พระอภิธัมมาติกาบรรยาย โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 20 มีนาคม 2010.

  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๒๘. “อาจยคามิโน ธมฺมา”

    ลำดับนี้จักได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๒๘ ต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “อาจยคามิโน ธมฺมา” เป็นต้น แปลความว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยความสุขเพราะการสร้างสมซึ่งบุญนั้น ธรรมดาว่าบุคคลไปสู่หนทางอันไกลนั้น ก็ต้องอาศัยการสะสมเสบียงอาหารให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะมีความสุขความสบายในหนทางอันไกลนั้น

    ถ้ามิฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนแม่ทัพผู้จะนำพลนิกรเข้าสู่ยุทธสงคราม ก็ต้องเตรียมเสบียงอาหารและเครื่องศาสตราวุธให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะยกพลเข้าสู่ยุทธสงครามนั้นได้ ฉันใดก็ดี บุคคลที่จะได้ประสบซึ่งความสุขนั้น ก็ต้องอาศัยการสั่งสมขึ้น ซึ่งการบุญการกุศลฉันนั้นเหมือนกัน ดังมีในราชเทวตาสังยุตตพุทธภาษิตว่า “ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” เมื่อบุคคลผู้ใดสั่งสมซึ่งบุญ บุญนั้นก็จะนำมาซึ่งความสุข เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “อาจยคามิโน ธมฺมา” ดังนี้

    ๒๙. “อปจยคามิโน ธมฺมา”

    ในบทที่ ๒๙ ว่า “อปจยคามิโน ธมฺมา” นั้นแปลความว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยซึ่งความทุกข์ เพราะไม่ได้สั่งสมซึ่งการบุญการกุศล โดยความอธิบายว่า บุคคลจะถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจ เพราะไม่มีเครื่องใช้สอยต่าง ๆ มีเงินทอง ผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นต้น ก็เพราะไม่ได้สั่งสมการบุญการกุศล เปรียบเหมือนคนยากจนอนาถา เที่ยวขอทานท่านผู้อื่นเลี้ยงชีวิต บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ วันที่ขอเขาไม่ได้นั้นแลมากกว่าวันที่ได้ เพราะของของตนไม่มี จึงต้องถึงซึ่งความลำบากดังนี้ ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ว่า ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า อานนทเศรษฐี เศรษฐีคนนี้ไม่ได้ทำบุญให้ทานแก่ใคร ๆ ครั้นเมื่อตายไปก็ได้บังเกิดในครรภ์แห่งหญิงขอทาน นับแต่ทารกนั้นมาถือปฏิสนธิในครรภ์ขึ้นมา ก็กระทำให้บิดามารดาทั้งสองถึงแก่ความยากยิ่ง
    เที่ยวขอทานเขาได้โดยความลำบาก เมื่อคลอดออกมาและเดินไปมาได้แล้ว บิดามารดาพาไปเที่ยวขอทาน ก็เลยไม่ได้สิ่งอันใดมา ถ้าไม่พาทารกนั้นไป ไปแต่ผู้เดียวแล้ว ก็ขอเขาได้บ้างพอเป็นยาปนมัต เลี้ยงกันไป เพราะเหตุนั้น มารดาจึงพาไปปล่อยทิ้งเสียให้ไกลพ้นจากบ้านของตน แล้วก็ไปเที่ยวขอทานเขากินได้โดยความสะดวกดี

    ฝ่ายทารกนั้นก็เที่ยวขอทานเขาไป เมื่อทารกทั้งหลายเห็นแล้วก็พากันไล่ทุบตีให้ถึงแก่ความตาย แล้วจึงพากันเอาไปโยนทิ้งไว้เหนือกองหยากเยื่อในที่แห่งหนึ่ง เพลาเช้าในวันนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ไปโคจรบิณฑบาต ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้นนอนตายอยู่ที่กองหยากเยื่อแล้ว จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อน อานนท์ ทารกที่นอนตายอยู่บนกองหยากเยื่อนี้ คือ อานนทเศรษฐีนั้นเอง เพราะตนไม่ได้บำเพ็ญกุศลไว้ จึงต้องถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเห็นสภาวะปานฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อปจยคามิโน ธมฺมา” ฉะนี้
     
  2. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๐. “เนวาจยคามิโน นาปจยคามิโน ธมฺมา”

    ในบทที่ ๓๐ นี้ มีพระบาลีว่า “เนวาจยคามิโน นาปจยคามิโน ธมฺมา” นี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุยังสัตว์ให้ถึงซึ่งความสุขด้วยการสั่งสมก็ไม่ใช่ ด้วยการไม่สั่งสมก็ไม่ใช่ โดยความอธิบายว่า สั่งสมแต่การบุญ ไม่สั่งสมการบาป แต่ธรรมบทนี้แปลว่า ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป เปรียบเหมือนคนที่นอนหลับ ไม่สุขไม่ทุกข์ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนบุคคลที่ร้อนไปหาเย็น หนีออกไปพ้นจากร้อนแล้วแต่ยังไม่ทันถึงความเย็น อยู่แต่ในระหว่างกลาง ๆ นั้น เมื่อจะชี้บุคคลเป็นตัวอย่าง ก็ได้แก่ พระมหาเถระที่บอกแก่นายช่างแก้วมณีว่า โทษยังมีแก่บุคคลในโลกฉะนี้ เพราะตัวของท่านนั้น ไม่สุข ไม่ทุกข์ ท่านอยู่ในระหว่างกลาง ไม่ร้อน ไม่เย็น โดยเหตุดังกล่าวนี้ ความพิสดารมีแจ้งอยู่ในคัมภีร์พระธรรมบทนั้นแล้ว นำมาแสดงในที่นี้แต่โดยสังเขปให้สมกับพระบาลีที่ว่า “เนวาจยคามิโน นาปจยคามิโน ธมฺมา” ดังนี้

    ๓๑. “เสกฺขา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้ไป จักได้แสดงในติกมาติกา บทที่ ๓๑ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “เสกฺขา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่จำจะต้องศึกษาดังนี้ ธรรมที่จะต้องศึกษานั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ อธิสีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ เป็นธรรม ๓ ประการฉะนี้ พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ จะต้องศึกษาอย่างไร จึงจะ
    เรียกชื่อว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาได้ พระปรวาทีจึงวิสัชชนาว่า ในสิกขาทั้ง ๓ นั้นก็คือศึกษาให้สีลยิ่ง ๑ ศึกษาให้จิตยิ่ง ๑ ศึกษาให้ปัญญายิ่ง ๑ โดยความอธิบายว่า

    ศีลนั้นก็มีอยู่ ๓ สถานคือ ศีลอย่างต่ำ ๑ ศีลอย่างกลาง ๑ ศีลอย่างละเอียด ๑

    บุคคลผู้รักษาศีลนั้น บางคนก็เปล่งอุทานวาจาว่า จะรักษาศีล ไม่กระทำบาปด้วย กาย วาจา ดังนี้ ครั้นบาปมาถึงแก่ตนเข้าแล้ว ก็ไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลนั้นไว้ได้ ขืนกระทำบาปนั้นลงไปด้วย กาย วาจา ดังนี้ เรียกว่า ศีลอย่างต่ำ บุคคลผู้รักษาศีลนั้น บางคนก็ตั้งเจตนาไว้ว่า ไม่กระทำบาปด้วยการ วาจา ครั้นบาปมาถึงแก่ตนเข้าแล้ว ก็คิดได้ว่า เรารักษาศีล ไม่ควรกระทำบาปด้วยกาย วาจา ดังนี้ เรียกชื่อว่า ศีลอย่างกลาง บุคคลผู้รักษาศีลนั้น บางคนก็รักษาพร้อมด้วยกาย วาจา ไม่กระทำบาปจริง ๆ จนเห็นพระอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ดังนี้ เรียกชื่อว่าศีลอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่ง บุคคลที่เป็นสัปบุรุษ มารักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ดีแล้ว ยังไม่พอแก่ศรัทธา จึงรักษาศีล ๘ ให้ยิ่งขึ้นไป

    ครั้นรักษาศีล ๘ ได้บริสุทธิ์ดีแล้ว ก็ยังไม่พอแก่ศรัทธา จึงละเพศฆราวาส ออกบรรพชาเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ ให้ยิ่งขึ้นไป จนได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีล ๒๒๗ ดังนี้เรียกชื่อว่าศึกษาในศีล ได้ชื่อว่า อธิสีลสิกขา พระสักกวาทีจึงขออุปมากับพระปรวาทีต่อไป พระปรวาทีจึงได้อุปมาให้ฟังว่า ธรรมดาว่าบุคคลที่ปลูกต้นไม้ หวังผลแล้วก็ย่อมระวังรักษา หมั่นรดน้ำพรวนดิน ไม่ให้ต้นไม้นั้นเหี่ยวแห้งตายไป คอยระวังรักษาอยู่ทุกวันมิได้ขาด จนต้นไม้นั้นงอกงามเจริญขึ้น มีดอกออกผลสมความประสงค์ของตน ฉันใดก็ดี บุคคลผู้มีวิรัติเจตนามารักษาศีล หวังต่อความสุขแล้วนั้น ก็ย่อมตั้งเจตนาระวังรักษาไม่ให้อุปกิเลสเข้ามาท่วมทับศีลของตนได้ และยังศีลของตนให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนบุคคลที่ปลูกต้นไม้ฉะนั้น เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แก้ไขอธิจิตต่อไป

    บุคคลที่จะกระทำจิตให้ยิ่งนั้น พึงคิดว่า เราจะให้ทานตามได้ตามมี ครั้นเห็นทานของตนมีผลแล้ว ก็พึงคิดว่าเราจะรักษาศีลต่อไป ครั้นเห็นว่าศีลมีผลมากกว่าทานแล้ว ก็พึงคิดว่า เราจะเจริญภาวนาต่อไป ครั้นเห็นว่าการเจริญภาวนามีผลมากกว่าทาน ศีลแล้ว ก็พึงคิดว่าจะฟังพระสัทธรรมเทศนาต่อไป ครั้นเห็นอานิสงส์ในการฟังพระธรรมเทศนานั้นว่ามีผลมากกว่า ทาน ศีล ภาวนานั้นแล้ว ก็อุตสาห์ฟังธรรมเทศนาโดยสัจจเคารพ ด้วยตั้งจิตไว้ว่า จะรับเอาข้อปฏิบัติอันเป็นแก่นสาร ดังนี้เรียกว่า ศึกษาในอธิจิต (จิตยิ่ง) ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แก้ไขในอธิปัญญาสิกขาต่อไป

    บุคคลที่จะกระทำปัญญาให้ยิ่งนั้น ก็ให้พึงรู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และสดับฟังพระสัทธรรมเทศนาเหมือนอย่างอธิศีล อธิจิต ฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นสามัญลักษณะ คือรู้ว่า สังขารธรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามัญปัญญานี้แล เรียกว่า พระปริยัติ เมื่อรู้จักพระปริยัติโดยลักษณะสามัญฉะนี้แล้ว ก็บังเกิดนิพพิทาญาณ หยั่งรู้ หยั่งเห็นในทางปฏิบัติ ปฏิบัตินั้นยิ่งกว่าปริยัติ คือความเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง เมื่อรู้ว่าจิตของตนมีความเบื่อหน่ายแล้ว ก็ได้ว่าการ (ความ) ปฏิบัติอย่างนี้เป็นการปฏิบัติยิ่งกว่าปริยัติ ปัญญาอันเป็นนิพพิทาญาณนี้แลเรียกว่าปฏิบัติ เมื่อมากำหนดรู้จักปฏิบัติโดยนิพพิทาญาณฉะนี้แล้ว ก็บังเกิดมุญจิตุกัมยตาญาณ หยั่งรู้หยั่งเหตุในการปฏิเวธ ปฏิเวธนั้นก็คือความหลุดพ้นถอนตนออกจากกิเลส เป็นความพิเศษยิ่งกว่าปริยัติและปฏิบัติ ดังนี้เรียกปฏิเวธ ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “เสกขา ธมฺมา” ฉะนี้
     
  3. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๒. “อเสกฺขา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้ จักได้แสดงติกมาติกบทที่ ๓๒ สืบต่อไป มีนัยพระบาลีว่า “อเสกฺขา ธมฺมา” เป็นต้น โดยความอธิบายว่า ในธรรมที่ไม่ศึกษานั้นก็ได้แก่ความเกียจคร้าน กระทำให้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานั้นเสื่อมทรุดไปทุกทิวาราตรีกาล

    เปรียบปานประหนึ่งว่า บุคคลปลูกต้นไม้หวังผลแต่เป็นคนเกียจคร้าน ไม่หมั่นระวังรักษา รดน้ำพรวนดิน แล้วต้นไม้นั้นก็มีแต่เศร้าโศกเหี่ยวแห้งตายไป เปรียบด้วยสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ สัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ นั้น เดิมทีก็เป็นมนุษย์นี่เอง แต่เป็นมนุษย์ที่ปราศจากศีล สมาธิ ปัญญา ที่ดี ที่ชอบ จึงต้องไปทนทุกขเวทนา เห็นสภาวะปานดังนี้ เพราะอะไรเป็นเดิมเหตุ ก็เพราะการที่ไม่รักษาศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า การที่ไม่มีศึกษานั้นจะมีโทษอย่างไร และจะได้แก่บุคคลจำพวกใด พระปรวาทีวิสัชชนาว่า บุคคลผู้มีความประมาท เกียจคร้านไม่ศึกษาในหนทางศีล สมาธิ ปัญญา และไม่แสวงหาซึ่งความสุขแก่ตนนั้น ย่อมมีโทษมากมายหลายประการ เปรียบเหมือนบุคคล ๒ จำพวก เดินทางไกลกันดารด้วยน้ำ จำพวกหนึ่งเกียจคร้านไม่พยายามเดินต่อไป จำพวกหนึ่งมีมานะเพียรเดินไป ครั้นเดิน ๆ ไปก็มีความกระหายน้ำเป็นกำลัง คนผู้เกียจคร้านนั้นจึงบอกกับเพื่อนกันว่า เราเห็นจะเดินไปไม่ไหว ขี้เกียจเต็มทีแล้ว เพื่อนผู้ที่มีมานะนั้น จึงเตือนว่าท่านอุตสาหะเดินไปอีกสักหน่อย ก็พบต้นมะขามป้อมได้กินแก้กระหายน้ำ ถัดต้นมะขามป้อมนั้นไป ก็จะพบต้นมะเฟือง ถัดต้นมะเฟืองนั้นไปก็จะพบสระน้ำได้อาบกินตามความ
    สบายใจ

    คนผู้เกียจคร้านนั้นจึงได้บอกว่า เราเดินไปไม่ไหว เราอดน้ำมา ๓ วันแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะเข้าอาศัย พักอยู่ในสถานที่นี้ก่อน แล้วก็นอนลงอยู่ในสถานที่แห่งนั้น พวกที่มีมานะ ไม่เกียจคร้าน อุตส่าห์เดินไปถึงต้นมะขามป้อม ได้กินผลมะขามป้อมแล้วก็มีกำลังเดินต่อไปก็ถึงต้นมะเฟือง ได้กินผลมะเฟืองแล้วก็มีกำลังเดินต่อไป ก็ได้บรรลุถึงสระน้ำ ได้อาบได้กินตามสบายใจ จนได้บรรลุความภิรมย์ดังมโนรถปรารถนาของตน บุคคลผู้เกียจคร้านนั้นก็ถึงแก่ความตายไปในสถานที่นั้น

    เพราะเหตุนั้น จึงว่า บุคคลที่ไม่ศึกษานั้น ย่อมประกอบไปด้วยโทษ คือความเกิดความตายอยู่ในสังสารทุกข์ โดยไม่มีกำหนดชาติ ทั้งกันดารลำบาก เดือดร้อนต่าง ๆ ฉะนี้ สมดังพุทธฎีกาว่า “อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ” โดยเนื้อความว่า บุคคลจะได้รับความเดือดร้อนในอบายถูมิทั้ง ๔ ก็เพราะตนไม่ได้บำเพ็ญกุศลสุจริตไว้ และไม่ได้ศึกษาใน ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นที่พึ่งแก่ตนในกาลก่อน เพราะฉะนั้น จึงได้ประสบแต่อนิฏฐารมณ์ คือความเดือดร้อนทั้งอิธโลกและปรโลกฉะนี้ บุคคลที่ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมมีแต่ความชื่นชมในโลกนี้แล้วมิหนำซ้ำยังได้ไปชื่นชมในปรโลกเบื้องหน้าอีก นั้นก็เพราะท่านได้บำเพ็ญกุศลสุจริตไว้และได้ศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่ตนในกาลก่อน เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ประสบแต่อิฏฐารมณ์ คือความชื่นชมยินดีทั้งในอิธโลกและปรโลกฉะนี้
     
  4. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๓. “เนวเสกฺขา นาเสกฺขา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๓๓ สืบต่อไป โดยนัยบาลีว่า “เนวเสกฺขา นาเสกฺขา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายจะศึกษาก็ไม่ใช่ จะไม่ศึกษาก็ไม่ใช่ โดยนัยอธิบายว่า ไม่ต้องศึกษาก็สำเร็จขึ้นได้เองตามภูมิ ดังมีบุคคลเป็นอุทาหรณ์ว่า พระสิทธัตถราชกุมารไม่ต้องศึกษาก็สำเร็จวิชาการได้หมด ไม่ว่าสรรพวิชาสิ่งใด ๆ ก็ได้สำเร็จทุกการฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนต้นไม้ ไม่มีคนปลูกงอกงามขึ้นมาเอง แต่ไม่ขึ้นทั่วไป ขึ้นได้เฉพาะแต่ในดินอันสมควร ฉนใดก็ดี มรรคมล ธรรมผลวิเศษจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยแก่ภูมิที่อันสมควร มีกิเลสก็ไม่บังเกิด ไม่มีกิเลสก็ไม่บังเกิด เกิดได้แต่เฉพาะท่านที่มีบารมีแก่กล้าฉะนั้น โดยเนื้อความว่า ธรรมในที่นี้ ประสงค์เอาบุคคลผู้มีอุปนิสัยเคยได้กระทำมาแต่ในกาลก่อน เพราะฉะนั้นจึงแปลว่า ศึกษาก็ไม่ใช่ ไม่ศึกษาก็ไม่ใช่ ดังมีบุคคลเป็นทัศนะตัวอย่างคือเมื่อพระกุมารกัสสปได้ฟังพยากรณ์

    ภาษิต ๑๕ ข้อ ซึ่งมีในวัมมิกปัญหาสูตรนั้น ก็อุตส่าห์ทรงจำไว้ได้แม่นยำ เจริญบริกรรมภาวนามาสิ้นกาลนานแล้ว แต่ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลอันใด ครั้นต่อมาภายหลัง ท้าวมหาพรหมจึงมาถามปัญหาอันนั้นแก่ กุมารกัสสป กุมารกัสสปจึงนำปัญหานั้นไปทูลถามกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงพยากรณ์ปัญหาภาษิตทั้ง ๑๕ ข้อนั้น ตั้งแต่ต้นจนจบ ในที่สุด พระกุมารกัสสปก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ปรากฏในพุทธศาสนาดังนี้
     
  5. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๔. “ปริตฺตา ธมฺมา”

    ลำดับนี้ จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๓๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “ปริตฺตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมมีประมาณน้อย โดยความอธิบายว่า บุคคลที่มีสติปัญญาน้อย จะไปเจริญธรรมที่มากก็ไม่ได้ ไม่เป็นผลสำเร็จ พาให้เกิดเดือดร้อนรำคาญใจ ดังมีในชาดกเรื่องพระจุลปันถก ซึ่งมีปัญญาน้อย ไปเรียนวิชาอยู่ในสำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์ ก็จำอะไรไม่ได้ จำได้แต่ “ฆเฏสิ ฆเฏสิ กึกรณา ฆเฏสิ อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ” เท่านั้น ก็บังเกิดผลให้สำเร็จได้ และเป็นนิสสัยติดตามมา ครั้นมาถึงศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระสมณโคดมนี้ โดยความหวังตั้งจิต พระจุลปันถกได้ไปบวชในสำนักพระมหาปันถกผู้เป็นพี่ชาย จะเล่าเรียนอะไรก็ไม่ได้ ให้บังเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ จึงหนีไปสู่สำนักแห่งพระพุทธเจ้า โดยมีความตั้งใจจะไปขอลาสึก เมื่อไปถึงสำนักของพระพุทธองค์แล้ว พระองค์ได้ทรงทราบด้วยปัญญาญาณว่า จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาจากธรรมที่มีประมาณน้อย เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงผูกเป็นพระคาถาเจริญบริกรรม ๑๐ พระอักขระว่า “รโชหรณํ รชํ หรติ”

    ดังนี้ พระจุลปันถกก็จำได้ อุตส่าห์เจริญบริกรรมไปก็เป็นผลให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะธรรมมีประมาณน้อย และนิสสัยน้อยพอสมควรแก่อารมณ์ฉะนี้ อีกประการหนึ่ง เมื่อได้สำเร็จนั้น ก็เพราะจิตที่น้อยลง ๆ ธรรมที่มีประมาณน้อยนั้นก็เฉพาะมีอารมณ์น้อยลง ๆ เหมือนกัน เปรียบเหมือนสูปะ และ พยัญชนะที่มีรสอันอร่อย ถึงแม้จะมีน้อยก็เป็นที่บริโภคมีกำลัง เพราะรสนั้นถูกต้องกับอัธยาศัยของผู้ที่ได้บริโภค เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ปริตฺตา ธมฺมา” ดังนี้
     
  6. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๕. “มหคฺคตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๓๕ นั้น พระบาลีว่า “มหคฺคตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเลิศใหญ่ โดยอธิบายว่า ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสเทศนาเป็นอุเทศวารนั้น ชื่อว่าธรรมอันเลิศ ครั้นพระองค์ทรงจำแนกแจกออกไปให้มาเป็นนิเทศวารนั้นชื่อว่าธรรมมาก เพราะฉะนั้นจึงได้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันใหญ่เลิศฉะนี้ เพราะเหตุว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงออกไปให้มากตามนิสสัยของบุคคลท่านผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ เช่นพระสารีบุตรได้ฟังแต่เพียงพระคาถาบทหนึ่งว่า “เย ธมฺมา เหตุปภวา” เท่านี้ก็ตรัสรู้แทงตลอดไปถึง ๑๐๐ นัย และทะลุไปในพระอริยสัจทั้ง ๔ เพราะสติปัญญาของท่านเป็นวิสัยของพระอัครสาวกเบื้องขวา เพราะฉะนั้นจึงสามารถตรัสรู้แทงตลอดถึงมหัคคตาธรรมนั้นได้ ปริตตธรรมเป็นของคู่กัน เพราะมีธรรมน้อยก่อน แล้วบังเกิดธรรมมาก เช่นพระจุลปันถกได้เรียนพระคาถาว่า รโชหรณํ รชํ หรติ และพระสารีบุตรได้ฟังพระคาถาว่า เย ธมฺมา ตปภวา เท่านี้แล้ว ก็สามารถตรัสรู้แทงตลอดไปในธรรมที่มากนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “มหคฺคตา ธมฺมา” ดังนี้
     
  7. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๖. “อปฺปมาณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๓๖ นั้นมีนัยพระบาลีว่า “อปฺปมาณา ธมฺมา” ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ไม่มีประมาณ ญาณปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมนั้นก็ไม่มีประมาณ มีอุปมาเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วนั้น และยังจะมาในเบื้องหน้านั้นก็ไม่มีประมาณฉันใดก็ดี ธรรมที่แสดงมานี้ก็มีอุปไมยเหมือนกันฉันนั้น ที่ท่านประมาณไว้ว่า ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ดังนี้ ก็ประมาณไว้แต่เพียงสังขิตนัย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายที่ได้แสดงมาตั้งแต่ต้นมีกุสลาเป็นต้น เหล่านี้ เมื่อแจกออกไปในแต่ละบทใดบทหนึ่ง ก็ไม่มีที่จะจบลงได้สักที ได้แสดงมานี้โดยสังเขปพอสมควรแก่ความเข้าใจ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสเป็นอุเทศวารแต่โดยย่อ ๆ ฉะนี้ ก็กำหนดได้ถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อปฺปมาณา ธมฺมา” ดังนี้

    ๓๗. “ปริตฺตา รมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๓๗ นั้น มีนัยพระบาลีว่า “ปริตฺตา รมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์น้อย โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายกระทำความยินดีให้น้อยลง หรือกระทำความยินดีให้หมดไป ไม่ให้มีอารมณ์ คืออารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านดังนี้ พระสักกวาทีจึงถามขึ้น
    ว่า ธรรมทั้งหลายอย่างไรที่ว่ากระทำอารมณ์ให้น้อยลง ไม่กระทำอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านไป ขอท่านจงได้แสดงเพื่อให้เกิดความเลื่อมใสต่อไปในบัดนี้ พระปรวาทีจึงวิสัชชนาว่า มรณธรรมนี่แลเป็นธรรมที่ยังอารมณ์ให้น้อยลงและไม่กระทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไป อารมณ์จะฟุ้งซ่านไปก็เพราะเหตุที่ได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น เพราะฉะนั้น อารมณ์จึงได้ฟุ้งซ่านไป เมื่อบุคคลมีธรรมะเป็นอารมณ์อยู่ในสันดานแล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีความยินดีน้อยและมีอารมณ์อันน้อยลง จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาไปในอารมณ์ต่าง ๆ ฉะนี้ ดังมีในอัปปมาทธรรมที่พระองค์ทรงตรัสถามภิกษุบริษัทว่า ท่านทั้งหลายคิดถึงมรณธรรมวันละเท่าไหร่ ภิกษุองค์หนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงความตายเมื่อเวลาไปบิณฑบาตว่า เรายังไม่ทันจะกลับจากบิณฑบาตก็จักตายเสียในระหว่างที่เดินไปบิณฑบาตฉะนี้

    พระพุทธองค์ทรงตรัสติเตียนว่ายังมีความประมาทมากอยู่ พระภิกษุองค์หนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงมรณธรรมเมื่อเวลาจะฉันจังหันว่า เรายังไม่ทันจะกลืนข้าวลงไปในลำคอ ก็ตายระหว่างที่กลืนคำข้างลงไป ดังนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสติเตียนว่ายังมีความประมาทมากอยู่ ภิกษุองค์หนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงมรณธรรมตามลมอัสสาสะ ปัสสาสะว่า เราหายใจออกไปแล้วไม่หายใจกลับเข้ามา ก็จะตายในระหว่างลมอัสสาสะ ปัสสาสะนั้น ดังนี้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสรรเสริญว่า ดูก่อน ภิกษุผู้เห็นภัยในชาตินี้ ถ้าท่านปรารถนาจะยังความยินดีให้น้อยลง ก็จงมนสิการกำหนดถึงมรณธรรมตามลมอัสสาสะ ปัสสาสะนี้เถิด ก็จะบังเกิดความสังเวชสลดใจ ได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ อันเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัยทั้งปวง อันจะบังเกิดมีมาถึงแก่ความทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้เห็นภัยในชาตินี้ เมื่อพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย มาระลึกถึงมรณธรรมอยู่เป็นนิตย์อย่างนี้แล้ว พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทและกระทำอารมณ์ให้น้อยลงดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ปริตฺตา รมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้
     
  8. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๘. “มหคฺคตา รมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๓๘ นั้น โดยพระบาลีว่า “มหคฺคตา รมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์มาก ยังฟุ้งซ่านมาก มีความอธิบายว่า ความยินดีในรูป รูปก็มีมาก ความยินดีใน
    รส รสก็มีมาก ความยินดีในสัมผัส สัมผัสก็มีมาก ความยินดีในธรรม ธรรมก็มีมาก เมื่อบุคคลผู้ใด มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้แล้ว บุคคลผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้มีอารมณ์มากฉะนี้ พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า บุคคลผู้มากไปในกามคุณทั้ง ๕ นั้น จะมีโทษอย่างไร และจะได้แก่บุคคลผู้ใด พระปรวาทีจึงวิสัชชนาว่า บุคคลผู้มากไปด้วยกามคุณทั้ง ๕ นั้นย่อมมีโทษเมื่อภายหลัง

    ดังมีบุคคลเป็นอุทาหรณ์ว่า พระบรมโพธิสัตว์ของเรา ได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสักกมันธาตุราช ในกาลครั้งนั้น มีความปรารถนาที่จะเรียนวิชาให้สำเร็จ ด้วยมีความหวังในพระทัยว่า จะหานางแก้ว ครั้นได้นางแก้วสมตามปรารถนาแล้ว ก็ปรารถนาเป็นบรมจักรพรรดิ์สืบต่อไป ครั้นต่อมาได้เป็นพระบรมจักรพรรดิ์สมความปรารถนาแล้ว ก็ปรารถนาอยากได้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ สืบไป ครั้นได้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ สมความปรารถนาแล้ว ก็ปรารถนาจะเป็นใหญ่กว่าเทวดาต่อไป ครั้นได้เป็นใหญ่กว่าเทวดาสำเร็จตามความปรารถนาแล้ว ก็ปรารถนาให้ได้เป็นใหญ่กว่าพระอินทร์ต่อไป แต่ไม่สมความประสงค์เลยกลับตกลงมาจากสวรรค์ ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “มหคฺคตา รมฺณา ธมฺมา” ดังนี้
     
  9. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๓๙. “อปฺปมาณา รมฺมณา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้ จะได้แสดงบทที่ ๓๙ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “อปฺปมาณา รมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์ไม่มีประมาณ กระทำความยินดีมาก ไม่มีที่สุด โดยความอธิบายว่า จิตของมนุษย์ปุถุชนนั้น มีอารมณ์ไม่มีประมาณ ยินดีในลาภก็ไม่มีประมาณ ยินดีในยศก็ไม่มีประมาณ ยินดีในความสรรเสริญไม่มีประมาณ ยินดีในความสุขก็ไม่มีประมาณ เพราะเหตุฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสไว้ว่า อปฺปมาณา รมฺมณา ธมฺมา ฉะนี้ เมื่อจะชี้ตัวให้เห็นเป็นพยานก็ได้แก่ นิทานสุนัขจิ้งจอกที่ลักมนต์ของพรหมไป แล้วก็ปรารถนาจะเป็นใหญ่กว่าสัตว์ในป่าหิมพานต์ ครั้นได้สำเร็จความประสงค์ของตนแล้ว ก็ปรารถนาอยากเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ แต่ก็หาได้สำเร็จตามความปรารถนานั้นไม่ เพราะตนเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่รู้จักประมาณตน จนแก้วหูแตกตายไปฉะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงว่า จิตของปุถุชนไม่มีประมาณ สมกับพระบาลีว่า “อปฺปมาณา รมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขในติกมาติกา บทที่ ๓๙ ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

    ๔๐. “หีนา ธมฺมา”


    ในลำดับนี้ จะได้แสดงในบทที่ ๔๐ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “หีนา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายยังอารมณ์ให้เลวทรามต่ำช้า โดยนัยอธิบายว่า กามคุณทั้ง ๕ เป็นธรรมอย่างต่ำ กระทำให้สัตว์เลวทรามต่ำช้า สมดังพระบาลีว่า “หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย” แปลว่า การประกอบในกามสุข “หีโน” เป็นธรรมอันต่ำช้าเลวทราม “คมฺโม” เป็นธรรมของชาวบ้าน “โปถุชฺชนิโก” เป็นธรรมของปุถุชน “อนริโย” ไม่ใช่ธรรมของพระอริยเจ้า ดังนี้ โดยความอธิบายว่า กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้ เมื่อบุคคลใดประพฤติให้เป็นมากอยู่ในจิตสันดานแล้ว ก็กระทำให้บุคคลผู้นั้นตกต่ำอยู่ในโลก คือ กระทำให้เวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓ ไม่มีกำหนดชาติ ไม่สามารถยกตนเองให้พ้นจากสังสารทุกข์นี้ได้ เพราะเป็นโลกียธรรม ยังสัตว์ให้หมุนเวียนไปต่าง ๆ ไม่อาจจะยังตนให้พ้นจากทุกข์ไปได้

    ดังบุรุษที่มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในภรรยา ซึ่งมีชู้กับบุรุษผู้เป็นน้องชาย ครั้นน้องชายฆ่าให้ตายแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นงูเหลือม ครั้นตายจากงูเหลือมแล้วก็ไปเกิดเป็นสุนัข ครั้นตายจากสุนัขแล้วก็ไปบังเกิดเป็นโค เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเรือนแห่งภรรยานั้น เพราะโทษแห่งกามคุณ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกชื่อว่า “หีนา ธมฺมา” เป็นธรรมอันพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระบรมศาสดาเป็นประธานไม่ทรงสรรเสริญว่า เป็นธรรมอันประเสริฐ ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “หีนา ธมฺมา” ดังนี้ แก้ไขมาในบทที่ ๔๐ ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้แล
     
  10. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๔๑. “มชฺฌิมา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๔๑ นั้น มีพระบาลีว่า “มชฺฌิมา ธมฺมา” แปลว่าธรรมทั้งหลาย มีอารมณ์เป็นอย่างกลาง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่ร้อนไม่เย็น โดยความอธิบายว่า อารมณ์นั้นจะดีก็ไม่ดี จะชั่วก็ไม่ชั่ว จะเลวก็ไม่เลว จะประณีตก็ไม่ประณีต เป็นกลาง ๆ อยู่ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสว่า เป็นหนทางแห่งพระอริยมรรคทั้งแปดประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ถ้าจะว่าเป็นอุเบกขาก็ได้อยู่ เพราะอารมณ์นั้นไม่ยินดียินร้าย เปรียบเหมือน เรือข้ามฟากเมื่ออกจากท่าแล้ว แต่ยังไม่ทันถึงฝั่ง แต่อยู่ในระหว่างกลาง ธรรมที่ชื่อว่า มัชฌิมานั้น ก็ได้แก่อารมณ์ที่ออกจากทุกข์แล้ว แต่ยังไม่ทันจะถึงสุขฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า มชฺฌิมา ธมฺมา ดังนี้

    ๔๒. “ปณีตา ธมฺมา”


    ในบทที่ ๔๒ นัยมีพระบาลีว่า “ปณีตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายประณีต โดยอธิบายความว่า บุคคลที่ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ อันเป็นไปกับด้วยพระไตรสรณคมน์ ประณีตกว่าบุคคลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ อันเป็นไปกับด้วยพระไตรสรณคมน์ พระสกิทาคา ประณีตกว่าพระโสดาบัน พระอนาคามีประณีตกว่าพระสกิทาคา พระอรหันต์ประณีตกว่า พระอนาคามี พระอัครสาวก ประณีตกว่า พระปรกติสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า ประณีตกว่าพระอรหันต์ และพระอัครสาวกทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประณีตกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ประณีตธรรม ประณีตกว่า มัชฌิมาธรรม มัชฌิมาธรรม ประณีตกว่าหีนธรรม โดยความอธิบายว่า คนหยาบกับคนละเอียดต่างกัน

    ธรรมที่ชื่อว่าประณีตธรรมนั้น ก็ได้แก่ธรรมของท่านผู้มีสติเหมือนดังสัตตปาณิอุบาสก เมื่อเวลานอนฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่ พระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับอยู่ ณ ที่ปลายเท้าแห่ง สัตตปาณิอุบาสก ถ้าเป็นคนหยาบ ไม่มีสติ ก็จะลุกหนีไป นี่หากสัตตปาณิอุบาสก เป็นผู้เคารพในพระสัทธรรม มีสติ ตรึกตรองไปว่า ถ้าเราจะลุกขึ้นก็เป็นการเคารพต่อพระมหากษัตริย์ หาได้เคารพต่อพระสัทธรรมไม่ ถ้าเราไม่ลุกขึ้น ก็ไม่เป็นการเคารพต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จักว่าเราเป็นผู้เคารพต่อพระรัตนตรัย เมื่อสัตตปาณิอุบาสกคิดแต่ในใจฉะนี้แล้วก็ไม่ลุกขึ้น นอนฟังพระสัทธรรมต่อไป ดังได้แก้ไขในติกมาติกา บทที่ ๔๒ ก็ได้ยุติไว้เพียงเท่านี้
     
  11. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๔๓. “มิจฺฉตฺตนิยตา ธมฺมา”

    ลำดับนี้จักได้วิสัชชนาในบทที่ ๔๓ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “มิจฺฉตฺตนิยตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมมีทิฏฐิอันผิด เป็นธรรมอันเที่ยงที่จะไปสู่ทุคคติ โดยอธิบายว่า ทิฏฐิอันเห็นผิดนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คืออุจเฉททิฎฐิ ๑ สัสสตทิฏฐิ ๑ อกิริยทิฏฐิ ๑ ความเห็นว่า บาปบุญไม่มี หรือเห็นว่า ตายแล้วไม่เกิด สูญไป ดังนี้เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า เป็นของเที่ยง ไม่กลับกลอกยักย้ายแปรผันเป็นอย่างอื่นไป คือ เป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์อยู่ร่ำไป มนุษย์ไม่กลับเป็นดิรัจฉาน ดิรัจฉานไม่กลับเป็นมนุษย์ ความเห็นเช่นนี้เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่ต้องบำเพ็ญบุญกุศล สิ่งใดถึงกำหนดแล้วก็สำเร็จไปเอง ความเห็นเช่นนี้เรียกว่าอกิริยทิฏฐิ ทิฏฐิทั้ง ๓ ประการเหล่านี้เที่ยงที่จะไปสู่อบายภูมิ ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “มิจฺฉตฺตนิยา ธมฺมา” ดังนี้

    ๔๔. “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา”


    ในบทที่ ๔๔ มีพระบาลีว่า “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีทิฏฐิอันชอบ และเป็นธรรมเที่ยงที่จะไปสู่พระนิพพาน โดยความอธิบายว่า ทิฏฐิอันชอบนั้นมีอยู่ ๔ ประการ “ทุกฺเข ญาณํ” ความเห็นในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นทุกข์ ๑ “ทุกฺขสมุทเย ญาณํ” ความเห็นในตนว่าเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ๑ “ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ” ความเห็นในธรรมว่าเป็นเครื่องดับทุกข์ได้ ๑ “ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ” ความเห็นว่าพระนิพพานเป็นหนทางดับทุกข์ได้ ๑ ความเห็นทั้ง ๔ ประการนี้แล ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นแปลว่า ความเห็นดีเห็นชอบ ความเห็นดีเห็นชอบนี้แล เที่ยงที่จะไปสู่สุคติ โดยความอธิบายว่า ความเห็นธรรมของจริงเป็นความเห็นชอบ ความเห็นชอบนั้นก็คือความเห็นสมมติว่าเป็นธรรมที่ไม่จริง ธรรมที่โลกสมมติตามใจนั้นแลเป็นธรรมอันไม่จริง เมื่อเห็นสมมติและถอนสมมตินัยได้แล้ว ก็เรียกว่าวิมุติ ธรรมที่เป็นวิมุตินี้แลเรียกว่า ความเห็นจริงเห็นชอบ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา” ดังนี้
     
  12. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๔๕. “อนิยตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๔๕ นั้น มีพระบาลีว่า “อนิยตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง บาปก็ไม่เที่ยง โดยอธิบายว่า ปุถุชนนั้น บุญก็กระทำ บาปก็กระทำ แต่ไม่เที่ยงที่จะไปสู่สวรรค์ และไม่เที่ยงที่จะไปสู่นรก เพราะไม่เป็นใหญ่ เมื่อเวลาใกล้ตาย ถ้าบุญส่งให้ก็ไปสวรรค์ ถ้าบาปส่งก็ไปสู่นรก เพราะเหตุนี้ จึงแปลว่า เป็นธรรมที่ไม่เที่ยง ในเวลาอาสันนกรรมใกล้จะตาย เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อนิยตา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๔๕ ก็ยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้

    ๔๖. “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้ จะได้แสดงในมาติกาบทที่ ๔๖ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีพระอริยมรรคเป็นอารมณ์ โดยนัยอธิบายว่า ธรรมดาว่าพระอริยเจ้า ก็ย่อมยินดีแต่ในหนทางของพระอริยเจ้า เหมือนพระโสดาบัน ท่านก็ยินดีในธรรมที่ได้ละแล้ว ๓ อย่าง คือ “สักกายทิฏฐิ” ความไม่ถือตัว ไม่ถือตน ๑ “วิจิกิจฉา” ความไม่สงสัยในธรรมทั้งหลาย ๑ “สีลัพตปรามาส” ความไม่ลูบคลำในวัตรปฏิบัติอย่างอื่น ๑ ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นอารมณ์แห่งพระโสดาบันบุคคล พระสกิทาคา ก็มีอารมณ์ ๕ พระอนาคามี ก็มีอารมณ์ ๗ พระอรหันต์ก็มีอารมณ์ ๑๐ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้
     
  13. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๔๗. “มคฺคเหตุกา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๔๗ นั้น มีพระบาลีว่า “มคฺคเหตุกา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องอุดหนุนแก่พระอริยมรรค โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรคนั้น มีอยู่ ๓ ประการ ธรรมทั้ง ๓ ประการนั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นแปลว่า ละเสียจากบาป สมาธินั้นแปลว่า จิตถอนจากบาปที่ตั้งอยู่ในที่ชอบ ไม่ตกไปในบาป ปัญญา นั้นแปลว่า รู้จักว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิต จิตไม่ตกไปในกิเลส ความที่รู้จักว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิตดังนี้เรืยกชื่อว่า ปัญญา ธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้แล เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรค หรืออีกประการหนึ่ง ความเห็นเป็นพระไตรลักษณญาณก็จัดว่าเป็นปัญญาในที่นี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “มคฺคเหตุกา ธมฺมา” ดังนี้

    ๔๘. “มคฺคาธิปติโน ธมฺมา”


    ในบทที่ ๔๘ นั้นมีนัยพระบาลีว่า “มคฺคาธิปติโน ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นใหญ่ ในทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานนั้น ก็ได้แก่ นิสสัยที่แก่กล้า จึงจะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้ ถ้านิสสัยไม่แก่กล้าแล้วก็ดำเนินไปไม่ได้ ธรรมที่เป็นใหญ่ในที่นี้ก็ได้แก่ ท่านที่มีนิสสัยอย่างต่ำเพียงแสนมหากัปป์ อย่างยิ่งเพียง ๑๖ อสงไขย ถ้ายังไม่ครบก็ยังไม่เป็นไปได้ บุคคลที่มีบารมียังอ่อน และมีนิสสัยที่หย่อนอยู่นั้น ก็ได้แก่พระจุลกาล ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็สึกออกไปเป็นฆราวาส อีกดังนี้ บุคคลผู้มีนิสสัยบารมีเป็นใหญ่ในที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้นั้น ก็ได้แก่พระมหากาลผู้พี่ชายของจุลกาลฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๔๘ ก็ยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้

    ๔๙. “อุปฺปนฺนา ธมฺมา”


    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้วิสัชชนาในบทที่ ๔๙ สืบต่อไป ตามพระบาลีว่า “อุปฺปนฺนา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นสมมติกิจ หรือวิมุติกิจ ถ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าชื่อ “อุปฺปนฺนา ธมฺมา” ทั้งสิ้น พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า ธรรมอย่างไรจึงเรียกชื่อว่า สมมติ ธรรมอย่างไรที่เรียกว่า วิมุติ พระปรวาทีจึงวิสัชชนาขึ้นว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสมมติทั้งสิ้น ธรรมเหล่าใดที่เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ธรรมเหล่านั้นเรียกว่าเป็นวิมุติทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่ง โลกเรียกว่า สมมติ พระนิพพานเรียกว่า วิมุติ ฉะนี้

    พระสักกวาทีจึงถามขึ้นว่า สมมติ นั้นบังเกิดขึ้นแก่ใคร วิมุตินั้นบังเกิดขึ้นแก่ใคร พระปรวาทีจึงวิสัชชนาว่า สมมตินั้นก็เกิดขึ้นแก่ นันทมาณพ ที่ไปทำสมัครสังวาสกับพระนางอุบลวัณณาเถรี จนแม่พระธรณีสูบเอาไป ดังนี้ชื่อว่าสมมติบังเกิดขึ้นแล้ว วิมุตินั้นก็บังเกิดขึ้นแก่พระยสกุลบุตร เมื่อเวลาไปดูการฟ้อนรำของพวกนางบำเรอ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายฉะนั้น แสดงในติกมาติกาบทที่ ๔๙ แต่โดยย่อพอให้สมกับพระบาลีว่า “อุปฺปนฺนา ธมฺมา” ก็ยุติไว้เพียงแต่เท่านี้
     
  14. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๕๐. “อนุปฺปนฺนา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๐ มีพระบาลีว่า “อนุปฺปนฺนา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่บังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า บุคคลที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมแล้ว ธรรมที่จะนำความสุขให้นั้น ก็ไม่บังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น ครั้นดับขันธ์ลงก็คงไปบังเกิดในนรก เช่นกับนายจุณฑสุกรเป็นต้นฉะนั้น อีกนัยหนึ่งโดยพุทธประสงค์ว่า อนันตริยกรรมทั้ง ๕ และ นิวรณธรรมทั้ง ๕ อย่าง ถ้ามีอยู่ในบุคคลผู้ใดแล้ว มรรคผลธรรมวิเศษสิ่งใด ก็ไม่บังเกิดมีแก่บุคคลผู้นั้น จัดเป็นสัคคาวร มัคคาวรไปดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อนุปฺปนฺนา ธมฺมา” ดังนี้

    ๕๑. “อุปฺปาทิโน ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๑ นั้นมีนัยพระบาลีว่า “อุปฺปาทิโน ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลาย อันบังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า อุปาทินธรรมนี้เป็นธรรมของพระอริยเจ้า เมื่อบังเกิดในบุคคลผู้ใด ก็ยังบุคคลผู้นั้นให้เป็นพระอริยเจ้า ธรรมของพระอริยเจ้านั้นก็คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ธรรมทั้ง ๙ เหล่านี้ถ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นของแท้ของจริง และเป็นของไม่เสื่อมสิ้นไป อีกนัยหนึ่งท่านประสงค์ว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ขีณาสพ ทั้งที่ล่วงลับไปแล้วนั้น เรียกชื่อว่า อุปาทิโน ธมฺมา สุดแต่เป็นธรรมบังเกิดขึ้นแล้วก็จัดได้ชื่อว่า อุปาทินธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อุปฺปาทิโน ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาใน ติกมาติกา บทที่ ๕๑ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

    ๕๒. “อตีตา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชชนาในบทที่ ๕๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “อตีตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ที่จัดเป็นกุศลก็ดี หรือร่างกายที่จัดเป็นธาตุทั้ง ๔
    หรือจัดเป็นอายตนะ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ ที่เกิดขึ้นแล้ว แลดับสูญไปก็ดี ก็เรียกชื่อว่าอดีตธรรมทั้งสิ้น
     
  15. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๕๓. “อนาคตา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๓ นั้น มีนัยพระบาลีว่า “อนาคตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ยังมาไม่ถึง โดยความอธิบายว่า บุญก็ดี บาปก็ดี ที่บุคคลได้กระทำด้วย กาย วาจา ใจ แล้วแลยังไม่เห็นผลนั้น ก็ชื่อว่าอนาคตธรรม หรืออีกนัยหนึ่งว่า สัตว์ที่บังเกิดแล้วยังไม่ถึงแก่ความตายนั้นก็เรียกว่า อนาคตธรรม หรืออีกประการหนึ่ง บุคคลที่สร้างบารมียังไม่เต็มที่และมรรคผลธรรมวิเศษก็ยังไม่บังเกิดมีนั้น ก็เรียกว่าอนาคตธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อนาคตา ธมฺมา” ดังนี้

    ๕๔. “ปจฺจุปฺปนฺนา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๔ นั้น มีนัยพระบาลีว่า “ปจฺจุปฺปนฺนา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยความอธิบายว่า ธรรมที่เป็นปัจจุบันนั้น ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เห็นอยู่เฉพาะหน้านี้ นี้แลชื่อว่า ปัจจุบันธรรม โดยความเป็นจริงก็คือ ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา แลเห็นทุกข์เหลือที่จะทน จนตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป ไม่มีวิสัยที่จะฝ่าฝืนและไม่เป็นไปตามอำนาจของท่านผู้ใด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แลเป็นปัจจุบันธรรม และเป็นอนุปัสสนาญาณปัญญา เป็นธรรมที่คงทน เมื่อบุคคลผู้ใดเห็นปัจจุบันธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ให้แจ้งชัดแล้ว บุคคลผู้นั้นก็จัดเป็นผู้สามารถจะยังศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นในตนได้ เพราะอารมณ์ของปัจจุบันธรรมนั้นน้อย ย่อมเป็นอารมณ์อันสะดวกดี ปัจจุบันธรรมนี้ เมื่อบุคคลใดรู้แจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไรแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ไม่ฝ่าฝืน และไม่ต้องแก้ไขยักย้าย เมื่อเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตาม เห็นตามไปอย่างนั้น ก็เป็นทางสัมมาทิฏฐิปฏิบัติอยู่เอง เพราะมารู้มาเห็นตามความเป็นจริงอย่างไร ย่อมถูกต้องตามพุทธประสงค์ ซึ่งพระองค์เทศนาไว้ว่า “อสํหิรํ อสํกุปฺปํ” แปลว่า เป็นธรรมไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนและเป็นธรรมไม่กำเริบจลาจล เป็นธรรมที่ทนต่อความเพียรจริง ๆ ดังนี้ ปัจจุบันธรรมนี้แล เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หนทางปฏิบัติสายกลาง เมื่อสันนิษฐานตามนัยพระสุตตันตโวหาร และวิสัยบัญญัติปรมัตถธรรมทั้ง ๓ ปิฎก ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนพุทธบริษัททั้งหลายนั้น ก็เพื่อพุทธประสงค์ในปัจจุบันธรรมอย่างเดียว ดังมีในปฐมเทศนา ธัมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนแก่พระปัญจวัคคีย์นั้น ก็มีพระพุทธประสงค์จะให้เห็นตามความที่เป็นจริง โดยสภาพอันเป็นปัจจุบันนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “ปจฺจุปฺปนฺนา ธมฺมา” ดังนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๕๔ ก็ยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  16. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๕๕. “อตีตารมฺมณา ธมฺมา”

    เบื้องหน้าแต่นี้ จะได้วิสัชชนาในติกมาติกา บทที่ ๕๕ สืบต่อไป โดยมีนัยพระบาลีว่า “อตีตารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอดีตเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า บุคคลมาระลึกถึงทาน คือ ที่ตนได้บำเพ็ญไว้แล้วให้เป็นอารมณ์ว่า ทานที่เราได้ให้แล้วด้วยกาย ตัดรากมัจฉริยตระหนี่เสียได้ และจิตของเราก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากโลภมัจฉริยแล้ว และจัดเป็นจาคานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงกิเลสที่ตนละได้แล้ว ดังนี้ก็ดี หรือ สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาแล้ว ด้วยตัด โทสะ โมหะ เสียได้ และจิตของเราก็เป็นจิตที่ผ่องใส สะอาด ปราศจากอิจฉาพยาบาทแล้ว ดังนี้ก็ดี บุคคลมาระลึกถึงคุณ ทาน ศีล เป็นต้นที่ตนบำเพ็ญแล้ว ก็จัดได้ชื่อว่า “อตีตารมฺมณา ธมฺมา” คืออตีตารมณ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อตีตารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๕๖. “อนาคตารมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๖ นั้น มีพระบาลีว่า “อนาคตารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอนาคตเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า บุคคลมาคิดถึงตนว่า “นตฺถิ ญาณํ อปญฺญสฺส คุณสมฺปตฺติ” สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นต้นว่า ญาณหรือปัญญาก็ดี ก็ยังไม่มีแก่เรา เรายังไม่ได้ไม่ถึงซึ่งคุณธรรมอะไร “ยมฺหิญาณญฺจ” ถ้าเรามีญาณมีปัญญาแล้วไซร้ “นิพฺพานสนฺติเก” ก็จัดได้ชื่อเราเป็นผู้นั่งใกล้กับพระนิพพานดังนี้ เมื่อบุคคลมาคิดถึงความโง่ของตนขึ้นแล้ว และมาอุตส่าห์บำเพ็ญญาณสมาบัติและวิมุติญาณทัสสนะ คือความรู้แจ้งเห็นชัดในพระนิพพานธรรม เพื่อให้เกิดขึ้นในตนดังนี้ ก็จัดได้ชื่อว่า อนาคตารมณ์ สมกับพระบาลีว่า “อนาคตารมมณา ธมฺมา” ดังนี้

    ๕๗. “ปจฺจุปฺปนฺนารมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๕๗ มีนัยพระบาลีว่า “ปจฺจุปฺปนฺนารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจุบันเป็นอารมณ์แห่งจิต โดยความอธิบายว่า บุคคลที่มีสติพิจารณาตนว่า ในเวลานี้
    เรามีความสุข เพราะกุศลวิบาก คือผลแห่งสุจริตทั้ง ๓ และขณะนี้เรามีความทุกข์เพราะอกุศลวิบาก คือผลแห่งทุจริตทั้ง ๓ ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลผู้มีสติไม่เผลอไปในเวลาเมื่อได้เสวยสุขทุกข์อันบังเกิดขึ้นในที่เฉพาะหน้าแล้ว เอาวิบากแห่งทุจริตทั้ง ๓ นั้นให้เป็นอารมณ์ ไม่ต้องไปแสวงหาในที่อื่นไกล โดยพระพุทธประสงค์นั้นก็คือ ให้พิจารณาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเอง เรียกว่า ปัจจุบันนาธรรมารมณ์ เพราะเป็นธรรมบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอิริยาบถ ๔ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “ปจฺจุปนฺนารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๕๗ แต่โดยสังเขปคาถาก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  17. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๕๘. “อชฺฌตฺตา ธมฺมา”

    ลำดับนี้จักได้วิสัชชนาในติกมาติกา บทที่ ๕๘ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายอันเป็นภายใน ธรรมที่เป็นภายในนั้น ท่านประสงค์เอาธรรม ๒ ประการ คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ๑ ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ๑
    ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลนั้นคือ ญาณทั้ง ๕ ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลนั้นคือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ จัดเป็นอัชฌัตตธรรมบังเกิดขึ้นในภายในอย่างหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง อาการ ๓๒ ซึ่งจัดเป็นดิน ๒๐ น้ำ ๑๒ ลม ๖ ไฟ ๔ เหล่านี้ก็ดี หรือจัดเป็นอายตน ๖ คือ จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ใจ เหล่านี้ก็ดี ก็เรียกว่า อัชฌัตตธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๕๙. “พหิทฺธา ธมฺมา”


    ในบทที่ ๕๙ นั้น มีพระบาลีว่า “พหิทฺธา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม อันเป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์ทั่วไป เช่น ดวงอาทิตย์ จะเรียกว่า เตโชธาตุก็ดี หรือแผ่นดิน เรียกว่า ปฐวีธาตุก็ดี หรือลมพัดทั่วไป หรือลมพายุใหญ่ พัดให้ต้นไม้หักล้มลง หรือลมพายุพัด ทำให้ฝนตกลงมาที่เรียกว่า วาโยธาตุ ก็ดี หรือ น้ำทั่วไปที่มีในบึง บาง ห้วย หนอง เป็นต้น ที่เรียกว่า อาโปธาตุ หรือ อายตนะ ๖ มี หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้ก็จัดเป็นพาหิรกธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “พหิทฺธา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๖๐. “อชฺฌตฺตพหิทฺธา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๖๐ นั้นมีพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตพหิทฺธา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลาย อันทั้งภายในและภายนอก เป็นเหตุอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป ธรรมภายในก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายนอกได้ ธรรมภายนอกก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายในได้ เปรียบอุปมาเหมือน พระปทุมกุมาร ได้ทัศนาการ เห็นดอกปทุมชาติบัวหลวง แล้วก็บังเกิดโยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยพระไตรลักษณญาณ แล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยอำนาจพระไตรลักษณญาณ แต่ต้องอาศัยธรรมภายนอก คือดอกปทุมชาติบัวหลวง เป็นเหตุก่อน จึงสำเร็จได้ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัชฌัตติกาพาหิรกธรรม ดังนี้ อีกประการหนึ่ง ความเกิดแก่เจ็บตาย ก็จัดเป็นพาหิรกธรรม เพราะเป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ยังต้องอาศัยเหตุภายนอก คือมารดา บิดาก่อน จึงจะบังเกิดขึ้นได้ วิญญาณนั้นเป็นธรรมภายใน มารดาบิดานั้นเป็นธรรมภายนอก ความแก่นั้นมี ๒ ประการ คือความเจ็บปวดบังเกิดขึ้น ความไม่สบายใจ ความเจ็บใจ แค้นใจ จัดเป็นอัชฌัตติกธรรมภายใน ความตาย เป็นพหิทธา ธรรมภายนอก ความตายก็มี ๒ ประการ คือ ตายด้วยโรคบังเกิดขึ้นภายในกาย เรียกว่า อัชฌัตติกมรณธรรมภายใน ๑ ตายด้วยเรื่องศาตราวุธเป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยความเพียรของท่านผู้อื่น เรียกว่า พาหิรกมรณธรรมภายนอก ๑ เพราะเหตุนั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเหล่านี้ เมื่อจะกล่าวถึงโสกปริเทวทุกข์ต่าง ๆ นั้นแล้ว ก็มีเช่นเดียวกัน บางทีเกิดแต่เหตุภายในอาศัยเหตุภายนอกก็มี เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตพหิทธา ธมฺมา” นี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๖๐ แต่พอสังเขปคาถาก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  18. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๖๑. “อชฺฌตฺตารมฺมณา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชชนาในติกมาติกาบทที่ ๖๑ สืบต่อไป มีนัยพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์เป็นภายใน โดยเนื้อความว่า พระโยคาวจรผู้ซึ่งแสวงหาซึ่งความสุขสำราญใจ และมาเจริญญาณสมาบัตินั้นเป็นธรรมบังเกิดขึ้นในภายใน ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมแสวงหาแต่ความสงบระงับ เพ่งเอาแต่สมาบัติเป็นอารมณ์ เช่นกับสัทธิงวิหาริกของพระสารีบุตร เมื่อเวลาเขาจะเอาไปฆ่า พระสารีบุตรจึงไปเตือนให้ได้สติ ก็ระลึกถึงญาณที่ตนเคยเจริญขึ้นนั้นได้ ก็เพ่งญาณระงับให้เป็นอารมณ์แล้วก็เหาะหนีรอดจากความตายไปได้ โดยความอธิบายก็ได้แก่ ธรรมที่เย็นกายเย็นใจนี้แล เป็นธรรมภายใน แผ่ซ่านออกไปให้เป็นอารมณ์ภายนอก บุคคลได้ประสบซึ่งความสุขกายสบายจิตทั้งภายในและภายนอกนั้น ก็ต้องอาศัยแก่ธรรมภายใน

    ดวงเดียว มีความบริสุทธิ์ใจ แผ่ซ่านออกไปเป็นอารมณ์ภายนอก ธรรมภายใน คือความบริสุทธิ์ใจดวงเดียวนี้แล ย่อมสามารถจะยังสรรพทุกข์ภัยอุปัทอันตรายทั้งปวงให้เข้าไประงับเสียได้ สมดังพระพุทธสุภาษิตว่า “ปรฺตํ พุทธมนฺตานํ ปวรํ สพฺพมนฺตานํ อชฺฌตฺติกพหิเรชาตํ อนฺตรายํ วินาสํ ปริตฺตานุภาเวน ลภนฺติ สพฺพมงฺคลํ” ดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมภายในคือใจบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์นั้นเราเรียกว่า ธรรมมีประมาณน้อย ปริตฺตํ แปลว่า พระนิพพาน เป็นธรรมมีประมาณน้อย ธรรมน้อยดวงเดียวนี้แล เป็น พุทฺธมนฺตานํ เป็นมนต์ของพระพุทธเจ้า ปวรํ สพฺพมนฺตานํ และเป็นอันประเสริฐกว่ามนต์ทั้งปวง อชฺฌตฺติกพหิเรชาตํ อนฺตรายํ วินาสยํ อันตรายอันหนึ่งอันใด ซึ่งบังเกิดมีภายในและภายนอก ก็ย่อมเสื่อมสูญไปโดยอำนาจแห่งพระปริตต์ คือพระนิพพานอันมีประมาณน้อยนี้เอง ปริตฺตานุภาเวน ลภนฺติ สพฺพมงฺคลํ สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ประสบซึ่งความสุขสำราญใจ ก็ได้เพราะอานุภาพแห่งพระปริตต์อันเป็นธรรมมีอารมณ์ภายในอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า “อชฺฌตฺตารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้
     
  19. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๖๒. “พหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๖๒ นั้นมีพระบาลีว่า “พหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์เป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า บุคคลทั้งหลาย เมื่อได้ประสบซึ่งเวทนาอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเอารูปเป็นอารมณ์ เพราะรูปนั้นเป็น พหิรกธรรมภายนอก ส่วนเวทนานั้น ก็หาได้ระงับลงไม่ กลับได้เสวยซึ่งเวทนากล้า ๆ ยิ่งขึ้นไป เปรียบเหมือน จันทคหาปณิต ที่ประสบซึ่งความทุกขเวทนาแล้วแลเพ่งเอารูปภายนอกเป็นอารมณ์ จนถึงแก่ความตายไปด้วยพวกโจรนั้น โดยความอธิบายว่า ความไม่สงบระงับใจ คือความเดือดร้อนขึ้นในใจ แต่ใจนั้นก็เป็นธรรมชาติ ดิ้นรนเดือดร้อนอยู่โดยปรกติของตนแล้ว มิหนำซ้ำยังเอาธรรมภายนอก ซึ่งมิใช่ธรรมเครื่องระงับมาเป็นอารมณ์อีกเล่า ก็ยิ่งมีความร้อนหนักยิ่งขึ้น เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงตรัสเทศนาสั่งสอนแก่พุทธบริษัททั่ว ๆ ไปว่า ธรรมภายนอกนั้น ไม่ใช่เครื่องระงับ และไม่ใช่ธรรมของพระตถาคตดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “พหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้

    ๖๓. “อชฺฌตฺตพหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๖๓ นั้นมีนัยพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตพหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีภายในแลภายนอกเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์เป็น
    ๒ บังเกิดขึ้นพร้อมกันแล้วแลถือเอาเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า “อชฺฌตฺตพหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา” ดังนี้ เมื่อจะชี้บุคคลที่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษให้เห็นเป็นตัวอย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ก็มีที่มามากเป็นอเนกประการ ดังพระภิกษุ ๓๐ รูปได้เห็นพยับแดดแล้วก็น้อมเอามานึกเปรียบกับกายของตนว่า ธรรมในกายของเรานี้ก็เช่นเดียวกับพยับแดดฉะนี้ ในทันใดนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปให้ต้องกายของภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้น แล้วจึงทรงตรัสเทศนาว่า “เอส ธมฺโม สนนฺตโน” ธรรมดวงเดียวนี้แลเป็นของเก่า เป็นของพระอริยเจ้า ธรรมดวงเดียวเป็นของเก่านั้น คือพระนิพพานนี้เอง พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นก็ได้บรรลุอาสวักขัย เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เหาะลอยมาสู่สำนักพระบรมศาสดา แล้วจึงโถมนาการชมเชยสรรเสริญซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยอเนกประการ โดยความอธิบายว่า พระอริยเจ้าท่านเอาธรรมภายนอกเปรียบกับภายใน เอาธรรมภายในออกไปเป็นอารมณ์ภายนอกดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตพหิทฺธารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้ แสดงมาในติกมาติกาบทที่ ๖๓ แต่โดยสังเขปคาถา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
     
  20. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ๖๔. “สนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา”

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชชนาในติกมาติกาบทที่ ๖๔ สืบต่อไปโดยนัยพระบาลีว่า “สนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปกับด้วยความคับแค้น เพราะความที่ได้เห็น โดยเนื้อความว่า บุคคลจะบังเกิดความเดือดร้อนขึ้นในใจ และเป็นไปกับด้วยความคับแค้นนั้น ก็เพราะความที่ได้เห็นซึ่งอนิฏฐารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ปรารถนาของตน เป็นต้นว่า ได้เห็นโจรผู้ร้ายหรือสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ มี หมี เสือ เป็นต้น หรือบางทีก็ได้เห็นบุคคลต่าง ๆ มี เจ้าหนี้ และบุคคลผู้ประทุษร้ายแก่ตน เป็นต้น เช่นกับ พระอานนท์ ถึงซึ่งความคับแค้นขึ้นในใจ เพราะได้เห็นช้างนาฬาคิรี วิ่งเข้ามาจะประทุษร้ายแก่ตนกับพระพุทธเจ้า ในกาลครั้งนั้น พระอานนท์ก็เกิดความเดือดร้อนคับแค้นขึ้นในใจ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “สนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา” ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายบังเกิดความคับแค้นขึ้นในใจ เพราะความที่ได้เห็น ฉะนี้

    ๖๕. “อนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา”

    ในบทที่ ๖๕ นั้นมีพระบาลีว่า “อนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายบังเกิดความคับแค้นในใจ เพราะความที่ไม่ได้เห็น โดยเนื้อความว่า บุคคลทั้งหลายใน
    โลกนี้ เมื่อเวลาได้ประสบความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ที่เจริญใจ หรือเวลาลูกเมียและทรัพย์สมบัติฉิบหายไปโดยภัยอันหนึ่งอันใดก็ดี ก็ย่อมบังเกิดความคับแค้นขึ้นในใจ เพราะความที่ไม่เห็น ดังมีบุคคลเป็นทัศนะอุทาหรณ์ว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งไปเรียนมนต์เรียกปลาอยู่ในสำนักของอาจารย์แห่งหนึ่ง ครั้นจำได้ชำนิชำนาญแล้ว จึงลาอาจารย์ไปทำบริกรรมอยู่ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ตั้งความเพียรบริกรรม ๆ ก็ไม่เห็นปลาขึ้นมา ตัวจะบังเกิดความคับแค้นขึ้นในใจ ครั้นรู้ถึงอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า ท่านอย่าบริกรรมลืมตาขึ้น ปลามันกลัว บุรุษนั้นก็กระทำตามลัทธิของอาจารย์ นั่งบริกรรมหลับตาไป อาจารย์ก็จับปลาไปใส่ลงในบ่อที่บุรุษนั้น ครั้นบุรุษนั้นลืมตาขึ้น ก็ได้เห็นปลา แล้วก็เกิดความดีใจ สิ้นความคับแค้นในใจ ดังนี้ เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า “อนิทสฺสนสปฺปฏิฆา ธมฺมา” ฉะนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...