พระอรหันต์แปดทิศ (๖) โดย พระเล็ก

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 13 ธันวาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,289
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    PraSangghuggye.jpg
    พระอรหันต์แปดทิศ (๖) โดย พระเล็ก
    ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระควัมปติ หรือ พระสังกัจจายนะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในเรื่องโชคลาภ ดุจเดียวกับพระสิวลี ซึ่งตรงกับนพเคราะห์คือ พระราหู ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวง มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงกลัว



    พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต ประจำราชสำนักพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เมืองหลวงของแคว้นอวันตี พระกัจจายนะเดิมเป็นคนมีรูปร่างงาม และเป็นคนใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คือได้ศึกษาพระเวทต่าง ๆ จนมีความรู้แตกฉาน ต่อมาเมื่อบิดาของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตในพระราชสำนักสืบแทนบิดาต่อไป

    พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงมีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดชาวเมืองอุชเชนี จึงรับสั่งให้ท่านกัจจายนะไปกราบทูลเชิญเสด็จ ท่านกัจจายนะได้ทูลของพระบรมราชานุญาตต่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตที่จะอุปสมบทด้วย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ท่านกัจจายนะพร้อมด้วยบริวาร ๗ คน ก็ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรมเทศนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และทูลขออุปสมบท
    หลังอุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านพระกัจจายนะได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเมืองอุชเชนี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เธอไปเองเถิด เมื่อเธอไปแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส”
    พระมหากัจจายนะ พร้อมกับพระภิกษุ ๗ รูปนั้น
    1689.jpg
    จึงได้เดินกลับไปยังเมืองอุชเชนี และได้แสดงธรรมให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองอุชเชนีฟัง เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ฟังธรรมที่พระมหากัจจายนะแสดงนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยเป็น สรณะ พร้อมด้วยพสกนิกรเป็นจำนวนมาก
    ท่านพระมหากัจจายนะได้แสดง “ภัทเทกรัตตสูตร” จนได้รับคำชมเชยจากพระพุทธเจ้า และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าในตำแหน่งเอตทัคคะ (เป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางขยายความแห่งภาษิตให้พิสดาร
    พระมหากัจจายนะ มีชื่ออีกชื่อว่า พระควัมปติ แต่มหาชนไม่นิยมเรียก เพราะชื่อไปซ้ำกับสาวกอีกองค์หนึ่งที่เป็นสหายของพระยสะ จึงคงเรียกชื่อท่านตามสกุลว่า “มหากัจจายนะ” แต่เติมคำว่า มหาเข้าไปด้วยท่านเป็นเถระชั้นมหาสาวกเช่นเดียวกับพระมหากัสสปะ
    และการที่ท่านพระมหากัจจายนะเป็นผู้ที่มีรูปงาม ทำให้พระภิกษุอื่น ๆ เมื่อเห็นท่านแต่ไกลเข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์กำลังเสด็จมา จึงพากันลุกขึ้นยืนต้อนรับบ่อยครั้ง ครั้นเข้ามาใกล้จึงประจักษ์ชัดว่าเป็นพระมหากัจจายนะ (พระควัมปติ) จึงได้พากันให้ชื่อใหม่ท่านว่า “ภควัมปติ” ซึ่งแปลว่า เหมือนพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านทราบเรื่องนี้เข้า เกรงว่าจะเป็นโทษซึ่งพาให้คนทั้งหลายเข้าใจผิดเพราะร่างกายของท่านไปเหมือนพระพุทธเจ้าเข้า ท่านจึงได้อธิษฐานเปลี่ยนรูป เพื่อให้ไม่เหมือนพระศาสดา ด้วยอำนาจแห่งฌานอภิญญา รูปของท่านจึงอ้วนท้องยุ้ยไม่งามเหมือนเมื่อก่อน ใครเห็นก็จำได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด

    บ้างก็กล่าวว่า เพราะมีเกิดเรื่องประหลาดขึ้น คือมีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง เห็นว่าท่านมีรูปงาม นึกอกุศลอยากได้ภรรยาที่มีลักษณะงามเหมือนท่าน ทันใดนั้นเขาก็กลายเป็นสตรีเพศทันที ด้วยความละอายเขาจึงได้ไปอาศัยอยู่ที่เมืองตักศิลาจนมีสามีและบุตร ต่อมาเมื่อได้ไปขอขมาท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้กลับเพศเป็นชายดังเดิม ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมา ท่านพระมหากัจจายนะได้อธิษฐานให้ร่างกายของท่านอ้วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนชาวพุทธยุคหลังได้สร้างรูปพระอ้วนลงพุงเป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่าน เรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์” หรือ “พระสังกัจจาย”

    พระมหากัจจายนะ ได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังแคว้นอวันตี และได้นำกุลบุตรออกบวชใน พระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนเถระ อยู่ที่ป่าไม้คุนธา แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ลือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะ พราหมณ์เป็นบุตรของพระพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพระพรหม

    พระเถระตอบว่า นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น แล้วได้อธิบายให้พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ยอมรับว่า วรรณะทั้ง ๔ เสมอกันตามความจริงที่ปรากฎ ๕ ประการ คือ
    ๑. วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
    ๒. วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
    ๓. วรรณะใดเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
    ๔. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้น ต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
    ๕. วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับนิมนต์ให้นั่ง บนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน

    พระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้ฉลาดสามารถในการอธิบายคำที่พระศาสดาตรัสไว้ โดยย่อให้พิสดาร ได้ตรงตามพุทธประสงค์ทุกประการ เช่น ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความ จึงอาราธนาพระเถระอธิบายให้ฟัง พระเถระอธิบายขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วบอกว่า ถ้ารูปใดยังไม่แน่ใจก็ขอให้ไปทูลถามพระศาสดา ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลถามพระศาสดาตามที่ท่านได้อธิบาย พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านแล้ว ตรัสว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะ เป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็ต้องแก้อย่างนั้นเหมือนกัน เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงไว้โดยย่อมีความหมายอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร

    พระมหากัจจายนเถระนี้ ได้บำเพ็ญกุศลมายาวนานในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้ฟังธรรม ในสำนักพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งจำแนกเนื้อความ ที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร เกิดกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมาก หลายพุทธันดรจนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ สมปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้

    พระมหากัจจายนเถระ ได้ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จด้วยการบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในอวันตีชนบท ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากพระอรหัตผล ในที่สุดได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนดวงประทีปที่หมดเชื้อแล้วดับไป จากหลักฐานในมธุรสูตร ท่านนิพพานภายหลังพระศาสดา

    ใจความมธุรสูตรว่า พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว ตรัสถามว่า ขณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ท่านกราบทูลว่า ปรินิพพานแล้ว

    ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีโชคลาภ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีเสน่ห์เมตตามหานิยม และบุญบารมี ต้องบูชาพระมหากัจจายนะ หรือ พระควัมปติ (ภควัมบดี) ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ได้จัดให้พระราหู อยู่ในตำแหน่งนี้ ถ้าท่านได้ศึกษาเรื่องราวของพระราหูอย่างละเอียดแล้ว ท่านจะเกิดความเข้าใจใหม่ในข้อที่ว่า พระราหูนั้นคือพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แม้ท่านจะเป็นเทพนพเคราะห์ที่ให้โทษ แต่ถ้าใครบูชาท่านในขณะที่มีเคราะห์ ก็จะส่งผลให้คลายเคราะห์ กลับร้ายกลายเป็นดีได้

    ตามคติทางพระพุทธศาสนาได้จัดให้ “พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์” เป็นพระปางประจำราหู และกำหนดบทสวด บทกินนุ สัน ตะ ระมาโน วะ เป็นบทสวดประจำวันพุธกลางคืน ควรสวด ๑๒ จบ ตามกำลังวัน เพื่อบูชาพระปางป่าเลไลยก์ เพื่อคุ้มภัยให้สิ่งร้ายกลายเป็นดีและจะมีความสุขสวัสดี และได้จัดพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดินเป็นคาถาประจำราหู คือ “คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ”

    บรรดาพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงพระเวทวิทยาคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ท่านได้เห็นถึงคุณวิเศษในการบูชาพระสังกัจจายน์ หรือ พระภควัมบดี ท่านจึงสร้างรูปบูชาทั้งแบบบูชา และแบบห้อยคอติดตัว อยู่สองลักษณะคือ เป็นพระอ้วนพุงพลุ้ย ปิดตาทั้งสองข้าง หรือปิดทวารทั้งเก้า กับ พระอ้วนพุงพลุ้ย ไม่ปิดตา และปิดทวารใด ๆ ในวงการพระเครื่องเรียกพระปิดตา หรือปิดทวารว่า “พระปิดตา” ส่วนที่ไม่ได้ปิดตา หรือปิดทวารใด ๆ เรียกว่า “พระสังกัจจายน์” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

    พระปิดตาที่ได้รับความนิยมที่สุด และมีราคาแพงที่สุด ก็เห็นจะเป็น พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี ซึ่งมีค่านิยมหลายล้านบาท ที่ได้รับความนิยมรองลงมาก็เห็นจะเป็นของ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี, หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กทม. , หลวงปู่ทับ วัดทอง กทม., หลวงปู่สุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, ส่วนพระสังกัจจายน์นั้น ได้รับความนิยมน้อยกว่า พระเกจิไม่ค่อยได้สร้าง แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เห็นจะเป็น พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อเงิน บางคลาน พิจิตร, พระสังกัจจายน์ เจ้าคุณศรีสนธิ์ วัดสุทัศน์ฯ กทม. ฯลฯ เป็นต้น
    ขอบพระคุณที่มา :- http://www.sereechai.com/index.php/2013-05-01-06-36-40/2013-05-01-07-41-35/7296-2017-12-08-08-00-43
    และ :- http://www.richystar.com/ประวัติเทพเจ้าจีน-เทพเจ้าโชคลาภ-กวนอู-กวนอิม-ไฉ่ซิ่งเอี้ย-ฮกลกซิ่ว-พระสังกัจจายน์/ประวัติเทพเจ้าจีน-พระสังกัจจาย์.html

     

แชร์หน้านี้

Loading...