พระโปฐิละผู้มีอุปนิสัย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 28 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,075
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]


    พระโปฐิละผู้มีอุปนิสัย


    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖


    (มี ปัญหาทางอินเตอร์เน็ต) เอ้า เริ่มเลยก็ได้ปัญหาอินเตอร์เน็ตเป็นยังไง ปัญหาอินเตอร์เน็ตเริ่มมาละปัญหา ปัญหาเริ่มมีขึ้นมา แต่ก่อนเราได้พูดว่าการเทศนาช่วยโลกคราวนี้กว้างขวางมากมาย แต่มาขาดอยู่ที่เรื่องการถามการตอบปัญหาบกพร่องมาก อันนี้เราว่างั้น ถ้ามีการถามการตอบก็ออก ๆ ๆ เป็นคติ พิเศษ ๆ นะ การตอบปัญหา มันสะดุด ๆ เป็นจุด ๆ การเทศน์มันไปเรียบ ๆ ธรรมดา แต่การตอบปัญหามันสะดุด ระลึกไว้ไม่ลืม แต่การช่วยชาติคราวนี้ทางปัญหารู้สึกบกพร่องอยู่มากเราว่างั้น นี่เริ่มแล้วเริ่มถามมาทางอินเตอร์เน็ตทางอะไร เริ่มออกแล้ว

    อยาก ให้มีผู้ถามปัญหาทุกขั้นของภูมิจิตภูมิธรรมจากการปฏิบัติ คือการปฏิบัติธรรมนี้ความรู้ ความเห็น ความเป็น ความสงสัยมันจะแทรกกันมาๆ มีไม่หยุดไม่ถอย เวลาถามก็ออกจากความเป็นของเจ้าของเอง ได้รู้ได้เห็นยังไง ขัดข้องสงสัยตรงไหน แล้วมีการโต้ตอบทางภายในระหว่างกิเลสกับธรรมอย่างใดบ้าง อะไรเหล่านี้จะออกอยู่เรื่อย ๆ ผู้ปฏิบัติธรรมนะ นี่ละที่ว่าเงียบเลย ธรรมะประเภทนี้ถูกจอกถูกแหนปกปิดหมด ได้แก่กิเลสปกปิด ธรรมทั้งหลายขึ้นไม่ได้ ออกไม่ได้ แม่น้ำเต็มสระเต็มบึงแต่ถูกจอกถูกแหนปกคลุมไว้หมด ใครมองลงไปก็เห็นตั้งแต่จอกแต่แหน น้ำไม่เห็น ก็เข้าใจกันทั้งนั้นแหละว่าน้ำไม่มีในสระ

    แต่ จะเข้าใจไปว่ามีแต่จอกแต่แหนโดยถ่ายเดียว โลกนี้เลยกลายเป็นโลกกิเลสตัณหา แต่งตัวส่งเสริมตัวเองขึ้นให้สดสวยงดงามครอบธรรม ๆ ๆ ตลอดมาและตลอดไป ถ้าไม่มีผู้ที่ไปรื้อจอกรื้อแหนออกมาปฏิบัติ ความหมาย จอกแหนคือกิเลส รื้อจอกรื้อแหนก็คือแก้ไขถอดถอนกิเลสออกโดยลำดับ แล้วก็จะมองเห็นน้ำในสระ ได้แก่ธรรมภายในใจ จะเริ่มปรากฏขึ้นๆ ทีนี้เมื่อเริ่มปรากฏขึ้นแล้วก็ฝังใจ เช่น อย่างเขาเปิดจอกเปิดแหนออกตักน้ำอาบ ดื่ม ใช้สอย เวลาหยุดแล้วจอกแหนจะปกคลุมน้ำตามเดิม มองไม่เห็นก็ตาม แต่ความเชื่อฝังลึกว่าน้ำในสระนี้มี เป็นแต่เพียงจอกแหนปกคลุมไว้เท่านั้น เมื่อเขาต้องการเมื่อไรเขาก็มาเปิดจอกเปิดแหนตักน้ำอาบ ดื่ม ใช้สอย นี่เป็นอย่างงั้น

    เปิด ออก ๆ น้ำก็กระจ่างออก ๆ สุดท้ายเปิดจอกแหนออกหมดจ้าหมดเลยในนั้น มีแต่ธรรมทั้งนั้นในหัวใจ มีแต่น้ำทั้งนั้นในสระในบึง กิเลสตัวเป็นภัยหมดไป นี่ละเวลานี้กำลัง แล้วตลอดมาก็เป็นอย่างนั้น กิเลสเหมือนกับจอกกับแหนปกคลุมหุ้มห่อน้ำในสระในบึงที่ใสสะอาดไว้โดยมิดชิด พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็เปิดออก ๆ บ้าง พอพระพุทธเจ้านิพพานไป ศาสนาหมดไป จอกแหนปกคลุมเข้า คำว่าจอกแหนปกคลุมเข้า ก็คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นฟืนเป็นไฟของกิเลสเผาหัวใจสัตว์โลกนั่นเอง จะเป็นอะไรไป

    ที นี้ผู้ปฏิบัติจะเป็นไปในจิตตัวเอง ปัญหาต่างๆ ระหว่างกิเลสกับธรรมโต้ตอบ คัดค้านต้านทาน หรือรบกันจะเป็นขึ้นภายในใจๆ ของผู้ปฏิบัติ แล้วทีนี้ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างคนก็ต่างเป็นต่างมี แล้วผู้ที่รู้รู้ขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้ว ทางนี้สงสัยอะไรปั๊บ เปิดจอกเปิดแหนออกให้ทันที ๆ นั่นเป็นอย่างงั้น เราถึงได้พูดว่าการเทศนาว่าการช่วยโลกคราวนี้ก็รู้สึกว่ามากมายกว้างขวาง และเป็นเวลานานตั้ง ๕ ปีและ ๖ ปีเข้ามานี้แล้ว แต่บกพร่องทางการถามปัญหาไม่ค่อยมี จึงได้ฟังแต่อรรถธรรมการเทศนาว่าการโดยถ่ายเดียว ถ้ามีการถามการตอบปัญหาธรรมะแง่แปลก ๆ นี้จะเป็นเครื่องสะดุดใจ ๆ ออกเรื่อย ๆ เปิดใจให้มีกำลังขึ้นเรื่อยทุกอย่าง คือถามมายังไงคำตอบจะไปตามกัน สวนกันไป ๆ ในช่องเดียวกันๆ ให้ผู้ได้ยินได้ฟังได้เข้าอกเข้าใจในช่อง ปัญหาของกิเลสปิด ปัญหาของธรรมเปิด นี่มันสวนกันๆ

    นี่ เริ่มถามก็เริ่มตอบ คือการถามเราไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แล้วแต่ความรู้สึกเป็นยังไงก็ถามมา แล้วการตอบผู้ตอบสมควรจะตอบหนักเบามากน้อย หรือไม่ตอบ หรือตอบมากก็ขึ้นอยู่กับปัญหา ก็มีเท่านั้น ถ้าไม่สมควรตอบคือไม่ค่อยเป็นประโยชน์ก็ไม่ตอบเสีย นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นปัญหากระทบกระเทือนด้วยก็ไม่ควรตอบ มันจะรู้เองพูดง่าย ๆ เรื่องเหล่านี้ รู้ ๆ ๆ เอง ถ้าอันไหนที่จะเป็นคุณล้วน ๆ แล้วออก ๆ และเป็นคุณอย่างเลิศเลอผึงเลยเชียว นั่นเป็นอย่างงั้นนะ เอ้าทีนี้ถามมาซิ หรือจะเอาท้ายพูดธรรมะก็ได้ ธรรมดาก็เป็นอย่างงั้น ท้ายพูดธรรมะ

    เราอยากเห็นพี่น้องชาวพุทธเราหันหน้าเข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งดูใจตัวเองด้วยจิตตภาวนา เพราะใจนี้เป็นมหาเหตุ ในโลกอันนี้ไม่มีอะไรสร้างเหตุ มหาเหตุและกองทุกข์ มหันตทุกข์ขึ้นนอกจากใจอย่างเดียว สุขบรมสุขก็นอกจากใจอย่างเดียว ธรรมเป็นเครื่องเปิดออก กิเลสเป็นเครื่องปิด มีเท่านั้นอยู่ในหัวใจ ปิดมาตลอด ถ้าไม่มีธรรมปิดมาตลอด เมื่อมีธรรมแล้วก็ค่อยเปิด ๆ พอรู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิด รู้ถูก ก็รู้จักวิธีแก้ไข แล้วตัวเองก็ค่อยเบาลง ๆ ในความทุกข์ทั้งหลาย ทุกอย่างจะค่อยเปิดออกในผลบวก ๆ ธรรมมีแต่บวกล้วนๆ กิเลสมีแต่ลบ มันเป็นของคู่กันอย่างงั้น เป็นข้าศึกกันระหว่างกิเลสกับธรรม ต้องเป็นข้าศึกกันตลอดมา

    ถือ หัวใจเราเป็นเวทีต่อยกันตรงนั้นละเข้าใจไหม ถ้าวันไหนกิเลสมันได้ที มันฟัดมากๆ ธรรมนอนหงาย วันนั้นนอนไม่หลับคนนั้นคิดมาก วุ่นมาก ยุ่งมาก อะไร ๆ ข้างนอกไม่มีความหมายนะ อยู่ในหัวใจทั้งหมด มันประมวลเรื่องราวมันที่หัวใจ สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งต่าง ๆ จะไม่มีความหมาย เรื่องราวมันจะดึงมาไว้ที่นี่หมด เผาที่นี่ ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรมเบิกกัน ปัดกัน ๆ ๆ แก้กัน พอแก้กันแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์หมด นั่น ตัวสร้างทุกข์ก็อยู่ที่นี่ ตัวสร้างความสุขเปิดความทุกข์ออกก็อยู่ที่นี่ มันก็เปิดออก ๆ นั่นเป็นอย่างงั้น

    คำว่าใจสงบก็คือสงบจากเรื่องของกิเลสที่รบกวนนั้นแหละ จะสงบจากอะไร คือกิเลสสร้างเรื่องในหัวใจตลอดเวลา มันไม่ได้อยู่ธรรมดานะ เฉพาะสังขารขันธ์กับสัญญาขันธ์นี้สำคัญมาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เรียกว่าขันธ์ห้า รูปเป็นตัวตั้งอันส่วนหยาบ เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ เกิด ได้ทั้งกายและจิตประสานกันเมื่อกิเลสยังมีอยู่ สัญญาความจำได้หมายรู้ หมายนั้นหมายนี้ นี่ละสำคัญ และสังขารปรุง ปรุงไม่หยุดไม่ถอย ปรุงคิดตลอดเวลา ความคิดนึกนั่นแหละเรียกว่าสังขาร คือความคิดความปรุงเรียกว่าสังขาร

    สอง อันนี้สำคัญมาก ในวงปฏิบัติอันนี้สำคัญมากกว่าเพื่อน ออกตลอดเวลา แม้ที่สุดกิเลสขาดสะบั้นไปแล้วขันธ์ทั้งสองนี้ยังมีอยู่ยังเป็นอยู่ อันเหล่านั้นก็เหมือนกับว่าไม่มีๆ ฟังก็สักแต่ว่า ๆ แต่จิตนี้มันเอามาคิดมาปรุง สัญญาอารมณ์ที่จำได้มาจากการเห็นการได้ยิน แล้วก็ประมวลมาอยู่ในสัญญากับสังขาร มันนำมาคิดมาปรุงอยู่งั้นแล้วก็เป็นกิเลสตลอดนะ เป็นไฟเผาตัว ถ้าเพลินก็เพลินไปทางกิเลสเพื่อทุกข์ไปเสีย ที่จะเพลินในธรรมนี้เพราะเราไม่ได้สั่งสมธรรม เพลินในธรรมที่จะให้เกิดความสงบร่มเย็นมีน้อย ๆ ในเบื้องต้น นั่น

    ครั้น ต่อไปความสงบอันนี้ก็เบิกกว้างออกๆ กิเลสก็ค่อยอ่อนตัวลง ทางนี้ก็ก้าวเดิน สังขารก็กลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป เพราะธรรมกลับมาใช้กลับมาได้ ปรุงเรื่องอรรถเรื่องธรรม ความสำคัญมั่นหมายก็เป็นไปเรื่องอรรถเรื่องธรรมไปเรื่อย ๆ ค่อยเบิกกว้างไปเรื่อย จำให้ดีนะ นี้เอาออกมาจากเวทีนะนี่นะ ไม่ได้ออกมาจากไหน ถ้าพูดถึงในคัมภีร์ท่านก็ว่าไว้กลาง ๆ แต่ที่จะซอกแซกซิกแซ็กต้องออกจากภาคปฏิบัติ ท่านยังกล่าวไว้ ๘๐,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พอประมาณเท่านั้นนะ ท่านพูดกลาง ๆ ไปกลาง ๆ แต่ทางภาคปฏิบัตินี้ซอกแซกซิกแซ็กไปทุกแง่ทุกมุม ไปหมดภาคปฏิบัติ คือมันรู้ขึ้นจากใจ

    ท่าน พรรณนาเอาไว้นั้นให้พอเหมาะพอดีกับการทรงจำของผู้ปฏิบัติ ถ้ามากมายกว่านั้นก็เหลือเฟือ จะเกิดความท้อถอยไปเสียไม่มีแก่ใจที่จะปฏิบัติ จึงเอาแต่สิ่งจำเป็น ๆ เช่น อย่างมรรค ๘ นี่เอามาแล้ว นี่จุดใหญ่ อริยสัจสี่รวมมาอยู่นี้ กิ่งก้านของเหล่านี้มากขนาดไหน เวลาตีเข้าไปนี้มันออก ต้นไม้ต้นเดียวกิ่งก้านมันเท่าไร นั่นเป็นอย่างงั้น ทางภาคปฏิบัตินี้จึงเป็นสำคัญมาก มีแต่การศึกษาเล่าเรียนมาเฉยๆ ก็ได้แต่ความจดความจำ เราเหมือนท่าน ท่านเหมือนเรา ถ้าไม่มีความสนใจจะปฏิบัติแทรกอยู่ในนั้น แฝงอยู่ในนั้นแล้ว เรียนมามากน้อยไม่เกิดประโยชน์ ดีไม่ดีเป็นเครื่องเสริมกิเลสเข้าอีกๆ

    เรา จะเห็นได้ผู้ที่เรียนไม่สนใจปฏิบัติ เรียนมากเท่าไรจนทิฐิมานะสูงจรดฟ้า นี่กิเลสขึ้นแล้วๆ แล้วยิ่งได้ชั้นนั้นชั้นนี้ยิ่งเสริมขึ้นอีก นี่เรียกว่าดินเหนียวติดหัวเข้าใจว่าตัวมีหงอน พองตัวขึ้น นี่ละกิเลสเป็นอย่างงั้น ถ้าเป็นภาคของปฏิบัติรู้เข้าไปตรงไหน คอยที่จะปฏิบัติ คอยที่จะแก้ไขไปตามๆ แล้วหยุดจากการศึกษาแล้วใส่ทางด้านปฏิบัติออกมาแจงก็เปิดออกๆ ที นี้เรื่องราวก็จะกระจายไปเรื่องอรรถเรื่องธรรม ทั้งกิเลส จะเห็นทั้งสองอย่างๆ บนเวทีคือหัวใจของนักภาวนา ออกเรื่อยๆ ไม่มีอะไรจะกว้างขวาง ยิ่งกว่าจิตใจซึ่งเป็นมหาเหตุ ทั้งฝ่ายธรรมฝ่ายกิเลสจะอยู่ที่นี่ทั้งหมด

    เวลา ตีเข้าไปตรงนี้แล้วจะเห็นทั้งสองอย่าง ความสงบจะเริ่มเห็น แต่ก่อนเห็นแต่ความวุ่นวาย พอเราฝึกฝนอบรมจิตของเรามีความสงบเข้าไป ก็เห็นความสงบ แล้วก็เห็นโทษของความวุ่นวาย แน่ะ แต่ก่อนไม่เห็นนะ พอเห็นความสงบมีคุณค่าขนาดไหน ก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวายมีโทษขนาดนั้น ทีนี้ก็เบิกออก ๆ นั่นท่านปฏิบัติ มีปฏิบัติแล้วมีทางที่จะรู้จะเห็น ถ้ามีแต่เรียนเฉย ๆ ไม่ว่าท่านว่าเราเหมือนกันหมด ไม่เกิดประโยชน์อะไร ท่านถึงบอกว่าโปฐิละ ใบลานเปล่า เรียนเปล่า ๆ ท่านพูดไว้ทางปริยัติท่านพูดอย่างนี้ โปฐิละ แปลว่าใบลานเปล่า เท่านั้นแหละ

    นี้ เวลามาแจงออก ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านแจง ใบลานเปล่า ฟังซิท่านแจง ใบลานเปล่า เรียนเปล่าๆ ขึ้นต้นก็ว่าเรียนเปล่าๆ รู้เปล่าๆ จากนั้นก็บวชเปล่าๆ หัวโล้นเปล่า หัวล้านเปล่าๆ ตายเปล่าๆ เรื่อยไปเลย ท่านตีไปเห็นไหม ไม่เกิดประโยชน์อะไรจากการเพียงเรียนเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ นี่ละภาคปฏิบัติเรายกตัวอย่าง อย่างหลวงปู่มั่นท่านเอาออกมาแจง มันก็เป็นอย่างงั้นภาคปฏิบัติ ต้องแจงออกเป็นแง่เป็นแขนงออกเรื่อย ๆ เรื่องพุทธศาสนาของเรานี้ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติไม่ได้พิสดาร ใครเรียนใครจำก็เอาแต่นั้นน่ะมาพูด มาคุย มาอวดกัน

    ภาค จริงภาคจังที่จะเอาถึงพริกถึงขิง เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ คือภาคปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้มา ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้เอามาพูดได้ แล้วก็ถอดถอนกิเลสไม่ได้ สอนคนก็สอน เขาก็สงสัยสอนไป ถ้าเขาค้านเข้ามาทำไมท่านถึงเทศน์อย่างนั้นล่ะ อย่างนี้นะ ก็คัมภีร์ว่าอย่างงั้น นี่หลบไปหาคัมภีร์เสีย นี่ภาคปฏิบัติไม่เป็นนะ ทำไมท่านเทศน์อย่างงั้น เพราะเหตุนั้น นั่นเอาแล้วนะ ทางนั้นถามมาอีก ปั๊บอีกเอาอีก นั่น ก็มันเต็มอยู่ในนี้หมดแล้ว นั่นเรียกว่าภาคปฏิบัติ มันรู้อยู่ภายในใจ เป็นแต่เพียงว่าออกแง่หนึ่ง เมื่อเขาฆ่าแง่นี้ปั๊บ แง่นี้ก็รับกันปุ๊บ แง่นั้นรับกันปุ๊บเรื่อยไปเลย แก้กิเลสไปโดยลำดับ คือหายสงสัยไปโดยลำดับ เข้าใจไหมล่ะ

    นั่น ละความรู้จริงเห็นจริงกับความจำมันต่างกันมากนะ ต่างกันมากจริงๆ ใครจะว่าเราบ้าก็ตาม แต่ก่อนเราก็ไม่เคยได้พูดอย่างนี้เพราะมันไม่รู้ แต่ เวลามันรู้แล้วปิดไม่อยู่ นอกจากไม่พูดเฉยๆ หากไม่กดไม่ดันเท่านั้นเอง รู้เหมือนไม่รู้ ธรรมเป็นอย่างงั้นไม่หนักไม่กดไม่ถ่วงเหมือนกิเลส กิเลสมันทั้งหิวทั้งโหย ทั้งอยากพูดอยากคุย อยากโม้ อยากโอ้อยากอวดเรื่องของกิเลส แต่ธรรมไม่มี มีเหมือนไม่มี แล้วแต่เหตุการณ์ที่จะเข้ามาสัมผัสมากน้อย ควรจะเป็นประโยชน์เพียงไรก็ออกไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ออก ถ้าเป็นประโยชน์มากก็ออกมาก ๆ ถ้าเป็นประโยชน์เต็มที่ออกผึงเลยทันที

    นี่เรียกธรรมภาคปฏิบัติ อยู่ในหัวใจนะท่านทั้งหลาย เพราะหัวใจเป็นตัวรับกองทุกข์และความสุข ที่เป็นผลของกิเลสและธรรมสร้างขึ้นมา อยู่ที่ใจนี้ทั้งนั้น พอใจเปิดโล่งหมดแล้ว เรื่องราวทั้งหลายของกิเลส กิเลสหมดแล้วเรื่องราวก็หมด แล้วก็มีแต่ธรรมล้วนๆ อยู่ไหนไม่มีอะไรมากีดมาขวาง

    ตะ กี้นี้เราพูดถึงเรื่องขันธ์ ขันธ์ ๕ มีสังขารขันธ์ กับสัญญาขันธ์ นี้สำคัญมากทีเดียว มันเป็นของมันอยู่ตลอดจนกระทั่งวันตาย ที่มันแสดงของมันอยู่เรื่อยๆ ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เบากว่านี้ อันนี้เป็นตัวปรุงตัวแต่งเรื่องราวตลอดเวลา วิญญาณที่รับทราบก็หมายความว่า ได้เห็นได้ยินเป็นวิญญาณๆ ชั่วกาลเวลา ถ้านั่งหลับตาเสียมันก็ไม่เห็น เช่น ท่านนั่งหลับตาภาวนาตาก็ไม่ใช้ แต่สังขารกับสัญญานี้มันออกของมันตลอด หลับตาก็เถอะน่ะ มันออกของมัน คิดปรุงได้ตลอด จำได้หมายรู้ตลอดเวลา ตัวนี้แสดงอยู่ตลอดเวลา

    เวลา กิเลสมีอยู่ อันนี้เป็นเครื่องมือของกิเลสเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ เป็นเครื่องมือ เป็นกิเลสแล้วมาทำลายตัวเอง ทีนี้เวลาภาคปฏิบัติจับเข้าไปๆ เครื่องมือเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือของธรรม ทั้งกิเลสทั้งธรรมแย่งกันใช้ กิเลสก็มี ธรรมก็มี ธรรมก็นำมาใช้ทางด้านธรรม กิเลสก็เอาไปใช้ทางด้านกิเลส ระหว่างกิเลสกับธรรมที่เป็นสังขารอันเดียวกัน มันขัดมันแย้งมันตบมันต่อยกันอยู่ ให้เห็นอย่างนั้นซี ทีนี้เวลาทางธรรมมีกำลังมาก สังขารที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือของธรรมหนักเข้าๆ สัญญาก็เหมือนกัน อะไรถ้าเป็นเครื่องมือของธรรมหนักเข้าๆ ฟาดจนกิเลสขาดสะบั้นลงไปเลย สังขารมันไม่ยอมดับนะ สัญญาก็ไม่ดับ แต่กลายเป็นเครื่องมือของธรรมไปหมดแล้ว คือกิเลสหมด สังขารนี้ก็เลยเป็นขันธ์ล้วนๆ เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้ามาแฝงท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ

    ขันธ์ ของพระอรหันต์เป็นขันธ์ล้วนๆ มีแต่จิตที่บริสุทธิ์นำขันธ์นี้ออกใช้ ท่านไม่ยึด จึงเรียกว่าขันธ์ของพระอรหันต์ กลายเป็นขันธ์ล้วนๆ แต่ขันธ์ของกิเลสเป็นกิเลสล้วนๆ ตัวขันธ์ไม่เป็นกิเลส แต่พิษของมันคือกิเลสนี้แทรกเข้าไปในนั้น ขันธ์เลยกลายเป็นสมุนของกิเลส หรือเป็นกิเลสไปเลย นั่น แยกไปได้ทั้งนั้น นี่ละที่ว่าขันธ์เป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ ทุกอย่าง เหมือนเครื่องมือเรานี่ เราเอามาวางไว้นี่มันก็อยู่ จับเอาไปใช้ทางไหนมันก็ไปเครื่องมือ เช่น มีดอย่างนี้นะ เราเอาไปตัดอะไรฟันอะไรก็ได้ ฟันแตงโมก็ได้ ไปฟันหัวคนก็ได้ แล้วแต่เจ้าของจับขึ้นไปฟัน เจ้าของคือผู้บงการ เช่นกิเลสกับธรรมบงการออกมา กิเลสบงการมันก็เอาไปฟันหัวคน ถ้าธรรมบงการก็เอาไปฟันฟักแฟงแตงโมที นี้ตีกิเลสนั้นออก ที่มันไปฟันหัวคนตัดออก ให้มันฟันตั้งแต่ฟักแฟงแตงโม นั่นละท่านว่าขันธ์อันนี้ท่านนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ไม่มีคำว่าจะเป็นโทษ ที่พระอรหันต์เอาขันธ์ไปใช้นี่ จึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ เป็นอย่างนั้น

    เวลา มันได้รู้ อะไรจะไปกว้างขวางยิ่งกว่าใจรู้ใจเห็น เบิกกว้างไปหมดไม่มีอะไรขวางเลย ก็มีกิเลสเท่านั้น ชี้นิ้วเลย ว่ามีกิเลสเท่านั้นที่มาขวางจิต พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีอะไรขวางจิต โล่งเป็นธรรมทั้งแท่งไปเลย ท่านจึงว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ว่างไปหมด ว่างตลอดเวลา ว่างเป็นนิพพานเที่ยงไปเลย เป็นอย่างนั้น เราจึงอยากให้พี่น้องชาวพุทธเราได้อบรมทางด้านจิตใจ แม้จะไม่เป็นผลขึ้นมาให้เห็นเป็นความแปลกประหลาด การบำเพ็ญจิตใจนี้ก็มีคุณค่ามีอานิสงส์มากกว่างานอื่นๆ นะ งานกุศลคืองานบำเพ็ญภาวนานี้มีอานิสงส์มากตลอด และยิ่งได้เห็นด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มอานิสงส์สดๆ ร้อนๆ ไปเลยทีเดียว จึงอยากให้พากันอบรมทางด้านจิตใจบ้าง

    ศาสนา พุทธเราเด่นอยู่ที่การอบรมจิต เมื่อเวลาอบรมจิตใจซึ่งเป็นเจ้าของให้ดิบให้ดีขึ้นโดยลำดับแล้ว จะเคลื่อนไหวไปมาทางใด จิตผู้นี้จะบ่งบอกไม่ค่อยผิดพลาดนะคนเรา ถ้าใจได้รับการอบรม กิริยาท่าทางที่แสดงออกไม่ค่อยผิดพลาด เพราะอยู่ในความรับผิดชอบของสติปัญญาที่ออกมาจากการภาวนาคอยควบคุมดูแลอยู่ ไม่ได้เหมือนอย่างที่ปล่อยแบบเตลิดเปิดเปิง จะไปไหนก็แล้วแต่ อย่างนี้คือจิตที่กิเลสเอาไปใช้ ขันธ์ที่กิเลสเอาไปใช้อย่างเดียว ไม่เกิดประโยชน์เลย

    พุทธ ศาสนานี้เลิศเลอสุดยอดแล้ว เราหาที่สงสัยไม่ได้เลย ไม่มีที่สงสัยเลย กราบพระพุทธเจ้าราบๆ เลยเชียว ราบทุกพระองค์เลย เหมือนกันหมดไม่มีอะไรแปลกต่างกัน จ้าลงในหัวใจอย่างเดียวซ่านถึงกันหมด ผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติ เห็นแต่ในตำรับตำรา เราก็เรียนแต่ก่อนว่า อายตนะนิพพาน นี่ตัวสำคัญ คัมภีร์ใหญ่เคลื่อนที่ คัมภีร์เคลื่อนที่ แต่มีแต่ใบลานเปล่านะเคลื่อนที่ โปฐิละเคลื่อนที่ นี่ละที่ว่า อายตนะนิพพาน คาดไปคาดมา พอขั้นจิตอันนี้ผางเท่านั้นอายตนะนิพพานเป็นเองหมดไม่ต้องถามใคร อยู่กับนั้นหมด พอตรัสรู้ผางนี้มันจะซ่านถึงพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เลยนะ ฟังซิน่ะ นี่ละเรียกว่าอายตนะนิพพาน แปลว่า เครื่องซ่าน เครื่องประสาน อายตนะ แปลว่า เครื่องประสาน ตากับรูปประสานกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต กับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั้งสองนี้เรียกว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายใน เป็นเครื่องประสานกัน

    อายตนะ ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ไปประสานกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ก็ทราบเรื่องราวขึ้นมา เมื่อประสานกันปั๊บก็ทราบเรื่องราวขึ้นมาระหว่างจากการประสานนั้น ทีนี้อายตนะนิพพานก็เหมือนกัน พอผางขึ้นมานี้ประสานกัน พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์กับธรรมชาติที่ผางขึ้นมานี้วิ่งถึงกัน เข้าใจทันที นั่นละผลที่ระหว่างทั้งสองที่ประสานกัน เข้าใจทันที พระพุทธเจ้าคืออะไร พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ มากมายขนาดไหน เข้าใจทันที หายสงสัยทันที นี่เรียกว่าอายตนะนิพพาน ถ้ายังไม่เคยฟังก็ฟังเสีย นี่หลักธรรมชาติแท้ของอายตนะนิพพาน ท่านไม่ถามกัน พอผางเข้านี่ซ่านถึงกันหมดเลย อายตนะคือประสานกัน ซ่านถึงกัน พากันเข้าใจหรือยัง โปฐิละ

    โปฐิละท่านแปลว่าใบลานเปล่า ในคัมภีร์ว่าใบลานเปล่า โปฐิละเธอจงมา โปฐิละเธอจงไป พระพุทธเจ้าท่านทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของพระโปฐิละ เรียนจบพระไตรปิฎกเป็นครูเป็นอาจารย์สอนทางด้านปริยัติ พระไตรปิฎก ทีนี้คงจะลืมตัวแล้วแหละ เวลาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเล็งญาณดูเรียบร้อยแล้ว มีอุปนิสัยสมบูรณ์ในการที่จะเป็นพระอรหันต์สมบูรณ์เต็มที่แล้ว เป็นแต่เวลานี้ยังลืมตัว เพราะฉะนั้นท่านถึงเอาอย่างเด็ดๆ ละซิ

    นี่ ละปัญหาพระพุทธเจ้าออกอันไหนมีเหตุมีผลพร้อม ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้นั้นได้รู้สึกตัวและเป็นผลขึ้นมา พอมาก็โปฐิละ นั่นขึ้นเลย โปฐิละเธอมาเหรอ โปฐิละเอ้าเธอจงนั่ง โปฐิละเธอจงไป อะไรมีแต่โปฐิละ ๆ แปลว่าใบลานเปล่า เรียนเปล่า ๆ ถ้าว่าสอนลูกศิษย์ลูกหาก็สอนเปล่า ๆ แต่ไม่สอนตัวเองพูดง่าย ๆ นี่ละในภาคปฏิบัติย้อนหน้าย้อนหลัง พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านแปลว่าอย่างที่ว่า หัวล้านเปล่า หัวโล้นเปล่า กินเปล่าๆ นอนเปล่าๆ เรื่อย ท่านตีคนเดียว นั่นเห็นไหมภาคปฏิบัติตีเข้ามา ทีนี้พระโปฐิละท่านก็มีอุปนิสัย พอพระพุทธเจ้ารับสั่งอย่างนั้นท่านสลดสังเวชนะ เหอ พระทั้งหลายก็ไม่เห็นท่านว่า

    การ เรียนมากเรียนน้อยพระทั้งหลายก็เรียน ก็ไม่เห็นได้ยินว่าพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งอย่างนี้ แต่กับเราทำไมพระองค์จึงรับสั่งอย่างนี้ มีแต่ตำหนิติเตียนโดยถ่ายเดียว หาคุณค่าอะไรไม่มีเลย พระพุทธเจ้าท่านทำไมท่านจึง… แล้วพระพุทธเจ้าท่านเป็นศาสดาองค์เอก นั่นขึ้นมาแล้วนะ นี่ละอุปนิสัย ไม่ได้ตำหนิพระพุทธเจ้าโดยถ่ายเดียว ศาสดาองค์เอกจะตำหนิติชมตรงใดต้องมีเหตุมีผลทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ที่ท่านทรงตำหนิอย่างนี้แสดงว่าเราลืมตัว ท่านเตือนเรา มากกว่านั้นเราอาจจะมีนิสัยทางมรรค ทางผล อยู่บ้าง สลดสังเวช

    พอ ไปถึงสำนักเท่านั้น พระเณรจำนวนมากน้อยไม่ได้บอกลาใครเลยนะ ไปเตรียมบริขาร บริขารพระแต่ก่อนไม่ได้พะรุงพะรังเหมือนพระทุกวันนี้ พระทุกวันนี้ โถ ดูซิพระวัดป่าบ้านตาด หลวงตาบัวจะไปไหนนี่ขึ้นรถทีละสามคันสี่คัน มันพะรุงพะรัง บริขารหรือนี่ นี่เขาเรียกเครื่องสังหาร เข้าใจไหม บริขารแต่ก่อนมีแปดอันเท่านั้นสะพายไปเลย อันนี้สะพายอะไรต่ออะไร พอจะยกอันนี้รถคันนั้นเป็นยังไง รถคันนั้น รถคันนี้มารึยัง รถคันนั้นมารึยัง ยุ่งไปหมด นี่ละบริขารหลวงตาบัว เวลาจะไปนี้บริขารหลวงตาบัวแห่ล้อมหน้าล้อมหลัง นี่บริขารหลวงตาบัวกับบริขารของพระโปฐิละครั้งพุทธกาลต่างกันยังไงบ้าง เอ้าว่าให้เห็นกันซิ มันบริขารอะไร เครื่องสังหาร

    ถ้า หากว่าไม่มีธรรมนี้ฉิบหายได้ แต่ถ้ามีธรรมก็เป็นเครื่องใช้ล้วนๆ แน่ะก็เป็นอย่างงั้นเสียนะ เหมือนขันธ์ล้วนๆ นั่นแหละ เมื่อมีธรรมแล้วไม่หลง มีอะไรก็ไม่หลง เป็นเครื่องใช้ล้วนๆ นี่เราพูดถึงเรื่องบริขาร ได้แต่บริขารแล้วออกหนีกลางคืนเลย ไม่บอกพระเณรทั้งหมด ตามตำราว่างั้น ท่านเกิดความสลดสังเวชอย่างมากทีเดียว ที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนินี้เราคงจะมีนิสัย ถ้าไม่งั้นพระองค์จะไม่ตำหนิ นี่ท่านมาคิดของท่าน บวกลบกับพระทั้งหลายไม่เห็นองค์ใดที่เรียนมากเหมือนกันก็มี แต่ก็ไม่เคยเห็นท่านตำหนิติชมว่าไง แต่กับเรานี้ทำไมพอไปก็ใส่ผาง ๆ เลย

    ท่าน จึงเอานี้มาคิด แล้วพระพุทธเจ้าทรงเหตุทรงผลสมบูรณ์แบบสมความเป็นศาสดา ตำหนิตรงไหนต้องมีเหตุมีผล ชมตรงไหนต้องมีเหตุผล ตอนต้นท่านบอกว่า แสดงว่าเรานี้ลืมตัว อันดับต่อไปเมื่อได้รับการแนะตำตักเตือนสั่งสอนแล้วอาจจะรู้ตัว จึงไปถึงวัดแล้วก็เตรียมบริขาร ไปเลยทีเดียวไม่บอก พระในนั้นบอกว่า ๔๐๐-๕๐๐ องค์ ไม่บอกสักองค์เดียว ไปองค์เดียวปึ๋งเลยกลางคืน ไปหาสำนักกรรมฐานท่าน แล้วสำนักนั้นเป็นพระอรหันต์ทุกองค์เสียด้วยนะ จนกระทั่งถึงสามเณรน้อยเป็นอรหันต์ทั้งหมด พอไปถึงก็ไปมอบกายถวายตัว ท่านมอบจริง ๆ นะ

    ท่าน เป็นมหาเถระทำตัวเป็นสามเณรน้อยเลย ในตำราบอกชัดเจนมาก จนเราก็เกิดความสะดุดใจ โอ๋ ท่านยอมตนท่านปฏิบัติตนท่านปฏิบัติถึงขนาดนี้เชียวหนา ลดศักดิ์ศรีดีงามทุกอย่างในตัวเองลงหมด จนกลายเป็นสามเณรน้อยขึ้นมา เข้าไปหาพระเถระ ก็ขอไปมอบกายถวายตัวต่อท่าน ท่านบอก โอ๊ย ท่านเรียนจนกระทั่งจบพระไตรปิฎก ถ้าพูดภาษาเราก็เรียกว่าพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ ผมไม่รู้เรื่องอะไรแหละอยู่แต่ในป่าในเขา ว่างั้น ท่านหลบฉากไปเสีย ท่านจะทดลองดู ภาษาโลกก็เรียกว่าท่านไม่สอน แต่ในภาษาธรรมท่านทดลองดู คนนี้ที่มาหาเรามีความมุ่งหมายยังไง ก็ท่านเป็นขนาดพระอรหันต์ท่านโง่เมื่อไร

    ทาง นี้ก็ถวายตัวตลอด มอบกายถวายตัวทุกอย่าง ถ้างั้น เอา องค์นั้นลองดูซิเป็นยังไง ท่านยังไม่รับนะท่านจะดัดสันดานอีก ดัดสันดานคนที่ว่าเรียนมาก ๆ เป็นโปฐิละนี่ องค์นั้นก็ โอ๋ย ผม ว่าอย่างงั้นก็แก้ไปอีก ๆ จนกระทั่งถึงสุดท้ายแก้แบบเดียวกัน ไม่มีองค์ใดรับเป็นอาจารย์สอนพระโปฐิละนี้เลย จนกระทั่งถึงสามเณรองค์สุดท้าย และสามเณรนั้นเป็นพระอรหันต์ด้วยที่นี่ พอไปถึง โอ๊ย ตายผมก็เป็นเหมือนเด็กคนหนึ่ง ท่านอาจารย์ก็เป็นครูบาอาจารย์ใหญ่โตลือชาปรากฏมาทั่วโลกดินแดน จะให้ผมสอนได้ยังไง ทางนี้ก็ปั๊บเลยอาจารย์ใหญ่ อาจารย์หัวหน้า เอ้า ลองดูซิเณร บางทีนิสัยวาสนามันเกี่ยวโยงกัน มันจะเป็นประโยชน์ก็ได้ พิจารณาลองดูซี

    ทาง นั้นก็มอบกายถวายตัว แล้วพระเถระนี่มอบตัวเป็นเณร เณรเลยกลายเป็นเถระขึ้นมา ในกิริยาที่แสดงในตำราบอกชัดเจนมาก จนเราไม่ลืมนะ สะดุดใจ โห ท่านลดทิฐิมานะท่านลดขนาดนี้เชียวนา ลงขนาดเป็นอาจารย์แล้วมาทำตัวเป็นสามเณรน้อย แล้วยกสามเณรนี้ขึ้นเป็นอาจารย์เลย เณรก็รับ แล้วเณรรับจะว่าเณรทะนงหรือ อาจารย์เตือนมาแล้วเณรก็เข้าใจแล้ว นั่น รับเป็นอาจารย์เข้าใจไหม ทีนี้ก็ฝึกทรมานแบบต่าง ๆ นะ ฝึกแบบที่เขาไม่ฝึกกันนั่นแหละ อยู่ดี ๆ อาจารย์ ทางนี้ครับ คอยรอรับอยู่เหมือนเณรน้อยนะ เณรน้อยเหมือนเป็นอาจารย์ใหญ่อย่างงี้เข้าใจไหม ผมต้องการอย่างนั้นนะอาจารย์ ต้องการอะไร เตรียมพร้อมเลย อย่างนั้นนะ

    นี่ ลงลงอย่างนั้น ลงเพื่ออรรถเพื่อธรรม ผมต้องการสิ่งนั้นอยู่ในกอไผ่ ก็ของอยู่ในกอไผ่ บอกให้ครองจีวรเสียก่อนแล้วค่อยเข้าไป ทางนี้ก็ปุ๊บปั๊บเลยไม่มีคัดมีค้านอะไรเลย คัดค้านไม่มี ครองจีวรปุ๊บปั๊บไป พอจะเอาเข้าจริง โอ๊ย ผมไม่เอาแล้ว ทดลอง ลงจริง ๆ ความหมายว่างั้นนะ ท่านไม่ได้เอาของในกอไผ่ ท่านเอาหัวใจของพระองค์นั้น ทดลองทุกอย่าง จะถึงจริงๆ แล้วเอาละผมไม่เอาแล้วกลับคืนมา ทดลอง แสดงว่าท่านลงจริงๆ จากนั้นลงน้ำก็เหมือนกันอีกแหละทุกแบบ ครองผ้าไปพอจีวรจะเปียก ผมไม่เอาแล้ว ทดลองหลายแบบหลายฉบับที่โลกเขาไม่ทดลอง นี่ตำรามี

    น่า พิจารณานะ แล้วลงทุกอย่างด้วยนะ อาจารย์องค์นี้ถวายตัวเรียกว่าเป็นสามเณรนี้ แบบเป็นสามเณรจริง ๆ เณรก็เป็นเถระตั้งหน้าตั้งตาสอนจริง ๆ จนกระทั่งเห็นว่าท่านลงทุกอย่างแล้วเป็นที่ควรแนะนำสั่งสอนได้แล้วท่านจึง สอน คำสอนของท่านก็ไม่มาก แต่เราไม่ยกมามากละนะ พอท่านสอนแล้วจิตของท่านเข้าสู่ความสงบเป็นอุเปกขามัธยัสถ์ สมควรแก่มรรคแก่ผล จะเข้าด้ายเข้าเข็มแล้วทีนี้แทนที่จะให้เข้าด้ายเข้าเข็มด้วยความสามารถของ เณรเองนี้ไม่นะ พาอาจารย์ใหญ่ที่มาถวายตัวเป็นสามเณรน้อยนี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    ถึง ขั้นที่จะล้างกิเลสทั้งหลายให้เสร็จสิ้นไปจากหัวใจโดยสิ้นเชิงแล้ว เณรนี้ไม่ทำเอง เณรจะสอนให้เสร็จในวันนั้นให้เป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่เพื่อเกียรติของพระเถระนี้ นั่นเห็นไหมท่านยังแบ่งสู้แบ่งรับเอาไว้ ก็พาพระเถระนี้ไปหาพระพุทธเจ้า พอไปถึง ไหนเณรลูกศิษย์ของเณรเป็นยังไง ลูกศิษย์ก็คืออาจารย์ใหญ่โปฐิละ อู๊ย หาไม่ได้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าดูมาตลอดไม่มีใครเหมือนท่านอาจารย์องค์นี้เลย หายากที่สุด พอไปถึงนั้นแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เณรก็หลีกตัวออกไปเสีย พระพุทธเจ้าก็รับสั่ง นั่นเห็นไหม

    นี่ จะล้างกิเลสทุกประเภทให้เสร็จสิ้นลงไปต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเลย เณรไม่เอา เข้าใจไหม มอบให้เป็นพระเกียรติของพระพุทธเจ้าทั้งหมด และมอบให้เป็นเกียรติของพระเถระองค์นั้นทั้งหมด เณรหนีไปเลย แล้วก็สอน

    โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย

    เอตํ เทฺวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ

    ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.

    ปัญญา เกิดเพราะความประกอบ ปัญญาสิ้นไปเพราะความไม่ประกอบ บุคคลรู้จักทางแห่งความเจริญและความเสื่อมสองอย่างนี้แล้ว ปัญญาจะเจริญด้วยประการใดควรตั้งตนไว้ ด้วยประการฉะนั้น พระโปฐิละสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย นั่นเห็นไหม เณรหลีกไปแล้ว ให้สำเร็จพระอรหันต์ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ที่จะให้สำเร็จอรหันต์ต่อหน้าเณรนี้มันยังไงใช่ไหม เห็นไหมล่ะท่านไว้สมมุติท่านไว้อย่างงั้น

    นี่ ละความมีอุปนิสัยแล้วเป็นอย่างงั้น พระพุทธเจ้าตำหนิตรงไหน เห็นไหมล่ะอุบายวิธีการของพระเถระผู้ใหญ่มาถวายตัวเป็นเณร และเณรผู้ใหญ่เป็นอาจารย์เป็นยังไง ท่านฝึกทุกแบบทุกฉบับ จนกระทั่งถึงขั้นที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ท่านหลีกเสีย ยกถวายพระพุทธเจ้าให้พระพุทธเจ้าทรงชะล้างเอง เสริมเองทีเดียว พระโปฐิละก็เลยสำเร็จเป็นพระอรหันต์ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ไม่ได้ต่อหน้าเณร เณรสอนไม่ว่า แน่ะเป็นอย่างงั้นนะ นี่ละดูเอาซิอุปนิสัยมีอยู่ในใจ เป็นอย่างงั้นแหละ นี่เรายกมาเป็นตัวอย่างให้ท่านทั้งหลายฟัง

    จิต ใจนี้ถูกปิดถูกบังด้วยจอกด้วยแหน คือกิเลสเป็นฟืนเป็นไฟทุกหัวใจในโลกนี้ จึงไม่มีความสง่างาม หาความสงบร่มเย็นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่อันนี้จะแผลงฤทธิ์ตัวเองเต็มเหนี่ยว แต่ฤทธิ์ของกิเลสมากกว่ามันครอบไว้หมด จึงต้องได้ชำระกัน เมื่อชำระแล้ว อันนี้ค่อยจางไป ๆ อย่างน้อยเราก็เป็นคนมีสมบัติผู้ดี มีศีลมีธรรม ไปไหนมีหิริโอตตัปปะ ไม่โดนชนเอาเลย ๆ แบบหัวแตกขาหักดังที่เป็นอยู่เวลานี้ ซึ่งมีแต่กิเลสตัวตาบอดจูงไป มันไม่รู้จักหลุมจากบ่อกิเลสจูงไปเอาไปได้หมด ถ้าธรรมจูงไปนี่อะไรหลุมบ่อมันก็รู้ หลีกตัวไปได้ อย่างน้อยได้อย่างนี้ยังดี ได้ให้เสร็จไปเลยอย่างพระโปฐิละ เรานี้สาธุไปด้วยเลย

    เรา อยากให้ลูกศิษย์หลวงตาบัวนี่ไปหมด หลวงตาบัวจะคอยนั่งอยู่นี่ดูลูกศิษย์ไป เราไม่ไปไม่เป็นไรละ ขอให้ลูกศิษย์ไปเถอะว่างั้น เข้าใจเหรอ แต่นี้มันไม่ได้หน้าได้หลังละซิ มองเห็นใครไหลไปๆ ไหลเข้าแต่เสื่อแต่หมอนมันเป็นยังไง จนกระทั่งโรงงานทำเสื่อทำหมอนเขาไม่หวาดไม่ไหวเขาจะมาต่อว่าอาจารย์ ลูกศิษย์ของอาจารย์มันเป็นยังไงมากมายก่ายกอง ลูกศิษย์ที่ไหนก็ไม่เคยมีมากเหมือนลูกศิษย์อาจารย์ ลูกศิษย์ของเรามีมาก มากอะไร มากแล้วก็ไปรบกวน รบกวนยังไง ก็โรงงานนี้แต่ก่อนผลิตเสื่อผลิตหมอนออกมาก็พอค้าพอขาย พออยู่พอกิน ไม่ถูกรบกวนมาก ๆ นัก แต่ลูกศิษย์หลวงตาบัวไปนี้กวนเอาเสียแหลก เอาไม่ทันจะเผาโรงงงโรงงานไปหมด ก็ต้องได้มาฟ้องร้องบ้างซิ เหอ อย่างนั้นเหรอ กว่าจะเรียกลูกศิษย์มาที่ไหนได้มันครอกแครก ๆ หลับแล้วเข้าใจไหมล่ะ มันเป็นอย่างงั้นลูกศิษย์หลวงตาบัวนี่น่ะ

    พา กันจำเอานะไปคติเครื่องเตือนใจ เกิดมาในพุทธศาสนานี้เลิศเลอนะ พี่น้องทั้งหลายเลิศแล้ว เราขอประกาศผู้เดียวเลย แทนพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ เราไม่สงสัยทุกอย่าง นี่ละที่ว่าอายตนะนิพพาน ฟังเอา จ้าทีเดียวนี้ถึงกันหมดเลย มีมากมีน้อยเราดูน้ำมหาสมุทร ฝนตกมาปั๊บนี้มันเป็นมหาสมุทรด้วยกันหมดแล้ว เป็นมหาสมุทรด้วยกัน ประสานกันทันทีเลย นั่นละฉันใด จิตนิพพานก็แบบเดียวกันเป็นอายตนะนิพพานแบบนั้นฉันนั้นเหมือนกัน เอ้า ทีนี้ถามมาเรื่องปัญหา ว่ามาจบแค่นี้เสียก่อน

    โยม อันนี้เป็นปัญหาทางอินเตอร์เน็ตครับ

    หลวงตา เอ้า ว่ามาถามมา

    โยม กราบเท้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอโอกาสถามข้อสงสัยในการปฏิบัติบางประการ คือ ข้อที่หนึ่ง ที่ว่าให้ย้อนดูผู้รู้นั้นทำอย่างไร เพราะสติปัฏฐาน ๔ เป็นการตามรู้ ไม่ได้ย้อนรู้ ขณะที่รู้ว่าจิตกำลังขัดเคืองหรือว่ามีรถขับปาดหน้า จะย้อนดูผู้รู้อย่างไร ขณะที่รู้อยู่ว่าจิตกำลังเพ่งโทษ รอดูอยู่ จะย้อนดูอย่างไรขอรับ

    หลวงตา อ๋อ ว่าย้อนดูคือจิตของเรามันเพลิดมันเพลิน ดูไปตั้งแต่ภายนอกนู้น ไม่มาดูตัวเอง ดังที่ท่านแสดงไว้ในบทธรรมคุณนั้นว่า เอหิปสฺสิโก ถ้าแปลตามปริยัติค้านไม่ได้นะ ท่านว่าท่านจงมาดูธรรมของจริงประกาศท้าทายอยู่ เอหิปสฺสิโก ท่านเรียก ท่านจงมา ท่านจงดูธรรมของจริง นี่ทางปริยัติเพราะมันมีข้อบังคับกันอยู่ เราเองก็เรียนมาเหมือนกันเราก็ค้านไม่ได้ ถ้าแปลตามปริยัติต้องแปลอย่างท่านว่า ทีนี้ทางภาคปฏิบัติพลิกปั๊บเลย เอหิปสฺสิโก จิตของท่านนี่มันเพลิดเพลินจนเกินเนื้อเกินตัว ไม่มองดูหน้าดูหลังมองตั้งแต่ข้างหน้าที่จะลงเหวลงบ่อ มองไปก็มีแต่มองด้วยความหลับหูหลับตา แล้วให้ท่านย้อนหลังมามองดูตัวเองบ้าง ความหมายว่างั้น ให้ย้อนจิต

    คือจิตของเรามันเพลิดเพลินจนเกินเนื้อเกินตัวให้มีสติ เอหิฯ ย้อนจิตเข้ามาดูตัวเองมันเพลินไปข้างหน้า ให้ย้อนเข้ามาดูต้นเหตุหรือต้นลำของมัน ได้แก่ ต้นจิตที่มีอยู่ที่นี่ กระแสของมันออกไปข้างนอก ให้ดูตัวนี้ เอหิปสฺสิโก ดูตัวนี้จะรู้จะเห็นตัวนี้ อันนี้ที่ว่าย้อนจิตเข้ามาก็อย่างนี้ละ ตามจิตเข้ามาก็คือว่าจิตมันออกไป สติก็ตามมันไปแล้วก็ตามมันเข้ามาเข้าใจเหรอ ตามจิตดวงเดียวนั่นแหละ มันมีทั้งเข้าทั้งออก เอ้า มีอะไรอีกล่ะ

    โยม ข้อที่ ๒ ครับ ขณะกวาดลานวัดเสียงต่าง ๆ รอบตัวและภาพรอบศาลาหรือทางเดินที่กวาดหายไป เหมือนอยู่ในที่ไม่มีภาพ ไม่มีเสียง เฉยๆ รู้ตัวอยู่ เป็นการตกภวังค์หรือไม่ ควรปฏิบัติอย่างไรขอรับ ขณะนี้เวลาเดินจงกรมแล้วจิตเริ่มวูบจะลงสู่ภาวะที่ไม่ได้ยินเสียง ไม่เห็นภาพอย่างเดิมอีกจะฝืนไว้ไม่ให้จิตมันไปอยู่ในภาวะนั้นขอรับ ควรหรือไม่ควรขอรับและควรจะปฏิบัติอย่างไรขอรับ

    หลวงตา จิตมันลงเข้าสู่ความสงบตัวเอง ทางบาลีท่านว่าจิตตกภวังค์ ภวังค์ แปลว่า องค์แห่งภพ แปลออกแล้วนะ แปลว่าองค์แห่งภพ มันรวมตัวกันไปอยู่จุดนั้น ตัวนั้นแหละตัวที่จะไปเป็นภพเป็นชาติ มันเข้ามารวมตัวกันอยู่ที่นั่น จึงเรียกว่า ภวังค์ แปลว่า องค์แห่งภพ แห่งชาติอยู่ตรงนั้น คือจิตพักสงบแล้วต้องมาอยู่ในนี้ แล้วจิตสงบอย่างนั้นแล้วก็จะไปหาตั้งชื่อตั้งนามอะไร ครั้นเวลาเขาจะนอนหลับ ลงในภวังค์แห่งความหลับเขาไม่เห็นถามกัน ทีนี้เวลาจิตเข้าสู่ความสงบเราจะถามใคร มันสงบแล้วมันก็เท่านั้น ภวังค์พะแวงอะไรก็ไม่รู้ละ เอาละ เรานี้เรียนน้อย ลูกศิษย์เราเรียนมากยิ่งกว่าครู มันตกภวังค์พะแวง แล้วยังมาถามหลวงตาอีก ภวังค์นั้นภวังค์นี้เราโมโห ถ้าอยู่ใกล้ ๆ ตีหน้าผากปั๊วะเลยนะ นี่อยู่ไกล เสียดาย อยู่ที่ไหนประเทศไหน

    โยม อีกคนนะครับ เขาบอกว่า ผมปฏิบัติธรรมมานานพอสมควรโดยได้นำธรรมะที่หลวงตาเทศน์และตอบปัญหามาปฏิบัติในขณะนี้ก็มีทั้งธรรมและสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นในจิตดังนี้

    ๑.ได้เห็นหยดน้ำหยดลงบนพื้นน้ำ และพื้นน้ำได้กระจายขยายวงออกแต่ผมไม่ได้ตามดูไปจนถึงที่สุด เพราะในขณะนั้นก็มีความคิดผุดขึ้นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเพียงหยดเดียว ก็กระจายออกไปได้กว้างขวาง แล้วก็หายไป

    หลวงตา เอาละ เราตอบตรงนี้ถูกต้องแล้วตรงนี้นะ กระจายแล้วหายไปคือหายไปเป็นน้ำด้วยกันนั่นแหละ เข้าใจไหม เอ้า ว่าไป

    โยม ข้อ ๒ เคยรู้สึกว่าร่างกายเน่า มีน้ำเหลืองไหล และน่าขยะแขยงวันต่อมาก็ได้รู้สึกเช่นนี้กับเนื้อสัตว์จึงเกิดความคิดผุดขึ้นว่าผมกำลังกินของบูดเน่าอยู่จากนั้นจึงได้รู้ว่ารูปและนามของคนและสัตว์ไม่ต่างกัน ยกเว้นจิตและรู้ว่ากินเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้เท่านั้น

    หลวงตา อันนี้ก็ถูก ให้พิจารณาอย่างนั้น อย่าไปตื่นนอกลู่นอกทาง ถ้าให้รู้ตามนี้แล้วก็เป็นอันว่าถูกต้องตามอรรถตามธรรม กินไปท่านไม่ห้าม กินไปเถอะอย่างนั้น กินกระทั่งถึงวันตายเลยนะว่างั้น เอ้า มันต้องอย่างนั้นซิจึงเรียกว่า ถามว่าตอบปัญหาเข้าใจไหม มันต้องมีอย่างนั้น เอ้า ว่าไป

    โยม ข้อ ๓ ครับ เคยคุยกับเพื่อนเรื่องพระธาตุ ซึ่งเพื่อนได้มาเวลานั่งสมาธิก็เลยเกิดความอยากได้ขึ้นมาบ้าง แต่จิตบอกว่าไม่เอาเพราะเป็นวัตถุจากนั้นจึงรวมจิตขอธรรมะจากพระพุทธเจ้า สักพักก็ได้ธรรมะว่า ให้เข้าใจธรรมชาติให้เข้าใจความเป็นจริง และอย่ายึดติด ต่อมาได้รู้ว่าความเป็นจริงคืออริยสัจสี่โดยในปัจจุบันได้พิจารณาเรื่องจิตส่งออกเป็นทุกข์ โดยกำหนดว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็นได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสก็สักแต่ว่าได้รสสัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส รู้ก็สักแต่ว่ารู้ ให้ทำจิตให้พอดี เป็นกลาง

    หลวงตา อันนี้ก็ถูกต้องอยู่แล้วนะ เท่านั้นละก็ไม่มีแง่อะไรไป เพราะอันนี้มันเป็นอุบาย เป็นความรู้สึกของตัวเองที่จะแตกแขนงไปในแง่ต่าง ๆ เมื่อเจ้าของไม่หลงความรู้ ความเห็นของตัวเองแล้วก็ถูกต้องแล้ว นี่ฟังว่าไม่หลงก็รู้ไปตามธรรมดา ไม่ได้ตำหนิตรงนั้นตรงนี้ขึ้นมา

    โยม ข้อ ๔ ครับ มีอยู่ครั้งหนึ่งนั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าจิตมีพลังจึงได้กำหนดให้จิตขยับร่างกายท่อนบนดู ทำได้สักพักก็รู้ว่าไม่เป็นประโยชน์แล้วพลังก็หายไป

    หลวงตา อันนี้ไม่ตอบขี้เกียจตอบ

    โยม ข้อ ๕ เคยเกิดแผ่นดินถล่มทลายในจิตแต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นไปกับสิ่งนั้น แต่รับรู้ว่าเกิดความสนั่นหวั่นไหวอยู่ข้างในแล้วก็หายไป

    หลวงตา เอาละ อันนี้มันบ้าภายใน มันหายไปแล้วก็ดีละ เรียกว่า หายบ้าไปพร้อม เอาละ แค่นี้พอ

    โยม ผมเคยสังเกตตัวเองว่าไม่มีความต่อเนื่องในการพิจารณาเรื่องใดเลยถ้าอยากจะหยิบเรื่องใดขึ้นมาพิจารณาจะทำไม่ได้ จะเกิดความอึดอัดขัดแย้งต้องปล่อยให้เรื่องมันเกิดขึ้นมาเองถึงจะนำมาพิจารณาได้ตอนนี้ก็เลยไม่มีความชำนาญในเรื่องใดเลยขอความกรุณาหลวงตาได้โปรดชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติต่อไป (พิสิษฐ์)

    หลวงตา ก็ต้องคิดบ้างซี การคิดหรือการต่อสู้ต้องมีการฝืนกัน มันไม่อยากคิด ถ้ามันไม่อยากคิด จะเป็นจิตสงบเพื่อความผาสุกเย็นใจในระยะนั้นก็ได้ ถ้าไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรเลยในสิ่งที่ดี แต่เรื่องความคิดในสิ่งภายนอก ลิงร้อยตัวก็สู้ไม่ได้ มันเร็วกว่าลิงเหล่านี้ใช้ไม่ได้ เข้าใจไหม เอ้า ว่าไปอีก

    โยม อีกคนหนึ่งถามมาว่า ลูก ภาวนาพุทโธประกอบทุกอิริยาบถ พยายามไม่ให้เผลอสติ ตามที่หลวงตาเมตตาสอนและตอบทางปัญหาอินเตอร์เน็ต สติกับพุทโธมันเหมือนแน่นตลอดเวลาในปัจจุบันนี้ที่กลางอก มีเรื่องอะไรแทรกเข้ามาก็ให้คิดหงุดหงิด มันเหมือนพุทโธกับสติธรรม ทั้งรู้สึกว่าสัมปชัญญะก็ตามแน่น ๆ อยู่กลางอก เรื่องอะไร ๆ ก็ไม่อยากรับทราบเข้ามา จะหงุดหงิด จะโกรธอะไรดูมันนิ่ง ๆ เย็น ๆ ของมันเจ้าค่ะ มันไม่อยากเคลื่อนจากที่เป็นอยู่นี้ไปไหน นึกถึงหลวงตาสอนว่าเป็นการติดสมาธิ จึงเริ่มใช้ปัญญาพิจารณา แต่มันก็เหมือนไม่ยอมให้พิจารณา พอจะเริ่มพิจารณาร่างกายบ้าง มันตัดให้เข้านิ่งสงบในสมาธิ เป็นอยู่หลายครั้งเจ้าค่ะ ลูกพยายามบังคับให้พิจารณาก็พึ่งได้ระยะนี้บ้าง ค่อยพิจารณาส่วนร่างกายไปทีละขั้น แต่สมาธิมันก็คงความแน่น นิ่งสงบเย็นอยู่ ขอเมตตาหลวงตาเจ้าค่ะ ที่ลูกปฏิบัตินี้ผิดถูกประการใดในขั้นนี้ ขอเมตตาแนะนำขั้นต่อไปด้วย กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

    หลวงตา เวลาสงบก็ให้สงบ อย่าไปรบกวนด้วยความคิดความปรุงใด ๆ แม้เรื่องปัญญาก็ไม่รบกวนในขณะที่จิตสงบ ปล่อยให้สงบเต็มกำลังของความสงบนั่นแหละ ทีนี้เวลาจิตคลี่คลายออกมาแล้ว ทีนี้เราจะพิจารณาทางด้านปัญญา เอาทางด้านปัญญาไป อย่าเอาความสงบเข้ามากวนใจ ให้ทำงานตามวาระของตน คือเวลาใช้ปัญญาก็ให้ทำงานไป เวลานอนหลับก็หลับเสียไม่ต้องไปกวน ตื่นขึ้นมาจะทำงานให้ทำงานไป การหลับไม่ต้องมายุ่งเข้าใจไหม นี่ความสงบของจิตเท่ากับการหลับ พักงาน แต่เวลาหยุดจากนั้นแล้วก็ออกพิจารณาให้เป็นกาลเป็นเวลาอย่างนี้

    ที่ ว่าติดสมาธิก็คือว่าติดความสงบโดยถ่ายเดียว ไม่สนใจจะพิจารณาอะไรเลยนี้เรียกว่าติดสมาธิ ถ้ามีการขัดการแย้งกันอยู่ที่จะออกปฏิบัตินั้นเรียกว่า ติดบ้างไม่ติดบ้าง ฝืนกัน ทีนี้พอออกทางด้านปัญญาแล้วลืมสมาธิไปเลย พุ่งทางด้านปัญญาเลย นี่ก็เป็นผาดโผนเกินไปต้องให้มีการพักการทำงาน ถูกต้อง การพักก็คือ พักสงบ เวลาจิตเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยการพิจารณาในอรรถในธรรมแง่ต่าง ๆ แล้วเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าให้พักเข้าสู่ความสงบคือสมาธิ เวลาจิตเข้าสู่สมาธิแล้วย่อมมีกำลังกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาควรแก่การพินิจ พิจารณาเพื่อปัญญา หาประโยชน์อันสูงยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก เราก็พิจารณาทางด้านปัญญา อย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง ตามวาระแห่งงาน ตามวาระแห่งการพักเข้าใจไหม

    โยม มีอีกข้อหนึ่ง กราบเท้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เกล้ากระผมภาวนากำกับด้วยคำบริกรรมพุทโธตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์เมตตาสอนมา แรก ๆ จิตก็สอดส่ายอยู่ ส่งออกนอกอยู่มาก พอทำไปๆ ชำนิชำนาญก็เริ่มสงบลงเรื่อยๆมีปัญหาติดอยู่ตรงที่ว่า เวลาจิตมันเข้าสู่ภวังค์ คล้ายหลับคล้ายตื่นอยู่ถึงตอนนั้นสติมันจะตามไม่ทันเลย เผลอไผลไปเกือบทุกครั้งบางครั้งก็หลับเข้าไปเลย อยากขอโอกาสขออุบายในการทำให้มีสติแน่วแน่เป็นฐานได้มั่นคงสำหรับการฝึกสมาธิจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์อีกอย่างเวลาเกล้ากระผมอ่านหนังสือ ดูตำราเรียน จิตก็ไม่ค่อยนิ่งเหมือนกัน มักชอบส่งออกนอก ไปสนใจเรื่องเสียงบ้างรูปที่เกิดขึ้นบ้าง จนไม่มีสมาธิ ทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องขออุบายวิธีการปฏิบัติจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยครับ

    หลวงตา ถ้ามันยุ่งมากนักก็หยุดเสียก่อนซี เข้าหาความสงบพุทโธติดแนบกับสติอยู่ที่ความรู้ พุทโธบริกรรมอยู่กับความรู้ สติติดแนบอยู่กับคำว่า พุทโธ อย่าให้เผลอมันก็สงบเข้าไปเอง ภวังค์ไม่พะแวงอะไรอย่าไปยุ่งกับหัวมันเข้าใจไหม เขานอนกันทั้งโลกทั้งสงสารเขาไม่เห็นว่า ภวังค์นั้นภวังค์นี้ มันก็ไม่สงสัยกัน นี้จิตเข้าสู่ความสงบก็นั่นละคือเข้าสู่ภวังค์ รวมตัวเข้าไปอยู่จุดนั้น ดังที่ว่าองค์แห่งภพ นั่น มันจะเข้าก็เข้ามันไม่อยากเข้ามันอยากออกเตลิดเปิดเปิงไปไหน ถ้าไม่รับผิดชอบเจ้าของจะเป็นบ้าไปตายกับมันก็ช่างหัวมันเถอะ เราขี้เกียจตามตอบทุกแง่ทุกมุม ไม่อยากตอบไปมากนัก กลัวเราจะเป็นบ้าไปตามลูกศิษย์เราอีกด้วย เอาละพอ เอ้า ว่าไป

    โยม ครับคนที่ถามนี้นะครับ เขาบอกว่า เกล้ากระผมเป็นเด็กอยู่จังหวัดพังงา (แต่ตอนนี้เรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพมีปัญหาก็เลยต้องขอความเมตตาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์) ผมเป็นลูกศิษย์ของพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ฝั้นที่ท่านอาจารย์คลาดท่านเคารพนับถือ ก็เลยได้มีโอกาสได้พบและฟังธรรมะจากท่านอาจารย์คลาดทราบว่าท่านอาจารย์คลาดเป็นลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เมื่อครั้งที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มอบหมายให้ท่านอาจารย์คลาดดูแลการสร้างโรงพยาบาลที่เกาะยาวเกล้ากระผมจึงอยากถามพ่อแม่ครูบาอาจารย์ว่า จะมีโครงการทอดผ้าป่าช่วยชาติทางจังหวัดพังงาภูเก็ตบ้างไหม เพราะลูกศิษย์ที่โน่นก็เรียกร้องกันอยู่แยะเกล้ากระผมและชาวใต้ทั้งหลายมีความมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะได้สัมผัสบารมีธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ครับ

    หลวงตา ท่านคลาดนี่ก็เป็นลูกศิษย์หลวงตาบัว เมื่อหลวงตาบัวเฒ่าแก่ชราไปไม่ได้แล้วท่านคลาดยังหนุ่มน้อยอยู่มันนอน ตายอยู่ทำไมล่ะ มาทำบุญกับเขาทั้งแผ่นดินเขาก็ทำกันได้ ทำไมท่านคลาดลูกศิษย์หลวงตาบัวมันขี้เกียจขี้คร้านเอานักหนา พร้อมทั้งลูกศิษย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่านคลาดอยู่ในบ้านนั้น ให้พากันตื่นเนื้อตื่นตัว ขนเงินขนทองเข้ามาสู่คลังหลวงของเรา เวลานี้หลวงตาแก่แล้วมันไปไม่รอดเข้าใจไหม ลูกศิษย์ยังหนุ่มอยู่ให้พากันมา เข้าใจแล้วเหรอ เอาละ พอ

    โยม อันนี้ปัญหาสุดท้ายแล้วครับ กราบเท้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงตาด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ลูกกราบขอขมาอย่างสูง หากคำถามคำพูดของลูกที่จะถามหลวงตานั้นไม่เหมาะสมและไม่สมควรลูกปรารถนาอยากให้คนที่ใกล้ชิดหายจากเนื้องอกในสมอง คุณหมอบอกว่ามีทางเดียวให้ฉายแสงการฉายแสงก็มีอัตราเสี่ยงหลังการฉายแสงถ้าอาการดีขึ้นคนไข้ก็จะมีอายุยาวไปอีก ๓-๖ เดือนหรือมากกว่านั้น หมอบอกว่าถ้าไม่ฉายแสงคนไข้ก็จะอยู่ได้ไม่นานลูกตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังขารหรือว่าเยียวยารักษาเพื่อให้เขาหายขาดจากโรคภัย แล้วบอกให้เขาหันมาปฏิบัติธรรมภาวนาในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่กราบหลวงตาโปรดเมตตา แนะแนวทางการปฏิบัติในทางธรรมะให้ลูกด้วยกราบเท้านมัสการหลวงตาด้วยความเคารพอย่างสูง

    หลวงตา เท่านั้นพอ ปรึกษาหารือกันเอาเถอะ อย่าให้หลวงตาเป็นบ้ากับสมองสะแหมงไปเลย เอาละเท่านั้นละ พอ

    โยม จบแล้วครับ

    หลวงตา จบแล้วก็จบเหมือนกันละ เอาละพอ ยุ่งมากว่ะ


    คัดลอกจาก www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2303&CatID=2
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กุมภาพันธ์ 2014

แชร์หน้านี้

Loading...