืชพันธุ์ กับจอบนั้นไปโยนทิ้งเสียในมหาสมุทร เมื่อสิ้นห่วงแล้ว พระองค์จึงมาตั้งพระทัยเจริญสมาบัติ ก็ได้สำเร็จฌานโลกีย์ เมื่อจุติจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้บังเกิดในพรหมโลก

    ที่แสดงมานี้ ก็เป็นเพียงอุปมาอุปมัยเพื่อจะได้เห็นว่า ร่างกายของท่านทั้งหลาย คือ ปัญจขันธ์ทั้ง ๕ นั้น เมื่อบุคคลยังมีความยินดีรักใคร่อยู่ตราบใด ก็จักได้เสวยแต่กองทุกขเวทนาอยู่ตราบนั้น เท่ากับยินดีอยู่กับราชภัย คือพญามัจจุราชและโจรภัย โมหะก็เนื่องกัน ดังบาลีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ปญจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา” ดังนี้ โดยเนื้อความว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีความเดือดร้อนอยู่ ก็เพราะเข้าไปยึดเอาขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไว้ ว่าเป็นของเรา และในธรรมที่ว่า กุศลนั้น คือพุทธประสงค์เอาพระปัญญาตัดอาลัยในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ นั้นได้ เห็นว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เพราะปัญจขันธ์นั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของท่านผู้ใด เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า “กุสลา ธมฺมา” แปลว่า ตัดเสียซึ่งบาป “สีลํ” แปลว่าตัดเสียซึ่งบาป ออกจากกาย วาจา ไม่ให้ติดอยู่ในสันดาน “ปฏิปตฺติ”

    แปลว่า กลับกาย วาจา ใจ ที่เป็นบาป ให้เป็นบุญ เป็นกุศลเสียฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า ศีล ว่า วินัย ว่า ปฏิบัติ ดังนี้
     
  3. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒. “อกุสสลา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้ จักได้แก้ไขในบทที่ ๒ ต่อไป “อกุสลา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์แห่งจิต คือ ทรงไว้ซึ่งจิตอันเป็นอกุศล “อกุสลา ธมฺมา” แปล่า ธรรมของบุคคลผู้ไม่ฉลาด หรือแปลว่า ไม่ตัดบาปออกจาก กาย วาจา ใจ ก็ได้

    ความมีอธิบายว่า คนโง่ ไม่ระวังบาปที่จะมาถึงแก่ตน บางคนบาปยังไม่มาถึงแก่ตนเลย ก็ไปเที่ยวแสวงหาบาปมาใส่ตนก่อนก็มี ท่านสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บาปที่จะมาถึงตนนั้นอย่างไร ที่ว่าบาปยังไม่ทันมาถึงแก่ตน เที่ยวไปแสวงหาบาปใส่ตนก่อนนั้นอย่างไร ขอท่านปรวาที จงวิสัชนาความข้อนี้ให้เป็น มทยปัญญา แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

    ท่านปรวาทีจึงอธิบายว่า บาปจะมาถึงแก่ตนนั้น ด้วยเหตุที่จะกระทำใจให้เดือดร้อนขึ้นก่อน เป็นต้นว่า ได้ยินเสียง หรือมี ไม้ฆ้อน ก้อนดิน เป็นต้น บุคคลที่เกิดความเดือดร้อนนั้น เพราะไม่ปิดป้องกำบังให้ดี ปล่อยให้เสียงนั้นล่วงเข้ามากระทบทางหู หรือทางกายตนนั้น มาถึงแก่ตน บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ตัดบาป ไม่ระวังบาปที่จะมาถึงแก่ตนฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้น ก็จะเปรียบเหมือนบุคคลที่มีเรือนอันไฟไหม้อยู่ เมื่อบุรุษนั้นได้เห็นไฟไหม้มาแต่ไกลแล้ว ตนก็ไม่ระมัดระวังเรือนของตน จนไฟลามมาไหม้เรือนของตน ตนก็ได้รับทุกขเวทนาต่าง ๆ ฉะนั้น เพราะโทษที่ไม่ระมัดระวังไฟ และไม่ตัดเชื้อไฟแต่ต้นทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไปเที่ยวแสวงหาบาปมาใส่ตนนั้น ได้แก่บุคคลที่ปักขวากหลาวไว้ สำหรับให้สัตว์มาติดตามนั้น จัดได้ชื่อว่า ไปเที่ยวแสวงหาบาปมาใส่ตัว ก็แหละคำที่ว่า ไม่ตัดบาปเสียนั้น มีคำอธิบายว่า ยังมีต้นไทรต้นหนึ่ง ไม่สู้ใหญ่นัก มีใบและก้านบริสุทธิ์อยู่ในป่าหิมวันตประเทศ วหนึ่งมีฝูงนกฝูงหนึ่งบินไปกินลูกเถาวัลย์ในสถานที่อื่น ครั้นภายหลังก็บินมาจับที่ต้นไทรนั้น แล้วก็ถ่ายอุจจาระลงไปที่ใต้ต้นไทรนั้น ครั้นถึงฤดูฝน เบญจเถาวัลย์นั้นก็งอกงามขึ้นมาที่ใต้ต้นไทรนั้น ยังมีลมจำพวกหนึ่งได้บอกแก่ต้นไทรนั้นว่า หมู่เถาวัลย์นี้ ครั้นงอกงามขึ้นมาที่นี่แล้ว ถ้าทิ้งไว้ให้เจริญจนใหญ่โตแล้ว ก็จะปกคลุมท่านให้ถึงแก่ความตาย ต้นไทรนั้นจึงตอบว่า มันไม่ทันงอกงามขึ้นมาได้ดอก สัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกร

    เป็นต้น ก็จะมากัดกินเป็นอาหาร เถาวัลย์นี้ก็จะถึงแก่ความตายไป ไม่ทันที่จะเลื้อยยาวขึ้นมาได้
    ครั้นนานมาเถาวัลย์นั้นก็เจริญใหญ่โตขึ้นมาได้ ไม่มีอันตรายด้วยสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกรเป็นต้น จนเถาวัลย์นั้นเลื้อยขึ้นไปถึงง่ามคบใหญ่ ยังมีลมอีกจำพวกหนึ่งมาตักเตือนต้นไทรนั้นว่า เหตุไฉนท่านจึงให้โอกาสแก่เถาวัลย์นั้น ให้เลื้อยขึ้นมาจนถึงเพียงนี้เล่า นานไปก็จะคลุมยอดของท่าน ท่านก็จะได้รับความลำบาก ถึงแก่ความตาย ต้นไทรได้ฟังจึงตอบขึ้นว่า ท่านอย่าได้กลัวไปเลยว่าเถาวัลย์มันจะไม่ตาย ถ้าพวกตัดเสาเขามาเห็นเข้า ก็จะตัดเอาไปทำเชือกลากเสาไป ต้นเถาวัลย์นั้นก็จะถึงแก่ความตาย ครั้นนานมา ต้นเถาวัลย์ก็เลื้อยขึ้นไปคลุมยอดต้นไทรนั้นถึงแก่ความตาย หักลงเหนือปัฐพี

    แสดงมาทั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นความประมาท ที่ไม่คอยคิดตัดบาปทางกาย วาจา ใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องลำบากภายหลังเช่นนี้ ท่านสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่ตัดบาปนั้น ครั้นตายแล้วได้ไปเสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น นั้น จะได้แก่บุคคลจำพวกใด ท่านปรวาทีจึงชักนิทานในคัมภีร์ธรรมบทมาแสดงให้เห็นปรากฏว่า ยังมีบุตรเศรษฐี ๔ คนพี่น้องกัน ครั้นได้ทัศนาเห็นภรรยาของท่านผู้อื่นแล้ว ก็มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในปรทารกรรม กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ครั้นทำกาลกิริยาแล้ว ก็ไปตกอยู่ในโลหกุมภีนรก นานประมาณหกหมื่นปี จนน้ำในหม้อนรกนั้นเดือดขึ้นมาถึงปากหม้อ ตัวก็ลอยมาถึงปากหม้อแล้วก็ได้สติ มีความปรารถนาจะประกาศบุพกรรมของตนให้ปรากฎว่า ทุ.ส.น.โส ดังนี้
    ตนที่หนึ่งว่า ข้าพเจ้าเป็นคนชั่ว ตนที่สองว่า ข้าพเจ้ามาตกอยู่ในนรกนี้ประมาณหกหมื่นปีแล้ว ตนที่สามว่า ข้าพเจ้าไม่มีที่สุดว่าจะหมดกรรมเมื่อใด ตนที่สี่ว่า ข้าพเจ้าไม่กระทำอีกต่อไปแล้ว ยังไม่ทันจะหมดเรื่อง เพียงคนละอักขระเท่านั้น น้ำก็พัดลงไปยังก้นหม้ออย่างเดิม แล้วก็ได้เสวยทุกขเวทนาต่อไปกว่าจะสิ้นบาปกรรม เพราะโทษที่ตนไม่ได้ตัดบาปในปรทารกรรมนั้นตามอำนวยผล เปรตทั้งสี่ตนเหล่านี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ก็แปลว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ตัดบาปกรรมเสีย เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลหกุมภีนรกฉะนี้
     
  4. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓. “อพฺยากตา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้ จะได้แก้ไขในบทที่ ๓ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า อพฺยากตา ธมฺมา แปลว่า ธรรมอันเป็นอารมณ์แห่งจิตอันเป็นอัพยากฤต แปลว่า ธรรมอันพระพุทธเจ้าไม่ได้พยากรณ์ว่าเป็นบุญเป็นบาป ดังนี้ โดยอธิบายว่า ไม่ยินดียินร้าย ไม่โสมนัสโทมนัส ได้ชื่อว่าอัพยากฤต

    เปรียบเหมือนหนึ่งว่าใบบัวอันน้ำดีและชั่วตกถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไหลไปไม่ขังอยู่ได้ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเสมือนเสาไม้แก่น อันบุคคลฝังไว้เหนือแผ่นดิน ถึงผงเผ้าเถ้าธุลีจะปลิวมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ย่อมปลิวหนีไปไม่ติดอยู่ที่เสานั้นได้ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น ถึงใครจะบูชาดี ก็ดี บูชาชั่ว ก็ดี ไม่ยินดียินร้าย ท่านสักกวาทีจึงขออุปมาอุปมัยอีกว่า ขแต่ท่านปรวาที ซึ่งได้ชี้แจงแสดงมาก็ถูกต้องตามพระบาลีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังก็มีความยินดีชอบใจทุกประการแล้ว แต่ข้าพเจ้าขออุปมาอุปไมยอีกสักหน่อยเถิด ท่านปรวาทีจึงแสดงอุปมาว่า ดูก่อนสักกวาที “นครโธวาริกปุริโส วิย” จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นเปรียบเหมือนหนึ่ง โธวาริกบุรุษผู้เฝ้าประตูพระนคร จิตที่เป็นกุศลนั้นเปรียบเหมือนชนที่เข้าไปในประตูนคร จิตที่เป็นอกุศลนั้น เปรียบเหมือนชนที่ออกไปจากประตูนคร นายโธวาริกผู้เฝ้าประตูนครนั้นก็ไม่ได้ไต่ถามคนที่เข้าออกนั้น เป็นแต่รู้ เป็นแต่เห็น หาได้ไต่ถามชนที่เข้าออกนั้นไม่ เช่นนี้แลชื่อว่า อัพยากฤต

    ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนภาชนะที่ใส่น้ำ เป็นต้น ภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำนั้น ถึงใคร ๆ จะเอาน้ำเทลงไปอีกสักเท่าใด ๆ ก็ดี น้ำนั้นก็ไหลล้นออกไปจากภาชนะ ไม่สามารถขังอยู่ได้ ฉันใดก็ดี จิตที่เป็นอัพยากฤต ที่พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ว่าเป็นบุญและบาปนั้น ชื่อว่าบุญและบาปไม่มี ถึงบุญบาปจะมีสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะติดขังอยู่ได้ อุปไมยดังภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำฉะนั้น

    จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมมีแต่พระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้น หาได้มีแก่ปุถุชนทั่วไปไม่ ปุถุชนนั้นมีแต่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปทั้ง ๒ ประการ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นหาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นอัพยากฤตจึงมิได้บังเกิดมีแก่ปุถุชน ท่านปรวาทีได้ฟังก็ชอบใจ จึงไต่ถามต่อไปว่า บุคคลที่มีจิตเป็นกุศล (ส่วน) อกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ที่มีจิตเป็นกุศลและอกุศล (ส่วน) อัพยากฤตไม่มี บุคคลใดที่มีแต่จิตเป็นอัพยากฤต (ส่วน) กุศลและอกุศลไม่มีเล่าพระเจ้าข้า

    พระปรวาทีจึงวิสัชนาว่า บุคคลที่มีจิตเป็นบาปเป็นอกุศลนั้น ก็ได้แก่ นายพราน คิดแต่จะล่าเนื้อ ฆ่าปลาอยู่เป็นนิตย์ กุศลจิตและอัพยากฤตนั้นไม่บังเกิดมีแก่นายพรานเลยดังนี้
    บุคคลที่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศลนั้น ได้แก่ พระอริยะสัปบุรุษ ท่านคิดแต่การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่เป็นนิตย์ อกุศลจิตและอัพยากฤตก็ไม่บังเกิดมีแก่ท่านดังนี้

    เพราะฉะนั้นจึงว่า จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมบังเกิดมีแก่พระอรหันต์จำพวกเดียว พระอรหันต์เมื่อท่านเข้าสู่นิโรธสมาบัติแล้ว จิตที่เป็นบุญเป็นบาปนั้นไม่บังเกิดมีแก่ท่านฉะนี้
    อาตมาแก้ไขมาในปฐมมาติกาบทที่ ๓ ก็ขอยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  5. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๔. “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา”

    ในลำดับต่อไปนี้จักได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิตอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา ๒ แปลว่า เสวยอารมณ์ “สุขาย” แปลว่า เป็นสุข โดยอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้ว ด้วยการเสวยอารมณ์เป็นสุขนั้น คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่ได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รักที่เจริญใจ คือว่าไม่ยังใจให้เดือดร้อน มีแต่ความโสมนัสยินดี ในกาลเมื่อสัมผัสให้ถูกต้องกับทวาร มีจักขุทวารเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมะดวงนี้ สมเด็จพระชินศรีจึงได้ทรงตรัสว่า “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” ดังนี้

    พระสักกวาทีจึงขอความอุปมาต่อไปว่า ข้าแต่ท่านปรวาที ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้พิสดารออกไปอีกสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า

    คนหนาวได้ห่มผ้า คนร้อนได้อาบน้ำ คนหิวข้าวได้รับประทานอาหารบรรเทาเวทนาเก่าลงได้ และห้ามกันเวทนาใหม่มิให้กำเริบขึ้นได้ฉะนี้ ก็จัดได้ชื่อว่าสัมผัสถูกต้องเวทนาที่เป็นสุข

    ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเสมือนคนยากจนเข็ญใจ เมื่อได้ลาภยศที่ฐานอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความชื่นชมยินดีเป็นกำลัง เหมือนดังนายควาญช้างคนหนึ่ง เดิมทีก็เป็นคน
    ยากจนอนาถา ครั้นต่อมาได้รับจ้างเขาเลี้ยงช้างพอได้อาหารเลี้ยงอาตมาเป็นสุข ก็มีความดีใจเป็นกำลัง

    หรือถ้ามิฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนพระเจ้าสักกมันธาตุราช เมื่อเดิมทีเป็นคนยากจนเข็ญใจ แม้แต่จะแสวงหาอาหารบริโภคแต่ละมื้อก็ทั้งยาก จนที่สุดผ้าที่จะนุ่งห่มก็ไม่มี ต้องเอาใบไม้มานุ่งห่มแทนผ้า ครั้นอยู่ต่อมาภายหลัง ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ แล้วก็ได้เป็นถึงบรมจักร แสนที่มีความสุขสบายยิ่งขึ้นดังนี้
     
  6. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๕. “ทุกฺขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้จักได้วิสัชชนาในบทที่ ๕ ว่า “ทุกฺขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” ต่อไป แปลใจความว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา ด้วยนามธรรมที่เสวยอารมณ์ โดยความเป็นทุกข์ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา ด้วยนามธรรมที่เสวยอารมณ์โดยความเป็นทุกข์ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ ซึ่งจิตของคนที่มีแต่ความลำบากนั้น ก็ได้แก่คนที่ยากจนเข็ญใจและคนที่มีโรคาพยาธิเบียดเบียนต่าง ๆ และคนที่ต้องราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น เหล่านี้แล จึงชื่อว่า ทุกฺขาย เวทนาย ยังมีทุกข์เวทนาอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ทุกข์ของสัตว์ในนรก ทุกข์ของเปรต อสุรกาย ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ของสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดต่อไป ดังนี้แลชื่อว่า ทุกขเวทนา ท่านสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างที่แสดงมานี้คือใคร ผู้ใดเป็นตัวอย่างเจ้าข้า

    ท่านปรวาทยาจารย์จึงนำบุคคลมาแสดงให้เห็นเป็นนิสัยทัสนะอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า นางสุปวาสา เป็นเหตุให้เห็นปรากฏว่าตนประกอบไปด้วยทุกข์ เหลือที่จะอดทน พ้นที่จะพรรณนา มารดาของพระสีวลีซึ่งทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นภายหลัง นางสุปวาสาผู้เป็นมารดานั้นได้ชี้แจงแสดงเหตุให้เห็นปรากฏว่า ตนประกอบไปด้วยความทุกข์ที่จะเหลือทนทานได้เป็นต้น ดังที่พรรณนาว่า ครรภ์ของนางนั้นใหญ่เกินประมาณ จะนั่งก็เป็นทุกข์ จะนอนก็เป็นทุกข์ จะยืนจะเดินก็เป็นทุกข์ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า ทุกขเวทนา ทุกข์นั้นแปลว่าลำบาก ลำบากนั้นแปลว่า ความชั่วซึ่งตนกระทำไว้ไม่ดี เพราะเหตุนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าจึงทรงตรัสเทศนาว่า “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” ดังนี้ ก็มีพระพุทธประสงค์เพื่อจะไม่ให้สัตว์กระทำบาป

    ทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงมีพระกรุณาแก่หมู่สัตว์ จะไม่ให้หมู่สัตว์เสวยทุกข์เวทนา ด้วยหวังพระทัยว่าจะให้สัตว์ทั้งปวงได้เสวยสุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปฉะนี้
     
  7. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๖. “อทุกฺขมสุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้ จะได้แสดงในบทที่ ๖ ว่า “อทุกฺขมสุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” นี้ต่อไป ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนาดีไม่มีสุขไม่มีทุกข์ โดยความอธิบายว่า ทุกข์ก็อาศัยแก่ปัญจขันธ์ทั้ง ๕ สุขก็อาศัยปัญจขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อเห็นว่าปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าเห็นเป็นอื่น มิใช่เราแล้ว อุปาทานก็เข้าไปใกล้ เพราะฉะนั้นจึงว่า ทุกข์สุขไม่มี ดังนี้

    ส่วนอารมณ์นั้น เราก็เป็นอุเบกขา อุเบกขานั้นแปลว่า การเข้าไปเห็นปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่า ปัญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับสิ้นสูญไป ความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เจือปนอยู่ด้วยปัญจขันธ์ทั้ง ๕ เพราะเหตุนั้นจึงว่า ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ฉะนี้ ท่านสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า อารมณ์ที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์นั้นจะเป็นอย่างไร จะเป็นโลกีย์หรือจะเป็นโลกุตตระ เป็นประการใด
    ท่านปรวาทีจึงวินิจฉัยว่า ความที่ไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ที่เป็นโลกีย์ก็มี ที่เป็นโลกุตตระก็มี เปรียบเหมือนหนึ่งอารมณ์ที่ร้อนแล้ว และมีความปรารถนาให้ตนที่ร้อนนั้นไปหาเย็น แต่ยังไปไม่ทันถึงความเย็นฉะนั้น

    ท่านปรวาทีจึงย้อนถามขึ้นอีกว่า ท่านสักกวาทีที่จะเห็นว่าอารมณ์ร้อนหรือเย็นเป็นประการใด ท่านสักกวาทีจึงตอบว่า อารมณ์นั้นร้อน ท่านปรวาทีจึงถามอีกว่า อารมณ์นั้นร้อนอย่างไร ท่านสักกวาทีจึงตอบว่า ถ้าอารมณ์ตนร้อนมาแล้ว อารมณ์นั้นเย็น ท่านปรวาทีจึงว่า จะเย็นอย่างไร ก็ยังไม่ถึงความเย็น ท่านสักกวาทีตอบว่า ถ้าเช่นนั้น อารมณ์นั้นก็ไม่เย็นไม่ร้อน พระปรวาทีจึงอนุโลมว่า นั้นแล ธรรมที่สัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ท่านสักกวาทีจึงมีความสงสัย จึงถามขึ้นอีกว่า ธรรมที่เป็นโลกีย์นั้นคือใคร ผู้ใดจะกระทำได้เล่า ขอพระผู้เป็นเจ้า จงนำบุคคลที่เป็นโลกีย์มาแสดงในที่นี้ เพื่อให้เห็นเป็นแบบเป็นฉบับสักเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้สิ้นความสงสัย

    ท่านปรวาทีจึงนำบุคคลมาแสดงให้เห็นเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ว่า ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ไปเจริญสมณธรรมอยู่ในอรัญราวป่า พิจารณาซึ่งสังขารธรรม เป็นอนิจจัง ทุก
    ขัง อนัตตา จนอารมณ์นั้นไม่เป็นสุขเป็นทุกข์ เฉย ๆ อยู่ ในกาลครั้งนั้น ยังมีเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่ง มาคาบเอาพระมหาเถระเจ้านั้นไปบริโภคเป็นภักษาหาร เมื่อเดิมทีนั้น ก็บริโภคตั้งแต่เท้าขึ้นไปถึงโคนขา พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่เป็นทุกข์เป็นสุข จิตของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ยังเป็นโลกีย์ จริงอยู่ คือว่าท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จอะไร เมื่อเสือโคร่งนั้นบริโภคขึ้นไปถึงสะเอวและท้องน้อย ท่านก็ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอะไร อารมณ์ของท่านก็ยังเฉย ๆ อยู่ ไม่เดือดร้อนหวั่นไหว ครั้นบริโภคถึงดวงหฤทัยของท่านแล้ว ท่านก็ได้สำเร็จอรหัตต์ ตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานในปากแห่งเสือโคร่งนั้น ดังนี้

    นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิสดาร อาตมารับประทานวิสัชชนามาในมาติกาบทที่ ๖ ก็พอสมควรแก่เวลาด้วยประการฉะนี้
     
  8. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๗. “วิปากา ธมฺมา”

    บัดนี้จักได้แก้ไขในติกมาติกาบทที่ ๗ ตามลำดับสืบไป โดยนัยพระบาลีว่า “วิปากา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสุขต่าง ๆ กัน คือ กรรมวิบากที่เป็นส่วนบุญนั้นเรียกว่า กุศลวิบาก ๑ กรรมวิบากที่เป็นบาปนั้นเรียกว่า อกุศลวิบาก ๑ ขันธวิบาก ๑ ปุญญวิบาก ๑ กรรมวิบากนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประการคือ ได้แก่ผลทุจริต ๓ ผลสุจริต ๓

    ทุจริต ๓ นั้น คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ทุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นฝ่ายอกุศลวิบาก
    สุจริต ๓ น คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ สุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นฝ่ายกุศลวิบาก เมื่อสุขแล้ว ก็มีผลต่าง ๆ กัน

    ทุจริตทั้ง ๓ นั้น ให้ผลแก่สัตว์ได้เสวยทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่า ให้โรคาพยาธิเบียดเบียนและให้เป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญา และยังสัตว์ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ ฉะนี้ ชื่อว่าอกุศลวิบากที่ ๑

    กรรมที่ ๑ คือสุจริตทั้ง ๓ นั้น ให้ผลแก่สัตว์โลกเสวยความสุขสบายต่าง ๆ หลายประการเป็นต้นว่า ให้ปราศจากโรคาพยาธิ และให้มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์ และยังสัตว์ให้ได้เสวยสมบัติในฉกามาวจรสวรรค์เป็นต้นฉะนี้มีชื่อว่า กุศลวิบาก

    ขันธวิบากที่ ๓ นั้นคือ ยังร่างกายของสัตว์ให้มีโทษถอยกำลังและให้ฟันหัก ผมหงอก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง หูตึง ตามืดไป ทั้งสรีรกายนั้นไซร้ก็คดค้อมน้อมไปในเบื้องหน้า ให้ทรมานทรกรรมด้วยโรคาพยาธิต่าง ๆ ฉะนี้ชื่อว่าขันธวิบาก

    ปัญญาวิบากที่ ๔ นั้น คือยังสัตว์ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปวงได้ และให้มีปัญญาสามารถ รู้จักสรรพเญยยธรรมที่เป็นโลกีย์และเป็นโลกุตระได้ ฉะนี้ชื่อว่าปัญญาวิบาก

    ท่านสักกวาทีได้ฟังก็ชอบใจ จึงขอฟังอุปมาเป็นบุคคลอีก ๔ คน เพื่อเป็นนิทัศนนัยว่า อกุศลวิบากนั้นจะได้แก่บุคคลใด กุศลวิบากจะได้แก่บุคคลใด ขันธวิบากนั้นจะได้แก่บุคคลใด ปัญญาวิบากนั้นจะได้แก่บุคคลใด

    พระปรวาทีจึงวิสัชนาวินิจฉัยต่อไปว่า อกุศลวิบากนั้นก็ได้แก่พาลอุบาสกถูกตัดคอนั้นเอง กุศลวิบากนั้นได้แก่ท้าวมหาชมพูบดีนั้นเอง ขันธวิบากนั้นได้แก่ พระปูติกะติสสะเถระนั่นเอง แก้ไขในมาติกบทที่ ๗ ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้
     
  9. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๘. “วิปากธมฺมธมฺมา”

    ลำดับนี้ไปจักได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๘ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “วิปากธมฺมธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเกิดแต่วิบาก ได้แก่เหตุและปัจจัย เปรียบเหมือนดังผลมะพร้าวแห้ง ที่ควรจะงอกออกมาจากผลมะพร้าวได้ และมีบุคคลนำไปปลูกไว้ในแผ่นดิน ต้นมะพร้าวนั้นก็งอกงามเจริญใหญ่โตขึ้นมา จนถึงแก่แล้ว แล้วออกผลเป็นมะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่ ต้นมะพร้าวที่งอกงามขึ้นมานั้นได้แก่เหตุ บุคคลที่นำไปปลูกนั้นได้แก่ปัจจัย ผลมะพร้าวอ่อนและแห้งที่ควรจะบริโภคนั้นได้แก่วิบาก

    อีกนัยหนึ่งว่า อกุศลกรรมนั้นเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีพิษ เมื่อมีผลสุกแล้ว ก็มีโทษแก่บุคคลที่บริโภคนั้น กุศลวิบากนั้นเปรียบเหมือนดังต้นไม้ที่ไม่มีพิษ เมื่อมีผลอันสุกแล้ว ก็ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงว่าบาปเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล บุญเป็นเหตุ สุขเป็นผล ดังนี้

    เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสเทศนาไว้ว่า “วิปากธมฺมธมฺมา” ฉะนี้ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องอุกหนุนของความสุขพิเศษ เปรียบดุจดังว่า เครื่องบ่มผลไม้ทั้งปวง มีมะม่วงและผลไม้อื่นเป็นต้น อีกประการหนึ่ง ตัวอวิชชานี้

    แล เป็นตัววิปากธรรม เพราะสังขาร วิญญาณ นาม รูป เกิดขึ้นมาได้นั้น ก็อาศัยอวิชชาเป็นเดิมเหตุ หรือถ้ามิฉะนั้นก็ต้องอาศัยมูล ๖ คือ กุศลมูล ๓ อกุศลมูล ๓ มูลทั้ง ๖ นี้เป็นเหตุให้เกิดบุญและบาป เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า “วิปากธมฺมธมฺมา” ฉะนี้
     
  10. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๙. “เนววิปากนวิปากธมฺมธมฺมา”

    ต่อไปนี้จักแสดงในบทที่ ๙ ต่อไปว่า “เนววิปากนวิปากธมฺมธมฺมา” นี้ต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมิใช่วิบากมิใช่เหตุ แปลว่าธรรมอันไม่มีวิบาก ไม่มีเหตุ ดังนี้ อธิบายว่า ธรรมที่ไม่มีทั้งเหตุทั้งผล เปรียบเหมือนบุคคลที่นอนหลับฝันไปว่า ได้บริโภคอาหารอิ่มหนำสำราญ ครั้นตื่นขึ้นแล้ว อาหารและความอิ่มในฝันนั้นก็หายไปหมด อาหารนั้นก็ได้แก่เหตุ ความอิ่มนั้นก็ได้แก่ผล บุคคลที่นอนหลับฝันไปนั้นก็ได้แก่ธรรม ที่ว่า “เนววิปากนวิปากธมฺมธมฺมา” ดังนี้แล้วก็คือพระนิพพานนั้นเอง เมื่อยังไม่เห็นพระนิพพานตราบใด ธรรมดวงนั้นก็ต้องอาศัยบุญบาปที่สร้างกระทำอยู่ ครั้นเมื่อถึงพระนิพพานแล้ว บุญบาปที่สร้างกระทำอยู่ ครั้นเมื่อถึงพระนิพพานแล้ว บุญบาปก็หายสูญไปหมด ดังมีพระบาลีว่า “เอส ธมฺโม สนนฺตโน” แปลว่า ธรรมดวงเดียวนี้แลเป็นธรรมเก่า เป็นธรรมเครื่องยินดีของสัปบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ข้ามพ้นไปแล้วจากกิเลสดังนี้

    พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ธรรมดวงเดียวนี้เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยมานานแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะรู้จะเข้าใจโดยง่าย ๆ เพราะฉะนั้น ขอท่านปรวาทีจงแสดงเพื่อให้เกิดสันนิษฐานในกาลบัดนี้เถิด
    พระปรวาทีได้แสดงเป็นอุปมาว่า ดวงธรรมนี้เปรียบเหมือนบุคคลที่ย้อมผ้าด้วยสีต่าง ๆ มีสีเหลือง แดง ดำ เป็นต้น บุคคลที่ได้ย้อมผ้านั้นได้แก่สังขารนั่นเอง สีต่าง ๆ ได้แก่วิบากธรรม คือผลแห่งบุญและบาปนั่นเอง ผ้านั้นก็ได้แก่ธรรมที่มีชื่อว่า “เนววิปากนวิปากธมฺมธมฺมา” นี่เอง เมื่อบุคคลย้อมผ้าและสีต่าง ๆ หายสูญไปจากผ้านั้นแล้ว ผ้านั้นก็มีสีขาวบริสุทธิ์อย่างเดิม นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐาน เข้าใจตามนัย ดังพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิสดาร ที่ได้แสดงมาในมาติกาบทที่ ๙ นี้โดยสังเขปเพียงเท่านี้
     
  11. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑๐. “อุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา”

    ต่อไปนี้จักได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๑๐ ดังพระบาลีว่า “อุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา” อุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ทรงไว้ซึ่งธรรมชาติ อันเป็นเครื่องกำหนดในอุปาทาน ความที่เข้าไปถือเอาซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของถาวรมั่นคง หลงว่าเป็นของดีของงาม ถือว่าเป็นของของตนจริง ๆ

    เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าอุปาทาน จะบังเกิดขึ้นได้ก็อาศัยความที่ไม่รู้จักว่าเป็นโทษ เป็นคุณ เป็นประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้นจึงได้หลงรักใคร่ชอบใจ แต่อันที่จริงนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ย่อมให้โทษหลายอย่างหลายประการ โทษของรูปนั้นเป็นต้นว่า หนาวก็เป็นทุกข์ ร้อนก็เป็นทุกข์ อยากข้าวอยากน้ำก็เป็นทุกข์

    ถ้าจะอุปมาให้เห็นชัดแล้ว ก็ได้แก่บุคคลที่ถือว่ารูปเป็นของของตนนั้น ก็ได้แก่บุคคลที่ทำการสุมป่า หมายว่าจะได้เต่า ครั้นไปพบงูพิษเข้า ก็สำคัญว่าปลา เขาจึงล้วงมือลงไปจับเอางูพิษ งูพิษนั้นก็กัดเอาถึงแก่ความตาย ฉันใดก็ดี บุคคลที่ถือว่ารูปเป็นของตนนั้น ย่อมหลงกระทำแต่บาปกรรม บำรุงแต่รูปของตนและรูปของท่านผู้อื่น ครั้นตายแล้วก็ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น ก็เพราะเหตุที่เข้าไปถือว่ารูปเป็นของของตนนี่เอง

    อุปมาเหมือนคนที่ถูกงูพิษกัดตายฉะนั้น อีกประการหนึ่ง บุคคลที่ถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของของตนนั้น รูป เวทนา สัญญา ฯลฯ วิญญาณ ก็ไม่ใช่ของของตนเพราะเป็นปริณามธรรม รู้จักย้ายกลับกลายไปต่าง ๆ ถึงกระนั้นยังขืนยึดถือไว้ว่าเป็นของของตน เพราะฉะนั้นบุคคลที่ถือไว้นั้นก็อยากแต่จะให้มีความสุขความสบาย ส่วนรูป เวทนา ฯลฯ วิญญาณ นั้นก็กลับกลายยักย้ายอยู่ร่ำไร แต่บุคคลก็ขืนยึดถือว่าเป็นของของตน เหตุนั้นจึงได้ประสบแต่ความทุกข์ยากลำบากใจหลายอย่างหลายประการ เพราะอุปาทานเข้าไปยึดถือไว้ไม่วางดังนี้
     
  12. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑๑. “อนุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๑๑ ว่า “อนุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถือเอาซึ่งอารมณ์ที่ไม่ควรยึดถือเอา ดังนี้ มีนัยอธิบายว่า โลกธรรมทั้งแปดประการคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอิฏฐารมณ์ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา ความทุกข์ ทั้ง ๔ นี้เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๘ เหล่านี้เรียกว่าโลกธรรม เพราะโลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้ทำใจให้ขุ่นมัววุ่นวายไป ไม่ใช่เครื่องระงับและกระทำใจ

    ให้เดือดร้อนไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้ทรงตรัสไว้ว่า “อนุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันไม่ควรเข้าไปยึดถือเอาให้เป็นอารมณ์ ดังนี้ เพราะเหตุว่า โลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้เป็นเครื่องกวนใจของหมู่สัตว์โลกทั้งปวง โดยอธิบายว่า โลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้ เปรียบเหมือนกงจักรสำหรับพัดสัตว์โลกให้หมุนเวียนไปให้ได้เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ เหมือนอย่างเปรตที่ต้องการกงจักรตัดศีรษะ แต่ปวงสัตว์ทั้งหลายเห็นว่า โลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้ เป็นบรมสุข ก็เช่นเดียวกับโลกธรรมทั้ง ๘ ที่กระทำให้สัตว์วุ่นวายเดือดร้อน ได้เสวยแต่ความทุกขเวทนาต่าง ๆ ดังนี้
     
  13. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑๒. “อนุปาทินฺนานุปาทานิยา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๑๒ ว่า “อนุปาทินฺนานุปาทานิยา ธมฺมา” นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถึงธรรมที่สมควรยึดถือเอา และธรรมที่ไม่สมควรที่จะยึดถือเอา ดังนี้ โดยอธิบายว่า ธรรมที่ควรจะยึดถือเอานั้นก็คือ พระอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง โดยเนื้อความว่า ไม่ยึดถือเอาซึ่งโลกธรรมทั้ง ๘ และให้ยึดถือเอาอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า “อนุปาทินฺนานุปาทานิยา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกที่ ๑๒ ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

    ๑๓. “สงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา”

    ลำดับนี้จักได้แสดงในบทที่ ๑๓ สืบต่อไป โดยมีพระบาลีว่า “สงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจดังนี้ มีนัยอธิบายว่า บุคคลบางจำพวกให้วิตกคิดไปถึงบุคคลที่เขาได้ด่าตน ที่ได้ ฆ่าตน ที่ได้ชนะแก่ตน ที่ได้ลักของของตนไป ดังนี้ เหตุทั้ง ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งสิ้น เปรียบเหมือนตั๊กแตนที่ยินดีในเปลวไฟ เข้าใจไปว่านั้นเป็นของดี เมื่อบินถูกต้องเข้าแล้ว ไฟก็ไหม้ปีกไหม้หางเอาจะตาย จึงรู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงสมบาลีว่า “สงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” ดังนี้ แต่เดิมทีจิตก็เศร้าหมองอยู่แล้ว ยังไปคิดเอาอารมณ์ที่เศร้าหมองเข้ามาผสมกับจิตที่เศร้าหมองนั้นอีก จิตนั้นก็ยิ่งเศร้าหมองทวีขึ้นไปดังนี้

    ๑๔. “อสงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา”

    ในมาติกาบทที่ ๑๔ นั้น โดยบาลีว่า “อสงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ประกอบไปด้วยจิตอันเศร้าหมองแล้ว และไปคิดเอาแต่อารมณ์ที่ไม่เศร้าหมอง
    ดังนี้ โดยอธิบายความว่า บุคคลบางจำพวกที่มีจิตอันเศร้าหมองอยู่แล้ว แต่มาคิดถึงพระคุณของพระรัตนตรัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งไตรรัตน์นี้ ถ้าบุคคลใดนับถือแล้ว ผู้นั้นจะปรารถนาสิ่งใดก็สามารถจะให้สำเร็จได้ทุกประการ มีอุปมาว่า เหมือนบุคคลที่ว่ายน้ำไปย่อมคิดถึงแต่ศีล ทาน การกุศลของตนให้เป็นอารมณ์ เหมือนดังสุปพุทธเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ว่า สุปพุทธนั้น เมื่อเดิมทีก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ ทั้งประกอบไปด้วยโรคาพยาธินั้นก็มาก ทนยากลำบากเหลือที่ประมาณแล้ว แต่ได้นึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณให้เป็นอารมณ์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นต่อมาภายหลังก็ได้บริโภคหิรัญญสมบัติ สรรพโรคาพยาธิทั้งหลายก็หายไปหมด เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “อสงฺกิลิฏฺฐสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” ดังนั้น
     
  14. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑๕. “อสงฺกิลิฏฺฐาสงฺกิเลสิกา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๑๕ นั้น โดยพระบาลีว่า “อสงฺกิลิฏฺฐาสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันทรงไว้ซึ่งจิตที่ไม่เศร้าหมอง ความคิดนึก ก็คิดนึกแต่ในธรรมที่ไม่เศร้าหมองดังนี้ มีอรรถาธิบายว่า จิตประกอบไปด้วยธรรมอันเป็นเครื่องถอนออกเสียได้ซึ่งธรรมอันเป็นเครื่องเศร้าหมองอยู่ในสันดาน เปรียบเสมือนทารกไม่มีความยินดีในกามคุณ ให้ไปปราศจากก็เป็นเครื่องกำจัดเสียจากกามคุณ เพราะฉะนั้นจึงสมกับบาลีว่า “อสงฺกิลิฏฺฐาสงฺกิเลสิกา ธมฺมา” ซึ่งแปลว่าธรรมก็ไม่เศร้าหมอง จิตก็ไม่เศร้าหมอง ความนึกคิดในธรรมารมณ์ไม่เศร้าหมองดังนี้ แก้ไขมาในติกมาติกบทที่ ๑๕ ก็ยุติไว้เพียงเท่านี้

    ๑๖. “สวิตกฺกสวิจารา ธมฺมา”

    ลำดับนี้จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๑๖ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “สวิตกฺกสวิจารา ธมฺมา” เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปด้วยวิตกวิจารณ์ทั้งสองนี้ มีความอธิบายว่า บุคคลที่มีวิจารณ์ตรึกตรองวิตกไปต่าง ๆ เปรียบเหมือนพระโสดาบันท่านพิจารณาว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาสขาดไป ไม่มีอยู่ในสันดานของเราแล้ว จะคิดผิดประการใดหนอ จึงสละกามฉันทะพยาบาทไปได้ฉะนี้ ท่านวิตกไปว่า กามฉันทะ ความตริตรองไปเช่นนี้ อย่างนี้เรียกชื่อว่า วิจารณ์ แล้วท่านจึงวิตกไปอีกว่า กามฉันทะพยาบาทก็ยังมีอยู่ในสันดานของเรา เราจะคิดเป็นประการใดหนอ เราจึงสละกามฉันทะพยาบาทออกไปได้ฉะนี้ พระสักกวาทีจึงเรียนขอให้อุปมาอุปไมยต่อไปอีกว่า ข้าแต่ท่านปรวาที ความข้อนี้ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ เพราะฉะนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้า จง
    แสดงอุปมาอุปไมยต่อไป พระปรวาทีจึงได้แสดงอุปมาอุปไมยว่า เปรียบเหมือนพ่อค้าลงทุนหากำไร การค้าขายนั้นมีกำไรมากอยู่ แต่ก็ยังวิตกไปว่า กลัวคนอื่นเขาจะมาแย่งชิงค้าขายฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนท่าน ทายก อุบาสก อุบาสิกา ได้โอกาสถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และพิจารณาทดลองของบริโภคเครื่องไทยทานของตน ก็เห็นว่าดีแล้ว และคิดไปว่า เมื่อพระท่านฉัน ท่านจะชอบหมดทุกองค์หรือ หรือว่าจะไม่ชอบบ้างเป็นประการใด คอยตรวจตราดูแลเพิ่มเติม เปรี้ยว หวาน มันเค็ม เป็นต้น อยู่อย่างนี้ เช่นนี้แล เรียกว่า วิตกวิจารณ์ เพราะฉะนั้นสมกับพระบาลีว่า “สวิตกฺกสวิจารา ธมฺมา” ดังนี้

    ๑๗. “อวิตกฺกวิจารมตฺตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๑๗ ว่า “อวิตกฺกวิจารมตฺตา ธมฺมา” นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องทรงไว้ซึ่งจิต มาตรว่ามีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มี ดังนี้ มีความอธิบายว่า บุคคลที่กระทำกุศลสุจริต จิตไม่วอกแวกหวั่นไหว และคิดไปว่า เป็นบุญเป็นกุศลแล้วก็ก้มหน้ากระทำไป มิได้สอดแคล้วกินแหนงเมื่อภายหลัง ดุจดังผู้ชำนาญในการดูเงิน ที่ดีก็ว่าดี ที่แดงก็ว่าแดง เพราว่าเชื่อมือเชื่อตาของตนฉะนั้น พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ที่ว่าบุคคลไม่วิตกมีแต่วิจารณ์นั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่า เมื่อบุคคลไม่มีวิตกแล้ว จะเอาวิจารณ์มาแต่ไหนเล่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงอุปมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกต่อไป พระปรวาทีจึงได้แสดงอุปมาขึ้นว่า บุคคลที่มีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มีนั้น เปรียบเหมือนปลีกล้วย เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นปลีอยู่ ผลกล้วยเขาหาได้เรียกว่าปลีไม่ ดังโลกโวหารที่พูดกันอยู่ บุคคลผู้นั้นกระทำสิ่งใดไม่ได้ตริตรอง กระทำตามความชอบใจของตนดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อวิตกฺกวิจารมตฺตา ธมฺมา”
     
  15. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๑๘. “อวิตกฺกาวิจารา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๑๘ ว่า “อวิตกฺกาวิจารา ธมฺมา” นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตอันไม่วิตกวิจารณ์ อธิบายว่า บุคคลจำพวกหนึ่ง กระทำสิ่งใดที่ไม่ตริตรองพิจารณา เมื่อคนอื่นเขาว่าดีก็ดีตาม มีแต่ความเชื่ออย่างเดียว พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่วิตกวิจารณ์ มีแต่ความเชื่ออย่างเดียวนั้น คือใครเป็นไปตัวอย่าง พระปรวาทีจึงนำบุคคลมาแสดงเพื่ออุทธาหรณ์ว่า เมื่อพระอานนท์กระทำกายคตาสติกัมมัฏฐาน พิจารณาซึ่งอาการ ๓๒ เป็นอนุโลมปฏิโลม ครั้งนั้นก็ยังไม่สำเร็จอาสวักขัยไปได้

    เพราะพระอานนท์ยังวิตกไปถึงสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ และเชื่อคำพยากรณ์ภาษิตที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า อาตมาจะได้สำเร็จอาสวักขัยในวันนี้ แต่ก็เพราะเหตุใดจึงไม่สำเร็จเล่า อย่ากระนั้นเลยชะรอยความเพียรของเราจะกล้าไป จำอาตมาจะพักผ่อนสักหน่อยเถิด พอคิดจะจำวัด เอนกายลง ก็หมดความวิจารณ์ถึงอาการ ๓๒ และหมดความวิตกถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดได้บรรลุอาสวักขัย ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณด้วยมาตัดวิตกวจารณ์ออกไปเสียได้ เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีที่ว่า “วิตกฺกาวิจารา ธมฺมา” ซึ่งแปลว่าธรรมอันหมดวิตกวิจารณ์ฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิสดาร แก้ไขมาในติกมาติก บทที่ ๑๘ แต่โดยสังเขปคาถา ก็ขอยุติลงไว้เพียงเท่านี้

    ๑๙. “ปีติสหคตา ธมฺมา”

    บัดนี้จักได้แสดงในมาติกาบทที่ ๑๙ เป็นอนุสนธิสืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “ปีติสหคตา ธมฺมา” เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสหรคตด้วยปิติ ปิตินั้นมีลักษณะ ๕ ประการ คือ ขณิกาปีติ ๑ ขุททกาปีติ ๑ โอกกันติกาปีติ ๑ อุเพงคาปีติ ๑ ผรณาปีติ ๑

    ขณิกาปีตินั้น บังเกิดเป็นขณะ ๆ เมื่อบังเกิดขึ้น ก็เป็นประดุจดังว่าสายฟ้าแลบ ขุททกาปีตินั้น บังเกิดน้อย เมื่อบังเกิดขึ้นก็เป็นดุจดังว่าคลื่นกระทบฝั่ง โอกกันติกาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้น ทำให้กายหวั่นไหว อุเพงคาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นก็ทำให้ขนพองสยองเกล้า และทำให้ร่างกายลอยไปบนอากาศได้ ผรณาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้น ก็กระทำให้มีความรู้สึกซาบซ่าน ไปทั่วสรรพางค์กาย เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้บริโภคโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ฉะนั้น ปีตินั้น แปลว่าอิ่มใจ เป็นที่ยินดีของสัตว์ที่เป็นโลกียวิสัยนี้ทั่วไป

    พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ปีตินั้นแปลว่าอิ่ม บุคคลที่ได้บริโภคอาหารนั้นก็อิ่ม ได้ลาภที่ชอบใจก็อิ่ม จิตที่ฟุ้งซ่านไปก็อิ่ม จิตที่ระงับก็อิ่ม เรียกว่าปีติ ปีติในที่นี้จะว่าอิ่มด้วยอะไร พระปรวาทีจึงวิสัชนาว่า ปีติในที่นี้แปลว่าอิ่ม เพราะไม่มีความกังวลอีกต่อไป ดังบุคคลที่หิวอาหารจัด ก็ไปเที่ยวแสวงหาอาหารตามชอบใจของตน ครั้นได้อาหารรับประทานอิ่มแล้ว ก็สิ้นความกังวล ไม่ต้องแสวงหาอีกต่อไป เปรียบเหมือนท่านวักกลิภิกขุ มีความตั้งใจว่า ดูพระรูปพระโฉมพระพุทธเจ้าให้อิ่มใจ เมื่อไม่เห็นพระพุทธองค์แล้วก็มีความโทมนัสเสียใจ ครั้นเมื่อได้เห็นพระพุทธองค์แล้ว จิตใจที่โทมนัสก็หายไป ความอิ่มนี้แล เรียกว่าปีติ เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “ปิติสหคตา ธมฺมา” ดังนี้
     
  16. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๐. “สุขสหคตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๐ ว่า “สุขสหคตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสรหคตแล้วด้วยความสุข ความสุขนั้นมีประเภทเป็น ๒ ประการ คือ สุขกาย ความสุขที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ๑ ความสุขใจที่ไม่เศร้าหมอง ความสุขที่สมเหตุที่คิด สมกิจที่กระทำ ๑ ยังมีความสุขอีกประเภทหนึ่งมีอยู่ ๔ ประการคือ สุขเพราะมีอายุยืน ๑ สุขเพราะมีรูปงาม ๑ สุขเพราะมีกำลังกาย กำลังทรัพย์ มีกำลังปัญญา ๑ สุขในความหมดเวรหมดกรรม ๑ แต่เมื่อจะว่าโดยย่อ ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียสุข ๑ โลกุตรสุข ๑

    โดยความอธิบายว่า ความที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เรียกว่าความสบาย ความสบายเรียกว่าความสุข ความสุขที่ประกอบไปด้วยกิเลสนั้น เรียกว่าโลกียสุข ความสุขที่ไม่มีกิเลสเจือปนเรียกว่า โลกุตรสุข ความสุขทั้ง ๒ ประการนี้เมื่อจะอ้างบุคคล ก็ได้แก่ สุขสามเณร แต่เดิมทีนั้นเป็นคนยากจนเข็ญใจ ได้ถวายเครื่องสักการะแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งแต่นั้น ก็เป็นสุข ๆ มาจนกระทั่งถึงศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม นี้เป็นเขตโลกียสุข ตั้งแต่วันได้บรรลุเป็นพระอรหัตต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนั้น เป็นเขตแห่งโลกุตรสุข “สุโข วิเวโก” ความเงียบสงัดจากกิเลสก็เป็นสุขประการหนึ่ง “สุโข พุทธานมุปฺปาโท” ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นความสุขประการหนึ่ง “สุขธมฺมเทสนา” การที่ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าก็เป็นสุขประการหนึ่ง “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี” การที่พร้อมเพรียงกันแห่งหมู่สงฆ์ก็เป็นสุขประการหนึ่ง “ตโป สุโข” การกระทำกิเลสให้เร่าร้อน คือการผ่อนผันให้เบาบางจากสันดานไปได้ ก็เป็นสุขประการหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติตนเป็นไปใน กายวิเวก อุปธิวิเวก จิตตวิเวก วิเวกทั้ง ๓ นี้แล เรียกว่าความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีที่ว่า “สุขสหคตา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาในมาติกา บทที่ ๒๐ ก็ยุติไว้โดยสังเขปเพียงเท่านี้

    ๒๑. “อุเปกฺขาสหคตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๑ ว่า “อุเปกฺขาสหคตา ธมฺมา” นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็นอุเบกขา คือ หมดปีติ หมดสุข จึงจัดเป็นอุเบกขา ในที่นี้ อุเบกขานี้เกิดขึ้นแต่สุข สุขนั้นก็บังเกิดแต่ปีติ ต่อเมื่อหมดสุขและปีติแล้ว อุเบกขาจึงจะบังเกิดขึ้นได้ โดยความอธิบายว่า หมดปีติ หมดสุข แล้วจึงเป็นอุเบกขา ถ้าปีติและสุขยังมีอยู่ อุเบกขาก็
    บังเกิดขึ้นไม่ได้ อุเบกขาในที่นี้ประสงค์เอาความว่า ปีติกับสุขทั้งสองนี้บังเกิดขึ้นแล้วแลหายไป ถ้าปีติและสุขทั้งสองยังมีอยู่ตราบใด ก็จัดเป็นอุเบกขาไม่ได้ ถ้าปีติ และสุขนี้ไม่มีมาแต่เดิม อุเบกขาก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะเหตุว่ามีอุเบกขาไม่ได้ เปรียบเหมือนแสงสว่างอันบังเกิดจากเปลวไฟ เปลวไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเชื้อฟาง ฟางก็ได้แก่ปีติ เปลวไฟก็ได้แก่ความสุข แสงสว่างได้แก่อุเบกขา

    เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาว่า ปีติ สุข อุเบกขา เป็นลำดับกันมา เหมือนอย่างสุขทั้ง ๓ ประการ คือ สุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ และสุขในพระนิพพาน

    สุขในมนุษย์ไม่สุขเท่าสุขในสวรรค์ สุขในสวรรค์ไม่สุขเท่าสุขในพระนิพพานฉะนี้ ดังมีในเรื่องราวพระมหาชมพูบดีเป็นตัวอย่าง เดิมทีมหาชมพูบดีนั้น ได้เสวยสุขในสิริราชสมบัติในมนุษย์แล้วก็ไม่ยินดี เห็นสุขในสวรรค์ว่ายิ่งกว่า ครั้นได้เห็นความสุขในพระนิพพาน อันเป็นบรมสุขกว่าสุขทั้งสองนั้นแล้ว ก็ทิ้งสุขทั้งสองนั้นเสีย

    ความสุขทั้ง ๓ คือ มนุษย์ สวรรค์ พระนิพพาน นี้ ก็นัยเดียวกับธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ปีติ สุข อุเบกขา เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “อุเปกฺขาสหคตา ธมฺมา” ดังนี้ แก้ไขมาในมาติกา บทที่ ๒๑ ก็ยุติไว้เพียงเท่านี้
     
  17. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๒. “ทสฺสเนน ปหาตพฺพา ธมฺมา”

    ลำดับนี้ จักได้แสดงใน ติกมาติกา บทที่ ๒๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “ทสฺสเนน ปหาตพฺพา ธมฺมา” เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละกิเลส เพราะเหตุที่ได้เห็น ดังนี้ มีความอธิบายว่า จิตที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ครั้นได้เห็นเข้าแล้ว ก็เกิดความสังเวชสลดใจ จึงละกิเลสได้

    เหมือนดังบัณฑิตสามเณร เมื่อได้เห็นผมของตนเองแล้ว ก็บังเกิดปัญญา พิจารณาเป็นอสุภะ ว่าผมของเราไม่งาม ผมของผู้อื่นก็เหมือนกัน พระอรหัตต์ก็บังเกิดขึ้นปรากฏดังนี้ พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ละกิเลสได้เพราะได้เห็นนั้น ก็เห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก ก็เหตุใดเล่า พวกเราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้จึงละกิเลสไม่ได้ หรือการที่เห็นนั้น จะมีนัยต่างกันอย่างไร พระปรวาทีจึงวิสัชชนาว่า การเห็นนั้นมีนัยที่ต่างกัน ที่เห็นแล้วให้เกิดกิเลสก็มี ที่เห็นแล้วละกิเลสได้ก็มี สุดแล้วแต่เหตุที่เห็น ถ้าเห็นของที่งาม ที่ชอบใจ ก็ทำให้บังเกิดกิเลสได้ เพระเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้ทรงตรัสสอนหมู่พุทธบริษัทว่า “อสุภานุปสฺสึ วหรนฺตํ” ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์จะให้อยู่ด้วยความเห็นซึ่งอารมณ์อันไม่งาม เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ทสฺสเนน ปหาตพฺพา ธมฺมา” ฉะนี้
     
  18. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๓. “ภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๓ ว่า “ภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละกิเลสได้เพราะการที่ภาวนา

    ภาวนานั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ ปริกัมมภาวนา ละกิเลสอย่างหยาบได้ประการหนึ่ง
    อุปจารภาวนา ละกิเลสอย่างกลางได้ประการหนึ่ง
    อัปปนาภาวนา ละกิเลสอย่างละเอียดได้ประการหนึ่ง

    เมื่อจะชี้บุคคลที่ท่านละกิเลสให้เห็น และยังธรรมวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจแห่งการภาวนาทั้ง ๓ ประการนี้ มีอยู่โดยมากเป็นอเนกประการ เช่นกับพระภิกษุได้เห็นฟันของสตรี หรือพระนางรูปนันทาที่ได้เห็นนิมิตที่งามดีกว่ารูปของตน หรือพระปัจเจกโพธิทั้ง ๕๐๐ องค์ที่ได้เห็นดอกบัวร่วงโรยลง นี่แลเรียกว่าภาวนา

    โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่หยาบ ก็ละกิเลสอย่างหยาบได้
    ปัญญาอย่างกลาง ก็ละกิเลสอย่างกลางได้
    ปัญญาอย่างละเอียด ก็ละกิเลสอย่างละเอียดได้

    ภาวนานั้น ประสงค์เอาความว่า ให้รู้จักชั่ว รู้จักดี กำจัดความชั่วให้หมดไป กระทำความดีให้บังเกิดขึ้นมีในตน ดังนี้เรียกว่าภาวนา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๒๔. “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๔ ว่า “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา” นี้ แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็น และไม่ใช่หนทางภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ละกิเลสไม่ได้ด้วยนิสัย เปรียบเหมือนกับทุกุลบัณฑิต เห็นก็ไม่ได้เห็น ภาวนาก็ไม่ได้ภาวนา เป็นแต่กระทำความในใจไม่ให้ยินดีในกามคุณ

    ดุจบุคคลผู้มีอารมณ์ดี ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นแต่เฉย ๆ อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่าเป็นไปตามนิสัย บุคคลที่จะละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ภาวนา เป็นแต่กระทำความไม่ยินดีในกามคุณ เช่นกับทุกุลบัณฑิตนั้น ก็หาได้โดยยากยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา” ดังนี้ ได้แก้ไขในติกมาติกา บทที่ ๒๔ ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  19. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๕. “ทสฺสเนน ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา”

    ลำดับต่อไปนี้ จักได้แก้ไขในบทที่ ๒๕ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “ทสฺสเนน ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุแล้วจึงละกิเลสได้เพราะความเห็น ดังนี้ อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนก่อน แล้วจึงละกิเลสได้ด้วยความเห็น ความเห็นนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้ก็มี เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้ก็มี

    ความที่เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้นั้น ได้แก่บุคคลที่เห็นผู้อื่น อันเสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ แล้ว ก็เกิดความสังเวชสลดใจ กลัวแต่ภัยอันนั้นจะมาถึงแก่ตน ดังมีอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรี ๒ คนพี่น้องกัน ผู้พี่สาวนั้นมีสามีก่อน ครั้นมีครรภ์ครบกำหนดทสมาสแล้วก็คลอดบุตร ได้ความลำบากทุกขเวทนาแสนสาหัส ถึงแก่ความตายไป น้องสาวได้เห็นพี่สาวถึงแก่ความตายดังนั้น ก็เกิดความสังเวชสลดใจ จึงไม่ยอมมีสามีต่อไป กลัวภัยเช่นนั้นจะบังเกิดมีแก่ตนฉะนี้ จัดได้ชื่อว่า ละกิเลสเพราะความเห็นด้วยตา ดังวิสัชนาฉะนี้

    ความที่เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้นั้น โดยเนื้อความว่า บุคคลที่เห็นนามและรูป โดยพระไตรลักษณญาณว่า รูปและนามทั้ง ๒ ประการนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเบื่อหน่ายจากขันธ์ทั้ง ๕ ดังนี้ ชื่อว่าละกิเลสได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ทสฺสเนน ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๒๖. “ภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๖ ว่า “ภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนแต่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า โลกียธรรมเป็นปัจจัยเกื้อกูลโลกุตรธรรม ศีลเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่สมาธิ ศีลก็ได้แก่ การสำรวมกาย วาจา และความอดใจ สมาธิได้แก่ ภาวนา เพราะฉะนั้น ธรรมบทนี้จึงได้ชื่อว่าโลกียธรรม เป็นปัจจัยให้เกิดภาวนา

    ศีลมีอยู่ ๒ ประการคือ โลกียศีล ๑ โลกุตรศีล ๑
    ภาวนาก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียภาวนา ๑ โลกุตรภาวนา ๑

    โลกียศีลนั้น เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ได้แต่ โลกียภาวนาเท่านั้น จะไปเกื้อกูลแต่โลกุตรนั้นไม่ได้ เพราะเหตุใด ก็เพราะเหตุโลกียศีลนั้น ระงับได้เป็นคราว ๆ ครั้นมาภายหลัง กิเลสก็บังเกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า ธรรมดาศิลาทับหญ้านั้น เมื่อศิลาทับหญ้าอยู่นั้น หญ้าก็งอกขึ้นมาไม่ได้ ศิลานั้นก็ได้แก่ศีล หญ้านั้นก็ได้แก่กิเลส เมื่อบุคคลผู้
    ไม่ระวังรักษาองค์แห่งศีล และกระทำศีลให้ขาดไป กิเลสก็บังเกิดขึ้นอย่างเดิม เปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดต้นไม้ เมื่อไม่ตัดรากด้วย นานไป ฝนตกลงมา ต้นไม้นั้นก็กลับงอกงามขึ้นมาอีก

    เพราะเหตุนั้นจึงว่า บุคคลผู้รักษาเพียงโลกียศีลนั้น ไม่มีความปรารถนาที่จะตัดกิเลส มีแต่ความปรารถนาที่จะได้บุญกุศลย่างเดียว เปรียบเหมือนรากไม้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับแผ่นดิน ครั้นน้ำฝนตกลงมาถูกต้องแล้ว ก็กลับงอกงามขึ้นมาได้อีก ฉันใดก็ดี โลกียศีลก็มีอุปาทานเกี่ยวอยู่ กิเลสก็อาศัยอุปาทาน บังเกิดขึ้นอยู่ได้ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อุปาทานปจฺจยา ภโว” เมื่ออุปาทานเป็นปัจจัยแล้ว ภพก็อาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่าโลกียศีลนี้ กิเลสยังอาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ ศีลอันนั้นแลชื่อว่าโลกียศีล
    ในโลกุตรศีลนั้นโดยเนื้อความว่า ศีลอันใดไม่ยังกิเลสให้บังเกิดขึ้นได้ โดยความอธิบายว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องไปสมาทาน ไม่ต้องระวังรักษา กิเลสบังเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนบุคคลตัดต้นไม้แล้วแลขุดถอนรากเสียฉะนั้น ถึงฝนจะตกถูกต้องเป็นประการใด ๆ ก็ดี ไม่สามารถจะงอกขึ้นมาได้อีก หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดยอดตาลและยอดมะพร้าว ธรรมดายอดตาลและยอดมะพร้าวอันบุคคลตัดแล้วนั้น ไม่สามารถจะงอกขึ้นมาได้อีก โลกุตรศีลก็มีอุปไมยเช่นกันฉะนั้น

    บุคคลที่รักษาโลกุตรศีลนั้น เพราะปัญญาพิจารณาเห็นว่า ปัญจขันธ์และสรรพธรรมทั้งปวง ล้วนเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงมิได้รัก มิได้ชัง กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ กิเลสจะบังเกิดขึ้นได้นั้น เพราะจิตที่รักที่ชังนี่เอง เมื่อจิตไม่รักไม่ชังแล้ว กิเลสมันจะบังเกิดขึ้นมาแต่ไหนเล่า อุปมาเหมือนไฟ ธรรมดาว่าจะติดไฟขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยเชื้อที่มีอยู่เดิม ถ้าเชื้อไม่มีแล้ว ไฟก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ดี จิตของพระอริยสัปบุรุษทั้งหลายนั้น ย่อมไม่มีเชื้อ คือ อุปาทาน เพราะความที่แห้งไปด้วยพระไตรลักษณญาณนั้นมีอยู่ในจิตสันดานเป็นนิตย์นิรันดร เมื่อเชื้อคืออุปาทานไม่มีแล้ว กิเลสก็ไม่บังเกิด เหมือนหนึ่งเชื้อแห่งไฟฉะนั้น
    เพราะเหตุนั้นจึงว่า โลกุตรศีลไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องรักษา เป็นแต่ใช้ปัญญาดวงเดียวก็สู้กิเลสได้หมด เมื่อละกิเลสได้หมดแล้วก็เป็นโลกุตรศีล ไม่ต้องสมาทานรักษา โลกียภาวนานั้น เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ถาวรมั่นคงอยู่ เหมือนจิตที่เป็นเอกัคคตาแล้ว ก็กลับมาเป็นวิตก วิจารณ์อีกต่อไปฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็จะเปรียบเหมือนบุคคลที่ขึ้น
    ต้นไม้ ครั้นเก็บเอาผลไม้ได้แล้ว ก็จะกลับลงมากองไว้ใต้ต้นแล้วจึงจะขึ้นไปเก็บอีกฉะนั้น

    หรือเปรียบเหมือนบุรุษที่บวชในสำนักแห่งพระสารีบุตรแล้ว และเรียนภาวนาได้สำเร็จญาณโลกีย์เหาะไปได้ ครั้นต่อมาภายหลัง ได้เห็นรูปสตรีเข้า ก็มีจิตปฏิพัทธ์ยินดีชอบใจ อยากได้สตรีนั้นมาเป็นภริยาของตน ภาวนานั้นก็เสื่อมหายไป ต่อมาภายหลังไปประพฤติโจรกรรม ถูกเขาจับตัวได้มีโทษถึงแก่ประหารชีวิต พระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้วจึงไปเตือนสติให้ภาวนา บุรุษนั้นก็ระลึกได้ จึงบริกรรมภาวนา ได้สำเร็จญาณเหมือนเก่า แล้วก็เหาะหนีรอดจากความตายมาได้ เพราะเหตุนั้นจึงว่า โลกียภาวนานั้น ไม่คงทนถาวรมั่นคงอยู่ได้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็สูญหายไป เพราะเป็นของไม่เที่ยง กำเริบได้ ไม่เหมือนโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นเป็นของถาวรมั่นคง เที่ยงแท้ ไม่แปรผันวิปริตกลับกลอกเหมือนโลกียภาวนา

    โลกุตรภาวนานั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่ว่ายน้ำพัดให้กลับกลอกไปมา ครั้นถึงฝั่งแล้วก็พ้นจากน้ำที่มีคลื่นฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ภาวนาให้บังเกิดขึ้นแล้วและไม่หายไม่สูญไปนั้นแลชื่อว่าโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่เข้าถ้ำในเวลาจวนค่ำจวนมืด บุคคลที่แรกเจริญภาวนานั้นก็ยังมืดอยู่ ครั้นภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็มีความสว่างขึ้นไม่มืดต่อไป บุรุษที่เข้าถ้ำในเวลาค่ำมืดนั้น ครั้นพระจันทร์ส่องสว่างลงมาแล้ว ย่อมได้แสงสว่างจากพระจันทร์ เป็นที่ดำเนินไป บุรุษนั้นมื่อได้อาศัยแสงสว่างแห่งพระจันทร์แล้วก็เดินไปยังสถานที่ได้ แต่จะเดินไปให้พ้นพระจันทร์นั้นไม่ได้ เมื่อบุรุษนั้นจะเดินไปสู่ประเทศใด ๆ พระจันทร์ก็ตามไปในประเทศนั้น ๆ ฉันใดก็ดี ท่านที่เจริญโลกุตรภาวนานั้น เมื่อโลกุตรภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมติดตามท่านผู้นั้นไปจนตราบเข้าสู่พระนิพพานฉะนั้น เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” ดังนี้
     
  20. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๗. “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๗ ว่า “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” นี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่ธรรมที่พึงละได้เพราะเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ได้ภาวนา โดยความอธิบายในบทที่ ๑ นั้นว่า ละกิเลสได้เพราะเห็น บทที่ ๒ นั้นว่า ละกิเลสได้เพราะการภาวนา ในบทที่ ๓ นี้ว่า ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องภาวนาละกิเลสได้ด้วยภาวนาของตนเอง เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีผลเป็นต้น ธรรมดาว่าผลไม้นั้น บางทีหล่นเองก็มี บางที
    หล่นลงด้วยพายุก็มี บางทีหล่นลงเพราะคนสอยก็มี บางทีหล่นลงด้วยสัตว์ทั้งหลายมีค้างคาวเป็นต้นกัดกินก็มี

    แต่พระธรรมบทนี้หล่นลงโดยสภาวะของตนเอง จะได้หล่นลงด้วยคนสอย ด้วยลมพายุ และสัตว์จำพวกหนึ่งจำพวกใดหามิได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า “เนวทสฺสเนน นภาวนาย ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” ดังนี้ พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ข้าแต่ท่านปรวาที ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ท่านที่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษต่าง ๆ นั้น ก็เพราะได้เห็นได้เจริญภาวนาก็ดี ที่ท่านได้เห็นฟองน้ำและพยับแดดเป็นต้นดังนี้ ในพระกัมมัฏฐาน ๓๐ แลวิปัสสนา ๑๐ นั้นก็ดี ท่านแสดงว่าได้เฉพาะเหตุที่ได้เห็นและเหตุที่ได้เจริญภาวนาดังนี้ ก็แลคำที่ท่านว่าไม่ต้องเห็น ไม่ต้องภาวนานั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง ฉะนั้นขอท่านปรวาทีจงแสดงอ้างบุคคลพอเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อไปอีก

    พระปรวาทีจึงนำเอาเรื่องพระอานนท์มาแสดง เพื่อให้เห็นเป็นทัศนะอุทาหรณ์ว่า ดูก่อนท่านสักกวาทีอาจารย์ เมื่อพระอานนท์ตามเสด็จสมเด็จพระพุทธองค์ไปถึงเมืองกุสินารา กาลครั้งนั้น พระอานนท์ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ก็มีความเศร้าโศกโศกาอาลัยไปต่าง ๆ แล้วพระพุทธองค์จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า “มา โสจยิ” ดูก่อนสำแดงอานนท์ เธออย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เมื่อเราผู้ตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระมหากัสสปยกพระวินัยสุตตันตาภิธัมม์สู่สังคายนา ในกาลครั้งนั้น เธอก็จะได้บรรลุอาสวักขัย เป็นพระขีณาสพอรหันต์ดังนี้ ครั้นต่อมาภายหลัง ถึงวันประชุมกระทำสังคายนา พระอริยสงฆ์ทั้งมวลจึงได้ตักเตือนพระอานนท์ว่า “สฺวสนฺนิปาโต” วันพรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์จะประชุมกระทำสังคายนา “ตวตฺตวาเสโข” ตัวท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ท่านหาสมควรเข้าสู่สันนิบาตไม่ “อปฺปมตฺโต โหหิ” ฉะนั้นอย่าได้มัวประมาทเลย ดังนี้ เมื่อท่านพระอานนท์ได้ยินคำตักเตือนจากหมู่พระอริยสงฆ์ทั้งปวงดังนี้แล้ว จึงได้ปลีกตนเข้าไปสู่ที่สงัด กระทำสมณธรรม ปลงปัญญา เห็นความชัดว่า เราคงได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ ตัดกิเลสได้เป็นพระอรหันต์เป็นแน่ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แล้วไม่เป็นคำสองดังนี้

    ดูก่อนท่านสักกวาที พระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใดเพราะเหตุที่ได้เห็นนั้น
    ครั้นต่อมาภายหลัง พระอานนท์ได้เจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน พิจารณาชึ่งอาการ ๓๒ เห็นลงโดยพระไตรลักษณ์ญาณจนคืนยังรุ่ง พระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลวิเศษอันใด เพราะเหตุที่พระอานนท์มีวิตกไปว่า ก็เหตุไฉนหนอเราจึงไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ “สงขารสมตฺโถ” ชะรอยว่าเรากระทำความเพียรกล้านักไป จำเราจะระงับสังขาร
    เสียหน่อยให้สบาย แล้วจึงภาวนาต่อไป ฉะนี้ พระอานนท์ก็ละความเห็นและภาวนานั้นแล้วจึงเอนกายลง พระเศียรยังไม่ถึงพระเขนย พระบาทยังไม่พ้นจากพื้น พระอานนท์ก็ได้บรรลุอาสวักขัย เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “เนวทสฺสเนน นภาวนาน ปหาตพฺพเหตุกา ธมฺมา” ฉะนี้ ปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าใจในพระพุทธสุภาษิต อันวิจิตรพิสดาร รับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาบทที่ ๒๗ นี้โดยสังเขปคาถาก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้แล
     

แชร์หน้านี้

Loading...