พระอานนท์พุทธอนุชา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย satan, 1 เมษายน 2007.

  1. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    พระอานนท์พุทธอนุชา
    โดยท่านอาจารย์วศิน อินทสระ

    เรื่องพระอานนท์พุทธอนุชานี้ ได้รับความเมตตาเป็นอย่างยิ่งจากท่าน "สิริสทฺโธ ภิกฺขุ" ในการพิมพ์เนื้อหา และนอกจากนี้ท่านยังได้เมตตาเป็นธุระให้ในการติดต่อกับท่านอาจารย์วศินโดยตรงเพื่อขออนุญาตนำเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชามาเผยแพร่ในเวปปลาทองธรรมแห่งนี้ และรวมถึงเรื่องลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาลอีกด้วย ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณท่าน "สิริสทฺโธ ภิกขุ" และขอขอบพระคุณท่าน "อาจารย์วศิน อินทสระ" ไว้ ณ โอกาสนี้ ท้ายนี้ข้าพเจ้าขอกราบอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย และหากมีความผิดพลาดประการใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยท่านอาจารย์วศิน และท่านผู้อ่านไว้ ณ โอกาสนี้เช่นกัน ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชาได้ในบัดนี้

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 1 เมษายน 2007
  2. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร
    สมณะทั้งสองเดินดุ่มผ่านทุ่งกว้างเข้าสู่เขตป่าโปร่ง มีทางพอเดินได้สะดวก สมณะซึ่งเดินนำหน้ามีอินทรีย์ผ่องใส มีสายตาทอดลงต่ำ ผิวขาวละเอียดอ่อนลักษณะแสดงว่ามาจากวรรณะสูง อากัปกิริยาและท่าที่เยื้องย่างน่าทัศนา นำมาซึ่งความเลื่อมใสปีติปราโมชแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกาย แม้จะทำขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีรูปทรงอะไร แต่ก็มองดูสะอาดเรียบร้อยดี
    ส่วนสมณะผู้เดินอยู่เบื้องหลัง แม้จะมีส่วนสูงไม่เท่าองค์หน้า แต่ก็มีรูปร่างอยู่ในขนาดเดียวกัน ท่านเดินได้ระยะพองามไม่ห่างกันและไม่ชิดจนเกินไป
    ทั้งสองเดินมาถึงทางสองแพร่ง เมื่อสมณะผู้เดินหน้ามีอาการว่าจะเลี้ยวไปทางขวา สมณะผู้เดินหลังก็กล่าวขึ้นว่า
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ"
    "อย่าเลย - นาคสมาละ! ตถาคตต้องการไปทางขวา เรามีเรื่องสำคัญที่จะต้องไปโปรดสัตว์ทางนี้"
    "ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ" พระนาคสมาละยืนยัน
    "อย่าเลย - นาคสมาละ! มากับตถาคตทางขวานี่เถิด" พระผู้มีพระภาคขอร้อง
    พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งแต่พระนาคสมาละก็หายอมไม่ ในที่สุดท่านก็วางบาตรของพระผู้มีพระภาคไว้ในทางสองแพร่ง แล้วเดินหลีกไปทางซ้ายตามความปรารถนาของท่าน พระจอมมุนีศากบุตรต้องนำบาตรของพระองค์ไปเองและเสด็จไปโดดเดี่ยว
    อีกครั้งหนึ่ง พระเมฆิยะเป็นพระอุปฐากพระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จไปยังชันตุคาม เขตปาจีนวังสะมีพระเมฆิยะตามเสด็จ เวลาเช้าพระเมฆิยะไปบิณฑบาตในชันตุคาม กลับจากบิณฑบาตแล้วท่านเดินผ่านสวนมะม่วงอันน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง ปรารถนาจะไปบำเพ็ญสมณธรรมที่นั่น จึงกราบทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งว่า
    "อย่าเพิ่งไปเลย - เมฆิยะ เวลานี้เราอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาแทนเสียก่อนแล้วเธอจึงค่อยไป"
    ความจริงพระพุทธองค์ทรงเห็นอุปนิสัยของพระเมฆิยะว่ายังไม่สมควรที่จะไป จึงไม่ทรงอนุญาต หาใช่เพราะทรงคำนึงถึงความลำบากไม่ และไม่ใช่พระองค์จะไม่ทรงเห็นความจำเป็นในการบำเพ็ญสมณธรรม เกี่ยวกับเรื่องสมณธรรมนั้น พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้ภิกษุกระทำอยู่เสมอ
    พระเมฆิยะไม่ยอมฟังคำท้วงติงของพระพุทธองค์ละทิ้งพระองค์ไว้แล้วไปสู่สวนมะม่วงอันร่มรื่น บำเพ็ญสมณธรรมทำจิตให้สงบ แต่ก็หาสงบไม่ ถูกวิตกทั้งสามรบกวนจนไม่อาจให้จิตสงบได้เลย วิตกทั้งสามนั้นคือกามวิตก - ความตรึกเรื่องกาม พยาบาทวิตก - ความตรึกในทางปองร้าย และวิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางเบียดเบียน ในที่สุดจึงกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า
    "เมฆิยะเอย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก ผู้มีปัญญาจึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน และเป็นจิตตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง
    เมฆิยะเอย! จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นลงไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาจึงพยายามยกจิตขึ้นจากอาศัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย"
    ภายใน ๒๐ ปีแรก จำเดิมแต่การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค คือระหว่างพระชนมายุ ๓๕ ถึง ๕๔ พรรษา พระพุทธองค์ ไม่มีพระสาวกผู้อยู่อุปฐากประจำ บางคราวก็เป็นพระอุปวาณะ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระราธะ บางคราวพระนาคสมาละ และบางคราวพระเมฆิยะที่กล่าวแล้ว บางคราวก็เป็นสามเณรจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร
    พระผู้มีพระภาคได้รับความลำบากด้วยการที่ภิกษุผู้อุปฐากไม่รู้พระทัยของพระองค์ ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงต้องมีพระอุปฐากประจำด้วย ดูๆ จะมิเป็นการยังถือยศศักดิ์ถือฐานะอยู่หรือ? เรื่องนี้ถ้าพิจารณาด้วยดี จะเห็นความจำเป็นที่พระองค์จะต้องมีพระอุปฐากประจำ หรือผู้รับใช้ใกล้ชิด เพราะพระองค์ต้องทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ต้องมีการประชุมสงฆ์เป็นคราวๆ และต้องต้อนรับคฤหัสถ์บรรพชิตมากหลาย ที่มาเฝ้าเพื่อถวายปัจจัยบ้าง เพื่อทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ้าง ในบรรดาผู้มาเฝ้าเหล่านั้น ที่เป็นมาตุคามก็มีมาก จะเห็นว่าพระองค์ไม่ควรประทับอยู่แต่ลำพัง แต่ก็มีนานๆ ครั้งที่พระศาสดาทรงปลีกพระองค์ไปประทับแต่ลำพัง ในระยะนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ไม่ทรงต้อนรับผู้ใด ทรงหลีกเร้นอยู่เพื่อแสวงหาความสุขในปัจจุบัน ที่เรียกว่า "ทิฏฐธรรมสุขวิหาร"
    ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงคราวหนึ่ง เมื่อพระองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล พระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น มาประชุมกันพร้อม พระผู้มีพระภาคทรงปรารภในท่ามกลางสงฆ์ว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปฐากพระองค์ บางรูปก็ทอดทิ้งพระองค์ไปเสียเฉยๆ บางรูปวางบาตร และจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไป จึงขอให้สงฆ์เลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นรับตำแหน่งอุปฐากพระองค์เป็นประจำ
    ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว มีความสังเวชสลดจิตอย่างยิ่ง พระสารีบุตรกราบบังคมทูลขึ้นก่อนว่า
    "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดวงตาของโลก! ข้าพระพุทธเจ้าขออาสา รับเป็นอุปฐากปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ขอพระผู้มีพระภาคอาศัยความอนุเคราะห์รับข้าพระองค์เป็นอุปฐากเถิด"
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบขอบใจพระสารีบุตร แล้วตรัสว่า "สารีบุตร! อย่าเลย - เธออย่าทำหน้าที่อุปฐากเราเลย เธออยู่ ณ ที่ใดที่นั้นก็มีประโยชน์มาก โอวาทคำสั่งสอนของเธอเป็นเหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้า เธอสามารถหมุนธรรมจักรให้เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงชนเช่นกับด้วยเรา ผู้ได้เข้าใกล้เธอเหมือนได้เข้าใกล้เรา ผู้ที่สนทนากับเธอเหมือนได้สนทนากับเรา"
    ต่อจากนั้นพระมหาเถระรูปอื่นๆ ต่างก็แสดงความจำนงจะเป็นอุปฐากปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นประจำ แต่พระองค์ทรงห้ามเสียทั้งสิ้น เหลือแต่พระอานนท์เท่านั้นที่ยังคงนั่งเฉยอยู่ พระสารีบุตรจึงกล่าวเตือนพระอานนท์ขึ้นว่า
    "อานนท์! เธอไม่เสนอเพื่อรับเป็นอุปฐากพระผู้มีพระภาคหรือ ทำไมจึงนั่งเฉยอยู่"
    "ข้าแต่ท่านธรรมเสนาบดี" พระอานนท์ตอบ "อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะประเสริฐอะไร อีกประการหนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าอยู่ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็คงจะตรัสให้ข้าพเจ้าเป็นอุปฐากของพระองค์เอง ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้ว"
    ที่ประชุมเงียบไปครู่หนึ่ง ไม่มีผู้ใดไหวกายหรือวาจาเลย เงียบสงบเหมือนไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นเลย ภิกษุทุกรูปนั่งสงบ ไม่มีแม้แต่เพียงไอหรือจามหรืออาการกระดุกกระดิก พระผู้มีพระภาคตรัสขึ้นท่ามกลางความเงียบขึ้นว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์มีความประสงค์ที่จะอุปฐากเราอยู่แล้ว เป็นเพียงขอให้สงฆ์รับทราบเท่านั้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อานนท์จักอุปฐากเรา"
    เป็นความรอบคอบสุขุมของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสเช่นนั้น ความจริงหากพระองค์จะไม่ตรัสในที่ประชุมสงฆ์ แต่ตรัสเฉพาะพระอานนท์เอง พระอานนท์ก็พอใจที่จะอุปฐากอยู่ใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา แต่เพื่อจะยกย่องพระอานนท์ และให้สงฆ์รับทราบในอัธยาศัยของพระอานนท์ พระองค์จึงปรารภเรื่องนี้ท่ามกลางสงฆ์ ความเป็นจริงพระอานนท์ได้สั่งสมบารมีมาเป็นเวลาหลายร้อยชาติ เพื่อตำแหน่งอันมีเกียรตินี้
    พระอานนท์เป็นผู้รอบคอบ มองเห็นกาลไกล เมื่อพระผู้มีพระภาคและสงฆ์มอบตำแหน่งนี้ไว้แล้ว จึงทูลของเงื่อนไขบางประการดังนี้
    "ข้าแต่พระผู้เป็นนาถาของโลก! เมื่อข้าพระองค์รับเป็นพุทธอุปฐากแล้ว ข้าพระองค์ทูลขอพระกรุณาบางประการ คือ
    ๑. ขอพระองค์อย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้นำมาถวายแก่ข้าพระองค์เลย
    ๒. ขอพระองค์อย่าได้ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
    ๓. ขอพระองค์อย่าได้ให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ
    ๔. ขออย่าได้พาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ซึ่งพระองค์รับไว้
    "ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไรจึงขอเงื่อนไข ๔ ประการนี้"
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลขอพร ๔ ประการนี้ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ ว่าข้อพระองค์รับตำแหน่งพุทธอุปฐาก เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ"
    พระอานนท์ยังได้ทูลขึ้นอีกในบัดนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด! ข้ออื่นยังมีอีกคือ
    ๕. ขอพระองค์โปรดกรุณา เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้เพื่อพระองค์ไม่อยู่
    ๖. ขอให้ข้าพระองค์ได้พาพุทธบริษัทเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่เขามาเพื่อจะเฝ้า
    ๗. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยเรื่องใด เมื่อใดขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกโอกาส"
    "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพร ๓ ประการนี้!"
    "ข้าพระองค์ทูลขอ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ข้าพระองค์บำรุงพระองค์อยู่ทำไมกัน เรื่องเพียงเท่านี้พระองค์ก็ไม่ทรงสงเคราะห์ ข้าแต่พระจอมมุนี ข้ออื่นยังมีอีก คือ
    ๘. ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"
    "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพรข้อนี้?"
    "ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัวติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่"
    พระพุทธองค์ ประทานพรทั้ง ๘ ประการ แก่พระอานนท์พุทธอนุชาตามปรารถนาและพระอานนท์ก็รับตำแหน่งพุทธอุปฐากตั้งแต่บัดนั้นมา พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา เป็นปีที่ ๒๐ จำเดิมแต่ตรัสรู้ ส่วนพระอานนท์มีอายุได้ ๕๕ ปีเช่นกัน แต่มีพรรษาได้ ๑๙ จำเดิมแต่อุปสมบท
     
  3. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๒. ณ สัณฐาคารแห่งนครกบิลพัสดุ์
    นับถอยหลังจากเวลาที่พระอานนท์รับเป็นพุทธอุปฐากไปเป็นเวลา ๕๕ ปี ในพระราชวังอันโอ่อ่าของกษัตริย์ศากยราช มีการประดับประดาประทีปโคมไฟเป็นระย้าสว่างไสวไปทั่วเขตพระราชวัง พระเจ้าสุทโธทนะอนุชาแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ มีพระพักตร์แจ่มใสตลอดเวลา ทรงทักคนนั้นคนนี้ด้วยความเบิกบานพระทัย พระประยูรญาติและเสนาข้าราชบริพาร มีความปรีดาปราโมชอย่างยิ่งที่มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่งอุบัติขึ้นในโลก เขาพร้อมใจกันถวายพระนามราชกุมารว่า "อานันทะ" เพราะนิมิตรที่นำความปรีดาปราโมชและบันเทิงสุขมาให้ เจ้าชายอานันทะอุบัติขึ้นวันเดียวกับพระราชกุมารสิทธัตถะก้าวลงสู่โลกนั่นแล พระราชกุมารทั้งสองจึงเป็นสหชาติกันมาสู่โลกพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย นับว่าเป็นคู่บารมีกันโดยแท้
    เจ้าชายอานันทะ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีที่สุดเท่าที่พระราชกุมารในราชสกุลจะพึงได้รับ พระองค์เติบโตขึ้นภายใต้ความชื่นชมโสมนัสแห่งพระราชบิดาและพระประยูรญาติ เจ้าชายเป็นผู้ถ่อมตน สุภาพอ่อนโยนแลว่าง่ายมาแต่เล็กแต่น้อย พระฉวีผุดผ่อง พระวรกายงามสง่าสมสกุลกษัตริย์ ทรงได้รับการศึกษาอย่างดีจากสำนักอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้ในแคว้นสักกะจนกระทั่งพระชนมายุสมควรที่จะมีคู่ครอง แต่หามีปรากฏว่าพระองค์ทรงชอบพอสตรีคนใดเป็นพิเศษไม่
    ข่าวการเสด็จออกบรรพชาของเจ้าชายสิทธัตถะมกุฎราชกุมาร แห่งกบิลพัสดุ์นคร ก่อความสะเทือนพระทัยและพิศวงงงงวยแก่เจ้าชายอานันทะยิ่งนัก พระองค์ทรงดำริอยู่เสมอว่า เจ้าพี่คงมองเห็นทางปลอดโปร่งอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ จึงสละรัชสมบัติออกบรรพชา
    จนกระทั่ง ๖ ปี ภายหลังจากพระสิทธัตถกุมารออกแสวงหาโมกขธรรมแล้ว มีข่าวแพร่สะพัดจากนครราชคฤห์เข้าสู่นครหลวงแห่งแคว้นสักกะว่า บัดนี้พระมหามุนีโคตมะศากยบุตร ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เทศนาสั่งสอนปวงชนชาวมคธอยู่ เจ้าชายอานันทะทรงกำหนดพระทัยไว้ว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่นครกบิลพัสดุ์ พระองค์จักขอบวชในสำนักของพระพุทธองค์
    วันหนึ่ง ณ สัณฐาคารแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ศากยราชทั้งหลายประชุมกัน มีพระราชกุมารหลายพระองค์เข้าประชุมด้วย พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งบัดนี้เป็นพุทธบิดาเป็นประธาน พระองค์ตรัสปรารภว่า
    "ท่านทั้งหลาย บัดนี้ท่านคงได้ทราบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์มิใช่ใครอื่น คือสิทธัตถกุมารบุตรแห่งเรานั่นเอง ทราบว่ากำลังประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ราชธานีแห่งพระเจ้าพิมพิสาร ข้าพเจ้าขอปรึกษาท่านทั้งหลายว่า เราควรจะส่งคนของเราไปทูลเสด็จมาเมืองเรา หรือควรจะคอยจนกว่าพระองค์เสด็จมาเอง ผู้ใดมีความเห็นอย่างไรขอให้แสดงความคิดเห็นได้"
    มีราชกุมารองค์หนึ่ง ชูพระหัตถ์ขึ้น เมื่อได้รับอนุญาตให้พูดได้แล้วพระองค์จึงแสดงความคิดเห็นว่า
    "ข้าแต่ศากยราชทั้งหลาย! ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเราไม่ควรทูลเชิญเสด็จ ข้าพเจ้ามีเหตุผลว่า เมื่อตอนเสด็จออกบวช พระสิทธัตถะก็มิได้ทูลใครแม้แต่สมเด็จพระราชบิดาเอง อีกประการหนึ่ง กบิลพัสดุ์เป็นนครของพระองค์ เรื่องอะไรเราจะต้องเชิญเจ้าของบ้านให้เข้าบ้าน เมื่อพระสิทธัตถะโอ้อวดว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะไม่กลับบ้านของตัวเองก็แล้วไป เมื่อพระองค์ไม่คิดถึงพระชนก หรือพระประยูรญาติทั้งหลาย เราจะคิดถึงพระองค์ทำไม ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าต้องถึงกับทูลเชิญเสด็จก็เป็นเรื่องมากเกินไป" ราชกุมารตรัสจบแล้วก็นั่งลง
    ทันใดนั้น พระราชกุมารอีกองค์หนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและศากยวงศ์ทั้งหลาย! ข้อที่เจ้าชายเทวทัตกล่าวมานั้นไม่ชอบด้วยเหตุผล ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เจ้าชายสิทธัตถะแม้จะเป็นยุพราช มีพระชนมายุยังเยาว์ก็จริง แต่พระองค์บัดนี้เป็นนักพรต และมิใช่นักพรตธรรมดา ยังเป็นถึงพระพุทธเจ้าอีกด้วย แม้แต่นักพรตธรรมดา เราผู้ถือตัวว่าเป็นกษัตริย์ยังต้องให้เกียรติถวายความเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุไฉนเราจะให้เกียรติแก่พระสิทธัตถะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าและพระญาติของเราไม่ได้ เป็นตำแหน่งที่สูงส่งมาก พระมหาจักรพรรดิยังต้องถวายพระเกียรติ ทำไมคนขนาดเราจะถวายพระเกียรติไม่ได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะส่งทูตไปเชิญเสด็จพระองค์เข้าสู่กบิลพัสดุ์" พระราชกุมารนั่นลง
    "การที่เจ้าชายอานันทะเสนอมานั้น" เจ้าชายเทวทัตค้าน "โดยอ้างตำแหน่งพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ใครๆ ก็อาจเป็นได้ ถ้ากล้าโกหกชาวโลกว่าตัวเป็น พูดเอาเอง ใคร ๆ ก็พูดได้"
    "เทวทัต!" เจ้าศากยะสูงอายุผู้หนึ่งลุกขึ้นพูด "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะลวงโลกว่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่างที่เธอเข้าใจ เราก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเชิญเสด็จยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้ให้แน่นอนว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือพระพุทธเจ้าปลอม" สัณฐาคารเงียบกริบ ไม่มีใครพูดขึ้นอีกเลย พระเจ้าสุทโธทนะจึงตรัสขึ้นว่า
    "ท่านทั้งหลาย! ถ้าเราเถียงกันแบบนี้สักกี่วันก็ไม่อาจตกลงกันได้ ต่างคนต่างก็มีเหตุผลน่าฟังด้วยกันทั้งสิ้น ข้าพเจ้าอยากจะให้เรื่องจบลงโดยการฟังเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอถามที่ประชุมว่า ผู้ใดเห็นว่าสมควรเชิญเสด็จลูกของเรามาสู่เมือง ขอให้ยกพระหัตถ์ขึ้น"
    จบพระสุรเสียงของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระหัตถ์ของศากยวงศ์ยกขึ้นสลอนมากมาย แต่ไม่ได้นับ เพราะเห็นว่ายังเหลืออยู่เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน
    "คราวนี้ ท่านผู้ใดเห็นว่าไม่สมควรจะเชิญเสด็จ ขอให้ยกพระหัตถ์ขึ้น" ปรากฏว่ามีสองพระหัตถ์เท่านั้น คือเจ้าชายเทวทัตและพระสหายคู่พระทัย เป็นอันว่ามีสองพระหัตถ์เท่านั้น คือเจ้าชายเทวทัตและพระสหายคู่พระทัย
    เป็นอันว่าเสียงในที่ประชุมเรียกร้องให้ทูลเสด็จพระผู้มีพระภาคเข้าสู่กบิลพัสดุ์ เจ้าชายอานนท์พอพระทัยเหลือเกิน ทูลอาสาไปรับเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง แต่พระเจ้าสุทโธทนะทรงห้ามเสีย เจ้าชายเทวทัตคั่งแค้นพระทัยยิ่งนัก ตั้งแต่เป็นพระราชกุมารน้อยๆ ด้วยกันมาไม่เคยมีชัยชนะเจ้าชายสิทธัตถะเลย
    เวลานั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจากอุรุเวลาเสนานิคม ตำบลที่ตรัสรู้ไปสู่อิสิปตนมฤคทายะเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ แล้วโปรดพระยสะและชฏิลสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวาร แล้วเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามปฏิญาณที่ทรงให้ไว้ เมื่อเสด็จผ่านมาทางราชคฤห์สมัยเมื่อแสวงหาโมกขธรรม ได้รับวัดเวฬุวันสวนไม้ไผ่ เป็นอารามสงฆ์แห่งแรกในพระพุทธศาสนาแล้ว ข่าวกระฉ่อนทั่วไปทั้งพระนครราชคฤห์และเมืองใกล้เคียง ทรงได้อัครสาวกซ้ายขวา คือพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นกำลังสำคัญ
    ในเวลาเย็นชาวนครราชคฤห์มีมือถือดอกไม้ธูปเทียนและน้ำปานะ มีน้ำอ้อยเป็นต้น ไปสู่อารามเวฬุวันเพื่อฟังพระธรรมเทศนา และถวายน้ำปานะแก่พระภิกษุสงฆ์
    พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งทูตมาทูลเชิญพระผู้มีพระภาค เพื่อเสด็จกลับพระนคร แต่ปรากฏว่าทูต ๙ คณะแรกไปถึงแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาเลื่อมใสศรัทธาขอบรรพชาอุปสมบท และมิได้ทูลเสด็จพระพุทธองค์ ต่อมาถึงทูตคณะที่ ๑๐ ซึ่งมีกาฬุทายีมหาอำมาตย์เป็นหัวหน้าไปถึงวัดเวฬุวัน ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค แล้วจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์ตามพระดำรัสของพระพุทธบิดา
    พระผู้มีพระภาค มีพระอรหันตขีณาสพจำนวนประมาณสองหมื่นเป็นบริวาร เสด็จจากกรุงราชคฤห์สู่นครกบิลพัสดุ์วันละโยชน์ๆ รวม ๖๐ วัน ในระหว่างทางได้ประทานพระธรรมเทศนาโปรดประชาชนให้ดำรงอยู่ในคุณวิเศษต่างๆ ตามอุปนิสัย จนกระทั่งถึงนครกบิลพัสดุ์
    พระพุทธบิดาเตรียมรับเสด็จพระพุทธองค์ โดยสร้างวัดนิโครธารามถวายเป็นพุทธนิวาส การเสด็จมาของพระพุทธองค์ครั้งนี้ เป็นที่ชื่อชมโสมนัสของพระประยูรญาติยิ่งนัก เพราะเป็นเวลา ๗ ปีแล้วที่พระองค์จากไป โดยพระญาติมิได้เห็นเลยแม้แต่เงาของพระองค์
    วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตผ่านมาทางปราสาทของพระบิดา พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นแล้วรีบเสด็จลงไป จับชายจีวรของพระองค์ แล้วกล่าวว่า
    "สิทธัตถะ ทำไมเจ้าจึงทำอย่างนี้ ตระกูลของเจ้าเป็นคนขอทานหรือ ศากยวงศ์ไม่เคยทำเลย เจ้าทำให้วงศ์ของพ่อเสีย บ้านของเจ้าก็มี ทำไมจึงไม่ไปรับอาหารที่บ้าน เที่ยวเดินขอทานชาวบ้านอยู่ พ่อจะเอาหน้าไปไว้ไหน พ่อเป็นจอมคนในแผ่นดิน เป็นกษัตริย์ ลูกมาทำตนเป็นขอทาน"
    "มหาบพิตร!" เสียงนุ่มนวลกังวานจากพระโอษฐ์พระผู้มีพระภาค "บัดนี้อาตมภาพมิใช่ศากยวงศ์แล้ว อาตมภาพเป็นอริยวงศ์ เป็นพุทธวงศ์ พระพุทธเจ้าในอดีตทุกๆ พระองค์ทรงกระทำอย่างนี้ทั้งนั้น อาตมภาพทำเพื่อรักษาวงศ์ของอาตมภาพ มิให้สูญหาย สำหรับบ้านอาตมภาพก็ไม่มี อาตมภาพเป็นอนาคาริกมุนี - ผู้ไม่มีเรือน"
    "ช่างเถิดสิทธัตถะ เจ้าจะเป็นวงศ์อะไร จะมีเรือน หรือไม่มีเรือนพ่อไม่เข้าใจ แต่เจ้าเป็นลูกของพ่อ เจ้าจากไป ๗ ปีเศษ พ่อคิดถึงเจ้าสุดประมาณ พิมพาหรือก็คร่ำครวญถึงแต่เจ้า ราหุลเล่ามีบิดาเหมือนไม่มีเวลานี้เจ้าจะต้องไปบ้าน ไปพบลูก พบชายาและพระญาติที่แก่เฒ่า"
    ว่าแล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็นำเสด็จพระพุทธองค์ไปสู่พระราชวัง ถวายขาทนียโภชนียาหารอันประณีตสมควรแก่กษัตริย์ พระผู้มีพระภาคแสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้พระบิดาเป็นพระสกทาคามี และพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านางเป็นพระโสดาบัน แล้วเสด็จกลับสู่นิโครธาราม

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  4. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๓. พุทธุปฐากผู้เป็นบัณฑิต
    ขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์นั้น มีเจ้าชายในศากยวงศ์หลายพระองค์ได้เสด็จออกบรรพชา เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ตามทางแห่งพระพุทธองค์ พระโลกนาถสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ นิโครธารามตามพระอัธยาศัยพอสมควรแล้ว ทรงละกบิลพัสดุ์ไว้เบื้องหลัง แล้วสู่แคว้นมัลละ สำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ อนุปปิยัมพวัน
    เมื่อพระศาสดาจากไปแล้ว เจ้าศากยะทั้งหลายวิพากย์วิจารย์กันว่า เจ้าชายเป็นอันมากได้ออกบวชตามพระศาสดา ยังเหลือแต่เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายอนุรุทธ์ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายภัททิยะ เป็นต้น มิได้ออกบวชตาม ความจริงเจ้าชายเหล่านี้ พระญาติได้ถวายให้เป็นเพื่อนเล่น เป็นบริวารของพระสิทธัตถะในวันขนานพระนาม เจ้าชายเหล่านี้คงมิใช่พระญาติของพระพุทธองค์กระมัง จึงเฉยอยู่มิได้ออกบวชตาม
    เจ้าชายมหานาม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ได้ฟังเสียงวิพากย์วิจารย์ดังนี้ รู้สึกละอายพระทัย จึงปรึกษากับพระอนุชา คือเจ้าชายอนุรุทธ์ ว่าเราสองคนพี่น้องควรจะออกบวชเสียคนหนึ่ง ในที่สุดตกลงกันว่าให้พระอนุชาออกบวช แต่พระมารดาไม่ทรงอนุญาต
    "ลูกรัก!" พระนางตรัส "เจ้าจะบวชได้อย่างไร การบวชมิใช่เป็นเรื่องง่าย เจ้าต้องเสวยวันละครั้ง ต้องเสด็จด้วยพระบาทเปล่า ต้องบรรทมอย่างง่ายๆ ปราศจากฟูกหมอนอันอ่อนนุ่ม ใช้ไม้เป็นเขนย ต้องอยู่ตามโคนไม้หรือท้องถ้ำ เมื่อต้องการของร้อนก็ได้ของเย็น เมื่อต้องการของเย็นก็ได้ของร้อน ด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่ต้องการให้เจ้าบวช"
    "ข้าแต่พระบาท!" เจ้าชายอนุรุทธ์ทูล "หม่อมฉันทราบว่าการบวชเป็นความลำบาก และมิใช่เป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อพระญาติหลวงพระองค์ซึ่งเคยมีความสุขสบายอย่างหม่อมฉันนี่แหละยังสามารถบวชได้ ทำไมหม่อมฉันจะบวชบ้างไม่ได้ อีกประการหนึ่ง พูดถึงความสะดวกสบาย พระศาสดาเคยสะดวกสบายกว่าหม่อมฉันมากนัก พระองค์ยังสามารถอยู่ได้โดยไม่เดือนร้อน ทำไมหม่อมฉันจะอยู่ไม่ได้ น่าจะมีความสุขอะไรสักอย่างหนึ่งมาทดแทนความสะดวกสบายที่เสียไป และเป็นความสุขที่ดีกว่าประณีตกว่า หม่อมฉันคิดว่าหม่อมฉันทนได้"
    "ลูกรัก! ถึงแม้เจ้าจะทนอยู่ในเพศบรรพชิตได้แต่แม่ทนไม่ได้ แม่ไม่เคยเห็นลูกลำบาก และแม่ไม่ต้องการให้ลูกลำบาก ลูกเป็นที่รักสุดหัวใจของแม่ แม่ไม่อยากจะอยู่ห่างลูกแม้เพียงวันเดียว จะกล่าวไยถึงจะยอมให้ลูกไปบวช ซึ่งจะต้องอยู่ห่างแม่เป็นแรมปี อนึ่งเล่าแม่ไม่เห็นว่าจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องบวช ถ้าลูกต้องการจะทำความดีเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ก็ทำได้ และก็ดูเหมือนจะทำได้สะดวกกว่าด้วยซ้ำไป อย่าบวชเลย - ลูกรัก เชื่อแม่เถอะ" ว่าแล้วพระนางก็เอาพระหัตถ์ลูบเส้นพระเกศาเจ้าชายด้วยความกรุณา
    "ข้าแต่มารดา! พูดถึงความลำบาก ยังมีคนเป็นอันมากในโลกนี้ที่ลำบากกว่าเรา หรืออย่างน้อยก็ลำบากกว่าบรรพชิต พูดถึงเรื่องการต้องจากกันระหว่างแม่กับลูกยังมีการจากกันอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการจากไปบวช นั่นคือการต้องจากเพราะความตายมาถึงเข้า และทุกคนจะต้องตาย หลีกไม่พ้น ถูกแล้วที่มารดาบอกว่าการทำความดีนั้นอยู่ที่ไหนก็ทำได้ แต่การบวชอาจจะทำความดีได้มากกว่า เพราะมีโอกาสมากกว่า ถ้าเปรียบด้วยภาชนะสำหรับรองรับน้ำ ภาชนะใหญ่ย่อมรองรับน้ำได้มากกว่าภาชนะเล็ก และภาชนะที่สะอาดย่อมไม่ทำให้น้ำสกปรก เพราะฉะนั้นลูกจึงเห็นว่าการบวชเป็นเสมือนภาชนะใหญ่ที่สะอาด เหมาะสำหรับรองรับน้ำ คือความดี"
    "ลูกรู้ได้อย่าง ในเมื่อลูกยังมิได้บวช ความคิดอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้" พระนางมีเสียงแข็งขึ้นเล็กน้อย
    "ลูกยังไม่รู้ แต่ลูกอยากจะลอง"
    "เอาอย่างนี้ดีไหม คือถ้าเจ้าชายภัททิยะ พระสหายของเจ้าบวช แม่ก็อนุญาตให้เจ้าบวชได้" พระนางเข้าพระทัยว่า อย่างไรเสียเจ้าชายภัททิยะคงไม่บวชแน่
    เจ้าชายอนุรุทธ์ดีพระทัยมาก ที่พระมารดาตรัสคำนี้ พระองค์รีบเสด็จไปหาพระสหาย ตรัสว่า
    "ภัททิยะ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะบวชตามสมเด็จพระศาสดา แต่การบวชของข้าพเจ้าเนื่องอยู่ด้วยท่าน คือพระมารดาตรัสว่า ถ้าท่านบวช จึงจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าบวช"
    "สหาย!" เจ้าชายภัททิยะตรัสตอบ ข้าพเจ้าก็คิดจะบวชอยู่เหมือนกัน ได้ยินคนเขาวิพากย์วิจารณ์กันแล้วรู้สึกไม่ค่อยจะสบายใจ พระศาสดายังบวชอยู่ได้ทำไมพวกเราจะบวชไม่ได้"
    เจ้าชายอนุรุทธ์ดีพระทัยเป็นที่สุด เมื่อทูลพระมารดาแล้ว ทั้งสองสหายก็ได้ชักชวนเจ้าชายอีกสี่พระองค์ คือ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตเป็น ๖ องค์ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ มุ่งสู่อนุปปิยัมพวันแคว้นมัลละ เมื่อเสด็จถึงพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะและแคว้นมัลละ พระราชกุมารทั้งหกก็รับสั่งให้นายอุบาลี ภูษามาลา ซึ่งตามเสด็จมาส่ง กลับไปสู่นครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเปลื้องพระภูษาซึ่งมีราคามาก มอบให้อุบาลีนำกลับไป
    ในขณะที่ ๖ พระราชกุมารและนายอุบาลี ภูษามาลาจะแยกกันนั้น ราวป่าประหนึ่งว่าจะถึงซึ่งอาการร้องไห้ มหาปฐพีมีอาการสะท้อนสะเทือนเหมือนจะแยกออกจากกัน อุบาลีจำใจจากพระราชกุมารกลับมาทางเดิมได้หน่อยหนึ่งจึงคิดว่า การที่จะนำเครื่องประดับอันมีค่าซึ่งเจ้าของสละแล้วโดยปราศจากความไยดีไปขายเลี้ยงชีพตามคำของพระราชกุมารนั้น ปานประหนึ่งผู้กลืนน้ำลายซึ่งเจ้าของถ่มแล้ว จะประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้น เกิดสังเวชสลดจิต จึงเอาเครื่องประดับเหล่านั้นแขวนไว้กับกิ่งไม้แห่งหนึ่ง แล้ววิ่งกลับไปแจ้งความประสงค์กับพระราชกุมารว่า
    "ข้าแต่นาย! ข้าพเจ้าขอตามเสด็จไปด้วย เพื่อจะได้รับใช้พระองค์ต่อไป"
    พระราชกุมารทั้งหก ทรงปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง จึงยินยอมให้อุบาลีตามเสด็จด้วย
    พระกุมารทั้งหกพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลขอบรรพชาอุปสมบท และทูลว่า
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ทั้งหลายมีทิฏฐิมานะมาก เมื่อบวชพร้อมด้วยอุบาลีซึ่งเป็นคนรับใช้มาก่อน ถ้าข้าพระองค์ทั้งหลายบวชก่อนก็จะพึงใช้อำนาจกับเขาอีก เพราะฉะนั้นขอให้พระผู้มีพระภาคให้การอุปสมบทแก่อุบาลีก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจักได้อภิวาทลุกรับเขาเมื่ออุปสมบทแล้ว เป็นการทำลายทิฏฐิมานะไปในตัว เพื่อประโยชน์แก่การประพฤติพรหมจรรย์"
    เมื่อบวชแล้วไม่นาน พระภัททิยะ พระภคุ พระกิมพิละ และพระอนุรุทธ์ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระเทวทัตได้สำเร็จฌานแห่งปุถุชน ส่วนพระอานนท์ซึ่งมีพระเพลัฏฐสีสะเป็นอุปฌายะ และมีพระปุณณะ มันตานีบุตร เป็นพระอาจารย์ ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน หลังจากอุปสมบทแล้ว ๑๙ พรรษา พระอานนท์ได้รับตำแหน่งเป็นพุทธอุปฐากดังกล่าวแล้วแต่หนหลัง
    หน้าที่ประจำของพระอานนท์ คือ
    ๑. ถวายน้ำ ๒ ชนิด คือทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน
    ๒. ถวายไม้สีฟัน ๓ ขนาด (ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่)
    ๓. นวดพระหัสถ์และพระบาท
    ๔. นวดพระปฤษฎางค์
    ๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฎี
    ในราตรีกาล ท่านกำหนดในใจว่า เวลานี้พระผู้มีพระภาคคงจะทรงต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือรับสั่งนั้นรับสั่งนี้ แล้วท่านก็เข้าไปเฝ้าเป็นระยะๆ เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงออกมาอยู่ยามหน้าพระคันธกุฎี กล่าวกันว่าท่านถือประทีปด้ามใหญ่เดินวนเวียนพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคถึงคืนละ ๘ ครั้ง
    อันว่าท่านอานนท์นี้ สามารถทำงานที่ได้มอบหมายดียิ่งนัก เมื่อได้รับมอบหมายดียิ่งนัก เมื่อได้รับมอบหมายสิ่งใดจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านทำไม่เคยบกพร่อง
    เช่น ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงศรัทธาปรารถนาจะถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประจำ และทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จเข้าวังทุกๆ วัน พระจอมมุนี ทรงปฏิเสธอย่างละมุนละม่อมว่า
    "มหาบพิตร! ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นที่ต้องการของคนทั้งหลายเป็นอันมาก ผู้จำนงหวังเพื่อทำบุญกับพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากอยู่ อนึ่งพระพุทธเจ้าไม่ควรไปในที่นิมนต์เพียงแห่งเดียว ควรสงเคราะห์แก่คนทั่วไป"
    "ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นประมุข นำพระสงฆ์มารับโภชนาหาร ในนิเวศน์ของข้าพระองค์เป็นประจำเถิด" พระเจ้าปเสนทิโกศลทูล
    พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์ นำภิกษุจำนวนมากไปสู่ราชนิเวศน์เป็นประจำ
    ในสองสามวันแรกพระเจ้าปเสนทิทรงอังคาสภิกษุด้วยโภชนาหารอันประณีตด้วยพระองค์เอง แต่ระยะหลังๆ มาพระองค์ทรงลืม ภิกษุทั้งหลายคอยจนสายพระองค์ก็ยังไม่ทรงตื่นบรรทม ภิกษุทั้งหลายจึงกลับไปเสียเป็นส่วนมาก และเมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยเข้าภิกษุทั้งหลายก็ไม่มา คงเหลือแต่พระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น
    เป็นธรรมเนียมในพระราชวัง ถ้าพระราชาไม่สั่งใครจะทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นราชบริพารจึงไม่สามารถจัดอาหารถวายพระสงฆ์ได้
    วันหนึ่งพระราชาตื่นบรรทมแต่เช้า สั่งจัดอาหารถวายพระเป็นจำนวนร้อย เมื่อถึงเวลาพระองค์เสด็จออกเพื่อถวายพระกระยาหาร ไม่ทอดพระเนตรเห็นพระอื่นเลย นอกจากพระอานนท์ซึ่งอดทนมาทุกวัน
    พระเจ้าปเสนทิทรงพิโรธยิ่งนัก เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที กราบทูลว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ สาวกของพระองค์ไม่เห็นว่าการนิมนต์ของข้าพระองค์เป็นเรื่องสำคัญเลย ข้าพระองค์นิมนต์พระไว้เป็นจำนวนร้อย แต่มีพระอานนท์องค์เดียวเท่านั้นที่ไปรับอาหารจากพระราชวัง ข้าวของจัดไว้เสียหายหมด"
    "พระมหาบพิตร! พระสงฆ์คงจะไม่คุ้นเคยกับราชตระกูลกระมังจึงกระทำอย่างนั้น มหาบพิตร! สำหรับอานนท์นั้นเป็นบัณฑิต เป็นผู้เข้าใจเหตุการณ์ และมีความอดทนอย่างเยี่ยม เป็นบุคคลที่หาได้โดยยาก"
    อีกครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระประสงค์ให้พระนางมัลลิกาอัครมเหสี และพระนางวาสภขัตติยาราชเทวีศึกษาธรรม พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้พระอานนท์เป็นผู้ถวายความรู้ พระนางวาสภขัตติยา พระญาติของพระผู้มีพระภาคเรียนโดยไม่เคารพ คือศึกษาอย่างขัดไม่ได้ ส่วนพระนางมัลลิกาทรงตั้งพระทัยศึกษาด้วยดี พระอานนท์นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    "อานนท์ - วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย สัณฐานดี แต่หากลิ่นมิได้ แต่วาจาสุภาษิต จะมีประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ทำตาม เหมือนดอกไม้ซึ่งมีสีสวย มีสัณฐานงาม และมีกลิ่นหอม
    อานนท์เอย! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้วนั้น ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากแก่ผู้ไม่ทำตามโดยเคารพ ไม่สาธยายโดยเคารพ และไม่แสดงโดยเคารพ แต่จะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลแก่ผู้ซึ่งกระทำโดยนัยตรงกันข้าม มีการฟังโดยเคารพเป็นต้น"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  5. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๔. มหามิตร
    พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธเจ้าได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมันและมอมเหล้าเสีย ๑๖ หม้อ ช้างนาฬาคิรียิ่งคะนองมากขึ้น
    วันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงแปร๋นแปร๋นของนาฬาคิรีดังขึ้น ประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทางซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมาด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชาเดินล้ำมายืนเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาค ด้วยคิดจะป้องกันชีวิตของพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง
    "หลีกไปเถิด - อานนท์ อย่าป้องกันเราเลย" พระศาสดาตรัสอย่างปกติ
    "พระองค์ผู้เจริญ!" พระอานนท์ทูล "ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นก เหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ"
    "อย่าเลย อานนท์! บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน หรือมนุษย์ หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ"
    ขณะนั้นนาฬาคิรี วิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของหมู่สตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้แล้วเป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดา ผู้บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติสร้านออกจากพระหฤทัยกระทบเข้ากับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของนาฬาคิรี ช้างใหญ่หยุดชะงักเหมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย เพราะโมหะของมันสงบเย็นลง เหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตร ซึ่งกำลังมาด้วยบุญญาธิการลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า
    "นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"
    นาฬาคิรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปลาสนาการไปสิ้น
    นี่แล พุทธานุภาพ !!
    ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันสักการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้และของหอมจำนวนมาก
    ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร พระอานนท์เป็นห่วงยิ่งนัก จึงได้ปรุงยาคู (ข้าวต้ม ต้มจนเหลว) ด้วยมือของท่านเอง แล้วน้อมนำเข้าไปถวาย เพราะพระพุทธองค์เคยตรัสว่า ยาคูเป็นยาไล่ลมในท้องในลำไส้ได้ดี พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
    "อานนท์! เธอได้ยาคูมาจากไหน?"
    "ข้าพระองค์ปรุงเอง พระเจ้าข้าฯ"
    "อานนท์! ทำไมเธอจึงทำอย่างนี้ เธอทำสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ เธอทราบมิใช่หรือว่าสมณะไม่ควรปรุงอาหารเอง ทำไมเธอจึงมักมากถึงปานนี้ เอาไปเทเสียเถิดอานนท์ เราไม่รับยาคูของเธอดอก พระอานนท์คงก้มหน้านิ่ง ท่านมิได้ปริปากโต้แย้งเลยแม้แต่น้อย ท่านเป็นผู้น่าสงสารอะไรเช่นนั้น!
    ครั้งหนึ่งพระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งเป็นโทษ เป็นเหตุให้ทรงอึดอัด มีพุทธประสงค์จะเสวยยาระบาย พระอานนท์ทราบแล้วจึงไปหาหมอชีวกโกมารภัจแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ หมอเรียนท่านว่า ขอให้ท่านกราบทูลให้พระองค์ทรงพักผ่อน เพื่อให้พระกายชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน พระอานนท์ก็กระทำตามนั้นได้เวลาแล้วท่านก็ไปหาหมออีก หมอชีวกได้ปรุงยาระบายพิเศษอบด้วยก้านอุบลสามก้านถวายให้พระผู้มีพระภาคสูดดมมิใช่เสวย ปรากฏว่าทรงระบายถึงสามสี่ครั้ง
    อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับ ณ นครเวสาลี ทรงประชวรหนัก และทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้นจนหาย พระอานนท์ทูลความในใจของท่านแด่พระผู้มีพระภาคว่า
    พระองค์ผู้ทรงเจริญ! เมื่อพระองค์ทรงประชวรอยู่นั้น ข้าพระองค์กลุ้มใจเป็นที่สุด กายของข้าพระองค์เหมือนงอมระงมไปด้วยความรู้สึกเหมือนว่า ทิศทั้งมืดมน แต่ข้าพระองค์ก็เบาใจอยู่หน่อยหนึ่ง ว่าพระองค์คงจักไม่ปรินิพพาน จนกว่าจะได้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
    พระอานนท์นี้เอง เป็นผู้ออกแบบจีวรของพระสงฆ์ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่มาจนบัดนี้ นับว่าเป็นแบบเครื่องแต่งกายเก่าแก่ที่สุดในโลกและยังทันสมัยอยู่เสมอ เข้าได้ทุกการทุกงาน
    ครั้งหนึ่งท่านตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปสู่ทักขิณาคีรีชนบท พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามพระอานนท์ว่า
    "อานนท์! เธอจะทำจีวรแบบนาของชาวมคธนี้ได้หรือไม่?"
    "ลองทำดูก่อน พระเจ้าข้าฯ" ท่านทูลตอบ
    ต่อมา ท่านได้ทำการตัดเย็บจีวรแบบคันนาของชาวมคธนั้น แล้วนำขึ้นทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณา พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรแล้วเห็นชอบด้วย รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายใช้จีวรที่ตัดและเย็บแบบที่ท่านอานนท์ออกแบบนั้น พร้อมกันนั้นได้ตรัสชมเชยท่านอานนท์ท่ามกลางสงฆ์ว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์เป็นคนฉลาดมีปัญญาสามารถเข้าใจในคำที่เราพูดแต่โดยย่อได้โดยทั่วถึง"
    พูดถึงเรื่องประหยัด หรือใช้สิ่งของให้คุ้มค่า พระอานนท์ก็เป็นผู้ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังครั้งหนึ่งหลังพุทธปรินิพพาน ท่านเดินทางโดยทางเรือไปสู่นครโกสัมพี เพื่อประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระหัวดื้อตามรับสั่งของพระผู้มีพระภาค ขึ้นจากเรือแล้วท่านเข้าอาศัยพัก ณ อุทยานของพระเจ้าอุเทนราชาแห่งนครนั้น
    ขณะนั้นพระเจ้าอุเทนและพระมเหสีประทับอยู่ ณ พระราชอุทยาน พระมเหสีทรงทราบว่าพระอานนท์มาก็ทรงโสมนัส ทูลลาพระสวามีไปเยี่ยมพระอานนท์ สนทนาพอเป็นสัมโมทนียกถาแล้ว พระอานนท์แสดงธรรมเป็นที่เสื่อมใสจับจิตยิ่งนัก พระนางได้ถวายจีวรจำนวน ๕๐๐ ผืน ในเวลาต่อมาแด่อานนท์ พระเจ้าอุเทนทรงทราบเรื่องนี้แทนที่จะทรงพิโรธพระมเหสีกลับทรงตำหนิท่านอานนท์ว่ารับจีวรไปทำไมมากมายหลายร้อยผืน จะไปตั้งร้านขายจีวรหรืออย่างไร เมื่อมีโอกาสได้พบพระอานนท์ พระองค์จึงเรียนถามว่า
    "พระคุณเจ้า! ทราบว่า พระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ?"
    "ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด" พระอานนท์ทูล
    "พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก?"
    "เพื่อแบ่งถวายภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"
    "จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำเพดาน"
    "จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าปูที่นอน"
    "จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าปูพื้น"
    "จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า"
    "จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี"
    "จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา?"
    พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า สมณศากยบุตรเป็นผู้ประหยัด ใช้ของไม่ให้เสียเปล่า จึงถวายจีวรแก่พระอานนท์อีก ๕๐๐ ผืน
    พระอานนท์นอกจากเป็นผู้กตัญญูต่อผู้ใหญ่แล้วยังสำนึกแม้ในอุปการะของผู้น้อยด้วย ศิษย์ของท่านเองที่กระทำดีต่อท่านเป็นพิเศษ ท่านก็อนุเคราะห์เป็นพิเศษ เช่น คราวหนึ่งท่านได้จีวรมาเป็นจำนวนร้อยๆ ผืน ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลถวาย ท่านระลึกถึงศิษย์รูปหนึ่งของท่านซึ่งทำอุปการะปฏิบัติต่อท่านดี มีการถวายน้ำล้างหน้าไม้ชำระฟัน ปัดถวายเสนาสนะ ที่อาศัย เวจจกุฎี เรือนไฟ นวดมือนวดเท้า เป็นต้น แปลว่าศิษย์ผู้นี้ปฏิบัติดีต่อท่านมากกว่าศิษย์อื่นๆ และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงมอบจีวรที่ได้มาทั้งหมดแด่ศิษย์รูปดังกล่าวนี้
    เนื่องจากพระภิกษุรูปนี้เป็นพระดีจริงๆ จึงนำจีวรที่อุปฌายะมอบให้ไปแจกภิกษุผู้ร่วมอุปฌายะเดียวกันจนหมดสิ้น ดูเหมือนจะเป็นความประสงค์ของพระอานนท์ที่จะให้เป็นเช่นนั้นด้วย ภิกษุทั้งหลายไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถาม
    "มีเรื่องอะไรหรือ - ภิกษุ?"
    เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! การทำเพราะเห็นแก่หน้าคืออคติ หามีแต่อานนท์ไม่ แต่ที่อานนท์ทำเช่นนั้น ก็เพราะระลึกถึงอุปการะของศิษย์ผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อเธอเหลือเกิน ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้แต่น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร"


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  6. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๕. กับพระนางมหาปชาบดี
    พระอานนท์เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา ทนเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่นไม่ได้ คอยเป็นธุระช่วยเหลือเท่าที่สามารถ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ดังเช่นเรื่องเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นต้น
    พระนางทรงเลื่อมใส และรักใคร่ในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก คราวหนึ่งทรงปรารภว่า ศากยวงศ์อื่นๆ ได้ถวายสิ่งของแด่พระผู้มีพระภาคบ้าง ได้ออกบวชตามบ้าง แต่ส่วนพระนางเองยังมิได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อพระพุทธองค์เลย จึงตัดสินพระทัยจะถวายจีวรแด่พระผู้มีพระภาค พระนางเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเอง ทอเอง ตัดและเย็บเองย้อมเอง เสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปถวายพระศาสดา
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทำจีวรผืนนี้ด้วยมือของตนเองโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันด้วยเถิด"
    "อย่าเลย อย่าถวายตถาคตเลย ขอพระนางได้นำไปถวายพระภิกษุรูปอื่นเถิด ตถาคตมีจีวรใช้อยู่แล้ว" พระศาสดาทรงปฏิเสธอย่างอ่อนโยน
    พระนางอ้อนวอนถึงสามครั้ง แต่พระศาสดาก็หาทรงรับไม่ คงยืนยันอย่างเดิม พระนางถึงแก่โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจจะทรงกลั้นอัสสุชลไว้ได้ ทรงน้อยพระทัยที่อุตส่าห์ตั้งพระทัยทำเองโดยตลอด ยิ่งระลึกถึงความหลังครั้งอดีต ที่เคยโอบอุ้มเลี้ยงดูพระพุทธองค์มาตั้งแต่เยาว์วัยด้วยแล้ว ยิ่งน้อยพระทัยหนักขึ้น พระนางทรงกันแสง นำจีวรผืนนั้นไปสู่สำนักพระสารีบุตร เล่าเรื่องให้ท่านทราบและกล่าวว่า "ขอพระคุณเจ้าได้โปรดรับจีวรผืนนี้ไว้ด้วยเถิด เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า"
    พระสารีบุตรทราบเรื่องแล้วก็หารับไม่ แนะนำให้นำไปถวายพระภิกษุรูปอื่น และปรากฏว่าไม่มีใครรับจีวรผืนนั้นเลย พระนางยิ่งเสียพระทัยเป็นพันทวี
    ในที่สุดพระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วให้พระนางถวายแก่ภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง แล้วทรงปลอบให้พระนางคลายจากความเศร้าโศก และให้ร่าเริงบันเทิงด้วยบุญกิริยาอันยิ่งใหญ่นั้นว่า
    "ดูก่อนโคตมี! ผ้าที่ท่านถวายแล้วนี้ ได้ชื่อว่าถวายสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ผลานิสงส์มีมากกว่าการถวายเป็นส่วนบุคคล แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือกว่าการถวายแก่พระพุทธเจ้าเอง โคตมีเอย! การที่ตถาคตไม่รับจีวรของท่านนั้น มิใช่เพราะใจไม้ไส้ระกำอะไร แต่เพราะมุ่งประโยชน์อันสูงสุดที่จะพึงมีแก่ท่านเอง ปาฏิบุคคลิกทานใดๆ จะมีผลเท่าสังฆทานหาได้ไม่"
    "อานนท์เอย!" พระพุทธองค์ผันพระพักตร์ตรัสแก่พระอานนท์ "ข้อที่เธออ้อนวอนเราเพื่อรับจีวรของพระนางโคตมี โดยอ้างว่าพระนางมีอุปการะมากแก่เรา เคยเลี้ยงดู เคยให้น้ำนม และถือว่าเป็นผู้มีอุปการะมากนั้น เราก็เห็นอยู่ แต่เพราะเห็นอย่างนั้นนั่นเอง เราจึงต้องการให้พระนางได้รับประโยชน์อันไพศาล โดยการนำจีวรถวายแก่สงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
    อานนท์เอย! การที่บุคคลได้อาศัยผู้ใดแล้ว ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ได้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์เป็นต้น การที่จะตอบแทนผู้นั้นมิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายเลย การทำตอบแทนด้วยการถวายข้าวน้ำและเครื่องใช้ต่างๆ และการเคารพกราบไหว้เป็นต้น ยังเป็นสิ่งเล็กน้อย คือไม่สามารถตอบแทนคุณความดีของท่านผู้นั้นได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
    "อานนท์! ปาฏิปุคคลิกทานมีอยู่ ๑๔ ชนิด คือ
    ๑. ของที่ถวายแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. ของที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
    ๓. ของที่ถวายแก่พระอรหันตสาวก
    ๔. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล
    ๕. ของที่ถวายแก่พระอนาคามี
    ๖. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุอนาคามิผล
    ๗. ของที่ถวายแก่พระสกทาคามี
    ๘. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุสกทาคามิผล
    ๙. ของที่ถวายแก่พระโสดาบัน
    ๑๐. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุโสดาปัตติผล
    ๑๑. ของที่ให้แก่คนภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งปราศจากกามราคะ
    ๑๒. ของที่ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีล
    ๑๓. ของที่ให้แก่ปุถุชนผู้ทุศีล
    ๑๔. ของที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน
    "อานนท์! ของที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉานยังมีผลมาก ผลไพศาล อานนท์! คราวหนึ่งเราเคยกล่าวแก่ปริพพาชกผู้หนึ่งว่า บุคคลเทน้ำล้างภาชนะลงในดินด้วยตั้งใจว่า ขอให้สัตว์ในดินได้อาศัยอาหารที่ติดน้ำล้างภาชนะนี้ได้ดื่มกินเถิด แม้เพียงเท่านี้เรายังกล่าวว่าผู้กระทำได้ประสบบุญแล้วเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจะกล่าวไปไย ในทานที่บุคคลให้แล้วแก่ปุถุชนผู้มีศีล หรือผู้ทุศีล จนถึงแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีผลมากเล่า แต่ทั้งหมดนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้เจาะจงบุคคล เรากล่าวว่า ปาฏิปุคคลิกทานใดๆ จะมีผลเท่าสังฆทานมิได้เลย
    "อานนท์! ต่อไปเบื้องหน้าจักมีแต่โคตรภูสงฆ์ คือสงฆ์ผู้ทุศีล มีธรรมทราม สักแต่ว่ามีกาสาวพัสตร์พันคอ การให้ทานแก่ภิกษุผู้ทุศีลเห็นปานนั้นแต่อุทิศสงฆ์ ยังเป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลประมาณมิได้"
    แล้วทรงหันไปตรัสแก่พระนางผู้มีจีวรอันจักถวายว่า
    "ดูก่อนโคตมี! เพราะฉะนั้นการที่ท่านได้ถวายจีวรแก่สงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในครั้งนี้ จึงจัดเป็นโชคลาภอันประเสริฐยิ่งแล้ว"
    พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเลื่อมใสศรัทธาปรารถนาจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค เคยทูลอ้อนวอนขออนุญาตบวชเป็นภิกษุณี ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ทรงอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พระพุทธองค์ก็หาทรงอนุญาตไม่ จนกระทั้งพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปประทับ ณ กรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน
    พระนางโคตมีพร้อมด้วยสตรีศากวงศ์หลายพระองค์ ทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะบวชเป็นภิกษุณี จึงพร้อมกันปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสายะ เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยพระบาทเปล่าไปสู่นครเวสาลีที่ประทับของพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาตตามเคย พระนางเสียพระทัยและขมขื่นยิ่งนัก มาประทับยืนร้องไห้อยู่ประตูป่ามหาวัน
    พระอานนท์มาพบพระนางเข้า ทราบเรื่องโดยตลอดแล้วมีใจกรุณาปรารถนาจะช่วยเหลือ จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลอ้อนวอนเพื่อประทานอุปสมบทแก่พระนางโคตมี
    "พระองค์ผู้เจริญ!" ตอนหนึ่งพระอานนท์ทูล "พระนางโคตมี พระน้านางของพระองค์ บัดนี้ปลงพระเกศาแล้วนุ่งห่มผ้ากาสายะ มีพระวรกายขะมุกขะมอมเพราะเสด็จโดยพระบาทจากนครกบิลพัสดุ์ พระวรกายแปดเปื้อนได้ด้วยธุลี แต่ก็หาคำนึงถึงความลำบากเรื่องนี้ ไม่มุ่งประทัยแต่ในเรื่องบรรพชาอุปสมบท พระนางเป็นผู้มีอุปการะมากต่อพระองค์ เป็นผู้ประทานขีรธาราแทนพระมารดา ขอพระองค์ได้ทรงอนุเคราะห์พระนางเถิด ขอให้พระนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีตามพระประสงค์เถิด"
    พระผู้มีพระภาคประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสว่า "อานนท์! เรื่องที่พระนางมีอุปการะมากต่อเรานั้น เราสำนึกอยู่ แต่เธอต้องไม่ลืมว่า เราเป็นธรรมราชาต้องรับผิดชอบในสังฆมณฑล จะเอาเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับเรื่องความเสื่อมความเจริญของส่วนรวม ก็ต้องตรองให้ดีก่อน อานนท์! ถ้าเปรียบสังฆมณฑลของเราเป็นนาข้าว การที่ยอมให้สตรีมาบวชในธรรมวินัยนี้ ก็เหมือนปล่อยตัวเพลี้ยตัวแมลงลงในนาข้าวนั้น รังแต่จะทำความพินาศวอดวายให้แก่นาข้าวอย่างไม่ต้องสงสัย
    อานนท์! เราเคยพูดเสมอมิใช่หรือว่า สตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปข้องนั้น เป็นมลทินอย่างยิ่งของพรหมจรรย์ อานนท์เอย! ถ้าศาสนาของเราจะพึงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่หากมีสตรีมาบวชด้วยจะอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น หรือสมมติว่า ศาสนาของเราจะพึงดำรงอยู่ได้ ๕๐๐ ปี เมื่อมีสตรีมาบวชในธรรมวินัยด้วยก็จะทอนลงเหลือเพียงครึ่งเดียว คือ ๒๕๐ ปี อย่าเลย อานนท์! เธอย่อมพอใจขวนขวายให้มีภิกษุณีขึ้นในศาสนาเลย จะเป็นเรื่องลำบากในภายหลัง"
    พระอานนท์ ผู้อันเมตตา กรุณา เตือนอยู่เสมอ กระทำความพยายามต่อ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าสตรีได้บวชในธรรมวินัยของพระองค์ นางจะสามารถหรือไม่ ที่จะบรรลุคุณวิเศษมีโสดาปัตติผลเป็นต้น"
    "อาจทีเดียว - พระอานนท์! นางสามารถจะทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น"
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์โปรดประทานอนุญาตให้พระนางโคตมีบวชเถิด พระเจ้าข้าฯ"
    พระพุทธองค์ ประทับนิ่งอยู่อีกครู่หนึ่ง แล้วตรัสว่า "อานนท์ ถ้าพระนางโคตมีสามารถรับครุธรรม ๘ ประการได้ ก็เป็นอันว่าพระนางได้บรรพชาอุปสมบทสมปรารถนา ครุธรรม ๘ ประการนั้นดังนี้
    ๑. ภิกษุณีแม้บวชแล้วตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องทำการอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรม แก่ภิกษุแม้ผู้บวชแล้วในวัยนั้น
    ๒. ภิกษุณีต้องไม่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
    ๓. ภิกษุณีต้องถามวันอุโบสถและเข้าไปรับโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
    ๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปรารณา คือเปิดโอกาสให้ตักเตือนสั่งสอนจากสำนักทั้งสอง คือทั้งจากภิกษุณีสงฆ์และจากภิกษุสงฆ์
    ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก เช่น สังฆาทิเสสแล้ว ต้องประพฤติมานัตต์ตลอด ๑๕ วันในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งในภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
    ๖. นางสิกขมานา คือสตรีที่เตรียมจะบวชเป็นภิกษุณี จะต้องประพฤติปฏิบัติศีล ๖ ข้อ คือตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ ให้ครบบริบูรณ์ตลอดเวลา ๒ ปี ขาดไม่ได้ ถ้าขาดลงจะต้องตั้งต้นใหม่ เมื่อทำได้ครบแล้วต้องอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
    ๗. ภิกษุณีต้องไม่ด่าว่าเปรียบเปรย หรือบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
    ๘. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ ให้ภิกษุว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุณีได้ฝ่ายเดียว
    "ดูก่อนอานนท์! นี่แลครุธรรมทั้ง ๘ ประการ ซึ่งภิกษุณีจะต้องสักการะเคารพนับถือ บูชาตลอดชีวิตจะล่วงละเมิดมิได้"
    พระอานนท์จำครุธรรม ๘ ประการได้แล้วทูลลาพระผู้มีพระภาคไปเฝ้าพระนางโคตมี เล่าบอกถึงเงื่อนไข ๘ ประการตามพุทธดำรัส แล้วกล่าวว่า
    "โคตมี ท่านพอจะรับครุธรรม ๘ ประการนี้ได้อยู่หรือ? ถ้าท่านรับได้อันนี้แหละเป็นบรรพชาอุปสมบทของท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสมาอย่างนี้"
    พระนางโคตมีปลื้มพระทัยยิ่งนัก พระนางเป็นเหมือนสุภาพสตรีซึ่งอาบน้ำชำระกายอย่างดีแล้ว นุ่งห่มด้วยผ้าใหม่มีราคาแพง ประพรมน้ำหอมเรียบร้อย แล้วมีพวงมาลัยซึ่งทำด้วยดอกไม้หอมลองลงสวมศีรษะ สตรีนั้นหรือจะไม่พอใจ ฉันใดก็ฉันนั้น พระนางทรงรับครุธรรม ๘ ประการทันที และปฏิญาณว่าจะประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต
    ทำไมพระพุทธองค์ จึงไม่ทรงประสงค์ให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณี? เหตุผลแจ่มแจ้งอยู่แล้วในพระดำรัสของพระองค์ น่าจะทรงเกรงความยุ่งเหยิงอันจะพึงเกิดขึ้นในภายหลัง ในครุธรรม ๘ ก็มีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งบัญญัติว่าภิกษุณีจะต้องอยู่อาวาสเดียวกับพระสงฆ์ แยกสำนักไปตั้งเป็นอิสระอยู่ต่างหากไม่ได้ แต่คงจะให้แบ่งเขตกันมิใช่อยู่ปะปนกัน เรื่องที่ทรงห้ามมิให้ภิกษุณีแยกไปตั้งสำนักต่างหากนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย คือภิกษุณีคุ้มครองรักษาตัวเองไม่ได้ พวกอันธพาลอาจจะบุ่มบ่ามเข้าไปก่อกวน ให้ได้รับความเดือดร้อน
    คราวนี้มาถึงปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า ทีแรกดูเหมือนจะเป็นความประสงค์ของพระพุทธองค์จริงๆ ที่จะไม่ยอมให้ภิกษุณีมีขึ้นในศาสนา แต่มายอมจำนนต่อเหตุผลของพระอานนท์หรืออย่างไร จึงยอมในภายหลัง
    เรื่องนี้กล่าวแก้กันว่า พระพุทธองค์จะยอมจำนนต่อเหตุผลของพระอานนท์ก็หามิได้ แต่พระองค์ต้องการให้เป็นเรื่องยาก คือให้บวชได้โดยยาก เพื่อภิกษุณีจะได้ถนอมสิ่งที่ตนได้มาโดยยากนั้น และต้องการพิสูจน์ความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวของพระนางโคตมีด้วยว่าจะจริงแค่ไหน
    อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ พระพุทธองค์น่าจะไม่ประสงค์ให้ภิกษุณีมีขึ้นในศาสนาจริงๆ แต่ที่ยอมนั้นยอมอย่างขัดไม่ได้ และจะเห็นว่า เมื่อยอมโดยขัดไม่ได้แล้วพระองค์ก็ทรงวางระเบียบไว้อย่างถี่ยิบ เพื่อบีบคั้นให้ภิกษุณีหมดไปโดยเร็ว สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ก็เพียง ๑๕๐ ข้อหรือที่เรารู้ๆ กันว่า พระสงฆ์มีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ภิกษุณีมีถึง ๓๑๑ อาบัติเบาๆ ของพระ แต่เมื่อภิกษุณีทำเข้ากลายเป็นเรื่องหนัก แปลว่าพระพุทธองค์ประสงค์ให้ภิกษุณีหมดไปโดยเร็ว และความประสงค์ของพระองค์ก็สัมฤทธิ์ผล ปรากฏว่าในสมัยที่พระองค์นิพพานนั้น มิได้มีเรื่องกล่าวถึงภิกษุณีเลย สันนิษฐานกันว่าภิกษุณีอาจจะหมดแล้วก็ได้ มาโผล่ขึ้นอย่างไรในสมัยพระเจ้าอโศกอีกไม่ทราบ ข้อน่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปวัตตินี (หมายถึงอุปฌายะผู้ให้ภิกษุณีบวช) องค์หนึ่งบวชภิกษุณีได้ ๑ รูปต่อ ๑ ปีและต้องเว้นไป ๑ ปี จึงจะบวชได้อีกรูปหนึ่งแบบนี้หมดแน่ บางท่านให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ให้มีภิกษุณีนั้น เพราะต้องการให้สตรีเป็นกองเสบียง การบวชเหมือนการออกรบ กองทัพถ้าไม่มีเสบียงก็ไปไม่ไหว ให้ผู้หญิงไว้เป็นกองเสบียงบำรุงศาสนจักรซึ่งมีพระเป็นทหารและพระพุทธองค์นั้นเป็นธรรมราชา
    อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ทรงยอมให้บวช ก็เพราะมีพระกรุณาต่อสตรีไม่ต้องการให้สตรีต้องลำบาก การบวชเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องผจญภัยนานาประการ ผู้บวชอยู่ได้ต้องเป็นคนเข้มแข็งมิใช่คนอ่อนแอ สตรีเป็นเพศอ่อนแอ พระพุทธองค์ไม่ต้องการให้ลำบาก
    เรื่องที่มีสิกขาบทบัญญัติมากสำหรับภิกษุณีนั้นบางท่านให้เหตุผลว่า เพราะภิกษุณีเป็นลูกหญิงของพระพุทธเจ้า ธรรมดาลูกหญิงพ่อต้องเป็นห่วงมากกว่าลูกชาย และมีข้อห้ามมากกว่า จะปล่อยเหมือนลูกชายไม่ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังดี หวังความสุข ความเจริญนั่นเอง

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  7. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๖. ความรัก - ความร้าย
    นอกจากมีเมตตากรุณา หวั่นไหวในความทุกข์ยากของผู้อื่นแล้ว พระอานนท์ยังเป็นผู้สุภาพอ่อนโยนอย่างยิ่งอีกด้วย ความสุภาพอ่อนโยน และลักษณะอันน่ารัก มีรูปงาม ผิวพรรณดีนี่เอง ได้เคยคล้องเอาดวงใจน้อยๆ ของสตรีผู้หนึ่งให้หลงใหลใฝ่ฝัน โดยที่ท่านมิได้มีเจตนาเลย เรื่องนี้เป็นดังนี้
    ความหนึ่ง ท่านเดินทางจากที่ไกล มาสู่วัดเชตวัน อากาศซึ่งร้อนอบอ้าวในเวลาเที่ยงวันทำให้ท่านมีเหงื่อโทรมกาย และรู้สึกกระหายน้ำ พอดีเดินมาใกล้บ่อน้ำแห่งหนึ่ง เห็นนางทาสีกำลังตักน้ำ ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า
    "น้องหญิง! อาตมาเดินทางมาจากที่ไกล รู้สึกกระหายน้ำ ถ้าไม่เป็นการรบกวน อาตมาขอบิณฑบาตน้ำจากท่านดื่มพอแก้กระหายด้วยเถิด"
    นางทาสีได้ยินเสียงอันสุภาพอ่อนโยน จึงเงยหน้าขึ้นดู นางตะลึงอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอยออกห่างท่านสองสามก้าวพลางกล่าวว่า
    "พระคุณเจ้า! ข้าพเจ้าถวายน้ำแก่ท่านมิได้ดอก ท่านไม่ควรดื่มน้ำจากมืออันต่ำช้าของข้าพเจ้า ท่านเป็นวรรณกษัตริย์ ข้าพเจ้าเป็นเพียงนางทาสี"
    "อย่าคิดอย่างนั้นเลย น้องหญิง! อาตมาไม่มีวรรณะแล้ว อาตมาเป็นสมณศากยบุตร อาตมามิได้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ สูทร หรือจัณฑาล อย่างใดอย่างหนึ่งเลย อาตมาเป็นมนุษย์เหมือนน้องหญิงนี่แหละ"
    "ข้าพเจ้าเกรงแต่จะเป็นมลทินแก่พระคุณเจ้า และเป็นบาปแก่ข้าพเจ้าที่ถวายน้ำ การที่ท่านจะรับของจากมือของคนต่างวรรณะ และโดยเฉพาะวรรณะที่ต่ำอย่างข้าพเจ้าด้วยแล้ว ข้าพเจ้าไม่สบายใจเลย ความจริงข้าพเจ้ามิได้หวงน้ำดอก" นางยังคงยืนกรานอยู่อย่างเดิม นางพูดมีเสียงสั่นน้อยๆ
    "น้องหญิง! มลทินและบาปจะมีแก่ผู้มีเมตตากรุณาไม่ได้ มลทินย่อมมีแก่ผู้ประกอบกรรมชั่ว บาปจะมีแก่ผู้ไม่สุจริต การที่อาตมาขอน้ำ และน้องหญิงจะให้น้ำนั้นเป็นธรรมะ ธรรมย่อมปลดเปลื้องบาปและมลทินเหมือนน้ำสะอาดชำระสิ่งสกปรกฉะนั้น น้องหญิง! บัญญัติของพราหมณ์เรื่องบาปและมลทิน อันเกี่ยวกับวรรณะนั้นเป็นบัญญัติที่ไม่ยุติธรรม เป็นการแบ่งแยกมนุษย์ให้เหินห่างจากมนุษย์ เป็นการเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกัน เรื่องนี้อาตมาไม่มีแล้ว อาตมาเป็นสมณศากยบุตร สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่มีวรรณะ เพราะฉะนั้นถ้าน้องหญิงต้องการจะให้น้ำก็จงเทลงในบาตรนี้เถิด"
    นางรู้สึกจับใจในคำพูดของพระอานนท์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของนางที่ได้ยินคำอันระรื่นหู จากชนซึ่งสมมติเรียกกันว่า "ชั้นสูง" มืออันเรียวงามสั่นน้อยๆ ของนางค่อยๆ ประจงเทน้ำในหม้อลงในบาตรของท่านอานนท์ ในขณะนั้นนางนั่งคุกเข่า พระอานนท์ยืนโน้มตัวลงรับน้ำจากนาง แล้วดื่มด้วยความกระหาย นางช้อนสายตาขึ้นมองดูพระอานนท์ซึ่งกำลังดื่มน้ำ ด้วยความรู้สึกปีติซาบซ่าน แล้วยิ้มอย่างเอียงอาย
    "ขอให้มีความสุขเถิด น้องหญิง!" เสียงอันไพเราะจากพระอานนท์ หน้าของท่านยิ่งแจ่มใสขึ้นเมื่อได้ดื่มน้ำระงับความกระหายแล้ว
    "พระคุณเจ้าดื่มอีกหน่อยเถิด" นางพูดพลางเอียงหม้อน้ำในท่าจะถวาย
    "พอแล้วน้องหญิง! ขอให้มีความสุขเถิด"
    "พระคุณเจ้า! ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะทราบนามของพระคุณเจ้าพอเป็นมงคลแก่โสตร และความรู้สึกของข้าพเจ้าบ้าง" นางพูดแล้วก้มหน้าด้วยความขวยอาย
    "น้องหญิง! ไม่เป็นไรดอก น้องหญิงเคยได้ยินชื่อพระอานนท์ อนุชาของพระพุทธเจ้าหรือไม่?"
    "เคยได้ยิน พระคุณเจ้า"
    "เคยเห็นท่านไหม?"
    "ไม่เคยเลย พระคุณเจ้า เพราะข้าพเจ้าทำงานอยู่เฉพาะในบ้าน และมาตักน้ำที่นี่ ไม่มีโอกาสไปที่ใดเลย"
    "เวลานี้ น้องหญิงกำลังสนทนากับพระอานนท์อยู่แล้ว"
    นางมีอาการตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วแววแห่งปีติค่อยๆ ฉายออกมาทางดวงหน้าและแววตา
    "พระคุณเจ้า" นางพูดด้วยเสียงสั่นน้อยๆ "เป็นมงคลแก่โสตร และดวงตาของข้าพเจ้ายิ่งนักที่ได้ฟังเสียงของท่าน และได้เห็นท่านผู้มีศีล ผู้มีเกียรติศัพท์ระบือไปไกล ข้าพเจ้าเพิ่งได้เห็นและได้สนทนากับท่านโดยมิรู้มาก่อน นับเป็นบุญอันประเสริฐของข้าพเจ้ายิ่งแล้ว"
    และแล้วพระอานนท์ ก็ลานางทาสีเดินมุ่งหน้าสู่วัดเชตวัน อันเป็นที่ประทับของพระศาสดา เมื่อท่านเดินมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ยินเสียงเหมือนมีคนเดินตามมาข้างหลัง ท่านเหลียวดูปรากฏว่าเป็นนางทาสีที่ถวายน้ำนั่นเองเดินตามมา ท่านเข้าใจว่าบ้านของนางคงจะอยู่ทางเดียวกับที่ท่านเดินมา จึงมิได้สงสัยอะไรและเดินมาเรื่อยๆ จนจวนจะถึงซุ้มประตูไม่มีทางแยกไปที่อื่นอีกแล้ว นอกจากทางเข้าสู่วัด ท่านเหลียวมาเห็นนางทาสีเดินตามมาอย่างกระชั้นชิด นัยน์ตาก็จ้องมองดูท่านตลอดเวลา ท่านหยุดอยู่ครู่หนึ่ง พอนางเข้ามาใกล้ท่านจึงกล่าวว่า
    "น้องหญิง! เธอจะไปไหน?"
    "จะเข้าไปในวัดเชตวันนี่แหละ" นางตอบ
    "เธอจะเข้าไปทำไม?"
    "ไปหาพระคุณเจ้า สนทนากับพระคุณเจ้า"
    "อย่าเลยน้องหญิง เธอไม่ควรจะเข้าไป ที่นี่เป็นที่อาศัยอยู่ของพระสงฆ์ เธอไม่มีธุระอะไร อย่าเข้าไปเลย เธอกลับบ้านเสียเถิด"
    "ข้าพเจ้าไม่กลับ ข้าพเจ้ารักท่าน ข้าพเจ้าไม่เคยพบใครดีเท่าพระคุณเจ้าเลย"
    น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าปกติของคนเราอาจจะรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องมีโยนิโสมนสิการ และต้องมีปัญญา จึงจะรู้ว่าคนนั้นคนนี้มีปกติอย่าง คือดีหรือไม่ดี ที่น้องหญิงพบเราเพียงครู่เดียวจะตัดสินได้อย่างไรว่าอาตมาเป็นคนดี อาตมาอาจจะเอาชื่อท่านอานนท์มาหลอกเธอก็ได้ อย่าเข้ามาเลยกลับเสียเถิด"
    "พระคุณเจ้าจะเป็นใครก็ช่างเถิด" นางคงพร่ำต่อไป มือหนึ่งถือหม้อน้ำซึ่งบัดนี้นางได้เทน้ำออกหมดแล้ว "ข้าพเจ้ารักท่านซึ่งข้าพเจ้าสนทนาอยู่ด้วยเวลานี้"
    "น้องหญิง! ความรักเป็นเรื่องร้ายมิใช่เป็นเรื่องดี พระศาสดาตรัสว่าความเป็นรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โศก และทรมานใจ เธอชอบความทุกข์หรือ?"
    "ข้าพเจ้าไม่ชอบความทุกข์เลยพระคุณเจ้า และความทุกข์นั้นใครๆ ก็ไม่ชอบ แต่ข้าพเจ้าชอบมีความรัก โดยเฉพาะรักพระคุณเจ้า"
    "จะเป็นไปได้อย่างไร น้องหญิง! ในเมื่อทำเหตุก็ต้องได้รับผล การที่จะให้มีรักแล้วมิให้มีทุกข์ติดตามมานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย"
    "แต่ข้าพเจ้ามีความสุข เมื่อได้เห็นพระคุณเจ้า ได้สนทนากับพระคุณเจ้า ผู้เป็นที่รักอย่างยิ่งของข้าพเจ้า รักอย่างสุดหัวใจเลยทีเดียว"
    "ถ้าไม่ได้เห็นอาตมา ไม่ได้สนทนากับอาตมา น้องหญิงจะมีความทุกข์ไหม?"
    "แน่นอนทีเดียว ข้าพเจ้าจะต้องมีความทุกข์อย่างมาก"
    "นั่นแปลว่า ความรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วใช่ไหม?"
    "ไม่ใช่พระคุณเจ้า นั่นเป็นเพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักต่างหากเล่า มิใช่เพราะความรัก"
    "ถ้าไม่มีรัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักจะมีได้หรือไม่"
    "มีไม่ได้เลย พระคุณเจ้า"
    "นี่แปลว่าน้องหญิงยอมรับแล้วใช่ไหมว่าความรักเป็นสาเหตุชั้นที่หนึ่งที่จะให้เกิดทุกข์" พระอานนท์พูดจบแล้วยิ้มน้อยๆ ด้วยรู้สึกว่ามีชัย แต่ใครเล่าจะเอาชนะความปรารถนาของหญิงได้ง่ายๆ ลงจะเอาอะไรก็จะเอาให้ได้ เพราะธรรมชาติของเธอมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ถ้าผู้หญิงคนใดใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาชีวิต หรือในการดำเนินชีวิต หญิงคนนั้นจะเป็นสตรีที่ดีที่สุดและน่ารักที่สุด เหตุผลที่กล่าวนี้ มิใช่มากมายอะไรเลย เพียงไม่ถึงกึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้แม้นางจะมองเห็นเหตุผลของพระอานนท์ว่าคมคายอยู่ แต่นางก็หายอมไม่ นางกล่าวต่อไปว่า
    "พระคุณเจ้า! ความรักที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ดังที่พระคุณเจ้ากล่าวมานั้น เห็นจะเป็นความรักของคนที่รักไม่เป็นเสียละกระมัง คนที่รักเป็น ย่อมรักได้โดยมิให้เป็นทุกข์"
    "น้องหญิงเคยรักหรือ หมายถึงเคยรักใครคนใดคนหนึ่งมาบ้างหรือไม่ในชีวิตที่ผ่านมา"
    "ไม่เคยมาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และคงจะเป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย"
    "เมื่อไม่เคยมาเลย ทำไมเธอจึงจะรักให้เป็นโดยมิต้องเป็นทุกข์เล่าน้องหญิง! คนที่จับไฟนั้นจะจับเป็นหรือจับไม่เป็น จะรู้หรือไม่รู้ ถ้าลงได้จับไฟด้วยมือแล้วย่อมร้อนเหมือนกัน ใช่ไหม?"
    "ใช่ - พระคุณเจ้า"
    "ความรักก็เหมือนการจับไฟนั่นแหละ ทางที่จะไม่ให้มือพองเพราะไฟเผามีอยู่ทางเดียว คืออย่าจับไฟอย่าเล่นกับไฟ ทางที่จะปลอดภัยจากรักก็ฉันนั้น มีอยู่ทางเดียวคืออย่ารัก"
    "พระคุณเจ้าจะว่าอย่างไรก็ตามเถิด แต่ข้าพเจ้าหักรักจากพระคุณเจ้ามิได้เสียแล้ว แม้พระคุณเจ้าจะไม่ปราณีข้าพเจ้าเยี่ยงคนรัก ก็ขอให้พระคุณเจ้ารับข้าพเจ้าไว้ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ ข้าพเจ้าจักปฏิบัติพระคุณเจ้า บำรุงพระคุณเจ้าเพื่อความสุขของท่านและของข้าพเจ้าด้วย"
    "น้องหญิง! ประโยชน์อะไรที่เธอจะมารักคนอย่างอาตมา อาตมารักพระศาสดาและพรหมจรรย์หมดหัวใจเสียแล้ว ไม่มีหัวใจไว้รักอะไรได้อีก แม้เธอจะขอสมัครอยู่ในฐานะเป็นทาสก็ไม่ได้ พระศาสดาทรงห้ามมิให้ภิกษุในพระศาสนามีทาสไว้ใช้ ยิ่งเธอเป็นทาสหญิงด้วยแล้วยิ่งเป็นการผิดมากขึ้น แม้จะเป็นศิษย์คอยปฏิบัติก็ไม่ควร จะเป็นที่ตำหนิของวิญญูชน เป็นทาสแห่งความเสื่อมเสีย อาตมาเห็นใจน้องหญิง แต่จะรับไว้ในฐานะใดฐานะหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น กลับเสียเถิดน้องหญิง พระศาสดาหรือภิกษุสามเณรเห็นเข้าจะตำหนิอาตมาได้ นี่ก็จวนจะถึงพระคันธกุฎีแล้ว อย่าเข้ามานะ" พระอานนท์ยกมือขึ้นห้ามในขณะที่นางทาสีจะก้าวตามท่านเข้าไป
    พระผู้มีพระภาค ทรงสดับเสียงเถียงกันระหว่างพระอานนท์ กับสตรี จึงตรัสถามมาจากภายในพระคันธกุฎีว่า "อะไรกันอานนท์?"
    "ผู้หญิงพระเจ้าข้า เขาจะตามข้าพระองค์เข้ามายังวิหาร"
    "ให้เขาเข้ามาเถอะ พามานี่ มาหาตถาคต" พระศาสดาตรัส
    พระอานนท์พานางทาสีเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีพระวาจาว่า "อานนท์! เรื่องราวเป็นมาอย่าง ทำไมเขาจึงตามเธอมาถึงนี่?" เมื่อพระอานนท์ทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า
    "ภคินี! เธอรักใคร่พอใจในอานนท์หรือ?"
    "พระเจ้าข้า" นางทาสียกมือแค่อกรับตามเป็นจริง
    "เธอรักอะไรในอานนท์?"
    "ข้าพระพุทธเจ้า รักนัยน์ตาพระอานนท์ พระเจ้าข้า"
    "นัยน์ตานั้น ประกอบขึ้นด้วยเส้นประสาทและเนื้ออ่อน ต้องหมั่นเช็ดสิ่งสกปรกในดวงตาอยู่เป็นนิตย์มีขี้ตาไหลออกจากนัยน์ตาอยู่เสมอ ครั้นแก่คงก็จักฝ้าฝางขุ่นมัวไม่แจ่มใส อย่างนี้เธอจักรักนัยน์ตาของพระอานนท์อยู่หรือ?"
    "ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักหูของพระอานนท์ พระเจ้าข้าฯ"
    ภคินี! หูนั้นประกอบด้วยเส้นเอ็นและเนื้อ ภายในช่องหูมีของโสโครกเป็นอันมาก มีกลิ่นเหม็น ต้องแคะไค้อยู่เสมอ ครั้งชราลงก็หนวก จะฟังเสียงอะไรก็ไม่ถนัดหรืออาจไม่ได้ยินเลย ดังนี้แล้ว เธอยังจะรักอยู่หรือ?"
    นางเอียงอายเล็กน้อย แล้วตอบเลี่ยงต่อไปว่า "ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักจมูกอันโด่งงามของพระอานนท์พระเจ้าข้า"
    "ภคินี! จมูกนั้นประกอบขึ้นด้วยกระดูกอ่อนที่มีโพรง ภายในมีน้ำมูกและเส้นขน กับของโสโครกมีกลิ่นเหม็นเป็นก้อนๆ อย่างนี้เธอยังจะรักอยู่อีกหรือ"
    ไม่ว่านางจะตอบเลี่ยงไปอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แจงให้พิจารณาเห็นความเป็นจริงของร่างกายอันสกปรกเปื่อยเน่านี้ ในที่สุดนางก็นั่งก้มหน้านิ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า
    "ภคินีเอย! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้ง ๙ มีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์เล็กน้อยเป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บมูตรและกรีส อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆ เข้าไว้ และซึมออกมาเสมอๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลายๆ ครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน กลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่รังเกียจ เป็นของน่าขยะแขยง
    "ภคินี - ร่างกายนี้เป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้นเป็นเพียงผิวหนังเท่านั้น เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพ อันวิจิตรตระการตา ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น แต่ผู้รู้ เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงไรก็หาพอใจยินดีไม่เพราะทราบชัดว่า ภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจ"
    แม้พระศาสดาตรัสอยู่อย่างนี้ ความรักของเธอที่มีต่อพระอานนท์ก็หาลดลงไม่ บางคราวแสงสว่างฉายวูบเข้ามาสู่หทัยของนางจะทำให้นางมองเห็นความเป็นจริงตามพระศาสดาตรัสก็ตาม แต่มันมีน้อยเกินไป ไม่สามารถจะข่มความเสน่หา ที่เธอมีต่อพระอานนท์เสียได้ เหมือนน้ำน้อย ไม่พอที่จะดับไฟโดยสิ้นเชิง ไฟคือราคะในจิตใจของนางก็ฉันนั้น คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา นางคิดว่าจะทำไฉนหนอจักสามารถอยู่ใกล้พระอานนท์ได้ เมื่อไม่ทราบจะทำประการใด จึงทูลลาพระศาสดาและพระอานนท์กลับบ้าน ก่อนกลับนางไม่ลืมที่จะชำเลืองมองพระอานนท์ด้วยความเสน่หา
    เนื่องจากมาเสียเวลาในวัดเชตวันเสียนาน นางจึงกลับไปถึงบ้านเอาจวนค่ำ นางรู้สึกตะครั่นตะครอทั้งกายและใจ เกรงว่าระหว่างที่นางหายไปนานนั้นนายอาจจะเรียกใช้ เมื่อไม่พบนางคงถูกลงโทษอย่างหนักอย่างที่เคยถูกมาแล้ว อนิจจา! ชีวิตของคนทาส ช่างไม่มีอิสระและความสุขเสียเลย
    เป็นการบังเอิญอย่างยิ่งปรากฏว่า ตลอดเวลาที่นางหายไปนั้นนายมิได้เรียกใช้เลย ผิดจากวันก่อนๆ นี่ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากพุทธานุภาพ โอ! พุทธานุภาพ ช่างน่าอัศจรรย์อะไรเช่นนั้น!
    คืนนั้นนางนอนกระวนกระวายอยู่ตลอดคืน จะข่มตาให้หลับสักเท่าใดก็หาสำเร็จไม่ พอเคลิ้มๆ นางต้องผวาตื่นขึ้นด้วยภาพแห่งพระอานนท์ ปรากฏทางประสาทที่ ๖ หรือมโนทวาร นางนอนภาวนาชื่อของพระอานนท์เหมือนนามเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธคุณก็คอยไหลวนเวียนเข้ามาสู่ความสำนึกอันลึกซึ้ง นางคิดว่าภายใต้พุทธฉายาน่าจะมีความสงบเย็นและบริสุทธิ์น่าพึงใจเป็นแน่แท้ แต่จะทำอย่างไรหนอจึงจะประสบความสงบเย็นเช่นนั้น
    เสียงไก่โห่อยู่ไม่นาน ท้องฟ้าก็เริ่มสาง ลมเย็นตอนรุ่งอรุณพัดแผ่วเข้ามาทางช่องหน้าต่าง นางสลัดผ้าห่มออกจากกาย ลุกขึ้นเพื่อเตรียมอาหารไว้สำหรับนาย นางภาวนาอยู่ในใจว่าเช้านี้ขอให้พระอานนท์บิณฑบาตผ่านมาทางนี้เถิด
    แสงแดดในเวลาเช้าให้ความชุ่มชื่นพอสบาย นางเสร็จธุระอย่างอื่นแล้ว ออกมายืนเหม่ออยู่หน้าบ้าน มองไปเบื้องหน้าเห็นภิกษุณีรูปหนึ่ง มีบาตรในมือ เดินผ่านบ้านของนางไป ทันใดนั้นความคิดก็แวบเข้ามา ทำให้นางดีใจจนเนื้อเต้น ภิกษุณี! โอ! ภิกษุณี เราบวชเป็นภิกษุณีซิ จะได้อยู่ในบริเวณวัดเชตวันกับภิกษุณีทั้งหลายและคงมีโอกาสได้อยู่ใกล้ และพบเห็นพระคุณเจ้าอันเป็นที่รักของเราเป็นแน่แท้
    นางลานายไปเฝ้าพระศาสดา และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งนางแล้ว ประทานอนุญาตให้อุปสมบทอยู่ ณ สำนักแห่งภิกษุณีในวัดเชตวันนั่นเอง
    เมื่อบวชแล้วภิกษุณีรูปใหม่ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนท่องบ่นพระธรรมวินัย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยดี สำรวมอยู่ในสิกขาบทปาฏิโมกข์ มีสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุณีทั้งหลาย เป็นที่รักใคร่ชอบพอของภิกษุณีอื่นๆ ทั้งนี้เพราะนางเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตนและพอใจในวิเวกอีกด้วย
    ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกเวลาบ่ายเมื่อนางได้เห็นพระอานนท์ ขณะให้โอวาทแก่ภิกษุณีบริษัท ความรัญจวนใจก็ยังเกิดขึ้นรบกวนนางอยู่มิเว้นวาย จะพยายามข่มด้วยอสุภกัมมัฏฐานสักเท่าใด ก็หาสงบราบคาบอย่างภิกษุณีอื่นๆ ไม่
    คราวหนึ่งนางได้ฟังโอวาทจากพระศาสดาเรื่องกิเลส ๓ ประการคือ ราคะ โทสะ และโมหะ พระพุทธองค์ตรัสว่า
    "กิเลสทั้งสามประการนี้ย่อมเผาบุคคลผู้ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน ให้รุ่มร้อนกระวนกระวายเหมือนไฟเผาไหม้ท่อนไม้และแกลบให้แห้งเกรียม ข้อแตกต่างแห่งกิเลสทั้งสามประการนี้ก็คือ ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วยคลายช้าด้วย บุคคลซึ่งออกบวชแล้วประพฤติตนเป็นผู้ไม่มีเรือนเรียกว่า ได้ชักกายออกห่างจากกามราคะ แต่ถ้าใจยังหมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามก็หาสำเร็จประโยชน์แห่งการบวชไม่ คือเขาไม่สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้ อุปมาเหมือนไม้สดชุ่มอยู่ด้วยยาง แม้จะวางอยู่บนบก บุคคลผู้ต้องการไฟก็ไม่อาจนำมาสีให้เกิดไฟได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุ ภิกษุณีผู้ชักกายออกจากกามแล้วพยายามชักใจออกจากกามความเพลิดเพลินหลงใหลเสียด้วย"
    นางได้ฟังพระพุทธภาษิตนี้แล้วให้รู้สึกละอายใจตนเองสุดประมาณ ที่นางเข้ามาบวชก็มิได้มุ่งหมายเพื่อกำจัดทุกข์ให้สูญสิ้น หรือเพื่อทำลายกองตัณหาอะไรเลย แต่เพื่อให้มาอยู่ใกล้คนอันเป็นที่รัก คิดดูแล้วเหมือนนำน้ำมันมาวางไว้ใกล้เพลิง มันมีแต่จะลุกเป็นไฟกองมหึมาขึ้นสักวันหนึ่ง
    เมื่อปรารภดังนี้ นางยิ่งกระวนกระวายใจมากขึ้น พระอานนท์หรือก็ไม่เคยทักทายปราศรัยเป็นส่วนตัวเลย การได้เห็นคนอันเป็นที่รักเป็นความสุขก็จริง แต่มันเล็กน้อยเกินไป เมื่อนำมาเทียบกับความทรมานในขณะนี่ต้องจากอยู่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ กาสาวพัสตร์เป็นกำแพงเหลืองมหึมาที่คอยกั้นมิให้ความรักเดินถึงกัน ถึงกระนั้นก็ยังมีภิกษุ และภิกษุณีบางท่านกระโดดข้ามกำแพงนี้ล่วงละเมิดสิกขาบทวินัยของพระพุทธองค์จนได้ นางคิดมาถึงเรื่องนี้แล้วเสียวสันหลังวาบเหมือนถูกก้อนหิมะอันเยือกเย็นโดยไม่รู้สึกตัวมาก่อน
    นางพยายามสะกดใจมิให้คิดถึงพระอานนท์ พยายามท่องบ่นสาธยายพระธรรมวินัย แต่ทุกขณะจิตที่ว่างลง ดวงใจของนางก็จะคร่ำครวญรำพันถึงพระอานนท์อีก นางรู้สึกปวดศีรษะและวิงเวียนเพราะความคิดหมกมุ่นสับสน นี่เองกระมังที่พระอานนท์พูดไว้แต่วันแรกที่พบกันว่า ความรักเป็นความร้าย
    วันหนึ่ง นางชวนเพื่อนภิกษุณีรูปหนึ่งไปหาพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้มีอัธยาศัยงาม จึงต้อนรับนางด้วยเมตตาธรรม นางรู้สึกชุ่มชื่นขึ้นบ้างเหมือนข้าวกล้าที่จวนจะแห้งเกรียมเพราะขาดน้ำ ชุ่มชื่นขึ้น เพราะฝนผิดฤดูกาลหลั่งลงมา แต่เมื่อนางจะลากลับนั่นเอง พระอานนท์พูดว่า
    "น้องหญิง! ต่อไปเมื่อไม่มีธุระอะไรก็อย่ามาอีก ถ้ามีความสงสัยเกี่ยวกับข้อธรรมวินัยอันใด ก็ให้ถามเมื่ออาตมาไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อให้โอวาท"
    คืนนั้นนางนอนร้องไห้ตลอดคืน น้อยใจเสียใจและเจ็บใจตนเอง "พระอานนท์หรือก็ช่างใจไม้ไส้ระกำเสียเต็มประดา จะเห็นแก่ความรักของเราบ้างก็ไม่มีเลย" นางยิ่งคิดยิ่งช้ำและน้อยใจ
    ภิกษุณีผู้พักอยู่ ณ ที่ใกล้ ได้ยินเสียงสะอื้นในยามดึก จึงลุกขึ้นมาหาด้วยความเป็นห่วง ถามนางว่า "โกกิลา! มีเรื่องอะไรหรือ?"
    "อ้อ ไม่มีอะไรดอกสุมิตรา ข้าพเจ้าฝันร้ายไป รู้สึกตกใจมากเลยร้องไห้ออกมา ขอบใจมาก ที่ท่านเป็นห่วงข้าพเจ้า" นางตอบฝืนสีหน้าให้ชุ่มชื่นขึ้น
    "พระศาสดาสอนว่าให้เจริญเมตตา แล้วจะไม่ฝันร้าย ท่านเจริญเมตตาหรือเปล่าก่อนนอนน่ะ" ภิกษุณีสุมิตราถามอย่างกันเอง
    "อ้อ! เมื่อเจริญเมตตาแล้วจะไม่ฝันร้ายอย่างนั้นหรือ?"
    "ใช่"
    "ก่อนนอนคืนนี้ ข้าพเจ้าลืมไป ท่านกลับไปนอนเถิด ข้าพเจ้าขออภัยด้วยที่ร้องไห้ดังไปจนท่านตื่น"
    เมื่อภิกษุณีสุมิตรากลับไปแล้ว ภิกษุณีโกกิลาก็คิดถึงชีวิตของตัว ชีวิตของนางเต็มไปด้วยความเป็นทาส เมื่อก่อนบวชก็เป็นทาสทางกาย พอปลีกจากทาสทางกายมาได้ก็มาตกเป็นทาสทางใจเข้าอีก แน่นอนทีเดียว ผู้ใดตกอยู่ในความรัก ดวงใจของผู้นั้นย่อมเป็นทาส ทาสของความรัก ทาสรักนั้นจะไม่มีใครสามารถช่วยปลดปล่อยได้ นอกจากเจ้าของดวงใจจะปลดปล่อยเอง นางหลับไปด้วยความอ่อนเพลียเมื่อจวนจะรุ่งสางอยู่แล้ว


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  8. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๗. กับโกกิลาภิกษุณี
    ในที่สุดเมื่อเห็นว่าจะสะกดใจไว้ไม่อยู่แน่ นางจึงตัดสินใจลาพระศาสดา และอานนท์ และเพื่อนภิกษุณีอื่นๆ จากวัดเชตวันเมืองสาวัตถี มุ่งหน้าสู่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี ด้วยคิดว่า "การอยู่ห่างอาจจะเป็นยารักษาโรครักได้บ้างกระมัง!"
    นางจากเชตวันด้วยความอาลัยอาวรณ์เป็นที่ยิ่ง อุปมาเหมือนมารดาต้องจำใจจากบุตรสุดที่รักของตัวเองฉันใดก็ฉันนั้น นางอยู่จำพรรษา ณ โฆสิตาราม ซึ่งโฆสิตาราม มหาเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธองค์ สามเดือนที่อยู่ห่างพระอานนท์ ดวงจิตของนางผ่องแผ้วแจ่มใสขึ้น การท่องบ่นสาธยายและการบำเพ็ญสมณธรรม ก็ดีขึ้นตามไปด้วย นางคิดว่าคราวนี้คงตัดอาลัยในพระอานนท์ได้เป็นแน่แท้
    แต่ความรักต้องมีวงจรของมัน จนกว่ารักนั้นจะสุดสิ้นลง ชีวิตมันจะเป็นอย่างนี้เสมอ เมื่อใครคนหนึ่งพยายามดิ้นรนหาความรัก เขามักจะไม่สมปรารถนา แต่พอเขาทำท่าจะหนีความรักก็ตามหา ความรักจึงมีลักษณะคล้ายเงา เมื่อบุคคลวิ่งตาม มันจะวิ่งหนี แต่เมื่อเขาวิ่งหนี มันจะวิ่งตาม
    ด้วยกฏอันนี้กระมัง เมื่อนางหนีรักออกจากเชตวันและสงบอยู่ ณ กรุงโกสัมพีนี้ เมื่อออกพรรษาแล้ว ข่าวการเสด็จสู่กรุงโกสัมพีของพระผู้มีพระภาคก็แพร่สะพัดมา ซึ่งเป็นการแน่นอนว่า พระอานนท์จะต้องตามเสด็จด้วย
    ชาวโกสัมพีทราบข่าวนี้ด้วยความชื่นชมโสมนัสภิกษุสงฆ์ต่างจัดแจงปัดกวาดเสนาสนะ เตรียมพระคันธกุฎีที่ประทับของพระศาสดา พระเจ้าอุเทนเองซึ่งไม่ค่อยจะสนพระทัยในทางธรรมนัก ก็อดที่จะทรงปรีดาปราโมชมิได้ เพราะถือกันว่า พระศาสดาเสด็จไป ณ ที่ใด ย่อมนำความสงบสุขและมงคลไปสู่ที่นั้นด้วย การสนทนาเรื่องการเสด็จมาของพระศาสดามีอยู่ทุกหัวระแหงแห่งกรุงโกสัมพี ศาสดาคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ ก็เตรียมผูกปัญหาเพื่อถูกถาม บางท่านก็เตรียมถามเพื่อให้พระศาสดาจนในปัญหาของตน บางท่านก็เตรียมถามเพียงเพื่อเทียบเคียงความคิดเห็นเท่านั้น หมู่ภิกษุสงฆ์ปีติปราโมชเป็นอันมาก เพราะการเสด็จมาของพระศาสดาย่อมหมายถึงการได้ยินได้ฟังมธุรภาษิตจากพระองค์ด้วย และบางท่านอาจจะได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง เพราะธรรมเทศนานั้น
    ใครจะทราบบ้างเล่าว่า ดวงใจของโกกิลาภิกษุณีจะเป็นประการใด เมื่อบ่ายวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุณีนำข่าวมาบอกนางว่า "นี่ โกกิลา! ท่านทราบไหมว่าพระศาสดาจะเสด็จมาถึงนี่เร็วๆ นี้?"
    "อย่างนั้นหรือ?" นางมีอาการตื่นเต้นเต็มที่
    "เสด็จมาองค์เดียวหรืออย่างไร?"
    "ไม่องค์เดียวดอก ใครๆ ก็รู้ว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาจะต้องมีพระเถระผู้ใหญ่มาด้วย หรืออาจจะมาสมทบทีหลังก็ได้ แต่ท่านที่ต้องตามเสด็จแน่คือพระอานนท์พุทธอนุชา"
    "อานนท์!" นางอุทาน พร้อมด้วยเอามือทาบอก
    "ทำไมหรือโกกิลา ดูท่านตื่นเต้นมากเหลือเกิน?" ภิกษุณีรูปนั้นถามอย่างสงสัย
    "เปล่าดอก ข้าพเจ้าดีใจที่จะเฝ้าพระศาสดา และฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ดีใจจนควบคุมตัวไม่ได้" นางตอบเลี่ยง
    "ใครๆ เขาก็ดีใจกันทั้งนั้นแหละโกกิลา คราวนี้เราคงได้ฟังธรรมกถาอันลึกซึ้ง และได้ฟังมธุรภาษิตของพระมหาเถระเช่นพระสารีบุตรและพระมหากัสสป หรือพระอานนท์เป็นต้น" ภิกษุณีรูปนั้นกล่าว
    วันที่รอคอยก็มาถึง พระศาสดา มีพระภิกษุสงฆ์ อรหันต์หมู่ใหญ่แวดล้อมเสด็จถึงกรุงโกสัมพี พระราชาธิบดีอุเทน และเสนามหาอำมาตย์ พ่อค้าประชาชนสมณพราหมณาจารย์ ถวายการต้อนรับอย่างมโหฬารยิ่ง ก่อนถึงซุ้มประตูโฆสิตารามประมาณกึ่งโยชน์ มีประชาชนจำนวนแสนคอยรับเสด็จ มรรคาดารดาษไปด้วยกลีบดอกไม้นานาพันธุ์หลากสี ที่ประชาชนนำมาโปรยปรายเพื่อเป็นพุทธบูชา
    ในบริเวณอารามก่อนเสด็จถึงพระคันธกุฎี มีภิกษุและภิกษุณีจำนวนมากรอรับเสด็จ ทุกท่านมีแววแห่งปีติปราโมช ถวายบังคมพระศาสดาด้วยความเคารพอันสูงสุด พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธองค์ด้วยกิริยาที่งดงามมองดูน่าเลื่อมใส ทุกคนต่างชื่นชมพระศาสดาและพระอานนท์ และผู้ที่ชื่นชมในพระอานนท์เป็นพิเศษ ก็เห็นจะเป็นโกกิลาภิกษุณีนั่นเอง
    ทันใดที่นางได้เห็นพระอานนท์ ความรักซึ่งสงบตัวอยู่ก็ฟุ้งขึ้นมาอีก คราวนี้ดูเหมือนจะรุนแรงยิ่งกว่าคราวก่อน เพราะเป็นเวลาสามเดือนแล้วที่นางมิได้เห็นพระอานนท์ ความรักที่ทำท่าจะสงบลงนั้น มันเป็นเหมือนติณชาติซึ่งถูกริดรอน ณ เบื้องปลายเมื่อขึ้นใหม่ ย่อมขึ้นได้สวยกว่า มากกว่า และแผ่ขนาดโตกว่าฉะนั้น
    นางรีบกลับสู่ห้องของตน บัดนี้ใจของนางเริ่มปั่นป่วนรวนเรอีกแล้ว จริงทีเดียวในจักรวาลนี้ไม่มีไฟอะไรร้อนแรงและดับยากเท่าไฟรัก ความรักเป็นความเรียกร้องของหัวใจ มนุษย์เราทำอะไรลงไปเพราะเหตุเพียงสองอย่างเท่านั้น คือเพราะหน้าที่อย่างหนึ่ง และเพราะความเรียกร้องของหัวใจอีกอย่างหนึ่ง ประการแรกแม้จะทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มนุษย์ก็ไม่ค่อยจะเดือนร้อนเท่าใดนัก เพราะคนส่วนมากหาได้รักหน้าที่เท่ากับความสุขส่วนตัวไม่ แต่สิ่งที่หัวใจเรียกร้องนี่ซิ ถ้าไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถสนองได้ หัวใจจะร่ำร้องอยู่ตลอดเวลา มันจะทรมานไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของมัน หรือมนุษย์ผู้นั้นตายจากไป
    โกกิลาภิกษุณีกำลังต่อสู้กับสิ่งสองอย่างนี้อย่างน่าสงสาร หน้าที่ของนางคือการทำลายความรักความใคร่ บัดนี้นางเป็นภิกษุณี มิใช่หญิงชาวบ้านธรรมดา นางจึงต้องพยายามกำจัดความรักความใคร่ระหว่างเพศให้หมดไป แต่หัวใจของนางกำลังเรียกร้องหาความรักหน้าที่กับความเรียกร้องของหัวใจ อย่างไหนจะแพ้จะชนะก็แล้วแต่ความเข้มแข็งของอำนาจฝ่ายสูงหรือฝ่ายต่ำ ผู้หญิงนั้นลงได้ทุ่มเทความรักให้แก่ใครแล้วก็มั่งคงเหนียวแน่นยิ่งนักยากที่จะถ่ายถอน และความรักที่ไม่มีทางสมปรารถนาเลยนั้นเป็นความปวดร้าวอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ดวงใจของเธอจะระบมบ่มหนอง ในที่สุดก็แตกสลายลงด้วยความชอกช้ำนั้น อนิจจา! โกกิลา แม้เธอจะรู้ว่าความรักของเธอไม่มีทางจะสมปรารถนาได้เลย แต่เธอก็ยังรัก สุดที่จะหักห้ามและถ่ายถอนได้
    อีกคืนหนึ่งที่นางต้องกระวนกระวายรัญจวนจิตถึงพระอานนท์ นอนพลิกไปพลิกมา นัยน์ตาเหม่อลอยอย่างไร้จุดหมาย นานๆ จึงจะจับนิ่งอยู่ที่เพดานหรือขอบหน้าต่างนางรู้สึกว้าเหว่ ในเมื่อคืนนั้นเป็นคืนแรกที่พระศาสดาเสด็จมาถึง ราชามหาอำมาตย์และพ่อค้าคหบดีมากหลายมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเหมือนสายน้ำที่หลั่งไหลอยู่มิได้ขาดระยะ มันเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ผู้ชายน้อยคนนักจะเข้าใจและเห็นใจ
    ภิกษุณีโกกิลาถอนสะอื้นเบาๆ เมื่อเร่าร้อนและกลัดกลุ้มถึงที่สุด น้ำตาเท่านั้นที่จะช่วยบรรเทาความระทมขมขื่นลงได้บ้าง เพื่อนที่ดีในยามทุกข์สำหรับผู้หญิง ก็คือน้ำตา ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอีก แล้วจะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจได้เท่าน้ำตา แม้มันจะหลั่งไหลจากขั้วหัวใจ แต่มันก็ช่วยบรรเทาความอึดอัดลงได้บ้าง
    เนื่องจากผู้หญิงถือว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ตรงกันข้ามกับผู้ชายซึ่งมักจะเห็นว่าความรักเป็นเพียงบางส่วนของชีวิตเท่านั้น เมื่อเกิดความรักผู้หญิงจึงทุ่มเททั้งชีวิต และจิตใจให้แก่ความรักนั้นทุ่มเทอย่างยอมเป็นทาส โกกิลาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในโลก เธอจะหลีกเลี่ยงความจริงใจชีวิตหนึ่งไปได้อย่างไร
    พระดำรัสของพระศาสดาซึ่งทรงแสดงแก่พุทธบริษัทเมื่อสายัณห์ ยังคงแว่วอยู่ในโสตรของนาง พระองค์ตรัสว่า "ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นเรื่องทรมาน และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพรากก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง" พระพุทธดำรัสนี้ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร แต่เธอจะพยายามหักห้ามใจมิให้คิดถึงพระอานนท์สักเท่าใดก็หาสำเร็จไม่ เธอตกเป็นทาสแห่งความรักแล้วอย่างหมดสิ้นหัวใจ
    รุ่งขึ้นเวลาบ่ายนางเที่ยวเดินชมโน่นชมนี่ ในบริเวณโฆสิตาราม เพื่อบรรเทาความกระวนกระวายกลัดกลุ้มรุ่มร้อน เธอเดินมาหยุดยืนอยู่ริมสระซึ่งมีบัวบานสะพรั่ง รอบๆ สระมีม้านั่งทำด้วยไม้และมีพนักพิงอย่างสบาย เธอชอบมานั่งเล่นบริเวณสระนี้เสมอๆ ดูดอกบัวดูแมลงซึ่งบินวนไปเวียนมาอยู่กลางสระ ลมพัดเฉื่อยฉิวหอบเอากลิ่นดอกบัวและกลิ่นน้ำคละเคล้ากันมาทำให้นางมีความแช่มชื่นขึ้นบ้าง ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตเสมอ มันเป็นเพื่อนที่ดีทั้งยามสุขและยามทุกข์ ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมักจะเป็นชีวิตที่ชื่นสุขเบาสบาย ยิ่งมนุษย์ทอดทิ้งห่างเหินจากธรรมชาติมากเท่าใด เขาก็ยิ่งห่างความสุขออกไปทุกทีมากเท่านั้น
    ขณะที่นางกำลังเพลินอยู่กับธรรมชาติอันสวยงามและดูเหมือนความรุ่มร้อนจะลดลงได้บ้างนั้นเอง นางได้ยินเสียงเหมือนมีคนเดินอยู่เบื้องหลังทันทีที่นางเหลียวไปดู… ภาพ ณ เบื้องหน้านางเข้ามาทำลายความสงบราบเรียบเสียโดยพลัน… พระอานนท์และโฆสิตมหาเศรษฐีเจ้าของอารามนั่นเอง นางรู้สึกตะครั่นตะครอ มือและริมฝีปากนางเริ่มสั่นน้อยๆ เหมือนคนเริ่มจะจับไข้ เมื่อพระอานนท์เข้ามาใกล้ นางถอยหลังไปนิดหนึ่งโดยมิได้สำนึกว่า เบื้องหลังของนาง ณ บัดนี้คือสระน้ำ บังเอิญเท้าข้างหนึ่งของเธอเหยียบดินแข็งก้อนหนึ่ง เธอเสียหลักและล้มลง
    พระอานนท์และโฆสิตมหาเศรษฐีตกตะลึงจังงังยืนนิ่งเหมือนรูปปั้นศิลา สักครู่หนึ่งจึงได้สติ แต่ไม่ทราบจะช่วยเธอประการใด เธอเป็นภิกษุณีอันใครๆ จะถูกต้องมิได้ อย่าพูดถึงพระอานนท์เลย แม้โฆสิตมหาเศรษฐีเองก็ไม่กล้ายื่นมือประคองนางให้ลุกขึ้น นางพยายามช่วยตัวเองจนสามารถลุกขึ้นมาสำเร็จ แล้วคุกเข่าลงเบื้องหน้าพระอานนท์ ก้มหน้านิ่งด้วยความละอาย
    "น้องหญิง" เสียงทุ้มๆ นุ่มนวลของพระอานนท์ปรากฏแก่โสตรของนางเหมือนแว่วมาตามสายลมจากที่ไกล "อาตมาขออภัยด้วยที่ทำให้เธอตกใจและลำบาก เธอเจ็บบ้างไหม?"
    เสียงเรียบๆ แต่แฝงไว้ด้วยความห่วงใยของพระอานนท์ ได้เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจนางให้ชื่นบาน อะไรเล่าจะเป็นความชื่นใจของสตรีมากเท่ารู้สึกว่าชายที่ตนพะวงรักมีความห่วงใยในตน สตรีเป็นเพศที่จำความดีของผู้อื่นได้เก่งพอๆ กับการให้อภัย และลืมความผิดพลาดของชายอันตนรัก เหมือนเด็กน้อยแม้จะถูกเฆี่ยนมาจนปวดร้าวไปทั้งตัว แต่พอมารดาผู้เพิ่งจะวางไม้เรียวแล้วหันมาปลอบด้วยคำอันอ่อนหวานสักครู่หนึ่ง และแถมด้วยขนมชิ้นน้อยๆ บ้างเท่านั้น เด็กน้อยจะลืมเรื่องไม้เรียว กลับหันมาชื่นชมยินดีกับคำปลอบโยนและขนมชิ้นน้อย เขาจะซุกตัวเข้าสู่อ้อมอกของมารดาและกอดรัดเหมือนอาลัยอย่างที่สุด การให้อภัยแก่คนที่ตนรักนั้น ไม่มีที่สิ้นสุดในหัวใจของสตรี และบางทีก็เป็นเพราะธรรมชาติอันนี้ด้วยที่ทำให้เธอชอกช้ำแล้วชอกช้ำอีก แต่มนุษย์ทั้งบุรุษและสตรี เป็นสัตว์โลกที่ไม่ค่อยจะรู้จักเข็ดหลาบ จึงต้องชอกช้ำด้วยกันอยู่เนืองๆ
    นางช้อนสายตาขึ้นมองพระอานนท์แว่บหนึ่ง แล้วคงก้มหน้าต่อไปไม่มีเสียงตอบจากนาง เหมือนมีอะไรมาจุกที่คอหอย เธอพูดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเธอดีใจหรือเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
    "น้องหญิง" เสียงพระอานนท์ถามขึ้นอีก "เธอเจ็บบ้างไหม? อาตมาเป็นห่วงว่าเธอจะเจ็บ"
    "ไม่เป็นไร พระคุณเจ้า" เสียงตอบอย่างยากเย็นเต็มที
    "เธอมาอยู่นี่สบายดีหรือ?"
    "พอทนได้ พระคุณเจ้า"
    "แม่นางต้องการอะไรเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ขอให้บอกข้าพเจ้าๆ ขอปวารณาไว้" ท่านเศรษฐีพูดขึ้นบ้าง และพระอานนท์และโฆสิตเศรษฐีก็จากไป
    นางมองตามพระอานนท์ด้วยความรัญจวนพิศวาส นางรู้สึกเหมือนอยากให้หกล้มวันละห้าครั้ง ถ้าการหกล้มนั้นเป็นเพราะเธอได้เห็นพระอานนท์อันเป็นที่รัก นางเดินตามพระอานนท์ไปเหมือนถูกสะกด ความรักทำให้บุคคลทำสิ่งต่างๆ อย่างครึ่งหลับครึ่งตื่น ครู่หนึ่งนางจึงหยุดเหมือนนึกอะไรขึ้นได้ แล้วเหลียวหลังกลับสู่ที่อยู่ของนาง
    นางกลับสู่ภิกขุนูปัสสยะด้วยหัวใจที่เศร้าหมอง ความอยากพบและอยากสนทนาด้วยพระอานนท์นั้นมีมากสุดประมาณ บุคคลเมื่อมีความปรารถนาอย่างรุนแรงย่อมคิดหาอุบายเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนานั้น เมื่อไม่ได้โดยอุบายที่ชอบ ก็พยายามทำโดยเล่ห์กลมารยา แล้วแต่ว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้โดยประการใด โดยเฉพาะความปรารถนาในเรื่องรักด้วยแล้วย่อมหันเหบิดเบือนจิตใจของผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมันให้กระทำได้ทุกอย่าง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เมื่อใดความรักและความหลงครอบงำจิตเมื่อนั้นบุคคลก็มืดมน เสมือนคนตาบอด
    นางปิดประตูกุฏินอนเหมือนคนเจ็บหนัก ภิกษุณีผู้อยู่ห้องติดกันได้ยินเสียงครางจึงเคาะประตูเรียก
    "ท่านเป็นอะไรหรือ โกกิลา?" สุนันทาภิกษุณีถามด้วยความเป็นห่วง
    "ไม่เป็นไรมากดอกสุนันทา ปวดศีรษะเล็กน้อย แต่ดูเหมือนจะมีอาการไข้ ตะครั่นตะครอ เนื้อตัวหนักไปหมด" โกกิลาตอบ
    "ฉันยาแล้วหรือ?"
    "เรียบร้อยแล้ว"
    "เอ้อ มีอะไรจะให้ข้าพเจ้าช่วยท่านบ้าง ไม่ต้องเกรงใจนะ ข้าพเจ้ายินดีเสมอ"
    "มีธุระบางอย่าง ถ้าท่านเต็มใจจะช่วยเหลือก็พอทำได้" โกกิลาพูดมีแววแช่มชื่นขึ้น
    "มีอะไรบอกมาเถิด ถ้าข้าพเจ้าพอช่วยได้ ก็ยินดี" สุนันทาตอบด้วยความจริงใจ
    "ท่านรู้จักพระอานนท์มิใช่หรือ?"
    "รู้ซิ โกกิลา พระอานนท์ใครๆ ก็ต้องรู้จักท่าน เว้นแต่ผู้ที่ไม่รู้จักพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ท่านมีธุระที่พระอานนท์หรือ?"
    "ถ้าไม่เป็นการลำบากแก่ท่านข้าพเจ้าอยากวานให้ท่านช่วยนิมนต์พระอานนท์มาที่นี่ ข้าพเจ้าอยากฟังโอวาทจากท่าน เวลานี้ข้าพเจ้ากำลังป่วยชีวิตเป็นของไม่แน่ พระพุทธองค์ตรัสไว้มิใช่หรือว่า ความแตกดับแห่งชีวิต ความเจ็บป่วย กาลเป็นที่ตาย สถานที่ทิ้งร่างกายและคติในสัมปรายภพเป็นสิ่งที่ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอท่านอาศัยความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า ไปหาพระอานนท์แล้วเรียนท่านตามคำของข้าพเจ้าว่า โกกิลาภิกษุณีของนมัสการท่านด้วยเศียรเกล้า เวลานี้นางป่วยไม่สามารถลุกขึ้นได้ ถ้าพระคุณเจ้าจะอาศัยความกรุณาไปเยี่ยมไข้ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่นางหาน้อยไม่"
    เวลานั้นบ่ายมากแล้ว ความอบอ้าวลดลงบริเวณอารามซึ่งมีพันธุ์ไม้หลายหลากดูร่มรื่นยิ่งขึ้น นกเล็กๆ บนกิ่งไม้วิ่งไล่เล่นกันอย่างเพลิดเพลิน บางพวกร้องทักทายกันอย่างสนิทสนมและชื่นสุข ดิรัจฉานเป็นสัตว์โลกที่มีความรู้น้อยและความสามารถน้อย มันมีความรู้ความสามารถแต่เพียงหากินและหลบหลีกภัยเฉพาะหน้า แต่ดูเหมือนมันจะมีความสุขยิ่งกว่ามนุษย์ซึ่งถือตนว่าฉลาดและมีความสามารถเหนือสัตว์โลกทั้งมวล
    เป็นความจริงที่ว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจ มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหนและภาวะอย่างใด ถ้าสามารถพอใจในภาวะนั้นได้ เขาก็มีความสุข ความยากจนหาเช้ากินค่ำ อาจจะมีความสุขกว่ามหาเศรษฐี หรือมหาราชาผู้เร่าร้อนอยู่เสมอ เพราะความปรารถนาและทะยานอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด มนุษย์เราจะมีสติปัญญาฉลาดปานใดก็ตาม ถ้าไร้เสียแล้วซึ่งปัญญาในการหาความสุขให้แก่ตนโดยทางที่ชอบ เขาผู้นั้นควรจะทะนงตนว่าฉลาดกว่าสัตว์ละหรือ?
    มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความอยากความดิ้นรนออกหน้าแล้ววิ่งตามเหมือนวิ่งตามเงาของตนเองในเวลาบ่าย ยิ่งวิ่งตาม ก็ดูเหมือนเงาจะห่างตัวออกไปทุกที ทุกคนต้องการและมุ่งมั่นในความสุข แต่ความสุขก็เป็นเหมือนเงานั่นเอง ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสวงหาและมุ่งมอง หน้าที่โดยตรงที่มนุษย์ควรทำนั้นคือ การมองทุกข์ให้เห็น พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์เสีย โดยนัยนี้ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนผู้ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ประเทศชาติ ถ้าปราบเสี้ยนหนามและเรื่องร้ายในประเทศมิได้ ก็อย่าหวังเลยว่าประเทศชาติจะเจริญและผาสุกหรือเหมือนผู้ปรารถนาสุขแก่ร่างกายถ้ายังกำจัดโรคในร่างกายมิได้ ความสุขกายจะมีได้อย่างไร แต่ถ้าร่างกายปราศจากโรคมีอนามัยดี ความสุขกายก็มีมาเอง ด้วยประการฉะนี้ปรัชญาเถรวาทจึงให้หลักเราไว้ว่า "มองทุกข์ให้เห็นจึงเป็นสุข" อธิบายว่า เมื่อเห็นทุกข์กำหนดรู้ทุกข์และค้นหาสมุฏฐานของทุกข์แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย เหมือนหมอทำลายเชื้ออันเป็นสาเหตุแห่งโรค ยิ่งทุกข์ลดน้อยลงเท่าใด ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความทุกข์ที่ลดลงนั้นเองคือความสุข เหมือนทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าความเย็นไม่มี มีแต่ความร้อน ความเย็นคือความร้อนที่ลดลง เมื่อความร้อนลดลงถึงที่สุด ก็กลายเป็นความเย็นที่สุด ทำนองเดียวกัน เมื่อความทุกข์ลดลงถึงที่สุดก็กลายเป็นความสุขที่สุด ขั้นแห่งความสุขนั้นมีขึ้นตามแห่งความทุกข์ที่ลดลง คำสอนทางศาสนา เมื่อว่าโดยนัยหนึ่งจึงเป็นเรื่องของ "ศิลปะแห่งการลดทุกข์" นั่นเอง
    พระอานนท์ได้รับคำบอกเล่าจากสุนันทาภิกษุณีแล้ว ให้รู้สึกเป็นห่วงกังวลถึงโกกิลาภิกษุณียิ่งนัก ท่านคิดว่าหรือจะเป็นเพราะนางหกล้มเมื่อบ่ายนี้กระมัง จึงเป็นเหตุให้นางป่วยลง อนิจจา! โกกิลาเธอรักเรา เราหรือจะไม่รู้ แต่เธอมาหลงรักคนที่ไม่มีหัวใจจะรักเสียแล้ว เหมือนเด็กน้อยผู้ไม่ประสาต่อความตายนั่งร่ำร้องเร่งเร้าขอคำตอบจากมารดาผู้นอนตายสนิทแล้ว ช่างหน้าสงสารสังเวชเสียนี่กระไร ผู้หญิงมีความอ่อนแอทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พระศาสดาจึงกีดกันหนักหนา ในเบื้องแรกที่จะให้สตรีบวชในศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะมหากรุณาของพระองค์ ที่ไม่ต้องการให้สตรีต้องลำบาก มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่สตรีทนได้ดีกว่าบุรุษนั้นคือการทนต่อความเจ็บปวด
    พระอานนท์มีพระรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อเยี่ยมไข้ แต่เมื่อเห็นอาการไข้ของโกกิลาภิกษุณีแล้ว ความสงสารและกังวลของท่านก็ค่อยๆ คลายตัวลง ความฉลาดอย่างเลิศล้ำของพระพุทธอนุชาแทงทะลุความรู้สึกและเคลัญญาการของนาง ท่านรู้สึกว่าท่านถูกหลอก ท่านไม่เชื่อเลยว่านางจะเป็นไข้จริง "แต่เอาเถิด" พระอานนท์ปรารภกับตัวท่านเอง "โอกาสนี้ก็เป็นโอกาสดีเหมือนกันที่จะแสดงบางอย่างให้นางทราบ เพื่อนางจะได้ละความพยายาม เลิกรัก เลิกหมกมุ่นในโลกียวิสัยหันมาทำความเพียรเพื่อละสิ่งที่ควรละ และเจริญสิ่งที่ควรทำให้เจริญ ให้เหมาะสมกับเพศภิกษุณีแห่งนาง คงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่นางไปตลอดกาลนาน คงจะเป็นปฏิการอันประเสริฐสำหรับความรักของนางผู้ภักดีต่อเราตลอดมา"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  9. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๘. โกกิลาผู้ประหารกิเลส
    แลแล้วพระอานนท์ก็กล่าวว่า "น้องหญิง! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่งชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกนี้เป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่นเป็นสัญญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตานั้นทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึก และเป็นพยานว่าเขามิได้เอาอะไรไปเลย
    "น้องหญิง! อาตมาขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังสักเล็กน้อย อาตมาเกิดแล้วในศากยวงศ์อันมีศักดิ์ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าบริสุทธิ์ยิ่งในเรื่องตระกูล อาตมาเป็นอนุชาแห่งพระบรมศาสดา และออกบวชติดตามพระองค์เมื่ออายุได้ ๓๖ ปี ราชกุมารผู้มีอายุถึง ๓๖ ปีที่ยังมีดวงใจผ่องแผ้วไม่เคยผ่านเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาเลยนั้นเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก หรืออาจจะหาไม่ได้เลยก็ได้ น้องหญิงอย่านึกว่า อาตมาจะเป็นคนวิเศษเลิศลอยกว่าราชกุมารทั้งหลาย อาตมาเคยผ่านความรักมาและประจักษ์ว่า ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณและเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน อาตมากลัวต่อความรักนั้น
    ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้วจะเป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้นเหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธออย่าพอใจในเรื่องความรักเลย เมื่อหัวใจถูกลูบไล้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวังความผิดหวังก็จะรอเราอยู่
    น้องหญิง! อย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิตอย่างผู้ช่ำชอง อย่าวิตกกังวลอะไรล่วงหน้า ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่นซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่งและแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิตเหมือนคนผู้ยืนอยู่บนฝั่งมองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น
    "โกกิลาเอย! เมื่อความรักเกิดขึ้น ความละอายและความเกรงกลัวในสิ่งที่ควรกลัวก็พลันสิ้นไป เหมือนก้อนเมฆมหึมา เคลื่อนตัวเข้าบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง ธรรมดาสตรีนั้นควรจะยอมตายเพราะความละอาย แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้นความละอายมักจะตายไปก่อนเสมอ เมื่อความใคร่เกิดขึ้นความละอายก็หลบหน้า เพราะเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงตรัสว่าความใคร่ทำให้คนมืดบอด อนึ่งโลกมนุษย์ของเรานี้ เต็มไปด้วยชีวิตอันประหลาดพิสดารต่างชนิดและต่างรส ชีวิตของแต่ละคนได้ผ่านมาและผ่านไป ด้วยความระกำลำบากทุกข์ทรมาน ถ้าชีวิตมีความสุขก็เป็นความหวาดเสียวที่จะต้องจากชีวิตอันรื่นรมย์นั้นไป
    "โกกิลาเอย! มนุษย์ทั้งหลายผู้ยังมีอวิชชาเป็นฝ้าบังปัญญาจักษุนั้น เป็นเสมือนทารกน้อยผู้หลงเข้าไปในป่าใหญ่อันรกทึบซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอันน่าหวาดเสียวและว้าเหว่เงียบเหงา มนุษย์ส่วนใหญ่แม้จะร่าเริงแจ่มใสอยู่ในหมู่ญาติและเพื่อนฝูง แต่ใครเล่าจะทราบว่าในส่วนลึกแห่งหัวใจเขาจะว้าเหว่ และเงียบเหงาสักปานใดแทบทุกคนว้าเหว่ไม่แน่ใจว่าจะยึดเอาอะไรเป็นหลักของชีวิตที่แน่นอน เธอปรารถนาจะเป็นอย่างนั้นด้วยหรือ?
    "น้องหญิง! บัดนี้เธอมีธรรมเป็นเกาะที่พึ่งแล้วจงยึดธรรมเป็นที่พึ่งต่อไปเถิด อย่าหวังอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย โดยเฉพาะความรักความเสน่หาไม่เคยเป็นที่พึ่งจริงจังให้แก่ใครได้ มันเป็นเสมือนตอที่ผุ จะล้มลงทันทีเมื่อถูกคลื่นซัดสาด
    "ธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลังแล้วต้องเสียใจนั้น พระศาสดาทรงสอนให้เว้นเสีย เพราะฉะนั้นแม้จะประสบปัญหาหัวใจ หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ที่ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้น ย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้าง เพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติในภายหลังแล้ว ก็ควรตั้งใจประพฤติธรรมสั่งสมความดีกันใหม่ ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้นมีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ
    "น้องหญิง! ธรรมดาว่าไม้จันทร์นั้น แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม พระศาสดาทรงย้ำว่าพึงสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาธรรม
    "โกกิลาเอย! เธอได้สละเพศฆราวาสมาแล้ว ซึ่งเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ยากที่ใครๆ จะสละได้ ขอให้เธอเสียสละต่อไปเถิด และสละให้ลึกกว่านั้น คือไม่สละแต่เพียงเพศอย่างเดียว แต่จงสละความรู้สึกอันจะเป็นข้าศึกต่อเพศเสียด้วย เธอเคยฟังสุภาษิตอันกินใจยิ่งมาแล้วมิใช่หรือ ในคนร้อยคนหาคนกล้าได้หนึ่งคน ในคนพันคนหาคนเป็นบัณฑิตได้หนึ่งคน ในคนแสนคนหาคนพูดจริงได้เพียงหนึ่งคน ส่วนคนที่เสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ คือไม่ทราบจะคำนวณเอาจากคนจำนวนเท่าใดจึงจะเฟ้นได้หนึ่งคน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักเสียสละตัวอย่างของโลก เคยมีกษัตริย์องค์ใดบ้างทำได้เหมือนพระพุทธองค์ ยอมเสียสละความสุขความเพลินใจทุกอย่างที่ชาวโลกปองหมายมาอยู่กลางดินกลางทราย ก็เพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มนุษยชาติ การเสียสละของพวกเรา เมื่อนำไปเทียบกับการเสียสละของพระบรมศาสดาแล้ว ของเราช่างเล็กน้อยเสียนี่กระไร
    "น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าบุคคลอาจอาศัยตัณหาละตัณหาได้ อาจอาศัยมานะละมานะได้ อาจอาศัยอาหารละอาหารได้ แต่เมถุนธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ชักสะพานเสีย คืออย่าทอดสะพานเข้าไปเพราะอาศัยละไม่ได้"
    "ข้อว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้น คือละความพอใจในรสของอาหาร จริงอยู่สัตว์โลกทั้งมวลดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร ข้อนี้พระศาสดาก็ตรัสไว้ แต่มนุษย์และสัตว์เป็นอันมากติดข้องอยู่ในรสแห่งอาหาร จนต้องกระเสือกกระสนกระวนกระวาย และต้องทำชั่วเพราะรสแห่งอาหารนั้น ที่ว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้นคืออาศัยอาหารละความพอใจในรสแห่งอาหารนั้น บริโภคเพียงเพื่อยังชีวิตให้ชีวิตนี้เป็นไปได้เท่านั้น เหมือนคนเดินทางข้ามทะเลทราย เสบียงอาหารหมด และบังเอิญลูกน้อยตายลงเพราะหิวโหย เขาจำใจต้องกินเนื้อบุตรเพียงเพื่อให้ข้ามทะเลทรายได้เท่านั้น หาติดในรสแห่งเนื้อบุตรไม่"
    "ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหานั้น คือเมื่อทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ก็มีความทะยานอยากที่จะเป็นบ้าง เพื่อพยายามจนได้เป็นแล้ว ความทะยานอยากอันนั้นก็หายไป อย่างนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา"
    "ข้อว่าอาศัยมานะละมานะนั้น คือเมื่อได้ยินได้ฟังภิกษุหรือภิกษุณี หรืออุบาสกอุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบันเป็นต้น ก็มีมานะขึ้นว่าเขาสามารถทำได้ ทำไมเราซึ่งเป็นมนุษย์และมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนเขาจะทำไม่ได้บ้าง จึงพยายามทำความเพียร เผากิเลสจนได้บรรลุโสดาปัตติผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยมานะละมานะ เพราะเมื่อบรรลุแล้วมานะนั้นย่อมไม่มีอีก"
    "ดูก่อนน้องหญิง! ส่วนเมถุนธรรมนั้น ใครๆ จะอาศัยละมิได้เลย นอกจากจะพิจารณาเห็นโทษของมันแล้วเลิกละเสีย ห้ามใจมิให้เลื่อนไหลไปยินดีในกามสุขเช่นนั้น น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก มีโทษมากมีความคับแค้นเป็นมูล มีทุกข์เป็นผล"
    พระอานนท์พูดจบ คอยจับกิริยาของโกกิลาภิกษุณีว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร ธรรมกถาของท่านได้ผลภิกษุณีค่อยๆ ลุกจากเตียงสลัดผ้าห่มออกคลานมาหมอบลงแทบเท้าของพระอานนท์ สะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งตัว นางพูดอะไรไม่ออก นางเสียใจอย่างสุดซึ้ง อันความเสียใจและละอายนั้น ถ้ามันแยกกันเกิดคนละครั้งก็ดูเหมือนจะไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่เมื่อใดทั้งความเสียใจและความละอายเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และในกรณีเดียวกันด้วยแล้ว ย่อมเป็นความทรมานสำหรับสตรีอย่างยวดยิ่ง นางเสียใจเหลือเกินที่ความรักของนางมิได้รับสนองเลยแม้แต่น้อย คำพูดของพระอานนท์ล้วนแต่เป็นคำเสียดแทงใจสำหรับนางผู้ยังหวังความรักจากท่านอยู่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อนางทราบว่าพระอานนท์มิได้เชื่อในอาการลวงของนางเลย นางจึงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าอย่างแรง ละอายสุดที่จะประมาณได้ นางจึงไม่สามารถพูดคำใดได้เลย นอกจากถอนสะอื้นอยู่ไปมา
    ครู่หนึ่งพระอานนท์จึงพูดว่า "น้องหญิง! หยุดร้องไห้เสียเถิด การร้องไห้ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ช่วยเรื่องหนักใจของเธอให้คลายลงได้" อนิจจา! พระอานนท์ช่างพูดอย่างพระอริยะแท้
    "ข้าแต่พระคุณเจ้า" นางพูดทั้งเสียงสะอื้น ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะของพระอานนท์ต้องเบือนหน้าไปเสียทางหนึ่ง เกรงว่าไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาได้ "ข้าพเจ้าจะพยายามกล้ำกลืนฝืนใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านแม้จะเป็นความทรมานสักป่านใด ข้าพเจ้าก็จะอดทนและขอเทิดทูนบูชาพระพุทธอนุชา ไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง ข้าพเจ้าไม่เจียมตัวเอง จึงต้องทุกข์ทรมานถึงปานนี้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงหญิงทาสทูนหม้อน้ำ ข้าพเจ้าเพิ่งสำนึกตนเวลานี้เอง ความรักความอาลัยทำให้ข้าพเจ้าลืมกำเนิดชาติตระกูลและความเหมาะสมใดๆ ทั้งสิ้น มาหลงรักพระพุทธอนุชาผู้ทรงศักดิ์
    "ข้าแต่ท่านผู้สืบอริยวงศ์! กายกรรม วจีกรรม ที่ข้าพเจ้าล่วงเกินท่านและจะพึงขอโทษนั้นไม่มี ส่วนมโนกรรมนั้นมีอยู่ ข้าพเจ้ารักท่าน และรักอย่างสุดหัวใจ ถ้าการที่ข้าพเจ้ารักท่านนั้นเป็นความผิด ขอท่านผู้ประเสริฐโปรดให้อภัยในความผิดพลาดอันนั้นด้วย" นางพูดจบแล้วนั่งก้มหน้า น้ำตาของนางหยดลงบนจีวรผืนบางเสมือนหยาดน้ำค้างถูกสลัดลงจากใบหญ้า เมื่อลมพัดเป็นครั้งคราว
    "น้องหญิง! เรื่องชาติเรื่องตระกูลนั้นอย่านำมาปรารมภ์เลย อาตมามิได้เคยคิดถึงมันเป็นเวลานานแล้ว ที่อาตมาไม่รักน้องหญิง มิใช่เพราะอาตมามาเกิดในตระกูลอันสูงศักดิ์ ส่วนเธอเป็นทาสีดอก แต่เป็นเพราะอาตมาเห็นโทษแห่งความรัก ความเสน่หา ตามที่พระศาสดาทรงสอนอยู่เสมอ เวลานี้อาตมามีหน้าที่ต้องบำรุงพระศาสดาผู้เป็นนาถะของโลก และพยายามทำหน้าที่กำจัดอาสวะในจิตใจ มิใช่เพิ่มอาสวะให้มากขึ้น เมื่ออาสวะยังไม่สิ้น ย่อมจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารอีก จะเป็นเวลานานเท่าใดก็สุดจะคำนวณ พระศาสดาตรัสว่าการเกิดบ่อยๆ เป็นความทุกข์ เพราะเมื่อมีการเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความทรมานอื่นๆ ก็ติดตามมาเป็นสาย นอกจากนี้ผู้วนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารอาจจะมีบางชาติที่ประมาทพลาดพลั้งไปแล้ว ต้องตกไปในอบายเป็นการถอยหลังไปอีกมาก กว่าจะตั้งต้นได้ใหม่ก็เป็นการเสียเวลาของชีวิตไปมิใช่น้อย"
    "น้องหญิง! เธออย่าน้อยใจในชาติตระกูลอันต่ำต้อยของเธอเลย บุคคลจะเกิดในตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์,แพศย์ หรือสูทรก็ตาม ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมดาเหมือนกันหมดคือเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ต้องเจ็บ และในที่สุดก็ต้องตาย ความตายย่อมกวาดล้างสรรพสัตว์ไปโดยมิละเว้นใครไว้เลย และใครๆ ไม่อาจต่อสู่ด้วยวิธีใดๆ ได้"
    "นอกจากนี้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีเลือดสีแดง รู้จักกลัวภัยและใคร่ความสุขเสมอกัน เหมือนไม้นานาชนิด เมื่อนำมาเผาไฟย่อมมีเปลวสีเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวมาแบ่งแยกกันอยู่ทำไมว่า คนนั้นเป็นวรรณะสูง คนนี้เป็นวรรณะต่ำ มาช่วยกันกระพือสันติสุขให้แก่โลกที่ร้อนระอุนี้จะมิดีกว่าหรือ มนุษย์ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อประพฤติดีก็เป็นคนดีเหมือนกันหมด เมื่อประพฤติชั่วก็เป็นคนชั่วเหมือนกันหมด"
    "เพราะฉะนั้น ขอให้น้องหญิงเลิกน้อยใจในเรื่องชาติตระกูลของตัว และตั้งหน้าพยายามทำความดีเถิด ขอให้น้องหญิงเชื่อว่าการที่อาตมาไม่สามารถสนองความรักของน้องหญิงได้นั้นมิใช่เป็นเพราะอาตมารังเกียจเรื่องชาติเรื่องตระกูลของเธอเลย แต่มันเป็นเพราะอาตมารังเกียจตัวความรักนั่นต่างหาก"
    "ภคินีเอย! อันธรรมดาว่าความรักนั้น มันเป็นธรรมชาติที่เร่าร้อนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งมันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิดที่ไม่เหมาะสมเข้าอีกมันก็จะยิ่งเพิ่มแรงร้อนมากขึ้น การที่น้องหญิงจะรักอาตมา หรืออาตมาจะรักเธออย่างเสน่หาอาลัยนั่นแล เรียกว่าความรักอันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิดหรือไม่เหมาะสม ขอให้เธอตัดความรักความอาลัยเสียเถิด แล้วเธอจะพบความสุขความปลอดโปร่งอีกแบบหนึ่งซึ่งสูงกว่า ประณีตกว่า"
    พระอานนท์ละภิกษุนูปัสสยะไว้เบื้องหลัง ด้วยความรู้สึกที่แปลกประหลาด ท่านเดินลัดเลาะมาทางริมสระแล้วนั่งลง ณ ม้ายาวมีพนักตัวหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะก็นั่งลง ณ ริมสุดข้างหนึ่ง พระอานนท์ถอนหายใจยาวและหนักหน่วง เหมือนจะระบายความหนักอกหนักใจออกมาเสียบ้าง ครู่หนึ่งท่านจึงบอกให้ภิกษุรูปนั้นกลับไปก่อน ท่านต้องการจะนั่งพักผ่อนอยู่ที่นั้นสักครู่ ถ้าพระศาสดาเรียกหาก็ให้มาตามที่ริมสระนั้น
    ท่านนั่งคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งรู้สึกสงสารภิกษุณีโกกิลาอย่างจับใจ แต่ด้วยอัธยาศัยแห่งมหาบุรุษประดับด้วยบารมีธรรมนั้นต่างหากเล่า จึงสามารถข่มใจและสลัดความรู้สึกสงสารอันนั้นเสีย ท่านปรารภกับตนเองว่า "อานนท์เธอเป็นเพียงโสดาบันเท่านั้น ราคะโทสะและโมหะยังมิได้ละเลย เพราะฉะนั้นอย่าประมาท อย่าเข้าใกล้ หรือยอมพบกับภิกษุณีโกกิลาอีก ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน อานนท์! จงเอาสติเป็นขอสำหรับเหนียวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ บุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุด และควรแต่การสรรเสริญนั้นคือ ผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้ พระศาสดาตรัสว่าผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย"
    พระอานนท์ตรึกตรองและให้โอวาทตนเองอยู่พอสมควรแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านไม่มีอะไรปิดบังสำหรับพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้นท่านจึงกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระจอมมุนีทรงทราบ รวมทั้งที่ท่านปรารภกับตนเอง และให้โอวาทตนเองนั้นด้วย พระมหาสมณะทรงทราบเรื่องนี้แล้ว ทรงประทานสาธุการแก่พระอานนท์แล้วตรัสให้กำลังใจว่า
    "อานนท์! เธอเป็นผู้มีบารมีอันได้สั่งสมมาดีแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแห่งเธอ เรื่องที่เธอจะตกไปสู่ฐานะที่ต่ำกว่านี้นั้นเป็นไม่มีอีก" แล้วพระศากยมุนีก็ทรงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ เมื่อพระอานนท์ทูลถามสาเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น จึงตรัสว่า
    "อานนท์! เธอคงลืมไปว่า พระโสดาบันนั้นมีการไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง เธออย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย"
    พระอานนท์ก็อาการแช่มชื่นแจ่มใสขึ้น เพราะพระดำรัสประโลมใจของพระศาสดานั้น
    เย็นวันนั้นเองพุทธบริษัทแห่งนครโกสัมพีผู้ใคร่ต่อธรรมมีมือถือดอกไม้ธูปเทียนและสุคันธชาติหลากหลายต่างมุ่งหน้าสู่โฆสิตาราม เพื่อฟังธรรมรสจากพระพุทธองค์ เมื่อพุทธบริษัทพรั่งพร้อมนั่งอย่างมีระเบียบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสก (สบง = ผ้าสำหรับนุ่ง) ซึ่งย้อมไว้ด้วยดีแล้ว ทรงคาดพระกายพันธนะ (ประคตเอว = ผ้ารัดเอว) อันเป็นประดุจสายฟ้า ทรงครองสุคตมหาบังสุกุลจีวร อันเป็นประดุจผ้ากัมพลสีเหลืองหม่น เสด็จออกจาพระคันธกุฎีสู่ธรรมสภาด้วยพุทธลีลาอันงามยิ่งหาที่เปรียบมิได้ ประดุจวิลาสแห่งพระยาช้างตัวประเสริฐ และประดุจอาการเยื้องกรายแห่งไกรสรสีหราช เสด็จขึ้นสู่บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ดีแล้วท่ามกลางมณฑลมาล ซึ่งประทับตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา ทรงเปล่งพระฉัพพัณณรังสีประดุจพระอาทิตย์เปล่งแสงอ่อนๆ บนยอดภูเขายุคันธร เมื่อสมเด็จพระจอมมุนีเสด็จมาถึง พุทธบริษัทก็เงียบกริบ พระพุทธองค์ทรงมองดูพุทธบริษัทด้วยพระหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา ทรงดำริว่า "ชุมนุมนี้ ช่างงามน่าดูจริง จะหาคนคะนองมือคะนองเท้า หรือมีเสียงไอเสียงจามไม่ได้เลย ชนทั้งหมดนี้มีคารวะต่อเรายิ่งนัก ถ้าเราไม่พูดขึ้นก่อน แม้จะนั่งอยู่นานสักเท่าใดก็จะไม่มีใครพูดอะไรเลย แต่เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรม"
    พระองค์ทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงส่งข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ไปสำรวจพุทธบริษัทว่า ใครหนอจะสามารถบรรลุธรรมเบื้องสูงได้บ้างในวันนี้ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุณีโกกิลาว่า มีญาณแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะกังวาน ดังนี้
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขสายหนึ่ง และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบากเปล่าสายหนึ่ง อันผู้หวังความเจริญในธรรมพึงละเว้นเสีย ควรเดินทางสายกลาง คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ คือความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบ และการทำสมาธิชอบ
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องประสบบ้างไม่มากก็น้อย ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง? ท่านทั้งหลาย! ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ความเจ็บความตายก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจ หรือความโศกความร่ำไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรไม่ได้ดังใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุปการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเองเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่
    "ท่านทั้งหลาย! เราตถาคตกล่าวว่าความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหานั้นเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรน ซึ่งมีลักษณะเป็นสามคือดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีแล้วเป็นแล้วเรียกวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งทุกข์ขั้นมูลฐาน
    "ท่านทั้งหลาย การสละคืนโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่างๆ ดับตัณหาคลายตัณหาโดยสิ้นเชิงนั่นแล เราเรียกว่านิโรธคือความดับทุกข์ได้
    "ทางที่จะดับทุกข์ดับตัณหานั้นเราตถาคตแสดงไว้แล้ว คืออริยมรรคมีองค์ ๘"
    "ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย เราตถาคตเองเป็นที่พึ่งแก่ท่านทั้งหลายไม่ได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางบอกทางเท่านั้น ส่วนความเพียรพยายามเพื่อเผาบาปอกุศล ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ทางมีอยู่เราชี้แล้วบอกแล้ว ท่านทั้งหลายต้องเดินเอง"
    พระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันนั้น เหมือนเจาะจงเทศนาแก่ภิกษุณีโกกิลาโดยเฉพาะ นางรู้สึกเหมือนพระองค์ประทับแก้ปัญญาหัวใจของนางให้หลุดร่วง สมแล้วที่ใครๆ พากันชมพระพุทธองค์ ว่าเป็นเหมือนดวงจันทร์ ซึ่งทุกคนรู้สึกเหมือนว่าจงใจจะส่องแสงสีนวลไปให้แก่ตนเพียงคนเดียว
    โกกิลาภิกษุณีส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาปลดเปลื้องสังโยชน์คือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจทีละชั้น จนสามารถประหารกิเลสทั้งมวลได้สำเร็จมรรคผลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งด้วยประการฉะนี้


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  10. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๙. พันธุละกับพระราชา
    วันหนึ่งเวลาเช้า เป็นฤดูใบไม้ผลิ ใบเก่าของพฤกษชาติถูกสลัดร่วงลง และเหี่ยวแห้งอยู่บริเวณโคนต้นที่เน่าเปื่อยไปแล้วก็มีเป็นจำนวนมาก ใบอ่อนซึ่งผลิออกใหม่ดูสวยงามสล้างเสลา มองดูเรียงรายเป็นทิวแถวน่าชื่นชม เมื่อฤดูนี้มาถึงเข้า แทบทุกคนรู้สึกว่าเหมือนได้อาศัยอยู่ในโลกใหม่ น้ำค้างบนยอดหญ้า และใบไม้ยังไม่ทันเหือดแห้งเพราะยังเช้าอยู่ พระอาทิตย์เพิ่งจะทอแสงสาดพื้นพิภพมาไม่นานนัก ลมอ่อนในยามเช้าพัดเฉื่อยฉิวหอบเอากลิ่นน้ำและกลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์ติดมาด้วย นกเล็กๆ กระโดดโลดเต้นด้วยความรำคาญจากกิ่งสู่กิ่งโน้นและจากกิ่งโน้นสู่กิ่งนั้น พลางก็ร้องเหมือนเสียงทักทายกันด้วยความสุขสดชื่นรับอรุณรุ่ง
    พระอานนท์ พุทธอนุชา เดินจงกรมพิจารณาธรรมอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันสดชื่นนี้ พลางท่านก็คิดถึงสุภาษิตเก่าๆ บทหนึ่งว่า
    "กาก็ดำ นกดุเหว่าก็ดำ อะไรเล่าเป็นเครื่องแตกต่างระหว่างกาและนกดุเหว่านั้น แต่เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงเข้า กาก็คงเป็นกา นกดุเหว่าก็คงเป็นนกดุเหว่า
    สาธุชนและทุรชนก็มีรูปลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเปล่งวาจาปราศรัยจึงทราบว่า ใครเป็นสาธุชนและใครเป็นทุรชน"
    ท่านใคร่ครวญต่อไปถึงพระพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธองค์เคยตรัสว่า "ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั่นไม่ชื่อว่าสภา ผู้พูดไม่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ" ฯลฯ
    ขณะนั้นเอง สุภาพสตรีผู้หนึ่งถือดอกไม้ธูปเทียนและข้าวยาคู เดินเข้ามาในบริเวณอาราม เมื่อนางเห็นพระอานนท์ จึงวางของลงแล้วนั่งลงไหว้
    "อุบาสิกา! วันนี้มาแต่เช้าเทียวหรือ" พระอานนท์ทักอย่างสนิทสนม
    "ข้าพเจ้ามีกิจพิเศษด้วย คือจะมาทูลลาพระศาสดากลับไปอยู่บ้านเดิม - กุสินารา พระคุณเจ้า" นางตอบด้วยเสียงสั่นเครือ "และตั้งใจว่าจะลาพระคุณเจ้าด้วย ก็พอดีพบพระคุณเจ้าที่นี่"
    "ทำไมหรือ อุบาสิกา?" พระอานนท์ถามด้วยความสงสัย
    "ท่านเสนาบดีให้กลับพระคุณเจ้า"
    เมื่อพระอานนท์ไม่ซักถามอะไรอีก นางก็นมัสการลาแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ใจนางไม่สบายเลย ไหนจะเป็นห่วงท่านเสนาบดี ที่จะต้องอยู่โดยปราศจากนาง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ นางปรารถนาจะอยู่สาวัตถี เพราะเป็นราชธานีที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บ่อยที่สุดและนานที่สุด การได้อยู่เมืองที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้นเป็นกำไรชีวิตอย่างมากสำหรับความรู้สึกของนาง เมื่อนางถวายบังคมแล้ว พระศาสดาจึงทักว่า
    "มัลลิกา! วันนี้มาแต่เช้า มีธุระอะไรพิเศษหรือ?"
    "หม่อมฉันมาทูลลาพระองค์ เพื่อไปกุสินารา พระเจ้าข้าฯ" นางทูลตอบ
    "ทำไมหรือ?"
    "ท่านเสนาบดีให้กลับไปอยู่กุสินารา พระเจ้าข้าฯ"
    "มีเรื่องอะไรรุนแรงถึงต้องให้กลับเทียวหรือ?"
    "เรื่องก็มีเพียงว่าหม่อมฉันไม่มีบุตร ท่านพันธุละเสนาบดีจึงให้กลับไปอยู่บ้านเดิม เขาบอกว่าหม่อมฉันเป็นหมัน เขาต้องการลูก เมื่อไม่สามารถมีลูกให้เขาได้ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป"
    "เท่านี้เองหรือ มัลลิกา!"
    "เท่านี้เองพระเจ้าข้าฯ"
    "ถ้าเพียงเท่านี้ก็อย่าไปเลย อยู่ที่สาวัตถีนี่แหละ ขอให้บอกท่านเสนาบดีตามคำของตถาคต"
    นางมัลลิกาได้ฟังพุทธดำรัสแล้วดีใจ และโปร่งใจเหมือนนักโทษ ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว และพระราชารับสั่งให้ปล่อยฉะนั้น นางถวายบังคมลาพระศาสดาเดินอย่างร่าเริงกลับออกมาทางเดิม พบพระอานนท์ยังเดินจงกรมอยู่ จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระอานนท์ทราบ ท่านกล่าวว่า
    "อุบาสิกา! ท่านเป็นผู้มีโชคดี ต่อไปนี้ท่านปรารถนาสิ่งใดคงได้สิ่งนั้นสมประสงค์ พระศาสดาไม่เคยตรัสอะไรที่ปราศจากเหตุ การห้ามของพระองค์น่าจะมีเหตุผล ที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่าน จงเบาใจเถิด"
    นางมัลลิกาภรรยาแห่งท่านพันธุละเสนาบดีนี้เป็นสตรีมีบุญผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล มีเครื่องประดับที่มีค่าและทรงเกียรติล้ำ ซึ่งเรียกว่า "มหาลดาปสาธน์" ในสมัยเดียวกัน มีสตรีอยู่สามคนเท่านั้นที่สามารถมีเครื่องประดับนี้ คือนางวิสาขา มหาอุบาสิกาคนหนึ่ง นางมัลลิกาภรรยาพันธุละเสนาบดีคนหนึ่ง และธิดาแห่งเศรษฐีกรุงพาราณสีอีกคนหนึ่ง
    นางกลับไปหาท่านพันธุละด้วยอาการลิงโลดใจ แจ้งเรื่องที่พระศาสดาทรงทัดทานมิให้กลับไปกุสินารา พันธุละคิดว่า พระศาสดาคงทรงเห็นเหตุสำคัญเป็นแน่จึงทรงห้ามไว้ เขาเชื่อในพระสัพพัญญุตญาณแห่งพระพุทธองค์จึงพลอยดีใจกับชายาด้วย เข้าประคองมัลลิกาด้วยความถนอมรักใคร่พลางกล่าวว่า
    "ที่รัก! การที่พึ่งบอกให้น้องกลับกุสินารานั้นจะเป็นเพราะไม่รักน้องก็หามิได้ น้องก็คงทราบว่าวงศ์ตระกูลเป็นสิ่งที่สำคัญ ตระกูลที่ไม่มีบุตรสืบต่อ ย่อมขาดสูญ พี่ไม่ปรารถนาเช่นนั้น พี่เพียงทำตามประเพณีของพวกเราเท่านั้น หญิงที่เป็นหมันย่อมให้สิทธิแก่สามีตนเพื่อมีหญิงอื่นเป็นภรรยาสำหรับมีบุตรสืบสกุลวงศ์ เพราะพี่รักน้องจึงไม่อยากให้น้องอยู่อย่างหน้าชื่นอกตรม พี่ทราบกฎธรรมดาดีว่า ไม่มีสตรีคนใดอยากเห็นสามีของตนมีภรรยาอื่นอย่างตำหูตำตา น้องเป็นสุดที่รักของพี่ แต่ความจำเป็นควรจะอยู่เหนือความรักมิใช่หรือ?"
    มัลลิกาซบอยู่อกของพันธุละ น้ำตาไหลพรากลงอาบแก้ม นางจะสะกดกลั้นอย่างไรก็สุดที่จะห้ามมิได้ มันพรั่งพรูออกมา ความรู้สึกของนางสับสนวุ่นวายทั้งดีใจและเสียใจ ดีใจที่มีโอกาสได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดสามีอันเป็นที่รัก เสียใจที่นางไม่สามารถให้บุตรสืบสกุลแก่เขาได้ ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งสอดแทรกเข้ามาคือรู้สึกสงสารและเห็นใจสามี นางพูดทั้งน้ำตาว่า
    "น้องเข้าใจพี่ดี และพร้อมที่จะทำตามคำบัญชาของพี่ น้องได้มอบทั้งร่างกายและจิตใจให้พี่แล้ว สิ่งที่น้องให้พี่ไม่ได้นั้น เป็นสิ่งสุดวิสัยจริงๆ เท่านั้น ในโลกนี้มีสิ่งอยู่เป็นจำนวนมากที่เราปรารถนาเหลือเกินเพื่อจะได้ แต่ก็ไม่ได้สมตั้งใจ ตรงกันข้าม มีสิ่งอยู่เป็นจำนวนมากที่เราอยากหลีกเลี่ยงและไม่พึงปรารถนา แต่ก็ประสบเข้าจนได้ ที่รักในโลกนี้มีใครเล่าที่จะสมปรารถนาไปเสียทุกอย่าง ทุกชีวิตล้วนคลุกเคล้าไปด้วยยาพิษและน้ำตาล ชีวิตมีทั้งความหวานชื่นและขื่นขม เรามิได้เป็นเจ้าของชีวิต แต่ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นทาสของชีวิต… เป็นไปจนกว่าชีวิตนี้จะสลาย"
    "ทำไมน้องพูดรุนแรงถึงปานนี้" พันธุละทักท้วง เชยคางนางอันเป็นรักให้เงยหน้าขึ้น มองซึ้งลงไปในดวงตาอันเศร้าซึมของมัลลิกา ซึ่งยังมีน้ำตาคลออยู่ ก้มลงจุมพิตเบาๆ เพื่อปลอบใจให้นางสร่างโศก มือหนึ่งลูบไล้ไปตามเรือนเกศาอันอ่อนนุ่มสลายเป็นเงางามเรื่อยลงมาถึงแผ่นหลังซึ่งอวบเต็ม "ชีวิตนี้ไม่มีอะไรรุนแรงนักดอก ความผิดหวัง และความขมขื่น ซึ่งมีเป็นครั้งเป็นคราวนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของความสมหวังและความหวานชื่น ที่รัก? ถ้าไม่มีรสขมอยู่ในโลกนี้ มนุษย์จะรู้จักคุณค่าแห่งรสหวานได้อย่างไร ถ้าไม่มีบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว คนจะรู้จักคุณค่าแห่งร่มพฤกษ์อันรื่นรมย์ได้อย่างไร ถ้าไม่มีสิ่งที่ชั่วมนุษย์จะรู้คุณค่าของสิ่งที่ดีละหรือ? น้องจงมองชีวิตในฐานะเป็นสิ่งรื่นรมย์ และสร้างความหวังอันสดชื่นไว้เสมอ เพื่อชีวิตนี้จะได้สดชื่นขึ้น"
    "จะไม่เป็นการหลอกลวงตัวเองไปหรือ" มัลลิกาเงยหน้าสบตาสามี "ให้เมื่อชีวิตมิได้รื่นรมย์ จะมิเป็นการระบายสีให้แก่ชีวิตจนมองชีวิตที่แท้จริงไม่เห็นไปหรือ?"
    "น้องรัก! ถ้าการหลอกตัวเองนั้นเป็นไปในทางที่ดีในทางสร้างสรรค์ให้ชีวิตนี้ชื่นสุขเราก็ควรจะหลอกลวง มนุษย์เราชอบหลอกลวงตัวเองไปในทางร้าย และเหตุร้ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเราจะไม่ลองหลอกตัวเองไปในทางดีเพื่อผลดีจะเกิดขึ้นจริงๆ บ้าง พระบรมศาสดาก็ตรัสไว้มิใช่หรือว่า "สำคัญที่ใจ" ถ้าใจดี คิดดี ทำดี และพูดดี ผลดีก็ย่อมติดตามมาเหมือนเงาตามตัว บางทีพี่มีความเห็นรุนแรงถึงกับว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลย แต่ความคิดหรือความรู้สึกของเราต่างหากที่ไปรู้สึกเช่นนั้นเข้าเอง ด้วยกฎอันนี้น้องจะเห็นว่าในคนๆ เดียวกันหรือในสิ่งๆ เดียวกันบางคนอาจจะชอบ แต่บางคนอาจจะชัง บางคนว่าดี บางคนว่าไม่ดี พี่เป็นอยู่อย่างนี้ รูปร่างหน้าตาอย่างนี้ เป็นที่รักของน้อง แต่น้องก็คงทราบว่ายังมีคนเป็นอันมากที่ไม่รักพี่ ไม่ชอบพี่ ไม่เพียงแต่ไม่รักไม่ชอบเท่านั้นดอก ถึงกับเกลียดเอามากๆ ก็มีอยู่มิใช่น้อย ถ้าพี่เป็นอย่างอื่นอาจจะเป็นที่รักที่พอใจของคนพวกหนึ่ง แต่อาจจะเป็นที่เกลียดชังของน้องก็ได้ แต่พี่ยอมนะน้อง ยอมให้ใครๆ เกลียดได้โดยไม่สะทกสะท้าน แต่ขอให้เป็นที่รักของมัลลิกาเท่านั้น"
    มัลลิกายิ้มทั้งน้ำตา
    คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง พระอาทิตย์อัสดง ครู่หนึ่งดวงรัชนีก็โผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออก ลมต้นปฐมยามให้ความชุ่มชื่นมิใช่น้อย กลิ่นดอกไม้จากอุทยาน ปลิวมาตามสายลมกระทบฆานประสาทอันไวต่อความรู้สึกของปุถุชนผู้ติดอยู่ในรูปเสียง กลิ่นรสและสัมผัส
    บทประสาทชั้นที่สาม จะมองเห็นมนุษย์คู่หนึ่งเขายืนเคียงกันมองผ่านหน้าต่างออกไปทางตะวันออก ครู่หนึ่งบุรุษผู้มีร่างกายกำยำ สมเป็นนักรบกางแขนประคองสตรีผู้ยืนอยู่เคียงข้าง
    "มัลลิกาที่รัก ท่ามกลางสายลม แสงจันทร์และกลิ่นดอกไม้จากอุทยาน ซ้ำยังมีมัลลิกาอยู่เคียงใกล้เช่นนี้พี่มีความสุขเหลือเกิน ดูเหมือนวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่พี่มีความรู้สึกเหมือนวันแรก ที่พี่และน้องอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ที่รักพี่ขอพูดซ้ำอีกครั้งเถิดว่า พี่รักน้องเหลือเกิน" เขาดึงภรรยายอดรักเข้าสวมกอดด้วยความถนอม
    ต่อมามัลลิกาตั้งครรภ์ และคลอดบุตรครั้งละสองๆ ถึง ๑๖ ครั้ง รวม ๓๒ คน เป็นที่ชื่นชมสมใจของพันธุละและมัลลิกาเองยิ่งนัก บุตรเหล่านี้ล้วนแข็งแรงมีพลานามัยสมบูรณ์ และสำเร็จวิทยาการอันสูงยิ่ง สมเป็นบุตรแห่งเสนาบดีแคว้นมคธอันเกรียงไกร
    ปลายรัชกาลแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศลนั่นเอง ข่าวใหญ่ก็เกิดขึ้นในราชธานีสาวัตถี เป็นข่าวที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จากแคว้นหนึ่งสู่แคว้นหนึ่ง จากเมืองน้อยสู่ตำบลและหมู่บ้านทุกแห่ง ประชาชนต่างโจษจันกันถึงข่าวนี้… พันธุละเสนาบดี และบุตร ๓๒ คนถูกฆ่าตาย"
    ภิกษุในอารามเชตวันกลุ่มหนึ่ง นั่งสนทนากันอยู่ วิพากย์วิจารย์ถึงมรณกรรมของท่านพันธุละ ขณะนั้นนั่งเองพระอานนท์พุทธอนุชาเดินผ่านมา ภิกษุเหล่านั้นลุกขึ้นยืนรับ แล้วปูลาดอาสนะเป็นทำนองเชื้อเชิญพุทธอนุชา พระอานนท์เมื่อนั่งลงเรียบร้อย แล้วจึงกล่าวว่า
    "อาวุโส! ท่านทั้งหลายกำลังสนทนาเรื่องอะไรค้างอยู่?"
    "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังสนทนากันถึงเรื่องมรณกรรมของท่านพันธุละเสนาบดี"
    พระอานนท์มีอาการตรองเหมือนจะปลงธรรมสังเวชอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า
    "อาวุโส! มรณกรรมของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งความจริงท่านผู้นี้คือเจ้าชายแห่งนครกุสินารานั้นก่อความสะเทือนใจแก่ข้าพเจ้ามาก ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ครอบครัวแห่งท่านเสนาบดีรวมทั้งท่านเสนาบดีเองมีความสนิทสนมต่อข้าพเจ้าเพียงไร อนึ่งข้าพเจ้านั้น แม้จะเป็นพระอริยบุคคลก็จริง แต่ก็เป็นเพียงอริยขั้นต้นเท่านั้น ยังหาตัดความโศกและความสะเทือนใจได้ไม่ แต่ที่ยับยั้งอยู่ได้ก็ด้วยมีสติคอยเหนี่ยวรั้งอยู่"
    ภิกษุกลุ่มนั้นมีอาการสงสัย เมื่อพระอานนท์พูดว่า "พันธุละเสนาบดี เป็นเจ้าชายแห่งนครกุสินารา" ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีลักษณะอาวุโสกว่ารูปอื่นๆ ถามขึ้นอย่างนอบน้อมว่า "ข้าแต่ท่านผู้ทรงธรรม ข้าพเจ้าสงสัยในคำกล่าวของท่านที่ว่า ท่านพันธุละเสนาบดีเป็นเจ้าชายแห่งนครกุสินารา เท่าที่ข้าพเจ้าทราบและเห็นข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านพันธุละ เป็นเชื้อไขแห่งราชธานีสาวัตถีนี่เอง เพราะเป็นเสนาบดีแห่งนครนี้ และเป็นที่รักของทวยนครแคว้นโกศลเหลือเกิน ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพันธุละเสนาบดีเป็นชาวกุสินาราโดยกำเนิด"
    "ดูก่อนศากยบุตร" พระอานนท์กล่าวอย่างช้าๆ "ท่านทั้งหลายยังมีอายุน้อย และเป็นชาวแคว้นอื่น เพิ่งเดินทางมาสู่ราชธานีแห่งแคว้นโกศลไม่นานนักจึงยังหาทราบความเดิมแห่งท่านเสนาบดีไม่ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ข้าพเจ้าก็จะเล่าให้ท่านฟังแต่เพียงสังเขป"
    "เมื่อภิกษุเหล่านั้นแสดงอาการยอมตามและวิงวอนเพื่อให้ท่านเล่าความเป็นมาแห่งพันธุละเสนาบดีแล้ว พระอานนท์จึงกล่าวว่า
    ภราดร! นับถอยหลังไปจากนี้ประมาณ ๓๐ ปีเศษ เมื่อท่านพันธุละเสนาบดียังอยู่ในวัยหนุ่ม และสำเร็จการศึกษาจากสำนักตักกศิลาแล้วกลับสู่กุสินารานครนั้น ได้รับการต้อนรับจากพระชนกชนนี และพระประยูรญาติอย่างมโหฬารยิ่ง สมพระเกียรติแห่งพระราชกุมาร พันธุละเป็นเจ้าชายรูปงาม เสียสละ อดทน และรักเกียรติ เป็นราชประเพณีที่ราชกุมารผู้สำเร็จการศึกษามาจะต้องแสดงศิลปศาสตร์ให้ปรากฏแก่พระประยูรญาติและทวยนาคร วิชาที่พันธุละชำนาญมากก็คือวิชาฟันดาบและยิงธนู"
    เมื่อมีการทดลองฟังดาบ พระญาติได้นำไม้ไผ่มามัดรวมเข้าด้วยกันมัดละหลายลำและยกให้สูงขึ้น แล้วให้พันธุละกุมารกระโดดขึ้นไปฟัน พันธุละฟันมันไม้ไผ่เหล่านั้นขาดสะบั้นเหมือนฟันต้นกล้วย แต่บังเอิญได้ยินเสียงดังกริกในไม้ไผ่มัดสุดท้าย เมื่อพันธุละกระโดดลงมาแล้ว ถามทราบความว่า เสียง 'กริก' นั้นเป็นเสียงของซี่เหล็กที่พระญาติแกล้งใส่ไว้ในมัดไม้ไผ่ทุกๆ ลำ พันธุละเสียใจว่าพระญาติของพระองค์ไม่มีใครหวังดีกับพระองค์เลย จึงไม่บอกล่วงหน้าว่าได้สอดซี่เหล็กไว้ในลำไม่ไผ่ด้วย ถ้าพระองค์ทรงทราบล่วงหน้าจะฟันไม่ให้มีเสียงดังเลย จึงกราบทูลพระชนกชนนีว่า จะฆ่ามัลลกษัตริย์แห่งกุสินาราให้หมดแล้วจะเป็นกษัตริย์เอง เมื่อถูกพระมารดาทัดทานไว้และตรัสว่า เป็นสิทธิของพระประยูรญาติที่จะทำอย่างนั้นได้ พันธุละจึงไม่ปรารถนาจะอาศัยในกุสินาราต่อไป เพราะรู้สึกอับอายที่ฟันไม้ไผ่ให้มีเสียงดัง
    "อาวุโส! ธรรมดาของชายใจสิงห์นั้นย่อมรักเกียรติและศักดิ์ยิ่งนัก จะไม่ยอมอยู่ในที่ไร้เกียรติ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกตัวว่าไม่มีเกียรติพอในกุสินารา ท่านพันธุละจึงตั้งใจจะไปอยู่เมืองอื่น แต่จะไปไหน ทรงระลึกถึงพระสหายร่วมสำนักศึกษารุ่นเดียวกันอยู่หลายคน ในที่สุดทรงมองเห็นปเสนทิกุมารแห่งสาวัตถีว่าน่าจะพออาศัยอยู่ได้เพราะเป็นสหายที่รักใคร่กันมาก และปเสนทิกุมารก็ทรงมีอัธยาศัยดี จึงส่งสาส์นไปทูลความทั้งหมดให้ปเสนทิราชาทรงทราบ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยยิ่งนัก ที่จะได้พระสหายร่วมสำนักศึกษา และปรากฏเป็นผู้มีฝีมือเป็นเลิศมาทำราชการในราชสำนักแห่งพระองค์ อย่างน้อยๆ พันธุละคงจะเป็นที่ปรึกษาของพระองค์อย่างดีเลิศ"
    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้จัดการต้อนรับพระสหายอย่างมโหฬาร และทรงตั้งไว้ในต่ำแหน่งเสนาบดีเป็นที่ปรึกษาราชการทั้งปวง พันธุละทำราชการด้วยความรู้ความสามารถดีเยี่ยม
    วันหนึ่งขณะที่พันธุละกลับจากธุรกิจบางอย่างและผ่านมาทางโรงวินิจฉัย เมื่อประชาชนเห็นท่านพันธุละจึงขอร้องให้หยุด และให้ช่วยวินิจฉัยความ เพราะคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาไม่เป็นที่พอใจของคู่ความ ผู้พิพากษากินสินบน ใครสามารถให้เงินทองแก่คู่ความข้างใดข้างนั้นก็จะชนะ ส่วนฝ่ายที่ยากจนไม่มีเงินทองแม้จะถูกก็กลับกลายเป็นฝ่ายผิด ประชาชนทนเดือดร้อนและขื่นขมมาเป็นเวลานาน จนสุดที่จะทนได้
    อาวุโส! ธรรมดาว่าความอดทนของปุถุชนนั้นย่อมมีขอบเขต เมื่อเลยขอบเขตที่จะทนได้ต่อไปก็จะระเบิดออกมา และจะกลายเป็นผลร้ายอย่างยิ่งแก่ผู้กดขี่ทารุณ จะมีความชอกช้ำ และขมขื่นใดเล่าเสมอด้วยการไม่ได้รับความยุติธรรม อยุติธรรมนั้นจะถูกจดจำฝังใจของผู้ได้รับไปตลอดชีวิต นึกขึ้นทีไรมันเหมือนปลายหอกขวางอยู่ที่อก แต่ผู้เป็นใหญ่ที่จะทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น ก็คือผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม รู้จักละอายใจในการแสวงหาความสุขสำราญบนความเดือนร้อนของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้พระศาสดาจึงตรัสว่า ความละอายใจในการทำชั่วและความกลัวต่อผลอันเผ็ดร้อนของความชั่ว ๒ ประการนี้เป็นธรรมคุ้มครองโลกให้สงบสุข โอกาสสำหรับการทำชั่วนั้น ย่อมมีอยู่เสมอสำหรับผู้ขาดธรรม ปราศจากธรรม
    พระศาสดาตรัสว่า "เมื่อฝูงโคกำลังว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคนายฝูงนำดี โคทั้งหลายก็จะปลอดภัยขึ้นสู่ท่าที่ถูกต้อง ไม่ถูกน้ำพัด แต่ถ้าโคนายฝูงนำไม่ดี โคทั้งหลายย่อมเดือนร้อนได้รับอันตรายฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ ถ้าเขาตั้งอยู่ในธรรม ซื่อสัตย์สุจริตประชาชนผู้เดินตามก็น่าจะตั้งอยู่ในธรรมและซื่อสัตย์สุจริตด้วย รัฐจะมีความสุข ถ้าผู้เป็นใหญ่ประพฤติธรรม"
    ท่านพันธุละเสนาบดี แม้จะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการวินิจฉัยความ แต่เมื่อประชาชนขอร้องท่านก็ต้องทำ และเมื่อวินิจฉัยไปแล้วปรากฏว่าเป็นที่พอใจของมหาชนอย่างยิ่ง ทำเจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทำผู้ทุจริตให้พ่ายแพ้ ประชาชนชื่นชมยินดีโห่ร้องขึ้นอึงคะนึง จนได้ยินถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ตรัสถามเรื่อง ทรงทราบความแล้วทรงโสมนัสยิ่งนัก จึงทรงตั้งท่านพันธุละไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษาอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
    เรื่องร้ายในโรงวินิจฉัยสงบเรียบร้อยตลอดมา แต่ท่านทั้งหลายก็ต้องไม่ลืมว่า คนดีก็มีศัตรูเหมือนกัน และคนที่เป็นศัตรูของคนดีนั้นคือคนร้าย เมื่อคณะผู้พิพากษาผู้กินสินบนชุดเก่าถูกถอดออก ก็โกรธเคืองและเกลียดชังท่านพันธุละ ยิ่งมหาชนเคารพยกย่องท่านพันธุละมากเท่าใด คนพวกนั้นก็ยิ่งเกลียดชังท่านพันธุละมากขึ้นเท่านั้น ความเกลียดชังที่เกิดจากความไม่ดีของผู้อื่น เป็นความเกลียดชังที่พอจะระงับได้บ้าง แต่ความเกลียดชังที่มีแรงริษยาผสมอยู่ด้วยนั้น จะคอยเร่งเร้าให้บุคคลหาช่องทางทำลายผู้ที่ตนเกลียดชังอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้คณะผู้พิพากษาชุดนั้นจึงพยายามแหย่ให้พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เกลียดชังท่านพันธุละ โดยคาดหมายว่าอย่างไรเสียเรื่องจะต้องถึงพระกรรณพระเจ้าปเสนทิโกศล และก็เป็นจริงสมคะเน เรื่องที่ยุแหย่ให้เกลียดชังก็คือเรื่องรัชสมบัติ "พันธุละต้องการจะแย่งรัชสมบัติ"
    "ดูก่อนท่านผู้สืบอริยวงศ์!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับสตรียิ่งไปกว่าทราบว่าสามีอันเป็นที่รักของตนแบ่งใจให้หญิงอื่น เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับบุรุษยิ่งไปกว่าถูกหยามเกียรติว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถ เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับคชสารยิ่งไปกว่าถูกเห็นร่วมสังวาสกับนางพัง เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับพระราชายิ่งไปกว่าถูกแย่งราชสมบัติ"
    "อาวุโส! ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อทรงเชื่อว่าท่านพันธุละคิดกบฏ ก็ทรงวางแผนสังหารท่านพันธุละทันที พระองค์ประสงค์จะยืมมือทหารของพระองค์ให้ฆ่าท่านพันธุละ จึงกุข่าวขึ้นว่าปัจจันตชนบทแห่งแคว้นโกศลมีโจรกลุ่มหนึ่ง กำเริบใจ เที่ยวปล้นและฆ่าชาวบ้านอย่างทารุณ ทำบ้านมิให้เป็นบ้าน ทำนิคมไม่ให้เป็นนิคม พระองค์ทรงมองไม่เห็นใครอื่นที่จะปราบได้นอกจากพันธุละเสนาบดี"
    เมื่อท่านพันธุละพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คน เตรียมเดินทางไปปัจจันตชนบทนั่นเอง นางมัลลิการู้สึกสังหรณ์ใจอย่างบอกไม่ถูก
    "พี่ คนอื่นในเมืองสาวัตถีนี่ ไม่มีอีกแล้วหรือนอกจากท่านพันธุละ" นางถามอย่างกังวล
    "เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ เราก็ต้องไป" ท่านพันธุละพูดอย่างเครียด
    "ทำไมเรื่องโจรปล้นชาวบ้านเท่านี้เอง จะต้องสั่งเสนาบดีไปปราบ เพียงแต่ตำรวจหรือทหารธรรมดาก็น่าจะเพียงพอแล้ว" มัลลิกาท้วง
    "น้องรัก" ท่านพันธุละยังคงพูดอย่างเคร่งขรึม "นี่ว่าพระองค์ส่งพี่ไปปราบโจร แม้พระองค์ทรงเห็นว่าพี่สมควรจะปราบควายเปลี่ยวแล้วสั่งพี่ไป พี่ก็จะต้องไป ยิ่งกว่านั้นถ้าพระองค์จะส่งพี่ไปต่อสู้กับความตาย พี่ก็ต้องไป พระราชาเป็นเจ้าชีวิต น้องรัก ชีวิตของเราเป็นของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงต้องการเมื่อไรเราก็ต้องถวายทันที"
    "แต่น้องรู้สึกสังหรณ์ใจอย่างไรพิกล พี่เคยจากน้องไปราชการอยู่เสมอมิใช่ไม่เคยไป น้องไม่เคยสังหรณ์และวิตกกังวลเหมือนครั้งนี้ พี่ไม่ไปไม่ได้หรือ?" นางพร่ำพลางกอดเอวของท่านเสนาบดีไว้
    "พี่บอกน้องแล้วว่า เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ พี่ก็ต้องทำตาม คงไม่เป็นไรดอกน้อง อย่ากังวลเลย" พันธุละปลอบ
    "แล้วทำไมต้องเอาลูกๆ ไปทั้งหมดด้วย ลูกไม่ต้องไปไม่ได้หรือ?"
    "นี่ก็เป็นพระบรมราชโองการอีกเหมือนกัน" เมื่อนึกถึงลูก ท่านเสนาบดีก็มีสีหน้าหม่นหมองลงเล็กน้อย แต่ก็กลับแช่มชื่นขึ้นอย่างเดิม ในชั่วระยะเวลาเล็กน้อย
    "ไม่เอาทีฆการายนะ หลานชายไปด้วยหรือ?"
    "ไม่มีพระบรมราชโองการให้พาไป"
    "น้องขอไปด้วย"
    "อย่าไปเลย ที่รัก เป็นเรื่องของพี่และลูกๆ เท่านั้น"
    "อาวุโส" พระอานนท์เล่าต่อ "ท่านพันธุละพูดเหมือนรู้เรื่องล่วงหน้าอยู่ตลอดเวลา นางมัลลิกาสังหรณ์ใจ เป็นความสังหรณ์ที่มีเหตุผลเหลือเกิน ภราดร! ความสังหรณ์ใจของสตรีนั้นมักจะมีเหตุผลเสมอ สภาพดวงจิตของสตรีหวั่นไหวง่าย ดังนี้จึงสามารถรับอารมณ์อันเร้นลับได้ง่าย เหมือนน้ำตื่นย่อมกระเพื่อมได้เร็ว ประสาทที่ ๖ ของคนไวต่ออารมณ์อันเร้นลับเสมอ
    "อาวุโส" เมื่อมีข่าวท่านพันธุละออกปราบโจรด้วยตนเอง โจรที่ก่อความวุ่นวายก็หลบหนีไป ความจริงโจรพวกนี้ก็คือราชบุรุษที่พระเจ้าปเสนทิทรงแต่งไปนั้นเอง และก็หาได้ปล้นหรือทำร้ายชาวบ้านอย่างข่าวลือไม่ เมื่อท่านพันธุละเดินทางกลับมานครสาวัตถีนั่นเอง ทหารที่พระเจ้าปเสนทิแต่งตั้งไว้ให้ไปในขบวนของท่านพันธุละได้ลอบฆ่าท่านเสนาบดีและลูกๆ ทั้งหมด"
    "ท่านผู้เจริญ" ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวขึ้น "ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ท่านพันธุละ จะไม่ทราบแผนการของพระเจ้าปเสนทิ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าท่านพันธุละเป็นเสนาบดีใจสิงห์พลัดพรากบ้านเมืองมาและหวังจะพึ่งร่มเงาของเพื่อน เมื่อเพื่อนคิดฆ่าก็ไม่ทราบจะอยู่ไปทำไม ตายเสียดีกว่า"
    "อนึ่ง ตามเค้าเรื่อง ถ้าท่านพันธุละปรารถนารัชสมบัติในกรุงสาวัตถีท่านก็สามารถเอาได้โดยง่าย แต่ความจงรักภักดี และซื่อสัตย์กตัญญูทำให้ท่านยอมตายดีกว่าที่จะทำการอสัตย์อกตัญญู พระเจ้าปเสนทินั้นเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นกษัตริย์ที่โง่เขลา และพระกรรณเบาด้วย ข้าพเจ้าไม่ปลงใจเชื่อเลยว่า ท่านพันธุละจะไม่ทราบถึงแผนการของพระเจ้าปเสนทิ" ภิกษุรูปนั้นพูดเสียงเครียดเหมือนจะเจ็บร้อนแทนท่านพันธุละเสนาบดี
    พระอานนท์นิ่งอึ้งในท่าตรอง ท่านมองเหม่อไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย ทุกคนเงียบ ทุกคนคิด นิ่งและนาน
    "อาวุโส!" พระพุทธอนุชากล่าวขึ้น "ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิก็ทราบความจริงภายหลังว่า พันธุละมิได้คิดแย่งรัชสมบัติเลย ทรงเสียพระทัยอย่างใหญ่หลวงจนหาความสุขในรัชสมบัติมิได้ แต่พระองค์ทรงรู้พระองค์เมื่อได้เสียคนดีไป อย่างจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว และสมัยที่พระองค์ทรงระลึกถึงพันธุละมากที่สุด ก็คือสมัยที่มีราชกิจสำคัญๆ ซึ่งพระองค์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยพระสติปัญญาของพระองค์เอง"
    "อาวุโส! คนสอพลอนั้นนอกจากหาความสุขให้แก่ตนมิได้แล้ว ยังจะก่อความยุ่งยากแก่คนดีคนบริสุทธิ์มากมาย แต่โลกก็ไม่เคยขาดแคลนคนประเภทนี้ เขาแสดงอาการพินอบพิเทาต่อหน้าเจ้านายเสียจนออกหน้าออกตา และเหมือนแสร้งทำเมื่อได้มีโอกาสอยู่ตามลำพังกับเจ้านายเขาก็เริ่มลงมือทับถมความดีของเพื่อนและคุ้ยเขี่ยความร้ายต่างๆ ของเพื่อนขึ้นเสนอนาย คนประเภทนี้อยู่ที่ใดก็เดือดร้อนที่นั้น แต่ก็ดูเหมือนจะซอกแซกอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าไม่มีคนประเภทดังกล่าวนี้ ไฉนเลยท่านพันธุละจะต้องตายอย่างหน้าเศร้าและสังเวชใจ" พระอานนท์พูดจบแล้วบอกลาภิกษุเหล่านั้น แถลงว่าถึงเวลาที่จะต้องเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  11. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย
    เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อนาวรณญาณทรงสละละทิ้งสังขารอันประกอบขึ้นเหมือนสัมภาระที่ใช้สอย เช่น เกวียน เป็นต้น เข้าสู่มหาปรินิพพานอันบรมสุขเกษมศานติ์จากความทรมานทั้งปวงแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาซึ่งบัดนี้เป็นเสมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้า ก็จาริกไปในที่ต่างๆ โดยเดียวดาย จากแคว้นสู่แคว้น จากราชธานีสู่ราชธานี และบทจรสู่คามนิคมชนบทต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวกบ้าง เพื่อโปรดให้ประชานิกรดำรงในคุณธรรมสัมมาปฏิบัติบ้าง เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน
    สมัยหนึ่ง พระพุทธอนุชาออกจากสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล มุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ถึงลำน้ำยมุนา เดินเลียบลำน้ำนี้ลงตอนใต้ อันเป็นที่ตั้งแห่งโกสัมพีราชธานีแห่งแคว้นวังสะ
    อันว่านครโกสัมพีนี้ รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการมากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นย่านกลางแห่งการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างโกศล มคธ และเมืองผ่านต่างๆ ทางใต้และทางตะวันออกอีกด้วย
    ลำน้ำยมุนาอันสวยงามตระการยิ่งนักนั้น ก็ไหลมาจากแดนอันขจรนามแต่กาลไกลสมัยมหาภารตยุทธ นั่นคือหัสดินปุระนครซึ่งปรักหักพังแล้ว และท่วมท้นกุรุซึ่งปาณฑพและเการพได้ทำสงคราม เพื่อชิงชัยความเป็นใหญ่กัน ความงามของนครโกสัมพีย่อมติดตาเตือนใจของอาคันตุกะผู้มาเยือนไปตลอดชีวิต มองไปจากฝั่งยมุนาจะเห็นกำแพงปราการบ้านเรือนสลับสล้าง ดูเป็นลดหลั่นยอดปราสาทแห่งอุเทนราชนั้น เมื่อต้องแสงสุริยายามจะอัสดงก็ส่องแสงเหมือนมีอาทิตย์อยู่หลายดวง การสัญจรทางเรือคับคั่ง มีเรือน้อยใหญ่ประดับด้วยธงทิวสีต่างๆ ดูงามตา
    เมื่อพระอานนท์มาใกล้นครโกสัมพีนั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ทุ่งสาลีเกษตรยามต้องแสงอาทิตย์ในสายัณหกาลมองดูประหนึ่งปูลาดด้วยแผ่นทอง พระพายรำเพยเพียงแผ่วเบาต้องกายพระมหาเถระก่อให้เกิดความชุ่มเย็น เฉกมารดาลูบคลำบุตรสุดที่รักด้วยใจถนอม ณ เบื้องบนก้อนเมฆสลับซับซ้อนเป็นทิวแถวลอยละลิ่วตามแรงลม มองดูเป็นสีม่วงสลับฟ้าตระกาลตายิ่งนัก
    พระผู้เป็นพหูสูต หาได้มุ่งเข้าสู่เขตนครโกสัมพีไม่ ท่านต้องการแสวงหาที่สงัด และ ณ ที่นั้น แห่งใดเล่าจะสงัดเท่าป่าไม้ประดู่ลาย เพราะฉะนั้นพระมหาเถระจึงเยื้องย่างด้วยลักษณาการอันน่าทัศนาเข้าสู่ป่านั้นด้วยหทัยที่แช่มชื่นเบิกบาน
    เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้วไม่นาน ดวงจันทร์แจ่มจรัสก็โผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ด้านตะวันออก ป่าประดู่ลายเงียบสงัดวังเวง เหมาะสำหรับผู้แสวงหาวิเวกอย่างแท้จริง เนื่องจากภิกษุแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ ป่านี้จึงมีเสนาสนะน้อยๆ อยู่หลายหลังสำหรับพักอาศัย หลังหนึ่งเพียงผู้เดียว พระเถระเลือกได้กระท่อมหลังหนึ่ง เมื่อปูลาดนิสีทนะลงแล้วก็นั่งขัดสมาธิ หลับตาอยู่ตลอดปฐมยามแห่งราตรี และพักผ่อนเมื่อกึ่งมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว
    ปัจจุสกาล แสงสีขาวทางทิศตะวันออกเริ่มทาบขอบฟ้าจากทิศเหนือตลอดไปทางทิศใต้ ลมรุ่งอรุณพัดเฉื่อยฉิว เสียงกาซึ่งเพิ่งออกจากรวงรังเพื่อแสวงภักษาหาร บินผ่านป่าประดู่ลายพร้อมด้วยเสียงร้องกาๆ บริเวณป่าประดู่ลายยังคงเงียบสงัด ได้ยินแต่เพียงเสียงใบไม้ไหวกระทบกันเป็นครั้งคราว พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐเดินวนเวียนมาอยู่หน้ากระท่อมน้อย โดยอาการที่เรียกกันว่าเดินจงกรม เพื่อพิจารณาหัวข้อธรรม
    ท้องฟ้าสางแล้ว แสงสว่างสาดไปทั่วบริเวณไพรโน้มน้อมมนัสแห่งพระอานนท์ให้แจ่มใสชื่นบาน ท่านเตรียมนุ่งอันตรวาสก และครองอุตตราสงค์เป็นปริมณฑลเรียบร้อย ถือบาตรเข้าสู่นครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต
    มีผู้คอยดักถวายอาหารแก่มุนีอยู่เป็นแห่งๆ สมณศากยบุตรเป็นที่คุ้นตาของประชาชนชาวโกสัมพีแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าสู่นครโกสัมพีเป็นครั้งแรก เมื่อพระอานนท์ได้อาหารพอสมควรแล้ว ท่านก็เดินดุ่มมุ่งเข้าสู่ป่าประดู่ลายตามเดิม ฉันอาหารตามที่ประชาชนศรัทธาถวายด้วยอาการแห่งสามีบริโภค อันเป็นแบบอย่างแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย เสร็จแล้วท่านก็ยังยั้งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยวิหารธรรมอันประเสริฐ จนกระทั่ง…
    วัฒนฉายากาล พระอาทิตย์โคจรผ่านกึ่งกลางฟ้าไปแล้ว เงาไม้ประดู่ลายที่อยู่โดดเดี่ยวทอดยาวไปทางทิศตะวันออก บรรยากาศรื่นรมย์สงบ เหมาะแก่อนาคาริกมุนี
    ภิกษุรูปหนึ่งร่างกายสูงใหญ่มีสง่าเดินเข้ามาสู่ป่าอันเงียบสงบนี้ เมื่อท่านผ่านมาทางพระอานนท์นั่งอยู่เห็นเป็นสมณะแบบเดียวกัน จึงเข้าไปหาด้วยอาการแห่งมิตร แต่ท่านหาได้รู้จักพระอานนท์ไม่
    "ท่านผู้ทรงพรต" ภิกษุรูปนั้นกล่าวขึ้น "ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะพบท่านผู้ใดในป่าวิเวกแห่งนี้ ท่านคงมุ่งแสวงสันติวรบทเช่นเดียวกับข้าพเจ้า จึงมานั่งอยู่ ณ ที่นี้แต่ผู้เดียว"
    "ท่านผู้บำเพ็ญตบะ!" พระอานนท์ตอบ "ข้าพเจ้าทราบจากเครื่องนุ่งห่มและบริขารอื่นๆ ที่ติดตัวท่านมาว่าท่านเป็นสมณะแบบเดียวกับข้าพเจ้า สมณะแบบเรานี้มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาด้วยกัน ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสไว้มิใช่หรือว่า ความวิเวกเป็นสหายอันประเสริฐ"
    "ท่านผู้ทรงพรต" ภิกษุรูปนั้นกล่าว "พระดำรัสนี้ช่างเป็นพระพุทธภาษิตที่กระตุ้นเตือนเร่งเร้าให้พุทธสาวกพอใจในวิเวกเสียนี่กระไร! ขอประทานโทษเถิด จากลักษณะอาการและคำกล่าวของท่าน ข้าพเจ้าพออนุมานได้ว่า ท่านคงจะมาสู่ธรรมวินัยนี้นานแล้ว ส่วนข้าพเจ้าเองแม้จะมีอายุเหยียบย่างเข้าสู่วัยชรามาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเพิ่งจะอุปสมบทอุทิศพระผู้มีพระภาคเมื่อไม่นานนี่เอง คือเมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งจะบวชได้ ๕ พรรษาเท่านั้น"
    "อาวุโส!" พระอานนท์เปลี่ยนคำแทนชื่อของภิกษุรูปนั้น "ข้าพเจ้าอุปสมบทในสมัยที่พระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ และได้เห็นได้เฝ้าพระองค์เสมอๆ ข้าพเจ้าถือเป็นลาภอันประเสริฐที่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค มิใช่แต่ข้าพเจ้าเท่านั้น ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะได้เข้าเฝ้าและสนทนาด้วย พระองค์เป็นผู้สูงสุดอย่างแท้จริง"
    ภิกษุรูปนั้นแสดงอาการสนใจอย่างเห็นได้ชัด และมีนัยน์ตาวาวด้วยปีติพร้อมด้วยกล่าวว่า "ท่านผู้ทรงพรต! ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่ง ปรารถนาเหลือเกินที่จะทราบพระพุทธจริยาโดยละเอียดจากผู้ซึ่งเคยเข้าเฝ้าเคยฟังธรรมของพระศาสดา ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความปรารถนานั้น แต่ก่อนอื่นข้าพเจ้าปรารถนาใคร่ทราบนามของท่านผู้มีโชคดี พอเป็นเครื่องประดับความรู้ไว้ก่อน ส่วนข้าพเจ้าเองมีนามว่า กัมโพชะ ชื่อเดียวกับแคว้นที่ข้าพเจ้าเกิดซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป ท่านเองก็คงทราบว่าแคว้นกัมโพชะมีชื่อเสียงที่สุดเรื่องพันธุ์ม้าดี"
    พระอานนท์นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง หาได้ตอบคำของพระกัมโพชะทันทีไม่ ท่านกำลังตรึกตรองว่า ควรจะบอกนามของท่านแก่ภิกษุรูปนี้หรือไม่หนอ ภิกษุรูปนี้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง กระหายใคร่ฟังพระพุทธจริยา และเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์ ภิกษุรูปนี้คงจะต้องเคยได้ยินเกียรติคุณของท่านในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับพระศาสดา ถ้าเธอทราบนามของท่านแล้วและได้ฟังพุทธจริยาบางตอนจากท่านเอง คงจะเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่เธอหาน้อยไม่ อาจจะเป็นทางให้เธอได้ธรรมจักษุในไม่ช้า เมื่อคิดถึงประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งแล้ว พระพุทธอนุชาสุกโกทนบุตรจึงกล่าวว่า
    "ภราดร! ข้าพเจ้ายินดีจะเล่าพุทธจริยา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์บางประการบางตอนให้ท่านฟังเท่าที่ข้าพเจ้ารู้เห็นมาด้วยตนเองบ้าง ที่พระศาสดาโปรดประทานเล่าให้ข้าพเจ้าฟังบ้าง อนึ่งข้อที่ท่านอยากทราบนามของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าบอกท่านได้แต่เพียงว่า เมื่อข้าพเจ้ายังครองฆราวาสอยู่ พระญาติวงศ์เรียกข้าพเจ้าว่า 'เจ้าชายอานันทะ' และเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบทแล้วเพื่อนพรหมจารีเรียกข้าพเจ้าว่า 'พระอานันทะ' พระศาสดาเรียก 'อานนท์ อานนท์' อยู่เสมอๆ" พอพระมหาเถระกล่าวจบลง พระกัมโพชะมีอาการตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วอาการแห่งปีติซาบซ่านก็เข้ามาแทนที่ ท่านลุกขึ้นนั่งกระโหย่งประนมมือกราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์ ซบศีรษะอยู่นิ่งและนาน เมื่อท่านเงยหน้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธอนุชาสังเกตเห็นน้ำตาเอ่อเบ้าตาของภิกษุผู้อยู่ในวัยชรารูปนั้น นั่นเป็นสัญญลักษณ์แห่งปีติปราโมชอันหลั่งไหลจากความรู้สึกที่ลึกซึ้ง และปรากฏออกมาทางกรัชกาย และแล้วพระกัมโพชะก็กล่าวว่า
    "ข้าแต่ท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร! เป็นลาภยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าที่ได้มาพบท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐเหมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้า ข้าพเจ้าเดินทางมาหลายเมืองด้วยจุดประสงค์ที่จะได้พบและสนทนากับท่าน ข้าพเจ้าทราบว่าท่านเดินทางมาโกสัมพี ข้าพเจ้าก็ติดตามมา แต่ก็หาได้รู้จักท่านไม่ แม้จะสนทนาอยู่กับท่านที่กระหายใคร่พบอยู่ตลอดเวลาก็ตาม โอ! ช่างเป็นลาภของข้าพเจ้าเสียนี่กระไร! อุปมาเหมือนลูกโคซึ่งเที่ยวติดตามหาแม่ในป่ากว้างและได้พบแม่สมประสงค์ ความรู้สึกของลูกโคนั้นเป็นฉันใด ความรู้สึกของข้าพเจ้าก็เป็นฉันนั้น" แล้วพระกัมโพชะก็กราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง
    "ช่างเถิดผู้มีอายุ" พระอานนท์กล่าว "เรื่องของข้าพเจ้าไม่มีความสำคัญเท่าเรื่องของพระศาสดา อนึ่งท่านบวชอุทิศพระพุทธเจ้าแม้จะนิพพานไปแล้วก็ตาม แต่เรื่องของพระองค์ยังเป็นเครื่องเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่ผู้สดับอยู่เสมอ ท่านได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเล่าถึงพุทธจริยาบางตอนเพื่อเป็นเครื่องประดับความรู้ และประคับประคองศรัทธาปสาทะ ข้าพเจ้าจะขอเล่าให้ท่านฟังเป็นปฏิการแก่ความปรารถนาดีของท่าน" แล้วพระอานนท์ก็กล่าวสืบไปว่า
    "ดูก่อนภราดา! ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี่เอง สมัยหนึ่งพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ด้วยหมู่ภิกษุนักจำนวนร้อย พระองค์หยิบใบไม้มากำพระหัตถ์หนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์ กับใบไม้ในป่านี้ทั้งหมด ไหนจะมากกว่ากัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใบไม้ในป่ามีมากกว่าเหลือหลาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์มีน้อยนิดเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่าฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายนั่นเพียงเล็กน้อย เหมือนใบไม้ในกำมือของเรา ส่วนธรรมที่เรามิได้แสดงมีมากมายเหมือบใบไม้ในป่า ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเราจึงไม่แสดงสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจอีกมากมายเล่า ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตแสดงแต่ธรรมที่จำเป็นเพื่อระงับดับทุกข์เท่านั้น สิ่งนอกจากนี้รู้ไปก็ทำให้เสียเวลาเปล่า
    ภิกษุทั้งหลาย! สมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาหาเรา และถามปัญหา ๑๐ ข้อ ขอให้เราแก้ปัญหาข้อข้องใจนั้น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาให้คลายสงสัย เขาจะละเพศพรหมจรรย์ปัญหา ๑๐ ข้อนั้นล้วนเป็นปัญหาที่ไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อระงับดับทุกข์ รู้แล้วก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น เช่น ปัญหาว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ตายแล้วเกิดหรือไม่ดังนี้เป็นต้น เราไม่ยอมแก้ปัญหานั้น ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า อย่าว่าแต่เธอจะละเพศพรหมจรรย์เลย แม้เธอจะตายไปต่อหน้าต่อตาเรา เราก็หายอมแก้ปัญหาเหล่านั้นของเธอไม่
    ภิกษุทั้งหลาย! ปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าของทุกๆ คน คือปัญหาเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถูกความทุกข์เสียบอยู่ทั้งทางกายและทางใจ อุปมาเหมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรซึ่งกำซาบด้วยยาพิษแล้ว ญาติมิตรเห็นเข้าเกิดความกรุณา จึงพยายามจะช่วยกันถอนลูกศรนั้น แต่บุรุษผู้โง่เขลาบอกว่าต้องไปสืบให้ได้เสียก่อนว่าใครเป็นคนยิง และยิงมาจากทิศไหน ลูกศรทำด้วยไม้อะไร แล้วจึงจะค่อยมาถอนลูกศรออก ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษผู้นั้นจะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่แท้ ความจริงเมื่อถูกยิงแล้ว หน้าที่ของเขาก็คือ ควรพยายามถอดลูกศรออกเสียทันทีชำระแผลให้สะอาดแล้วใส่ยาและรักษาแผลให้หายสนิท หรืออีกอุปมาหนึ่งเหมือนบุคคลที่ไฟไหม้อยู่บนศีรษะ ควรรีบดับเสียโดยพลัน ไม่ควรเที่ยววิ่งหาคนผู้เอาไฟมาเผาศีรษะตน ทั้งๆ ที่ไฟลุกไหม้อยู่
    "ภิกษุทั้งหลาย! สังสารวัฏนี้โพลงอยู่ด้วยเพลิงทุกข์นานาประการโหมให้ร้อนอยู่ทั่ว สัตว์ทั้งหลายดิ้นทุรนทุรายอยู่ในกองทุกข์แห่งสังสารวัฏนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้ดับ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดับทุกข์แห่งตน อุปมาเหมือนบุรุษสตรีผู้รวมกันอยู่ในบริเวณกว้างแห่งหนึ่ง และต่างคนต่างถือดุ้นไฟใหญ่อันไฟลุกโพลงอยู่ทั่วแล้ว ต่างคนต่างก็วิ่งวนกันอยู่ในบริเวณนั้น และร้องกันว่า "ร้อน ร้อน" ภิกษุทั้งหลาย! ครานั้นมีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาดร้องบอกให้ทุกๆ คนทิ้งดุ้นไฟในมือของตนเสีย ผู้ที่ยอมเชื่อทิ้งดุ้นไฟก็ได้ประสบความเย็น ส่วนผู้ไม่เชื่อก็ยังคงวิ่งถือดุ้นไฟพร้อมด้วยร้องตะโกนว่า "ร้อน ร้อน" อยู่นั่นเอง"
    "ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตได้ทิ้งดุ้นไฟแล้วและร้องบอกให้เธอทั้งหลายทิ้งเสียด้วย ดุ้นไฟที่กล่าวถึงนี้คือกิเลสทั้งมวล อันเป็นสิ่งที่เผาลนสัตว์ให้เร่าร้อนกระวนกระวาย ภิกษุทั้งหลาย! อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
    "ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตไม่พิจารณาเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่จะครอบงำรึงรัดใจของบุรุษได้มากเท่ารูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งสตรี ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่พิจารณาเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่สามารถครอบงำรัดรึงใจของสตรีได้มากกว่า รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งบุรุษ
    "ภิกษุทั้งหลาย! กามคุณนี้เรากล่าวว่าเป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นกำลังพลแห่งมาร ภิกษุผู้ปรารถนาจะประหารมาร พึงสลัดเหยื่อแห่งมาร ขยี้พวงดอกไม้แห่งมาร และทำลายกำลังพลแห่งมารเสีย"
    "ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยเยาะเย้ยกามคุณ ณ โพธิมณฑลในวันที่เราตรัสรู้นั้นเองว่า ดูก่อนกาม! เราได้เห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริคำนึงถึงนั้นเอง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก ด้วยประการฉะนี้ กามเอย! เจ้าจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้"
    "ดูก่อนภราดา!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "ครั้งนั้น ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี้ ภิกษุจำนวนมากได้ดวงตาเห็นธรรมและอริยคุณสูงๆ ขึ้นไปด้วยพระพุทธภาษิตอันลึกซึ้งจับใจนี้ พระองค์ทรงใช้อุปมาอุปไมยอันคมคายแยบยล และขมวดพระธรรมเทศนาให้เห็นจุดเด่นที่ทรงประสงค์เหมือนนายช่างผู้ฉลาดเมื่อจะสร้างปราสาท หรือกูฏาคารย่อมจะลงรากปราสาทนั้นให้แน่นหนา และวางเสาอันมั่นคง และสร้างเรือนยอดตะล่อมขึ้นให้ยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรืองด้วยพระธรรมเทศนาโกศลแห่งพระทศพล วิมลอนาวรณญาณอันหาใครเปรียบปานมิได้ในสามภพ"
    "ดูก่อนอาคันตุกะ" พระอานนท์กล่าวต่อไป "ณ กรุงโกสัมพีนี่เอง พระตถาคตเจ้าเคยประทับรอยพระบาท คือพระพุทธจริยาอันประเสริฐ ไว้สำหรับให้คนภายหลังถือเป็นเยี่ยงอย่างดำเนินตาม"
    คือสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงโกสัมพี และสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ โฆสิตาราม ตอนเช้าพระพุทธองค์จะเสด็จออกบิณฑบาต มีประชาชนผู้เลื่อมใสคอยดักถวายเป็นทิวแถว แต่ก็มีกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่งคอยตามด่าว่ากระทบกระแทกเสียดสีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพระองค์เสด็จกลับโฆสิตารามก็ตามไปด่าถึงพระคันธกุฎีด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ เช่น ท่านเป็นโค เป็นลา เป็นอูฐ เป็นสัตว์นรก เป็นต้น เรื่องนี้มีเบื้องหลังคือ
    สมัยหนึ่ง ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคเจ้เสด็จสู่แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นมีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่แห่งหนึ่ง พราหมณ์นายบ้านมีธิดาสาวทรงสิริโสภาคยิ่งนักนามว่า มาคันทิยา ความงามแห่งนางระบือไปทั่ว ชายหนุ่มผู้มั่งคั่งต่างเดินทางโดยเกวียนบ้างโดยรถม้าบ้าง มาสู่คันทิยาคามนี้ เพื่อทัศนามานทิยานารี บางคนก็แต่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ แต่พราหมณ์ผู้บิดายังมองไม่เห็นใครเหมาะสมแก่ธิดาของตน จึงยังไม่ยอมยกให้ใคร มาคันทิยาเป็นที่กล่าวขวัญถึงแห่งปวงชนชาวกุรุอย่างแพร่หลาย จนเมื่อธิดาของสกุลใดเกิดใหม่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะให้พรว่า ขอให้สวยเหมือนมาคันทิยา
    "ดูก่อนอาคันตุกะ แต่ท่านต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า ความงามกับอันตรายนั้นมักจะมาด้วยกันเสมอ ที่ใดมีความงาม ที่นั้นย่อมมีอันตรายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย จะมากหรือน้อยแล้วแต่ขนาดแห่งความงามนั้น และมีอยู่บ่อยครั้งที่เป็นอันตรายไม่เพียงแต่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่แก่เจ้าของความงามนั่นเองอีกด้วย"
    พระศาสดาเสด็จไปถึงบ้านมาคันทิยพราหมณ์ในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขาบูชาไฟอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อได้ทัศนาเห็นพระศาสดาแล้ว พราหมณ์ก็ตะลึงในความงามแห่งพระองค์ ถึงแก่อุทานออกมาว่า ชายผู้นี้งามจริงหนอ เขาเข้าไปหาพระตถาคตเจ้าแล้วกล่าวว่า
    "สมณะ ข้าพเจ้ามองหาชายอันจะคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว แต่จะหาใครงามคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้าเสมอท่านได้ไม่ ขอท่านโปรดยืนอยู่ตรงนี้สักครู่หนึ่ง แล้วข้าพเจ้าจะนำบุตรีมามอบให้ท่าน"
    พระศาสดาแสดงอาการดุษณีภาพ ทรงเหยียบรอยพระบาทให้ปรากฏไว้ด้วยแรงอธิษฐานอันสำเร็จมาจากบารมีแต่ปางบรรพ์ แล้วเสด็จหลีกไปประทับ ณ ใต้ต้นไม้เงาครึ้มต้นหนึ่ง
    พราหมณ์แจ้งข่าวแก่พราหมณี และให้ตบแต่งลูกสาวให้สวยงาม เพื่อนำไปมอบให้ชายผู้หนึ่งอันตนเห็นว่าคู่ควรกัน แล้วพากันออกจากเรือน เมื่อไม่เห็นพระตถาคต ณ ที่เดิมพราหมณ์ก็ประหลาดใจ บังเอิญพราหมณีได้เหลือบเห็นรอยเท้าที่พระพุทธองค์ทรงเหยียบไว้จึงกล่าวกับพราหมณ์ผู้สามีว่า อย่าติดตามมหาบุรุษผู้นี้เลย ผู้มีรอยเท้าอย่างนี้เป็นผู้สละแล้วซึ่งโลกียารมณ์ทั้งปวง พราหมณ์เอย! อันบุคคลผู้เจ้าราคะนั้นมีเท้าเว้ากลางมาก คนเจ้าโทสะหนักส้น ส่วนคนเจ้าโมหะนั้นปลายเท้าจิกลง ส่วยรอยเท้าของบุรุษผู้นี้เป็นผู้เพิกกิเลสได้แล้วอย่างแท้จริง พราหมณ์ต่อว่าภรรยาว่าอวดรู้อวดดี ทำตนเหมือนจระเข้นอนในตุ่ม จึงพาบุตรีและภรรยาเที่ยวตามหาพระศาสดา มาพบเข้าใต้ไม้แห่งหนึ่ง พราหมณ์ดีใจหนักหนา แต่ได้ต่อว่าเป็นเชิงพ้อว่า "สมณะ ข้าพเจ้าบอกให้ท่านยืนรอที่โน้นแต่หายืนคอยไม่ เหมือนไม่ยินดีจะรับบุตรีของข้าพเจ้า สมณะ! บุตรีของข้าพเจ้านี้งามเลิศกว่านารีใดในทั้งปวงในถิ่นนี้ เป็นที่ปองหมายแห่งเศรษฐีคหบดี และแม้แห่งพระราชา แต่ข้าพเจ้าหาพอใจใครเสมอด้วยท่านไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าได้นำนางผู้งามพร้อมมามอบ ณ เบื้องบาทของท่านแล้ว ขอจงรับไว้ และครองกันฉันสามีภรรยาเถิด" พราหมณ์กล่าวจบแล้วสั่งให้บุตรีถวายบังคมพระศาสดา
    พระโลกนาถ ศากยบุตรยังคงประทับดุษณีอยู่ครู่หนึ่ง พระองค์ทรงรำพึงว่า พราหมณ์ผู้นี้มีความหวังดีต่อเรา ต้องการสงเคราะห์เราด้วยสิ่งอันเป็นที่รัก ที่หวงแหนที่สุดแห่งตน แต่สิ่งนี้มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา เราจักปฏิการพราหมณ์ผู้นี้ด้วยอมตธรรม และพราหมณ์ พราหมณีทั้งสองนี้มีอุปนิสัยแก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรมของเราได้ เป็นการมอบสภาพอันไม่แก่และไม่ตายแก่เขา ดำริดังนี้แล้วพระตถาคตเจ้าจึงเอื้อนโอษฐ์ว่า
    "พราหมณ์! ถ้าเราจะเล่าเรื่องบางเรื่องให้ท่านฟัง ท่านจะพอใจฟังหรือไม่"
    "เล่าเถิดสมณะ ข้าพเจ้าพร้อมอยู่แล้ว ท่านมีบุตรภรรยาอยู่แล้วหรือ?"
    นางมาคันทิยา บุตรีแห่งพราหมณ์นั่งเพ่งพิศพระตถาคตเจ้าเหมือนเด็กมองดูตุ๊กตาซึ่งตนไม่เคยเห็น พร้อมๆ กันนั้น มารยาแห่งสตรีซึ่งปรากฏอยู่ในเรือนร่างและนิสัยแห่งอิตถีเพศทุกคนก็เริ่มฉายแวววาวออกมาทางสายตา และริมฝีปากอันบางงามเต็มอิ่มนั้น
    พระตถาคตเจ้าชายพระเนตรดูนางมาคันทิยาหน่อยหนึ่ง ทรงรู้ถึงจิตใจอันปั่นป่วนของนาง แล้วตรัสว่า
    "พราหมณ์! เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่มมีเกศายังดำสนิท ถูกแวดล้อมด้วยสตรีล้วนแต่สะคราญตา เป็นที่ปรารถนาของบุรุษเพศผู้ยังตัดอาลัยในบ่วงกามมิได้ แต่เราเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย จึงสละสมบัติบรมจักร และนางผู้จำเริญตา ออกแสวงหาโมกขธรรมแต่เดียวดาย เที่ยวไปอย่างไม่มีอาลัย ปลอดโปร่งเหมือนบุคคลที่เป็นหนี้แล้วพ้นจากหนี้ เคยถูกคุมขังแล้วพ้นจากที่คุมขัง เคยเป็นโรคแล้วหายจากโรค หลังจากท่องเที่ยวอยู่เดียวดาย และทำความเพียรอย่างเข้มงวดไม่มีใครจะทำได้ยิ่งกว่าอยู่เป็นเวลา ๖ ปี เราก็ได้ประสบชัยชนะอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สงบเยือกเย็นถึงที่สุด ล่วงพ้นบ่วงแห่งมารทั้งปวงทั้งที่เป็นทิพย์และเป็นของมนุษย์ มารและธิดามารคือนางตัณหา นางราคา และนางอรดีได้พยายามยั่วยวนเราด้วยวิธีแปลกๆ เพื่อให้เราตกอยู่ในอำนาจ แต่เราก็หาสนใจไยดีไม่ ในที่สุดพวกมารก็ถอยหนีไปเอง เราชนะมารอย่างเด็ดขาด จนมีนามก้องโลกว่า "ผู้พิชิตมาร"
    พระตถาคตหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ทรงกวาดสายพระเนตรดูทุกใบหน้า ในที่สุดพระองค์ตรัสว่า
    "พราหมณ์, เมื่อได้เห็นนางตัณหา นางราคา และนางอรดี ซึ่งทรงความงามเหนือสามโลก เราก็หาพอใจแต่น้อยไม่ ก็ทำไมเล่า เราจะพอใจในสรีระแห่งธิดาของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยมูตรและคูถ พราหมณ์เอย! อย่าว่าแต่จะให้แตะต้องด้วยมือเลย เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า"


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  12. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๑. บนกองกระดูกแห่งตัณหานุสัย
    "ดูก่อนภราดร!" พระอานนท์เล่าต่อไป "พระดำรัสตอนสุดท้ายของพระผู้มีพระภาค เป็นเสมือนสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงบนใบหน้าของบุตรีพราหมณ์ นางรู้สึกร้อนผ่าวไปหมดทั้งร่าง สำหรับสตรีสาวอะไรจะเป็นเรื่องเจ็บปวดยิ่งไปกว่าการเสนอตัวให้ชาย แล้วถูกเขาเขี่ยทิ้งอย่างไม่ไยดี ดังนั้นนัยน์ตาซึ่งเคยหวานเยิ้มของนางจึงถูกเคี่ยวให้เหือดแห้งไปด้วยไฟโทสะ ใบหน้าซึ่งเคยถูกชมว่างามเหมือนจันทร์เพ็ญนั้น บัดนี้ได้ถูกเมฆคือความโกรธเคลื่อนเข้ามาบดบังเสียแล้ว นางผูกใจเจ็บในพระศาสดาสุดประมาณ
    พระตถาคตเจ้าสังเกตเห็นกิริยาอาการของนางโดยตลอด แต่หาสนพระทัยอันใดไม่ ทรงแสดงอนุปุพพิกถาพรรณนาถึงเรื่องทาน ศีล ผลแห่งทาน ศีล โทษของกาม และอานิสงส์แห่งการหลีกเร้นออกจากกาม ที่เรียกว่าเนกขัมมะ ฟอกอัธยาศัยแห่งพราหมณ์และพราหมณีจนทรงเห็นว่ามีจิตอ่อนควรแก่พระธรรมเทศนาชั้นสูงแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงประกาศสามุกกังสิกา ธรรมเทศนาคือ อริยสัจ ๔ ประหนึ่งช่างย้อมผู้ฉลาด ฟอกผ้าให้สะอาดแล้วนำมาย้อมสีที่ตนต้องการ
    พระธรรมเทศนาจบลงด้วยการสำเร็จมรรคผลของพราหมณ์และพราหมณี พระพุทธองค์เสด็จจากอาสนะทิ้งมาคันทิยคามไว้เบื้องหลังมุ่งสู่ชนบทอื่นเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ต่อไป
    ความงามแห่งสตรีมักจะเป็นเหมือนดาบสองคม คือให้ทั้งคุณและโทษแก่เธอ และมีสตรีน้อยคนนักที่จะจับแต่เพียงคมเดียว เพราะฉะนั้นเธอจึงมักประสบทั้งความสุขและความเศร้า เพราะความงามเป็นมูลเหตุ กฎข้อนี้พิสูจน์ได้ด้วยชีวิตของนางมาคันทิยคาม ซึ่งข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟังต่อไป
    ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด ในการที่จะแก้แค้นพระศาสดา เครื่องมือในการใช้ความพยายามของนางมีอย่างเดียวคือความงาม เมื่อมีความพยายาม ความสำเร็จย่อมตามมาเสมอ และในความพยายามนั้น ถ้าจังหวะดีก็จะทำให้สำเร็จเร็วขึ้น ดังนั้นต่อมาไม่ช้านัก นางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งโกสัมพี โดยวิธีใดไม่แจ้ง นับว่าได้เป็นใหญ่เป็นโตพอที่จะหาทางแก้แค้นพระศาสดาได้โดยสะดวก ดังนั้นเมื่อนางทราบว่าพระตถาคตเจ้าเสด็จมาโกสัมพี นางจึงยินดียิ่งนัก "คราวนี้แหละ พระสมณโคดมผู้จองหองจะได้เห็นฤทธิ์ของมาคันทิยา" นางปรารภเรื่องนี้ด้วยความกระหยิ่มใจ จึงจ้างบริวารของนางบ้าง ทาสและกรรมกรบ้าง ให้เที่ยวติดตามด่าพระศาสดาทุกมุมเมือง ทุกหนทุกแห่งที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป
    ดูก่อนภราดา! ข้าพเจ้าตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่งเหมือนกัน ถูกด่าแรงๆ จิตใจของข้าพเจ้าก็กระวนกระวาย แต่พระตถาคตเจ้าทรงมีอาการแช่มชื่นอยู่เสมอ สีพระพักตร์ยังคงสงบนิ่ง เช่นเดียวกับเวลาได้รับคำสรรเสริญ จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมคือ นินทาและสรรเสริญนั้นเป็นจิตที่ประเสริฐยิ่ง พระองค์ตรัสไว้อย่างและพระองค์ก็ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
    อาวุโส! ตราบใดที่บุคคลยังพอใจด้วยคำสรรเสริญ เขาย่อมยังต้องหวั่นไหวเพราะถูกนินทา ที่เป็นกฎที่แน่นอน พระตถาคตเจ้าทำพระมนัสให้เป็นเช่นแผ่นดินหนักแน่น และไม่ยินดียินร้ายว่าใครจะไปโปรยปรายของหอมดอกไม้ลงไป หรือใครจะทิ้งเศษขยะของปฏิกูลอย่างไรลงไป ข้าพเจ้าเองสุดที่จะทนได้ จึงกราบทูลพระองค์ว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ! อย่าอยู่เลยที่นี่ คนเขาด่ามากเหลือเกิน"
    "จะไปไหน อานนท์" พระศาสดาตรัส มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและสีพระพักตร์
    "ไปเมืองอื่นเถิดพระเจ้าข้า สาวัตถี ราชคฤห์ สาเกต หรือเมืองไหนๆ ก็ได้ ที่ไม่ใช่โกสัมพี"
    "ถ้าเขาด่าเราที่นั่นอีก?"
    "ก็ไปเมืองอื่นอีก พระเจ้าข้า"
    "ถ้าที่เมืองนั้นเขาด่าเราอีก?"
    "ไปต่อไป พระเจ้าข้า"
    "อย่าเลย อานนท์! เธออย่าพอใจให้ตถาคตทำอย่างนั้น ถ้าจะต้องทำอย่างเธอว่า เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่ มนุษย์เราอยู่ที่ไหนจะไม่ให้มีคนรักคนชังนั้นเห็นจะไม่ได้ เรื่องเกิดขึ้นที่ใด ควรให้ระงับลง ณ ที่นั้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยไป อานนท์! เรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตถาคตนั้นจะไม่ยืดยาวเกิน ๗ วัน คือจะต้องระงับลงภายใน ๗ วันเท่านั้น"
    แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไปว่า "อานนท์! เราจะอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่น เหมือนช้างศึกก้าวลงสู่สงคราม ต้องทนต่อลูกศรซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ เพราะคนในโลกนี้ส่วนมากเป็นคนชั่ว คอยแส่หาแต่โทษของคนอื่น เธอจงดูเถิด พระราชาทั้งหลายย่อมทรงราชพาหนะตัวที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ชุมนุมชน เป็นสัตว์ที่ออกชุมนุมชนได้ อานนท์เอย! ในหมู่มนุษย์นี้ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ม้าอัสดร ม้าสินธพ พญาช้างตระกูลมหานาคที่ได้รับการฝึกแล้วจัดเป็นสัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่คนที่ฝึกตนดีแล้วยังประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น
    ดูก่อนอานนท์! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตน เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุดผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิ เป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น
    ในที่สุดทาสและกรรมกร ที่พระนางมาคันทิยาว่าจ้างมาด่าพระมหาสมณะก็เลิกราไปเอง เพราะเขาทั้งหลายรู้สึกว่าเขากำลังด่าเสาศิลาแท่งทึบซึ่งไม่หวั่นไหวเลย ความพยายามของพระนางมาคันทิยาเป็นอันล้มเหลว อาวุโส! พระศาสดาเคยตรัสไว้ว่า ภูเขาศิลาล้วนย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลมจากทิศทั้ง ๔ ฉันใด บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวเพราะคำนินทาและสรรเสริญฉันนั้น
    ในพระดำรัสของพระศาสดาตอนต้น ท่านคงจำได้ว่าพระองค์ตรัสถึงม้าอัสดร ม้าสินธพ และสัตว์อาชาไนยรวมทั้งพญาช้างตระกูลมหานาค ข้าพเจ้าขอไขความเรื่องนี้สักเล็กน้อย
    ม้าอัสดรนั้น คือสัตว์ผสมระหว่างม้าและลา คือแม่ม้า พ่อลา ลูกออกมาจึงได้ลักษณะที่ดีเยี่ยม คือได้ลักษณะเร็วจากแม่และได้ลักษณะทนทานจากพ่อ ม้าเป็นสัตว์ที่มีฝีเท้าเร็วมาก จนได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า "มโนมัย" หมายความว่า "สำเร็จดังใจ" ส่วนลานั้นทนทานมากในการนำภาระหนัก ปีนที่โกรกชันก็เก่ง เมื่อลักษณะทั้ง ๒ ประการมารวมกัน คือทั้งเร็วและทน ก็เป็นคุณลักษณะที่ดีเยี่ยม
    หันมามองดูมนุษย์เรา ผู้ใดมีคุณลักษณะ ๒ อย่าง คือทั้งเร็วและทนทาน ผู้นั้นก็จัดได้ว่าประเสริฐ คนบางคนมีสติปัญญาดี รู้อะไรได้เร็วแต่ไม่ทนทาน อ่อนแอ เบื่อหน่ายงานง่าย จับจด ในที่สุดก็เอาดีไม่ค่อยได้ ส่วนบางคนทนทาน บึกบึน แต่ขาดสติปัญญา รู้อะไรได้ช้า จึงทำให้เสียเวลามากเกินไปในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และคนในโลกส่วนมากก็มักจะได้ลักษณะเดียว แต่ดูเหมือนพระศาสดาจะทรงสรรเสริญความเพียรพยายามมากอยู่ เมื่อได้พยายามแล้วไม่สำเร็จสมประสงค์ ใครเล่าจะลงโทษผู้นั้นได้
    ม้าสินธพนั้นเป็นพันธุ์ม้า ซึ่งเกิด ณ ลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นม้าพันธุ์ดีมาก แคว้นกัมโพชะถิ่นกำเนิดของท่านก็เป็นแคว้นที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องมีม้าพันธุ์ดีตามที่ท่านกล่าวแล้วแต่หนหลัง ส่วนช้างตระกูลมหานาคก็เป็นช้างตระกูลดี
    กล่าวถึงสัตว์อาชาไนย หมายถึงสัตว์ที่ได้รับการฝึกฝนแล้วให้ควรแก่การงานประเภทนั้นๆ โดยนัยนี้สัตว์ทุกประเภทสามารถเป็นอาชาไนย ถ้าได้รับการฝึกให้เหมาะแก่การใช้งาน แต่บรรดาอาชาไนยด้วยกัน บุรุษอาชาไนยหรือคนอาชาไนยประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนี้พระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า บรรดามนุษย์ด้วยกัน คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐที่สุด
    คำว่าฝึกตนนั้น หมายถึงฝึกจิตของตนให้ดีงามรับได้ ทนได้ แม้ในภาวะที่คนทั่วๆ ไปรู้สึกว่าไม่น่าจะทนได้ การฝึกจิตก็เหมือนการฝึกยกน้ำหนัก ต้องค่อยทำค่อยไปเมื่อได้ที่แล้วก็เป็นจิตที่ทนทาน และมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์
    นางมาคันทิยาเป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทน พระมเหสีใหญ่คือพระนางสามาวดี พุทธสาวิกาเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้ามาก เมื่อพระนางมาคันทิยากลั่นแกล้งพระศาสดาไม่สมประสงค์ ก็หันมาริษยาหาโทษให้พระนางสามาวดี พระนางถูกกล่าวหาหลายเรื่องจนพระเจ้าอุเทนทรงเชื่อและจะประหารชีวิตพระนางสามาวดี แต่พระองค์ทรงทราบข้อเท็จจริงภายหลัง จึงสั่งประหารชีวิตพระนางมาคันทิยาพร้อมทั้งบริวารและญาติด้วยวิธีเรียกได้ว่าทารุณอย่างยิ่ง
    คือพระองค์ให้ขุดหลุมฝังพระนางมาคันทิยาและบริวารเพียงแค่คอ แล้วให้ไถจนอวัยวะขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระนางมาคันทิยาจบชีวิตลงด้วยเรื่องที่พระนางก่อขึ้นเอง
    ดูก่อนภราดา! การคิดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ ย่อมเป็นเหมือนการถ่มน้ำลายรดฟ้าหรือการปาธุลีทวนลม ผู้กระทำย่อมได้รับโทษเอง
    "ดูก่อนท่านแสวงมรรคาแห่งอมตะ!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "พระผู้มีพระภาคเจ้าสำราญพระอิริยาบถ ณ โกสัมพีตามพระอัธยาศัย พอสมควรแล้วก็เสด็จจาริกไปสู่คามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์พอแนะนำได้ให้ดำรงอยู่ในกุศลบถจนกระทั่งหวนกลับไปประทับ ณ กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศลอันเป็นดินแดนแถบเชิงเขาหิมาลัย ความจริงพระพุทธองค์ประทับ ณ กรุงสาวัตถีเป็นเวลาหลายปีที่สุด คือถึง ๒๕ พรรษา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ประทับอยู่รวดเดียว ๒๕ พรรษา พระองค์เสด็จไปๆ มาๆ แต่เมื่อคิดรวมแล้วได้ ๒๕ ปีพอดี คือประทับอยู่ ณ ปุพพารามของนางวิสาขา ๖ ปี และประทับ ณ เชตวันอารามของท่านอนาถปิณฑิกะ ๑๙ ปี
    อันว่าพระนครสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศลนี้ ตั้งอยู่ทางเหนือแห่งแคว้นกาสี มีอาณาเขตไปจนถึงหิมาลัยบรรพต มีแคว้นศากยะอยู่ทางทิศเหนือ โกลิยะอยู่ทางทิศตะวันออก แคว้นโกศลซึ่งมีสาวัตถีเป็นราชธานีนี้ เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่คู่แข่งกับแคว้นมคธ
    โกศลมีเมืองสำคัญสามเมือง คือวาวัตถี อโยธยา ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสรายุ เป็นเมืองสำคัญมาก่อนสมัยพระพุทธองค์ ต่อมาถูกรวมเข้ากับโกศล ส่วนอีกเมืองหนึ่งคือสาเกต อยู่ใกล้กับอโยธยา เจริญขึ้นเวลาเดียวที่อโยธยาเสื่อมลง จึงคล้ายเป็นเมืองแทนอโยธยา สาเกตมีความสำคัญสำหรับโกศลมาก เป็นเมืองบิดาแห่งนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งข้าพเจ้าจะขอไว้เล่าให้ท่านฟังในภายหลัง ระหว่างสาวัตถีถึงสาเกตมีรถด่วนเดินทางวันเดียวถึง รถด่วนนั้นคือรถเทียมม้า ตั้งสถานีไว้ ๗ แห่ง พอถึงสถานีหนึ่งก็เปลี่ยนม้าครั้งหนึ่ง ม้าชุดหนึ่งวิ่งเป็นระยะทางกว่ากึ่งโยชน์เล็กน้อย แปลว่าต้องเปลี่ยนม้าถึง ๗ ครั้ง เรื่องนี้เองที่พระปุณณะมันตานีบุตรอาจารย์ของข้าพเจ้า เมื่อสนทนากับพระสารีบุตรถึงเรื่องวิสุทธิ ๗ อันจะนำบุคคลไปสู่พระนิพพาน จึงเปรียบวิสุทธิ ๗ เหมือนรถ ๗ ผลัดจากสาวัตถีถึงสาเกต
    ครั้งแรกที่พระตถาคตเจ้าเหยียบพระมงคลบาทลงสู่สาวัตถีนั้น เป็นเพราะการอาราธนาของท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี ซึ่งเวลานั้นยังมิได้มีเนมิตตกนามอันไพเราะอย่างนี้เลย เรื่องเป็นดังนี้
    สมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ สีตวันใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นอนาถปิณฑิกเศรษฐียังมิได้รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์เพื่อเยี่ยมเยียมสหาย และเพื่อกิจการค้าด้วย เมื่อไปถึงเศรษฐีผู้สหายต้อนรับพอสมควรแล้ว ก็ขอตัวไปส่งงานคนทั้งหลายให้ทำนั่นทำนี่จนไม่มีโอกาสได้สนทนากับอาคันตุกะ อานถปิณฑิกะประหลาดใจจึงถามว่า
    "สหาย! ครั้งก่อนๆ เมื่อข้าพเจ้ามา ท่านกระวีกระวายต้อนรับอย่างดียิ่ง สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงจิตตามฐานะมิตรอันเป็นที่รัก ท่านละงานอื่นๆ ไว้สิ้น มาต้องรับข้าพเจ้า แต่คราวนี้ท่านละข้าพเจ้าแล้วสั่งงานยุ่งอยู่ ท่านมีงานอาวาหวิวาหมงคล หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งแคว้นมคธจะเสด็จมาเสวยที่บ้านของท่านในวันพรุ่งหรืออย่างไร?"
    "สหาย! เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่สนใจใยดีในการมาของท่านก็หามิได้ ท่านก็คงทราบอยู่แก่ใจแล้วว่าข้าพเจ้ามีความรักในท่านอย่างไร แต่พรุ่งนี้ข้าพเจ้าอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมัวสั่งงานยุ่งอยู่"
    "สหาย! ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ! พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่!"
    "ใช่ พระพุทธเจ้า พระโคดมพุทธะออกบวชจากศากยตระกูลมีข่าวแพร่สะพัดไปทุกหนทุกแห่งว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือมีความรู้ดีและความประพฤติดี เสด็จไปที่ไหนก็อำนวยโชคให้ที่นั่น เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้จักโลก เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นจากกิเลสนิทรา รู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง และมีพระทัยเบิกบานด้วยพระมหากรุณาต่อมวลสัตว์ เป็นผู้หักราคะโทสะและโมหะ พร้อมทั้งบาปธรรมทั้งมวลแล้ว เสด็จเที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แสดงธรรมอันไพเราะ ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เต็มบริบูรณ์ทั้งหัวข้อและความหมาย สหาย! ท่านไม่ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าดอกหรือ?"
    "ดูก่อนภราดา! คำว่า 'พุทโธ' นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่อนาถปิณฑิกเศรษฐียิ่งนัก อุปมาเหมือนคนที่เป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอสามารถจะบำบัดโรคนั้นได้จะดีใจสักเพียงใด ดังนั้นอนาถปิณฑิกะจึงกล่าวว่า
    "สหาย! ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สำหรับพรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าขอออกให้ทั้งหมด"
    "อย่าเลย สหาย!" เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อย่าว่าแต่ท่านจะจ่ายค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว สมบัติบรมจักรข้าพเจ้ายังปรารถนาน้อยกว่าการได้เลี้ยงพระพุทธเจ้า, ๗ วันนี้เป็นวันของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด" เมื่ออนาถปิณฑิกะวิงวอนว่า ขอออกค่าใช้จ่ายสักครึ่งหนึ่ง เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็หายอมไม่
    ดูก่อนภราดร! พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้นทรงมีปุพเพกตปุญญตาอย่างล้นเหลือ กุศลธรรมทั้งมวลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกระทำมาตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ มารวมกันให้ผลในปัจฉิมภพของพระองค์นี้ ประดุจสายธารซึ่งยังเอ่ออยู่ในทำนบและบังเอิญทำนบพังทลายลง อุททธาราก็ไหลหลากท่วมท้น ดังนั้นไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด พระราชา เสนาบดี พ่อค้า ประชาชน จึงต้องการถวายปัจจัยแก่พระองค์จนถึงกับต้องแย่ง ต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ
    อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้อันกุศลธรรมแต่ปางบรรพ์ตักเตือนแล้ว เมื่อได้ยินว่า "พุทโธ" เท่านั้นปีติก็ซาบซ่าไปทั่วสรรพางค์ ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลานั้น แต่บังเอิญเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นถึง ๓ ครั้งด้วยสำคัญว่าสว่างแล้ว แต่พอเดินออกไปภายนอกเรือน ความมืดยังปรากฏปกคลุมอยู่ทั่วไป ครานั้นความสะดุ้งหวาดเสียว และความกลัวก็เกิดขึ้นแก่เขา เขากลับมานอนรำพึงถึงพระศาสดาอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ
    ในที่สุดเวลาก็มาถึง ท้องฟ้าเริ่มสาง เสียงไก่ขันรับอรุณแว่วมาตามสายลม เศรษฐีเดินออกจากตัวเรือนมุ่งสู่ประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด อนาถปิณฑิกต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนานเขาจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากประตูเมืองแล้ว ทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว การสันจรยังไม่มี การเดินทางจากเมืองเข้าไปในป่านั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนขลาด เศรษฐีเกือบจะหมดความพยายาม มีหลายครั้งที่เขาจะถอยกลับเข้าสู่เมือง แต่พอเขาหยุดยืนนั่นเอง เสียงก็ปรากฏขึ้นเหมือนหวาดแว่วมาจากอากาศว่า เศรษฐี! ม้าตั้งร้อย โค แพะ แกะ เป็ด ไก่ อย่างละร้อยๆ ถ้าท่านได้เพราะถอยกลับเพียงก้าวเดียว ก็จะไม่ประเสริฐเหมือนก้าวไปข้างหน้าเพียงก้าวเดียว จงก้าวต่อไปเถิด เศรษฐี! การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและแก่โลกมาก
    เศรษฐีมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้วทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมคือดำเนินกลับไปกลับมาอยู่ ณ บริเวณที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    "เข้ามาเถิด สุทัตตะ! ตถาคตอยู่นี่"
    ดูก่อนภราดา! พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า "สุทัตตะ" โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชมาให้เศรษฐีอย่างเหลือล้น เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยทรงรู้จักเขา แต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้ เศรษฐีหรือจะไม่ปลื้มใจ เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า
    "ข้าแต่พระศากมุนี! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาพบพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกินที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า 'พุทโธ พุทโธ'
    "ดูก่อนสุทัตตะ! ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้วรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น ดูก่อนสุทัตตะ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวด ทรมาน และตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว
    "ดูก่อนสุทัตตะ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกับเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ
    "สุทัตตะเอย! น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดลเล่า ถ้านำมากองรวมๆ กันมิได้กระจัดกระจายคงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลย แม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูกนั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น
    "ดูก่อนสุทัตตะ! ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิง คือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ฉะนั้น"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  13. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๒. สุทัตตะสร้างอารามเชตวัน
    พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่ท่านสุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยแล้ว ทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า
    "ดูก่อนสุทัตตะ! การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ! เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก"
    "ดูก่อนผู้สืบอริยวงค์" พระอานนท์กล่าวต่อไป 'พระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้น ไพเราะจับใจและแจ่มแจ้งยิ่งนัก เพราะเหตุนี้เมื่อพระองค์แสดงจบลง จึงมักมีผู้ชมเชยเสมอว่า "แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้าฯ เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มือ เพื่อให้ผู้มีตาดีได้มองเห็นรูป' ดังนี้"
    อนาถปิณฑิกเศรษฐี หรืออีกนัยหนึ่งคือสุทัตตคฤหบดี ซึ่งบัดนี้ได้เป็นโสดาบันแล้ว ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียว ทูลอาราธนาพระตถาคตเจ้าเพื่อเสด็จสู่กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งโกศลรัฐ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว เศรษฐีจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครตน ล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางเศรษฐีให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่งๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พัก เพื่อพระสงฆ์สาวก ตามเส้นทางที่พระศาสดาเสด็จไป
    เมื่อถึงสาวัตถีแล้ว อนาถปิณฑิกะก็มองหาสถานที่จะสร้างอารามถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เห็นที่อยู่แห่งหนึ่งเป็นสวนของเจ้าชายในราชตระกูล ผู้ทรงพระนามว่า "เชตะ" ได้ลักษณะควรเป็นอารามสำหรับพุทธนิวาส คืออยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้าน มีทางเข้าออกได้สะดวก ไม่อึกทึกในเวลากลางวัน และเงียบสงัดในเวลากลางคืน ห่างจากหมู่บ้าน เหมาะสำหรับเป็นที่สำราญพระอิริยาบถของพระตถาคตเจ้า และเป็นที่ตรึกตรองธรรมอันลึกซึ้งสำหรับภิกษุสงฆ์
    อนาถปิณฑิกะได้เข้าเฝ้าเจ้าชายเชตะขอซื้อสวนสร้างอาราม เบื้องแรกเจ้าชายทรงปฏิเสธ แต่เมื่อเศรษฐีขอร้องวิงวอนหนักเข้า ก็ทรงยอม แต่ทรงโก่งราคาแพงเหลือหลาย ถึงกับว่าถ้าจะซื้อให้ได้ก็ต้องให้ราคาเท่ากับเอาทองไปปูลงให้เต็มสวนนั้น ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงดำริว่าถ้าราคาแพงเกินไป เศรษฐีคงไม่ซื้อ แต่พระองค์ทรงเข้าพระทัยผิดไป เศรษฐียอมตกลงซื้อ เมื่อตกลงแล้วก็วัดเนื้อที่ชำระเงินเป็นตอนๆ ไป เหลือเนื้อที่อยู่อีกนิดหน่อยซึ่งเศรษฐีกำหนดไว้ว่า จะทำซุ้มประตูตรงนั้น พอดีเงินหมด เศรษฐีกำลังจะไปยืมเพื่อนที่สนิทไว้ใจกันคนหนึ่งมา เจ้าชายเชตะทรงเห็นใจและสงสารเศรษฐี จึงทรงยกเนื้อที่ตรงนั้นให้ เมื่อสร้างอารามเสร็จแล้วก็ถึงเวลาทำซุ้มประตู เศรษฐีดำริว่าเจ้าชายเชตะมีคนเคารพนับถือมากในพระนครสาวัตถี ถ้ามีชื่อเจ้าชายอยู่ด้วยจะเป็นประโยชน์มาก จึงให้ยกป้ายขึ้นว่า "เชตวัน" แต่คนทั้งหลายมักจะต่อท้ายว่า "อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี" ด้วยประการฉะนี้
    อันว่าเชตวันนี้เป็นอารามที่สวยงามที่สุด และใหม่ที่สุด อนาปิณฑิกะให้สร้างกุฏิวิหาร ห้องประชุม ห้องเก็บของ ขุดสระใหญ่ปลูกบัวขาว บัวขาบ บัวหลวง บัวเขียว บานสะพรั่ง ชูดอกไสว ปลูกมะม่วง เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังมีพันธุ์ไม้หลายหลากเป็นทิวแถว ที่ทำเป็นซุ้มเป็นพุ่มก็มี สะอาด สวยงาม และร่มรื่น ต้นไม้ส่วนมากมีผลอันจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุสามเณร รวมความว่าเชตวันเป็นอารามที่น่าอยู่น่าอาศัย มีสัปปายธรรมพร้อมทั้ง ๔ ประการคือ
    ๑. เสนาสนสัปปายะ ที่อยู่อาศัยสบาย
    ๒. ปุคคลสัปปายะ มีมิตรสหายดี มีผู้เอาใจใส่พอควร
    ๓. อาหารสัปปายะ มีข้าวปลา อาหารบริบูรณ์
    ๔. ธัมมสัปปายะ มีธรรมเป็นที่สบาย ข้อนี้หมายความว่า ธรรมที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณเบื้องสูงเหมาะแก่จริตอัธยาศัย และมีเรื่องราวต่างๆ โน้มน้อมใจไปเพื่อละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อพยายามมิให้อกุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมี และเพื่อรักษากุศลที่เกิดแล้วให้คงอยู่และเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
    ดูก่อนอาคันตุกะ! กล่าวเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ ๒ คือ ปุคคลสัปปายะนั้น ท่านอนาถปิณฑิกะ นอกจากจะถวายอารามแล้วยังบำรุงภิกษุสงฆ์ ด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น จีวร อาหาร และยารักษาโรค ท่านจะไปเฝ้าพระศาสดาทั้งเช้าและเย็น เมื่อไปตอนเช้าก็จะนำอาหาร เป็นต้นยาคูและภัตต์ เมื่อไปในเวลาเย็นก็จะนำปานะชนิดต่างๆ ไป เป็นต้นว่า น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ท่านไม่เคยไปมือเปล่าเลยด้วยละอายว่าภิกษุหนุ่มและสามเณรจะดูมือ เมื่อไปเฝ้าก็ไม่เคยทูลถามปัญหาพระศาสดาเลย เพราะท่านคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เคยเป็นกษัตริย์สุขุมมาลชาติและบัดนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้าสุขุมมาล ถ้าจะถามปัญหาพระองค์ก็จะทรงดำริว่า เศรษฐีเป็นผู้มีอุปการะมากต่อเรา แล้วจะทรงแก้ปัญหาด้วยความตั้งพระทัย จะทำให้พระองค์ทรงลำบาก
    "ดูก่อนอาคันตุกะ! พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยอันนี้ของเศรษฐีแล้วทรงดำริว่า เศรษฐีนี้เกรงใจเราในฐานะที่ไม่ควรจะเกรง ก็เราบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายืดยาวนาน เคยควักลูกนัยน์ตา เคยตัดศีรษะอันประดับประดาแล้วด้วยมงกุฎ และเคยสละอวัยวะอื่นๆ ตลอดถึงชีวิต ให้เป็นทาน บารมี ๑๐ เราบำเพ็ญมาแล้วอย่างเข้มงวดและบริบูรณ์ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะขนสัตว์ในสังสารสาครขึ้นสู่ที่อันเกษม คือ พระนิพพาน ทรงดำริเช่นนี้ก็แสดงธรรมแก่เศรษฐีพอสมควรทุกครั้งที่เขาไปเฝ้า
    "ดูก่อนพงค์พันธุ์แห่งอารยะ! นอกจากท่านอนาถปิณฑิกะแล้วยังมีคนอื่นๆ อีกมากที่เคารพเลื่อมใสในพระศาสดาแลภิกษุสงฆ์ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นกำลังสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา ช่วยบำรุงรักษา และการเผยแผ่คำสอนของพระตถาคตเจ้า เป็นต้นว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางสุปปวาสา นางสุปปิยา ตลอดไปถึงพระราชาธิบดีปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาอัครราชชายา"
    "ข้าแต่ท่านผู้ทรงพรตอันประเสริฐ!" พระกัมโพชะกล่าวขึ้น "ข้าพเจ้าเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านเหล่านี้บ้างเป็นบางท่าน แต่ไม่ทราบรายละเอียด ถ้าท่านจะกรุณาอนุเคราะห์เล่าแก่ข้าพเจ้าบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง"


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  14. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๓. เบญจกัลยาณีนางวิสาขา
    "ดูก่อนภราดา! สำหรับท่านแรกคือ นางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น มีเรื่องค่อนข้างจะมากอยู่ เป็นสตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธจักร เป็นผู้มีบุญ และรูปงามสมบูรณ์ด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ ประการคือ ผมงามหมายถึงผมซึ่งยาวสลวยลงมาแล้วมีปลายช้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ ฟันงามหมายถึงฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบเรียงรายประดุจไข่มุกที่นายช่างจัดเข้าระเบียบแล้ว ริมฝีปากงามหมายถึงริมฝีปากบาง โค้งเป็นรูปกระจับ สีชมพูเรื่อคล้ายผลตำลึงสุก เป็นเองโดยธรรมชาติ มิใช่เพราะตกแต่งแต้มทา ผิวงามหมายถึงผิวขาวละเอียดอ่อนเหมือนสีดอกกรรณิกา ลักษณะนี้มี ๒ อย่าง คือถ้าผิวดำก็ดำอย่างดอกอุบลเขียว อมเลือดอมฝาด เปล่งปลั่งคล้ายสีน้ำผึ้งซึ่งนำมาจากรังผึ้งใหม่ๆ วัยงามหมายถึงเป็นคนงามตามวัย งามทุกวัย เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็งามอย่างเด็ก เมื่ออยู่ในวัยสาวก็งามอย่างวัยสาว เมื่ออยู่ในวัยชราก็งามอย่างคนชรา"
    นางวิสาขามิใช่ชาวสาวัตถีโดยกำเนิด แต่เป็นชาวสาเกต ต้นตระกูลดั้งเดิมของนางอยู่กรุงราชคฤห์ สมัยเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปขอเศรษฐีจากกรุงราชคฤห์นั้น จอมเสนาแห่งมคธได้มอบธนัญชัยเศรษฐีบิดาวิสาขาให้มา เมื่อเดินทางมาถึงเขตกรุงสาวัตถี ธนัญชัยเห็นสถานที่แห่งหนึ่งมีทำเลดีเหมาะที่จะสร้างเมืองได้ จึงทูลขอพระเจ้ากรุงสาวัตถีที่จะพักอยู่ที่นั้น พระเจ้าปเสนทิทรงอนุญาต ต่อมาจึงสร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า "สาเกต" เพราะนิมิตที่มาถึงที่ตรงนั้นเมื่อตะวันรอน
    วิสาขาเจริญเติบโตขึ้นที่กรุงสาเกตนั้นเอง เจริญวัยขึ้นด้วยความงาม งามอย่างจะหาหญิงใดเสมอเหมือนได้ยาก แต่เป็นผู้ไม่หยิ่งทะนงในความงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัย มีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรีที่ได้รับการอบรมดี จนกระทั่งมีอายุพอสมควรจะแต่งงานแล้ว บิดาแห่งปุณณวัฒนกุมารในกรุงสาวัตถี จึงส่งทูตไปขอนางเพื่อบุตรของตน
    การแต่งงานของนางวิสาขาเป็นเรื่องมโหฬารยิ่ง
    ธนัญชัยเศรษฐีให้นายช่างทำเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์เป็นชุดวิวาห์แห่งธิดา เครื่องประดับนี้แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากมาย ไม่มีผ้าด้ายผ้าไหมหรือผ้าใดๆ เจือปนเลย ที่ๆ ควรจะใช้ผ้า เขาก็ใช้แผ่นเงินแทน ในเครื่องประดับนี้ต้องใช้เพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน
    ลูกดุมทำด้วยทอง ห่วงทำด้วยเงิน เครื่องประดับนี้คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดหลังเท้า บนศีรษะทำเป็นรูปนกยูงรำแพน ขนปีกทั้งสองข้างทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณีก้านขนและขนทำด้วยเงิน นกยูงนั้นประดิษฐ์อยู่เหนือเศียรเหนือนกยูงรำแพนอยู่บนยอดเขา เครื่องประดับนี้มีค่า ๙๐ ล้านกหาปณะ ค่าจ้างทำหนึ่งแสนกหาปณะ และทำอยู่ถึง ๔ เดือน โดยนายช่างจำนวนน้อย จึงสำเร็จลง
    คืนสุดท้ายที่วิสาขาจะจากไปสู่ตระกูลสามีนั่นเอง ธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดาได้ให้โอวาทแก่นางเป็นที่ประทับใจและเป็นประโยชน์ในการครองเรือนยิ่งนัก โอวาทนั้นมี ๑๐ ข้อดังนี้
    วิสาขา! เมื่อลูกไปสู่ตระกูลสามีชื่อว่าอยู่ไกลหูไกลตาพ่อ ลูกจงจำโอวาทของพ่อไว้เพื่อเป็นตัวแทนของพ่อ เป็นเกราะป้องกันภยันตรายสำหรับลูก
    ๑. จงอย่านำไฟในออก
    ๒. จงอย่านำไฟนอกเข้า
    ๓. จงให้แก่คนที่ให้
    ๔. จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้
    ๕. จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้
    ๖. จงนั่งให้เป็น
    ๗. จงนอนให้เป็น
    ๘. จงบริโภคให้เป็น
    ๙. จงบูชาเทวดา
    ๑๐. จงบูชาไฟ
    นางวิสาขาเข้าสู่พิธีอาวาหะวิวาห์มงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่ การต้องรับทางกรุงสาวัตถีนั้นมโหฬารเหลือคณา แต่บังเอิญตระกูลของปุณณวัฒนกุมารนั้นมิได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่นับถือศาสนาของนิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสนาเชน มักจะเชื้อเชิญนักบวชผู้ไม่นุ่งห่มอะไรมาเลี้ยงเสมอ นางวิสาขามีความละอายเป็นล้นที่ จนไม่สามารถออกมากราบไหว้และเลี้ยงสมณะที่มีคารเศรษฐีบิดาแห่งสามีเลื่อมใสได้ จึงเป็นที่ตำหนิของมิคารเศรษฐีนางวิสาขาเลื่อมใสพระรัตนตรัยตั้งแต่สมัยอยู่เมืองราชคฤห์แล้ว เรื่องนี้เป็นข้อยุ่งยากในครอบครัวประการเดียวที่ยังแก้ไม่ตก
    วันหนึ่งเวลาเช้า พระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาตผ่านมาทางเรือนของมิคารเศรษฐี เวลานั้นนางวิสาขากำลังปฏิบัติบิดาแห่งสามีซึ่งบริโภคอาหารอยู่ เมื่อพระมายืนอยู่ที่ประตูเรือนตามอริยตันติ เศรษฐีมองเห็นแล้วแต่ทำเฉยเสีย และหันหน้าเข้าฝาบริโภคอย่างไม่สนใจ นางวิสาขาหาอุบายให้พ่อผัวมองไปทางประตูเรือนด้วยวิธีต่างๆ โดยวาจาเช่นว่า
    "ท่านบิดา ดูที่ซุ้มประตูนั้นซิเถาวัลย์มันเลื้อยรุงรังเหลือเกินแล้ว ยังไม่มีเวลาให้คนใช้ทำให้เรียบร้อยเลย
    "ช่างมันเถิด ไว้อย่างนั้นก็สวยดี" เศรษฐีพูดโดยมิได้มองหน้านางวิสาขา และมิได้เหลียวไปดูที่ซุ้มประตูเลย
    "ท่านบิดา ดูนกตัวนั้นซิ สีมันสวยเหลือเกินเกาะอยู่ที่ริมรั้วใกล้ซุ้มประตูนั่นแน่ะ"
    "เออ พ่อเห็นแล้ว เห็นมันมาจับอยู่เสมอจนพ่อเบื่อที่จะดูมัน" เศรษฐียังคงก้มหน้าบริโภคต่อไป
    เมื่อนางเห็นว่าหมดหนทางที่จะให้บิดาของสามีเห็นพระภิกษุอย่างถนัดได้จึงกล่าวขึ้นว่า "นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดพระคุณเจ้า ท่านมิคาระกำลังบริโภคของเก่า"
    เพียงเท่านี้เอง เรื่องได้ลุกลามไปอย่างใหญ่หลวง เศรษฐีหยุดรับประทานอาหารทันที ตวาดนางวิสาขาด้วยอารมณ์โกรธ
    "วิสาขา! เธออวดดีอย่างไร จึงบังอาจพูดว่าเรากินของเก่าไม่สะอาด มีเรื่องหลายเรื่องที่เราเห็นเธอและบิดาชอบเธอทำไม่สมควร ต่อแต่นี้ไปเธออย่าได้อาศัยอยู่ในบ้านของเราอีกเลย ขอให้เตรียมตัวกลับไปบ้านของเธอได้" เศรษฐีพูดเท่านี้แล้วก็ลุกขึ้นให้คนไปตามพราหมณ์พี่เลี้ยงของนางมา แล้วบอกให้พราหมณ์นำนางวิสาขากลับไป
    พราหมณ์ทราบความแล้วเดือดร้อนใจเป็นนักหนา รีบเข้าพบนางวิสาขาและถามด้วยจิตกังวลว่า
    "แม้เจ้า มีเรื่องอะไรรุนแรงนักหรือ ท่านมิคาระจึงให้ส่งแม่เจ้ากลับเมืองสาเกต?"
    "ดูก่อนพราหมณ์!" นางพูดอย่างเยือกเย็นปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น "เมื่อข้าพเจ้ามาก็มาด้วยเกียรติยศอันใหญ่หลวง มีข้าทาสบริวารเป็นจำนวนร้อย เมื่อถึงคราวกลับไปจะกลับอย่างผู้ไร้ญาติขาดที่พึ่งหาควรแก่ข้าพเจ้าไม่ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าอยากให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาเสียก่อน เมื่อเป็นที่แน่นอนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ถูกหรือผิดก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะขอลาไป และไปอย่างมีเกียรติอย่างคราวที่มา"
    พราหมณ์ได้นำนางวิสาขาเข้าหาท่านเศรษฐีเพื่อซักฟอกความผิดให้เห็นแจ้ง มิคารเศรษฐีนั่งหน้าถมึงทึงมีอาการเกรี้ยวกราดฉายอยู่ทั้งใบหน้าและแววตา
    "มีอะไรอีก พราหมณ์" เศรษฐีตั้งคำถามกระซากๆ
    "ข้าแต่ท่านเศรษฐี! แม่เจ้ายังไม่ทราบความผิดของตนว่าได้กระทำผิดประการใด จึงต้องถูกไล่กลับ" พราหมณ์ตอบ
    "ความผิดประการใด?" เศรษฐีทวนคำ "ก็การที่เธอบังอาจว่าเรากินของเก่าของสกปรกน่ะ ยังไม่พออีกหรือ?"
    "ข้าแต่ท่านบิดา" นางวิสาขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบเป็นปกติ "คำที่ลูกพูดนั้นมิได้หมายความว่าท่านบิดาบริโภคของสกปรก แต่ลูกหมายความว่าท่านบิดากำลังกินบุญเก่า ลูกคิดว่าการที่ท่านบิดามั่งมีศรีสุข มีเงินทองล้นเหลืออยู่ในปัจจุบันชาตินี้ โดยที่ท่านบิดามิได้ลงทุนลงแรงทำอะไรมากนัก ทรัพย์สมบัติล้วนแต่เป็นมรดกตกทอดมาทั้งสิ้นนั้น เป็นเพราะบุญเก่าของท่านบิดาอำนวยผลให้ ถ้าท่านบิดาไม่สั่งสมบุญใหม่ให้เกิดขึ้น บุญเก่านั้นก็จะต้องหมดไปสักวันหนึ่ง ลูกหมายถึงบุญเก่านี่เอง จึงพูดว่า "บิดากำลังบริโภคของเก่า?"
    "ข้าแต่ท่านเศรษฐี! ข้อนี้หาเป็นความผิดแห่งแม้เจ้าไม่" พราหมณ์พูดขึ้น
    "เอาเถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนก่อนนี้นางก็ได้ทำสิ่งที่น่ารังเกียจ คือเราเห็นนางลงไปที่คอกลาเวลาดึกดื่นเที่ยงคืน นางลงไปทำไม เพราะนั่นเป็นกิจที่กุลสตรีไม่พึงทำ"
    "ข้าแต่ท่านบิดา! คืนนั้นลามันออกลูกและออกด้วยความลำบากทรมาน ลูกเพียงแต่ลงไปดูมันและช่วยมันเท่าที่ลูกพอช่วยได้ ในการลงไปลูกก็มิได้ลงไปเพียงคนเดียว มีหญิงคนใช้ไปด้วยหลายคน และนำประทีปโคมไปสว่างไสวลงไปด้วย"
    "ข้าแต่ท่านเศรษฐี! แม้ข้อนี้ก็จะถือเป็นความผิดของนางหาได้ไม่" พราหมณ์กล่าว
    "เอาเถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนสุดท้ายที่นางจะมาสู่ตระกูลเรา เราได้ยินบิดาของนางพูดสั่งเสียข้อความถึง ๑๐ ข้อซึ่งเราไม่พอใจ เราไม่ต้องการสตรีที่พยายามปฏิบัติอย่างนั้น อยู่ในบ้านเรือนของเรา เพราะจำนำภัยพิบัติมาสู่ตระกูลอย่างแน่แท้ เป็นไปได้หรือที่จะห้ามมิให้เรานำไฟภายในออก เมื่อเพื่อนบ้านมาขอจุดไฟ และเมื่อไฟในบ้านดับ เราก็ต้องไปขอจุดไฟภายนอกบ้านเข้ามาในบ้าน บิดาของนางห้ามนางมิให้นำไฟในออกและไฟนอกเข้า เราทนไม่ได้ที่จะให้นางปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการใจแคบเกินไป"
    นางวิสาขายิ้มน้อยๆ แล้วกล่าวว่า
    "ข้าแต่ท่านบิดา! ข้อนี้บิดาของลูกหมายความว่า ถ้าหากมีเรื่องยุ่งยากในครอบครัว หรือเกิดระหองระแหงกับสามีหรือบิดาแห่งสามี หรืออันโตชนใดๆ ก็อย่าได้นำเรื่องเหล่านั้นไปเที่ยวเล่าให้ชาวบ้านฟัง เพราะเป็นเรื่องประจานตัวเอง ส่วนข้อที่ไม่ให้นำไฟนอกเข้านั้น หมายความว่า อย่าได้นำเรื่องยุ่งๆ ภายนอกบ้านมาก่อความรำคาญแก่สามี หรือบิดามารดาแห่งสามี"
    "แล้วข้ออื่นๆ อีกล่ะ?" เศรษฐีถามโดยมิได้เงยหน้า
    นางวิสาขาชี้แจงให้ฟังตามลำดับดังนี้
    "ข้อว่า 'จงให้แก่คนที่ให้' นั้น หมายความว่าเมื่อมีผู้มายืมของใช้หรือเงินทอง ถ้าเขาใช้คืนก็ควรจะให้เขายืมต่อไปในคราวหน้า
    "ข้อว่า 'จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้' นั้นหมายความว่า ถ้าใครยืมเงินทองของใช้ไปแล้วไม่ใช้คืน นำไปแล้วเฉยเสีย แสดงถึงความเป็นคนนิสัยไม่สะอาด คราวต่อไปอย่าให้ยืมอีก โดยเฉพาะเงินทองเป็นของที่ทำให้มิตรรักกันก็ได้ แตกกันก็ได้
    "ข้อว่า 'จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้' นั้นหมายความว่าเมื่อญาติพี่น้องประสบความทุกข์ยาก บากหน้ามาพึ่งจะเป็นการกู้ยืมหรือขอก็ตาม ควรให้แก่ญาติพี่น้องนั้น เขาจะใช้คืนหรือไม่ก็ช่างเถิด เพราะเป็นญาติพี่น้อง ต้องสงเคราะห์เขาตามควรแต่ฐานะ
    "ข้อว่า 'จงนั่งให้เป็น' หมายความว่า เมื่อสามีหรือบิดามารดาของสามี หรือผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือนั่งอยู่ในที่ต่ำ ก็อย่าได้นั่งบนที่สูงกว่า เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม ไม่สมเป็นกุลสตรี
    "ข้อว่า 'จงนอนให้เป็น' นั้น หมายความว่าเมื่อมารดาบิดาของสามี หรือสามียังไม่นอน ก็ยังไม่ควรนอน ควรปฏิบัติท่านเหล่านั้นให้มีความสุข เมื่อท่านนอนแล้ว จึงค่อยนอนทีหลังและนอนวางมือวางเท้าให้เรียบร้อย พยายามตื่นก่อนสามี และมารดาบิดาของสามี จัดแจงน้ำและไม้ชำระฟันไว้คอยท่าน เสร็จแล้วดูแลเรื่องอาหารเครื่องบริโภคไว้สำหรับท่าน
    "ข้อว่า 'จงบริโภคให้เป็น' นั้น หมายความว่า อย่าบริโภคก่อนสามีหรือมารดาบิดาของสามี คอยดูแลให้ท่านบริโภคแล้วจึงค่อยบริโภคทีหลัง หรืออย่างน้อยก็บริโภคพร้อมกัน ในการบริโภคนั้นควรสำรวมกิริยาให้เรียบร้อยไม่มูมมาม ไม่บริโภคเสียงจับๆ เหมือนอาการแห่งสุกร ไม่บริโภคให้เมล็ดข้าวตกเรี่ยราดดังอาการแห่งเป็ด
    "ข้อว่า 'จงบูชาเทวดา' นั้น มีความหมายว่าให้บูชาสามีทั้งกายและใจ มีความเคารพ และจงรักในสามีเหมือนเทวดา จึงมีคำพูดติดปากกันมานานแล้วว่าสตรีที่แต่งงานแล้ว และสามีรักนั้น ชื่อว่าเทวดารักษาคุ้มครอง ตรงกันข้ามถ้าสามีไม่รัก ก็ชื่อว่าเทวดาไม่คุ้มครอง
    "ข้อว่า 'จงบูชาไฟ' นั้น หมายความว่าให้บูชามารดาบิดาของสามี ท่านทั้งสองเปรียบเหมือนไฟ มีทั้งคุณและโทษ อาจจะให้คุณให้โทษได้ ถ้าปฏิบัติดีก็จะให้คุณ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็จะให้โทษมาก เพราะฉะนั้นจึงควรปฏิบัติต่อท่านด้วยดี มีสัมมาคารวะ ไม่ดูหมิ่น"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  15. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๔. มหาอุบาสิกานามวิสาขา
    "ดูก่อนภราดา!" พระอานนท์กล่าวต่อไป เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง ท่านมิคารเศรษฐีก็ก้มหน้านิ่ง ไม่รู้จะตอบนางประการใด พราหมณ์ชำระความระหว่างสะใภ้และพ่อผัวจึงกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านเศรษฐี! เรื่องทั้งหมดนี้นางหามีความผิดไม่เลย นางเป็นผู้บริสุทธิ์" เศรษฐีจึงกล่าวขอโทษนางวิสาขาที่ท่านเข้าใจผิดไป นางวิสาขาจึงกล่าวว่า
    "ข้าแต่ท่านบิดา! บัดนี้ข้าพเจ้าพ้นจากความผิดทั้งปวงแล้ว จึงสมควรจะกลับไปสู่เรือนแห่งบิดาตน"
    "อย่าเลยลูกรัก" มิคารเศรษฐีพูดกับลูกสะใภ้ด้วยสายตาวิงวอน นางวิสาขาจึงกล่าวว่าเมื่อนางอยู่เรือนตน ณ นครสาเกต ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมตามโอกาสที่ควร แต่เมื่อนางมาอยู่ที่นี่แล้วนางไม่มีโอกาสทำได้เลย จิตใจกระวนกระวายใคร่จะทำบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่หาได้กระทำไม่ ถ้าบิดาจะอนุญาตให้นางทำบุญกุศลตามต้องการนางก็จะอยู่ แต่ถ้าท่านบิดาไม่อนุญาตนางก็จะขอลากลับไปสู่นครสาเกตตามเดิม เศรษฐีจึงกล่าวว่า
    "ลูกรัก! ทำเถิด ทำบุญได้ตามปรารถนา พ่อไม่ขัดข้อง และปุณณวัฒนกุมารสามีของเจ้าก็คงไม่ขัดข้องเช่นกัน"
    "ดูก่อนภราดา! เมื่อเศรษฐีกล่าวอนุญาตเช่นนี้ หัวใจของนางวิสาขาที่เคยเหี่ยวแห้งก็กลับชุ่มชื่นเบิกบานประหนึ่งติณชาติซึ่งขาดน้ำมาเป็นเวลานานและแล้วกลับได้อุทกธารา เพราะพิรุณหลั่งในต้นวัสสานฤดู หรือประดุจประทุมมาลย์เบ่งบานขยายกลีบเมื่อต้องแสงระวีแรกรุ่งอรุณ ความสุขใดเล่าสำหรับผู้ใคร่บุญจะเสมอเหมือนการมีโอกาสได้ทำบุญ หรือเพียงแต่ได้ฟังข่าวว่าจะได้ทำบุญ เฉกนักเลงสุราบานซึ่งชื่มชมยินดีข่าวแห่งการดื่มสุราเมื่อทราบว่ามีผู้เชื้อเชิญ
    วันรุ่งขึ้นนางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสาวก เพื่อเสวยภัตตาหารที่บ้านตน พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จสู่บ้านของนางวิสาขา เมื่อเสวยเสร็จแล้วมีพระพุทธประสงค์จะทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมพอเป็นเครื่องปลื้มใจแห่งผู้ถวาย นางวิสาขาจึงให้คนไปเชิญบิดาสามีมาเพื่อร่วมฟังอนุโมทนาด้วย ตามปกติเศรษฐีไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา เวลานั้นยังศรัทธาคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรอยู่ ไม่ปรารถนาจะมาเฝ้าพระศาสดาเลย แต่ด้วยความเกรงใจลูกสะใภ้จึงมา พระผู้มีพระภาคทรงทราบอุปนิสัยและความรู้สึกของเศรษฐีดีอยู่แล้ว จึงทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยเหตุผล แพรวพราวไปด้วยเทศนาโวหารและอุทาหรณ์ พระองค์ตรัสว่าข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหน อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาสกรรมกร คนใช้และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกายวาจา หรือด้วยใจนั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัณยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
    พระองค์ตรัสว่าทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวของบัณฑิตผู้หนึ่งที่ว่า "เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเองฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟคือความแก่ความตายไหม้อยู่ก็ฉันนั้น คือผู้ฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้างไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่งเมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียนย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ"
    พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เมล็ดย่อมได้ผล ๑ รวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์ไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา
    "นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขา และที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า "ของกู ของกู" ในขณะที่มันร้องอยู่นั่นเอง หมู่นกเหล่าอื่นบินมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า "ของกู ของกู" อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวบรวมสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิใช้สอยเองให้ผาสุกมัวเฝ้ารักษาและภูมิใจว่า "ของเรามี ของเรามี" ดังนี้เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากมาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์มีญาติเป็นต้น
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย!" พระศาสดาตรัสต่อไป "ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใครเหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิท เย็นดี มีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่ม อาบ หรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นมีอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย
    "ส่วนคนดีเมื่อมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณาจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็นน่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัยนำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! นักกายกรรมผู้มีกำลังมากหรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การเสียสละนั้นคือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิด! มนุษย์ทั้งหลายย่อมรดน้ำต้นไม้ที่โคน แต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือแม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรกเน่าเหม็นเพราะสิ่งสกปรกลงมามิได้ถ่ายเท นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำสายนั้นจะหาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สวยสดก็หายาก แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไป มันไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลายได้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม
    "บุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้างก็เหมือนแม่น้ำตาย ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอกระเสก็ไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสาธุชนได้ทรัพย์แล้ว พึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำซึ่งใสสะอาดไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย
    "ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ
    ๑. ก่อนให้ผู้ให้ก็มีใจผ่องใส ชื่นบาน
    ๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
    ๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
    ๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจาคะ
    ๕. ผู้รับปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
    ๖. ผู้รับปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ
    ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แลเป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่า มีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณเหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดไว้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้เข้าไปหาตถาคตและถามว่าบุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่าควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใด ก็ควรให้แก่บุคคลนั้นในคณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่าให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่าถ้าต้องการผลมากกันแล้วละก้อ ควรจะให้ในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่
    "สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยธรรมของทายกเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาบุญคือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรม และประกอบด้วยเมล็ดพืช คือเจตนาและไทยธรรมของทายกบริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อยมีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดีมีธรรมงาม ย่อมจะมีผลมาก เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้"
    พระศาสดายังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยปัจฉิมพจน์ว่า
    "เพราะฉะนั้นบุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำไหลลงที่ละหยดยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร้นไปด้วยบาป"
    พระธรรมเทศนาเป็นเสมือนจุดแสงสว่างให้โพรงขึ้นในดวงใจของเศรษฐี เขาคลานเข้ามาถวายบังคมพระมงคลบาง แห่งพระศาสดาพร้อมด้วยกล่าวสรรเสริญว่า "แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้า! แจ่มแจ้งจริงเหมือนทรงหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนที่หลงทาง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้ผู้มีนัยน์ตาได้มองเห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอถือพระองค์ พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่เคารพสักการะ เป็นแนวทางดำเนินชีวิตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจวบสิ้นลมปราณ"
    "ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท! พระอานนท์กล่าวต่อไป
    ตั้งแต่บัดนั้นมามิคารเศรษฐีก็นับถือนางวิสาขาในสองฐานะ คือฐานะสะใภ้และฐานะ "แม่" จึงเรียกนางวิสาขาว่า "แม่ แม่" ทุกคำไป เพราะถือว่านางวิสาขาเป็นผู้จูงให้ท่านเดินเข้าทางถูก จูงออกจากทางรก เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงนางวิสาขา ก็มักจะเติมสร้อยคำตามมาข้างหลังว่า "มิคารมารดา" แม้พระสาวกซึ่งเป็นภิกษุเมื่อกล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าประทับอยู่ปุพพารามก็กล่าวว่า "บัดนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ประสาทของนางวิสาขา มิคารมารดาในปุพพาราม"
    ด้วยเหตุที่บิดาแห่งสามีเรียกตนว่า "แม่" และคนทั้งหลายพากันเรียกนางว่า "มิคารมารดา" นางวิสาขารู้สึกละอายและกระดาก แต่ไม่ทราบจะทำประการใด เมื่อมีลูกชายในระยะต่อมา จึงตั้งชื่อลูกชายให้เหมือนชื่อปู่ของเด็กว่ามิคาระ เพื่อจะได้แก้ความขวยอายและกันความละอาย เมื่อมีผู้เรียกนางว่า มิคารมารดา จะได้หมายถึงมารดาแห่งมิคาระลูกชายของตน
    ตั้งแต่มิคารเศรษฐีเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว ประตูบ้านของนางวิสาขาก็เปิดออกสำหรับต้อนรับพระสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีพระภาค มีเสมอที่นางนิมนต์พระสงฆ์จำนวนร้อย มีพระพุทธองค์เป็นประมุข เพื่อรับภัตตาหารและเสวยที่เรือนของนาง มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ บัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยคำสุภาษิต ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม ย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธาจะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่านางทำบุญทำกุศลโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ความสุขใจเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐสุด ก็ความสุขใจอันใดเล่าจะเสมอด้วยความสุขอิ่มใจเพราะรู้สึกว่าตนได้ทำความดี เป็นความสุขที่ผ่องแผ้วสงบและชื่นบาน เหมือนสายน้ำที่กระเซ็นจากหุบผาก่อความชื่นฉ่ำให้แก่กรัชกายฉันใดก็ฉันนั้น
    ตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่กรุงสาวัตถีนางจะได้เฝ้าพระองค์วันละ ๒ เวลา คือเวลาเช้าและเวลาเย็น เมื่อไปเวลาเช้าก็ถือยาคู และอาหารอื่นๆ ติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาเย็นก็มีน้ำปานะชนิดต่างๆ ที่ควรแก่สมณบริโภคไป นางไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พร้อมใจกันเรียกนางว่า "มหาอุบาสิกา" เพื่อเป็นเกียรติแก่นางผู้มีใจประเสริฐ
    คราวหนึ่งนางกลับจากงานมงคลในกรุงสาวัตถี ข้าพเจ้าลืมเล่าท่านไปว่างานมงคลทุกงานในกรุงสาวัตถีเจ้าของงานจะถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ ถ้านางวิสาขาได้ไปร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้นเขาจะเชิญนางแทบจะทุกงาน การไปของนางวิสาขาถือกันว่าเป็นการนำมงคลมาสู่บ้านสู่งาน นี่แหละท่าน! พระศาสดาจึงตรัสว่า "เกียรติย่อมไม่ละผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้" เมื่อไปในงานมงคลนางก็ต้องสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์อันสวยงามและเลิศค่า กลับจากงานแล้วนางต้องการจะแวะไปเฝ้าพระศาสดา แต่เห็นว่าไม่ควรจะสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เข้าไป จึงถอดแล้วห่อให้หญิงคนใช้ถือไว้ เมื่อเฝ้าพระศาสดาพอสมควรแก่เวลาแล้ว นางก็ถวายบังคมลากลับออกมาถึงหน้าวัดเชตวันนางจึงเรียกเครื่องประดับนั้นจากหญิงคนใช้เพื่อจะสวม แต่ปรากฏว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ ณ ที่ประทับของพระศาสดานั่นเอง พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ข้าพเจ้าเก็บไว้ เพื่อนางมาในวันรุ่งขึ้นจะได้ส่งคืน สักครู่หนึ่งหญิงรับใช้กลับมาเพื่อจะรับคืน ข้าพเจ้าจึงนำห่อเครื่องประดับนั้นมาจะมอบให้ หญิงคนใช้มีท่าทางตื่นตกใจอย่างมาก
    "นี่เครื่องประดับของนาย เธอรับไปเถิด" ข้าพเจ้าพูดพร้อมด้วยวางของลง
    "ข้าแต่พระคุณเจ้า!" นางคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้าด้วยเสียงสั่นเครือ มีอาการเหมือนจะร้องไห้ "แม่นายสั่งไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าจับต้องและเก็บเครื่องประดับไว้แล้วก็ไม่ต้องรับคืน แม่นายบอกว่าพระคุณเจ้าเป็นที่เคารพของแม่นายอย่างยิ่ง แม่นายไม่สมควรจะสวมเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้ารับคืนไปไม่ได้ดอก"
    "น้องหญิง" ข้าพเจ้าพูด "เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้มีค่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องประดับของสตรี ไม่สมควรที่สมณะจะเก็บไว้ อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร จงรับคืนไปเถิด และบอกนางว่าอาตมาให้รับคืนไป น้องหญิงทำตามคำขอร้องของอาตมา นายของเธอคงไม่ว่ากระไรดอก"
    "แม่นายสั่งไว้ว่าให้ถวายพระคุณเจ้า"
    "อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร"
    หญิงคนใช้จำใจต้องรับเครื่องประดับคืนไป นางเดินร้องไห้ไปพรางเพราะเกรงจะถูกลงโทษ นางวิสาขาเห็นหญิงคนใช้เดินร้องไห้กลับไปพร้อมด้วยห่อของ นางก็คาดเหตุการณ์ได้โดยตลอด จึงกล่าวว่า
    "พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้หรือ?"
    "เจ้าคะ"
    "แล้วเธอร้องไห้ทำไม?"
    "ข้าเสียใจที่รักษาของแม่นายไว้ไม่ได้ แม่นายจะลงโทษข้าประการใดก็ตามเถิด ข้ายอมรับผิดทุกประการ เครื่องประดับนี้มีค่ากว่าชีวิตของข้า มิใช่เพียงแต่ชีวิตของข้าเท่านั้น แต่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตครอบครัว และญาติๆ ของข้าทั้งหมดรวมกัน" ว่าแล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นกลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้าของนางวิสาขา
    เวลานั้นเย็นมากแล้ว พระอาทิตย์โคจรลับขอบฟ้าทางตะวันตกไปแล้ว แต่ความมืดยังไม่ปรากฏในทันที ท้องฟ้าระบายด้วยแสงสีม่วงสลับฟ้าในบางที่ และสีเหลืองอ่อนสลับฟ้าในบางแห่ง กลุ่มเมฆลอยเลื่อนตามแรงลมและปลิวกระจายเป็นครั้งคราว มองดูเป็นรูปต่างๆ สลับสล้างสวยงามน่าพึงชม ลมเย็นพัดเฉื่อยฉิว สไบน้อยผืนบางของวิสาขาพริ้วกระพือตามแรงลม ผมอันงอนงามฟูสยายของนางไหวพริ้วปลิวกระจาย ใบหน้าซึ่งเอิบอิ่มอยู่แล้วยิ่งเพิ่มความอิ่มเอิบมากขึ้น ประดุจศศิธรในวันบูรณมีดิถี มีรัศมียองใยเป็นเงินยวงและถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆ เสียงชะนีซึ่งอาศัยอยู่ในแนวป่าใกล้วัดเชตวันกู่ก้องโหยหวนปานประหนึ่งสัญญาณว่าทิวากาลจะสิ้นสุดลงแล้ว หมู่เด็กเลี้ยงแกะและเลี้ยงโคเดินดุ่มต้อนฝูงแกะและฝูงโคของตนๆ เข้าสู่คอก อชบายและโคบาลเหล่านั้นล้วนมีกิริยาร่าเริง ฉันเดียวกันกับสกุณาทั้งหลาย ซึ่งกำลังโบยบินกลับสู่รวงรัง
    นางวิสาขายืนสงบนิ่ง กระแสความรู้สึกของนางไหลเวียนเหมือนสายน้ำในวังวน นางคิดถึงชีวิตทาส อนิจจา! ชีวิตทาสช่างลำบากและกังวลเสียนี่กระไร รับใช้ใกล้ชิดเกินไปก็หาว่าประจบสอพลอ เหินห่างไปหน่อยเขาก็ว่าทอดทิ้งธุระของนาย พูดเสียงค่อยเขาก็ว่าไม่เต็มใจตอบ พูดเสียงดังไปหน่อยเขาก็ว่ากระโชกโฮกฮาก ใครเล่าจะสามารถรับใช้นายได้อย่างสมบูรณ์ ชีวิตทาสเป็นชีวิตที่ลำเค็ญเหนื่อยยากทั้งๆ ที่เป็นอย่างนี้ คนทาสส่วนมากก็เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ และกตัญญูเสรีชนด้วยซ้ำไป ที่ส่วนมากคอยแต่ตลบตะแลงเอารัดเอาเปรียบและคนโกง มีตัวอย่างที่หาได้ง่ายสำหรับทาสซึ่งซื่อสัตย์กตัญญูและเสียสละต่อนายของตน แต่สำหรับนายแล้วหาได้ยากเหลือเกินที่จะเพียงแต่เสียสละเพื่อทาสเท่านั้น อย่าพูดถึงความซื่อตรงเลย นายส่วนมากมักจะใช้ทาสไม่เป็นเวลา ใช้วาจาหว่านล้อมให้ทาสหวังอย่างลมๆ แล้งๆ เหนียวบำเหน็จ ทำความผิดน้อยเป็นผิดมาก ส่วนความดีความชอบนั้นมิค่อยจะได้พูดถึง
    "หญิงคนใช้ของเรานี้" นางวิสาขาคิดต่อไป เพียงลืมเครื่องประดับไว้ และนำคืนมาได้ มิใช่ทำของเสียหายอย่างใด ยังยอมเอาชีวิตของตนมาถ่ายถอนความผิด เราจำจะต้องปลอบนางให้หายโศก และบำรุงหัวใจนางด้วยคำหวาน เพราะโบราณคัมภีร์กล่าวไว้ว่าแสงจันทร์ก็เย็น กลิ่นไม้จันทร์ก็เย็น แต่ความเย็นทั้งสองประการนั้นรวมกันแล้ว ยังไม่เท่ากับความเย็นแห่งมธุรวาจา อนึ่งการแสดงความรักใคร่แม้แต่บุคคลที่มิได้รับใช้ตนเอื้ออารีกว้างขวางเพิ่มความรักให้ระลึกถึงความดีแต่เก่าก่อน ให้อภัยในความผิดพลาด เหล่านี้เป็นลักษณะของผู้มีใจกรุณา"

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  16. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๕. พุทธานุภาพ
    และแล้วนางวิสาขาก็กล่าวว่า "สุสิมา! ลุกขึ้นเถิด อย่าคร่ำครวญนักเลย ข้อที่เธอลืมเครื่องประดับไว้นั้น เรามิได้ถือเป็นความผิดประการใด เราเองยังลืมได้ทำไมเธอจะลืมบ้างไม่ได้ เครื่องประดับนี้มีค่าก็จริง แต่ก็หามีค่าเท่าชีวิตของเธอไม่ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ถ้าหายหรือเสียไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เราก็ทำใหม่ได้ แต่ชีวิตของเธอถ้าเสียไปจะทำใหม่ได้ที่ไหน ดูก่อนนางผู้ซื่อสัตย์ การที่เธอจะยอมถ่ายถอนเครื่องประดับนี้ด้วยชีวิตของเธอนั้นซึ้งใจเรายิ่งนัก เธอจงเบาใจเถิดพระธรรมของพระศาสดาได้ชุบย้อมจิตใจของเราให้มองเห็นชีวิตมนุษย์และแม้สัตว์ทั่วไปเป็นสิ่งมีคุณค่าสูง ไม่อาจจะนำสิ่งของภายนอกมาเทียบได้ อนึ่งเธอเป็นที่รักที่ไว้ใจของเรา เธอเป็นผู้ทำงานดี ซึ่งตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักนายของตนไม่เสื่อมคลายและปรวนแปร ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเรา ความดีของเธอนั้นมีอยู่มาก ความพลั้งเผลอบกพร่องเพียงเท่านี้จะลบล้างความดีของเธอได้ไฉน"
    ดูก่อนภราดา! เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง หญิงรับใช้ยิ่งคร่ำครวญหนักขึ้น เธอกอดเท้าทั้งสองของนายและใช้ใบหน้าคลอเคลียอยู่ด้วยความรักและกตัญญู และแล้วเมื่อนางวิสาขาดึงมือนางให้ลุกขึ้น นางก็ยิ้มทั้งน้ำตามองดูนายของตนด้วยแววตาที่เหมือนเปิดลิ้นชักหัวใจให้เห็นได้หมดสิ้น ประดุจแววตาแห่งสัตว์เลี้ยง เป็นต้นว่าสุนัขอันแสดงออกยามเมื่อได้รับอาหารจากนายของมัน
    ดูก่อนมาริยะ! มีอยู่เหมือนกันมิใช่หรือที่มนุษย์เราต้องหัวเราะหรือยิ้มทั้งน้ำตา ทั้งนี้เพราะความเสียใจและความดีใจประดังกันเข้ามาในระยะกระชั้นชิด เมื่อความเสียใจยังไม่ทันหายไป ความดีใจก็เคลื่อนเข้ามาจนผู้นั้นตั้งตัวไม่ทัน ภาพที่บุคคลยิ้มทั้งน้ำตานั้นเป็นภาพที่ค่อนข้างจะน่าดูพอใช้ อุปมาเหมือนฝนซึ่งโปรยลงมาและยังไม่หาย แดดก็แผดจ้าออกมาในขณะนั้นเป็นภาพซึ่งนานๆ เราจะเห็นสักครั้งหนึ่ง
    คืนนั้นนางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องใช้ความคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น เรื่องนำมาใช้อีกนางไม่สามารถทำได้ จะเก็บไว้เฉยๆ ก็ดูจะเสียประโยชน์ไป นางจึงตัดสินใจว่ารุ่งขึ้นจะลองบอกขาย ถ้าได้ทรัพย์มาจำนวนตามราคาอันเหมาะแห่งเครื่องประดับแล้ว ก็จะนำมาทำบุญทำกุศลตามต้องการ แต่ปรากฏว่าในเมืองสาวัตถีไม่มีใครสามารถซื้อได้ พูดถึงคนมีเงินพอซื้อได้นั้นน่าจะพอมี แต่คงจะไม่มีใครกล้านำเอาเครื่องประดับของนางวิสาขา ซึ่งเป็นที่เคารพของคนทั้งเมืองมาประดับตกแต่งได้ ถ้าผู้ใดทำเข้าแทนที่จะได้รับการยกย่องชมเชย กลับจะกลายเป็นถูกเยาะเย้ยหยามหยันไป นางวิสาขาจึงตกลงใจซื้อของของตนเองด้วยราคา ๙ โกฏิหรือ ๙๐ ล้านบาท แล้วนำเงินจำนวนนั้นทั้งหมดไปสร้างอารามใหม่ชื่อว่า ปุพพาราม เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนครสาวัตถี การสร้างปุพพาราม เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ สร้างกุฏิวิหาร ๙ โกฏิ และจ่ายในการฉลองอีก ๙ โกฏิ
    ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสันติวรบท! ณ ปุพพารามนี้เอง มีเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธจริยาอันประเสริฐ คือ วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วประทับ ณ ภายนอกซุ้มประตู ครานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้า เมื่อพระองค์ประทับ ณ ที่สมควร และสนทนากับพระศาสดาเป็นสาราณียะอยู่นั่นเอง มีนักบวชหลายนิกาย กล่าวคือนิครนถ์ ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน อเจลกะ ๗ คน ปริพพาชก ๗ คน และชฎิลอีก ๗ คน รวม ๓๕ คน ซึ่งล้วนมีเครายาว มีขนรักแร้ยาว ถือบริขารต่างๆ เดินผ่านมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์จากพระผู้มีพระภาคหันไปทางนักบวชเหล่านั้น คุกพระชานุข้างหนึ่งลงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า พลางประกาศพระนามและโคตรของพระองค์ว่า "ข้าแต่ท่านนักพรตผู้ประเสริฐ! ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล" ดังนี้ ๓ ครั้งเป็นการแสดงความเคารวะอย่างสูง นักบวชเหล่านั้นหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินเลยไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงหันมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี! นักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีอยู่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นแน่แท้"
    พระสุคตเจ้ามีพระอาการสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตรัสว่า "มหาบพิตร! พระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม บรรทมเบียดโอรสและชายา ทรงผ้าที่มาจากแคว้นกาสี ทัดทวงของหอม ลูบไล้ด้วยจุณจันทร์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นอรหันต์หรือไม่ มหาบพิตร! ปกติของคนเป็นอย่างไร อาจรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องใส่ใจและมีปัญญาสอดส่องกำกับได้ด้วย ปัญญาของคนพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ความสะอาดของคนพึงรู้ได้ด้วยการทำงาน ความกล้าหาญและเรี่ยวแรงรู้ได้ในเวลามีอันตราย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุ ๓ อย่างประกอบคือ กาลเวลา ปัญญา และมนสิการ"
    ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ! พระผู้มีพระภาคทรงตอบอย่างบัวมิให้ซ้ำน้ำมิให้ขุ่น ถ้าพระองค์จะตรัสตรงๆ ว่านักบวชเหล่านั้นมิได้เป็นอรหันต์ดอก ที่แท้ยังเป็นผู้ชุ่มไปด้วยกิเลส ก็จะเป็นการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าพระองค์จะทรงรับรองว่านักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะพึงดูแคลนพระสัมพัญญุตญาณได้
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า! อัศจรรย์จริง! พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัพพัญญูโดยแท้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ความจริงนักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษ ซึ่งข้าพระองค์ส่งไปสอดแนมเหตุการณ์บ้านเมือง ณ แคว้นต่างๆเมื่อถึงบ้านแล้วบุรุษเหล่านั้นย่อมลูบไล้ด้วยของหอม นอนเบียดบุตรและภรรยาพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕
    พระสุคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า บุคคลไม่ควรพยายามเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ และไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม
    บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่างผิวพรรณก็หามิได้ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นกันเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปโดยรูปลักษณะแห่งคนดี เหมือนหม้อดินและหม้อโลหะซึ่งฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้เมื่อบริวารแวดล้อมแล้ว ก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอก แต่ภายในไม่บริสุทธิ์
    "ดูก่อนท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร!" พระอานนท์กล่าว "ท่านจะเห็นว่าพระพุทธภาษิตเหล่านี้คมคายเพียงไร เป็นพระดำรัสที่ถ้าจะมองว่าลึกซึ้งก็ลึกซึ้ง ถ้าจะมองว่าสามัญชนทั่วไปพอจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ก็ได้เช่นกัน ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นหมายความว่าก่อนใช้ความพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ควรจะสำรวจเสียให้ดีก่อนว่า ความพยายามที่ทำไปนั้นจะได้ผลคุ้มเหนื่อยหรือไม่ อุปมาเหมือนนักสำรวจทอง ก่อนที่จะลงมือขุดก็ควรจะใช้เครื่องมือสำรวจเสียก่อนว่าที่ๆ ตนจะขุดนั้นมีทองอยู่หรือไม่ มิใช่ว่าพอจะขุดทองก็เริ่มขุดไปแต่บันไดบ้านทีเดียว ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นการเสียแรงเปล่าได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย ส่วนเรื่องเป็นตัวของตัวเองก็มีความสำคัญมาก มนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นตัวของตัวเอง คนไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ส่วนข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เป็นคนเลี้ยงตัวได้ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพนั้น มีความหมายว่า บุคคลเมื่อมีอายุพอสมควรจะเลี้ยงตัวได้แล้วก็ควรประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเลี้ยงตน มิใช่คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่อย่างเดียว เพราะการอาศัยผู้อื่นในวัยที่ไม่ควรอาศัย เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไร้ความสามารถ ส่วนสมณะผู้อาศัยอาหารจากเรือนของผู้อื่นแล้วยังชีพให้เป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะสมณะเหล่านั้นอาศัยศีลของตน ถ้าประชาชนรู้ว่าเป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีกัลยาณธรรม เขาย่อมไม่เลี้ยง ไม่ถวายอาหาร เพราะฉะนั้นสมณะก็ชื่อว่าเป็นผู้พึ่งตนเอง กล่าวคือ อาศัยศีลและสัมมาจารของตนเป็นอยู่ ข้อต่อมาที่พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลไม่ควรมีแผลประพฤติธรรมนั้น หมายความว่า ให้ประพฤติธรรมด้วยความสุจริตใจ มิใช่ประพฤติธรรมด้วยเจตนาที่จะหลอกลวงให้คนมานับถือดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ว่า ควรประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติสุจริตย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้พระพุทธองค์เคยตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอในเรื่องนี้ และทรงแนะให้ถือพระองค์เป็นเนตติดังพระพุทธภาษิตต่อไปนี้
    "ภิกษุทั้งหลาย! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระคือความสำรวม เพื่อปหานะคือความละ เพื่อวิราคะคือความคลายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"
    ในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลจะเป็นคนดีเพราะชาติหรือผิวพรรณก็หามิได้ แต่จะเป็นคนดีก็เพราะความประพฤติดี คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วของตัวไว้ เหมือนหม้อดินที่ฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่เพียงภายนอกเท่านั้น สรุปว่าทรงย้ำให้คนทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิดหรือหลงเคารพนับถือ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นคนเลว
    "ดูก่อนภราดา! ข้าพเจ้าขอวกมากล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาต่อไป วันหนึ่งนางวิสาขามีผ้าเปียกปอนผมเปียก เดินร้องไห้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อพระตถาคตตรัสถามก็ได้ความว่า นางวิสาขาเสียใจเพราะหลานสาวอันเป็นที่รักคนหนึ่งตายลง นางรักเธอมากเพราะเธอเป็นคนดี ช่วยงานทุกอย่างรวมทั้งงานที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลด้วย
    "ข้าแต่พระผู้เป็นดวงตาของโลก" นางวิสาขาทูล "ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจในมรณกรรมของหลานสาวคนนี้เหลือเกิน เธอเป็นคนดีอย่างจะหาใครเสมอเหมือนได้ยาก"
    พระตถาคตเจ้าทรงดุษณีอยู่ครู่หนึ่งแล้วเอื้อนพระโอษฐว่า "ดูก่อนวิสาขา! คนในเมืองสาวัตถีนี้มีประมาณเท่าใด?"
    "มีหลายสิบล้านพระพุทธเจ้าข้า!" นางตอบ
    "ถ้าคนเหล่านั้นดีเช่นสุทัตตีหลายของเธอ เธอจะรักเขาเหล่านั้นหรือไม่?"
    "รักพระเจ้าข้า"
    "แล้วคนในเมืองสาวัตถีนี้ตายวันละเท่าไร?"
    "วันหนึ่งหลายๆ คนพระเจ้าข้า"
    "ดูก่อนวิสาขา! ถ้าอย่างนั้นเธอก็ต้องมีผมเปียก มีผ้าเปียกอยู่อย่างนี้ทุกวันละซี เธอต้องร้องไห้คร่ำครวญมีใบหน้าอาบด้วยน้ำตาอยู่เสมอ เพราะมีคนตายกันอยู่ทุกวัน วิสาขาเอย! ตถาคตกล่าวว่าความรักความอาลัยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นคนมีรักมากเท่าใดย่อมมีทุกข์มากเท่านั้น รักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ มีรักร้อยมีทุกข์ร้อย ความทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นตามปริมาณแห่งความรักหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เหมือนความร้อนที่เกิดแต่ไฟ ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มขึ้น"
    ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ! นางวิสาขาได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วสร่างความโศกลงไปได้บ้าง นางเป็นโสดาบันก็จริงอยู่ แต่พระโสดาบันนั้นเพียงทำให้บริสุทธิ์ในศีลเท่านั้น หามีสมาธิและปัญญาสมบูรณ์ไม่ จึงมีบางครั้งที่เผลอสติไป แสดงอาการเยี่ยงชนทั้งหลาย พระอรหันต์เท่านั้นที่มีสติสมบูรณ์
    ดูก่อนภราดา! สิ่งอันเป็นที่รักย่อมทำให้จิตใจกระเพื่อมและกระทบกระเทือนอยู่เสมอ เมื่อความรักเกิดขึ้น ความราบเรียบของดวงใจย่อมปราศนาการไป ยิ่งความรักอันเจือด้วยนันทิราคะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจอ่อนไหวและเสียสมาธิเป็นที่สุด ความรักนั้นเปรียบด้วยพายุ เมื่อมีพายุพัดผ่านความราบเรียบของน้ำก็หมดไปเหลือไว้แต่รอยกระแทกกระทั้นกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จะมีความสุขอย่างสงบประณีต ถ้าเราสามารถทำใจให้ยินดีต้อนรับความขมขื่นและไม่เพลิดเพลินในความชื่นสุขให้มากนัก อย่างน้อยก็ทำใจมิให้ปฏิเสธความขมขื่นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
    นางวิสาขามีสหายที่รักมากอยู่ ๒ คน คือนางสุปปิยา และนางสุปปวาสา เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วจบทั้งสามมักจะเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ถามถึงสิ่งที่ต้องการและยังขาด เมื่อภิกษุรูปใดบอกว่าต้องการอะไร นางจะจัดถวายเสมอ นอกจากนี้ยังได้ถวายอาหารสำหรับภิกษุป่วยและผู้เตรียมจะเดินทางเป็นประจำอีกด้วย
    วันหนึ่งนางสุปปิยาเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุอย่างเคยไปถึงกุฏิภิกษุรูปหนึ่งซึ่งป่วยอยู่ เมื่อนางถามถึงความต้องการว่าท่านปรารถนาสิ่งใดบ้าง ภิกษุรูปนั้นบอกว่าอยากได้น้ำเนื้อต้ม
    ดูก่อนมาริสา! พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำข้าวและน้ำเนื้อต้มซึ่งกรองดีแล้ว ไม่มีเมล็ดข้าวหรือกากเนื้อติดอยู่เพื่อภิกษุอาพาธ เธอสามารถฉันได้แม้ในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยววัน
    นางสุปปิยาดีใจเหลือเกินที่จะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุอาพาธ พระพุทธภาษิตก้องอยู่ในโสตของนางนานมาแล้ว "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดปรารถนาจะบำรุงตถาคต ขอให้ผู้นั้นบำรุงภิกษุไข้เถิด" แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางหาเนื้อไม่ได้เลยจึงเข้าห้องตัดสินใจตัดเนื้อขาของตนด้วยมีดอันคมกริบ สั่งให้คนใช้จัดการต้ม แล้วขอให้นำน้ำเนื้อต้มนั้นไปถวายภิกษุชื่อโน้นซึ่งอาพาธอยู่ แล้วใช้ผ้าพันแผลที่ขาของตนนอนโทรมเป็นไข้เพราะพิษบาดแผลนั้น
    สามีของนางสุปปิยากลับมาไม่เห็นภรรยาอย่างเคยจึงถามคนใช้ ทราบว่านางป่วยจึงเข้าไปเยี่ยมในห้องนอน เมื่อทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว แทนที่จะโกรธพระและภรรยา กลับแสดงความชื่นชมโสมนัสที่ภรรยาของตนมีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา ถึงกับยอมสละเนื้อขาเพื่อต้มเอาน้ำถวายภิกษุอาพาธ จึงรีบไปสู่วัดเชตวัน ทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงรับด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์มีพระสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากเสด็จสู่บ้านของนางสุปปิยา เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นนางสุปปิยา จึงถามสุปปิยาอุบาสกผู้สามี ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้คนช่วยกันพยุงคลอเคลียนางสุปปิยามาเฝ้า เมื่อนางถวายบังคม พระตถาคตเจ้าตรัสว่า "จงมีความสุขเถิดอุบาสิกา" เท่านั้นแผลใหญ่ที่ขาของนางก็หายสนิทและมีผิวผ่องกว่าเดิมเสียอีก
    "ดูก่อนภราดา! เรื่องนี้เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ พุทธานุภาพนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นได้จริง พระจอมมุนีศาสดาแห่งพวกเรานั้น เป็นผู้มีบารมีอันทรงกระทำมาแล้วอย่างมากล้น เคยตัดศีรษะอันประดับแล้วด้วยมงกุฎที่เพริดพราย เคยควักนัยน์ตาซึ่งดำเหมือนตาเนื้อทราย เคยสละเลือดเนื้อและอวัยวะมากหลาย ตลอดถึงบุตรภรรยาเพื่อเป็นทานแก่ผู้ต้องการ จะกล่าวไยถึงการสละทรัพย์สมบัติภายนอก มหาบริจาคทั้งหลายที่พระองค์ทรงกระทำมาทั้งหมดนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวคือความรู้อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสโดยชอบอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียมถึง เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์ของเวไนยนิกรทั้งหลายทั้งทางกายและทางใจ ดูก่อนมาริยะ! ก็ความรู้ใดเล่าในโลกนี้ จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไป เพราะเป็นการดับความกระวนกระวายทั้งมวลเหมือนคนหายโรคไม่ต้องกินยา
    "บุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยบารมีนั้นย่อมเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พระศาสดาเป็นผู้มีพระบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมานานตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อพระองค์จะทรงอยู่ในชาตินี้เป็นปัจฉิมชาติ และปัจฉิมภพแล้วบารมีธรรมทั้งมวลหลั่งไหลมาให้ผลในชาติเดียว ท่านลองคิดดูเถิดจะคณนาได้อย่างไร อุปมาเหมือนน้ำซึ่งหลั่งจากยอดเขา และถูกกักไว้ด้วยทำนบอันหนาแน่นจนเต็มเปี่ยมแล้ว และบังเอิญทำนบนั้นพังลง น้ำนั้นจะไหลหลากท่วมทันเพียงใด
    "ดูก่อนผู้เชื้อสายอารยัน! บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมโดยแท้"
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงอนุโมทนาให้นางสุปปิยาและอุบาสกสุปปิยะ สมาทานอาจหาญร่าเริงในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติเพิ่มพูนศรัทธา ปสาทะ แล้วก็เสด็จกลับสู่วัดเชตวัน ทรงให้ประชุมสงฆ์และตรัสถามภิกษุอาพาธรูปนั้นว่า
    "ดูก่อนภิกษุ! เธอขอน้ำเนื้อต้มจากอุบาสิกาสุปปิยาหรือ?"
    "อย่างนั้น พระเจ้าข้า" พระรูปนั้นตอบ
    "เมื่อเธอจะฉัน เธอพิจารณาหรือเปล่า?"
    "มิได้พิจารณาเลย พระเจ้าข้า"
    "ดูก่อนภิกษุ! เธอได้ฉันเนื้อมนุษย์แล้ว เธอทำสิ่งที่น่าติเตียน" ตรัสดังนี้แล้วทรงตำหนิภิกษุนั้นอีกเป็นอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
    "ภิกษุใดฉันเนื้อโดยมิได้พิจารณา ภิกษุนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ถ้าเนื้อนั้นเป็นเนื้อมนุษย์ เธอต้องอาบัติถุลลัจจัย" ดังนี้

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  17. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๖. นางบุญและนางบาป
    ภราดา! มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธานุภาพอันน่าพิศวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นคือเรื่องนางสุปปวาสา โกลิยธิดา นางมีครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี และเมื่อจะคลอดบุตรก็ปวดครรภ์อยู่ตั้ง ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส นางครวญครางด้วยความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากนางมีศรัทธาเลื่อมใสใสมั่นคงในพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อรู้สึกว่าชีวิตของตัวอยู่ในระหว่างอันตราย เหมือนศิลาซึ่งแขวนอยู่ด้วยเส้นด้ายเส้นน้อยๆ จึงขอร้องสามีให้ไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า และกราบพระมงคลบาท แล้วให้ทูลว่า
    "ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้นางสุปปวาสา โกลิยธิดา มีครรภ์มาเจ็ดปีและปวดครรภ์อยู่เจ็ดวันแล้ว นางได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส อันตรายแห่งชีวิตอาจมาถึงนางในไม่ช้า นางระลึกถึงพระผู้มีพระภาค และขอถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า"
    สามีของนางได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ และกราบทูลให้ทรงทราบตามคำของนางนั้น พระผู้เป็นนาถะของโลกทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า "ขอนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงมีความสุข หาโรคมิได้เถิด"
    ทันทีที่พระจอมมุนีตรัสจบลง บุตรของนางก็คลอดได้โดยง่าย เมื่อสามีกลับมาถึงบ้าน นางสุปปวาสาก็คลอดเรียบร้อยแล้ว ทั้งบุตรและมารดาปลอดภัยเกษมสำราญดี นางและสามีต่างชื่นชมโสมนัสในพระพุทธานุภาพ กล่าวออกมาพร้อมๆ กันว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ และพระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้
    วันต่อมา นางให้สามีไปอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อรับภัตตาหารเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ณ เคหะของนาง พอดีเวลานั้นพระพุทธองค์ก็ได้รับอาราธนาของอุบาสกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอุปฐากของพระมหาโมคคัลลานะไว้เสีย แล้วพระตถาคตจึงให้พระมหาโมคคัลลานะเข้าเฝ้าทรงเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วตรัสว่า
    "ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงไปยังบ้านของอุบาสกผู้นั้นแล้วกล่าวขอเลื่อนการนิมนต์ของเราไปสัปดาห์หน้าเขาจะขัดข้องหรือไม่ ถ้าเขาขัดข้องก็จะได้ไม่ต้องรับอาราธนาของนางสุปปวาสา"
    อัครสาวกเบื้องซ้าย รับพุทธบัญชาเหนือเศียรเกล้าแล้วไปหาอุบาสกผู้นั้นแล้วบอกเขาตามพุทธบัญชา อุบาสกทราบแล้วกล่าวว่า
    "ข้าแต่พระคุณเจ้า! ถ้าพระคุณเจ้าจะรับรองหรือเป็นประกันในเหตุสามอย่าง ข้าพเจ้าก็จะยินยอม แต่ถ้าพระคุณเจ้ารับรองไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ยินยอมไม่ได้"
    "ดูก่อนอุบาสกเหตุสามประการนั้นมีอะไรบ้าง"
    "ข้าแต่พระคุณเจ้า! ถ้าท่านจะรับรองได้ ว่าโภคทรัพย์ของข้าพเจ้าจะไม่เสื่อมสิ้นพินาศ ไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองคือ ชีวิตของข้าพเจ้าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น และประการที่สามคือ ศรัทธาของข้าพเจ้าจะไม่หมด คงมีอยู่อย่างเดิม ถ้าพระคุณเจ้าสามารถเป็นผู้ประกันเหตุทั้งสามประการนี้ว่า จะไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายในเจ็ดวันนี้แล้วข้าพเจ้าก็ยินยอม"
    พระมหาเถระผู้เลิศทางมีฤทธิ์นั่งสงบอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า "ดูก่อนอุบาสก! อาตมาเป็นปาฏิโภคให้ท่านได้สองประการ คือขอรับรองว่าโภคทรัพย์ของท่านจะไม่เสื่อมและชีวิตของท่านจะไม่สิ้นไปหรือเป็นอันตรายใดๆ ภายในเจ็ดวันนี้ ส่วนศรัทธาขอให้ท่านรับรองตัวท่านเอง อาตมารับรองให้ไม่ได้"
    อุบาสกผู้นั้นรับรองศรัทธาของตน และยินยอมเลื่อนการนิมนต์ของตนไปสัปดาห์หน้า
    พระศาสดามีพระสงฆ์ขีณาสพเป็นบริวาร เสด็จเสวยภัตตาหาร ณ บ้านของนางสุปปวาสาเป็นเวลา ๗ วัน วันหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสถามนางว่า สุปปวาสา! เธออุ้มครรภ์อยู่ ๗ ปี และปวดครรภ์อยู่ ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสอย่างนี้แล้ว เธอยังจะปรารถนามีบุตรอีกหรือไม่?"
    "ข้าพระองค์ยังปรารถนามีได้อีกถึงเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า" นางสุปปวาสาตอบ
    พระตถาคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า "สุปปวาสาเอย! มักจะเป็นอย่างนี้แหละ สิ่งที่ไม่น่ายินดี มักจะปลอมมาในรูปที่น่ายินดี สิ่งที่ไม่น่ารักมักจะมาในรูปแห่งสิ่งที่น่ารัก ความทุกข์มักจะมาในรูปแห่งความสุข เพราะดังนี้คนจึงประมาทมัวเมากันนัก"
    "พระอานนท์กล่าวไปว่า ดูก่อนผู้เป็นพงศ์พันธุ์แห่งอริยะ! ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวถึงพุทธานุภาพอีกสักเล็กน้อย เพื่อบรรเทาความสงสัยของท่าน ท่านจะเห็นว่าอานุภาพของคนนั้นมักจะเป็น ผลแห่งบารมีธรรมหรือคุณความดีที่สั่งสมอบรมมา ก็พระศาสดาของเรานั้นเคยสละชีวิตเลือดเนื้อมามากมาย จุดมุ่งหมายก็เพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐ พระพุทธานุภาพหรือลาภสักการะที่หลั่งไหลนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง พระองค์เคยสละชีพไม่เพียงแก่แต่มนุษย์เท่านั้น ทรงสละให้สัตว์ผู้หิวโหยก็เคยทรงกระทำ
    ครั้งหนึ่งพระองค์เป็นหัวหน้าดาบสบำเพ็ญตบะอยู่บนภูเขา เวลาเย็นวันหนึ่งพระองค์ประทับรับลมเย็นอยู่ ณ ชะง่อยผา มองลงมาเบื้องล่างเห็นแม่เสือตัวหนึ่งเพิ่งคลอดลูกใหม่ยังออกจับเนื้อกินไม่ได้ มันจึงหิวโหยสุดประมาณ กำลังงุ่มง่ามจะกินเนื้อลูกของมัน ดาบสเห็นดังนั้นจึงให้ดาบสผู้บริวารรีบไปเที่ยวแสวงหาสัตว์ที่ตายแล้วมาเพื่อโยนให้แม่เสือตัวนั้นกิน แต่เมื่อเห็นแม่เสืองุ่มง่านมากขึ้นทุกที ดาบสบริวารคงหาเนื้อมาไม่ทันเป็นแน่ เนื้อสัตว์ที่ตายเองในป่ามิใช่หาได้ง่าย พระดาบสโพธิสัตว์จึงตัดสินใจช่วยชีวิตลูกเสือไว้ โดยกระโดดจากเชิงผาลงตรงหน้าแม่เสือพอดี พระดาบสตาย เป็นการสละชีพเพื่อช่วยเหลือสัตว์อื่น และข้อมุ่งหมายสูงสุดก็คือพระโพธิญาณ
    ดูก่อนภราดา! ณ กรุงสาวัตถีอีกเหมือนกันที่แสดงถึงพุทธจริยาอันประเสริฐอีกหลายเรื่อง แต่ข้าพเจ้าขอนำมาเล่าสู่ท่านเพียงเรื่องเดียวก่อน คือเรื่องที่เกี่ยวกับนางจิญจมาณวิกา เรื่องเป็นดังนี้
    เมื่อพระพุทธศาสนารุ่งโรจน์โชตินาการปานประหนึ่งพระอาทิตย์ทอแสงขับรัศมีแห่งหิ่งห้อย คือพาหิรลักธิอื่นๆ ให้ด้อยลงนั้น พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลายต่างก็เลื่อมจากลาภสักการะ และความนับถืออย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
    นักบวชเหล่านั้นจึงเที่ยวประกาศตามทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่งและตามถนนอันเป็นที่สัญจรต่างๆ ว่า "ท่านผู้นัยน์ตาทั้งหลาย! พระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไร เราทั้งหลายก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ให้ทานทำบุญแก่พระสมณโคดมมีผลอย่างไร ให้แก่พวกเราก็มีผลมากอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงให้พวกเราเถิด" เมื่อนักบวชเหล่านั้นเที่ยวประกาศอยู่อย่างนี้ก็หาสามารถชักจูงคนให้เลื่อมใสตามต้องการไม่ ซ้ำร้ายคนที่เคยเลื่อมใสและมีปัญญาพอสมควรก็เลิกเลื่อมใส คนที่ไม่เลื่อมใสอยู่แล้วก็ถึงกับเกลียดชังเอาเลยทีเดียว เป็นอันว่าวิธีนี้ของพวกเดียรถีย์ไม่ได้ผล
    พวกเขาประชุมกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี ขณะนั้นมีนึกบวชความคิดเฉียบแหลมคนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า "สหายทั้งหลาย! อุบายนั้นมีมากหลาย เมื่อไม่ได้ด้วยวิธีหนึ่งก็ควรใช้วิธีอื่นต่อไป เป็นคนไม่ควรจนปัญญา ธรรมดามีอยู่ว่าเมื่อประตูหนึ่งปิดลง อาจจะมีประตูอื่นพอที่จะเปิดได้ ลองๆ ผลักดูก่อนเถิด หรือคือข้าพเจ้าระลึกถึงสานุศิษย์คนหนึ่งของพวกเรา เธอเป็นสตรีที่งามมากประดุจเทพอัปสร ถ้าได้อาศัยนางช่วยเหลือ แผนการของพวกเราคงสำเร็จ หรือท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร?"
    พูดจบนักบวชทุกคนเห็นด้วย พอดีในขณะที่เขาประชุมลับกันอยู่นั้น นางจิญจมาณวิกาก็เข้ามาเพื่อเยี่ยมเยียนตามปกติอย่างที่เคยมา นักบวชเหล่านั้นทำเป็นไม่สนใจเธอและไม่ไต่ถามอะไรๆ นางรู้สึกประหลาดจึงกล่าวขึ้นว่า
    "พระคุณเจ้า! เมื่อข้าพเจ้ามาหาครั้งก่อนๆ พระคุณเจ้าเคยแสดงอาการยินดีและต้อนรับอย่างเต็มใจ แต่คราวนี้เหตุใดพระคุณเจ้าจึงเมินเฉย เหมือนข้าพเจ้าเป็นคนแปลกหน้าและพึงรังเกียจ โปรดแจ้งข้อผิดของข้าพเจ้าให้ทราบด้วยเถิด ถ้าข้าพเจ้ารู้ความผิดของตัวแล้วจักทำคืนเสีย"
    "น้องหญิง! นักบวชคนหนึ่งกล่าวขึ้น "เธอมันไปเพลินเสียที่ใด จึงไม่ทราบความทุกข์ของพวกเราพวกเราถูกพระสมณโคดมเบียดเบียนอยู่ ทำให้ด้อยทั้งลาภสักการะและเกียรติคุณ เธอไม่เจ็บร้อนแทนเราบ้างเลยหรือ?"
    "ข้าแต่พระคุณเจ้า! โบราณกล่าวไว้ว่าเมื่อยามเดือนร้อนย่อมได้เห็นใจมิตรและบริวาร บัดนี้พระคุณเจ้าทั้งหลายเดือดร้อนอยู่ ข้าพเจ้าเป็นทั้งมิตรและบริวารไฉนจะเฉยอยู่ได้ แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้หญิง จะทำอย่างเล่าจึงจะช่วยแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของพระคุณเจ้าทั้งหลายได้ จงบอกมาเถิด ข้าพเจ้ายินดีปฏิบัติเพื่อความสุขความปลอดโปร่งของพระคุณเจ้า"
    เดียรถีย์เหล่านั้นพอใจในคำของนางปริพพาชิกายิ่งนัก คนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า
    "ดูก่อนน้องหญิง! พวกเราจะไม่ลืมความดีของน้องหญิงในครั้งนี้เลย ถ้างานใหญ่ครั้งนี้สำเร็จเธอย่อมมีความชอบอย่างสูง อนึ่งเธอบอกว่าเธอเป็นผู้หญิงจะช่วยพวกเราได้อย่างไร น้องหญิง! ก็เธอทราบมิใช่หรือว่าอะไรเล่าจะเป็นความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงสำหรับนักพรต ยิ่งไปกว่าการคลุกคลีเกี่ยวข้องด้วยสตรีเพศเหมือนหนอนเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเนื้อ จิญจมาณวิกาเอย! เธอจงอาศัยความเป็นหญิงของเธอนั่นแล ทำลายเกียรติยศอันรุ่งเรืองยิ่งของพระสมณโคดมให้ทลายลง"
    นางจิญจมาณวิกากล่าวว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า! ถ้าอย่างนั้นไว้เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง คงจะสำเร็จสมประสงค์" แล้วนางก็ลากลับไป
    หลังจากนั้นสองสามวัน ชาวนครสาวัตถีผู้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้ฟังพระธรรมเทศนาทุกๆ เย็น เมื่อกลับออกมาจากวัดเชตวันจะเห็นนางจิญจมาณวิกาปริพพาชิกาเดินสวนทางเข้าไปในอาราม เมื่อมีผู้ถามนางว่าจะไปไหน ก็ตอบเพียงว่า ธุระอะไรของพวกท่านที่จะต้องรู้ และแล้วก็เดินเข้าไปในวัดเชตวัน
    ตอนเช้าเมื่อมหาชนเข้าสู่วัดเชตวัน ถวายยาคูและภัตตาหารแก่พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ เธอจะเดินสวนออกมาจากวัดอีก เมื่อถูกถามว่านางมาจากไหน นางจะตอบอย่างเดียวกันว่า ธุระอะไรของพวกท่านที่จะต้องรู้ว่าเรามาจากไหน และนอนที่ไหน
    นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ ๒ เดือน และทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ครานี้เองด้วยอาการดังว่าจะปลงใจทำบุญเพราะเหลือเอือมเสียที เมื่อมีผู้หนึ่งในมหาชนทักถามขึ้นอีกในหนนั้น นางจึงกล่าวว่า
    "ท่านทั้งหลายไปเฝ้าพระศาสดาทั้งเช้าและเย็นเคารพบูชาพระองค์อย่างสูง แม้พระราชาแห่งแคว้นโกศลผู้ทรงศักดิ์ ก็เทินทูนพระองค์อย่างหาที่เสมอเหมือนมิได้ แต่ทั้งท่านทั้งหลายและทั้งพระราชาก็หาทราบไม่ว่า คนอันเป็นที่รักอย่างยิ่งของพระมหาสมณโคดมนั้นคือใคร" นางพูดทิ้งไว้แค่นั้นแล้วก็ยิ้มอย่างเยาะโลก
    "ก็ใครเล่าเป็นที่รักอย่างยิ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นท่านรู้หรือ? ประชาชนซักถามสืบไปอีก
    "ทำไมเราจะไม่รู้! พระสมณโคดมอภิรมณ์ชมชื่นด้วยผู้ใดทุกคืน ผู้นั้นแหละเป็นที่รักอย่างยิ่งของพระองค์ ท่านเอย! ธรรมดาบุรุษที่จะว่างเว้นจากสตรีเพศสำหรับเชยชมนั้นจะทนอยู่ได้ไฉน อุปมาเหมือนกาสรฤาจะว่างเว้นจากปลัก คนที่รักกันย่อมไม่ว่างเว้นจากการเชยชม หรือเหมือนพญาหงส์ย่อมอภิรมณ์ต่อสระโบกขรณี ดาบสตาปสินีย่อมไม่ว่างเว้นด้วยการเข้าฌาน เป็นการกีฬา ดูก่อนท่านผู้มืดบอดทั้งหลาย! ก็พระสมณโคดมนั้นออกจากพระราชวังอันโอ่อ่าเคยแวดล้อมด้วยสตรีที่คอยแต่จะบำรุงบำเรอด้วยกามรส และบัดนี้พระองค์ได้ว่างเว้นจากสิ่งเช่นนั้นมาเป็นเวลานาน เมื่อได้มาพบสตรีที่มีรูปทรงสะคราญตาและลำเพาพักตร์ พระองค์น่ะหรือจะทนได้ พระองค์ย่อมจะถือโอกาสเชยชมให้สมกับที่ว่างเว้นมานานเหมือนมัจฉาชาติซึ่งกระวนกระวายเพราะขาดน้ำในฤดูแล้ง เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องมาจากทิศตะวันตก ก็ย่อมจะไหวตัวและเมื่อพระพิรุณหลั่งลงมาห่าใหญ่หามรุ่งหามค่ำ ทำให้น้ำเจิ่งนองทุกบึงบาง มัจฉาชาติเหล่านั้นจะพึงชื่นชม ถึงแก่โลดคะนองสักเพียงใด ดูก่อนท่านผู้มืดบอด! ข้อนี้ฉันใด พระมหาสมณโคดมก็ฉันนั้น"
    "ก็ท่านหรือเป็นที่รักอย่างยิ่งของพระมหาสมณโคดม?" ประชาชนยังถามอยู่
    "ข้าพเจ้าบอกท่านไว้แล้วมิใช่หรือว่าพระสมณโคดมอภิรมณ์ชมชื่นกับผู้ใดทุกคืน ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ก็ข้าพเจ้านี่แหละเป็นผู้ที่พระองค์รับสั่งหาและอภิรมย์ด้วย อย่าให้ข้าพเจ้าต้องแจงอยู่อีกเลย ท่านตรองเอาเองเถิดว่าเรื่องควรจะเป็นอย่าง" ว่าแล้วนางก็เดินเลยไป เพื่อให้น้ำคำดุจยาพิษที่วางไว้ออกฤทธิ์ของมันไปตามลำพัง ไม่รอคำซักถามของประชาชนอีก
    แลก็เป็นเช่นนั้น คำพูดของนางก่อความสงสัยให้เกิดขึ้นในดวงจิตของพุทธบริษัทอย่างสุดที่จะห้ามได้ ประกอบกับมีข้อประจักษ์อยู่ทั่วกันให้น่าเชื่อ คือเมื่อประมาณ ๒ เดือนก่อนนี้นางได้เดินเข้าเดินออกอยู่วัดเชตวันทั้งเช้าและเย็น พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลายเห็นได้ทีเช่นนั้นแล้วก็ช่วยกันกระพือข่าวให้ลุกลามเหมือนไฟซึ่งมีเชื้อดีและได้แรงลม
    แต่เหตุการณ์ในวัดเชตวันยังคงสงบเงียบ ภิกษุทั้งหลายยังคงบำเพ็ญสมณธรรมและสาธยายพระพุทธพจน์ตามปรกติ มีบางครั้งที่ภิกษุบางรูปแสดงความจำนงจะแก้ข่าวนี้ แต่พระพุทธองค์ได้ห้ามเสีย สาวกผู้เชื่อมั่นในอนาคตังสญาณแห่งศาสดาตน จึงคงยินข่าวลือนี้ด้วยดวงใจสงบ
    ดูก่อนภราดา! ข้าพเจ้าเองก็เดือดร้อนกระวนกระวายเกี่ยวกับเรื่องนี้มิใช่น้อย แต่ก็ระงับลงได้ด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสปลอบว่า
    "อานนท์! อย่าเดือนร้อนไปเลย ผู้ที่จับคูถปามณฑลพระจันทร์ย่อมจะประสบความเดือดร้อนเองด้วยเหตุสองอย่างคือ มือของเขาย่อมสกปรกเปรอะเปื้อนและติดกลิ่นเหม็นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเขาจะโทมนัสมากขึ้น เมื่อคูถที่เขาปาขึ้นไปนั้นไม่สามารถทำให้มณฑลพระจันทร์แปดเปื้อนมัวหมองลงได้ แต่กลับตกลงมาให้ศีรษะและอวัยวะต่างๆ ของผู้ปาสกปรกเปรอะเปื้อนเสียเอง ข้อนี้ฉันใด ผู้ใดพยายามใส่ความตถาคตก็ฉันนั้น"
    ดูก่อนภราดา! ในกรณีนี้ พระบรมศาสดาเป็นเหมือนนายตำรวจใหญ่ผู้ฉลาดในการจับผู้ร้าย เมื่อเห็นและรู้ลาดเลาว่าผู้ร้ายจะเข้าปล้นบ้านก็หาได้จับในทันทีไม่ คาดคะเนกำลังของผู้ร้ายแล้วก็เตรียมกำลังตำรวจไว้จับให้ได้คาหนังคาเขา ให้ผู้ร้ายไม่มีทางดิ้นรนหรือแก้ตัวประการใดเลย
    อีก ๔ เดือนต่อมานางจิญจมาณวิกาได้นำเอาผ้าเก่าๆ ทบเป็นหลายชั้นใส่ไว้หน้าท้อง แล้วค่อยเพิ่มขึ้นๆ แสดงอาการว่ามีท้องแก่ขึ้นตามลำดับๆ พอย่างเข้าเดือนที่ ๘ ที่ ๙ นางใช้ไม้คางโคทุบตามหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น เพื่อให้สมกับอาการของผู้มีครรภ์แก่เต็มที่จวนจะคลอด
    เรื่องนี้เกรียวกราวที่สุดในเมืองสาวัตถีในปีนั้น ยกเว้นพระอริยสาวกเสียแล้ว มหาชนนอกนี้เชื่อสนิทว่านางตั้งครรภ์กับพระศาสดา แต่พระพุทธองค์ก็ยังคงเฉยอยู่บังเอิญอริยสาวกมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้พุทธบริษัทในวัดเชตวันยังคงคับคั่ง
    ทุกหนทุกแห่งโจษจันกันเกรียวกราวถึงเรื่องนี้ตามทางสามแพร่ง สี่แพร่ง ในที่สาธารณสถานและสัณฐาคารที่ประชุมต่างๆ มีการถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายได้แยกออกเป็น ๒ พวก พวกที่เชื่อว่าเป็นไปได้จริง ก็ถอยศรัทธาในพระศาสดา พวกที่ไม่เชื่อก็ช่วยแก้แทนให้พระพุทธองค์
    วันหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกกลุ้มใจ กระวนกระวายเพราะเรื่องนี้ขึ้นมาอีก หากจะกราบทูลพระศาสดาพระองค์ก็คงจะนิ่งเฉยอย่างเคย ข้าพเจ้าจึงเดินออกจากเชตวนาราม มุ่งไปทางทิศทักษิณ ณ ที่นั้นเป็นดงไม้สีเสียดอันร่มรื่น ข้าพเจ้าต้องการอยู่ที่สงบเพื่อระงับใจที่ฟุ้งซ่านอันเนื่องด้วยความห่วงใยพระศาสดาผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระศาสดามิได้ทำกรรมอันน่าบัดสีนั้น แต่จะห้ามปากคนมิให้พูดได้อย่างไร ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ใกล้ชิดอย่างยิ่งของพระองค์ และบางครั้งเมื่อข้าพเจ้าออกบิณฑบาตในเวลาเช้า จะมีพราหมณ์หนุ่มบางคนและนักบวชพาหิรลัทธิเยาะเย้ยถากถางจะให้เจ็บอาย แต่ข้าพเจ้าก็พยายามอดกลั้น ไม่แสดงอาการโกรธเคืองตามพระดำรัสของพระศาสดา
    "ท่านเอย! คนในโลกนี้ส่วนใหญ่พอใจแต่ในความวิบัติล่มจมของผู้อื่นถือเป็นอาหารปากอันโอชะ เพื่อจะได้ไว้เคี้ยวเล่นในวงสมาคมเวลาว่าง แม้เขาจะไม่ต้องการภาวะเช่นนั้น ถ้าเกิดกับตัวของเขาเอง"
    ในขณะที่ข้าพเจ้ารำพึงอยู่นั้นมีเด็กหนุ่มตระกูลพราหมณ์สองคนเดินเข้ามาโดยไม่ทันเห็นข้าพเจ้า และแล้วก็นั่งพัก ณ ใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่งโดยหันหลังให้ข้าพเจ้า
    "วาเสฏฐะ! เด็กหนุ่มคนหนึ่งพูดขึ้น "อากาศร้อนอบอ้าวเหลือเกิน มาพักในป่าไม้สีเสียดนี่ค่อยสบายขึ้นหน่อย ถ้ารัตตยามาด้วยคงรื่นรมย์ขึ้นอีกมากทีเดียว" นามนั้นเขาคงหมายถึงคนรักของเขา
    "คนกำลังมีคนรักใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้เอง "เด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งเปรยขึ้น "เห็นอะไรไปที่ไหนก็คิดถึงแต่คนรัก หายใจเข้าหายใจออกเป็นคนรักไปหมด"
    "ก็ฉันยังหนุ่มแน่นมีกำลังสมบูรณ์ และมีคู่รักน่ารักอย่างรัตติยา จะไม่ให้ฉันใฝ่ฝันและพร่ำเพ้ออย่างไร อย่าว่าแต่เราๆ เลย แม้แต่พระสมณโคดมบรมศาสดาก็ยังมีนางจิญจมาณวิกาไว้เชยชม เออ! ความจริงมันไม่น่าเป็นไปได้นะภารัทวาชะ! แต่มันก็เป็นไปแล้ว
    ข้าพเจ้าสะดุ้งขึ้นทั้งตัว อนิจจา! ไม่ว่าจะหลบหลีกไปมุมใด ข้าพเจ้าเป็นได้ยินแต่ข่าวอันไม่น่าชื่นใจนี้ทั้งสิ้น แคว้นโกศลมหารัฐและแคว้นใกล้เคียงเวลานั้นอบอวลไปด้วยควันไฟ คือข่าวลือเรื่องพระศาสดาและนางจิญจมาณวิกา ข้าพเจ้าอึดอัดเป็นที่สุด อยากจะลุกขึ้นไปชี้แจงให้เด็กสองคนนั้นเข้าอย่างถูกต้องว่า กรรมอันน่าบัดสีนั้นพระศาสดามิได้ทำ ก็พอดีได้ยินเสียงเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งพูดขึ้นว่า
    "วาเสฏฐะ! เธอเชื่อหรือว่าพระสมณโคดมจะทรงกระทำอย่างนั้นจริง"
    "พยานหลักฐานออกแน่นหนาชัดเจนอย่างนั้น เธอยังจะไม่เชื่ออีกหรือ ภารัทวาชะ! ผู้หญิงเขาเป็นฝ่ายเสียหาย และบอกออกมาโต้งๆ ว่าพ่อของเด็กในท้องคือใคร เหตุการณ์ที่เป็นมาตลอดระยะเวลาหกเจ็ดเดือนก่อนนี้ก็พอเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ นางจิญจมาณวิกาเดินเข้าเดินออกอยู่ในวัดเชตวันไม่เท่าไรก็ตั้งท้อง ใครๆ ก็เห็น"
    "แต่ฉันยังไม่เชื่อ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ใส่ร้ายกันได้ ผู้หญิงเป็นเครื่องมืออย่างดีที่สุดของผู้ใจบาป ที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายเกียรติยศของใครต่อใคร"
    "ภารัทวาชะ! สหายรัก! เรื่องถ้าไม่มีพยานหลักฐาน ฉันจะไม่เชื่อเหมือนกัน แต่ที่ท้องของนางจิญจมาณวิกาเป็นพยานปากเอกที่จะไม่ย่อมให้ใครเถียงได้เลย ว่าพระสมณโคดมมิได้ทำกรรมอันน่าบัดสีนั้น"
    "แต่ฉันจะยังไม่เชื่อ ภารัทวาชะพูดอย่างหนักแน่น "จนกว่านางจิญจมาณวิกาจะคลอดพยานปากเอกจริงๆ คือเด็กที่จะคลอดออกมาหาใช่นางจิญจมานวิกาไม่ดอก และแม้เด็กคลอดแล้ว ถ้าไม่มีเค้าหน้าแห่งพระตถาคตเจ้าเลย ฉันก็จะยังเชื่อไม่สนิท ฉันเคยเห็นแม่ปริพพาชิกาคนนี้ เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ตามวัดของพวกเดียรถีย์นิครนถ์บ่อยไป นางอาจจะตั้งครรภ์กับใครสักคนหนึ่งก็ได้ในจำพวกเดียรถีย์นิครนถ์เหล่านั้น แล้วพวกนั้นก็เป็นศัตรูของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่พระองค์ไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร เธอเคยได้ยินมิใช่หรือ พวกนั้นเที่ยวประกาศปาวๆ เพื่อให้มหาชนเลื่อมใสตน แต่ก็หาสำเร็จไม่ พอพวกนั้นหยุดประกาศไม่เท่าไร เรื่องของนางจิญจมาณวิกาก็โผล่ขึ้นมา เพื่อนรักอย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป คอยดูกันไปให้ถึงที่สุด คนในโลกนี้ชอบใส่ร้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประโยชน์ขัดกัน
    "ฉันไม่ใช่คนเชื่อง่าย เธอก็คงรู้ ฉันมั่นใจว่าคนเชื่อง่ายเป็นคนงมงาย แต่คนที่ไม่ย่อมเชื่ออะไรเสียเลยก็เป็นคนงมงายเหมือนกัน และดูเหมือนจะงมงายกว่าคนเชื่อง่ายเสียอีก"
    "ฉันไม่ได้ว่าอะไร" ภารัชวาชะพูดตัดบท "เป็นแต่ฉันบอกว่า ให้คอยดูกันไปจนถึงที่สุดเท่านั้น"
    และแล้วเด็กหนุ่มทั้งสองก็ละดงไม้สีเสียดไว้เบื้องหลัง ปล่อยให้ข้าพเจ้าจมอยู่ด้วยจินตนาการที่สับสนสุดพรรณนา


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  18. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๗. นางบาปและนางบุญ
    แลแล้ววันอันตื่นเต้นที่สุดก็มาถึง มันเป็นประดุจวันติดสินความคงอยู่หรือความดับสูญแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าเรื่องของนางจิญจมาณวิกาเป็นเรื่องจริง ก็เป็นความดับสูญแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าเรื่องของนางจิญจมาณวิกาเป็นเรื่องเท็จ ก็เป็นนิมิตว่าพระพุทธศาสนาจะรุ่งโรจน์ต่อไป ทั้งนี้ก็เสมือนคนโง่นำมูลค้างคาวไปสาดต้นข้าว ด้วยเจตนาที่จะให้ต้นข้าวตาย แต่บังเอิญมูลค้างคาวเป็นปุ๋ยอย่างดีของต้นข้าว ยิ่งทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามเขียวสดยิ่งขึ้น
    วันนั้นพระคตาคตเจ้าประทับแสดงธรรมอยู่ ณ ธรรมสภา สง่าปานดวงจันทร์ในท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก ขณะที่พุทธบริษัทกำลังทอดกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาอยู่นั่นเอง นางจิญจมาณวิกาก็ปรากฏกายขึ้นท่ามกลางพุทธบริษัท นางยืนท้าวสะเอวด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งชี้พระพักตร์พระตถาคตเจ้าด้วยอาการเกรี้ยวกราด
    "แสดงธรรมไพเราะจริงนะ พระโคดม! เสียงของท่านกังวานซึ้งจับใจของมหาชน ฟันของท่านเรียบสนิท วาจาที่เปล่งออกล้วนแต่ให้คนทั้งหลายสละโลกียวิสัย แต่ตัวพระสมณโคดมเองเล่าสละได้หรือเปล่า บทบาทแสดงธรรมช่างทำได้ไพเราะหวานชื่นไม่แพ้บทประโลมนางในห้องนอน"
    พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรม พุทธบริษัทเงียบกริบ บรรยากาศรอบๆ ช่างวิเวกวังเวงเสียสุดประมาณ ต้นไม้ทุกต้นในวัดเชตวันยืนต้นนิ่งเหมือนไม้ตายซาก
    "ช่างดีแต่จะอภิรมณ์" นางจิญจมาณวิกาพล่ามต่อไป "พระโคดมหันมาดูข้าพเจ้าให้ชัดเจนซิ ท้องของข้าพเจ้าบัดนี้ ๙ เดือนเศษแล้ว ตั้งแต่ตั้งท้องมาจะห่วงใยสักนิดหนึ่งก็มิได้มี ตอนแรกๆ เมื่อเริ่มอภิรมย์ ช่างสรรมาเล่าแต่คำหวานให้เพลินใจ แต่พอท้องแก่แล้วจะจัดหาหมอหายาเพื่อลูกของตนเองสักนิดหนึ่งก็มิได้มี เมื่อไม่ทำเองจะมอบภาระให้สานุศิษย์ผู้ศรัทธา เช่นนางวิสาขาหรืออนาถปิณฑิกะหรือพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ ช่วยจัดเรือนคลอดและสวัสดิภาพอื่นๆ มิใช่เพียงแต่เพื่อคนที่ตนเคยพร่ำว่ารักเท่านั้น แต่เพื่อเด็กอันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนด้วย" ว่าจบลงนางกวาดสายตาไปทั่ว
    "ดูก่อนน้องหญิง" พระตถาคตเจ้าตรัสด้วยพระสุรเสียงกังวานซึ้งอย่างเดิม "เรื่องนี้เราสองคนเท่านั้นที่รู้กันว่า จริงหรือไม่จริง"
    พระจอมมุนีตรัสเพียงเท่านี้แล้วทรงดุษณีอยู่ แต่พระดำรัสสั้นๆ กินความลึกซึ้งนี่เองพุ่งเข้าเสียบความรู้สึกของนางอย่างรุนแรง เสมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษโดยไม่รู้สึกตัวนางสะดุ้งอย่างแรง มือเท้าและปากเริ่มสั่นอยู่ครู่หนึ่ง พอรวบรวมสติให้มั่นคงดังเดิม แล้วนางก็โต้ตอบออกมาทันทีว่า
    "แน่ละซิ พระโคดม! ก็ในพระคันธกุฎีอันมิดชิดนั้นใครเล่าจะไปร่วมรู้เห็นด้วย นอกจากเราสองคน ช่างพูดได้อย่างไม่สะทกสะท้านเทียวนะว่าเราสองคนเท่านั้นรู้กัน" นางพูดไปเต้นไปด้วยอารมณ์โกรธอันค่อยๆ พลุ่งขึ้นมาทีละน้อย
    "แน่นอนทีเดียวน้องหญิง! ตถาคตขอยืนยันคำนั้น"
    "ดูก่อนภราดา! จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญ หรือเป็นเพราะวิบากแห่งกรรมอันสุกรอบของนาง ก็สุดจะอนุมานได้ เมื่อนางร้องด่าพระตถาคตไปและเต้นไป เชือกซึ่งนางใช้ผูกท่อนไม้ ซึ่งพันด้วยผ้าเก่าบางๆ ก็ขาดลงเรื่องทั้งหลายก็แจ่มแจ้ง การมีท้องของนางปรากฏแก่ตามหาชนอย่างชัดเจนยิ่งกว่าคำบอกเล่าใดๆ ทั้งหมด นางได้คลอดบุตรคือท่อนไม้และผ้าเก่าๆ แล้ว ท่ามกลางมหาชนนั่นเอง คนทั้งหลายตะลึงพรึงเพริด แต่มีแววแห่งปีติปราโมชอย่างชัดเจน นางจิญจมาณวิกาตกใจสุดขีด หน้าซีดเผือกเหมือนคนตาย ประชาชนได้เห็นเหตุการณ์ประจักษ์ตาเช่นนั้น ต่างก็โล่งใจที่พระตถาคตเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง แล้วอารมณ์ใหม่ก็พลุ่งขึ้นในดวงใจแทบจะทุกดวง นั่นคือความเคียดแค้นชิงชังนางจิญจมาณวิกา ต่างก็สาบแช่งให้นางประสบทุกข์สมแก่กรรมชั่วร้ายของตน บางคนถือท่อนไม้และก้อนดินขับไล่ออกไปจากวัดเชตวัน ต่อมานางได้สิ้นชีพลงด้วยอาการที่น่าพึงสังเวช อนิจจา! เรือนร่างที่สวยงามแต่ห่อหุ้มใจที่โสมมไว้ ย่อมทำให้เจ้าของเรือนร่างใช้เป็นเครื่องมือประหารตนเองอย่างไม่มีใครช่วยได้
    ลาภสักการะของเดียรถีย์ทั้งหลายเสื่อมลง และเกิดขึ้นแก่พระทศพลเจ้ามากหลาย
    วันต่อมาภิกษุสงฆ์ได้ประชุมกัน ณ ธรรมสภา กล่าวกถาว่าด้วยเรื่องนางจิญจมาณวิกา พระตถาคตเจ้าเสด็จมาทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายบุคคลเมื่อยังไม่พิจารณา หรือยังไม่เห็นโทษของผู้อื่นโดยชัดเจนแล้วก็ไม่พึงลงโทษผู้ใด อนึ่งบุคคลผู้ละคำสัตย์เสียแล้ว และชอบพูดแต่มุสา ไม่สนใจในเรื่องปรโลก จะไม่ทำบาปนั้นเป็นอันไม่มี"
    ดูก่อนภราดา! เหตุการณ์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์ เป็นเรื่องที่รู้กันแพร่หลายในหมู่ชนทุกชั้น ผู้เฒ่าผู้แก่พยายามสั่งสอนลูกหลานว่า อย่าเอาอย่างนางจิญจมาณวิกา และผูกเป็นคำพังเพยว่า "อย่าปาอุจจระขึ้นฟ้า"
    ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท! ก็พระตถาคตเจ้าเคยตรัสไว้เสมอไม่ใช่หรือว่า "คนที่เกิดมาแล้วทุกคนมีขวานติดปากมาด้วยสำหรับให้คนพาลผู้ชอบพูดชั่วๆ ไว้ฟาดฟันเชือดเฉือนตัวเอง อนึ่งผู้ใดติเตียนคนที่ควรสรรเสริญหรือสรรเสริญคนที่ควรติเตียน ผู้นั้นชื่อว่าแส่หาโทษใส่ตัวเพราะปากเขาย่อมหาความสุขไม่ได้เพราะโทษนั้น การแพ้การพนันสิ้นทรัพย์หมดเนื้อหมดตัว ยังถือว่าโทษน้อยเมื่อนำไปเทียบกับการทำใจให้คิดประทุษร้ายในพระสุคต การกล่าวใส่ร้ายพระพุทธเจ้านี้ แลมีโทษมากอย่างยิ่ง
    "ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ไม่มีกิเลส ย่อมได้รับบาปเองเหมือนคนปาผงธุลีขึ้นฟ้าหรือปาธุลีทวนลม"
    "ผู้โลภจัด ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่เคยใสใจในคำของร้องวิงวอนของผู้ทุกข์ยาก ชอบส่อเสียดมักจะชอบด่าผู้อื่นเสมอๆ"
    เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนดีพอ สำหรับผู้ปองร้ายต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา เรื่องใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ จึงเงียบไปหลายปี ต่อมามีเรื่องเกิดขึ้นอีก คราวนี้เกี่ยวกับการฆาตกรรม พวกเดียรถีย์ตามเคย จ้างนักเลงสุราให้ฆ่าหญิงคนหนึ่งชื่อสุนทรี แล้วนำไปหมกไว้ที่กองดอกไม้แห้งใกล้พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาค แล้วทำทีเป็นเที่ยวโฆษณาว่านางสุนทรีหายไป ไม่ทราบหายไปไหน มีการค้นหากันมาก ในที่สุดก็มาพบที่ใกล้พระคันธกุฎี คราวนี้พวกเดียรถีย์ผู้ริษยาก็เที่ยวโฆษณาต่อมหาชนว่า พระผู้มีพระภาคร่วมหลับนอนกับนางสุนทรี แล้วฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จับผู้ร้ายฆ่านางสุนทรีได้ในร้านสุราแห่งหนึ่ง เพราะพวกนั้นเมาสุราแล้วทะเลาะกันเอง และกล่าวถึงเรื่องที่ตนตีนางสุนทรีกี่ครั้งๆ
    ภราดา! ข้าพเจ้ากล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาค้างอยู่ จึงขอย้อนพรรณนาถึงมหาอุบาสิกาผู้มีอุปการะมากต่อพระศาสนาอีกครั้งหนึ่ง
    เมื่อนางกำลังเตรียมสร้างอารามนั่นเอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเสด็จสู่ภัททิยนคร ดังนั้นวันหนึ่งเมื่อเสวยที่บ้านของท่านอนถปิณฑิกะแล้วก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ข้าพเจ้าขอแจ้งรายละเอียดในเรื่องนี้เล็กน้อย คือตามปกติพระศาสดาเมื่อเสวยที่บ้านของนางวิสาขาเสร็จแล้ว จะเสด็จออกจากประตูทักษิณและเสด็จสู่วัดเชตวัน ถ้ารับภิกขาที่บ้านของท่านอนาถปิณฑิกะ เมื่อเสด็จแล้วจะเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก และประทับ ณ ปุพพารามของนางวิสาขา แต่ถ้าคราวใดที่พระพุทธองค์เสวยที่บ้านของอนาถปิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร ก็เป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงประสงค์จะเสด็จจาริกในที่อื่นๆ ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง
    คราวนี้เมื่อนางวิสาขาทราบว่า พระพุทธองค์เสวยพระกระยาหารที่บ้านของอนาถปิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร จึงรีบไปเฝ้าโดยเร็ว ถวายบังคมแล้วทูลว่า "พระองค์จะเสด็จจาริกไปที่อื่นหรือพระเจ้าข้า" เมื่อพระศาสดาทรงรับแล้วจึงกราบทูลอีกว่า "พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์สละทรัพย์มากหลาย เพื่อสร้างอารามถวายพระองค์ ขอพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิดพระเจ้าข้า อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย"
    "ดูก่อนวิสาขา! อย่าเลย อย่าให้ตถาคตกลับเลย ให้ตถาคตทำกิจของพระพุทธเจ้าโดยบริบูรณ์เถิด"
    นางวิสาขาดำริว่า พระพุทธองค์น่าจะทรงมีเหตุพิเศษเป็นแน่แท้ จึงกราบทูลว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์รับสั่งให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รู้กิจที่ควรทำและไม่ควรทำกลับเถิด พระเจ้าข้า"
    "ดูก่อนวิสาขา! เธอพอใจภิกษุรูปใด ขอให้เธอนิมนต์รูปนั้นไว้เถิด"
    นางวิสาขาคิดว่า ก็พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้าอาราธนาท่านอยู่จะสามารถให้การสร้างอารามสำเร็จโดยเร็ว จึงได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะกลับ พระมหาเถระมองดูพระศาสดาเป็นเชิงทูลปรึกษาและฟังพุทธบัญชา พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้พระเถระพร้อมด้วยบริวารกลับ
    ในความอำนวยการของพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ปราสาทสองชั้นสำเร็จไปโดยรวดเร็วมีทั้งหมด ๑,๐๐๐ ห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง และชั้นบนอีก ๕๐๐ ห้อง พระศาสดาเสด็จจาริกไป ๙ เดือนจึงเสด็จกลับ การก่อสร้างปราสาทก็สำเร็จในเวลา ๙ เดือนเช่นกัน
    นางได้อาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ ณ ปราสาทนั้นเป็นเวลา ๔ เดือน เพื่อทำการฉลองปราสาท เมื่อพระตถาคตเจ้ารับแล้วนางก็เตรียมการถวายอาหาร เครื่องอุปโภคอื่นๆ แด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข
    ครั้งนั้นมีสตรีผู้เป็นสหายของนางวิสาขาคนหนึ่งนำผ้าซึ่งมีค่าถึง ๑,๐๐๐ บาท เพื่อจะปูพื้นปราสาท จึงบอกนางวิสาขาว่า "สหาย! ข้าพเจ้านำผ้ามาผืนหนึ่ง ท่านจะให้ปู ณ ที่ใด" นางวิสาขาตอบว่า "สหาย! ถ้าข้าพเจ้าจะตอบว่าไม่มีสถานที่จะให้ปู ท่านก็จะเข้าใจว่าข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะให้ท่านร่วมกุศล เพราะฉะนั้นขอให้ท่านดูเอาเองเถิด เห็นสมควรปูลง ณ ที่ใดก็ปูลง ณ ที่นั้น "
    นางเดินสำรวจทั่วปราสาทก็มองไม่เห็นที่ใดที่จะปูด้วยผ้ามีราคาน้อยกว่า ๑,๐๐๐ บาทเลย นางรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ส่วนแห่งบุญในปราสาทนั้น จึงไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง
    ข้าพเจ้าเดินไปพบเธอเข้าโดยบังเอิญ เมื่อไต่ถามทราบความแล้ว ข้าพเจ้าจึงแนะให้นางปูลาดผ้านั้นลงพร้อมด้วยปลอบโยนว่า
    "น้องหญิง! ผู้ซึ่งปูที่เชิงบันไดนี้ ย่อมอำนวยผลมากมีอานิสงส์ไพศาล เพราะภิกษุทั้งหลายเมื่อล้างเท้าแล้ว ย่อมเช็ดเท้าด้วยผ้าซึ่งอยู่ตรงนี้แล้วเข้าไปข้างใน"
    นางดีใจอย่างเหลือล้นที่สามารถหาที่ปูลาดผ้าให้นางได้สมปรารถนา ได้ยินว่านางวิสาขาลืมกำหนดที่ตรงนั้นไป
    นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดเวลา ๔ เดือน ในวันสุดท้ายได้ถวายจีวรเนื้อดีมีราคามาก เฉพาะจีวรที่ถวายแก่พระซึ่งอ่อนพรรษาที่สุดก็มีราคาถึง ๑,๐๐๐ บาท ในสมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีสตรีใดทำบุญเกิน หรือแม้แต่เพียงเท่านางวิสาขาเลย
    ในวันที่ฉลองปราสาทเสร็จนั่นเอง เวลาบ่ายนางวิสาขาผู้อันบุตรและหลานแวดล้อมแล้ว เดินเวียนรอบปราสาท เปล่งถ้อยคำออกมาด้วยความเบิกบานใจว่า
    - บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายวิหารทานเป็นปราสาทใหม่มีเครื่องฉาบทาอย่างดีสำเร็จแล้ว
    - บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเสนาสนภัณฑ์ มีเตียงตั่งและหมอนเป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
    - บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายจีวรทานด้วยผ้าที่ทำจากแคว้นกาสี ผ้าเปลือกไม้และผ้าป้ายเป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
    - บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเภสัชทาน มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
    ภิกษุทั้งหลายได้ฟังเสียงของนาง แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นนางวิสาขาขับร้องเลย มาวันนี้นางพร้อมด้วยบุตรและหลานเดินเวียนปราสาทขับร้องอยู่ ดีของนางจะกำเริบหรือนางเป็นบ้าประการใด"
    พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย! ธิดาของเราหาได้ขับร้องไม่ แต่เพราะอัธยาศัยในการที่จะบริจาคของนางเต็มบริบูรณ์แล้ว จึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ" พระธรรมราชาผู้ฉลาดในการแสดงธรรมเพื่อจะทรงแสดงธรรมให้พิศดารออกไป จึงตรัสว่า
    ภิกษุทั้งหลาย! วิสาขา ธิดาของเราน้อมจิตไปเพื่อทำกุศลต่างๆ เมื่อทำได้สำเร็จสมความปรารถนาก็ย่อมบันเทิงเบิกบาน ปานประหนึ่งนายมาลาการผู้ฉลาดรวบรวมดอกไม้นานาพันธุ์ไว้ แล้วร้อยเป็นพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น"
    แล้วพระจอมมุนีทรงย้ำอีกว่า
    "นายมาลาการผู้ฉลาดย่อมทำพวงดอกไม้เป็นอันมากจากกองดอกไม้ที่เก็บรวบรวมไว้ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมาแล้วและจะต้องตาย ก็พึงสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มากฉันนั้น
    "อาวุโส! บุคคลผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ และสมบูรณ์ด้วยศรัทธานั้นค่อนข้างจะหาได้ยาก ผู้มีศรัทธามักจะมีทรัพย์น้อย ส่วนผู้มีทรัพย์มากมักจะขาดแคลนศรัทธา อุปมาเหมือนนายช่างผู้ฉลาดแต่ขาดดอกไม้ ส่วนผู้มีดอกไม้มากมูล แต่ก็ขาดความสามารถในการจัดเสียอีก ส่วนนางวิสาขาพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทั้งศรัทธาและทรัพย์ เธอจึงมีทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในบริบูรณ์"
    วันหนึ่งนางวิสาขาได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไว้เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านของนาง เมื่อถึงเวลาแล้วนางจึงให้หญิงคนใช้ไปนิมนต์พระ แต่หญิงคนใช้มารายงานว่าในวัดเชตวันไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย มีแต่นัคคบรรพชิต (นักบวชเปลือย) ทั้งสิ้นกำลังอาบน้ำฝนอยู่ วันนั้นฝนตกหนักมาก
    เวลานั้นพระศาสดายังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระเปลือยกายอาบน้ำ เมื่อฝนตกใหญ่ภิกษุทั้งหลายก็ดีใจกันใหญ่ และเปลือยกายอาบน้ำกันเกลื่อนเชตวนาราม หญิงคนใช้ไม่รู้จึงเข้าใจว่า ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นนักบวชเปลือยสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร (พระในศาสนาเชน - ผู้เขียน)
    นางวิสาขาเป็นผู้ฉลาด เมื่อได้ฟังดันนั้นก็เข้าใจเรื่องโดยตลอด จึงให้คนรับใช้ไปนิมนต์ภิกษุอีกครั้งหนึ่ง นางกลับไปครั้งนี้ภิกษุได้อาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วและครองจีวรแล้ว คนรับใช้จึงเห็นภิกษุอยู่เต็มเชตวนารามและอาราธนาว่าถึงเวลาภัตกิจแล้ว
    วันนั้นเองนางวิสาขาปรารภเรื่องนี้ ทูลขอพรพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เมื่อถึงฤดูฝนเข้าพรรษานางขอถวายฝ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุทั้งหลายเพื่อใช้อาบน้ำ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ถวายได้ ประชาชนทั้งหลายพากันเอาอย่างประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนจึงมีมาจนกระทั่งหลังพุทธปรินิพพาน
    ดูก่อนอาวุโส! ผู้ฉลาดย่อมหาโอกาสทำความดีได้เสมอ พุทธบริษัทในรุ่งหลังเป็นหนี้ความดีของนางวิสาขา ฐานะเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่ดีงามไว้ให้คนทั้งหลายถือเป็นเยี่ยงอย่างดำเนินตามมากหลายด้วยประการฉะนี้
    เมื่อพระอานนท์กล่าวจบลงเห็นพระกัมโพชะยังคงนั่งนิ่งอยู่ ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า "ภราดา! เรื่องพุทธจริยาและบุคคลผู้เกี่ยวข้องอันน่าสนใจนั้นมีมากหลายเหลือที่จะพรรณนาให้หมดในครั้งเดียวได้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเท่าที่นำมาเล่าแด่ผู้มีอายุก็พอสมควรแล้ว ท่านยังมีโอกาสที่จะรับทราบและศึกษาในโอกาสต่อไปอีก อนึ่งเวลานี้ก็เย็นมากแล้ว ท่านและข้าพเจ้ายังมิได้สรงน้ำชำระกายให้สะอาด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ทิฏฐธรรมสุขวิหาร และพิจารณาธรรมตลอดปฐมยามแห่งราตรี"
    พระกัมโพชะลุกขึ้นนั่งกระโหย่ง ประณมมือเปล่งวาจาสาธุสามครั้งแล้วกล่าวว่า
    "ข้าแต่พระพุทธอนุชา! เป็นลาภอันประเสริฐแห่งโสตรของข้าพเจ้าที่ได้ฟังพุทธจริยาจากท่านผู้เป็นเสมือนองค์แทนแห่งพระศาสดา ข้าพเจ้าขอจารึกพระคุณคือความกรุณาของท่านไว้ด้วยความเคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง" แล้วพระกัมโพชะก็กราบลง ณ บาทมูลแห่งพระอานนท์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์

    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  19. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๘. ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา
    ขอย้อนกล่าวถึงจริยาบถแห่งพระอานนท์พระอนุชาร่วมพระทัย สมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
    ตอนสายวันหนึ่ง พระอาทิตย์โคจรขึ้นเกือบจะถึงกึ่งฟ้าทางด้านตะวันออกแล้ว แต่ลมเช้าก็ยังพัดมาเบาๆ ความสดชื่นแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วพระเชตวันมหาวิหาร ความร่มรื่นแห่งอารามผสมด้วยความสงบระงับภายในแห่งสมณะผู้อาศัย ทำให้อนาถปิณฑิการามปรากฏประหนึ่งโลกทิพย์ซึ่งมีแต่ความสงบเย็น
    เสียงภิกษุใหม่สาธยายพระพุทธพจน์ดังอยู่เป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังมีบางท่านเดินจงกรมพิจารณาหัวข้อกัมฐานที่อาจารย์บอกให้ เพื่อทำลายอาสวะซึ่งหมักดองอยู่ในจิตใจเป็นกิเลสานุสัยอันติดตามมาเป็นเวลาช้านานบางรูปซักและย้อมจีวร บางท่านกวาดลานพระวิหารและเตรียมอาคันตุกภัณฑ์ต่างชนิดเพื่อภิกษุต่างถิ่นผู้จะเดินทางมาเฝ้าพระศาสดา ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยอาการสงบเป็นเครื่องนำมาซึ่งศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้ทัศนายิ่งนัก
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อนันต์ได้เสด็จผ่านมาภิกษุผู้นั่งอยู่ก็ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ ผู้เดินอยู่ก็หยุดเดิน ภิกษุผู้กำลังทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็หยุดงานไว้ชั่วคราวเพื่อแสดงอาการคารวะ และมองดูพระศาสดาด้วยสายตาอันแสดงถึงความเลื่อมใสลึกซึ้ง
    พระจอมมุนีทรงทักทายภิกษุบางรูป และทรงแนะนำข้อธรรมบางประการแล้วเสด็จเลยไป เมื่อถึงกุฏิหลังหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับยืนนิ่งครู่หนึ่ง แล้วผินพระพักตร์มาถามผู้ตามเสด็จว่า
    "อานนท์! ภิกษุรูปใดอาศัยอยู่ในกุฏิหลังนี้?
    "ภิกษุชื่อติสสะพระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลตอบ
    "เธออยู่หรือ?"
    "น่าจะอยู่พระเจ้าข้า"
    พระศาสดาเสด็จเข้าไปภายในกุฏิ ภาพที่ปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ทำให้พระองค์สังเวชสุดประมาณ ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในมัชฌิมวัย นอนนิ่งอยู่บนเตียงน้อย ร่างกายของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผล มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มท่วมกาย เตียงและผ้าของภิกษุรูปนั้นแปดเปื้อนด้วยปุพโพโลหิตส่งกลิ่นคาวคลุ้ง ท่านนอนจมอยู่กองเลือดและหนอง ซึ่งแห้งกรังไปแล้วก็มี ที่กำลังไหลเยิ้มอยู่ก็มี เมื่อได้ยินเสียงภิกษุรูปนั้นก็ลืมตาขึ้น ภาพพระศาสดาซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ริมเตียงนั้นทำให้ท่านมีอาการตะลึง จะยกมือขึ้นถวายความเคารพแต่ยกไม่ขึ้น เหลียวไปอีกด้านหนึ่งของเตียง ท่านได้เห็นพระพุทธอนุชายืนสงบนิ่ง อาการเศร้าฉายออกมาทางดวงหน้าและแววตาของพระอานนท์ผู้ประเสริฐ และแล้วเมื่อเหลียวมาสบพระเนตรซึ่งสาดแววแห่งพระมหากรุณาออกมาของพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง คราทีนั้นความตื้นตันใจได้ท่วมท้นหทัยของพุทธสาวกจนเอ่อล้นออกมาทางดวงตาทั้งสอง แล้วค่อยๆ ไหลซึมลงอาบแก้มซึ่งแห้งและตอบ เพราะอานุภาพแห่งโรคนั้น
    "ดูก่อนติสสะ" พระศาสดาตรัส "เธอได้รับทุกขเวทนามากหรือ?"
    "มากเหลือเกินพระเจ้าข้า เหมือนนอนอยู่ท่ามกลางหนาม" เสียงซึ่งแหบเครือผ่านลำคอของพระติสสะออกมาโดยยาก
    "เธอไม่มีเพื่อนพรหมจารี หรือสหธัมมิก หรือสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก คอยปฏิบัติช่วยเหลืออยู่บ้างเลยหรือ?"
    "เคยมีพระเจ้าข้า แต่เวลานี้เขาทอดทิ้งข้าพระองค์ไปหมดแล้ว"
    "ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?"
    "เขาเบื่อพระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์ป่วยมานานและรักษาไม่หาย เขาเลยพากันทอดทิ้งข้าพระองค์ไป"
    "อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไรนะ ติสสะ?"
    "แรกทีเดียวเป็นต่อมเล็กๆ ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ผุดขึ้นทั่วกายพระเจ้าข้า แล้วค่อยๆ โตขึ้นตามลำดับๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่ามะตูมและแล้วก็แตก น้ำเหลืองไหล สรีระทั้งสิ้นก็เป็นรูน้อยรูใหญ่ สบงและจีวรเปรอะไปด้วยเลือดและหนอง อย่างนี้แหละพระเจ้าข้า" ทูลได้เท่านี้ พระติสสะก็มีอาการหอบเล็กน้อย อ่อนเพลียไม่สามารถทูลต่อไปได้อีก
    พระศาสดาและพระอานนท์เสด็จออกจากกุฏินั้นไปสู่โรงไฟ พระศาสดาทรงล้างหม้อน้ำด้วยพระองค์เอง พระอานนท์ติดไฟ เสร็จแล้ววางหม้อน้ำไว้บนเตา ทรงรอคอยจนน้ำเดือด แล้วเสด็จไปหามเตียงภิกษุไข้ พระองค์จับด้านหนึ่งและพระอานนท์จับอีกด้านหนึ่ง หามมาสู่เรือนไฟ ภิกษุหลายรูปเดินมาเห็นพระศาสดาทรงกระทำเช่นนั้นก็ช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ ทรงให้เปลื้องผ้าของพระติสสะออกแล้วซักให้สะอาด อาบน้ำให้พระติสสะด้วยน้ำอุ่น ทรงชำระเรือนกายอันปรุพรุนด้วยพระองค์เอง พระอานนท์คอยช่วยเหลืออยู่อย่างใกล้ชิด เมื่อร่างกายนั้นสะอาดพอสมควรแล้ว และผ้าที่ซักไว้ก็พอนุ่งห่มได้เรียบร้อย ครั้นพระพุทธองค์ทรงเห็นสังขารของพระติสสะค่อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นพอสมควรแล้ว จึงประทานพระโอวาทว่า
    "ติสสะ! ร่างกายนี้ไม่นานนักดอก คงจักต้องนอนทับถมแผ่นดิน ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้ว ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่าอันเขาทิ้งเสียแล้วอย่างไม่ใยดี
    จงดูกายอันเปื่อนเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาดมีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตามมันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนัก ของคนผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้"
    เมื่อพระศาสดาแสดงธรรมจบลง พระติสสะได้สำเร็จพระอรหันผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และเนื่องจากอาการป่วยหนักมาก ท่านไม่สามารถต่อไปได้อีก จึงนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน พระศาสดาทรงให้กระทำฌาปนกิจ แล้วให้ก่อเจดีย์ขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุแห่งพระติสสะนั้น"
    ข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ความที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร! บรรดาโรคทั้งหลายนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า "ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง" ก็เป็นความจริงที่ไม่สามารถจะคัดค้านได้ สัตว์ทั้งหลายอาจจะว่างเว้นจากโรคอื่นๆ ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้างก็พอดี แต่ใครเล่าจะว่างเว้นจากโรคคือความหิวแม้เพียงวันเดียว โรคคือความหิวนี้จึงต้องการบำบัดอยู่ตลอดเวลาตลอดอายุ การที่มนุษย์ต้องวิ่งเต้นชนิด "กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว" นั้น ส่วนใหญ่ก็เพื่อนำปัจจัยซึ่งสามารถบำบัดความหิวนี้เอง มาปรนเปรอร่างกายอันพร่องอยู่เสมอ นอกจากโรคประจำคือโรคหิวแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ อีกมากหลายคอยบีบคั้นเสียดแทงให้มนุษย์ ต้องกระวนกระวายปวดร้าวทั้งทางกายและทางใจ
    และ… จะมีเวลาใดเล่าที่มนุษย์จะต้องการเพื่อนผู้เห็นใจ เสมอเหมือนเวลาป่วยหรืออาพาธหนัก ในทำนองเดียวกัน จะมีมิตรใดเล่าจะเบื่อหน่ายและรำคาญเพื่อนในยามทุกข์เสมอด้วยมิตรเทียม ความพอใจช่วยเหลือกันตามฐานะและโอกาส น่าจะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ผู้ได้รับการศึกษาดีแล้ว นอกเสียจากเขาผู้นั้นจะเป็นมนุษย์แต่เพียงกาย และได้รับการศึกษาเพียงครึ่งๆกลางๆ เท่านั้น
    อีกครั้งหนึ่งพระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปตามเสนาสนะต่างๆ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุอาพาธหนักรูปหนึ่ง นอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตนอยู่ ภิกษุรูปนั้นป่วยเป็นโรคท้องร่วง ไม่มีใครพยาบาลเลย ทั้งนี้เพราะเมื่อคราวท่านปกติดีอยู่ ท่านไม่เคยอุปการะใคร พระพุทธองค์อันพระมหากรุณาเตือนแล้วได้ให้พระอานนท์ไปนำน้ำมา พระองค์ราดรดลง พระอานนท์ขัดสี พระองค์ทรงยกศีรษะ พระอานนท์ยกเท้า แล้ววางไว้บนเตียงนอน ให้ฉันคิลานเภสัชเท่าที่พอจะหาได้
    เย็นวันนั้นเองก็ทรงให้ประชุมสงฆ์ ปรารภข้อที่ภิกษุอาพาธไม่มีผู้พยาบาล ได้รับความลำบาก แล้วตรัสพระพุทธพจน์อันจับใจว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอบัดนี้ไม่มีมารดาไม่มีบิดาแล้ว ถ้าพวกเธอไม่รักษาพยาบาลกันเองใครเล่าจะพยาบาล ภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดมีความประสงค์จะปฏิบัติบำรุงเรา ขอให้ผู้นั้นปฏิบัติบำรุงภิกษุอาพาธเถิด เท่ากับได้ปฏิบัติบำรุงเรา"
    "ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อภิกษุอาพาธลง ภิกษุผู้เป็นศิษย์ พึ่งรักษาพยาบาลจนกว่าเธอจะหาย ถ้าศิษย์อาพาธลง อุปัชฌายะอาจารย์พึงทำเช่นเดียวกัน ภิกษุใดไม่ทำ ภิกษุนั้นย่อมเป็นอาบัติคือฝ่าฝืนระเบียบของเรา ถ้าอุปัชฌายะอาจารย์ไม่มี ให้ภิกษุร่วมผู้อุปัชฌายะอาจารย์เดียวกันปฏิบัติ ถ้าไม่ทำย่อมเป็นอาบัติ อนึ่งถ้าภิกษุร่วมอุปัชฌายะอาจารย์เดียวกันไม่มี ให้เป็นหน้าที่ของสงฆ์ที่จะพึงรักษาพยาบาลเธอจนกว่าจะหายอย่าได้ทอดทิ้งเธอไว้เดียวดาย"
    ความสำนึกในพระพุทธวจนะนี้เอง เป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายแม้จะมาจากวรรณะต่างกัน ตระกูลต่างกันแต่เมื่อมาสู่ธรรมวินัยนี้แล้ว ก็มีความรู้สึกต่อกันฉันพี่น้องซึ่งมีพระบรมศาสดาเป็นบิดา มีธรรมวินัยเป็นมารดา มองกันด้วยสายตาที่แสดงไมตรีจิต มีภราดรภาพแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วร่มเงาแห่งกาสาวพัสตร์ นอกจากจะมีต่อเพื่อนพรหมจารีแล้วภราดรภาพซึ่งเอิบอาบอยู่ในจิตใจของภิกษุทั้งหลาย ยังได้แผ่ไปถึงสามัญชนทั่วไปและดิรัจฉานอีกด้วย สมณะเป็นเพศสูง และมีน้ำใจน่ารักน่าเคารพยิ่งนัก ท่านพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น แต่ดูเหมือนสามัญชนไม่เคยจะเข้าใจท่านเลย ความเผื่อแผ่และเมตตากรุณาซึ่งได้สั่งสมอบรมมานั้นอยู่ตัว แม้บางท่านจะประพฤติพรหมจรรย์อยู่มิได้ตลอดชีวิต จำเป็นต้องสึกออกมาดำรงชีพเยี่ยงคฤหัสถ์ทั้งหลาย ความเผื่อแผ่และเมตตากรุณา หวั่นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นก็หาได้คลายลงไม่ มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ทั้งโลกเป็นญาติของตนจึงคอยหาโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นตามฐานะและจังหวะที่มาถึงเข้า จนบางครั้งทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดคิดไปในทางร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีใจแคบ มองเห็นการทำความดีของผู้อื่นด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ คิดว่าเขาคงจะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์อยู่เบื้องหลัง คนที่ทำความดีโดยมิได้หวังผลตอบแทน จะไม่มีอยู่ในโลกบ้างเชียวหรือ? กระไร เราจะใจแคบจนไม่พยายามมองเจตนาดีของผู้อื่นบ้างเลย!
    อีกครั้งหนึ่ง พระผัดคุณะอาพาธหนัก พระอานนท์ได้ทราบจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อไปเยี่ยมไข้พระองค์เสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงอาการป่วย พระผัดคุณะทูลว่า อาการป่วยหนักมาก มีทุกขเวทนากล้าแข็งลมเสียดแทงศีรษะเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดโกนอันคมกริบ ปวดท้องเหมือนบุรุษฆ่าโคเอามีดชำแหละโคที่คม มาชำแหละท้อง เจ็บปวดเร่าร้อนทั่วกายเหมือนถูกย่างบนหลุมถ่านเพลิง
    พระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงธรรมพรรณนาความทุกข์แห่งสังขาร อันมีผลสืบเนื่องมาจากกิเลสและกรรมของตน จนพระผัดคุณะได้สำเร็จเป็นโสดาบัน
    ครั้งหนึ่ง พระคิริมานันทะอาพาธหนัก พระอานนท์ทราบเรื่องนี้แล้วทูลอาราธนาให้พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม เนื่องจากพระพุทธองค์ยังทรงมีภารกิจบางอย่างอยู่ จึงเสด็จไปมิได้ แต่ทรงให้พระอานนท์เรียนสัญญา ๑๐ ประการแล้วไปสาธยายให้พระคิริมานันทะฟัง พระอานนท์ครั้นเรียนสัญญา ๑๐ ประการอย่างแม่นยำแล้ว ก็ไปสู่สำนักของพระคิริมานันทะ สาธยายสัญญา ๑ ประการให้ฟังโดยใจความดังนี้
    "รูป คือก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง ซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เป็นไปโดยจักร ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อันรวมเรียกว่าอิริยาบถ มีทวาร ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ อันเป็นที่หลั่งไหลออกแห่งตัวปลวก คือสิ่งโสโครกต่างๆ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากช่องหู ฯลฯ ทั่วสารพางค์มีรูเล็กๆ เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งสิ่งสกปรกอันหมักหมมอยู่ภายใน พระศาสดาจึงเปรียบรูปกายนี้เหมือนจอมปลวกบ้าง เหมือนหม้อดินบ้าง
    เวทนาคือความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง
    สัญญา คือความทรงจำได้หมายรู้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพารมณ์ คือสิ่งซึ่งถูกต้องได้ด้วยกาย
    สังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้บ้างกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง
    วิญญาณ คือการรับรู้อารมณ์อันผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
    ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ ล้วนมีสภาพเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยงเพราะปรวนแปรอยู่เสมอ เป็นอนัตตาเพราะฝืนไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปรารถนาว่าจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเถิด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้พระผู้มีพระภาครวมเรียกว่าอนิจจสัญญาและอนัตตสัญญา
    เพื่อให้สัญญาทั้งสองประการได้การอุปถัมภ์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาอสุภสัญญา คือความไม่งามแห่งกายนี้ โดยอาการว่า กายนี้ตั้งแต่ปลายผมลงไป ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ กล่าวคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อใย กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้อ น้ำมันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำไขข้อ น้ำมูตร
    อาหารหรือสิ่งดังกล่าวมานี้ ย่อมให้ทุกข์ให้โทษเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง เป็นบ่อเกิดแห่งโรคนานาชนิด เช่น โรคตา โรคหู โรคในจมูก โรคลำไส้ โรคไต โรคปอด โรคม้าม โรคตับ โรคเกี่ยวกับอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ การพิจารณาเห็นโทษแห่งสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นรังของโรคนั่นแล เรียกว่า อาทีนวสัญญา
    ร่างกายนี้เป็นที่นำมา คือเป็นสื่อแห่งความตรึกในเรื่องกามบ้าง เรื่องพยาบาทบ้าง เรื่องเบียดเบียนบ้าง วิตกทั้ง ๓ นี้ เมื่อจะตั้งลงก็ตั้งลงในกายนี้ การกำหนดใจประหารกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก เรียกว่าปหานสัญญา
    เมื่อประหารได้แล้ว ความกำหนัดพอใจในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดพอใจก็คลายลง พอใจในการที่จะสำรอกราคะเสีย เรียกว่า วิราคสัญญา
    การดับกิเลสทั้งมวลให้ประสบความสงบเยือกเย็นได้ เรียกว่า นิโรธ ความพอใจกำหนดใจในนิโรธนั้น เรียกว่า นิโรธสัญญา
    ความรู้สึกว่าโลกนี้เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งความวุ่นวายนานาประการ หาความสงบสุขได้โดยยาก ไม่เพียงแต่ในโลกนี้เท่านั้น แม้โลกทั้งปวงก็ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน ร้อนระอุอยู่ด้วยเพลิงภายในคือกิเลส แล้วไม่ปรารถนาโลกไหนๆ เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรติสัญญา
    การกำหนดใจไม่ปรารถนาสังขารทั้งปวง ไม่ว่ามีใจครองหรือไม่มีใจครอง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางซึ่งสิ่งที่เคยยึดถือไว้ ย่อมประสบความเบากาย เบาใจ เหมือนคนปลงภาระหนักลงเสีย การกำหนดใจดังนี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา
    การกำหนดลมหายใจเข้าออก มีสติตั้งไว้ที่ลมหายใจ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทากามราคะ และความหลงใหล เรียกว่า "อานาปานสติ"
    พระคิริมานันทะส่งกระแสจิตไปตามธรรมบรรยายของพระอานนท์ รู้สึกซาบซึ้งซึมทราบ ปีติปราโมชเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา สามารถข่มอาพาธหนักเสียได้ ท่านหายจากอาพาธนั้นด้วยฟังสัญญา ๑๐ ประการจากพระพุทธอนุชา
    นอกจากบรรพชิตแล้ว ยังมีคฤหัสถ์อีกมากมายซึ่งพระอานนท์ได้ช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย เป็นต้นว่า ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และคฤหบดีนามว่า สิริวัฑฒะ ชาวเมืองราชคฤห์ และคฤหบดีนามว่า มานทินนะ ชาวเมืองราชคฤห์เช่นเดียวกัน
    แน่นอนทีเดียว การอุปการะช่วยเหลือผู้อื่นคราวอาพาธนั้น ย่อมเป็นสิ่งประทับใจอยู่ตลอดกาล ทั้งแก่ผู้รับและแก่ผู้ให้ โรคเป็นศัตรูของชีวิต การช่วยกำจัดโรคเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของชีวิต ทำนองเดียวกับกิเลสเป็นศัตรูของจิตใจ การช่วยกำจัดกิเลสจึงเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของจิต พระบรมศาสดาและพระพุทธอนุชาอานนท์นั้น เป็นกัลยาณมิตรแห่งมวลชน เป็นที่พึ่งได้ทั้งกายและทางจิต จะหากัลยาณมิตรใดเล่าเสมอเหมือน หรือยิ่งกว่าท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐนี้


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     
  20. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,055
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ๑๙. น้ำใจและจริยา
    เช้าวันหนึ่ง พระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้พบพราหมณ์นามว่าสังครวะ ผู้มีความเชื่อถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาวันละสามครั้ง คือ เช้า กลางวัน และเย็น บาปอันใดที่ทำในเวลาราตรี บาปนั้นย่อมล้างได้ลอยได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า และอาบน้ำในเวลากลางวัน เพื่อล้างบาปที่ทำตั้งแต่เช้าจนเที่ยง อาบน้ำในเวลาเย็น เพื่อล้างบาปอันอาจจะเกิดขึ้นในเวลาหลังเที่ยง น้ำที่จะอาบนั้นต้องเป็นน้ำในแม่คงคา โดยถือว่าได้ไหลมาจากแดนสวรรค์ ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้ามาแล้ว ไม่เพียงแต่ล้างบาปอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถบำบัดโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย และเมื่ออาบน้ำในพระแม่คงคาทุกวัน ตายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ได้สถิตอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นของธรรมดาที่จะมองเห็นโยคีและผู้บำเพ็ญพรตนิกายต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือแถบภูเขาหิมาลัย ทรมานตนอยู่ด้วยวิธีแปลกๆ ตามแต่ตนจะเห็นว่าอย่างไรไหนดี และสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ บางพวกนอนบนหนาม บางพวกคลุกตนด้วยขี้เถ้า บางพวกยืนยกขาข้างเดียวอ้าปากกินลมชมจันทร์ บางพวกยืนเอามือเหนี่ยวกิ่งไม้จนเล็บยาวออกมาแทบจะทะลุหลังมือ บางพวกบูชาไฟ และบูชาพระอาทิตย์ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โยคีบางพวกบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้บรรลุฌานขั้นต่างๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต เหมือนประสบมาเอง บางคนสามารถได้เจโตปริยญาณ คือรู้วาระจิตของผู้อื่น ตอบปัญหาได้โดยที่ผู้ถามเพียงนึกถามอยู่ในใจเท่านั้น
    พระอานนท์ได้เห็นสังครวพราหมณ์ผู้ถือการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเป็นอาจิณวัตรดังนั้นแล้ว มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
    "พระองค์ผู้เจริญ! สังควรพราหมณ์เวลานี้อยู่ในวัยชรา มีอัธยาศัยงามพอสนทนาได้อยู่ แต่อาศัยความเชื่อถือเก่าๆ จึงยังมองไม่เห็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปโปรดสังควรพราหมณ์สักครั้งเถิด"
    พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระอานนท์ด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นเสด็จไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้นเหมือนเสด็จเยี่ยมอย่างธรรมดา เมื่อสัมโมทนียกถาล่วงไปแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    "พราหมณ์! เวลานี้ท่านยังอาบน้ำดำเกล้าในแม่คงคาวันละ ๓ ครั้งอยู่หรือ?"
    "ยังทำอยู่พระเจ้าข้า" พราหมณ์ทูลด้วยอาการนอบน้อม
    "ท่านเห็นประโยชน์อย่างไรนะพราหมณ์ จึงต้องอาบน้ำดำเกล้าเฉพาะแต่ในแม่น้ำคงคาเท่านั้น ที่อื่นจะอาบได้หรือไม่ ที่ตถาคตถามนี้ ถามเพื่อต้องการความรู้ความเห็นเท่านั้น อย่าหาว่าตถาคตละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัวเลย"
    "พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าได้รับฟังมาตั้งแต่อายุยังเยาว์ว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาปมลทินทั้งปวงได้ เพราะได้ไหลผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้าลงมา เป็นแม่คงคาสวรรค์ ข้าพเจ้าจึงเลื่อมใส และปฏิบัติตามบุรพชน ซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมา และข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถชำระบาปได้จริงๆ" พราหมณ์ทูลด้วยความมั่นใจ
    "พราหมณ์! พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนโยนนิ่มนวลและอย่างกันเอง "ขอให้ท่านนึกว่าเราสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันเถิด ตถาคตจะขอถามท่านว่า บาปมลทินนั้นอยู่ที่กายหรืออยู่ที่ใจ?"
    "อยู่ที่ใจซิ พระโคดม"
    "เมื่อบาปมลทินอยู่ที่ใจ การลงอาบน้ำชำระกายน้ำนั้นจะสามารถซึมซาบลงไปล้างใจด้วยหรือ?"
    "แต่พระโคดมต้องไม่ลืมว่าน้ำนั้นมิใช่น้ำธรรมดา มันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปมลทินภายในได้"
    "ท่านคิดว่าความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ให้เป็นอีกอย่างหนึ่งตามที่เราเชื่อหรือ?"
    "เป็นไปมิได้เลย พระโคดม ความเชื่อมิอาจบิดเบือนความจริงได้ ความจริงย่อมทรงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม"
    "เป็นอันท่านยอมรับว่า ความเชื่อไม่อาจไปบิดเบือนความจริงได้ ก็การที่ท่านเชื่อว่า แม่น้ำคงคาสามารถล้างมลทินภายในได้นั้น มันจะเป็นจริงอย่างที่ท่านเชื่อละหรือ? ดูก่อนพราหมณ์! อุปมาเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่า แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นทิศตะวันออก แต่ความจริงมันเป็นทิศตะวันตก ความเชื่อของเขาไม่อาจจะไปเปลี่ยนทิศตะวันตกให้เป็นทิศตะวันออกได้ฉันใด ความเชื่อของพราหมณ์เป็นอันมาก ที่เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถล้างบาปได้ ก็ไม่อาจทำให้แม่น้ำนั้นล้างบาปได้จริงเลย จึงชวนกันเข้าใจผิดเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่านั้น
    "ดูก่อนพราหมณ์! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างแต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?"
    "เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น"
    "ดูก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว
    "นี่แน่ะพราหมณ์! มาเถิด - มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก"
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พราหมณ์กล่าวด้วยความเบิกบานใจว่า แจ่มแจ้งจริงพระโคดม แจ่มแจ้งจริงเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ให้ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระองค์พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์ผู้นำทางตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จวบจนสิ้นลมปราณ
    พระอานนท์ พุทธอนุชาเป็นผู้มีน้ำใจปรารถนาความสุขความสำเร็จแก่ผู้อื่น ในฐานะที่พอช่วยเหลือได้ดังในกล่าวมาแล้วนี้ คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งของท่านซึ่งน่าประทับใจยิ่งนัก คือมีความเคารพยำเกรงต่อพระเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ซึ่งพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว มีพระสารีบุตรและพระมหากัสสปเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากัสสปนั้น พระอานนท์ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยชื่อท่าน
    คราวหนึ่งพระมหากัสสปจะเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบทแก่กุลบุตรผู้หนึ่ง จึงส่งทูลไปนิมนต์พระอานนท์เพื่อสวดอนุสาวนา คือสวดประกาศเพื่อขอความยินยอมจากสงฆ์ ในการสวดนี้จะต้องระบุชื่อผู้เป็นอุปัชฌายะด้วยพระอานนท์ไม่รับ ท่านอ้างว่าท่านไม่สามารถเอ่ยชื่อพระมหากัสสปต่อหน้าท่านได้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาระบุชื่อโคตรกันได้
    อีกครั้งหนึ่งท่านมีหน้าที่ต้องให้โอวาทภิกษุณี ท่านขอร้องวิงวอนให้พระมหากัสสปไปกับท่าน เพื่อให้โอวาทภิกษุณีแทนท่าน เพราะเห็นว่าพระมหากัสสปเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัด โอวาทของท่านคงจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุณีผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติ พระมหากัสสปปฏิเสธถึงสองครั้ง เมื่อพระอานนท์อ้อนวอนเป็นครั้งที่สาม ท่านจึงไป - ไปอย่างขัดพระอานนท์ไม่ได้ โดยปรกติท่านเป็นผู้อยู่ป่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อถึงสำนักภิกษุณีและให้โอวาทพอสมควรแล้ว ท่านก็ลากลับ ต่อมาท่านได้ทราบว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งติเตียนท่านว่า พระมหากัสสปไม่น่าจะกล่าวธรรมต่อหน้าเวเทหิมุนี คือนักปราชญ์อย่างเช่น พระอานนท์เลย การกระทำเช่นนั้น เหมือนพ่อค้าขายเข็มนำเข็มมาขายแก่นายช่างผู้ทำเข็ม - ช่างน่าหัวเราะ พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์ว่า
    "อานนท์! เธอหรือเรากันแน่ที่ควรจะเป็นพ่อค้าขายเข็ม ก็พระศาสดาเคยยกย่องเธอบ้างหรือว่า มีวิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำวันเสมอด้วยพระองค์ แต่เรานี่แหละพระศาสดายกย่องในท่ามกลางสงฆ์เสมอ ว่ามีธรรมเสมอด้วยพระองค์ เช่นเดียวกับที่ยกย่องพระสารีบุตรว่า สามารถแสดงธรรมได้เสมอพระองค์"
    "ท่านผู้เจริญ" พระอานนท์กล่าวด้วยเสียงเรียบปรกติ "อย่าคิดอะไรเลย สตรีส่วนมากเป็นคนโง่เขลามักขาดเหตุผล พูดพล่อยๆ ไปอย่างนั้นเอง"
    การที่พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์อย่างนั้น มิใช่เพราะท่านน้อยใจหรือเสียใจในการที่ภิกษุณีกล่าวดูหมิ่นท่าน แต่ท่านกล่าวด้วยคิดว่า คำพูดของท่านคงจะถึงภิกษุณีและเธอจะได้สำนึกตนแล้วกลับความเห็นเสีย การที่ภิกษุณีกล่าวเช่นนั้นเป็นการไม่สมควร จะเกิดโทษและทุกข์แก่เธอเอง ด้วยจิตคิดจะอนุเคราะห์อย่างนี้ พระมหากัสสปจึงกล่าวอย่างนั้น
    โดยความเป็นจริงพระมหากัสสปมีความสนิทสนมและกรุณาพระอานนท์ยิ่งนัก กล่าวกันว่าแม้พระอานนท์จะมีอายุย่างเข้าสู้วัยชรา เกศาหงอกแล้ว พระมหากัสสปก็เรียกท่านว่า "เด็กน้อย" อยู่เสมอ และพระอานนท์เล่า ก็ประพฤติตนน่ารักเสียจริงๆ
    พระอานนท์เป็นองค์แทนธรรมรัตนะ คราวหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกนั้น เขาได้บูชาแล้วด้วยการถวายอาหารบ้าง ถวายเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้บ้าง เวลานี้เขาต้องการจะบูชาพระธรรม ควรจะทำอย่างจึงเรียกได้ว่าบูชาพระธรรม พระศาสดาตรัสให้บูชาภิกษุผู้เป็นพหุสูตทรงธรรม เขาจึงทูลถามว่าก็ใครเล่าเป็นพหุสูตทรงธรรม พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พราหมณ์ไปถามภิกษุทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์ไปถาม ภิกษุทั้งหลายก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้เป็นพหุสูตทางธรรมดังกล่าวนั้นคือ พระอานนท์ พุทธอนุชา พราหมณ์จึงได้นำจีวรไปถวายพระอานนท์ เป็นการบูชาพระธรรม พระอานนท์จึงเป็นสาวกที่เป็นองค์แทนธรรมรัตนะ
    กล่าวอีกปริยายหนึ่ง ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยชอบ ไม่ดูแคลนธรรม ให้ความยำเกรงแก่ธรรม ไม่เหยียบย่ำธรรม ชื่อว่าเป็นผู้บูชาพระธรรม โดยความหมายอย่างสูง แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพนับถือธรรม
    ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราใต้ต้นไทร อันคนเลี้ยงแพะชอบมาพักอาศัยเสมอ ซึ่งมีชื่อว่า อชปาลนโครธ ทรงปริวิตกว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่ลำบาก ผู้ไม่มีที่เคารพที่เกรงใจก็อยู่ลำบาก ก็พระองค์จะถือใครเป็นที่เคารพยำเกรง ได้ทรงตรวจดูบุคคลทั้งหลายที่พระองค์จะพึงเคารพยำเกรง แต่ไม่ทรงเห็นใครที่เสมอด้วยพระองค์หรือยิ่งกว่าพระองค์ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทัสสนะ แต่ยังทรงตระหนักอยู่ว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งที่เคารพยำเกรงย่อมอยู่ลำบาก พระองค์ควรจะมีใครหรืออะไรหนอเป็นที่เคารพ ในที่สุดก็ทรงมองเห็นพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั่นแลว่า เป็นธรรมที่ประณีตลึกซึ้ง ควรแก่การเคารพ พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานพระทัย ถือเอาธรรมเป็นที่เคารพแห่งพระองค์ พระธรรมจึงเป็นสิ่งสูงสุด แม้พระพุทธเจ้าเองยังต้องทรงเคารพ
    กล่าวโดยรวบยอด พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์จะต่างกันก็แต่เพียงชื่อเท่านั้น ส่วนโดยเนื้อความแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกออกจากกันไม่ได้ เปรียบเหมือนแก้วหรือเพชร ๓ เหลี่ยม ซึ่งอาศัยอยู่ในเม็ดเดียวกันนั่นเอง พระธรรมเป็นความจริงซึ่งเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เป็นกฎแห่งความจริงซึ่งมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบกฎแห่งความจริงนั้น แล้วนำมาตีแผ่ชี้แจงแสดงเปิดเผย พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรม และรักษาธรรม ทรงธรรมไว้ และแสดงต่อๆ กันมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก เหมือนผู้รับช่วงดวงประทีป สำหรับส่องทางแก่มวลมนุษย์ ผู้สัญจรอยู่ในป่าแห่งชีวิตนี้
    ครั้งหนึ่งพระอานนท์นั่งพักอยู่ ณ ที่พักกลางวัน ท่านมีความคิดขึ้นว่า พระศาสดาเคยตรัสเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เช่นเรื่องมารดาบิดาของพระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ เรื่องกำหนดพระชนมายุ เรื่องการตรัสรู้ เรื่องสาวกสันนิบาต เรื่องอัครสาวก ตลอดถึงเรื่องอุปฐาก แต่เรื่องอุโบสถของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ พระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสให้ทราบเลย อุโบสถของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ จะเหมือนกับของพระศาสดาของเราหรือไม่ เมื่อท่านสงสัยดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามข้อความนั้น
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กำหนดอุโบสถของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ส่วนโอวาทปาฏิโมกข์ คือพระโอวาทที่เป็นหลักของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เหมือนกันทั้งสิ้น คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ทรงกระทำอุโบสถ ๗ ปีต่อ ๑ ครั้ง ทั้งนี้เพราะพระโอวาทที่ทรงประทานวันหนึ่งเพียงพอสำหรับ ๗ ปี ส่วนพระสิขี และพระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกระทำอุโบสถ ๖ ปีต่อ ๑ ครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ และโกนาคมนะ ทรงกระทำปีละครั้ง พระกัสสปทสพล ทรงกระทำทุกๆ ๖ เดือน ส่วนพระองค์เอง ทรงกระทำทุกๆ ๑๕ วัน กาลเวลาที่ทำอุโบสถแตกต่างกันอยู่อย่างนี้ แต่พระโอวาทนั้นเหมือนกันทุกประการ ดังนี้
    ตอนแรก ทรงแสดงหลักทั่วๆ ไปว่า
    ตีติกขาขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ต่ออารมณ์ที่มายั่วเย้าให้โลภ ให้โกรธ และให้หลง อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่น จัดเป็นตบะธรรมที่ยอดยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นบรมธรรม คือจุดหมายปลายทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ผู้บวชแล้วแต่ยังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนอยู่หาชื่อว่า สมณะคือผู้สงบไม่
    ตอนที่สอง ทรงวางแนวทางสอนพระพุทธศาสนาว่า
    ศาสนาของพระองค์สรรเสริญการไม่ทำความชั่ว และสรรเสริญการทำความดี ยกย่องการทำจิตให้ผ่องใสสะอาด เพราะฉะนั้นในการสอนธรรม พึงพุ่งเข้าหาจุดทั้งสามจุดนี้ พูดให้เขาเห็นโทษของความชั่ว ให้เห็นคุณของความดี และการทำใจให้ผ่องแผ้ว ประการหลังเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งพรหมจรรย์
    ตอนที่สาม ทรงกำหนดคุณสมบัติของผู้เผยแผ่ว่า
    - ต้องไม่ว่าร้ายใคร คือเผยแผ่ศาสนาโดยไม่ต้องรุกรานใคร
    - ต้องไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าผู้ที่ไม่เชื่อถือ ไม่ข่มเหงใคร
    - ต้องสำรวมระวังในสิกขาบทปาฏิโมกข์ สำรวมตนด้วยดี ทำตนให้เป็นตัวอย่างทางสงบ
    - ต้องไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง พยายามรักษาเกียรติ และศักดิ์ศรีแห่งสมณะไว้
    - ต้องอยู่ในที่สงบสงัด ไม่จุ้นจ้านพลุกพล่าน
    - ต้องประกอบความเพียรทางจิตอยู่เสมอ เพื่อละอกุศลธรรมที่ยังมิได้ละ เพื่อบำเพ็ญกุศลที่ยังมิได้ทำให้เจริญ
    โดยที่โอวาทปาฏิโมกข์ คือพระโอวาทที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เหมือนกัน และลงกันได้อย่างสนิทอย่างนี้เอง พระคันถรจนาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ จึงกล่าวไว้โดยปุคคลาธิษฐานว่า
    เมื่อพระศากยมุนีเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ในตอนเช้าแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะแล้ว พระองค์ได้นำถาดทองคำที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยเสียในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปหน่อยหนึ่ง แล้วจมลงไปซ้อนกับถาดของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เสียงดังกริ๊ก พญานาคราชซึ่งนอนหลับเป็นเวลานานก็ตื่นขึ้นพลางนึกในใจว่า เร็วจริงยังนอนหลับไม่เต็มตื่นเลย พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง แล้วมองดูถาดที่ลงไปซ้อนกันอยู่ครู่หนึ่งแล้วหลับต่อไป พญานาคราชนี้จะตื่นขึ้นเฉพาะเวลาที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเท่านั้น
    เรื่องนี้ถอดเป็นธรรมาธิษฐานได้ความดังนี้ :--
    ถาดทองคำเปรียบด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ว่าลอยทวนกระแสน้ำนั้น หมายถึงลอยทวนกระแสจิตของคนธรรมดา สภาพจิตของคนมักไหลเลื่อนลงสู่ที่ต่ำ คืออารมณ์อันน่าใคร่ น่าพอใจ แต่ธรรมของพระพุทธองค์เน้นหนักไปในทางให้ฝึกฝนจิต เพื่อละความใคร่ ความพอใจ ความเมาต่างๆ จึงเรียกว่าทวนกระแสดังที่พระองค์ทรงปรารภ เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ และทรงดำริจะโปรดเวไนยสัตว์ว่า
    "ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่งตรรก คือคิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมากยินดีในอาลัย คือกามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้นยากนักที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทและพระนิพพาน ซึ่งมีสภาพบอก คืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ เราจะพึงแสดงธรรมหรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้วคนอื่นรู้ตามไม่ได้ เราก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้อันบุคคลผู้เพียบแปล้ไปด้วยราคะ โทสะ จะรู้ให้ดีไม่ได้เลย บุคคลที่ยังยินดีพอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืดคือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง เห็นได้ยากนี้"
    ทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงน้อมพระทัยไปเพื่อเป็นผู้อยู่สบาย ขวนขวายน้อย ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรม


    ขอขอบคุณ http://se-ed.net/platongdham/pra_anon/01.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...